คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง

จักรพรรดินีโคจุง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จักรพรรดินีโคจุง
Remove ads

สมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะ หรือพระนามเมื่อเสด็จสวรรคตคือจักรพรรดินีโคจุง (ญี่ปุ่น: 香淳皇后; โรมาจิ: kōjun kōgō; 6 มีนาคม ค.ศ. 1903 – 16 มิถุนายน ค.ศ. 2000) พระนามเดิม เจ้าหญิงนางาโกะแห่งคูนิ (ญี่ปุ่น: 良子女王; โรมาจิ: Nagako Joō) เป็นพระจักรพรรดินีอัครมเหสีในจักรพรรดิโชวะ และเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ถือเป็นจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น[1] รวม 62 ปี 13 วัน

ข้อมูลเบื้องต้น จักรพรรดินีโคจุง, จักรพรรดินีญี่ปุ่น ...
Remove ads

ทรงประสูติ ค.ศ. 1903 ในราชสกุลเจ้าคูนิ โนะ มิยะ ดำรงฐานะเจ้าหญิงนางาโกะแห่งคูนิ ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนสตรีกากุชูอิน และทรงได้รับการเลือกให้เป็นว่าที่พระชายาในมกุฎราชกุมาร พระชนม์ชีพช่วงต้นของพระนางทรงถูกนำมาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองคือ เหตุการณ์ร้ายแรงในราชสำนัก โดยพัวพันกับการอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงและมกุฎราชกุมาร ซึ่งเจ้าชายคูนิโยชิ คูนิโนะมิยะ โดยรัฐบาลรวมถึงพระบิดาของเจ้าหญิงทรงใช้เหตุการณ์นี้ในการกำจัดศัตรูทางการเมืองออกจากอำนาจ เมื่ออภิเษกสมรสทรงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระราชสวามี และเป็นภาพแทนของการสมรสแบบสามีภรรยาคนเดียว อันเป็นค่านิยมแบบวัฒนธรรมตะวันตกที่แพร่หลาย และจักรพรรดิฮิโรฮิโตะก็ไม่ทรงโปรดการมีพระสนมแม้ว่าจะมีการกราบทูลขอจากราชสำนักก็ตาม

หลังพระราชสวามีขึ้นครองราชย์ พระนางเป็นจักรพรรดินีพระองค์แรกของญี่ปุ่นที่ไม่ได้มาจากตระกูลฟูจิวาระ โดยทั้งจักรพรรดินีโชเก็งและจักรพรรดินีเทเมล้วนมาจากตระกูลฟูจิวาระทั้งสิ้น จักรพรรดินีนางาโกะเป็นพระอัครมเหสีที่สืบเชื้อสายมาจากราชสกุล โดยจักรพรรดินีที่มาจากเชื้อพระวงศ์ล่าสุดคือ เจ้าหญิงโยชิโกะ (ค.ศ. 1794-1820) ทรงเป็นจักรพรรดินีในจักรพรรดิโคกากุ จักรพรรดิพระองค์ที่ 119 จักรพรรดินีนางาโกะทรงประกอบพระราชกรณียกิจจำนวนมากทั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และหลังสงคราม ทรงมีบทบาทสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหลังการพ่ายแพ้สงครามของญี่ปุ่น นำไปสู่การยึดครองญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งบทบาทของพระราชวงศ์และเหล่าเจ้าราชสกุลต่างๆ ถูกถอดถอนออกจากพระอิสริยศักดิ์ให้เป็นสามัญชน เว้นแต่จักรพรรดิและจักรพรรดินียังทรงสามารถดำรงในฐานะประมุขต่อไปได้ ภาพลักษณ์ของราชวงศ์จึงถูกปรับให้ดูเรียบง่าย ทำให้ส่งผลต่อการส่งเสริมให้ราชวงศ์มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น และเป็นกำลังหลักในการต่อต้านขบวนการฝ่ายซ้ายของญี่ปุ่นช่วงสงครามเย็น จักรพรรดินีนางาโกะเสด็จเยือนพื้นที่ต่างๆ ของประเทศบ่อยครั้ง ด้วยทรงใกล้ชิดราษฎรทำให้ทรงได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน

จักรพรรดินีนางาโกะทรงตกเป็นเรื่องอื้อฉาว เมื่อทรงต่อต้านกรณีที่มกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะ พระราชโอรสทรงตัดสินพระทัยที่จะหมั้นหมายกับมิจิโกะ โชดะ ซึ่งเป็นสามัญชน ในค.ศ. 1959 แม้ว่ากระแสความเปลี่ยนแปลงในราชสำนักครั้งนี้จะได้รับความนิยมจากประชาชน แต่จักรพรรดินีนางาโกะทรงสนับสนุนกลุ่มพลังฝ่ายขวาในการโจมตีมกุฎราชกุมารีมิจิโกะและครอบครัวโชดะ อีกทั้งจักรพรรดินีทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการที่ทรงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเหล่านางสนองพระโอษฐ์ ซึ่งเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนาของราชสำนักโดยผ่านอิทธิพลของจักรพรรดินี เรื่องเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของพระราชวงศ์มาอย่างยาวนาน

จักรพรรดินีนางาโกะทรงเป็นพระมเหสีพระองค์แรกที่ได้เสด็จเยือนต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ต่อมาปลายสมัยโชวะ จักรพรรดินีทรงเริ่มประชวรด้วยภาวะสมองเสื่อม และในค.ศ. 1989 ทรงดำรงเป็นสมเด็จพระพันปีหลวง หลังการเสด็จสวรรคตของจักรพรรดิโชวะ พระนางสวรรคตในค.ศ. 2000 ด้วยพระโรคชรา สิริพระชนมายุ 97 พรษา เมื่อจักรพรรดินีนางาโกะเสด็จสวรรคต พระนางจึงได้รับการสถาปนาเป็น จักรพรรดินีโคจุง ซึ่งมีความหมายว่า ความบริสุทธิ์หอมหวาน[2]

Remove ads

เชื้อสายและพระอิสริยยศ

สรุป
มุมมอง

พระนางเป็นสมาชิกพระราชวงศ์ญี่ปุ่นซึ่งสืบเชื้อสายจากเจ้าคูนิ โนะ มิยะ และตั้งแต่ประสูติจนกระทั่งจักรพรรดิโชวะขึ้นสืบราชสมบัติ พระอิสริยยศและสถานะของพระองค์คือ เจ้าหญิงนางาโกะ และตามกฎราชวงศ์ญี่ปุ่นจะทูลพระนางว่า "ไฮเนส" (เดนกะ)

ในวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1924 (ปีไทโชที่ 13) พระนางอภิเษกสมรสกับเจ้าชายผู้สำเร็จราชการฮิโรฮิโตะ ซึ่งต่อมาคือจักรพรรดิโชวะ[3] ทั้งสองพระองค์มีพระราชโอรส 2 พระองค์และพระราชธิดา 5 พระองค์ ในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1926 จักรพรรดิไทโชเสด็จสวรรคต จักรพรรดิโชวะได้สืบราชบัลลังก์ พระนางจึงได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดินี

ในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1989 (ปีโชวะที่ 64) จักรพรรดิโชวะเสด็จสวรรคต มกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ พระราชโอรสองค์ใหญ่ ได้สืบราชบัลลังก์เป็น จักรพรรดิอากิฮิโตะ จักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์ที่ 125 และพระชายาของพระองค์ได้รับการสถาปนาเป็น จักรพรรดินีมิจิโกะ จักรพรรดินีนางาโกะจึงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระพันปีหลวง ในวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1996 (ปีเฮเซที่ 8) พระนางทรงมีพระชนมายุ 93 พรรษา ทรงมีพระชนมพรรษายืนยาวกว่าจักรพรรดินีฟุจิวะระ โนะ ฮิโระโกะ พระมเหสีในจักรพรรดิโกะ-เรเซ ผู้ทรงเป็นสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าซึ่งมีพระชนมายุ 92 พรรษาตามการนับอายุแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น จักรพรรดินีนางาโกะ พระพันปีหลวงจึงกลายเป็นสมาชิกราชวงศ์ที่ทรงพระชนมายุยาวนานที่สุด ถ้าไม่นับยุคสมัยเทพเจ้า

พระนางเสด็จสวรรคตในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2000 (ปีเฮเซที่ 12) และทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศหลังสวรรคตว่า "จักรพรรดินีโคจุง"

ด้วยจักรพรรดิโชวะ พระราชสวามีของพระนาง เป็นจักรพรรดิผู้ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ พระนางก็ทรงเป็นจักรพรรดินีญี่ปุ่นที่เคียงข้างราชบัลลังก์มาอย่างยาวนานที่สุดเช่นกัน (62 ปี 14 วัน) และทรงเป็นจักรพรรดินีที่ทรงมีพระชนมายุมากที่สุด (สวรรคตขณะ 97 พรรษา) หากไม่นับสมัยเทพเจ้า พระนางทรงเป็นจักรพรรดินีและมกุฎราชกุมารีพระองค์สุดท้ายที่สืบเชื้อสายมาจากเชื้อพระวงศ์[i]

เมื่อจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน พระองค์ที่ 126 ขึ้นสืบราชบัลลังก์ในปีค.ศ. 2019 (ปีเรวะที่ 1) จักรพรรดิโชวะและจักรพรรดินีโคจุงทรงกลายเป็นบรรพบุรุษร่วมกันใกล้สุดของเจ้าชายที่มีสิทธิสืบราชบัลลังก์ญี่ปุ่น 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายฟูมิฮิโตะ อากิชิโนะโนะมิยะ, เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะและเจ้าชายมาซาฮิโตะ ฮิตาจิโนะมิยะ

Remove ads

พระราชประวัติ

สรุป
มุมมอง

ขณะทรงพระเยาว์

เจ้าหญิงนางาโกะ ประสูติ ณ กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ปีเมจิที่ 36 (ค.ศ.1903) เวลา 06.25 น. เป็นพระธิดาคนที่ 3 จาก 6 พระองค์ ในเจ้าชายคูนิโยชิ คูนิโนะมิยะ กับ ท่านหญิงชิกาโกะ ชิมาซุ ท่านหญิงชิกาโกะเป็นธิดาในชิมาซุ ทาดาโยชิ (รุ่นที่ 2)[4][5] พระองค์มีพระเชษฐา 2 พระองค์ พระขนิษฐา 2 พระองค์ และพระอนุชา 1 พระองค์ โดยในช่วงที่พระนางประสูติ เป็นช่วงที่วัฒนธรรมจากตะวันตกไหลบ่าเข้ามาในญี่ปุ่น เจ้าคูนิ พระบิดา ยังทรงเลี้ยงดูเจ้าหญิงนางาโกะตามจารีตดั้งเดิมมาโดยตลอด โดยพระบิดาของเจ้าหญิงนางาโกะ สืบเชื้อสายมาจากราชสกุลฟุชิมิ ซึ่งไม่ได้มาจากตระกูลฟูจิวาระ (มีตระกูลย่อย ได้แก่ ตระกูลโคโนะเอะ, อิชิโจ, นิโจ, คะซะสึคะซะ และคุโจ) ส่วนพระมารดาสืบเชื้อสายมาจากไดเมียว ทำให้เจ้าหญิงนางาโกะ เป็นพระจักรพรรดินีพระองค์แรก ที่ไม่ได้มาจากตระกูลฟูจิวาระ[6]

เมื่อเจ้าหญิงนางาโกะประสูติ ตระกูลคูนิได้แสวงหาแม่นมจากกระทรวงพระราชสำนัก และผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัดได้แนะนำสตรีทั้งหมด 6 คน[7] ในที่สุดก็ได้เลือก มง เซกิเนะ (ขณะนั้นเธออายุได้ 20 ปี) ซึ่งเพิ่งสูญเสียบุตรในครรภ์ไป เธอจึงได้รับการคัดเลือกจากตระกูลเก่าแก่ของจังหวัดไซตามะ[7] มงได้ระลึกความทรงจำว่า เจ้าหญิงนางาโกะทรงโปรดการเสวยมากและมีพระพลานามัยแข็งแรงมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งนั่นทำให้เจ้าหญิงชิกาโกะ พระชนนีของเจ้าหญิงประหลาดใจมาก[8] ตระกูลคูนิใช้ชีวิตเรียบง่าย และฉลองพระองค์ของเจ้าหญิงนางาโกะก็มาจากฝีมือการตัดเย็บของมง ซึ่งเธอก็ได้เย็บเสื้อผ้าตัวอื่นๆ ขึ้นมาใหม่ด้วย[9] เจ้าหญิงนางาโกะทรงมีจิตใจดีแต่ก็แข็งแกร่ง เนื่องจากทรงเป็นพระเชษฐภคินีของพระขนิษฐาทั้งสองพระองค์ พระนางจึงดูแลพระขนิษฐาเป็นอย่างดี มีบันทึกว่า บางครั้งพระขนิษฐาสองพระองค์ (เจ้าหญิงโนบูโกะและเจ้าหญิงโทโมโกะ) มักจะเลียนแบบการกระทำของพระเชษฐภคินีเสมอ[10]

Thumb
เจ้าหญิงนางาโกะแห่งคูนิ ขณะพระชนมายุ 7 ชันษา(พระบรมฉายาลักษณ์ ค.ศ. 1910)
เจ้าหญิงนางาโกะแห่งคูนิ ขณะพระชนมายุ 7 ชันษา(พระบรมฉายาลักษณ์ ค.ศ. 1910) 
Thumb
เจ้าหญิงทั้งสามแห่งตระกูลคูนิ(ฉายในปีค.ศ. 1912)
เจ้าหญิงทั้งสามแห่งตระกูลคูนิ(ฉายในปีค.ศ. 1912) 

เข้ากากุชูอิน

Thumb
ชั้นเรียนในโรงเรียนสตรีกากุชูอิน เจ้าหญิงนางาโกะทรงอยู่แถวหน้าฝั่งขวา (ภาพถ่ายในปี 1916)

ในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1907 (ปีเมจิที่ 40) เจ้าหญิงนางาโกะทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนอนุบาลกากุชูอิน ซึ่งเป็นโรงเรียนของสตรีชั้นสูงของญี่ปุ่นในระดับนั้น ตามบันทึกความทรงจำของทากะ อาดาจิ[ii] บันทึกว่า ในโรงเรียนอนุบาล พระบรมวงศานุวงศ์จะเสวยพระกระยาหารเที่ยงแยกจากเด็กคนอื่นๆ รวมถึงมีการแยกเด็กชายและเด็กหญิง แต่ในตอนนั้น เจ้าหญิงนางาโกะและเจ้าหญิงโนบูโกะ พระขนิษฐา ได้ร่วมห้องเสวยกับเจ้าชายฮิโรฮิโตะ (ซึ่งต่อมาคือจักรพรรดิโชวะ) และเจ้าชายยาซูฮิโตะ (ซึ่งต่อมาคือ เจ้าชิชิบุ)[11] ยูกะ โนกูชิ ซึ่งเป็นอาจารย์โรงเรียน เห็นเหตุการณ์นี้ก็มีลางสังหรณ์ว่าเจ้าชายฮิโรฮิโตะและเจ้าหญิงนางาโกะอาจจะได้อภิเษกสมรสกันในอนาคต[12]

ใน ค.ศ. 1909 (ปีเมจิที่ 42) เจ้าหญิงได้เข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสตรีกากุชูอิน ในช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ทรงอยู่ในชั้นเรียนและไม่เข้าใจความหมายของคำว่า กะละมัง สิ่งนี้ช่วยสอนให้พระนางเริ่มเรียนรู้วิธีการซักผ้าด้วยพระองค์เอง และเจ้าหญิงทรงร่วมซักผ้ากับเหล่าแม่บ้านด้วยกันเป็นระยะเวลาหลายปี[13]

ในวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1912 (ปีเมจิที่ 45/ปีไทโชที่ 1) หลังการเสด็จสวรรคตของจักรพรรดิเมจิ พระราชอัยกาในพระราชสวามีในอนาคตของพระนาง เจ้าหญิงนางาโกะได้เสด็จเข้าพระราชวังหลวงพร้อมกับเจ้าหญิงชิกาโกะ พระชนนี และเจ้าชายคูนิโนะมิยะ พระชนก เพื่อแสดงความเคารพแก่จักรพรรดินีโชเก็ง พระพันปีหลวง ซึ่งตัวเจ้าหญิงทรงเป็นที่ดึงดูดความสนพระทัยของพระพันปีหลวง[14]

ในค.ศ. 1915 (ปีไทโชที่ 4) เจ้าหญิงทรงเข้าศึกษาต่อมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสตรีกากุชูอินตามคำแนะนำของจักรพรรดินีโชเก็ง พระพันปีหลวง ซึ่งพระนางเสด็จสวรรคตไปแล้วเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1914 (ปีไทโชที่ 3) และในฤดูร้อนของปี 1915 เจ้าชายฮิโรฮิโตะทรงปีนภูเขาคามิในเมืองฮาโกเนะพร้อมด้วยพระสหายร่วมชั้นของพระองค์ เจ้าหญิงนางาโกะก็เป็นหนึ่งในกลุ่มสหายหลายคนที่ไปส่งเจ้าชายที่เรียวกังมิยาอูชิซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน[15]

ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 (ปีไทโชที่ 5) มีการจัดพระราชพิธีสถาปนามกุฎราชกุมารของเจ้าชายฮิโรฮิโตะ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจักรพรรดินีเทเม หรือ จักรพรรดินีซาดาโกะเสด็จเยือนโรงเรียนสตรีกากุชูอินอย่างไม่เป็นทางการเพื่อทรงทอดพระเนตรพฤติกรรมและเฟ้นหาสตรีที่เหมาะสมสำหรับมกุฎราชกุมาร[16] พระสหายร่วมชั้นของเจ้าหญิงจำได้ว่าแม้ว่าในหมู่เด็กหญิงวิ่งเล่นกันอย่างบ้าคลั่ง แต่เจ้าหญิงนางาโกะก็ยังทรงประพฤติดี สงบ และคล่องแคล่ว[17] ในบรรดารุ่นพี่ของเจ้าหญิงนางาโกะได้แก่ เจ้าหญิงมาซาโกะ นาชิโมโตะ ซึ่งเป็นพระญาติ (ต่อมาเจ้าหญิงมาซาโกะ นาชิโมโตะ ได้รับการสถาปนาเป็น เจ้าหญิงบังจา มกุฎราชกุมารีแห่งเกาหลีจากการสมรสกับเจ้าชายอี อึน มกุฎราชกุมารเกาหลี ซึ่งทำให้ได้สัญชาติเกาหลี) และพระสหายร่วมชั้นของพระนาง คือ โทกิโกะ อิชิโจ (ซึ่งต่อมาคือ เจ้าหญิงฟูชิมิจากการเสกสมรสกับเจ้าชายฟูชิมิ ฮิโรโยชิจากตระกูลฟูชิมิ โนะ มิยะ) ตัวเลือกทั้งสามเป็นว่าที่พระคู่หมั้นของมกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะ[18]

จักรพรรดินีเอโช พระพันปีหลวงมาจากตระกูลคูโจ จักรพรรดินีโชเก็งมาจากตระกูลอิชิโจ และจักรพรรดินีซาดาโกะ มาจากตระกูลคูโจ ดังนั้นโทกิโกะ อิชิโจจึงเป็นตัวเลือกที่เป็นไปได้ที่สุด[19] อย่างไรก็ตามมีความกังวลว่า เจ้าหญิงมาซาโกะ นาชิโมโตะมีพระชนมายุเท่ากันกับมกุฎราชกุมาร แต่มีปัญหาของตระกูลนาชิโมโตะที่มีบุตรยาก และพระบิดาของเจ้าหญิงมีอิทธิพลทางการเมืองไม่มากนัก ส่วนโทกิโกะ อิชิโจเป็นพระญาติฝ่ายจักรพรรดินีที่มีสายเลือดใกล้ชิดกันเกินไป ดังนั้นจึงมีการเลือกเจ้าหญิงนางาโกะแห่งคูนิเป็นว่าที่พระชายาในมกุฎราชกุมาร[19] ว่ากันว่ามกุฎราชมารฮิโระฮิโตะได้เสด็จประทับรถม้ามายังโรงเรียน ซึ่งในเวลานั้นเจ้าหญิงนางาโกะ ถือเป็นสตรีที่ถือว่ามีพระสิริโฉมพระองค์หนึ่ง แม้พระองค์จะสวมฉลองพระองค์เป็นกิโมโน และกระโปรงฮากามะ ซึ่งเป็นกระโปรงจับจีบแบบญี่ปุ่น รวบพระเกศาด้วยริบบิ้นสีขาว และถุงพระบาทสีดำ เมื่อมกุฎราชกุมารฮิโระฮิโตะทอดพระเนตรเห็น และให้ความสนพระทัยเจ้าหญิงนางาโกะ[1] พระองค์ก็ตัดสินพระทัยที่จะเลือกมาเป็นพระคู่หมั้น[20]

การศึกษาของเจ้าหญิงและการเลื่อนพระราชพิธีอภิเษกสมรส

Thumb
เจ้าหญิงนางาโกะแห่งคูนิ ในค.ศ. 1918 พระชนมายุ 15 พรรษา

ในวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1918 (ปีไทโชที่ 7) ไวเคานต์ทากานาโอะ ฮาตาโนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระราชสำนัก ได้แจ้งต่อเจ้าชายคูนิโยชิ คูนิโนะมิยะ พระราชบิดาของเจ้าหญิง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ที่ประจำอยู่ที่เมืองโทโยฮาชิ จังหวัดไอจิ ว่า เจ้าหญิงนางาโกะทรงได้รับเลือกให้เป็นพระชายาในมกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะ[21] เจ้าชายคูนิโยชิจึงรีบเสด็จกลับโตเกียว และไปยังพระราชวังในทันที จากนั้นทรงตอบรับการหมั้นระหว่างพระธิดาของพระองค์กับมกุฎราชกุมารต่อจักรพรรดิโยชิฮิโตะ (ไทโช) และจักรพรรดินีซาดาโกะ[21]

หลังจากข่าวนี้ถูกเปิดเผยในวันที่ 19 มกราคม มีการประกาศในช่วงเข้าแถวตอนเช้าของกากุชูอินว่าในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เจ้าหญิงต้องถอนออกจากการศึกษาเพราะต้องทรงหมั้น จากนั้นตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน เจ้าหญิงนางาโกะต้องได้รับการศึกษาอบรมในฐานะโคไตชิฮิ (มกุฎราชกุมารี) ในสถาบันการศึกษาที่จัดตั้งขึ้นภายในตำหนักของตระกูลคูนิ สถาบันการศึกษานี้ถูกเรียกว่า "โอฮานะโกเต็น" (วังดอกไม้) นอกเหนือจากพระขนิษฐาที่เข้าศึกษาด้วยแล้ว ยังมีพระสหายร่วมชั้นเรียนที่สนิท เช่น ซาดาโกะ ซาโต (บุตรสาวคนโตของทัตสึจิโร ซาโต ซึ่งต่อมาเป็นภรรยาของชิเงยูกิ คาโต) และโนบูโกะ ฮิรายามะ (บุตรสาวคนที่ห้าของชิเงโนบุ ฮิรายามะ) ทั้งหมดได้ร่วมศึกษาพร้อมกัน หลังจากจบหลักสูตรที่กากุชูอิน[22] ได้มีการวางแผนการศึกษาของเจ้าหญิงไว้ว่าจะใช้เวลาสองหรือสามปี ในสถาบันดังกล่าว เจ้าหหญิงประทับอยู่กับหัวหน้าฝ่ายการศึกษา คิคุโนะ โกคัง และศึกษาในหลากหลายวิชาเช่น ด้านวิชาการ วัฒนธรรม เทนนิส และศิลปะการใช้ดาบนากินาตะ[23] นอกจากนี้เจ้าหญิงยังทรงเรียนเปียโนกับอายาโกะ โกเบ[24]

อาคารวังดอกไม้นั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อเตรียมการศึกษาแก่มกุฎราชกุมารีโดยเฉพาะ ซึ่งต่อมามีการบริจาคอาคารให้แก่โรงเรียนมัธยมปลายสตรีเขตสามแห่งจังหวัดโตเกียว ซึ่งตั้งอยู่ในแขวงอาซาบุ โตเกียว (ปัจจุบันคือ ย่านอาซาบุ-จูบัง เขตมินาโตะ (โตเกียว))[25] เนื่องด้วยการปฏิรูปการศึกษาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนมัธยมปลายสตรีเขตสาม จังหวัดโตเกียว จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมศึกษาโคมาบะมหานครโตเกียว และย้ายไปตั้งในย่านโอฉาชิ, เขตเมงูโระ, โตเกียว วังดอกไม้ หรือ อาคารโอฮานะ จึงถูกย้ายมาที่ตั้งปัจจุบันและกำหนดไว้เป็น "หอพักเกียวโกะ"[25]

ในค.ศ. 1919 (ปีไทโชที่ 8) มกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะทรงเพิ่งทราบข่าวการหมั้นหมายของพระองค์[26] ในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน จักรพรรดินีซาดาโกะ หรือ จักรพรรดินีเทเม พระราชทานทองข้อพระกรเพชรแก่เจ้าหญิงนางาโกะ ว่าที่พระชายาในอนาคตของพระราชโอรส ซึ่งเป็นทองข้อพระกรเดียวกันกับที่พระนางได้รับพระราชทานมาจากจักรพรรดินีโชเก็ง[27] ในวันที่ 4 พฤศจิกายน เจ้าชายและเจ้าหญิงคูนิ กราบทูลเชิญมกุฎราชกุมารเสด็จมายังตำหนักที่ประทับในย่านชิบูย่า เพื่อให้เจ้าหญิงนางาโกะเข้าเฝ้าฯ[28] อย่างไรก็ตามการดูตัวพระองค์ในครั้งนี้เป็นเพียงพิธีการเท่านั้นและทั้งสองพระองค์ไม่ได้ตรัสอะไรกันเลย[26]

ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1921 (ปีไทโชที่ 10) มกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จักรพรรดิโยชิฮิโตะที่ทรงพระประชวร ในปีเดียวกันนั้นเองได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "เหตุการณ์ร้ายแรงในราชสำนัก" ขึ้น เมื่อเก็นโร ยามางาตะ อาริโตโมะ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและนายกรัฐมนตรีสองสมัยในรัชกาลก่อน ออกมาบีบบังคับให้ตระกูลคูนิ โนะ มิยะถอนตัวออกจากการหมั้นหมายครั้งนี้ จอมพลชราอ้างถึงความเสี่ยงทางพันธุกรรมของเจ้าหญิงนางาโกะที่มีเชื้อสายเป็นโรคตาบอดสี ซึ่งสืบมาจากตระกูลชิมาซุ ซึ่งทำให้พระนางไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารี รายละเอียดของเหตุการณ์ดังกล่าวมีการดำเนินการเป็นความลับขั้นสูงสุด แต่ก็มีความคาดเดาแพร่สะพัดออกมามากมาย และมีความเห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นแผนการสมคบคิดของยามางาตะเพื่อรักษาอิทธิพลในราชสำนักของเขาให้ดำรงอยู่ต่อไป การดำเนินแผนการของยามางาตะครั้งนี้ กลับทำให้หลายคนแสดงความเห็นอกเห็นใจตระกูลคูนิมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ฝ่ายต่อต้านยามางาตะก่อตัวขึ้นออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยามางาตะพยายามที่จะควบคุมราชสำนัก[29] รวมถึงนายกรัฐมนตรี ฮาระ ทากาชิ ตลอดจนคณะรัฐมนตรีฮาระ ได้ใช้เหตุการณ์นี้เพื่อกำจัดยามางาตะออกจากอำนาจ และในที่สุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ กระทรวงพระราชสำนักได้ออกประกาศว่า "ประเด็นการสถาปนาเจ้าหญิงนางาโกะเป็นมกุฎราชกุมารี กระทรวงเราได้ยินข่าวลือต่างๆ มากมายหลากหลายทั่วโลก แต่การตัดสินใจดังกล่าวยังคงไม่เปลี่ยนแปลง" และเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการแก้ไขวิกฤต (การห้ามเผยแพร่บทความต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ก็ถูกยกเลิกในวันต่อมาด้วย)

เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เจ้าชายคูนิโยชิทรงทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อจักรพรรดินีซาดาโกะ ว่า เจ้าหญิงไม่ทรงสามารถปฏิเสธการหมั้นหมายได้อาศัยตามประกาศของกระทรวงพระราชสำนัก ซึ่งเจ้าชายกดดันให้จักรพรรดินีต้องทรงตัดสินพระทัยดำเนินการโดยทันที[30] ตั้งแต่วันหมั้นจนถึงวันเกิดเหตุการณ์ มีบทความพร้อมพระฉายาลักษณ์ของเจ้าหญิงนางาโกะเพียง 5 บทความเท่านั้น[31] แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว บทความหลายบทความได้ถูกตีพิมพ์ขึ้น เริ่มต้นด้วยนิตยสารภาษาอังกฤษ เดอะฟาร์อีสต์ ที่ให้ความสำคัญแก่เจ้าหญิงนางาโกะในฐานะหญิงสาวผู้ทรงธรรมจริยา (คุณสมบัติ) เพียบพร้อมที่จะสามารถเป็นมกุฎราชกุมารีและจักรพรรดินีในอนาคต[32] แหล่งที่มาของข้อมูลส่วนใหญ่มาจากพระอาจารย์ส่วนพระองค์ของเจ้าหญิงคือ คิคุโนะ โกคัง และผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพระราชวัง นาโอฮาชิโร คูริตะ และนอกเหนือจากบทความแล้วยังมีความเรียงและรูปถ่ายของเจ้าหญิงนางาโกะด้วย จึงเชื่อได้ว่า ตระกูลคูนิ โนะ มิยะพยายามเข้าครอบงำสื่อสิ่งพิมพ์[33]

นอกจากนี้จักรพรรดินีซาดาโกะ หรือ จักรพรรดินีเทเม ซึ่งควรที่จะทรงมีความประทับพระทัยที่ดีต่อเจ้าหญิงนางาโกะ พระนางกลับทรงลังเลที่จะเดินหน้าการหมั้นหมายครั้งนี้ เนื่องจากพระนางทรงพิโรธต่อเจ้าชายคูนิโยชิที่ไม่ทรงขออภัยพระนาง และทรงพิโรธพระสัสสุระในอนาคตของมกุฎราชกุมารที่สร้างความทะเยอทะยานทางการเมืองในเหตุการณ์นี้[34] หลังจากเจ้าชายได้รัฐบาลหนุนหลังไปพร้อมๆ กับการกำจัดยามางาตะออกจากอำนาจ

หลังจากเหตุการณ์คลี่คลาย มกุฎราชกุมารได้เสด็จเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรก (การเสด็จประพาสยุโรปของมกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะ) พระองค์ได้รับการต้อนรับจากราชวงศ์อังกฤษ และทรงได้รับอิทธิพลการสมรสแบบสามีภรรยาคนเดียว พระองค์ได้ทรงซื้อกระจกพระหัตถ์ทำจากเงินให้แก่สตรีพี่น้องคูนิ โนะ มิยะทั้งสามพระองค์ ระหว่างทรงเยี่ยมชมสินค้าที่ฝรั่งเศสอย่างลับๆ[35] ในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1922 (ปีไทโชที่ 11) มกุฎราชกุมารทรงเรียกรัฐมนตรีกระทรวงพระราชสำนัก มากิโนะ โนบุอากิ ให้เข้าเฝ้าฯ เพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเดินทางไปกลับของเหล่านางสนองพระโอษฐ์ เพื่อควบคุมและรักษาความลับของราชวงศ์ในอนาคต[36]

Thumb
เจ้าชายฮิโรฮิโตะขณะดำรงเป็นมกุฎราชกุมาร(ปี 1916 ขณะพระชนมายุ 15 พรรษา)
เจ้าชายฮิโรฮิโตะขณะดำรงเป็นมกุฎราชกุมาร(ปี 1916 ขณะพระชนมายุ 15 พรรษา) 
Thumb
เจ้าหญิงนางาโกะในช่วงการหมั้น(ปี 1918 ขณะพระชนมายุ 15 พรรษา)
เจ้าหญิงนางาโกะในช่วงการหมั้น(ปี 1918 ขณะพระชนมายุ 15 พรรษา) 
Thumb
ตระกูลคูนิ โนะ มิยะฉายพระรูปเป็นที่ระลึกในช่วงประกาศหมั้นหมาย เจ้าหญิงนางาโกะประทับอยู่แถวหน้า
ตระกูลคูนิ โนะ มิยะฉายพระรูปเป็นที่ระลึกในช่วงประกาศหมั้นหมาย เจ้าหญิงนางาโกะประทับอยู่แถวหน้า 
Thumb
หนังสือพิมพ์โตเกียวอาซาฮีชิมบุน รายงานว่า "ไม่มีการเปลี่ยนแปลงงานหมั้น รัฐมนตรีกระทรวงพระราชสำนักลาออกแล้ว (11 กุมภาพันธ์ 1921)"
หนังสือพิมพ์โตเกียวอาซาฮีชิมบุน รายงานว่า "ไม่มีการเปลี่ยนแปลงงานหมั้น รัฐมนตรีกระทรวงพระราชสำนักลาออกแล้ว (11 กุมภาพันธ์ 1921)" 

เจ้าหญิงนางาโกะกับการเปิดพระองค์ต่อสื่อ

Thumb
มกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะ เจ้าชายผู้สำเร็จราชการแห่งญี่ปุ่น ค.ศ.1923 (พระชนมายุ 22 พรรษา)
Thumb
เจ้าหญิงนางาโกะแห่งคูนิในช่วงทรงหมั้น (ค.ศ. 1922 พระชนมายุ 19 พรรษา)

หลังจากการแทรกแซงของราชสำนักผ่านรัฐมนตรีมากิโนะ โนบุอากิ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1922 เนื่องจากเหตุการณ์ร้ายแรงในราชสำนัก ตระกูลคูนิได้อนุญาตให้มีการฉายพระรูปเจ้าหญิงนางาโกะขณะเสด็จเยือนศาลเจ้าและสถานที่สักการบูชาอื่นๆ[37] โดยเฉพาะพระรูปในขณะที่ทรงเพลิดเพลินกับการขุดหาหอยแครงที่ชายหากมาคุฮาริ ซึ่งทรงฉลองพระองค์พับชายกิโมโนขึ้น เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ทำให้เกิดความฮือฮาในหมู่สาธารณชน[38] คูราโตมิ ยูซาบูโร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของราชสำนัก และโทกูงาวะ โยริโนริ ประธานราชสำนัก แสดงความรู้สึกสับสนวุ่นวาย และไซอนจิ ฮาชิโร รองหัวหน้าฝ่ายพิธีการได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ภาพดังกล่าวนั้นอย่างรุนแรง[38]

ในวันที่ 20 มิถุนายน รัฐมนตรีกระทรวงพระราชสำนัก มากิโนะ โนบุอากิ ได้ขอให้มกุฎราชกุมารทรงลงพระอภิไธยอนุญาตให้มีการอภิเษกสมรส และเป็นการลงพระปรมาภิไธยแทนสมเด็จพระจักรพรรดิไทโช พระราชชนก จึงเป็นผลให้ได้มีการพระบรมราชานุญาตอย่างเป็นทางการ[39][40] พระราชพิธีหมั้นถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 28 กันยายน ปีเดียวกัน และพระราชพิธีอภิเษกสมรสมีกำหนดขึ้นในวันที่ 27 พฤศจิกายนของปีถัดไป คือ ค.ศ. 1923 (ปีไทโชที่ 12)[40]

เมื่อมีพระบรมราชานุมัติพระราชทานมา รัฐมนตรีมากิโนะได้กราบทูลขอให้เจ้าชายคูนิโยชิทรงละลดการฉายพระรูปเจ้าหญิงนางาโกะ หรือ การให้ลงพิมพ์ในบทความ[38] การเสด็จเยือนภูมิภาคโทโฮกุของเจ้าหญิงนางาโกะและตระกูลคูนิ โนะ มิยะถูกยกเลิกโดยเจ้าชายคูนิโยชิตามคำขอของมากิโนะ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกถ่ายภาพ[38] นอกจากนี้ระหว่างเดือนกันยายนของปีเดียวกัน และราวเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป หัวหน้ากิจการตระกูลโทกูงาวะ โยชิโอะ ซาคามากิและโยชิโนริ ฟูตาระได้สนับสนุนแผนการให้เจ้าหญิงนางาโกะเสด็จเยือนประเทศตะวันตก[38] แต่ในที่สุดแผนการดังกล่าวถูกยกเลิก เนื่องจากรัฐมนตรีมากิโนะคัดค้านอย่างหนัก และแม้แต่คูราโตมิก็มีความเห็นในเชิงลบเกี่ยวกับการที่เจ้าหญิงนางาโกะจะเสด็จประพาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ[41]

ในวันที่ 28 กันยายน พระราชพิธีหมั้นหมาย มีพิธีอุทิศตนต่อศาลเจ้าบรรพบุรุษจักรพรรดิคะชิโกโดโกโร ถวายเครื่องบูชาแก่ศาลเจ้าใหญ่ ศาลเจ้าอิเซะ สุสานจักรพรรดิจิมมุ และสุสานจักรพรรดิเมจิและจักรพรรดินีโชเก็ง มีการจัดพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และพิธีประทานดาบ[42] เวลา 8 นาฬิกา เคานท์โทกูงาวะ ซาโตทากะ สมุหพระราชวัง ได้เดินทางไปยังตำหนักคูนิ โนะ มิยะในฐานะผู้แทนพระราชพิธีหมั้นหมาย และในเวลา 13.30 นาฬิกา บารอน โคบายาคาวะ ชิโร รองสมุหพระราชวังได้ไปยังพระตำหนักเพื่อเป็นตัวแทนพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนมงกุฎ[42] พิธีดังกล่าวถือเป็นการกำหนดหมั้นหมายอย่างเป็นทางการ เจ้าหญิงนางาโกะทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนมงกุฎ ชั้นที่ 1 ตามมาตรา 10 ของข้อบังคับว่าด้วยสถานะราชวงศ์ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการชุดนี้แล้ว การหมั้นหมายก็ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการ[43]

หลังจากพระราชพิธีหมั้น ฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1923 (ปีไทโชที่ 12) ตระกูลคูนิ โนะ มิยะได้เดินทางไปท่องเที่ยวรอบเกาะคีวชู เกาะชิโกกุและคันไซ เป็นเวลา 40 วัน ในภายหลังในคราวที่จักรพรรดินีนางาโกะทรงฉลองวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา พระนางทรงมีพระราชดำรัสกล่าวถึงการเสด็จประพาสครั้งนี้ เป็นความทรงจำอันน่ายินดีเรื่องแรกในพระชนม์ชีพของพระนางตลอดช่วง 60 ปีที่ผ่านมา[44] ระหว่างการเสด็จญี่ปุ่นภาคตะวันตกนี้ เรื่องราวการเดินทาง พฤติกรรม และฉลองพระองค์ของเจ้าหญิงนางาโกะได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง[45] นอกจากนี้ตระกูลคูนิยังอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวถ่ายภาพได้อย่างอิสระ เป็นพระฉายาลักษณ์ที่มีชีวิตชีวาของเจ้าหญิงนางาโกะในแต่ละสถานที่ ซึ่งมีการเผยแพร่อย่างแพร่หลายในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมถึงโปสการ์ด และใน "รายงานภาพการเดินทางของเจ้าหญิงนางาโกะ"[46] เจ้าหญิงนางาโกะทรงได้รับการต้อนรับจากผู้แทนของแต่ละสถานที่ โดยมีประชาชนมารวมตัวตลอดเส้นทางเมืองฟูกูโอกะจำนวนกว่า 100,000 คน และเมืองคูรูเมะจำนวนกว่า 150,000 คน โดยมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด[47] ในช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับช่วงที่ชนชั้นกลางใหม่เกิดขึ้น เจ้าหญิงนางาโกะจึงทรงได้รับความนิยมและทรงได้รับการพรรณนาจากสื่อว่าเป็น "หญิงสาวผู้โปรดกีฬาและดนตรี"[48] ทำให้ราชวงศ์ได้รับความนิยมในเรื่องที่เป็นทางโลกมากขึ้น[49] (แต่เดิมราชวงศ์ถูกมองว่าสูงส่งเทียบเคียงเทพเจ้ามาเสมอ) เมื่อได้รับความนิยมจากสังคมมากขึ้น ภาพลักษณ์ของราชวงศ์ก็เปลี่ยนไป โดยเน้นที่รูปลักษณ์และแฟชั่นฉลองพระองค์ ส่งผลให้เชื้อพระวงศ์ได้ "กลายสภาพเหมือนเป็นดารา" และเจ้าหญิงนางาโกะทรงเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเรื่องนี้[50]

ในฤดูร้อน เจ้าหญิงนางาโกะประทับอยู่ที่อาคาคูระ จังหวัดนีงาตะ เป็นวิลลาที่สร้างขึ้นโดยมาร์ควิส โมริทากะ โฮโซกาวะ เมื่อปีที่แล้ว[51] เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต ค.ศ. 1923 ในวันที่ 1 กันยายน พระนางทรงรู้สึกโล่งพระทัยเมื่อมกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะ พระคู่หมั้นทรงปลอดภัย และเจ้าหญิงทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเย็บกิโมโนให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้อีกด้วย[52] มกุฎราชกุมารได้เสด็จตรวจเยี่ยมภายในเมืองหลวง 2 ครั้งในเดือนนั้น ทรงตัดสินพระทัยที่จะเลื่อนพระราชพิธีอภิเษกสมรสออกไป[53][54]

นอกจากนี้ เกิดเหตุการณ์โทราโนมง วันที่ 27 ธันวาคม ของปีเดียวกัน ส่งผลให้ราชวงศ์ตกอยู่สถานการณ์ล่อแหลม เมื่อมกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงถูกลอบปลงพระชนม์โดยไดสุเกะ นัมบะ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น[55] โดยได้ยิงปืนเข้าใส่รถม้าพระที่นั่งของพระองค์ที่กำลังผ่านประตูโทราโนมง แต่โชคดีที่กระสุนไม่โดนองค์มกุฎราชกุมาร แต่ไปถูกสมุหราชวังได้รับบาดเจ็บ[56] นัมบะต้องการแก้แค้นให้สมาชิกฝ่ายซ้ายที่ถูกรัฐบาลสังหารหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว เขาถูกตัดสินประหารชีวิตในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1924 นายกรัฐมนตรี ยามาโมโตะ กนโนเฮียวเอะ แสดงความรับผิดชอบต่อการขาดการถวายความปลอดภัยให้พระราชวงศ์ทีดีพอ เขาจึงประกาศลาออกพร้อมคณะรัฐมนตรีทั้งคณะพร้อมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคน[56]

มกุฎราชกุมารี

Thumb
มกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะและมกุฎราชกุมารีนางาโกะ เวลาไม่นานหลังพระราชพิธีอภิเษกสมรส ค.ศ. 1924 จะเห็นได้ว่ามกุฎราชกุมารยังไม่ทรงไว้พระมัสสุ (หนวด) ในเวลานั้น

ในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1924 (ปีไทโชที่ 13) ก่อนการอภิเษกสมรส ได้มีการจัดตั้งระบบข้าราชการสตรีสำหรับสำนักงานมกุฎราชกุมารขึ้น โดยอนุญาตให้สตรีที่สมรสแล้วสามารถเดินทางมาทำงานเองได้ และมีการยกเลิกตำแหน่งที่เป็นทางการต่างๆ เช่น "เนียวโจ" (นางในพระราชวัง) และตำแหน่งสนมอื่นๆ ทั้งนี้เป็นแนวคิดของมกุฎราชกุมารซึ่งทรงยึดมั่นการมีคู่สมรสคนเดียว[57][58]

ในวันที่ 12 มกราคม มีการประกาศว่าพระราชพิธีอภิเษกสมรสจะจัดขึ้นในวันที่ 26 มกราคม[59] และพิธีการยอมรับก็ถูกจัดขึ้นในวันเดียวกันด้วย[60]

ในวันที่ 25 มกราคม คืนก่อนพระราชพิธี ได้มีการจัดงานเลี้ยงอำลาที่พระตำหนักคูนิ โนะ มิยะ เจ้าหญิงนางาโกะทรงเล่นเปียโน ครอบครัวของพระนางและผู้ใกล้ชิด ได้ร่วมกันขับร้องเพลงโฮโตรุ โนะ ฮิคาริอย่างอบอุ่นเพื่อแสดงความยินดีกับพระนาง[61] ในวันอภิเษกสมรส เจ้าหญิงทรงตื่นบรรทมเวลา 03.00 น. และเสด็จเยือนศาลบรรพบุรุษในสวนตำหนักเวลา 04.00 น.[62] หลังจากทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์เป็นกิโมโน 12 ชั้น พระนางทรงได้รับการต้อนรับโดยไวเคานต์ อิริเอะ ทาเมโมริ สมุหราชวังสำนักมกุฎราชกุมาร [iii] และนำเจ้าหญิงเสด็จออกจากตำหนักคูนิ ผ่านเขตทาคากิโช, เขตมินามิ-อาโอยามะ, โอโมเตมาจิ-โดริ, อากาซากะ-มิตสึเกะ, นากาตะมาจิ-โดริ, ย่านคาซูมิงาเซกิ, ประตูซากูราดะ และอิวาอิดามาจิ-โดริ (ทั้งหมดเป็นชื่อสถานที่ในยุคสมัยนั้น) จากนั้นมาถึงประตูหลักของพระราชวังอิมพีเรียล[63]

พระราชพิธีนี้เกือบจะเหมือนกันกับคราวพระราชพิธีอภิเษกสมรสของจักรพรรดิไทโชและจักรพรรดินีเทเม ซึ่งถือเป็นพระราชพิธีแบบชินโตครั้งแรกในประวัติศาสตร์[57] ท่ามกลางการประดับไฟเฉลิมฉลองและเสียงโห่ร้องยินดี มีรายงานว่าเจ้าชายคูนิและพระชายาทรงทอดพระเนตรแสงไฟจากบริเวณอาคารหน้าพระราชวังโทงู (ตำหนักมกุฎราชกุมาร) ในย่านอากาซากะ โดยไม่ทรงได้เสด็จเข้าไปด้วย จากนั้นทั้งสองจึงเสด็จกลับ (ปัจจุบันคือพระตำหนักอากาซากะ)[64]

มกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะทรงเริ่มไว้พระมัสสุ (หนวด) หลังการอภิเษกสมรส[65] พระองค์ทรงเรียกเจ้าหญิงนางาโกะ พระชายาว่า "นากามิยะ" ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์เป็นไปได้ด้วยดีนับแต่นั้นมา และจากคำบอกเล่าของไอสึเกะ โอคาโมโตะ ซึ่งเป็นกรมวังสำนักมกูฎราชกุมารเวลานั้น ระบุว่า ทั้งสองพระองค์มักจะทรงเดินจับพระหัตถ์กันตลอด[66] ตั้งแต่เดือนสิงหาคมของปีนั้น ทั้งสองพระองค์เสด็จไปฮันนีมูนตามแบบตะวันตกที่วิลล่าโอกิชิมะของเจ้าชายทากามัตสึ (ปัจจุบันคือ เทนเคียวคาคุ) ในเมืองอินาวาชิโระ จังหวัดฟูกูชิมะ[67] การปรากฏพระองค์ของมกุฎราชกุมารและมกุฎราชกุมารีได้ดึงดูดความสนใจของผู้คน โดยถูกใช้เป็นภาพฉากหลังของกระทรวงศึกษาธิการในนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน[48]

ในเวลา 20.10 น. ของวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1925 (ปีไทโชที่ 14) มกุฎราชกุมารีนางาโกะทรงมีพระประสูติกาล เจ้าหญิงชิเงโกะ เทรุโนะมิยะ พระราชธิดาพระองค์แรก[68] และการประสูติเจ้าหญิงได้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เป็นเหตุการณ์ที่น่ายินดีท่ามกลางการฟื้นฟูประเทศหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต มีการเลือกแม่นม 3 คน เพื่ออภิบาลเจ้าหญิง[69] แต่มีการใช้แม่นมช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น และมกุฎราชกุมารีทรงให้นมแก่พระราชธิดาด้วยพระองค์เองเท่าที่จะทรงทำได้ จากบันทึกความทรงจำของแม่นม ระบุว่า พวกเธิถวายพระอภิบาลนมแก่เจ้าหญิงเทรุในเวลากลางคืน โดยมีพระพี่เลี้ยงตามมาด้วยในห้องของพระจักรพรรดิ มกุฎราชกุมารีนางาโกะทรงประทับรออยู่หลังฉากกั้นสีทอง[70] ในช่วงระยะเวลา 9 เดือนที่แม่นมถวายงานแก่มกุฎราชกุมารีนางาโกะ พวกเธอได้เข้าเฝ้าฯ พระนางเป็นการส่วนพระองค์เพียงสามครั้งเท่านั้น[71] ในช่วงเวลาที่เจ้าหญิงเทรุประสูติ มีการรายงานเรื่องการตั้งครรภ์และการประสูติในพระราชวงศ์มากขึ้น และนับแต่นั้น มกุฎราชกุมารีนางาโกะทรงได้รับการพรรณนาภาพว่าทรงเป็น "มารดา" จากสื่อต่างๆ[72]

ปีต่อมา ค.ศ. 1926 (ปีไทโชที่ 15) พระอาการประชวรของจักรพรรดิโยชิฮิโตะ หรือ จักรพรรดิไทโช ในขณะที่ทรงพักฟื้นที่อิมพีเรียลวิลลาฮายามะนั้นแย่ลง แม้ว่ามกุฎราชกุมารและมกุฎราชกุมารีจะเสด็จไปเข้าเฝ้าฯ ที่ฮายามะในวันที่ 13 ธันวาคม แต่พระอาการของจักรพรรดิยังคงรุนแรงมากจนไม่สามารถเสด็จกลับโตเกียวได้[73] ต่อมาในเวลา 01.25 น. ของวันที่ 25 ธันวาคม จักรพรรดิไทโชเสด็จสวรรคต ขณะมีพระชนมายุ 47 พรรษา

Thumb
เจ้าหญิงนางาโกะในพระราชพิธีอภิเษกสมรส(พระบรมฉายาลักษณ์ ค.ศ. 1924)
เจ้าหญิงนางาโกะในพระราชพิธีอภิเษกสมรส(พระบรมฉายาลักษณ์ ค.ศ. 1924) 
Thumb
มกุฎราชกุมารและมกุฎราชกุมารี(ค.ศ. 1924)
มกุฎราชกุมารและมกุฎราชกุมารี(ค.ศ. 1924) 
Thumb
มกุฎราชกุมาร มกุฎราชกุมารีและเจ้าหญิงชิเงโกะ เทรุโนะมิยะ พระราชธิดา(ค.ศ. 1925)
มกุฎราชกุมาร มกุฎราชกุมารีและเจ้าหญิงชิเงโกะ เทรุโนะมิยะ พระราชธิดา(ค.ศ. 1925) 

สมเด็จพระจักรพรรดินี

Thumb
จักรพรรดินีนางาโกะทรงฉลองพระองค์ จูนิฮิโตเอะ (กิโมโน 12 ชั้น) ซึ่งเป็นฉลองพระองค์ในคราวพิธีขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิญี่ปุ่น (ค.ศ. 1928)

วันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1926 (ปีไทโชที่ 15) จักรพรรดิไทโช พระสัสสุระของมกุฎราชกุมารีนางาโกะ เสด็จสวรรคต และจักรพรรดินีซาดาโกะ พระสัสสุ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระพันปีหลวง และมกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะทรงสืบราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ พระองค์ที่ 124 แห่งญี่ปุ่น ในเวลา 03.15 น. มิชิซาเนะ คุโจ เจ้ากรมพิธีทางศาสนาได้ประกอบพิธีที่พระราชวังหลวงโตเกียว และพิธีไตรราชกกุธภัณฑ์ที่อิมพีเรียลวิลลาฮายามะ[74] มกุฎราชกุมารีนางาโกะ พระมเหสีในจักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงกลายเป็น "จักรพรรดินีพระองค์แรกที่มาจากเชื้อพระวงศ์" นับตั้งแต่สมัยเจ้าหญิงโยชิโกะ (ค.ศ. 1794-1820) ทรงเป็นจักรพรรดินีในจักรพรรดิโคกากุ จักรพรรดิพระองค์ที่ 119

จักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งสมัยโชวะ ยังคงประทับอยู่ในพระราชวังอากาซากะ เนื่องจากทั้งสองพระองค์ทรงคุ้นชินการดำรงพระชนม์แบบตะวันตก และจักรพรรดินีนางาโกะทรงพระครรภ์พระบุตรองค์ที่สอง[75]

ในวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1927 (ปีโชวะที่ 2) พระนางทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาองค์ที่สอง คือ เจ้าหญิงซาจิโกะ ฮิซะโนะมิยะ แต่เจ้าหญิงกลับสิ้นพระชนม์ด้วยภาวะพิษเหตุติดเชื้อในปีถัดมา ค.ศ. 1928 (ปีโชวะที่ 3) จักรพรรดินีทรงแต่งพระพักตร์พระศพเจ้าหญิงด้วยพระองค์เอง[76] และจักรพรรดิโชวะทรงฝ่าฝืนธรรมเนียมห้าม โดยทรงร่วมพระราชพิธีพระศพของพระราชธิดาด้วย[77] ด้วยความโศกเศร้ายิ่งนี้ จักรพรรดินีทรงมีรับสั่งให้จัดทำตุ๊กตาที่มีขนาดพอๆ กับพระสรีระของเจ้าหญิงฮิซะเพื่อระลึกถึง[78]

ในวันที่ 28 กันยายน ปีเดียวกัน จักรพรรดิฮิโรฮิโตะและจักรพรรดินีนางาโกะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับยังพระราชวังหลวง หลังจากทรงเสด็จฯ ไปพักฟื้นที่เมืองนาสุ[79] ทั้งสองพระองค์ทรงฝ่าฝืนธรรมเนียมโดยทรงประทับในห้องบรรทมเดียวกัน[80]

ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน พิธีขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิญี่ปุ่นถูกจัดขึ้นที่พระราชวังหลวงเกียวโต หลังจากได้ทรงเสด็จประพาสจังหวัดเกียวโต, จังหวัดมิเอะและจังหวัดนาระในวโรกาสนี้ พระนางก็ไม่ได้เสด็จประพาสต่างจังหวัดอีกเลยเป็นเวลาหลายปี ยกเว้นในช่วงที่เสด็จไปประทับพักฟื้นที่อิมพีเรียลวิลลา[81]

ในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1929 (ปีโชวะที่ 4) พระอาการของเจ้าชายคูนิโยชิ คูนิโนะมิยะ พระบิดาของจักรพรรดินี ซึ่งทรงพักรักษาพระองค์อยู่ที่เมืองอาตามิ จังหวัดชิซูโอกะนั้น ย่ำแย่ลง จักรพรรดินีนางาโกะเสด็จพระราชดำเนินขึ้นรถไฟธรรมดา แทนที่จะทรงประทับรถไฟหลวง เพื่อไปยังคฤหาสน์ของเจ้าชายคูนิที่อาตามิ และทรงอยู่เคียงข้างพระบิดาจนพระองค์สิ้นพระชนม์ (เจ้าชายคูนิสิ้นพระชนม์ขณะพระชนมายุ 55 พรรษา)[82]

Thumb
จักรพรรดินีนางาโกะทรงฉลองพระองค์ทางการ ทรงฉลองพระองค์คอต่ำ ทรงเทริด พร้อมเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนมงกุฎ ชั้นที่ 1 และเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงคลรัตน์ ชั้นที่ 1 (พระบรมฉายาลักษณ์ ค.ศ. 1928)
จักรพรรดินีนางาโกะทรงฉลองพระองค์ทางการ ทรงฉลองพระองค์คอต่ำ ทรงเทริด พร้อมเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนมงกุฎ ชั้นที่ 1 และเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงคลรัตน์ ชั้นที่ 1 (พระบรมฉายาลักษณ์ ค.ศ. 1928) 

ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์

Thumb
สมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะ และเจ้าชายอากิฮิโตะ พระราชโอรสพระองค์แรกของพระองค์ ในค.ศ. 1934 (ปีโชวะที่ 9)

ในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1929 (ปีโชวะที่ 4) จักรพรรดินีทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาองค์ที่สาม คือ เจ้าหญิงคาซูโกะ ทากะโนะมิยะ ในขณะนั้นมีการประกาศผ่านทางวิทยุผิดพลาดว่า "เจ้าชายประสูติแล้ว" เมื่อมีการแก้ไขก็ได้สร้างความผิดหวังต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมาก[83][84] ในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1931 (ปีโชวะที่ 6) ทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาองค์ที่สี่ คือ เจ้าหญิงอัตสึโกะ โยริโนะมิยะ

ในทางกลับกันเมื่อเจ้าชายยาซูฮิโตะ ชิจิบุโนะมิยะ พระราชอนุชาในจักรพรรดิ ทรงเสกสมรสกับเซ็ตสึโกะ มัตสึไดระ ในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1928 (ปีโชวะที่ 3) จักรพรรดินีเทเม พระพันปีหลวง ทรงโปรดปรานพระราชโอรสองค์ที่สอง พระองค์นี้มากและทรงโปรดรวมถึงพระชายาของพระองค์ด้วย ก่อนที่เจ้าหญิงทากะจะทรงประสูติในปีถัดไป สมเด็จพระพันปีหลวงทรงพระราชทานของขวัญและทรงแต่งกลอนวากะเพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบหนึ่งปีวันเสกสมรสของทั้งสองพระองค์ และทรงหวังว่าจะมีประสูติกาลพระโอรส[85]

ดังนั้นในช่วงต้นโชวะ จึงมีพระราชธิดาสี่พระองค์ประสูติในสายสันตติวงศ์ แต่ยังคงไม่มีพระราชโอรสที่มีสิทธิ์สืบราชบัลลังก์[iv] ทานากะ มิตสึอากิ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพระราชวัง พยายามเสนอรื้อฟื้นระบบพระสนม (การมีภรรยาหลายคน)[86] แต่จักรพรรดิโชวะทรงปฏิเสธข้อเสนอนี้ โดยทรงตรัสว่า พระองค์ไม่สามารถ "ทำสิ่งที่ขัดต่อจริยธรรมของมนุษย์ได้" จึงมีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อให้เจ้าชายชิจิบุ ผู้ทรงมีความเฉลียวฉลาดและเป็นที่นิยมของประชาชน ขึ้นสืบราชบัลลังก์[87]

ในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1930 (ปีโชวะที่ 5) สมาคมสตรีแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ถูกก่อตั้งขึ้น ฮารูโกะ ชิมาซุ[v] ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้านางสนองพระโอษฐ์ในจักรพรรดินี ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสมาคม ฮารูโกะ ชิมาซุได้กำหนดให้วันคล้ายวันพระราชสมภพของจักรพรรดินีโคจุงเป็นวันแม่แห่งชาติ[88]

เมื่อเจ้าหญิงชิเงโกะ เทรุโนะมิยะ พระราชธิดาองค์ใหญ่ทรงเจริญพระชันษาถึงวัยศึกษาเล่าเรียนในค.ศ. 1932 (ปีโชวะที่ 7) จักรพรรดินีนางาโกะทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเจ้าชายโนบูฮิโตะ ทากามัตสึโนะมิยะ พระราชอนุชาในจักรพรรดิ และสมาชิกราชวงศ์องค์อื่นๆ ว่า เจ้าหญิงทรงมีพระอุปนิสัยเอาแต่ใจ[89] เพื่อเป็นการรอมชอมกันระหว่างจักรพรรดิและจักรพรรดินีกับพระญาติวงศ์ เจ้าหญิงเทรุจึงทรงถูกย้ายไปประทับที่หอพักคูเรทาเกะ และทรงได้รับการศึกษาโดยห่างไกลจากพระราชชนกและพระราชชนนี[90] หลังจากนั้นพระขนิษฐาทั้งสองของเจ้าหญิงก็ถูกย้ายเข้าหอพักทีละพระองค์ โดยถูกบังคับให้ย้ายออกจากวังของพระราชชนก หอพักคูเรทาเกะส่วนหนึ่งถูกย้ายไปยังสวนหลวงฟูคิอาเกะหลังสงคราม และปัจจุบันคือร้านน้ำชา "รินโช-เทอิ"

ในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1933 (ปีโชวะที่ 8) มีการประกาศว่าจักรพรรดินีทรงพระครรภ์พระบุตรองค์ที่ห้า ในเวลา 11.00 น. ของวันเดียวกัน จักรพรรดิเสด็จเยือนพระราชวังโอมิยะและเสด็จเยือนสุสานจักรพรรดิไทโช ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ผิดปกติ โดยแม้แต่พระพันปีหลวงไม่ทรงได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังสุสานนั้น[91] จากนั้นเวลา 6.39 น. ของวันที่ 23 ธันวาคม จักรพรรดินีนางาโกะทรงมีพระประสูติกาลพระบุตรองค์ที่ห้า และเป็นพระราชโอรสพระองค์แรก คือ เจ้าชายอากิฮิโตะ[92] ด้วยสาธารณชนเฝ้ารอมานานต่อการประสูติของ "มกุฎราชกุมาร"[vi] กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นประกาศออกเพลง "เพลงเฉลิมฉลองวันประสูติของมกุฎราชกุมาร" ในเดือนถัดมา[93] ภาคเอกชนยังได้สร้างสรรค์เพลงเฉลิมพระเกียรติชื่อว่า "โคไตชิซามะโออุมาเระนัตตะ" (มกุฎราชกุมารประสูติแล้ว) (คำร้องโดยฮาคุชู คิตาฮาระ ทำนองโดยชินเป นากายามะ) และทั่วทั้งญี่ปุ่นเต็มไปด้วยบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง มีการตะโกนโห่ร้องสามครั้งหน้าพระราชวัง มีขบวนแห่ธง ขบวนโคมไฟ ขบวนดอกไม้และจักงานเฉลิมฉลอง[94]

ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1935 (ปีโชวะที่ 10) จักรพรรดินีนางาโกะทรงมีพระประสูติกาลเจ้าชายมาซาฮิโตะ โยชิโนะมิยะ เป็นพระราชโอรสองค์ที่สอง (พระบุตรองค์ที่หก) นอกเหนือจากนี้ด้วยพระราชวงศ์ญี่ปุ่นทรงได้รับการเทิดทูนดุจสถานะเทพเจ้า เจ้าชายอากิฮิโตะทรงได้รับการอภิบาลในพระราชวังโทงุตั้งแต่ค.ศ. 1937 (ปีโชวะที่ 12) แม้ว่าจักรพรรดิจะทรงเป็นพระราชชนกของเจ้าชาย แต่ทั้งสองพระองค์ไม่สามารถพบกันได้เลย เว้นแต่วันหยุดสุดสัปดาห์จึงได้รับการอนุญาตจากฝ่ายราชพิธีให้ทรงพบกันได้ แม้แต่จักรพรรดินางาโกะทรงเตรียมเครื่องเสวยจากเต้าหู้ที่เจ้าชายทรงโปรดปราน แต่เจ้าชายกลับไม่เคยได้เสวยพระกระยาหารที่จักรพรรดินีทรงเตรียมไว้เลย ในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1939 (ปีโชวะที่ 14) จักรพรรดินีทรงมีพระประสูติกาล เจ้าหญิงทากาโกะ ซูงาโนมิยะ พระราชธิดาองค์ที่ห้าและเป็นพระบุตรองค์เล็ก


Thumb
หนังสือพิมพ์โทยามะนิปโปะ รายงานข่าวการประสูติของมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ ในฐานะ "การประสูติขององค์รัชทายาทแห่งอามัตสึ" (24 ธันวาคม ค.ศ. 1933)
หนังสือพิมพ์โทยามะนิปโปะ รายงานข่าวการประสูติของมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ ในฐานะ "การประสูติขององค์รัชทายาทแห่งอามัตสึ" (24 ธันวาคม ค.ศ. 1933) 
Thumb
จักรพรรดินีและเจ้าหญิงทรงเฉลิมฉลองเทศกาลฮินะมัตสึริ จากซ้าย:เจ้าหญิงทากะ, จักรพรรดินีทรงอุ้มเจ้าหญิงซูงะ และเจ้าหญิงเทรุ(มีนาคม 1940)
จักรพรรดินีและเจ้าหญิงทรงเฉลิมฉลองเทศกาลฮินะมัตสึริ จากซ้าย:เจ้าหญิงทากะ, จักรพรรดินีทรงอุ้มเจ้าหญิงซูงะ และเจ้าหญิงเทรุ(มีนาคม 1940) 
Thumb
จักรพรรดิโชวะและพระบรมวงศานุวงศ์ในวันก่อนสงครามระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาจะปะทุ(ภาพถ่าย 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941)
จักรพรรดิโชวะและพระบรมวงศานุวงศ์ในวันก่อนสงครามระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาจะปะทุ(ภาพถ่าย 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941) 

จักรพรรดินีในช่วงสงคราม

Thumb
จักรพรรดินีนางาโกะขณะเสด็จพระราชดำเนินเยือนภูมิภาคคันไซด้วยพระองค์เอง ทรงประทับยืนหน้าชิชินเดนของพระราชวังหลวงเกียวโต เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1941

จักรพรรดินีนางาโกะเสด็จเยือนศาลเจ้ายาซูกูนิในเดือนเมษายน ค.ศ. 1932, 1933 และ 1937 แต่หลังจากการปะทุของสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง พระนางก็ทรงเริ่มเสด็จเยือนศาลเจ้านี้ปีละสองครั้ง (หรือทรงสงบนิ่งที่พระราชวังหลวงโดยในขณะที่จักรพรรดิได้เสด็จพระราชดำเนินไปสักการะที่ศาลเจ้า)[95] พระนางยังเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เองในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1933 และมีนาคม ค.ศ. 1941[96]

นอกจากนี้ในฤดูใบไม้ผลิจนถึงต้นฤดูร้อน ค.ศ. 1938 จักรพรรดินีทรงส่งพระบรมวงศานุวงศ์และพระชายาไปเยี่ยมเยียนโรงพยาบาลและสถานพยาบาลในญี่ปุ่น เกาหลีและไต้หวัน[97] การส่งเหล่าพระชายาในฐานะผู้แทนพระองค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ทำให้ภาพลักษณ์ "แม่แห่งชาติ" และ "แม่ผู้ทรงเมตตา" ของพระนางเผยแพร่ออกไป นอกจากนี้พระนางยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระองค์เองทั้งช่วงก่อนและช่วงระหว่างสงคราม และการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสถานที่ต่างๆ ในญี่ปุ่นก็ได้มีการรายงานข่าวทางภาพยนต์ข่าวในขณะนั้น[98] ในเวลานี้ สื่อต่างๆ ทั้งในหนังสือพิมพ์ วิทยุ และภาพยนต์ข่าว เริ่มขนานนามพระนางว่า "สมเด็จพระนางเจ้าพระมารดาแห่งแผ่นดิน"[99] เมื่อกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ชัยชนะและสามารถยึดครองอู่ฮั่นในวันที่ 27 ตุลาคม ปีเดียวกัน จักรพรรดิโชวะและจักรพรรดินีโคจุงได้ปรากฏพระองค์ที่สะพานนิจูบาชิในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งสองพระองค์ไม่ทรงเคยทำมาก่อน[96]

ในค.ศ. 1940 (ปีโชวะที่ 15) ช่วงระหว่างสงคราม เจ้าฟูมิมาโระ โคโนเอะ นายกรัฐมนตรี ประกาศจัดพระราชพิธีระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 2,600 ปี การสถาปนาประเทศ พระราชพิธีระลึกจัดขึ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน และการเฉลิมฉลองจัดในวันที่ 11 พฤศจิกายน หน้าพระราชวังหลวง โดยจักรพรรดิฮิโรฮิโตะและจักรพรรดินีนางาโกะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธี แต่ในตอนกลางคืนของวันที่ 11 พฤศจิกายน จักรพรรดินีเสด็จฯ มายังหน้าสะพานนิจูบาชิ พร้อมพระราชบุตรทั้งสี่พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงชิเงโกะ เทรุโนะมิยะ, เจ้าหญิงคาซูโกะ ทากะโนะมิยะ, เจ้าหญิงอัตสึโกะ โยริโนะมิยะ และเจ้าชายมาซาฮิโตะ โยชิโนะมิยะ ทรงพยายามตอบสนองต่อเสียงไชโยโห่ร้องของผู้คนในฐานะที่ทรงแยกออกมาจากการโห่ร้องต่อองค์จักรพรรดิและมกุฎราชกุมาร นอกจากนี้เพื่อแสดงภาพลักษณ์การโฆษณาชวนเชื่อของพระนางในฐานะ "พระมารดา" ของประชาชน (ในความเป็นจริง บริเวณนั้นมืดมาก และมีเพียงโคมไฟที่จักรพรรดินีและคนอื่นๆ ถือไว้เท่านั้น จึงมองเห็นพระองค์)[100] ในค.ศ. 1941 (ปีโชวะที่ 16) ตั้งแต่ 15-20 พฤษภาคม จักรพรรดินีเสด็จพระราชดำเนินเยือนด้วยพระองค์เอง โดยเสด็จฯยังจังหวัดมิเอะ, จังหวัดนาระ และจังหวัดเกียวโต โดยนอกเหนือจากเสด็จฯ เยือนศาลเจ้าและสุสานจักรพรรดิแล้ว พระนางยังทรงเสด็จเยือนโรงพยาบาลกองทัพเกียวโต (ปัจจุบัน คือ ศูนย์การแพทย์เกียวโตแห่งองค์การโรงพยาบาลแห่งชาติ) และพระตำหนักชูกาคุอิน[101] เหตุการณ์หนึ่งที่โดดเด่นคือ พิธีถวายการต้อนรับพระนางในวันที่ 18 มีผู้คนมาเข้าเฝ้าฯ กว่า 30,000 คน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างองค์จักรพรรดิและประชาชน และภาพลักษณ์ที่แท้จริงของจักรพรรดินีได้ซ้อนภาพ "พระมารดาผู้เป็นที่รักยิ่ง" ในตัวพระนาง[102]

Thumb
จักรพรรดิโชวะและจักรพรรดินีโคจุงขณะทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 2,600 ปี การสถาปนาประเทศ วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940

วันที่ 8 ธันวาคม ปีเดียวกัน ญี่ปุ่นประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา ด้วยการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์และการทัพมาลายา (จุดเริ่มต้นของสงครามแปซิฟิก หรือ สงครามมหาเอเชียบูรพา) และในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 (ปีโชวะที่ 17) อังกฤษสูญเสียสิงคโปร์ในยุทธการที่สิงคโปร์ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ได้มีการเฉลิมฉลองชัยชนะโดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอกฮิเดกิ โทโจ จักรพรรดิทรงม้าหน้าสะพานนิจูบาชิ หลังจากนั้น จักรพรรดินีทรงปรากฏพระองค์บนสะพานพร้อมด้วยเจ้าหญิงชิเงโกะ เทรุโนะมิยะ, เจ้าหญิงคาซูโกะ ทากะโนะมิยะ, เจ้าหญิงอัตสึโกะ โยริโนะมิยะ และเจ้าชายอากิฮิโตะ สึงุโนะมิยะ (มกุฎราชกุมาร) ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีจากประชาชนนับหมื่นคน[103]

ทุกปีในวันคล้ายวันพระราชสมภพของจักรพรรดินี พระนางจะทรงเชิญยูกะ โนกูจิ ที่ปรึกษาของพระนางมายังพระราชวัง เพื่อทรงสนทนาอย่างเป็นกันเอง แต่ในค.ศ. 1942 จักรพรรดินีทรงขอให้โนกูจิ ซึ่งเป็นคริสเตียน มาบรรยายเรื่องศาสนาคริสต์ (เรื่อง พระคัมภีร์) เป็นครั้งแรก[104] การกระทำนี้ได้รับการสนับสนุนจากทาเคโกะ โฮชินะ นางสนองพระโอษฐ์ของพระนาง[vii] และมิกิโกะ อิจิชิ นางสนองพระโอษฐ์และเป็นต้นห้องของจักรพรรดินี ทาดาทากะ ฮิโรฮาตะ สมุหราชวังของจักรพรรดินีก็พยายามสนับสนุนเช่นกัน[105] ตั้งแต่เมษายน ค.ศ. 1942 จนถึงพฤษภาคม ค.ศ. 1947 โนกูจิได้บรรยายให้พระนางฟังทั้งหมด 15 ครั้ง[106]

ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 1943 พระนางยังทรงส่งเหล่าพระชายาไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อตรวจงานและรับรอง พระนางยังทรงเสด็จฯ ตรวจงานในกรุงโตเกียวด้วยพระนางเองในวันที่ 19 พฤษภาคม โดยทรงฉลองพระองค์เรียบง่าย และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนอย่างกระตือรือร้น[107] วันที่ 13 พฤษภาคม พระนางเพิ่งทรงได้รับการบรรยายครั้งที่สี่จากโนกูจิในรอบ 11 เดือน[108] มีการชี้ให้เห็นว่าแนวคิดของจักรพรรดินีทรงเปลี่ยนไปเนื่องจากอิทธิพลทางความคิดแบบคริสเตียน[109] ในทำนองเดียวกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พระนางทรงได้รับการบรรยายครั้งที่ห้า[108] ในวันที่ 21 มิถุนายน หลังจากพระนางเสด็จพระราชดำเนินเยือนสุสานหลวงมูซาชิ พระนางยังทรงตรวจเยี่ยมหมู่บ้านเกษตรกรรม หมู่บ้านนานาโอะ เขตมินามิทามะ, โตเกียว (ปัจจุบันคือ นครฮิโนะ) ด้วยทรงกระตือรือร้นอย่างมาก ซึ่งทรงได้รับการรายงานถึงอย่างกว้างขวางในสื่อ[110] ในขณะที่จักรพรรดิไม่ทรงเสด็จเยือนจังหวัดต่างๆ อีก แต่จักรพรรดินีและเหล่าพระชายาของเจ้าองค์อื่นๆ ทรงได้รับการพบเห็นจากประชาชนมากขึ้น และทรงเป็นแบบอย่างของความประหยัดมัธยัสถ์[111]

วันที่ 13 ตุลาคม ปีเดียวกัน เจ้าหญิงชิเงโกะ เทรุโนะมิยะ หรือ เจ้าหญิงเทรุ พระราชธิดาองค์แรกของจักรพรรดิและจักรพรรดินี เข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายโมริฮิโระแห่งฮิงาชิกูนิ (โอรสองค์ใหญ่ในเจ้าชายนารูฮิโกะ ฮิงาชิกูนิโนะมิยะ) ในปีต่อมา ค.ศ. 1944 (ปีโชวะที่ 19) เจ้าชายและเจ้าหญิงอีก 5 พระองค์ได้อพยพออกจากโตเกียว (เด็กนักเรียนทั้งหมดอพยพออกไปด้วย) แต่จักรพรรดินีก็ยังทรงประทับร่วมกับจักรพรรดิฮิโรฮิโตะในโตเกียว[viii] ในวันที่ 30 กันยายน ปีเดียวกัน มีการกำหนดฉลองพระองค์แบบราชสำนักขึ้นและจักรพรรดินีทรงฉลองพระองค์นี้เป็นเวลานานจนถึงหลังสงคราม วันที่ 23 ธันวาคม จักรพรรดินีทรงประทานบิสกิตแก่เด็กที่อพยพทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายเฉลิมพระชนมพรรษา 11 พรรษาของมกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะ และยังทรงส่งบทกวีหลวงเพื่อเป็นกำลังใจแก่มกุฎราชกุมารด้วย[112]

ยังมีการกล่าวกันว่าในช่วงเวลานี้ จักรพรรดินีไม่ทรงได้รับอนุญาตให้โดยสารรถพระที่นั่งของจักรพรรดิอีกต่อไป เพราะพระนางถือเป็น "ข้ารับใช้ของจักรพรรดิ" ในช่วงเกิดทุพภิกขภัยระหว่างสงคราม การปันส่วนอาหารของราชวงศ์ก็เข้มงวดพอๆ กับประชาชนทั่วไป และเมื่อพระนางกับจักรพรรดิทรงร่วมเสวยพระกระยาหารร่วมกัน ทั้งสองพระองค์จะทรงเก็บอาหารไว้หนึ่งหรือสองจานเพื่อประทานแก่มหาดเล็ก หรือ นางสนองพระโอษฐ์เสมอ เมื่อใกล้สิ้นสุดสงคราม จักรพรรดินีทรงปลูกผักและเลี้ยงไก่ในสวนพระราชวังฟุกิอาเกะด้วยพระองค์เอง และหลังจากการยอมจำนนของญี่ปุ่น พระนางทรงทำฟูกและกิโมโนให้แก่เหล่าผู้ถูกส่งตัวกลับมายังประเทศ[113]

10 มีนาคม ค.ศ. 1945 (ปีโชวะที่ 20) ระหว่างการทิ้งระเบิดโตเกียว เจ้าหญิงชิเงโกะ เทรุโนะมิยะ ซึ่งเสกสมรสเข้าราชสกุลฮิงาชิกูนิ ทรงมีพระประสูติกาล พระโอรสองค์แรก คือ เจ้าชายโนบูฮิโกะ ในหลุมหลบภัย ซึ่งเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรกในจักรพรรดิโชวะและจักรพรรดินีโคจุง วันที่ 15 สิงหาคม ปีเดียวกัน จักรพรรดิทรงออกประกาศเกียวกูองโฮโซ หรือ การออกอากาศ "พระราชดำรัสว่าด้วยการสิ้นสุดสงครามมหาเอเชียบูรพา" โดยทางวิทยุกระจายเสียง ส่งผลให้สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง

การเปลี่ยนแปลงหลังสงครามและการปรากฏของกิโมโนในจักรพรรดินี

Thumb
จักรพรรดิฮิโรฮิโตะและจักรพรรดินีนางาโกะในฉลองพระองค์เครื่องแบบราชสำนัก ค.ศ. 1946 ในพิธี "ฉลองวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งประเทศญี่ปุ่น" ต่อหน้าประชาชนโตเกียว หน้าพระราชวังหลวง

ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1945 เจ้าชายและเจ้าหญิงห้าพระองค์ซึ่งอพยพไปอยู่นอกเมืองหลวงได้เสด็จกลับมาโตเกียว มาประทับร่วมกัน[114] เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1946 จักรพรรดิฮิโรฮิโตะได้เสด็จประพาสหลายจังหวัดทั่วญี่ปุ่น ยกเว้น จังหวัดโอกินาวะ (ดูเพิ่ม การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรหลังสงครามของจักรพรรดิโชวะ) แต่จักรพรรดินีไม่ได้เสด็จด้วยในช่วงแรก[115] จักรพรรดินีทรงกลับมาเสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วเมืองหลวงและชานเมืองอีกครั้ง[115] และในวันที่ 4 กันยายน พระนางทรงตามเสด็จพระราชสวามีไปในการเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด[116]

ในวันที่ 17 ตุลาคม ปีเดียวกัน เอลิซาเบธ เกรย์ ไวนิง ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระพี่เลี้ยงในองค์มกุฎราชกุมารได้เดินทางมาถึงญี่ปุ่น และเข้าเฝ้าฯ จักรพรรดิ จักรพรรดินี และมกุฎราชกุมารเป็นครั้งแรก[117] จักรพรรดินีทรงเริ่มเรียนภาษาอังกฤษครั้งแรกกับนางไวนิง[118]

วันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1947 (ปีโชวะที่ 22) กฎราชวงศ์ (ฉบับปัจจุบัน) ได้ถูกประกาศใช้ และมีผลบังคับใช้วันที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น วันที่ 14 ตุลาคม พระบรมวงศานุวงศ์ 51 พระองค์ จาก 11 ราชสกุล รวมทั้งราชสกุลคูนิ โนะ มิยะ ทางฝ่ายจักรพรรดินี และราชสกุลฮิงาชิกูนิ โนะ มิยะ ทางฝ่ายพระสวามีของเจ้าหญิงเทรุ ถูกถอดออกจากอิสริยศักดิ์ให้เป็นสามัญชน (ถูกให้ออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์) ตามบทบัญญัติของกฎราชวงศ์

ภายหลังจากราชวงศ์ญี่ปุ่นถูกเปลี่ยนแปลงสถานะอย่างสิ้นเชิง การที่จักรพรรดินีจะเสด็จไปทรงปฏิบัติราชการแทนพระองค์ก็กลายเป็นเรื่องปกติ และพระนางก็ทรงเข้าร่วมพระกรณียกิจต่างๆ อย่างกระตือรือร้น ตามพระราชประสงค์ของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พระราชสวามีของพระองค์ ซึ่งทรงแสวงหาวิธีสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับประชาชนอย่างแข็งขัน ยกตัวอย่างเช่น การแต่งตั้งให้พระนางดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของสภากาชาดญี่ปุ่นในค.ศ. 1947 (ปีโชวะที่ 22), ร่วมกับพระราชสวามีเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของพิธีรำลึกแห่งชาติสำหรับผู้เสียชีวิตจากสงคราม ตั้งแต่ค.ศ. 1952 (ปีโชวะที่ 27), ร่วมกับพระราชสวามีเป็นประธานพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 1964 กรุงโตเกียว (ปีโชวะที่ 39), ร่วมกับพระราชสวามีเป็นประธานพิธีเปิดงานเอ๊กซ์โป 70 ค.ศ. 1970 (ปีโชวะที่ 45), ร่วมกับพระราชสวามีเป็นประธานพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาว 1972 เมืองซัปโปโระ (ปีโชวะที่ 47) และร่วมกับพระราชสวามีเป็นประธานพิธีรำลึกการคืนโอกินาวะให้ญี่ปุ่น นอกจากนี้ พระนางยังทรงร่วมเสด็จกับจักรพรรดิในการเสด็จเยือนศาลเจ้ายาซูกูนิและศาลเจ้าโกโกกุเป็นประจำ

นอกจากนี้ในเรื่องการเสกสมรสของเหล่าพระราชธิดา พระนางทรงสนับสนุนการจับเลือกคู่สมรสให้เจ้าหญิงแต่ก็ตามที่เหล่าพระราชธิดาทรงปรารถนา ด้วยมีพระประสงค์ให้เหมือนกับกรณีของเจ้าหญิงเทรุ พระราชธิดาองค์ใหญ่ที่เสกสมรสไปแล้ว[119] เจ้าหญิงคาซูโกะ ทากะโนะมิยะ พระราชธิดาองค์ที่สาม ได้เสกสมรสกับโทชิมิจิ ทากัตสึกาซะ (บุตรชายคนโตของอดีตตระกูลดยุค) ในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1950 ในโอกาสนี้ จักรพรรดิ จักรพรรดินี และสมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จร่วมงานเลี้ยงฉลองพิธีสมรส

วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1951 (ปีโชวะที่ 26) จักรพรรดินีซาดาโกะ พระพันปีหลวงเสด็จสวรรคต จักรพรรดินีทรงบรรยายถึงความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันของพระนางไว้ใน “บันทึกแห่งความระลึกถึงพระราชชนนี”[120]

ในวันขึ้นปีใหม่ ค.ศ. 1952 พระบรมฉายาลักษณ์ของ "พระราชวงศ์" ภาพแรกได้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชน[121] วันที่ 10 ตุลาคม เจ้าหญิงอัตสึโกะ โยริโนะมิยะ พระราชธิดาองค์ที่สี่ ได้เสกสมรสกับทากามาซะ อิเกดะ (บุตรชายคนโตของอดีตตระกูลมาร์ควิส)[ix] เมื่อทรงร่วมพิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงอัตสึโกะ จักรพรรดินีทรงฉลองพระองค์กิโมโนในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก[122] กิโมโนที่ทรงสวมเป็นสีน้ำตาลทองมีลวดลายนกพิราบซึ่งพระนางทรงออกแบบเอง[123] หลังสงคราม ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจักรพรรดิจะสละราชสมบัติ เพื่อทรงรับผิดชอบต่อสงคราม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้จักรพรรดินีเป็นสัญลักษณ์แห่งความใกล้ชิดราษฎร[124] จึงทำให้ช่วงเวลานี้ประชาชนจำนวนมากสวมกิโมโน และพระนางทรงได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากประชาชน ด้วยเหตุที่ว่า ทรง "เป็นเหมือนกับพวกเรา"[125]

ในปีเดียวกัน จิโยะ ทานากะได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาฉลองพระองค์ในจักรพรรดินี[126] แม้ว่าฉลองพระองค์เครื่องแบบราชสำนักของจักรพรรดินีจะไม่ได้รับการตอบรับจากสาธารณชนมากนัก แต่พระนางก็ทรงเริ่มสวมฉลองพระองค์แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นแทน ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาทางการเงินของราชสำนัก จึงไม่สามารถหาฉลองพระองค์ที่มีดีไซน์ล้ำสมัย ดังเช่นที่ราชวงศ์อังกฤษสวมใส่[127] ภาพลักษณ์ของราชวงศ์จึงถูกปรับให้ดูเรียบง่ายเนื่องด้วยสภาวะทางการเงินดังกล่าว ทำให้ส่งผลต่อการส่งเสริมให้ราชวงศ์มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ในช่วงก่อนที่ญี่ปุ่นจะเกิดปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น[128] อย่างไรก็ตามภาพลักษณ์ของจักรพรรดินีในฐานะ "พระมารดาของบุตรเจ็ดคน" ค่อนข้างล้าสมัยไปแล้วในสมัยนั้น และพระนางไม่ทรงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกระตือรือร้นดังในช่วงสงคราม จนกระทั่งเกิดกระแสมิจิบูมในเวลาต่อมา[129]

นอกจากนี้ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ได้มีการจัดพระราชพิธีสถาปนามกุฎราชกุมารของมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ โดยเป็นงานเฉลิมฉลองของประเทศงานแรกนับตั้งแต่การฟื้นฟูเอกราชคืนให้แก่ญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาซานฟรานซิสโก หลังจากการยึดครองญี่ปุ่นของผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร

Thumb
จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ จักรพรรดินีนางาโกะ และมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ ทรงโบกพระหัตถ์ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของประชาชนในพระราชพิธีสถาปนามกุฎราชกุมาร วันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1952

ก่อนที่จักรพรรดินีจะทรงฉลองพระองค์แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น "การเสด็จออกมหาสมาคม" ได้มีการจัดขึ้นในวันปีใหม่ และ วันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1948 (ปีโชวะที่ 23) และหลังจากการฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยแก่ญี่ปุ่น พิธีวันปีใหม่ถูกกำหนดให้เป็นรัฐพิธี ตั้งแต่ค.ศ. 1953 (ปีโชวะที่ 26) มีการประกาศว่าจักรพรรดิและจักรพรรดินีจะเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร[130] ดังนั้นตั้งแต่ ค.ศ. 1953 เป็นต้นมา จึงมีการจัดพิธีเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ พร้อมการเผยแพร่ "พระบรมฉายาลักษณ์หมู่ของพระบรมวงศานุวงศ์" ในวโรกาสวันขึ้นปีใหม่ และการเสด็จออกมหาสมาคมต่อหน้าสาธารณชน ณ สีหบัญชรของพระราชวัง ทุกวันที่ 2 มกราคม เป็นการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของสถาบันจักรพรรดิในสองพิธีการ[131] จักรพรรดินีทรงฉลองพระองค์ชุดประจำชาติญี่ปุ่นใน "การเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระราชวัง ครั้งแรก" เมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1953 โดยพระนางได้แสดงนัยยะทางการเมืองด้วยทรง "เน้นย้ำความเป็นชาติและขนบธรรมเนียมประเพณี"[131] จะเห็นได้ชัดว่าสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นกลายเป็นตัวแทนของชาตินิยมที่ฟื้นคืนหลังสงคราม แม้ว่าสหรัฐอเมริกาได้ขจัดแนวคิดลัทธิทหารญี่ปุ่นออกไปแล้ว แต่ชนชั้นนำของญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มมุ่งความเป็นหนึ่งเดียวกันและชาตินิยมทางชาติพันธุ์

ค.ศ. 1954 จักรพรรดินีได้ทรงติดตามจักรพรรดิฮิโรฮิโตะในคราวการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรหลังสงครามไปยังฮกไกโด และทรงร่วมทอดพระเนตรการแข่งขันกรีฑาระดับชาติครั้งที่ 9 การเสด็จพระราชดำเนินเยือนที่ยาวนานตั้งแต่ 6 - 23 สิงหาคม แม้ว่าพระนางจะทรงมีพระพลานามัยไม่แข็งแรง แต่ก็ทรงติดตามเสด็จไปทั้งทางใต้ ตอนกลาง และทางตะวันออกของเกาะฮกไกโด ขณะเสด็จพระราชดำเนินกลับโตเกียว ทรงโดยสารด้วยเครื่องบินสายการบินเจแปนแอร์ไลน์จากท่าอากาศยานจิโตเซะไปยังท่าอากาศยานฮาเนดะ[132] เป็นครั้งแรกที่จักรพรรดิและจักรพรรดินีทรงปรากฏพระองค์บนเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์พร้อมกัน

เดือนมกราคม ค.ศ. 1955 มีการตีพิมพ์ "ชูฟุโนะโตโมะ" (แปล:เพื่อนแม่บ้าน) เป็นนวนิยายรายตอนที่อิงเรื่องราวในชีวิตจริงของอิโตโกะ โคยามะ ได้มีบทที่มีชื่อว่า "จักรพรรดินี" ได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ และมีตัวละครที่มีรูปร่างเป็นมนุษย์อย่าง "โยชิ-ซามะ" และ "ฮิโรฮิโตะ-ซามะ" ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากผู้อ่าน[133] [x]

Thumb
พิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงคาซูโกะ ทากะโนะมิยะ พระราชธิดาองค์ที่สาม กับโทชิมิจิ ทากัตสึกาซะ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1950 จากซ้าย: เจ้าหญิงทากะ, โทชิมิจิ ทากัตสึกาสะ, จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ, จักรพรรดินีนางาโกะ และจักรพรรดินีซาดาโกะ พระพันปีหลวง
พิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงคาซูโกะ ทากะโนะมิยะ พระราชธิดาองค์ที่สาม กับโทชิมิจิ ทากัตสึกาซะ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1950 จากซ้าย: เจ้าหญิงทากะ, โทชิมิจิ ทากัตสึกาสะ, จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ, จักรพรรดินีนางาโกะ และจักรพรรดินีซาดาโกะ พระพันปีหลวง 
Thumb
จักรพรรดินีนางาโกะขณะทรงเพาะเลี้ยงหนอนไหมที่ศูนย์หม่อนไหมภายในพระราชวังหลวง เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1955 (ปีโชวะที่ 30)
จักรพรรดินีนางาโกะขณะทรงเพาะเลี้ยงหนอนไหมที่ศูนย์หม่อนไหมภายในพระราชวังหลวง เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1955 (ปีโชวะที่ 30) 
Thumb
จักรพรรดิฮิโรฮิโตะและจักรพรรดินีนางาโกะ ค.ศ. 1956 (ปีโชวะที่ 31)
จักรพรรดิฮิโรฮิโตะและจักรพรรดินีนางาโกะ ค.ศ. 1956 (ปีโชวะที่ 31) 

ความขัดแย้งเรื่อง การอภิเษกสมรสของมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ และเครือข่ายสมเด็จพระจักรพรรดินี

Thumb
พระราชพิธีอภิเษกสมรสของมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะและมิจิโกะ โชดะ วันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1959

เมื่อมกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะทรงตัดสินพระทัยที่จะหมั้นหมายกับมิจิโกะ โชดะ ซึ่งเป็นสามัญชน (ในขณะนั้นถูกเรียกว่า การแต่งงานต่างฐานันดร) ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1958 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้จะหมั้นหมาย จักรพรรดินีทรงตรัสถึงความไม่พอพระทัยอย่างยิ่งกับเจ้าหญิงเซ็ตสึโกะแห่งชิจิบุ และเจ้าหญิงคิกูโกะแห่งทากามัตสึ โดยทรงตรัสว่า "มันเหลือจะทนแล้ว ที่มกุฎราชกุมารจะอภิเษกสมรสกับสามัญชน"[135] นอกจากนี้ พระนางทรงตรัสในทำนองเดียวกันให้เจ้าหญิงทั้งสองพระองค์นี้ฟัง รวมถึงโนบูโกะ มัตสึไดระ[xi] ในฤดูร้อนปีนั้นด้วยที่ตำหนักของเจ้าชายชิจิบุในจังหวัดชิซูโอกะ[135] ดังนั้นการที่มกุฎราชกุมารจะอภิเษกสมรสกับนางสาวมิจิโกะ โชดะ จึงได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากเหล่าอดีตราชสกุลและขุนนาง[136]

แม้ว่าประชาชนจะยินดีกับการอภิเษกสมรสของมกุฎราชกุมารกับสตรีสามัญชนผู้ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของคนธรรมดา แต่กลับแสดงให้เห็นถึงความไม่ยอมรับจากเหล่าราชวงศ์และอดีตราชสกุลหลายคน และเหล่าเจ้านายกลุ่มนั้นมองว่าเป็นการอภิเษกสมรสที่ชั่วร้าย มีการบันทึกว่าแต่เดิมจักรพรรดินีและเหล่าเครือข่ายจักรพรรดินี ทรงวางตัว ฮัตสึโกะ คิตาชิราคาวะ ธิดาอดีตเจ้าชายนากาฮิสะ คิตาชิราคาวะกับซาจิโกะ โทกูงาวะ อดีตเจ้าหญิงคิตาชิราคาวะ ซึ่งฮัตสึโกะสนิทสนมกับมกุฎราชกุมารจึงเป็นที่สนใจจากสื่อ ฮัตสึโกะมาจากตระกูลอดีตราชสกุล และมารดาเป็นพระญาติกับเจ้าหญิงทากามัตสึ จึงเป็นที่สนใจว่าเป็นตัวเลือกว่าที่มกุฎราชกุมารี แต่เมื่อมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะทรงเลือกนางสาวโชดะ ทำให้ทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเหล่าอดีตราชสกุลอย่างมาก แม้ว่าฮัตสึโกะเองไม่ได้สนใจที่จะเสกสมรสกับมกุฎราชกุมารและมีคนรักอยู่แล้ว[137]

ในเอกสารบันทึกประจำวันของซูเอมาสะ อิริเอะ สมุหพระราชวังในจักรพรรดิโชวะ ระบุว่า นางมัตสึไดระ นางสนองพระโอษฐ์ได้ร่วมมือกับเบียคุเรน ยานางิวาระ กวีหญิง และเครือข่ายจักรพรรดินีคนอื่นๆ พยายามปลุกระดมกองกำลังฝ่ายขวาจัด รวมตัวเพื่อกดดันให้ตระกูลโชดะยอมถอนตัวจากการอภิเษกสมรสครั้งนี้[138] อิตสึโกะ นาชิโมโตะ อดีตสมาชิกราชวงศ์และเป็นพระมาตุจฉาในเจ้าหญิงชิจิบุ ได้เขียนว่า “เช้านี้เป็นเช้าที่อากาศดีและอบอุ่น เช้านี้เต็มไปด้วยเรื่องตื่นเต้นจากการประกาศการหมั้นหมาย และฉันรู้สึกเคืองแค้น เศร้า และมีอารมณ์อื่นๆ เข้ามามากมาย ฉันคิดว่าญี่ปุ่นคงประสบเคราะห์กรรมเสียแล้ว” แต่อย่างไรก็ตามเพื่อที่ทำตามพระราชประสงค์ของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ อิตสึโกะจึงไม่วิพากษ์วิจารณ์อีก[139] มีการกล่าวว่า เหตุผลในการต่อต้านอย่างรุนแรงจากพวกอดีตราชสกุลนั้น ไม่ใช่เพราะ “มีเจตนาเลือกปฏิบัติต่อสามัญชน” หากแต่เป็นความหวาดกลัวว่า "สตรีสามัญชนเติบโตขึ้นมาในโลกของสามัญชนได้แต่งงานเข้ามาในโลกพิเศษของราชวงศ์ จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นจักรพรรดินีได้"[140]

ในญี่ปุ่นยุคสงครามเย็น กลุ่มพลังฝ่ายขวากลับเป็นตัวตั้งตัวตีในการโจมตีมกุฎราชกุมารีมิจิโกะและครอบครัวโชดะ ซึ่งกลุ่มนั้นคือ สมาคมโทคิวาไก ซึ่งเป็นสมาคมศิษย์เก่าของนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนกากุชูอิน จักรพรรดินีนางาโกะทรงเป็นองค์ประธานสมาคมศิษย์เก่าโทคิวาไก ส่วนโนบูโกะ มัตสึไดระเป็นสภานายกและเป็นที่ปรึกษาด้านการศึกษาของมกุฎราชกุมาร กลุ่มโทคิวาไกและสมาชิกราชวงศ์อื่นๆ และอดีตขุนนางก็ได้แสดงความไม่พอใจ ประท้วงอย่างเปิดเผย อ้างตามบันทึกของอิริเอะ ซูเอมาสะ ซึ่งเป็นหัวหน้าสมุหพระราชวังในขณะนั้น[141][142] แต่เมื่อไม่สามารถขัดขวางได้ สมาคมโทคิวาไกจึงดำเนินการในเรื่องอื่น เมื่อสำนักพระราชวังต้องการคัดเลือกนางสนองพระโอษฐ์แก่มกุฎราชกุมารีพระองค์ใหม่ จึงปรึกษาสมาคมโทคิวาไก ดังนั้นโทคิวาไกได้คัดเลือกแต่สมาชิกในเชื้อพระวงศ์เท่านั้นให้เป็นนางสนองพระโอษฐ์[143] สาเหตุหนึ่งของการที่เครือข่ายจักรพรรดินีนางาโกะทำการโจมตีมิจิโกะ โชดะ คือ เธอไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากกากุชูอิน แต่มิจิโกะกลับสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนคาทอลิก (โรงเรียนมัธยมฟูตาบะ และโรงเรียนสตรีพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์) โดยทั้งมิจิโกะ ตลอดจนสมุหพระราชวังอย่าง อิริเอะ ซูเอมาสะ ล้วนเป็นคาทอลิก ซึ่งศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิกมีผู้นับถือในราชสำนักจำนวนมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

จักรพรรดินีนางาโกะเองไม่ทรงแสดงท่าทีเคืองแค้นมิจิโกะอย่างเปิดเผยหลังพระราชพิธีอภิเษกสมรส แต่ได้มีรายงานข่าวที่แสดงให้เห็นว่า จักรพรรดินีทรงเมินเฉยต่อมกุฎราชกุมารีมิจิโกะ ในขณะที่มกุฎราชกุมารีทรงเข้าเฝ้าฯ ต้อนรับพระนางที่สนามบินฮานาดะ ในระหว่างที่จักรพรรดินีเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1975[144] และในปีค.ศ. 1969 มีรายงานว่ามกุฎราชกุมารีมิจิโกะทรงตรัสถามซูเอมาสะ อิริเอะ สมุหพระราชวัง ว่า "มีสิ่งใดในตัวดิฉันอีกหรือไม่ที่องค์จักรพรรดินีไม่ทรงโปรด นอกจากความจริงที่ว่าดิฉันนั้นเป็นเพียงคนธรรมดาสามัญ?"[145] อิริเอะได้นำเรื่องราวในวังมาเขียนในบันทึกประจำวันของเขา ซึ่งเห็นได้ว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อพระราชวงศ์มาอย่างยาวนาน

ในเดือนพฤจิกายน ค.ศ. 1960 ชิเงโกะ ฮิงาชิกูนิ อดีตเจ้าหญิงและพระราชธิดาองค์ใหญ่ในจักรพรรดิฮิโรฮิโตะและจักรพรรดินีนางาโกะ มีอาการประชวร พบว่าทรงเป็นโรคมะเร็งและลุกลามจนระยะสุดท้ายแล้ว เธอได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสำนักพระราชวังในเดือนเมษายน ปีต่อมา ระหว่างการรักษาตัวครั้งสุดท้ายของเธอ จักรพรรดิและจักรพรรดินีเสด็จมาเยี่ยมเธอพร้อมกันถึง 28 ครั้ง และจักรพรรดินีเสด็จมาเยี่ยมเพียงพระองค์เดียวถึง 34 ครั้ง โดยทรงหลีกเลี่ยงจากความสนใจของสาธารณชนจึงเสด็จเป็นการส่วนพระองค์[146] แต่อย่างไรก็ตาม ชิเงโกะสิ้นพระชนม์ในเดือนกรกฎาคม ขณะมีอายุ 35 ปี ทั้งจักรพรรดิและจักรพรรดินีต่างทรงตกตะลึงและเสียพระทัยอย่างยิ่งต่อการสิ้นพระชนม์ของพระราชธิดาองค์ใหญ่ และจักรพรรดินีทรงสะอื้นไห้เสียงดังถึงนอกห้องผู้ป่วย มีรายงานว่า เมื่อพระอาการของชิเงโกะย่ำแย่ลง จักรพรรดินีทรงพยายามรักษาพระราชธิดาด้วยพระองค์เอง เช่น ใช้การรักษาไฟฟ้าบำบัด ทำให้ทรงเกิดความขัดแย้งกับแพทย์ประจำราชสำนัก[147]

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของชิเงโกะ จักรพรรดินีทรงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของนางสนองพระโอษฐ์ คือ โยชิโกะ อิมาชิโระ ซึ่งซูเอมาสะ อิริเอะ สมุหพระราชวังของจักรพรรดิโชวะเรียกท่านผู้หญิงอิมาชิโระว่า "นางแม่มด"[147] ในช่วงทศวรรษที่ 1960 โดยเฉพาะช่วง ค.ศ. 1966 ถึง 1972 มีปัญหาในราชสำนักเกิดขึ้นบ่อยครั้งรอบตัวของอิมาชิโระ[148] อ้างตามบันทึกประจำวันของอิริเอะ ระบุว่า ท่านผู้หญิงอิมาชิโระมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับขบวนการศาสนาใหม่ และเธอได้สร้างความโกรธแค้นต่อผู้คนรอบข้างเนื่องจากพฤติกรรมและการพูดจาที่หยาบคายของเธอ ซึ่งเป็นเหตุผลที่อิริเอะอธิบายในบันทึกว่า ทำไมถึงเรียกเธอว่า "นางแม่มด" ซึ่งอิริเอะไม่พอใจอิมาชิโระเป็นมาแต่แรก เพราะเขามองว่าเธอกำลังใช้อิทธิพลควบคุมจักรพรรดินี

Thumb
จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ จักรพรรดินีนางาโกะ และมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ ขณะทรงฉายพระรูปร่วมกับวอลเตอร์ แนช นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ขณะเยือนญี่ปุ่น วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1959

ท่านผู้หญิงอิมาชิโระมีสิทธิ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนาของราชสำนัก โดยผ่านจักรพรรดินี ซึ่งพิธีกรรมของราชสำนักนั้นถูกปรับปรุงให้มีความเรียบง่ายมากขึ้นเพื่อคำนึงถึงพระชนมพรรษาที่มากขึ้นของจักรพรรดิและจักรพรรดินี แต่อิมาชิโระเป็นคนกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติตามพิธีกรรมของราชสำนักอย่างเคร่งครัดตามธรรมเนียมโบราณ และจะดุด่าข้าราชสำนักที่ไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมอย่างรุนแรง จักรพรรดินีนางาโกะทรงได้รับอิทธิพลจากความเข้มงวดของอิมาชิโระ และเริ่มคัดค้านการทำให้พิธีกรรมเรียบง่ายขึ้นจนถึงขั้นที่พระนางไม่ทรงคำนึงถึงพระพลานามัยของจักรพรรดิ จักรพรรดินีนางาโกะทรงขอร้องอย่างแข็งขันให้อิมาชิโระร่วมเดินทางกับจักรพรรดิและจักรพรรดินีในการเสด็จเยือนยุโรปด้วย ซึ่งในบางจุดทำให้จักรพรรดิเลือกเสด็จเยือนเพียงลำพัง[148]

จักรพรรดินีนางาโกะทรงพยายามแต่งตั้งโยชิโกะ อิมาชิโระเป็นหัวหน้านางสนองพระโอษฐ์ ในค.ศ. 1967 แต่เจ้าชายโนบูฮิโตะ ทากามัตสึโนะมิยะ พระราชอนุชาในจักรพรรดิโชวะ และเจ้าหญิงคิกูโกะ พระชายา ทรงต่อต้านแผนการนี้ ทั้งสองพระองค์ทรงพยายามใช้อิทธิพลผลักดันให้โนบูโกะ มัตสึไดระ นางสนองพระโอษฐ์อาวุโส ผู้เคยช่วยเหลือจักรพรรดินีต่อต้านมกุฎราชกุมารีมิจิโกะ ขึ้นเป็นหัวหน้านางสนองพระโอษฐ์แทน แต่จักรพรรดินีทรงไว้วางพระราชหฤทัยในตัวอิมาชิโระมากกว่า[148] สุดท้ายความขัดแย้งสิ้นสุดเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1969 ซาจิโกะ คิตาชิราคาวะ (อดีตนามสกุล โทกูงาวะ) ซึ่งอายุน้อยกว่าอิมาชิโระและมัตสึไดระ แต่เคยมีราชศักดิ์สูงกว่าและเป็นพระญาติในเจ้าหญิงคิกูโกะ พระชายาในเจ้าชายทากามัตสึ[xii] ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้านางสนองพระโอษฐ์แทน[149] ซึ่งซูเอมาสะ อิริเอะ หัวหน้าสมุหพระราชวังสามารถกำจัดโยชิโกะ อิมาชิโระออกจากสำนักพระราชวังได้ ด้วยความเห็นชอบของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ในค.ศ. 1971 กล่าวกันว่าจักรพรรดินี "ไม่ทรงเต็มพระทัยที่จะปลดเธอออกจนกระทั่งวาระสุดท้าย"

นอกจากนี้ จักรพรรดินีนางาโกะทรงมีภาวะซึมเศร้า หลังจากทรงสูญเสียนางสนองพระโอษฐ์ที่พระนางทรงไว้วางพระราชหฤทัยมากที่สุด และพระพลานามัยทางกายและพระหทัยของพระนางก็เริ่มเสื่อมถอยลงอย่างมากหลังจากนั้น[150] ในเวลาต่อมา นักข่าวประจำสำนักพระราชวัง โทชิอากิ คาวาฮาระ ได้กล่าวถึงการขับไล่ท่านผู้หญิงอิมาชิโระว่า ในบันทึกประจำวันของอิริเอะไม่มีตัวอย่างความผิดของท่านผู้หญิงอิมาชิโระเลยแม้แต่น้อย และเนื่องจากผู้คนเชื่อกันไปผิดๆ ว่า อิมาชิโระสนับสนุนให้จักรพรรดินีนับถือศาสนาใหม่ การขับไล่เธอออกไปจึงเป็นเพียง "การล่าแม่มดโดยแท้จริง ซึ่งเกิดจากความต้องการส่วนตัวของอิริเอะ หัวหน้าสมุหพระราชวังที่ต้องการจะขับไล่คนที่เขาไม่ชอบออกไปให้สิ้น"[151]

เสด็จเยือนต่างประเทศ 2 ครั้ง

Thumb
จักรพรรดิฮิโรฮิโตะและจักรพรรดินีนางาโกะ พร้อมประธานาธิบดีสหรัฐ เจอรัลด์ ฟอร์ด และเบ็ตตี ฟอร์ด สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ขณะเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ค.ศ. 1975 (ปีโชวะที่ 50)

จักรพรรดินีไม่ทรงเคยเสด็จนอกประเทศญี่ปุ่นและทรงปรารถนาอย่างแรงกล้าในการเสด็จเยือนต่างประเทศ เมื่อเจ้าหญิงคิกูโกะ พระชายาในเจ้าชายโนบูฮิโตะ ทรงทราบเรื่องนี้ พระองค์จึงติดต่อกับนายกรัฐมนตรี เอซากุ ซาโตผ่านทางอดีตนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ โยชิดะ และจากนั้นเจ้าหญิงคิกูโกะทรงติดต่อกับสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงแห่งเบลเยียมผ่านทางเจ้าชายอัลแบร์ เจ้าชายแห่งลีแยฌ พระราชอนุชาในกษัตริย์เบลเยียมที่ได้เสด็จเยือนญี่ปุ่นขณะนั้น จึงเป็นผลให้การเสด็จเยือนราชอาณาจักรเบลเยียมอย่างเป็นทางการเกิดขึ้น[152]

ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงตุลาคม ค.ศ. 1971 จักรพรรดิฮิโรฮิโตะและจักรพรรดินีนางาโกะจึงได้เสด็จเยือนยุโรปอย่างเป็นทางการ และเป็นการเสด็จเยือนต่างประเทศครั้งแรกของจักรพรรดินี หลังจากทรงแวะประทับที่รัฐอะแลสกา พระนางได้เสด็จเยือนเดนมาร์ก เบลเยียม ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนีตะวันตก ถึงแม้ว่า จักรพรรดินีจะทรงตามเสด็จจักรพรรดิโดยส่วนใหญ่ แต่ระหว่างที่ประทับในกรุงบรัสเซลส์ พระนางได้เสด็จพระราชดำเนินรอบกร็อง-ปลัสด้วยพระนางเอง โดยมีโยชิฮิโระ โทกูงาวะ รองสมุหพระราชวังเป็นผู้นำทาง[xiii][153] และทรงมีโอกาสได้ไปทอดพระเนตรรูปปั้นมันเนอเกินปิสแบบเป็นการส่วนพระองค์อีกด้วย (จักรพรรดิฮิโรฮิโตะไม่ได้เสด็จไปทอดพระเนตรครั้งนี้ เพราะทรงเคยทอดพระเนตรเมื่อคราวเสด็จเยือนเมื่อ 50 ปีก่อน)[154] ที่กร็อง-ปลัส พระนางทรงยืมเงินของโยชิฮิโระ โทกูงาวะ เพื่อซื้อตุ๊กตาลูกไม้ในราคา 95 ฟรังก์เบลเยียม (ประมาณ 630 เยน)[153] ต่อมาพระนางทรงตรัสกับผู้สื่อข่าวว่า “เรากำลังคิดว่าจะซื้อมันเป็นของที่ระลึกให้ลูกหลานหรือให้ตัวเราเองดี”[155] ในกรุงปารีส พระนางเสด็จกลับมาพบอดีตครูสอนภาษาฝรั่งเศสของพระนางอีกครั้ง และจากนั้นทั้งจักรพรรดินีและอดีตครูได้เสด็จไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิเป็นการส่วนพระองค์ที่ภัตตาคาร ซึ่งทรงร่วมเสวยแอ็สการ์โก[156]

ในค.ศ. 1973 (ปีโชวะที่ 48) โนบูฮิโกะ ฮิงาชิกูนิ บุตรชายคนโตในโมริฮิโระ ฮิงาชิกูนิ กับ ชิเงโกะ ฮิงาชิกูนิ พระราชธิดาองค์ใหญ่ในจักรพรรดิ ได้มีบุตรชายคนแรกคือ มาซาฮิโกะ ฮิงาชิกูงิ ทำให้เป็นพระราชปนัดดาองค์แรกในจักรพรรดิฮิโรฮิโตะและจักรพรรดินีนางาโกะ ในค.ศ. 1974 (ปีโชวะที่ 49) จักรพรรดิและจักรพรรดินีทรงจัดพระราชพิธีวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกสมรส ปีที่ 50 และเมื่อคณะนักข่าวกราบทูลถามทั้งสองพระองค์ว่า "ความทรงจำที่พระองค์ทรงโปรดที่สุดคือเรื่องใด" ทั้งจักรพรรดิและจักรพรรดินีต่างก็ทรงกล่าวถึงการเสด็จเยือนยุโรปของทั้งสองพระองค์[157] ในปีถัดมา พระนางยังเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาพร้อมกับพระจักรพรรดิอีกด้วย ก่อนการเสด็จเยือนครั้งนี้ ได้มีการแถลงข่าวของจักรพรรดิอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประวัติศาสตร์

Thumb
จักรพรรดิฮิโรฮิโตะและจักรพรรดินีนางาโกะทรงพบปะกับ ประธานาธิบดีสหรัฐ ริชาร์ด นิกสัน และแพต นิกสัน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เป็นการพบกันอย่างไม่เป็นทางการ ขณะเสด็จเยือนยุโรป (วันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1971)
จักรพรรดิฮิโรฮิโตะและจักรพรรดินีนางาโกะทรงพบปะกับ ประธานาธิบดีสหรัฐ ริชาร์ด นิกสัน และแพต นิกสัน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เป็นการพบกันอย่างไม่เป็นทางการ ขณะเสด็จเยือนยุโรป (วันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1971) 
Thumb
จักรพรรดิและจักรพรรดินีขณะเสด็จเยือนราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (วันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1971)
จักรพรรดิและจักรพรรดินีขณะเสด็จเยือนราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (วันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1971) 
Thumb
ตราไปรษณียากรและโปสการ์ดที่ระลึกซึ่งออกโดยเยอรมนีตะวันตก
ตราไปรษณียากรและโปสการ์ดที่ระลึกซึ่งออกโดยเยอรมนีตะวันตก 

ปลายสมัยโชวะ

Thumb
จักรพรรดิและจักรพรรดินีในคราวงานเลี้ยงรับรองประธานาธิบดีสหรัฐ เจอรัลด์ ฟอร์ด ณ พระราชวังอากาซากะในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1974 จากซ้าย (นั่ง):มกุฎราชกุมารีมิจิโกะ, เฮนรี คิสซินเจอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ, จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ, ประธานาธิบดีฟอร์ด และจักรพรรดินีนางาโกะ

ในค.ศ. 1976 (ปีโชวะที่ 51) จักรพรรดินีทรงเข้าร่วมพิธี "การรำลึกการครองราชสมบัติครบ 50 ปีของสมเด็จพระจักรพรรดิ" ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดถวาย แต่ในช่วงเวลานี้ พระชนมายุที่สูงขึ้นได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาพระวรกายและจิตใจเด่นชัดขึ้น ในฤดูร้อนปีต่อมา จักรพรรดินีทรงหกล้มที่พระตำหนักนาสุและกระดูกสันหลังส่วนเอวของพระนางหัก[158] ผู้ช่วยดูแลของพระนางได้ปกปิดข้อเท็จจริงนี้และทำให้การรักษาพระนางเป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้พระนางไม่สามารถฟื้นพระวรกายได้อย่างสมบูรณ์ หลังอุบัติเหตุครั้งนี้สัญญาณของพระชนมายุที่สูงขึ้นได้ปรากฏ เช่น ภาวะสมองเสื่อมปรากฏเด่นชัดมากขึ้น พระนางทรงใช้ไม้เท้าสำหรับพระดำเนินบ่อยขึ้น และจักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงจับพระหัตถ์ของพระนางไว้ทุกครั้งเมื่อเสด็จพระดำเนิน ท่านผู้หญิงคิตาชิราคาวะ หัวหน้านางสนองพระโอษฐ์ และคนอื่นๆ จะคอยช่วยเหลือพระนางเมื่อเสด็จงานพระราชพิธีต่างๆ

ในค.ศ. 1984 ทั้งสองพระองค์ได้จัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองราชาภิเษกสมรสครบรอบ 60 ปี และในฤดูร้อนของปีเดียวกัน ทั้งสองพระองค์เสด็จเยือนเทนเคียวคะคุ อีกครั้ง อันเป็นพระตำหนักเมื่อคราวอภิเษกสมรสใหม่ๆ ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งทะเลสาบอินาวาชิโระ จักรพรรดิทรงคำนึงถึงจักรพรรดินีเสมอ และเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของจักรพรรดิ วันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1986 มีการเผยแพร่พระบรมฉายาลักษณ์ทั้งสองพระองค์ทรงจับพระหัตถ์กันต่อสาธารณะ[159] จักรพรรดิทรงแถลงข่าวครั้งสุดท้ายในปีถัดมาเมื่อ 21 เมษายน ค.ศ. 1987 จักรพรรดิโชวะทรงมีพระราชดำรัสว่า "ข้าพเจ้าจะดำเนินไปพร้อมๆ กับจักรพรรดินีมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"[160]

จักรพรรดิยังคงเข้าร่วมพระราชพิธีและพระราชกรณียกิจอื่นๆ เท่าที่จะทำได้ แต่ไม่สามารถเข้าร่วมงานฉลองปีใหม่ในวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1986 และพระราชพิธีวันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดิ วันที่ 29 เมษายน ได้ และไม่ทรงสามารถร่วมงาน "พิธีรำลึกการครองราชย์ครบ 60 ปี สมเด็จพระจักรพรรดิ" ที่รัฐบาลจัดขึ้นในปีเดียวกันอีกด้วย หลังจาก 30 กันยายนปีเดียวกัน พระองค์ก็ทรงยกเลิกการเสด็จพระดำเนินเล่นที่ทรงทำประจำ และทรงใช้รถเข็นพระที่นั่งบ่อยครั้ง และวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1987 จักรพรรดิทรงมีพระอาการพระหทัยวายเล็กน้อยขณะทรงกำลังฉายพระรูปเนื่องในโอกาสวันปีใหม่ และตั้งแต่ปีนั้นมา พระองค์ไม่สามารถร่วมพระราชกรณียกิจหลายครั้ง

สมเด็จพระพันปีหลวง

ในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1989 จักรพรรดินีนางาโกะทรงกลายเป็นสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระราชสวามี ก่อนที่จักรพรรดิจะสวรรคต จักรพรรดินีเสด็จไปทรงเยี่ยมพร้อมนางสนองพระโอษฐ์กลุ่มเล็กๆ รวมถึง ท่านผู้หญิงคิตาชิราคาวะ หัวหน้านางสนองพระโอษฐ์ และทรงใช้เวลาประทับร่วมกับพระราชสวามีอยู่เพียงลำพังช่วงหนึ่ง[161] หลังจากนั้น เวลา 06.33 น. พระนางได้เสด็จไปอยู่ร่วมกับจักรพรรดิในช่วงวาระสุดท้าย โดยมีมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ และพระราชบุตรทั้งห้าพระองค์ได้แก่ (คาซูโกะ ทากัตสึกาซะ, อัตสึโกะ อิเกดะ, เจ้าชายมาซาฮิโตะ ฮิตาจิโนมิยะ และทากาโกะ ชิมาซุ) พระราชวังฟูกิอาเกะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นพระราชวังฟูกิอาเกะโนะมิยะ และยังคงเป็นที่ประทับของจักรพรรดินีนางาโกะ พระพันปีหลวงต่อไป

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน (ปีเฮเซที่ 1) พระนางไม่ได้เสด็จร่วมพระราชพิธีพระบรมศพจักรพรรดิโชวะ ซึ่งถูกจัดขึ้นโดยคณะรัฐบาล (ประธานกรรมการจัดพระราชพิธีพระบรมศพคือ นายกรัฐมนตรี โนโบรุ ทาเกชิตะ) และเจ้าหญิงฮานาโกะ พระชายาในเจ้าชายมาซาฮิโตะทรงปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระพันปีหลวง นอกจากการสวรรคตของจักรพรรดิโชวะแล้ว ปีเดียวกันยังเกิดการสิ้นพระชนม์ของพระประยูรญาติหลายคน ได้แก่ คาซูโกะ ทากัตสึกาซะ อดีตเจ้าหญิงและพระราชธิดาองค์ที่สามในจักรพรรดิโชวะ (เสียชีวิต อายุ 59 ปี), โยชิมาโระ ยามาชินะ พระญาติของพระนาง (เสียชีวิต อายุ 88 ปี) และโทโมโกะ โอตานิ พระขนิษฐาในจักรพรรดินี (เสียชีวิต อายุ 83 ปี)

เมื่อเริ่มศักราชเฮเซ พระอาการสมองเสื่อมของพระนางรุนแรงยิ่งขึ้น และมีรายงานว่า "พระพันปีหลวงทรงมีพระอาการเช่นเดียวกับคนชราทั่วไป"[xiv] พระนางจึงไม่ทรงเสด็จออกจากพระตำหนักบ่อยนัก วันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1996 (ปีเฮเซที่ 8) สมเด็จพระพันปีหลวงทรงมีพระชนมายุ 93 พรรษา ทรงมีพระชนมายุมากกว่า จักรพรรดินีฟุจิวะระ โนะ ฮิโระโกะ พระอัครมเหสีในจักรพรรดิโกะ-เรเซ ซึ่งสวรรคตขณะเป็นสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าเมื่อพระชนมายุ 92 พรรษา ทำให้จักรพรรดินีนางาโกะ พระพันปีหลวงเป็นจักรพรรดินีที่มีพระชนมายุยืนยาวมากกว่าจักรพรรดินีพระองค์ใดในประวัติศาสตร์ โดยไม่นับรวมสมัยเทพเจ้า และในปีเดียวกัน พระบรมฉายาลักษณ์ล่าสุดของพระนางถูกถ่ายเผยแพร่สาธารณชนในรอบระยะเวลา 9 ปี

สวรรคต

Thumb
สถานที่ฝังพระบรมศพ สุสานหลวงมูซาชิ

ค.ศ. 2000 (ปีเฮเซที่ 12) พระนางทรงมีพระอาการหายใจไม่สะดวกเป็นระยะ และสวรรคตเมื่อเวลา 16.46 น. ของวันที่ 16 มิถุนายน ณ พระราชวังหลวงโอมิยะ ด้วยภาวะการหายใจล้มเหลว และพระโรคชรา[162] พระนางทรงมีพระชนมายุ 97 พรรษา ทำให้พระนางทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินี พระมเหสีอย่างยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ (62 ปี 14 วัน) และทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีที่ทรงมีพระชนมายุยืนยาวที่สุด หากไม่นับสมัยเทพเจ้า (97 ปี 102 วัน)

ก่อนที่จะสวรรคต พระโอรสธิดาทั้งสี่พระองค์ (อัตสึโกะ อิเกดะ, สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ, เจ้าชายมาซาฮิโตะ ฮิตาจิโนะมิยะและทากาโกะ ชิมาซุ) และพระราชนัดดาได้ประทับอยู่ช่วงเวลาสุดท้ายด้วย จักรพรรดิทรงรีบเสด็จมายังพระราชวังโอมิยะหลังจากทรงเสร็จจากการปฏิบัติราชกิจ และสมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จสวรรคตหลังจากจักรพรรดิเสด็จมาถึงได้ 1 นาที

เคนโซ คาโต หัวหน้าแพทย์หลวงประจำพระองค์สมเด็จพระพันปีหลวง ได้กล่าวว่า "พระอาการต่างๆ เกิดจากความชราภาพซึ่งทำให้แย่ลง และพระอาการโดยรวมของพระองค์ก็ทรุดลง ส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเนื่องมาจากความชราภาพ (เนื่องจากต้องทรงใช้เครื่องออกซิเจนในการส่งอากาศหายใจ) เราต้องหลีกเลี่ยงที่จะใช้ยาซึ่งจะทำให้พระองค์ทรงทรมานยิ่งขึ้น โดยทางเราได้กราบทูลฯ แนวทางนี้ต่อฝ่าพระบาทแล้ว"

วันที่ 10 กรกฎาคม พระนางทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศหลังสวรรคตเป็น "จักรพรรดินีโคจุง" (ตามพระบรมราชโองการในจักรพรรดิอากิฮิโตะ) พระนามว่า "โคจุง" มาจากบทกวีจีนโบราณชุด "ไคฟูโซ"[xv] ซึ่งมีข้อความว่า "ลูกท้อ" (ลูกพีช) ตามตราลัญจกรและพระอิสริยศักดิ์ของพระนาง "ดอกไม้เบ่งบานและสวนท้อที่หอมหวาน กอหญ้าเจริญเติบโตและพรมแห่งดอกกล้วยไม้ที่ทำให้เกิดความรู้สึกใหม่" (อาเบะ โนะ ฮิโรนิวะ “งานเลี้ยงซามูไรคาสึงะ”) และ "ทะเลทั้งสี่นั้นไร้ซึ่งปัญหาใดๆ ภูมิภาคทั้งเก้านั้นบริสุทธิ์และผ่องแผ้ว" (ทะเลทั้งสี่นั้นสงบสุขและได้รับการปกครองอย่างดี และคุณธรรมอันบริสุทธิ์และร้อนแรงนั้นแพร่หลายไปทั่วโลก) (ยามาซากิ โนะ โอ “งานเลี้ยงซามูไร”) นี่เป็นครั้งแรกที่มีการตั้งพระนามหลังสวรรคตตามคำใน "หนังสือญี่ปุ่น"

วันที่ 16 ซึ่งพระนางสวรรคตนั้นเป็นวันศุกร์ ผู้คนต่างแสดงความเสียใจเหมือนคราวที่จักรพรรดิโชวะ พระราชสวามีของพระนางเสด็จสวรรคต แต่พวกเขาก็ยังใช้แนวทางที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น วันที่สวรรคตและวันต่อมา (วันเสาร์ที่ 17) สมาคมแข่งม้าแห่งประเทศญี่ปุ่นยกเลิกการแข่งขันทั้งหมดในวันที่ 17 และกำหนดการแข่งขันใหม่เป็นวันที่ 19 และงดการแสดงประโคมแตรในวันที่ 18 และ 19 (เช่นเดียวกับการแข่งขันสาธารณะอื่นๆ การแข่งขันเรืออามากาซากิก็ถูกยกเลิกในวันนั้นด้วย) การแข่งขันเบสบอลระหว่างฮันชินไทเกอร์สกับโยมิอุริไจแอนท์สที่โคชิเอ็งในวันต่อมาก็ถูกยกเลิกในตอนเช้า แต่ระบุสาเหตุว่าเนื่องด้วยสภาพอากาศที่เลวร้าย ไม่ใช่การสวรรคตของสมเด็จพระพันปีหลวง จึงได้มีการจัดการแข่งขันในวันต่อมา (วันอาทิตย์ที่ 18) นอกจากนี้ ป้ายนีออนของกูลิโกะ ในย่านโดทงโบริ เขตชูโอ นครโอซากะ จังหวัดโอซากะ ก็ไม่ได้เปิดไฟในวันเดียวกับที่พระพันปีหลวงสวรรคต และในวันรุ่งขึ้น มาสคอต "คูอิดาเระ ทาโร่" ก็สวมชุดสีดำทั้งชุด

พระราชพิธีฝังพระบรมศพจัดขึ้นวันที่ 25 กรกฎาคม ปีเดียวกัน สุสานโทชิมาโอกะ โดยจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระราชโอรสองค์ใหญ่ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ไว้ทุกข์ การแข่งขันออลสตาร์เบสบอลอาชีพ (จัดขึ้นที่สนามกีฬาเบสบอลจังหวัดนางาซากิ) ที่กำหนดไว้ในวันนั้นถูกเลื่อนออกไปเป็นวันถัดไป นอกจากนี้เทศกาลเทนจินในโอซากะยังจัดขึ้นในวันถัดไป คือวันที่ 26 ในปีเดียวกัน

สารจากนายกรัฐมนตรี

หลังการสวรรคตของจักรพรรดินีโคจุง พระพันปีหลวง นายกรัฐมนตรี โยชิโร โมริพร้อมคณะรัฐมนตรีโมริที่ 1 ได้ออกแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีดังนี้

ข้าพระพุทธเจ้า อดไม่ได้ที่จะรู้สึกเศร้าโศกอย่างหาที่สุดไม่ได้ เมื่อได้ทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระพันปีหลวงในวันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้แต่คำนึงถึงความเสียพระราชหฤทัยอย่างใหญ่หลวงที่ทั้งสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ และพระญาติวงศ์ใกล้ชิดต้องรู้สึกอย่างแน่แท้

ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระพันปีหลวงทรงดำรงพระชนม์เคียงข้างพระราชบัลลังก์แห่งองค์สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะตลอดยุคสมัยที่วุ่นวายโกลาหล แม้จะทรงดำรงในยุคสมัยที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายก็ตาม สมเด็จพระพันปีหลวงทรงอุทิศพระวรกายของพระองค์เองอย่างเต็มที่เพื่อดำเนินไปพร้อมกันกับสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะทั้งในชีวิตสาธารณะและชีวิตส่วนพระองค์ ปวงข้าพระพุทธเจ้า พสกนิกรรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และในขณะเดียวกันทรงเป็นกำลังใจแก่ปวงข้าพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง

ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงเป็นพระกำลังแก่สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะในด้านต่างๆ มากมาย อาทิเช่น การเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ศิลปะ วัฒนธรรม การแพทย์ และสวัสดิการ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเคารพและศรัทธาอย่างยิ่งต่อความอ่อนโยนและการแย้มสรวลอันอบอุ่นของพระองค์ที่ปรากฏชัดแจ้งแก่ผู้คน

หลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ พระองค์ทรงดำรงพระชนม์อย่างเรียบง่าย โดยทรงรำลึกถึงสมเด็จพระจักรพรรดิในพระบรมโกศ

การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระพันปีหลวงเป็นความวิปโยคอาลัยอย่างหาที่สุดมิได้ และข้าพระพุทธเจ้าขอถวายความอาลัยอย่างสุดซึ้งร่วมกับประชาชนชาวญี่ปุ่นทุกคน


โยชิโร โมริ นายกรัฐมนตรี、16 มิถุนายน ค.ศ. 2000[163]

พระราชสาสน์สมเด็จพระจักรพรรดิ

หลังการสวรรคตของสมเด็จพระพันปีหลวง สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ จักรพรรดิพระองค์ที่ 125 แห่งญี่ปุ่น ทรงมีคำสรรเสริญดังนี้

ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายความอาลัยแก่ดวงพระวิญญาณแห่งสมเด็จพระพันปีหลวง พระบรมราชชนนีของข้าพระพุทธเจ้า

ภาพในอดีตและน้ำเสียงอันร่าเริงของพระองค์ท่านยังคงหวนกลับมาสู่ข้าพระพุทธเจ้าในทุกคืนวัน และความทรงจำถึงพระองค์นั้นยังคงมีอย่างไม่สิ้นสุด ความเศร้าโศกาอาดูรได้กดดันภายในของข้าพระพุทธเจ้ามากขึ้นทุกที
ปวงข้าพระพุทธเจ้าจะย้ายหีบพระบรมศพของพระองค์ท่านไปยังสุสานหลวง และปวงข้าพระพุทธเจ้าขอแสดงความอาลัยอย่างสุดซึ้ง


— สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ, 29 มิถุนายน ค.ศ. 2000 (ปีเฮเซที่ 12) ในพิธีที่จัดขึ้นหนึ่งวันหลังการเคลื่อนย้ายพระบรมศพ

ด้วยความเคารพ อากิฮิโตะ

ถึงดวงพระวิญญาณแห่งองค์สมเด็จพระพันปีหลวง พระบรมราชชนนีผู้ล่วงลับของข้าพระพุทธเจ้า ภาพจำของพระองค์ท่านที่อบอุ่นและอ่อนหวานได้เป็นพระกำลังให้สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ
มาเป็นระยะเวลาหลายปี ยังคงตราตรึงในหัวใจของข้าพระพุทธเจ้าจนถึงตอนนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอสถาปนาพระนามหลังสวรรคตว่า สมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุง


— สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ, 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 ในพระราชพิธีสถาปนาพระนามหลังสวรรคต

ด้วยความเคารพอย่างสูง ข้าพระพุทธเจ้า อากิฮิโตะ ขอถวายความอาลัยอย่างสุดซึ้งต่อดวงพระวิญญาณแห่งสมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุง พระบรมราชชนนี

สิบเอ็ดปีผ่านไปนับตั้งแต่การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ และข้าพระพุทธเจ้าได้ใช้เวลาอยู่ใกล้ชิดพระบรมราชชนนี ด้วยความหวังว่าพระองค์ท่านจะทรงประทับในพระราชวังฟูกิอาเกะโอมิยะอย่างเป็นสุขและยั่งยืนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ก็ไร้ผลเพราะพระองค์ท่านเสด็จสวรรคตไปเมื่อต้นฤดูร้อนนี้ บัดนี้ครบกำหนด 40 วันแล้ว นับแต่ปวงข้าพระพุทธเจ้าได้บรรจุพระบรมศพ ณ ห้องตั้งพระบรมศพ เพื่อรำลึกถึงเมื่อคราวยังทรงดำรงพระชนม์ชีพ บัดนี้ปวงข้าพระพุทธเจ้าได้ดำเนินขบวนพระบรมศพ และนำพระบรมศพไปประทับเคียงข้างพระราชสวามีของพระองค์ท่าน เมื่อหวนคิดถึงวันเวลาที่เคยอยู่ภายใต้พระเมตตากรุณาของพระองค์ท่าน ข้าพระพุทธเจ้าจึงรู้สึกถึงความโดดเดี่ยวอย่างมากและความรู้สึกคิดถึงนั้นก็ไม่มีที่สิ้นสุด นับเป็นความโศกเศร้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุด


— สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ, 29 มิถุนายน ค.ศ. 2000 (ปีเฮเซที่ 12) ในพระราชพิธีพระบรมศพ ณ ห้องตั้งพระบรมศพ

พระราชพิธีพระบรมศพ (ผู้ไว้อาลัยหลัก:สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ) จัดขั้นในวันที่ 25 กรกฎาคม ณ สุสานโทชิมาโอกะ, เขตบุงเกียว กรุงโตเกียว หีบพระบรมศพอยู่ที่สุสานหลวงมูซาชิ เขตนากาฟูสะโช เทศบาลนครฮาจิโอจิ มหานครโตเกียว

Remove ads

เกร็ดความรู้

Thumb
จักรพรรดิโชวะ จักรพรรดินีโคจุงและมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ ขณะทรงเล่นหมากรุกญี่ปุ่น ภาพถ่ายในปี 1955
  • ว่ากันว่าจักรพรรดินีโคจุงทรงมี "บุคลิกที่เป็นกันเอง อ่อนโยนและเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย" และความสัมพันธ์ของพระนางกับจักรพรรดิโชวะนั้น "ดีมาก" จักรพรรดิโชวะทรงเรียกจักรพรรดินีโคจุงว่า "นากามิยะ" (良宮) และจักรพรรดินีโคจุงทรงเรียกจักรพรรดิว่า "โอกามิ" (お上) พระนางทรงเป็นพระมเหสีและแม่ที่ดีตามขนบธรรมเนียมโบราณที่ทรงเชื่อฟัง และ "พระสวามีต้องมาก่อน" และว่ากันว่า จักรพรรดิทรงเอาพระทัยใส่จักรพรรดินีอย่างมาก
  • บุคคลใกล้ชิดจักรพรรดิได้บรรยายซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ไม่มีการทะเลาะวิวาทตลอดพระชนม์ชีพสมรสของทั้งสองพระองค์ แต่โทชิอากิ คาวาฮาระได้เขียนบทความหนึ่งลงนิตยสารบุงเกชุนจู (ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979) เรื่อง "การทะเลาะวิวาทในชีวิตสมรสของสมเด็จพระจักรพรรดิ" ซึ่งบรรยายถึงการทะเลาะวิวาทในชีวิตสมรสที่ผู้ทำงานในพระราชวังคนหนึ่งได้พบเห็นเพียงครั้งเดียว
  • "จักรพรรดิและจักรพรรดินีทรงโปรดการพระดำเนินเล่นในพระราชวังหลวงและพระตำหนักในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ จักรพรรดิทรงโปรดต้นไม้ และจักรพรรดินีมักจะทรงอธิบายสิ่งเหล่านั้นให้ทรงสดับฟังในขณะพระดำเนินด้วยกัน" มีเรื่องเล่าลือว่า เมื่อเสด็จมาถึงทางแยก จักรพรรดิจะทรงตรัสถามว่า "นากามิยะ เราจะไปทางไหน" และจักรพรรดินีจะทรงตรัสถามกลับว่า "แล้วพระองค์ทรงโปรดทางไหนมากกว่า"
  • พระนางทรงโปรดการชมรายการโทรทัศน์ร่วมกับพระจักรพรรดิ ซึ่งจักรพรรดิทรงโปรดละครจากช่องเอ็นเอชเค ในทางกลับกัน ช่วงพระกระยาหารเช้าจักรพรรดินีทรงโปรดเสวยนาระซุเกะ (ผักดองนาระ) ดังนั้น "ผักดองของเมืองนาระมักถูกเสริฟพร้อมพระกระยาหารเช้าและมื้ออื่นๆ ในแต่ละวัน" (จักรพรรดิโชวะ พระสวามีของพระนาง ไม่ได้มีพระทัยชอบผักดองเป็นพิเศษ)
  • ความสัมพันธ์ของพระนางกับจักรพรรดินีเทเม พระราชชนนีในจักรพรรดิโชวะ ผู้ทรงปราดเปรียวและทรงปัญญานั้น ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากความแตกต่างทั้งบุคลิกภาพและภูมิหลังครอบครัวของทั้งสองพระองค์ (จักรพรรดินีเทเมนั้นทรงเป็นธิดาขุนนางตระกูลคูโจ แต่พระชนนีของพระนางนั้นเป็นภรรยาน้อย ในขณะที่จักรพรรดินีโคจุงทรงเป็นพระธิดาในราชสกุลคูนิ โนะ มิยะ และเป็นสายเลือดของราชวงศ์) และมีการกล่าวว่า พระนางทรงรู้สึกไม่สบายพระทัยเป็นพิเศษเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระนางกับพระสัสสุในช่วงเริ่มต้นการอภิเษกสมรส
    • หัวหน้านางสนองพระโอษฐ์และเหล่านางสนองพระโอษฐ์ได้ประสบกับการปะทะกันนี้ ไม่กี่เดือนก่อนการสวรรคตของจักรพรรดิไทโช เมื่อมกุฎราชกุมารีนางาโกะและมกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะเสด็จพระดำเนินเยือนพระตำหนักฮายามะ ซึ่งเป็นสถานที่พักฟื้นของจักรพรรดิไทโช มกุฎราชกุมารีนางาโกะทรงประหม่าอย่างมากเมื่อประทับอยู่ต่อหน้าจักรพรรดินีเทเม พระสัสสุ จนพระนางต้องทรงบีบผ้าขนหนูเย็นเพื่อคลายความประหม่า แต่ด้วยทรงสวมถุงพระหัตถ์และบีบผ้าเย็น (สมาชิกราชวงศ์ฝ่ายหญิงต้องสวมถุงพระหัตถ์เมื่อออกไปข้างนอก ทั้งในปัจจุบันและในอดีต) ทำให้ถุงพระหัตถ์ของพระนางเปียก จักรพรรดินีเทเมทรงสังเกตเห็นและตรัสว่า "เธอยังคงทำตัวน่าเกลียดเหมือนเดิม (ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม)" และมกุฎราชกุมารีทรงทำได้เพียงนิ่งเงียบไม่สามารถตรัสตอบโต้อะไรได้ จักรพรรดินีเทเมทรงเป็นสตรีที่เฉลียวฉลาดและแน่วแน่ แต่ถึงกระนั้นไม่เคยเห็นพระนางทรงดุด่าผู้ที่อยู่ภายใต้พระนาง และเหตุการณ์นี้ทำให้เหล่านางสนองพระโอษฐ์ตระหนักว่า ทั้งสองพระองค์ไม่ทรงเข้ากันได้ดีในฐานะแม่สามีและลูกสะใภ้เลย
  • พระนางทรงมีพระกิจวัตรยามว่างมากมาย ได้แก่ อักษรวิจิตร, งานเย็บปักถักร้อย, นิฮงกะ (วาดภาพแบบญี่ปุ่น), ละครโน (คันเซ (สำนักละครโน)), การปลูกดอกกุหลาบ และทรงเปียโน
  • พระนางทรงเชี่ยวชาญในงานจิตรกรรมญี่ปุ่นเป็นพิเศษ และก่อนอภิเษกสมรส พระนางทรงศึกษางานจิตรกรรมแบบ ยามาโตะ-เอะ ภายใต้การฝึกสอนของทากาโทริ จาคุเซ และต่อมาทรงศึกษากับคาวาอิ เกียวคุโดและมาเอดะ เซซง ตั้งแต่ค.ศ. 1956 (ปีโชวะที่ 31) ผลงานของพระนางได้ถูกจัดแสดง ในนิทรรศการศิลปะของสำนักพระราชวังบ่อยครั้ง นามปากกาของพระนางคือ "โทเอ็น" และห้องโถงโทกะราคุโดในสวนด้านตะวันออกของพระราชวังอิมพีเรียลก็ตั้งชื่อตามนามปากกานี้ สมุดรวมงานภาพวาดของพระนางมีดังนี้
    • "คอลเลกชันศิลปะโทเอ็น" (37 ภาพ ปี 1967 (ปีโชวะที่ 42) สำนักพิมพ์เบ็งริโด)
    • "คินโปชู" (54 ภาพ ปี 1969 (ปีโชวะที่ 44) สำนักพิมพ์อาซาฮีชิมบุง)
    • "คินโปชู ฉบับปรับปรุงและบรรยาย" (แก้ไขโดยสำนักพระราชวัง สำนักงานสมเด็จพระพันปีหลวง ปี 1989 (ปีเฮเซที่ 1) สำนักพิมพ์อาซาฮีชิมบุง)
    • "ภาพวาดฝีพระหัตถ์สมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุงและจิตรกร" (รายการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ของสะสมในพระองค์ในปี 2007 (ปีเฮเซที่ 19) และเผยแพร่โดยสมาคมวัฒนธรรมดอกเบญจมาศ)
  • จักรพรรดินีจะทรงหยิบกรรไกรมาตัดดอกกุหลาบด้วยพระองค์เอง สวนของพระราชวังหลวงถูกออกแบบมาเพื่อรักษาทัศนียภาพแบบที่ราบสูงมูซาชิโนะและปล่อยให้พืชเติบโตตามธรรมชาติ เว้นแต่บริเวณสวนดอกกุหลาบของจักรพรรดินีที่ซึ่งจักรพรรดิไม่ทรงจัดแจงบริเวณนั้นด้วยพระองค์เองได้
  • ในช่วงหลังสงครามเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร จักรพรรดินีจะทรงทำขนมโดนัทด้วยพระนางเองบางครั้ง ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1945 จักรพรรดินีทรงทำโดนัทเพื่อแจกจ่ายให้กับทหารในกองกำลังรักษาพระองค์ของจักรพรรดิในช่วงมื้อเย็น แป้งสาลีที่ทรงใช้ทำโดนัทเป็นของกำนัลจากจักรพรรดิผู่อี๋แห่งแมนจูกัว และน้ำมันคาเมลเลียที่ใช้ทอดก็สามารถกลั่นได้จากในพระราชวัง[164]
  • ฤดูใบไม้ผลิ ปี 1981 กระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมญี่ปุ่นได้ออกดวงตราไปรษณียากร เพื่อรำลึกการเสด็จเยือนยุโรปของจักรพรรดิและจักรพรรดินี โดยใช้ภาพวาด "Beyond the Sea" ของพระจักรพรรดินีเป็นพื้นหลัง
  • ฉลองพระองค์ที่จักรพรรดินีทรงสวมในขณะเสด็จเยือนยุโรปปี 1971 และสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1975 ได้รับการออกแบบโดย ปีแยร์ บัลแม็ง ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส[165]
  • พระชนม์ชีพบั้นปลายของพระนางถูกบันทึกไว้ใน "บันทึกประจำวันของสมุหราชวัง ริวโก อูราเบะ" (5 เล่ม สำนักพิมพ์อาซาฮีชิมบุง) เขียนโดย ริวโก อูราเบะ ซึ่งเป็นสมุหพระราชวังในสำนักงานสมเด็จพระพันปีหลวง อูราเบะดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่พิธีการศพ และถึงแก่กรรม ปี 2002
  • เว็บไซต์ของวาโกโดะ บรรยายถึงความสัมพันธ์ของบริษัทกับราชวงศ์ รวมถึงเรื่องราวอันน่าประทับใจที่จักรพรรดินีทรงเลี้ยงดู เจ้าหญิงทากาโกะ ซูงาโนมิยะ พระราชธิดาองค์ที่ห้า พระนางทรงใส่อาหารเด็กยี่ห้อ กริมส์เมอร์ (อาหารสำหรับเด็กยี่ห้อแรกของญี่ปุ่น) จำนวนเล็กน้อยลงในหม้อ ซึ่งปรากฏว่ามันไหม้ และพระนางก็ทรงพระสรวลอย่างขบขันและตรัสว่า "มันยากที่จะเอาไปใช้จริงๆ"
Remove ads

พระอิสริยยศ

  • ค.ศ. 1903 - 1924 เจ้าหญิงนางาโกะ คูนิ (นางาโกะ โจ)
  • ค.ศ. 1924 - 1926 เจ้าหญิงนางาโกะ มกุฎราชกุมารีแห่งญี่ปุ่น (โคไตชิ ชินโนฮิ)
  • ค.ศ. 1926 - 1989 สมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะ (โคโง)
  • ค.ศ. 1989 - 2000 สมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะ พระพันปีหลวง (โคไตโง)
  • (พระนามหลังการสวรรคต) สมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ญี่ปุ่น

ต่างประเทศ

Remove ads

พระราชบุตร

ข้อมูลเพิ่มเติม รูป, พระนาม ...
Remove ads

พงศาวลี

ข้อมูลเพิ่มเติม พงศาวลีของจักรพรรดินีโคจุง ...
Remove ads

อ้างอิง

Loading content...

แหล่งข้อมูลอื่น

Loading related searches...

Wikiwand - on

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Remove ads