Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ระยะการทดลองทางคลินิก หรือ ขั้นตอนการทดลองทางคลินิก (อังกฤษ: phases of clinical research) เป็นลำดับขั้นตอน/ระยะต่าง ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์/นักวิจัยทำการทดลองเกี่ยวกับการป้องกันหรือการรักษาโรคใหม่เทียบกับการป้องกันหรือการรักษาโรคมาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบัน[1] เพื่อให้ได้หลักฐานเพียงพอเพื่อใช้ทางการแพทย์ ตัวอย่างการป้องกันหรือรักษารวมทั้งฉีดวัคซีน ให้สุขศึกษา ให้ยา ผ่าตัด และทำกายภาพบำบัด[1] ในกรณีงานศึกษาเภสัชภัณฑ์ ระยะการทดลองจะเริ่มที่การออกแบบยา (drug design) การค้นหายา (drug discovery) ตามด้วยการทดลองในสัตว์ ซึ่งถ้าสำเร็จ จึงจะเริ่มระยะพัฒนาทางคลินิกโดยทดสอบความปลอดภัยในมนุษย์ไม่กี่คน แล้วขยายทดสอบในอาสาสมัครเป็นจำนวนมากเพื่อกำหนดว่าการรักษามีประสิทธิผลหรือไม่
การทดลองทางคลินิกเกี่ยวกับยาใหม่มักจะจัดเป็น 4 ระยะ การทดลองหนึ่ง ๆ อาจจะรวมระยะมากกว่า 1 ระยะ ตัวอย่างรวมสามัญก็คือที่รวมระยะ 1-2 หรือระยะ 2-3 ดังนั้น จึงอาจง่ายกว่าถ้าจัดเป็นงานศึกษาระยะต้นและงานศึกษาระยะปลาย[2] กระบวนการพัฒนายาปกติจะดำเนินไปตลอดระยะทั้ง 4 โดยใช้เวลาหลายปี ถ้ายาผ่านระยะที่ 1-2-3 อย่างสำเร็จ ปกติก็จะได้รับอนุมัติจากองค์กรควบคุมแห่งชาติเพื่อให้ใช้ในคนทั่วไป ส่วนระยะที่ 4 จะทำหลังได้อนุมัติ
ระยะการทดลองทางคลินิกโดยย่อ | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|
ระยะ | จุดประสงค์ | ขนาดยา | ผู้ดูแล | จำนวนอาสาสมัครปกติ | อัตราสำเร็จ[3] | หมายเหตุ |
พรีคลินิก | ทดสอบยาในสัตว์เพื่อข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิศักย์ (efficacy) ความเป็นพิษ และเภสัชจลนศาสตร์ | ไม่จำกัด | นักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ | - (ศึกษานอกกายและในสัตว์เท่านั้น) | ||
ระยะ 0 | หาข้อมูลทางเภสัชจลนศาสตร์ โดยเฉพาะชีวปริมาณออกฤทธิ์ทางปากและระยะครึ่งชีวิตของยา | น้อยมาก ไม่ถึงขนาดรักษา | นักวิจัยทางคลินิก | 10 คน | มักข้ามทำระยะที่ 1 เลย | |
ระยะ 1 | ทดสอบยากับอาสาสมัครสุขภาพดีเพื่อตรวจความปลอดภัยโดยใช้ยาขนาดต่าง ๆ (dose-ranging) | มักไม่ถึงขนาดรักษา[A] แต่ให้ในขนาดเพิ่มขึ้น ๆ | นักวิจัยทางคลินิก[B] | อาสาสมัครสุขภาพดี 20-100 คน[C] (หรือสำหรับยารักษาโรคมะเร็งเป็นต้น คนไข้โรคมะเร็ง) | ประมาณ 70% | สอบว่ายาปลอดภัยเพื่อให้ตรวจประสิทธิศักย์ (efficacy) ในมนุษย์ต่อไปได้หรือไม่ |
ระยะ 2 | ทดสอบยากับคนไข้เพื่อตรวจประสิทธิศักย์ (efficacy) และผลข้างเคียง | ขนาดรักษา | นักวิจัยทางคลินิก/แพทย์ | คนไข้โรคโดยเฉพาะ ๆ 100-300 คน | ประมาณ 33% | เพื่อระบุว่ายามีประสิทธิศักย์ (efficacy) อะไรหรือไม่ ณ จุดนี้จะสมมุติว่า ยาไม่มีผลรักษาอะไร ๆ เลย |
ระยะ 3 | ทดสอบยากับคนไข้เพื่อระบุประสิทธิศักย์ (efficacy) ประสิทธิผล (effectiveness) และความปลอดภัย | ขนาดรักษา | นักวิจัยทางคลินิกและแพทย์ | คนไข้โรคโดยเฉพาะ ๆ 300-3,000 คน[D] | 25-30% | ระบุผลรักษาของยาโดย ณ จุดนี้จะสมมุติว่า ยามีผลบ้าง |
ระยะ 4 | การเฝ้าสอดส่องหลังวางตลาดขายยาทั่วไป | ขนาดรักษา | แพทย์ประจำตัว | คนไข้ที่ไปหาแพทย์เพื่อรักษา | - | ตรวจผลระยะยาวของยา |
ก่อนที่บริษัทเภสัชจะเริ่มการทดลองยาทางคลินิก ก็จะต้องศึกษาในระยะพรีคลินิกอย่างละเอียด ซึ่งรวมการทดลองนอกกาย (in vitro คือในหลอดแก้วหรือในที่เพาะเซลล์) และการทดลองในสัตว์โดยใช้ยาขนาดต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิศักย์ (efficacy) ความเป็นพิษ (toxicity) และเภสัชจลนศาสตร์ (pharmacokinetics) การทดลองเช่นนี้ช่วยบริษัทให้ตัดสินว่า มีประโยชน์อะไรทางวิทยาศาสตร์ที่จะพัฒนายาต่อไปหรือไม่
ระยะ 0 เป็นระยะระบุใหม่สำหรับการทดลองขั้นสำรวจซึ่งเลือกทำได้ตามเกณฑ์ขององค์การอาหารและยาสหรัฐ[7] ระยะ 0 จัดเป็นการศึกษาในมนุษย์โดยใช้ขนาดน้อย (human microdosing studies) และออกแบบเพื่อเร่งพัฒนายาหรือสารสร้างภาพ (imaging agent) ที่มีอนาคตดี โดยช่วยให้กำหนดได้ตั้งแต่ต้น ๆ ว่า ยาหรือสารมีฤทธิ์ (ทางด้านเภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพลศาสตร์[8]) ในมนุษย์เช่นกับที่คาดในงานศึกษาระยะพรีคลินิกหรือไม่ ลักษณะพิเศษของการทดลองระยะ 0 รวมการให้สารขนาดไม่พอรักษา (subtherapeutic) ครั้งหนึ่งแก่ผู้ร่วมการทดลองจำนวนน้อย (10-15 คน) เพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้นทางเภสัชจลนศาสตร์ (คือร่างกายปฏิบัติต่อสารเช่นไร)[9]
งานศึกษาระยะ 0 ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประสิทธิศักย์ เพราะโดยนิยามให้สารในขนาดไม่พอให้ได้ผลรักษา บริษัทยาทำงานศึกษาระยะ 0 เพื่อจัดลำดับยาแคนดิเดตตามค่าทางเภสัชจลนศาสตร์เป็นต้นในมนุษย์เพื่อให้เลือกพัฒนายาได้ต่อไป ระยะนี้ช่วยให้ตัดสินใจได้เร็วอาศัยข้อมูลจากมนุษย์แทนที่จะใช้ข้อมูลจากสัตว์ซึ่งบางครั้งไม่ลงรอยกัน
การทดลองระยะนี้สร้างความขัดแย้งในหมู่ผู้เชี่ยวชาญในด้านความจำเป็น ด้านจริยธรรม และความเป็นไปได้[8]
ระยะหนึ่งปกติเป็นระยะแรกที่ทดสอบในมนุษย์[10] ออกแบบเพื่อตรวจความปลอดภัย, ผลข้างเคียง, ขนาดดีสุด และสูตรประกอบยา[11]
ปกติแล้ว จะรับอาสาสมัครสุขภาพดี 20-100 คน[3][10] มักทำในคลินิกการทดลอง (หรือโรงพยาบาล[4]) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะคอยเฝ้าดูอาสาสมัคร มักทำโดยองค์กรที่รับว่าจ้างทำงานวิจัย (contract research organization หรือ CRO) ผู้ทำงานศึกษาที่สั่งโดยบริษัทเภสัชภัณฑ์หรือองค์กรวิจัยอื่น ๆ องค์กรจะเฝ้าดูอาสาสมัครจนกระทั่งระยะครึ่งชีวิตของยาได้ผ่านไปแล้ว[E] ระยะนี้ออกแบบเพื่อประเมินความปลอดภัย, ความอดทนรับยาได้ (tolerability), เภสัชจลนศาสตร์ และเภสัชพลศาสตร์ของยา ระยะ 1 ปกติจะรวมการเพิ่มหาขนาดยา (dose-ranging) เพื่อตรวจขนาดที่ดีสุดและปลอดภัยสุด และเพื่อตรวจขนาดสูงสุดที่ยาเป็นพิษเกินกว่าจะใช้[12] ช่วงขนาดยาที่ตรวจปกติจะเป็นแค่เศษส่วนของระดับที่พบว่าเป็นอันตรายต่อสัตว์ การทดลองระยะ 1 มักจะรับอาสาสมัครที่สุขภาพดี แต่ในบางกรณีก็ทดลองกับคนไข้โดยตรง เช่นในคนไข้ที่มีมะเร็งแบบถึงตาย หรือคนไข้เอชไอวี หรือในกรณีที่การรักษาน่าจะทำให้อาสาสมัครสุขภาพดีป่วยได้ (เพราะเป็นกลุ่มยาที่มีพิษเกินกว่าจะทดลองในคนปกติ[4]) งานศึกษาเช่นนี้ปกติจะทำในคลินิกที่เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด (เรียกว่า Central Pharmacological Units หรือ CPU) ที่อาสาสมัครจะได้รับการดูแลโดยแพทย์พยาบาล 24 ชม. นอกจากคนไข้ตามที่ว่าแล้ว "คนไข้ที่ปกติได้ลองรักษาด้วยการบำบัดมาตรฐานที่มีอยู่แล้วโดยไม่ดีขึ้น"[2] อาจร่วมในการทดลองระยะ 1 อาสาสมัครอาจได้รับค่าตอบแทนบ้างเนื่องกับความไม่สะดวกสำหรับเวลาที่อยู่ในศูนย์
ในสหรัฐก่อนจะเริ่มการทดลองระยะ 1 เจ้าของโครงการ/ผู้ให้เงินทุนต้องยื่น "ใบสมัครยาใหม่ในระยะตรวจสอบ" แก่องค์การอาหารและยาโดยให้รายละเอียดข้อมูลเบื้องต้นของยาที่ได้จากการศึกษาเซลล์ที่เพาะและงานทดลองในสัตว์
การทดลองระยะที่ 1 ยังอาจแบ่งออกเป็น
เป็นการศึกษาที่ให้ยาครั้งเดียวแก่อาสาสมัครกลุ่มเล็ก ๆ แล้วสังเกตอาการระยะหนึ่งเพื่อยืนยันความปลอดภัย[10][13] ปกติแล้วจะให้ยาขนาดเดียวแก่ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มเล็กปกติ 3 คน[2] ถ้าไม่มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ และข้อมูลทางเภสัชจลนศาสตร์อยู่ในระดับที่ปลอดภัยตามที่คาดไว้ก่อน ก็จะทดลองโดยเพิ่มขนาดยากับคนอีกลุ่มหนึ่ง ถ้ามีผลเป็นพิษที่ยอมรับไม่ได้ในคนใดคนหนึ่งในสามคน ก็จะให้ยาขนาดเดียวกันแก่คนกลุ่มเล็กอีกกลุ่มหนึ่ง[2] ซึ่งจะทำต่อกันเรื่อย ๆ จนถึงระดับความปลอดภัยทางเภสัชจลนศาสตร์สูงสุดที่คำนวณไว้ก่อนแล้ว หรือว่าอาสาสมัครเริ่มทนผลข้างเคียงไม่ได้ (ซึ่งเป็นจุดที่เรียกว่า ขนาดยามากสุดที่ทนได้ คือ maximum tolerated dose ตัวย่อ MTD) ถ้ามีผลเป็นพิษที่ยอมรับไม่ได้ในอีกคนหนึ่ง การเพิ่มขนาดก็จะหยุดที่ตรงนั้น หรือบางครั้งขนาดก่อนหน้านั้น แล้วระบุว่าเป็น MTD วิธีการทดลองเช่นนี้สมมุติว่า MTD จะเกิดเมื่อคนหนึ่งในสามมีผลเป็นพิษที่ยอมรับไม่ได้ มีวิธีที่ต่าง ๆ กันบ้างแต่โดยมากก็จะคล้ายกัน[2]
วิธีนี้ตรวจเภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพลศาสตร์ของการได้ยาหลายครั้งเพื่อสอบความปลอดภัยและความอดทนได้ ในงานศึกษาเช่นนี้ อาสาสมัครจะได้รับยาขนาดน้อย ๆ หลายครั้งโดยจะเก็บตัวอย่าง (เลือดหรือสารคัดหลั่งอื่น ๆ) ที่เวลาต่าง ๆ แล้ววิเคราะห์หาข้อมูลว่า ร่างกายจัดการกับยาเช่นไร ถ้าไม่มีผลข้างเคียง กลุ่มต่อ ๆ มาจะได้ยาเพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่ระบุไว้ตั้งแต่ต้น[10][13]
เป็นการทดลองสั้น ๆ เพื่อตรวจการดูดซึมยาว่าต่างกันเมื่อกินอาหารก่อนได้ยาหรือไม่ งานศึกษาเช่นนี้มักจะทำแบบไขว้กลุ่ม (crossover) อาสาสมัครจะได้ยาขนาดเท่ากันสองครั้ง คือเมื่ออดอาหารและเมื่อกินแล้ว
เมื่อได้ระบุขนาดยาหรือช่วงขนาดยาแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการตรวจว่ายามีฤทธิ์ทางชีวภาพ (biological activity) หรือมีผลอะไรหรือไม่[2] การทดลองระยะ 2 จะทำกับคนกลุ่มใหญ่กว่า (100-300 คน) และออกแบบเพื่อประเมินว่ายาทำงานได้ดีหรือไม่ รวมทั้งประเมินความปลอดภัยที่ทำในระยะ 1 ต่อไปแต่กับอาสาสมัครหรือคนไข้กลุ่มใหญ่กว่า การตรวจยีนจะทำอย่างสามัญ โดยเฉพาะเมื่อมีหลักฐานว่าอัตราเมแทบอลิซึมของยาต่าง ๆ กัน[2] ถ้าการพัฒนายาใหม่ล้มเหลว ก็มักจะเกิดในระยะ 2 เพราะพบว่ายาไม่มีผลตามคาด หรือมีพิษ
งานศึกษาระยะ 2 บางครั้งแบ่งออกเป็นระยะ 2a และ 2b แม้จะไม่มีนิยามที่แน่นอน แต่โดยทั่วไปแล้ว
งานทดลองบางงานรวมระยะ 1-2 เข้าด้วยกัน คือตรวจทั้งประสิทธิศักย์ (efficacy) และความเป็นพิษ (toxicity)
การทดลองทางคลินิกระยะ 2 ตามประวัติมีอัตราประสบความสำเร็จต่ำสุดในบรรดาระยะพัฒนาการ 4 ระยะ ในปี 2010 การทดลองระยะ 2 ที่ผ่านไปทำระยะ 3 ต่ออยู่ที่อัตราร้อยละ 18[16] สำหรับการทดลองขนาดใหญ่ระหว่างปี 2006-2015 ยาแคนดิเดตที่ผ่านระยะ 2 แล้วทดลองต่อในระยะ 3 อยู่ที่อัตราร้อยละ 30.7[17]
ระยะนี้ออกแบบเพื่อประเมินประสิทธิผล (effectiveness) ของการรักษา และดังนั้น จึงเป็นการตรวจคุณค่าของมันในการรักษาจริง ๆ[2] งานศึกษาระยะ 3 เป็นการทดลองแบบสุ่ม มีกลุ่มควบคุม ทำที่ศูนย์หลายแห่ง กับคนไข้จำนวนมาก (300-3,000 คน[D] ขึ้นอยู่กับโรคที่กำลังศึกษา) มุ่งประเมินให้ชัดเจนว่ายามีประสิทธิผลเท่าไร เทียบกับกับการรักษามาตรฐานที่ดีสุด ณ ปัจจุบัน เพราะขนาดและระยะที่ยาวโดยเปรียบเทียบ การทดลองระยะ 3 จึงมีค่าใช้จ่ายสูงสุด ใช้เวลามาก ออกแบบและดำเนินการได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อรักษาโรคเรื้อรัง การทดลองรักษาโรคเรื้อรังระยะ 3 มักจะติดตามผลแค่ระยะสั้น ๆ เทียบกับระยะเวลาจริง ๆ ที่จะรักษาคนไข้ด้วยวิธีนี้[2] บางครั้งเรียกระยะนี้ว่า ระยะก่อนวางตลาด (pre-marketing phase) เพราะจริง ๆ ก็วัดการตอบสนองของผู้บริโภคต่อยา
เป็นเรื่องปกติว่า การทดลองระยะ 3 บางอย่างจะคงทำต่อแม้เมื่อกำลังยื่นเรื่องให้องค์กรควบคุมอนุญาตการวางตลาดยา เพราะช่วยให้คนไข้ได้รับยาที่อาจช่วยชีวิตก่อนจะหาซื้อได้ เหตุผลอื่นสำหรับการทดลองระยะนี้ก็คือเพื่อขยายการใช้ยา คือแสดงว่ายามีผลต่อคนไข้กลุ่มอื่น ๆ หรือโรคชนิดอื่น ๆ ที่ได้อนุมัติแล้วให้วางตลาดขาย, เพื่อตรวจความปลอดภัยเพิ่ม หรือเพื่อสนับสนุนข้ออ้างที่ต้องการใช้เพื่อวางตลาดขายยา บริษัทบางบริษัทอาจเรียกการทดลองระยะนี้ว่า "งานศึกษาระยะ 3B" (Phase IIIB studies)[18]
แม้จะไม่บังคับทุกกรณี แต่ปกติควรจะมีการทดลองระยะ 3 ที่ประสบความสำเร็จอย่างน้อย 2 งาน โดยแสดงความปลอดภัยและประสิทธิศักย์ เพื่อให้ได้อนุมัติจากองค์กรควบคุมเช่นองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) หรือสำนักงานเวชภัณฑ์ยุโรป (EMA) ของสหภาพยุโรป
เมื่อยาได้พิสูจน์ว่าดีพอสมควรหลังจากการทดลองระยะ 3 ผลการทดลองทั้งหมดปกติจะนำมารวมกันเป็นเอกสารฉบับใหญ่ที่มีรายละเอียดวิธีการทดลอง ผลการทดลองในสัตว์และมนุษย์ วิธีผลิตยา สูตรประกอบยา และอายุคุณภาพสินค้า แล้วส่งไปยังองค์กรควบคุมในประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้ในกระบวนการอนุมัติ[H] เพื่อวางขายในตลาด
ยาโดยมากที่กำลังทดลองทางคลินิกระยะ 3 สามารถวางตลาดขายได้ทันทีในสหรัฐเมื่อผ่านการยอมรับขององค์การอาหารและยาว่า คำขอวางตลาดขายยาใหม่ (NDA) สมบูรณ์แล้ว (แม้จะยังไม่ชัดเจนว่ายามีผลแค่ไหน) แต่ถ้าเกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ใด ๆ บริษัทจะต้องถอนยาออกจากตลาดทันที แม้บริษัทยาโดยมากจะไม่วางขายยาตั้งแต่ในช่วงนี้ แต่ก็ไม่แปลกที่ยาซึ่งยังอยู่ในการทดลองทางคลินิกระยะ 3 อยู่ได้วางตลาดขายแล้ว[19]
จนถึงปี 2010 ยาแคนดิเดตอัตราร้อยละ 50 ไม่ผ่านการทดลองระยะ 3 หรือว่าองค์การควบคุมไม่อนุมัติให้ขายยา[20]
ค่าใช้จ่ายสำหรับการทดลองระยะ 2-3
ค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญสุดก็คือโรคที่ใช้รักษาและวิธีการดำเนินการทดลองทางคลินิก ในปี 2016 งานศึกษาระยะสองอาจมีค่าใช้จ่ายถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 706 ล้านบาท) และระยะสามถึง 53 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,870 ล้านบาท)[21]
การทดลองระยะ 4 เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การทดลองสอดส่องหลังวางตลาด (postmarketing surveillance) หรือการทดลองยืนยัน (confirmatory trial) เป็นการสอดส่องดูแลความปลอดภัยและให้ความสนับสนุนช่วยเหลือทางเทคนิคหลังจากยาได้รับอนุมัติให้วางตลาดขาย เช่น ที่อนุมัติในโปรแกรมอนุมัติเร่งด่วนขององค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA Accelerated Approval Program)[22] องค์กรอนุมัติยาของรัฐอาจบังคับให้ทำการศึกษาระยะ 4 หรือบริษัทยาอาจทำเพื่อแข่งขัน (เช่น หาตลาดใหม่สำหรับยา) หรือเพราะเหตุผลอื่น ๆ (เช่น ยาอาจยังไม่ได้ทดสอบว่ามีปฏิสัมพันธ์กับยาอื่น ๆ หรือไม่ หรือยังไม่ทดลองกับกลุ่มประชากรโดยเฉพาะ ๆ เช่นหญิงตั้งครรภ์ ผู้ปกติจะไม่เข้าร่วมการทดลองระยะอื่น ๆ)[3][10] การเฝ้าตรวจความปลอดภัยออกแบบให้ตรวจจับผลไม่พึงประสงค์ที่มีน้อยหรือเกิดในระยะยาวกับกลุ่มประชากรที่ใหญ่กว่าโดยใช้เวลานานกว่าที่ทำได้ในการทดลองระยะ 1-3[10][22] อันตรายที่พบในการทดลองระยะ 4 อาจมีผลทำให้เลิกขายยา หรือจำกัดใช้เฉพาะในบางกรณี ตัวอย่างที่เกิดเร็ว ๆ นี้คือ cerivastatin (เริ่มขายปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 เลิกขายทั่วโลก 2001) troglitazone (อนุมัติในสหรัฐต้นปี 1997 เลิกขายในสหราชอาณาจักรปลายปี 1997) และ rofecoxib (อนุมัติในสหรัฐกลางปี 1999 เลิกขายทั่วโลกปลายปี 2004) ระยะสั้นสุดของการทดลองระยะนี้อยู่ที่ 2 ปี[ต้องการอ้างอิง]
จนถึงปี 2013 กระบวนการพัฒนายาเริ่มตั้งแต่ระยะพรีคลินิกจนถึงการวางตลาดอาจใช้เวลา 12-18 ปีและมักมีค่าใช้จ่ายเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 31,000 ล้านบาท)[23][24]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.