Loading AI tools
พรรคการเมืองไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พรรคภูมิใจไทย (ย่อว่า: ภท.) เป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 และเริ่มมีบทบาทภายหลังคดียุบพรรคการเมืองในปลายปีเดียวกันจำนวน 3 พรรค ได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยกลุ่มเพื่อนเนวินของเนวิน ชิดชอบ ได้แยกออกจากพรรคพลังประชาชน มารวมกับ สส. จากพรรคมัชฌิมาธิปไตยส่วนใหญ่ ก่อตั้งพรรคภูมิใจไทยขึ้น จากนั้นได้หันไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และลงมติเห็นชอบให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ปัจจุบันมีอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค และไชยชนก ชิดชอบ เป็นเลขาธิการพรรค
พรรคภูมิใจไทย | |
---|---|
ผู้ก่อตั้ง | เนวิน ชิดชอบ |
หัวหน้า | อนุทิน ชาญวีรกูล |
รองหัวหน้า | สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล
สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ |
เลขาธิการ | ไชยชนก ชิดชอบ |
รองเลขาธิการ | เจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ พิมพฤดา ตันจรารักษ์ ภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ |
เหรัญญิก | ศุภมาส อิศรภักดี |
นายทะเบียนสมาชิก | ไตรศุลี ไตรสรณกุล |
โฆษก | บุณย์ธิดา สมชัย ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ |
รองโฆษก | ผกามาศ เจริญพันธ์ |
กรรมการบริหาร | กรวีร์ ปริศนานันทกุล วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ชลัฐ รัชกิจประการ ธนยศ ทิมสุวรรณ จักรกฤษณ์ ทองศรี กิตติ กิตติธรกุล |
คำขวัญ | พูดแล้วทำ |
ก่อตั้ง | 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 |
ก่อนหน้า | พรรคมัชฌิมาธิปไตย (หลัก) พรรคพลังประชาชน (กลุ่มเพื่อนเนวิน) |
ที่ทำการ | 2159/11 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร |
สมาชิกภาพ (ปี 2566) | 61,703 คน[1] |
อุดมการณ์ | ประชานิยม และ ท้องถิ่นนิยม [2] |
จุดยืน | ขวากลาง[3] |
สี | สีน้ำเงิน |
เพลง | เปลี่ยน (พรรคภูมิใจไทย) |
สภาผู้แทนราษฎร | 71 / 495 |
เว็บไซต์ | |
bhumjaithai.com | |
การเมืองไทย รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
พรรคภูมิใจไทยจดทะเบียนจัดตั้งกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 มีพิพัฒน์ พรมวราภรณ์ อดีตผู้สมัคร สส.สัดส่วน พรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นหัวหน้าพรรค, มงคล ศรีอ่อน เป็นเลขาธิการพรรค, และ วันเพ็ญ ขวัญวงศ์ เป็นโฆษกพรรคคนแรก[4]
เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2552 เวลา 10.30 น. พรรคภูมิใจไทยได้แถลงข่าวเปิดตัวและแถลงนโยบายที่โรงแรมสยามซิตี้ (ปัจจุบันคือ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ) โดยมีแกนนำ เช่น ชวรัตน์ ชาญวีรกูล, บุญจง วงศ์ไตรรัตน์, โสภณ ซารัมย์, ศุภชัย ใจสมุทร และ พรทิวา นาคาศัย รวมถึงอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน เช่น เนวิน ชิดชอบ, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สมศักดิ์ เทพสุทิน, สรอรรถ กลิ่นประทุม, สุชาติ ตันเจริญ, ทรงศักดิ์ ทองศรี, อนุชา นาคาศัย และ อนุทิน ชาญวีรกูล เข้าร่วมงาน โดย สส. ส่วนใหญ่ที่เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย เป็น สส. กลุ่มเพื่อนเนวิน จากพรรคพลังประชาชน 23 คน และจากพรรคมัชฌิมาธิปไตย 7 คน
ในงานดังกล่าว พรรคภูมิใจไทยได้เปิดตัวตราสัญลักษณ์ของพรรค ซึ่งเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย อยู่ตรงกลางหัวใจ และมีชื่อพรรคอยู่ด้านบน รวมถึงนโยบายพรรค 7 ข้อ โดยให้ความสำคัญกับการเคารพเทิดทูนและยึดมั่นสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, ต่อต้านการปกครองที่ไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำเนินงานทางการเมืองในลักษณะประชานิยม ภายใต้สโลแกน "ประชานิยม สังคมเป็นสุข" ทั้งนี้ บุญจงกล่าวถึงการรวมกันตั้งพรรคภูมิใจไทยว่า เป็นการรวมกันเพื่อทำการเมืองให้มีความมั่นคง จำนวน สส. ที่เพิ่ม จะไม่เป็นประเด็นต่อรองตำแหน่ง แต่จะต่อรองในเรื่องนโยบายประชานิยม ผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว[5]
สำหรับรัฐมนตรีในกลุ่มเพื่อนเนวินที่ย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย ได้แก่ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, โสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ มานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ต่อมาในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 มีกรรมการบริหารพรรคยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคจำนวน 2 คน คือ พรพุฒิ นามเดช รองหัวหน้าพรรค และ ฉัตรภูมิ อํานาจเหนือ นายทะเบียนสมาชิกพรรค โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2552 ทำให้เหลือคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งสิ้น 7 คน[6] จากนั้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 พิพัฒน์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ[7]
ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ จึงมีการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 1/2552 เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จำนวน 12 คน ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ พรทิวา นาคาศัย (นามสกุลในขณะนั้น) เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ และศุภชัย ใจสมุทร เป็นโฆษกพรรคคนใหม่ พร้อมทั้งแก้ไขข้อบังคับพรรคโดยการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ของพรรค โดยเพิ่มสีแดงและสีน้ำเงินลงไปในตราสัญลักษณ์[4]
ต่อมาในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2552 พรรคภูมิใจไทยได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2552 เพื่อแก้ไขข้อบังคับในส่วนของที่ทำการพรรค โดยย้ายจากที่ทำการเดิม 134/245 ถนนสนามบินน้ำ ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ไปอยู่อาคารเลขที่ 2159/11 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ทำการพรรคในปัจจุบัน[7]
ต่อมาในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 พรรคภูมิใจไทยได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2/2552 โดยเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรค ยกเลิกข้อบังคับพรรคฉบับเดิม และประกาศใช้ข้อบังคับพรรคฉบับใหม่ พร้อมกับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยตำแหน่งหลัก ๆ ยังคงเดิม แต่เพิ่มกรรมการบริหารพรรคอีก 2 คน แต่เนื่องจากมีกรรมการบริหารพรรคที่เพิ่มมาใหม่ คือ ชาญ พวงเพ็ชร์ และ สุบรรณ จิระพันธุ์วาณิช เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดลพบุรีตามลำดับ มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 21 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง จึงส่งผลให้เหลือคณะกรรมการบริหารพรรคจำนวน 12 คน ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ทั้งหมด[8]
ต่อมาในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 พิพัฒน์ อดีตหัวหน้าพรรคคนแรก ซึ่งดำรงตำแหน่งนายทะเบียนสมาชิกพรรค ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ทำให้เหลือคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งสิ้น 11 คน[6] ในวันที่ 28 สิงหาคม ชวรัตน์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่เหลือพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่[9]
ในวันที่ 14 ตุลาคม พรรคภูมิใจไทยได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2555 เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จำนวน 9 คน ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่พ้นจากการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองแล้ว มาดำรงตำแหน่งสำคัญภายในพรรค ได้แก่ อนุทิน ชาญวีรกูล บุตรชายของชวรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และศักดิ์สยาม ชิดชอบ น้องชายของเนวิน เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่[10]
สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา ได้ประกาศแยกตัวออกจากพรรคภูมิใจไทย ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 แต่ยังคงสถานะความเป็นสมาชิกไว้เพื่อรักษาสถานภาพการเป็น สส. ของสมาชิกในกลุ่มไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่[11] กระทั่งในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน จึงได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค
เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก 7:1 ตัดสินให้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากการถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ผ่านตัวแทนอำพรางโดยไม่ได้แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566 ส่งผลให้ศักดิ์สยามได้ยื่นหนังสือถึงอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ขอลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย พร้อมกับลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อ ไปในคราวเดียวกัน[12]
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2567 พรรคภูมิใจไทยได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี โดยอนุทินได้ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ทั้งหมด ซึ่งที่ประชุมมีมติให้อนุทินเป็นหัวหน้าพรรคต่อไป ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นของไชยชนก ชิดชอบ บุตรชายของนายเนวิน ชิดชอบ และหลานชายของนายศักดิ์สยาม อดีตเลขาธิการพรรค[13] อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 กันยายน ภราดร ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคคนที่ 2 จำเป็นจะต้องลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค เนื่องจากได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2
ลำดับ | รูป | ชื่อ | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
---|---|---|---|---|
1 | พิพัฒน์ พรมวราภรณ์ | 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 | 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 | |
2 | ชวรัตน์ ชาญวีรกูล | 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 | 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555 | |
3 | อนุทิน ชาญวีรกูล | 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555 | ปัจจุบัน |
ลำดับ | รูป | ชื่อ | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
---|---|---|---|---|
1 | มงคล ศรีอ่อน | 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 | 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 | |
2 | พรทิวา นาคาศัย | 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 | 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555 | |
3 | ศักดิ์สยาม ชิดชอบ | 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555 | 17 มกราคม พ.ศ. 2567 | |
4 | ไชยชนก ชิดชอบ | 24 มีนาคม พ.ศ. 2567 | ปัจจุบัน | |
อันดับ | ชื่อ | ตำแหน่ง[14] | |
---|---|---|---|
ชื่อตำแหน่ง | ลำดับ | ||
1 | อนุทิน ชาญวีรกูล | หัวหน้าพรรค | |
2 | สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล | รองหัวหน้าพรรค | คนที่ 1 |
3 | ภราดร ปริศนานันทกุล (ลาออก) | คนที่ 2 | |
4 | สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ | คนที่ 3 | |
5 | ไชยชนก ชิดชอบ | เลขาธิการพรรค | |
6 | เจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ | รองเลขาธิการพรรค | คนที่ 1 |
7 | พิมพฤดา ตันจรารักษ์ | คนที่ 2 | |
8 | ภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ | คนที่ 3 | |
9 | ศุภมาส อิศรภักดี | เหรัญญิกพรรค | |
10 | ไตรศุลี ไตรสรณกุล | นายทะเบียนสมาชิกพรรค | |
11 | บุณย์ธิดา สมชัย | โฆษกพรรค | คนที่ 1 |
12 | ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ | คนที่ 2 | |
13 | ผกามาส เจริญพันธุ์ | รองโฆษกพรรค | |
14 | กรวีร์ ปริศนานันทกุล | กรรมการบริหารพรรค | |
15 | วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ | ||
16 | ชลัฐ รัชกิจประการ | ||
17 | ธนยศ ทิมสุวรรณ | ||
18 | จักรกฤษณ์ ทองศรี |
พรรคภูมิใจไทยเริ่มมีบทบาททางการเมืองตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2550 โดยพรรคภูมิใจไทยได้นำกลุ่มเพื่อนเนวิน จากพรรคพลังประชาชน มารวมกับพรรคมัชฌิมาธิปไตย และเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ลงมติให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยหลังจากนั้นได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกระทรวงสำคัญในฐานะรัฐมนตรีว่าการ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม ก่อนส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร เขต 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2552 จากกรณี สส. เขตดังกล่าว ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี แต่พ่ายแพ้ให้กับพรรคเพื่อไทย
หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 พรรคภูมิใจไทยได้เข้าร่วมเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาเริ่มมีกระแสข่าวว่าพรรคภูมิใจไทยจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย กระทั่งในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2555 พรรคภูมิใจไทย ประกาศไม่ร่วมอภิปรายกับพรรคฝ่ายค้าน และลงมติไว้วางใจนายกรัฐมนตรี โดยกลุ่มมัชฌิมาได้ลงมติไว้วางใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, เฉลิม อยู่บำรุง, สุกำพล สุวรรณทัต, และ ชัจจ์ กุลดิลก ส่วน สส.กลุ่มเพื่อนเนวินไว้วางใจแค่ยิ่งลักษณ์ งดออกเสียงในส่วนของเฉลิมกับสุกำพล และลงมติไม่ไว้วางใจชัจจ์[15]
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 พรรคภูมิใจไทยชูนโยบายกัญชาทางการแพทย์[16] หลังการเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทยได้รับเลือกตั้ง 51 คน และสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย และในระหว่างการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2562 สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สส.ของพรรค ลงมติงดออกเสียง แทนที่จะลงมติให้เสนอชื่อประยุทธ์ตามมติพรรค เพราะเขาเคยพูดไว้ว่า ถ้าภูมิใจไทยมีมติร่วมกับพลังประชารัฐ หากเขาไม่โหวตสวนกับพรรค ก็จะลาป่วย ไม่เข้าการลงมติ[17]
อนุทิน ชาญวีรกูล ได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข[18] ได้สนับสนุนนโยบายกัญชาเสรีตามที่พรรคได้หาเสียงไว้ นำไปสู่การปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดในปี พ.ศ. 2565 หลังจากนั้นกัญชาในประเทศไทยถือได้ว่าเสรีที่สุดในโลก โดยไม่มีมาตรการควบคุม[19]
หลังจากเปิดสมัยประชุมสภา มี สส. ซึ่งถูกขับออกจากพรรคอนาคตใหม่ย้ายสังกัดมาสู่พรรค 1 คน และต่อมาหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ มี สส. ย้ายมาสังกัดเพิ่มเติม 9 คน
ช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 มี สส. จากพรรคการเมืองอื่นย้ายเข้าพรรคภูมิใจไทยเพื่อเตรียมสำหรับการเลือกตั้งในปีถัดมา โดยส่วนใหญ่เป็น สส. ที่เคยสังกัดพรรคพลังประชารัฐ[20] รวมถึงพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่มาเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครของพรรค[21]
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคภูมิใจไทยได้รับเลือกตั้งเป็น สส. ในระบบแบ่งเขตจำนวน 68 คน ขณะที่ สส. ที่ได้รับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ มีเพียง 3 คน ในช่วงที่พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล อนุทินยืนยันว่าจะไม่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112[22] ต่อมา เมื่อมีการเปลี่ยนให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจึงประกาศไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล พร้อมกับเชิญพรรคภูมิใจไทยให้เข้าร่วมรัฐบาล[23]
การเลือกตั้ง | จำนวนที่นั่ง | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ที่นั่งเปลี่ยน | ผลการเลือกตั้ง | ผู้นำเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|---|---|
2554 | 34 / 500 |
1,281,652 | 3.83% | 34 | ฝ่ายค้าน | ชวรัตน์ ชาญวีรกูล |
2557 | การเลือกตั้งเป็นโมฆะ | อนุทิน ชาญวีรกูล | ||||
2562 | 51 / 500 |
3,734,459 | 10.50% | 17 | ร่วมรัฐบาล | |
2566 | 71 / 500 |
1,138,202 | 3.03% | 20 |
เขตเลือกตั้ง | วันเลือกตั้ง | ผู้สมัครรับเลือกตั้ง | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ผลการเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|---|
สกลนคร เขต 3 | 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552 | พิทักษ์ จันทศรี | 47,235 | 36.17% | พ่ายแพ้ |
ปราจีนบุรี เขต 1 | 10 มกราคม พ.ศ. 2553 | อำนาจ วิลาวัลย์ | 130,995 | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง | |
สุรินทร์ เขต 3 | 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553 | ศุภรักษ์ ควรหา | 104,128 | 58.08% | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง |
นครราชสีมา เขต 6 | บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ | 82,978 | 55.38% | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง | |
ลพบุรี เขต 4 | 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 | เกียรติ เหลืองขจรวิทย์ | 36,994 | 42.25% | พ่ายแพ้ |
เชียงใหม่ เขต 8 | 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 | สุทัศน์ สุทัศนรักษ์ | 404 | 0.34% | พ่ายแพ้ |
พรรคภูมิใจไทยถูกพูดถึง กรณีที่รับ สส. จากพรรคอนาคตใหม่ เข้าร่วมพรรค โดยในขณะนั้น รัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในภาวะเสียงปริ่มน้ำ จึงทำให้ถูกกล่าวหาว่า เป็นการทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีความได้เปรียบขึ้น
16 ธันวาคม พ.ศ. 2565 มีสมาชิกจากพรรคอื่นๆ มาสมัครสมาชิกกับพรรค โดยมี สส. จากพรรคก้าวไกล ซึ่งยังไม่ถูกขับออกจากพรรคอยู่ด้วย รวมไปถึง สส.พรรคร่วมรัฐบาลที่เตรียมจะลาออกมาอยู่พรรคภูมิใจไทยด้วยเช่นกัน อาทิ[24]
ภายหลังจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 เสร็จสิ้น พบว่าอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลที่ย้ายมา ไม่มีใครได้รับเลือกตั้ง[25]
ในการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย พรรคภูมิใจไทยถูกวิจารณ์เป็นอย่างมากจากการบริหารสถานการณ์โควิดผิดพลาด[26] และในระหว่างนั้น ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ติดเชื้อโควิด-19 โดยอ้างว่าติดมาจากสมาชิกพรรค ซึ่งมาจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ [27] สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน
ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 บทความของพรรคภูมิใจไทยบนวิกิพีเดียภาษาไทยถูกก่อกวนโดยการเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น "พรรคภูมิใจตู่" และคำขวัญถูกเปลี่ยนเป็น "ลดอำนาจประชาชน เพิ่มอำนาจกัญชา เลีย…เผด็จการ"[28]
นอกจากนี้ พรรคภูมิใจไทยถูกวิจารณ์ว่าจัดสรรงบประมาณเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพื้นที่บางจังหวัดที่มี สส. ของพรรคมากเป็นพิเศษ[29]
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ศุภชัย ใจสมุทร สส. บัญชีรายชื่อและนายทะเบียนของพรรค ได้ปราศรัยที่ย่านบ่อนไก่ โดยตอนหนึ่งพาดพิงไปยังพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น[30] เวลาต่อมาอนุทินได้ประกาศขอโทษในการกระทำดังกล่าว[31]
หลังการเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทยถูกวิจารณ์ว่ามีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ มีความพยายามในการแจ้งความผู้สมัครที่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง[32] แต่พรรคภูมิใจไทยปฏิเสธและมีความพยายามฟ้องชูวิทย์กลับเช่นกัน[33] รวมถึงก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วันมีการปรากฏว่าผู้สมัคร สส. ของพรรคภูมิใจไทย ขอโทษประชาชนที่ไม่สามารถนำเงินมาแจกตามที่มีประชาชนในพื้นที่บางคนร้องขอได้[34]
นอกจากนี้หลังเลือกตั้ง สุรศักดิ์ นาคดี ผู้สมัคร สส. พรรคเพื่อไทย ยังแจ้งความ สส. พรรคภูมิใจไทยที่ได้รับเลือกตั้งในพื้นที่ของตนในข้อหาเดียวกัน[35]
15 มิถุนายน พ.ศ. 2566 มีเอกสารที่นำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ครั้งที่ 1 ปรากฎว่ามี ว่าที่ ส.ส.ที่ประกาศผลรับรอง 329 คน ขณะที่มี 71 เขต ที่มีเรื่องร้องคัดค้าน มีรายงานว่า เอกสารดังกล่าวอาจเป็นเอกสารสรุปของฝ่ายปฏิบัติการ แจ้งเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ที่ยังไม่ได้นำเสนอต่อที่ประชุม กกต.[36] โดยพรรคภูมิใจไทยถูกร้องคัดค้านทั้งสิ้น 21 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุด โดยมีดังนี้
ลำดับ | รายชื่อ สส. | เขตที่ลงเลือกตั้ง | ข้อกล่าวหา | สถานะปัจจุบัน |
---|---|---|---|---|
1 | ยศวัฒน์ มาไพศาลสิน | กาญจนบุรี เขต 3 | โพสต์เข้าข่ายหาเสียงเกินเวลาในเฟซบุ๊ก | ยังดำรงตำแหน่ง (ยกคำร้อง)[37] |
2 | สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ | ชัยภูมิ เขต 3 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
3 | เอกราช ช่างเหลา | ขอนแก่น เขต 4 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
4 | องอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ | ขอนแก่น เขต 11 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
5 | ษฐา ขาวขำ | นครศรีธรรมราช เขต 7 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
6 | มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล | นครศรีธรรมราช เขต 8 | การซื้อเสียง[38] | ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่[39] |
7 | สุวรรณา กุมภิโร | บึงกาฬ เขต 2 | ให้ทรัพย์สินวัด หาเสียงรื่นเริง[40] | ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่[41] |
8 | รังสิกร ทิมาตฤกะ | บุรีรัมย์ เขต 4 | การซื้อเสียง[42] | ยังดำรงตำแหน่ง |
9 | โสภณ ซารัมย์ | บุรีรัมย์ เขต 5 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
10 | ศักดิ์ ซารัมย์ | บุรีรัมย์ เขต 6 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
11 | พรชัย ศรีสุริยันโยธิน | บุรีรัมย์ เขต 7 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
12 | พิมพฤดา ตันจรารักษ์ | พระนครศรีอยุธยา เขต 3 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
13 | ประดิษฐ์ สังขจาย | พระนครศรีอยุธยา เขต 5 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
14 | อรรถพล ไตรศรี | พังงา เขต 1 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
15 | ภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ | พิจิตร เขต 1 | การซื้อเสียง | ยังดำรงตำแหน่ง (ยกคำร้อง)[43] |
16 | ฤกษ์ อยู่ดี | เพชรบุรี เขต 2 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
17 | สังคม แดงโชติ | ประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
18 | ธนา กิจไพบูลย์ชัย | ศรีสะเกษ เขต 3 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
19 | อาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ | ศรีสะเกษ เขต 8 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
20 | สุขสมรวย วันทนียกุล | อำนาจเจริญ เขต 1 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
21 | ญาณีนาถ เข็มนาค | อำนาจเจริญ เขต 2 | ทำร้ายร่างกายอดีตผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ[44] | ยังดำรงตำแหน่ง |
แต่ถึงกระนั้น กกต. ก็ประกาศรับรอง สส. ทั้ง 500 คนก่อน โดยได้ชี้แจงว่าจะดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง
ในกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกมานั้น มีกลุ่มหนึ่งที่ถูกกล่าวว่าเป็น สว.สีน้ำเงิน กล่าวคือ เป็น สว. กลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม[45] ทำให้เกิดความกังวลถึงความเป็นกลางในการทำหน้าที่ ต่อมา อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้แถลงกับสื่อมวลชนว่า ตนเชื่อว่าสีน้ำเงินในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพรรคภูมิใจไทย เพราะสีน้ำเงินตีความไปได้หลายอย่าง เช่น ในธงชาติไทย หมายถึงพระมหากษัตริย์ ตนจึงไม่ทราบว่าใครที่บัญญัติเรื่องของ สว.สีน้ำเงิน แต่ยืนยันได้ว่า พรรคภูมิใจไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการเลือกตั้ง สว. เพราะถูกจำกัดและถูกห้ามโดยกฎหมายอยู่แล้ว[46]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.