ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สกล พันธุ์ยิ้ม (เกิด 31 มีนาคม พ.ศ. 2486 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2563) เกิดที่ตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ที่มีผลงานวิจัยดีเด่นในสาขาชีวเคมี อณูชีววิทยา พันธุศาสตร์ และพันธุวิศวกรรม เป็นเจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย สาขาชีวเคมี ประจำปี พ.ศ. 2528 และรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ประจำปี พ.ศ. 2549 เป็นนักวิจัยในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมผลิตกุ้งกุลาดำ ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2546 เป็นนักวิจัยของประเทศไทยที่ตีพิมพ์บทความซึ่งมีความถี่ของการอ้างอิงมากที่สุด จากผลงานวิจัยเรื่อง High Resolution Arylamide Gel Electrophoresis of Histones ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Biochemistry and Biophysics 130: 337-346 (1969) และได้รับการอ้างอิงสูงสุดมากกว่า 3,500 ครั้ง จัดเป็นบทความ Citation Classic จนได้รับรางวัลผลงานวิจัยเกียรติยศ สกว. เมื่อปี พ.ศ. 2542
อดีตศาสตราจารย์เกียรติคุณ สกล พันธุ์ยิ้ม เป็นอาจารย์อยู่ที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ศาสตราจารย์ สกล พันธุ์ยิ้ม หรือ ศาสตราจารย์ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของนายเจริญ และนางสอาด พันธุ์ยิ้ม สมรสกับนางพูนพันธ์ (อัตตะนันทน์) ธิดาของจอมพลเกรียงไกร อัตตะนันทน์ และคุณหญิงกานดา อัตตะนันทน์ มีบุตร 3 คน คือ นายธีรธร นายก่อพร และ นายธัชทร พันธุ์ยิ้ม
ตำแหน่งวิชาการ
- พ.ศ. 2514–2517 - อาจารย์โท คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2518–2520 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2521–2535 - รองศาสตราจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2535–2538 - ศาสตราจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2538–2563 - ศาสตราจารย์ ระดับ 11 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำแหน่งบริหาร
- พ.ศ. 2527–2531 - หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2532–2537 - รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2528–2542 - หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพันธุวิศวกรรมด้านจุลินทรีย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
- พ.ศ. 2537–2541 - ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2541–2546 - ผู้อำนวยการสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำแหน่งในสมาคมและองค์กรต่างๆ
- พ.ศ. 2529–2536 - กรรมการบริหารสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
- พ.ศ. 2533–2563 - คณะกรรมการบรรณาธิการวารสาร Southeast Asian Journal of Tropical Medicine and Public Health
- พ.ศ. 2535–2563 - คณะกรรมการบรรณาธิการวารสาร Asia–Pacific Journal of Molecular Biology and Biotechnology
- พ.ศ. 2538-2543 - ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาอณูพันธุศาสตร์และพันธุวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
- พ.ศ. 2543–2545 - กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเคมีและเภสัช
- พ.ศ. 2543–2546 - หัวหน้าโครงการพัฒนาบุคลากรด้านพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ สวทช.
- พ.ศ. 2543–2546 - ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพด้านจุลินทรีย์ ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ สวทช.
- พ.ศ. 2546–2563 - ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพด้านจุลินทรีย์ ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ สวทช.
- พ.ศ. 2546-2563 - อ.ก.ม. วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพคณาจารย์ในการทำวิจัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ. 2546–2563 - ที่ปรึกษาสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2545–2563 - ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารหลักสูตรปริญญาโท-ปริญญาเอก สาขาอณูพันธุศาสตร์และพันธุวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
- ได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษใน Gordon Research Conference ประเทศสหรัฐอเมริกา
- ได้รับเชิญเป็นกรรมการบริหารโครงการ Human Genome Project ของ UNESCO
- ศาสตราจารย์ ดร. สกล พันธุ์ยิ้ม ได้ทำการวิจัยด้านอณูชีววิทยา โดยมีผลงานเรื่อง การศึกษาโปรตีน histones และการหาวิธีจำแนกโปรตีนเหล่านี้ออกเป็น 5 ชนิดได้ด้วยการแยกโดยกระแสไฟฟ้า เป็นผลงานเด่นที่มีผู้นำไปใช้อ้างอิงมากกว่า 2,558 ครั้ง * ศาสตราจารย์ ดร. สกล พันธุ์ยิ้ม มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 167 เรื่อง โดยมีผู้นำไปอ้างอิงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากกว่า 4,673 ครั้ง
- ได้ศึกษาหาวิธีการจำแนกความหลายหลายของยุงก้นปล่องโดย DNA probe โดยการใช้วิธีการทางพันธุวิศวกรรม และพัฒนาขึ้นเป็น DNA probe สำหรับการตรวจหาและจำแนกสปีซีส์ของยุงก้นปล่อง โดยสามารถตรวจหาได้จากชิ้นส่วนของยุงหรือลูกน้ำ
- การค้นพบวิธีการตรวจหาเชื้อมาลาเรียจากเลือด โดยการตรวจสอบ DNA
- การศึกษายีนฆ่าลุกน้ำยุงจากแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis ซึ่งฆ่าลูกน้ำยุงอย่างจำเพาะโดยไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์
- การแยกและเพิ่มปริมาณของยีนสร้าง growth hormone เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของปลาบึก
- มีผลงานร่วมวิจัยศึกษาวิธีการสร้างลายพิมพ์ DNA ในคนและแบคทีเรีย จนได้วิธีจำแนกบุคคลจากลักษณะลายพิมพ์ DNA
- การศึกษาอณูชีววิทยาของไวรัส ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ไวรัสหัวเหลือง และไวรัสตัวแดงจุดขาว ซึ่งก่อโรคสำคัญในกุ้งกุลาดำ โดยศึกษาสารพันธุกรรมของไวรัส การบุกรุกเซลล์กุ้งของไวรัส การเพิ่มจำนวนไวรัสในเซลล์กุ้ง และการตอบสนองของเซลล์กุ้งต่อการบุกรุกของไวรัส เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจการติดเชื้อไวรัสของกุ้ง และการพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งปราศจากเชื้อไวรัสในอนาคต
- การศึกษาไวรัสในมะละกอ (Papaya Ringspot Virus) ศึกษากลไกการเกิดความสามารถต้านทานไวรัส เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกมะละกอที่ปราศจากโรคไวรัสในอนาคต
- การพัฒนาเทคโนโลยี SiRNA (small interference RNA) สำหรับเป็นวัคซีนป้องกันโรคไวรัสในกุ้ง เพื่อประโยชน์ในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้ง ป้องกันการเสียหายจากโรคไวรัสหัวเหลืองและโรคตัวแดงจุดขาว นอกจากนี้เทคโนโลยี SiRNA อาจจะพัฒนาขึ้นเป็นวัคซีนป้องกันไวรัสในสัตว์เศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย เช่น โรคปากเท้าเปื่อยในวัว ควาย โรคท้องร่วงในสุกร โรคไวรัสหวัดในไก่ เป็นต้น
- เมธีวิจัยอาวุโส สกว. 2546. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2546.
- เมธีวิจัยอาวุโส สกว. 2543. TRF Senior Research Scholar 2000. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2543.
- รวมงานวิจัยและผลงานตีพิมพ์[ลิงก์เสีย]