Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประเทศราช คือ รัฐจารีตซึ่งถูกอ้างสิทธิ์ว่าอยู่ภายใต้ปริมณฑลแห่งอำนาจของอีกรัฐหนึ่งตามคติจักรพรรดิราชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่[1] มีลักษณะคล้ายเมืองขึ้น, รัฐบรรณาการในระบบบรรณาการจีน, รัฐในอารักขาและอาณานิคมของจักรวรรดินิยมตะวันตก ตัวอย่างของประเทศราชได้แก่ กรุงศรีอยุธยาภายใต้พม่า (พ.ศ. 2106–2127), กัมพูชาภายใต้สยาม (พ.ศ. 2332–2410), นครเชียงใหม่ภายใต้สยาม (พ.ศ. 2317–2442)
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ระบุความหมายของประเทศราชว่า เมืองที่มีเจ้าผู้ครองเมืองของตนเอง แต่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมดูแลและคุ้มครองของพระมหากษัตริย์ของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเจ้าเมืองประเทศราชนั้นมีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการถวายเป็นประจำ และในเวลาเกิดศึกสงครามต้องเกณฑ์กำลังทหารเข้าร่วมกองทัพหลวงด้วย[2]
ขอบเขตในการตีความว่าเมืองใดหรือรัฐใดเข้าข่ายว่าเป็นประเทศราชของอีกรัฐหนึ่งนั้นไม่แน่นอน และขึ้นอยู่กับผู้นิพนธ์ประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัย เช่น พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย[3]ระบุว่า นครเชียงใหม่ถูกยกขึ้นเป็นประเทศราชของสยามในเหตุการณ์สถาปนาพระยากาวิละเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ สะท้อนถึงทัศนคติของผู้แต่งว่า ก่อนหน้านี้นครเชียงใหม่ไม่ถือเป็นประเทศราชของสยาม แม้ว่าจะตกอยู่ภายใต้ปริมณฑลแห่งอำนาจของสยามแล้วก็ตาม ในขณะที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่เริ่มนับนครเชียงใหม่เป็นประเทศราชของสยามหลังจากสงครามเชียงใหม่ พ.ศ. 2317[4]
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ประเทศราชในการอธิบายความสัมพันธ์แบบเมืองขึ้นหรือรัฐบรรณาการที่นอกเหนือจากคติจักรพรรดิราช เช่น การแปลเซทระพี (อังกฤษ: satrapy) ในคติของเปอร์เซียว่าประเทศราช[5] หรือการเทียบญี่ปุ่นโบราณเป็นประเทศราชของราชวงศ์ฮั่น[6]
จารึกพ่อขุนรามคำแหงระบุอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า ปราบเบื้องตะวันออก รอดสระหลวงสองแควลุมบาจายสคาเท้าฝั่งของถึงเวียงจันทร์เวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอน รอดคนทีพระบางแพรกสุพรรณภูมิราชบุรีเพ็ชร์บุรีศรีธรรมราชฝั่งทะเลสมุทเป็นที่แล้ว เบื้องตะวันตก รอดเมืองฉอดเมือง...หงสาวดีสมุทห้าเป็นแดน เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพร่เมืองน่านเมือง...เมืองพลั่วพ้นฝั่งของเมืองชะวาเป็นที่แล้ว[7] ซึ่งครอบคลุมถึงรัฐร่วมสมัยในภูมิภาค เช่น แคว้นสุพรรณภูมิ, อาณาจักรหงสาวดี, นครรัฐแพร่, นครรัฐน่าน, อาณาจักรนครศรีธรรมราช และเมืองชวา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า รัฐเหล่านี้ตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรสุโขทัย[8] อย่างไรก็ตาม เนื้อหาดังกล่าวของจารึกได้รับการโต้แย้งว่า เกินความเป็นจริงและขัดแย้งกับหลักฐานอื่นๆ[9][10] ทั้งนี้อาณาจักรสุโขทัยได้มีปฏิสัมพันธ์กับบางรัฐที่อยู่ใกล้เคียงในลักษณะการแสดงสถานะที่เหนือกว่า เช่น การพระราชทานพระสุพรรณบัตรแก่พระเจ้าฟ้ารั่ว, พระเจ้ารามประเดิด และพระเจ้าแสนเมืองแห่งอาณาจักรหงสาวดี[11] และเหตุการณ์ที่พระมหาธรรมราชาที่ 1 เสด็จไปที่เมืองแพร่ในปี พ.ศ. 1902–1903[12]
พระราชพงศาวดารไทยที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ระบุว่า อาณาจักรอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มีประเทศราช 16 เมือง ได้แก่ มะละกา, ชวา, ตะนาวศรี, นครศรีธรรมราช, ทวาย, เมาะตะมะ, เมาะลำเลิง, สงขลา, จันทบูร, พิษณุโลก, สุโขทัย, พิชัย, สวรรคโลก, พิจิตร, กำแพงเพชร และนครสวรรค์ แต่เนื่องจากข้อมูลประเทศราชเหล่านี้ขัดแย้งกับหลักฐานอื่น ทำให้ได้รับการสันนิษฐานว่า ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในพงศาวดารในภายหลัง อาจตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระอินทราชา[13][14] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า เมืองขนาดเล็กเช่นจันทบูรอาจถูกนับเป็นประเทศราชเพื่อให้มีประเทศราชครบ 16 เมือง[15] ตามจำนวนอาณาจักรในมหาชนบท
กฎมณเฑียรบาลซึ่งตั้งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถระบุว่า เมืองถวายดอกไม้ทองเงินมี 20 เมือง ได้แก่ นครหลวง, ศรีสัตนาคนหุต, เชียงใหม่, ตองอู, เชียงไกร, เชียงกราน, เชียงแสน, เชียงรุ้ง, เชียงราย, แสนหวี, เขมราช, แพร่, น่าน, ใต้ทอง, โคตรบอง, เรวแกว, อุยองตะหนะ, มะละกา, มลายู และวรวารี[16]
ในสมัยรัตนโกสินทร์ สยามควบคุมประเทศราชอย่างเข้มงวดมากกว่าสมัยอยุธยา และมีการกำหนดว่า เมืองใดมีสถานะเป็นประเทศราช สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายการปกครองหัวเมืองออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ หัวเมืองชั้นในและหัวเมืองชั้นกลาง ซึ่งถือเป็นหัวเมืองของสยาม, หัวเมืองชั้นนอก ซึ่งสยามแต่งตั้งผู้มีสกุลในท้องถิ่นปกครองตามประเพณีของเมืองนั้นๆ และเมืองประเทศราช ซึ่งสยามแต่งตั้งเจ้านายปกครอง มีอำนาจสิทธิ์ขาดในเมือง โดยในปี พ.ศ. 2435 มีประเทศราชขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย 7 เมือง และขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม 3 เมือง (ไม่นับเมืองที่ขึ้นกับเมืองอื่นๆ ด้วยกันเอง)[17]
หัวเมืองบางแห่งอาจตกอยู่ในสถานะกำกวมระหว่างการเป็นหัวเมืองของสยามและประเทศราช การแยกแยะอาจนับได้จากเกณฑ์ที่ว่า หัวเมืองของสยามจะต้องทำพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ในขณะที่ประเทศราชจะต้องส่งต้นไม้เงินทองและเครื่องราชบรรณาการให้สยาม 3 ปีต่อครั้ง ทว่าก็มีข้อยกเว้น เช่น มีการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่จำปาศักดิ์[1]และเชียงแขง[18] หรือการถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองของเมืองมุกดาหาร[19], เมืองนครพนม[20], เมืองสตูลและปัตตานีเจ็ดหัวเมือง[21] หัวเมืองของสยามบางแห่งอาจถูกยกขึ้นเป็นประเทศราชเป็นกรณีพิเศษในบางช่วงเวลา เช่น เมืองสุวรรณภูมิ[22], เมืองอุบลราชธานี[22][23] และเมืองมุกดาหาร[23] ในทำนองเดียวกัน รัฐที่อยู่ไกลจากราชธานีอาจตกอยู่ในสถานะกำกวมระหว่างการเป็นประเทศราช, รัฐบรรณาการ หรือไม่ได้อยู่ในปริมณฑลแห่งอำนาจของสยาม เช่น หัวเมืองของเจ้าอนัมก๊ก[24], ราชรัฐห่าเตียน, รัฐเปรัค[25] และรัฐเชียงแขง[1][26]
สยามกำหนดบรรดาศักดิ์ของผู้ปกครองประเทศราชไว้หลายระดับ ผู้ปกครองประเทศราชส่วนใหญ่ได้รับการสถาปนาให้เป็นพระเจ้าประเทศราช, เจ้าประเทศราช หรือพระยาประเทศราช ในขณะผู้ปกครองประเทศราชในคาบสมุทรมลายูจะได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าพระยาสุลต่านและพระยาสุลต่าน และในบางครั้งสยามอาจยกย่องเจ้าเมืองหัวเมืองชั้นนอกให้มีอิสริยยศเหมือนอย่างประเทศราช เช่น พระยาคทาธรธรณินทร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง[27] พระราชบัญญัติระเบียบบรรดาศักดิ์ปี พ.ศ. 2441 กำหนดการเปรียบเทียบบรรดาศักดิ์ของผู้ปกครองประเทศราชดังนี้
ประเทศราชในแผ่นดินใหญ่ | ประเทศราชในคาบสมุทร | เทียบบรรดาศักดิ์ฝ่ายทหาร |
---|---|---|
พระเจ้าประเทศราช | - | นายพลเอก |
- | เจ้าพระยาสุลต่าน | นายพลโท |
เจ้าประเทศราช | พระยาสุลต่าน | นายพลตรี |
พระยาประเทศราช | - | นายพันเอก |
บรรดาศักดิ์ของผู้ปกครองประเทศราชแสดงถึงระดับการให้เกียรติจากทางสยาม เช่น พระเจ้าประเทศราชหรือเจ้าประเทศราชบางพระองค์จะได้รับการจารึกพระนามในพระสุพรรณบัตร, มีคำราชาศัพท์สำหรับเจ้าประเทศราช คือ ถึงแก่พิราลัย และสาส์นถึงพระเจ้าประเทศราชและเจ้าประเทศราช มีคำเรียกเฉพาะว่า ศุภอักษร ดังตัวอย่าง
๏ หนังสือ เจ้าพระยาจักรีฯ มาถึงพระยานครลำปาง พระยารัตนเมืองแก้วเมืองลำพูน พระยาแพร่ เจ้าฟ้าเมืองน่าน เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์
๏ ศุภอักษร บวรพจนกถามหามงคลมิตรฌาสัย ในท่านอัครมหาเสนาธิบดินทร์นรินทรามาตย์ อันเป็นสวามิตรประวาสบาทมุลิกากรบวรรัตนามาตย์ แห่งพระบาทสมเด็จเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ ณ กรุงเทพพระมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน มีมธุรจิตสนิทเสน่หามาถึงพระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าเวียงจันทน์ เจ้านครจำปาศักดิ์ พระอุไทยราชาธิราช
— ศุภอักษรถึงเจ้าประเทศราช เรื่องหม่อมเหม็นกับพวกเป็นกบถฯ จ.ศ. 1171 (พ.ศ. 2352)[28]
ผู้ปกครองและขุนนางของประเทศราชไม่ได้อยู่ในระบบศักดินาของสยาม จนกระทั่ง พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ตราพระราชบัญญัติศักดินาเจ้านายพระยาท้าวแสนประเทศราช[29] ดังนี้
เจ้าเมืองประเทศราช | ศักดินา (ไร่) | เทียบเท่า |
พระเจ้าประเทศราช | 15,000 | เจ้าต่างกรม |
เจ้าประเทศราช | 10,000 | ข้าหลวงเทศาภิบาล |
พระยาประเทศราช | 8,000 | เจ้าพระยาวังหน้า |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.