ยูนิส มะห์มูด เคาะลัฟ (อาหรับ: يونس محمود خلف, เกิด 3 กุมภาพันธ์ 1983 ที่จังหวัดคีร์คูก ประเทศอิรัก) เป็นอดีตนักฟุตบอลชาวอิรัก ตำแหน่งกองหน้า โดย มะห์มูด ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทีมชาติอิรักและเคยถูกจัดให้เป็นหนึ่งในนักฟุตบอลชั้นนำของทวีปเอเชีย โดยเขาเป็นเจ้าของสถิติลงสนามให้กับทีมชาติมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มาจนถึงปัจจุบัน และเคยเป็นกัปตันทีมชาติอิรักมายาวนานกว่า 10 ปี[1][2] นอกจากนี้เขายังเคยได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียและเป็นนักฟุตบอลจากทวีปเอเชียเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลฟีฟ่าบาลงดอร์ ในปี 2007 โดยเขาได้รับการโหวตให้เป็นนักฟุตบอลยอดเยี่ยมลำดับที่ 29 ของโลกในปีดังกล่าว
ข้อมูลส่วนตัว | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ชื่อเต็ม | Younis Mahmoud Khalaf | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
วันเกิด | 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1983 | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สถานที่เกิด |
เขตอัดดิบส์ เขตผู้ว่าการคีร์คูก อิรัก | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ส่วนสูง | 1.85 m (6 ft 1 in) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ตำแหน่ง | กองหน้า | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สโมสรเยาวชน | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
1997–1999 | อัดดิบส์ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สโมสรอาชีพ* | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ปี | ทีม | ลงเล่น | (ประตู) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
1999–2001 | คีร์คูก | (24) | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2001–2004 | อัฏเฏาะละบะฮ์ | 33 | (26) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2003–2004 | → อัลวะห์ดะฮ์ (ยืม) | 0 | (0) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2004–2006 | อัลคูร | 49 | (39) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2006–2011 | อัลฆ็อรรอฟะฮ์ | 95 | (72) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2008 | → อัลอะรอบี (ยืม) | 6 | (2) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2011–2013 | อัลวักเราะฮ์ | 33 | (16) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2013 | อัลซัด | 7 | (2) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2013 | อัลอะฮ์ลี | 6 | (3) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2015 | อัรบีล | 0 | (0) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2015–2016 | อัฏเฏาะละบะฮ์ | 19 | (3) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
รวม | - | (185) | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ทีมชาติ‡ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2001–2002 | อิรัก U-19 | 8 | (4) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2002–2004 | อิรัก U-23 | 33 | (21) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2014 |
อิรัก U-23 (เอเชียนเกมส์ 2014) | 5 | (4) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2002–2016 | อิรัก | 148 | (57) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เกียรติประวัติ
| ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
*นัดที่ลงเล่นและประตูที่ยิงให้แก่สโมสรเฉพาะลีกในประเทศเท่านั้น ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2015 ‡ ข้อมูลการลงเล่นและประตูให้แก่ทีมชาติล่าสุด ณ วันที่ 29 มีนาคม 2016 |
ยูนิส มะห์มูด เริ่มมีชื่อเสียงในวงการฟุตบอลระดับชาติจากการเป็นหนึ่งในผู้เล่นของทีมชาติอิรัก รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2004 ที่ประเทศกรีซ ซึ่งทีมชาติอิรักสามารถคว้าอันดับสี่มาครองได้อย่างเหนือความคาดหมาย โดยเขาสามารถยิงประตูในกีฬาโอลิมปิกได้ 1 ลูก จากรอบแบ่งกลุ่มที่เอาชนะทีมชาติโปรตุเกส รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีไป 4–2 และได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลนักฟุตบอลเยาวชนยอดเยี่ยมแห่งปีของทวีปเอเชีย ประจำปี 2004
ต่อมาในปี 2006 มะห์มูดพาทีมชาติอิรักรุ่นอายุไม่เกิน 23 คว้าเหรียญเงินได้ในกีฬาเอเชียนเกมส์ 2006 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ และได้ก้าวขึ้นมาเป็นกัปตันของทีมชาติอิรักชุดใหญ่ที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ฟุตบอลเอเชียนคัพ 2007 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับมาเลเซีย, อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งนับเป็นการได้แชมป์รายการใหญ่ที่สุดของทวีปเอเชียครั้งแรกและครั้งเดียวของสมาคมฟุตบอลอิรัก โดยในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวนอกจาก ยูนิส มะห์มูด จะคว้ารางวัลผู้ทำประตูสูงสุดร่วมกับนาโอฮิโระ ทากาฮาระ จากทีมชาติญี่ปุ่นและยาซิร อัลเกาะห์ฏอนี จากทีมชาติซาอุดีอาระเบียแล้ว เขายังได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำรายการไปครองอีกด้วย
ถึงแม้ในปี 2010 มะห์มูด ต้องพลาดโอกาสในการลงเล่นในเอเชียนเกมส์ 2010 ที่เมืองกว่างโจว ประเทศจีน เพราะสมาคมฟุตบอลอิรักถูกฟีฟ่าลงโทษ จากการปล่อยให้การเมืองในประเทศเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสมาคม ทำให้ต้องถอนทีมออกไป แต่ในปี 2014 เขาก็ได้รับโอกาสลงเล่นในกีฬาเอเชียนเกมส์อีกครั้งในกีฬาเอเชียนเกมส์ 2014 ที่เมืองอินช็อน ประเทศเกาหลีใต้ โดยลงเล่นในโควตาผู้เล่นที่อายุเกิน 23 ปี และสามารถคว้าเหรียญทองแดงได้สำเร็จ โดยในนัดชิงอันดับ 3 เขาเป็นผู้โหม่งประตูชัยให้ทีมชาติอิรักชนะทีมชาติไทย 1–0
ในการแข่งขันฟุตบอลเอเชียนคัพ 2015 ที่ประเทศออสเตรเลีย ยูนิส มะห์มูด ยิงประตูได้ในนัดที่ชนะทีมชาติปาเลสไตน์ 2–0 ทำให้เขากลายเป็นนักฟุตบอลคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่สามารถยิงประตูได้ในการแข่งขันเอเชียนคัพ ถึง 4 สมัยติดต่อกัน (2004,2007,2011,2015)
การเล่นฟุตบอลระดับสโมสร
ยูนิส มะห์มูด เริ่มต้นจากการเล่นกีฬาบาสเกตบอล ในตำแหน่งชูตติงการ์ด จากนั้นเขาหันไปเล่นกีฬาฟุตบอลแทน โดยเขาได้เล่นให้กับสโมสรฟุตบอลเล็กๆในคีร์คูกอย่าง อัดดิบส์ ซึ่งอยู่ในดิวิชัน 4 และไม่ค่อยมีชื่อเสียงมากนัก หลังจากนั้นเขาย้ายไปเป็นนักเตะระดับเยาวชนของทีมประจำเมืองคีร์คูกอย่าง สโมสรฟุตบอลคีร์คูก ที่ลงเล่นในลีกอิรักดิวิชัน 1 และถูกค้นพบโดยแมวมองของสโมสรกีฬาอัฏเฏาะละบะฮ์ ทีมใหญ่ประจำอิรักพรีเมียร์ลีกที่ต้องการตัวเขาไปร่วมทีม
อัฏเฏาะละบะฮ์
หลังจากที่มะห์มูด ตกลงย้ายมาเล่นให้สโมสรอัฏเฏาะละบะฮ์ ทีมดังแห่งกรุงแบกแดด เขาก็ได้พัฒนาฝีเท้าขึ้นมาอีกระดับ โดยเขาได้เล่นเคียงข้างกับผู้เล่นทีมชาติอิรักชื่อดังในทีมอย่างอับดุลวะฮาบ อะบู อัลฮาอิล และดาวรุ่งของทีมในขณะนั้นอย่างบัซซิม อับบาส ที่ต่อมากลายเป็นนักเตะคนสำคัญของทีมชาติอิรักอีกคนหนึ่ง
มะมูดห์ทำผลงานในฤดูกาลแรกกับทีมอย่างยอดเยี่ยมและพาทีมคว้าดับเบิลแชมป์ได้สำเร็จ โดยสามารถคว้าแชมป์อิรักพรีเมียร์ลีกประจำฤดูกาล 2001–2002 พร้อมกับคว้าแชมป์อิรักเอฟเอคัพได้ในปีเดียวกัน
จากฟอร์มการเล่นในฤดูกาลดังกล่าวทำให้เขาถูกเรียกตัวติดทีมชาติชุดใหญ่ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติเอเซียตะวันตก 2002 ที่กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย โดยมะห์มูดเป็นผู้เล่นทีมชาติอิรักที่มีอายุน้อยที่สุดที่ติดทีมชาติชุดใหญ่ และสามารถสร้างผลงานผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ ไปพบกับทีมชาติจอร์แดน โดยในนัดชิงชนะเลิศที่สนามกีฬาอัลอับบาซียีน เขาสามารถยิงประตูได้และพาทีมชนะ 3-2 คว้าแชมป์รายการนี้มาครองได้เป็นครั้งแรกของประเทศ
หลังจากนั้นได้เกิดเหตุการณ์การบุกครองอิรัก โดยสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ทำให้การแข่งขันฟุตบอลลีกในประเทศอิรักต้องหยุดลง และเขาต้องเดินทางออกนอกประเทศไปที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อไปเล่นฟุตบอลกับสโมสร อัลวะห์ดะฮ์ ด้วยสัญญายืมตัว
อัลวะห์ดะฮ์
เนื่องจากเกิดสงครามอิรักและการก่อความไม่สงบในประเทศ รวมถึงการสู้รบระหว่างกลุ่มอิรักนิกายซุนนีย์และชีอะฮ์หลายกลุ่ม ทำให้ในฤดูกาล 2003–2004 ยูนิส มะห์มูด ต้องเดินทางออกนอกประเทศอิรักมาที่อาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อเล่นฟุตบอลให้กับสโมสรอัลวะห์ดะฮ์ ในยูเออีโปร-ลีก ด้วยสัญญายืมตัว โดยถึงแม้ว่า มะห์มูด จะสามารถทำประตูได้ในเอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก 2004 ในรอบแบ่งกลุ่ม แต่เขากลับประสบปัญหาความขัดแย้งและการโต้เถียงกับ ไรนุส อิสราเอล ผู้จัดการทีมในขณะนั้นจนทำให้เขาไม่ถูกส่งลงเล่นอีกเลย
อย่างไรก็ตามแม้จะประสบสถานการณ์ที่ยากลำบากในการเล่นให้สโมสรแต่จากผลงานที่ยอดเยี่ยมของเขาในทีมชาติอิรักชุดอายุไม่เกิน 23 ปี ที่สามารถคว้าอันดับสี่ได้ในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2004 ที่ประเทศกรีซ ทำให้เขาถูกเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงรางวัลนักฟุตบอลระดับเยาวชนยอดเยี่ยมของทวีปเอเชียประจำปี 2004 ร่วมกับผู้เล่นอย่างเคซุเกะ ฮนดะ, พัก จู-ย็อง, ยาวัด เนคูนาม และพัก จี-ซ็อง
อัลคูร
หลังจากหมดสัญญายืมตัว มะห์มูดย้ายไปเล่นฟุตบอลในประเทศกาตาร์ให้กับสโมสรฟุตบอลอัลคูรในกาตาร์สตาร์สลีก และสามารถสร้างสถิติใหม่ในลีกกาตาร์ได้ในฤดูกาล 2004–2005 โดยในเกมส์ที่สโมสรอัลคูร ถล่มสโมสรอัชชะมาลไปถึง 8–0 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2005 ยูนิส มะห์มูด ยิงประตูในเกมดังกล่าวถึง 6 ประตู จึงทำให้เขาเป็นผู้เล่นคนแรกที่สามารถทำดับเบิลแฮตทริกได้ในลีกสูงสุดของประเทศกาตาร์ และสร้างสถิติยิงประตูได้เร็วที่สุดในเกมส์ลีกหลังจากการแข่งขันเริ่มไปได้เพียง 30 วินาที ในเกมส์ดังกล่าวนอกจากเขาทำดับเบิลแฮตทริกและสร้างสถิติยิงเร็วที่สุดแล้ว เขายังเป็นคนส่งให้เพื่อนยิงประตูได้อีก 2 ประตูอีกด้วย หลังจบฤดูกาลเขาพาสโมสรคว้าอันดับ 3 ในลีก และชนะเลิศฟุตบอลถ้วยพระราชทานมกุฏราชกุมารแห่งกาตาร์ (Qatar Crown Prince Cup) โดยนับเป็นการคว้าแชมป์รายการนี้ได้เป็นครั้งแรกของสโมสร
อัลฆ็อรรอฟะฮ์
ปี 2006 เขาย้ายไปเล่นให้ทีมใหญ่ประจำกรุงโดฮาอย่างอัลฆ็อรรอฟะฮ์ โดยในฤดูกาล 2006–2007 ฤดูกาลแรกของเขากับสโมสร ก็สามารถยิงประตูอย่างถล่มทลายคว้ารางวัลผู้ทำประตูสูงสุดในกาตาร์สตาร์ลีก ที่จำนวน 19 ประตู และพาสโมสรคว้าตำแหน่งรองแชมป์เมื่อจบฤดูกาล รวมทั้งได้รางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำปีของสโมสร ทั้งผลงานที่ยอดเยี่ยมในระดับสโมสรและในระดับทีมชาติที่สามารถคว้าแชมป์เอเชียนคัพ 2007 ได้ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของทวีปเอเชีย ประจำปี 2007 ร่วมกับยาซิร อัลเกาะห์ฏอนี และนะชาต อักร็อม และคว้าอันดับ 2 ไปครอง
ในฤดูกาล 2007–2008 มะห์มูดยิงในลีกไป 16 ประตู พาสโมสรคว้าแชมป์กาตาร์สตาร์ลีกได้สำเร็จ โดยเป็นการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกของยูนิส มะห์มูดพร้อมกันนี้สโมสรยังได้ตำแหน่งรองแชมป์ในฟุตบอลชิงถ้วยเอมีร์แห่งกาตาร์ และได้สิทธิแข่งขันในรายการเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ในปี 2009
ในเดือนพฤศจิกายน 2008 มะห์มูดย้ายไปเล่นให้สโมสรกีฬาอัลอะรอบี ซึ่งเป็นทีมร่วมกรุงโดฮาของสโมสรอัลเฆาะรอฟะฮ์ เป็นการชั่วคราวด้วยสัญญายืมตัวในช่วงสั้น ๆ เป็นระยะเวลา 2 เดือน เนื่องจากสโมสรอัลเฆาะรอฟะฮ์ ต้นสังกัดของเขามีผู้เล่นต่างชาติเกินโควตาที่กำหนด
หลังหมดสัญญายืมตัว และ เฟร์นังเดา อดีตนักเตะทีมชาติบราซิลย้ายออกจากทีมไป ทำให้มีโควตาผู้เล่นต่างชาติในทีมว่าง ในเดือนมกราคม 2009 เขาจึงได้กลับมาเล่นให้อัลเฆาะรอฟะฮ์อีกครั้ง แม้จะเคยตกเป็นที่สนใจจากทีมอาแอ็ส มอนาโก ในลีกเอิง ฝรั่งเศส และทีมอื่น ๆ ในยุโรปตลอดช่วงที่ผ่านมา แต่เขาก็ยังเล่นให้สโมสรอัลเฆาะรอฟะฮ์ต่อไป
การแข่งขันเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก 2009 สโมสรตกรอบแรกและทำผลงานได้ไม่ดีนัก แต่ช่วงที่เหลือของฤดูกาล 2008–2009 เขาก็มีส่วนช่วยให้สโมสรป้องกันแชมป์ลีกได้สำเร็จ โดยเป็นแชมป์ลีกกาตาร์สมัยที่ 2 ของตัวเขาเอง
ฤดูกาล 2009–2010 ยูนิส มะห์มูด คว้ารางวัลดาวซัลโวกาตาร์สตาร์ลีกได้อีกครั้ง โดยยิงในลีกไปถึง 21 ประตู และพาสโมสรคว้าแชมป์กาตาร์สตาร์ลีกเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกันได้สำเร็จ
ต่อมาในฤดูกาล 2010–2011 สโมสรอัลเฆาะรอฟะฮ์เสียตำแหน่งแชมป์ลีกให้สโมสรเลคห์วิยา โดยได้ตำแหน่งรองแชมป์เมื่อจบฤดูกาล อย่างไรก็ตามยูนิส มะห์มูด ยังคงคว้าตำแหน่งดาวซัลโวกาตาร์สตาร์ลีกไปครองได้อีกสมัยที่ 15 ประตู โดยนับเป็นการคว้ารางวัลดาวซัลโวในลีกสูงสุดของกาตาร์ได้เป็นสมัยที่ 3 ของตัวเขาเอง ก่อนจะหมดสัญญากับสโมสรในเวลาต่อมา
อัลวักเราะฮ์
ฤดูกาล 2011–2012 ยูนิส มะห์มูด ย้ายมาเล่นให้กับสโมสรอัลวักเราะฮ์แบบไม่มีค่าตัว โดยเขายิงในกาตาร์สตาร์ลีกในฤดูกาลนี้ไป 8 ประตู และจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 7
ต่อมาในฤดูกาล 2012–2013 ช่วงครึ่งฤดูกาลแรก ยูนิส มะห์มูด ยิงในลีกให้อัลวักเราะฮ์ไป 8 ประตู ก่อนจะตัดสินใจย้ายไปเล่นให้กับสโมสรอัลซัด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2013 ช่วงครึ่งหลังของฤดูกาล
อัลซัด
เดือนกุมภาพันธ์ 2013 มะห์มูด ย้ายมาเล่นให้กับอัลซัดจนจบฤดูกาล 2012–2013 โดยเขาได้เล่นคู่กับกองหน้าระดับโลกอย่างราอุล กอนซาเลซ ที่ย้ายมาจากสโมสรชัลเคอ 04 โดยมะห์มูดยิงในครึ่งฤดูกาลหลังให้อัลซัดไป 2 ประตู และมีส่วนช่วยให้สโมสรคว้าแชมป์กาตาร์สตาร์ลีกได้ในที่สุด
อัลอะฮ์ลี
ในเดือนกันยายน 2013 ยูนิส มะห์มูด ย้ายมาเล่นฟุตบอลในลีกสูงสุดของประเทศซาอุดีอาระเบีย กับสโมสรอัลอะฮ์ลีหลังจากเล่นที่ประเทศกาตาร์มายาวนานถึง 9 ปี โดยเซ็นสัญญาระยะสั้นเป็นเวลา 4 เดือน
มะห์มูด ลงเล่นในซาอุดีโปรเฟสชันนัลลีก เป็นนัดแรกเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2013 ในนัดที่บุกมาชนะสโมสรอันนะฮ์เฎาะฮ์ 5–1 ที่สนามกีฬามุฮัมมัด บิน ฟะฮัด โดยมะห์มูดยิงได้ 2 ประตูในการลงสนามนัดแรกของเขา
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2013 ยูนิส มะห์มูด ตัดสินใจยกเลิกสัญญาก่อนสัญญาครบกำหนด 2 สัปดาห์ เนื่องจากปัญหาส่วนตัว โดยมะห์มูดลงสนามในซาอุดีโพรเฟชชันนัลลีก 6 นัด ยิงได้ 3 ประตู
อัรบีล
หลังหมดสัญญากับสโมสรอัลอะฮ์ลี ยูนิส มะห์มูด ที่ไม่ได้เล่นให้กับสโมสรใดมากว่า 1 ปี เซ็นสัญญาย้ายกลับไปเล่นฟุตบอลในบ้านเกิดที่ประเทศอิรัก กับสโมสรกีฬาอัรบีลในเดือนกุมภาพันธ์ 2015 และมีเงื่อนไขว่าจะลงเล่นให้สโมสรเฉพาะในรายการเอเอฟซีคัพเท่านั้น โดยวันที่ 15 เมษายน 2015 มะห์มูด ลงสนามให้สโมสรเป็นครั้งแรกในการแข่งขันเอเอฟซีคัพ นัดที่พบกับสโมสรเอฟซี อะฮาล จากประเทศเติร์กเมนิสถาน ที่สนามกีฬาซะอูด บิน อับดุลเราะห์มาน ประเทศกาตาร์และเขายิงคนเดียว 2 ประตู แต่สโมสรกลับเป็นฝ่ายแพ้ไป 3–2
ชีวิตส่วนตัว
ยูนิส มะห์มูด เป็นนักฟุตบอลที่มีเชื้อสายมาจากชาวเติร์กที่อาศัยอยู่ในอิรัก และเป็นชาวมุสลิมนิกายซุนนีย์ ในช่วงของการเป็นนักฟุตบอลเขาทำกิจกรรมทางการกุศลมากมาย โดยในฤดูกาล 2006–2007 ที่เขาค้าแข้งอยู่กับสโมสรอัลเฆาะรอฟะฮ์ในกาตาร์สตาร์ลีก เขาได้รับรางวัลผู้ทำประตูสูงสุดประจำฤดูกาล และบริจาคเงินรางวัลที่ได้รับจากสมาคมฟุตบอลกาตาร์ถึง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.2 ล้านบาท) เพื่อสร้างมัสยิดในบ้านเกิดของเขาที่จังหวัดคีร์คูก ประเทศอิรัก และบริจาคเงินเพื่อการกุศลในอิรักอีกเป็นจำนวนมากในโอกาสต่าง ๆ
อ้างอิง
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.