Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟุตบอลทีมชาติเดนมาร์ก (เดนมาร์ก: Danmarks fodboldlandshold) เป็นตัวแทนของประเทศเดนมาร์กและกรีนแลนด์ ในการแข่งขันฟุตบอลชายระดับนานาชาติ ถูกควบคุมโดยสหภาพฟุตบอลเดนมาร์ก (DBU) ปัจจุบันใช้สนามกีฬาพาร์เคิน ในโคเปนเฮเกนเป็นสนามเหย้า โดยมีไบรอัน รีเมอร์เป็นผู้จัดการทีม
ฉายา | De Rød-Hvide (แดงและขาว) Danish Dynamite โคนม (ฉายาในภาษาไทย) | |||
---|---|---|---|---|
สมาคม | สมาคมฟุตบอลเดนมาร์ก (DBU) | |||
สมาพันธ์ | ยูฟ่า (ยุโรป) | |||
หัวหน้าผู้ฝึกสอน | ไบรอัน รีเมอร์ | |||
กัปตัน | พีแยร์-เอมิล ฮอยปีแยร์ | |||
ติดทีมชาติสูงสุด | เครสแจน อีเรกเซิน (140) | |||
ทำประตูสูงสุด | Poul "Tist" Nielsen Jon Dahl Tomasson (52) | |||
สนามเหย้า | สนามกีฬาพาร์เกิน | |||
รหัสฟีฟ่า | DEN | |||
| ||||
อันดับฟีฟ่า | ||||
อันดับปัจจุบัน | 21 (20 มิถุนายน 2024)[1] | |||
อันดับสูงสุด | 3 (พฤษภาคม ค.ศ. 1997, สิงหาคม ค.ศ. 1997) | |||
อันดับต่ำสุด | 51 (เมษายน ค.ศ. 2017) | |||
เกมระดับนานาชาติครั้งแรก | ||||
เดนมาร์ก 9–0 ฝรั่งเศส เบ (ลอนดอน ประเทศอังกฤษ; 19 ตุลาคม ค.ศ. 1908) | ||||
ชนะสูงสุด | ||||
เดนมาร์ก 17–1 ฝรั่งเศส (ลอนดอน ประเทศอังกฤษ; 22 ตุลาคม ค.ศ. 1908) | ||||
แพ้สูงสุด | ||||
เยอรมนี 8–0 เดนมาร์ก (เบร็สเลา ประเทศเยอรมนี; 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1937) | ||||
ฟุตบอลโลก | ||||
เข้าร่วม | 6 (ครั้งแรกใน 1986) | |||
ผลงานดีที่สุด | รอบก่อนรองชนะเลิศ (1998) | |||
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป | ||||
เข้าร่วม | 9 (ครั้งแรกใน 1964) | |||
ผลงานดีที่สุด | ชนะเลิศ (1992) | |||
คอนเมบอล–ยูฟ่าคัพออฟแชมเปียน | ||||
เข้าร่วม | 1 (ครั้งแรกใน 1993) | |||
ผลงานดีที่สุด | รองชนะเลิศ (1993) | |||
คอนเฟเดอเรชันส์คัพ | ||||
เข้าร่วม | 1 (ครั้งแรกใน 1995) | |||
ผลงานดีที่สุด | ชนะเลิศ (1995) | |||
เกียรติยศ |
เดนมาร์กชนะเลิศกีฬาฟุตบอลในโอลิมปิกซ้อน 1906 ซึ่งความสำเร็จในครั้งนั้นไม่ถูกรับรองอย่างเป็นทางการ และได้รับเหรียญเงินในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1908 และ 1912 อย่างไรก็ตาม ในฐานะมือสมัครเล่นที่ห้ามไม่ให้นักเตะทีมชาติของตนไปแล่นเป็นนักเตะอาชีพในสโมสรต่างประเทศ เดนมาร์กไม่ผ่านเข้ารอบสำหรับฟุตบอลโลกจนถึง ค.ศ. 1986 ถึงแม้ว่าพวกเขาจะได้รับเหรียญเงินเงินโอลิมปิกอีกใน ค.ศ. 1960
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เดนมาร์กได้สร้างผลงานที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง พวกเขาชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1992 ที่ประเทศสวีเดน โดยเอาชนะทีมแชมป์เก่าอย่างเนเธอร์แลนด์ ในรอบรองชนะเลิศ และแชมป์โลกอย่างเยอรมนีในรอบชิงชนะเลิศ ทีมยังชนะเลิศ คิงส์ฟาฮัดคัพ 1995 โดยเอาชนะอาร์เจนตินาในรอบชิงชนะเลิศ ผลงานฟุตบอลโลกที่ดีที่สุดของพวกเขาคือความสำเร็จในปี 1998 ซึ่งพวกเขาแพ้บราซิลอย่างหวุดหวิด 3–2 ในรอบก่อนรองชนะเลิศ เดนมาร์กยังสามารถเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลกได้ในปี 1986, 2002 และ 2018 ผลงานที่โดดเด่นล่าสุดของพวกเขาคือการเข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 โดยแพ้อังกฤษในช่วงต่อเวลา
นอกเหนือจากทีมชุดใหญ่ของทีมชายแล้ว เดนมาร์กยังมีทีมฟุตบอลหญิง และมีทีมที่เป็นตัวแทนทีมชาติในหลายรุ่นอายุ ที่โดดเด่นที่สุดคือทีมชาติรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทีมชายชุดใหญ่ (ทีม A) ทำหน้าที่แข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเป็นหลักซึ่งพวกเขาลงแข่งเรื่อยมาจนถึงปี 1988 หลังจากนั้นการแข่งขันฟุตบอลในกีฬาโอลิมปิกจะนับเป็นเกมระดับชาติในรุ่นอายุต่ำกว่า 21 ปี นอกจากทีมระดับ A และทีมเยาวชนแล้ว เดนมาร์กยังมีทีมจากลีกพิเศษในชื่อ Ligalandsholdet เริ่มต้นใน ค.ศ. 1983 โดยรวบรวมนักฟุตบอลชาวเดนมาร์กที่เก่งที่สุดจากลีกในประเทศนอร์ดิก และทีมชุดนี้จะลงแข่งในเกมที่ไม่เป็นทางการในช่วงปิดฤดูกาลของฟุตบอลลีกนอร์ดิกเป็นประจำทุกปี
ในบางครั้ง สื่อมวลชนจะเรียกทีม Ligalandsholdet ว่าเป็นทีมชาติเดนมาร์กชุด B เนื่องจากนักฟุตบอลอาชีพในทีม A หลายรายล้วนมากจากการเล่นในลีกต่าง ๆ ในประเทศนอร์ดิก ด้วยเหตุนี้ ผู้ฝึกสอนทีมชาติเดนมาร์กจึงระบุวัตถุประสงค์ในการลงแข่งขันของทีม Ligalandsholdet ว่าเป็นเหมือนการลองทีมเพื่อค้นหานักฟุตบอลที่มีศักยภาพ หรือผลงานโดดเด่นเพื่อเลื่อนขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่
เมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1896 ผู้เล่นทีมชาติเดนมาร์กลงแข่งขันระหว่างประเทศครั้งแรกเอาชนะทีม Podilatikos Syllogos Athinon ซึ่งเป็นตัวแทนของทีมชาติกรีซ ณ สนามกีฬานีโอฟาลิรอนเวลอดรอม ในกรุงเอเธนส์ ผลการแข่งขันไม่เป็นที่แน่ชัดระหว่าง 9–0 หรือ 15–0 ในเกมสาธิตระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1896[2] ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 1897 ทีมชาติเดนมาร์กซึ่งถูกคัดเลือกผู้เล่นโดยสหภาพฟุตบอลเดนมาร์ก ลงแข่งขันที่ฮัมบวร์ค เอาชนะทีมจากสมาคมฟุตบอลฮัมบวร์คอัลโทนา 5–0 โดยมีผู้ชมในสนาม 5,000 คน[3][4][5]
การแข่งขันฟุตบอลในกีฬาโอลิมปิก 3 ครั้งแรกระหว่าง ค.ศ. 1900 ถึง 1906 ยังไม่ได้รับรองสถานะทางการ เนื่องจากยังไม่เปิดโอกาสให้ทีมฟุตบอลตัวแทนระดับชาติของประเทศต่าง ๆ ลงแข่งขัน โดยมีการจำกัดจำนวนทีมเพียงสามถึงสี่สโมสรจากบางประเทศที่ได้รับเชิญเท่านั้น ซึ่งเดนมาร์กไม่มีตัวแทนสโมสรที่ได้รับคัดเลือกเลยในโอลิมปืก 1900 และ 1904 ก่อนจะได้รับเชิญครั้งแรกในกีฬาฟุตบอลในโอลิมปิกซ้อน 1906 ในครั้งนั้นมีตัวแทนจากสามประเทศ อีกสองประเทศคือกรีซและตุรกี เดนมาร์กลงแข่งขันกับทีมตัวแทนจากเอเธนส์ และอีกสองสโมสรซึ่งเป็นตัวแทนจักรวรรดิออตโตมัน (อิซมีร์ และ เทสซาโลนีกี) ทีมที่เป็นตัวแทนของเดนมาร์กประกอบด้วยผู้เล่นจากสมาคมฟุตบอลโคเปนเฮเกน (KBU) และพวกเขาชนะการแข่งขันและได้รับเหรียญทองอย่างไม่เป็นทางการ
สองปีต่อมา ในการแข่งขันฟุตบอลอย่างเป็นทางการครั้งแรกในโอลิมปิกฤดูร้อน 1908 กรุงลอนดอน เดนมาร์กได้เหรียญเงิน ผลงานสำคัญคือการชนะฝรั่งเศส 9–0 ในรอบก่อนรองชนะเลิศ และคว้าเหรียญเงินได้อีกครั้งในการแข่งขันครั้งถัดมา ตามมาด้วยยุคทองของทีมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1912 ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1920 ในช่วงนั้นเดนมาร์กเป็นหนึ่งในทีมที่แข็งแกร่งที่สุดของยุโรป โดยครองอันดับหนึ่งของโลกตามการจัดอันดับโลกอีโล
แม้ว่าเดนมาร์กจะมีผลงานโดดในยุคก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก แต่พวกเขาต้องรอคอยความสำเร็จไปอีกหลายปีตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1930 แม้เดนมาร์กจะเต็มไปด้วยผู้เล่นที่มีศักยภาพสูงหลายราย ทว่าสหพันธ์ฟุตบอลเดนมาร์กในขณะนั้นกลับไม่ให้การสนับสนุนในการแข่งขันระดับนานาชาติเท่าที่ควร หากแต่มุ่งเน้นไปที่การแข่งกระชับมิตรและรายการระดับภูมิภาคอย่างการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์นอร์ดิกระหว่างปี 1920 ถึง 1948 มากกว่า ต่อมา เมื่อสหพันธ์หันกลับมาตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้น จึงอนุญาตให้เดนมาร์กร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอีกครั้ง มีผลงานคือเหรียญทองแดงในโอลิมปิกฤดูร้อน 1948 เอาชนะอียิปต์ในรอบแรก ตามด้วยการชนะอิตาลีในรอบก่อนรองชนะเลิศ แต่แพ้แชมป์ในครั้งนั้นอย่างสวีเดนในรอบรองชนะเลิศ และเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศในปี 1952 และสหพันธ์ฟุตบอลไม่ส่งทีมลงแข่งขันในปี 1956 เนื่องจากกีฬายังถูกเล่นเป็นงานอดิเรกของนักกีฬาสมัครเล่นเป็นส่วนใหญ่ และฟุตบอลของเดนมาร์กยังไม่มีสถานะอาชีพ ด้วยเหตุนี้ นักฟุตบอลในประเทศจำนวนมากจึงย้ายไปเล่นที่ต่างประเทศ และสหพันธ์ฟุตบอลเดนมาร์กยังไม่อนุญาตให้นักฟุตบอลอาชีพลงแข่งขันในนามทีมชาติ การรวบรวมนักฟุตบอลอาชีพเพื่อลงแข่งในระดับสูงจึงยังเป็นเรื่องยาก
เดนมาร์กคว้าเหรียญเงินครั้งที่ 3 ในโอลิมปิกฤดูร้อน 1960 ตามด้วยอันดับ 4 ในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1964 อย่างไรก็ตามความสำเร็จครั้งนี้ไม่ได้รับการยกย่องนัก เนื่องจากรายการนี้มีทีมที่ร่วมแข่งขันรอบสุดท้ายเพียง 4 ทีม และการจับฉลากในรอบก่อนหน้านั้นก็ดูเหมือนจะเข้าข้่างพวกเขา โดยเอาชนะทีมเล็กอย่างมอลตา, แอลเบเนีย และลักเซมเบิร์ก และแพ้สองนัดต่อสหภาพโซเวียตและฮังการี
ต่อมา สหพันธ์ฟุตบอลได้ยกเลิกกฏที่เข้มงวดในการห้ามผู้เล่นอาชีพลงแข่งขัน เนื่องด้วยพวกเขาตระหนักดีว่าการจะสร้างทีมเพื่อแข่งขันในระดับสูงต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่น และอนุญาตให้นักฟุตบอลอาชีพลงแข่งฟุตบอลลีกในประเทศได้เป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1978 ในขณะเดียวกันก็เริ่มพัฒนาทีมด้วยการร่วมมือกับผู้สนับสนุนชื่อดังอย่างคาร์ลสเบิร์ก รวมถึงการแต่งตั้งผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพคนแรกอย่างเซ็ปป์ ปิอองเท็ก ชาวเยอรมัน และถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากสถานะทีมสมัครเล่นไปเป็นทีมฟุตบอลอาชีพอย่างเต็มรูปแบบ และสิ่งนี้นำมาซึ่งการพัฒนาผลงานของทีมในอนาคต
ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1982 รอบคัดเลือก เดนมาร์กมีผลงานชนะ 4 นัด และแพ้ 4 นัด ผลงานโดดเด่นคือการชนะแชมป์ในฟุตบอลโลกครั้งนั้นอย่างอิตาลี 3–1 แต่เดนมาร์กไม่ได้ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย แต่พวกเขาผ่านเข้าสู่ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1984 จากการเอาชนะอังกฤษ 1–0 ที่สนามกีฬาเวมบลีย์ (1923) จากจุดโทษโดยอัลลัน ซิโมนเซิน ถือเป็นการลงแข่งขันระดับทางการครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1964 และพวกเขาได้รับการขนานนามว่า "Danish Dynamite" มีที่มาจากเพลงเชียร๋ประจำทีม เดนมาร์กมีผลงานชนะ 2 นัดและแพ้ 1 นัดในรอบแบ่งกลุ่ม รวมทั้งเอาชนะยูโกสลาสเวีย 5–0 แต่พวกเขาต้องจบเส้นทางในรอบรองชนะเลิศโดยแพ้ทีมีรองแชมป์ครั้งนั้นอย่างสเปนจาการดวลจุดโทษ ภายหลังเสมอกัน 1–1 รายการนี้ยังมีผู้เล่นอย่างมีเคล เลาโตรปเป็นกำลังหลัก หลังจบการแข่งขันสมญานามของทีม "Danish Dynamite" กลายเป็นเอกลักษณ์ในทศวรรษถัดมาของทีมชาติเดนมาร์ก[6]
เดนมาร์กลงแข่งขันครั้งแรกในฟุตบอลโลก 1986 มีผลงานยอดเยี่ยมในรอบแบ่งกลุ่มโดยเอาชนะได้ทั้ง 3 นัดที่พบสกอตแลนด์, อุรุกวัย และเยอรมนีตะวันตก โดยเฉพาะการเอาชนะอุรุกวัยไปถึง 6–1 เป็นที่จดจำอย่างมาก ในรายการนี้เดนมาร์กมีการเล่นฟุตบอลเกมรุกอย่างเร้าใจจากการประสานงานในแนวรุกระหว่างเลาโตรป และพรีเบน เอลเกียร์ อย่างไรก็ตาม พวกเขาแพ้สเปนขาดลอย 5–1 ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายแม้จะได้ประตูปลอบใจจากเจสเปอร์ โอลเซิน แต่พวกเขาก็เสียประตูแรกจากความผิดพลาดโอลเซินที่ส่งบอลคืนหลังพลาดอย่างโชคร้าย หลังจบการแข่งขันความผิดพลาดครั้งนี้ถูกนำไปล้อเลียนด้วยวลีในภาษาเดนมาร์กที่ว่า ("en rigtig Jesper Olsen") และถูกกล่าวถึงไปอีก 13 ปี รวมถึงถูกกล่าวซ้ำโดยรายการโทรทัศน์ของเดนมาร์กในปี 1999 เมื่อผู้เล่นแนวรุกของเดนมาร์กอย่างเยสเปอร์ กอนคเยร์ ก่อความผิดพลาดลักษณะเดียวกันในการลงสนามนัดเปิดตัวด้วยการส่งบอลพลาดทำให้ฟีลิปโป อินซากี ผู้เล่นอิตาลีทำประตู[7]
ในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1988 เดนมาร์กจบเพียงอันดับสุดท้ายในกลุ่ม ด้วยการอยู่ในกลุ่มที่หนักร่วมกับทีมใหญ่ พวกเขาแพ้สเปน 3–2, แพ้เยอรมนีตะวันตก 2–0 และแพ้อิตาลี 2–0 เก็บคะแนนในครั้งนี้ไม่ได้เลย และพวกเขาไม่ผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลก 1990 ทำให้ปิอ็องเทกประกาศลาออก
เดนมาร์กมีผลงานในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1992 รอบคัดเลือกด้วยการชนะหมู่เกาะแฟโร ตามด้วยการบุกไปเสมอนอร์เทิร์นไอร์แลนด์ และกลับมาเปิดบ้านแพ้ต่อยูโกสลาเวีย 2–0 ผู้เล่นสำคัญอย่างสองพี่น้อง มีเคล และไบรอัน เลาโตรป ประกาศเลิกเล่นทีมชาติในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1990 และผู้ฝึกสอนในขณะนั้นอย่างริชาร์ด นีลเซิน ได้รับแรงกดดันอย่างหนักเนื่องจากเขาไม่เรียกผู้เล่นศักยภาพสูงอย่างยัน โมลบี และ ยัน ไฮนท์เซอติดทีมเนื่องจากปัญหาทางวินัย อย่างไรก็ตาม เดนมาร์กยังเอาชนะคู่แข่งได้ในอีก 5 นัดที่เหลือ รวมถึงการบุกเอาชนะยูโกสลาเวีย 2–1 แต่ยังไม่เพียงพอที่จะเข้ารอบต่อไปโดยทันที
อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากบทลงโทษที่มีต่อยูโกสลาเวียจากสงครามยูโกสลาเวีย และการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ส่งผลให้สหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรปประกาศตัดสิทธิ์ยูโกสลาเวียจากการแข่งขัน และมอบสิทธิ์ให้แก่เดนมาร์กในฐานะทีมอันดับสองที่มีผลงานดีที่สุดแทน การประกาศดังกล่าวมีขึ้นเพียง 10 วันก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น[8][9][10][11]
แม้จะได้รับการคาดหมายว่าจะลงแข่งขันโดยขาดการเตรียมความพร้อมที่ดี แต่ทีมชาติเดนมาร์กกลับทำในสิ่งที่ตรงข้าม ด้วยการเรียกตัวผู้เล่นตัวหลักหลายรายที่อยู่ระหว่างการพักร้อนมาลงแข่งกระชับมิตร เพื่อเตรียมความพร้อมกับทีมฟุตบอลชาติเครือรัฐเอกราช (ในฐานะทีมตัวแทนของสหภาพโซเวียต) ด้วยผู้เล่นคนสำคัญอย่างพีเตอร์ สไมเกิล นอกจากนี้ มีเคล เลาโตรป ยังเปลี่ยนใจกลับมาติดทีมชาติอีกครั้งในเดือนเมษายน ทีมชาติเดนมาร์กสร้างความสำเร็จที่เหนือความคาดหมายที่สุดครั้งหนึ่ง ในการแข่งขันรอบสุดท้ายครั้งนี้มีสวีเดนเป็นเจ้าภาพ พวกเขาเข้ารอบในฐานะทีมอันดับ 2 ของกลุ่ม เริ่มต้นด้วยการเสมออังกฤษ 0–0 และแม้จะแพ้เจ้าภาพอย่างสวีเดน 1–0 แต่ชัยชนะต่อฝรั่งเศส 2–1 จากประตูของเฮนริก ลาร์เซินก็ช่วยให้ทีมเข้ารอบตามสวีเดน การแข่งขันในรอบรองชนะเลิศกับเนเธอร์แลนด์ดำเนินไปอย่างสูสี เนเธอร์แลนด์ออกนำไปก่อนจากประตูของแด็นนิส แบร์คกัมป์ แต่เดนมาร์กก็ได้คืนสองประตูจากลาเซิน และถูกตีเสมออีกครั้งในท้ายเกมจากฟรังก์ ไรการ์ด จบลงด้วยการเสมอ 2–2 เดนมาร์กเอาชนะการยิงจุดโทษ 5–4 ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศที่กอเทนเบิร์ก ก่อนการแข่งขันจะเริ่มความคาดหวังดูจะเทไปทางฝั่งเยอรมีตะวันตกมากกว่า แต่เดนมาร์กสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเอาชนะ 2–0 คว้าแชมป์สมัยแรก และเป็นแชมป์จากการแข่งขันทางการครั้งแรก
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1993 มีเคล เลาโตรป ประกาศยุติความขัดแย้งกับผู้ฝึกสอนอย่างนีลเซนในด้านแผนการเล่น และเขาตัดสินใจกลับมาติดทีมชาติอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ผลงานของเดนมาร์กในช่วงเวลานี้ก็แย่ลง พวกเขาไม่มีส่วนร่วมในฟุตบอลโลก 1994 ความสำเร็จในทศวรรษนี้คือการชนะการแข่งขันคิงส์ฟาฮัดคัพ 1995 (ฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพในปัจจุบัน) เดนมาร์กเอาชนะเจ้าภาพซึ่งก็คือซาอุดีอาระเบีย 2–0 และเอาชนะจุดโทษเม็กซิโกหลังจากเสมอกัน 1–1 และเอาชนะอาร์เจนตินาในฐานะแชมป์ฟุตบอลโกปาอเมริกา 2–0 ในรอบชิงชนะเลิศ และพวกเขาตกรอบแบ่งกลุ่มฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1996 จากการมี 4 คะแนนโดยชนะนัดเดียวที่พบกับตุรกี ผู้ฝึกสอนคนใหม่ที่เข้ามาแทนนีลเซนก็คือโบ โยฮานส์เซิน เข้ามาช่วยให้ทีมเล่นฟุตบอลเกมรุกมากขึ้น โดยในฟุตบอลโลก 1998 เป็นรายการสุดท้ายของสองพี่น้องเลาโตรปในการเล่นทีมชาติ เดนมาร์กเข้ารอบในฐานะทีมอันดับ 2 ของกลุ่ม C เอาชนะซาอุดีอาระเบียในนัดแรก 1–0 และเสมอแอฟริกาใต้ 1–1 และแพ้เจ้าภาพฝรั่งเศส 2–1 พวกเขายังมีผลงานดีด้วยการเอาชนะไนจีเรียในรอบ 16 ทีมสุดท้าย 4–1 และในรอบก่อนรองชนะเลิศนั้น พวกเขาสู้กับทีมเต็งอย่างบราซิลได้สนุกตลอดทั้งเกม และแพ้ไป 3–2 จากประตูของเลาโตรป และมาร์ติน ยอร์เกนเซิน ต่อมา พวกเขาตกรอบแบ่งกลุ่มฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2000 ด้วยการแพ้รวด 3 นัด
มอร์เทน โอลเซิน ผู้ฝึกสอนอาเอฟเซ อายักซ์ และอดีตผู้เล่นของเดนมาร์กได้รับการแต่งตั้งในปี 2000 และทีมของเขาได้รับฉายาว่าเป็น "Olsen Gang" ซึ่งวลีนี้มีที่มาจากภาพยนตร์ชุดของเดนมาร์กซึ่งตัวเอกอย่างอีกอน โอลเซินทำการวางแผนด้านอาชญากรรมอย่างชาญฉลาด และถูกใช้เป็นชื่อทางเลือกร่วมกับ "เดนิช ไดนาไมต์" ในยุคที่โอลเซินเป็นกัปตันทีมชาตินั้น ในการคุมทีมครั้งนี้ รูปแบบการเล่นแบบ 4–4–2 ที่ผู้ฝึกสอนอย่างโบ โยฮานส์เซินได้วางระบบไว้ ถูกปรับใช้เพื่อเน้นการโจมตีมากขึ้นด้วยตัวริมเส้นที่โดดเด่นอย่างเยสเปอร์ กอนคเยร์ และเดนนิส รอมเมดาห์ล โดยโอลเซินนิยมวางแผนการเล่นแบบ 4–3–3 หรือ a 4–2–3–1[12][13] โอลเซินยังมีการต่อต้านระบบ 4–4–2 อย่างเปิดเผย ถึงขั้นว่าเขาขู่จะออกจากตำแหน่งในกรณีที่เขาถูกบังคับให้เดนมาร์กใช้แผนการเล่นนั้น[14] และเพื่อรองรับรูปแบบการเล่น 4–3–3 ในทีมชาติ ทีมระดับเยาวชนของเดนมาร์กในรุ่นอายุที่รองลงมาจึงตอบสนองด้วยการปรับระบบการเล่นให้สอดคล้องเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งที่โอลเซินนำมาสู่ทีมชาติคือการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้เฉพาะผู้เล่นที่ผ่านการทดสอบความพร้อมทางร่างกายเท่านั้น และต้องเป็นผู้เล่นที่ได้ลงสนามเป็นตัวจริงให้กับสโมสรอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งเขาถูกร้องขอให้ประนีประนอมจากหลักการนี้ เนื่องจากจำนวนผู้เล่นที่มีอยู่ในประเทศเดนมาร์กมีค่อนข้างจำกัด และอาจมีตัวเลือกไม่มากนัก
แม้เดนมาร์กจะผ่านรอบคัดเลือกการแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 และฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2004 และมีผลงานที่น่าประทับใจในบางนัด เช่น การชนะทีมแชมป์เก่าอย่างฝรั่งเศส 2–0 ในฟุตบอลโลก แต่พวกเขาก็ไปได้ไม่ไกลกว่ารอบ 16 ทีมสุดท้ายทั้งสองรายการ โดยแพ้อังกฤษ 3–0 และแพ้เช็กเกียด้วยสกอร์เดียวกันตามลำดับ พวกเขาไม่ผ่านรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2006 จากผลงานชนะ 6 นัด, เสมอ 4 นัด และแพ้ 2 นัดจบในอันดับ 3 ของกลุ่ม 2 ทำให้โอลเซินพิจาณาถึงการลาออกจากตำแหน่ง แต่เขาก็ตัดสินใจขยายสัญญาออกไปจนถึงฟุตบอลโลก 2010
เดนมาร์กไม่ผ่านรอบคัดเลือกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2008 แต่ผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลก 2010 และตกรอบแบ่งกลุ่มจากการแพ้เนเธอร์แลนด์ 2–0, ชนะแคเมอรูน 2–1 และแพ้ญี่ปุ่นอย่างเหนือความคาดหมาย 3–1 แต่พวกเขาก็มีช่วงเวลาที่ดีในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 รอบคัดเลือก ด้วยการเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มแม้จะอยู่ร่วมกับทีมใหญ่อย่างโปรตุเกส มีผลงานชนะ 6 นัดจาก 8 นัด ทำให้โอลเซินขยายสัญญาไปถึงฟุตบอลโลก 2014 แต่ในการแข่งขันรอบสุดท้าย ดูเหมือนโชคจะไม่เข้าข้างเดนมาร์กเท่าไรนัก เมื่อต้องอยู่ใน "กลุ่มแห่งความตาย" หรือ group of death ร่วมกับเนเธอร์แลนด์, เยอรมนี และโปรตุเกส แม้จะตกรอบแต่พวกเขาได้รับการยกย่องจากผลงานโดดเด่นในทุกนัด โดยเดนมาร์กเอาชนะเนเธอร์แลนด์ในนัดแรก 1–0 ในนัดต่อมาพวกเขาแพ้โปรตุเกสไปอย่างสูสี 3–2 จากสองประตูของนีแกลส เปนต์เนอร์ และในนัดสุดท้ายที่พบกับเยอรมนีพวกเขาแพ้ 2–1 โดยที่ยันเสมอได้ถึงนาทีที่ 80
เดนมาร์กไม่ประสบความสำเร็จในการผ่านเข้าสู่รายการใหญ่อีกสองรายการต่อมา ภายใต้การคุมทีมของโอลเซิน โดยในฟุตบอลโลก 2014 พวกเขาตกรอบแบ่งกลุ่มในรอบคัดเลือก แม้จะได้อันดับ 2 ในกลุ่มทว่าพวกเขาก็คือทีมอันดับ 2 ที่มีผลงานแย่ที่สุด[15][16] และจบอันดับ 3 ในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2016 รอบคัดเลือก ตามหลังโปรตุเกส และแอลเบเนีย แม้จะได้ไปต่อในรอบเพลย์ออฟ แต่พวกเขาแพ้คู่ปรับอย่างสวีเดน โอลเซินอำลาทีมหลังจบรอบคัดเลือกดังกล่าว โดยเขาถือเป็นผู้ฝึกสอนที่มีเปอร์เซ็นต์การคว้าชัยชนะมากที่สุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่เดนมาร์กมีการแต่งตั้งผู้ฝึกสอนอาชีพในปี 1979 ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2012 เขามีเปอร์เซ็นต์ชนะ 52.8% และคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.84 ต่อ 1 นัดเป็นรองเพียงอดีตผู้ฝึกสอนอย่างนีลเซินที่ 54.8% และ 1.89 คะแนน ต่อ 1 นัด
ออเก ฮาไรเด ผู้ฝึกสอนชาวนอร์เวย์พาทีมลงแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนยุโรป – กลุ่ม อี และพาเดนมาร์กจบในอันดับ 2 เป็นรองโปแลนด์ ผ่านเข้าสู่รอบคัดเลือกรอบที่ 2 และเอาชนะไอร์แลนด์จากการเสมอกันในนัดแรก 0–0 ที่โคเปนเฮเกน และบุกไปชนะ 5–1 ที่ดับลินด้วยการทำแฮตทริกของเครสแจน อีเรกเซิน และประตูของแอนเตรแอส เครสเตินเซิน และนีแกลส เปนต์เนอร์[17] ในฟุตบอลโลกครั้งนี้เดนมาร์กมีผู้เล่นตัวหลักหลายราย เช่น อีเรกเซิน, เครสเตินเซิน, ทอมัส ดิเลนีย์, ซีโมน แคร์, แคสเปอร์ ตอลแปร์ และแคสเปอร์ สไมเกิล ในการแข่งขันรอบสุดท้ายพวกเขาอยู่กลุ่มซี ในนัดแรกเดนมาร์กเอาชนะเปรู 1–0 ตามด้วยการเสมอออสเตรเลีย 1–1 และเสมอฝรั่งเศส 0–0 แต่ก็เป็นอีกครั้งที่พวกเขาไปได้ไม่ไกลกว่ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ในครั้งนี้เดนมาร์กแพ้จุดโทษทีมรองแชมป์อย่างโครเอเชียหลังจากเสมอกัน 1–1 พวกเขาได้ประตูออกนำตั้งแต่นาทีที่ 1 จากมาธิอัส ยอร์เกินเซิน แต่โครเอเชียตามตีเสมอได้ในอีก 3 นาทีต่อมาโดยมาริออ มันจูกิช นี่ถือเป็นผลงานที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2002 ทีพวกเขาผ่านรอบแบ่งกลุ่ม[18]
เดนมาร์กลงแข่งขันรายการยูฟ่าเนชันส์ลีก ฤดูกาล 2018–19 จัดแข่งขันเป็นฤดูกาลแรกสุด[19] ลงเล่นในลีกบี พวกเขาประเดิมด้วยการชนะเวลส์ 2–0 และเสมอไอร์แลนด์ 0–0 และเอาชนะเวลส์ในนัดต่อมา 2–1 ปิดท้ายด้วยการเสมอไอร์แลนด์อีกครั้ง 0–0 คว้าอันดับ 1 ของกลุ่มและเลื่อนชั้นสู่ลีกเอในครั้งต่อไป[20] ในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 รอบคัดเลือก กลุ่มดี เดนมาร์กเข้ารอบเป็นอันดับ 2 โดยมีสวิตเซอร์แลนด์เป็นอันดับ 1 พวกเขามีผลงานชนะ 4 นัด และเสมอ 4 นัด ไม่แพ้ทีมใดและเป็นทีมที่ทำประตูได้มากที่สุดในกลุ่ม (23) และเสียเพียง 6 ประตู
รายชื่อผู้เล่น 26 คนที่ถูกเรียกตัวในการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022[21]
ข้อมูลการลงเล่นและการทำประตูนับถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 หลังจากการพบกับ ตูนิเซีย
# | ตำแหน่ง | ผู้เล่น | วันเกิด (อายุ) | ลงเล่น | ประตู | สโมสร |
---|---|---|---|---|---|---|
1 | GK | แคสเปอร์ สไมเกิล (รองกัปตันทีม) | 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1986 | 87 | 0 | นิส |
16 | GK | ออลิเวอร์ เครสเตินเซิน | 22 มีนาคม ค.ศ. 1999 | 1 | 0 | แฮร์ทา เบเอ็สเซ |
22 | GK | เฟรดเรก เรอนอว์ | 4 สิงหาคม ค.ศ. 1992 | 8 | 0 | อูนีโอนแบร์ลีน |
2 | DF | โยแอคิม อาเนอร์เซิน | 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1996 | 20 | 0 | คริสตัลพาเลซ |
3 | DF | วิคเตอร์ เนลส์สัน | 14 ตุลาคม ค.ศ. 1998 | 7 | 0 | กาลาทาซาไร |
4 | DF | ซีโมน แคร์ (กัปตันทีม) | 26 มีนาคม ค.ศ. 1989 | 122 | 5 | เอซี มิลาน |
5 | DF | โยแอคิม เมเลอ | 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1997 | 32 | 9 | อาตาลันตา |
6 | DF | แอนเตรแอส เครสเตินเซิน | 10 เมษายน ค.ศ. 1996 | 59 | 2 | บาร์เซโลนา |
13 | DF | ราสมุส คริสเตนเซ่น | 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 | 11 | 0 | ลีดส์ยูไนเต็ด |
17 | DF | เยนส์ สตรือเออร์ ลาร์เซิน | 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1991 | 49 | 3 | ทรับซอนสปอร์ |
18 | DF | เตเนียล แวส | 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1989 | 44 | 1 | บรอนด์บี้ |
26 | DF | แอเลกแซนเตอร์ แป | 9 ธันวาคม ค.ศ. 1997 | 4 | 1 | ไบฟีกา |
7 | MF | แมทีแอส เยนเซิน | 1 มกราคม ค.ศ. 1996 | 21 | 1 | เบรนต์ฟอร์ด |
8 | MF | ทอมัส ดิเลนีย์ | 3 กันยายน ค.ศ. 1991 | 72 | 7 | เซบิยา |
10 | MF | เครสแจน อีเรกเซิน | 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1992 | 118 | 39 | แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด |
15 | MF | เครสแจน เนอร์กอร์ | 10 เมษายน ค.ศ. 1994 | 17 | 1 | เบรนต์ฟอร์ด |
23 | MF | พีแยร์-เอมิล ฮอยปีแยร์ | 5 สิงหาคม ค.ศ. 1995 | 61 | 5 | ทอตนัมฮอตสเปอร์ |
24 | MF | โรปอร์ต สกอว์ | 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1996 | 11 | 5 | 1899 ฮ็อฟเฟินไฮม์ |
25 | MF | เยสเปอร์ ลินสเตริม | 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 | 7 | 1 | ไอน์ทรัคท์ฟรังค์ฟวร์ท |
9 | FW | มาร์ติน แบรทเวต | 5 มิถุนายน ค.ศ. 1991 | 62 | 10 | อัสปัญญ็อล |
11 | FW | แอนเตรแอส สกอว์ โอลเซิน | 29 ธันวาคม ค.ศ. 1999 | 24 | 8 | กลึบบรึคเคอ |
12 | FW | แคสเปอร์ ตอลแปร์ | 6 ตุลาคม ค.ศ. 1997 | 38 | 11 | เซบิยา |
14 | FW | มีเกิล ตัมส์กอร์ | 3 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 | 19 | 4 | เบรนต์ฟอร์ด |
19 | FW | โยนัส วิน | 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1999 | 15 | 5 | ว็อลฟส์บวร์ค |
20 | FW | ยูซุฟ พออุลเซิน | 15 มิถุนายน ค.ศ. 1994 | 68 | 11 | แอร์เบ ไลพ์ซิช |
21 | FW | แอนเตรแอส คอร์เนลียุส | 16 มีนาคม ค.ศ. 1993 | 42 | 9 | โคเปนเฮเกน |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.