หม่อมหลวงบัว กิติยากร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หม่อมหลวงบัว กิติยากร

หม่อมหลวงบัว กิติยากร (ราชสกุลเดิม สนิทวงศ์; 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 − 19 กันยายน พ.ศ. 2542) หรือชื่อในการแสดงว่า ประทุม ชิดเชื้อ[1] เป็นธิดาของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) กับท้าววนิดาพิจาริณี (บาง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) เป็นหม่อมในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และเป็นพระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระอัยยิกาฝ่ายพระชนนีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประวัติ

สรุป
มุมมอง

ชีวิตช่วงต้น

หม่อมหลวงบัว กิติยากร มีนามเดิมว่า หม่อมหลวงบัว สนิทวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 เป็นธิดาของพลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) กับท้าววนิดาพิจาริณี (บาง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา)[2] มีพี่น้องร่วมบิดามารดาได้แก่ พลโท หม่อมหลวงจินดา สนิทวงศ์ และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ทั้งยังมีพี่น้องร่วมบิดาแต่ต่างมารดาอีก 12 คน[3]

หม่อมหลวงบัวเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนสายปัญญา และโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย[4] ภายหลังได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เข้าถวายงาน เป็นนางพระกำนัลในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อ พ.ศ. 2471[5] ในปีนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างภาพยนตร์เงียบขาวดำ ชื่อเรื่อง แหวนวิเศษ และทรงให้หม่อมหลวงบัว รับบทเป็น "นางพรายน้ำ" นางเอกของเรื่อง [5] หม่อมหลวงบัวเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2529 ความว่า "ขณะที่แสดงเรื่องนี้อายุประมาณ 17-18 ปี ดำน้ำแต่ละครั้งไม่นาน แต่ดำหลายครั้งกว่าจะถ่ายเสร็จ"[6]

เสกสมรส

หม่อมหลวงบัวสมรสกับนายพันตรี หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ต่อมาคือ พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) ขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์สำหรับพิธีเสกสมรสเมื่อเวลา 17.00 น. ของวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงเจิมและพระราชทานเงินรับไหว้แก่เจ้าบ่าว 10 ชั่ง เจ้าสาว 5 ชั่ง จากนั้นให้คู่สมรสลงนามในสมุดทะเบียนเฉพาะพระพักตร์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธย พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายและข้าราชการลงพระนามและลงนามเป็นพยาน[7]

หม่อมหลวงบัวและพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ มีพระโอรส-พระธิดา หนึ่งพระองค์กับสามคนดังนี้ [5]

  1. หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร (20 กันยายน พ.ศ. 2472 − 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2530) สมรสกับท่านผู้หญิงอรุณ กิติยากร ณ อยุธยา (สกุลเดิม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) มีบุตรธิดาสองคน [8]
  2. หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร (2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 − 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2547) สมรสกับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร (พระนามเดิม หม่อมเจ้าพันธุ์สวลี ยุคล)[9] มีธิดาสองคน[10][11]
  3. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2475) ราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชบุตรสี่พระองค์
  4. ท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงศ์ (2 สิงหาคม พ.ศ. 2477) สมรสครั้งแรกกับหม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ สมรสครั้งที่สองกับนาวาเอก สุรยุทธ สธนพงศ์ มีธิดาจากการสมรสครั้งแรกหนึ่งคน[12][13]

พิราลัย

หม่อมหลวงบัวถึงแก่พิราลัยด้วยอาการนิ่วในถุงน้ำดีเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2542 ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร[14] พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้คำว่าถึงแก่พิราลัยเสมอเจ้าประเทศราชและสมเด็จเจ้าพระยา โดยให้ตั้งศพที่ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง และโปรดเกล้าฯ พระราชทานฉัตรโหมดทอง 5 ชั้น และโกศกุดั่นน้อยประกอบเกียรติยศศพ[15] เทียบชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

เคยมีการคาดการณ์ว่าอาจมีการสถาปนาอัฐิหม่อมหลวงบัว กิติยากรเป็นเจ้านาย ในฐานะพระราชชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชได้คัดพระนามถวายไว้ล่วงหน้าว่าสมเด็จพระปทุมาวดี ศรีสิริกิติ์ราชมาตา อย่างไรก็ตามตั้งแต่หม่อมหลวงบัวถึงแก่พิราลัยจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการสถาปนาแต่อย่างใด[16]

เกียรติยศ

สรุป
มุมมอง

ฐานันดรศักดิ์

  • 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 − 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 : หม่อมหลวงบัว
  • 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 − 1 มกราคม พ.ศ. 2458 : หม่อมหลวงบัว สนิทวงษ์[17]
  • 1 มกราคม พ.ศ. 2458 − 24 มีนาคม พ.ศ. 2468 : หม่อมหลวงบัว สนิทวงษ์ ณ กรุงเทพ[18]
  • 24 มีนาคม พ.ศ. 2468 − 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 : หม่อมหลวงบัว สนิทวงศ์ ณ อยุธยา[18]
  • 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471[7] − 5 มิถุนายน พ.ศ. 2472 : หม่อมหลวงบัว กิติยากร ณ อยุธยา[18]
  • 5 มิถุนายน พ.ศ. 2472 − 19 กันยายน พ.ศ. 2542 : หม่อมหลวงบัว กิติยากร

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

หม่อมหลวงบัว กิติยากร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[19] ดังนี้

สถานที่อันเนี่องมาจากนาม

  • ห้องประชุมหม่อมหลวงบัว กิติยากร ชั้น 15 อาคารศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลศิริราช

ทายาท

ข้อมูลเพิ่มเติม พระนาม/นาม, พระราชสมภพ/เกิด ...
พระนาม/นามพระราชสมภพ/เกิดถึงแก่อนิจกรรมอภิเษกสมรส/สมรส หลาน
หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร20 กันยายน 247215 พฤษภาคม 2530ท่านผู้หญิงอรุณ กิติยากร ณ อยุธยาหม่อมหลวงพลายชุมพล กิติยากร
หม่อมหลวงสิริณา จิตตาลาน
หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร2 พฤศจิกายน 24735 พฤษภาคม 2547ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากรพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
หม่อมหลวงสราลี กิติยากร
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง12 สิงหาคม พ.ศ. 2475พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงศ์2 สิงหาคม พ.ศ. 2477หม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย
สุรยุทธ สธนพงศ์
ปิด

ลำดับสาแหรก

ข้อมูลเพิ่มเติม ลำดับสาแหรกของหม่อมหลวงบัว กิติยากร ...
ปิด

อ้างอิง

Loading related searches...

Wikiwand - on

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.