ความเท่าเทียมทางเพศ หรือ ความเท่าเทียมระหว่างเพศ หมายถึงสภาวะของการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสได้โดยสะดวกอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่สนสถานะเพศไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจหรือในกระบวนการตัดสินใจ และสภาวะของการให้คุณค่ากับพฤติกรรม ปณิธาน และความต้องการที่แตกต่างหลากหลายอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่สนสถานะเพศ[1]
ความเท่าเทียมทางเพศเป็นเป้าหมาย ในขณะที่ความเป็นกลางทางเพศกับความเที่ยงธรรมทางเพศเป็นแนวปฏิบัติและวิธีคิดซึ่งช่วยในการบรรลุเป้าหมายนั้น ภาวะเสมอกันทางเพศซึ่งใช้วัดสมดุลทางเพศในสถานการณ์ต่าง ๆ สามารถช่วยในการบรรลุความเท่าเทียมทางเพศได้แต่มิใช่เป้าหมายในตัวมันเอง ความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่เพียงแค่การมีตัวแทนที่เท่ากัน โดยมีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับสิทธิสตรีและส่วนมากต้องใช้การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ขบวนการเพื่อความเท่าเทียมทางเพศต่าง ๆ ยังขาดการกล่าวถึงโจทย์ของเพศนอกเหนือจากชายกับหญิง (Third gender) หรืออัตลักษณ์แห่งเพศ (Gender identity) อื่น ๆ นอกเหนือระบบเพศทวิลักษณ์
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติกล่าวว่าความเท่าเทียมทางเพศหมายถึง "เมื่อหญิงและชาย ... มีสิทธิ ทรัพยากร โอกาส และความคุ้มครองที่เหมือนกัน มิได้แปลว่า ... หญิงและชายจะต้องเหมือนกัน หรือได้รับการปฏิบัติต่อตนในแบบเดียวกันโดยสิ้นเชิง"[2][lower-roman 1]
การบรรลุความเท่าเทียมทางเพศในระดับโลกจำเป็นต้องขจัดการปฏิบัติที่ทำร้ายผู้หญิง อาทิการค้ามนุษย์ทางเพศ (sex trafficking) อิตถีฆาต (femicide) ความรุนแรงทางเพศยามสงคราม (wartime sexual violence) ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ (gender wage gap)[3] และวิธีการกดขี่อื่น ๆ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า "แม้จะมีข้อตกลงระดับนานาชาติจำนวนมากที่รับรองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง แต่เมื่อเทียบกับผู้ชายกลับยังคงมีแนวโน้มที่จะยากจนและไม่รู้หนังสือมากกว่า พวกเขาสามารถเข้าถึงการถือครองทรัพย์สิน สินเชื่อ การฝึกทักษะ และการจ้างงานได้น้อยกว่า เหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากภาพเหมารวมแบบโบราณที่แปะป้ายให้ผู้หญิงเป็นผู้คลอดบุตรและคนทำงานบ้านมากกว่าที่จะเป็นคนหาเลี้ยงให้ครอบครัว[4] พวกเขามีแนวโน้มในการมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยกว่าผู้ชายอย่างยิ่ง และในการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าอย่างยิ่ง"[5]
ความเท่าเทียมทางเพศเป็นเป้าหมายที่ 5 ของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ รายงานการพัฒนามนุษย์ (Human Development Report) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติวัดค่าของความเหลื่อมล้ำทางเพศทุก ๆ ปี
ประวัติศาสตร์
คริสตีน เดอ ปีซ็อง (Christine de Pizan) ผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในยุคแรกกล่าวในหนังสือของตนใน ค.ศ. 1405 The Book of the City of Ladies ไว้ว่าการกดขี่ผู้หญิงตั้งอยู่บนอคติที่ไร้เหตุผล โดยชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าต่าง ๆ ในสังคมซึ่งสร้างขึ้นโดยผู้หญิง[6][7]
เชกเกอส์
เชกเกอส์ (Shakers) เป็นคริสเตียนนิกายฟื้นฟู (restorationism) กลุ่มธรรมอักษร (evangelicalism) ซึ่งปฏิบัติการแบ่งแยกเพศกันอยู่และการอยู่เป็นโสดอย่างเคร่งครัด และเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่นำความเท่าเทียมทางเพศมาปฏิบัติใช้ เป็นกลุ่มที่แยกตัวออกมาจากชุมชนเควกเกอร์ (Quackers) ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอังกฤษซึ่งอพยพมายังทวีปอเมริกาใน ค.ศ. 1774 หัวหน้าคณะศาสนาจารย์กลางของเชกเกอส์ใน ค.ศ. 1788 โจเซฟ มีชชัม (Joseph Meacham) ได้รับวิวรณ์ว่าแต่ละเพศควรเท่าเทียมกัน เขาจึงชวนลูซี ไรต์ (Lucy Wright) เข้าร่วมคณะในฐานะเป็นคู่ตรงข้ามฝ่ายหญิง ทั้งสองร่วมกันปรับโครงสร้างสังคมเพื่อสร้างสมดุลของสิทธิระหว่างแต่ละเพศ มีชชัมและไรต์จัดตั้งคณะผู้นำที่ผู้ปกครองชายแต่ละคนที่ดูแลสวัสดิภาพฝ่ายจิตวิญญาณของผู้ชายจะมีคู่ตรงข้ามกับผู้ปกครองหญิงซึ่งกระทำการเดียวกันในส่วนของผู้หญิง มัคนายกชายแต่ละคนจะมีคู่ตรงข้ามฝ่ายหญิง และแต่ละเพศควบคุมดูแลและอยู่อาศัยกับเพศของตน ในสังคมเชกเกอร์ ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องถูกควบคุมหรือตกเป็นของผู้ชายคนใด หลังมีชชัมเสียชีวิตใน ค.ศ. 1796 ไรต์ขึ้นเป็นหัวหน้าคณะแทนจนกระทั่งมรณภาพใน ค.ศ. 1821
เชกเกอส์คงลักษณะการปกครองแบบสมดุลทางเพศไว้นานกว่า 200 ปี และยังส่งเสริมความเท่าเทียมด้วยการร่วมทำงานกับผู้สนับสนุนสิทธิสตรีคนอื่น ๆ ใน ค.ศ. 1859 ผู้ปกครองเชกเกอร์เฟรเดอริก อีแวนส์ (Frederick Evan) ประกาศความเชื่อของเขาโดยเขียนว่าพวกเชกเกอส์เป็น "พวกแรกที่ปลดปล่อยผู้หญิงจากภาวะทาสที่ระบบศาสนาอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่มอบหมายให้เขา (ไม่มากก็น้อย) และที่รับรองสิทธิอันสมควรและทัดเทียมกับชายให้กับเขา ซึ่งด้วยความคล้ายคลึงกับชายทั้งในองคาพยพและสมรรถนะ ย่อมเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าอีกทั้งของธรรมชาติ"[8] กอปรกับคู่ตรงข้ามของเขาผู้ปกครองหญิงแอนทัวเนตต์ ดูลิตเติล (Antoinette Doolittle) ได้เข้าร่วมเวทีปราศรัยของกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิสตรีในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐในคริสต์ทศวรรษ 1870 ผู้เข้าเยี่ยมชมชุมชนเชกเกอส์คนหนึ่งเขียนไว้ใน ค.ศ. 1875 ว่า
แต่ละเพศทำงานในสาขาที่เหมาะสมกับตน ผู้หญิงอยู่ใต้บังคับบัญชา เชื่อฟัง และเคารพผู้ชายภายใต้ระเบียบของเขา และผู้ชายเฉกเช่นเดียวกันภายใต้ระเบียบของผู้หญิง [เน้นความ] อย่างนั้นเองผู้ที่พากเพียรเรียกร้อง "สิทธิสตรี" ผู้ใดก็ตามที่เข้ามาในชุมชนแห่งนี้จะพบว่าอุดมคติของตนได้กลายเป็นจริงในภาคปฏิบัติแล้ว[9]
มีข้อเสนอว่าพวกเชกเกอส์แสดงให้เห็นว่าความเท่าเทียมทางเพศสามารถบรรลุได้และบรรลุได้อย่างไร[10] ในสังคมส่วนใหญ่ ขบวนการเพื่อความเท่าเทียมทางเพศเริ่มต้นจากขบวนการเรียกร้องสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง (suffragette) ในกลุ่มวัฒนธรรมตะวันตกช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้งได้ ช่วงเวลานี้ยังเกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญของสิทธิในทรัพย์สินของผู้หญิง (women's property rights) โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถานะสมรส (เช่นพระราชบัญญัติทรัพย์สินของหญิงมีสามี ค.ศ. 1882 (Married Women's Property Act 1882) ในสหราชอาณาจักร)
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ขบวนการปลดปล่อยผู้หญิง (women's liberation movement) และสตรีสิทธินิยมได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวไปสู่การรับรองสิทธิของผู้หญิง สหประชาชาติและหน่วยงานระหว่างประเทศอื่น ๆ มีมติเห็นชอบอนุสัญญาหลายฉบับที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ แต่อนุสัญญาเหล่านี้ยังไม่ได้รับมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากทุก ๆ ประเทศ อันประกอบด้วย
- อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางการศึกษา (Convention against Discrimination in Education) ได้รับมติเห็นชอบใน ค.ศ. 1960 และมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1962 และ 1968
- อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ได้รับมติเห็นชอบจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติใน ค.ศ. 1979 โดยมีผู้บรรยายว่าเสมือนเป็นบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมืองของผู้หญิงแบบฉบับนานาชาติ และมีผลบังคับเมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1981
- ปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการ (Vienna Declaration and Programme of Action) เป็นปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ที่การประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (World Conference on Human Rights) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1993 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย สิทธิของผู้หญิงอยู่ในวรรค 18[11]
- ปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี (Declaration on the Elimination of Violence Against Women) ได้รับมติเห็นชอบจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติใน ค.ศ. 1993
- แผนปฏิบัติการไคโร (Cairo Programme of Action) 20 ปีได้รับมติเห็นชอบที่การประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา (International Conference on Population and Development) ใน ค.ศ. 1994 ที่กรุงไคโร แผนปฏิบัติการไม่ผูกพัน (Non-binding resolution) ฉบับนี้กล่าวว่ารัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบตอบสนองต่อความต้องการเจริญพันธุ์ของปัจเจกบุคคล มากกว่าเป้าหมายทางประชากร ด้วยเหตุนี้จึงเรียกร้องให้มีการวางแผนครอบครัว บริการสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (reproductive rights) และยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง
- อนุสัญญาทวีปอเมริกาว่าด้วยการป้องกัน การลงโทษ และการขจัดความรุนแรงต่อสตรี หรือเป็นที่รู้จักในชื่ออนุสัญญาเบเลง ดู ปารา (Belém do Pará Convention) ใน ค.ศ. 1994 เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง[12]
- ปฏิญญาปักกิ่ง (Beijing Declaration) ได้รับมติเห็นชอบจากสหประชาชาติเมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1995 ที่การประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสตรีครั้งที่ 4 (Fourth World Conference on Women) ข้อมตินี้ได้รับมติเห็นชอบเพื่อประกาศหลักการที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศ
- ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 1325 (United Nations Security Council Resolution 1325) ได้รับมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2000 และเกี่ยวกับสิทธิและการคุ้มครองผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในระหว่างและภายหลังสงคราม
- พิธีสารมาปูตู (Maputo Protocol) ได้รับมติเห็นชอบจากสหภาพแอฟริกาเป็นพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมกฎบัตรแอฟริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิของประชาชน (African Charter on Human and Peoples' Rights) และมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 2005 พิธีสารนี้สร้างหลักประกันในสิทธิที่ครอบคลุมให้แก่ผู้หญิง อาทิสิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง สิทธิในความเท่าเทียมทางสังคมและการเมืองกับผู้ชาย สิทธิในการควบคุมอนามัยเจริญพันธุ์ (reproductive health) ของตัวเอง และการยุติการขริบอวัยวะเพศหญิง (female genital mutilation)
- ข้อกำหนดสหภาพยุโรป (Directive (European Union)) Directive 2002/73/EC – equal treatment of 23 September 2002 amending Council Directive 76/207/EEC on the implementation of the principle of equal treatment for men and women as regards access to employment, vocational training and promotion, and working conditions กล่าวว่า "การคุกคามและการคุกคามทางเพศในความหมายของข้อกำหนดนี้ให้ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศและจึงต้องห้าม"[13]
- อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามความรุนแรงต่อสตรีและความรุนแรงในครอบครัวแห่งสภายุโรปของสภายุโรปเป็นกลไกผูกพันทางกฎหมายฉบับแรกในทวีปยุโรปที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อผู้หญิง[14] came into force in 2014.
- Gender Equality Strategy 2014–2017 ของสภายุโรปประกอบด้วยวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ห้าข้อ:[15]
- การต่อสู้กับภาพเหมารวมทางเพศและลัทธิกีดกันทางเพศ
- การป้องกันและการต่อสู้กับความรุนแรงต่อสตรี
- การสร้างหลักประกันการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกันของผู้หญิง
- การบรรลุสมดุลในการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและผู้ชายในกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองและของรัฐ
- การบรรลุการบูรณาการสถานะเพศ (Gender mainstreaming) ในทุก ๆ นโยบายและมาตรการ
กฎหมายและนโยบายยืนยันสิทธิประโยชน์ (affirmative action) เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเจตคติของสังคม งานสำรวจพลเมืองใน 38 ประเทศใน ค.ศ. 2015 ของ Pew Research Center พบว่าคนส่วนใหญ่ใน 37 ประเทศกล่าวว่าความเท่าเทียมทางเพศอย่างน้อยที่สุด "สำคัญประมาณหนึ่ง" และค่ามัธยฐานระดับโลกที่ร้อยละ 65 เชื่อว่า "สำคัญอย่างยิ่ง" ที่ผู้หญิงจะมีสิทธิเหมือนกันกับผู้ชาย[16]
ในปัจจุบันอาชีพส่วนใหญ่ในหลายประเทศรับทำงานทั้งผู้ชายและผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกัน[lower-roman 2] เช่นเดียวกัน ผู้ชายเข้าทำงานในสาขาอาชีพซึ่งในอดีตถูกมองว่าเป็นงานของผู้หญิง (women's work) เพิ่มมากขึ้น เช่นการพยาบาล การทำความสะอาด (Maid) และการดูแลเด็ก (child care) ในส่วนของครัวเรือน การแบ่งปันบทบาทหน้าที่เลี้ยงเด็ก (Parenting) เริ่มมีมากขึ้นหรือถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิงโดยเฉพาะไม่มากเท่าเดิม ทำให้ผู้หญิงมีอิสระที่จะทำงานอาชีพภายหลังการคลอดบุตร ความเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งในเจตคติของสังคมคือการไม่เปลี่ยนนามสกุลของผู้หญิงเป็นของผู้ชายโดยอัตโนมัติเมื่อสมรสกัน (Married and maiden names)[17]
ประเด็นด้านความเท่าเทียมทางเพศที่เป็นข้อพิพาทคือเรื่องบทบาทของผู้หญิงในสังคมเคร่งศาสนา (religious law)[lower-roman 3][lower-roman 4] คริสต์ศาสนิกชนและมุสลิมบางกลุ่มเชื่อในคติความเติมเต็ม (Complementarianism) ซึ่งเป็นมุมมองว่าผู้ชายและผู้หญิงมีบทบาทที่แตกต่างแต่เติมเต็มซึ่งกันและกัน มุมมองนี้อาจอยู่ตรงข้ามกับมุมมองและเป้าหมายของความเท่าเทียมทางเพศ
นอกจากนั้น ความเท่าเทียมทางเพศก็อาจยังคงเป็นข้อถกเถียงในประเทศนอกโลกตะวันตกที่ไม่เคร่งศาสนาบางประเทศเช่นกัน วัฒนธรรมความพึงใจเลือกบุตรเพศชาย (Sex-selective abortion) ในประเทศจีนทำให้ประชากรผู้หญิงไม่เพียงพอ ขบวนการสตรีสิทธินิยมในประเทศญี่ปุ่น (Feminism in Japan) สร้างความก้าวหน้าหลายประการและทำให้มีการก่อตั้งสำนักความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality Bureau) ขึ้นมา แต่ประเทศญี่ปุ่นยังคงมีความเท่าเทียมทางเพศในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ
แนวคิดว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศและระดับของมันในบางประเทศเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะประเทศนั้นอาจมีประวัติศาสตร์ของความเท่าเทียมทางเพศระดับสูงในส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ไม่มีในส่วนอื่น ๆ[lower-roman 5][lower-roman 6] การจัดหมวดหมู่ประเทศตามระดับของความเท่าเทียมทางเพศที่ได้บรรลุผลจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง[18] นักวิชาการรัฐศาสตร์ มาลา ทูน (Mala Htun) และ เอส. ลอเรล เวลดัน (S. Laurel Weldon) กล่าวว่า "นโยบายเรื่องสถานะเพศไม่ใช่ประเด็นเดี่ยวแต่เป็นหลายประเด็น" และ[19]
เวลาที่ประเทศคอสตาริกามีวันลาคลอดที่ดีกว่าของสหรัฐ และประเทศแถบลาตินอเมริกานำนโยบายเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงมาปฏิบัติใช้ได้รวดเร็วว่าประเทศแถบนอร์ดิก อย่างน้อยที่สุดเราต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะมีวิธีการจัดกลุ่มรัฐต่าง ๆ แบบใหม่ที่จะทำให้การศึกษาการเมืองของเพศรุดก้าวหน้า
ความเชื่อเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศบางประการยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย เช่นท็อปฟรีดอม (topfreedom) หรือสิทธิในการเปลือยท่อนบนในที่สาธารณะ ซึ่งส่วนมากเฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่มีสิทธินี้และยังคงเป็นประเด็นชายขอบ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่สาธารณะ (Breastfeeding in public) ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณกึ่งส่วนบุคคลเช่นร้านอาหาร[20]
สหประชาชาติ
ความเท่าเทียมทางเพศเป็นวิสัยทัศน์ของการปฏิบัติต่อผู้ชายและผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกันทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ และทุกแง่มุมอื่น ๆ ของสังคม และการไม่เลือกปฏิบัติบนฐานของสถานะเพศ[lower-roman 7] ความเท่าเทียมทางเพศเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ[21] องค์กรโลกต่าง ๆ ให้นิยามกับความเท่าเทียมทางเพศด้วยคำศัพท์อย่างสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิสตรีและการพัฒนาเศรษฐกิจ[22][23] รายงานเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษของสหประชาชาติกล่าวถึงเป้าหมายว่าเป็นการ "บรรลุความเท่าเทียมทางเพศและการเพิ่มอำนาจของผู้หญิง" แม้ในประเทศกำลังพัฒนาจะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่สหประชาชาติก็ยังคงส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและช่วยเหลือในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยั่งยืนในทุก ๆ รัฐสมาชิก เป้าหมายยังรวมถึงการทำให้ค่าจ้างของผู้หญิงที่ทำงานเต็มเวลาเท่ากับของผู้ชายในอาชีพเดียวกัน
ความลำเอียง
งานศึกษาเรื่องการทำนายบุคคลิกภาพของบุคคลจากภาพถ่ายใน 44 ประเทศพบว่าปรากฏการณ์ผู้หญิงยอดเยี่ยม (women-are-wonderful) อยู่ในระดับที่ต่ำในประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศสูง และสิ่งที่เพิ่มขึ้นคือการที่ผู้ชายถูกมองในแง่ลบน้อยลง[26]
ข้อวิจารณ์
นักสตรีสิทธินิยมบางส่วนวิจารณ์วาทกรรมและนโยบายทางการเมืองต่าง ๆ ที่ใช้ในการบรรลุ "ความก้าวหน้า" ในความเท่าเทียมทางเพศ ว่ายุทธศาสตร์เหล่านี้เป็นยุทธศาสตร์ที่ผิวเผิน ไม่ได้พยายามท้าทายโครงสร้างทางสังคมที่ถูกครอบงำโดยผู้ชาย และมุ่งที่จะพัฒนาสถานการณ์ของผู้หญิงในกรอบของผู้หญิงที่อยู่ใต้ผู้ชายเท่านั้น[27] และวิจารณ์ว่านโยบายสาธารณะทางการต่าง ๆ (เช่นนโยบายของรัฐหรือขององค์กรระหว่างประเทศ) มีปัญหา เพราะถูกนำมาใช้ในบริบทแบบปิตาธิปไตย และถูกควบคุมทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยตัวแทนของระบบซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยผู้ชาย[28] หนึ่งในข้อวิจารณ์นโยบายความเท่าเทียมทางเพศของสหภาพยุโรปกล่าวว่าให้ความสำคัญกับนโยบายที่บูรณาการผู้หญิงเข้าไปในชีวิตสาธารณะอย่างไม่ได้สัดส่วนกับนโยบายที่พยายามจัดการกับการกดขี่ในพื้นที่ส่วนตัวอย่างจริงจัง[29]
ข้อวิจารณ์หนึ่งกล่าวว่าการมุ่งเน้นที่สถานการณ์ของผู้หญิงในประเทศนอกโลกตะวันตกแต่เมินเฉยต่อปัญหาที่มีอยู่แล้วในโลกตะวันตกเป็นจักรวรรดินิยมอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการหนุนเสริมความเหนือกว่าทางจริยธรรมของตะวันตก และเป็นอีกวิธีหนึ่งในการทำให้ความรุนแรงในครัวเรือนกลายเป็น "อื่น" โดยจัดแสดงมันเสมือนเป็นสิ่งที่เฉพาะคนนอกมีเท่านั้น กล่าวคือพวก "คนอื่นหัวรุนแรง" และอ้างว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตกที่ก้าวหน้า[30] นักวิจารณ์กลุ่มนี้ชี้ว่าผู้หญิงในประเทศตะวันตกประสบกับปัญหาที่คล้ายกันบ่อยครั้ง เช่นความรุนแรงในครัวเรือนและการข่มขืน เช่นเดียวกับในส่วนอื่น ๆ ของโลก[31] และอ้างอิงข้อเท็จจริงว่าเมื่อไม่กี่ทศวรรษที่แล้วผู้หญิงยังได้รับการเลือกปฏิบัติจากกฎหมายอยู่ในประเทศตะวันตกบางประเทศ เช่นสวิตเซอร์แลนด์ กรีซ สเปน และฝรั่งเศส ที่ผู้หญิงได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันในกฎหมายครอบครัวในคริสต์ทศวรรษ 1980[lower-roman 8][lower-roman 9][lower-roman 10][lower-roman 11]
ข้อวิจารณ์อีกข้อหนึ่งกล่าวว่าการกดขี่ผู้หญิงชนิดต่าง ๆ ได้รับการพูดถึงในสาธารณะอย่างเลือกปฏิบัติ โดยความรุนแรงบางรูปแบบเช่นยโศโฆษาฆาต (honor killings) (พบได้บ่อยที่สุดในบางภูมิภาคเช่นบางส่วนของทวีปเอเชียและแอฟริกาเหนือ) ถูกนำมาถกเถียงอยู่บ่อยครั้ง ในขณะที่ความรุนแรงรูปแบบอื่น ๆ เช่นการลงโทษอย่างโอนอ่อนสำหรับความผิดตัณหาอาชญากรรม (crimes of passion) ทั่วทั้งลาตินอเมริกาไม่ได้รับความสนใจที่เท่ากันในโลกตะวันตก[33][lower-roman 12] แต่มีการกล่าวว่าข้อวิจารณ์กฎหมายบางข้อของประเทศกำลังพัฒนากำลังเพิกเฉยต่ออิทธิพลที่ลัทธิอาณานิคมมีต่อระบบกฎหมายเหล่านั้น[lower-roman 13] แนวคิดของการทำให้เป็นตะวันตก (Westernization) และการทำให้เป็นยุโรป (Europeanisation) ตกเป็นข้อโต้เถียงเนื่องจากเป็นการเตือนความจำถึงลัทธิอาณานิคมในอดีต[34] และด้วยเหตุข้อเท็จจริงที่แม้แต่ในประเทศตะวันตกบางประเทศ เช่นสวิตเซอร์แลนด์เอง ก็ยังล่าช้าเป็นอย่างมากในการคืนสิทธิทางกฎหมายให้แก่ผู้หญิง[35][36]
นอกจากนี้ มีการคัดค้านวิธีการที่สื่อตะวันตกแสดงแทนผู้หญิงจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดภาพเหมารวมขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นภาพของผู้หญิงเอเชียหรือยุโรปตะวันออกที่ "ยอมจำนน" ซึ่งเป็นภาพเหมารวมที่ถูกเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเจ้าสาวสั่งทางไปรษณีย์ (mail-order bride)[37] ภาพเหมารวมเหล่านี้ส่วนมากไม่เป็นเรื่องจริงโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงในประเทศยุโรปตะวันออกหลายประเทศประกอบอาชีพที่มีสถานะทางวิชาชีพอยู่ในระดับสูง[38][39] นักสตรีสิทธินิยมในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศต่อต้านมโนคติที่ว่าผู้หญิงในประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับ "ความช่วยเหลือ" จากโลกตะวันตก[40] ความเท่าเทียมทางเพศควรถูกวัดค่าอย่างไรยังคงเป็นที่ถกเถียง และคำถามว่าโลกตะวันตกทำมันได้ดีที่สุดหรือไม่ก็เช่นกัน งานศึกษาจาก ค.ศ. 2010 พบว่าจากประเทศที่มีผู้หญิงจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์มากที่สุด 20 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ถูกมองจากนานาชาติว่ามีคะแนนต่ำมากในอันดับของสิทธิสตรี โดยสามอันดับแรกประกอบด้วยประเทศอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และโอมาน และมีประเทศยุโรปเพียงห้าประเทศในยี่สิบอันดับนี้ ประกอบด้วยประเทศโรมาเนีย บัลแกเรีย อิตาลี จอร์เจีย และกรีซ[41]
ข้อโต้เถียงเกี่ยวกับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของโลกตะวันตกในโลกไม่ใช่เรื่องใหม่ ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1940 ในขณะที่กำลังมีการร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขึ้นมา สมาคมมานุษยวิทยาอเมริกัน (American Anthropological Association) กล่าวเตือนว่าเอกสารนี้จะให้นิยามกับสิทธิอันเป็นสากลจากมุมมองตะวันตก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อประเทศนอกโลกตะวันตก และกล่าวอ้างเพิ่มเติมว่าประวัติศาสตร์ของลัทธิอาณานิคมและการแทรกแซงสังคมอื่น ๆ ของโลกตะวันตกทำให้ฝ่ายนี้เป็นตัวแทนทางจริยธรรมที่เป็นปัญหาสำหรับมาตรฐานโลกที่เป็นสากล[42]
มีข้อวิจารณ์ว่ากฎหมายระหว่างประเทศ ศาลระหว่างประเทศ (international court) และแนวคิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นกลางทางเพศและเป็นสากลอย่างดีที่สุดเงียบเฉยต่อประเด็นที่สำคัญต่อผู้หญิงและอย่างแย่ที่สุดวางผู้ชายไว้เป็นศูนย์กลาง ด้วยการพิจารณาให้บุคคลเพศชายเป็นค่าโดยปริยาย[43] ความเป็นกลางทางเพศที่มากเกินไปสามารถทำให้สถานการณ์ของผู้หญิงแย่ลงได้ เพราะกฎหมายจะสมมุติว่าผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับผู้ชาย โดยเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงทางชีววิทยาว่าในกระบวนการการสืบพันธุ์และการตั้งครรภ์ไม่มี "ความเท่าเทียม" และนอกจากความแตกต่างทางกายภาพแล้วยังมีข้อจำกัดที่เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมซึ่งกำหนดตำแหน่งที่เป็นรองทั้งในทางสังคมและทางวัฒนธรรมให้กับผู้หญิง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้แนวทางเฉพาะกิจสำหรับสิทธิสตรี ไม่เพียงแค่อย่างที่เป็นกลางทางเพศ[44] ในบทสัมภาษณ์จาก ค.ศ. 1975 ซีมอน เดอ โบวัวร์ พูดถึงปฏิกิริยาแง่ลบต่อสิทธิสตรีจากฝ่ายซ้ายทั้งที่ควรเป็นฝ่ายที่ก้าวหน้าและสนับสนุนความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และแสดงความกังขาต่อองค์กรระหว่างประเทศกระแสหลัก[45]
มีการตั้งคำถามว่าการแทรกแซงจากนานาชาติในประเด็นทางสังคมภายในประเทศโดยองค์กรระหว่างประเทศเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่[46] โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมากสามารถสร้างความสับสนได้ เช่นการวินิจฉัยปัญหาเดียวกันในทางที่ขัดแย้งกัน เช่นศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) มีคำพิพากษายืนการห้ามสวมใส่บุรเกาะอ์ในที่สาธารณะของประเทศฝรั่งเศสใน ค.ศ. 2014[47] ในขณะที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Committee) วินิจฉัยสรุปใน ค.ศ. 2018 ว่าการห้ามสวมใส่บุรเกาะอ์ในที่สาธารณะของประเทศฝรั่งเศสเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน[48] องค์กรระหว่างประเทศได้รับคำวิจารณ์ว่าตั้งอยู่บนอุดมการณ์ของการมีแนวทางแบบเหมาโหลต่อประเด็นต่าง ๆ ซึ่งไม่พิจารณาว่าบางแนวทางอาจใช้การได้ในบางวัฒนธรรมแต่ใช้ไม่ได้ในวัฒนธรรมอื่น[49][50] ว่าการแทรกแซงภายในประเทศอื่นจากนานาชาติส่วนมากเป็นการทำร้ายมากกว่าดี และว่าปัญหาต่าง ๆ ในวัฒนธรรมหนึ่งในท้ายที่สุดจะต้องได้รับการแก้ไขจากภายในวัฒนธรรมนั้นเอง ไม่ใช่จากการบังคับแทรกแซงโดยต่างชาติ[51] องค์กรระหว่างประเทศยังได้รับข้อวิจารณ์อีกว่าแม้จะอ้างว่าสนับสนุนสิทธิมนุษยชนทั่วโลกและสากล แต่มักสนับสนุนผลประโยชน์ของอภิชนโลกตะวันตก[52] ความชอบธรรมขององค์กรระหว่างประเทศถูกตั้งคำถามในคริสต์ศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวระดับนานาชาติต่าง ๆ อาทิการทารุณเด็กทางเพศโดยเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (child sexual abuse by UN peacekeepers)[53]
ความพยายามต่อสู้ความเหลื่อมล้ำ
สหภาพยุโรปก่อตั้งสถาบันเพื่อความเท่าเทียมทางเพศยุโรป (European Institute for Gender Equality; EIGE) ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2010 ที่กรุงวิลนีอัส ประเทศลิทัวเนีย เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติทางเพศ ใน ค.ศ. 2015 สหภาพยุโรปเผยแพร่แผนปฏิบัติการ ง'Gender Action Plan 2016–2020[54]
ความเท่าเทียมทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรแห่งชาติของสหราชอาณาจักรและประเทศยุโรปอื่น ๆ หลายประเทศ หลักสูตรการศึกษาส่วนตัว สังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ (Personal, social, health and economic education) การศึกษาศาสนา (Religious education) และการรับภาษา (Language acquisition) มักพูดถึงประเด็นความเท่าเทียมทางเพศเป็นหัวข้อสำหรับการสนทนาและการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อสังคมอย่างจริงจัง เมื่อ ค.ศ. 2005 ประเทศคาซัคสถานสร้างแผนยุทธศาสตร์ Strategy for Gender Equality 2006–2016 ขึ้นมาเพื่อวางแผนความพยายามสร้างความเท่าเทียมทางเพศในทศวรรษต่อไป[55]
งานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางเพศลดทอนสุขภาพและการพัฒนาอย่างไร กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติกล่าวว่าในการพิชิตความเหลื่อมล้ำทางเพศ การเพิ่มอำนาจของผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศจำเป็นต้องมีการแทรกแซงทางยุทธศาสตร์ในทุกระดับของการวางแผนและการกำหนดนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ การเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจ การเพิ่มอำนาจทางการศึกษา และการเพิ่มอำนาจทางการเมือง[56] กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติกล่าวว่างานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าการทำงานร่วมกับผู้ชายรวมทั้งผู้หญิงในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศมีส่วนช่วยในการบรรลุผลลัพธ์ด้านสุขภาพและการพัฒนา[57]
สุขภาพและความปลอดภัย
ผลของความเหลื่อมล้ำทางเพศต่อสุขภาพ
สิ่งประกอบสร้างทางสังคมของสถานะเพศ (กล่าวคืออุดมคติเชิงวัฒนธรรมของความเป็นชายและความเป็นหญิงที่เป็นที่ยอมรับในสังคม) มักส่งผลในแง่ลบต่อสุขภาพ องค์การอนามัยโลกยกตัวอย่างของการไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเดินทางออกนอกบ้านคนเดียวได้ (เช่นเพื่อไปโรงพยาบาล) และบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่ห้ามไม่ให้ผู้หญิงขอให้สามีใช้ถุงยางอนามัยในวัฒนธรรมซึ่งในเวลาเดียวกันส่งเสริมความสำส่อนของผู้ชาย ว่าเป็นบรรทัดฐานทางเพศซึ่งเป็นภัยต่อสุขภาพของผู้หญิง (women's health) นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังยกตัวอย่างของเด็กชายวัยรุ่นที่ประสบอุบัติเหตุจากความคาดหวังทางสังคมในการสร้างความประทับใจให้เพื่อนฝูงผ่านการเสี่ยง และผู้ชายที่เสียชีวิตด้วยสาเหตุมะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่ในอัตราที่สูงกว่ามากในวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงการสูบบุหรี่กับความเป็นชาย ว่าเป็นบรรทัดฐานทางเพศที่ส่งผลลบต่อสุขภาพของผู้ชาย (men's health)[59] องค์การอนามัยโลกกล่าวด้วยว่าการขัดเกลาทางสังคมของสถานะเพศมีความเชื่อมโยงอย่างยิ่งต่อการแพร่เชื้อและการขาดการจัดการการติดเชื้อเอชไอวี/กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อมอย่างเหมาะสม[60]
ธรรมเนียมปฏิบัติทางวัฒนธรรมบางอย่าง เช่นการขริบอวัยวะเพศหญิง ส่งผลลบต่อสุขภาพของผู้หญิง[61] การขริบอวัยวะเพศหญิงเป็นพิธีกรรมการตัดหรือเอาบางส่วนหรือทั้งหมดของอวัยวะเพศหญิงภายนอกออก การปฏิบัตินี้มีรากฐานจากความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ และเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเพศหญิงรูปแบบหนึ่ง[61] การปฏิบัตินี้พบได้ในทวีปแอฟริกา เอเชีย กับตะวันออกกลาง และภายในชุมชนผู้อพยพจากประเทศที่การขริบอวัยวะเพศยังมีอยู่แพร่หลาย[62] ผู้หญิงและเด็กหญิงร้อยละ 21 และประมาณ 4 ล้านคนประสบกับการปฏิบัติแบบนี้ในประเทศเคนยา[63] โดยมีศูนย์กลางในหลายพื้นที่และชุมชนไม่ว่าจะเป็นชุมชนชาวกุเรีย (Kuria people) ในประเทศเคนยาและพรมแดนประเทศแทนซาเนีย และกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกิซี (Kisii people) ชาวมาไซ ชาวโซมาลี ชาวซัมบูรู (samburu people) และชาวกุเรีย[64] กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติประมาณการณ์ใน ค.ศ. 2016 ว่ามีผู้หญิง 200 ล้านคนที่ได้ผ่านพิธีกรรมนี้[62]
องค์การอนามัยโลกกล่าวว่าความเท่าเทียมทางเพศสามารถพัฒนาสุขภาพของผู้ชายได้ งานศึกษาแสดงให้เห็นว่าแนวคิดความเป็นชายแบบจารีตส่งผลต่อสุขภาพของผู้ชายอย่างยิ่ง โรคไม่ติดต่อ (non-communicable diseases) เช่นมะเร็ง โรคระบบหัวใจหลอดเลือด โรคระบบหายใจ และเบาหวานเป็นสาเหตุของความตายส่วนใหญ่ในประชากรผู้ชายชาวยุโรปอายุระหว่าง 30 ถึง 59 โดยมีความเชื่อมโยงกับการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ความเครียด การใช้สารในทางที่ผิด (substance abuse) และพฤติกรรมอื่น ๆ ซึ่งรายงานฉบับนี้ชี้ว่าถูกมองอย่างเหมารวมเป็นพฤติกรรมที่เป็นชาย อาทิการดื่มสุราและสูบบุหรี่ในปริมาณมาก ภาพเหมารวมทางเพศตามจารีตประเพณีที่ให้ผู้ชายอยู่ในบทบาทของผู้หาเลี้ยงครอบครัว (breadwinner) และการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบที่กีดกันไม่ให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในครัวเรือนของตนและในกำลังแรงงานอย่างเท่าเทียมกันสามารถสร้างความเครียดสะสมให้กับผู้ชายซึ่งเพิ่มความเสี่ยงปัญหาด้านสุขภาพ ผู้ชายที่ได้รับการค้ำจุนจากบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมมักเลือกที่จะเสี่ยงมากกว่าและพัวพันกับความรุนแรงระหว่างบุคคลบ่อยครั้งกว่าผู้หญิง ซึ่งสามารถนำไปสู่อาการบาดเจ็บถึงตายได้[65][66][67][68]
ความรุนแรงต่อผู้หญิง
ความรุนแรงต่อสตรี (VAW) เป็นศัพท์ทางเทคนิคซึ่งหมายถึงการกระทำด้วยความรุนแรงโดยรวมต่อผู้หญิงเป็นหลักหรือโดยเฉพาะ[lower-roman 14] ความรุนแรงประเภทนี้เป็นด้วยเหตุแห่งเพศ กล่าวคือความรุนแรงนั้นได้กระทำต่อผู้หญิงเพราะเป็นผู้หญิงอย่างแจ่มแจ้ง หรืออันเป็นผลจากโครงสร้างของเพศแบบปิตาธิปไตย[lower-roman 15] ความรุนแรงและการปฏิบัติมิชอบต่อผู้หญิงในการสมรสได้รับความสนใจจากนานาชาติในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งรวมทั้งความรุนแรงภายในการสมรส (ความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence)) และความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับขนมธรรมเนียมและประเพณีการสมรส (เช่นสินสอด ราคาเจ้าสาว (bride price) การบังคับสมรส (forced marriage) และการสมรสเด็ก (child marriage))
บางทฤษฎีกล่าวว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงส่วนมากเกิดขึ้นจากการยอมรับความรุนแรงเป็นวิธีการแก้ไขความขัดแย้งภายในความสัมพันธ์ใกล้ชิด (intimate relationship) ในหลายกลุ่มวัฒนธรรม งานศึกษาเกี่ยวกับเหยื่อของความรุนแรงในคู่รัก (Intimate partner violence) ในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่ากลุ่มผู้อพยพมีความเสี่ยงสูงที่จะพบกับความรุนแรงในคู่รัก[69][70]
ในประเทศที่ฆาตกรรมโดยนักเลง การลักพาตัวโดยมีอาวุธ การก่อความไม่สงบ และการกระทำอื่นที่คล้ายกันหาได้ยาก ผู้หญิงส่วนใหญ่ถูกฆ่าโดยคู่รักหรืออดีตคู่รัก[lower-roman 16] ในทางตรงกันข้าม ผู้หญิงในประเทศที่มีอาชญากรรมองค์กรและความรุนแรงโดยนักเลงในระดับสูงมีแนวโน้มถูกฆ่าในที่สาธารณะมากกว่า บ่อยครั้งท่ามกลางบรรยากาศของความเฉยเมยและไม่ถูกลงโทษ[71] นอกจากนี้ หลายประเทศไม่มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับฆาตกรรมแบบนี้อย่างครอบคลุมมากพอ ทำให้ปัญหาแย่ลง[71]
ในบางส่วนของโลก ความรุนแรงต่อผู้หญิงบางรูปแบบเป็นสิ่งที่ทนได้และถูกยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน[lower-roman 17] ความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้หญิงในประเทศส่วนใหญ่เพิ่งได้รับความสนใจทางกฎหมายอย่างมีนัยสำคัญเพียงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา อนุสัญญาอิสตันบูลยอมรับว่ามีธรรมเนียมของประเทศยุโรปที่เพิกเฉยต่อความรุนแรงรูปแบบนี้มาเป็นเวลานาน[lower-roman 18][lower-roman 19]
ในบางวัฒนธรรม การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญฺิงถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมต่อผู้ชายที่เป็น 'เจ้าของ' ของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นสามี บิดา หรือญาติพี่น้อง แทนที่จะเป็นตัวผู้หญิงเอง นี่ทำให้เกิดธรรมเนียมที่ผู้ชายใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงเพื่อแก้แค้นสมาชิกฝ่ายชายในครอบครัวของฝ่ายหญิง[72] ธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้เช่นการข่มขืนกระทำชำเราแก้แค้น (payback rape) ซึ่งเป็นการข่มขืนรูปแบบเฉพาะในบางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เกาะแปซิฟิก เป็นการข่มขืนผู้หญิงคนหนึ่งโดยผู้ชายกลุ่มหนึ่งเพื่อแก้แค้นสมาชิกบางคนในครอบครัวของฝ่ายหญิง ไม่ว่าจะเป็นบิดาหรือพี่น้องฝ่ายชาย โดยเป็นการข่มขืนโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้บิดาหรือพี่น้องเหล่านั้นอับอายขายหน้า เป็นการลงโทษต่อการกระทำก่อน ๆ ที่ทำต่อผู้กระทำผิด[73]
ริชาร์ด โพสเนอร์ (Richard Posner) เขียนว่า "ตามประเพณีดั้งเดิม การข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดของการพรากสินทรัพย์อันมีค่าไปจากบิดาหรือสามี กล่าวคือพรหมจรรย์ของภรรยาหรือบุตรสาว"[74] หลายวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ และแม้แต่ปัจจุบันในบางสังคม การข่มขืนกระทำชำเราถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมต่อเกียรติยศครอบครัวแทนที่จะเป็นอาชญากรรมต่อการกำหนดเจตจำนงตนเองของผู้หญิง ด้วยเหตุนี้ เหยื่อของการข่มขืนกลับอาจถูกทำร้ายด้วยความรุนแรง และในกรณีสุดโต่งถึงขั้นเป็นการฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ ด้วยน้ำมือสมาชิกครอบครัวตัวเอง[75][76] แคทเธอรีน เอ. แมกคินนอน (Catharine A. MacKinnon) อ้างว่าในสังคมที่ครอบงำโดยผู้ชาย ผู้หญิงถูกยัดเยียดการร่วมเพศในเชิงบังคับและไม่เท่าเทียม ทำให้เกิดภาวะต่อเนื่องของความเป็นเหยื่อ ซึ่งน้อยครั้งที่ผู้หญิงจะได้รับประสบการณ์ทางเพศที่เป็นบวก[lower-roman 20] การขัดเกลาทางสังคมภายในสิ่งประกอบสร้างทางเพศสภาพที่แข็งทื่อมักสร้างสภาพแวดล้อมที่ความรุนแรงทางเพศกลายเป็นสิ่งที่แพร่หลาย[lower-roman 21] หนึ่งในปัญหาในการจัดการกับความรุนแรงทางเพศคือมุมมองที่หลายสังคมมีต่อผู้หญิงว่าพร้อมและว่างสำหรับการร่วมเพศเสมอ และมองว่าผู้ชายถือสิทธิ์ในร่างกายของผู้หญิงจนกว่าผู้หญิงจะกล่าวปฏิเสธ[77][78][lower-roman 22]
ชนิดของความรุนแรงต่อผู้หญิง
ความรุนแรงต่อผู้หญิงสามารถจัดประเภทได้หลายแนวทาง
- การจัดประเภทตามวัฏจักรชีวิตขององค์การอนามัยโลก:
องค์การอนามัยโลก (WHO) พัฒนาการจัดประเภทของความรุนแรงต่อผู้หญิงตามวัฎจักรชีวิตทางวัฒนธรรม
วัฏภาค | ชนิดของความรุนแรง |
ก่อนเกิด | การทำแท้งแบบเลือกเพศ; ผลกระทบจากการทุบตีระหว่างการตั้งครรภ์ |
วัยทารก | การฆ่าทารกหญิง; การทารุณทางจิตใจ ทางเพศ และทางกายภาพ |
วัยเด็ก | การสมรสเด็ก; การขริบอวัยวะเพศหญิง; การทารุณทางจิตใจ ทางเพศ และทางกายภาพ; การร่วมประเวณีกับญาติสนิท; การค้าประเวณีและงานลามกเด็ก |
วัยรุ่นและผู้ใหญ่ | ความรุนแรงในการหาคู่ (เช่นการโจมตีด้วยกรดและการข่มขืนกระทำชำเราแฟน); การบังคับร่วมเพศด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ (เช่นนักศึกษานักเรียนหญิงที่ร่วมเพศกับ "เสี่ยเลี้ยง" (sugar daddy) เพื่อแลกกับค่าธรรมเนียมการศึกษา); การร่วมประเวณีกับญาติสนิท; การทารุณทางเพศในที่ทำงาน; การข่มขืนกระทำชำเรา; การคุกคามทางเพศ; การบังคับค้าประเวณีและถ่ายทำสื่อลามก; การค้ามนุษย์ผู้หญิง; ความรุนแรงในคู่รัก; การข่มขืนกระทำชำเราคู่สมรส; การทารุณและฆาตกรรมจากสินสอด; การฆ่าคู่รัก; การทารุณทางจิตใจ; การทารุณผู้หญิงพิการ; การบังคับตั้งครรภ์ |
วัยชรา | การบังคับ "ฆ่าตัวตาย" หรือการฆ่าม่ายด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ; การทารุณทางจิตใจ ทางเพศ และทางกายภาพ[79] |
มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญต่อการคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงในระดับนานาชาติอันเป็นผลจากความพยายามรณรงค์ร่วมกันของหลากหลายขบวนการสิทธิสตรี องค์การระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม ส่งผลให้รัฐบาลทั่วโลก องค์การระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคมทำงานต่อสู้กับความรุนแรงต่อผู้หญิงผ่านโครงการต่าง ๆ ความสำเร็จของขบวนการต่อสู้กกับความรุนแรงต่อผู้หญิงที่โดดเด่นเช่นปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีซึ่งแสดงถึงเจตจำนงทางการเมืองในการจัดการกับความรุนแรงต่อผู้หญิง และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย[80] ข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women)[81]
- การจัดประเภทตามช่วงเวลาของวารสารเดอะแลนซิต:
วารสารวิชาการเดอะแลนซิตเผยแพร่การจัดประเภทความรุนแรงต่อผู้หญิงที่คล้ายกับขององค์การอนามัยโลก โดยแสดงถึงความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงชนิดต่าง ๆ ตามช่วงเวลาที่ความรุนแรงเกิดขึ้นในชีวิตของผู้หญิง[82] แต่ยังจัดประเภทตามชนิดผู้กระทำผิดด้วย สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือชนิดของความรุนแรงต่อผู้หญิงส่วนมากกระทำโดยคนที่ผู้หญิงรู้จัก อาทิสมาชิกครอบครัวหรือคู่รักมากกว่าคนแปลกหน้า
- ความรุนแรงเก้ารูปแบบของสภายุโรป:
คณะกรรมการความเท่าเทียมทางเพศของสภายุโรปจัดประเภทความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นเก้ารูปแบบแบ่งตามประเด็นและบริบทแทนวัฎจักรชีวิตหรือช่วงเวลา[83][84]
- 'ความรุนแรงในครอบครัว'
- 'การข่มขืนกระทำชำเราและความรุนแรงทางเพศ'
- 'การคุกคามทางเพศ'
- 'ความรุนแรงในสิ่งแวดล้อมเชิงสถาบัน'
- 'การขริบอวัยวะเพศหญิง'
- 'การบังคับสมรส'
- 'ความรุนแรงในสถานการณ์ความขัดแย้งและหลังความขัดแย้ง'
- 'การฆ่าในนามของเกียรติ'
- 'การไม่เคารพเสรีภาพที่จะเลือกในเรื่องที่เกี่ยวกับการเจริญพันธุ์'
ความรุนแรงต่อผู้หญิงข้ามเพศ
การฆ่าคนข้ามเพศ โดยเฉพาะผู้หญิงข้ามเพศ ยังคงเพิ่มขึ้นปีต่อปี ใน ค.ศ. 2020 คนข้ามเพศ 350 คนถูกฆ่า บางกรณีด้วยการขาดอากาศหายใจและการถูกเผาทั้งเป็น[85]
ใน ค.ศ. 2009 ข้อมูลในสหรัฐแสดงว่าคนข้ามเพศมีแนวโน้มประสบกับความรุนแรงตลอดช่วงชีวิต รายงานหนึ่งกล่าวว่าผู้หญิงข้ามเพศต้องประสบกับอุปสรรคเชิงโครงสร้าง อารมณ์ และสถาบัน ผู้หญิงข้ามเพศส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับการป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ และไม่มีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันความรุนแรง สุขภาพจิต และบริการสังคมที่จะเป็นประโยชน์กับตน[86]
หญิงข้ามเพศในสหรัฐตกเป็นเหยื่อของการตีตราต่อต้านคนข้ามเพศ ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำให้เป็นอาชญากรรม การลดทอนความเป็นมนุษย์ และความรุนแรงต่อผู้ที่ระบุตัวตนเป็นคนข้ามเพศ โดยอาจเกิดขึ้นเพราะการขาดการสนับสนุนจากครอบครัว ปัญหาในระบบบริการสุขภาพและบริการสังคม การใช้กำลังเกินกว่าเหตุโดยตำรวจ การเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน การทำให้เป็นชายขอบทางวัฒนธรรม ความยากจน การล่วงละเมิดทางเพศ การทำร้ายร่างกาย การข่มเหงรังแก และบาดแผลทางจิตใจ องค์กร Human Rights Campaign ติดตาม 128 คดีเป็นอย่างน้อยที่คนข้ามเพศเสียชีวิตในสหรัฐระหว่าง ค.ศ. 2013 ถึง 2018 ซึ่งร้อยละ 80 เป็นผู้หญิงข้ามเพศผิวสี ในสหรัฐความรุนแรงในคู่รักส่งผลต่อผู้หญิงข้ามเพศต่างออกไปเพราะต้องพบกับการเลือกปฏิบัติจากตำรวจกับผู้ให้บริการสุขภาพและการแปลกแยกจากครอบครัว ใน ค.ศ. 2018 รายงานหนึ่งระบุว่าคนข้ามเพศร้อยละ 77 ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบริการทางเพศและร้อยละ 72 ที่เป็นคนไร้บ้านตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในคู่รัก[87]
สุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์
การประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสตรีครั้งที่สี่ (Fourth World Conference on Women) ที่ปักกิ่งและแผนปฏิบัติการการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนาของสหประชาชาติยอมรับความสำคัญของสิทธิและโอกาสของผู้หญิงในการมีอำนาจควบคุมเหนือร่างกายตนเอง การตัดสินใจในการเจริญพันธุ์ กับเพศวิถี และความจำเป็นที่ต้องมีความเท่าเทียมทางเพศเพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ องค์การอนามัยโลกกล่าวว่าการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศเป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้กับการติดเชื้อเอชไอวี/ กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม[60]
การตายมารดา (Maternal mortality) เป็นปัญหาหลักในหลายส่วนของโลก กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติกล่าวว่าประเทศเหล่านี้มีหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองสิทธิในสุขภาพของผู้หญิง แต่หลายประเทศมักไม่เป็นเช่นนั้น[89] ในปัจจุบันการตายมารดาถือว่าไม่เพียงแต่เป็นปัญหาด้านการพัฒนาแต่ยังเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนด้วย[lower-roman 23]
สิทธิในอัตตาณัติทางเพศและการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงถูกกีดกันในหลายส่วนของโลก ไม่ว่าจะผ่านธรรมเนียมปฏิบัติอย่างการบังคับทำหมัน การบังคับหาคู่ทางเพศ (เช่นการบังคับสมรส การสมรสเด็ก) การทำให้กิจกรรมทางเพศโดยยินยอมกลายเป็นอาชญากรรม (เช่นเพศสัมพันธ์นอกสมรส) การทำให้การข่มขืนกระทำชำเราในคู่สมรสไม่เป็นอาชญากรรม ความรุนแรงที่เกี่ยวกับการเลือกคู่ (ยโศโฆษาฆาตเพื่อลงโทษการมีความสัมพันธ์ที่ "ไม่เหมาะสม")[lower-roman 24] สุขภาวะทางเพศของผู้หญิงในสังคมที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิควบคุมเหนือเพศวิถีของตนเองส่วนมากย่ำแย่[lower-roman 25]
วัยรุ่นผู้หญิงมีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของการบังคับทางเพศ สุขภาวะทางเพศที่ย่ำแย่ และผลลัพธ์การเจริญพันธุ์ที่ไม่ดี ความเสี่ยงเหล่านี้สูงกว่าของเพศชาย ส่วนหนึ่งอันเนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางเพศ (การขัดเกลาทางสังคมเด็กชายและเด็กหญิงที่แตกต่างกัน ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ การสมรสเด็ก) และส่วนหนึ่งอันเนื่องจากปัจจัยทางชีววิทยา[lower-roman 26]
การวางแผนครอบครัวและการแท้ง
การวางแผนครอบครัวคือการตัดสินใจจำนวนบุตรที่จะมีและช่วงเวลาระหว่างการเกิดโดยเสรีผ่านการคุมกำเนิดหรือการทำหมันโดยสมัครใจ การทำแท้งคือการทำให้ยุติการตั้งครรภ์ กฎหมายทำแท้งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละประเทศ ความแพร่หลายของการคุมกำเนิด การทำหมัน และการทำแท้งขึ้นอยู่กับกฎหมาย รวมทั้งบรรทัดฐานทางสังคม วัฒนธรรม และศาสนา บางประเทศมีกฎหมายที่เสรีแต่กลับเข้าถึงบริการได้ยากในทางปฏิบัติเพราะหมอ เภสัชกร และผู้ให้บริการด้านสุขภาพและสังคมอื่น ๆ ทำหน้าที่เป็นผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรม[90][91] การวางแผนครอบครัวสำคัญอย่างยิ่งจากมุมมองของสิทธิสตรี เพราะการตั้งครรภ์หลายครั้งโดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีภาวะทุพโภชนาการสามารถเป็นอันตรายอย่างสาหัสต่อสุขภาพของผู้หญิงได้ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติเขียนว่า "การวางแผนครอบครัวเป็นศูนย์กลางของความเท่าเทียมทางเพศและการเพิ่มอำนาจของผู้หญิง และเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความยากจน"[92]
รัฐบาลที่มีนโยบายสนับสนุนการเกิด (natalism) มักต่อต้านการวางแผนครอบครัว ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตัวอย่างเช่นนโยบายสนับสนุนการเกิดเชิงรุกในสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนียและสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนแอลเบเนีย รัฐบาลอำนาจนิยมบางแห่งใช้การบังคับสมรสโดยรัฐในการบรรลุเป้าหมายจำนวนประชากร เช่นระบอบเขมรแดงในประเทศกัมพูชาบังคับผู้คนให้สมรสกันอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรและสานต่อการปฏิวัติ[93] ในทางตรงข้าม นโยบายลูกคนเดียวของประเทศจีนระหว่าง ค.ศ. 1979 ถึง 2015 ประกอบด้วยการลงโทษครอบครัวที่มีบุตรมากกว่าหนึ่งคนและการบังคับแท้ง บทลงโทษครอบครัวเหล่านั้นเป็นค่าปรับที่มีชื่อเรียกว่า "ค่าบำรุงรักษาสังคม" (social maintenance fee) นโยบายนี้กล่าวว่าครอบครัวที่ฝ่าฝืนกฎหมายเป็นภาระของสังคมโดยรวม ดั้งนั้นค่าบำรุงรักษาสังคมจะถูกนำมาใช้ในการดำเนินการขั้นพื้นฐานของรัฐบาล[94] รัฐบาลในบางแห่งพยายามป้องกันไม่ให้กลุ่มชาติพันธู์หรือกลุ่มสังคมหนึ่งเจริญพันธุ์ นโยบายแบบนี้ถูกนำมาใช้กับกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และถูกนำมาใช้กับชนพื้นเมืองในลาตินอเมริกาในคริสต์ทศวรรษ 1990 เช่นในประเทศเปรู ประธานาธิบดีอัลเบร์โต ฟูฆิโมริ (อยู่ในตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1990 ถึง 2000) ถูกกล่าวหาว่าได้ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อันเป็นผลจากโครงการทำหมันโดยรัฐบาลของเขาที่มุ่งเป้าไปที่คนพื้นเมือง (ชาวเกชัว (Quechua people) และชาวไอมารา (Aymara people) เป็นหลัก)[95]
การสืบสวนและการดำเนินคดีของอาชญากรรมที่กระทำต่อผู้หญิงและเด็กหญิง
องค์กรสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลต่ออาชญากรผู้กระทำผิดต่อผู้หญิงที่ลอยนวลพ้นผิดทางกฎหมาย และผู้มีอำนาจหน้าที่ซึ่งมักเมินเฉยต่ออาชญากรรมเหล่านี้[96] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของฆาตกรรมผู้หญิงในลาตินอเมริกา[97][98][99] และการลอยนวลพ้นผิดจากความรุนแรงในครอบครัว[lower-roman 27]
ผู้หญิงมักไม่สามารถเข้าถึงสถาบันทางกฎหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า "บ่อยเกินไป ที่สถาบันยุติธรรม ทั้งตำรวจและศาล ตัดสิทธิ์ความยุติธรรมของผู้หญิง"[100] โดยมักถูกปฏิเสธไม่ให้ขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย เพราะสถาบันรัฐเหล่านั้นเองมีโครงสร้างและการดำเนินการที่ไม่ลงรอยกับความยุติธรรมอย่างแท้จริงสำหรับผู้หญิงซึ่งประสบกับความรุนแรง[lower-roman 28]
ประเพณีปฏิบัติที่เป็นอันตราย
ประเพณีปฏิบัติที่เป็นอันตรายหมายถึงความรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยมากพอในบางชุมชนจนกลายเป็นข้อปฏิบัติทางวัฒนธรรม และถูกยอมรับด้วยเหตุผลนี้ เยาวชนผู้หญิงเป็นเหยื่อกลุ่มหลักของการกระทำเช่นนี้ แต่ผู้ชายก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน[101] ความรุนแรงเหล่านี้เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ผู้หญิงมีสิทธิและโอกาสที่ไม่เท่าเทียม[102] อ้างอิงตามสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ การปฏิบัติเหล่านี้เช่น[102]
การขริบอวัยวะเพศหญิง; การบังคับให้อาหารผู้หญิง; การสมรสในวัยเยาว์; ข้อห้ามและข้อปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งกีดกันไม่ให้ผู้หญิงควบคุมภาวะเจริญพันธุ์ของตนเอง; ข้อห้ามทางโภชนาการและประเพณีปฏิบัติในการคลอดบุตร; ความนิยมบุตรชายและผลกระทบต่อสถานะของบุตรหญิง; การฆ่าทารกหญิง; การตั้งครรภ์ในวัยเยาว์; และค่าสินสอด
ความนิยมบุตรชายหมายถึงวัฒนธรรมที่นิยมบุตรชายมากกว่าบุตรหญิง ซึ่งแสดงออกผ่านการปฏิบัติต่าง ๆ เช่นการทำแท้งเลือกเพศ การฆ่าทารกหญิง และการทารุณ ละเลย หรือทอดทิ้งบุตรหญิง[102]
การทารุณทางด้านโภชนาการหมายถึงข้อห้ามเกี่ยวกับอาหารบางชนิดซึ่งทำให้ผู้หญิงมีโภชนาการที่ย่ำแย่และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิง โดยเฉพาะหากกำลังตั้งครรภ์[102]
ระบบวรรณะในประเทศอินเดีย (caste system in India) ซึ่งทำให้เกิดภาวะของความจับต้องไม่ได้ (untouchability) (การปฏิบัติซึ่งเนรเทศคนกลุ่มหนึ่งด้วยการแบ่งแยกพวกเขาออกจากสังคมกระแสหลัก) มักมีปฏิสัมพันธ์กับเลือกปฏิบัติทางเพศ ทำให้ผู้หญิงทลิตถูกเลือกปฏิบัติซ้ำสองรอบ[103] ในงานสำรวจ ค.ศ. 2014 ชาวอินเดียร้อยละ 27 ยอมรับว่ายังปฏิบัติใช้ความจับต้องไม่ได้[104]
บางธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการคลอดบุตรเป็นอันตรายกับมารดา ในทวีปแอฟริกา การคลอดบุตรมักกระทำโดยการดูแลของหมอตำแย (traditional birth attendant) ซึ่งอาจทำพิธีกรรมบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมารดา ในสังคมหลายแห่งมีความเชื่อว่าการคลอดบุตรที่ยากลำบากเป็นการลงโทษจากเทพเจ้าความผิดนอกใจคู่สมรส และผู้หญิงเหล่านั้นต้องประสบกับการทารุณและถูกกดดันให้ "สารภาพ" ว่านอกใจ[102]
ประเพณีชนเผ่าสามารถเป็นอันตรายต่อผู้ชายได้ เช่นชาวมาเว (Mawé people) ซึ่งใช้มดกระสุน (bullet ant) ในพิธีกรรมแรกรับ (initiation rite) ผู้ชายจะต้องสวมถุงมือที่มีมดกระสุนหลายร้อยตัวฝังอยู่เป็นเวลาสิบนาที พิษของมดทำให้มีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงและทำให้เป็นอัมพาต ผู้ชายจะต้องผ่านพิธีกรรมนี้ยี่สิบครั้งจึงจะถือว่าเป็น "นักรบ"[105]
ประเพณีปฏิบัติที่เป็นอันตรายอื่น ๆ เช่นการสมรสผ่านการลักพาตัว (marriage by abduction) ทาสทางเพศ (sexual slavery) ที่กลายเป็นพิธีกรรม (เช่นเทวทาสีและโตรโกซี (Trokosi)) การรีดหน้าอก (breast ironing) และการสืบทอดหญิงม่าย[106][107][108][109]
การขริบอวัยวะเพศหญิง
UNFPA และ UNICEF ถือว่าการขริบอวัยวะเพศหญิงเป็น "การแสดงออกมาของความเหลื่อมล้ำทางเพศที่หยั่งลึก มันคงอยู่ด้วยเหตุผลหลายประการ ในสังคมบางแห่งเป็นต้น มันถือเป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน ในแห่งอื่น มันถูกมองว่าเป็นข้อบังคับของการสมรส ในชุมชนบางแห่ง ไม่ว่าจะเป็นคริสเตียน ยิว มุสลิม ข้อปฏิบัตินี้อาจอ้างเหตุผลเป็นความเชื่อทางศาสนา"[110]
ผู้หญิงและเด็กหญิงที่ยังมีชีวิตอยู่และถูกขริบอวัยวะเพศหญิงมีอยู่ประมาณ 125 ล้านคนใน 29 ประเทศที่มีข้อมูล ครึ่งหนึ่งจากทั้งหมดอาศัยอยู่ในประเทศอียิปต์และเอธิโอเปีย[111] ส่วนใหญ่กระทำต่อเด็กหญิงตั้งแต่เป็นทารกจนถึงอายุ 15 ปี[101]
การบังคับสมรสและการสมรสเด็ก
การสมรสในวัยเยาว์ การสมรสเด็ก หรือการบังคับสมรสมีอยู่แพร่หลายในหลายส่วนของทวีปเอเชียและแอฟริกา เหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุระหว่าง 18 และ 23 ปี[101] การสมรสเหล่านี้สามารถเป็นอันตรายต่อการศึกษาและพัฒนาการของเด็กหญิง และอาจทำให้ต้องเจอกับภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมหรือการทารุณ[102][112][113]
ข้อมติสหประชาชาติว่าด้วยการสมรสแบบบังคับ ในวัยเยาว์ และเด็กใน ค.ศ. 2013 เรียกร้องให้ยุติการปฏิบัติเหล่านี้และกล่าวว่า "ยอมรับว่าการสมรสแบบบังคับ ในวัยเยาว์ และเด็กเป็นการปฏิบัติที่เป็นอันตรายซึ่งละเมิด หยาบหยาม หรือลดทอนสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกี่ยวโยงกับและซ้ำเติมการปฏิบัติที่เป็นอันตรายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ว่าการละเมิดเหล่านี้ส่งผลกระทบเชิงลบอย่างผิดสัดส่วนต่อผู้หญิงและเด็กหญิง [...]"[114] แม้ว่ารัฐบาลต่าง ๆ แทบทั้งสิ้นให้คำมั่นในการยุติการสมรสเด็ก "เด็กหญิงหนึ่งในสามคนในประเทศกำลังพัฒนา (ยกเว้นประเทศจีน) อาจจะได้สมรสก่อนอายุ 18 ปี"[115] UNFPA กล่าวว่า "ผู้หญิงอายุระหว่าง 20–24 ปีมากกว่า 67 ล้านคนใน ค.ศ. 2010 สมรสตอนที่ยังเป็นเด็ก ครึ่งหนึ่งอยู่ในทวีปเอเชีย หนึ่งในห้าในทวีปแอฟริกา ในทศวรรษถัดมาเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปีจะสมรส 14.2 ล้านคนต่อปี เท่ากับเด็กหญิงสมรส 39,000 คนต่อวัน นี่จะเพิ่มขึ้นเป็นเด็กหญิงโดยเฉลี่ย 15.1 ล้านคนต่อปี ตั้งแต่ ค.ศ. 2021 ถึง 2030 ถ้าแนวโน้มในปัจจุบันดำเนินต่อไป"[115]
ราคาเจ้าสาว
ราคาเจ้าสาวคือเงินตรา ทรัพย์สิน หรือความมั่งคั่งรูปแบบอื่น ๆ ที่เจ้าบ่าวหรือครอบครัวของเจ้าบ่าวต้องจ่ายให้กับบุพการีของเจ้าสาว ธรรมเนียมนี้ลดทอนความสามารถในการควบคุมภาวะเจริญพันธุ์ของผู้หญิง อาทิในภาคเหนือของประเทศกานา การจ่ายราคาเจ้าสาวแสดงถึงข้อกำหนดว่าผู้หญิงต้องมีบุตร และผู้หญิงที่ใช้การคุมกำเนิดต้องเจอกับการข่มขู่ ความรุนแรง และการแก้แค้น[116] คำวิจารณ์ธรรมเนียมราคาเจ้าสาวกล่าวว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงถูกกระทำทารุณในการสมรส และกีดกันไม่ให้ออกจากการสมรสที่เป็นอันตราย องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติเสนอให้ยกเลิกและกล่าวว่า "กฎหมายควร ... กล่าวว่าการคืนราคาเจ้าสาวไม่ใช่เงื่อนไขในการหย่าร้าง แต่ไม่ควรตีความข้อกำหนดนี้ไปในทางที่จำกัดสิทธิของผู้หญิงในการหย่าร้าง และกล่าวว่าผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งรวมถึงการข่มขืนคู่สมรส ไม่สามารถใช้ข้อเท็จจริงว่าได้จ่ายราคาเจ้าสาวแล้วเป็นข้อต่อสู้ได้ในข้อกล่าวหาความรุนแรงในครอบครัว"[72]
ธรรมเนียมราคาเจ้าสาวสามารถจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนที่ของผู้หญิงได้ หากภรรยาต้องการหย่าร้างสามีของตน เขาอาจเรียกคืนราคาเจ้าสาวที่ได้จ่ายไปให้กับครอบครัวของผู้หญิง แล้วส่วนมากครอบครัวของผู้หญิงไม่สามารถหรือไม่ต้องการจ่ายคืน ทำให้ผู้หญิงย้ายออกจากครัวเรือนของสามีที่ใช้ความรุนแรงได้ลำบาก[117][118][119]
เศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะ
การเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจของผู้หญิง
การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศถูกมองว่าเป็นการส่งเสริมความเจริญทางเศรษฐกิจ[22][lower-roman 29] กิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้หญิง (Female economic activity) เป็นมาตรวัดหนึ่งของความเท่าเทียมทางเพศในเศรษฐกิจ[lower-roman 30]
การเลือกปฏิบัติทางเพศมักส่งผลให้ผู้หญิงมีอาชีพรายได้น้อยและประสบกับความยากจน การเลือกปฏิบัติ และการฉวยประโยชน์อย่างไม่สมสัดส่วน[120][lower-roman 31] งานวิจัยจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ บันทึกว่าการเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจของผู้หญิงแบบใดใช้การได้ ตั้งแต่การเพิ่มการเข้าถึงบริการการเงินในระบบ จนถึงการฝึกอบรมแนวปฏิบัติด้านการเกษตรและบริหารธุรกิจ อย่างไรก็ตามงานวิจัยเพิ่มเติมตลอดในบริบทที่หลากหลายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยืนยันว่าการแทรกแซงเหล่านี้มีประสิทธิผลเท่าใด[121]
ความลำเอียงทางเพศยังปรากฏในผลิตภัณฑ์และการให้บริการ[122] คำว่า "ภาษีผู้หญิง" เรียกอีกอย่างว่า "ภาษีสีชมพู" (Pink Tax) หมายถึงการตั้งราคาสินค้าแบบอิงเพศ โดยที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ทำการตลาดผู้หญิงมีราคาแพงว่าสินค้าที่คล้ายกันซึ่งทำการตลาดผู้ชาย การตั้งราคาแบบเลือกเพศคือเมื่อบริษัทที่ขายผลิตภัณฑ์หรือบริการเดียวกันในหน่วยที่แทบเหมือนกันแต่ตั้งราคาที่แตกต่างกันตามตลาดกลุ่มเป้าหมาย งานศึกษาพบว่าผู้หญิงต้องจ่ายราคาสินค้ามากกว่าผู้ชายประมาณ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีอันเนื่องมาจากการตั้งราคาแบบเลือกเพศ แม้ว่า "ภาษีสีชมพู" ของสินค้าและบริการต่าง ๆ จะไม่เหมือนกัน โดยรวมแล้วผู้หญิงต้องจ่ายมากกว่าในสินค้ากลุ่มที่ส่งผลให้มองเห็นภาพลักษณ์ทางร่างกายแบบผู้หญิง[123][lower-roman 32]
นอกจากนั้น ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศก็เป็นความลำเอียงทางเพศปรากฏการณ์หนึ่ง หมายถึงผู้หญิงที่ทำอาชีพหรืองานเดียวกันกับผู้ชาย แต่ไม่มีรายได้หรือโอกาสในหน้าที่การงานที่เหมือนกัน[3] ตัวอย่างเช่นในสหภาพยุโรป เพราะผู้หญิงยังคงถืออาชีพที่รายได้ต่ำกว่า จึงมีรายได้ต่ำกว่าผู้ชายร้อยละ 13 โดยเฉลี่ย อ้างอิงตามข้อมูล European Quality of Life Survey และ European Working Conditions Survey ผู้หญิงในสหภาพยุโรปได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าจากชั่วโมงทำงานที่มากกว่า ผู้ใหญ่เพศชาย (รวมทั้งที่เกษียณแล้ว) โดยเฉลี่ยทำงาน 23 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ เทียบกับ 15 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ของผู้หญิง
ผู้หญิงกว่าหนึ่งพันล้านคนไม่สามารถกู้เงินเพื่อจัดตั้งบริษัทหรือสร้างบัญชีธนาคารเพื่อเก็บเงินได้[124][125] การเพิ่มความเท่าเทียมของผู้หญิงในการธนาคารและที่ทำงานอาจสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโลกได้มากถึง 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน ค.ศ. 2025[126][124][125][127] การจัดหาเงินทุนเพื่อการนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาทิธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (European Investment Bank) ก่อตั้งโครงการ SheInvest ขึ้นใน ค.ศ. 2020 โดยมีเป้าหมายเรี่ยไรเงินลงทุนจำนวนหนึ่งพันล้านยูโรเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงกู้เงินและประกอบการในทวีปแอฟริกา[126]
ธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรปลงทุนเพิ่มเติมอีก 2 พันล้านยูโรในการลงทุนกรอบการคิดด้านเพศสภาพ (gender-lens investment) ในทวีปแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกาที่การประชุม Finance in Common Summit ปลาย ค.ศ. 2022[128][129]
การจัดวางการจ้างงานและการเลี้ยงดูแบบอิงเพศ
ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 ทั้งนักสังคมศาสตร์และนักสตรีสิทธินิยมวิจารณ์การจัดวางการจ้างงานและการเลี้ยงดูแบบอิงเพศและบทบาทของผู้ชายในฐานะผู้หาเลี้ยงครอบครัว มีการใช้นโยบายที่มุ่งเป้าไปยังผู้ชายที่เป็นบิดาเพื่อเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางเพศจำนวนเพิ่มมากขึ้น[130] ความสัมพันธ์ที่คู่ครองแบ่งปันหน้าที่ภายในและภายนอกครัวเรือนมักได้รับการส่งเสริมในประเทศตะวันตก[131]
ประเทศตะวันตกที่เน้นบทบาทของผู้หญิงเป็นคนทำงานบ้านแทนที่จะเป็นบทบาทวิชาชีพประกอบด้วยบางส่วนของประเทศในแถบยุโรปที่พูดภาษาเยอรมัน (เช่นประเทศเยอรมนี ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์) รวมถึงเนเธอร์แลนด์ และไอร์แลนด์[lower-roman 33][lower-roman 34][lower-roman 35][lower-roman 36] นักข่าวเดอะนิวยอร์กไทมส์ เนลลี โบลส์ (Nellie Bowles) รายงานถึงการคุกคามและความลำเอียงต่อผู้หญิงรวมถึงปฏิกิริยาโต้กลับต่อความเท่าเทียมของผู้หญิงในซิลิคอนแวลลีย์[132][133]
มีผู้หญิงอยู่ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) น้อยเกินสัดส่วนในทุกระดับของสังคม ผู้หญิงเรียนจบวิชาเหล่านี้ในโรงเรียนน้อยกว่า สำเร็จการศึกษาในสาขาเหล่านี้น้อยกว่า ได้ทำงานในวิชาชีพเหล่านี้น้อยกว่า และมีตำแหน่งทางวิชาการหรือผู้นำระดับอาวุโสในสาขานี้น้อยกว่า ปัญหานี้ถูกซ้ำเติมด้วยช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ ความคาดหวังบทบาทในครอบครัว การขาดแคลนแบบอย่างหรือผู้ให้คำปรึกษาที่เด่นชัด การเลือกปฏิบัติและการคุกคาม และความลำเอียงในแนวปฏิบัติการจ้างงานและความก้าวหน้าในอาชีพ[134]
ประเด็นสำคัญในการสร้างหลักประกันความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานคือสิทธิลาคลอดและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง[135] หลายประเทศมีกฎเกี่ยวกับการลาเลี้ยงดูบุตร (parental leave) ของมารดา (maternity leave) และ/หรือของบิดา (paternity leave) ที่แตกต่างกัน[lower-roman 37] อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือการสร้างหลักประกันว่าลูกจ้างผู้หญิงจะไม่ถูกกีดกันไม่ให้มีบุตรไม่ว่าโดยนิตินัยหรือโดยพฤตินัยก็ตาม[lower-roman 38] ในบางประเทศ นายจ้างจะให้ผู้หญิงลงนามในเอกสารไม่ว่าทางการหรือไม่เป็นทางการที่ระบุเงื่อนไขว่าจะไม่มีครรภ์และไม่เช่นนั้นจะได้รับโทษทางกฎหมาย[136] ผู้หญิงมักประสบกับการละเมิดสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์อย่างร้ายแรงจากนายจ้าง องค์การแรงงานระหว่างประเทศจัดให้การบังคับแท้งโดยนายจ้างเป็นการขูดรีดแรงงาน[137][lower-roman 39] การทารุณรูปแบบอื่น ๆ ยังมีการตรวจสภาพพรหมจารี (virginity test) เป็นประจำของลูกจ้างผู้หญิงที่ยังไม่สมรส[138][139]
เสรีภาพในการเดินทาง
ผู้หญิงจะสามารถมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะได้ในระดับใด (ทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ) แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรมและลักษณะทางเศรษฐกิจสังคม การเก็บตัว (Seclusion) ผู้หญิงไว้ในบ้านเรือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชนชั้นสูงในหลายแห่งและยังคงเหลืออยู่ในสังคมบางแห่ง และเคยมีอยู่อย่างแพร่หลายในภาตใต้ของยุโรปก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 เช่นส่วนมากของประเทศสเปน[140]
เสรีภาพในการเดินทาง (freedom of movement) ของผู้หญิงยังคงถูกกฎหมายจำกัดในหลายส่วนของโลก เช่นด้วยกฎหมายการสมรส (marriage laws)[lower-roman 40] ในบางประเทศ กฎหมายบังคับให้ผู้หญิงต้องมีผู้ปกครองชายติดตามไปด้วยเมื่อออกจากบ้านที่พัก (เช่นสามีหรือญาติผู้ชาย)[141]
อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) กล่าวในข้อ 15 วรรค 4 ว่า:
4. รัฐภาคีจะให้สิทธิเช่นเดียวกันแก่บุรุษและสตรีในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการโยกย้ายของบุคคลและ เสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่และภูมิลาเนา[142]
นอกเหนือจากกฎหมายแล้ว เสรีภาพในการเดินทางยังถูกจำกัดโดยบรรทัดฐานทางสังคมและศาสนา[lower-roman 41] และประเพณีปฏิบัติต่าง ๆ เช่นบัด (Baad (practice)) วนี (Vani (custom)) และซวารา (Swara)[lower-roman 42]
การเข้าถึงการศึกษาของเด็กหญิง
ในหลายส่วนของโลก การเข้าถึงการศึกษาของเด็กหญิงมีความจำกัดอย่างยิ่ง ในประเทศกำลังพัฒนา ผู้หญิงมักถูกปฏิเสธไม่ได้รับโอกาสการศึกษาด้วยอุปสรรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสมรสแบบบังคับและในวัยเยาว์ การมีครรภ์ในวัยเยาว์ อคติบนฐานของการเหมารวมทางเพศในครัวเรือน โรงเรียน และชุมชน ความรุนแรงระหว่างทางไป ภายใน และภายรอบโรงเรียน ระยะทางไกลจากโรงเรียน ความเปราะบางต่อโรคระบาดเอชไอวี ค่าธรรมเนียมการศึกษาซึ่งมักส่งผลให้ผู้ปกครองส่งบุตรชายเข้าเรียนเท่านั้น และการขาดแนวทางและวัสดุการเรียนที่ละเอียดอ่อนต่อเพศสภาพในห้องเรียน[144][145][146] อ้างอิงตามสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โรงเรียนทั่วทุกมุมโลกถูกโจมตีหลายครั้งระหว่าง ค.ศ. 2009–2014 ซึ่ง "การโจมตีเหล่านี้บางส่วนมุ่งเป้าที่เด็กหญิง ผู้ปกครอง และครูบาอาจารย์ที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในการศึกษาโดยเฉพาะ"[147] กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า[148]
ประมาณสองในสามส่วนของผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือบนโลกเป็นผู้หญิง การขาดการศึกษาจำกัดการเข้าถึงข้อมูลและโอกาสของผู้หญิงอย่างรุนแรง ในทางกลับกัน การเพิ่มการบรรลุการศึกษาของเด็กหญิงและผู้หญิงส่งผลดีต่อทั้งปัจเจกและคนรุ่นต่อไปในอนาคต อัตราการศึกษาของผู้หญิงที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับอัตราการตายทารกและภาวะเจริญพันธุ์ที่น้อยลงอย่างชัดเจน รวมถึงผลลัพธ์ที่ดีกว่าสำหรับบุตรของตน
อ้างอิงตามยูเนสโก ในบางประเทศยังคงมีการกีดกันที่สุดโต่ง และในที่อื่นยังคงเหลืออยู่เป็นแห่ง ๆ ในประเทศอัฟกานิสถานก่อนที่เด็กผู้หญิงจะถูกห้ามไม่ให้เรียนชั้นมัธยมศึกษาอีกครั้ง อัตราการจบการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น อัตราการจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาของเด็กผู้หญิงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8 ใน ค.ศ. 2000 เป็นร้อยละ 56 ใน ค.ศ. 2020 แม้ช่องว่างระหว่างเพศจะยังคงเหมือนเดิมที่ 20 จุดร้อยละ ในบางจังหวัดเช่นโอรุซกัน (Uruzgan) มีเด็กผู้หญิงเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาใน ค.ศ. 2015 นอกจากนี้ ยังพบว่าช่องว่างระหว่างเพศของการเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศแถบแอฟริกาใต้สะฮารามีค่าเท่ากับ 20 จุดร้อยละ เช่นประเทศชาดและประเทศกินี[149]
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง
ในรัฐสภาของประเทศส่วนใหญ่มีผู้หญิงน้อยเกิดสัดส่วน[150] ข้อมติ ค.ศ. 2011 ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงเรียกร้องการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเมือง และแสดงความกังวลว่า "ผู้หญิงในทุกส่วนของโลกยังคงถูกกีดกันเป็นส่วนใหญ่จากพื้นที่การเมือง"[151][lower-roman 43] สมาชิกรัฐสภาทั่วโลกเพียงร้อยละ 22 เป็นผู้หญิง ผู้ชายจึงยังคงนั่งอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองและกฎหมายส่วนใหญ่[5] ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2014 สมาชิกรัฐสภาทั้งสภาล่างและสภาเดี่ยวของรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปร้อยละ 28 เป็นผู้หญิง[upper-roman 49]
ในประเทศตะวันตกบางแห่ง ผู้หญิงเพิ่งได้รับสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง (Women's suffrage) ไม่นานมานี้[lower-roman 44]
ใน ค.ศ. 2015 ร้อยละ 61.3 ของสภาล่างประเทศรวันดาเป็นผู้หญิงซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก มีเพียงสององค์กรบนโลกเท่านั้นที่มีผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ อีกที่คือสภาล่างของประเทศโบลิเวีย[153]
การสมรส การหย่าร้าง กับข้อบังคับและกฎหมายทรัพย์สิน
สิทธิที่เท่าเทียมของผู้หญิงในการสมรส การหย่าร้าง ความเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือที่ดิน และมรดกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความเท่าเทียมทางเพศ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบเรียกร้องให้ยุติกฎหมายครอบครัวที่เลือกปฏิบัติ[154] ในปี ค.ศ. 2013 องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า "แม้อย่างน้อย 115 ประเทศได้รับรองสิทธิในที่ดินที่เท่าเทียมระหว่างเพศชายกับหญิงแล้ว การนำไปปฏิบัติใช้อย่างยังผลยังคงเป็นปัญหาหลัก"[155]
ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา การปฏิบัติทางกฎหมายและทางสังคมต่อผู้หญิงที่สมรสแล้วได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง[lower-roman 45][lower-roman 46] ผู้หญิงที่สมรสมีสถานะเป็นรองในทางกฎหมายในหลายประเทศในยุโรปจนเมื่อคริสต์ทศวรรษ 1970 เหตุเพราะกฎหมายการสมรสที่มอบอำนาจทางกฎหมายแก่สามี รวมถึงการกีดกันการจ้างงานเหตุสถานภาพสมรส (marriage bar)[lower-roman 47][lower-roman 48] ใน ค.ศ. 1978 สภายุโรปผ่านข้อมติ Resolution (78) 37 on equality of spouses in civil law[156] ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศสุดท้ายของทวีปยุโรปที่สถาปนาความเท่าเทียมทางเพศในการสมรส สิทธิของผู้หญิงที่สมรสมีความจำกัดอย่างสาหัสก่อน ค.ศ. 1988 ซึ่งเป็นปีที่การปฏิรูปกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในการสมรสและยกเลิกอำนาจทางกฎหมายของสามีมีผลบังคับใช้ การปฏฺรูปเหล่านี้ได้รับความเห็นชอบจากผู้ลงคะแนนในการลงประชามติ ค.ศ. 1985 โดยมีผลคะแนนเห็นชอบปริ่มน้ำร้อยละ 54.7 จากผู้ลงคะแนนทั้งหมด[157][158][159][32] ประเทศเนเธอร์แลนด์เพิ่งมีความเท่าเทียมทางกฎหมายโดยสมบูรณ์ระหว่างสามีกับภรรยาใน ค.ศ. 1984 ก่อนหน้านั้นกฎหมายกำหนดให้ความคิดเห็นของสามีอยู่เหนือของภรรยาในเรื่องบางเรื่องเช่นการศึกษาของบุตรและภูมิลำเนาของครอบครัว[160][161][162]
สถานะเป็นรองทางกฎหมายต่อสามีของภรรยาในสหรัฐสิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์จากคำพิพากษาคดีระหว่างเคิร์ชเบิร์กกับฟีนสตรา (Kirchberg v. Feenstra) 450 U.S. 455 (1981) ของศาลสูงสุดสหรัฐว่ากฎหมาย Head and Master ของรัฐลุยเซียนาซึ่งมอบอำนาจควบคุมทรัพย์สินสมรสให้แก่สามีแต่เพียงผู้เดียวนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ[163]
นอกจากนั้น ผู้หญิงที่สมรสยังได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมในด้านอื่น ๆ เช่นในประเทศออสเตรเลีย ก่อน ค.ศ. 1983 ผู้หญิงที่สมรสต้องได้รับความยินยอมจากสามีให้ทำหนังสือเดินทางได้[164] ในหลายประเทศ ผู้หญิงที่สมรสเคยและในบางแห่งยังคงต้องได้รับความยินยอมจากสามีเพื่อกู้เงินธนาคารและทำบัตรเครดิต รวมทั้งยังมีข้อจำกัดในสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของภรรยา อาทิข้อบังคับว่าภรรยาต้องได้รับความยินยอมจากสามีให้สามารถรับการคุมกำเนิดหรือการทำแท้งได้[165][166] ในบางแห่งแม้กฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องได้รับความยินยอมจากสามีในหลายเรื่องแล้วแต่ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ยังคงดำเนินต่อไปโดยพฤตินัย[167]
แม้ปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงสินสอดมักนึกถึงเอเชียใต้ แต่ธรรมเนียมนี้มีอยู่แพร่หลายในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในบางส่วนของยุโรปตะวันออกเฉียงใต้[lower-roman 49]
กฎหมายที่ควบคุมการสมรสและหย่าร้างในหลายประเทศยังคงเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง[lower-roman 50] ในประเทศอิรัก ผู้เป็นสามีถือสิทธิตามกฎหมายที่จะ "ลงโทษ" ภรรยาของตน โดยกฎหมายกล่าวว่าการกระทำใดหากกระทำโดยใช้สิทธิตามกฎหมายก็จะไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรม[lower-roman 51] ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมามีความก้าวหน้าในหลายประเทศในแอฟริกา เช่นในประเทศนามิเบีย อำนาจสมรส (marital power) ของสามีถูกยกเลิกไปใน ค.ศ. 1996 ด้วยกฎหมาย Married Persons Equality Act ใน ค.ศ. 2004 ด้วยกฎหมาย Abolition of Marital Power Act ในประเทศบอตสวานา และใน ค.ศ. 2006 ด้วยกฎหมาย Married Persons Equality Act ในประเทศเลโซโท[168] ทว่าการใช้ความรุนแรงต่อภรรยายังคงเป็นสิ่งที่กฎหมายยอมรับในบางประเทศ เช่นใน ค.ศ. 2010 ศาลสูงสุดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พิพากษาให้ผู้ชายมีสิทธิลงโทษทางกายภรรยาและบุตรของตนตราบใดที่ไม่ทิ้งร่องรอยทางกายภาพ[169] การทำให้การทำชู้กลายเป็นอาชญากรรมได้รับคำวิจารณ์ว่าเป็นข้อห้ามซึ่งทั้งในทางกฏหมายและปฏิบัติถูกใช้กับผู้หญิงเป็นหลัก และยุยงให้เกิดความรุนแรงต่อผู้หญิง (ตัณหาอาชญากรรมและยโศโฆษาฆาต)[lower-roman 52]
สังคมและอุดมการณ์
ความเท่าเทียมทางเพศทางการเมือง
ได้มีการนำความเท่าเทียมทางเพศทางการเมืองไปปฏิบัติใช้ในสองขบวนการทางการเมืองของชาวเคิร์ด อันดับแรกคือขบวนการชาวเคิร์ดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศตุรกีซึ่งนำโดยพรรคภูมิภาคประชาธิปไตย (Democratic Regions Party; DBP) และพรรคประชาธิปไตยประชาชน (Peoples' Democratic Party (Turkey); HDP) ตั้งแต่ ค.ศ. 2006 หรือก่อนหน้านั้นเป็นต้นมา ตำแหน่งต่าง ๆ ในพรรคการเมืองจะนำโดยผู้ชายหนึ่งคนกับผู้หญิงหนึ่งคน องค์การปกครองท้องถิ่นกับสภาและคณะกรรมการท้องถิ่นต่าง ๆ มีผู้ชายและผู้หญิงนำร่วมกัน แต่ถึงอย่างนั้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2016 รัฐบาลตุรกีได้ปราบปรามพรรค HDP และจับกุมสมาชิกรัฐสภาของพรรคไปสิบคน รวมทั้งผู้นำร่วมชายและผู้นำร่วมหญิงของพรรค[170]
อีกขบวนการหนึ่งของชาวเคิร์ดในตอนเหนือของประเทศซีเรียนำโดยพรรคสหภาพประชาธิปไตย (Democratic Union Party (Syria); PYD)[171] โดยในซีเรียตอนเหนือ ทุก ๆ หมู่บ้าน เมือง และนครที่ปกครองโดยพรรค PYD จะมีผู้นำร่วมชายกับผู้นำร่วมหญิง และมีการตั้งสภาท้องถิ่นโดยแต่ละเพศจะต้องมีตัวแทนอยู่ร้อยละ 40 และจะต้องมีตัวแทนของชนกลุ่มน้อย[171]
การเหมารวมทางเพศ
การเหมารวมทางเพศถือกำเนิดขึ้นจากบทบาทที่สังคมอนุญาตให้ผู้หญิงและผู้ชายเป็นทั้งในที่สาธารณะและที่ส่วนตัว ในที่ทำงานและครัวเรือน โดยทั่วไปผู้หญิงถูกมองว่าเป็นบุคคลิกของมารดาในครอบครัว ทำให้มักโดนจำแนกประเภทเป็นผู้ "อุปถัมภ์" หรือ "เลี้ยงดู" ผู้หญิงถูกคาดหวังให้อยากทำหน้าที่เป็นมารดาและรับผิดชอบความต้องการของครอบครัวเป็นหลัก[172] ในขณะเดียวกันผู้ชายถูกมองว่าเป็นผู้ที่ "แนวแน่" หรือ "ทะเยอทะยาน" ดังเช่นในที่ทำงาน หรือเป็นคนหาเลี้ยงหลักของครอบครัวตน[173] จากมุมมองและความคาดหวังเหล่านี้ ผู้หญิงมักต้องประสบกับการเลือกปฏิบัติในที่สาธารณะ[173] และถูกเหมารวมว่าทำงานได้ผลิตภาพน้อยกว่า ด้วยความเชื่อที่ว่าจะให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่าเมื่อสมรสหรือมีบุตร[174] บทบาททางเพศคือบรรทัดฐานทางสังคมชุดหนึ่งซึ่งกำหนดชนิดของพฤติกรรมของผู้คนที่โดยทั่วไปถือว่าเป็นที่ยอมรับ เหมาะสม หรือเป็นที่ต้องการตามเพศของตนเอง บทบาททางเพศส่วนมากมีแก่นอยู่ในมโนทัศน์ของความเป็นหญิงและความเป็นชาย แต่ก็มีข้อยกเว้นและความแตกต่างหลากหลาย (Non-binary gender) เช่นกัน
ภาพลักษณ์ของผู้หญิงในสื่อ
มีคำวิจารณ์ถึงวิธีการแสดงผู้หญิงในสื่อว่าเป็นการส่งเสริมการเหมารวมทางเพศในแง่ลบ การฉวยประโยชน์จากผู้หญิงในสื่อมวลชน (exploitation of women in mass media) หมายถึงการใช้ประโยชน์จากหรือการลดทอนให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุในสื่อมวลชนเมื่อการใช้ประโยชน์หรือการแสดงนั้นมุ่งเน้นเพิ่มความดึงดูดของสื่อหรือผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งซึ่งสร้างความเสียหายต่อหรือไม่ให้ความสนใจกับผลประโยชน์ของผู้หญิงที่นำมาแสดงหรือผู้หญิงโดยรวม โดยมีความกังวลอาทิ การที่สื่อทุกรูปแบบมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้คน และการแสดงภาพลักษณ์แบบเหมารวมที่ไม่สมจริงด้วยการแสดงภาพของผู้หญิงซึ่งเป็นแม่เรือนที่จำนนหรือเป็นวัตถุทางเพศ[175] สื่อมักให้ความสนใจกับบทบาททางเพศหรือบทบาทในครัวเรือนแบบประเพณีที่ทำให้ความรุนแรงต่อผู้หญิงกลายเป็นเรื่องปกติ มีการทำงานศึกษาเกี่ยวกับการแสดงผู้หญิงในสื่อซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมักถูกแสดงเป็นผู้ที่ไร้เหตุผล อ่อนแอ ไม่ฉลาด ยอมจำนน และรับใช้ผู้ชาย[176] และแสดงให้เห็นว่าภาพเหมารวมเหล่านี้ส่งผลด้านลบต่อสุขภาพจิตของผู้ชมเพศหญิงที่รู้สึกผูกมัดจากบทบาทเหล่านี้ โดยทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ อาทิปัญหาด้านความภาคภูมิใจในตนเอง อาการซึมเศร้า และความวิตกกังวล[176]
งานศึกษาหลายชิ้นกล่าวว่าวิธีการที่สื่อมักแสดงมาตรฐานความงามของผู้หญิงอาจนำไปสู่การรับรู้รูปร่างของตนเองผิดเพี้ยน (Body image disturbance) และความผิดปกติของการรับประทานเช่นโรคอะนอเร็กเซียและโรคบูลิเมีย นอกจากนี้ยังส่งผลให้ผู้หญิงหลายคนมองว่ารูปลักษณ์ที่ไม่เข้ากับมาตรฐานในอุดมคตินี้กลายเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ[177][178]
สัดส่วนของผู้หญิงในสื่อ
- ผู้หญิงเป็นเพียงหนึ่งในสี่ของผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ประเภทรายงานข่าวนานาชาติ และเพียงร้อยละ 17 ของผู้ที่ได้รับรางวัลวารสารศาสตร์มาร์ธา เกลล์ฮอร์น (Martha Gellhorn Prize for Journalism)[179]
- รางวัลเสรีภาพสื่อโลกยูเนสโก/กิเยร์โม กาโน (UNESCO/Guillermo Cano World Press Freedom Prize) ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1997 และเป็นรางวัลรายปีที่ให้แก่บุคคล องค์กร หรือสถาบันที่มีผลงานที่โดดเด่นในการปกป้องหรือส่งเสริมเสรีภาพสื่อในทุกที่ทั่วโลก ผู้ได้รับรางวัลเก้าคนจาก 20 คนเป็นผู้หญิง[180]
- ใน ค.ศ. 2015 ธนาคารพัฒนาแอฟริกา (African Development Bank) ริริ่มการสนับสนุนให้มีประเภทรางวัลสำหรับสิทธิสตรีในทวีปแอฟริกาซึ่งออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศผ่านทางสื่อ โดยเป็นส่วนหนึ่งของรางวัลที่มอบเป็นรายปีโดย One World Media[181]
- สมาคมหนังสือพิมพ์และองค์กรสื่อสิ่งพิมพ์โลก (WAN-IFRA) ได้ริเริ่มการรณรงค์ Women in the News (WIN) ร่วมกับยูเนสโก ในคู่มือ WINing Strategies: Creating Stronger Media Organizations by Increasing Gender Diversity ใน ค.ศ. 2016 สมาคมได้ขีดเส้นใต้ยุทธศาสตร์การกระทำเชิงบวกรูปแบบต่าง ๆ ที่มีดำเนินการอยู่ในหลายองค์กรที่เป็นสมาชิก ทั้งจากตั้งแต่ประเทศเยอรมนี จอร์แดน และโคลอมเบีย ด้วยเจตนาจัดหาพิมพ์เขียวสำหรับให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม[182]
การสื่อสารให้ผู้หญิงทราบสิทธิของตน
ในหลายประเทศ ปัญหาอยู่ที่การขาดกฎหมายที่เหมาะสม ในกรณีอื่น ๆ ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่เป็นการที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงสิทธิตามกฎหมายของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงเพิ่งมีมาไม่นาน การไม่รู้ถึงข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้กระทำผิดสามารถชักจูงเหยื่อ (ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยนัย) ให้เชื่อได้ว่าตนสามารถกระทำทารุณได้ตามสิทธิที่อ้างว่ามี ซึ่งอาจรวมถึงการกระทำทารุณที่หลากหลาย ตั้งแต่ความรุนแรงในครัวเรือนจนถึงการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน[183][184] โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า เพื่อให้ความยุติธรรมทางเพศก้าวหน้าไปได้ "ผู้หญิงจะต้องทราบถึงสิทธิของตนและสามารถเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมายได้"[185]
ข้อที่ 4 (d) ของปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีของสหประชาชาติกล่าวว่า "รัฐยังควรแจ้งผู้หญิงให้ทราบสิทธิของตนในการเรียกร้องการชดใช้ผ่านกลไกดังกล่าว"[186] การตรากฎหมายที่ปกป้องจากความรุนแรงส่งผลเพียงเล็กน้อยหากผู้หญิงไม่ทราบวิธีการใช้ประโยชน์จากมัน ตัวอย่างจากงานศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิงเบดูอินในประเทศอิสราเอลพบว่าร้อยละ 60 ไม่ทราบว่าคำสั่งห้ามกระทำการ (restraining order) คืออะไร[187] หรือหากผู้หญิงไม่ทราบว่าการกระทำใดบ้างที่ผิดกฎหมาย รายงานชิ้นหนึ่งจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในประเทศฮังการีกล่าวว่าจากการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะตัวอย่างสำรวจประมาณ 1,200 คนใน ค.ศ. 2006 ร้อยละ 62 ไม่ทราบว่าการข่มขืนกระทำชำเราคู่สมรสเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (ซึ่งผิดกฎหมายมาตั้งแต่ ค.ศ. 1997) ดังนั้นอาชญากรรมนี้จึงไม่ค่อยได้รับแจ้งความ[188][189] การสร้างหลักประกันว่าผู้หญิงมีความเข้าใจขั้นต่ำในปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ การขาดการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพที่เชื่อถือได้และหัตถการทางการแพทย์ที่มีสิทธิเข้ารับบริการสามารถส่งผลร้ายต่อสุขภาพของผู้หญิง (women's health)[190]
การบูรณาการสถานะเพศ
การบูรณาการสถานะเพศ (Gender mainstreaming) หรือการบูรณาการเพศภาวะหมายถึงนโยบายสาธารณะของการประเมินผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดต่อผู้หญิงและผู้ชายจากการวางแผนดำเนินนโยบาย (policy) ไม่ว่าจะเป็นการตรากฎหมาย (legislation) และการดำเนินโครงการต่าง ๆ ในทุก ๆ พื้นที่และทุก ๆ ระดับ โดยเพื่อบรรลุความเท่าเทียมทางเพศ[191][192] แนวคิดการบูรณาการสถานะเพศถูกนำเสนอขึ้นครั้งแรกที่การประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสตรีครั้งที่สาม ค.ศ. 1985 (World Conference on Women, 1985) ในไนโรบี ประเทศเคนยา และได้รับนำมาพัฒนาต่อโดยประชาคมพัฒนาของสหประชาชาติ[193] การบูรณาการสถานะเพศรวมถึงการสร้างหลักประกันว่ามุมมองของสถานะเพศและความใส่ใจในเป้าหมายของความเท่าเทียมทางเพศเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทั้งปวง[194]
สภายุโรปให้นิยามกับการบูรณาการสถานะเพศว่าหมายถึงการจัดระเบียบ ปรับปรุง พัฒนา และประเมินผลการดำเนินการนโยบายต่าง ๆ เพื่อที่นโยบายทั้งหมดจะคำนึงถึงมุมมองของความเท่าเทียมทางเพศในทุก ๆ ระดับและทุก ๆ ขั้นตอน โดยตัวแสดงที่ปกติมีส่วนในการกำหนดนโยบาย[152]
การบูรณาการสถานะเพศอย่างเบ็ดเสร็จเป็นความพยายามสร้างพันธมิตรและเวทีร่วมกันสำหรับการประสานพลังของความเชื่อและความปรารถนาในความเท่าเทียมทางเพศเข้าด้วยกันเพื่อพัฒนาสิทธิมนุษยชน[195] อาทิในประเทศอาเซอร์ไบจาน กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติได้ทำงานศึกษาเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศโดยการเปรียบเทียบข้อความในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบกับแหล่งข้อมูลและอ้างอิงของศาสนาอิสลามซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ผลลัพธ์ของงานศึกษาได้สะท้อนความคล้ายคลึงกันระหว่างอนุสัญญากับหลักความเชื่อจากคำภีร์และธรรมเนียมปฏิบัติของศาสนาอิสลาม โดยแสดงให้เห็นในบางประเด็นเช่นความรุนแรงต่อผู้หญิง การสมรสเด็ก การเคารพในศักดิ์ศรีของผู้หญิง และการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในเศรษฐกิจและการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน งานศึกษาชิ้นนี้ในภายหลังถูกนำมาใช้ในการผลิตเนื้อหาสำหรับการอบรมที่มุ่งเป้าสร้างความคำนึงให้กับผู้นำทางศาสนา[195]
ดูเพิ่ม
- การกีดกันทางเพศ
- การเกิดขั้วทางเพศ (gender polarization)
- การจำแนกเพศ-สถานะเพศ (sex-gender distinction)
- การแบ่งกันเลี้ยงดูบุตร (shared parenting)
- การแบ่งแยกทางเพศ (sex segregation)
- การเพิ่มอำนาจทางเพศ (gender empowerment)
- การศึกษาของผู้หญิง (female education)
- การสร้างความละเอียดอ่อนทางเพศ (gender sensitization)
- ขบวนการสิทธิบุรุษ (men's rights movement)
- คนข้ามเพศ
- ความเท่าเทียมทางเพศในห้องน้ำสาธารณะ (potty parity)
- ความเสมอภาคในโอกาส (equal opportunity)
- ดัชนีภาวะเสมอกันทางเพศ (gender parity index)
- นามสกุลข้างมารดา (matriname)
- บุรุษนิยม (masculism)
- ประจักษ์พยานถึงความเสมอภาคของศาสนาคริสต์นิกายเควกเกอส์ (testimony of equality)
- ปิตาธิปไตย
- ผู้หญิงในศาสนาอิสลาม (women in Islam)
- ภาษีผ้าอนามัย (tampon tax)
- มาตรการพิเศษเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในสหประชาชาติ (Special measures for gender equality in the United Nations)
- มาตาธิปไตย (matriarchy)
- วันบุรุษสากล
- ศาสนาบาไฮกับความเท่าเทียมทางเพศ (Baháʼí Faith and gender equality)
- สภาวะอาณานิคมของสถานะเพศ (coloniality of gender)
- สมภาคนิยม (egalitarianism)
- สหศึกษา
- อัตราส่วนเพศ (sex ratio)
- อุตสาหกรรมทางเพศ (sex industry)
หมายเหตุ
- องค์การแรงงานระหว่างประเทศให้นิยามความเท่าเทียมทางเพศที่คล้ายกันว่า "การมีสิทธิ โอกาส และการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันของผู้ชายและผู้หญิง และของเด็กชายและเด็กหญิงในทุก ๆ บริเวณของชีวิต"[upper-roman 1]
- ตัวอย่างเช่น หลายประเทศอนุญาตให้ผู้หญิงเข้ารับราชการในกองทัพ ตำรวจ และทำหน้าที่เป็นนักผจญเพลิง ซึ่งอาชีพเหล่านี้ในอดีตมักสงวนไว้สำหรับผู้ชาย แม้ว่าอาชีพเหล่านี้จะยังคงประกอบด้วยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ แต่จำนวนของผู้หญิงที่ทำงานกำลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาอาชีพเชิงบัญชาการเช่นภาคการเมือง และในตำแหน่งระดับสูงเช่นในภาคธุรกิจ
- ในคริสตจักรบางแห่ง ประเพณีการขอบคุณพระเจ้าสำหรับการคลอดบุตรหรือรับเป็นบุตรบุญธรรม (churching of women) อาจยังมีองค์ประกอบของพิธีกรรมทำให้บริสุทธิ์ (ritual purification) และการบวชของผู้หญิง (Ordination of women) อาจถูกจำกัดหรือห้าม
- ตัวอย่างเช่นประเทศฟินแลนด์ ผู้หญิงได้รับโอกาสที่สูงมากในชีวิตสาธารณะและวิชาชีพ แต่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อสตรีที่อ่อนแอ สถานการณ์นี้ถูกเรียกว่าเป็นปฏิทรรศน์[upper-roman 2][upper-roman 3] "ประเทศฟินแลนด์ถูกกล่าวเตือนถึงปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงที่แพร่หลายอยู่เสมอ และได้รับข้อเสนอแนะให้ใช้มาตรการจัดการสถานการณ์นี้อย่างมีประสิทธิผลมากกว่านี้ คำวิจารณ์จากนานาชาติเน้นไปที่การขาดมาตรการต่อสู้กับความรุนแรงต่อผู้หญิงทั้งโดยทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่การขาดแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการต่อสู้กับความรุนแรงเหล่านี้และการขาดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครัวเรือน (...) เมื่อเทียบกับประเทศสวีเดน ประเทศฟินแลนด์ปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อผู้หญิงได้ล่าช้ากว่า ความรุนแรงในครัวเรือนผิดกฎหมายในประเทศสวีเดนตั้งแต่ ค.ศ. 1864 ในขณะที่กว่าจะผิดกฎหมายในประเทศฟินแลนด์ก็จน ค.ศ. 1970 หนึ่งร้อยกว่าปีให้หลัง การลงโทษเหยื่อของการร่วมประเวณีกับญาติสนิทถูกยกเลิกไปใน ค.ศ. 1937 ในประเทศสวีเดนแต่ในประเทศฟินแลนด์ใน ค.ศ. 1971 การข่มขืนในสถานภาพสมรสถูกทำให้เป็นอาชญากรรมใน ค.ศ. 1962 ในประเทศสวีเดน แต่กฎหมายฉบับเดียวกันในฟินแลนด์เพิ่งถูกบังคับใช้ใน ค.ศ. 1994 ทำให้ประเทศฟินแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศยุโรปแห่งสุดท้ายที่ทำให้การข่มขืนโดยคู่สมรสเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นอกจากนี้ การประทุษร้ายภายในพื้นที่ส่วนบุคคลไม่เป็นความผิดที่กล่าวโทษได้ในประเทศฟินแลนด์จนกระทั่ง ค.ศ. 1995 และกว่าเหยื่อของความผิดทางเพศและความรุนแรงในครัวเรือนจะได้รับสิทธิในบริการสนับสนุนและให้คำปรึกษาที่อุดหนุนโดยรัฐระหว่างเวลาพิจารณาคดีก็จนกระทั่ง ค.ศ. 1997"[upper-roman 4]
- ประเทศเดนมาร์กได้รับคำวิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางเพศ (sexual violence) อย่างเหมาะสมจากรายงาน ค.ศ. 2008 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล[upper-roman 4] โดยอธิบายว่ากฎหมายประเทศเดนมาร์กนั้น "ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนนานาชาติ"[upper-roman 5] นำมาให้ประเทศเดนมาร์กปฏิรูปกฎหมายความผิดทางเพศใน ค.ศ. 2013[upper-roman 6][upper-roman 7][upper-roman 8]
- "การบูรณาการมุมมองทางสถานะเพศคือกระบวนการประเมินผลกระทบที่ทุก ๆ แผนการกระทำจะมีต่อผู้หญิงและผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย นโยบาย หรือโครงการต่าง ๆ ในทุก ๆ มิติและทุก ๆ ระดับ และเป็นยุทธศาสตร์เพื่อทำให้ข้อกังวลและประสบการณ์ของทั้งผู้หญิงและผู้ชายเป็นมิติที่บูรณาการอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ นำไปปฏิบัติ ตรวจสอบ และประเมินผลนโยบายและโครงการต่าง ๆ ในทุก ๆ มิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเพื่อให้ผู้หญิงและผู้ชายได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและไม่เป็นการขยายความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายขั้นสุดท้ายเป็นการบรรลุผลความเท่าเทียมทางเพศ"[upper-roman 9]
- ประชามติเมื่อ ค.ศ. 1985 ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ให้หลักประกันความเท่าเทียมทางกฎหมายของผู้หญิงกับผู้ชายในการสมรส[upper-roman 10][upper-roman 11] การแก้ไขกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1988[32]
- ประเทศกรีซผ่านกฎหมายที่ให้หลักประกันความเท่าเทียมกันระหว่างคู่สมรสใน ค.ศ. 1983 โดยยกเลิกสินสอด และยุติการเลือกปฏิบัติทางกฎหมายต่อบุตรนอกสมรส[upper-roman 12][upper-roman 13]
- ประเทศสเปนยกเลิกข้อบังคับใน ค.ศ. 1981 ที่กำหนดให้ผู้หญิงที่สมรสแล้วต้องได้รับอนุญาตจากสามีเพื่อเริ่มกระบวนการพิจารณาตามกฎหมาย[upper-roman 14]
- แม้ว่าผู้หญิงที่สมรสแล้วในประเทศฝรั่งเศสจะได้รับสิทธิในการทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสามีแล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1965[upper-roman 15] และแม้อำนาจของบิดาเหนือครอบครัวของผู้ชายถูกยกเลิกไปตั้งแต่ ค.ศ. 1970 (ก่อนหน้านั้นหน้าที่รับผิดชอบของผู้ปกครองตกอยู่กับผู้เป็นบิดาแต่เพียงผู้เดียว และเป็นผู้ที่ตัดสินทางกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับบุตร) แต่เพียงหลังจาก ค.ศ. 1985 เท่านั้นที่การปฏิรูปกฎหมายจะยกเลิกข้อกำหนดว่าสามีถืออำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการบริหารจัดการทรัพย์สินของบุตร[upper-roman 16]
- ใน ค.ศ. 2002 ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ของฮิวแมนไรตส์วอตช์ วิดนีย์ บราวน์ (Widney Brown) ชี้ว่า "ตัณหาอาชญากรรมมีพลวัตที่คล้าย[กับยโศโฆษาฆาต] ตรงที่ผู้หญิงจะถูกฆ่าโดยสมาชิกครอบครัวฝ่ายชาย และอาชญากรรมนี้จะถูกมอง[ในส่วนต่าง ๆ ของโลกที่เกี่ยวข้อง]ว่าเป็นสิ่งที่ให้อภัยหรือเข้าใจได้"[33]
- โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประมวลกฎหมายนโปเลียนของประเทศฝรั่งเศส[upper-roman 17] ซึ่งทรงพลังอย่างมากในการส่งอิทธิพลต่อทั่วโลก (นักประวัติศาสตร์ โรเบิร์ต ฮอลต์แมน (Robert Holtman) ระบุว่า ประมวลกฎหมายนี้เป็นหนึ่งในเอกสารไม่กี่ชิ้นเท่านั้นที่มีอิทธิพลต่อโลกทั้งใบ[upper-roman 18]) และเป็นสิ่งที่กำหนดให้ผู้หญิงที่สมรสอยู่ในตำแหน่งรอง และเป็นสิ่งที่ทำให้มีความโอนอ่อนต่อ 'ตัณหาอาชญากรรม' (ซึ่งเป็นแบบเดียวกันในประเทศฝรั่งเศสจนกระทั่ง ค.ศ. 1975[upper-roman 19])
- รูปแบบต่าง ๆ ของความรุนแรงต่อสตรีประกอบด้วยความรุนแรงทางเพศ (การข่มขืนยามสงคราม การข่มขืนคู่สมรส (Marital rape) การข่มขืนแฟนด้วยยาเสพติดหรือสุรา และการทารุณเด็กทางเพศ ซึ่งส่วนมากเกิดขึ้นในบริบทของการสมรสเด็ก (Child marriage)) ความรุนแรงในครอบครัว การบังคับสมรส การขริบอวัยวะเพศหญิง การบังคับค้าประเวณี (Forced prostitution) การค้ามนุษย์ทางเพศ ยโศโฆษาฆาต ฆาตกรรมสินสอด (Dowry killing) การโจมตีด้วยกรด (Acid attack) การปาหิน การเฆี่ยน (Flogging) การบังคับทำหมัน (Forced sterilisation) การบังคับแท้ง (Forced abortion) ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการกล่าวหาเป็นแม่มด การปฏิบัติมิชอบต่อหญิงม่าย (เช่นการสืบทอดหญิงม่าย (widow inheritance)) การต่อสู้กับความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นหนึ่งในประเด็นหลักในการบรรลุความเท่าเทียมทางเพศ สภายุโรปลงมติรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและต่อสู้กับความรุนแรงต่อผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัว (อนุสัญญาอิสตันบูล).
- ปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีของสหประชาชาติให้นิยามความรุนแรงต่อผู้หญิงว่า
- "การกระทำด้วยความรุนแรงด้วยเหตุแผ่งเพศใด ๆ ก็ตามซึ่งส่งผลให้ หรือมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เกิดอันตรายหรือความทุกข์ทรมานทั้งทางกายภาพ ทางเพศ หรือทางจิตต่อผู้หญิง ซึ่งรวมถึงการขู่จะทำ การบีบบังคับ หรือการลิดรอนเสรีภาพโดยพลการ ไม่ว่าเกิดขึ้นในสาธารณะหรือชีวิตส่วนตัว" และ "ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นการสำแดงตนของความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงซึ่งไม่เท่าเทียมกันในประวัติศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่การครอบงำและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงโดยผู้ชายและการยับยั้งความก้าวหน้าของผู้หญิงอย่างเต็มที่ และความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นหนึ่งในกลไกทางสังคมที่สำคัญต่อการบังคับให้ผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผู้ชาย"[upper-roman 20]
- ระหว่าง ค.ศ. 2004–2009 การฆาตกรรมผู้หญิงร้อยละ 80 ของทั้งหมดกระทำโดยคู่รักปัจจุบันและอดีตคู่รักในประเทศไซปรัส ประเทศฝรั่งเศส และประเทศโปรตุเกส[71]
- กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า[upper-roman 21]
- "ในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ ธรรมเนียมปฏิบัติที่ปราบปรามและทำร้ายผู้หญิง เช่นการทุบตีภรรยา การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ การตัด/ขริบอวัยวะเพศหญิง และการตายจากสินสอด ได้รับการให้อภัยเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบตามธรรมชาติของสรรพสิ่ง"
- ในวรรค 219 ของรายงานอธิบายอนุสัญญา
- "มีตัวอย่างของแนวปฏิบัติในอดีตของรัฐสมาชิกสภายุโรปหลายกรณีซึ่งแสดงว่ามีข้อยกเว้นในการดำเนินคดีแบบนี้ ทั้งในกฎหมายและทางปฏิบัติ เช่นเมื่อเหยื่อและผู้กระทำผิดสมรสกันหรือมีความสัมพันธ์กัน ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคือการข่มขืนกระทำชำเราในคู่สมรส ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับเป็นการข่มขืนกระทำชำเราเป็นเวลานานเหตุเพราะความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อกับผู้กระทำผิด"[upper-roman 22]
- ในคดีระหว่าง Opuz กับประเทศตุรกี ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปยอมรับว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงรูปแบบหนึ่ง "ศาลพิจารณาให้ถือว่าความรุนแรงที่ผู้ยื่นคำร้องกับมารดาของตนได้ประสบเป็นความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงรูปแบบหนึ่ง"[upper-roman 23] อนุสัญญาอิสตันบูลยึดจุดยืนเดียวกันว่า "'ความรุนแรงต่อผู้หญิง' หมายถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงรูปแบบหนึ่ง [...]"[upper-roman 24]
- เขียนว่า
- "การที่จะรู้ว่าการข่มขืนกระทำชำเราผิดอย่างไร ต้องรู้ว่าอะไรที่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ และกลับกันหากนี่เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ความยากนี้กำลังสั่งสอนเราถึงสิ่งเดียวกันเมื่อผู้ชายแยกแยะมันจากกันได้ยากเมื่อผู้หญิงประสบกับมัน บางทีเมื่อการให้นิยามความผิดของการข่มขืนกระทำชำเราทำได้อย่างยากลำบากเช่นนี้ อาจเป็นเพราะจุดเริ่มต้นว่านิยามของการข่มขืนกระทำชำเราเป็นคนละสิ่งกับเพศสัมพันธ์ไม่ตกเป็นที่ต้องสงสัย ในขณะที่สำหรับผู้หญิง การแยกแยะระหว่างทั้งสองกลับทำได้อย่างยากลำบากภายใต้เงื่อนไขของการครอบงำโดยผู้ชาย"[upper-roman 25]
- อ้างอิงตามองค์การอนามัยโลก "ความรุนแรงทางเพศมีโอกาสเกิดมากกว่าในสถานที่ที่เชื่อในการถือสิทธิที่จะร่วมเพศของผู้ชายอย่างแรงกล้า ที่บทบาททางเพศตายตัวมากกว่า และในประเทศที่ประสบกับความรุนแรงประเภทอื่น ๆ ในอัตราที่สูง"[upper-roman 26]
- รีเบกกา คุก (Rebecca Cook) เขียนไว้ใน Submission of Interights to the European Court of Human Rights in the case of M.C. v. Bulgaria, 12 April 2003 ว่า
- "แนวทางความเท่าเทียมไม่ได้เริ่มต้นด้วยการไต่สวนผู้หญิงว่าพูดว่า 'ไม่' หรือเปล่า แต่ว่าพูดว่า 'ใช่' หรือเปล่า ผู้หญิงไม่ได้เดินไปมาในสภาพที่จะอนุญาตให้ทำกิจกรรมทางเพศอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะบอกว่า 'ไม่' หรือแสดงการต่อต้านต่อใครที่มีเป้าหมายทำกิจกรรมทางเพศ สิทธิในอัตตาณัติทางกายและเพศหมายความว่าพวกเขาจะต้องกล่าวกล่าวยินยอมอนุญาตให้กับกิจกรรมทางเพศ"[upper-roman 27]
- กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า[upper-roman 28]
- "นับแต่ ค.ศ. 1990 การตายมารดาทั่วโลกลดลงไปร้อยละ 45 ซึ่งเป็นความสำเร็จขนานใหญ่ แต่แม้จะมีความก้าวหน้าเหล่านี้ ผู้หญิงเกือบ 800 คนต้องตายทุก ๆ วันด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร นี่เกือบเท่ากับผู้หญิงหนึ่งคนทุก ๆ สองนาที"
- "การตายมารดาที่ป้องกันได้เกิดขึ้นเมื่อไม่สามารถทำให้สิทธิในสุขภาพของผู้หญิง ความเท่าเทียม และการไม่เลือกปฏิบัติเป็นผลได้ การตายมารดาที่ป้องกันได้ส่วนมากยังแสดงถึงการละเมิดสิทธิในชีวิตของผู้หญิง"
- เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า[upper-roman 29]
- "เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด บางประเทศยังยอมให้มีการสมรสเด็กและการข่มขืนคู่สมรสอยู่ บ้างก็ทำให้การทำแท้ง เพศสัมพันธ์นอกสมรส และกิจกรรมทางเพศระหว่างเพศเดียวกันกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถึงขั้นมีโทษถึงตาย"
- ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนนวนีทัม ปิฬไฬ (Navi Pillay) เรียกร้องให้เคารพและยอมรับอัตตาณัติและสิทธิทางเพศกับอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงโดยสมบูรณ์ โดยกล่าวว่า[upper-roman 30]
- "การละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงมักเชื่อมโยงกับเพศวิถีและบทบาทในการเจริญพันธุ์ ผู้หญิงมักถูกปฏิบัติเสมือนเป็นทรัพย์สิน ถูกขายเป็นคู่สมรส ค้ามนุษย์ และเป็นทาสทางเพศ ความรุนแรงต่อผู้หญิงบ่อยครั้งอยู่ในรูปของความรุนแรงทางเพศ เหยื่อของความรุนแรงแบบนี้มักถูกกล่าวหาว่าสำส่อนและต้องรับผิดชอบกับชะตากรรมที่ตนประสบ ในขณะเดียวกันผู้หญิงที่เป็นหมันถูกสามี ครอบครัว และชุมชนทอดทิ้ง ในหลายประเทศ ผู้หญิงที่สมรสอาจไม่ปฏิเสธมีเพศสัมพันธ์กับสามีของตน และส่วนมากไม่มีปากเสียงในการใช้การคุมกำเนิด"
- ความเสี่ยงติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ของผู้หญิงระหว่างเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันมากกว่าของผู้ชายสองถึงสี่เท่า[upper-roman 31]
- ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาตินวนีทัม ปิฬไฬ กล่าวถึงความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้หญิงว่า "ความเป็นจริงของเหยื่อส่วนใหญ่ รวมทั้งเหยื่อของยโศโฆษาฆาต คือการที่สถาบันรัฐล้มเหลวต่อพวกเขา และการที่ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่สามารถพึ่งพาวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดจากการกระทำของตนเองได้ ซึ่งเป็นการกระทำที่มักถือว่าเป็นอาชญากรรม และจะถูกลงโทษแบบนั้นถ้าเขากระทำมันกับคนแปลกหน้า"[upper-roman 32]
- อ้างอิงตามแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล "ผู้หญิงซึ่งตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่เกี่ยวกับเพศสภาพมักได้รับความช่วยเหลือที่น้อยนิด เพราะหน่วยงานรัฐจำนวนมากเป็นผู้กระทำผิดในความลำเอียงทางเพศและธรรมเนียมที่เลือกปฏิบัติเสียเอง"[upper-roman 33]
- ตัวอย่างเช่น หลายประเทศในโลกอาหรับที่ปฏิเสธความเท่าเทียมทางโอกาสของผู้หญิงได้รับคำเตือนจากรายงาน ค.ศ. 2008 ที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติว่าการลดทอนอำนาจแบบนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายการกลับคืนมาเป็นผู้นำด้านการค้า การศึกษา และวัฒนธรรมระดับโลกอันดับแรก ๆ ของประเทศเหล่านี้[upper-roman 34] กล่าวคือ ฝั่งตะวันตกมักไม่ทำการค้ากับประเทศในแถบตะวันออกกลางที่มีวัฒนธรรมซึ่งยังคงยอมรับเจตคติต่อสถานะและหน้าที่ของผู้หญิงในสังคมบางรูปแบบอยู่ เพื่อพยายามบังคับให้เปลี่ยนความเชื่อเมื่อเผชิญกับเศรษฐกิจที่ยังด้อยพัฒนาอยู่
- องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า "การลงทุนเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจของผู้หญิงเป็นการปูเส้นทางตรงไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศ การขจัดความยากจน และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม"[120]
- กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า "หกในสิบคนที่ยากจนที่สุดในโลกเป็นผู้หญิง ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ส่วนหนึ่งเพราะงานที่ไม่มีรายได้ส่วนใหญ่ภายในครอบครัวและชุมชนตกเป็นภาระของผู้หญิง และเพราะผู้หญิงยังคงต้องพบกับการเลือกปฏิบัติในภาคเศรษฐกิจ"[56]
- ตัวอย่างเช่น งานศึกษาแสดงว่าผู้หญิงต้องจ่ายมากกว่าสำหรับการบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะบริการตัดเสื้อ ตัดผม และซักอบรีด[122]
- ใน ค.ศ. 2011 ฌูแซ มานูแวล บาโรซู (Jose Manuel Barroso) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ณ เวลานั้นกล่าวว่า "ประเทศเยอรมนี แต่ประเทศออสเตรียและเนเธอร์แลนด์เช่นกัน ควรมองไปที่ตัวอย่างของประเทศแถบเหนือ [...] นั่นหมายถึงการขจัดอุปสรรคในการเข้าทำงานของผู้หญิง คนงานสูงอายุ คนต่างชาติ และคนหางานทักษะต่ำ"[upper-roman 35]
- ประเทศเนเธอร์แลนด์และไอร์แลนด์เป็นประเทศตะวันตกประเทศท้าย ๆ ที่ยอมรับผู้หญิงในการทำงานวิชาชีพ แม้ประเทศเนเธอร์แลนด์จะมีภาพลักษร์ที่ก้าวหน้าในประเทศทางเพศ แต่ผู้หญิงในเนเธอร์แลนด์ทำงานในการจ้างงานที่มีรายได้ในสัดส่วนที่น้อยกว่าผู้หญิงในประเทศตะวันตกประเทศอื่น ๆ ที่เทียบเคียงกันได้ ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 รายงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรป Women in the European Community พบว่าประเทศเนเธอร์แลนด์และไอร์แลนด์มีสัดส่วนของผู้หญิงสมรสที่มีส่วนร่วมในกำลังแรงงานที่ต่ำเป็นอันดับท้าย ๆ และไม่ได้การยอมรับจากสาธารณะมากเป็นอันดับต้น ๆ[upper-roman 36]
- ในประเทศไอร์แลนด์, ผู้หญิงถูกกีดกันการจ้างงานด้วยเหตุผลของสถานภาพสมรส (marriage bar) จนกระทั่ง ค.ศ. 1973[upper-roman 37]
- ในประเทศเนเธอร์แลนด์ นับแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นต้นไป จำนวนผู้หญิงที่เข้าทำงานเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นการทำงานไม่เต็มเวลา ใน ค.ศ. 2014 ประเทศเนเธอร์แลนด์และสวิตเซอร์แลนด์เป็นสองประเทศเท่านั้นในกลุ่มรัฐสมาชิก OECD ที่ผู้หญิงทำงานส่วนใหญ่ทำงานแบบไม่เต็มเวลา[upper-roman 38] ในขณะที่ในประเทศสหราชอาณาจักร คนงานลาป่วยสองในสามเป็นผู้หญิง แม้มีสัดส่วนเป็ฯครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงาน และไม่นับรวมการลาเลี้ยงดูบุตรแล้ว[upper-roman 39]
- ในสหภาพยุโรป (EU) นโยบายของแต่ละประเทศแตกต่างกันอย่างมาก แต่รัฐสมาชิกสหภาพยุโรปต้องดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำในข้อกำหนดว่าด้วยคนงานมีครรภ์ (Directive 92/85/EEC) และข้ออกำหนดว่าด้วยการลาเลี้ยงดูบุตร (Directive 2010/18/EU)[upper-roman 40]
- ตัวอย่างเช่น บางประเทศได้ออกกฎหมายที่ยับยั้งหรือทำให้ข้อกำหนดที่ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (เช่นข้อกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้หญิงมีครรภ์ภายในระยะเวลาหนึ่ง) ในสัญญาจ้างงาน (employment contract) เป็นสิ่งผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ทำให้สัญญาจ้างงานนั้นเป็นโมฆะหรืออาจเป็นโมฆะ[upper-roman 41]
- การตกเป็นเหยื่อของการบังคับแท้งโดยนายจ้างได้รับคำตัดสินว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สามารถใช้ลี้ภัยทางการเมือง (political asylum) ในสหรัฐได้[upper-roman 42]
- อาทิในประเทศเยเมน ข้อกำหนดในการสมรสตั้งเงื่อนไขว่าภรรยาจะต้องเชื่อฟังสามีและห้ามออกจากบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสามี[upper-roman 43]
- เช่นระบบปรรทา (purdah) ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนาและสังคมของการเก็บตัวผู้หญิงซึ่งมีอยู่แพร่หลายในบางชุมชนมุสลิมในประเทศอัฟกานิสถานและประเทศปากีสถาน รวมถึงชาวฮินดูวรรณะสูงในอินเดียเหนือ เช่นในราชปุต ซึ่งมักนำไปสู่การจำกัดการเดินทางในที่สาธารณะและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและหน้าที่การงานของผู้หญิง[upper-roman 44] หรือนามูส (namus) ซึ่งเป็นมโนทัศน์ทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเกียรติยศครอบครัว (family honor) อย่างแนบแน่น
- แพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชนเผ่าปาทาน (Pashtun tribes) ในประเทศปากีสถานและอัฟกานิสถาน โดยครอบครัวหนึ่งจะยกเด็กหญิงคนหนึ่งให้กับอีกครอบครัว (ส่วนมากผ่านการสมรส) เพื่อสะสางความขัดแย้งและความบาดหมางระหว่างครอบครัว เด็กหญิงซึ่งตกเป็นของอีกครอบครัวหนึ่งแล้วจะมีอิสระและเสรีภาพที่น้อยนิด และมีหน้าที่รับใช้ครอบครัวใหม่[upper-roman 45][upper-roman 46][upper-roman 47][upper-roman 48][143]
- สภายุโรปกล่าวว่า[152]
- "ประชาธิปไตยแบบพหุนิยมต้องการการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและผู้ชายที่สมดุลกันในขั้นตอนการตัดสินใจทางการเมืองและสาธารณะ มาตรฐานสภายุโรปกำหนดแนวทางไว้อย่างชัดเจนว่าจะบรรลุผลนี้ได้อย่างไร"
- ที่โด่งดังคือประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยผู้หญิงเพิ่งมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาพันธรัฐใน ค.ศ. 1971[upper-roman 50] แต่ผู้หญิงในรัฐอัพเพินท์เซ็ลอินเนอร์โรเดินเพิ่งมีสิทธิลงคะแนนเสียงในประเด็นท้องถิ่นใน ค.ศ. 1991 เมื่อรัฐถูกศาลฎีกาแห่งสมาพันธรัฐสวิสบังคับ[upper-roman 51]
- จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) เปรียบใน The Subjection of Women (ค.ศ. 1869) ว่าการสมรสคล้ายการเป็นทาส โดยเขียนว่า "กฎหมายการรับใช้ในการสมรสขัดแย้งอย่างวิปริตกับหลักการของโลกสมัยใหม่ทั้งปวง และประสบการณ์ทั้งมวลซึ่งได้ให้กำเนิดแก่หลักการเหล่านั้นมาอย่างเชื่องช้าและลำเค็ญ"[upper-roman 52]
- ใน ค.ศ. 1957 เจมส์ เอเวอเรตต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในไอร์แลนด์กล่าวว่า "ความก้าวหน้าของสังคมระเบียบใดนั้นตัดสินจากสถานะของผู้หญิงที่สมรสครอง"[upper-roman 53]
- ในประเทศฝรั่งเศสก่อน ค.ศ. 1965 ผู้หญิงที่สมรสจะต้องได้รับความยินยอมจากสามีเพื่อมีสิทธิไปทำงาน[upper-roman 54] ขณะเดียวกันอำนาจปิตาของผู้ชายเหนือครอบครัวยุติลงใน ค.ศ. 1970 (ก่อนหน้านั้น ความรับผิดชอบของผู้ปกครองตกอยู่กับบิดาแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจทางกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับบุตรของตน) การปฏิรูปครั้งใหม่ใน ค.ศ. 1985 ยกเลิกเงื่อนไขซึ่งกำหนดให้บิดามีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรตนแต่เพียงผู้เดียว[upper-roman 55]
- ในประเทศออสเตรีย การชำระกฎหมายการสมรสใหม่ทั้งฉบับระหว่าง ค.ศ. 1975 และ 1983 ได้ยกเลิกข้อจำกัดสิทธิที่จะทำงานนอกบ้านของผู้หญิงที่สมรสไป ให้มีความเท่าเทียมระหว่างคู่สมรส และให้มีการเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน[upper-roman 56]
- อาทิในประเทศกรีซ สินสอดเพิ่งถูกนำออกจากกฎหมายครอบครัวใน ค.ศ. 1983 ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่ปฏิรูปกฎหมายการสมรสและสร้างความเท่าเทียมทางเพศในการสมรส[upper-roman 13] และยังจัดการกับธรรมเนียมการเปลี่ยนนามสกุลของภรรยาเป็นของสามีภายหลังการสมรส ซึ่งถูกทำให้ผิดกฎหมายหรือจำกัดในบางพื้นที่เพราะถูกมองว่าขัดกับสิทธิของผู้หญิง ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงในประเทศกรีซต้องรักษาชื่อกำเนิดของตนไปทั้งชีวิต[upper-roman 57]
- อาทิในประเทศเยเมน กฎหมายการสมรสกำหนดว่าภรรยาต้องเชื่อฟังสามีของตนและต้องไม่ออกจากบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต[upper-roman 43]
- ตัวอย่างของสิทธิเหล่านี้เช่น "การลงโทษภรรยาโดยสามีของตน การธำรงวินัยเด็กซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจโดยผู้ปกครองและครูภายในขอบเขตจำกัดดังบัญญัติไว้ในกฎหมายหรือธรรมเนียมประเพณี"[upper-roman 58]
- แถลงการณ์ร่วมของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติใน ค.ศ. 2012 กล่าวว่า[upper-roman 59] "คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการทำให้การมีชู้กลายเป็นอาชญากรรมและความผิดทางอาญาซึ่งการบังคับใช้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติและความรุนแรงต่อผู้หญิง" องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติยังได้กล่าวว่า "ผู้ยกร่างควรยกเลิกกฎหมายความผิดทางอาญาใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการมีชู้หรือเพศสัมพันธ์ภายนอกการสมรสระหว่างบุคคลวัยผู้ใหญ่ที่ให้ความยินยอม"[upper-roman 60]
อ้างอิง
- ILO (2000). "Gender equality". ABC for Women Workers’ Rights and Gender Equality (PDF). เจนีวา: International Labour Office. p. 91. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 3 เมษายน 2023. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2023.
the enjoyment of equal rights, opportunities and treatment by men and women and by boys and girls in all spheres of life.
- Clarke, Kris (สิงหาคม 2011). "The paradoxical approach to intimate partner violence in Finland". International Perspectives in Victimology. 6 (1): 9–19. doi:10.5364/ipiv.6.1.19 (inactive 31 ธันวาคม 2022). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 ธันวาคม 2015.
{{cite journal}}
: CS1 maint: DOI inactive as of 2022 (ลิงก์) - McKie, Linda; Hearn, Jeff (สิงหาคม 2004). "Gender-neutrality and gender equality: comparing and contrasting policy responses to 'domestic violence' in Finland and Scotland" (PDF). Scottish Affairs. 48 (1): 85–107. doi:10.3366/scot.2004.0043. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 21 ตุลาคม 2013.
- Danish, Swedish, Finnish and Norwegian sections of Amnesty International (มีนาคม 2010), "Rape and human rights in Finland", Case closed: rape and human rights in the Nordic countries, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, pp. 89–91, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 ตุลาคม 2017, สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2015,
Finland is repeatedly reminded of its widespread problem of violence against women and recommended to take more efficient measures to deal with the situation. International criticism concentrates on the lack of measures to combat violence against women in general and in particular on the lack of a national action plan to combat such violence and on the lack of legislation on domestic violence. (...) Compared to Sweden, Finland has been slower to reform legislation on violence against women. In Sweden, domestic violence was already illegal in 1864, while in Finland such violence was not outlawed until 1970, over a hundred years later. In Sweden the punishment of victims of incest was abolished in 1937 but not until 1971 in Finland. Rape within marriage was criminalised in Sweden in 1962, but the equivalent Finnish legislation only came into force in 1994 — making Finland one of the last European countries to criminalise marital rape. In addition, assaults taking place on private property did not become impeachable offences in Finland until 1995. Only in 1997 did victims of sexual offences and domestic violence in Finland become entitled to government-funded counselling and support services for the duration of their court cases.
{{citation}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (พฤษภาคม 2011). Denmark: human rights violations and concerns in the context of counter-terrorism, immigration-detention, forcible return of rejected asylum-seekers and violence against women (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2015. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2015.
inconsistent with international human rights standards
Amnesty International Submission to UN Universal Periodic Review, May 2011. - "Ny voldtægtslovgivning er en sejr for danske kvinders retssikkerhed". Amnesty.dk – Amnesty International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 มิถุนายน 2015. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2015.
- "Slut med "konerabat" for voldtægt". www.b.dk. 3 มิถุนายน 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 เมษายน 2016. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2015.
- "Straffeloven – Bekendtgørelse af straffeloven". Retsinformation.dk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 ธันวาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2015.
- United Nations (18 กันยายน 1997). Report of the Economic and Social Council for 1997 (Report). p. 28. A/52/3.
- "Switzerland profile – Timeline". Bbc.com. 28 ธันวาคม 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 มิถุนายน 2018. สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2017.
- Jud, Markus G. "The Long Way to Women's Right to Vote in Switzerland: a Chronology". History-switzerland.geschichte-schweiz.ch. Lucerne, Switzerland. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2019. สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2017.
- "AROUND THE WORLD; Greece Approves Family Law Changes". The New York Times. Reuters. 26 มกราคม 1983. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 มิถุนายน 2012. สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2017.
- Demos, Vasilikie (2007). "The Intersection of Gender, Class and Nationality and the Agency of Kytherian Greek Women". Annual Meeting of the American Sociological Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 ธันวาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2017.
- "Women Business and the Law 2014 Key Findings" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 24 สิงหาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2014.
- "Modern and Contemporary France: Women in France" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2016.
- Ferrand, Frédérique. "National Report: France" (PDF). Parental Responsibilities. Commission on European Family Law. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 11 สิงหาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2015.
- Raja., Rhouni (1 มกราคม 2010). Secular and Islamic feminist critiques in the work of Fatima Mernissi. Brill. p. 52. ISBN 9789004176164. OCLC 826863738.
- Holtman, Robert B. (1979). The Napoleonic revolution. Louisiana State University Press. ISBN 9780807104873. OCLC 492154251.
- Rheault, Magali; Mogahed, Dalia (28 พฤษภาคม 2008). "Common Ground for Europeans and Muslims Among Them". Gallup Poll. Gallup, Inc. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 กันยายน 2008. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2016.
- สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (20 ธันวาคม 1993). Resolution adopted by the General Assembly 48/104. Declaration on the Elimination of Violence against Women (Report). สหประชาชาติ. A/RES/48/104. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 สิงหาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2015.
For the purposes of this Declaration, the term "violence against women" means any act of gender-based violence that results in, or is likely to result in, physical, sexual or psychological harm or suffering to women, including threats of such acts, coercion or arbitrary deprivation of liberty, whether occurring in public or in private life ... violence against women is a manifestation of historically unequal power relations between men and women, which have led to domination over and discrimination against women by men and to the prevention of the full advancement of women, and that violence against women is one of the crucial social mechanisms by which women are forced into a subordinate position compared with men.
- "Taking a Stand Against Practices That Harm Women". กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 ตุลาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2015.
ในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ ธรรมเนียมปฏิบัติที่ปราบปรามและทำร้ายผู้หญิง เช่นการทุบตีภรรยา การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ การตัด/ขริบอวัยวะเพศหญิง และการตายจากสินสอด ได้รับการให้อภัยเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบตามธรรมชาติของสรรพสิ่ง
- "Explanatory Report to the Council of Europe Convention on preventing and combating violence against women and domestic violence (CETS No. 210)". สภายุโรป. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มิถุนายน 2023. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2015.
There are many examples from past practice in Council of Europe member states that show that exceptions to the prosecution of such cases were made, either in law or in practice, if victim and perpetrator were, for example, married to each other or had been in a relationship. The most prominent example is rape within marriage, which for a long time had not been recognised as rape because of the relationship between victim and perpetrator.
- Case of Opuz v. Turkey (Report). สทราซบูร์: ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป. กันยายน 2009. 33401/02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 เมษายน 2023. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2015.
the Court considers that the violence suffered by the applicant and her mother may be regarded as gender-based violence which is a form of discrimination against women.
- "Convention on preventing and combating violence against women and domestic violence (CETS No. 210)". อิสตันบูล: สภายุโรป. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 September 2015. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2015.
Article 3 – Definitions, For the purpose of this Convention: a "violence against women" is understood as a violation of human rights and a form of discrimination against women [...]
- MacKinnon, Catharine A. (1989). Toward a Feminist Theory of the State. Harvard University Press. p. 174. ISBN 9780674896468.
To know what is wrong with rape, know what is right about sex. If this, in turn, is difficult, the difficulty is as instructive as the difficulty men have in telling the difference when women see one. Perhaps the wrong of rape has proved so difficult to define because the unquestionable starting point has been that rape is defined as distinct from intercourse, while for women it is difficult to distinguish the two under conditions of male dominance.
- "World report on violence and health: summary" (PDF). องค์การอนามัยโลก. เจนีวา. 2002. p. 18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 5 มีนาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2020.
Sexual violence is also more likely to occur where beliefs in male sexual entitlement are strong, where gender roles are more rigid, and in countries experiencing high rates of other types of violence.
- Hossain, Sara; Chinkin, Christine (12 เมษายน 2003). "WRITTEN COMMENTS BY INTERIGHTS THE INTERNATIONAL CENTRE FOR THE LEGAL PROTECTION OF HUMAN RIGHTS PURSUANT TO RULE 61 OF THE RULES OF THE COURT". ลอนดอน: Interights. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 ธันวาคม 2022.
The equality approach starts by examining not whether the woman said 'no', but whether she said 'yes'. Women do not walk around in a state of constant consent to sexual activity unless and until they say 'no', or offer resistance to anyone who targets them for sexual activity. The right to physical and sexual autonomy means that they have to affirmatively consent to sexual activity.
- "Maternal health". กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2020. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2015.
since 1990, the world has seen a 45 per cent decline in maternal mortality – an enormous achievement. But in spite of these gains, almost 800 women still die every day from causes related to pregnancy or childbirth. This is about one woman every two minutes.
- "Sexual and reproductive rights under threat worldwide". แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล. 6 มีนาคม 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 ธันวาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2014.
It is unbelievable that in the twenty-first century some countries are condoning child marriage and marital rape while others are outlawing abortion, sex outside marriage and same-sex sexual activity – even punishable by death.
- Pillay, Navi (15 พฤษภาคม 2012). "Valuing Women as Autonomous Beings: Women's sexual and reproductive rights" (PDF). University of Pretoria Centre for Human Rights. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 13 มีนาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2014.
Violations of women's human rights are often linked to their sexuality and reproductive role. Women are frequently treated as property, they are sold into marriage, into trafficking, into sexual slavery. Violence against women frequently takes the form of sexual violence. Victims of such violence are often accused of promiscuity and held responsible for their fate, while infertile women are rejected by husbands, families, and communities. In many countries, married women may not refuse to have sexual relations with their husbands, and often have no say in whether they use contraception.
- "Giving Special Attention to Girls and Adolescents". กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 กรกฎาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2015.
- ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน (4 มีนาคม 2010). "High Commissioner speaks out against domestic violence and "honour killing" on occasion of International Women's Day"". สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Press release). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กรกฎาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2017.
The reality for most victims, including victims of honor killings, is that state institutions fail them and that most perpetrators of domestic violence can rely on a culture of impunity for the acts they commit – acts which would often be considered as crimes, and be punished as such, if they were committed against strangers.
- "Violence Against Women Information". แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 เมษายน 2016. สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2015.
Women who are victims of gender-related violence often have little recourse because many state agencies are themselves guilty of gender bias and discriminatory practices.
- "Gender equality in Arab world critical for progress and prosperity, UN report warns". UN News (ภาษาอังกฤษ). 7 ธันวาคม 2006. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มีนาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2017.
- "Germany's persistently low birthrate gets marginal boost". ด็อยท์เชอเว็ลเลอ. 18 สิงหาคม 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2017.
Germany, but also Austria and the Netherlands, should look at the example of the northern countries [...] that means removing obstacles for women, older workers, foreigners and low-skilled job-seekers to get into the workforce
- "Women in the European Community" (PDF). 1984. p. 14. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2015. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2016.
It is in the Netherlands (17.6%) and in Ireland (13.6%) that we see the smallest numbers of married women working and the least acceptance of this phenomenon by the general public
- Patterson, Rachel A. "Women of Ireland: Change Toward Social and Political Equality in the 21st Century Irish Republic" (PDF). Lehigh University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 8 ตุลาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2017.
- "LMF1.6: Gender differences in employment Outcomes" (PDF). องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2021.
- Watts, Joseph (11 กุมภาพันธ์ 2014). "Women make up two-thirds of workers on long-term sick leave". London Evening Standard. p. 10. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มีนาคม 2014.
- "Professional, private and family life". คณะกรรมาธิการยุโรป. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2017.
- Smits, Jan (ตุลาคม 2006). "Private Law and Fundamental Rights: a sceptical view". University of Maastricht. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 พฤษภาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2021.
- "US asylum rule on forced abortion". บีบีซี. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2017.
- แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล. "Yemen's Dark Side: Discrimination and violence against women and girls" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 26 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2017.
- Papanek, Hanna (1973). "Purdah: Separate Worlds and Symbolic Shelter". Comparative Studies in Society and History. 15 (3): 289–325. doi:10.1017/S001041750000712X. S2CID 144508005.
- ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ. "Afghan Girls Suffer for Sins of Male Relatives". Refworld. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 ตุลาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2015.
- "Vani: Pain of child marriage in our society". News Pakistan. 26 ตุลาคม 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มิถุนายน 2014. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2015.
- Hashmi, Anwar; Koukab, Rifat (มิถุนายน 2004). "Vani a social evil". The Fact. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2018. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2021.
- "Gender balance in decision-making positions". คณะกรรมาธิการยุโรป. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2017.
- "The Long Way to Women's Right to Vote in Switzerland: a Chronology". History-switzerland.geschichte-schweiz.ch. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2019. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2011.
- "United Nations press release of a meeting of the Committee on the Elimination of Discrimination against Women (CEDAW), issued on 14 January 2003". สหประชาชาติ. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 มิถุนายน 2013. สืบค้นเมื่อ 2 กันยายน 2011.
- Mill, John Stuart. "The Subjection of Women". Marxists.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2015.
The law of servitude in marriage is a monstrous contradiction to all the principles of the modern world, and to all the experience through which those principles have been slowly and painfully worked out.
- Everett, James (16 มกราคม 1957). "Married Women's Status Bill, 1956—Second Stage: Minister for Justice (Mr. Everett)". เอรัฆตัส. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2015.
The progress of organised society is judged by the status occupied by married women
- "Modern & Contemporary France: Women in France" (PDF). Routledge. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2021.
- "National Report: France" (PDF). Ceflonline.net. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 11 สิงหาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2017.
- Galligan, Yvonne. Women and Politics in Contemporary Ireland: From the Margins to the Mainstream. p. 90. ISBN 9781855674332.
- Long, Heather (6 ตุลาคม 2013). "Should women change their names after marriage? Ask a Greek woman". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 ตุลาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2016.
- "The Penal-Code with Amendments" (PDF). 1969. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 21 ตุลาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2021.
The punishment of a wife by her husband, the disciplining by parents and teachers of children under their authority within certain limits prescribed by law or by custom
- "Statement by the United Nations Working Group on discrimination against women in law and in practice". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มีนาคม 2015.
the United Nations Working Group on discrimination against women in law and in practice is deeply concerned at the criminalization and penalization of adultery whose enforcement leads to discrimination and violence against women.
- "Decriminalization of adultery and defenses". Endvawnow.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 มกราคม 2016. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2015.
Drafters should repeal any criminal offenses related to adultery or extramarital sex between consenting adults
แหล่งข้อมูล
บทความนี้รวมข้อความจากงานที่มีเนื้อหาเสรี (free content) ลิขสิทธิ์ภายใต้ CC BY SA 3.0 IGO คำชี้แจงสิทธิ์การใช้งาน/การอนุญาตในวิกิมีเดียคอมมอนส์ ข้อความนำมาจาก World Trends in Freedom of Expression and Media Development Global Report 2017/2018, 202, University of Oxford, UNESCO.
บทความนี้รวมข้อความจากงานที่มีเนื้อหาเสรี (free content) ลิขสิทธิ์ภายใต้ CC BY-SA 3.0 IGO ข้อความนำมาจาก Global education monitoring report 2022: gender report, deepening the debate on those still left behind, 70, Global Education Monitoring Report Team, UNESCO. UNESCO.
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.