Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สนธิสัญญาซานฟรานซิสโก (อังกฤษ: Treaty of San Francisco; ญี่ปุ่น: サンフランシスコ講和条約; โรมาจิ: San-Furanshisuko kōwa-Jōyaku) มีีอีกชื่อว่า สนธิสัญญาสันติภาพกับญี่ปุ่น (Treaty of Peace with Japan; ญี่ปุ่น: 日本国との平和条約; โรมาจิ: Nihon-koku to no Heiwa-Jōyaku) เป็นสนธิสัญญาที่สถาปนาความสัมพันธ์แบบสันติอีกครั้งระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับฝ่ายสัมพันธมิตรในนามของสหประชาชาติด้วยการยุติสถานะทางกฎหมายของสงคราม การครอบครองทางทหาร และจัดให้มีการชดใช้สำหรับการกระทำอันโหดร้ายจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง สนธิสัญญานี้ลงนามโดย 49 ประเทศในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1951 ที่โรงอุปรากรอนุสรณ์สงคราม ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย[2] ประเทศอิตาลีและจีนไม่ได้รับเชิญ โดยประเทศหลังเนื่องจากความไม่เห็นพ้องที่ว่าประเทศใดเป็นตัวแทนชาวจีนระหว่างสาธารณรัฐจีนหรือสาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีก็ไม่ได้รับเชิญด้วยเหตุผลคล้ายกันว่าประเทศใดเป็นตัวแทนชาวเกาหลีระหว่างเกาหลีใต้หรือเกาหลีเหนือ[3]
สนธิสัญญาสันติภาพกับญี่ปุ่น | |
---|---|
ชิเงรุ โยชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ลงนามในสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1951 ในโรงอุปรากรอนุสรณ์สงครามที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย | |
วันลงนาม | 8 กันยายน 1951 |
ที่ลงนาม | ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ |
วันมีผล | 28 เมษายน 1952 |
ผู้เจรจา |
|
ภาคี | ประเทศญี่ปุ่นกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง 48 ประเทศ |
ผู้เก็บรักษา | รัฐบาลสหรัฐอเมริกา |
ภาษา | |
ข้อความทั้งหมด | |
Treaty of San Francisco ที่ วิกิซอร์ซ |
สนธิสัญญามีผลในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1952 โดยทำให้บทบาทของญี่ปุ่นในฐานะมหาอำนาจจักรวรรดิสิ้นสุด จัดสรรค่าชดเชยแก่ชายสัมพันธมิตรและอดีตเชลยศึกที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมสงครามของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ยุติการยึดครองญี่ปุ่นหลังสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร และคืนอำนาจอธิปไตยเต็มรูปแบบ สนธิสัญญานี้พึ่งพากฎบัตรสหประชาชาติ[4] กับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างมาก[5]เพื่อประกาศเป้าหมายของสัมพันธมิตร ในมาตราที่ 11 ประเทศญี่ปุ่นยอมรับข้อตัดสินของศาลทหารระหว่างประเทศสำหรับตะวันออกไกลและศาลอาชญากรรมสงครามฝ่ายสัมพันธมิตรอื่น ๆ ที่บังคับใช้กับญี่ปุ่นทั้งในและนอกประเทศ[6]
อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, เบลเยียม, โบลิเวีย, บราซิล, กัมพูชา, แคนาดา, ซีลอน (ปัจจุบันคือประเทศศรีลังกา), ชิลี, โคลอมเบีย, คอสตาริกา, คิวบา, เชโกสโลวาเกีย, สาธารณรัฐโดมินิกัน, เอกวาดอร์, อียิปต์, เอลซัลวาดอร์, เอธิโอเปีย, ฝรั่งเศส, กรีซ, กัวเตมาลา, เฮติ, ฮอนดูรัส, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, อิรัก, ญี่ปุ่น, ลาว, เลบานอน, ไลบีเรีย, ลักเซมเบิร์ก, เม็กซิโก, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, นิการากัว, นอร์เวย์, ปากีสถาน, ปานามา, ปารากวัย, เปรู, ฟิลิปปินส์, โปแลนด์, ซาอุดีอาระเบีย, แอฟริกาใต้, รัฐเวียดนาม, สหภาพโซเวียต, ซีเรีย, ตุรกี, สหราชอาณาจักร, สหรัฐ, อุรุกวัย และเวเนซุเอลาเข้าร่วมการประชุมนี้[7]
จีนไม่ได้เข้าร่วมเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและบริเตนใหญ่ว่าประเทศใดเป็นตัวแทนของชาวจีน ระหว่างสาธารณรัฐจีน (ในไต้หวัน) ที่ได้รับการสถาปนาแต่พ่ายแพ้ หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน (ในจีนแผ่นดินใหญ่) ที่พึ่งก่อตั้งใหม่[8] สหรัฐรับรองรัฐบาลสาธารณรัฐจีนส่วนบริเตนรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1950[8] นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายทางการเมืองภายในของสหรัฐจากพรรคริพับลิกันและกองทัพสหรัฐที่สนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋ง และกล่าวหาประธานาธิบดีทรูแมนว่าละทิ้งการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์[9]
การไม่เข้าร่วมของจีนภายหลังมีบทบาทสำคัญในข้อพิพาททะเลจีนใต้ โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ทางการทูตโดยรวม (หรือขาดไป) ระหว่างสหรัฐกับจีน[8]
พม่า, อินเดีย และยูโกสลาเวียได้รับการเชิญแต่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม[10] อินเดียพิจารณาบทบัญญัติบางประการของสนธิสัญญาที่จำกัดอธิปไตยของญี่ปุ่นและความเป็นอิสระของชาติ[11] โดยในวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1952 อินเดียลงนามสนธิสัญญาสันติภาพต่างหากที่มีชื่อว่า สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างญี่ปุ่นกับอนิเดีย โดยมีวัตถุประสงค์ให้ญี่ปุ่นมีตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งได้รับเกียรติและความเสมอภาคในหมู่ประชาคมของประเทศเสรี[12] อิตาลีไม่ได้รับเชิญ แม้ว่ารัฐบาลของตนประกาศสงครามกับญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการแล้วก็ตามในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนสงครามสิ้นสุดลง[13] เช่นเดียวกันกับโปรตุเกส แม้ว่าจะมีสถานะเป็นกลางในช่วงสงคราม ดินแดนของตนในติมอร์-เลสเตถูกญี่ปุ่นเข้ารุกราน ส่วนปากีสถาน แม้ว่าในช่วงสงครามยังไม่ได้มีรัฐเป็นของตนเอง กลับได้รับเชิญ เนื่องจากถูกมองเป็นรัฐสืบทอดของบริติชราช ฝ่ายสู้รบสำคัญต่อญี่ปุ่น[14]
ในบรรดาประเทศที่เข้าร่วม 51 ประเทศ มี 48 ประเทศที่ลงนามสนธิสัญญา[15] ยกเว้นเชโกสโลวาเกีย, โปแลนด์ และสหภาพโซเวียตที่ไม่ลงนาม[16]
ฟิลิปปินส์ทำสัตยาบันต่อสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1956 หลังจากการลงนามในข้อตกลงชดใช้ระหว่างทั้งสองประเทศในเดือนพฤษภาคมของปีนั้น[17] อินโดนีเซียไม่ได้ทำสัตยาบันต่อสนธิสัญญานี้ แต่ลงนามในข้อตกลงชดใช้แบบทวิภาคีและสนธิสัญญาสันติภาพกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1958[18] สนธิสัญญาไทเป สนธิสัญญาต่างหากที่มีชื่อทางการว่า สนธิสัญญาสันติภาพจีน-ญี่ปุ่น ลงนามระหว่างญี่ปุ่นกับสาธารณรัฐจีนที่ไทเปในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1952 เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่องที่สนธิสัญญาซานฟรานซิสโกมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 เมษายน[19][20] ลำดับที่ไม่มีเหตุผลชัดเจนของสนธิสัญญาทั้งสองฉบับเกิดจากความแตกต่างระหว่างเขตเวลา
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.