คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง
เครื่องราชบรรณาการ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Remove ads
Remove ads
เครื่องราชบรรณาการ หรือ เครื่องปัณณาการ[1] หมายถึงสิ่งของที่ผู้มีสภาพด้อยกว่านำไปฝากผู้อื่น เพื่อความรู้สึกที่ดีต่อกัน ในความหมายทางประวัติศาสตร์ของไทย หมายถึง สิ่งที่พระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองหรือเจ้าประเทศราช จัดส่งไปถวายแด่พระมหากษัตริย์อีกเมืองหนึ่งเพื่อแสดงไมตรีต่อกัน เช่น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูตเชิญเครื่องราชบรรณาการไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นต้น
อีกนัยหนึ่งเครื่องราชบรรณาการ คือ สัญลักษณ์แสดงความสวามิภักดิ์ของผู้เป็นข้าขอบเขตขัณฑสีมาต่อกษัตริย์แห่งแผ่นดินแม่ ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 แสดงให้เห็นว่าเมืองประเทศราช จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการเพื่อแสดงความสวามิภักดิ์ต่อเมืองใหญ่ทุก ๆ 3 ปี นอกจากต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ก็ไม่พบบันทึกอื่นใดกล่าวถึงเครื่องราชบรรณาการ จนถึง พ.ศ. 2430 จึงได้พบข้อความใน ราชกิจจานุเบกษา กล่าวถึงเมืองประเทศราชลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายเครื่องราชบรรณาการ เป็นต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ทองคำ เงิน งาช้าง หมอนสามเหลี่ยม เสื่อทองขาว
การสิ้นสุดประเพณีถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการ [2]
ประเพณีถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการกระทำมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาในปี พ.ศ. 2435 มีการปฏิรูปการปกครอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการปกครองแบบหัวเมืองประเทศราช จึงทำให้ธรรมเนียมดังกล่าวยกเลิกตามไปด้วย เห็นได้จากพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า "เราไม่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษแต่อย่างใดในบรรดาหัวเมืองเหล่านี้ หากเราต้องสูญเสียให้แก่อังกฤษ เราจะขาดแต่เพียงดอกไม้เงินดอกไม้ทองประจำปี ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น" และที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ว่า "เมื่อเป็นพระราชอาณาเขตแล้ว จึงเลิกประเพณีที่เมืองประเทศราชถวายต้นไม้ทองต้นไม้เงิน"
ถวายเครื่องราชบรรณาการ (ครั้งสุดท้าย)[3]
ประเพณีการถวายเครื่องราชบรรณาการจากเจ้าผู้ปกครองหัวเมืองประเทศราชได้ปฏิบัติตามธรรมเนียมตั้งแต่อดีตสืบมาจนกระทั่งมายุติในช่วงปลายปี พ.ศ. 2443 โดยมีรายละเอียดการถวายเครื่องราชบรรณาการจากเจ้าผู้ครองหัวเมืองประเทศราช งวดสุดท้าย ดังต่อไปนี้
- เมืองนครแพร่ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2443 โดย พระยาพิริยวิไชย เจ้าเมืองแพร่ เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์แสนซ้าย พร้อมด้วยหลวงอุตราภิบาล รองเสนาตำแหน่งวังเมืองแพร่ [4]
- เมืองนครลำพูน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2446 โดย เจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร พร้อมด้วยเจ้าราชภาคินัย (น้อยเมืองไทย) เจ้าราชภาคินัยนครลำพูน และพระยาพรหมปัญญา [5]
- เมืองนครน่าน เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2446 โดย พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 และองค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ พร้อมด้วยเจ้าบุรีรัตน์ (สุทธิสาร ณ น่าน) เจ้าบุรีรัตน์นครน่าน เสนาตำแห่งนานครน่าน, เจ้าสุริยวงศ์ (น้อยอินทนนท์ ณ น่าน) เจ้าสุริยวงศ์นครน่าน, เจ้านายน้อยเครื่อง, เจ้านายน้อยเมืองอิน, เจ้านายน้อยมหายศ, เจ้านายน้อยธรรมไชย แสนหลวงอินทร์อักษร และเจ้านายท้าวพระยาแสนเมืองนครน่านอีกหลายคน[6]
- เมืองนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2447 โดย เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร พร้อมด้วยเจ้าราชภาคินัย, เจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว ณ เชียงใหม่) เจ้าราชวงศ์นครเชียงใหม่, เจ้าน้อยสมพมิตร เจ้าน้อยเมืองชื่น พระราชนายกเสนี และน้อยวุฒิวงษ์ บุตรพระราชนายกเสนี[7]
- เมืองนครลำปาง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449 โดย เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตฯ เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร พร้อมด้วยเจ้าราชสัมพันธวงษ์ เสนาตำแหน่งนา เมืองนครลำปาง, นายพันตรี เจ้าราชภาติกวงษ์ เสนาตำแหน่งทหาร เมืองนครลำปาง, และพระยาอุตรการโกศล เสนาตำแหน่งวัง เมืองนครลำปาง[8]
Remove ads
อ้างอิง
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Remove ads