เรือนจำกลางคลองเปรม หรือ คุกลาดยาว หรือฉายาโดยชาวต่างชาติ แบงคอก ฮิลตัน ชื่อเดิม คุกกองมหันตโทษ เป็นเรือนจำความมั่นคงสูงสุด โดยย้ายมาจากเรือนจำกลางคลองเปรมเดิม (ปัจจุบันคือสวนรมณีนาถ ) โดยเป็นเรือนจำที่ใช้คุมขังนักโทษในคดีอุกฉกรรจ์ อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม โดยเรือนจำแห่งนี้คุมขังนักโทษเด็ดขาดที่มีโทษตั้งแต่ 15 ปี ถึงประหารชีวิต เรือนจำตั้งอยู่ที่ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยเรือนจำแห่งนี้เป็นที่ตั้งของทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางโดยเป็นสถานที่คุมขังนักโทษเด็ดขาดในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดติดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี และนักโทษระหว่างรอการพิจารณาคดีในความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดที่มีกำหนดโทษถึงจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเรือนจำแห่งนี้เป็นที่ตั้งของเรือนจำพิเศษกรุงเทพโดยเป็นที่คุมขังนักโทษระหว่างพิจารณาคดีและนักโทษเด็ดขาดที่โทษไม่เกิน 15 ปี และเรือนจำแห่งนี้เป็นที่ตั้งของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยในปี พ.ศ. 2545 ในแดนคุมขังนักโทษชายคุมขังนักโทษชาวต่างชาติ 1,158 คน จาก 56 ประเทศ โดยนักโทษทั้งหมด 7,218 คน[2] [3] [4] โดยในปี พ.ศ. 2563 เรือนจำแห่งนี้มีผู้ต้องขังทั้งหมด 7,921 คน โดยนักโทษที่รับโทษจำคุกตลอดชีวิตภายในเรือนจำจะถูกคุมขังในห้องขนาด 2 x 3 เมตร และเพดานสูงจากพื้น 2.2 เมตร โดย 1 ห้องจะมีนักโทษอย่างน้อย 4 คน[5]
ข้อมูลเบื้องต้น ที่ตั้ง, พิกัดภูมิศาสตร์ ...
ปิด
โดยส่วนคุมขังนักโทษหญิงซึ่งใกล้กับเรือนจำมีชื่อว่าทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังนักโทษหญิงและนักโทษประหารหญิง[6] [7]
ในปี พ.ศ. 2478 ขุนศรีสรากร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เห็นว่าเรือนจำลหุโทษ (ปัจจุบันคือสวนรมณีนาถ ) ควรถูกสร้างใหม่และย้ายไปที่อื่นเนื่องจากเรือนจำแห่งเดิมเก่าแก่และทรุดโทรม โดยได้เลือกที่ดินที่ตั้งเรือนจำเป็นฝั่งตรงข้ามคลองเปรมประชากร ของตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 กรมราชทัณฑ์ได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีจัดตั้งกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลลาดยาว[8]
ในปี พ.ศ. 2496 กรมราชทัณฑ์ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 86 ล้านบาท และในปีเดียวกันได้มีการเปลี่ยนชื่อกองลหุโทษเป็นเรือนจำกลางคลองเปรม ต่อมาในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2502 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 21 และ 43 ให้กรมราชทัณฑ์ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่อบรม และฝึกวิชาชีพ ให้กับผู้ประพฤติตนเป็นอันธพาล
เมื่อการก่อสร้างเรือนจำเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2513 ได้มีการย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำกลางคลองเปรมแห่งเดิมที่ถนนมหาไชย ไปยังเรือนจำกลางคลองเปรมแห่งใหม่ที่บางเขน ส่วนเรือนจำแห่งเดิมได้ถูกยุบและเปลี่ยนชื่อเป็นเรือนจำจังหวัดพระนครและธนบุรี[9]
ในปี พ.ศ. 2516 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงของประเทศเป็นกรุงเทพมหานครนครส่งผลให้เรือนจำถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ในปีพ.ศ. พ.ศ. 2534 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการปรับปรุงทัณฑสถานวัยหนุ่มบางเขน หรือ "เรือนจำกลางคลองเปรม" และได้ย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมาควบคุมรวมกัน และให้ปรับปรุงพื้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเป็นสวนสาธารณะ[10]
ผู้มาติดต่อมาขอเยี่ยมผู้ต้องขัง ต้องกรอกรายละเอียดต่างๆลงในแบบฟอร์มใบเยี่ยมญาติ ซึ่งการเยี่ยมญาติถูกแบ่งออกเป็นแดนตามรอบเช้ากับรอบบ่ายของแต่ละวัน โดยไม่สามารถมาเยี่ยมในวันเสาร์และอาทิตย์ได้[11] ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเยี่ยมญาติต้องจองคิวผ่านไลน์ [12] [13]
เรือนจำแห่งนี้มีการจัดการศึกษานอกระบบของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และในบางครั้งมีการจัดคอนเสิร์ตให้กับผู้ต้องขัง[14]
เนื่องจากเรือนจำแห่งนี้มีนักโทษชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากส่งผลให้มีการจัดฟุตบอลโลกเรือนจำหรือPrison World Cup โดยนักฟุตบอลจะถูกคัดเลือกมาจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ ซึ่ง 1 ทีมจะมี 10 คน ซึ่งทีมนักฟุตบอลที่ถูกคัดเลือกมา ให้เป็นตัวแทนของประเทศไนจีเรีย , ประเทศญี่ปุ่น , ประเทศสหรัฐอเมริกา , ประเทศอิตาลี , ประเทศฝรั่งเศส , ประเทศอังกฤษ , ประเทศเยอรมนี และประเทศไทย ซึ่งทีมที่ชนะจะได้รับแบบจำลองถ้วยฟุตบอลโลกที่ทำขึ้นจากไม้ในโรงงานไม้ของเรือนจำ[15] [2]
การแหกคุกในปี พ.ศ. 2539
เดวิด แมคมิลแลนในปีพ.ศ. 2548
เมื่อปี พ.ศ. 2536 เดวิด แมคมิลแลน พ่อค้ายาเสพติดชาวอังกฤษ-ออสเตรเลีย ซึ่งถูกจับกุมที่เยาวราช โดยตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 นายที่ปลอมตัวเป็นตัวแทนสำนักท่องเที่ยว ซึ่งเขาถูกตั้งข้อหาจำหน่ายเฮโรอีนและถูกส่งตัวไปยังเรือนจำกลางคลองเปรม เดวิดอ้างว่าเขาใช้เงินจำนวน 200 ดอลลาร์ ติดสินบนผู้คุม เพื่อให้ย้ายไปอยู่ในห้องขังที่สะดวกสบายมากขึ้น โดยเดวิดกล่าวว่าวิธีเดียวที่จะอยู่รอดในเรือนจำแห่งนี้คือการติดสินบนผู้คุมและนักโทษผู้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้เดวิดมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านักโทษคนอื่น เดวิดมีพ่อครัวและคนรับใช้ของตนเอง และมีวิทยุ ต่อมาเขาถูกศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิตและจะต้องส่งตัวไปยังเรือนจำกลางบางขวาง เขาจึงตัดสินใจที่จะหลบหนีจากเรือนจำ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2539 เมื่อเวลา 24.00 น. เดวิดได้ใช้ใบเลื่อยที่ลักลอบนำเข้ามาตัดลูกกรง หลังจากออกจากห้องขัง หลังจากนั้นได้ปีนชั้นหนังสือเพื่อออกจากแดนที่คุมขังทางหน้าต่าง หลังจากนั้นได้ใช้บันไดไม้ไผ่ที่ยึดด้วยเชือกผูกรองเท้าข้ามกำแพงเรือนจำ 6 กำแพง เมื่อผ่านกำแพงชั้นนอก เขาใส่กางเกงสีกากีและใช้ร่มปิดบังใบหน้าของตนเองขณะเดินผ่านหอสังเกตการณ์ หลังจากออกจากเรือนจำเขาได้นั่งแท็กซี่ไปยังแฟลตเพื่อรับหนังสือเดินทางปลอม และเดินทางไปยังสนามบิน เพื่อเดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์ โดยใช้เวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมงหลังจากออกจากเรือนจำ ซึ่งขณะที่เครื่องบินกำลังจะออกจากสนามบิน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังมายังสนามบิน แต่ไม่สำเร็จเพราะเครื่องได้ออกจากสนามบินไปแล้ว[16] หลังจากนั้นเขาได้เดินทางไปยังประเทศปากีสถาน แต่ก็ถูกจับกุมในความผิดฐานลักลอบขนยาเสพติดที่ลาฮอร์ หลังจากผู้จัดส่งยาเสพติดซัดทอดไปยังเดวิด หลังจากพ้นโทษเขาเดินทางมายังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปีพ.ศ. 2542[17] ต่อมาในปีพ.ศ. 2545 เขาถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์ ในความผิดฐานลักลอบขนยาเสพติดระดับ A จำนวน 500 กรัม และติดคุกเป็นเวลา 2 ปี[18] ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 เขาถูกตำรวจออร์พิงตันจับกุมอีกครั้งในความผิดฐานลักลอบนำเข้ายาเสพติดระดับ A และถูกตัดสินจำคุก 6 ปี และเดวิดถูกปล่อยตัวในปีพ.ศ. 2557[19] ในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน ประเทศไทยได้เจรจากับประเทศอังกฤษเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของเดวิด[20] แต่สองสัปดาห์ก่อนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนประเทศไทยได้ยกเลิกแผนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของเดวิด [21]
ความพยายามแหกคุกในปีพ.ศ. 2541
เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2541 นักโทษคดียาเสพติด จำนวน 2 คน ได้ใช้เหล็กแหลมขู่คนขับรถขยะที่ขับรถเข้ามาในแดน 4 หลังจากนั้นนักโทษ 2 คนได้ขึ้นมาบนรถ ส่วนอีก 3 คนได้วิ่งตามรถขยะ และขับรถขยะพุ่งชนะประตูแดนที่ 4 หลังจากชนประตูทั้งหมด 2 บาน รถขยะได้พุ่งชนประตูเหล็ก ส่งผลให้รถเสียหลักตกข้างทาง ทำให้นักโทษที่อยู่บนรถทั้งหมด 4 คน ได้พยายามปีนรั้วไฟฟ้าหลบหนีแต่ก็ถูกผู้คุมยิงจนเสียชีวิตทั้ง 4 คน ส่วนนักโทษที่วิ่งตามรถ บางคนได้รับบาดเจ็บหรือถูกจับกุม[22]
แผนการแหกคุกของบรรยิน ตั้งภากรณ์
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 บรรยิน ตั้งภากรณ์ได้วางแผนให้นักโทษอีกคนลักพาตัวภรรยาของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อแลกกับการให้บรรยินออกไปจากเรือนจำ แต่แผนดังกล่าวเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์สืบทราบได้ก่อน ส่งผลให้เขาถูกย้ายตัวไปยังเรือนจำกลางบางขวาง [23] [24] [25]
วิกเตอร์ บูท นักธุรกิจและพ่อค้าอาวุธสงครามชาวรัสเซีย ซึ่งถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่กองปราบปรามและเจ้าหน้าที่DEA ที่โรงแรมในย่านสีลม เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2551[26] ในข้อหาร่วมกันจัดหาและรวบรวมทรัพย์สินเพื่อการก่อการร้าย[27] โดยเขาถูกคุมขังที่เรือนจำกลางคลองเปรมเพื่อรอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐ[28] และเขาถูกส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553[29] [30]
ปิ่น พึ่งญาติ สามีของกิ่งแก้ว ลอสูงเนิน และเป็นผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานลักพาตัวเด็กไปเพื่อฆ่า - ถูกย้ายตัวไปยังเรือนจำกลางบางขวางเพื่อประหารชีวิตและถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2522[31]
เกษม สิงห์ลา ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานลักพาตัวเด็กไปเพื่อฆ่า (ถูกตัดสินประหารชีวิตร่วมกับปิ่นและกิ่งแก้ว ) - ถูกย้ายตัวไปยังเรือนจำกลางบางขวางเพื่อประหารชีวิตและถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2522[32]
อำพล ตั้งนพกุล มักเรียกกันว่า อากง ผู้ถูกฟ้องว่าได้ส่งข้อความสั้นซึ่งมีเนื้อหาเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินีทางโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 4 ข้อความไปหาเลขานุการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมี อำพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี และเสียชีวิตภายในเรือนจำเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555[33]
พลเอก สุรจิต จารุเศรนี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี ในคดีรับสินบนสัมปทานป่าไม้ เสียชีวิตในเรือนจำเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2511
รักเกียรติ สุขธนะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี 7 สมัย และอดีตรัฐมนตรี 5 สมัย ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานรับสินบน 5 ล้านบาทจากบริษัทยาและมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่งผลให้เขาถูกศาลตัดสินในปีพ.ศ. 2546 รวมโทษทั้งสิ้นเป็น 17 ปี 6 เดือน แต่เขาไม่มาฟังคำพิพากษา ส่งให้เขาถูกตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 แต่ก็ได้รับการลดโทษหลายครั้งและถูกพักโทษเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552[34] [35]
มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เขาถูกตัดสินจำคุก 50 ปี ในคดึค้ามนุษย์ และจำคุก 20 ปีในคดีฟอกเงิน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลภายในเรือนจำ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2564[36]
มานัส ทับนิล, ณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์, ชาติชาย เมณฑ์กูล, ประชาวิทย์ ศรีทองสุข และธงชัย วจีสัจจะ ผู้ร่วมกันก่อเหตุฆาตกรรมวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ พี่ชายของผู้พิพากษาอาวุโสของศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อให้ยกฟ้องในคดีโอ้นหุ้นนายชูวงษ์ มานัสถูกตัดสินจำคุก 33 ปี 4 เดือน ส่วนชาติชาย, ประชาวิทย์, ธงชัย และณรงค์ศักดิ์ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต - ถูกย้ายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพเทพมายังเรือนจำกลางคลองเปรม
เดวิด แมคมิลแลน พ่อค้ายาเสพติดชาวอังกฤษ-ออสเตรเลีย ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีน และถูกตัดสินประหารชีวิต โดยเขาได้แหกคุกเรือนจำกลางคลองเปรมเมื่อปีพ.ศ 2539 และหลบหนีไปยังประเทศสิงโปร์ โดยการแหกคุกของเขานับเป็นนักโทษชาวต่างชาติคนแรกที่สามารถแหกคุกเรือนกลางคลองเปรมสำเร็จและเขาได้เขียนหนังสือซึ่งเกี่ยวกับการแหกคุกของเขาโดยมีชื่อว่า Escape: The True Story of the Only Westerner Ever to Break out of Thailand's Bangkok Hilton ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปีพ.ศ 2550[37]
ซาเวียร์ อันเดร จัสโต้ อดีตผู้บริหารของบริษัท ปิโตซาอุดิ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ติดคุกจากการข่มขู่เพื่อรีดทรัพย์ และอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเบอร์ฮัดการพัฒนา 1มาเลเซีย
สังข์ทอง สีใส นักร้องเพลงลูกทุ่งที่ต้องคดีพยายามฆ่า ในปี พ.ศ. 2518 เนื่องจากพยายามควบคุมความเรียบร้อยให้ผู้ชมที่มาชมการแสดงของเขา - ถูกตัดสินจำคุก 12 ปี พ้นโทษในปี พ.ศ. 2524[38]
สุขุม เชิดชื่น สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 7 และนักธุรกิจ และตัดสินว่ามีความผิดฐานจ้างวานฆ่าแพทย์หญิงนิชรี มะกรสาร วิสัญญีแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬา เมื่อปีพ.ศ. 2539 ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ศาลฎีกาลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต[39] โดยได้รับการลดโทษตามลำดับชั้นเหลือโทษจำคุก 22 ปี 6 เดือน 20 วัน โดยเขาได้รับการพักโทษเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564 รวมระยะเวลาจำคุก 17 ปี 2 เดือน 20 วัน[40] [41] [42] [43]
วิชิต เกตุคำศรี หรือฉายา เปี๊ยก กีวี อันธพาลเมืองหลวงรุ่นพ.ศ. 2499 ซึ่งถูกจับกุมในคดีขว้างระเบิดขวดใส่ทหาร เขาถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี แต่เข้ากับอัทธพาลรุ่นเดียวกันในคุกไม่ได้ ทำให้ถูกย้ายไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดสระบุรี
สนธิ ลิ้มทองกุล นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ผู้ก่อตั้งและเจ้าของหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี[44] ในความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่เป็นเหตุให้บริษัทเสียหายโดยร่วมกันกระทำการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้, ร่วมกันไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท และร่วมกันทำบัญชีไม่ครบถ้วนไม่เป็นปัจจุบันซึ่งไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อลวงให้บริษัทและผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์[45] จากการร่วมกันทำรายงานการประชุมเท็จของบริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2540 ต่อมาได้รับการพระราชทานอภัยโทษและได้รับการปล่อยตัวหลังจากติดคุกเป็นเวลา 3 ปี 1 เดือน[46] [47]
บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ถูกตัดสินจำคุก 48 ปี จากคดีระบายข้าวจีทูจี ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 2 ครั้ง เหลือโทษจำคุก 10 ปี และจะพ้นโทษในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2571[48] [49]
ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น ผู้ถูกตัดสินจำคุก 36 ปี จากคดีระบายข้าวจีทูจี [50] [51] ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 2 ครั้ง เหลือโทษจำคุก 8 ปี และจะพ้นโทษในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2568[52]
จำเนียร จันทรา นักล้วงกระเป๋า ที่ถูกจับกุมในข้อหาซ่องโจรที่พญาไทในปี พ.ศ. 2513 และถูกตัดสินจำคุก 30 วัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 เขาถูกจับกุมอีกครั้งในข้อหาซ่องโจรที่บางรัก และติดคุกอยู่ 30 วัน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัว[53]
วัฒนา เมืองสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี จากการเรียกรับเงินสินบนจากบริษัทผู้รับเหมาโครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวน 82.6 ล้านบาท เพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้ได้สัญญาก่อสร้าง ถูกตัดสินจำคุก 99 ปี แต่จำคุกจริง 50 ปี[54] [55] [56] [57]
เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเป็นเรือนจำซึ่งคุมขังผู้ต้องขังชายระหว่างพิจารณาคดี และนักโทษเด็ดขาดชายคดีทั่วไป ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน ๑๕ ปี[58]
บรรยิน ตั้งภากรณ์ , มานัส ทับนิล, ณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์, ชาติชาย เมณฑ์กูล, ประชาวิทย์ ศรีทองสุขและ ธงชัย วจีสัจจะ ผู้ร่วมกันก่อเหตุฆาตกรรมวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ พี่ชายของผู้พิพากษาอาวุโสของศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อให้ยกฟ้องในคดีโอ้นหุ้นนายชูวงษ์ แซ่ตั๊งของบรรยิน ตั้งภากรณ์ โดยบรรยินถูกย้ายตัวไปเรือนจำกลางบางขวางเนื่องจากแผนการลักพาตัวภรรยาของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ[59] [60] [61] [62]
ประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก กำนันตำบลตาก้อง อำเภอเมืองนครปฐม ผู้ก่อเหตุใช้ให้หน่อง หมั่นมากหรือหน่องท่าผา ยิงพลตำรวจตรีศิวกร สายบัว ตำรวจทางหลวงจนเสียชีวิตและพลตำรวจโทวศิน พันปีจนได้รับบาดเจ็บ ถูกย้ายตัวจากเรือนจำกลางสมุทรสงครามมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ[63] [64] [65] [66]
ประสิทธิชัย เขาแก้ว ผู้ก่อเหตุโจรกรรมร้านทองออโร่ร่าภายในห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จังหวัดลพบุรีส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บ 4 คน ถูกย้ายตัวไปยังเรือนจำกลางบางขวาง[67]
ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อของพรรครักประเทศไทย ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานปกปิดบัญชีทรัพย์สินและแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยถูกตัดสินจำคุก 1 เดือนและได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2561[68] [69] [70]
จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ [71]
สรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐกระทำผิดด้วยการยักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” จากการยักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ "คุยคุ้ยข่าว" ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี 4 เดือน แต่ศาลฎีกาตัดสิน 6 ปี 24 เดือน พระราชทานอภัยโทษ 2 ครั้ง จนได้รับการพักโทษเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2564[72] [73] [74] [75]
ทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทย นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย โดยถูกจับกุมหลังเดินทางกลับมายังประเทศไทยที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ตามหมายจับ 3 คดี ของศาลฎีกา ถูกตัดสินจำคุก 8 ปี[76] [77] แต่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษโดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เหลือโทษจำคุก 1 ปี[78] [79] เขาถูกย้ายตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากอาการป่วยฉุกเฉินในวันที่ 23 สิงคม พ.ศ. 2566 โดยเขาได้รับการพักโทษเมื่อวันที่18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567[80] [81] [82] [83]
พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมือง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แวมาฮาดี แวดาโอะ หรือ หมอแว เขาถูกอาราฟิน บิน อาลี สมาชิกกลุ่มก่อการร้ายเจมาห์ อิสลามิยาห์ ซัดทอดว่ามีส่วนร่วมกับวางแผนก่อวินาศกรรมระเบิดสถานทูต 5 แห่งในกรุงเทพ ในช่วงการประชุมเอเปค ส่งผลให้เขาถูกจับกุมในพ.ศ. 2546 และติดคุกเป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะยกฟ้อง
ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ นักเคลื่อนไหว, นักร้อง, นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ชาวไทย
อานนท์ นำภา ทนายความและมีชื่ออยู่ในรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมายในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เนื่องจากกิจกรรมทางการเมือง ในการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2565 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566ขาถูกตัดสินจำคุก 4 ปี ตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563 และถูกตัดสินจำคุกเพิ่ม 4 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 จากการโพสต์ทางโซเชียลมีเดียเมื่อ พ.ศ. 2564
พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตนักแสดง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เขาถูกตัดสินจำคุก 1 ปี จากกรณีหมิ่นประมาทนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนจะได้รับการพักโทษในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 หลังจากติดคุกเป็นเวลา 9 เดือน 16 วัน[84]
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมาย อาจารย์ ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองและถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งเขาถูกศาลแขวงดุสิตยกฟ้องจากคดีไม่ไปรายงานตัว[85]
สมตระกูล จอบกระโทก, พ.อ.อ.กิตติชาติ กุลประดิษฐ์, ทองสุข ชนะการี, ณรงค์ อุ่นแพทย์ (กลม บางกรวย), สุริยัน ดวงแก้ว (ผู้ใหญ่หมึก), พิชัย เทพอารักษ์ (ชัย โคกสำโรง) ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดจากเหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544 ถูกตัดสินจำคุก 6 ปี ส่วนพิชัยถูกตัดสินจำคุก 2 ปี
สมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ ผู้กว้างขวางในภาคตะวันออก และอดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข ผู้ถูกตัดสินจำคุก 30 ปี 4 เดือน จากการจ้างวานฆ่าประยูร สิทธิโชคและทุจริตเขาไม้แก้ว แต่เขาหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาในปีพ.ศ. 2549 โดยถูกจับกุมเจ้าหน้าที่กองปราบปรามจับกุมเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556 ที่ด่านเก็บเงินลาดกระบัง บนถนนมอเตอร์เวย์ โดยเขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ จากอาการป่วยส่งผลให้เขาถูกย้ายตัวไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ต่อมาเขาถูกย้ายไปยังเรือนจำจังหวัดชลบุรี ก่อนจะถูกย้ายตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลชลบุรี[86] ก่อนจะมีคำสั่งให้กลับมารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์[87] แล้วส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ต่อมาในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560 คณะกรรมการพิจารณาพักโทษได้พิจารณาพักโทษสมชาย เนื่องจากสมชายมีอายุเกิน 70 ปีและป่วยหนัก[88] [89] [90]
ลูไอ แซแง, วิลดัน มาหะ และมูฮัมหมัดอิลฮัม สะอิ ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจากเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2562 โดยลูไอกับวิลดันถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตแต่ให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีจึงลดโทษเหลือจำคุก 39 ปี 16 เดือน ส่วนมูฮัมหมัดอิลฮัมถูกตัดสินจำคุก 164 ปี 72 เดือน 240 วัน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกต้องไม่เกิน 50 ปี จึงพิพากษาจำคุก 50 ปี[91] คาดว่าถูกย้ายตัวไปยังเรือนจำกลางบางขวางหลังถูกศาลชั้นต้นตัดสิน[92]
ข้อมูลเบื้องต้น ที่ตั้ง, พิกัดภูมิศาสตร์ ...
ปิด
ทัณฑสถานหญิงกลาง เป็นเรือนจำที่คุมขังผู้ต้องหาหญิง ซึ่งถูกบริหารโดยกรมราชทัณฑ์ ตั้งอยู่ที่ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ใกล้กับเรือนจำกลางคลองเปรม โดยเรือนจำแห่งนี้เป็นที่คุมขังผู้ต้องขังหญิงที่มีโทษจนถึงประหารชีวิต[95] [96]
ประวัติ
ทัณฑสถานหญิงกลาง เคยเป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำกลางคลองเปรมแห่งเดิมที่ตำบลสำราญราษฎร์ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ต่อมาในปี พ.ศ. 2506 กรมราชฑัณฑ์ได้แยกทัณฑสถานหญิงออกเป็นเอกเทศโดยมีชื่อใหม่ว่าทัณฑสถานหญิงพระนคร ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515 กรมราชฑัณฑ์ได้ย้ายผู้ต้องขังหญิงมายังทัณฑสถานหญิงแห่งใหม่ที่ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เนื่องจากมีจำนวนผู้ต้องขังมากขึ้นและไม่เอื้อต่อการดำเนินงานด้านการควบคุมงาน โดยเปลี่ยนชื่อสถานที่ใหม่เป็นฑัณฑสถานหญิง ต่อมาในวันที่ 16 เดือนมกราคม พ.ศ. 2538 ได้เปลี่ยนชื่อสถานที่ใหม่เป็นฑัณฑสถานหญิงกลาง[97]
ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ห้องซักรีดของฑัณฑสถาน ส่งผลให้มีผู้ต้องขังหญิงได้รับบาดเจ็บ 7 คน จากการสำลักควันไฟ[98]
กิจกรรมภายในเรือนจำ
เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 ฑัณฑสถานหญิงกลางได้นิมนต์พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) มาเป็นผู้บรรยายในโครงการให้คำปรึกษาซึ่งมีชื่อว่าปัญญาบำบัด โดยโครงการดังกล่าวจะจัดที่ห้องประชุมของฑัณฑสถาน ทุกๆวันศุกร์เวลา 9.00 น.[99] [100]
นักโทษที่มีชื่อเสียง
สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องโดยใช้การวางไซยาไนด์ในอาหารหรือเครื่องดื่ม โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 คน และรอดชีวิต 1 คน โดยในปัจจุบันยังถุกคุมขังเพื่อรอการพิจารณาคดีและได้แท้งลูกไปแล้ว[101] [102]
สุมาลี โพธิ์สุวรรณ หรือ เล็ก พยาบาล และพุฒิพรรณ วงศ์คำลือ ผู้ร่วมกับอ๊อต พืชพันธ์ กับบุญ พืชพันธ์ ก่อเหตุฆาตกรรมกำธร ลาชโรจน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี 2 สมัย ทั้งสองได้วางแผนให้พุฒิพรรณหลอกล่อกำธรให้หลับนอนกับเธอ แล้ววางยานอนหลับในเครื่องดื่มของกำธร ก่อนจะปลดทรัพย์ไป ต่อมาทั้งสองกลัวความผิดจึงพยุงกำธรออกจากโรงแรม และไปรับอ๊อตกับบุญ หลังจากนั้นอ๊อตได้ฆ่ากำธรบนรถ ทั้งสี่ได้นำทรัพย์สินของกำธรมาแบ่ง แล้วนำศพของกำธรทิ้งไว้ข้างทาง ก่อนจะแยกย้ายกันหลบหนีไป ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเนื่องจากให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ไม่ทราบสถานะทางคดีในปัจจุบัน คาดว่าได้รับการปล่อยตัวแล้ว[103] [104]
สมศรี เกตุจันทร์ ผู้ช่วยพยาบาลผู้ก่อเหตุพามือปืนมาก่อเหตุฆาตกรรมครอบครัวของนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ สามีของเธอ เมื่อปีพ.ศ. 2528 ถูกตัดสินประหารชีวิต การลดโทษไปแล้ว
กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานลักพาตัวเด็กไปเพื่อฆ่า (ถูกตัดสินประหารชีวิตร่วมกันปิ่นและเกษม) ย้ายไปเรือนจำกลางบางขวางเพื่อประหารชีวิต โดยถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2522 โดยในการประหารชีวิตกิ่งแก้ว เธอไม่เสียชีวิตในการยิงชุดแรก ทำให้ถูกนำตัวมายิงเป้าในรอบที่สองส่งผลให้เธอเสียชีวิต[105] [106]
สมัย ปานอินทร์ ผู้จำหน่ายยาเสพติดชาวไทย ซึ่งร่วมกับนางสมใจ ทองโอ, นางมาลี เดชาภิรมย์, นายอรุณศักดิ์ หงษ์สร้อยคำและ ด.ช.เล็ก (นามสมมุติ) ร่วมกันค้าขายเฮโรอีน โดยสมัยเป็นคนนำเฮโรอีนไปขายที่ชุมชนคลองเตยล็อกที่ 4 ทำให้เธอได้รับฉายาว่าเจ้าแม่ล็อก 4 โดยเธอถูกตัดสินประหารชีวีตและถูกย้ายตัวไปเรือนจำกลางบางขวางเพื่อประหารชีวิต โดยถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542และนับเป็นนักโทษประหารหญิงคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าโดยประเทศไทย[107] [108] [109]
สมควร พยัคฆ์เรือง ภรรยาของบัณฑิต เจริญวานิช โดยถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภทที่1ไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย และถูกตัดสินประหารชีวิตร่วมกับบัณฑิตและจิรวัฒน์ แต่เธอได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนบัณฑิตและจิรวัฒน์ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552
กัลยาณี อร่ามเวชอนันต์ ผู้ส่งลูกชาย 2 คนไปเรียนวิชาเคมีที่ประเทศไต้หวัน เพื่อผลิตยาบ้า ต่อมาครอบครัวของเธอได้เช่าบ้านในอำเภอบางกรวย เพื่อผลิตยาบ้ายี่ห้อเปาบุ้นจิ้น ในปีพ.ศ. 2530 ได้มีการประกาศให้ยาบ้าผิดกฎหมาย ส่งผลให้เธอ สามีและลูกชาย 2 คนถูกจับกุม[110]
เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี พระสนมในพพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถูกถอดยศและถูกคุมขังเนื่องจากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายประการรวมทั้งการไม่เคารพต่อสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี โดยได้รับการปล่อยตัวภายหลังการพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2563[111]
Jason Gagliardi (17 June 2002). "Gaaoooool!" . Time . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 20 January 2010. สืบค้นเมื่อ 17 May 2009 .
Joseph, Joanne and Larissa Focke. Drug Muled: Sixteen Years in a Thai Prison . Jacana Media, 2013. ISBN 1920601201 , 9781920601201. p. 195 . "Goosen says that[...]when she was on death row,[...]She tells of how, shortly after she arrived at Lard Yao,[...]"
"สาวต้นเหตุเข้าพบตำรวจไม่กล้าชี้ตัว สั่งคุมใกล้ชิดเกรงจะฆ่าตัวตาย". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ . 14 June 1972. p. 16.
Joseph, Joanne and Larissa Focke. Drug Muled: Sixteen Years in a Thai Prison . Jacana Media, 2013. ISBN 1920601201 , 9781920601201. p. 195 . "Goosen says that[...]when she was on death row,[...]She tells of how, shortly after she arrived at Lard Yao,[...]"