Loading AI tools
วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแว็ก จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โคโรนาแว็ก (อังกฤษ: CoronaVac) หรือวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแว็ก (อังกฤษ: Sinovac COVID-19 vaccine)[1] เป็นวัคซีนไวรัสโควิด-19 ชนิดเชื้อตายที่บริษัทยาจีนคือซิโนแว็กไบโอเทค (เรียกสั้น ๆ ว่า ซิโนแว็ก) เป็นผู้พัฒนาขึ้น[2] การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ได้ทำในประเทศบราซิล[3] ชิลี[4] อินโดนีเซีย[5] ฟิลิปปินส์[6] และตุรกี[7] เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมแล้วเหมือนกับวัคซีนโควิด-19 เชื้อตายอื่น ๆ รวมทั้งวัคซีนของซิโนฟาร์มและโคแว็กซินของบริษัทภารัตไบโอเทค[8] วัคซีนไม่ต้องแช่แข็ง คือทั้งวัคซีนและวัตถุดิบของวัคซีนสามารถส่งโดยแช่เย็นที่อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นอุณหภูมิเดียวกับที่ใช้เก็บวัคซีนไข้หวัดใหญ่[9]
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
ขวดวัคซีนโคโรนาแว็ก | |
รายละเอียดวัคซีน | |
---|---|
โรคที่เป็นข้อบ่งชี้ | โควิด-19 |
ชนิด | ไวรัสโควิด-19 ที่ฆ่าแล้ว (inactivated) |
ข้อมูลทางคลินิก | |
ช่องทางการรับยา | ฉีดในกล้ามเนื้อ |
รหัส ATC |
|
กฏหมาย | |
สถานะตามกฏหมาย | |
ตัวบ่งชี้ | |
DrugBank | |
ผลการศึกษาจริงกับชาวชิลีเกินกว่า 10 ล้านรายที่ได้รับโคโรนาแว็กที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (NEJM) พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพระงับการติดเชื้อแบบแสดงอาการในอัตราร้อยละ 66, ลดการเข้าโรงพยาบาล ร้อยละ 88, และลดการเสียชีวิตได้ร้อยละ 86[10] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 ผลการศึกษาจริงกับบุคลากรทางแพทย์เกิน 128,000 คนในอินโดนีเซียพบว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อที่แสดงอาการร้อยละ 94 ป้องกันการติดเชื้อที่ต้องเข้า รพ. ได้ร้อยละ 96 และป้องกันการเสียชีวิตได้ร้อยละ 98[11][12] ในต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2021 ผลเบื้องต้นของการศึกษาจริงกับประชากรร้อยละ 75 (จากประมาณ 46,000 คน) ผู้ได้รับวัคซีนนี้ในเมืองเซอร์ฮานา (Serrana) รัฐเซาเปาลู บราซิล แสดงว่า อัตราการติดเชื้อแบบแสดงอาการลดลงร้อยละ 80 การเข้าโรงพยาบาล ลดลงร้อยละ 86 และการเสียชีวิตลดลงร้อยละ 95[13][14]
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ผลการทดลองระยะที่ 3 จากบราซิลแสดงประสิทธิศักย์ป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการที่ร้อยละ 50.7 และป้องกันจากการติดเชื้อที่มีอาการเบาแต่ต้องรักษาที่ร้อยละ 83.7 การป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62.3 ถ้าฉีดโดสที่สอง 21 วันหรือยิ่งกว่าหลังจากโดสแรก[15] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 ผลการทดลองระยะที่ 3 สุดท้ายจากตุรกีแสดงประสิทธิศักย์ที่ร้อยละ 83.5[16]
วัคซีนกำลังใช้ในโปรแกรมฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วโลกรวมทั้งประเทศในเอเชีย[17][18][19] อเมริกาใต้[20][21][22] อเมริกาเหนือ[23][24][25] และยุโรป[26][27] จนถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 บริษัทมีสมรรถภาพการผลิตวัคซีนถึง 2,000 ล้านโดสต่อปี[28] และได้จัดส่งวัคซีนแล้ว 600 ล้านโดสทั่วโลก[29] วัคซีนปัจจุบันผลิตในประเทศจีน[28] แต่มีแผนจะผลิตในบราซิล (กันยายน 2021)[30] อียิปต์[31] และฮังการี[32]
ในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2021 องค์การอนามัยโลกได้อนุมัติโคโรนาแว็กให้อยู่ในรายการให้ใช้เป็นการฉุกเฉิน[29][33][34] ซึ่งในเวลานั้น มีคนได้ฉีดวัคซีนนี้แล้วเกิน 430 ล้านโดสทั่วโลก[29]
ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 ประเทศไทยได้สั่งวัคซีน 2 ล้านโดสแรก[35] และขึ้นทะเบียนให้ใช้เป็นการฉุกเฉิน ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์[36] แล้วเริ่มฉีดให้แก่ประชาชนในเดือนเดียวกัน[18] จนถึงวันที่ 10 มิถุนายนปีเดียวกัน ประเทศไทยได้รับวัคซีนนี้แล้วทั้งหมด 7.5 ล้านโดส[37]
ความขัดแย้งทางการเมือง ความโปร่งใส และการขาดรายละเอียดข้อมูลทางการทดลองอาจก่อความไม่เชื่อใจในวัคซีนนี้[38][39][40][41]
โคโรนาแว็กเป็นวัคซีนเชื้อตาย (inactivated) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีผลิตวัคซีนเดิมที่มีอยู่แล้ว[42][8] เหมือนกับที่ใช้ในวัคซีนโปลิโอเชื้อตาย การผลิตวัคซีนเริ่มต้นที่การเพาะเชื้อไวรัสโควิด-19 คือ SARS-CoV-2 ด้วยวีโรเซลล์เป็นจำนวนมาก ๆ จากนั้นจึงชุบไวรัสลงในสารประกอบอินทรีย์คือเบตาโพรพิโอแล็กโทน (β-Propiolactone) ซึ่งฆ่าเชื้อโดยเข้าเชื่อมกับยีนของไวรัสแต่ก็ไม่ได้ทำอะไรกับอนุภาคไวรัส ผลิตภัณฑ์ไวรัสที่ได้ก็จะเติมตัวเสริม (adjuvant) ที่เป็นสารประกอบเชิงอะลูมิเนียม[43]
วัคซีนไม่ต้องแช่แข็งเป็นพิเศษ ทั้งวัคซีนและวัตถุดิบของวัคซีนสามารถส่งโดยแช่เย็นที่อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นอุณหภูมิเดียวกับที่ใช้เก็บวัคซีนไข้หวัดใหญ่[9] วัคซีนสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นแช่ยาธรรมดาได้ถึง 3 ปี ซึ่งอาจเป็นข้อดีสำหรับการแจกจำหน่ายวัคซีนในภูมิภาคต่าง ๆ ที่ไร้โซ่เย็น[44] คือ สมรรถภาพในการเก็บและขนส่งวัคซีนในอุณหภูมิที่ต่ำมาก
ในต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2021 มีการประกาศผลงานศึกษาในเมืองเซอร์ฮานา (Serrana) รัฐเซาเปาลู บราซิล ที่มีประชากรประมาณ 46,000 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามให้วัคซีนโคโรนาแว็กแก่ประชาชนผู้ใหญ่ทั้งหมด[45] คือหลังจากที่ประชากรผู้ใหญ่ร้อยละ 75 ได้รับวัคซีน ผลเบื้องต้นแสดงว่าอัตราการเสียชีวิตลดลงร้อยละ 95, การเข้า โรงพยาบาลลดลงร้อยละ 86 และการติดเชื้อแบบแสดงอาการลดลงร้อยละ 80 ผู้อำนวยการสถาบันการวิจัยผลิตผลทางชีวภาพ (Instituto Butantan) กล่าวว่า "ผลสำคัญสุดที่ได้ก็คือความเข้าใจว่าเราสามารถคุมการระบาดทั่วได้โดยไม่ต้องฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรทั้งหมด"[46][47]
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 มีรายงานสถานการณ์จริงจากอินโดนีเซียซึ่งแสดงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ดีกว่าผลการทดลองทางคลินิก ซึ่งพบว่า บุคลากรทางแพทย์ที่ได้วัคซีนร้อยละ 94 ไม่ติดโรคโควิด-19 ที่แสดงอาการ[11] ในบรรดาบุคลากรทางแพทย์ 128,290 คนในนครจาการ์ตา[48] ผู้ที่ได้วัคซีนน้อยกว่าร้อยละ 1 ติดโรคที่แสดงอาการ เทียบกับร้อยละ 8 ในกลุ่มที่ไม่ได้วัคซีน วัคซีนยังลดความเสี่ยงต้องเข้าโรงพยาบาลได้ร้อยละ 96 และลดความเสี่ยงเสียชีวิตร้อยละ 98 อีกด้วย[49][50]
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2021 อุรุกวัยตีพิมพ์ข้อมูลสถานการณ์จริงกับประชากร 795,684 คนที่ได้รับวัคซีนนี้ทั้งสองโดสเกิน 14 วันจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน ในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนนี้ 8,298 คนตรวจเจอเชื้อ 45 คนได้รับเข้าห้องผู้ป่วยหนัก และ 35 คนเสียชีวิตเนื่องกับโควิด-19 ซึ่งชี้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพลดการติดโรคสำหรับคนอายุ 18-49 ปีร้อยละ 65 และสำหรับคนอายุ 50 ปีหรือยิ่งกว่าร้อยละ 62 มีประสิทธิภาพลดการต้องเข้าห้องผู้ป่วยหนักร้อยละ 95 และ 92 ตามลำดับ และมีประสิทธิภาพป้องกันความตายร้อยละ 95 สำหรับทั้งสองกลุ่ม ในกลุ่มบุคลากรทางแพทย์ที่ได้รับวัคซีนทั้งสองโดส วัคซีนมีประสิทธิภาพร้อยละ 66 ในการป้องกันไม่ให้เกิดโรค และเต็มร้อยในการต้องเข้าห้องผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต[51]
ในเดือนกรฎาคม ค.ศ. 2021 วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (NEJM) ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาจริงกับชาวชิลีประมาณ 10.2 ล้านรายที่ได้รับโคโรนาแว็กระหว่างต้นเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 โดยพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพระงับการติดเชื้อแบบแสดงอาการในอัตราร้อยละ 65.9, ลดการเข้าโรงพยาบาล ร้อยละ 87.5, ลดการเข้าห้องไอซียูร้อยละ 90.3 และลดการตายร้อยละ 86.3 งานศึกษาสรุปว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันโควิดโดย "สมกับผลการทดลองวัคซีนระยะที่ 2"[10] ในเดือนเมษายน องค์การอนามัยโลกยังระบุด้วยว่า งานศึกษานี้ทำอยู่ในขณะที่สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และแกมมา (บราซิล) กำลังระบาด[52]
ในวันที่ 11 เมษายน งานทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในบราซิลที่ส่งแก่วารสารการแพทย์เดอะแลนซิต (แต่ยังไม่ได้การทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน) แสดงว่า วัคซีนมีประสิทธิศักย์ป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการร้อยละ 50.7 ป้องกันการติดเชื้อแบบอาการเบาแต่ต้องต้องรักษาร้อยละ 83.7 การป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62.3 ถ้าฉีดโดสที่สอง 21 วันหรือยิ่งกว่าหลังจากโดสแรก มีอาสาสมัคร 12,396 คนในงานที่ทำระหว่าง 21 กรกฎาคมจนถึง 16 ธันวาคม ค.ศ. 2020 อาสาสมัครทุกท่านได้รับวัคซีนหรือยาหลอกอย่างน้อยหนึ่งโดส โดย 9,823 คนได้ทั้งสองโดส[15]
รายละเอียดที่ตีพิมพ์เพิ่มแสดงประสิทธิศักย์ป้องกันการติดเชื้อที่แสดงอาการที่ 50.65% (95% CI, 35.66–62.15%), ป้องกันการติดเชื้อที่ต้องรักษาที่ 83.70% (57.99–93.67%) และป้องกันกรณีที่รุนแรง หรือต้องเข้า รพ. หรือเสียชีวิตที่ 100.00% (56.37–100.00%) ในกลุ่มที่ได้ยาหลอกจำนวน 4,870 คน มีคนติดโรค 168 คน ในคนที่ติดโรค 30 คนจำเป็นต้องรักษาโดย 10 คนมีอาการหนักรวมทั้งคนหนึ่งที่เสียชีวิต ส่วนในกลุ่มที่ได้วัคซีน 4,953 คน มีคนติดโรค 85 คน และ 5 คนต้องรักษาโดยไม่มีคนใดมีอาการหนักหรือเสียชีวิต[53][54]
ผลการทดลองระยะที่ 3 สุดท้ายในตุรกีแสดงประสิทธิศักย์ที่ร้อยละ 83.5 ซึ่งคำนวณจากอาสาสมัครที่ติดเชื้อ 41 คน ในบรรดาคนติดเชื้อ 32 คนได้ยาหลอก วัคซีนป้องกันการเข้า รพ. และการป่วยที่มีอาการรุนแรงได้เต็มร้อย โดยมีคนในกลุ่มยาหลอก 6 คนที่เข้า รพ. งานศึกษานี้มีอาสาสมัคร 13,000 คน[16]
ในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2021 รายงานเบื้องต้น (preliminary)[55] จากการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในประเทศชิลี[56] ระบุว่า วัคซีนปลอดภัยและก่อภูมิต้านทานทั้งในน้ำเหลืองและที่เซลล์อำนวย โดยเกิดทั้งในผู้ใหญ่ (อายุระหว่าง 18-59 ปี) และคนชรา (60 ปีหรือยิ่งกว่า) เป็นผลเหมือนกับการทดลองระยะที่ 2 ก่อนที่ทำในจีนซึ่งแบ่งกลุ่มคนเช่นเดียวกัน และฉีดยาเหมือน ๆ กันคือ 2 โดสห่างกัน 14 วัน ผลไม่พึงประสงค์มีอาการเบาและเป็นเฉพาะที่ โดยหลักเป็นการเจ็บจุดที่ฉีด ซึ่งสามัญกว่าในผู้ใหญ่
อัตราการเกิดสารภูมิต้านทาน (seroconversion) ในผู้ใหญ่หลังจากได้วัคซีนโดสที่สอง 14-28 วันอยู่ที่ร้อยละ 95.6 สำหรับอิมมูโนโกลบูลินจี (IgG) ที่ต้าน S1-RBD (เป็น receptor binding domain ของหน่วยย่อย S1 ของโปรตีนหนามของโควิด-19) โดยเฉพาะ และที่ร้อยละ 96 สำหรับ IgG ทำลายฤทธิ์ (neutralizing) ส่วนสำหรับคนชรา อัตราการเกิด IgG ต้าน S1-RBD เต็มร้อยหลังวันที่ 14 และอยู่ที่ร้อยละ 87.5 หลังวันที่ 28 จากการได้วัคซีนโดสที่สอง และอัตราการเกิด IgG ทำลายฤทธิ์อยู่ที่ร้อยละ 90 หลังวันที่ 14 และเต็มร้อยหลังวันที่ 28 จากการได้โดสที่สอง
แม้วัคซีนจะมีโปรตีนเอ็นมาก แต่สารภูมิต้านทานแบบ IgG ที่ต่อต้านโปรตีนเอ็น (nucleocapsid protein) โดยเฉพาะก็เกิดน้อย ซึ่งเหมือนกับที่พบในสัตว์ทดลอง อย่างไรก็ดี ก็ยังเกิดเซลล์ทีเฮลเปอร์ (CD4+) ที่หลั่ง Interferon gamma (IFNγ) จำนวนมากซึ่งตรวจพบ 14 วันหลังได้วัคซีนทั้งสองโดสโดยเป็นการตอบสนองต่อการได้เพปไทด์ของโปรตีนเอส (S protein) และอนุภาคไวรัสอื่น ๆ ในคนชรา การตอบสนองต่อเพปไทด์ของโปรตีนเอสมีน้อยกว่าเพราะมี CD4+ แบบออกฤทธิ์ที่น้อยกว่าในคนกลุ่มนี้ ซึ่งก็พบเช่นกันในการศึกษาวัคซีนอื่น ๆ
ส่วนการตอบสนองด้วย cytotoxic T cell (CD8+) ไม่ได้ดีเท่า อย่างไรก็ดี ปฏิกิริยาของ CD4+ T cell จัดเป็นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่สมดุลและสามารถกำจัดไวรัสได้ เหมือนกับที่พบในวัคซีนโควิด-19 อื่น ๆ เช่น วัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทคและของแคนซิโนไบโอลอจิกส์
เจ้าหน้าที่ในบราซิลระบุว่า ค่าประสิทธิศักย์ของวัคซีนที่ร้อยละ 50.4 ซึ่งต่ำกว่าที่เคยประกาศรวมเอากรณีคนติดโรคที่มีอาการ "เบามาก" อันไม่ได้รวมเข้าในการวิเคราะห์ครั้งก่อน[57][58] ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของสถาบันการวิจัยผลิตผลทางชีวภาพ (Instituto Butantan) ระบุว่า ค่าต่ำกว่าเพราะใช้มาตรฐานที่เข้มกว่าในการนับคนติดเชื้อในการทดลอง[59] โดยสถาบันได้แบ่งคนติดเชื้อออกเป็นหกกรณีคือ ไม่แสดงอาการ อาการเบามาก อาการปานกลาง 2 ระดับ และอาการรุนแรง สองพวกแรกไม่จำเป็นต้องไปหาแพทย์[57][58] คำอธิบายต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ว่าทำไมประสิทธิศักย์จึงต่ำกว่ารวมทั้ง
ในวันที่ 10 มีนาคม ผู้อำนวยการของสถาบันวิจัย Instituto Butantan แห่งบราซิลกล่าวว่า วัคซีนนี้ใช้ได้ผลกับสายพันธุ์โควิด-19 3 สายพันธุ์ที่มีในประเทศ คือ อัลฟา (อังกฤษ) เดลตา (แอฟริกาใต้) และ P.1.1.28 อย่างสุดท้ายเป็นบรรพบุรุษของสายพันธุ์แกมมา (บราซิล) ที่พบในเมืองมาเนาส์ และสายพันธุ์ซีตา (P.2) ที่พบในกรุงรีโอเดจาเนโร[63]
เพราะวัคซีนนี้และวัคซีนโควิด-19 เชื้อตายอื่น ๆ มีส่วนทุกส่วนของไวรัสโควิด-19 จึงอาจทำให้ภูมิคุ้มกันตอบสนองได้ดีกว่าวัคซีนอื่น ๆ ซึ่งมีเพียงแค่ส่วนบางส่วนของโปรตีนหนามที่ไวรัสอาศัยทำเซลล์ให้ติดเชื้อ[63] ผลเบื้องต้นจากงานศึกษาขนาดใหญ่กับแพทย์พยาบาลแสดงนัยว่า วัคซีนนี้โดสหนึ่งมีผลร้อยละ 50 ต่อต้านการติดเชื้อที่แสดงอาการในเมืองมาเนาส์ ซึ่งเป็นเมืองที่กรณีติดโรคใหม่ ๆ ร้อยละ 75 เกิดจากสายพันธุ์แกมมาอันติดต่อได้ง่ายกว่า[64]
ในการทดลองระยะที่ 2 ที่เสร็จในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 แล้วตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อังกฤษเดอะแลนซิต วัคซีนโคโรนาแว็กก่อสารภูมิต้านทานแบบกำจัดฤทธิ์ (seroconversion, neutralising antibodies) ร้อยละ 92 ในอาสาสมัคร 118 คนในกลุ่มที่ให้ยา 3 ไมโครกรัม และร้อยละ 98 ในกลุ่ม 119 คนที่ให้ยา 6 ไมโครกรัม โดยให้วัคซีนสองครั้งในวันที่ 0 และ 14 นี่เทียบกับการให้ยาในวันที่ 0 และ 28 ที่เกิดสารภูมิต้านทานกำจัดฤทธิ์ที่ร้อยละ 97 สำหรับกลุ่มแรก (117 คน) และเต็มร้อยสำหรับกลุ่มที่สอง (118 คน)[65]
ในเดือนพฤษภาคม บริษัทได้เริ่มทดลองวัคซีนระยะที่ 1-2 ในประเทศจีนกับอาสาสมัครอายุเกิน 60 ปี และในเดือนกันยายนกับเด็กอายุระหว่าง 3-17 ปี[66] ผลการทดลองระยะที่สองกับผู้สูงอายุได้พิมพ์ในวารสารการแพทย์เดอะแลนซิตซึ่งแสดงว่า วัคซีนปลอดภัยและทนรับได้ดีในคนสูงอายุ โดยวัคซีนขนาด 3 ไมโครกรัมและขนาด 6 ไมโครกรัมก่อสารภูมิต้านทานแบบกำจัดฤทธิ์พอ ๆ กัน[67]
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ซิโนแว็กเริ่มการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2-3 กับผู้มีอายุระหว่าง 60-80 จำนวน 352 คนในประเทศฟิลิปปินส์[68]
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 ซิโนแว็กเริ่มการทดลองทางคลินิกระยะ 2b ในประเทศจีนกับอาสาสมัครเด็กและวัยรุ่นอายุระหว่าง 3-17 ปี[69]
ในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 บริษัทได้เริ่มทดลองวัคซีนระยะที่ 3 เพื่อประเมินประสิทธิศักย์และความปลอดภัยกับบุคลากรทางแพทย์ 9,000 คนในประเทศบราซิล โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยบราซิล คือ Instituto Butantan[70][71] วันที่ 19 ตุลาคม ผู้ว่าการรัฐเซาเปาลูระบุว่า ผลเบื้องต้นของงานศึกษาทางคลินิกในบราซิลได้พิสูจน์แล้วว่า ในบรรดาวัคซีนต่าง ๆ ที่กำลังทดลองอยู่ในบราซิล โคโรนาแว็กปลอดภัยที่สุด และมีอัตราการป้องกันโรคที่ดีสุด[72] ในวันที่ 23 ตุลาคม รัฐจึงประกาศเปิดศูนย์อีก 6 แห่งเพื่อทดลองวัคซีนในอาสาสมัครเพิ่มโดยรวมเป็นจำนวน 13,000 คน[73]
บราซิลระงับการทดลองระยะที่ 3 อย่างสั้น ๆ ในวันที่ 10 พฤศจิกายนหลังจากอาสาสมัครคนหนึ่งได้ฆ่าตัวตายโดยไม่เกี่ยวกับวัคซีนก่อนจะดำเนินการต่อในวันที่ 11[74][75]
อนึ่ง ในต้นเดือนสิงหาคม ชิลีก็ได้เริ่มการทดลองระยะที่ 3 ซึ่งจะรับอาสาสมัคร 3,000 คนผู้มีอายุระหว่าง 18-65 ปี[76]
ในวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2020 ตุรกีได้เริ่มการทดลองระยะที่ 3 กับอาสาสมัคร 13,000 คนโดยให้วัคซีน 2 โดสห่างกัน 14 วัน[77] และทำที่ศูนย์ 25 แห่งในเมือง 12 เมืองทั่วประเทศ[78]
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 บริษัทประกาศการทดลองในบังกลาเทศโดยรับอาสาสมัคร 4,200 คน[79] แต่หลังจากนั้นก็ได้หยุดชะงักเพราะบริษัทขอให้รัฐร่วมลงทุนด้วย[80] แต่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขก็ยืนยันว่า บังกลาเทศจะได้วัคซีนนี้แม้ไม่ได้ทำการทดลอง[81]
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 บริษัทเริ่มการทดลองระยะที่ 3 ในอินโดนีเซียร่วมกับบริษัทยาของรัฐคือไบโอฟาร์มาในบันดุงโดยรับอาสาสมัคร 1,620 คน[82] ในเดือนพฤศจิกายน มหาวิทยาลัยการแพทย์ในจังหวัดชวาตะวันตกคือ Padjadjaran University Medical School ให้อัปเดตว่า การทดลองกำลังดำเนินไปด้วยดี โดยอาสามัคร "อย่างมากก็เป็นไข้เล็กน้อยซึ่งหายไปเองภายในสองวัน"[83]
ในเดือนตุลาคม ซิโนแว็กตกลงให้ซาอุดีอาระเบียแจกจำหน่ายวัคซีนแก่บุคลากรทางแพทย์ 7,000 คนหลังจากได้ดำเนินการทดลองระยะที่ 3 กับกองกำลังแห่งชาติคือ Saudi Arabian National Guard[84]
ในเดือนเมษายน บริษัทระบุว่า โรงงานที่สามของบริษัทได้เริ่มผลิตองค์ประกอบของวัคซีนได้มากแล้ว ซึ่งเพิ่มสมรรถภาพการผลิตของบริษัทเป็นทวีคูณ คือเพิ่มเป็น 2,000 ล้านโดสต่อปี[28] ส่วนในอินโดนีเซีย บริษัทของรัฐคือไบโอฟาร์มาจะผลิตวัคซีนให้ได้ 250 ล้านโดสต่อปี[85]
ในวันที่ 9 พฤศจิกายน บราซิลเริ่มสร้างโรงงานเพื่อผลิตวัคซีน 100 ล้านโดสต่อปี โดยวางแผนสร้างให้เสร็จสิ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 2021[86] ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม ผู้ว่าการรัฐเซาเปาลูจึงระบุว่า ในขณะที่กำลังสร้างโรงงานอยู่ สถาบันวิจัยเองมุ่งบรรจุวัคซีนใส่ขวดแล้วปิดป้ายใส่บรรจุภัณฑ์ให้ได้ 1 ล้านโดสต่อวัน[30]
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ในอียิปต์ รัฐบาลอนุมัติข้อตกลงเพื่อผลิตวัคซีน 80 ล้านโดสต่อปีเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกไปยังประเทศแอฟริกาต่าง ๆ[31] ในเดือนเดียวกัน บริษัทไบโอฟาร์มาของอินโดนีเซียได้บรรจุวัคซีนใส่ขวดแล้วปิดป้ายใส่บรรจุภัณฑ์แล้ว 35 ล้านโดส แต่ก็กำลังผจญกับปัญหาการไม่ได้องค์ประกอบวัคซีนพอจากประเทศจีน[87]
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 บริษัท Pharmaniaga ในมาเลเซียได้รับอนุมัติให้บรรจุวัคซีนใส่ขวดแล้วปิดป้ายใส่บรรจุภัณฑ์จากประเทศ[88] ในเดือนเดียวกัน ตุรกีได้ใบอนุญาตให้ผลิตโคโรนาแว็ก[89] ในปลายเดือนนี้ ฮังการีประกาศข้อตกลงในการบรรจุวัคซีนใส่ขวดแล้วปิดป้ายใส่บรรจุภัณฑ์ โดยมีแผนจะผลิตเองทั้งหมดในโรงงานใหม่ในเมืองแดแบร็ตแซ็น[32]
จนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 จีนได้ผลิตส่งโคโรนาแว็กไปแล้ว 600 ล้านโดสทั่วโลก โดยได้ฉีดแล้ว 430 ล้านโดส องค์การอนามัยโลกอนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉินในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2021[29][34][33]
ในปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 จีนได้อนุมัติให้ใช้โคโรนาแว็กเป็นการฉุกเฉินกับกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางแพทย์[92] แล้วในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ก็ได้อนุมัติให้ใช้อย่างทั่วไป[19] ในต้นเดือนมิถุนายนต่อมา จีนก็อนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉินกับเด็กและวัยรุ่นอายุระหว่าง 3-17 ปี[93]
ในกลางเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 อาเซอร์ไบจานเริ่มรณรงค์ฉีดวัคซีนด้วยโคโรนาแว็ก โดยมีแผนซื้อวัคซีน 4 ล้านโดสแล้วฉีดให้แก่ประชากรร้อยละ 40 ของประเทศที่มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน[94]
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 กัมพูชาอนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉิน[95] แล้วเริ่มฉีดวัคซีนในปลายเดือนมีนาคมเมื่อได้รับวัคซีน 1.5 ล้านโดสแรก (มีประชากรประมาณ 16 ล้าน)[96] โดยมีแผนสั่งเพิ่มอีก 4 ล้านโดส[97]
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 ฮ่องกงได้สั่งวัคซีนโคโรนาแว็กจำนวน 7.5 ล้านโดส (ประชากรประมาณ 7.5 ล้านคน)[98] การฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไปก็เริ่มในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021[99]
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 อินโดนีเซียตกลงกับบริษัทให้ส่งวัคซีน 140 ล้านโดส[100] โดยจะมีราคา 200,000 รูปียะฮ์ (ประมาณ 425 บาท หรือ 13.57 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อโดสเมื่อได้ (แต่ละคนต้องได้สองโดส)[101] และได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉินในกลางเดือนมกราคม 2021[102] ประธานาธิบดีอินโดนีเซียโจโก วีโดโดได้รับวัคซีนโดสแรก[17] การทดลองทางคลินิกในประเทศพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพร้อยละ 65 ป้องกันกรณีติดโรคที่แสดงอาการทั้งหมด[17] จนถึงเดือนพฤษภาคม ประเทศได้รับวัคซีนแล้ว 92.9 ล้านโดส[103]
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 บริษัทตกลงส่งวัคซีนให้มาเลเซีย 12 ล้านโดส[104] โดยวัคซีนได้อนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉินต่อมาในเดือนมีนาคม[105] รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นผู้ได้รับวัคซีนโดสแรกในกลางเดือนมีนาคมโดยเป็นการเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน[106]
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ปากีสถานอนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉิน[107] และได้สั่งวัคซีน 5 ล้านโดส[108]
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศว่าได้สั่งซื้อโคโรนาแว็ก 25 ล้านโดส[109] วัคซีนได้รับอนุมัติในปลายเดือนกุมภาพันธ์แต่ก็ไม่ให้ใช้กับแพทย์พยาบาลเพราะไม่ได้ผลดีเท่า โดยให้ใช้กับคนสุขภาพดีทั่วไปอายุระหว่าง 18-59 ปี วัคซีน 600,000 โดสแรกมาถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์[110] และก็เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนในต้นเดือนมีนาคม[111] จนถึงกลางเดือนมิถุนายน ประเทศได้รับวัคซีนทั้งหมดแล้ว 7.5 ล้านโดส[112]
สิงคโปร์ได้เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนโคโรนาแว็กล่วงหน้า[113] แล้วได้วัคซีนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021[114] ต่อมาในเดือนมิถุนายน จึงขึ้นทะเบียนให้ใช้เป็นวัคซีนทางเลือก[115]
ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 ประเทศไทยได้สั่งวัคซีน 2 ล้านโดสแรก[35] และลงทะเบียนให้ใช้เป็นการฉุกเฉิน ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์[36] แล้วเริ่มฉีดให้แก่ประชาชนในเดือนเดียวกัน[18]
ในวันที่ 4 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ 321.6 ล้านบาทเพื่อซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 500,000 โดสโดย 290.24 ล้านบาทจะเป็นค่าวัคซีน คิดเป็นประมาณโดสละ 580 บาท (ประมาณ 18.5 ดอลลาร์สหรัฐ)[116] ในวันที่ 20 พฤษภาคม องค์การเภสัชกรรมระบุว่า ไทยได้รับวัคซีนในเดือนนี้แล้ว 3.5 ล้านโดส รวมทั้งที่จีนบริจาคครึ่งล้านโดสซึ่งได้รับในวันที่ 14 พฤษภาคม รวมเป็นวัคซีนของบริษัทที่ไทยได้รับแล้วทั้งหมด 6 ล้านโดส วัคซีนที่ได้จะจัดเก็บและขนส่งโดยควบคุมอุณหภูมิซึ่งเป็นบริการของบริษัทดีเคเอสเอช (ประเทศไทย)[117]
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขระบุในต้นเดือนมิถุนายนว่าระหว่างเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายน ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนอีกทั้งหมด 11 ล้านโดสโดยแต่ละเดือนจะได้ 2.5-3 ล้านโดส ส่วนในเดือนมิถุนายนจะได้ 2.5 ล้านโดส คือ 5 แสนโดสในต้นเดือน 1 ล้านโดสตอนกลางเดือนและที่เหลือเมื่อสิ้นเดือน[118][119] จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน ประเทศไทยได้รับวัคซีนนี้แล้วทั้งหมด 7.5 ล้านโดส[37]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ในเดือนพฤศจิกายน ตุรกีได้เซ็นสัญญาให้ส่งวัคซีนโคโรนาแว็ก 50 ล้านโดส (ประชากรประมาณ 82 ล้านคน) ระหว่างเดือนธันวาคมจนถึงกุมภาพันธ์[120] แล้วอนุมัติให้ใช้โคโรนาแว็กเป็นการฉุกเฉินในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 2021[121] โดยประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอันเองได้รับวัคซีนโดสแรกในวันเดียวกันที่ รพ. อังการาซิตี้[122] ในเดือนกุมภาพันธ์ ตุรกีสั่งวัคซีนเพิ่มอีก 50 ล้านโดสรวมทั้งหมดเป็น 100 ล้านโดส[26] จนถึงเดือนมีนาคม ประเทศได้ให้วัคซีนแก่คนเกินกว่า 10.7 ล้านคนโดยมีคน 852 คนจาก 1.3 ล้านคนที่ได้วัคซีนทั้งสองโดสแต่ก็เป็นโรค และ 53 คนต้องเข้า รพ. แต่ไม่มีใครต้องสอดท่อช่วยหายใจหรือเสียชีวิต[123]
ในเดือนมีนาคม แอลเบเนียเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนด้วยวัคซีนนี้เป็นหลัก[124] หลังจากที่ได้วัคซีนล้านโดสจากตุรกี[125] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 บอสเนียก็ได้รับบริจาควัคซีนนี้ 30,000 โดสจากตุรกีด้วย[126] ในเดือนเดียวกัน นอร์เทิร์นไซปรัสได้รับวัคซีน 80,000 โดสจากตุรกี[127] โดยจนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2021 ก็ได้รับบริจาควัคซีนนี้จากตุรกีแล้ว 190,000 โดส[128]
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ประเทศจอร์เจียได้รับบริจาควัคซีนแสนโดสจากจีน[129] แล้วเริ่มฉีดให้ประชาชนในเดือนพฤษภาคม[130]
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 ยูเครนอนุมัติให้ใช้วัคซีน โดยบริษัทยาในประเทศ (Lekhim) ตกลงจะผลิตและส่งวัคซีนให้ 5 ล้านโดส[131] แล้วการให้วัคซีนแก่ประชาชนก็เริ่มเมื่อวันที่ 13 เมษายน[27]
ในเดือนเมษายน มอลโดวาก็ได้สั่งซื้อวัคซีน 400,000 โดส[132]
ในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 สำนักงานการแพทย์ยุโรปได้เริ่มตรวจพิจารณาเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีนนี้อย่างต่อเนื่อง[133]
ในเดือนมิถุนายน นอร์ทมาซิโดเนียได้รับบริจาควัคซีนนี้ 30,000 โดสจากตุรกี[128]
ในบราซิล ผู้ว่าการรัฐเซาเปาลูได้เซ็นสัญญามีมูลค่า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,819 ล้านบาท) กับบริษัทในเดือนกันยายนเพื่อให้ส่งวัคซีนในเบื้องต้น 46 ล้านโดส[134] ราคาวัคซีนประกาศว่าอยู่ที่ 10.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส (ประมาณ 323 บาท)[135] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 บราซิลประกาศว่าจะซื้อวัคซีนโคโรนาแว็กทั้งหมด 100 ล้านโดส[136] ต่อมาวันที่ 17 มกราคม องค์กรควบคุมสุขภาพบราซิล (Anvisa) จึงอนุมัติให้ใช้วัคซีนโคโรนาแว็กเป็นการฉุกเฉิน[137] ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ บราซิลระบุว่า จะสั่งวัคซีนเพิ่มอีก 30 ล้านโดสรวมเป็นทั้งหมด 130 ล้านโดส[20] จนถึงต้นเดือนเมษายน บราซิลได้รับวัคซีนนี้ทั้งหมด 39.7 ล้านโดสแล้ว[138]
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 โบลิเวียอนุมัติให้ใช้วัคซีนโคโรนาแว็ก[139]
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020 ชิลีได้เซ็นสัญญาซื้อวัคซีน 20 ล้านโดส[140] แล้วอนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉินในวันที่ 20 มกราคม[141] จนถึงต้นเดือนมีนาคม ชิลีได้รับวัคซีน 10 ล้านโดสและได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชน 4.1 ล้านคนแล้ว[142]
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 โคลัมเบียได้สั่งวัคซีน 5 ล้านโดส โดยกำลังเจรจาเพื่อซื้อเพิ่มอีก 5 ล้านโดส[143] และอนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉินเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์[144]
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 เอกวาดอร์ได้สั่งซื้อวัคซีน 2 ล้านโดสและได้อนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉิน[145] โดยวัคซีนล้านโดสแรกมาถึงต้นเดือนเมษายน[146][147]
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 ปารากวัยได้วัคซีน 20,000 โดสที่ชิลีบริจาคให้[148] แล้วเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนในวันที่ 10 มีนาคม[149]
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 อุรุกวัยได้ซื้อวัคซีน 1.75 ล้านโดสจากบริษัท[150] โดย 192,000 โดสแรกมาถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์แล้วก็เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนในวันที่ 1 มีนาคม[22]
จนถึงวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 2021 สาธารณรัฐโดมินิกันได้ฉีดวัคซีนนี้ให้ประชาชน 400,000 คน (ประชากรทั้งหมดประมาณ 11 ล้านคน) และได้สั่งเพิ่มอีก 10 ล้านโดส[24]
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 เอลซัลวาดอร์ได้รับวัคซีน 1 ล้านโดสจาก 2 ล้านโดสที่ได้สั่งไว้ ครูของโรงเรียนรัฐจะได้รับโดสแรกระหว่างวันที่ 30 มีนาคม - 5 เมษายน[25]
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 เม็กซิโกอนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉิน[151] และสั่งวัคซีน 20 ล้านโดส[152] จนถึงเดือนพฤษภาคม ประเทศได้รับวัคซีนแล้ว 7 ล้านโดส[153]
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ปานามาอนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉิน[154]
ผู้ว่าการรัฐเซาเปาลู (João Doria) เป็นผู้เป็นหลักสนับสนุนโคโรนาแว็กในบราซิล เป็นผู้ที่หลายคนเชื่อว่าจะลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแข่งกับฌาอีร์ โบลโซนารูในปี 2022[40] การเผชิญหน้าทางการเมืองได้เริ่มในเดือนตุลาคม 2020 เมื่อโบลโซนารูวีโต้ข้อตกลงระหว่างกระทรวงสุขภาพบราซิลร่วมกับรัฐบาลรัฐเซาเปาลูเพื่อซื้อวัคซีน 46 ล้านโดส[155] ต่อมาเมื่อสถาบัน Instituto Butantan ได้ประกาศประสิทธิศักย์ของวัคซีน โบลโซนารูก็ได้เยาะเย้ยประสิทธิภาพของวัคซีนในการต่อต้านโควิด-19[156]
ผู้ต่อต้านการทำวัคซีนให้เป็นเรื่องทางการเมืองได้เตือนว่า การไม่ทำตามเกณฑ์วิธีการทดสอบและเกณฑ์ความปลอดภัยทางสากลจะทำให้ประชาชนลังเลในการฉีดวัคซีน[40] ในปลายปี 2020 แพทย์ในรัฐเซาเปาลูกล่าวว่า มีปัญหาทำให้คนไข้เชื่อใจว่าว่าวัคซีนโคโรนาแว็กนั้นปลอดภัย[41]
โพลในเดือนมีนาคม 2021 พบว่า คนบราซิลเลือกวัคซีนโคโรนาแว็กและวัคซีนของแอสตราเซเนกาในอัตราร้อยละ 23.6 และ 21.2 ตามลำดับ เทียบกับร้อยละ 11.3 ที่เลือกวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค[157] เมื่อวุฒิสภาบราซิลได้ไต่สวนปัญหาการระบาดทั่วในบราซิล สมาชิกวุฒิสภาพได้ออกความเห็นว่า คำพูดต่อต้านจีนทำให้บราซิลได้ฉีดวัคซีนอย่างล่าช้า[158]
ในวันที่ 14 ธันวาคม 2020 สำนักงานควบคุมสาธารณสุขบราซิลระบุว่า การให้อนุมัติเพื่อใช้ในประเทศจีนไม่ใช่เรื่องเปิดเผย คือไม่มีข้อมูลว่าใช้กฎเกณฑ์อะไรในการอนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉินในประเทศจีนเดือนมิถุนายน 2020[159]
ในวันที่ 23 ธันวาคม 2020 นักวิจัยบราซิลแจ้งว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพเกินร้อยละ 50 แต่ก็ไม่เปิดเผยผลเต็มโดยทำตามคำขอของบริษัท ซึ่งสร้างคำถามอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับความโปร่งใสเนื่องจากเป็นการเลื่อนการเปิดเผยผลการทดลองเป็นครั้งที่สาม[39] นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การไร้ความโปร่งใสด้านข้อมูลเสี่ยงลดความน่าเชื่อถือของโคโรนาแว็ก โดยเฉพาะเมื่อคนบราซิลและคนอื่น ๆ ทั่วโลกก็ลังเลในการรับวัคซีนอยู่ก่อนแล้ว[38]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.