เมืองสตูล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมืองสตูล หรือ นครีสโตยมำบังสาครา (มลายู: نڬري ستول ممبڠ سڬارا, Negeri Setul Mambang Segara "รัฐ/นครเซอตุลมัมบังเซอการา") เป็นอาณาจักรมลายูในบริเวณชายฝั่งตอนเหนือของคาบสมุทรมลายูในอดีต อาณาจักรนี้ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1808 ในช่วงที่มีการแบ่งแยกระหว่างผู้ปกครองในราชวงศ์ไทรบุรี[1] โดยอำนาจการปกครองเมืองสตูลอยู่ภายใต้การกำกับของเมืองนครศรีธรรมราช แต่ตำแหน่งเจ้าเมืองหรือรายามีการสืบสกุลได้โดยฝ่ายสยามให้การรับรองสถานะ อำนาจอธิปไตยของอาณาจักรนี้สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1916 หลังจากถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเขตอำนาจอธิปไตยสยามโดยสมบูรณ์ อาณาเขตส่วนใหญ่ของเมืองสตูลปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสตูล ประเทศไทย
นครีสโตยมำบังสาครา نڬري ستول ممبڠ سڬارا (มลายู) เมืองสตูล (ไทย) | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ค.ศ. 1808–ค.ศ. 1916 | |||||||||
ธงชาติ | |||||||||
![]() อาณาจักรในเครือไทรบุรีเดิมใน ค.ศ. 1860 หลังการเสีย เตอรัง (จังหวัดตรัง) ให้แก่ประเทศสยามใน ค.ศ. 1810, การแยกเกาะปีนังและสมารังไพรไปขึ้นกับอังกฤษในระหว่าง ค.ศ. 1786–1860 และการก่อกำเนิดอาณาจักรเอกเทศทั้งสี่ใน ค.ศ. 1843 อาณาจักรทั้งสี่มีสีแตกต่างกัน ส่วนบริเวณอื่นมีสีน้ำตาลอ่อน | |||||||||
เมืองหลวง | สตูล | ||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษามลายู ภาษามลายูไทรบุรี | ||||||||
ศาสนา | อิสลามนิกายซุนนี | ||||||||
การปกครอง | ราชาธิปไตย | ||||||||
รายา/เจ้าเมือง | |||||||||
• ค.ศ. 1809–1843 | พระยาอภัยนุราชฯ (ตนกูบิศนู) | ||||||||
• ค.ศ. 1843–1876 | พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอาเก็บ) | ||||||||
• ค.ศ. 1876–1888 | พระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) | ||||||||
• ค.ศ. 1888–1897 | พระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) | ||||||||
• ค.ศ. 1897–1916 | พระยาภูมินารถภักดี (กูเด็น บิน กูแมะ) | ||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||
• การแยกเมืองสตูลออกจากเมืองไทรบุรีใน ค.ศ. 1808 | ค.ศ. 1808 | ||||||||
• รัฐบาลสยามให้สละตำแหน่งรายา และยกเป็นเจ้าเมืองจางวาง | ค.ศ. 1916 | ||||||||
| |||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย |
ศัพทมูลวิทยา

ชื่อเมืองสตูลมีที่มาจากคำว่า "บูอะฮ์เซอตูล" (มลายู: بواه ستول, Buah Setul) ในภาษามลายูกลาง ซึ่งหมายถึง "ต้นกระท้อน" อันเป็นไม้ผลชนิดหนึ่งที่ขึ้นชุกชุมในท้องที่นี้ ส่วนคำว่า "มำบังสาครา" (มลายู: ممبڠ سڬارا, Mambang Segara "มัมบังเซอการา") อันเป็นนามเฉลิมนครตามวัฒนธรรมมลายู เป็นชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกขานพระสมุทรเทวาหรือเทพเจ้าแห่งท้องทะเล นามนี้สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องลี้ลับในวัฒนธรรมมลายูโบราณ เนื่องจากที่ตั้งของเมืองสตูลอยู่ริมฝั่งคาบสมุทรมลายู[1] นามเมือง "นครีสโตยมำบังสาครา" จึงมีความหมายว่า "สตูล เมืองแห่งพระสมุทรเทวา" การตีความคำว่า "มำบังสาครา" ยังคงปรากฏให้เห็นจากภาพดวงตราประจำจังหวัดสตูลในปัจจุบัน
ในสำเนียงภาษามลายูเกอดะฮ์ เรียกชื่อเมืองนี้ว่า "สโตย" (Setoi) หรือ "สะตุล" (Setul) ส่วนในภาษาไทยเรียกว่า สตูล ตามสำเนียงภาษามลายูเกอดะฮ์ แต่เขียนทับศัพท์ด้วยอักษรโรมันเป็น "Satun"
ประวัติศาสตร์
สรุป
มุมมอง
การก่อกำเนิด

ในประวัติศาสตร์สยามยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น สตูลเป็นเพียงตำบลหนึ่งในเขตเมืองไทรบุรี เรียกว่า มูเก็มสะตุล (مقيم ستول) ประวัติความเป็นมาของเมืองสตูลจึงเกี่ยวข้องกับไทรบุรี ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า "ตามเนื้อความที่ปรากฏดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เห็นว่าในเวลานั้น พวกเมืองไทรเห็นจะแยกกันเป็นสองพวกคือ พวกเจ้าพระยาไทรปะแงรันพวกหนึ่ง และพระยาอภัยนุราชคงจะนบน้อมฝากตัวกับเมืองนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะเมื่อพระยาอภัยนุราชได้มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูล ซึ่งเขตแดนติดต่อกับนครศรีธรรมราชมากกว่าเมืองไทร แต่พระยาอภัยนุราชว่าราชการเมืองสตูลได้สองปีก็ถึงแก่อนิจกรรม ผู้ใดจะได้ว่าราชการเมืองสตูลต่อมาในชั้นนั้นหาพบจดหมายเหตุไม่ แต่พิเคราะห์ความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เข้าใจว่าเชื้อพระวงศ์ของพระยาอภัยนุราช (ปัศนู) คงจะได้ว่าราชการเมืองสตูล และฟังบังคับบัญชาสนิทสนมกับเมืองนครศรีธรรมราชอย่างครั้งพระยาอภัยนุราชหรือยิ่งกว่านั้น"
ด้วยความที่เป็นหนึ่งในดินแดนสำคัญ ณ ใจกลางรัฐสุลต่านเกดะห์หรือเมืองไทรบุรี ทำให้เมืองสตูลเริ่มปรากฏความสำคัญขึ้นหลังการสิ้นพระชนม์ของสุลต่านอับดุลละฮ์ มูการ์รัม ชะฮ์ หรือพระยาไทรบุรีโมกุรัมซะ สุลต่านแห่งเกอดะห์องค์ที่ 20 เมื่อปี ค.ศ. 1797 ทั้งนี้ สุลต่านอะฮ์มัด ตาจุดดิน ฮาลิม ชะฮ์ที่ 2 หรือเจ้าพระยาไทรบุรีปะแงรัน ได้ขึ้นเสวยราชย์สมบัติแทน โดยการคัดเลือกผู้สืบราชสมบัติดังกล่าวได้รับการสนับสนุนและรับรองจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ณ กรุงเทพมหานคร ด้วยถือว่าไทรบุรีหรือเกอดะห์นั้นเป็นรัฐประเทศราชของราชอาณาจักรสยาม แม้กระนั้นการสถาปนาตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครไทรบุรีก็ได้นำความแตกแยกมาสู่ภายในราชวงศ์ไทรบุรีอย่างรวดเร็วจากการอ้างสิทธิ์ของตนกูบิศนู (หรือปัศนู) ผู้เป็นรายามุดาแห่งเกอดะห์ สยามจึงเข้ามาไกล่เกลี่ยโดยยกฐานะของมุเก็มสตูลขึ้นเป็นเมืองสตูล และแต่งตั้งให้ตนกูบิศนูเป็นพระยาอภัยนุราช ตำแหน่งเจ้าเมืองสตูล เหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นหมุดหมายแห่งความแตกแยกเป็นสองฝ่ายของดินแดนรัฐสุลต่านเกอดะห์[2]
พระยาอภัยนุราช (ตนกูบิศนู) ใช้เวลาส่วนใหญ่ในสมัยการปกครองของตนอยู่ในเมืองสตูล โดยมอบหมายให้ดะโต๊ะ วัน อับดุลละห์ เป็นผู้ช่วยในกิจการดูแลท้องถิ่นเป็นส่วนมาก ถึงอย่างไรก็ตาม ตามความในเอกสารชื่อ "ซีแยสุลต่านเมาลานา" (Syair Sultan Maulana) ได้กล่าวว่า พระยาอภัยนุราช (ตุนกูบิศนู) เป็นเจ้าผู้ปกครองซึ่งองอาจสามารถ ได้คุมกองทหารชาวเกอดะห์ไปช่วยกองทัพสยามรบกับกองทัพพม่าแห่งราชวงศ์คองบองที่เมืองถลาง (ปัจจุบันคือจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย)
การให้สัตยาบัน

ในปี ค.ศ. 1833 ราชสำนักเกอดะห์ได้เผชิญกับความขัดแย้งอีกครั้งระหว่างเจ้าพระยาไทรบุรีปะแงรันกับตนกูเอ็มบุน (Tunku Embun หรือตนกูยากุบ Tunku Yaakub) ผู้เป็นรายามุดา (Raja muda เทียบเท่ามกุฎราชกุมาร) วิกฤตการณ์ครั้งนี้มีสาเหตุชัดเจนจากการที่เจ้าพระยาไทรบุรีปะแงรันปฏิเสธที่จะแต่งตั้งให้รายามุดาดำรงตำแหน่งเป็นรายา (Raja คือกษัตริย์/เจ้าเมือง) แห่งเมืองกายัง (ปะลิส) และสตูล ส่งผลให้ตนกูเอ็มบุนทำการขอกองทัพจากเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) เพื่อโค่นอำนาจของเจ้าพระยาไทรบุรีปะแงรัน โดยกล่าวหาว่าเจ้าพระยาไทรบุรีปะแงรันแอบฝักใฝ่อังกฤษ[3] ความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันในท้องถิ่นในชื่อ "เปอรัง มูซูฮ์ เบอร์บิซิก" (Perang Musuh Berbisik) อันมีความหมายว่า "สงครามศัตรูเสียงกระซิบ"[4]
ระหว่างสงครามในปี ค.ศ. 1833 นั้นเอง กองกำลังติดอาวุธของเกอดะห์ภายใต้การนำของดะโต๊ะหวันหมาดหลี (ดะโต๊ะวันมัดอาลี Dato Wan Mad Ali หรือดะโต๊เซอเตียเซ็งการา Dato Setia Sengkara) ได้เปิดฉากโจมตีกองทัพสยามที่เตอรัง (Terang หรือเมืองตรัง) อัยเยอร์เกลูบี (Ayer Kelubi หรือเมืองกระบี่) และที่เกาะปูเลาปันจัง (Pulau Panjang หรือเกาะยาวใหญ่) หลังจากเมืองเกอดะห์หรือไทรบุรีถูกตีแตก ดะโต๊ะหวันหมาดหลีจำต้องถอนกำลังมาอยู่ที่เกาะลังกาวี พร้อมด้วยชาวมลายูที่ลี้ภัยมาจากเมืองสตูลอีกราว 100 ครัวเรือน[1]
รัฐประหารภายใต้การนำของตนกูเอ็มบุนจัดได้ว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากเจ้าพระยาไทรบุรีปะแงรันผู้เป็นสุลต่านจำต้องถอนกำลังไปอยู่ที่เกาะปีนังซึ่งอยู่ในความดูแลของอังกฤษ และได้ลี้ภัยต่อไปยังเมืองมะละกา[5] แม้กระนั้น คำขอของตนกูเอ็มบุนในการสถาปนาให้ตนเองขึ้นเป็นสุลต่านผู้ครองนครไทรบุรีกลับถูกฝ่ายสยามปฏิเสธ ต่อมาทั้งตนกูเอ็มบุนและตนกูสุไลวัน (Tunku Sulaiwan) ได้ต้องอาญาประหารชีวิตอย่างทารุณโดยพระบรมราชโองการของพระเจ้ากรุงสยาม เนื่องจากพบว่าทั้งสองคนมีความผิดจริงในการเผยแพร่ข่าวเลวร้ายอันเป็นความเท็จเกี่ยวกับสุลต่านองค์ก่อน[3]
หลังจากได้รับชัยชนะ ฝ่ายสยามได้ทำการจัดระเบียบเขตแดนใหม่ ซึ่งทำให้เขตแดนของรัฐสุลต่านเกอดะห์ถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วน และแต่งตั้งให้ตนกูมูฮำหมัดอาเก็บ (Tunku Muhammad Akib) บุตรของพระยาอภัยนุราชฯ (ตนกูบิศนู) เป็นพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ รายาเมืองสตูลองค์ใหม่[4] การแบ่งเขตแดนใหม่ของเกอดะห์ได้เกิดขึ้นคู่ขนานกับการแบ่งดินแดนของปัตตานีภายใต้การปกครองของสยามเมื่อปี ค.ศ. 1809 ซึ่งครั้งนั้นยังผลให้เกิดรัฐมลายูเกิดใหม่ที่แตกออกมาจากอาณาจักรปัตตานีเดิมรวมทั้งสิ้น 7 หัวเมือง
การแบ่งเขตแดนของเกอดะห์ได้มีการให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1843 เมื่อเจ้าพระยาไทรบุรีปะแงรัน สุลต่านแห่งเกอดะห์ ได้นำคณะเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยาม ณ กรุงเทพมหานคร ผู้ติดตามในคณะเดินทางนั้นประกอบด้วย ตนกูอาหนุ่ม (Tunku Anum) เจ้าเมืองกะปังปาสู ไซยิด ฮุสเซ็น จามาลุลไลล์ (Syed Hussein Jamalullail) รายาเมืองปะลิส และพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอาเก็บ) รายาเมืองสตูล ทั้งหมดปฏิญาณแสดงความภักดีต่อกรุงสยาม พร้อมทั้งถวายบุหงามาศ (ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง) เป็นเครื่องราชบรรณาการแสดงความอ่อนน้อมของบรรดาหัวเมืองที่กำเนิดขึ้นใหม่ในครั้งนั้น
ถึงแม้เกอดะห์โดยข้อเท็จจริงจะถูกแบ่งแยกออกเป็นสี่หัวเมือง (หรือสี่อาณาจักร) แต่ทั้งสี่หัวเมืองก็ยังคงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติและทางเศรษฐกิจอย่างแน่นแฟ้น ดังปรากฏตัวอย่างจากหลาย ๆ เหตุการณ์ในยุคนี้ เช่น การเสกสมรสระหว่างตนกูจาฮารา (Tunku Jahara) สมาชิกสกุลรายาแห่งกะปังปาสู กับตนกูอะฮ์มัด (Tunku Ahmad) เจ้าชายแห่งเกอดะห์ และการเสกสมรสในปี ค.ศ. 1904 ระหว่างตนกูจูรา (Tunku Jura) เจ้าหญิงแห่งเกอดะห์ กับไซยิด ซาฮีร์ (Syed Zahir) สมาชิกสกุลรายาแห่งสตูล
หลังการแบ่งอาณาเขตจากไทรบุรี
เมื่อพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอาเก็บ) ถึงแก่อนิจกรรมในปี ค.ศ. 1876 พระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) ก็ได้สืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองสตูลลำดับถัดมา รายาองค์นี้ถูกกล่าวถึงว่าเป็นผู้ขาดความสามารถในด้านการบริหาร ปัญหาความขัดแย้งภายในสกุลวงศ์เจ้าเมืองสตูลเป็นเหตุให้ในปี ค.ศ. 1882 ตนกูมุฮัมมัด ผู้เป็นญาติของพระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) แยกตัวไปก่อตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่ละงู ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองสตูล[1] ทั้งสองเมืองนี้ภายหลังได้กลับมารวมอยู่ในเขตจังหวัดสตูลเมื่อรัฐบาลสยามได้ดำเนินการผนวกเมืองสตูลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรสยามโดยสมบูรณ์[6]
ในสมัยของพระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) ได้เกิดโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานจำนวนมากในเมืองสตูลและบรรดาเมืองบริวาร เช่น การสร้างถนน ป้อมปราการ ศาลาว่าราชการเมือง รวมถึงการบริหารจัดการลำน้ำต่างๆ ในเขตเมืองสตูล พระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) ยังได้มีบัญชาให้สร้างเรือนจำก่อด้วยอิฐ ขยายศาลยุติธรรมประจำเมือง ปรับปรุงระบบเครือข่ายโทรเลขและริเริ่มระบบการไปรษณีย์ ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองสตูลกับรัฐบาลกลางกรุงสยามยังคงเป็นไปอย่างใกล้ชิด ดังปรากฏว่าเมืองสตูลได้ส่งไพร่พลจำนวน 260 คน สมทบกับกำลังพลจากไทรบุรีและปะลิส ไปช่วยรัฐบาลสยามในการปราบปราบกบฏอั้งยี่กรรมกรขุดแร่ดีบุกชาวจีนที่ภูเก็ตเมื่อปี ค.ศ. 1878 ผลงานครั้งนี้ทำให้ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 4 ภูษณาภรณ์ เป็นบำเหน็จความชอบ[6]
พระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) ได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองสตูลลำดับต่อมาเมื่อพระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) ถึงแก่อนิจกรรมในปี ค.ศ. 1888 โดยได้แต่งตั้งพระพิไสยสิทธิสงคราม (ตนกูมะหะหมัด) ผู้เป็นน้องชาย ให้ดำรงตำแหน่งรายามุดาเมืองสตูล เนื่องจากตนเองนั้นไม่มีบุตรชาย พระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) ได้พัฒนาโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ รอบเมืองสตูลให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อเนื่องจากสมัยของรายาองค์ที่แล้ว แต่ในช่วงปลายสมัยแห่งการดำรงตำแหน่งอันกินระยะเวลานาน 10 ปี พระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) ได้มีอาการป่วยหนักจนสติเลอะเลือนจนไม่สามารถบริหารราชการได้[1]
การปฏิรูป

การที่ตำแหน่งเจ้าเมืองสตูลว่าลง ทำให้พระยาฤทธิสงครามรามภักดี (สุลต่านอับดุล ฮามิด ฮาลิม ชะฮ์) สุลต่านแห่งเกอดะฮ์ ในฐานะเจ้าเมืองไทรบุรี ได้ส่งตนกูบาฮารุดดิน บิน กูแมะ มาเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าเมืองสตูล เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่หัวเมืองมลายูต่าง ๆ จะเข้าสู่ระบบมณฑลเทศาภิบาลของสยาม ท่านผู้นี้เป็นที่รู้จักกันดีมากกว่าในชื่อ กูเด็น บิน กูแมะ มีภูมิหลังเป็นชาวเกอดะห์ เริ่มรับราชการครั้งแรกเป็นพัศดีเรือนจำที่เมืองอลอร์สตาร์ เมืองหลวงของไทรบุรี [7]และเจริญก้าวหน้าจนได้เป็นตำมะหงง (เสนาบดี) ของสุลต่านแห่งเกอดะห์ แต่ยังมิทันได้รับยศและบรรดาศักดิ์แบบสยามมาก่อน
กูเด็น บิน กูแมะ เป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำที่มากความสามารถ แต่ถึงอย่างนั้นในระยะแรกท่านก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากทั้งคณะกรมการเมืองและชาวเมืองสตูลมากนัก เพราะมิใช่เจ้านายสายตรงในเชื้อวงศ์รายาแห่งเมืองสตูล[8] การแต่งตั้งกูดิน บิน กูแมะ ให้ดำรงตำแหน่งรายาเมืองสตูลเช่นนี้สร้างความโกรธเคืองแก่พระพิไสยสิทธิสงคราม (ตนกูมะหะหมัด) รายามุดาผู้ซึ่งควรจะได้สืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองอย่างยิ่ง เมื่อมิได้รับการยอมรับจากทางเกอดะห์มากนัก พระพิไสยสิทธิสงคราม (ตนกูมะหะหมัด) จึงพยายามขอความช่วยเหลือจากทางกรุงเทพให้สนับสนุนตนขึ้นดำรงตำแหน่งแทน แต่ความพยายามเหล่านั้นสูญเปล่า เพราะปรากฏชัดว่ากูเด็น บิน กูแมะ มีอิทธิพลเหนือกว่าพระพิไสยสิทธิสงคราม (ตนกูมะหะหมัด) อย่างชัดเจน ถึงอย่างไรก็ตาม หลังจากที่กูเด็น บิน กูแมะ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองแล้วหลายเดือน พระพิไสยสิทธิสงคราม (ตนกูมะหะหมัด) ก็ปรับตัวเข้ากับคณะกรมการเมืองของเมืองสตูลชุดใหม่ได้ โดยอยู่ในฐานะผู้ช่วยราชการเมืองสตูล และกูเด็น บิน กูแมะ เจ้าเมืองคนใหม่ก็ให้เกียรติแก่พระพิไสยสิทธิสงคราม (ตนกูมะหะหมัด) ในฐานะกรมการเมืองเก่าแก่ คอยขอคำปรึกษาในการบริหารราชการเมืองสตูลอยู่เสมอ
ภายหลังเข้ารับตำแหน่งเจ้าเมือง กูเด็น บิน กูแมะ ได้ดำเนินสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเมืองสตูลกับรัฐบาลกลางกรุงสยามให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอย่างอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากการส่งเครื่องราชบรรณาการบุหงามาศของเมืองสตูลเป็นการเอกเทศแทนที่จะส่งไปรวมกับของทางเกอดะห์ตามธรรมเนียมเดิม การกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดความตึงเครืยดในความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างนครเกอดะห์กับเมืองสตูล เนื่องจากตามธรรมเนียมแล้ว เมืองสตูลเป็นเมืองขึ้นของเกอดะห์ แม้จะอยู่ภายใต้การกำกับของเมืองนครศรีธรรมราชร่วมกันก็ตาม ความสัมพันธ์ของทั้งสองเมืองกลับมาปรองดองกันได้โดยการไกล่เกลี่ยของเจ๊ะ อัมปวน เมนเญราลา (คุณหญิงเนื่อง นนทนาคร) ชายาของสุลต่านแห่งเกอดะห์[1]
กูเด็น บิน กูแมะ ได้ถอดแบบระบบการบริหารราชการของนครเกอดะฮ์มาใช้ในเมืองสตูลอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งหัวหน้าแผนกธรรมการ (การศึกษา) ตั้งครูใหญ่โรงเรียนมลายู มีระบบกัปตันจีน ตั้งกองข้าหลวง ตั้งกอฎีเป็นหัวหน้าแผนกศาลยุติธรรม ตั้งหัวหน้าแผนกการแพทย์ หัวหน้ากองตระเวน หัวหน้าผู้ตรวจสอบบัญชี หัวหน้าล่าม และส่วนราชการอื่นๆ อีกจำนวนมาก ทั้งยังปรับปรุงกองพลตระเวนเมืองสตูลโดยจ้างพลตระเวนจากชาวปัญจาบจำนวน 36 คน ท่านยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ริเริ่มให้ข้าราชการเมืองสตูลใส่เครื่องแบบในการปฏิบัติงานอีกด้วย
ตลอดสมัยการปกครองของกูเด็น บิน กูแมะ ได้มีการวางกฎระเบียบและข้อบังคับจำนวนมากไปในทิศทางนิยมการปกครองของสยาม ท่านได้ริเริ่มการใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในจวนเจ้าเมืองและภาษาสำหรับการบริหารราชการแผ่นดินแทนที่ภาษามลายูที่ใช้มาแต่เดิม การปรับปรุงเช่นนี้ทำให้ข้าราชการจำนวนหนึ่งที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาไทยลาออกจากราชการ ทั้งยังทำให้เกิดการแข็งขืนในหมู่ชาวมลายูส่วนหนึ่ง แม้ว่าต่อมารัฐบาลสยามจะดำเนินการปราบปรามให้สงบลงได้ก็ตาม[6]
กูเด็น บิน กูแมะ ได้รับเป็นบรรดาศักดิ์ฝ่ายสยามเป็นหลวงอินทรวิชัยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1900 และในปี ค.ศ. 1902 จึงได้รับสัญญาบัตรจากทางการสยามให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสตูลอย่างเป็นทางการ ในบรรดาศักดิ์ที่ พระอินทรวิชัย และภายหลังได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอินทรวิไชยเมื่อ ค.ศ. 1913
ยุบเลิกสถานะเจ้าเมืองท้องถิ่น

ในปี ค.ศ. 1892 เมืองสตูลได้กลับไปอยู่ในความปกครองของเกอะดะห์[2] โดยมีสถานะเป็นเมืองในสังกัดมณฑลไทรบุรีในระบบมณฑลเทศาภิบาล แต่ถึงอย่างนั้น อำนาจการปกครองของเกอดะห์เหนือเมืองสตูลก็ค่อยๆ ถูกถ่ายโอนไปอยู่ในมือของรัฐบาลสยามส่วนกลางแทน เมื่อถึง ค.ศ. 1902 ก็มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าพระอินทรวิชัย (กูเด็น บิน กูแมะ) มีอำนาจปกครองตนเองเหนือเมืองสตูลเต็มที่ แข็งขืนต่ออำนาจของเมืองไทรบุรี
อำนาจการปกครองของเกอดะห์ที่มีต่อเมืองสตูลได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 1909 ตามสนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2452 เดิมฝ่ายอังกฤษวางแผนจะให้รวมเมืองสตูลเข้ากับดินแดนของมณฑลไทรบุรีและรัฐปะลิส เนื่องจากเมืองสตูลมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติร่วมกับทั้งสองเมืองดังกล่าวอย่างเหนียวแน่น แต่แผนดังกล่าวไม่บรรลุผล เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินสยามได้ทรงอ้างสิทธิ์ในอำนาจการปกครองเมืองสตูลอย่างเต็มที่ หลังจากสนธิสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เมืองสตูลจึงถูกโอนการปกครองจากมณฑลไทรบุรีไปขึ้นกับมณฑลภูเก็ตแทน ก่อนจะโอนไปขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราชในภายหลังเนื่องจากสามารถติดต่อสื่อสารและใช้การคมนาคมทางบกได้สะดวกกว่า
พระยาอินทรวิไชย (กูเด็น บิน กูแมะ) ได้พ้นจากตำแหน่งเจ้าเมืองสตูลอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1916 ภายหลังจากการผนวกเมืองสตูลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามอย่างสมบูรณ์ 6 ปี ท่านได้รับพระราชทานบำเหน็จบำนาญเป็นรางวัลในทางราชการจากการพัฒนาและปฏิรูปเมืองสตูลให้ทันสมัย พร้อมทั้งรับพระราชทานบรรดาศักดิ์ "พระยาภูมินารถภักดี" อันมีความหมายว่า "พระยาผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน (กรุงสยาม)" มีเกียรติยศเป็นเจ้าเมืองจางวาง เป็นที่ปรึกษาราชการของเมืองสตูลตลอดชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของราชสำนักเกอดะฮ์และชาวมาเลย์ยุคปัจจุบัน ได้มองว่าท่านเป็นผู้ทรยศเผ่าพันธุ์ชาติกำเนิด เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการแยกเมืองสตูลให้ไปอยู่กับฝ่ายสยาม
หลังการผนวกเข้าเป็นดินแดนของสยาม

รัฐบาลกลางสยามได้ยกเลิกระบบเจ้าเมืองท้องถิ่นทั่วราชอาณาจักร อันรวมถึงระบบรายาแบบมลายูที่ใช้ในเมืองสตูลด้วย โดยแทนที่ด้วยระบบการแต่งตั้งผู้ว่าราชการเมือง (ต่อมาเรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด) จากส่วนกลางที่กรุงเทพมหานครโดยตรง ผู้ว่าราชการเมืองสตูลระบบใหม่คนแรกได้แก่ พระโกชาอิศหาก (ตุ๋ย บินอับดุลลาห์ ภายหลังมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสมันตรัฐบุรินทร์) ชาวมลายูเกอดะห์ซึ่งมีพื้นเพอยู่ในกรุงเทพฯ ผู้ซึ่งได้เริ่มรับราชการเป็นล่ามภาษามลายู และได้ไต่เต้าในระบบราชการสยามสมัยใหม่มาตามลำดับจนได้เป็นปลัดเมืองสตูล ในยุคนี้เมืองสตูลยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากสมัยของพระยาภูมินารถภักดี (กูเด็น บิน กูแมะ) ปรากฏหลักฐานว่าศาสนาอิสลามในเมืองสตูลยุคนี้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง[1]
ในช่วงที่พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย บินอับดุลลาห์) เป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูลนี้เอง ได้เป็นจุดสิ้นสุดของการใช้ภาษามลายูเป็นสื่อกลางของการศึกษาในพื้นที่ ระบบการศึกษาได้ถูกปฏิรูปให้เข้าสู่ระบบที่ใช้ภาษาไทยเป็นสื่อกลางเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศสยาม สิ่งนี้ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภาษาและอัตลักษณ์ในประชาคมชาวมลายูท้องถิ่นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทุกวันนี้ชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดสตูลมีเพียงส่วนน้อยมากที่สามารถสื่อสารภาษามลายูได้ ซึ่งแตกต่างกับบรรดาอดีตรัฐเพื่อนบ้านที่อยู่ทางทิศใต้ซึ่งยังคงรักษาภาษาและอัตลักษณ์แบบมลายูไว้ได้[1] ในปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ฟื้นฟูหลักสูตรการสอนภาษามลายูขึ้นในโรงเรียนบางแห่งในจังหวัด เพื่อเป็นเครื่องมือในการสืบสานรักษาวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชาวไทยมลายูในพื้นที่จังหวัดสตูลไว้
ทำเนียบนามรายา/เจ้าเมืองสตูล
ลำดับ | ชื่อในเอกสารฝ่ายไทย | ชื่อเต็มในภาษามลายู | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง |
1. | พระยาอภัยนุราชฯ (ตนกูบิศนู) | ตนกู บิซนู อิบนี อัล-มาร์ฮุม ซุลตัน อับดุลละฮ์ อัล-มูการ์รัม ชะฮ์ | พ.ศ. 2356 - 2358 ค.ศ. 1809–1843 |
2. | พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอาเก็บ) | ตนกู มูฮัมมัด อากิบ อิบนี อัล-มาร์ฮุม ตุนกู บิซนู | พ.ศ. 2382 - 2419 ค.ศ. 1843–1876 |
3. | พระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) | ตนกู อิซมาอิล อิบนี อัล-มาร์ฮุม ตุนกู มูฮัมมัด อากิบ | พ.ศ. 2419 - 2427 ค.ศ. 1876–1888 |
4. | พระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) | ตนกู อับดุล ระฮ์มัน อิบนี อัล-มาร์ฮุม ตุนกู อิซมาอิล | พ.ศ. 2427 - 2440 ค.ศ. 1888–1897 |
5. | มหาอำมาตย์ตรี พระยาภูมินารถภักดี (กูเด็น บิน กูแมะ) | ตนกู บาฮารุดดิน บิน กู เมะฮ์ | พ.ศ. 2440 - 2459 ค.ศ. 1897–1916 |
สกุลวงศ์รายาเมืองสตูล
รายาเมืองสตูลทุกคนล้วนสืบเชื้อสายจากราชวงศ์เกอดะห์หรือราชวงศ์ไทรบุรี ปรากฏนามสกุลเมื่อมีการตั้งนามสกุลขึ้นในประเทศสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนี้
- สนูบุตร - เป็นสกุลสายตรงที่สืบทอดมาจากพระยาอภัยนุราช (ตนกูบิศนู) ผู้เป็นบุตรของพระยาไทรบุรี (สุลต่านอับดุลละฮ์ มูการ์รัม ชะฮ์) และเป็นน้องของเจ้าพระยาไทรบุรีปะแงรัน พระพิไสยสิทธิสงคราม (ตนกูมะหะหมัด ต่อมาคือพระพิมลสัตยาลักษณ์ กรมการพิเศษเมืองสตูล) ผู้เป็นบุตรของพระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) ได้ขอพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานนามสกุลตามประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ 53 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 33 หน้า 1023 วันที่ 23 กรกฎาคม 2459 ว่า “สะนุบุตร” เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Sanuputra”[9]
- บินตำมะหงง - เป็นสกุลของมหาอำมาตย์ตรี พระยาภูมินารถภักดี (กูเด็น บิน กูแมะ) เชื้อสายเจ้านายราชวงศ์ไทรบุรี แต่มิใช่สายตรงในสกุลของพระยาอภัยนุราช (ตนกูบิศนู) พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้แก่พระยาภูมินารถภักดี ขณะยังเป็น อำมาตย์เอก พระยาอินทรวิไชย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2458 โดยทรงสะกดว่า "บินตำมะงง" (ไม่มีตัว "ห") และสะกดนามสกุลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Bin Tamangong”[10]
ดูเพิ่ม
- เมืองกะปังปาสู อาณาจักรมลายูอีกแห่งที่เกิดในช่วงการแบ่งแยกเมืองไทรบุรี (เกอดะฮ์)
- รายชื่อราชวงศ์มุสลิมนิกายซุนนี
อ้างอิง
บรรณานุกรม
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.