คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)

ขุนนางและนักการทูตชาวไทย พระอัครราชบรรพบุรุษในราชวงศ์จักรี จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
Remove ads

เจ้าพระยาโกษาธิบดี นามเดิม ปาน (พ.ศ. 2176 – 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2242) เป็นขุนนางในอาณาจักรอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นเอกอัครราชทูตคนสำคัญที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2229[2]

ข้อมูลเบื้องต้น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน), คณะราชทูตอาณาจักรอยุธยาไปยังประเทศฝรั่งเศส ...
Remove ads

ปานเป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมชั้นเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับสามีเชื้อสายพระยาเกียรดิ์ พระยาราม เกิดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[1] นอกจากนี้เขายังเป็นปู่ของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ซึ่งเป็นบิดาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[3]

Remove ads

ประวัติ

สรุป
มุมมอง
Thumb
คณะทูตอยุธยาถวายราชสาสน์ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสณ ห้องกระจก พระราชวังแวร์ชาย วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229

ปานเป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[1] และเป็นน้องชายของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ซึ่งดำรงตำแหน่งพระคลังระหว่าง พ.ศ. 2200–2226 [4] ปานมีบุตร 4 คน[5][6][7] คือ

  1. บุตรี (ไม่ปรากฏนาม)
  2. บุตรชาย มีนามว่า ขุนทอง มีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) เสนาดีกรมคลัง ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี
  3. บุตรชาย (ไม่ปรากฏนาม)
  4. บุตรชาย (ไม่ปรากฏนาม)

ปานได้บรรดาศักดิ์ ออกพระวิสุทธสุนทร และได้รับแต่งตั้งเป็นทูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในสมัยดังกล่าว ฝรั่งเศสมีอิทธิพลในราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมากจุดประสงค์ของฝรั่งเศสคือเผยแพร่คริสต์ศาสนา และพยายามให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเข้ารีตเป็นคริสตชน รวมทั้งพยายามมีอำนาจทางการเมืองในอยุธยาด้วยการเจรจาขอตั้งกำลังทหารของตนที่เมืองบางกอกและเมืองมะริด[8]

คณะทูตไปฝรั่งเศสดังกล่าว ประกอบด้วย ปาน เป็นราชทูต, ออกหลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต, และออกขุนศรีวิสารวาจา เป็นตรีทูต พร้อมทั้งบาทหลวงเดอ ลีออง และผู้ติดตาม รวมกว่า 40 คน ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2229 ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 ณ พระราชวังแวร์ซาย[9] และเดินทางกลับเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2230[10]

ปานเป็นนักการทูตที่สุขุม ไม่พูดมาก ละเอียดลออในการจดบันทึกสิ่งที่พบเห็นในการเดินทาง[11] ในการเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสคณะทูตอยุธยาได้รับการยกย่องชื่นชมจากชาวฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายตะวันออกแต่งทูตไปยังฝรั่งเศส[11] พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสทรงรับรองคณะทูตอย่างสมเกียรติยศ โปรดให้ทำเหรียญที่ระลึกและเขียนรูปเหตุการณ์เอาไว้[11]

พระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กล่าวถึงปานว่า

ราชทูตของพระองค์นี้ รู้สึกว่า เป็นคนรอบคอบ รู้จักปฏิบัติราชกิจของพระองค์ถี่ถ้วนดีมาก หากเรามิฉวยโอกาสนี้เพื่อเผยแพร่ความชอบแห่งราชทูตของพระองค์บ้าง ก็จะเป็นการอยุติธรรมไป เพราะราชทูตได้ปฏิบัติล้วนถูกใจเราทุกอย่าง โดยแต่น้ำคำที่พูดออกมาทีไร แต่ละคำ ๆ ก็ดูน่าปลื้มใจ และน่าเชื่อถือทุกคำ

พระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึงพระนารายณ์มหาราช ประมาณ พ.ศ. 2230[12]

ความสำเร็จจากการทูตดังกล่าว ทำให้ปานได้ฉายาว่า ราชทูตลิ้นทอง หรือนักการทูตลิ้นทอง[13]

Remove ads

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2231

หลังกลับกรุงศรีอยุธยา ปานถูกกดดันให้เข้ากลุ่มต่อต้านฝรั่งเศสของสมเด็จพระเพทราชาซึ่งประกอบด้วยขุนนางที่ไม่พอใจฝรั่งเศสที่มีอำนาจมากในกรุงศรีอยุธยา การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาส่งผลให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชพ้นจากราชบัลลังก์และขับไล่ทหารฝรั่งเศสซึ่งปานได้รับการส่งให้ไปเจรจาด้วย จากนั้น ปานจึงได้เป็นเจ้าพระยาพระคลัง[14][15]

เองเงิลแบร์ท เคมพ์เฟอร์ นักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน พบกับปานใน ค.ศ. 1690 และเขียนบรรยายไว้ว่า ปานมีภาพของราชวงศ์ฝรั่งเศสกับแผนที่ยุโรปแขวนอยู่ในห้องโถงบ้าน[16]

เขาเป็นคนน่ามองและมีวิสัยทัศน์ดียิ่งกว่าคนใด ๆ ที่ข้าพเจ้าเคยพบในหมู่มนุษย์ชนชาติผิวคล้ำนี้... เขายังเข้าใจรวดเร็ว และมีอากัปกิริยากระตือรือร้น ซึ่งเป็นเหตุให้เขาได้รับการตั้งให้เป็นทูตไปฝรั่งเศสเมื่อไม่กี่ปีก่อน และเขามักสร้างความบันเทิงให้แก่เราด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับประเทศดังกล่าว การปกครองประเทศนั้น ค่ายคูประตูหอรบ และสิ่งอื่น ๆ ทำนองเดียวกัน และที่โถงบ้านเขาซึ่งเราพบกันเป็นการส่วนตัวนั้นมีรูปราชวงศ์ฝรั่งเศสกับแผนที่ยุโรปแขวนอยู่ ส่วนเครื่องเรือนอื่น ๆ หามีอันใดนอกจากฝุ่นและหยากไย่

เองเงิลแบร์ท เคมพ์เฟอร์ (1727/1987:38).[17]

ใน ค.ศ. 1699 กี ตาชาร์ บาทหลวงคณะเยสุอิต เข้าพบปานและพระเพทราชา แต่การพบกันเป็นแต่ทางพิธีการ ไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ใด ๆ[18]

Remove ads

การเสียชีวิต

Thumb
โกษาปาน วาดโดย Charles Le Brun เมื่อปี ค.ศ. 1686
Thumb
ตราประทับของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นออกพระวิสุทธสุนธร

เมื่อสิ้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชใน พ.ศ. 2231 สมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ต่อ ปานได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าพระยาโกษาธิบดี ว่าการพระคลัง[19]

ใน พ.ศ. 2239 ปานถูกลงอาญาอยู่บ่อยครั้ง เนื่องด้วยเป็นที่นิยมในหมู่ราษฎร มีครั้งหนึ่งสมเด็จพระเพทราชากริ้วมาก ใช้พระแสงตัดปลายจมูกของปาน[20] บางแหล่งว่า ที่ถูกตัดจมูก เพราะเขาถูกกล่าวหาว่า จงรักภักดีต่อฝรั่งเศสและสมเด็จพระนารายณ์มหาราช [21]

ใน พ.ศ. 2242 เขาถูกลงพระราชอาญา ภรรยา อนุภรรยา รวมทั้งบุตรสาวและบุตรชาย ถูกคุมขัง ทรัพย์สมบัติก็ถูกริบหมด[20]

บางแหล่งว่า เขาตัดสินใจฆ่าตัวตายใน พ.ศ. 2243[21] บางคนว่า เขาใช้มีดแทงตัวตาย บางคนว่า เขาถูกโบยด้วยเชือกจนตาย[20]

ต้นตระกูลราชวงศ์จักรี

มีคำกล่าวกันว่า โกษาปานเป็นต้นตระกูลของราชวงศ์จักรี[22] เพราะมีสถานะเป็นบิดาของเจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) พระปัยกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งภายหลังเข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีและยังเป็นปู่ของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ซึ่งเป็นบิดาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช [3][23]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

ละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง บุพเพสันนิวาส และ พรหมลิขิตออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มีตัวละครหนึ่งชื่อ "พระยาวิสูตรสุนทร" หรือ "เจ้าพระยาโกษาธิบดี" นำแสดงโดยชาติชาย งามสรรพ์

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

Loading content...

แหล่งข้อมูลอื่น

Loading content...
Loading related searches...

Wikiwand - on

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Remove ads