ปอยเปต
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปอยเปต หรือ ปอยแปต (เขมร: ប៉ោយប៉ែត, Paôypêt [paojpaet]) เป็นเมืองชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งอยู่ที่เทศบาลปอยเปต อำเภอโอร์-จเริว จังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา อยู่ติดกับอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ประเทศไทย ตัวเมืองมีบ่อนกาสิโนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งของกาสิโนที่มีขนาดใหญ่และใกล้ประเทศไทยที่สุด[2] มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นผู้ใช้บริการหลัก[3][4] ประชากรเมืองปอยเปตเพิ่มขึ้นจาก 43,366 คนในสำมะโน พ.ศ. 2541 ไปเป็น 89,549 คนในสำมะโน พ.ศ. 2551 ทำให้เป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ซึ่งมากกว่าเมืองพระสีหนุและศรีโสภณ[5]
ปอยเปต ប៉ោយប៉ែត | |
---|---|
นคร | |
พิกัด: 13°39′N 102°34′E | |
ประเทศ | กัมพูชา |
จังหวัด | บันทายมีชัย |
อำเภอ | โอร์-จเริว |
ประชากร (2562)[1] | |
• ทั้งหมด | 98,934 คน |
เขตเวลา | UTC+7 (เวลาอินโดจีน) |
ปัจจุบันได้มีการประกาศจากด่านตรวจคนเข้าเมืองไทย ด้านอำเภออรัญประเทศ สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางไทย สามารถเข้าถึงเขตกาสิโนปอยเปตโดยไม่ต้องใช้วีซ่าหรือประทับตราหนังสือเดินทางขาเข้าประเทศกัมพูชา เพราะรัฐบาลกัมพูชาถือว่าเป็น พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ[6] แต่หากออกนอกพื้นที่กาสิโนสู่เมืองอื่น ๆ ของกัมพูชา ต้องประทับตราหนังสือเดินทางเข้าประเทศให้เรียบร้อยเสียก่อน[7]
ในอดีตบริเวณที่ตั้งเมืองปอยเปตคือพื้นที่ป่ามาก่อน เรียกว่า ป่าปอยเปต[8] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (2481) ทรงอธิบายเกี่ยวกับที่มาของชื่อปอยเปตไว้ว่า "...ที่ตั้งด่านในแดนเมืองบัดตัมบองของฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ติดต่อกันกับอรัญประเทศของเรา เราเรียกว่า ปอยเปต ตามฝรั่งเศส แต่ที่แท้ชื่อว่า บ้านปอดแปด..."[9] สอดคล้องกับเสฐียรโกเศศ และนาคะประทีป (2484) อธิบายตรงกันว่ามีชุมชนดั้งเดิมเรียกว่า บ้านปอดแปด ซึ่งเป็นคำไทยแท้ เมื่อดินแดนเขมรส่วนในตกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศฝรั่งเศสแล้ว ทางการฝรั่งเศสจึงตั้งด่านศุลกากรที่หมู่บ้านดังกล่าว และเรียกเพี้ยนเป็น ปอยเปต[10]
ในช่วงที่ดินแดนเขมรส่วนในกลับมาสู่ในการปกครองของประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บริเวณป่าปอยเปตมีอาณาบริเวณกว้างขวาง ครอบคลุมตำบลมรกฎ ตำบลบ้านจังหัน ตำบลสวายจิก ตำบลศรีโสภณ และตำบลทัพไทย อำเภอศรีโสภณ จังหวัดพิบูลสงคราม ใน ราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าคุ้มครอง เมื่อ พ.ศ. 2488[8] รวมทั้งมีการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางรถไฟสายอรัญญประเทศ–มงคลบุรีตั้งแต่ พ.ศ. 2485-2487 โดยมีสถานีรถไฟตั้งอยู่เขตเมืองปอยเปตในปัจจุบัน ขณะนั้นใช้ชื่อว่า สถานีเสรีเริงฤทธิ์[11][12] กระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยได้คืนดินแดนกลับไปสู่การปกครองของอินโดจีนของฝรั่งเศส จนกระทั่งประเทศกัมพูชาประกาศเอกราช ปอยเปตจึงเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอโอร์-จเริว จังหวัดบันทายมีชัย[6]
ประเทศกัมพูชามีการหารายได้จากกาสิโนมาช้านาน แต่รายได้นั้นยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ จึงริเริ่มโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีโรงแรม ศูนย์การค้า และกาสิโน มาดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งในปอยเปตมีกาสิโนแห่งแรกเปิดให้บริการใน พ.ศ. 2542 ก่อนที่จะมีกาสิโนอีกเป็นจำนวนมากผุดขึ้นในเมือง ส่วนใหญ่เจ้าของกาสิโนเหล่านี้มักเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ และนายทหารของทั้งไทยและกัมพูชา อย่างไรก็ตามทั้งกาสิโนและการค้าตามชายแดนเป็นการสร้างรายได้มหาศาลแก่ปอยเปต ทำให้ปอยเปตเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว[4] ปอยเปตได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น กรุง หรือเป็นเทศบาล จากทั้งหมดสามแห่งที่ไม่ได้มีฐานะเป็นเมืองหลักของจังหวัด[13]
เทศบาลปอยเปต หรือ กรุงปอยเปต แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 แขวง (សង្កាត់ สงฺกาต่) ได้แก่[14]
เลข | ชื่อแขวง | รหัสไปรษณีย์ |
---|---|---|
1 | ปอยเปต (ប៉ោយប៉ែត) | 10901 |
2 | นิมิตต์ (និមិត្ត) | 10902 |
3 | พซาร์ก็อณฎาล (ផ្សារកណ្តាល) | 10903 |
ประชากรในปอยเปตมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการสำรวจสำมะโนครัวประชากรในปอยเปตเมื่อ พ.ศ. 2541 พบว่ามีประชากรจำนวน 43,366 คน ครั้นการสำรวจสำมะโนครัวประชากรใน พ.ศ. 2551 พบว่ามีประชากรจำนวน 89,549 คน[5] และการสำรวจสำมะโนครัวประชากรใน พ.ศ. 2562 พบว่ามีประชากรจำนวน 98,934 คน นับว่าเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดอันดับที่ห้าของประเทศกัมพูชา[1] ซึ่งเป็นการอพยพของประชากรจากแถบพื้นที่ข้างเคียง เพื่อมาหางานทำในปอยเปตที่มีรายได้มั่นคงกว่าเดิม[6][15][16] แรงงานจำนวนไม่น้อยในปอยเปตสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ อีกทั้งยังมีร้านอาหารไทยเปิดให้บริการอยู่มาก[17]
มีแรงงานจากปอยเปตราว 5,000 คน ข้ามไปทำงานในฝั่งไทยเป็นประจำทุกวัน[18] ทั้งยังมีเยาวชนชาวเขมรจากปอยเปตจำนวนไม่น้อยเดินทางข้ามพรมแดนไปเรียนโรงเรียนรัฐในประเทศไทย เพราะโรงเรียนไทยมีการสอนภาษาไทย และภาษาอังกฤษ[19] และเยาวชนเขมรอีกจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่กับพ่อแม่ซึ่งทำงานอยู่ในฝั่งไทย แต่เดินทางกลับเข้าไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนในฝั่งปอยเปต[20]
บางกอกโพสต์ อ้างรายงานของ เคียวโดนิวส์ ซึ่งประมาณการว่า ใน พ.ศ. 2562 มีชาวจีนอาศัยอยู่ในปอยเปตราว 8,000–10,000 คน[21] โดยมีแหล่งอาศัยสำคัญที่อาคารมิ้งจูใกล้ชุมชนแออัดย่านวัดสระตาด[22]
นอกจากนี้ยังมีชุมชนชาวไทยที่ปักหลักเล่นการพนันในปอยเปตจนสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่กลับเข้าฝั่งไทยเพราะปัญหาหนี้สิน[23][24] จำต้องอาศัยใช้ชีวิตวนเวียนอยู่รอบ ๆ กาสิโน พักอาศัยในห้องเช่าขนาดเล็กที่มีราคาเยาแออัดกันหลายคน มีลักษณะคล้ายสลัม ภายในซอยเจ้าพระยาใกล้วงเวียนปอยเปต[25] มีคนไทยอาศัยอยู่อย่างแออัดในนั้นราว 20 คน[26] และที่พักอีกรูปแบบเรียกว่า "บ้านทรายทอง" ซึ่งเปรียบเปรยว่ามีเพียงกระเป๋าใบเดียวพร้อมเงินไม่ถึงหนึ่งร้อยบาทก็สามารถเข้าพักอาศัยได้ มีลักษณะเป็นห้องโถงนอนรวมแยกชายและหญิง[23][24] พวกยังคงหากินจากการเล่นพนันหรือเงินทิปเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้พอเป็นค่าอาหารอยู่ไปวัน ๆ ด้วยความเต็มใจ จึงถูกเรียกว่า "ผีข้างบ่อน"[23][24][25] ใน พ.ศ. 2561 ไทยรัฐออนไลน์ ให้ข้อมูลว่า พบคนไทยที่ใช้ชีวิตเป็น "ผีข้างบ่อน" ไม่ถึง 100 คน ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่เจ้าของบ่อน และหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เพราะไม่มีหนังสือเดินทาง[27] ต่อมา พ.ศ. 2567 ไทยพีบีเอส ให้ข้อมูลว่ามีผีข้างบ่อนจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 500 คน[23][24]
รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีของไทย มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า โดยมีการส่งเสริมการค้าชายแดนถาวรที่ด่านบ้านคลองลึก–ปอยเปต ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ถือเป็นจุดผ่านแดนที่มีมูลค่าการค้าสูงที่สุดราว 6,000 ล้านบาทต่อปี[3]
เมื่อมีการสร้างกาสิโนแห่งแรกขึ้นใน พ.ศ. 2542 ซึ่งเฟื่องฟูมาก ดึงดูดนักลงทุนร่วมกันของชาวอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย มาเก๊า และกัมพูชา รวมทั้งดึงดูดนักเสี่ยงโชคจากประเทศไทยไปเป็นจำนวนมาก[2] ปัจจุบันปอยเปตมีกาสิโน 15 แห่ง ประชิดชายแดนไทย[25] ประมาณการว่ามีนักพนันชาวไทยเข้าไปใช้บริการมากถึงร้อยละ 90[6] มีชาวเขมรราว 10,000 คน เป็นพนักงานในกาสิโน และแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกาสิโนจำนวน 1,200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยและจีน[21] ครบครันด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนไทย ตั้งแต่พนักงานที่พูดภาษาไทย ร้านอาหารไทย มีบ่อนพนันกระจายอยู่ดาษดื่น มีการบริการไนต์คลับ อาบอบนวด และซ่องโสเภณีเขมร ที่ใช้เงินบาทเป็นหลัก[17] ใน พ.ศ. 2562 มีรายงานว่า คนไทยข้ามแดนไปเล่นพนันในปอยเปตประมาณวันละ 2,000–3,000 คน[21] อย่างไรก็ตามทางการกัมพูชาออกกฎหมายห้ามมิให้ชาวเขมรเล่นการพนันใด ๆ[4] จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้ปอยเปตพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงสามทศวรรษ[3][4] รวมทั้งยังเป็นพื้นที่ประชากรหนาแน่นมากที่สุดของจังหวัดบันทายมีชัย[6] ในช่วงที่เกิดกรณีพิพาทคดีปราสาทพระวิหาร ระหว่างไทยกับกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2554 จนเกิดความตึงเครียดไปทั่ว แต่บริเวณปอยเปตกลับยังค้าขายกันอย่างฉันมิตร และเคยมีกรณีที่ชาวเขมรบางกลุ่มสร้างข่าวโคมลอยให้ชาวเขมรในปอยเปตเกลียดชังคนไทย ทำให้เกิดความวุ่นวายแก่เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนจำนวนมาก[28]
นอกจากการลงทุนด้านกาสิโนแล้ว นักธุรกิจไทยยังบุกเบิกตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ในปอยเปตด้วย เช่น บิ๊กซีสาขาปอยเปต[29] และเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาปอยเปต[30] รวมยังเป็นพื้นที่ของชาวจีนที่สร้างรายได้โดยเลี่ยงการเสียภาษีในกัมพูชา[31] โดยมากมักทำงานเกี่ยวกับการพนัน กาสิโน แก๊งคอลเซนเตอร์ และกิจการผิดกฎหมายอื่น ๆ ที่เรียกว่า "จีนเทา" ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐของกัมพูชาปฏิเสธการรับรู้เรื่องราวนี้[32]
ชาวเขมรในปอยเปตส่วนใหญ่ทำอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว จำหน่ายสินค้าหนีภาษี และขอทาน ส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ มีฐานะยากจน และขาดสุขลักษณะที่ดี[18] แม้ปอยเปตจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่มหาศาล และมีประชากรอยู่มาก แต่ชาวเขมรในปอยเปตกลับว่างงานหรือไม่มีช่องทางหารายได้เสริม ทั้งยังประสบกับภัยแล้ง[15] ทำให้ปอยเปตกลายเป็นจุดศูนย์กลางของขอทานซึ่งมีอยู่จำนวนมาก พวกเขาก่อเหตุรำคาญหรือชิงทรัพย์นักท่องเที่ยว ทั้งในปอยเปตหรือข้ามฝั่งไปก่อเหตุที่ตลาดโรงเกลือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี หรือเลยไปถึงนครสวรรค์[33][34] ขอทานชาวเขมรในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากปอยเปตเป็นอันดับหนึ่ง จากการสำรวจเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 - 30 กันยายน พ.ศ. 2545 พบว่ามีขอทานชาวเขมรในกรุงเทพมหานครมากถึง 7,702 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 98.7 ของขอทานต่างด้าวทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร[16]
ปอยเปตเป็นเมืองที่แรงงานไทยเลือกไปทำงานมากที่สุดในกัมพูชา[2] แต่ก็พบปัญหาแรงงานไทยโดนหลอกลวงไปทำธุรกิจผิดกฎหมาย[35][36] ชาวไทยที่เข้าไปมีทั้งกลุ่มที่เต็มใจและไม่เต็มใจ ทำงานโทรศัพท์หลอกลวงคนไทยในฝั่งไทยให้เสียทรัพย์ หากคนไทยที่ทำงานในแก๊งคอลเซนเตอร์อาจถูกทำร้าย ทรมาน หรือถูกฆาตกรรม หากไม่ทำงานหรือทำงานไม่สำเร็จ[32] ประเด็นเด็ด 7 สี อ้างว่า ใน พ.ศ. 2564 มีชาวไทยถูกหลอกไปทำงานในปอยเปตราว 2,000 คน เพราะเห็นว่ามีรายได้ดี[37]
ปอยเปตมีทางหลวงหมายเลข 5 เชื่อมการเดินทางไปยังกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 400 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถนนสายนี้พาดผ่านพนมเปญ จังหวัดกันดาล จังหวัดโพธิสัตว์ จังหวัดพระตะบอง และจังหวัดบันทายมีชัย อีกทั้งยังเชื่อมต่อการเดินทางไปยังประเทศไทยบริเวณด่านพรมแดนบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว[38]
ต่อมาใน พ.ศ. 2559 มีการก่อสร้างถนนและสะพานเชื่อมพรมแดนที่บ้านหนองเอี่ยน ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว กับบ้านสตึงบท เทศบาลปอยเปต จังหวัดบันทายมีชัย เพื่อลดความแออัดของด้านพรมแดนบ้านคลองลึก[39][40] สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2562[41] โดยประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด[42]
มีการเดินรถประจำทางระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา จำนวนสองเส้นทาง ได้แก่[41]
มกราคม พ.ศ. 2567 รัฐบาลกัมพูชามีแนวคิดที่จะสร้างทางด่วนจากพนมเปญ–ปอยเปต ระยะทาง 420 กิโลเมตร เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้ากับชายแดนไทยเป็นสำคัญ[43]
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยได้รับดินแดนเขมรส่วนในกลับคืนมา ประกอบด้วย จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม และจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ ทหารญี่ปุ่นมีส่วนช่วยในการบุกเบิกเส้นทางรถไฟจากสถานีรถไฟอรัญประเทศเชื่อมกับสถานีรถไฟสวายโดนแก้ว[44] นำไปสู่การเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางรถไฟสายอรัญญประเทศ–มงคลบุรี ใน พ.ศ. 2485-2487[11][12] กรมรถไฟเคยเปิดการเดินรถโดยสารและรถสินค้าจากสถานีรถไฟกรุงเทพ ไปยังสถานีรถไฟพระตะบอง ใช้เวลาเดินรถนานถึง 15 ชั่วโมง[44] กระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยได้คืนดินแดนกลับไปสู่การปกครองของอินโดจีนของฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2489[6] เส้นทางรถไฟเส้นนี้จึงตกเป็นของฝรั่งเศสไปโดยปริยาย[44] และกลายเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายตะวันตก (พนมเปญ–ปอยเปต) เชื่อมต่อกับกรุงพนมเปญ โดยพาดผ่านจังหวัดกันดาล จังหวัดโพธิสัตว์ จังหวัดพระตะบอง และจังหวัดบันทายมีชัย มีระยะทาง 385 กิโลเมตร[38]
ใน พ.ศ. 2491 หัวรถจักรและตู้ใหญ่ของไทยไหลข้ามพรมแดนไปชนรถไฟฝรั่งเศสตกรางไปเสียหกตู้ จำต้องชำระเงินค่าเสียหายแก่ฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก ทางการไทยจึงรื้อรางที่เชื่อมระหว่างอรัญประเทศกับปอยเปตออกเสีย เพื่อมิให้เกิดเหตุซ้ำสอง[45] กระทั่งประเทศกัมพูชาได้รับเอกราชจึงกลับมาเปิดการเดินรถอีกครั้งใน พ.ศ. 2498 แต่ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มักเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันอยู่เนือง ๆ จึงให้ยุติการเดินรถไฟระหว่างประเทศบ่อยครั้ง มีการเดินรถระหว่างกันครั้งสุดท้ายใน พ.ศ. 2517 เส้นทางรถไฟในฝั่งกัมพูชาก็ถูกทิ้งร้าง และมีประชาชนบุกรุก[44] รางรถไฟ หมอนไม้ รวมไปถึงน็อต ล้วนถูกรื้อออกไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น[46]
ในเวลาต่อมา รัฐบาลกัมพูชามีการบูรณะเส้นทางรถไฟระหว่างศรีโสภณ–ปอยเปตขึ้นใหม่ โดยได้เตรียมข้อตกลงให้บริษัทจากประเทศออสเตรเลียดำเนินการก่อสร้างใน พ.ศ. 2552[47] กระทั่งเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 กัมพูชาบูรณะเส้นทางรถไฟสำเร็จส่วนหนึ่งแล้ว คือเส้นทางระหว่างสถานีรถไฟปอยเปต ถึงสถานีรถไฟศรีโสภณ[46] โดยมีแผนว่าจะเปิดการเดินรถระหว่างสถานีรถไฟปอยเปต ถึงสถานีรถไฟพระตะบองในเดือนเมษายน และวางแผนจะเปิดการเดินรถระหว่างสถานีรถไฟพระตะบอง ถึงสถานีรถไฟพนมเปญในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน[48] โดยปัจจุบันรถไฟกัมพูชาวิ่งให้บริการด้วยความเร็วเพียง 30-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น[49]
ส่วนในฝั่งประเทศไทยเองก็เริ่มมีการบูรณะเส้นทางรถไฟระหว่างสองประเทศขึ้นใหม่ ขณะที่ฝั่งปอยเปต ทางรถไฟจากสะพานคลองลึกถึงสถานีรถไฟปอยเปตถูกบุกรุกด้วยกาสิโนและโรงแรมขนาดใหญ่ ต้องมีการสร้างทางรถไฟลงพื้นคอนกรีต สร้างรางวิ่งผ่านใต้อาคารกาสิโนและโรงแรมแทน สร้างทางรถไฟตัดผ่านวงเวียนรถไฟที่คราคร่ำด้วยวดยาน ทั้งยังต้องฟื้นฟูย่านสถานีรถไฟปอยเปตที่ถูกคนไร้บ้านบุกรุกขึ้นใหม่[44] จนกระทั่งเปิดการเดินรถข้ามพรมแดนครั้งแรกใน พ.ศ. 2562[50][51] อย่างไรก็ตามจนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีการเดินรถไฟโดยสารข้ามประเทศแต่ประการใด[52]
ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่ารัฐบาลได้ทำการศึกษาเรื่องการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงพนมเปญกับจังหวัดพระสีหนุ และเชื่อมกับชายแดนของประเทศไทย[53]
ประเทศไทยและประเทศกัมพูชามีปัญหาเส้นเขตแดนที่ไม่ชัดเจน เพราะทั้งสองประเทศถือแผนที่แนบท้ายสัญญาปักปันเขตแดนคนละฉบับ เพราะประเทศไทยถือแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ระวาง L7017 ขณะที่ประเทศกัมพูชาถือแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 และบางจุดใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ระวาง L7016 หากพื้นที่ใดไม่ชัดเจนทางกัมพูชาจะอ้างสิทธิเหนือดินแดน รวมทั้งมีการดัดแปลงสภาพแวดล้อมบริเวณแนวชายแดน เฉพาะจังหวัดสระแก้วซึ่งตรงกับพื้นที่ฉนวนไทย พบการอ้างสิทธิเหนือดินแดนโดยฝ่ายกัมพูชาถึง 8 พื้นที่ หรือประมาณ 13,337 ไร่[54] โดยมีการทำลายหรือย้ายหลักเขตแดน บ้างก็ส่งชาวเขมรไปจัดตั้งเป็นหมู่บ้านในพื้นที่ที่ชาวไทยในท้องถิ่นมีเอกสารสิทธิ์ถือครองอยู่ และรัฐบาลไทยก็ไม่มีการผลักดันชาวเขมรที่รุกล้ำออกไป[55]
ในพื้นที่ของปอยเปต เคยมีการถมตลิ่งคลองพรหมโหดเพื่อสร้างกาสิโน ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติของสองประเทศ อันเป็นการละเมิดข้อตกลงว่าด้วยการห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรบริเวณชายแดนระยะ 30 เมตร จนกว่าการปักปันเขตแดนจะแล้วเสร็จ[56] ซึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา พบว่ามีกาสิโนไม่ต่ำกว่า 9 แห่ง มีการกระทำอันส่งผลกระทบต่อแนวคลอง จนทำให้แนวคลองอันเป็นเส้นเขตแดนของสองประเทศเปลี่ยนหลายครั้ง[57] มีเพียงกรณีกาสิโนปรินเซสคราวน์ ของกก อาน เศรษฐีชาวกัมพูชาและที่ปรึกษาของฮุน เซน ที่หน่วยงานของเทศบาลปอยเปต และทหารไทยประท้วงการก่อสร้างดังกล่าว เพราะเป็นการละเมิดข้อตกลง ที่สุดแล้ว กก อานจึงหยุดการก่อสร้าง และโกยดินที่ถมคลองกลับขึ้นมาดังเดิม[56]
ปอยเปตประสบปัญหามลพิษอันเกิดจากขยะซึ่งไม่ได้รับการจำกัดอย่างถูกต้อง ทำให้ปอยเปตเต็มไปด้วยขยะ และชาวเขมรบางส่วนนำขยะในชุมชนจำนวนมหาศาลมาทิ้งลงคลองพรหมโหด ซึ่งเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ทำให้คลองที่เคยอุดมสมบูรณ์เกิดมลพิษ และส่งกลิ่นเหม็น[58] ส่วนในฝั่งอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วเอง ก็มีบ่อขยะใกล้กับคลองพรหมโหดเช่นกัน และบ่อขยะแห่งนี้เคยเกิดเหตุไฟไหม้ จนส่งผลกระทบแก่ปอยเปต เพราะลมพัดพากลุ่มควันลอยเข้าไปยังฝั่งกัมพูชา[59]
อย่างไรก็ตาม มีชาวไทยเข้าไปทำธุรกิจรับซื้อขยะพลาสติกในปอยเปต โดยนำขยะที่ได้ไปทำความสะอาด ก่อนนำไปขายกับโรงงานรีไซเคิลพลาสติกในประเทศไทย สร้างรายได้ให้กับชาวไทยและชาวเขมร[60]
เมื่อเวลา 23.00-24.00 น. ของวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ได้เกิดเหตุไฟไหม้ภายในชั้นสี่ของกาสิโนและโรงแรมแกรนด์ไดมอนด์ซิตี ซึ่งเป็นอาคารสูง 17 ชั้น ใกล้ด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ภายในมีผู้ติดค้างอยู่จำนวนหนึ่ง[62][63] ซึ่งเจ้าหน้าที่และรถดับเพลิงของกัมพูชาไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ กระทั่งในเวลา 02.00 น. ของวันที่ 29 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่กัมพูชาจึงขอรับการสนับสนุนรถดับเพลิงและหน่วยกู้ภัยจากประเทศไทย โดยได้ช่วยเหลือพนักงานและนักพนันชาวไทยที่บาดเจ็บ นำส่งข้ามพรมแดนไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สระแก้ว โรงพยาบาลอรัญประเทศ โรงพยาบาลวัฒนานคร โรงพยาบาลโคกสูง และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อรัญประเทศ[64][65] จากนั้นเพลิงได้ลุกลามไปยังกาสิโนฮอลิเดย์ซึ่งอยู่ใกล้กัน[66] เวลา 09.40 น. เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ และคาดว่าต้นเพลิงอยู่ภายในครัวประกอบอาหาร[67]
ไทยพีบีเอส และ ทีเอ็นเอ็น รายงานว่า วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2565 พบผู้เสียชีวิต 27 ศพ บาดเจ็บ 112 ราย[68][69] ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทย[70] ร่างของผู้เสียชีวิตบางส่วนนำไปตั้งไว้ที่วัดสระตาด แขวงพซาร์ก็อณฎาล เทศบาลปอยเปต เพื่อรอพิสูจน์อัตลักษณ์ หรือรอญาติมารับศพ[71]
ครั้นเมื่อมีการรื้อถอนตัวอาคารกาสิโนและโรงแรมดังกล่าว ทางการกัมพูชาได้ทำการรื้อถอน และขอคณะวิศวกรจากประเทศไทยช่วยประเมินโครงสร้างอาคารที่ถูกเพลิงไหม้ว่ายังคงแข็งแรงหรือควรรื้อถอน[63][72]
13 กันยายน พ.ศ. 2565 มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอหญิงคนหนึ่งสั่งซื้อสินค้าผ่านแอพลิเคชัน แต่กลับไม่ชำระเงินแก่ไรเดอร์ ซ้ำยังสาปสรรไรเดอร์ไว้ว่า "คุกเข่าแล้วกราบค่ะ แล้วให้พิซซาเราฟรีเดี๋ยวนี้ ตกอเวจีปอยเปตแสนล้านภพแสนล้านชาติชั่วนิรันดร์เดี๋ยวนี้ค่ะ ห้ามแตะตัวผู้เป็นเจ้านะคะ สองแสนล้านภพสองแสนล้านชาติเดี๋ยวนี้ยืนนิ่ง ๆ พยายามเข้านะคะ สามแสนล้านภพสามแสนล้านชาติในนรกอเวจีปอยเปตเดี๋ยวนี้ค่ะ สี่แสนล้านภพสี่แสนล้านชาติในนรกอเวจีปอยเปตเดี๋ยวนี้ค่ะ ช่วยตัวเองหน่อยสิคะ เดินออกประตูไปค่ะ 760 บาท เสียไม่ได้เหรอคะ เหรอคะ เหรอคะ เหรอคะ เหรอคะ ห้าแสนล้านภพห้าแสนล้านชาติในนรกอเวจีปอยเปตเดี๋ยวนี้ค่ะ เดี๋ยวนี้ค่ะ"[73][74] หลังคลิปวิดีโอดังกล่าวเผยแพร่ วลี "ขอให้ตกอเวจีปอยเปต" กลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว[75]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.