การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475[1] หรือบ้างก็เรียก การอภิวัฒน์สยาม[2] เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งมีผลทำให้ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เกิดขึ้นจากคณะนายทหารและพลเรือนที่ประกอบกัน เรียกตนเองว่า "คณะราษฎร" โดยเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์โลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองภายในประเทศ การปฏิวัติดังกล่าวทำให้ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก
การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สมัยระหว่างสงคราม | |||||||
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ปราศรัยต่อฝูงชนอาณาประชาราษฎร์ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
คณะราษฎร |
ราชวงศ์จักรี อภิรัฐมนตรีสภา | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
เบื้องหลัง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในหลายด้าน แต่การปฏิรูปรัฐธรรมนูญกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้าซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่พวกหัวก้าวหน้าและเสรีนิยม[3] ในปี พ.ศ. 2455 ได้เกิดกบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งดำเนินการโดยคณะนายทหารหนุ่ม เป้าหมายของคณะคือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองและล้มล้างระบอบเก่าและแทนที่ด้วยระบบรัฐธรรมนูญตะวันตกที่ทันสมัย และอาจต้องการยกพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นเป็นพระมหากษัตริย์ แทนด้วย[4] อาจกล่าวได้ว่ากบฏ ร.ศ. 130 เป็นแรงขับดันให้คณะราษฎรปฏิวัติ โดยภายหลังยึดอำนาจแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน) ได้เชิญผู้นำการกบฏ ร.ศ. 130 ไปพบและกล่าวกับขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ว่า "ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม" และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์)ก็ได้กล่าวในโอกาสเดียวกันว่า "พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130"[5] การปฏิวัติดังกล่าวล้มเหลวและผู้ก่อการถูกจำคุก นับแต่นั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลิกความพยายามส่วนใหญ่ในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและทรงปกครองประเทศต่อไปภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีข้อยกเว้นบ้างที่โปรดฯ แต่งตั้งสามัญชนบางคนสู่สภาองคมนตรีและรัฐบาล[6]
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ทรงสืบราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐาเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระองค์ทรงรีบจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นเป็นองค์กรหลักในการปกครองรัฐ เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ สภานั้นประกอบด้วยเจ้านายอาวุโสมีประสบการณ์ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลก่อนมาแล้ว เจ้านายเหล่านั้นเร่งเปลี่ยนตัวสามัญชนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในข้าราชการพลเรือนและทหารแล้วแทนที่ด้วยคนของพวกตน สภาถูกครอบงำโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้ทรงได้รับการศึกษาจากเยอรมนี และเป็นพระเชษฐาร่วมสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ยังเป็นรัชทายาทด้วย ตามกฎหมายการสืบราชสันตติวงศ์อันซับซ้อนของราชวงศ์จักรี กลายเป็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เห็นอกเห็นใจ ทรงตัดรายจ่ายในพระราชวังและเสด็จพระราชดำเนินทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง และเมื่อเสด็จกลับมายังพระนคร พระองค์ทรงทำให้เป็นที่ยอมรับและโดดเด่นแก่หมู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครซึ่งเติบโตขึ้นกว่าแต่ก่อนโดยทรงประกอบพระราชกรณียกิจสาธารณะหลายอย่าง จนถึงเวลานี้ นักเรียนหลายคนที่ถูกส่งไปศึกษาต่างประเทศเมื่อหลายทศวรรษก่อนเริ่มเดินทางกลับประเทศแล้ว แต่นักเรียนเหล่านี้กลับขาดโอกาส การยึดมั่นของเจ้านายและความล้าหลังเปรียบเทียบของประเทศ ส่วนมากจึงหูตาสว่างกับสถานะเดิม[7]
เมื่อถึง พ.ศ. 2473 สถานการณ์โลกหนักหนาเกินกว่าประเทศจะรับได้เมื่อตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่มและความล่มสลายทางเศรษฐกิจมาถึงสยามในที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสนอให้จัดเก็บภาษีรายได้ทั่วไปและภาษีอสังหาริมทรัพย์เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนยากจน แต่นโยบายดังกล่าวถูกสภาปฏิเสธอย่างรุนแรง ซึ่งสภาเกรงว่าทรัพย์สินของพวกตนจะลดลง สภาหันไปลดค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนและลดงบประมาณทางทหารแทน ทำให้อภิชนผู้ได้รับการศึกษาในประเทศส่วนใหญ่โกรธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านายทหาร[8] และในปี 2474 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ลาออก พระองค์เจ้าบวรเดชมิใช่สมาชิกอภิรัฐมนตรีสภา และสงสัยว่าความไม่ลงรอยกับสภาเรื่องการตัดงบประมาณนำไปสู่การลาออกนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงยอมรับว่าพระองค์ทรงขาดความรู้การคลังอย่างเปิดเผย พยายามต่อสู้กับเจ้านายที่อาวุโสกว่าในเรื่องนี้ แต่ก็สำเร็จเพียงเล็กน้อย[8]
ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงทุ่มความพยายามร่างรัฐธรรมนูญ อันจะนำประชาธิปไตยสู่สยามเป็นครั้งแรก ด้วยความช่วยเหลือจากเจ้านายอีกสองพระองค์และที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศชาวอเมริกัน เรย์มอนด์ บาร์ทเล็ตต์ สตีเฟนส์[9] แม้จะได้รับการกราบทูลทัดทานว่าประชาชนสยามยังไม่พร้อม แต่พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นที่จะมอบรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนก่อนงานเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปีราชวงศ์จักรีในปี 2475[10] ทว่า เอกสารดังกล่าวได้ถูกเจ้านายในอภิรัฐมนตรีสภาปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง[10]
เมื่อสิ้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกจากกรุงเทพมหานครในช่วงเสด็จแปรพระราชฐานฤดูร้อน โดยทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยพระองค์เสด็จไปประทับยังวังไกลกังวล ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์[11]
เหตุการณ์วันที่ 23–24 มิถุนายน
ถึงแม้ว่าจะมีการระมัดระวังล่วงหน้าและการเตรียมการไว้ทั้งหมดแล้วก็ตาม ข่าวของแผนการดังกล่าวก็ยังได้รั่วไหลไปถึงตำรวจ ในช่วงเย็นของวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อธิบดีตำรวจได้โทรศัพท์ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตโดยกราบทูลขออำนาจในการจับกุมและจำคุกทุกคนที่เกี่ยวข้องกับแผนการดังกล่าว[11] พระองค์ดำริว่าผู้ก่อการหลายคนเป็นผู้มีอิทธิพลและมีอำนาจมาก จึงทรงตัดสินพระทัยเลื่อนพระบรมราชโองการออกไปเป็นวันรุ่งขึ้น การเลื่อนคำสั่งนี้จะมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ก่อการทั้งหลาย[12]
ในช่วงเย็นวันเดียวกัน หนึ่งในกลุ่มผู้สนับสนุนของหลวงสินธุสงครามชัย ในกองทัพเรือได้เกณฑ์เรือปืนจากอู่เรือขึ้นมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาและเมื่อถึงตอนเช้าก็ได้เล็งปืนเรือตรงเข้าใส่พระราชวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในกรุงเทพมหานคร[12] ตัวหลวงสินธุฯ เองนั้นได้เกณฑ์กะลาสีเรือติดอาวุธ 500 นายพร้อมที่จะยึดพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งตั้งอยู่ ณ ใจกลางพระนครและเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต หลังจากนั้น ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้มีอำนาจสั่งการนายทหารเสนาธิการหนุ่มและได้สั่งยึดที่ทำการไปรษณีย์และโทรเลขรอบจังหวัดพระนครซึ่งมีหลวงโกวิทอภัยวงศ์รวมอยู่ด้วย การสื่อสารทั้งหมดระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์และสมาชิกฝ่ายบริหารอาวุโสจึงถูกตัดขาด[12] บ้านพักทั้งหมดยังได้อยู่ภายใต้การตรวจตราและเฝ้าระวังโดยสมาชิกคณะราษฎรทั้งพลเรือนและทหาร[12]
เมื่อถึงเวลาประมาณ 04.00 น. ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาพร้อมด้วยพันเอกพระยาทรงสุรเดชได้ดำเนินการตามแผนการในส่วนของตนเรียบร้อยแล้วพระยาพหลพลพยุหเสนาและผู้สนับสนุนบางส่วนได้รวมตัวกันใกล้กับพระที่นั่งและรอคอยสัญญาณขั้นต่อไป[13] ขณะที่พระยาทรงสุรเดชเดินทางไปกับผู้สมคบคิดจำนวนหนึ่งไปยังค่ายทหารของกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่เก็บยานยนต์หุ้มเกราะส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครเมื่อมาถึงพระยาทรงสุรเดชได้กล่าวตำหนินายทหารผู้รับผิดชอบค่ายที่กำลังหลับอยู่ขณะที่มีการลุกฮือของชาวจีนเกิดขึ้นในจังหวัดพระนครทั้งหมดเกิดขึ้นขณะกำลังเปิดประตูค่ายทหารและมีการระดมทหารทั้งหมด อุบายดังกล่าวเป็นผล และแม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางความสับสนและความโกลาหล พระประศาสน์พิทยายุทธสามารถจับกุมผู้บัญชาการกรมทหารได้และนำตัวไปคุมขัง หลวงพิบูลสงครามได้รับคำสั่งให้เฝ้านักโทษ[13] ยานยนต์หุ้มเกราะ รวมไปถึงรถถังจำนวนหนึ่ง ถูกเกณฑ์และทั้งหมดได้รับคำสั่งให้มุ่งหน้าไปยังพระที่นั่ง พระยาฤทธิ์อัคเนย์ หลังจากทราบข่าวความสำเร็จของพระยาทรงสุรเดชได้เดินทางไปยังค่ายทหารของกรมทหารราบที่ 1 และหลังจากเรียกระดมเหล่าทหารราบได้สำเร็จแล้ว ก็ได้มุ่งหน้าไปยังพระที่นั่งด้วยเช่นกัน[13] ทหารในพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพมหานครได้เข้าร่วมกับผู้ก่อการด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้รับคำสั่งหลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้นแล้วว่ากำลังจะมีการฝึกซ้อมทางทหารเกิดขึ้น และไม่ทราบเลยว่าพวกตนจะเข้าไปมีส่วนในการปฏิวัติ[13] ทหารหน่วยอื่นที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ตัดสินใจที่จะไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ใด ๆ โดยการเก็บตัวอยู่ในกรมกอง[14]
เมื่อทหารราบและทหารม้ามาถึงลานพระราชวังดุสิตหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อเวลาราว 6.00 น. ก็ได้มีกลุ่มประชาชนเนืองแน่นเฝ้าดูทหารที่มาชุมนุมนั้น[13] ความสับสนเกิดขึ้นท่ามกลางผู้ที่มาชุมนุมนั้น หลายคนไม่เชื่อทั้งหมดว่ามีการลุกฮือของชาวจีนเกิดขึ้นจริง หรือว่าทหารมาชุมนุมที่จัตุรัสนี้เพื่อการฝึกซ้อมเท่านั้น พระยาพหลพลพยุหเสนาปีนขึ้นไปบนยอดรถหุ้มเกราะคันหนึ่งและอ่านประกาศคณะราษฎร ซึ่งเป็นแถลงการณ์ประกาศถึงจุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการสถาปนารัฐอันมีรัฐธรรมนูญขึ้นในสยาม ใจความบางตอนว่า:
ราษฎรทั้งหลาย เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในขั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองให้ราษฎรได้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการแลกเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเข้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กฎขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะได้เห็นจากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน [...]
[...] รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวง ไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกลับกล่าวคำหมิ่นประมาทราษฎร ผู้มีบุญคุณเสียภาษีให้เจ้ากิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่เจ้าก็โง่ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน [...]
[...] ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของเราเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นจากมือข้าศึก พวกเจ้ามีแต่จะชุบมือเปิป...เงินเหลือเท่าใดก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย [...]
[...] คณะราษฎรเห็นว่า การที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึ่งได้ขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงค์ตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน [...] ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่า จะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะชื่อว่า ทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปตัย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา [...]"
— พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา
เมื่อสิ้นเสียงประกาศ ผู้ก่อการเปล่งเสียงด้วยความยินดี ตามมาด้วยเหล่าทหาร นักวิชาการบางคนเชื่อว่าเป็นการคล้อยตามมากกว่าความเข้าใจในสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด[13]
แท้ที่จริงแล้วพระยาพหลพลพยุหเสนาเพียงแต่ขู่ขวัญเท่านั้น ความสำเร็จของการปฏิวัติยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่อื่นของกรุงเทพมหานคร พระประศาสน์พิทยายุทธถูกสั่งไปยังบ้านพักของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และสมาชิกระดับสูงคนอื่น ๆ ในรัฐบาลและพระบรมวงศานุวงศ์[15]สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตขณะกำลังทรงฉลองพระองค์บรรทมเมื่อพระองค์ทรงถูกจับกุม[16] ไม่มีผู้ใด ยกเว้นผู้บัญชาการเหล่าทหารบกที่หนึ่ง ต่อสู้ขัดขืนแม้เพียงเล็กน้อย มีการสู้กันเกิดขึ้นและนายทหารคนดังกล่าวได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย แต่สุดท้ายก็ถูกนำตัวไปคุมขัง และกลายมาเป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่ได้รับบาดเจ็บอันเป็นผลมาจากการปฏิวัติ หากนับทั้งหมดแล้ว มีเจ้าหน้าที่ทางการเกือบ 40 คนถูกจับกุมและถูกกักขังไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคม เว้นเสนาบดีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการสื่อสาร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้ซึ่งได้ทรงหลบหนีไปทางหัวรถจักรเพื่อไปกราบบังคมทูลเตือนพระมหากษัตริย์ที่หัวหิน[14] เมื่อถึงเวลา 8.00 น. ปฏิบัติการยึดอำนาจได้เสร็จสิ้นและผู้ก่อการประสบความสำเร็จ[15]
เจ้าหน้าที่รัฐทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนส่วนใหญ่ต่อสู้ขัดขืนเพียงเล็กน้อย เพราะพวกเขาคุ้นชินกับการรับคำสั่งและสายการสื่อสารถูกตัดขาด พวกเขาจึงไม่สามารถทำอะไรได้ ขั้นต่อไปของการปฏิวัติเหลือเพียงแต่สายพลเรือนของคณะราษฎร หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ด้วยความช่วยเหลือจากผู้สนับสนุน ได้แจกจ่ายใบปลิวและแผ่นพับโฆษณาชวนเชื่อ ตลอดจนการกระจายเสียงทางวิทยุซึ่งทั้งหมดสนับสนุนการปฏิวัติทั้งสิ้น[15] ข้อความในประกาศคณะราษฎรซึ่งเขียนขึ้นโดยหลวงประดิษฐมนูธรรมวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง
อารมณ์ของประกาศคณะราษฎรแตกต่างกันมากกับอารมณ์ของโทรเลขที่ถูกส่งไปให้แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งลงนามโดยพันเอกและทหารเสือทั้งสามนาย ได้แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิ์อัคเนย์ โทรเลขนี้ใช้ราชาศัพท์มีใจความว่าหากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงปรารถนาที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรจะเต็มใจถอดพระองค์ออกและแทนที่ด้วยพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น[17] แต่ถึงแม้ว่าจะใช้ราชาศัพท์ก็ตาม โทรเลขดังกล่าวย้ำพระองค์ด้วยถ้อยคำแข็งกร้าวว่าหากสมาชิกคณะราษฎรคนใดได้รับบาดเจ็บ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ถูกคุมขังก็จะทรงทรมานไปด้วย[17]
ปฏิกิริยาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
แม้ก่อนหน้าที่โทรเลขของเหล่าทหารเสือจะมาถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ทรงทราบล่วงหน้าแล้วว่ามีเหตุการณ์บางอย่างกำลังเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร พระองค์กำลังทรงกีฬากอล์ฟอยู่ที่พระราชวังฤดูร้อนพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสนาบดีที่เป็นเจ้านายสองพระองค์ และข้าราชบริพารจำนวนหนึ่ง เมื่อข้อความด่วนมาถึง (ซึ่งพระองค์กำลังทรงเล่นอยู่ที่หลุมที่แปด) ภายหลัง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินทรงมาถึงเพื่อกราบรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพระนคร[17]
พระองค์กับเจ้านายอีกสองพระองค์ทรงปรึกษากันถึงทางเลือกหลายทาง ซึ่งรวมไปถึงการเสด็จลี้ภัยไปยังต่างประเทศ การจัดรัฐประหารซ้อนหรือการยอมจำนนเต็มตัว[17] อย่างไรก็ตาม เมื่อโทรเลขแท้จริงจากคณะราษฎรมาถึงแล้ว พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยแล้วเช่นกัน พระองค์ได้ทรงตอบอย่างรวดเร็วว่าพระองค์เต็มพระทัยที่จะอยู่ในราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญดังที่พระองค์ทรงสนับสนุนที่จะให้ประชาชนมีรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด[18] พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเขียนถึงการตัดสินพระทัยของพระองค์ที่ปฏิเสธจะต่อสู้ในภายหลังว่า "... ข้าพเจ้าไม่สามารถนั่งอยู่บนบัลลังก์ที่เปื้อนเลือดได้"[19] จุดหนึ่งที่พระองค์ทรงไม่ยอมรับคือเมื่อคณะราษฎรส่งเรือปืนมาเพื่อนำตัวพระองค์ไปยังกรุงเทพมหานคร พระองค์ทรงปฏิเสธและเสด็จกลับไปยังพระนครโดยรถไฟหลวง อันแสดงให้เห็นว่าพระองค์มิได้ตกเป็นเชลยของคณะราษฎร[18]
ขณะเดียวกัน ผู้ก่อการได้บีบบังคับให้เจ้านายลงพระนามในเอกสารประกาศพันธกรณีเพื่อให้เกิดสันติภาพและหลีกเลี่ยงการหลั่งเลือดใด ๆ[18] ในกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับรัฐประหารอีกหลายครั้งที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา ที่ประชาชนแทบจะไม่มีท่าทีตอบสนองต่อรัฐประหารครั้งนี้เลย และชีวิตประจำวันของประชาชนได้กลับคืนสู่สภาพปกติก่อนที่จะจบวันที่ 24 มิถุนายนเสียอีก ส่วนที่เหลือของประเทศก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน[18] ทำให้หนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ในลอนดอนรายงานว่าการปฏิวัติดังกล่าวเป็นเพียง "การปรับปรุงใหม่เล็กน้อย" เท่านั้น[20]
การปกครองระบอบใหม่
เมื่อถึงช่วงเย็นของวันที่ 24 มิถุนายน ผู้ก่อการรู้สึกมั่นใจพอที่จะเรียกประชุมรัฐมนตรีอาวุโส ในการประชุมนั้น ปรีดีพยายามที่จะเกลี้ยกล่อมให้ข้าราชการพลเรือนอาวุโสสนับสนุนคณะราษฎร โดยขอการสนับสนุนคณะและบอกให้พวกเขายังคงสามัคคี มิฉะนั้นแล้วการแสดงออกซึ่งความสับสนอาจนำไปสู่การแทรกแซงจากต่างชาติได้[21] ปรีดีขอให้กระทรวงการต่างประเทศส่งข่าวไปยังคณะทูตต่างประเทศทั้งหมดโดยกล่าวว่าคณะราษฎรให้คำมั่นว่าจะคุ้มครองชีวิตและธุรกิจของชาวต่างชาติและบรรลุพันธกรณีตามสนธิสัญญาของสยาม[21]
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงกรุงเทพมหานครในวันที่ 26 มิถุนายน สิ่งที่พระองค์ทรงทำในทันทีคือการเรียกผู้ก่อการเข้าพบ เมื่อสมาชิกเข้ามาถึงห้องแล้ว พระองค์ทรงลุกขึ้นประทับยืนและตรัสทักทายว่า "ข้าพเจ้ายืนขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่คณะราษฎร" นี่เป็นพระราชอิริยาบถที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากในวัฒนธรรมสยาม พระมหากษัตริย์จะทรงประทับนั่งเสมอและประชาชนจะถวายบังคม มิใช่กลับกัน[20] ปรีดีจึงได้กราบทูลพระกรุณาจากพระองค์ที่ได้หมิ่นพระเกียรติในประกาศคณะราษฎร และหลังจากนั้น ประกาศคณะราษฎรทุกเล่มได้ถูกนำกลับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบสนองพฤติการณ์ดังกล่าวโดยการประทับตราบนเอกสารพระราชทานอภัยโทษแก่สมาชิกคณะราษฎรทุกคนจากการปฏิวัติดังกล่าว[20]
จากนั้นคณะราษฎรได้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดโดยยกเว้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ซึ่งทางคณะพิจารณาว่ามีพระราชอำนาจมากเกินไปและกราบทูลขอให้พระองค์เสด็จออกนอกประเทศแทน พระองค์เสด็จไปยังเกาะชวาและไม่เคยเสด็จกลับมาประเทศเลย ส่วนเจ้านายพระองค์อื่นเสด็จออกนอกประเทศโดยสมัครใจไปยังประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ และบางพระองค์เสด็จไปยังทวีปยุโรป[20][./การปฏิวัติสยาม_พ.ศ._2475#cite_note-FOOTNOTEStowe199122-20 [20]][22]
ผลที่ตามมาในทันทีหลังจากการปฏิวัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะราษฎรได้เริ่มจัดการเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ประชาชนชาวสยาม พระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวมีการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อเวลา 5.00 น. ซึ่งเป็นเอกสารร่างเขียนขึ้นล่วงหน้าไว้แล้วโดยปรีดี[23] ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม แม้ว่าจะยังเป็นเพียงฉบับชั่วคราวอยู่ก็ตาม ข้อความในรัฐธรรมนูญเริ่มต้นมาตรา 1 ความว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย" รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยยกเลิกพระราชอำนาจที่มีมาแต่โบราณ อาทิ พระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย การพระราชทานอภัยโทษ และพระราชสิทธิในการยืนยันผู้สืบราชสมบัติและรัชทายาท หรือจะกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวจำกัดอำนาจทั้งหมดของพระมหากษัตริย์ โดยยังมิได้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ไปเท่านั้น[24] รัฐธรรมนูญยังได้จัดตั้งคณะกรรมการราษฎรเป็นฝ่ายบริหาร และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาที่ได้มาจากการแต่งตั้ง 70 คน
อย่างไรก็ตาม "ประชาธิปไตย" สำหรับสยามนั้น ถูกมอบให้แก่ประชาชนในรูปของการผ่อน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นสามช่วง ช่วงแรก สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดจะถูกแต่งตั้งโดยสี่ทหารเสือเท่านั้น (ซึ่งเป็นฝ่ายทหาร) สมาชิกรัฐสภาเหล่านี้จะใช้อำนาจแทนประชาชน และสมัยแรกมีกำหนดวาระหกเดือน[24] ช่วงที่สอง อันเป็นช่วงเวลาซึ่งประชากรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้จำต้องเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง รัฐสภาจะถูกเปลี่ยนเป็นประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่กึ่งหนึ่ง และอีกกึ่งหนึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาตามแบบประชาธิปไตยทางอ้อม แต่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องได้รับการตรวจสอบจากคณะราษฎรก่อนการเลือกตั้งทุกครั้ง ช่วงที่สามและช่วงสุดท้าย พระราชบัญญัติธรรมนูญบัญญัติว่าการเป็นตัวแทนประชาธิปไตยเต็มตัวในรัฐสภานั้นจะบรรลุได้เฉพาะเมื่อเวลาผ่านไปแล้วสิบปีหรือประชากรมากกว่ากึ่งหนึ่งสำเร็จการศึกษาเกินกว่าระดับประถมศึกษา แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะเกิดก่อน[24]
สมัยประชุมแรกของรัฐสภาผู้แทนราษฎรประชุมกันในพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475[25] อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติธรรมนูญดังกล่าวก็ไม่ได้มีอายุยาวนานอะไรนัก เมื่อถึงปลายปีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและมีความเป็นสายกลางมากขึ้น[26] ก็ได้มีผลใช้บังคับแทนเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้คืนพระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์หลายประการจากเดิมที่เคยถูกจำกัดภายใต้พระราชบัญญัติธรรมนูญฉบับก่อน เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระมหากษัตริย์นั้น "ศักดิ์สิทธิ์และจะล่วงละเมิดมิได้" สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 156 คน เลือกตั้ง 76 คน และอีก 76 คนได้รับการแต่งตั้ง การจำกัดประชาธิปไตยถูกยกเลิกและรัฐบาลมีกำหนดจะจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476[27]
มรดก
แม้ว่าปรีดีจะมีอุดมการณ์อันสูงส่งและได้รับการศึกษาแบบตะวันตกมา แต่รูปแบบประชาธิปไตยของเขาได้เผชิญกับสถานการณ์ลำบากแบบเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเผชิญ ซึ่งเป็นปัญหาที่อธิบายได้ง่าย ๆ ว่า สยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในชนบท ยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย[24] ในไม่กี่วัน คณะราษฎรได้เปลี่ยนสยามไปเป็นรัฐพรรคการเมืองเดียว โดยมีสถาบันที่ชื่อฟังเหมือนคอมมิวนิสต์ อย่างเช่น "สภาประชาชน" และตำแหน่ง "ประธานคณะกรรมการราษฎร"[28] อย่างไรก็ตาม คณะราษฎรแสดงออกซึ่งความเป็นสองพรรคเมื่อพวกเขาเสนอให้แต่งตั้งทนายความและองคมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานคณะกรรมการราษฎรคนแรก หรือนายกรัฐมนตรีคนแรกของสยาม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะออกนอกปฏิบัตินิยมและความเฉลียวฉลาดมากกว่าเจตนาอันมีเกียรติที่แท้จริง[25] ทว่า ความขัดแย้งภายในระหว่างรัฐบาลกับการกระทำของนายกรัฐมนตรีอนุรักษนิยมได้นำไปสู่รัฐประหารอีกครั้งในอีกหนึ่งปีต่อมา คือ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 นำไปสู่การแต่งตั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สองของสยาม
การปฏิวัติดังกล่าวมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถูกจำกัดพระราชอำนาจและเอกสิทธิ์ที่มีมาแต่โบราณ แม้จะทรงได้รับถ้อยคำที่อบอุ่นและเป็นมิตร แต่พระองค์ก็ยังทรงอยู่ในความหวาดกลัวและทรงวิตกว่าการเผชิญหน้าระหว่างพระองค์กับคณะราษฎรในภายภาคหน้าจะทำให้พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีจะทรงได้รับอันตราย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2475 พระองค์ทรงมีลายพระหัตถเลขาถึงพระนัดดา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เกี่ยวกับการตัดสินพระทัยเสด็จกลับกรุงเทพมหานครว่า "... เราทั้งหมดต่างก็ค่อนข้างรู้ดีว่าเราอาจกำลังจะตาย"[19] บทบาทที่ไม่มั่นคงของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและความไม่พอใจต่อการยึดอำนาจของพระยาพหลพลพยุหเสนาลงเอยด้วยรัฐประหารซ้อน ที่เรียกว่า กบฏบวรเดช ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มนิยมเจ้าในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 นำโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และเจ้านายอีกหลายพระองค์ที่สูญเสียอิทธิพลและตำแหน่งไปยังถาวรเนื่องจากการปฏิวัติและคณะราษฎร กบฏดังกล่าวล้มเหลว และแม้จะไม่มีหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าแทรกแซง แต่การวางพระองค์เป็นกลางและการตัดสินพระทัยที่ไม่เด็ดขาดระหว่างความขัดแย้งช่วงสั้น ๆ นี้ทำให้พระองค์สูญเสียความเชื่อมั่นและบารมี ทำให้สามปีหลังการปฏิวัติ พระองค์ทรงสละราชสมบัติและเสด็จออกนอกประเทศโดยไม่เสด็จกลับมาอีกเลย[29]
หมุดคณะราษฎร
เพื่อเป็นที่ระลึกถึงจุดที่นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ประกาศเปลี่ยนระบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และอ่าน "ประกาศคณะราษฎร" ฉบับแรก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้มีการนำหมุดกลมสีทองเหลือง ฝังลงบนพื้น กลางถนน ระหว่างฐานของพระบรมรูปทรงม้าและประตูทางเข้า (อดีตเป็น) กองบัญชาการทหารสูงสุด หมุดทองเหลืองนี้จารึกว่า "24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"
จนกระทั่งเมื่อช่วงวันที่ 1-8 เมษายน 2560 ได้หายสาบสูญไปอย่างลึกลับ จนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบว่าหายไปอยู่ที่ใดหรือถูกทำลายไปแล้วหรือไม่ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2560 มีรายงานว่าหมุดคณะราษฎรถูกรื้อถอนไปจากตำแหน่างที่ตั้ง และถูกแทนที่ด้วย "หมุดหน้าใส" ที่สลักข้อความว่า 'ขอให้ประเทศสยามจงเจริญ ยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตรตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดีในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องคำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง' ข้อความดังกล่าวตรงกับคาถาภาษิตในพระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ได้จัดทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศในรัชกาลที่ 1
คลังภาพ
- หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์รายงานเหตุการณ์
- ทรัพยศาสตร์ หนังสือเล่มแรกของสยามเกี่ยวกับ เศรษฐกิจการเมือง
- เค้าโครงการเศรษฐกิจ พ.ศ. 2475 สมุดปกเหลืองและสมุดปกขาว ปฏิรูปเศรษฐกิจการเมือง
- หนังสือพิมพ์กรรมกร ผู้ก่อตั้งโดย ถวัติ ฤทธิเดช ปฏิรูปชนชั้นแรงงาน
อ้างอิง
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.