Loading AI tools
ราชอาณาจักรตองงา | |
---|---|
เมืองหลวง และเมืองใหญ่สุด | นูกูอาโลฟา 21°08′S 175°12′W |
ภาษาราชการ |
|
กลุ่มชาติพันธุ์ (ค.ศ. 2018[1]) |
|
ศาสนา |
|
เดมะนิม | ชาวตองงา |
การปกครอง | รัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ |
สมเด็จพระราชาธิบดีตูโปอูที่ 6 แห่งตองงา | |
Samiu Vaipulu (รักษาการ) | |
ฟาตาเฟฮี ฟากาฟานูอา | |
สภานิติบัญญัติ | สภานิติบัญญัติ |
เป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร | |
• ประกาศอิสรภาพ | 4 มิถุนายน ค.ศ. 1970 |
พื้นที่ | |
• รวม | 748 ตารางกิโลเมตร (289 ตารางไมล์) (อันดับที่ 175) |
4.0 | |
ประชากร | |
• สำมะโนประชากร ค.ศ. 2016 | 100,651[4] (อันดับที่ 199) |
139 ต่อตารางกิโลเมตร (360.0 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 76a) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | ค.ศ. 2019 (ประมาณ) |
• รวม | 655 ล้านดอลลาร์สหรัฐ |
• ต่อหัว | 6,496 ดอลลาร์สหรัฐ[5] |
จีดีพี (ราคาตลาด) | ค.ศ. 2019 (ประมาณ) |
• รวม | 493 ล้านดอลลาร์สหรัฐ |
• ต่อหัว | 4,888 ดอลลาร์สหรัฐ[5] |
จีนี (ค.ศ. 2015) | 37.6[6] ปานกลาง |
เอชดีไอ (ค.ศ. 2021) | 0.745[7] สูง · อันดับที่ 91 |
สกุลเงิน | ปาอางา (TOP) |
เขตเวลา | UTC+13 |
ไม่ใช้ | |
ขับรถด้าน | ซ้าย |
รหัสโทรศัพท์ | +676 |
โดเมนบนสุด | .to |
|
ประเทศตองงา (อังกฤษและตองงา: Tonga) มีชื่อทางการคือ ราชอาณาจักรตองงา[8] (อังกฤษ: Kingdom of Tonga; ตองงา: Puleʻanga Fakatuʻi ʻo Tonga ปูเลอางา ฟากาตูอีโอโตงา) เป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคพอลินีเชีย ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างประเทศนิวซีแลนด์กับรัฐฮาวายของสหรัฐ โดยทะเลอาณาเขตทางตะวันตกติดกับประเทศฟีจี ส่วนทางตะวันออกติดกับหมู่เกาะคุก นีวเว และอเมริกันซามัว ในขณะที่ทางทิศเหนือติดกับหมู่เกาะวาลิสและฟูตูนา ประเทศซามัว และอเมริกันซามัว ชื่อประเทศในภาษาตองงาแปลว่าทิศใต้ นอกจากนี้ประเทศนี้ได้รับฉายาว่า หมู่เกาะมิตรภาพ จากกัปตันเจมส์ คุก[9]
ประเทศตองงาเป็นประเทศขนาดเล็กมีเนื้อที่เพียง 747 ตารางกิโลเมตร นับเป็นอันดับที่ 189 ของโลก[10] หมู่เกาะตองงาประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 169 เกาะ โดยมีเพียง 36 เกาะเท่านั้นที่มีผู้อยู่อาศัย[11] เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะโตงาตาปู ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางการปกครองคือนูกูอาโลฟา เกาะส่วนใหญ่ของตองงาเป็นเกาะที่เกิดจากการทับถมของปะการัง[12] ประชากรของตองงามีทั้งสิ้น 103,036 คน[13] นับเป็นอันดับที่ 193 ของโลก[14]
สันนิษฐานว่ามนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยในตองงาครั้งแรกเมื่อ 826 ± 8 ปีก่อนคริสตกาล[15] ตองงาเริ่มก่อตั้งอาณาจักรเป็นของตนเองใน ค.ศ. 950 ชื่อว่าจักรวรรดิตูอีโตงา ซึ่งปกครองโดยราชวงศ์ตูอีโตงา ตูอิฮาอะตากาลาอัว และตูอิกาโนกูโปลู ต่อมาได้เกิดสงครามกลางเมือง ในท้ายที่สุดตูอิกาโนกูโปลูเตาฟาอาเฮาได้รับชัยชนะจึงรวบรวมดินแดนทั้งหมดก่อตั้ง อาณาจักรพอลินีเชีย ตองงาเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถปกป้องตนเองจากการตกเป็นดินแดนอาณานิคมของชาติตะวันตก[16] ใน ค.ศ. 2010 ประเทศตองงาจัดการเลือกตั้งทั่วไป การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน[17]
ภาษาหลายภาษาของกลุ่มพอลินีเชียและภาษาตองงาได้ให้ความหมายคำว่า โตงา (ตองงา: Tonga) ไว้ว่า "ใต้"[18] ซึ่งสัมพันธ์กับตำแหน่งที่ตั้งของประเทศตองงาที่เป็นหมู่เกาะตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของภูมิภาคพอลินีเชียตอนกลาง ในภาษาตองงาชื่อประเทศถอดเสียงเป็นสัทอักษรได้ว่า ˈtoŋa[19] ส่วนในภาษาอังกฤษจะออกเสียงชื่อประเทศนี้ว่า /ˈtɒŋə/ หรือ /ˈtɒŋɡə/ นอกจากนี้ชื่อประเทศตองงายังมีความหมายคล้ายคลึงกับคำว่า โกนา (ฮาวาย: Kona) ในภาษาฮาวายอีกด้วย[20]
นอกจากนี้ในอดีตประเทศตองงาเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกในชื่อ หมู่เกาะมิตรภาพ เนื่องจากกัปตันเจมส์ คุกได้รับการต้อนรับอย่างดีเมื่อมาเยือนครั้งแรกใน ค.ศ. 1773 และมีโอกาศได้เข้าร่วมเทศกาล อีนาซี ซึ่งเป็นเทศกาลถวาย ผลไม้แรก แด่ตูอีโตงา ทว่าในความเป็นจริงเหล่าชนชั้นนำต่างต้องการสังหารกัปตันเจมส์ คุกระหว่างงานเทศกาล แต่ไม่สามารถตกลงร่วมกันเกี่ยวกับแผนการได้[21]: 64–5
ชาวแลพีตา กลุ่มคนที่พูดภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเชียนเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยในตองงา มีความเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกของประเทศปาปัวนิวกินีและหมู่เกาะโซโลมอนในปัจจุบัน[22] ช่วงเวลาที่ชาวแลพีตาเข้ามาอาศัยในหมู่เกาะตองงาเป็นครั้งแรกยังเป็นข้อถกเถียงในปัจจุบัน โดยในระยะแรกนั้นมีการสันนิษฐานว่ากลุ่มคนที่เชื่อว่าเข้ามาอยู่อาศัยในดินแดนประเทศตองงาปัจจุบันเดินทางถึงหมู่เกาะตองงาในช่วงเวลาประมาณ 1,500 - 1,000 ปีก่อนคริสตกาล[22] ในระยะเวลาต่อมา ได้มีการนำเครื่องมือในสมัยนั้นผ่านการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี ซึ่งช่วยกำหนดได้ว่าชาวแลพีตาเดินทางเข้ามาอยู่ในตองงาในปี 826 ± 8 ก่อนคริสตกาล[15] เมื่อชาวแลพีตาเดินทางมาถึงหมู่เกาะตองงาแล้ว ได้ลงหลักปักฐานในนูกูเลกา บนเกาะโตงาตาปูเป็นที่แรก[15] และได้ลงหลักปักฐานในฮาอะไปเป็นที่ต่อมา[23] ชาวแลพีตาใช้ชีวิตโดยพึ่งพาทะเลเป็นส่วนใหญ่ อาหารของชาวแลพีตาจึงเน้นอาหารทะเลเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น ปลานกแก้ว ปลานกขุนทอง เต่า ปลาไหล เป็นต้น[22] นอกจากนี้ยังมีการทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์อีกด้วย[22] หลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีในช่วงเวลานี้คือเครื่องปั้นดินเผาแลพีตา ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ทำมาจากเปลือกหอยและหิน[24] โดยพบมากในบริเวณเขตการปกครองฮาอะไปในปัจจุบัน[25]
ประมาณ ค.ศ. 950 อะโฮเออิตูได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นตูอีโตงาแห่งจักรวรรดิตูอีโตงาพระองค์แรก[26] จักรวรรดิตูอีโตงาเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในรัชสมัยพระเจ้าโมโม พระเจ้าตูอิตาตูอิ และพระเจ้าตาลาตามา ซึ่งพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ได้ขยายอาณาเขตของจักรวรรดิจนมีอาณาเขตครอบคลุมบางส่วนของฟีจี ซามัว โทเคอเลา นีวเว และหมู่เกาะคุก[26] บรรดาดินแดนในการปกครองเหล่านี้จะส่งบรรณาการที่เรียกว่า อีนาซี ซึ่งต้องส่งมาถวายตูอีโตงาที่เมืองมูอาอันเป็นนครหลวงของจักรวรรดิทุกปีในฤดูเก็บเกี่ยว[27] อำนาจของจักรวรรดิตูอีโตงาเริ่มตกต่ำลงหลังจากเกิดเหตุลอบปลงพระชนม์ตูอีโตงาหลายพระองค์[28] ส่งผลให้ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 พระเจ้าเกาอูลูโฟนูอาตูอีโตงาพระองค์ที่ 24 ตั้งพระอนุชาของพระองค์คือเจ้าชายโมอูงาโมตูอาขึ้นเป็นตูอิฮาอะตากาลาอัวพระองค์แรก เพื่อช่วยเหลือตูอีโตงาในการปกครองจักรวรรดิ[29] และอีก 2 ศตวรรษต่อมาได้มีการตั้งราชวงศ์ตูอิกาโนกูโปลูขึ้นเพื่อช่วยเหลืออีก 2 ราชวงศ์ในการปกครองจักรวรรดิ[30] ซึ่งต่อมาตูอิกาโนกูโปลูสามารถก้าวขึ้นมาเป็นราชวงศ์ที่มีอิทธิพลแทนที่ตูอิฮาอะตากาลาอัวได้[30]
ในยุคจักรวรรดิตูอีโตงานี้ มีนักสำรวจชาวยุโรปเดินทางเข้ามาหลายกลุ่ม โดยนักสำรวจที่เดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มแรกนั้นเป็นนักสำรวจชาวดัตช์ชื่อว่ายาโกบ เลอ แมเรอ และวิลเลิม สเคาเติน ซึ่งเดินทางมาถึงจักรวรรดิตูอีโตงาใน ค.ศ. 1616[31] ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จักรวรรดิเกิดสงครามกลางเมือง[32] โดยเข้ามาสำรวจในบริเวณเกาะนีอูอาโตปูตาปู[33] ใน ค.ศ. 1643 อาเบิล ตัสมัน ได้เดินทางเข้ามาในตองงาในบริเวณเกาะโตงาตาปูและฮาอะไป[33] แต่การเดินทางเข้ามาทั้ง 2 ครั้งของชาวยุโรปนี้ ยังไม่มีการติดต่อกับชาวพื้นเมืองอย่างเป็นทางการมากเท่าใดนัก[32] การติดต่อกับชาวพื้นเมืองอย่างเป็นทางการของชาวยุโรปและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในจักรวรรดิคือการเดินทางเข้ามาสำรวจของกัปตันเจมส์ คุก ใน ค.ศ. 1773 1774 และ 1777[32] ซึ่งเจมส์ คุกได้ตั้งชื่อหมู่เกาะนี้ว่า "หมู่เกาะมิตรภาพ" (Friendly Islands) โดยชื่อนี้มาจากความประทับใจของเจมส์ คุก ต่อลักษณะนิสัยของชาวพื้นเมือง[32] หลังจากนั้นอเลสซานโดร มาลาสปินาเข้ามาสำรวจตองงาใน ค.ศ. 1793[32]
ค.ศ. 1797 พระเจ้ามูมูอี ตูอิกาโนกูโปลูพระองค์ที่ 13 สวรรคต พระโอรสองค์โตคือพระเจ้าตูกูอาโฮได้ขึ้นครองราชย์แทน จากบันทึกของมิชชันนารีพบว่าพระเจ้าตูกูอาโฮทรงดำรงพระองค์อย่างทรราชย์ มักลงโทษประชาชนของพระองค์อย่างรุนแรง[34]: 122–3 นำไปสู่การลอบปลงพระชนม์พระเจ้าตูกูอาโฮในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1799 โดยกลุ่มขุนนางผู้ปกครองท้องถิ่นที่มาเข้าร่วมงานฝังพระบรมศพพระเจ้าโตอาฟูนากี ตูอิฮาอะตากาลาอัวพระองค์ที่ 18[34]: 124 การกระทำครั้งนี้นำไปสู่สงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา พระญาติสายรองอย่างพระเจ้ามาอาฟูโอลีมูโลอาได้สืบพระอิสริยยศตูอิกาโนกูโปลูต่อ แต่ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์[34]: 127 เจ้าชายตูโปอูมาโลฮีเสด็จกลับโตงาตาปูจากการเข้าร่วมการสงครามในฟีจี ทราบข่าวว่าตูอิกาโนกูโปลูสวรรคตจึงสถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นตูอิกาโนกูโปลู ย้ายศูนย์กลางอำนาจจากฮีฮีโฟมาอยู่ที่นูกูอาโลฟา พร้อมทั้งสร้างป้อมปราการขึ้น[34]: 127 อย่างไรก็ตามป้อมปราการแห่งนี้ถูกทำลายลงโดยปืนใหญ่ เมื่อฟีเนา อูลูกาลาลา ผู้ปกครองวาวาอูและฮาอะไปเข้าล้อมป้อมปราการและใช้การระดมยิงด้วยปืนใหญ่ ท้ายที่สุดสามารถยึดครองป้อมนูกูอาโลฟาได้สำเร็จ พระเจ้าตูโปอูมาโลฮีเสด็จลี้ภัยไปยังฮาอะไป[21]: 93–6
ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้นำพื้นที่ต่าง ๆ ในจักรวรรดิตูอีโตงามีความขัดแย้งกัน พร้อม ๆ ไปกับความเสื่อมถอยของอำนาจการปกครองจากส่วนกลาง[35]: 2 ทว่าหลายพื้นที่มีมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ให้แก่ชาวพื้นเมือง[31] คณะแรกที่เข้ามานั้นคือสมาคมมิชชันนารีลอนดอน โดยใน ค.ศ. 1826 สมาคมมิชชันนารีลอนดอนได้ส่งมิชชันนารีจากตาฮีตีเดินทางไปยังฟีจี และมีจุดแวะพักระหว่างทางที่นูกูอาโลฟา เมื่อคณะเดินทางมาถึงนูกูอาโลฟา พระเจ้าอาเลอาโมตูอาได้กักตัวมิชชันนารีชาวตาฮีติ 2 คนไว้กับพระองค์ เพื่อให้ทั้งสองคนสอนศาสนาให้แก่พระองค์ นำไปสู่การสร้างโบสถ์และโรงเรียนสอนศาสนา[36]: 129 แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก อย่างไรก็ตามมิชชันนารีคณะเวสเลยันที่เข้ามาใน ค.ศ. 1822 ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเผยแพร่ศาสนา[31] พระเจ้าอาเลอาโมตูอาในฐานะผู้ที่สนับสนุนการเผยแพร่ศาสนาตัดสินพระทัยเปลี่ยนศาสนาในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1830[36]: 130 การเข้ามาของมิชชันนารีสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ปกครองท้องถิ่นในตองงาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมองว่าการเป็นมิตรกับคนผิวขาว เป็นภัยต่อความมั่นคงในอำนาจของตน[37]: 287–8 ความขัดแย้งที่เดิมเคยเกิดขึ้น พัฒนาเป็นความขัดแย้งทางศาสนา นำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนคริสต์ศาสนากับกลุ่มความเชื่อดั้งเดิม จนกระทั่งเตาฟาอาเฮา กษัตริย์แห่งฮาอะไปและวาวาอู ผู้นำฝ่ายสนับสนุนคริสต์ศาสนาซึ่งเป็นพระภาติยะของพระเจ้าอาเลอาโมตูอา ได้รับชัยชนะและรวมหมู่เกาะตองงาเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จใน ค.ศ. 1852[38]
หลังจากที่พระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 ได้รับชัยชนะจากสงครามกลางเมืองตองงาแล้ว พระองค์ได้ตั้งเมืองปาไงในฮาอะไป ซึ่งเป็นเขตอำนาจเดิมของพระองค์เป็นเมืองหลวงใน ค.ศ. 1845[39] หลังจากนั้นได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ลีฟูกา ในท้ายที่สุดได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองนูกูอาโลฟาซึ่งเป็นเมืองหลวงปัจจุบันใน ค.ศ. 1851[39] ในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวาวาอู ใน ค.ศ. 1839 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและลดบทบาทเจ้านายในท้องถิ่นต่าง ๆ โดยประมวลกฎหมายฉบับนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญของรัฐธรรมนูญตองงาที่ประกาศใช้ใน ค.ศ. 1875[40] การประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกก็เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ โดยเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1862[39] นอกจากนี้มีการประกาศความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักร เยอรมนีและสหรัฐ ประเทศเหล่านี้ต่างรับรองความเป็นเอกราชของตองงา[38] การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 นั้นเหล่ามิชชันนารีล้วนมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองการปกครองและในรัชสมัยนี้ศาสนาคริสต์ก็แผ่ได้มากขึ้นจากการอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์[40]
ในรัชกาลของพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 2 ได้ขึ้นครองราชบัลลังก์สิบต่อจากพระปัยกา พระองค์ต้องประสบปัญหาทั้งในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจ[41]: 669–71 ความขัดแย้งในการเลือกพระมเหสี รวมถึงความพยายามขยายอิทธิพลของเยอรมนีจากปัญหาหนี้สินของรัฐบาล[42]: 161 นำไปสู่การตัดสินพระทัยลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพกับสหราชอาณาจักร เป็นรัฐอารักขา ในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1900 ขณะที่ยังสามารถบริหารกิจการภายในเองได้[41]: 670 [43] โดยสหราชอาณาจักรจะควบคุมทางด้านการต่างประเทศ และสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเท่านั้น[44] อย่างไรก็ตามพบว่ารัฐบาลอังกฤษพยายามที่จะแทรกแซงกิจการภายในของตองงาอยู่เสมอ[44] และใช้วิธีการข่มขู่ให้พระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 2 ปฏิรูปการปกครอง[42]: 161 ในช่วงปลายรัชกาล แม้พระองค์จะไม่เต็มใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 มากนัก แต่ด้วยสถานะความเป็นรัฐในอารักขา ทำให้พระองค์ต้องเข้าร่วมสงครามอย่างไม่เป็นทางการ มีทหารชาวตองงาบางส่วนเข้าร่วมรบในฐานะส่วนหนึ่งของกองกำลังจากนิวซีแลนด์[45]
ช่วงต้นรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถซาโลเต ตูโปอูที่ 3 ประเทศตองงาประสบปัญหาของการระบาดทั่วไข้หวัดใหญ่สเปน ซึ่งก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชากรร้อยละ 8 ของประเทศ[46] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระองค์อนุญาตให้กองกำลังสหรัฐตั้งฐานทัพและสนามบินในประเทศ ส่งผลให้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดในประเทศ[45] ตองงาเริ่มได้อำนาจการปกครองส่วนใหญ่คืนใน ค.ศ. 1958[47] และได้เอกราชโดยสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1970[48]
หลังจากตองงาพ้นจากการอารักขาของสหราชอาณาจักรแล้ว ตองงาได้ปกครองตนเองโดยสมบูรณ์ภายใต้การนำของสมเด็จพระราชาธิบดีเตาฟาอาเฮา ตูโปอูที่ 4 ใน ค.ศ. 1992 มีการก่อตั้งกลุ่มนิยมประชาธิปไตยขึ้นในตองงา[47] โดยกลุ่มนิยมประชาธิปไตยได้พยายามเรียกร้องให้มีตัวแทนของประชาชนในรัฐสภามากขึ้น ซึ่งมีเพียง 9 คนเท่านั้น ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมักมาจากขุนนางและชนชั้นสูงที่มีความสนิทสนมกับราชวงศ์[49] ความไม่พอใจในการปกครองมีมากขึ้นจากการที่รัฐบาลเชื้อพระวงศ์และขุนนางดำเนินการผิดพลาดหลายประการ ทั้งการลงทุนที่ผิดพลาดจนสูญเสียงบประมาณ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[47] การพิจารณาให้ตองงาเป็นสถานที่กำจัดกากนิวเคลียร์[50] การขายหนังสือเดินทางตองงาแก่ชาวต่างประเทศ[51] การอนุญาตขึ้นทะเบียนเรือต่างประเทศ[52] การถือสัญญาเช่าเครื่องบินโบอิง 757 ระยะยาวโดยไม่ได้ใช้งาน ซึ่งนำไปสู่การล้มละลายของสายการบินรอยัลตองงาแอร์ไลน์[53] รวมไปถึงการเพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน[47]
จากความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาลจึงเกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วกรุงนูกูอาโลฟาใน ค.ศ. 2005 เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตย[54] การประท้วงในครั้งนี้นำไปสู่การลาออกของเจ้าชายอูลูกาลาลา ลาวากา อาตานายกรัฐมนตรี และ ดร. เฟเลติ เซเวเล ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรกของตองงา[47] อย่างไรก็ตามการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายตูอิเปเลหะเก ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการปฏิรูปการปกครองจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ทำให้กระบวนการปฏิรูปล่าช้ายิ่งขึ้น[55] ความล่าช้าในการปฏิรูปการปกครองก่อให้เกิดการจลาจลทั่วกรุงนูกูอาโลฟาใน ค.ศ. 2006 ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและเศรษฐกิจ[56] ใน ค.ศ. 2008 สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จ ตูโปอูที่ 5 ทรงสละพระราชอำนาจของพระองค์ส่วนใหญ่และเริ่มการปฏิรูปการปกครอง[47] โดย ค.ศ. 2010 เป็นปีแรกที่มีการเลือกตั้งทั่วไปที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน[17]
ตองงามีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[57][58] โดยใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน มีรัฐสภา พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ มีพระราชอำนาจทางพิธีการ ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา และมีพระราชอำนาจอื่นตามรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล
รัฐธรรมนูญตองงาฉบับแรกใช้บังคับในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1875[59] รัฐธรรมนูญตองงาประกอบไปด้วยเนื้อหา 3 ส่วน คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน รูปแบบของรัฐบาล และที่ดิน[60] มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดเกิดขึ้นใน ค.ศ. 2010[61] สาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ คือ ยกเลิกสมาชิกรัฐสภาที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ผู้แทนราษฎรเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภา[62] การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของตองงาสามารถทำได้โดยการผ่านการพิจารณาของรัฐสภา 3 วาระ หลังจากนั้นถวายให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน การสืบราชบัลลังก์ และที่ดินมรดกของชนชั้นขุนนาง[60]
พระมหากษัตริย์มีสถานะเป็นประมุขแห่งรัฐ[58] และฮาอูโอเอ โฟนูอา (ประมุขสูงสุดของหัวหน้าชนเผ่าพื้นเมืองของตองงา)[63] พระมหากษัตริย์ตองงาสืบราชสมบัติผ่านทางสายพระโลหิต[64] พระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชาธิบดีอะโฮเออิตู อูนูอากีโอโตงา ตูกูอาโฮ ตูโปอูที่ 6 ส่วนมกุฎราชกุมารพระองค์ปัจจุบันคือ เจ้าชายซีอาโอซี มานูมาตาโอโง อาลาอีวาฮามามาโอ อาโฮเออีตู กอนสตันติน ตูกูอาโฮ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญซึ่งพระองค์ใช้ได้เองนั้นได้แก่ การดำรงสถานะเป็นจอมทัพของประเทศ การเรียกประชุมรัฐสภา การยุบสภาผู้แทนราษฎร การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (จากการเลือกของรัฐสภา) การแต่งตั้งประธานรัฐสภา (ตามคำแนะนำของรัฐสภา) การแต่งตั้งผู้ว่าการเขตการปกครองฮาอะไปและวาวาอู (ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี) รวมถึงการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ[63]
สภานิติบัญญัติตองงา (ตองงา: Fale Alea) เป็นสภาเดี่ยว[60] ประกอบด้วยสมาชิก 26 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 17 คน และมาจากขุนนางเลือกกันเองอีก 9 คน[62] หน้าที่ของสภานิติบัญญัติตองงาหรือฟาเลอาเลอาคือการตรากฎหมาย ร่างกฎหมายจะพิจารณากันทั้งสิ้น 3 วาระ หากผ่านการลงคะแนนทั้งสามวาระ จึงจะนำถวายพระมหากษัตริย์เพื่อลงพระปรมาภิไธย เมื่อผ่านทุกกระบวนการแล้วจึงประกาศใช้เป็นกฎหมายได้[60] นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่กำหนดมูลค่าการเก็บภาษีของประชาชน กำหนดงบประมาณ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และถอดถอนคณะองคมนตรี รัฐมนตรี ผู้ว่าการเขตการปกครอง (ฮาอะไปและวาวาอู) และผู้พิพากษา[60]
สมาชิกสภานิติบัญญัติมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี[65] การเลือกตั้งในตองงาจะแบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็น 17 เขตเลือกตั้งสำหรับตัวแทนของประชาชน[66] และอีก 5 เขตเลือกตั้งสำหรับขุนนาง[67] ในแต่ละเขตการปกครองมีเขตการเลือกตั้งดังนี้[67][66]
อำนาจของฝ่ายบริหารในตองงาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามคำแนะนำของรัฐสภา[63] นายกรัฐมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี[68] นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำแด่พระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ [65] คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากสมาชิกในรัฐสภาและสมาชิกนอกรัฐสภาได้ไม่เกิน 4 คน[69] ปัจจุบันประเทศตองงามีกระทรวง 15 กระทรวง[70] นายกรัฐมนตรีตองงามีหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ประธานสภาผู้แทนราษฎร[71] เสนอแนะการแต่งตั้งผู้ว่าการเขตต่อพระมหากษัตริย์[69] และบริหารราชการแผ่นดิน
ฝ่ายตุลาการในประเทศตองงาเป็นอิสระจากอำนาจอื่น ศาลในตองงามี 4 ประเภท คือ ศาลอุทธรณ์ (Court of Appeal) ศาลสูงสุด (Supreme Court) ศาลที่ดิน (Land Court) และศาลแขวง (Magistrates' Court)[72] พระมหากษัตริย๋แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลสูงสุดตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี[72] นอกจากนี้ ศาลสูงสุดมีอำนาจไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีหรือข้าราชการ รวมถึงวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย[72]
พรรคการเมืองในประเทศตองงาพรรคแรกก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1994 กลุ่มนิยมประชาธิปไตยคือพรรคประชาชน (People's Party) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นขบวนการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย (Human Rights and Democracy Movement - HRDM)[73] พรรคการเมืองเข้าร่วมเลือกตั้งในตองงาเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1996[66] ใน ค.ศ. 2005 สมาชิกพรรคบางส่วนของพรรค HRDM ได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยประชาชน[74] หลังจาก ค.ศ. 2005 เป็นต้นมา มีการก่อตั้งพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นอีก 3 พรรค คือ พรรคการสร้างชาติอย่างยั่งยืน (Paati Langafonua Tu'uloa) ที่ก่อตั้งใน ค.ศ. 2007[75] พรรคแรงงานประชาธิปไตยตองงา (Tongan Democratic Labor Party) ซึ่งกลุ่มข้าราชการก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 2010[76] และพรรคประชาธิปไตยแห่งหมู่เกาะมิตรภาพ (Democratic Party of the Friendly Islands) ซึ่งก่อตั้งใน ค.ศ. 2010[77] ปัจจุบันตองงามีพรรคการเมืองรวมทั้งสิ้น 5 พรรค
จากการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2017 พรรคการเมืองทุกพรรคได้ที่นั่งในรัฐสภารวมกัน 14 ที่นั่ง จากทั้งหมด 17 ที่นั่ง ที่เหลือเป็นผู้สมัครอิสระ
ประเทศตองงาแบ่งเขตการปกครองระดับบนสุดออกเป็น 5 เขตการปกครอง[65] โดยแต่ละเขตการปกครองมีเมืองหลักดังต่อไปนี้[78]
แต่ละเขตการปกครองมีการแบ่งเขตย่อยลงไปเป็นเขตและหมู่บ้าน โดยใน ค.ศ. 2013 ประเทศตองงามีเขตการปกครองระดับเขต 23 แห่ง และมีหมู่บ้าน 167 แห่ง[79] ในระดับเขตการปกครองนั้นมีเพียง 2 เขตการปกครองเท่านั้นที่มีผู้ว่าการเขตการปกครองคือฮาอะไปและวาวาอู[79] ส่วนในระดับย่อยลงไปนั้นจะมีเจ้าพนักงานประจำเขต (district Officer) ดูแลการปกครอง การบริหารจัดการในระดับเขตและทำรายงานการปกครองต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ว่าการเขตการปกครอง (ในกรณีของฮาอะไปและวาวาอู)[80] ส่วนในระดับหมู่บ้านจะมีเจ้าพนักงานประจำหมู่บ้าน (town Officer) เป็นผู้ดูแลหลัก เจ้าพนักงานประจำเขตและเจ้าพนักงานประจำหมู่บ้านมาจากการเลือกตั้งโดยมีวาระคราวละ 3 ปี[79]
โตงาตาปู | วาวาอู | ฮาอะไป | เออัว | นีอูอาส |
---|---|---|---|---|
1. โกโลโฟโออู |
8. เนอิอาฟู |
14. ปาไง |
20. เออัวโมตูอา |
22. นีอูอาโตปูตาปู |
ประเทศตองงามีรายงานการเกิดอาชญากรรมส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเป็นหลัก โดยพบว่าใน ค.ศ. 2007 เกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน 1,400 ครั้งจากอาชญากรรมที่มีการรายงานทั้งหมด 2,316 ครั้ง[81] ประเทศตองงายังคงโทษประหารชีวิตไว้อยู่ แต่องค์การนิรโทษกรรมสากลจัดให้ตองงาเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ การประหารชีวิตครั้งล่าสุดเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1982[82]
ประเทศตองงาเน้นสร้างสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ โดยให้ความร่วมมือในภารกิจระหว่างประเทศต่าง ๆ กับหลาย ๆ ประเทศ เช่น การส่งกองกำลังเข้าร่วมรบในอัฟกานิสถาน เป็นต้น[83] สำหรับนโยบายการต่างประเทศในปัจจุบันของตองงาคือนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) (ถึงแม้ว่าทวีปเอเชียจะตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศตองงาก็ตาม) ซึ่งเป็นนโยบายที่เน้นความร่วมมือทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจกับทวีปเอเชีย[84] ประเทศตองงายึดถือนโยบายจีนเดียว โดยตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระดับเอกอัครราชทูตกับสาธารณรัฐจีนใน ค.ศ. 1998[85] สำหรับประเทศอื่น ๆ นั้นตองงามีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์[86][87] ส่วนสหราชอาณาจักรซึ่งประเทศตองงามีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเหมือนในอดีต เห็นได้จากกรณีการปิดสำนักงานข้าหลวงใหญ่ในกรุงนูกูอาโลฟาเมื่อ ค.ศ. 2006[88]
ประเทศตองงามีความขัดแย้งระหว่างประเทศครั้งสำคัญเมื่อครั้งที่ตองงาประกาศยึดครองแนวปะการังมิเนอร์วา (สาธารณรัฐมิเนอร์วา)[89] โดยฟีจีไม่ยอมรับการประกาศยึดครองในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศ อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ประเทศยังคงเจรจาในเรื่องเกี่ยวกับแนวปะการังแห่งนี้อยู่[90]
กองกำลังป้องกันตองงา (อังกฤษ: Tonga Defense Services) เป็นกองทัพของประเทศตองงา ปัจจุบันมี 2 เหล่าทัพหลักคือกองทัพบกและกองทัพเรือ สำหรับกองกำลังทางอากาศนั้นสังกัดกองทัพเรือ[65] หน้าที่หลักของกองกำลังป้องกันตองงาคือปกป้องอำนาจอธิปไตยของประเทศ การช่วยเหลือหน่วยงานพลเรือนในกิจการต่าง ๆ และการสนองพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์เป็นครั้งคราว[91] ประเทศตองงาไม่มีการเกณฑ์ทหาร ผู้ที่ประสงค์เข้ารับราชการทหารในตองงาต้องมีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป โดยได้รับคำยินยอมของผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม ในสภาวะสงคราม พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเรียกระดมพล[65] ส่วนความร่วมมือทางการทหาร ตองงามีข้อตกลงความร่วมมือกับสหรัฐ ประเทศจีน สหราชอาณาจักร อินเดีย และนิวซีแลนด์ โดยเป็นความร่วมมือด้านการฝึกกำลังพลและโครงสร้างพื้นฐานของกองทัพเป็นหลัก[92]
สำหรับปฏิบัติการทางทหารของประเทศตองงาเกิดขึ้นครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพนิวซีแลนด์[93] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการก่อตั้งกองกำลังป้องกันตองงาขึ้น จนกระทั่งสงครามยุติจึงประกาศยกเลิกหน่วยงานนี้ อย่างไรก็ตามกองกำลังป้องกันตองงาได้เริ่มดำเนินการอีกครั้งใน ค.ศ. 1946[93] นับแต่นั้น กองกำลังป้องกันตองงามีโอกาสทำหน้าที่รักษาสันติภาพในหลายดินแดน ที่สำคัญคือการรักษาสันติภาพในบูเกนวิลล์ ประเทศปาปัวนิวกินี การรักษาสันติภาพในหมู่เกาะโซโลมอน การเข้าร่วมกองกำลังผสมนานาชาติเพื่อรักษาสันติภาพในอิรัก[93] รวมไปถึงการร่วมรบในอัฟกานิสถาน ซึ่งตองงาส่งกองกำลังครึ่งหนึ่งของทั้งกองทัพเข้าร่วมรบในครั้งนี้[83]
ประเทศตองงาตั้งอยู่ในภูมิภาคพอลินีเชีย เหนือเส้นทรอปิกออฟแคปริคอร์นเล็กน้อย เมืองหลวงของประเทศคือนูกูอาโลฟา ห่างจากออกแลนด์ เมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนิวซีแลนด์ ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 1,770 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงซูวา เมืองหลวงของฟีจี ประมาณ 690 กิโลเมตร[94] ตองงามีพื้นที่ 747 ตารางกิโลเมตร โดยที่ 30 ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นน้ำ[95] ประเทศตองงาประกอบด้วยเกาะ 169 เกาะ แต่มี 36 เกาะเท่านั้นที่มีประชากรอยู่อาศัย[11] ตองงาประกอบด้วย 3 กลุ่มเกาะหลัก คือ โตงาตาปูซึ่งประชากรเกินครึ่งหนึ่งของประเทศอาศัยอยู่ วาวาอูซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือ และฮาอะไปซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ ภูมิอากาศของประเทศมีลักษณะแบบเขตร้อน[65] ดินของตองงามีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก[96] จุดสูงสุดของประเทศมีความสูง 1,033 เมตรตั้งอยู่บนเกาะเกา[65]
หมู่เกาะตองงาเป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกและอยู่ใกล้แผ่นเปลือกโลกออสเตรเลีย ทางตะวันตกของหมู่เกาะมีร่องลึกตองงา หมู่เกาะตองงามีทั้งเกาะที่เกิดจากภูเขาไฟและเกาะที่เกิดจากปะการัง[97] หมู่เกาะตองงากำเนิดขึ้นเมื่อใดนั้นไม่สามารถกำหนดเวลาได้ชัดเจน อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าหมู่เกาะตองงาถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 5 ล้านปีก่อนในสมัยไพลโอซีน ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดว่าเกาะแรกของหมู่เกาะตองงาอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยไมโอซีนแล้ว[98]
เกาะที่สำคัญของตองงาหลายเกาะเกิดจากภูเขาไฟ เช่น อาตา, ฮาอะไป, เกา, โอโงนีอูอา เป็นต้น เกาะภูเขาไฟเหล่านี้เกิดจากแนวภูเขาไฟที่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะอาตา แนวภูเขาไฟดังกล่าวมีส่วนสำคัญทำให้ตองงามีเกาะใหม่เพิ่มขึ้นมา ทว่าเกาะที่เกิดขึ้นมานั้นมักจะจมลงทะเลในปีถัดไป ปัจจุบันมีเกาะเกิดจากแนวภูเขาไฟแห่งนี้เพียงเกาะเดียวที่ยังคงอยู่[97]
เกาะในเขตการปกครองวาวาอูจะพบว่ายังพบภูเขาไฟที่มีพลังอยู่ ส่วนพื้นดินเกิดจากหินปูน รอบ ๆ เกาะนั้นมักมีปะการังล้อมรอบ[98] ส่วนในเขตการปกครองฮาอะไปพบว่ายังมีภูเขาไฟที่มีพลังอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเกาะเกาและโตฟูอา[97] ในขณะที่สภาพดินของเกาะคล้ายกับที่วาวาอูคือเป็นดินที่เกิดจากหินปูน ส่วนในเขตการปกครองโตงาตาปูและเออัวนั้นเป็นเกาะที่กำเนิดจากปะการัง ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบที่มีความสูงไม่เกิน 30 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และมีเถ้าจากภูเขาไฟปกคลุมบริเวณเกาะ ทำให้ดินในบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์[99]
ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการระเบิดของภูเขาไฟในบริเวณหมู่เกาะนี้หลายครั้ง ภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดของตองงามีความสูง 515 เมตร มีความกว้าง 5 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนเกาะโตฟูอา[100] ซึ่งเกิดการระเบิดของภูเขาไฟแห่งนี้ครั้งล่าสุดใน ค.ศ. 2013[100] ส่วนภูเขาไฟที่สูงที่สุดของประเทศนี้ตั้งอยู่บนเกาะเกา มีความสูง 1,030 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง[101]
ประเทศตองงาเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน[102] โดยได้รับอิทธิพลจากลมค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[103] ประเทศตองงามี 2 ฤดูกาลคือฤดูฝนและฤดูแล้ง ฤดูฝนในประเทศตองงายังเป็นฤดูของพายุหมุนด้วย ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของทุกปี[103] ส่วนฤดูแล้งอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมของทุกปี[103] เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคมเป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุด ซึ่งอาจมีปริมาณน้ำฝนต่อเดือนสูงได้ถึง 250 มิลลิเมตร[103]
อุณหภูมิเฉลี่ยในประเทศตองงาจะอยู่ระหว่าง 23-26 องศาเซลเซียสตามแต่ละท้องถิ่น ในฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูที่อากาศร้อนมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 25-26 องศาเซลเซียส ในขณะที่ฤดูแล้งซึ่งอากาศเย็นมีอุณหภูมิระหว่าง 21-24 องศาเซลเซียส[103] จากสถิติที่มีการบันทึกพบว่าบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงสุดในประวัติศาสตร์ตองงาอยู่ที่บริเวณหมู่เกาะวาวาอูในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979 โดยมีอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส ขณะที่บริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำสุดในประวัติศาสตร์ตองงาอยู่ที่ฟูอาอะโมตู โดยมีอุณหภูมิ 8.7 องศาเซลเซียส ซึ่งวัดในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1994[104]
ข้อมูลภูมิอากาศของนูกูอาโลฟา | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึก °C (°F) | 32 (90) |
32 (90) |
31 (88) |
30 (86) |
30 (86) |
28 (82) |
28 (82) |
28 (82) |
28 (82) |
29 (84) |
30 (86) |
31 (88) |
32 (90) |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 28 (82) |
29 (84) |
28 (82) |
27 (81) |
26 (79) |
25 (77) |
25 (77) |
24 (75) |
25 (77) |
25 (77) |
27 (81) |
27 (81) |
26 (79) |
อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละวัน °C (°F) | 25 (77) |
25 (77) |
25 (77) |
24 (75) |
23 (73) |
21 (70) |
21 (70) |
21 (70) |
21 (70) |
22 (72) |
23 (73) |
23 (73) |
23 (73) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 22 (72) |
22 (72) |
22 (72) |
21 (70) |
20 (68) |
18 (64) |
17 (63) |
18 (64) |
17 (63) |
19 (66) |
20 (68) |
20 (68) |
20 (68) |
อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยบันทึก °C (°F) | 16 (61) |
17 (63) |
15 (59) |
15 (59) |
13 (55) |
11 (52) |
10 (50) |
11 (52) |
11 (52) |
12 (54) |
13 (55) |
16 (61) |
10 (50) |
ปริมาณฝน มม (นิ้ว) | 130 (5.12) |
190 (7.48) |
210 (8.27) |
120 (4.72) |
130 (5.12) |
100 (3.94) |
100 (3.94) |
130 (5.12) |
110 (4.33) |
90 (3.54) |
100 (3.94) |
120 (4.72) |
1,530 (60.24) |
ความชื้นร้อยละ | 77 | 78 | 79 | 76 | 78 | 77 | 75 | 75 | 74 | 74 | 73 | 75 | 75.9 |
วันที่มีฝนตกโดยเฉลี่ย | 11 | 13 | 14 | 12 | 12 | 10 | 10 | 12 | 10 | 10 | 10 | 10 | 134 |
แหล่งที่มา: Weatherbase[105] |
ทรัพยากรดินในหมู่เกาะของประเทศตองงามีความอุดมสมบูรณ์สูงมาก ยกเว้นบริเวณที่มีภูเขาไฟเกิดใหม่ ดินส่วนใหญ่ในตองงาเกิดจากการทับถมของเถ้าภูเขาไฟและหินแอนดีไซต์บนหินปูนซึ่งเกิดจากปะการัง[106] ดินในตองงาเป็นดินที่มีคุณสมบัติที่ดี เนื่องจากเป็นดินที่การระบายน้ำดีและมีความสามารถในการเก็บกักน้ำปานกลาง[106]
ดินในเกาะโตงาตาปูเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงมาก เหมาะแก่การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ในขณะที่บริเวณชายฝั่งดินส่วนใหญ่เป็นดินเค็ม เพราะอยู่ติดทะเล ขณะที่ดินของเกาะเออัวมีความอุดมสมบูรณ์ ยกเว้นทางตอนใต้ของเกาะที่เป็นหินปะการัง ส่วนในฮาอะไป เกาะส่วนใหญ่เกิดจากการทับถมของปะการัง โดยในฮาอะไปกำลังเผชิญปัญหาการพังทลายของหน้าดิน ซึ่งทำให้ดินในฮาอะไปลดความอุดมสมบูรณ์[107]
หมู่เกาะตองงามีทรัพยากรน้ำจืดที่ค่อนข้างจำกัด ชาวตองงานิยมเก็บน้ำจืดไว้ในถังคอนกรีตซึ่งมาจากการเก็บกักน้ำฝนและสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในชีวิตประจำวัน[106] แหล่งน้ำหรือทะเลสาบสำคัญมักตั้งอยู่ในเกาะภูเขาไฟ[106] โดยแหล่งน้ำที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ของประเทศตั้งอยู่ในเกาะวาวาอู นีอูอาโฟโออู โนมูกา และนีอูอาโตปูตาปู[108]
พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศตองงาปกคลุมไปด้วยป่าฝนเขตร้อน อย่างไรก็ตามจากการสนับสนุนเกษตรกรรมตามเกาะต่าง ๆ ทำให้พื้นที่ป่าลดลงไปมาก หญ้าและพืชขนาดเล็กหลายชนิดเข้าปกคลุมพื้นที่ป่าเดิม[109] ขณะที่พื้นที่ชายฝั่งและบริเวณปากปล่องภูเขาไฟมักพบไม้ล้มลุกเป็นหลัก[109] ประเทศตองงาเป็นประเทศแรกในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ที่มีการประกาศพื้นที่เป็นเขตสงวนของชาติ[110] ปัจจุบันในหมู่เกาะตองงามีการประกาศพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว 2 แห่ง (ในเขตการปกครองเออัวและวาวาอู เขตละ 1 แห่ง) และประกาศให้เป็นเขตสงวน 6 แห่ง[110]
สำหรับพืชที่ค้นพบในประเทศตองงานั้น พบว่ามีพืชที่มีท่อน้ำเลี้ยง 770 สปีชีส์ ซึ่งรวมไปถึงเฟิร์นที่มี 70 สปีชีส์ (3 สปีชีส์เป็นสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น) พืชเมล็ดเปลือย 3 ชนิด (Podocarpus pallidus เป็นพืชเมล็ดเปลือยที่พบเฉพาะถิ่น) และมีพืชดอก 698 สปีชีส์ ซึ่งมี 9 สปีชีส์ที่เป็นไม้ดอกท้องถิ่น[111] เกาะต่าง ๆ ของประเทศตองงาต่างมีสปีชีส์ของพืชที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน เช่น เกาะโตงาตาปูมีพืช 340 สปีชีส์ ในขณะที่วาวาอูมีพืช 7 สปีชีส์[111]
แม้จะพบพืชหลากหลายสปีชีส์ในหมู่เกาะของประเทศตองงา แต่สัตว์ที่อาศัยอยู่กลับไม่มีความหลากหลายมากนัก พบว่ามีสัตว์เลื้อยคลาน 12 สปีชีส์โดยหนึ่งในนั้นเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น ค้างคาว 2 สปีชีส์ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงชนิดเดียวที่เป็นสัตว์ท้องถิ่น[109] ในบริเวณชายฝั่งทะเลพบสิ่งมีชีวิตประเภทเต่า มอลลัสกาและปลาหลากหลายชนิด นอกจากนี้ในบริเวณหมู่เกาะตองงายังพบนกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมี 75 สปีชีส์ โดยมีนก 2 สปีชีส์เป็นนกท้องถิ่นคือ Pachycephala jacquinoti ซึ่งอาศัยอยู่ในวาวาอูและ Megapodius pritchardii ซึ่งอาศัยอยู่ในนีอูอาโฟโออู[112] การเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ในดินแดนตองงาส่งผลให้นก 23 สปีชีส์สูญพันธุ์ไปจากตองงา[113]
ประเทศตองงามีเศรษฐกิจขนาดเล็ก อันเนื่องมาจากทรัพยากรมีจำกัดและอยู่ห่างไกลจากแหล่งตลาดโลก ซึ่งเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจเดียวกับที่กลุ่มประเทศในทวีปโอเชียเนียประสบอยู่[114] ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตองงาขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติเป็นสำคัญ เนื่องจากผลผลิตส่วนใหญ่ของประเทศที่ส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและการประมง การที่ประเทศตองงาอยู่ห่างไกลจากตลาดโลกไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้ค่าขนส่งสินค้าแพงเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศตองงาขาดปัจจัยการผลิตอีกด้วย[114] สำนักข่าวกรองกลาง รายงานว่า ใน ค.ศ. 2013 ตองงามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 1[65]
ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญมากของตองงา อย่างไรก็ตามในปัจจุบันส่วนแบ่งรายได้ของผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติลดลง โดยระหว่าง ค.ศ. 1994 - 1995 ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมีส่วนแบ่งในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติร้อยละ 34 ขณะที่ช่วง ค.ศ. 2005 - 2006 ส่วนแบ่งดังกล่าวลดเหลือร้อยละ 25 เท่านั้น สาเหตุหลักเกิดจากการที่รัฐสนับสนุนภาคบริการ จนกลายเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลมองว่าจะช่วยสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่ดีให้แก่ประเทศและสามารถยืนหยัดอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ได้[103]
ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สำคัญของตองงาคือมะพร้าว ซึ่งรวมไปถึงต้นกล้ามะพร้าว นอกจากนี้ยังส่งออกกล้วย วานิลลา ฟักทอง โกโก้ กาแฟ ขิง พืชหัวชนิดต่าง ๆ และพริกไทย[115][11]
ประเทศตองงามีเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 700,000 ตารางกิโลเมตร โดยรัฐบาลตองงาอนุญาตให้กองเรือต่างชาติที่ใบอนุญาตจับปลาได้รับการอนุมัติแล้วเข้ามาทำประมงในเขตดังกล่าวได้ ซึ่งการทำประมงในเขตดังกล่าว กองเรือส่วนใหญ่นิยมจับปลาทูน่าซึ่งมีปริมาณค่อนข้างมากในบริเวณนี้ อย่างไรก็ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและอิทธิพลของเอลนิโญและลานีญาส่งผลให้ปริมาณการจับปลาลดลงจากในอดีต[116]
ปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 เริ่มมีการจับล็อบสเตอร์เพื่อการค้ามากขึ้น โดยนิยมจับบริเวณทางตอนเหนือของฮาอะไปและทางใต้ของแนวปะการังมิเนอร์วา ซึ่งสามารถจับได้ถึง 36 ตันต่อปี อย่างไรก็ตามปริมาณของลอบสเตอร์ที่จับได้ในปัจจุบันลดลงเหลือ 12 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังพบการจับหอยสองฝาเพื่อใช้บริโภคตามครัวเรือน รวมไปถึงขายเป็นของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวด้วย[116] ปัจจุบันรัฐบาลตองงาส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงหอยนางรมเพื่อนำไข่มุกมาสร้างรายได้แก่ตน การริเริ่มเลี้ยงหอยนางรมในตองงาเกิดขึ้นในวาวาอู โดยพันธุ์ที่เลี้ยงในระยะแรกเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970[117]
ในช่วงหลังยุคอาณานิคมช่วงแรก ธุรกิจการท่องเที่ยวในตองงาซบเซาและไม่มีการพัฒนามากนัก อย่างไรก็ตามใน ค.ศ. 1966 รัฐบาลตองงาตัดสินใจสร้างโรงแรมแห่งแรกในประเทศคือโรงแรมอินเตอร์แนชนัลเดตไลน์ขึ้น การสร้างโรงแรมอินเตอร์แนชนัลเดตไลน์ในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยว[118] ปัจจุบันการท่องเที่ยวถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจตองงาและเป็นภาคสำคัญที่ทำให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้าประเทศ ใน ค.ศ. 2011 มีนักเดินทางและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศตองงา 94,960 คน เพิ่มขึ้นจาก 66,639 คน ใน ค.ศ. 2004[119] นักท่องเที่ยวกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดมาจากประเทศนิวซีแลนด์และประเทศออสเตรเลีย[120] จุดประสงค์หลักของการเดินทางเข้าประเทศตองงาคือการพักผ่อนในวันหยุดและการเยี่ยมญาติเป็นหลัก[121] กิจกรรมการท่องเที่ยวในตองงามีอยู่หลายกิจกรรม ยกตัวอย่างเช่น การพายเรือคายัก การดำน้ำ การชมวาฬใต้ทะเล การตกปลา การดูนก การเลือกซื้องานหัตถกรรมพื้นเมือง เป็นต้น[122]
ประเทศตองงาส่งออกสินค้าไปยังประเทศเกาหลีใต้ สหรัฐ และนิวซีแลนด์เป็นหลัก โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ 18.5, 17 และ 15.6 ตามลำดับ ประเทศอื่น เช่น ฟีจี (ร้อยละ 10.2) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 9.5) ซามัว (ร้อยละ 8.6) อเมริกันซามัว (ร้อยละ 5.4) และออสเตรเลีย (ร้อยละ 5.1) สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ตองงาส่งออกนอกประเทศคือ สควอช ปลาทะเล วานิลลา และพืชหัว[65]
สำหรับการนำเข้าสินค้า ประเทศตองงานำเข้าสินค้าเกินครึ่งหนึ่งจากประเทศฟีจีและประเทศนิวซีแลนด์ โดยคิดเป็นร้อยละ 35.7 และ 24.4 ตามลำดับ นอกจากนี้ตองงายังนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ (ร้อยละ 10.5) และประเทศจีน (ร้อยละ 10.2) ส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ๆ สินค้าที่ตองงานำเข้ามาในประเทศคือ อาหาร เครื่องจักร เชื้อเพลิง และเคมีภัณฑ์[65]
สำมะโนตองงาใน ค.ศ. 2011 ได้รายงานสภาพโครงสร้างพื้นฐานของตองงาในหลาย ๆ ด้าน โดยจากผลสำรวจพบว่ามีเพียง 567 ครัวเรือนจาก 18,033 ครัวเรือนทั่วประเทศที่เข้าถึงน้ำประปา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนบนเกาะโตงาตาปู[123] ในส่วนของการเข้าถึงไฟฟ้านั้นพบว่าครัวเรือนร้อยละ 88.51 มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กระแสไฟฟ้าที่จ่ายมาตามเสาไฟฟ้า นอกจากนี้การใช้น้ำมันและพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งพลังงานที่นิยมใช้กัน[123] โครงสร้างพื้นฐานที่ดีของประเทศส่วนใหญ่พัฒนาอยู่แต่บนเกาะโตงาตาปู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองนูกูอาโลฟา อันถือได้ว่าเป็นเขตเมืองแท้จริงเพียงแห่งเดียวของประเทศ[124]
ถนนส่วนมากในประเทศตองงาสร้างโดยใช้เงินบริจาคจากรัฐบาลต่างประเทศ[103] ประเทศตองงามีความยาวถนนรวมกัน 680 กิโลเมตร โดย 496 กิโลเมตรยังไม่ได้ลาดยาง[65] เนื่องจากตองงาเป็นประเทศเกาะขนาดเล็กและการจัดการที่ดินยังไม่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นปัญหาในการพัฒนาระบบถนน[103] ประชาชนนิยมใช้การขนส่งทางเรือในการเดินทางระหว่างเกาะ โดยท่าเรือที่สำคัญของประเทศอยู่ที่นูกูอาโลฟา ปาไง และเนอิอาฟู[65]
ประเทศตองงามีท่าอากาศยาน 6 แห่ง โดยมีเพียง 1 แห่งเท่านั้นที่มีพื้นลาดยาง (ท่าอากาศยานนานาชาติฟูอาอะโมตู)[65] สายการบินแห่งชาติของตองงาคือรอยัลตองงาแอร์ไลน์ โดยก่อตั้งใน ค.ศ. 1985[125] ซึ่งต่อมาประสบภาวะล้มละลายและเลิกกิจการใน ค.ศ. 2004 จากการบริหารกิจการที่ล้มเหลวของรัฐบาลในขณะนั้น[126] หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งสายการบินเปเอา วาวาอู ขึ้นเพื่อรองรับการเดินทางภายในประเทศ อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้เพิกถอนใบอนุญาตสายการบินนี้หลังจากเหตุการณ์เพลิงไหม้สำนักงานแห่งหนึ่งของสายการบิน[127] สายการบินของต่างประเทศ ได้แก่ แอร์นิวซีแลนด์ เวอร์จินออสเตรเลีย และฟีจีแอร์เวย์ เป็นผู้ดำเนินการการเดินทางระหว่างประเทศในตองงา[128] ส่วนสายการบินเรียลตองงาดำเนินการการเดินทางในประเทศ[129]
ในประเทศตองงามีสื่อพิมพ์เผยแพร่รายสัปดาห์อยู่ 2 ฉบับ คือ นิตยสารมาตางีโตงาซึ่งเป็นของเอกชนและหนังสือพิมพ์ "Tonga Chronicle" ซึ่งเป็นของรัฐบาล โดยตีพิมพ์ในวันศุกร์ของทุกสัปดาห์เป็นภาษาตองงาและภาษาอังกฤษ[130][131] นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์เอกชน "the Times of Tonga" ซึ่งตีพิมพ์ในเมืองออกแลนด์ นิวซีแลนด์ โดยรายงานข่าวจากหมู่เกาะตองงา 2 อาทิตย์ต่อครั้ง[131] ประเทศตองงามีสถานีวิทยุ 4 สถานี ดังนี้ "Kool 90FM" (รัฐบาลเป็นเจ้าของ), "Tonga Radio "Magic" 89.1 FM", "Nuku'alofa Radio" และ "93FM" ซึ่งทั้งสามสถานีหลังเป็นของเอกชน[130] สถานีโทรทัศน์มีผู้ดำเนินการ 2 รายคือรัฐบาลและดิจิทีวีซึ่งเป็นเอกชน[130]
ในการติดต่อสื่อสารระหว่างเกาะนั้นปรากฏการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต โดยพบว่ามีโทรศัพท์พื้นฐานใช้งาน 30,000 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 56,000 เครื่อง ขณะที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 8,400 คน[65]
ระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ในตองงาเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1826 โดยคณะมิชชันนารีเวสเลยัน หลังจากนั้นไม่นานมิชชันนารีกลุ่มอื่น ๆ ทั้งโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ได้เข้ามาจัดการศึกษา จึงอาจกล่าวได้ว่ารากฐานทางการศึกษาของประเทศตองงามาจากกลุ่มมิชชันนารีเหล่านี้ ซึ่งมีการสอดแทรกหลักคำสอนของศาสนาคริสต์ในการจัดการเรียนการสอนอีกด้วย[132] การศึกษาภาคบังคับของประเทศตองงากำหนดให้ประชาชนจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นประถมศึกษา ซึ่งข้อกำหนดนี้บังคับใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1876[132] การจัดการศึกษาในประเทศตองงาอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะมิชชันนารีกลุ่มต่าง ๆ จนกระทั่ง ค.ศ. 1882 เมื่อรัฐบาลเข้าบริหารระบบการจัดการศึกษาเอง อย่างไรก็ตามคณะมิชชันนารีกลุ่มต่าง ๆ ได้รับอนุญาตให้เปิดโรงเรียนอีกครั้งใน ค.ศ. 1906[133] ประเทศตองงาถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีระบบการจัดการศึกษาดีเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศโอเชียเนียด้วยกัน เนื่องจากประชาชนชาวตองงาส่วนมากรู้หนังสือ โดยรายงานสำมะโนตองงา ค.ศ. 2011 พบว่าประชาชนชาวตองงารู้หนังสือถึงร้อยละ 98.2 นอกจากนี้ร้อยละ 86 ของประชากรสามารถสื่อสารได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาตองงา[123]
ประเทศตองงาจัดการศึกษาภาคบังคับให้แก่เด็กอายุตั้งแต่ 6 ถึง 14 ปี แบบให้เปล่า ซึ่งต่างจากหลายประเทศในเขตโอเชียเนีย ระบบการศึกษาตองงาแบ่งระดับชั้นออกเป็นประถมศึกษา 6 ชั้น มัธยมศึกษา 7 ชั้น และระดับอุดมศึกษา[132] โดยในระดับอุดมศึกษาจะมีทุนให้นักศึกษาชาวตองงาเรียนต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ซึ่งมีโครงการให้ความช่วยเหลือตองงาในด้านการศึกษา[134]
การสาธารณสุขของประเทศตองงาอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในโอเชียเนียด้วยกัน อย่างไรก็ตามประชาชนในตองงายังนิยมการรักษาพยาบาลแบบดั้งเดิมอยู่ ประชาชนจะเข้ารับการรักษาตามแผนปัจจุบันก็เมื่อเห็นว่าเป็นวิธีที่เป็นประโยชน์กับการรักษาพยาบาลของตน ประชาชนชาวตองงาได้รับสวัสดิการจากรัฐในการรักษาพยาบาลแบบให้เปล่า แต่ต้องชำระค่ายาด้วยตนเอง[135] การสาธารณสุขภาคเอกชนนั้นยังอยู่ในวงแคบและเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ผู้ดำเนินกิจการส่วนใหญ่เป็นแพทย์แผนโบราณและแพทย์แผนปัจจุบันที่ดำเนินกิจการหลังเสร็จสิ้นการทำงาน[136] นอกจากนี้ในประเทศตองงายังมีระบบการประกันสุขภาพ แต่ระบบการประกันสุขภาพนี้ครอบคลุมเฉพาะข้าราชการ[136]
รัฐบาลตองงาแบ่งเกาะต่าง ๆ ของประเทศออกเป็น 4 ส่วนในการบริหารงานด้านสาธารณสุข ตองงามีโรงพยาบาล 4 แห่ง โดยโรงพยาบาลไวโอลาในกรุงนูกูอาโลฟา เมืองหลวงของประเทศ เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ (199 เตียง) โดยเป็นโรงพยาบาลที่รองรับการรักษาพยาบาลขั้นสูง[135] อย่างไรก็ตามการรักษาพยาบาลที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระดับสูงมากนิยมส่งไปรักษาต่อในประเทศนิวซีแลนด์โดย Medical Transfer Board เป็นผู้อนุมัติ[136] สำหรับโรงพยาบาลอีก 3 แห่งตั้งอยู่ที่เออัว ฮาอะไปและวาวาอู ส่วนในนีอูอาสไม่มีโรงพยาบาล แต่มีศูนย์การแพทย์ของรัฐบาลรองรับการรักษาพยาบาลในบริเวณนี้[135] ใน ค.ศ. 2010 ประเทศตองงามีแพทย์ 58 คน พยาบาล 379 คนและทันตแพทย์ 10 คน[136]
จากสำมะโนประชากรและเคหะ ค.ศ. 2016 ตองงามีประชากร 100,651 คน และมีความหนาแน่นของประชากรประมาณ 155 คนต่อตารางกิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตการปกครองโตงาตาปู ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 74 ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้ส่วนมากอาศัยอยู่ในกรุงนูกูอาโลฟา อันเป็นเขตเมืองเพียงแห่งเดียวของประเทศ ขณะที่เขตการปกครองวาวาอู ฮาอะไป เออัวและนีอูอาสมีประชากรอยู่อาศัยร้อยละ 14, 6, 5 และ 1 ตามลำดับ[13] นับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประชากรตองงามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่าจากการสำมะโนในครั้งนี้กลับพบว่าประชากรโดยรวมทั้งประเทศลดลงร้อยละ 0.51[13]
โครงสร้างประชากรของตองงาระหว่างเพศชายและเพศหญิงไม่แตกต่างกันมาก โดยพบว่ามีประชากรชาย 99.7 คนต่อประชากรหญิง 100 คน แต่หากพิจารณาตามเขตการปกครองอย่างฮาอะไป เออัวและนีอูอาส อัตราส่วนของประชากรชายจะสูงกว่าประชากรหญิงมาก แต่อัตราส่วนของประชากรชายในพื้นที่เหล่านั้นมีแนวโน้มลดลง[13] เนื่องจากต้องการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกาะโตงาตาปูและในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและสหรัฐ[137] หากพิจารณาจากเชื้อชาติของประชากร พบว่าประชากรตองงาในประเทศส่วนมากเป็นชาวตองงา มีจำนวน 97,662 คน (ร้อยละ 97) ส่วนร้อยละ 3 ที่เหลือเป็นประชากรกลุ่มอื่น โดยกลุ่มใหญ่ที่สุดได้แก่ ลูกครึ่งตองงา ชาวจีน ชาวยุโรปและชาวฟีจี เป็นต้น[13] ประชากรที่มีเชื้อสายอื่นส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเกาะโตงาตาปู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงนูกูอาโลฟา ส่วนนีอูอาสและเออัวมีประชากรเชื้อสายอื่นน้อยมาก ซึ่งทั้งสองพื้นที่มีประชากรเชื้อสายอื่นรวมกันเพียง 48 คน เท่านั้น[138] ด้วยประชากรเกือบทั้งประเทศเป็นชาวตองงาหรือมีเชื้อสายตองงา ดังนั้นจึงใช้ภาษาตองงาเป็นภาษาหลักประจำชาติ[9] ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาษานีวเวอย่างมาก[139] ประชากรของตองงาทางตอนเหนือจะพูดภาษาตองงาต่างสำเนียงกับประชากรทางตอนใต้[139] นอกจากนี้ประชากรตองงาส่วนใหญ่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ดี[140] ทั้งนี้เนื่องจากระบบการศึกษาและสื่อสารมวลชนที่ใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย โดยเอกสารราชการส่วนใหญ่ตีพิมพ์เป็นภาษาตองงาและภาษาอังกฤษ[9]
เมื่อพิจารณาการนับถือศาสนาของประชากรตองงาพบว่าส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ร้อยละ 64.1[65] ในจำนวนนี้ส่วนมากนับถือฟรีเวสเลยันเชิร์ชคิดเป็นร้อยละ 35.05 ขณะที่มีการนับถือนิกายมอร์มอนรองลงมา คิดเป็นร้อยละ 18.6 ขณะที่นิกายโรมันคาทอลิก มีผู้นับถือร้อยละ 14.2 ที่เหลือนับถือศาสนาอื่น ๆ โดยกลุ่มใหญ่สุดเป็นผู้นับถือศาสนาบาไฮ นอกจากนี้จำนวนประชากรที่ไม่นับถือศาสนาใดยังมีจำนวนน้อย แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ[13]
ประชากรตองงามีอายุคาดหมายเฉลี่ยประมาณ 76.40 ปี นับเป็นประเทศที่มีประชากรอายุยืนยาวในระดับปานกลาง คิดเป็นอันดับที่ 87 ของโลก[141] มีอัตราการเกิดที่ 22.20 คนต่อประชากรหนึ่งพันคน[142] มีอัตราการตาย 4.90 คนต่อประชากรหนึ่งพันคน[143] ประชากรตองงาเผชิญกับปัญหาโรคอ้วน โดยพบว่ากว่าร้อยละ 90 ของประชากรมีน้ำหนักเกินกว่าค่ามาตรฐานตามการคำนวณดัชนีมวลกาย และมีประชากรร้อยละ 60 ของประเทศเป็นโรคอ้วน[144] เมื่อพิจารณาเฉพาะประชากรผู้หญิง พบว่าประชากรหญิงชาวตองงาช่วงอายุระหว่าง 15-85 ปีเป็นโรคอ้วนถึงร้อยละ 70 ประเทศตองงาและประเทศนาอูรูเป็นประเทศที่มีประชากรน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมากที่สุดในโลก[145]
สังคมตองงามีการแบ่งชนชั้นตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการแบ่งชนชั้นในสังคมตองงาเริ่มลดลงหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปัจจุบัน[147] ในสังคมตองงาแบ่งผู้คนออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มเชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงซึ่งเป็นชนชั้นนำของสังคม กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มของนักบวชและชนชั้นนำอื่น ๆ ส่วนกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มสามัญชน สถานภาพของบุคลในตองงาตามโครงสร้างทางสังคมและครอบครัวนั้นขึ้นอยู่กับสถานะและอำนาจของบุคคลนั้น เพศและอายุมีส่วนในการจัดโครงสร้างชนชั้นด้วย โดยทั่วไปเพศหญิงมีสถานภาพสูงกว่าผู้ชาย[148] อย่างไรก็ตาม ชายเป็นเจ้าของที่ดินและสามารถส่งต่อบรรดาศักดิ์ของตนแก่บุตรหลานที่เป็นชายได้[147]
ข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีและเครื่องดนตรีพื้นเมืองของตองงาช่วงก่อนมีการติดต่อกับชาวตะวันตกนั้นมีอยู่น้อยมาก อย่างไรก็ตามกัปตันเจมส์ คุก และวิลเลียม มาริเนอร์ ได้บันทึกเกี่ยวกับดนตรีและเพลงของตองงาไว้[149] เครื่องดนตรีตองงาส่วนใหญ่เป็นประเภทเครื่องกระทบ[150] เครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องกระทบที่สำคัญของตองงา เช่น กลองนาฟาซึ่งทำจากไม้ ตาฟูอาซึ่งทำจากไม้ไผ่และอูเตเตซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพิณ เป็นต้น นอกจากกลุ่มนี้แล้ว เครื่องดนตรีพื้นเมืองของตองงายังมีทั้งกลุ่มเครื่องสายและกลุ่มเครื่องลม[150] อย่างไรก็ตาม เครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องหนังนั้นเพิ่งเข้ามาแพร่หลายในตองงาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยนำเข้าจากซามัว พร้อมกับการเต้นมาอูลูอูลู[150] ปัจจุบันดนตรีและบทเพลงของตองงาได้รับอิทธิพลจากดนตรีของยุโรปและแคริบเบียน โดยนำดนตรีที่ได้รับอิทธิพลจากภูมิภาคอื่นเหล่านี้มาใช้ร่วมกับดนตรีพื้นเมืองและบทเพลงพื้นเมือง[151]
การเต้นรำของตองงาได้รับการอนุรักษ์และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน การเต้นรำที่ขึ้นชื่อที่สุดของตองงาในปัจจุบันคือการเต้นเมเอตูอูปากี ซึ่งเป็นการเต้นรำที่ใช้ผู้ชายแสดงเท่านั้น โดยใช้เครื่องดนตรีประกอบการแสดง 3 ชิ้น คือ กลอง อูเตเตและ Ratchet โดยมีผู้ชายและผู้หญิงที่นั่งอยู่ด้านหน้าผู้เต้นเป็นผู้ร้องสนับสนุน ในอดีตการเต้นเมเอตูอูปากีจะเต้นในโอกาสการเฉลิมฉลองระดับชาติเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการจัดแสดงเมเอตูอูปากีตามหมู่บ้านต่าง ๆ บ่อยครั้ง[152] นอกจากนี้ยังมีการเต้นรำอีกแบบหนึ่งซึ่งเรียกว่าโอตูฮากา ที่ใช้นักแสดงทั้งชายและหญิง การแสดงประเภทนี้เป็นการแสดงที่ใช้มือประกอบการแสดงบ่อยมาก[152] เครื่องดนตรีที่นิยมใช้ประกอบการแสดงคือเครื่องดนตรีตะวันตกผสมผสานกับเครื่องดนตรีพื้นเมือง โดยเครื่องดนตรีตะวันตกที่นำมาใช้คือกีตาร์ ในขณะที่ตาฟูอาเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ใช้ประกอบการแสดง[153]
การเต้นรำอีกประเภทหนึ่งของตองงาที่มีชื่อเสียงมากและได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ใน ค.ศ. 2013 คือลากาลากา โดยการเต้นรำประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นนาฏศิลป์ประจำชาติของประเทศตองงา การเต้นรำลากาลากาเป็นการเต้นรำที่ใช้ทั้งการเต้น การพูด การใช้เสียงและเครื่องดนตรี การเต้นลากาลากาจะใช้ผู้แสดงประมาณ 100 คน ผสมผสานกันทั้งชายและหญิง ชายจะแสดงท่าทางที่มีพลัง ขณะที่หญิงจะแสดงท่าทางที่สวยงาม[154]
ชาวตองงาสมัยก่อนนิยมรับประทานผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นอาหารหลัก อันได้แก่ มันเทศ กล้วย มะพร้าว และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์จากทะเลก็สำคัญเนื่องจากสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ชาวตองงาสมัยโบราณนิยมบริโภคปลาและสัตว์จำพวกหอย โดยที่ปลาต้องผ่านกรรมวิธีการอบความร้อนก่อน ขณะที่สัตว์จำพวกหอยชาวตองงาสมัยโบราณนิยมบริโภคแบบดิบ นิยมบริโภคน้ำกะทิเป็นเครื่องดื่ม นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการเลี้ยงสุกรในครัวเรือนชาวตองงาสมัยโบราณอีกด้วย[155]
หลังชาวยุโรปเข้ามา ชาวยุโรปได้นำพืชต่างถิ่นเข้ามาในตองงาส่งผลให้อาหารและเครื่องดื่มของตองงาในยุคหลังได้รับอิทธิพลมาจากพืชเหล่านั้น โดยพืชที่ชาวยุโรปนำเข้ามาในตองงาคือ หัวหอม กะหล่ำปลี แคร์รอต มะเขือเทศ ส้ม มะนาว ยักกา รวมไปถึงแตงโม[156] แตงโมกลายเป็นหนึ่งในพืชที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศตองงา เนื่องจากแตงโมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำเครื่องดื่มของตองงาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างหนึ่งคือโอไต ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีแตงโมและมะพร้าวเป็นส่วนประกอบ บางครั้งมีการนำมะม่วงหรือสับปะรดเป็นวัตถุดิบด้วย[157] ชาวตองงานอกจากจะนำพืชที่ชาวยุโรปนำเข้ามาทำเป็นเครื่องดื่มแล้ว ยังนำพืชนั้นมาปรุงเป็นอาหารพื้นเมืองด้วย ยกตัวอย่างเช่น ลูปูลู ซึ่งนำมะเขือเทศและหัวหอมมาปรุงพืชพื้นเมืองตองงาและเนื้อจนได้เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในตองงาอย่างหนึ่ง[158]
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ประเทศตองงายังมีเครื่องดื่มยอดนิยมอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า คาวา โดยคาวานั้นทำมาจากต้นคาวา นิยมใช้ในพิธีการรวมทั้งพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ชาวตองงานิยมนำคาวามาใช้รักษาโรคและบรรเทาอาการหลากหลาย ซึ่งคาวามีสรรพคุณในการรักษาอาการปวดข้อ วัณโรค หนองในและอาการไข้[159]
กีฬาประจำชาติและได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศตองงา คือ รักบี้[160] ประเทศตองงาเข้าร่วมการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกตั้งแต่ ค.ศ. 1987 ซึ่งเป็นการจัดชิงแชมป์โลกครั้งแรก[161] การแข่งขันที่ตองงาประสบความสำเร็จมากที่สุดคือการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกใน ค.ศ. 2007 และ ค.ศ. 2011 ซึ่งสามารถจบในอันดับที่ดีพอที่จะเข้าแข่งขันในครั้งต่อไปโดยอัตโนมัติ[160]
ด้านกีฬาฟุตบอล ประเทศตองงาเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศและสมาพันธ์ฟุตบอลโอเชียเนียตั้งแต่ ค.ศ. 1994[162] ฟุตบอลทีมชาติตองงาเข้าแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรกในเซาธ์แปซิฟิกเกมส์ โดยการแข่งขั้นในครั้งแรกนั้นพบกับฟุตบอลทีมชาติตาฮีตี ซึ่งฟุตบอลทีมชาติตองงาแพ้ 8–0[163] ผลการแข่งขันที่แย่ที่สุดของฟุตบอลทีมชาติตองงาคือการแพ้ต่อฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย 22–0 ใน ค.ศ. 2001[164] ส่วนผลการแข่งขันที่ดีที่สุดของฟุตบอลทีมชาติตองงาคือการชนะฟุตบอลทีมชาติไมโครนีเซีย 7 –0 ใน ค.ศ. 2003[165]
คณะกรรมการโอลิมปิกของประเทศตองงานั้นก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1963 และได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลใน ค.ศ. 1984[166] ประเทศตองงาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรกใน ค.ศ. 1984[167] ประเทศตองงาเคยได้รับ 1 เหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกใน ค.ศ. 1996 ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐ โดยในครั้งนั้น ปาเออา วอฟแฟรม นักกีฬามวยสากลสมัครเล่น ได้เหรียญเงิน[166] ส่วนการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวนั้น ตองงาจะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 ที่เมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย เป็นครั้งแรก[168]
ประเทศตองงาประกาศให้มีวันหยุดราชการ 10 วัน โดยมีวันหยุดราชการที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศ 6 วันและมีวันหยุดราชการที่เป็นสากลอีก 4 วัน เช่น วันอีสเตอร์และวันคริสต์มาส[169]
วันที่ | ชื่อ | ชื่อวันในภาษาอังกฤษ |
---|---|---|
1 มกราคม | วันขึ้นปีใหม่ | New Year’s Day |
- | วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรตองงา | Birthday of the reigning Sovereign of Tonga |
- | วันเฉลิมพระชนมพรรษามกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรตองงา | Birthday of the Heir to the Crown of Tonga |
- | วันศุกร์ประเสริฐ | Good Friday |
- | วันจันทร์ศักดิ์สิทธิ์ | Easter Monday |
4 มิถุนายน | วันเอกราช | Emancipation Day |
- | วันเฉลิมฉลองการครองราชย์ของพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรตองงา | the Anniversary of the Coronation Day of the reigning Sovereign of Tonga |
4 ตุลาคม | วันรัฐธรรมนูญ | Constitution Day |
4 ธันวาคม | วันเฉลิมฉลองการครองราชย์ของพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 | The Anniversary of the Coronation of H.M. King George Tupou I |
25 ธันวาคม | วันคริสต์มาส | Christmas Day and the day immediately succeeding Christmas Day |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.