อาณาจักรจำปาศักดิ์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาณาจักรจำปาศักดิ์ คืออาณาจักรที่ตั้งอยู่ทางต้นใต้ของประเทศลาวในปัจจุบัน ดำรงอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2256 ถึง พ.ศ. 2489 เป็นเวลา 236 ปี อาณาจักรจำปาศักดิ์ตกเป็นประเทศราชของไทยจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อฝรั่งเศสเข้ามาครอบครองบริเวณประเทศลาวทั้งหมด จำปาศักดิ์ถูกยุบรวมเข้ากับอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง กลายมาเป็นราชอาณาจักรลาว เมื่อปี พ.ศ. 2489
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
อาณาจักรจำปาศักดิ์ | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2256–พ.ศ. 2489 | |||||||||
ธงชาติ | |||||||||
![]() | |||||||||
สถานะ | ราชอาณาจักร (2256 - 2319) ประเทศราชของสยาม (2319 - 2447) อาณานิคมของฝรั่งเศส (2447 - 2496) | ||||||||
เมืองหลวง | จำปาศักดิ์ | ||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษาลาว | ||||||||
การปกครอง | สมบูรณาญาสิทธิราชย์ | ||||||||
กษัตริย์และเจ้าผู้ครองนคร | |||||||||
• พ.ศ. 2256 - 2280 | สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร | ||||||||
• พ.ศ. 2443 - 2489 | เจ้ายุติธรรมธร (หยุย ณ จำปาศักดิ์) | ||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||
• สถาปนา | พ.ศ. 2256 | ||||||||
• กลายเป็นประเทศราชของสยาม | พ.ศ. 2319 | ||||||||
• เปลี่ยนแปลงเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส | พ.ศ. 2447 | ||||||||
พ.ศ. 2484 | |||||||||
• ยกเลิกพระอิสริยยศกษัตริย์เพื่อรวมอาณาจักรกับหลวงพระบางและเวียงจันทน์ก่อนได้รับเอกราช | พ.ศ. 2489 | ||||||||
| |||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ลาว ไทย กัมพูชา |
ประวัติศาสตร์
สรุป
มุมมอง
สมัยเอกราช
เมื่อพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งนครเวียงจันทน์เสด็จสวรรคต ไม่มีพระราชบุตรสืบราชสมบัติ พระยาเมืองจันผู้เป็นเสนาบดีได้ชิงเอาราชสมบัติ และจะเอานางสุมังคลา พระราชธิดาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชซึ่งเป็นแม่หม้ายและมีลูกในครรภ์ขึ้นเป็นเมีย แต่นางไม่ยอมจึงหนีไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก พระครูจึงพาญาติโยมของตนประมาณ 3,000 คนและนางสุมังคลาหนีออกจากเวียงจันทน์ไปซ่อนอยู่ที่ ภูซ่อง่อ ห่อคำ เมืองบริคัณฑนิคม แล้วจึงให้กำเนิดบุตรชื่อว่า เจ้าหน่อกษัตริย์ ต่อมาภายหลังได้อพยพไปอยู้ที่บ้านงิ้วพันลำโสมสนุก
ต่อมานางแพงเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ จึงได้อาราธนาพระครูยอดแก้วมาปกครองบ้านเมืองแทน แต่ไม่นานต่อมาพระครูก็ให้คนไปเชิญเอาเจ้าหน่อกษัตริย์ มาทำพิธีอภิเษกเป็นกษัตริย์ครองนครจำปาศักดิ์ในปี พ.ศ. 2257 ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร พระองค์จึงได้ประกาศอาณาเขตแยกออกจากเวียงจันทน์ นับตั้งแต่เมืองหลวงโพนสิม เมืองพิน เมืองนอง เมืองนครพนม เมืองท่งศรีภูมิ เมืองยโสธร เมืองเชียงแตง เมืองสาละวัน เมืองศรีนครเขต เมืองคำทอง เมืองตะโปน เมืองอัตตะปือ เมืองโขงเจียม เมืองดอนมดแดง เมืองศรีจำปัง เมืองรัตนบุรี เป็นต้น
เมื่อสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2281 เจ้าไชยกุมารพระราชโอรสจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ แลแต่งตั้งให้เจ้าธัมมเทโว พระราชอนุชาให้เป็นเจ้าอุปราช ต่อมากองทัพไทยได้ยกมาตีเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2321 ได้ยกกองทัพผ่านมาทางเมืองจำปาศักดิ์และตีเอาเมืองจำปาศักดิ์ได้โดยง่ายเพราะสมเด็จพระเจ้าไชยกุมารยอมออกมาอ่อนน้อมโดยไม่มีการต้อสู้นครจำปาศักดิ์ที่แยกตัวออกจากเวียงจันทน์และรักษาเอกราชได้เพียง 64 ปี ก็สูญเสียเอกราชให้แก่ฝ่ายไทย เช่นเดียวกับเวียงจันทน์และหลวงพระบาง
ปีพ.ศ. 2308 นครจำปาศักดิ์สูญเสียเมืองหน้าด่านสำคัญอย่าง เมืองท่งศรีภูมิ ปัจจุบันคือ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ให้แก่อาณาจักรอยุธยา ในรัชสมัย สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ซึ่งเมืองท่งเป็นเมืองของพระญาติวงศ์สำคัญของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร กษัตริย์แห่งอาณาจักรจำปาศักดิ์ พระองค์แรก อย่างเจ้าแก้วมงคล ผู้สืบเชื้อสายแห่งราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ ผู้เป็นปฐมราชวงศ์เจ้าจารย์แก้ว บรรพชนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งของเจ้าเมืองทั่วภาคอีสาน ได้ครองเมืองท่งศรีภูมิตั้งแต่ปีพ.ศ. 2256 เป็นเมืองเจ้าประเทศราชขึ้นกับอาณาจักรจำปาศักดิ์ ต่อมาในปีพ.ศ. 2308 พระนัดดาของเจ้าแก้วมงคล พระนามว่า เจ้าเซียง ได้พยายามแย่งชิงเอาเมืองท่งจากเจ้าอาว์ นามว่า เจ้าสุทนต์มณี (เจ้าเมืองท่งศรีภูมิท่านที่3 และเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดท่านแรก) จึงได้นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แห่งอาณาจักรอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาจึงโปรดเกล้าส่งกำลังพลไปช่วยเจ้าเซียง จนสามารถยึดเมืองท่งศรีภูมิจากเจ้าอาว์ได้เป็นผลสำเร็จ จึงส่งผลให้เมืองท่งศรีภูมิถูกตัดขาดจากอาณาจักรจำปาศักดิ์ไปขึ้นกับอาณาจักรอยุธยามานับตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งต่อมาเป็นปัจจัยสำคัญต่อความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรธนบุรีและอาณาจักรจำปาศักดิ์ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้อาณาจักรจำปาศักดิ์และเมืองขึ้นของนครจำปาศักดิ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรธนบุรีในเวลาต่อมา เนื่องด้วยความขัดแย้งที่มีมาอย่างช้านาน ร่วม 10 กว่าปี[1]
สมัยภายใต้การปกครองของไทย
ในปี พ.ศ. 2319 สาเหตุเนื่องจากพระยานางรอง เกิดขัดใจกับ เจ้าเมืองนครราชสีมา จึงคิดกบฏต่อไทย ไปขอขึ้นกับ เมืองนครจำปาศักดิ์ โดยได้ร่วมมือกับเจ้าโอ (เจ้าเมืองอัตปือ), เจ้าอิน (อุปฮาดเมืองอัตปือ) และเจ้าอุปราชธรรมเทโวหรือเจ้าอุปฮาดเมืองนครจำปาศักดิ์ (พระบิดาเจ้าโอและเจ้าอิน) และเนื่องด้วยทางเมืองจำปาศักดิ์ เคยสูญเสียเมืองหน้าด่านที่สำคัญอย่างเมืองท่งศรีภูมิให้แก่อยุธยา ไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และมีความไม่พอใจเป็นทุนเดิมที่ทางอาณาจักรอยุธยาหรือสยามมีการแทรกแซงอำนาจแย่งเมืองท่งให้ไปขึ้นกับอาณาจักรของตน ทำให้อำนาจของอาณาจักรจำปาศักดิ์มีความอ่อนแอลงไปอย่างมาก เพื่อต้องการฟื้นฟูอำนาจที่เสียไปและต้องการเมืองขึ้นใหม่เพื่อทดแทนเมืองหน้าด่านที่เคยเป็นป้อมปราการสำคัญที่ใช้ยันกับอาณาจักรอยุธยาและล้านช้างเวียงจันทน์ เมื่อครั้งในอดีต ทางเมืองนครจำปาสักจึงให้การยอมรับและให้การสนับสนุนช่วยเหลือพระยานางรองอย่างเต็มที่ เมื่อข่าวทราบไปถึงสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระเจ้าตากสินจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาจักรีไปปราบ จับเจ้าเมืองนางรองประหารชีวิต และไปตีเมืองจำปาศักดิ์, เมืองโขง และเมืองอัตตะปือ ยึดได้ทั้ง 3 เมือง แล้ว ประหารชีวิต เจ้าโอ, เจ้าอิน และเจ้าอุปฮาดเมืองจำปาศักดิ์ ทำให้เมืองจำปาศักดิ์ เมืองอัตตะปือ และ ดินแดนตอนใต้ของประเทศลาวตกลงมาเป็นของไทย อาณาจักรจำปาศักดิ์จึงขาดจากความเป็นรัฐเอกราชกลายมาเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรธนบุรีในปีเดียวกัน หลังจากจบศึก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาจักรี เป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพิลึกมหึมาทุกนัคราระเดชนเรศวรราชสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งสมุหนายก นับเป็นการพระราชทานยศสูงที่สุดเท่าที่เคยมี[2]
หลังอาณาจักรจำปาศักดิ์ตกเป็นประเทศราชของไทยแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2334 ได้เกิดกบฏขึ้นในนครจำปาศักดิ์ทำให้เจ้าไชยกุมารต้องเสด็จหนีแล้วไปสวรรคตในป่า แต่เจ้าฝ่ายหน้า ผู้กำกับดูแลไพร่พลแห่งบ้านสิงห์ท่า (จังหวัดยโสธร) กับพระปทุมสุรราช (คำผง) นายกองคุมเลกเมืองจำปาศักดิ์ แห่งบ้านห้วยแจระแม (จังหวัดอุบลราชธานี) ได้ยกกองกำลังไปปราบกบฏและตีเอาเมืองจำปาศักดิ์คืนมาได้ ทำให้เจ้าฝ่ายหน้าได้รับแต่งตั้งจากไทยให้เป็นเจ้าประเทศราชมีพระนามว่า พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช ครองนครจำปาศักดิ์ประเทศราช
เมื่อพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2350 ฝ่ายไทยจึงได้แต่งตั้งเจ้านู พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าไชยกุมาร ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน แต่ก็ถึงแก่พิราลัย หลังรับสุพรรณบัตรเจ้าเมืองได้เพียง 3 วัน ฝ่ายไทยจึงได้แต่งตั้งให้เจ้าหมาน้อย โอรสของเจ้าอุปราชสุริโย เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ต่อมาเกิดกบฏอ้ายสาเกียดโง้งขึ้นในเมือง ทำให้เจ้าหมาน้อยถูกส่งตัวลงไปยังกรุงเทพฯ และได้ถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2370 เจ้าราชบุตรโย้ โอรสของเจ้าอนุวงศ์ ที่มีความชอบจากการปราบกบฏอ้ายสา จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้น เจ้าราชบุตรโย้จึงถูกเจ้าฮุยจับตัวส่งให้แก่ทางกรุงเทพฯ เจ้าฮุยจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ใน พ.ศ. 2371
เมื่อเจ้าฮุยถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2384 เจ้านาคผู้เป็นอุปราชจึงได้ครองเมืองสืบแทน จนถึงแก่พิราลัยด้วยอหิวาตกโรคใน พ.ศ. 2396 ทางฝ่ายไทยจึงได้แต่งตั้งเจ้าคำใหญ่ ผู้เป็นโอรสของเจ้าฮุย ขึ้นเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ มีนามว่า เจ้ายุติธรรมธร (คำใหญ่) จนถึง พ.ศ. 2402 ก็ถึงแก่กรรม เจ้าคำสุกผู้เป็นอนุชาจึงได้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์สืบแทน มีพระนามว่า เจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) พระองค์ได้ส่งบุตรชายทั้ง 3 ไปยังกรุงเทพฯจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ทั้งสามคนได้แก่ เจ้าราชดนัย (หยุย) เจ้าศักดิ์ประสิทธิ์ (เจ้าเบง) และเจ้าศักดิ์ประเสริฐ (เจ้าอุย)
เมื่อเกิดกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส ฝ่ายไทยได้ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2446 เมื่อเจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) ถึงแก่พิราลัย เจ้าราชดนัย (หยุย) ก็ได้รับแต่งตั้งจากฝรั่งเศสให้เป็นผู้ว่าการนครจำปาศักดิ์ ดังนั้นอาณาจักรจำปาศักดิ์จึงมีฐานะเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
ลำดับกษัตริย์และเจ้าผู้ครองนคร
สรุป
มุมมอง
ผู้ปกครองอาณาจักรจำปาศักดิ์ก่อนปี พ.ศ. 2322 อันเป็นปีที่เสียเอกราชแก่อาณาจักรสยามนั้น มีสถานะเป็นพระมหากษัตริย์ของอาณาจักรเอกราช นับตั้งแต่ พ.ศ. 2322 เป็นต้นมา เนื่องจากสถานะของอาณาจักรจำปาศักดิ์เป็นประเทศราชของอาณาจักรสยาม ในบางสมัยปรากฏว่าเมื่อเจ้าผู้ครองนครถึงแก่พิราลัย เจ้าอุปราชจะเป็นผู้รักษาราชการไปก่อนจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งลงมาจากกรุงเทพมหานคร
ลำดับ | รายพระนาม | พุทธศักราช | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
1 | สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร | 2256 - 2280 | พระราชนัดดาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งเวียงจันทน์ |
2 | สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร | 2280 - 2334 | พระราชโอรสของพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ เสียเอกราชให้ไทย พ.ศ. 2319 |
3 | พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (เจ้าฝ่ายหน้า) | 2334 - 2354 | เจ้าประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ (ชั้นพระสุพรรณบัตร) พระโอรสพระวรราชปิตา (พระตา) เจ้าผู้ครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน อันสืบเชื้อสายมาแต่เจ้าอุปราชนอง แห่งนครเวียงจันทน์ และมีศักดิ์เป็นพระอนุชาพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) เจ้าประเทศราชผู้ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช ในสมัยพระวิไชยฯ นี้เองที่เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ได้รับพระราชทานจารึกพระนามเจ้าประเทศราชในชั้นพระสุพรรณบัฏ (สูงสุด) ท่านสุดท้าย หลังจากนี้เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ได้ถูกลดฐานะเจ้าผู้ครองนครลงมาเป็นเพียงชั้นหิรัญบัฏและชั้นสัญญาบัตร |
4 | เจ้านู | 2354 | นัดดาพระเจ้าองค์หลวงฯ ถึงแก่พิราลัยหลังรับสัญญาบัตรเจ้าเมืองได้เพียง 3 วัน |
5 | เจ้าหมาน้อย | 2356 - 2360 | นัดดาพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ |
6 | เจ้าราชบุตร (โย้) | 2362 - 2370 | พระราชโอรสของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ร่วมกับเจ้าอนุวงศ์ประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2369-70 |
7 | เจ้าฮุย | 2371 - 2383 | นัดดาพระเจ้าองค์หลวงฯ พระโอรสของเจ้าโอ เจ้าเมืองอัตปือ |
8 | เจ้านาค | 2384 - 2393 | เชษฐาของเจ้าฮุย พระโอรสของเจ้าโอ เจ้าเมืองอัตปือ |
9 | เจ้าบัว | 2396 - 2398 | หนังสือ ลำดับกษัตริย์ลาว ระบุว่า ยุคนี้ว่างเจ้าผู้ครองนคร 5 ปี (2394-98) |
10 | เจ้ายุติธรรมสุนทร (คำใหญ่) | 2399 - 2401 | โอรสเจ้าฮุย, หลังถึงแก่พิราลัย เจ้าอุปราช (จู) รักษาราชการแทน |
11 | เจ้ายุติธรรมธร (คำสุก ณ จำปาศักดิ์) | 2405 - 2443 | โอรสเจ้าฮุย อนุชาเจ้ายุติธรรมสุนทร (คำใหญ่) |
12 | เจ้ายุติธรรมธร (หยุย ณ จำปาศักดิ์) | 2443 - 2489 | โอรสเจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) หลัง พ.ศ. 2446 ฝรั่งเศสลดฐานะเป็นผู้ว่าราชการนครจำปาศักดิ์ ต่อมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ ภายใต้การปกครองของไทย พ.ศ. 2484 - 2489 |
อ้างอิง
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.