Loading AI tools
มหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาสมุทรแปซิฟิก (อังกฤษ: Pacific Ocean) เป็นมหาสมุทรที่ใหญ่และลึกที่สุดในโลก มีอาณาเขตติดกับมหาสมุทรอาร์กติกทางตอนเหนือและจรดทวีปแอนตาร์กติกาทางตอนใต้ ติดกับทวีปเอเชียและทวีปออสเตรเลียทางทิศตะวันตก ติดทวีปอเมริกาทางทิศตะวันออก
มหาสมุทรแปซิฟิก | |
---|---|
ภูมิศาสตร์ของมหาสมุทรแปซิฟิก | |
พิกัด | 0°N 160°W |
พื้นที่พื้นน้ำ | 165,000,000 ตารางกิโลเมตร (64,000,000 ตารางไมล์) |
ความลึกโดยเฉลี่ย | 4,280 เมตร (14,040 ฟุต) |
ความลึกสูงสุด | 10,911 เมตร (35,797 ฟุต) |
ปริมาณน้ำ | 710,000,000 km³ (170,000,000 cu mi) |
มหาสมุทรนี้มีพื้นที่กว่า 165,250,000 ตารางกิโลเมตรจึงกลายเป็นมหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลกครบคลุมพื้นที่ผิวโลกทั้งหมด 32% และคิดเป็น 46% ของพื้นผิวน้ำบนโลก นอกจากนี้มหาสมุทรแปซิฟิกยังมีขนาดมากกว่าพื้นดินทั้งหมดบนโลก (148,000,000 ตารางกิโลเมตร) รวมกันอีกด้วย[1] จุดศูนย์กลางของซีกโลกแห่งน้ำและซีกโลกตะวันตกล้วนอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก กระแสน้ำในมหาสมุทร (ที่เป็นผลจากแรงคอริออลิส) ถูกแบ่งออกเป็นส่วนส่วนซึ่งจะมาพบกันใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตร ทั้งนี้หมู่เกาะกาลาปาโกส หมู่เกาะกิลเบิร์ต และหมู่เกาะอื่น ๆ ที่คร่อมเส้นศูนย์สูตรทั้งหมดถือว่าอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้[2]
มหาสมุทรแปซิฟิกมีความลึกเฉลี่ยที่ 4,000 เมตร[3] มีจุดที่ลึกที่สุดคือแชลเลนเจอร์ดีปในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาโดยมีสถิติอยู่ที่ 10,928 เมตร[4] นอกจากนี้ยังมีจุดที่ลึกที่สุดในแปซิฟิกใต้อย่างฮอไรซันดีปในร่องลึกตองงาที่มีสถิติความลึกอยู่ที่ 10,882 เมตร[5] ส่วนจุดที่ลึกที่สุดในโลกเป็นอันดับสามก็ยังคงอยู่ในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา
เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน เป็นแรกที่ตั้งชื่อให้ว่า Mare Pacificum เป็นภาษาละติน แปลว่า peaceful sea ภาษาฝรั่งเศส pacifique (ปาซีฟีก) หมายถึง "สงบสุข" มหาสมุทรแปซิฟิกมีความเค็มประมาณ 33-37 ส่วนต่อพันส่วน กระแสน้ำที่สำคัญของมหาสมุทรแปซิฟิก คือ กระแสน้ำเย็นฮัมโบลต์ (เปรู) กระแสน้ำอุ่นศูนย์สูตร กระแสน้ำเย็นแคลิฟอร์เนีย กระแสน้ำอุ่นอะแลสกา และกระแสน้ำอุ่นคูโรชิโอะ (กุโรชิโว)
มหาสมุทรแปซิฟิกมีเกาะอยู่ประมาณ 25,000 เกาะ (มากกว่าเกาะในมหาสมุทรอื่น ๆ ที่เหลือรวมกัน) ส่วนใหญ่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร (แปซิฟิกใต้)
ริมมหาสมุทรประกอบด้วยทะเลจำนวนมาก ที่สำคัญ คือ ทะเลเซเลบีส ทะเลคอรัล ทะเลจีนตะวันออก ทะเลญี่ปุ่น ทะเลจีนใต้ ทะเลซูลู ทะเลแทสมัน และทะเลเหลือง ทางด้านตะวันตก ช่องแคบมะละกาเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย ส่วนทางด้านตะวันออก ช่องแคบมาเจลลันเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับ มหาสมุทรแอตแลนติก
ถึงแม้ว่าชาวเอเชียและชาวโอเชียเนียจะมีการเดินทางโยกย้ายผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่ว่าครั้งแรกที่ชาวยุโรปค้นพบคือช่วงต้นศตวรรษที่ 16 เมื่อนักสำรวจชาวสเปนบัสโก นูเญซ เด บัลโบอาข้ามคอคอดปานามาในปี 1513 และค้นพบ "ทะเลใต้" ที่กว้างใหญ่ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า Mar del Sur (ในภาษาสเปน) แต่ว่าชื่อแปซิฟิกนั้นมาจากเฟอร์ดินานด์ มาเจลลันที่ตั้งชื่อให้ว่า Mare Pacificum เมื่อเดินทางมาเจอกับทะเลที่สงบระหว่างเดินทางรอบโลกในปี ค.ศ. 1521[6]
ทะเลที่ใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรแปซิฟิก:[7][8]
การอพยพที่สำคัญในมหาสมุทรแปซิฟิกยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 3000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวออสโตรนีเซียนบนเกาะไตหวันที่เชี่ยวชาญการเดินทางไกลด้วยเรือแคนูได้เดินทางพร้อมเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไปยังฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและเกาะแก่งต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการแยกกันไปทางตะวันตกสู่มาดากัสการ์ ไปทางตะวันออกเฉียงใต้สู่เกาะนิวกินีและเมลานีเซีย (ผสมกับชาวปาปัวพื้นเมือง) และทางตะวันออกไปยังหมู่เกาะไมโครนีเซีย โอเชียเนียและโพลินีเซีย[9]
การค้าขายทางไกลได้พัฒนาตลอดแนวชายฝั่งตั้งแต่โมซัมบิกไปจนถึงญี่ปุ่น การค้าและความรู้จึงขยายไปยังหมู่เกาะอินโดนีเซีย แต่ดูเหมือนไม่ใช่ในออสเตรเลีย ในปี 219 ก่อนคริสตกาล ชู ฟูล่องเรือไปในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อค้นหายาอายุวัฒนะแห่งความเป็นอมตะ อย่างน้อยที่สุดใน ค.ศ. 878 เมื่อชาวมุสลิมตั้งถิ่นฐานในแคนตันการค้าส่วนใหญ่จึงถูกควบคุมโดยชาวอาหรับและชาวมุสลิม ตั้งแต่ ค.ศ. 1404 ถึง ค.ศ. 1433 เจิ้งเหอได้นำการเดินทางสู่มหาสมุทรอินเดีย
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
มหาสมุทรแปซิฟิกแยกทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลียและทวีปอเมริกาออกจากกัน เส้นศูนย์สูตรเป็นเส้นที่แบ่งมหาสมุทรแปซิฟิกออกเป็นแปซิฟิกเหนือและแปซิฟิกใต้ ทางเหนือติดภูมิภาคอาร์กติกส่วนทางใต้ติดแอนตาร์กติกา[1] มหาสมุทรแปซิฟิกครอบคลุมพื้นที่ถึง 1 ใน 3 ของพื้นผิวโลกและมีพื้นที่ 165,200,000 ตารางกิโลเมตรซึ่งใหญ่กว่าแผ่นดินทั้งหมดของโลก[10]
มหาสมุทรแปซิฟิกทอดตัวยาวลงมาตั้งแต่ทะเลแบริ่งในแถบอาร์กติกไปจนถึงเส้นขนานที่ 60 องศาใต้ซึ่งเป็นตอนเหนือของมหาสมุทรใต้ (ในอดีตมีพื้นที่ถึงทะเลรอสส์ในแอนตาร์กติกา) จุดที่มหาสมุทรแปซิฟิกมีขนาดแผ่นดินใหญ่ห่างกันที่สุดอยู่ที่เส้นขนานที่ 5 องศาเหนือโดยทอดยาวเป็นระยะทางครึ่งโลกหรือประมาณ 19,800 กิโลเมตรจากอินโดนีเซียไปยังชายฝั่งของโคลอมเบีย ซึ่งความยาวนี้ยาวกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ถึง 5 เท่า[11] จุดที่ลึกที่สุดคือร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาวัดได้ 10,911 เมตรใต้ระดับน้ำ ความลึกเฉลี่ยของแปซิฟิกคือ 4,280 เมตร มีปริมาณน้ำทั้งหมด 710,000,000 ลูกบาศก์กิโลเมตร[1]
จากผลกระทบของการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาคทำให้แปซิฟิกหดตัวลงประมาณ 2.5 เซนติเมตรต่อปี วัดจากทั้งสามด้านโดยเฉลี่ยประมาณ 0.52 กิโลเมตรต่อปีซึ่งตรงกันข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกที่ขยายใหญ่ขึ้น[12][13]
ทางตะวันตกติดกับทะเลใหญ่ ๆ มากมายเช่นทะเลเซเลบีส ทะเลคอรัล ทะเลจีนตะวันออก ทะเลฟิลิปปิน ทะเลญี่ปุ่น ทะเลจีนใต้ ทะเลซูลู ทะเลแทสมันและทะเลเหลือง แปซิฟิกติดกับมหาสมุทรอินเดียบริเวณช่องแคบมะละกาและแหลมทอเรส ติดแอตแลนติกบริเวณช่องแคบมาเจลลันและติดกับทะเลอาร์กติกบริเวณช่องแคบแบริ่ง[14]
เส้นเมริเดียนที่ 180 องศาแบ่งแปซิฟิกเป็นสองฝั่งแปซิฟิกตะวันตก (หรือแปซิฟิกใกล้เอเชีย) อยู่ในซีกโลกตะวันออกในขณะที่แปซิฟิกตะวันออก (หรือแปซิฟิกใกล้อเมริกา) อยู่ในซีกโลกตะวันตก[15]
ระหว่างการเดินทางของเฟอร์ดินานด์ มาเจลลันจากช่องแคบมาเจลลันมาฟิลิปปินส์เขาพบว่ามหาสมุทรนี้ค่อนข้างสงบ แต่ก็ไม่ได้สงบทุกที่เพราะมีพายุโซนร้อนจำนวนมากพัดปะทะหมู่เกาะและชายฝั่งของแปซิฟิก[16] บริเวณรอบชายฝั่งแปซิฟิกเต็มไปด้วยภูเขาไฟและมักได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว[17] สึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลได้พัดทำลายหมู่เกาะและเมืองเป็นจำนวนมาก[18]
พ.ศ. 2050 แผนที่ของมาติน วอดซีมึลเลอร์เป็นแผนที่แรกที่มีทวีปอเมริกาคั่นกลางระหว่างแปซิฟิกและแอตแลนติก[19] ต่อมาแผนที่ของดิโก ริเบย์โร พ.ศ. 2072 เป็นแผนที่แรกที่แสดงขนาดมหาสมุทรที่สมจริงขึ้น[20]
1 สถานะของไต้หวันและจีนยังมีความขัดแย้งกันอยู่
แปซิฟิกเป็นมหาสมุทรที่มีเกาะมากที่สุดในโลก มีการประมาณว่ามีเกาะทั้งหมด 25,000 เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก[21][22][23] เกาะในแปซิฟิกจะแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ คือไมโครนีเซีย เมลานีเซียและโปลินีเซีย
ไมโครนีเซียเป็นกลุ่มเกาะที่อยู่ทางเหนือของเส้นศูนย์สูตรและทางตะวันตกของเส้นแบ่งเขตวันสากล กลุ่มเกาะประกอบด้วยเกาะมาเรียนาทางตะวันตกเฉียงเหนือ เกาะคาโรไลน์ตรงกลาง หมู่เกาะมาร์แชลล์ทางทิศตะวันตกและหมู่เกาะของคิริบาสในตะวันออกเฉียงใต้[24][25]
เมลานีเซียอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประกอบด้วยเกาะนิวกินีซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากกรีนแลนด์และเป็นเกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะแปซิฟิก และยังมีกลุ่มเกาะบิสมาร์ก หมู่เกาะโซโลมอน หมู่เกาะซานตาครูซ วานูอาตู ฟีจีและนิวแคลิโดเนีย[26]
โปลินีเซียเป็นพื้นที่ ๆ ใหญ่ที่สุดซึ่งนับตั้งแต่หมู่เกาะฮาวายทางเหนือไปจนถึงนิวซีแลนด์ทางใต้และยังรวมตูวาลู โตเกเลา ซามัว ตองงาและหมู่เกาะเคอร์ดเด็คทางตะวันตก ตรงกลางมีหมู่เกาะคุก หมู่เกาะโซไซเอตีและหมู่เกาะออสแตส ทางตะวันออกมีหมู่เกาะมาร์เคซัส ตูอาโมตัส หมู่เกาะแกมบีเออรืและเกาะอีสเตอร์[27]
หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกมีสี่ประเภทคือเกาะริมทวีป เกาะสูง พืดหินปะการังและเกาะต่ำ เกาะริมทวีปเช่นกาะนิวกินี เกาะของนิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์เกาะเหล่านี้จะมีพื้นที่ใต้น้ำบางส่วนเชือมต่อกับทวีปใกล้เคียง เกาะสูงจะเป็นเกาะที่เกิดจากภูเขาไฟเช่นหมู่เกาะฮาวายและหมู่เกาะโซโลมอน[28]
พืดหินปะการังของแปซิฟิกมีโครงสร้างที่ต่ำซึ่งสร้างบนบะซอลต์ไหลใต้ทะเล หนึ่งในพืดหินปะการังที่น่าสนใจคือเกรตแบร์ริเออร์รีฟทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย เกาะต่ำเกิดมาจากปะการัง โดยอาจจะเกิดขึ้นเกิดจากการตกตะกอนหรือการยกตัวและทับทมของพืดหินปะการังเช่น เกาะบานาบาและเกาะมากาเตในตูอาโมตัสของเฟรนช์พอลินีเชีย[29][30]
แปซิฟิกมีน้ำทะเลประมาณ 714 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตรคิดเป็น 50.1% ของน้ำทะเลทั่วโลก[31] อุณหภูมิผิวน้ำมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันตามพื้นที่เช่นบริเวณขั้วโลกอาจเย็นถึง -1.4 องศาเซลเซียส ในขณะที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรอาจสูงถึง 30 องศา[32] ความเค็มของแปซิฟิกเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละเส้นขนานโดยความเค็มสูงคือ 37 ส่วนต่อพันในบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณเส้นศูนย์สูตรซึ่งความเค็มต่ำกว่า 34 ส่วนต่อพัน ส่วนเค็มสุดจะอยู่ทางเหนือเพราะมีอากาศหนาวเย็นทำให้มีการระเหยของน้ำน้อย[33] น้ำในแปซิฟิกเหนือจะไหลตามเข็มนาฬิกา ส่วนแปซิฟิกใต้จะไหลทวนเข็มนาฬิกา กระแสน้ำศูนย์สูตรเหนือจะไหลไปทางตะวันตกตามเส้นขนานที่ 15 องศาเหนือด้วยลมค้า และไหลขึ้นทิศเหนือบริเวณฟิลิปปินส์และกลางเป็นกระแสน้ำญี่ปุ่น[34] จากนั้นกระแสน้ำญี่ปุ่นจะไหลไปทางตะวันออกตามเส้นขนานที่ 45 องศาเหนือและกลายเป็นกระแสน้ำอะลูเชียน จากนั้นก็ไหลลงทิศใต้กลับกลายเป็นกระแสน้ำศูนย์สูตรเหนือตามเดิม[35]
สาขาเหนือของกระแสน้ำอะลูเชียนเมือเข้าใกล้ทวีปอเมริกาเหนือจะไหลหมุนทวนเข็มนาฬิกาในทะเลแบริ่ง ส่วนสาขาใต้จะกลายเป็นกระแสน้ำแคลิฟอร์เนียที่ไหลช้าและค่อนข้างเย็น[36] กระแสน้ำศูนย์สูตรใต้ไหลไปทางตะวันตกตามแนวศูนย์สูตรและเริ่มหันไปทางตะวันออกเฉียงใต้บริเวณเกาะนิวกินี และหันไปทางตะวันออกตามเส้นขนานที่ 50 องศาใต้และไหลกลับเป็นกระแสน้ำศูนย์สูตรใต้ตามเดิม กระแสน้ำเย็นขั้วโลกแอนตาร์กติกาเมื่อถึงชายฝั่งชิลีมีสาขาหนึ่งไหลไปรอบแหลมฮอร์น ส่วนอีกสาขาไหลไปเป็นกระแสน้ำฮุมโบลดท์[37]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.