Loading AI tools
ไฮเปอร์มาร์เก็ต จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บิ๊กซี (อังกฤษ: Big C) เป็นศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อสัญชาติไทย ดำเนินกิจการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนามและฮ่องกง บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2536 และเปิดให้บริการสาขาแรกบนถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2537 ปัจจุบันกิจการในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ภายใต้กลุ่มทีซีซี
ประเภท | บริษัทมหาชน |
---|---|
ISIN | TH0280010016 |
อุตสาหกรรม | ศูนย์การค้า |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2536 (32 ปี) |
ผู้ก่อตั้ง | กลุ่มเซ็นทรัล |
สำนักงานใหญ่ | 88/9 ซอยสมานฉันท์-บาร์โบส ถนนสุขุมวิท 42 (กล้วยน้ำไท) แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร |
พื้นที่ให้บริการ | ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฮ่องกง |
บุคลากรหลัก | เจริญ สิริวัฒนภักดี (ประธานกรรมการ) อัศวิน เตชะเจริญวิกุล (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่) |
ผลิตภัณฑ์ | ศูนย์การค้า, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ |
รายได้ | ฿ 120,918 ล้านบาท (ข้อมูลในปี พ.ศ. 2559)[1] |
รายได้สุทธิ | ฿ 6,372 ล้านบาท (ข้อมูลในปี พ.ศ. 2559)[1] |
เจ้าของ | บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) |
พนักงาน | 29,394 (ข้อมูลในปี พ.ศ. 2559)[1] |
บริษัทแม่ | กลุ่มทีซีซี |
เว็บไซต์ | http://www.bigc.co.th |
เชิงอรรถ / อ้างอิง [1] |
กลุ่มเซ็นทรัล ได้มีแนวคิดในการขยายธุรกิจออกสู่รูปแบบห้างสรรพสินค้าครบวงจรในที่เดียว (Bigbox Retail) จึงได้เปิดบริษัท เซ็นทรัล ซูเปอร์สโตร์ จำกัด และเปิดให้บริการเซ็นทรัล ซูเปอร์สโตร์ สาขาแรกแทนที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาวงศ์สว่าง (ปัจจุบันคือมาร์เก็ต เพลส วงศ์สว่าง) ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2536[2] นับเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นรูปแบบการค้าปลีกแบบใหม่ของประเทศไทยในขณะนั้น ก่อนที่กลุ่มเซ็นทรัลจะเปิดบริษัทที่ร่วมทุนกับกลุ่มอิมพีเรียล ของตระกูลกิจเลิศไพโรจน์ ในนาม บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2536[3][4][a] และเปิดให้บริการไฮเปอร์มาร์เก็ตสาขาแรกในนาม บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ บนถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2537[5] และเปลี่ยนชื่อ เซ็นทรัล ซูเปอร์สโตร์ เป็นบิ๊กซีในปีถัดมา รวมถึงในปี พ.ศ. 2539 กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าซื้อกิจการกลุ่มโรบินสัน และเปลี่ยนชื่อห้างค้าปลีกของกลุ่มโรบินสันในนามว่า "เซฟวัน" ที่รังสิตมาเป็นบิ๊กซีด้วย
บิ๊กซีได้เปิดให้บริการอีก 19 สาขาในทั่วประเทศหลังจากเปิดสาขาแรก แต่ผลจากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ทำให้บิ๊กซีตัดสินใจหยุดขยายสาขา หลังเปิดให้บริการสาขาที่ 20 ที่เพชรบุรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2541 เนื่องจากประสบปัญหาการขาดทุนจากผลของภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ได้นำมาใช้ในการขยายสาขา ระหว่างนั้นจึงพยายามแสวงหากลุ่มทุนเข้ามาช่วยเหลือ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2542[6] กลุ่มคาสิโน ผู้ประกอบการค้าปลีกสัญชาติฝรั่งเศส ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัทจำนวน 530 ล้านหุ้น และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 66% บิ๊กซีจึงกลายเป็นค้าปลีกต่างชาติเช่นเดียวกับ เทสโก้ โลตัส และ คาร์ฟูร์ ในขณะนั้นโดยสมบูรณ์[7]
ในปี พ.ศ. 2545 บิ๊กซีได้มีการจัดตั้งมูลนิธิบิ๊กซีไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่ด้อยโอกาส โดยในปี พ.ศ. 2559 มูลนิธิได้ให้ความช่วยเหลือเยาวชนไทยเป็นจำนวนเงินรวมนับตั้งแต่ก่อตั้งกว่า 350 ล้านบาท มีการสร้างอาคารเรียนให้กับโรงเรียนมาแล้ว 44 หลัง การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนกว่า 42,000 ทุน และการส่งเสริมการศึกษาด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในปี พ.ศ. 2551 บิ๊กซีได้เริ่มขยายกิจการจากการค้าปลีกในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตออกสู่ตลาดร้านสะดวกซื้อและร้านขายยา ภายใต้ชื่อ มินิบิ๊กซี และ เพรียว ตามลำดับ[8] ในปี พ.ศ. 2553 บิ๊กซี ได้เปิดร้านซูเปอร์มาร์เก็ตภายใต้ชื่อ บิ๊กซี จูเนียร์ สาขาแรกที่ศูนย์การค้าทวีกิจ คอมเพล็กซ์ สระบุรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม[6], ในปี พ.ศ. 2561 บิ๊กซี ยังได้เปิดซูเปอร์มาร์เก็ตในรูปแบบ บิ๊กซี ฟู้ดเพลส สาขาแรกที่เกทเวย์ แอท บางซื่อ อีกด้วย[9]
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 กลุ่มคาสิโน ได้ชนะการประมูลกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทย ด้วยราคาซื้อขาย 868 ล้านยูโร หรือคิดเป็นเงิน 35,857 ล้านบาท[b][10]และมีผลทำให้ตลาดค้าปลีกในประเทศไทยเหลือเพียง 2 เจ้าใหญ่เท่านั้น ได้แก่ เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ซึ่งกิจการได้ควบรวมกันเสร็จสิ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 และในปี พ.ศ. 2556 บิ๊กซีได้ทำการปรับปรุงคาร์ฟูร์ทั้งหมดเสร็จสิ้น โดยแบ่งออกเป็นรูปแบบคาร์ฟูร์ไฮเปอร์มาร์เก็ต (ร้านขนาดใหญ่) จำนวนทั้งหมด 34 สาขาให้กลายเป็นบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 13 สาขา, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า 15 สาขา, บิ๊กซี จัมโบ้ 1 สาขา ที่สำโรง ส่วนในบางสาขาที่มีความซ้ำซ้อนกันหรือหมดสัญญาเช่ากับผู้ให้เช่ารายเดิมก็ได้ปิดตัวไปจำนวน 5 สาขา และยังได้ปรับปรุงร้านคาร์ฟูร์ มาร์เก็ต 8 สาขา รวมถึงบิ๊กซี จูเนียร์ 2 สาขาให้เป็น บิ๊กซี มาร์เก็ต และปรับปรุงร้านคาร์ฟูร์ ซิตี้ เป็น มินิบิ๊กซี[11][12]
ในปี พ.ศ. 2559 กลุ่มคาสิโนได้ประสบปัญหาด้านการเงิน จึงเปิดประมูลกิจการบิ๊กซีในไทย ลาว และเวียดนาม เพื่อนำเงินทุนไปชำระหนี้สินของบริษัทฯ โดยมี กลุ่มเซ็นทรัล กับ กลุ่มทีซีซี เข้าร่วมประมูล ซึ่งกลุ่มทีซีซีได้ชนะการประมูลบิ๊กซีในประเทศไทยด้วยมูลค่า 2 แสนล้านบาท[6] และกลายเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 97.94% โดยการซื้อขายหุ้นได้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 และกลุ่มเซ็นทรัลก็ได้ขายหุ้นที่มีอยู่ในบิ๊กซีทั้งหมดให้กับกลุ่มทีซีซี ทำให้บิ๊กซีกลายเป็นกิจการค้าปลีกของคนไทยอีกครั้ง และมีการเปลี่ยนคำขวัญเป็น "ห้างคนไทย หัวใจคือลูกค้า" นับแต่นั้นมา โดยปัจจุบันอยู่ภายใต้การถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)[1] ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลได้เพียงแค่กิจการในประเทศเวียดนาม ด้วยมูลค่า 3.68 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มเหงียนคิม ผู้ประกอบการค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ของเวียดนาม[13] โดยสาขาในประเทศเวียดนามทั้งหมดถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "โก!" และ "ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต" ครบทุกสาขาใน พ.ศ. 2566 เนื่องด้วยสิทธิการใช้ชื่อบิ๊กซีของกลุ่มเซ็นทรัลได้หมดลง ทั้งนี้กลุ่มทีซีซีมีความคิดที่จะขยายธุรกิจบิ๊กซีออกไปยังเวียดนามหลังจากสิทธิการใช้ชื่อบิ๊กซีของกลุ่มเซ็นทรัลหมดลงด้วยเช่นกัน[14]
หลังการเข้าซื้อกิจการ 6 ปี ใน พ.ศ. 2565 บีเจซีมีแนวคิดในการแยกบิ๊กซีออกเป็นบริษัทเอกเทศผ่านการระดมทุนสาธารณะด้วยการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชน และกลับเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบีเจซีตั้งเป้าระดมทุนไม่เกิน 18,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียนและขายกิจการตามแผนงานที่บีเจซีได้วางไว้ แทนการใช้งบประมาณจากบีเจซีที่ปัจจุบันต้องปันส่วนงบประมาณกว่า 90% มาใช้หมุนเวียนกิจการบิ๊กซีที่ปัจจุบันถือเป็นรายได้หลักของบีเจซี จากนั้นใน พ.ศ. 2566 บีเจซีได้แปรสภาพ บริษัท บีเจซี โลจิสติกส์ แอนด์ แวร์เฮ้าส์ จำกัด ให้เป็น บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ย่อ: BRC) โดยบีเจซีถือหุ้นเองทั้งหมด และได้โอนย้ายกิจการค้าปลีกภายใต้บีเจซี ซึ่งประกอบไปด้วย บิ๊กซี เอเชียบุ๊คส์ กาแฟวาวี ร้านยาเพรียว ร้านยาสิริฟาร์มา รวมถึงโอนธุรกิจ เอ็มเอ็ม ฟู้ดเซอร์วิส ในประเทศไทย ให้เป็นของบิ๊กซี ภายใต้ชื่อ บิ๊กซี ฟู้ดเซอร์วิส และโอนธุรกิจ เอ็มเอ็ม เมก้ามาร์เก็ต ในประเทศเวียดนามให้อยู่ภายใต้บิ๊กซี ก่อนที่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ได้มีมติอนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และการนำหุ้นสามัญของ BRC เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2566[15] และในเดือนเมษายนปีเดียวกัน บีอาร์ซี ได้ยื่นหนังสือชี้ชวนให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พิจารณา และได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 18 เมษายน โดยจากรายงาน บีเจซี เสนอขายหุ้น บีอาร์ซี ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 29.98% แก่ประชาชนทั่วไป
อนึ่ง บิ๊กซี รีเทล ยังมีความคิดที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์แทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย โดยยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาถึงแหล่งเงินทุนและโอกาสในการเข้าตลาด
บิ๊กซี ได้ขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศครั้งแรกที่ประเทศเวียดนามในราวคริสต์ทศวรรษ 2000[14] มีจำนวนสาขาก่อนขายกิจการทั้งสิ้น 36 สาขา ซึ่งภายหลังจากที่คาสิโนได้ขายกิจการให้กลุ่มเซ็นทรัล ปัจจุบันบิ๊กซี เวียดนามได้ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการจากการรีแบรนด์เป็น "โก!", "มินิโก!", และ "ท็อปส์" ในปี พ.ศ. 2565 ในขณะที่กิจการในประเทศลาวทางบีเจซีได้เข้าซื้อกิจการเองทั้งหมด และในปี พ.ศ. 2561 กลุ่มทีซีซี ยังได้เริ่มทำการเปลี่ยนชื่อ เอ็มพอยท์มาร์ท ร้านสะดวกซื้อที่บริษัทตั้งขึ้นเองในประเทศลาวทั้งหมด 44 สาขาให้เป็นมินิบิ๊กซีทั้งหมดซึ่งการเปลี่ยนแปลงชื่อได้เสร็จสิ้นในปีต่อมา[16][17] ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2562 บิ๊กซียังได้เปิดสาขาแรกในประเทศกัมพูชา ที่ปอยเปต โดยใช้เงินลงทุน 300 ล้านบาทบนเนื้อที่ 20 ไร่ พร้อมพื้นที่ขาย 3,000 ตารางเมตรและพื้นที่เช่า 5,000 ตารางเมตร โดยบิ๊กซียังวางแผนที่จะเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตอีกหลายแห่งแห่งในพนมเปญและเสียมราฐในอีกสองปีข้างหน้า[18][19]
ต่อมาในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2566 บิ๊กซี รีเทล ได้เข้าซื้อกิจการ อะเบาไทย (AbouThai) กิจการซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศฮ่องกง จำนวน 24 สาขา ภายใต้งบลงทุน 300 ล้านบาท ภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการ บิ๊กซีได้เริ่มปรับร้าน AbouThai เป็นบิ๊กซี และเปลี่ยนชื่อบริษัท AbouThai Group เป็น Big C (HK) เพื่อกำหนดให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้บิ๊กซีตั้งเป้าเปิดสาขาให้ได้ 99 สาขาใน พ.ศ. 2569 และยังได้ปรึกษากับตลาดหลักทรัพย์ของประเทศฮ่องกงในการนำ Big C (HK) เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในฮ่องกงอีกด้วย
ต่อมาในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2567 บิ๊กซีได้เปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตสาขาแรกในประเทศลาว ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เวียงจันทน์ หน้าศูนย์ประชุมลาวไอเต็ก นับเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตใจกลางกรุงเวียงจันทน์แห่งแรกในประเทศลาว
เครื่องหมาย การค้า | ประเภท | พื้นที่ขาย | เวลาทำการ | ลักษณะ | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|---|
บิ๊กซี | 4,000 – 12,000 ตรม. | 8.00, 9.00, 10.00 น. – 21.00, 22.00, 23.00, 02.00 น. (เฉพาะสาขาราชดำริ) | ไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่มุ่งจับลูกค้าทุกระดับ โดยมุ่งเน้นที่การนำเสนอสินค้าหลากหลายที่ประหยัด ให้ความคุ้มค่าสูงสุด รวมถึงบริการที่ประทับใจ และสภาพแวดล้อมในร้านค้าที่สะอาดและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด พร้อมด้วยพื้นที่ร้านเช่าและบางสาขายังมีโฮมโปร และโรงภาพยนตร์เปิดทำการร่วมด้วย | [12] | |
บิ๊กซี เพลส | ไม่ทราบ | 8.00, 9.00 - 21.00, 22.00, 23.00 น. | รูปแบบศูนย์การค้าให้เช่า ควบคู่กับไฮเปอร์มาร์เก็ต เดิมเปิดเป็นส่วนต่อขยายจากบิ๊กซี สาขาพระรามที่ 4 บริเวณที่ดินทางทิศตะวันออกของอาคาร ในชื่อ "บิ๊กซี พลาซ่า" ปัจจุบันได้ยกขึ้นเป็นรูปแบบหลักสำหรับสาขาประเภทอาคารอิสระ ในจำนวนนี้มีสาขาที่ปรับปรุงจากไฮเปอร์มาร์เก็ต 4 สาขา เอ็กซ์ตร้า 1 สาขา เปิดใหม่เพียงสาขาเดียว คือสาขาสระบุรี | [19][20] | |
บิ๊กซี บางกอก มาร์เช่ | 4,000 ตรม. | 06.00 – 22.00 น. | รูปแบบสาขาพิเศษที่ออกแบบร่วมกับโครงการวัน แบงค็อกภายใต้โครงการ เมด อิน วัน แบงค็อก โดยเป็นสาขาที่นำรูปแบบเดิมของ บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า มาปรับใช้ร่วมกับโมเดลบิ๊กซี ฟู้ดเพลส มุ่งจับลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลางถึงบน โดยนำเสนอสินค้าพรีเมี่ยม อาหารสด อาหารแห้ง และสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่หลากหลาย รวมถึงมีร้านอาหารระดับพรีเมียมที่สามารถสั่งอาหารได้ตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงช่วงเวลาปิดทำการสาขา[21] | ||
บิ๊กซี ฟู้ดเพลส | 750 - 2,000 ตรม. | 07.00, 08.00, 09.00, 10.00 – 21.00, 22.00 น. 24 ชั่วโมง (สามย่านมิตรทาวน์) | รูปแบบร้านที่เน้นการจำหน่ายอาหารสด อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารพร้อมรับประทาน และผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมพื้นที่รับประทานอาหารภายในบริเวณร้าน อนึ่ง บิ๊กซีได้นำตรา "ฟู้ดเพลส" ไปใช้เป็นชื่อแผนกอาหารแห้งและของชำในบิ๊กซีเพลสและบิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ตบางสาขาด้วย[22] | [23] | |
บิ๊กซี ฟู้ดเซอร์วิส | 750 - 2,000 ตรม. | 07.00, 08.00, 09.00 – 21.00, 22.00 น. | รูปแบบร้านที่เน้นการจำหน่ายอาหารสด สินค้าอุปโภค บริโภค เพื่อผู้ประกอบการภายใต้แนวคิด สด สะอาด ปลอดภัย ราคาขายส่ง เป็นการปรับภาพลักษณ์มาจาก เอ็มเอ็ม ฟู้ดเซอร์วิส เดิม | [24] | |
บิ๊กซี มินิ | เฉลี่ยประมาณ 160 ตรม. | เปิด 24 ชั่วโมง 6.00-22.00 (บีเจซี 1, วัน แบงค็อก) | รูปแบบร้านสะดวกซื้อที่เน้นความสะดวกสบาย มีจุดเด่นที่จำหน่ายอาหารสดเช่นเดียวกับไฮเปอร์มาร์เก็ต เพื่อตอบสนองความต้องการของนักชอปปิ้งรายวัน ยังมีบริการต่าง ๆ เช่น เคาท์เตอร์เซอร์วิส แรบบิทเซ็นเตอร์ เป็นต้น มีสาขาอยู่มากกว่า 1,000 สาขา | [12][25] | |
เพียว | ประมาณ 45 ตรม. | 6.00, 7.00, 8.00, 9.00 – 21.00, 22.00, 23.00, 24.00 น. 24 ชั่วโมง (สามย่านมิตรทาวน์) | ร้านจำหน่ายเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพและความงาม มีสินค้าประมาณ 2,000 รายการ โดยส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในไฮเปอร์มาร์เก็ตและบิ๊กซีมาร์เก็ต แต่ก็ได้มีบางสาขาที่เปิดอย่างเป็นเอกเทศ | [12] |
ประเภท | พื้นที่ขาย | ลักษณะ | อ้างอิง |
---|---|---|---|
เอ็กซ์ตร้า | 4,000 – 12,000 ตรม. | ไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่มุ่งจับลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลางถึงบน โดยนำเสนอสินค้าพรีเมี่ยม อาหารสด และอาหารแห้งที่หลากหลาย รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ สินค้ากลุ่มเทคโนโลยี ไวน์ และสินค้าพิเศษอื่น ๆ อย่างไรก็ตามสาขาเอ็กซ์ตร้าทั้งหมด ถูกยุบให้กลายเป็น บิ๊กซี เพลส ใน พ.ศ. 2565 ยกเว้นสาขาเมกาซิตี้ บางนา ที่ยังคงใช้ตราเอ็กซ์ตร้าเช่นเดิม | [12] |
จัมโบ้ | 10,000 ตรม. | เป็นร้านค้าแบบขายส่ง ภายใต้แนวคิด “พบทุกอย่างที่นี่ ที่เดียว” โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจจัดเลี้ยง ผู้ประกอบการรายย่อย บริษัท สถาบันและครอบครัวใหญ่ เปิดสาขาแรกที่สำโรง ซึ่งเป็นการเข้ามาแทนที่คาร์ฟูร์เดิม และเปิดเพิ่มอีก 2 สาขาโดยการปรับเปลี่ยนมาจากบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ที่ราษฎร์บูรณะและนวนคร อีกทั้งยังมี บิ๊กซี จัมโบ้สเตชัน ซึ่งเป็นรูปแบบขนาดเล็กของบิ๊กซี จัมโบ้ซึ่งเปิดอยู่ในบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาพัทยา และ อยุธยา ปัจจุบันสาขาทั้งหมดถูกปรับเปลี่ยนเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ | [12] |
มาร์เก็ต | 750 – 2,000 ตรม. | สาขาขนาดกลางเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในชุมชนที่ต้องการความสะดวกสบายในการจับจ่ายซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน เปิดสาขาแรกที่ทวีกิจ คอมเพล็กซ์ จังหวัดสระบุรี ต่อมาได้ปรับรูปแบบเป็น บิ๊กซี ฟู้ดเพลส | [26][27] |
ดีโป้ | 750 – 2,000 ตรม. | ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มกลางถึงล่าง มีสินค้าประมาณ 8,000 – 15,000 รายการ ทั้งอาหารสด ของใช้ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า มีทั้งรูปแบบสาขาปกติทั่วไป และเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า อย่างไรก็ตามใน พ.ศ. 2565 สาขาทั้งหมดถูกยุบให้กลายเป็น บิ๊กซี ฟู้ดเพลส | [12] |
ลีดเดอร์ไพรซ์ | 150 – 500 ตรม. | ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มล่างที่ต้องการสินค้าราคาประหยัด มีสินค้ากว่าหลายพันรายการที่ใช้ตรา ลีดเดอร์ไพรซ์ มีทั้งสาขารูปแบบปกติและสาขาเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า อย่างไรก็ดีด้วยความนิยมของตราที่เข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย ใน พ.ศ. 2548 บิ๊กซีได้พยายามเปลี่ยนตราลีดเดอร์ไพรซ์มาใช้ตรา ลีดเดอร์ไพรซ์ บาย บิ๊กซี เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น พร้อมทั้งนำสินค้าตราดังเริ่มวางจำหน่ายในสาขาแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ใน พ.ศ. 2551 บิ๊กซีได้ตัดสินใจยุบตรานี้ พร้อมทั้งปิดร้านลีดเดอร์ไพรซ์ไปจำนวนหนึ่ง โดยที่อีกจำนวนหนึ่งได้ปรับเป็นร้าน บิ๊กซี มินิ แทน | [28][29] |
ปี | รางวัล | สาขา | ผล |
---|---|---|---|
2566 | Thailand Zocial Awards 2023[30] | Best Brand Performance on Social Media กลุ่มธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตและซุปเปอร์มาร์เก็ต | ชนะ |
ชื่อสาขา | วันที่เปิดบริการ | วันที่ปิดบริการ | จังหวัดที่ตั้ง | สถานะในปัจจุบัน |
---|---|---|---|---|
สหไทยพลาซา นครศรีธรรมราช | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2548 | พ.ศ. 2562 | จังหวัดนครศรีธรรมราช | ย้ายสาขาไปยังบิ๊กซี นครศรีธรรมราช (ถนนอ้อมค่ายวชิราวุธ) ส่วนที่ตั้งเดิมปรับปรุงเป็นสหไทยซูเปอร์มาร์เก็ต |
ปราจีนบุรี | 14 ธันวาคม พ.ศ. 2549 | 31 ตุลาคม พ.ศ. 2563 | จังหวัดปราจีนบุรี | ย้ายสาขาไปยังบิ๊กซี ศรีมหาโพธิ ส่วนที่ตั้งเดิมหมดสัญญาเช่า |
สุขาภิบาล 3 สาขา 2 | 7 มีนาคม พ.ศ. 2539 | 15 กันยายน พ.ศ. 2567 | กรุงเทพมหานคร | ย้ายสาขาไปยังบิ๊กซี สุขาภิบาล 3 สาขา 1 และสาขาสุวินทวงศ์ ส่วนที่ตั้งเดิมหมดสัญญาเช่า |
รังสิต 2 | 26 มิถุนายน พ.ศ. 2540 | 30 กันยายน พ.ศ. 2567 | จังหวัดปทุมธานี | ย้ายสาขาไปยังบิ๊กซี สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และ สาขาดอนเมือง ส่วนที่ตั้งเดิมหมดสัญญาเช่า |
ราษฎร์บูรณะ | 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 | 31 ตุลาคม พ.ศ. 2567 | กรุงเทพมหานคร | ย้ายสาขาไปยังสาขาบิ๊กซี บางปะกอก และ สาขาบิ๊กซี สุขสวัสดิ์ ส่วนที่ตั้งเดิมหมดสัญญาเช่า โดยมีแผนจะสร้างใหม่บนที่ดินติดกับ แม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ในกลุ่มบีเจซี โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2568 |
ทวีกิจ คอมเพล็กซ์ สระบุรี | 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 | 1 ธันวาคม พ.ศ. 2567 | จังหวัดสระบุรี | ย้ายสาขาไปยังสาขาบิ๊กซี เพลส สระบุรี ส่วนที่ตั้งเดิมหมดสัญญาเช่า |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.