Loading AI tools
อดีตคณะรัฐมนตรีไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 (1 กันยายน พ.ศ. 2566 – 3 กันยายน พ.ศ. 2567) เป็นคณะรัฐมนตรีไทยซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ส่งผลให้ไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา
การแก้ไขบทความนี้ของผู้ใช้ใหม่หรือผู้ใช้ไม่ลงทะเบียนถูกปิดใช้งาน ดูนโยบายการป้องกันและปูมการป้องกันสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม หากคุณไม่สามารถแก้ไขบทความนี้และคุณประสงค์เปลี่ยนแปลง คุณสามารถส่งคำขอแก้ไข อภิปรายการเปลี่ยนแปลงทางหน้าคุย ขอเลิกป้องกัน ล็อกอิน หรือสร้างบัญชี |
ในระยะแรก พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยรวบรวมเสียงพรรคการเมืองจำนวน 6 พรรค ต่อมาเพิ่มเป็น 8 พรรค และลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน เพื่อเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แต่พิธาได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด พรรคก้าวไกลจึงมอบสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลให้กับพรรคเพื่อไทย
พรรคเพื่อไทยได้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจดังกล่าว จากนั้นรวบรวมเสียงพรรคการเมืองในรอบใหม่ ได้จำนวน 11 พรรค และเสนอชื่อเศรษฐา ทวีสิน อดีตประธานอำนวยการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
เศรษฐาได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566[1] และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในวันเดียวกัน[2] ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน[3] โดยเศรษฐาได้นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณและเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 5 กันยายน[4] และแถลงนโยบายต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเริ่มต้นการบริหารรัฐกิจเมื่อวันที่ 11 และ 12 กันยายน[5]
เศรษฐาถูกศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ[6] ยกเว้นเศรษฐา คณะรัฐมนตรียังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี[7] และสิ้นสุดลงในทางพฤตินัยเมื่อแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้นำคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 64 ที่แต่งตั้งใหม่เมื่อวันที่ 3 กันยายน เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณและเข้ารับหน้าที่เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 6 กันยายน
ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลซึ่งได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันดับที่ 1 ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในครั้งแรก โดยชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ทำหน้าที่ผู้จัดการรัฐบาล รวบรวมพรรคการเมืองซึ่งเคยเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านในรัฐบาลชุดก่อนหน้าทั้งหมดที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเสรีรวมไทย[8] และยังมีพรรคที่เข้าร่วมเพิ่มเติมภายหลังได้แก่ พรรคเป็นธรรม[9] พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคเพื่อไทรวมพลัง[10] โดยมีการแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งทั้ง 8 พรรคมีมติสนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย, จัดตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ[11] และจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการจัดตั้งรัฐบาลด้วยวิธีนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย[12] จากนั้นมีข่าวว่าพรรคใหม่และพรรคชาติพัฒนากล้าได้ตกลงเข้าร่วมรัฐบาลด้วย แต่ถูกคัดค้านจากประชาชนจึงถอนตัวในเวลาต่อมา[13][14]
ทั้ง 8 พรรคได้ลงนามบันทึกความเข้าใจจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 9 ปีของเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในเวลาที่ใกล้เคียงกับเวลารัฐประหาร[12] โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ยึดหลักการผลักดันนโยบายที่ไม่กระทบรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดไม่ได้ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายถึง ไม่มีวาระการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้[15] ประกอบด้วยวาระร่วม 23 ข้อ และแนวทางปฏิบัติ 5 ข้อ ซึ่งบรรจุประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ, สมรสเท่าเทียม, การปฏิรูปกองทัพและตำรวจ, การเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ, การกระจายอำนาจ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นต้น[16]
ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีรอบแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พิธาได้รับการลงมติเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพียง 324 เสียง ซึ่งไม่ถึง 376 เสียงตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดไว้[17] และวันที่ 19 กรกฎาคม มีการเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่รัฐสภามีมติให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติซ้ำ ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อพิธาได้อีกในสมัยประชุมเดียวกัน[18] สองวันถัดมา ชัยธวัชจึงประกาศมอบสิทธิ์ให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน โดยกล่าวว่ามีกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับตนไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ[19]
วันรุ่งขึ้น พรรคเพื่อไทยจึงได้เริ่มต้นเจรจากับพรรคภูมิใจไทย[20] พรรคชาติพัฒนากล้า[21] และพรรครวมไทยสร้างชาติ[22] และวันถัดมาเจรจากับพรรคชาติไทยพัฒนา[23] และพรรคพลังประชารัฐ[24] ซึ่งทั้ง 5 พรรคระบุตรงกันว่าไม่ร่วมรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองที่มีนโยบายยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พรรคเพื่อไทยประกาศเสนอชื่อเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติ[25] จากนั้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยยกเลิกบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกล[26] และเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคภูมิใจไทย โดยมีเงื่อนไขไม่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ไม่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และไม่นำพรรคก้าวไกลมาร่วมรัฐบาล[27] จากนั้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม มีพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยเพิ่มเติมคือ พรรคประชาชาติ พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคท้องที่ไทย[28] และวันถัดมาเพิ่มพรรคชาติไทยพัฒนาเข้ามาด้วย[29] ต่อมามีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ และอาจดึงมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งขัดกับหลักการที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน[30] พรรคก้าวไกลจึงมีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมว่า จะไม่สนับสนุนให้บุคคลที่ได้รับเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี[31] วันเดียวกัน พรรคเพื่อไทยมีมติเสนอชื่อเศรษฐาให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี[32] สองวันถัดมาพรรครวมไทยสร้างชาติแถลงร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย[33]
และเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยได้นำพรรคการเมืองทั้งหมดที่ตกลงเข้าร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ รวมจำนวน 11 พรรค มาร่วมกันแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล โดยมีการจัดสรรกระทรวงภายในพรรคร่วมตามสัดส่วน และทุกพรรคตกลงที่จะร่วมผลักดันนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย เช่น โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท, การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ, การเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ[34] สุดท้าย ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม เศรษฐาได้รับการลงมติเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา เป็นจำนวน 482 ต่อ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง ส่งผลให้เศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย[35]
วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่[3] โดยการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ในครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 110 วัน นับเป็นคณะรัฐมนตรีที่ใช้เวลาจัดตั้งนานที่สุดในประวัติศาสตร์คณะรัฐมนตรีไทย
พรรคเพื่อไทยได้สัดส่วนผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดนี้มากที่สุด จำนวน 17 คน 20 ตำแหน่ง รองลงมาเป็นพรรคภูมิใจไทย 8 คน 9 ตำแหน่ง, พรรครวมไทยสร้างชาติ 4 คน 5 ตำแหน่ง (รวมโควตาบุคคลภายนอก), พรรคพลังประชารัฐ 3 คน 4 ตำแหน่ง, พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาชาติ พรรคละ 1 คน 1 ตำแหน่ง ทั้งนี้ เศรษฐาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
ในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุด (41 ปี) ขณะที่เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีที่อายุมากที่สุด (77 ปี)[36] และมีผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีที่เป็นสตรีจำนวน 5 คน[37]
วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลา 13:53 น. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รวมจำนวน 34 คน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่[38] จากนั้นในวันรุ่งขึ้นได้มีการประชุมนัดพิเศษ[39] ก่อนเข้าแถลงนโยบายต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเริ่มต้นการบริหารรัฐกิจเมื่อวันที่ 11 และ 12 กันยายน[5] และได้เริ่มประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 กันยายน[40]
คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 มีการปรับคณะรัฐมนตรีเพียงครั้งเดียว คือเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 มีรัฐมนตรีถูกปรับออก 4 คน ถูกโยกย้าย 6 คน และแต่งตั้งเพิ่ม 8 คน[41] แต่ในวันถัดมามีรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง 1 คน จึงมีการแต่งตั้งเพิ่มเมื่อวันที่ 30 เมษายน[42] และจากการปรับคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ทำให้จิราพร สินธุไพร เป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ (36 ปี) แทนสุดาวรรณในทันที[43] โดยเศรษฐาได้นำรัฐมนตรีที่แต่งตั้งใหม่ในครั้งนี้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม เวลา 18:05 น.[44]
รัฐมนตรีว่าการกระทรวง | ดำรงตำแหน่งเมื่อตั้งคณะรัฐมนตรี | ดำรงตำแหน่งจนสิ้นสุดคณะรัฐมนตรี | ||
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง | แต่งตั้งเพิ่ม | เปลี่ยนแปลง/โยกย้ายไปตำแหน่งอื่น | ||
รัฐมนตรีลอย | ย้ายมาจากตำแหน่งอื่น | ออกจากตำแหน่ง |
ตำแหน่ง | ลำดับ | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ | หมายเหตุ | พรรคการเมือง | ||||
นายกรัฐมนตรี | * | เศรษฐา ทวีสิน | 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 | 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 | พ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ | เพื่อไทย | ||||
ภูมิธรรม เวชยชัย | 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 | 16 สิงหาคม พ.ศ. 2567 | ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี | เพื่อไทย | ||||||
รองนายกรัฐมนตรี | 1 | ภูมิธรรม เวชยชัย | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | |||||
สมศักดิ์ เทพสุทิน | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข | เพื่อไทย | ||||||
ปานปรีย์ พหิทธานุกร | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | คงเหลือเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ | เพื่อไทย | ||||||
2 | สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | ||||||
3 | พิชัย ชุณหวชิร | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย[a] | ||||||
4 | อนุทิน ชาญวีรกูล | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | ภูมิใจไทย | ||||||
5 | พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | พลังประชารัฐ | ||||||
6 | พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | รวมไทยสร้างชาติ | ||||||
สำนักนายกรัฐมนตรี | พวงเพ็ชร ชุนละเอียด | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี | เพื่อไทย | |||||
7 | จักรพงษ์ แสงมณี | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | ||||||
พิชิต ชื่นบาน | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 | ลาออกจากตำแหน่ง | เพื่อไทย | ||||||
9 | จิราพร สินธุไพร | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | ||||||
กลาโหม | 10 | สุทิน คลังแสง | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | |||||
การคลัง | เศรษฐา ทวีสิน | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | คงเหลือเฉพาะนายกรัฐมนตรี | เพื่อไทย | |||||
* | พิชัย ชุณหวชิร | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย[a] | ||||||
กฤษฎา จีนะวิจารณะ | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 | ลาออกจากตำแหน่ง | รวมไทยสร้างชาติ[b] | ||||||
12 | จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | ||||||
13 | เผ่าภูมิ โรจนสกุล | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | ||||||
การต่างประเทศ | ปานปรีย์ พหิทธานุกร | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 28 เมษายน พ.ศ. 2567 | ลาออกจากตำแหน่ง | เพื่อไทย | |||||
14 | มาริษ เสงี่ยมพงษ์ | 30 เมษายน พ.ศ. 2567 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | ||||||
จักรพงษ์ แสงมณี | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | ไปเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี | เพื่อไทย | ||||||
การท่องเที่ยวและกีฬา | สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม | เพื่อไทย | |||||
15 | เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | ||||||
การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ | 16 | วราวุธ ศิลปอาชา | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | ชาติไทยพัฒนา | |||||
การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม | 17 | ศุภมาส อิศรภักดี | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | ภูมิใจไทย | |||||
เกษตรและสหกรณ์ | 18 | ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | พลังประชารัฐ | |||||
ไชยา พรหมา | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี | เพื่อไทย | ||||||
อนุชา นาคาศัย | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี | รวมไทยสร้างชาติ | ||||||
19 | อรรถกร ศิริลัทธยากร | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | พลังประชารัฐ | ||||||
คมนาคม | * | สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | |||||
20 | มนพร เจริญศรี | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | ||||||
21 | สุรพงษ์ ปิยะโชติ | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย[a] | ||||||
ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม | 22 | ประเสริฐ จันทรรวงทอง | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | |||||
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม | * | พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | พลังประชารัฐ | |||||
พลังงาน | * | พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | รวมไทยสร้างชาติ | |||||
พาณิชย์ | * | ภูมิธรรม เวชยชัย | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | |||||
23 | นภินทร ศรีสรรพางค์ | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | ภูมิใจไทย | ||||||
24 | สุชาติ ชมกลิ่น | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | รวมไทยสร้างชาติ | ||||||
มหาดไทย | * | อนุทิน ชาญวีรกูล | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | ภูมิใจไทย | |||||
25 | ทรงศักดิ์ ทองศรี | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | ภูมิใจไทย | ||||||
26 | ชาดา ไทยเศรษฐ์ | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | ภูมิใจไทย | ||||||
27 | เกรียง กัลป์ตินันท์ | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | ||||||
ยุติธรรม | 28 | พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | ประชาชาติ | |||||
แรงงาน | 29 | พิพัฒน์ รัชกิจประการ | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | ภูมิใจไทย | |||||
วัฒนธรรม | เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา | เพื่อไทย | |||||
30 | สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | ||||||
ศึกษาธิการ | 31 | พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | ภูมิใจไทย | |||||
32 | สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | ภูมิใจไทย | ||||||
สาธารณสุข | ชลน่าน ศรีแก้ว | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี | เพื่อไทย | |||||
33 | สมศักดิ์ เทพสุทิน | 27 เมษายน พ.ศ. 2567 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | เพื่อไทย | ||||||
34 | สันติ พร้อมพัฒน์ | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | พลังประชารัฐ | ||||||
อุตสาหกรรม | 35 | พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล | 1 กันยายน พ.ศ. 2566 | 3 กันยายน พ.ศ. 2567 | รวมไทยสร้างชาติ | |||||
หมายเหตุ:
รัฐมนตรีจำนวน 6 ราย พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี มีผลวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567
มีรัฐมนตรีจำนวน 3 ราย ขอลาออกจากตำแหน่ง ดังนี้
คณะรัฐมนตรีคณะนี้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยถอดถอนเศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีทูลเกล้าฯ แต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่พิชิตเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี[50] ทำให้เศรษฐาต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง แต่ในระหว่างนี้คณะรัฐมนตรีทั้งหมดยกเว้นตัวนายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งไปก่อน และสิ้นสุดลงในทางพฤตินัยเมื่อแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้นำคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 64 ที่แต่งตั้งใหม่เมื่อวันที่ 3 กันยายน เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณและเข้ารับหน้าที่เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 6 กันยายน
คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 ได้เข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 และ 12 กันยายน[5] โดยมีนโยบายระยะเร่งด่วน 5 นโยบาย ดังนี้
ส่วนนโยบายระยะกลางและระยะยาว เน้นการสร้างรายได้ โอกาส และคุณภาพชีวิตเป็นหลัก โดยแตกย่อยได้เป็นอย่างน้อย 22 นโยบาย นโยบายที่สำคัญในกลุ่มนี้ เช่น การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค, การพัฒนากองทัพ ซึ่งเน้นการปรับรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ, 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์ เป็นต้น[51]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ (พฤศจิกายน 2023) |
นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 เริ่มทำงาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติอันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนในนโยบายของรัฐบาลอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน กล่าวคือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่เคยตกต่ำลงเนื่องจากนโยบายของรัฐบาล แต่โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทำให้นักลงทุนต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น[52] ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 ตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 1,332.08 จุด ลดลง 14.934% นับจากปิดตลาดในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 17.00 น.[53]
แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 แต่ภายหลังที่รักษาการสมาชิกวุฒิสภาชุดดังกล่าวจำนวน 40 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ส่อให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างรักษาการสมาชิกวุฒิสภากับนายกรัฐมนตรี โดยศาลอาจสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่งในกรณีการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ (พฤศจิกายน 2023) |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.