Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไพศาล พืชมงคล (9 ตุลาคม พ.ศ. 2490[1] — ) เป็นกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี(พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) อุปนายกและเลขาธิการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน [2]อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ)[3] นักกฎหมายชาวไทย อดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นักเขียนเจ้าของนามปากกา เรืองวิทยาคม
ไพศาลเกิดที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ในครอบครัวเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน บิดาชื่อนายอำไพ พืชมงคล มารดาชื่อนางประภา พืชมงคล เป็นบุตรชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 7 คน ศึกษาจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์[ต้องการอ้างอิง] แล้วสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา[4] และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบการศึกษาจากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ตามลำดับ ในปี พศ ๒๕๓๒ ได้เข้าเรียนและจบหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร(รุ่น ๓๒)
ในขณะเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ไพศาลได้รับรางวัลแชมป์หมากฮอสในการแข่งขันกีฬาสีของโรงเรียน และในระหว่างศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไพศาลเป็นโฆษกพรรคเสรีตราชูของนักศึกษา และเป็นแชมป์หมากฮอส 5 มหาวิทยาลัย ได้รับประทานรางวัลชนะเลิศ จากเสด็จในกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ และได้แต่งตำราหมากฮอสฉบับมาตรฐาน รวมทั้งได้เป็นครูฝึกสอนหมากฮอสให้แก่ชมรมกีฬาในร่ม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่หลายปี
ไพศาลเริ่มเข้าทำงานที่บริษัทสากลสถาปัตย์ของเกียรติ วัธนเวคิน ตั้งแต่ศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 4 ในเวลาต่อมา พ.ศ. 2516 ไพศาลย้ายไปทำงานที่สำนักงานทนายความธรรมนิติของประดิษฐ์ เปรมโยธิน และได้รับช่วงดำเนินงานต่อ ในระหว่างที่ทำงานในธรรมนิติ ไพศาลได้นำรูปแบบของบริษัทจำกัดเข้ามาใช้กับสำนักงานธรรมนิติ ซึ่งให้ทนายความประจำสำนักงานมีเงินเดือนประจำ แทนที่ได้จากส่วนแบ่งจากการว่าความตามธรรมเนียมเดิม ในระหว่างนั้น ไพศาลเคยเป็นแกนนำเดินขบวนคัดค้านการขึ้นค่ารถเมล์ในสมัยรัฐบาลถนอม กิตติขจร เคยเข้าร่วมในการชุมนุมต่อต้าน "กฎหมายโบดำ"[5] และเคยเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมเดินขบวนในเหตุการณ์ 14 ตุลา และได้แต่งเพลงที่มีชื่อเสียงมากบทเพลงหนึ่งชื่อว่า ศักดิ์ศรีกรรมกร โดยมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการรณรงค์ให้โค่นล้มระบบเจ้าขุนมูลนาย
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ไพศาลยังคงเคลื่อนไหวในเมือง รับช่วงงานจากทองใบ ทองเปาด์[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งหลบหนีการปราบปรามไปเข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยได้รับเป็นทนายความให้แก่คณะนักศึกษาและประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ต่อมาได้รับเชิญจากคณะกรรมการทหารภาคอีสานขึ้นไปเยี่ยมฐานที่มั่น พร้อมกับคณะอีกหลายคนที่พื้นที่กาฬสินธุ์ เมื่อ พ.ศ. 2520
ไพศาลเคยว่าความในคดีความสำคัญเช่น คดียึดธนาคารแหลมทอง การรับเป็นทนายความให้แก่คณะทหารในคดีกบฏเมษาฮาวาย และให้แก่นายสุภาพ พัตรอ๋อง ผู้นำกรรมกรอ้อมน้อย ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในปี พ.ศ. 2529 กองบัญชาการทหารสูงสุดได้มอบหมายให้เป็นหนึ่งในเจ็ดคนของคณะทำงานยกร่างหลัก สูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐ ร่วมเอกชน (ปรอ.) และได้เข้าเรียนในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน ในรุ่นที่ 2 (วปอ. 32)[ต้องการอ้างอิง]
ไพศาลได้เข้าสู่ตำแหน่งที่เกี่ยวกับการเมืองครั้งแรกด้วยการเป็นคณะผู้บริหารองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ในปี พ.ศ. 2531 หลังจากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้บริหารรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่งต่อเนื่องมาอีกหลายปี
ต่อมาได้ร่วมงานกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธโดยเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาโครงการ C3I โครงการน้ำพระทัยจากในหลวง[ต้องการอ้างอิง] เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ดำรงตำแหน่ง 22 มี.ค. 2539 - 21 มี.ค. 2543)
ไพศาลยังเป็นกรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพการแพทย์แผนไทย[ต้องการอ้างอิง] และเป็นกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ[ต้องการอ้างอิง] ในทางสังคมและเศรษฐกิจ มีตำแหน่งเป็น เลขาธิการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน[6]
หลังร่วมงานกับพลเอกชวลิตแล้ว ไพศาลได้ร่วมงานกับกลุ่มผู้จัดการ โดยเรียบเรียงหนังสือ "สามก๊ก ฉบับคนขายชาติ" (ใช้นามปากกา "เรืองวิทยาคม") และเขียนคอลัมน์ "ข้างประชาราษฎร์" (ใช้นามปากกา "สิริอัญญา" อันเป็นนามของเพื่อนรักสมัยยังอยู่อำเภอระโนต[ต้องการอ้างอิง]) ผลงานนี้ทำให้ไพศาลได้รับประทานรางวัลนักเขียนบทความดีเด่นประจำปี 2552 จากหม่อมเจ้าหญิงกรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
จนกระทั่งเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ไพศาลถูกเรียกตัวโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อทำหน้าที่ร่างประกาศของคณะ พร้อมกับมีชัย ฤชุพันธุ์ และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ดำรงตำแหน่ง 12 ต.ค. 2549 - 2 มี.ค. 2551)
หลังจากนี้ยังคงทำหน้าที่เป็นนักเขียนบทความให้แก่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หนังสือพิพม์แนวหน้าและเป็นวิทยากรอิสระให้กับสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เอเอสทีวี ผู้จัดการ สุวรรณภูมิ และช่อง ๑๓ สยามไท และเป็นบรรณาธิการเรื่องโหราศาสตร์ ให้แก่เว็บไซต์ ไพศาลวิชัน.คอม ด้วย
ชีวิตส่วนตัวสมรสแล้ว มีบุตร 2 คน ยามว่างชอบอ่านหนังสือ เล่นหมากฮอส หมากรุก ปลูกต้นไม้ และศึกษาพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ ไพศาลก็สนใจในวิชาโหราศาสตร์ เคยเขียนพยากรณ์สงกรานต์ให้แก่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการอยู่หลายปี
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.