Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช หรือ เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชชัย มไหสุริยาธิบดี หรือ เจ้าพระยานครน้อย นามเดิม น้อย ณ นคร หรือ พระองค์เจ้าน้อย (27 สิงหาคม พ.ศ. 2319 – 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2382) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชโอรสองค์รองสุดท้ายในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี บุตรบุญธรรมของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) เป็นผู้มีบทบาทในการปราบกบฏเมืองไทรบุรี
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) | |
---|---|
เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2354 - 2382 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ก่อนหน้า | เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) |
ถัดไป | เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 27 สิงหาคม พ.ศ. 2319 เมืองนครศรีธรรมราช |
เสียชีวิต | 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2382 (62 ปี) เมืองนครศรีธรรมราช |
คู่สมรส | ท่านผู้หญิงอิน |
บุตร | เจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ ในรัชกาลที่ 3 เจ้าพระยามหาศิริธรรม (น้อยเมือง) เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) |
บุพการี |
|
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าชุมนุมนครศรีธรรมราชหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หนึ่งในธิดาของเจ้าพระยานครฯ (หนู) คือคุณหญิงชุ่มได้สมรสเป็นภรรยาของพระอุปราช (พัฒน์) แห่งเมืองนครฯ หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จมาปราบชุมนุมนครศรีธรรมราชได้ใน พ.ศ. 2312 ธิดาอีกคนของเจ้าพระยานครฯ (หนู) คือคุณหญิงปราง ได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นเจ้าจอมปราง หลังจากที่ท่านผู้หญิงชุ่มภรรยาของพระอุปราช (พัฒน์) ถึงแก่อสัญกรรม ใน พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระดำริจะยกเจ้าจอมปรางให้เป็นภรรยาของพระอุปราช (พัฒน์) แต่ท้าวนางฝ่ายในได้กราบทูลว่าเจ้าจอมปรางขาดระดูได้สองเดือนแล้ว (หมายถึงกำลังจะมีพระครรภ์ให้แด่สมเด็จพระเจ้าตากสิน) พระเจ้าตากสินรับสั่งว่าตรัสแล้วไม่คืนคำต้องให้ออกไป พระอุปราช (พัฒน์) จึงจำต้องรับเจ้าจอมปรางมาไว้ที่เมืองนครฯ ตั้งขึ้นไว้เป็นนางเมืองไม่ได้เป็นภรรยา เจ้าจอมปรางให้กำเนิดบุตรชายที่เมืองนครศรีธรรมราชเมื่อวันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2319[1] ชื่อว่า น้อย ดังปรากฏในบันทึกในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีว่า
"เจ้าจอมมารดาปรางในพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทานแก่อุปราชพัฒน์ มีความชอบชนะศึกชายาถึงแก่กรรม รับสั่งว่าอย่าเสียใจนักเลยจะให้เลี้ยงหลาน ท้าวนางกราบทูลว่า เริ่มตั้งครรภ์ได้ ๒ เดือนแล้ว แต่รับสั่งตรัสแล้วไม่คืนคำ พระราชวิจารณ์รัชกาลที่ ๕ ว่าไม่ทรงทราบหรือเป็นราโชบายให้เชื้อสายไปครองเมืองให้กว้างขวางออกไป แนวเดียวกับให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ไปครองเขมร เจ้าพัฒน์รับตั้งไว้เป็นนางเมือง มิได้เป็นภรรยาเป็นเรื่องเล่ากระซิบกันอย่างเปิดเผย บุตรติดครรภ์เป็นชายชื่อ น้อย เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช มีอำนาจวาสนากว่าเจ้านครทุกคน"
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เกิดที่เมืองนครศรีธรรมราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช[2] ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงปราง และเป็นบุตรบุญธรรมของพระอุปราช (พัฒน์) ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ใน พ.ศ. 2329 เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนที่สองต่อจากเจ้าพระยานครฯ (หนู) เมื่อเจ้าพระยานครฯ (น้อย) เจริญวัยขึ้น เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ผู้เป็นบิดาบุญธรรมได้นำเจ้าพระยานครฯ (น้อย) เข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชทานตำแหน่งเป็นนายสรรพวิไชย มหาดเล็กหุ้มแพร ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระบริรักษ์ภูเบศร์ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช โปรดเกล้าฯให้กลับไปรับราชการที่เมืองนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลายพระหัตถเลขาเรียกชื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ตอนนี้ว่า "น้อยคืนเมือง"
เมื่อพม่ายกทัพมาตีเมืองถลางและภูเก็ตใน พ.ศ. 2352 พระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) ได้ติดตามบิดาบุญธรรมเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ไปตั้งทัพเรือขึ้นที่เมืองตรังเพื่อยกทัพเข้าต่อสู้กับพม่าที่ภูเก็ต ฝ่ายพม่าซึ่งเข้ายึดเมืองภูเก็ตไว้ได้ยินเสียงคลื่นลมเข้าใจว่าทัพเรือไทยยกมาจึงถอยออกจากภูเก็ต พระบริรักษ์ภูเบศร์จึงนำทัพเรือของเมืองนครฯ เข้ายึดเมืองภูเก็ตได้สำเร็จ
ใน พ.ศ. 2354 เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) กราบทูลต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า ตนเองมีความชราภาพขอลาออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯจึงโปรดฯ ให้ตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) ขึ้นเป็นพระยานครศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเมื่ออายุได้สามสิบห้าปี เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และให้เลื่อนอดีตเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) เป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี จางวางเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นสุลต่านอาหมัดทัจอุดดินฮาลิมชาฮ์ (Ahmad Tajuddin Alim Shah) แห่งไทรบุรี หรือ "ตวนกูปะแงหรัน" (Tunku Pangeran) เกิดความขัดแย้งกับตนกูบิศนู (Tunku Bisnu) ผู้เป็นน้องชาย จนฝ่ายสยามต้องไกล่เกลี่ยด้วยการให้ตนกูพิศนุมาเป็นเจ้าเมืองสตูล ตนกูบิศนูเข้านอบน้อมต่อพระยานครฯ (น้อย) ต่อมาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) ผู้เป็นบิดาบุญธรรมถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 2357
เดิมรัฐกลันตันเป็นเมืองขึ้นของรัฐตรังกานู สุลต่านมูฮัมหมัด (Muhammad) แห่งกลันตันมีความขัดแย้งกับสุลต่านแห่งตรังกานู จึงร้องขอเข้ามายังพระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) เจ้าเมืองสงขลา พระยาวิเศษภักดีไม่เห็นด้วย สุลต่านมูฮัมหมัดจึงร้องขอต่อเจ้าพระยานครฯ (น้อย) โดยตรงใน พ.ศ. 2358 ขอเป็นประเทศราชต่อกรุงเทพฯ โดยตรงไม่ผ่านตรังกานู จึงมีพระราชโองการให้เมืองกลันตันเป็นประเทศราชแยกต่างหากส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองแก่กรุงเทพฯ โดยตรงและขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช
ใน พ.ศ. 2363 พระเจ้าจักกายแมงแห่งพม่ามีพระราชโองการให้เตรียมเกณฑ์ทัพจากเมืองมะริดและตะนาวศรีเข้ารุกรานไทย ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อทรงทราบข่าวทัพพม่าจึงมีพระราชโองการให้จัดเตรียมทัพไปตั้งรับ ในขณะนั้นพระยานครฯ (น้อย) ล้มป่วยลง จึงมีพระราชโองการให้พระวิชิตณรงค์ไปรักษาการณ์เมืองนครศรีธรรมราช และให้พระพงษ์นรินทร์ซึ่งเป็นหมอหลวงเดินทางมารักษาอาการป่วยของพระยานครฯ และมีตราว่าหากทัพพม่าบุกเข้ามาให้พระยานครฯเป็นแม่ทัพ พระวิชิตณรงค์เป็นปลัดทัพ และพระพงษ์นรินทร์เป็นยกกระบัตรทัพ แต่สุดท้ายแล้วทัพพม่าก็ไม่ได้ยกมารุกรานแต่อย่างใด
ฝ่ายสุลต่านตวนกูปะแงหรันแห่งไทรบุรีเมื่อทราบข่าวว่าพม่าจะยกทัพมายังภาคใต้จึงติดต่อสัมพันธไมตรีกับฝ่ายพม่า ตนกูมอม (Tunku Mom) น้องชายของสุลต่านตวนกูปะแงหรันมาแจ้งความแก่พระยานครฯ (น้อย) ว่าตวนกูปะแงหรันลักลอบติดต่อกับพม่า นอกจากนี้พ่อค้าชาวจีนในทะเลอันดามันชื่อว่าลิมหอยพบสาส์นของพม่าถึงสุลต่านตวนกูปะแงหรัน ฝ่ายกรุงเทพฯ จึงมีตราเรียกเข้ามาพบสุลต่านไม่ไป พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงมีพระราชโองการให้พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ยกทัพไปตีเมืองไทรบุรี พระยานครฯ (น้อย) ยกทัพเรือจากเมืองพัทลุงและสงขลาแสร้งว่าจะโจมตีมะริดและตะนาวศรี โดยพระยานครฯ (น้อย) แจ้งแก่ทางไทรบุรีว่าขอเสบียงสนับสนุน แม่ฝ่ายไทรบุรีไม่ได้ส่งเสบียงมาสนับสนุนตามที่ขอพระยานครฯ (น้อย) จึงยกทัพเรือไปยังเมืองอาโลร์เซอตาร์เมืองหลวงของไทรบุรี ฝ่ายเมืองไทรบุรียังไม่ทราบเจตนารมณ์ของพระยานครฯจึงให้การต้อนรับ เมื่อพระยานครฯเข้าไปอยู่ในเมืองอาโลร์เซอตาร์แล้วจึงเข้าโจมตี[3]และยึดเมืองได้สำเร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2364 สุลต่านตวนกูปะแงหรันสามารถหลบหนีได้ทันไปยังเกาะปีนังหรือเกาะหมาก ซึ่งไทรบุรีได้ยกให้แก่อังกฤษให้เช่าตั้งแต่ พ.ศ. 2329 เมื่อยึดไทรบุรีได้แล้วพระยานครฯ (น้อย) จึงตั้งให้บุตรชายคือพระภักดีบริรักษ์ (แสง) เป็นเจ้าเมืองไทรบุรีแทน และให้บุตรชายอีกคนคือนายนุชมหาดเล็กเป็นปลัดเมืองไทรบุรี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระภักดีบริรักษ์ (แสง) เป็นพระยาอภัยธิเบศร์เจ้าเมืองไทรบุรี และแต่งตั้งนายนุชมหาดเล็กเป็นพระเสนานุชิตปลัดเมืองไทรบุรี
เมื่อพระยานครฯ (น้อย) ยึดไทรบุรีแล้ว สยามจึงเข้าปกครองเมืองไทรบุรีโดยตรงโดยขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช มีข้าราชการกรมการฯสยามเข้าปกครองไม่มีการแต่งตั้งสุลต่าน อดีตสุลต่านตวนกูปะแงหรันพำนักอยู่ที่เกาะปีนังภายใต้ความคุ้มครองของอังกฤษ ฝ่ายอังกฤษที่เกาะปีนังเพื่อเห็นว่าสยามเข้าปกครองไทรบุรีโดยตรงเกรงว่าสยามจะส่งทัพมาโจมตีเกาะปีนัง มาร์เควสแห่งเฮสติงส์ (Marquess of Hastings) ผู้ปกครองบริติชอินเดีย ส่งนายจอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) เป็นทูตมายังสยามเพื่อดูท่าที นายครอว์เฟิร์ตเดินทางถึงเกาะปีนังในเดือนธันวาคม พระยานครฯ (น้อย) จึงส่งสาส์นถึงนายครอว์เฟิร์ตที่เกาะปีนังว่าฝ่ายสยามไม่มีเจตนาที่จะยกทัพบุกเกาะปีนัง เมื่อนายครอว์เฟิร์ตเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในเดือนเมษายนพ.ศ. 2365 ได้ยื่นหนังสือของตวนกูปะแงหรันให้แก่พระยาสุริยวงศ์โกษา (ดิศ) กล่าวโทษพระยานครฯ (น้อย) การเจรจาระหว่างสยามและอังกฤษครั้งนั้นยังไม่ประสบผล หลังจากการปราบกบฏไทรบุรีและการเจรจากับอังกฤษ พระยานครฯ (น้อย) จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช[4] ต่อมาใน พ.ศ. 2368 เจ้าพระยานครฯ (น้อย) จัดเตรียมทัพเรือเพื่อเข้าโจมตีรัฐเปรักและเซอลาโงร์ เนื่องจากรัฐเซอลาโงร์ได้เคยขัดขวางมิให้รัฐเปรักถวายบรรณาการให้แก่กรุงเทพฯ นายโรเบิร์ต ฟุลเลอร์ตัน (Robert Fullerton) เจ้าเมืองปีนัง แจ้งแก่เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ว่าถ้าฝ่ายสยามนำทัพเข้ารุกรานเปรักและเซอลาโงร์จะเป็นการละเมิดต่อสนธิสัญญาอังกฤษ-ฮอลันดา (Anglo-Dutch Treaty of 1824) และส่งเรือรบของอังกฤษมาปิดกั้นปากแม่น้ำตรัง[5] ซึงเป็นทางออกของทัพเรือของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ไว้ การรุกรานรัฐเประก์และเซอลาโงร์จึงยุติ
ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคมพ.ศ. 2368 ฝ่ายอังกฤษส่งนายเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) หรือ "หันตรีบารนี" เป็นตัวแทนของอังกฤษเข้ามาขอทำสนธิสัญญาทางการค้ากับสยาม นายเบอร์นีเดินทางถึงเมืองนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) นำนายเบอร์นีเข้าไปยังกรุงเทพฯ นำไปสู่การตกลงสนธิสัญญาเบอร์นี (Burney Treaty) ในเดือนมิถุนายนพ.ศ. 2369 โดยมีผู้แทนฝ่ายสยามได้แก่กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) และเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ฝ่ายอังกฤษยอมรับอำนาจของสยามเหนือไทรบุรีโดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าสยามงดการรุกรานรัฐเซอลาโงร์และอนุญาตให้มีการค้าขายระหว่างสยามและเกาะปีนัง[6]
ใน พ.ศ. 2369 กบฏเจ้าอนุวงศ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีตราให้เจ้าพระยานครฯ (น้อย) เกณฑ์พลหัวเมืองปักษ์ใต้ขึ้นไปรบกับลาว แต่เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ถวายรายงานว่าอังกฤษนำเรือมาไว้ที่เกาะปีนัง จึงให้พระเสน่หามนตรี (น้อยกลาง) บุตรชายยกทัพไปส่วนหนึ่งตามท้องตราไปแทน
ใน พ.ศ. 2375 ตนกูกูเด่น (Tunku Kudin) ผู้เป็นหลานของอดีตสุลต่านตวนกูปะแปหรันปลุกระดมชาวเมืองไทรบุรีให้ลุกฮือขึ้นและเข้ายึดเมืองไทรบุรีได้ พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) เจ้าเมืองไทรบุรีและพระเสนานุชิต (นุช) บุตรทั้งสองของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) หลบหนีไปยังเมืองพัทลุง เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่กรุงเทพมีคำสั่งให้พระสุรินทร์ซึ่งเป็นข้าหลวงในกรมพระราชวังบวรฯลงไปช่วงพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ในการเกณฑ์หัวเมืองปัตตานีมารบกับไทรบุรี และเจ้าพระยานครฯได้รีบรุดลงมายังเมืองนครฯ ฝ่ายบรรดาเจ้าเมืองปัตตานีห้าเมืองจากเจ็ดเมืองนำโดยพระยาตานี (ต่วนสุหลง) ทราบว่าต้องนำพลไปรบกับไทรบุรีจึงก่อการกบฏขึ้นบ้าง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ยกทัพลงมาช่วยเจ้าพระยานครฯ เจ้าพระยานครฯยกทัพเข้ายึดเมืองไทรบุรีคืนได้สำเร็จ ตนกูกูเด่นฆ่าตัวตาย
เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ยกทัพมาถึงเมืองสงขลาในเดือนมีนาคม พบว่าเจ้าพระยานครฯ (น้อย) เข้ายึดเมืองไทรบุรีได้แล้ว ทั้งเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เจ้าพระยานครฯ (น้อย) และพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) ยกทัพเข้าตีเมืองปัตตานี พระยาตานี (ต่วนสุหลง) สู้ไม่ได้จึงหลบหนีไปยังกลันตัน ฝ่ายสยามยกตามไปต่อที่กลันตัน สุลต่านมูฮัมหมัดแห่งกลันตันผู้เป็นญาติของพระยาตานีไม่สู้รบขอเจรจาแต่โดยดีและมอบตัวพระยาตานีให้แก่ฝ่ายสยาม หลังจากปราบกบฎไทรบุรีลงได้แล้ว เจ้าพระยานครฯจึงให้พระยาอภัยธิเบศร์และพระเสนานุชิตบุตรทั้งสองครองเมืองไทรบุรีตามเดิม
ต่อมาใน พ.ศ. 2380 กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยสิ้นพระชนม์ เจ้าพระยานครฯ (น้อย) และข้าราชการกรมการของหัวเมืองปักษ์ใต้เดินทางไปยังกรุงเทพฯเพื่อร่วมพระราชพิธี ในหลานสองคนของตวนกูปะแงหรันได้แก่ตนกูมูฮาหมัดซาอัด (Tunku Muhammad Sa'ad) และตนกูมูฮาหมัดอากิบ (Tunku Muhammad Akib) ร่วมมือกับหวันหมาดหลีซึ่งเป็นโจรสลัดในทะเลอันดามัน นำทัพเรือเข้าบุกยึดเมืองไทรบุรีในเดือนกุมพาพันธ์พ.ศ. 2381 นำไปสู่กบฏหวันหมาดหลี พระยาอภัยธิเบศร์และพระเสนานุชิตหลบหนีไปตั้งมั่นที่เมืองพัทลุง ในขณะนั้นเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ล้มป่วยอยู่ที่กรุงเทพจำต้องรีบรุดเดินทางลงมายังเมืองนครฯเพื่อปราบกบฏไทรบุรีอีกครั้งพร้อมกับพระวิชิตไกรสร เจ้าพระยานครฯล้มป่วยอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต) ยกทัพมาช่วยเจ้าพระยานครฯ พระยาอภัยธิเบศร์ พระเสนานุชิต และพระวิชิตไกรสรเข้ายึดเมืองไทรบุรีได้อีกในเดือนเดียวกันนั้นเอง
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมที่เมืองนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2381 สิริอายุ 61 ปี 260 วัน [7] หลังจากที่เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) จัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ใหม่ โดยยกตนกูอาหนุ่มซึ่งเป็นญาติของตวนกูปะแงหรันขึ้นเป็นสุลต่านแห่งไทรบุรี และให้ชาวมลายูเข้าปกครองเมืองไทรบุรีอีกครั้ง การปกครองไทรบุรีโดยตรงของเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาสิบแปดปีจึงสิ้นสุดลง ส่วนพระยาอภัยธิเบศร์และพระเสนานุชิตนั้น พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) ตั้งให้พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) เป็นเจ้าเมืองพังงา และให้พระเสนานุชิต (นุช) เป็นปลัดเมืองพังงา นอกจากนี้พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) ยังตั้งให้บุตรชายคนที่สองของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) คือ พระเสน่หามนตรี (น้อยกลาง) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนที่สี่ ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นพระยานครศรีธรรมราช ส่วนบุตรชายคนโตของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) คือพระยาพัทลุง (น้อยใหญ่) โปรดฯเข้าไปช่วยราชการที่กรุงเทพฯ เนื่องจาก"เป็นคนไม่ชอบกันกับพี่น้อง"[8]
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) สมรสกับท่านผู้หญิงอิน ซึ่งเป็นธิดาของพระยาพินาศอัคคี เจ้าพระยานครฯ (น้อย) มีบุตรธิดากับภรรยาต่างๆรวมกันทั้งสิ้น 34 คน อาทิ;
พงศาวลีของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.