มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ร.ว. ป.จ. ป.ช. ป.ม. ว.ม.ล. นามเดิม สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา (1 มกราคม พ.ศ. 2419 – 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486) นามปากกา ครูเทพ เป็นขุนนางชาวไทย เคยเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ และเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก ผู้วางรากฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ทั้งได้ร่วมดำริให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกของประเทศไทย คือ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย และยังเป็นผู้แปลกติกาฟุตบอลมาเผยแพร่ในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นนักประพันธ์ งานประพันธ์เลื่องชื่อ คือ เพลงกราวกีฬา และเพลงชาติไทยฉบับก่อนปัจจุบัน

ข้อมูลเบื้องต้น ประธานรัฐสภาไทย และ ประธานสภาผู้แทนราษฎร, กษัตริย์ ...
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
(สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
ประธานรัฐสภาไทย และ
ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ดำรงตำแหน่ง
28 มิถุนายน พ.ศ. 2475  1 กันยายน พ.ศ. 2475
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ถัดไปเจ้าพระยาพิชัยญาติ
ดำรงตำแหน่ง
15 ธันวาคม พ.ศ. 2476  26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าเจ้าพระยาพิชัยญาติ
ถัดไปพระยาศรยุทธเสนี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ
ดำรงตำแหน่ง
10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  16 ธันวาคม พ.ศ. 2476
นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณนิติธาดา
พระยาพหลพลพยุหเสนา
ก่อนหน้าตนเอง
(ในฐานะเสนาบดี)
ถัดไปพระยาพหลพลพยุหเสนา
เสนาบดีกระทรวงธรรมการ
ดำรงตำแหน่ง
19 เมษายน พ.ศ. 2459  3 สิงหาคม พ.ศ. 2469
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล)
ถัดไปพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต
ดำรงตำแหน่ง
1 กันยายน พ.ศ. 2475  10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต
ถัดไปตนเอง
(ในฐานะรัฐมนตรี)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบประเภทที่ 2 [lower-alpha 1]
ดำรงตำแหน่ง
9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 [1]  26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
สนั่น

1 มกราคม พ.ศ. 2419
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 (67 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสถวิล สาลักษณ
บุตร18 คน รวมถึงปรียา ฉิมโฉม
บุพการี
  • พระยาไชยสุรินทร์ (หม่อมหลวงเจียม เทพหัสดิน) (บิดา)
  • คุณหญิงอยู่ เทพหัสดิน ณ อยุธยา (มารดา)
ปิด

ปฐมวัยและการศึกษา

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เกิดที่บ้านหลังศาลเจ้าหัวเม็ด ตำบลสะพานหัน จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2419 (นับแบบปัจจุบันคือปี 2420)[ต้องการอ้างอิง] ตรงกับวันจันทร์ เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ ปีชวดเป็นบุตรคนที่ 18 จากบุตร-ธิดา 32 คนของพระยาไชยสุรินทร์ (หม่อมหลวงเจียม เทพหัสดิน) กับคุณหญิงอยู่ เทพหัสดิน ณ อยุธยา โดยพระยาไชยสุรินทร์ (หม่อมหลวงเจียม เทพหัสดิน) สืบสายตระกูลจากพระยาราชภักดี (หม่อมราชวงศ์ช้าง เทพหัสดิน) โอรสหม่อมเจ้าฉิม ในสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์

เมื่ออายุได้ 8 ขวบ ท่านบิดาก็ถึงแก่อนิจกรรม ชีวิตของท่านจึงผกผันจากการเป็นครอบครัวคนชั้นสูง จากการเป็นบุตรขุนนางชั้นผู้ใหญ่ (พระยาไชยสุรินทร์ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพระคลังข้างที่ในต้นรัชกาลที่ 5) ต้องมาช่วยมารดาทำสวน ค้าขายและรับจ้างเย็บรังดุมตั้งแต่ยังเด็ก ความยากลำบากทำให้ท่านมีความอดทนไม่ท้อถอยและมีอุปนิสัยอ่อนโยน มัธยัสถ์ ซึ่งเป็นสิ่งเกื้อหนุนให้ท่านมีความเจริญรุ่งเรืองในการศึกษาและการทำงาน

การศึกษา

เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข พระตำหนักสวนกุหลาบ และโรงเรียนสุนันทาลัย แล้วเข้าศึกษาต่อ ณ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ระหว่างปี พ.ศ. 2435 - 2437 ได้รับประกาศนียบัตรครู และสอบไล่ได้เป็นที่ 1 ของผู้สำเร็จวิชาครูชุดแรกและทำหน้าที่สอนประมาณ 2 ปี

  • พ.ศ. 2431 เมื่ออายุ 12 ปี เข้าเรียนประโยคหนึ่งที่โรงเรียนบพิตรพิมุข มีพระมหาหนอหรือขุนอนุกิจวิธูร (น้อย จุลลิธูร) เป็นครูคนแรก
  • พ.ศ. 2432 จบประโยคสอง โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเมื่ออายุ 12 ปี
  • พ.ศ. 2435 จบประโยคมัธยมศึกษาชั้น 5 ภาษาอังกฤษหลักสูตรหลวงโรงเรียนตัวอย่างสุนันทาลัยเข้าแล้วศึกษาในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ตั้ง โดยเป็นนักเรียนรุ่นแรกเพียง 3 คน สอบประกาศนียบัตรครูรุ่นแรกของกรมศึกษาธิการได้อันดับที่ 1 เมื่ออายุ 16 ปี แล้วทำหน้าที่เป็นนักเรียนสอนในกรมศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2437 เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์
  • พ.ศ. 2439 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม จึงได้เป็นนักเรียนทุนหลวงกระทรวงธรรมการไปศึกษาวิชาครูต่อที่ประเทศอังกฤษ ณ วิทยาลัยฝึกหัดครูเบอโรโรด (Borough Road College) ณ เมืองไอส์ลเวิซท์ (Isleworth) ทางใต้ของกรุงลอนดอน ภายใต้การดูแลของเซอร์ โรเบิร์ต มอแรน จบแล้วได้เดินทางไปดูงานด้านการศึกษาที่ประเทศอินเดียและพม่าเป็นเวลา 3 เดือน

ชีวิตการทำงานและผลงาน

Thumb
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีในวัยทำงาน
  • พ.ศ. 2441 จบการศึกษาและการดูงานกลับมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา 1 พรรษา โดยมีโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นอุปัชฌาย์
  • พ.ศ. 2442 กลับเข้ารับราชการกระทรวงธรรมการเมื่อวันที่ 9 มกราคม โดยเป็นครูสอนวิชาครูและคำนวณวิธีในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ก่อนเป็นพนักงานแต่งแบบเรียนประจำศาลาว่าการกรมศึกษาธิการ
  • 9 กันยายน พ.ศ. 2442 (พ.ศ. 2443 ในปัจจุบัน) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงไพศาลศิลปศาสตร์" ถือศักดินา 800 [2] รับหน้าที่เป็นเป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองตรวจกรมศึกษาธิการและทำหน้าที่สอนในขณะเดียวกัน
  • พ.ศ. 2444 จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียนประเภทอายุไม่เกิน 20 ปีเป็นครั้งแรกที่สนามหลวง โรงเรียนชนะเลิศจะได้รับโล่ไว้ครอบครองเป็นเวลาหนึ่งปี และการจารึกชื่อบนโล่เป็นเกียรติประวัติ เรียกว่า "การแข่งขันฟุตบอลชิงโล่ของกระทรวงธรรมการ"
  • พ.ศ. 2445 เดินทางไปดูงานการศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีผู้ร่วมเดินทางในครั้งนั้นคือ ขุนอนุกิจวิทูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และพระชำนิบรรณาคม (อ่อน สาริบุตร) โดยใช้เวลาดูงาน 72 วัน และในโอกาสนี้ ได้คอยเฝ้ารับเสด็จนิวัติประเทศสยามของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษแล้ว
  • พ.ศ. 2453 ร. 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม (ร.ศ. 129) เพื่อรับกระแสพระราชดำริเรื่องการวางแนวทางการจัดการศึกษาของชาติโดยมีพระราชดำริว่า
“ความเจริญแห่งประเทศบ้านเมืองในสมัยต่อไปนี้ที่จะเป็น ปึกแผ่นแน่นหนาได้แท้จริง ก็ด้วยอาศรัยศิลปวิทยาเป็นที่ตั้งหรือเปนรากเหง้าเค้ามูลจึงมีพระราชประสงค์จะทรงทำนุบำรุงการศึกษาของชาติบ้านเมืองให้รุ่งเรืองทันเขาอื่น”
การจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้วเสร็จเปิดสอนเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม
  • 4 มิถุนายน พ.ศ. 2454 รั้งตำแหน่งปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ[3]และเป็น “พระยาธรรมศักดิ์มนตรี”
  • พ.ศ. 2457 รั้งตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม อีกตำแหน่งหนึ่ง
    • เขียนบทความแสดงความคิดเห็นใน "หนังสือพิมพ์ล้อมรั้ว พ.ศ. 2457" เสนอให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยโดยใช้ที่ดินระหว่างสนามม้ากับถนนพญาไทและถนนพญาไทถึงคลองสวนหลวง ส่วนหนึ่งของบทความ
"มหาวิทยาลัยเป็นอาภรณ์สำหรับมหานครที่รุ่งเรืองแล้ว มหานครใดมีมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อเสียงสมจะอวดได้ ก็ย่อมเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติคุณของมหานครนั้น ก็ย่อมได้ชื่อเสียงปรากฏความรุ่งเรืองแผ่ไพศาลไปในทิศทั้งปวงด้วย"
  • พ.ศ. 2459 ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้รับพระราชทานยศเป็น “จางวางโท” และ “จางวางเอก” ในปีเดียวกัน
ในปีเดียวกันนี้ ได้มีพระราชหัตถ์เลขาพระราชทานเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีว่า
"ถึงพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้รับหนังสือลงวันที่ 21 เดือนนี้ หาฤๅเรื่องจะรวมโรงเรียนข้าราชการพลเรือนกับโรงเรียนแพทยาลัย ขึ้นเปนมหาวิทยาลัย และบรรจุตำแหน่งน่าที่ทางกระทรวงธรรมการนั้นทราบแล้ว ตามความเห็นที่ชี้แจงมานั้น เห็นชอบด้วยแล้วให้จัดการไปตามนี้”


ในปีเดียวกันนี้ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาฉบับแรกของประเทศ
  • พ.ศ. 2468 แต่งเพลงกราวกีฬา
  • พ.ศ. 2469 ลาออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญมาช่วยสอนในโรงเรียนสตรีจุลนาคซึ่งคุณไฉไล เทพหัสดิน ณ อยุธยา บุตรีลาออกจากครูโรงเรียนราชินีและโรงเรียนวชิราวุธมาจัดตั้งขึ้นที่บ้านหลานหลวง
  • พ.ศ. 2475 เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกในระบอบประชาธิปไตยระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 1 กันยายน และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการระหว่างวันที่ 1 กันยายน - 27 ธันวาคม
  • พ.ศ. 2476 รัฐสภามีมติเลือกกลับไปเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม และขอลาออกเมื่อวันที่ 6 เดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากเห็นว่าเหตุการณ์ในระยะนั้นไม่อาจรักษาความเป็นประชาธิปไตยตามครรลองที่ท่านคิดว่าควรเป็นไว้ได้ จึงลาออกมาพักผ่อนอยู่กับบ้านจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
  • พ.ศ. 2477 ก่อตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย และโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้ เชียงใหม่ (ดำเนินการในระหว่างเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2476)

งานด้านการศึกษา

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ประกอบกิจการทางการศึกษาอันเป็นคุณูปการไว้แก่ประเทศไว้มากมาย โดยเฉพาะในการวางรากฐานอย่างสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่การเป็นครู ผู้ตรวจการศึกษา เป็นเจ้ากรมราชบัณฑิต เจ้ากรมตรวจ ปลัดทูลฉลองจนถึงเสนาบดี โดยเริ่มนำเอาความรู้แผนใหม่เข้ามาในวงการครู เริ่มพัฒนาด้านพุทธิศึกษาอย่างจริงจัง เขียนตำรา เริ่มตั้งแต่ด้านสุขาภิบาลและสุขศึกษาสำหรับครอบครัว รวมทั้งเน้นด้านปลูกฝังธรรมจรรยาอย่างแท้จริง อบรมสั่งสอนให้คนมีคุณธรรมและจรรยามรรยาท จัดทำแบบสอน-อ่าน-เขียนด้านธรรมจริยาขึ้นใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ นำพลศึกษาและการกีฬาเข้ามาในโรงเรียนเพื่อสร้างลักษณะนิสัยให้เยาวชนรู้จักรู้แพ้ รู้ชนะ รู้จักอภัยซึ่งกันและกัน

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้จัดให้มีการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาทั่วถึงกันโดยท่านเชื่อว่า เมื่อให้มวลชนได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางแล้ว บุคคลที่มีความสามารถก็จะปรากฏขึ้นมาให้เห็นเอง ได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นทั่วประเทศรวมทั้งโรงเรียนประชาบาลเพื่อรองรับการจัดการศึกษาภาคบังคับ มีการเริ่มงานด้านหัตถศึกษา คือ นำเอาวิชาอาชีพต่าง ๆ เข้ามาสอนในโรงเรียน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทั้งด้านวิชาความรู้เพื่อไปรับราชการ และทางด้านวิชาชีพสำหรับผู้ที่ต้องการนำไปประกอบอาชีพทั่วไป ผลงานของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี อาจสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

  1. นำวิธีการจัดการศึกษาของต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเชียบางประเทศมาใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาของประเทศไทย
  2. เป็นกรรมการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนจนกระทั่งได้รับการสถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. เป็นกรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
  4. เป็นผู้ตรวจการลูกเสือมณฑลกรุงเทพฯ คนแรก
  5. เป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. โรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461
  6. เป็นผู้ดำเนินการเพื่อห้ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ประถมศึกษา พ.ศ. 2464
  7. ริเริ่มให้มีการฝึกหัดเล่นฟุตบอลในโรงเรียนและให้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียน
  8. ตั้งสามัคยาจารย์สมาคม เป็นผู้บรรยายวิชาครูและวิธีสอนที่สมาคมและที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์และเริ่มออกหนังสือ “วิทยาจารย์”
  9. ริเริ่มส่งเสริมวิชาช่างและหัตถกรรมเพื่อส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของการช่างสาขาต่าง ๆ และจัดตั้งโรงเรียนเพาะช่างขึ้นเพื่อรองรับและเพาะขยายศิลปะและการช่าง ซึ่งต่อมาได้แตกออกไปเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายและคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในภายหลัง
  10. ริเริ่มการศึกษาด้านเกษตรกรรมโดยการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแห่งแรก ขึ้นที่บริเวณหอวังหรือบ้านสวนหลวง สระปทุมเมื่อ พ.ศ. 2460 ได้จัดส่งนักเรียนทุนไปศึกษาเกษตรกรรมต่างประเทศและได้กลับมาเป็น “สามเสือเกษตร" เป็นฉายาที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ใช้เรียกแทน บุคคลทั้ง 3 คือหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ หลวงอิงคศรีกสิการ และพระช่วงเกษตรศิลปการ ภายหลังท่านเหล่านี้ล้วนมีคุณูปการต่อวงการเกษตร
  11. ด้านการค้าได้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนพาณิชยการขึ้นที่วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร

ด้านการประพันธ์

นอกจากปราชญ์ด้านการศึกษาแล้ว เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้รับการยกย่องเป็นนักประพันธ์คนสำคัญท่านหนึ่งของประเทศไทย ท่านได้แต่งตำราและหนังสือเป็นจำนวนมากซึ่งมีทั้งความเรียงร้อยแก้ว และบทร้อยกรอง ซึ่งอาจแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้

  • 1. แบบเรียน มีตั้งแต่แบบเรียนอนุบาล แบบเรียนวิชาครู ตรรกวิทยา เรขาคณิต พีชคณิต แบบสอนอ่านธรรมจริยา สุขาภิบาลสำหรับครอบครัว สมบัติผู้ดี และอื่น ๆ อีกมาก
  • 2. โคลงกลอน แต่งไว้เป็นจำนวนมาก และไดรับการรวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “โคลงกลอนของครูเทพ”
  • 3. บทความ ว่าด้วยการศึกษา จรรยา การสมาคม เศรษฐกิจและการเมือง และปรัชญา โดยใช้นามปากกาว่า “ครูเทพ” บ้าง “เขียวหวาน” บ้าง
  • 4. ละครพูด แต่งขึ้นรวม 4 เรื่อง ได้แก่ บ๋อยใหม่ แม่ศรีครัว หมั้นไว้ และตาเงาะ

ด้านดนตรี

ได้เป็นผู้ประพันธ์ “เพลงกราวกีฬา” ในนาม “ครูเทพ” เพื่อจูงใจให้นักกีฬารู้จักการแพ้ชนะและรู้จักการให้อภัย ทั้งนี้สืบเนื่องจากการการรณรงค์ให้มีการออกกำลังกายและการแข่งขันกีฬาในโรงเรียนทั่วประเทศ รวมทั้งการริเริ่มให้มีการแข่งขันฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาที่รุนแรง ซึ่งในเวลาต่อมาที่มักเกิดการวิวาทกันอยู่เนือง ๆ

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้เป็นผู้แต่งเนื้อร้องเพลงชาติโดยใช้ทำนองเพลงมหาฤกษ์มหาชัยเพื่อใช้เป็นเพลงประจำชาติชื่อ “เพลงชาติมหาชัย” อยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะเปลี่ยนใหม่โดยมีเนื้อร้องดังนี้

สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ

ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย

เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่

ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า”

นอกจากนี้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรียังได้แต่งเพลงชื่อ “คิดถึง” เมื่อ พ.ศ. 2477 (บันทึกเสียงครั้งแรก พ.ศ. 2494 โดยเฉลา ประสบศาสตร์)

ชีวิตครอบครัวและชีวิตในบั้นปลาย

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีมีพี่น้องร่วมและต่างมารดาที่ได้ทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองหลายท่านและหลายด้าน มีที่ทำคุณประโยชน์ด้านการศึกษาสองท่านคือ มหาอำมาตย์ตรี พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และพระยาวิทยาปรีชามาตย์ (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) รวมทั้งผู้มีศักดิ์เป็นหลานแต่อ่อนอายุกว่าเพียงปีเดียว ที่ทำคุณประโยชน์ด้านการทหารคือ พลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หัวหน้าคณะทูตทหารไทยที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1

ท่านได้สมรสกับท่านผู้หญิงถวิล ธิดาของมหาเสวกโท พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) กับคุณหญิงพึ่ง ศรีภูริปรีชา และมีภริยาอีก 4 คน มีบุตร-ธิดารวม 20 คน ได้อบรมสั่งสอนให้บุตร-ธิดาทุกคนให้มีความอดทนและมัธยัสถ์ สนับสนุนให้ทุกคนเรียนถึงชั้นสูงสุดเท่าที่มีความสามารถ และด้วยการมีส่วนผลักดันการศึกษาด้านการช่างและได้สนับสนุนให้มีการเปิดสอนวิชาสถาปัตยกรรมขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านจึงแนะนำให้บุตรี 2 คน สอบเข้าเรียนเป็นนิสิตรุ่นแรกในคณะนี้เป็นรุ่นแรกเพื่อแสดงให้เห็นว่าสตรีก็สามารถเป็นช่างได้

Thumb
โรงเรียนสตรีจุลนาค(ขวามือในรูป) และบ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี(ซ้าย)

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ถวายบังคมลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2469 มาอยู่ที่บ้านพักตำบลนางเลิ้ง หลานหลวง ถนนนครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร และช่วยบุตรีคือ คุณไฉไลเปิดโรงเรียนสตรีจุลนาค และได้ช่วยสอนโดยวิธีใหม่ที่ท่านพยายามเผยแพร่ด้วย ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเขียนบทความ หนังสือและบทประพันธ์ต่าง ๆ รวมทั้งบทเพลงดังที่กล่าวมาแล้ว บ้านพักของท่านที่ถนนนครสวรรค์สร้างขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับพระที่นั่งอนันตสมาคม แม้จะมีขนาดเล็กและเรียบง่ายแต่ก็มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น

บุตร-ธิดา

  • ไฉไล เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตครูใหญ่โรงเรียนสตรีจุลนาคและผู้อุปถัมภ์มูลนิธิเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2538
  • ธารี เทพหัสดิน ณ อยุธยา
  • ยาหยี สาวนายน สมรสกับ เล็ก สาวนายน โดยมีบุตรคือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  • กำธร เทพหัสดิน ณ อยุธยา สมรสกับ สายสวาสดิ์ ธรรมสโรช มีบุตรีคือ ผกาวดี เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ภายหลังเปลี่ยนเป็นอุตตโมทย์) เป็นผู้ประพันธ์ “ครูไหวใจร้าย” และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

แม้น เทพหัสดิน ณ อยุธยา

อสัญกรรม

Thumb
โกศเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ ตั้ง ณ บ้านพักที่ถนนนครสวรรค์

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ที่บ้านพัก ณ ถนนนครสวรรค์​ จังหวัดพระนคร[ต้องการอ้างอิง]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเขียนไว้ใน สาส์นสมเด็จ ว่า สาเหตุที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีหัวใจวาย คือ กิน "ยาฝรั่ง" มากเกินไป[4]

บรรดาศักดิ์

  • 21 กันยายน พ.ศ. 2446 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระไพศาลศิลปศาสตร์ ถือศักดินา 800[5]
  • 6 มกราคม พ.ศ. 2452 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาไพศาลศิลปศาสตร ถือศักดินา 1000[6]
  • 4 มิถุนายน พ.ศ. 2454 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาธรรมศักดิ์มนตรี สรรพศึกษาวิธียุโรปการ
  • 31 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ตามที่จารึกในหิรัญบัตร ว่า เจ้าพระยาธรรมศักดิมนตรี ศรีสาสนวโรปกร สุนทรธรรมจริยานุวาท พิศาสศิลปศาสตร์ศึกษาธิการโกศล พิมลพงศ์เทพหัสดิน บรมนรินทรรามาธิราชสวามิภักดิ์ เสมาธรรมจักรมุรธาธร ราชกิจจานุสรสุทธสมาจาร ไตรรัตนสรณาลังการเมตตาชวาธยศรัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ ศักดินา 10000 [7] เมื่ออายุได้เพียง 41 ปี

ยศ

ยศกรมมหาดเล็ก

  • จางวางเอก[8]

ยศกองเสือป่า

  • – นายหมู่โท
  • 3 มกราคม 2456 – นายหมู่ใหญ่[9]
  • นายกองตรี
  • นายกองโท[10]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ข้อมูลเบื้องต้น ธรรมเนียมยศของ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, การเรียน ...
ธรรมเนียมยศของ
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
การเรียนใต้เท้ากรุณา
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/ดิฉัน
การขานรับขอรับกระผม/เจ้าค่ะ
ปิด

ลำดับสาแหรก

ข้อมูลเพิ่มเติม ลำดับสาแหรกของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ...
ปิด

เชิงอรรถ

  1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดชั่วคราว ตั้งแต่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476

อ้างอิง

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.