Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พันเอก(พิเศษ) ประจักษ์ สว่างจิตร หรือที่นิยมเรียกว่า ผู้การประจักษ์ (12 กันยายน พ.ศ. 2480 – 10 กันยายน พ.ศ. 2546) เป็นนายทหารบกและนักการเมืองชาวไทย เคยเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการในกบฏยังเติร์ก
พันเอก (พิเศษ) ประจักษ์ สว่างจิตร | |
---|---|
พ.อ. (พิเศษ) ประจักษ์ สว่างจิตร ถูกควบคุมตัวในกบฏยังเติร์ก | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 12 กันยายน พ.ศ. 2480 |
เสียชีวิต | 10 กันยายน พ.ศ. 2546 (65 ปี) |
พรรคการเมือง | พรรคชาติไทย |
การเข้าร่วม พรรคการเมืองอื่น | จปร.7 |
คู่สมรส | สัจจา สว่างจิตร (หย่า) กรพรรณ จันทีนอก (หย่า) จรรยา สว่างจิตร |
บุตร | 8 คน |
ศิษย์เก่า | โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า |
อาชีพ | ทหารบก, นักการเมือง |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | ไทย |
สังกัด | กองทัพบก |
ประจำการ | พ.ศ. 2503 - พ.ศ. 2524 |
ยศ | พันเอก (พิเศษ) |
ผ่านศึก | สงครามเวียดนาม |
พ.อ.พิเศษ ประจักษ์ เป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญของนายทหาร จปร.7 เป็นนักรบอาชีพที่ผ่านการรบมาอย่างโชกโชนในสมรภูมิอินโดจีน ทั้งในเวียดนาม, กัมพูชา และลาว เป็นทหารที่ดุดันเอาจริงเอาจังในการตอบโต้การล่วงละเมิดอธิปไตยของไทย จนเพื่อนในรุ่นเรียกว่า "นักรบบ้าดีเดือด" และชาวบ้านบริเวณชายแดน ไทย-กัมพูชา ตั้งฉายาให้ว่า "วีรบุรุษตาพระยา" ยุทธการที่เป็นที่โจษจันของผู้การประจักษ์คือ ยุทธการบ้านโนนหมากมุ่น
แม้จะเป็นคนมุทะลุ ดุดัน แต่รักพวกพ้อง พ.อ.พิเศษ ประจักษ์ เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.ต. มนูญกฤต รูปขจร อดีตประธานวุฒิสภา, พล.อ. พัลลภ ปิ่นมณี และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แลอดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม
สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) หลักสูตรเวสต์พอยท์ รุ่นที่ 7 ซึ่งได้รับฉายาว่า "กลุ่มยังเติร์ก"
ขอท้าวความหลังจากที่กองทัพจีนถอนทัพกลับไป เวียดนามก็ยังคงส่งทหารเข้าตรึงกำลังไว้ยังแนวชายแดนจีน และไทย-กัมพูชาอีกครั้ง และส่งกำลังเข้าโจมตีที่มั่นเขมรสามฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ระหว่างนั้นเองฐานที่มั่นของฝ่ายกัมพูชาประชาธิปไตย ถูกเวียดนาม-เฮง สัมริน เข้าโจมตีจนแตกพ่าย กองทัพเวียดนามจึงเริ่มเคลื่อนกำลังรุกล้ำเข้ามาในเขตไทย และตั้งฐานที่มั่นตามแนวชายแดนไทย ลาว กัมพูชา อันเป็นดินแดนรอยต่อสามเหลี่ยมมรกต ซึ่งภูมิประเทศด้านนี้ยังเต็มไปด้วยผืนป่าอันรกทึบ และทิวเขาสูงสลับซับซ้อน ยากแก่การตรวจพบได้ทั้งทางภาคอากาศและพื้นดิน ทำให้ฝ่ายเวียดนามส่งกำลังรุกเข้ามาเรื่อย ดังนั้น พื้นที่โดยรอบตะเข็บชายแดนไทย ตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานีไปจนถึงจังหวัดตราด จึงเต็มไปด้วยกำลังพลข้าศึกที่แทรกซึม ตลอดจนดัดแปลงฐานที่มั่นแข็งแรงอยู่อย่างหนาแน่น
พ.อ.พิเศษ ประจักษ์ เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศจากเหตุการณ์ "กบฏยังเติร์ก" เมื่อวันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ. 2524 ที่กลุ่มนายทหารยังเติร์ก พยายามก่อรัฐประหารยึดอำนาจ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น โดยร่วมกับ พล.อ. สัณห์ จิตรปฏิมา และ พ.อ. มนูญ รูปขจร (ชื่อและยศในขณะนั้น) ใช้กำลังพลถึง 42 กองพันแต่กลับก่อการไม่สำเร็จ ในครั้งนั้นผู้การประจักษ์รับหน้าที่ไปควบคุมตัว พล.อ. เปรม ที่บ้านสี่เสาร์เทเวศน์ แต่สุดท้าย พล.อ .เปรม สามารถหลอกล่อจนหลุดจากการควบคุมตัวได้ ขณะที่ต่อมาตัว พ.อ.(พิเศษ) ประจักษ์เองกลับถูกทหารราบ 21 นำโดย พ.ท. ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช จับกุมตัวจนพันเอกพัลลภ ปิ่นมณี (ยศขณะนั้น) ต้องตัดสินใจบุกเดี่ยวไปช่วยเหลือ และได้เจรจากับ พล.ต. ชวลิต ยงใจยุทธ (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นทหารชั้นผู้ใหญ่ในที่นั้นจน พ.อ.ประจักษ์ ได้รับการรับรองความปลอดภัย
หลังสถานการณ์คลี่คลายลง พ.อ.พิเศษ ประจักษ์ ผันตัวเองไปทำธุรกิจส่วนตัวเช่นกิจการรักษาความปลอดภัย ปั้มน้ำมัน น้ำปลาตราสว่างจิตร ข้าวสารบรรจุถุง (เจ้าแรก ๆ ของไทย) จนมาทำธุรกิจจำหน่วยเหล็กเส้น ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากก่อตั้ง บริษัท พี.โอเวอร์ซีส์สตีล จำกัด (มหาชน) และได้ร่วมผลักดันให้เพื่อน ๆ ที่ร่วมก่อรัฐประหารได้มีโอกาสกลับเข้ารับราชการใหม่ ประสบความสำเร็จเป็นนายพลตามวิถีชีวิตของแต่ละคน
เมื่อครั้งรัฐประหาร 2519 นำโดยพล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พ.ท. ประจักษ์ สว่างจิตร (ยศในขณะนั้น) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2519
นอกจากนี้ พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร ยังเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ในวันที่ 22 เมษายน 2522 โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 225 ท่าน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 และพ้นจากตำแหน่งโดยการจับสลากออก เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2524
พ.อ.พิเศษ ประจักษ์ เคยลงสมัคร ส.ส. กรุงเทพฯ เขตบางเขน ในนามพรรคชาติไทย ในปี พ.ศ. 2529 และได้เป็น ส.ส. ถือเป็น ส.ส.ของพรรคชาติไทยเพียงคนเดียวในกรุงเทพ ฯ[1] จนกระทั่ง น.ส.จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ ในปี พ.ศ. 2548 และเคยเป็นที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์) สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2543 พ.อ.พิเศษ ประจักษ์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เบอร์ 10 ซึ่งได้สร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก จากการเกณฑ์พนักงานรักษาความปลอดภัยในบริษัทของตัวเอง ไปยืนเข้าแถวแสดงความเข้มแข็ง ขณะยื่นใบสมัครและหาเสียง อีกทั้งยังใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "รถโรโบค้อป" เป็นพาหนะในการหาเสียง โดยใช้นโยบายการหาเสียงว่า "จ้างยาม 5 หมื่นคน... ปราบโจร...ปราบยา.....ฯลฯ" เป็นที่ฮือฮากันอย่างยิ่ง เพราะมีการวิจารณ์ว่าเป็นการตบหน้าการทำงานของตำรวจอย่างเต็มที่[2] แม้จะไม่ได้รับการเลือกตั้งก็ตาม
ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ นางสัจจา สว่างจิตร มีบุตรธิดา 4 คน
กับนาง กรพรรณ จันทีนอก มีบุตร ธิดา 4 คน
สมรสกับนางจรรยา สว่างจิตร
ช่วงบั้นปลายชีวิต พ.อ. (พิเศษ) ประจักษ์ได้ต่อสู้กับโรคตับที่ป่วยเรื้อรังมานาน และจบชีวิตตัวเองลงด้วยอาวุธปืนในห้องน้ำที่บ้าน ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2546 ก่อนจะถึงวันครบรอบวันเกิดปีที่ 68 เพียง 2 วัน
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.