Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สนธิสัญญาแห่งไมตรี ความร่วมมือ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน[1] (อังกฤษ: Treaty of Friendship, Co-operation, and Mutual Assistance; รัสเซีย: Договор о дружбе, сотрудничестве и взаимной помощи, อักษรโรมัน: Dogovor o druzhbe, sotrudnichestve i vzaimnoy pomoshchi) รู้จักกันดีในชื่อ กติกาสัญญาวอร์ซอ (อังกฤษ: Warsaw Pact)[2] เป็นกติกาสัญญาด้านความมั่นคงร่วมกันระหว่างสหภาพโซเวียตกับรัฐบริวารของตนอีกเจ็ดแห่งในยุโรปตอนกลางและตะวันออกระหว่างช่วงสงครามเย็น กติกาสัญญาวอร์ซอเป็นส่วนเพิ่มด้านการทหารของคณะกรรมาธิการเพื่อการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจระหว่างกันหรือ โคเมคอน (Council for Mutual Economic Assistance; CoMEcon) ซึ่งเป็นองค์การทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคสำหรับรัฐคอมมิวนิสต์ในยุโรปตอนกลางและตะวันออก ทั้งนี้กติกาสัญญาวอร์ซอก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบโต้การที่เยอรมนีตะวันตกเข้าร่วมกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (เนโท)[3][4][5][6] ในปี พ.ศ. 2498 จากการลงนามในสนธิสัญญาปารีส พ.ศ. 2497[7][8][9][10][11] แต่ก็ยังถือว่าก่อตั้งขึ้นเพราะสหภาพโซเวียตต้องการดำรงอำนาจควบคุมทางการทหารในยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออกด้วยเช่นกัน[12]
รัสเซีย: Договор о дружбе, сотрудничестве и взаимной помощи | |
รัฐสมาชิกของกติกาสัญญาวอร์ซอในปี พ.ศ. 2533 (สีเขียวเข้ม) และอดีตรัฐสมาชิก (สีเขียวอ่อน) | |
คําขวัญ | สหภาพแห่งสันติภาพและสังคมนิยม (รัสเซีย: Союз мира и социализма) |
---|---|
ก่อตั้ง | 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 |
ล่มสลาย | 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 |
ประเภท | พันธมิตรทางการทหาร |
สํานักงานใหญ่ | มอสโก, สหภาพโซเวียต |
สมาชิก | แอลเบเนีย (ถอนตัวปี พ.ศ. 2511)1 บัลแกเรีย |
ผู้บัญชาการสูงสุด | อีวาน โคเนฟ (คนสุดท้าย) |
หัวหน้าคณะเจ้าพนักงาน | วลาดีมีร์ โลบอฟ (คนสุดท้าย) |
1 - แอลเบเนียถอนตัวออกจากกติกาสัญญาวอร์ซอในเดือนกันยายน พ.ศ. 2511 เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการบุกครองเชโกสโลวาเกียของฝ่ายกติกาสัญญาวอร์ซอ 2 - วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2533 เยอรมันตะวันออกถอนตัวออกจากกติกาสัญญาวอร์ซอเนื่องจากการรวมประเทศ และได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือแทน |
แม้ว่ากติกาสัญญาวอร์ซอจะก่อตั้งขึ้นเพื่อคานอำนาจ[13] หรือต่อกร[14] กับองค์การเนโท แต่ไม่ปรากฏการเผชิญหน้าโดยตรงของทั้งสองฝ่าย หากแต่ความขัดแย้งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการต่อสู่ทางแนวคิดและอุดมการณ์ ทั้งสนธิสัญญาเนโทและกติกาสัญญาวอร์ซอต่างทำให้เกิดการขยายกองกำลังทางทหารและบูรณาการความร่วมมือในหมู่ประเทศสมาชิกของตน[14] โดยปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นก็คือการบุกครองเชโกสโลวาเกียของฝ่ายกติกาสัญญาวอร์ซอในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2511 (รัฐสมาชิกเข้าร่วมทุกแห่งยกเว้นแอลเบเนียและโรมาเนีย)[13] ซึ่งทำให้แอลเบเนียถอนตัวออกจากกติกาสัญญาดังกล่าวภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนหลังจากนั้น ต่อเอกภาพขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอเริ่มสั่นคลอนจากการแผ่ขยายของการปฏิวัติ พ.ศ. 2532 ทั่วทั้งภูมิภาคยุโรปตะวันออก ซึ่งเริ่มจากขบวนการเอกภาพ (Solidarity movement) ในโปแลนด์[15] และการเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2532
ทั้งเยอรมนีตะวันออกและโปแลนด์ถอนตัวออกจากกติกาสัญญาในปี พ.ศ. 2533 ต่อมาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ที่ประชุมของรัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีต่างประเทศจากรัฐสมาชิกที่เหลืออยู่ห้าแห่งประกาศให้กติกาสัญญาดังกล่าวยุติบทบาทลง ตามมาด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ซึ่งแม้ว่าอดีตสาธารณรัฐโซเวียตส่วนมากจะรวมกลุ่มกันตั้งองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมแห่งใหม่ขึ้นมาไม่นานหลังจากนั้น แต่รัฐสมาชิกนอกสหภาพโซเวียตของกติกาสัญญาวอร์ซอเดิมจำนวนเจ็ดแห่งกลับไปเข้าร่วมกับองค์การเนโทแทน (เยอรมนีตะวันออกที่ผ่านการรวมประเทศกับเยอรมนีตะวันตก; สาธารณรัฐเช็กและสาธารณรัฐสโลวักในฐานะรัฐอธิปไตยที่แยกออกจากกัน)
สหภาพโซเวียตกล่าวโจมตีว่าองค์การเนโทมีวัตถุประสงค์เพื่อรุกราน จึงได้ตั้งองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอขึ้นในปี พ.ศ. 2498 และมีชื่อเต็มและชื่ออย่างเป็นทางการว่า สนธิสัญญาวอร์ซอแห่งความร่วมมืออย่างมิตรไมตรีและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือ องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty on Friendship Cooperation and Mutual Aid; Warsaw Treaty Organization)
องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอมีข้อบททำนองเดียวกับข้อห้าขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือที่ว่าการโจมตีสมาชิกรัฐใดรัฐหนึ่งจะถือว่าเป็นการโจมตีรัฐสมาชิกทั้งหมด และข้อห้าของกติกาสัญญายังได้ระบุถึงการบัญชาการทหารร่วมกันด้วย กติกาสัญญาวอร์ซอได้ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการที่กรุงปรากในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2534
รัฐสมาชิกทั้งแปดแห่งในกติกาสัญญาวอร์ซอให้สัตยาบันว่าจะร่วมกันปกป้องรัฐสมาชิกใดก็ตามที่ถูกโจมตี ซึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ในหมู่รัฐสมาชิกเป็นแบบความสัมพันธ์สองทาง ไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของอีกฝ่าย และเคารพอำนาจอธิปไตยและอิสรภาพทางการเมืองของกันและกัน อย่างไรก็ตามรัฐบาลของรัฐสมาชิกทุกแห่งในกติกาสัญญานี้ล้วนแต่ถูกสหภาพโซเวียตควบคุมทางอ้อมด้วยกันทั้งสิ้น
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2506 สาธารณรัฐประชาชนมองโกเลียยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นรัฐสมาชิกภายใต้มาตรา 9 ของกติกาสัญญานี้ แต่เนื่องจากความสัมพันธ์จีน-โซเวียตที่ร้าวฉานมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้มองโกเลียมีสถานะเพียงรัฐผู้สังเกตการณ์เท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 สหภาพโซเวียตจึงยินยอมให้ตั้งฐานกำลังในมองโกเลีย
อดีตประเทศสมาชิกกติกาสัญญาวอร์ซอส่วนใหญ่ได้หันไปเข้าร่วมกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ โดยวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2542 ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก และโปแลนด์ได้เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2547 บัลกาเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย โรมาเนีย และสโลวาเกียก็ได้เข้าร่วมเช่นเดียวกัน
แม้ว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเบียโลรัสเซียและสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต แต่ทั้งสองรัฐเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหประชาชาติแยกกันต่างหาก จึงถูกจำแนกเป็นรัฐสมาชิกแยกจากกันในรายนามนี้
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.