Loading AI tools
วิกฤตการเมืองไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 เป็นการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านพรรคพลังประชาชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 ซึ่งการชุมนุมยังคงมีเป้าหมายที่จะต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร
การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 | |||
---|---|---|---|
วันที่ | 25 พฤษภาคม - 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551 | ||
สถานที่ | กรุงเทพมหานครและปริมณฑล | ||
สาเหตุ |
| ||
เป้าหมาย |
| ||
วิธีการ |
| ||
ผล |
| ||
คู่ขัดแย้ง | |||
| |||
ผู้นำ | |||
ความเสียหาย | |||
เสียชีวิต | 8 คน | ||
บาดเจ็บ | 737 คน |
หลังจากรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำรัฐบาลบริหารประเทศมาระยะเวลาหนึ่ง กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เริ่มชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 28 มีนาคม โดยการจัดสัมมนาที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และประกาศชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม โดยเป็นการรวมตัวจากหลายองค์กรทั่วประเทศ ซึ่งมีจุดประสงค์ขับไล่ สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐบาลทั้งสองชุดถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับ ทักษิณ ชินวัตร
ในเดือนพฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เข้าปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อต่อรองกับนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งส่งผลให้เที่ยวบินทุกเที่ยวหยุดทำการ[1] เสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กล่าวว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสูญเสียรายได้ไปกว่า 350 ล้านบาท นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนส่งอากาศยานยังสูญเสียรายได้กว่า 25,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมความเสียหายของสายการบินต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง[2] ก่อนหน้านี้ ในเดือนสิงหาคม ผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานกระบี่ รวมทั้งปิดการเดินทางทางรถไฟสายใต้เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ลาออกมาแล้ว[3]
ภายหลังจากมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของ ยงยุทธ ติยะไพรัช เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ในวันรุ่งขึ้นแกนนำพันธมิตรฯ ได้ประกาศยุติการชุมนุมทั้งที่ทำเนียบรัฐบาลไทย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง[4]
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ | |
---|---|
29 มกราคม | สมัคร สุนทรเวชจัดตั้งรัฐบาลผสม และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 |
25 พฤษภาคม | กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และชุมนุมยื้ดเยื้อบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ |
5 มิถุนายน | กลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มยุทธศาสตร์ดาวกระจายโดยเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดและกระทรวงมหาดไทย |
20 มิถุนายน | ย้ายการชุมนุมมาที่หน้าทำเนียบรัฐบาล |
24 มิถุนายน | กลุ่มพันธมิตรฯ ต่อต้านแถลงการณ์ร่วมไทย–กัมพูชาโดยยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่สนับสนุนให้กัมพูชาเสนอชื่อปราสาทเขาพระวิหารให้ยูเนสโกพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก |
7 กรกฎาคม | กลุ่มพันธมิตรฯ ย้ายการชุมนุมกลับไปยังสะพานมัฆวานรังสรรค์ |
26 สิงหาคม | กลุ่มพันธมิตรฯ เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล ที่ทำการกระทรวง 3 แห่ง และสำนักงานใหญ่ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย, เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ |
27 สิงหาคม | ศาลชั้นต้นอนุมัติหมายจับ 9 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ |
2 กันยายน | เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปช. กับกลุ่มพันธมิตรฯ นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งมีผลถึงวันที่ 14 กันยายน |
9 กันยายน | ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมัคร สุนทรเวชสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี |
17 กันยายน | สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี |
6-7 ตุลาคม | กลุ่มพันธมิตรฯ ปิดล้อมอาคารรัฐสภา ตำรวจสลายการชุมนุม |
9 ตุลาคม | ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนหมายจับคดีกบฏ |
24-25 พฤศจิกายน | กลุ่มพันธมิตรฯ เข้ายึดพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ |
2 ธันวาคม | ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง |
3 ธันวาคม | กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศยุติการชุมนุม |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ |
พรรคการเมืองหลักที่เกี่ยวข้อง
|
การเมืองไทย • ประวัติศาสตร์ไทย |
ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ผลปรากฏว่า พรรคพลังประชาชนได้รับเลือกตั้งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กลุ่มพันธมิตรฯ) เปิดโอกาสให้รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เข้ามาทำงานบริหารประเทศ โดยมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลสมัครต้องไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและสื่อสารมวลชนทั้งทางตรงหรือทางอ้อม รวมทั้งไม่กระทำผิดเหมือนยุครัฐบาลทักษิณ[5]
ทว่า เมื่อรัฐบาลสมัคร สุนทรเวชเข้ามาบริหารประเทศได้ระยะเวลาหนึ่ง กลุ่มพันธมิตรฯ เห็นว่า รัฐบาลแทรกแซงสื่อมวลชน รวมทั้งกระบวนการยุติธรรม เช่นการย้ายข้าราชการในกระทรวงยุติธรรม อาทิ การย้ายสุนัย มโนมัยอุดม[6] อธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่กำลังดำเนินคดีต่อ ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ให้พ้นตำแหน่งอย่างเร่งด่วน พร้อมให้ตำรวจออกหมายจับ สุนัย มโนมัยอุดม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)[7] ในข้อหาหมิ่นประมาททักษิณ ชินวัตร และย้าย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง[8] ซึ่งมีความใกล้ชิดกับครอบครัวชินวัตร มารักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ[5] และรัฐบาลยังประกาศอย่างชัดเจนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 237 และมาตรา 309 ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา รวม 164 คน ได้ยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม[9] ซึ่งทางกลุ่มพันธมิตรฯ เห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการหลบเลี่ยงการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การยุบพรรคและต้องการยุบคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เพื่อตัดตอนคดีความที่กำลังดำเนินต่อทักษิณ ชินวัตร ครอบครัวและพวกพ้อง ตลอดจน ทำให้กระบวนการตรวจสอบนักการเมืองอ่อนแอลงจนไม่สามารถตรวจสอบฝ่ายการเมืองได้[10][11]
นอกจากนี้ ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ยังเห็นว่าได้เกิดขบวนการคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศน์ ของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อขับไล่ให้ออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี และจาบจ้วงอย่างเสียหาย[12] อีกทั้งรัฐมนตรีบางคนและโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี "มีทัศนคติเป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเข้าร่วมบริหารงานในรัฐบาล"[13]ซึ่งหมายถึง จักรภพ เพ็ญแข และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ดังนั้น อดีตแกนนำของกลุ่มพันธมิตรฯ จึงมีมติฟื้นสภาพโครงสร้างการบริหารงานของกลุ่มขึ้นอีกครั้ง เพื่อเตรียมชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายสมัคร และมีมติให้เคลื่อนไหวครั้งที่ 1 โดยการจัดสัมมนารายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน ภาคพิเศษ” ในวันที่ 28 มีนาคม[14] และอีกครั้งในรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน ภาคพิเศษ ครั้งที่ 2” ในวันศุกร์ที่ 25 เมษายน ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์[15] และประกาศจัดการชุมนุมใหญ่ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม เป็นต้นไป
หลังจากประกาศชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ทางกลุ่มพันธมิตรฯ มีมติเคลื่อนมวลชนไปหน้าทำเนียบรัฐบาลและปักหลักชุมนุมอย่างต่อเนื่อง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าปิดกั้น จึงทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ เปลี่ยนมาชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก แทน[16] โดยมีการตั้งเวทีและปิดการจราจรบางส่วน เพื่อรักษาความปลอดภัยของกลุ่มพันธมิตรฯ จากฝ่ายต่อต้านซึ่งเข้ามาก่อความวุ่นวาย[17] ซึ่งการปิดการจราจรในครั้งนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบและร้องเรียนมายังกองบังคับการตำรวจจราจรเป็นจำนวนมาก[18] โดยพลตรี จำลอง ศรีเมือง ได้กล่าวถึงการที่กลุ่มพันธมิตรฯ ต้องมาปักหลักบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์แทนทำเนียบรัฐบาลว่า "พวกตำรวจไม่รู้หรอกว่าผมรู้จักถนนนี้เป็นอย่างดี ผมจึงว่าสะพานมัฆวานฯ นั้นเป็นทำเลที่ดีกว่าทำเนียบรัฐบาลมาก" [19]
หลังการชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ผ่านไปได้ 5 วัน ในวันที่ 30 พฤษภาคม กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยกระดับการชุมนุมจากการชุมนุมเพื่อต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการขับไล่รัฐบาลสมัครแทน[20][21] เช้าวันต่อมา สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีว่าจะสลายการชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ แต่ก็ไม่มีการสลายการชุมนุม[22]
กลุ่มพันธมิตรฯ ปักหลักชุมนุมอยู่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์อยู่จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน จึงได้เคลื่อนการชุมนุมไปยังบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 กรกฎาคม ศาลแพ่งได้ตัดสินให้กลุ่มพันธมิตรฯ ต้องเปิดเส้นทางการจราจรบริเวณถนนพิษณุโลกและถนนพระราม 5[23][24] ดังนั้น กลุ่มพันธมิตรฯ จึงได้ย้ายเวทีและที่ชุมนุมไปเป็นที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์เช่นเดิม[23]
หลังจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรผ่านไปได้ 27 วัน ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลนายสมัคร ดังนั้น กลุ่มพันธมิตรฯ จึงประกาศเคลื่อนการชุมนุมไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 20 มิถุนายน โดยจะไม่เข้าไปในทำเนียบรัฐบาลและใช้แนวสันติวิธีปราศจากอาวุธ[25]
วันที่ 20 มิถุนายน 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ สามารถฝ่าแนวสกัดกั้นของตำรวจและเข้ายึดพื้นที่การชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ มีการตั้งเวทีปราศรัยบริเวณแยกนางเลิ้ง [26][27]
อย่างไรก็ตาม การเดินทางมาชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น มีการปิดถนนบริเวณ ถนนพระรามที่ 5 บริเวณแยกเบญจมบพิตร ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกนางเลิ้งจนถึงแยกพาณิชยการ ซึ่งกลุ่มอาจารย์โรงเรียนราชวินิตมัธยมได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้กลุ่มพันธมิตรเปิดเส้นทางการจราจร ทำให้ศาลแพ่งตัดสินให้กลุ่มพันธมิตรฯ ต้องเปิดเส้นทางการจราจรบริเวณถนนพิษณุโลกและถนนพระราม 5 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม[23][24] ดังนั้น กลุ่มพันธมิตรฯ จึงตัดสินใจย้ายเวทีและที่ชุมนุมกลับไปเป็นที่บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ดังเดิม
วันที่ 26 สิงหาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ เดินทางไปสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและพังประตูเข้าไป โดยอ้างว่าต้องการทวงคืนสื่อของรัฐที่ทำหน้าที่ไม่เป็นกลางโดยมี วัชระ เพชรทอง เป็นแกนนำ ตั้งแต่เวลา 8.30 น. สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยงดออกอากาศเพราะถูกกลุ่มพันธมิตรฯ กดดัน โดยเจ้าหน้าที่ในสถานีฯ รายงานว่ามีการใช้อาวุธปืนสั้นจี้ด้วย[28][29] และในวันที่ 27 ตุลาคม 2551 กลุ่มพันธมิตร จังหวัดพิษณุโลก ยื่นหนังสือต่อ ดวงมาลย์ ศรีกิจวิไลกุล ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดพิษณุโลก ให้ทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ และ นปช. ร่วมกันออกรายการความจริงวันนี้[30]
ต่อมา กลุ่มพันธมิตรฯ ใช้ "ปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า" เพื่อเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล[31] โดยให้เหตุผลในการเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลในครั้งนี้ว่า ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ถือว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมแล้ว จึงไม่ต้องมีการประชุมคณะรัฐมนตรีอีกต่อไป[32] มีการบุกยึดทำเนียบรัฐบาลเริ่มตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 26 สิงหาคม และเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จในวันเดียวกันนั้นเอง ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯ จะใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุมตลอดไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะ[33] หลังจากนั้น รัฐบาลไม่สามารถเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีภายในทำเนียบรัฐบาลได้จวบจนถึงรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์
ต่อมา ศาลแพ่งมีคำสั่งชั่วคราวให้กลุ่มพันธมิตรฯ รื้อถอนเวทีปราศรัยและสิ่งกีดขวางอื่น ๆ ออกจากทำเนียบรัฐบาล และเปิดถนนพิษณุโลก ถนนราชดำเนินทุกช่องการจราจร [34] อย่างไรก็ตาม แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งคุ้มครองของศาลชั้นต้นดังกล่าว[35]
ภายหลังการเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งใช้เป็นที่ทำการทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 24–25 พฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นสถานที่ชุมนุมนอกเหนือจากบริเวณทำเนียบรัฐบาล จนกระทั่ง วันที่ 1 ธันวาคม พลตรี จำลอง ศรีเมือง ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาลย้ายการชุมนุมไปที่ท่าอากาศยานทั้งสองแทน เนื่องจากได้ผลมากกว่าและมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมากกว่า รวมทั้งเพื่อเปิดเส้นทางเสด็จฯ เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 5 ธันวาคม กลุ่มพันธมิตรฯ ใช้พื้นที่ชุมนุมบริเวณท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจนกระทั่งประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 3 ธันวาคม[36][37][38]
วันที่ 5 มิถุนายน กลุ่มพันธมิตรฯ ใช้แผน "ดาวกระจาย" ซึ่ง สุริยะใส กตะศิลา เคยกล่าวว่า จะจัดมวลชนเป็นกลุ่ม ๆ ไปทวงถามความคืบหน้าในหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเอาผิดระบอบทักษิณ โดยสถานที่ที่คาดว่าจะไป ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กระทรวงมหาดไทย และทำเนียบรัฐบาลไทย[39] ยุทธศาสตร์ดาวกระจายนี้กลุ่มพันธมิตรฯ เคยใช้มาตั้งแต่การชุมนุมในปี 2549 ซึ่งนับเป็นกลไกหนึ่งของการบริหารจัดการ เพื่อให้ผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนไหวบ้าง ไม่ให้รู้สึกว่านิ่งเกินไป เงื่อนไขหลักของยุทธศาสตร์ดาวกระจายอยู่ที่การควบคุมผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นเรื่องประสบการณ์ที่กลุ่มพันธมิตรฯ เคยพิสูจน์มาแล้วในครั้งนั้นโดยไม่มีการปะทะหรือต้องเสียเลือดเนื้อ[40]
วันนั้น สุริยะใส กตะศิลาและผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 300 คนเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด แล้วยื่นจดหมายถึง ศาตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เพื่อทวงถามความคืบหน้าการสั่งฟ้องคดีทุจริตของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวก[41] นอกจากนี้ ยังได้เคลื่อนขบวนมุ่งหน้าสู่ กระทรวงมหาดไทย เพื่อยื่นหนังสือถึง ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ดูแลและแก้ปัญหาของประชาชนมากกว่าการโต้ตอบทางการเมือง[42] ซึ่งการดาวกระจายครั้งนี้เป็นไปตามคำแนะนำจากนักธุรกิจและนักวิชาการที่เข้าร่วมกับพันธมิตรฯ ว่า ต้องมีการเคลื่อนไหวกดดันเพื่อทวงถามความคืบหน้าในคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเกรงว่าจะมีความล่าช้าจนเกิดการแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรม โดยมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว คือ กรณีของสุนัย มโนมัยอุดม[43] เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งถูก สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นสั่งโยกย้าย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551[44]
โดยจุดมุ่งหมายของยุทธศาสตร์ดาวกระจายมักจะมุ่งเน้นเรื่องที่เกี่ยวกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นส่วนใหญ่ ได้แก่
วันพุธที่ 18 มิถุนายน 2551 ได้เคลื่อนขบวนไปชุมนุมหน้ากระทรวงการต่างประเทศเพื่อขับไล่นพดล ปัทมะ ให้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเพื่อยื่นหนังสือทวงถามกรณีข้อพิพาทเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร เนื่องจากไม่ยอมเปิดเผยแผนที่ให้ประชาชนได้รับรู้ หลังจากตกลงร่วมกับประเทศกัมพูชาไปก่อนหน้านี้[52][53][54]
ต่อมาในวันที่ 17 กรกฎาคม 2551 นาย สนธิ ลิ้มทองกุลได้เปิดคลิปพระสุรเสียงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยไม่ได้ระบุว่าได้มาได้อย่างไรสร้างความตกใจให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะข้าราชการทหารตำรวจ[55]
นอกจากนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ยังเคลื่อนขบวนไปตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น การดาวกระจายไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องให้ประธาน กกต. ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบคำร้องทุจริตเลือกตั้งที่ถูกยกกว่า 700 คดี และให้ตรวจคำแถลงปิดคดีใบแดง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” ด้วยตัวเอง รวมทั้ง ยังให้กำลังใจ กกต. 3 คน คือ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง และนายสุเมธ อุปนิสากร กรรมการการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรฯ ยังกล่าวว่า นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้งอีกคนหนึ่ง มีพฤติกรรมที่แสดงออกเข้าข้างพรรคพลังประชาชนในทุกกรณี ตลอดจนอยู่ในฐานะที่กำกับดูแลเรื่องฝ่ายสืบสวนสอบสวนที่บังอาจนำเสนอหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลฎีกานั้น ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งโดยทันที,[56] การดาวกระจายไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อทวงถามความคืบหน้าของคดีความที่มีคนในรัฐบาลเป็นผู้ต้องหาที่ยังคั่งค้างอยู่ รวมถึงสอบถามความคืบหน้าของคดีความที่เกี่ยวกับกลุ่มพันธมิตรฯ,[57][58][59] การดาวกระจายไปยังอาคารสำนักงานใหญ่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อทวงคืน ปตท. จากตลาดหลักทรัพย์กลับคืนสู่ประชาชน[60] เป็นต้น
ในการเคลื่อนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ไปยังบริเวณทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนนั้น กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ใช้ชื่อการเคลื่อนการชุมนุมครั้งนี้ว่า "ยุทธการสงคราม 9 ทัพ" โดยได้กำหนดให้เคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมไปใน 9 เส้นทาง โดยใช้ถนนรอบทำเนียบรัฐบาล ได้แก่
ซึ่งการเคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมในแต่ละจุดนั้น แกนนำพันธมิตรฯ ได้แก่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย และผศ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จะประจำอยู่ตามแต่ละจุดซึ่งไม่มีการเปิดเผยและจะใช้วิธีการรุกคืบไปเป็นระยะ ๆ โดยกำหนดเวลาการเคลื่อนขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมในแต่ละจุดจะไม่การกำหนดเวลาที่ตายตัว แต่จะปล่อยให้เป็นอิสระของแกนนำแต่ละจุดที่จะเป็นผู้กำหนดและตัดสินใจเอง [61][62]
กลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มเคลื่อนขบวนปิดล้อมที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับไล่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช [63] ซึ่งขบวนผู้ชุมนุมภายใต้การควบคุมของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง สามารถฝ่าการสกัดกั้นของตำรวจเข้ายึดพื้นที่แยกนางเลิ้งสำเร็จ พร้อมประกาศจะเคลื่อนขบวนเข้าพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลในส่วนขบวนของนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ได้เคลื่อนขบวนถึงบริเวณแยกวังแดงใกล้คุรุสภา[64] ด้าน นปก. ได้นำกลุ่มผู้ชุมนุมของตนและกลุ่มจักรยานยนต์ปักหลักชุมนุมที่ ถนนราชดำเนินนอกหวังกดดันให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยุติการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล ขณะที่การจราจรบริเวณรอบถนนราชดำเนินนอกเป็นอัมพาต[65] เวลาต่อมา ขบวนของนายสมศักดิ์ โกศัยสุขสามารถฝ่าด่านของตำรวจที่สกัดไว้บริเวณแยกมิสกวันและมุ่งหน้านำกลุ่มผู้ชุมนุมไปสมทบกับกลุ่มของพลตรีจำลองที่แยกนางเลิ้งจนสำเร็จ[66] จนกระทั่ง เวลาประมาณ 15.30 น. พันธมิตรจึงประกาศชัยชนะในการยึดพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ[67]
การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ในการเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม นั้นใช้ชื่อว่า "ปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า" โดยแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศว่าปฏิบัติการครั้งนี้เป็นสงครามครั้งสุดท้ายไม่ชนะไม่เลิก ซึ่งเวลาในการเคลื่อนขบวนนั้นจะไม่ระบุจนกว่าอีก 1 ชั่วโมงจะเคลื่อนขบวน โดยได้เตรียมทัพหน้า ทัพหลวง ทัพน้อย และ ทัพพิสดาร เอาไว้ และการปฏิบัติการครั้งนี้จะใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน แต่หากไม่สำเร็จก็ได้เตรียมแผนสำรองไว้แล้ว [68]
สำหรับปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า แกนนำพันธมิตรฯ ได้แบ่งมวลชนออกเป็นหลายส่วน โดยแกนนำพันธมิตรฯ ส่วนหนึ่งได้ใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจายโดยนำมวลชนกระจายไปตามสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่ สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และอีกส่วนหนึ่งจะอยู่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์และโดยรอบทำเนียบรัฐบาล ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้เริ่มเข้าปิดล้อมบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล ทั้งด้านถนนพิษณุโลกและฝั่งกระทรวงศึกษาธิการ ด้านสะพานอรทัย บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐและด้านสะพานเทวกรรมรังรักษ์ ตั้งแต่เช้ามืด[69] และปิดล้อมประตูเข้า-ออกทำเนียบรัฐบาลทั้ง 8 ประตู ในช่วงบ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมได้พังประตูเหล็กด้านตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการและทยอยเดินเท้าจากสะพานมัฆวานรังสรรค์เข้าไปรวมตัวกันบริเวณสนามหญ้าด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งผู้ชุมนุมบางส่วนได้ปีนเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลทางสะพานชมัยมรุเชษด้วย หลังจากนั้น แกนนำพันธมิตรฯ ที่เคลื่อนขบวนโดยใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจายเริ่มทะยอยเข้าสู่ทำเนียบและประกาศชัยชนะที่สามารถเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ[70][71][72]
แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ มีมติให้จัดการชุมนุมใหญ่อีกครั้งโดยเรียกว่า ม้วนเดียวจบ ปฏิบัติการเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ขึ้นเวทีขอแรงจากกลุ่มผู้ชุมนุมให้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลในเวลา 04.00 น. เพื่อจะกระจายตัวไปตามที่ต่าง ๆ ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งยังไม่เป็นที่เปิดเผยว่าจะให้ทำอะไรบ้าง แต่ก่อนหน้านั้นได้มีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเดินทางไปยังสนามบินดอนเมือง และเข้ายึดพื้นที่ของสนามบินเพื่อไม่ให้คณะรัฐมนตรีใช้สถานที่เป็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้
ต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรฯ ประมาณ 1,000 คน เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่ง โดยมีการตั้งแถวสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 200 - 300 นาย แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่เกรงว่าจะเกิดความรุนแรงจึงได้ถอยร่นมาเรื่อย ๆ จนถึงตัวอาคารและทำการชุมนุมอยู่ด้านนอกอาคารผู้โดยสาร ผู้ชุมนุมได้ทยอยเดินทางเข้ามาสมทบมากขึ้นประมาณ 20,000 คน[73] ทำให้การเดินทางทางอากาศไปสู่ท่าอากาศยานนานาชาติอื่น ๆ ต้องหยุดลงและสายการบินที่มีกำหนดลงจอด ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องไปลงจอด ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภาแทน
นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศหยุดทำการบินเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน หลังจากนั้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง พร้อมกันนี้ได้ออกคำสั่งปลด พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. เนื่องจากไม่สามารถจัดการกับการชุมนุมได้และแต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติเป็นผู้รักษาการแทน
ต่อมา พลตรี จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ออกหนังสือเปิดผนึกถึงนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับการขึ้นลงของเครื่องบิน ขอให้เปิดท่าอากาศยานและทำการบิน โดยการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลการขึ้นลงเครื่องบินและดูแลรักษาความปลอดภัยของเครื่องบินเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของนายเสรีรัตน์[74]
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์มติชน ยังรายงานว่า แกนนำพันธมิตรฯ ได้เรียกชื่อปฏิบัติการในครั้งนี้ว่า "ปฏิบัติการฮิโระชิมะ" (26 พฤศจิกายน) และในวันรุ่งขึ้น (27 พฤศจิกายน) เรียกว่า "ปฏิบัติการนะงะซะกิ" ด้วยเช่นกัน[75]
สาเหตุหนึ่งที่นำมาสู่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในครั้งนี้ คือ การที่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ปล่อยให้รัฐบาลกัมพูชายื่นเรื่องให้เขาพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว โดยปราศจากการเข้าร่วมยื่นบริเวณรอบเขาพระวิหารจากฝ่ายไทย อันเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเสียอธิปไตยของชาติ ซึ่งกลุ่มพันธมิตรได้ออกแถลงการณ์ไว้ในแถลงการณ์ฉบับที่ 8/2551 ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม[76]
หลังจากนั้น ในวันที่ 24 มิถุนายน นายสุวัตร อภัยภักดิ์ พร้อมด้วยนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ และคณะ รวม 9 คน เป็นตัวแทนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม. ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่สนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลกจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด เนื่องจากพบว่าแผนผังที่ร่างโดยกัมพูชาล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยไม่น้อยกว่า 4.6 ตารางกิโลเมตร ตามแผนที่ฝ่ายไทยที่ยึดถือตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2505 หลังคำตัดสินของศาลโลก ทั้งยังจะสละสิทธิในข้อสงวนที่ไทยจะทวงปราสาทเขาพระวิหารกลับคืนมาในอนาคต และการดำเนินการของผู้เกี่ยวข้องไม่ดำเนินตามขั้นตอนทางกฎหมาย[77]
นอกจากนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ยังได้รวบรวมรายชื่อผู้คัดค้านการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลกได้จำนวน 9,488 รายชื่อ และได้มอบรายชื่อให้หม่อมหลวง วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน โดยยอดรวมรายชื่อผู้ที่คัดค้านการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารมีจำนวนทั้งหมด 33,400 รายชื่อ ซึ่งภายหลังจากการรับมอบรายชื่อจากแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ แล้ว หม่อมหลวง วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์ ได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องนี้ต่อนาย จุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย[78]
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ในการสนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลกไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน เป็นต้นไป[79][80][81]
จากนั้นในวันที่ 14 กรกฎาคม แกนนำพันธมิตรฯ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อให้ไต่สวนดำเนินคดีกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ นายทหาร และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีที่อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยเหนือพื้นที่ทับซ้อนบริเวณรอบ ๆ ปราสาทพระวิหาร[82]
วันที่ 6 ตุลาคม หลังจากที่ผู้ชุมนุมจากจังหวัดต่าง ๆ ได้ทยอยสู่ที่ชุมนุมแล้ว เวลาประมาณ 20.30 น. บนเวทีแกนนำพันธมิตรได้ขึ้นเวที และประกาศขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังหน้าอาคารรัฐสภาทำการปิดล้อม เพื่อไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบายได้ในวันที่ 7 ตุลาคม
เช้าวันที่ 7 ตุลาคม ตำรวจจึงได้ระดมยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปิดล้อมอาคารรัฐสภา เพื่อให้รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์แถลงนโยบายตามกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน ได้คว่ำบาตรการแถลงนโยบายครั้งนี้โดยไม่เข้าร่วมประชุม หลังจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายเสร็จแล้ว ได้เดินทางออกจากรัฐสภาไปยังกองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อหารือกับผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพถึงสถานการณ์
ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาอีกชุดเพื่อเปิดทางให้ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งยังคงติดอยู่ภายในอาคารรัฐสภาออกไปได้ ผู้ชุมนุมพยายามจะเข้าไปในพื้นที่ บชน. แม้ว่าตำรวจจะประกาศห้ามแล้ว จึงมีการยิงแก๊สน้ำตาสกัดกั้นที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลและลานพระบรมรูปทรงม้า ต่อมาภายหลังมีผู้ได้รับบาดเจ็บจนถึงขาขาดเพิ่มขึ้นอีก 2 ราย ทราบชื่อได้แก่ นาย ตี๋ แซ่เดียว[83]และ นาย บัญชา บุญเหล็ก ซึ่งต้องตรวจสอบต่อไปว่าเกิดจากแก๊สน้ำตาหรือระเบิดปิงปองที่นำมาเองจากผู้ชุมนุมด้วยกัน ในเหตุการณ์ครั้งนี้ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 11 นายจากการโดนแทงคอด้วยด้ามธง และโดนรถของผู้ชุมนุมวิ่งเข้าชน รวมถึงถูกยิงด้วยลูกเหล็กและหัวน็อต[84]
รวมยอดผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 381 ราย เสียชีวิต 2 ราย พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี และ อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ มีผู้ทุพพลภาพ 2 รายได้แก่ นาย เสถียร ทับมะลิผล[85]เสียชีวิตวันที่ 14 กรกฎาคม 2555 และ นาง รุ่งทิวา ธาตุนิยม เสียชีวิตวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559[86] หลังจากนั้นไม่นาน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สังคมหลายภาคส่วนได้ประณามการกระทำของตำรวจครั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์การปะทะกัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานหน่วยพยาบาลเพื่อให้ทำการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนสามแสนบาทแก่โรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อเป็นการค่าใช้จ่ายในการรักษา[87]
เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ มีมติให้จัดงานเทิดพระเกียรติและร่วมกันแสดงความจงรักภักดีถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ สะพานมัฆวานรังสรรค์[88] เช่นเดียวกับในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ได้มีมติให้ยกเลิกการปราศรัยทางการเมืองบนเวที ตั้งแต่วันที่ 14 - 17 พฤศจิกายน และเปิดถนนราชดำเนินนอก โดยในคืนวันที่ 15 พฤศจิกายน อันเป็นวันพระราชทานเพลิงพระศพ ทางแกนนำพันธมิตรฯ ได้ทำพิธีสักการะและน้อมส่งเสด็จฯ สู่สวรรคาลัย[89] [90]
หลังจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม [91] พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 27/2551 ประกาศยุติการชุมนุมซึ่งใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยถึง 193 วัน เนื่องจากการชุมนุมได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ คือ
โดยกลุ่มพันธมิตรฯได้กล่าวถึงผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ว่า แสดงให้เห็นว่าการได้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมานั้นไม่ใช่วิถีทางของประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการได้มาซึ่งอำนาจด้วยการทุจริตการเลือกตั้ง และเป็นบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯนั้นเป็นความถูกต้องชอบธรรมเป็นที่ประจักษ์ ดังนั้น จึงขอประกาศยุติการชุมนุมทั้งที่ทำเนียบรัฐบาลไทย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551[92][93]
บทความนี้อาจต้องปรับปรุงให้มีมุมมองที่เป็นกลาง เนื่องจากนำเสนอมุมมองเพียงด้านเดียว ดูหน้าอภิปรายประกอบ โปรดอย่านำป้ายออกจนกว่าจะมีข้อสรุป |
กลุ่มพันธมิตรฯ มีคดีความที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในระหว่างการชุมนุมรวมทั้งสิ้น 36 คดี อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงในส่วนของคดีอาญาในการดำเนินการกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในคดีก่อการร้ายนั้นมีการตั้งข้อสังเกตว่าล่าช้ามาก (ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือการสั่งเลื่อนฟ้องร้องของพนักงานอัยการ 18 ครั้ง[94])ใช้เวลาทำสำนวนคดีถึง 5 ปี[95]ก่อนที่จะส่งฟ้องในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556[96]
โดยจะเห็นได้ว่ากลุ่มแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่มีใครเลยที่ต้องเข้าเรือนจำแม้แต่วันเดียวในข้อหาก่อการร้าย[97][98]
ในส่วนคดีก่อการร้ายยึดทำเนียบรัฐบาลปรากฏว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ให้จำคุกแกนนำพันธมิตร 6 รายเป็นเวลา 8 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีอยู่ระหว่างรอคำตัดสินศาลฎีกา[99]ใช้เวลา 9 ปี จึงจะมีคำสั่งศาลอุทธรณ์
ความล่าช้านี้นำมาสู่วาทะแห่งปีของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ประจำปี พ.ศ. 2551 วาทะ "ม็อบมีเส้น"[100]ของ พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นโดยกล่าวในสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ความตอนหนึ่งว่า “ทุกคนทราบดีว่าพันธมิตรฯ ชุมนุมมา 6 เดือน และใช้เสรีภาพอย่างผิดกฎหมาย ทุกคนก็ทราบดีว่าม็อบนี้เป็นม็อบมีเส้น เพราะหากเป็นม็อบธรรมดา เรื่องจบไปนานแล้ว” ซึ่งขณะนั้นสื่อมวลชนและประชาชนส่วนหนึ่งเข้าใจได้ว่า เส้นนั้นหมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เนื่องจากทรงเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพ อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551 และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ความตอนนึงว่า น้องโบว์เป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันกษัตริย์[101]แม้ว่า พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ไม่ได้กล่าวพาดพิงบุคคลใด
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554 นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ได้ถูกจำคุก โดยตำรวจได้ฝากขังตามประมวญกฎหมายอาญา มาตรา 135/1[102] อันเป็นความผิดฐานก่อการร้าย ก่อนออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554 หลังมีคำสั่งศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว [103] ซึ่งเท่ากับว่าแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ถูกเข้าเรือนจำในข้อหาก่อการร้ายเพียงคนเดียว และ เพียง 8 วัน จากที่ตำรวจฝากขัง 12 วัน ส่วน นายสมบูรณ์ ทองบุราณ ไม่ถูกจำคุกด้วยข้อหาก่อการร้าย ภายหลังจากการเข้าเรือนจำนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ได้เปิดเผยว่าเข้าได้พบ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อและได้พูดคุยเพื่อปรึกษาวางแผนการชุมนุมล้มรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ[104] ต่อมานายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ออกมาปฏิเสธ[105] โดยคดีความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่สำคัญ
หลังจากเหตุการณ์บุกเข้าใช้ทำเนียบรัฐบาลเพื่อใช้เป็นสถานที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในวันที่ 27 สิงหาคม องค์คณะผู้พิพากษาศาลอาญาไต่สวนคำร้องขออนุมัติออกหมายจับและได้อนุมัติออกหมายจับ 9 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้แก่ สนธิ ลิ้มทองกุล, พลตรีจำลอง ศรีเมือง, พิภพ ธงไชย, สมศักดิ์ โกศัยสุข, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สุริยะใส กตะศิลา, เทิดภูมิ ใจดี, อมร อมรรัตนานนท์ และ ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ โดยระบุว่า ผู้ต้องหาที่ 1-9 ใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, ผู้ใดสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการ หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี มาตรา 114, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกแล้วไม่เลิก ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 215 และ 216[106]
ต่อมา ในวันที่ 3 ตุลาคม ขณะที่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ที่ถูกหมายจับข้อหาเป็นกบฏได้เดินทางไปที่บ้านของนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เพื่อผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าและเดินทางกลับด้วยรถยนต์ส่วนตัว ได้ถูก พ.ต.อ.ปรีชา ธิมามนตรี เข้าจับกุมตัวและนำตัวไปกักขังไว้ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 คลอง 5 ปทุมธานี [107] [108] ถัดมา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม โดยนำไปควบคุมตัวที่เดียวกับนายไชยวัฒน์ แต่ พล.ต.จำลองแสดงความจำนงว่าไม่ต้องการประกันตัวเช่นเดียวกับนายไชยวัฒน์[109] [110]
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับข้อหากบฏ 9 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและข้อหาซ่องสุมกำลัง โดยที่ศาลได้ให้เหตุผลในการถอนหมายจับว่าเป็นการตั้งข้อหาเลื่อนลอย แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงให้หมายจับข้อหาผู้ใดกระทำการเพื่อให้เกิดการปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี มาตรา 116 ข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกแล้วไม่เลิก ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 215 และ 216 [111] ในวันเดียวกันนี้ ศาลยังได้อนุมัติให้ พลตรี จำลอง ศรีเมือง และนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ประกันตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข[112]คดีนี้เป็นตามคดีหมายเลขดำ อ. 4925/2556 และ คดีหมายเลขดำ อ.276/2556
ในส่วนคดีก่อการร้ายยึดทำเนียบรัฐบาลปรากฏว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ให้จำคุกแกนนำพันธมิตร ได้แก่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นาย สนธิ ลิ้มทองกุล นาย พิภพ ธงไชย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นาย สมศักดิ์ โกศัยสุข และนาย สุริยะใส กตะศิลา เป็นเวลา 8 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีอยู่ระหว่างรอคำตัดสินศาลฎีกา[113]ใช้เวลา 9 ปีจึงจะมีคำสั่งศาลอุทธรณ์
ศาลลงโทษจำคุกนักรบศรีวิชัยของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสูงสุด 6 เดือน 8 เดือน 9 เดือน 1 ปี 1 ปี 4 เดือน 1 ปี 6 เดือน 2 ปี สูงสุด 2 ปี 6 เดือน ปรับสูงสุด 1,500 บาท[114]
ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561 ศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีอาญาหมายดำที่ อ.1033/2561 ในคดีที่กลุ่มพันธมิตรประมาณ 10 ราย บุกรุกสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็น บี ที โดยบุกรุกระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ถึง 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551[115]ในคำฟ้องระบุค่าเสียหายรวมค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 612,198.80 บาท
นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรียังเข้าแจ้งความต่อแกนนำพันธมิตร 6 คนที่ร่วมกันบุกรุกทำเนียบรัฐบาลทำให้สวนหย่อมด้านหน้าเสียหาย เป็นมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท ซึ่งคดีกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา[116]
ศาลอาญามีคำสั่ง จำคุก 5 การ์ดพันธมิตร ในข้อหามีอาวุธปืนและระเบิด เพื่อใช้ข่มขู่บังคับพนักงานรถเมล์และผู้โดยสารรถเมล์ให้ไปยังรัฐสภาโดยร่วมกันใช้อาวุธจี้ มีความผิด ฐานร่วมกันข่มขืนใจและกักขังหน่วงเหนี่ยว มีอาวุธปืนและระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้ในที่สาธารณะ รวมจำคุก 2 ปี ปรับ 66 บาท และฐานมีวิทยุสื่อสารในโดยไม่ได้รับอนุญาต (คนเดียว)รวมจำคุก 2 ปี ปรับเพิ่มอีก 2,000 บาท ผู้ต้องหาขอประกันตัวและยื่นต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอนุญาต[117]
การบุกยึดท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตรส่งผลให้ถูกดำเนินคดีความโดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
คดีการบุกรุกท่าอากาศยานดอนเมือง โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ รุ่น 1 และ 2 รวมทั้ง ผู้ประกาศเอเอสทีวีที่ร่วมดำเนินรายการเวทีปราศรัย รวม 27 คน ใน 4 ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา 116 , 215 , 216 ที่มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปกระทำการใด ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร โดยเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และมาตรา 364 ที่บุกรุกสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น ซึ่งโทษสูงสุดอยู่ที่มาตรา 116 คือ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
ส่วนคดีบุกรุกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ รุ่น 1 และ 2 รวมทั้งผู้ประกาศเอเอสทีวี ที่ร่วมดำเนินรายการเวทีปราศรัย รวม 25 คน ใน 7 ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา 116 , 215 , 216 และ 364 ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกับสำนวนบุกรุกท่าอากาศยานดอนเมือง ส่วนข้อหาที่เพิ่มขึ้นมาอีก 3 ข้อหา ตามพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2546[118] ในมาตรา 135/1, 135/2, 135/3, 135/4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 โดยมีโทษสูงสุด คือ ประหารชีวิต[119]
ปัจจุบันคดีนี้ยังไม่แล้วเสร็จโดยอัยการได้ทำการเลื่อนฟ้อง 18 ครั้ง[120]ก่อนที่จะส่งฟ้องในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556[121]สำนวนคดีมี 8 สำนวนได้แก่ อ.973/2556 , อ.1087/2556[122] , อ.1204/2556 , อ.1279 /2556 , อ.1361/2556[123] , อ.1406/2556 , อ.1522/2556 และ อ.1559/2556[124]
แม้เหตุการณ์การบุกยึดท่าอากาศยานในประเทศไทย พ.ศ. 2551 จะผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่คดีความหมายคดีหมายดำที่ อ.973/2556 ยังอยู่ในระหว่างสืบพยานโจทก์[125]
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ได้ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวก รวม 14 คน กรณีนำกลุ่มพันธมิตรฯ ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองโดยเรียกค่าเสียหายจำนวน 103,483,141.80 บาท จากนั้นวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2552 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 36 คน ในข้อหาความผิดละเมิดเรียกค่าเสียหาย 575,229,059 บาท[126] ในส่วน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องเมื่อ พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ศาลแพ่งได้ตัดสินให้แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ 13 คน ชดใช้ค่าเสียหายทั้งกายภาพและทางพาณิชย์ 522,160,947.31 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าทนายความโจทก์ 8 หมื่นบาท นับจากวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551 คดีจบลงในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560 เนื่องจากศาลฎีกายกคำร้อง[127]ส่งผลให้แกนนำกลุ่มพันธมิตรต้องชดใช้เงินเฉลี่ยคนละ 40,166,226.72 ล้านบาท
โดยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ตนได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา พร้อมทั้งยื่นฎีกาต่อศาลในคดีดังกล่าวแล้ว โดยอ้างเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในขณะที่นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฏีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฏีกา โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า จากการตรวจสอบทราบว่า คดีดังกล่าวถึงที่สิ้นสุดแล้วตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
คดีทางแพ่งจบลงเมื่อศาลฎีกาไม่ยอมรับคำร้องฎีกาของจำเลย ผลที่ตามมาคือพันธมิตรแพ้ในคดีนี้ และกรมบังคับคดีได้อายัดทรัพย์บัญชีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทั้งหมด 13 รายใน พ.ศ. 2561[128] เฉพาะคดีแพ่งใช้เวลากว่า 10 ปี
ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากความเครียดสะสม และต้องชุมนุมท่ามกลางสายฝนติดต่อกันหลายคืน โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลสาวของพันธมิตรรายหนึ่ง เปิดเผยว่า พันธมิตรได้เพิ่มเต็นท์พยาบาลเป็น 5 จุด ในทำเนียบ มีบริเวณด้านหน้าตึกสันติไมตรี บริเวณประตู 7 ขณะที่ภายนอกมี 3 จุด เรียงรายตั้งแต่สะพานมัฆวานไปจนถึงแยกมิสกวัน ทั้งนี้ยาส่วนใหญ่ที่ผู้ชุมนุมมาขอ มักเป็นยาแก้เจ็บคอ หรือยาแก้ไข้ เนื่องจากตากฝนหลายวัน ขณะที่วานนี้เริ่มมีผู้ชุมนุมมาขอยาแก้ท้องเสียเป็นจำนวนมาก โดยมีอยู่รายหนึ่งถึงกับต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ทั้งนี้ไม่ทราบว่ามาจากอาหารที่พันธมิตรแจกจ่ายหรือไม่ นอกจากนี้ ยาแก้แพ้ก็มีคนมาขอเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหญ้าหน้าสนามไทยคู่ฟ้าเริ่มเน่า ทั้งนี้ ยาที่หน่วยพยาบาลได้แจกจ่ายให้กับผู้ชุมนุมมากที่สุดคือยาดม เพราะผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุ[129]
หลังจากเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ยุติลง นพ.เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้สรุปยอดผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยมีจำนวนผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 737 ราย เสียชีวิต 8 ราย[130] โดยกลุ่มผู้ชุมนุม พธม. เสียชีวิต 7 ราย และกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. เสียชีวิต 1 ราย[130]
รายชื่อผู้เสียชีวิตได้แก่ น.ส. อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ พ.ต.ท. เมธี ชาติมนตรี นาย เจนกิจ กลัดสาคร นาย ยุทธพงษ์ เสมอภาค น.ส. กมลวรรณ หมื่นหนู นาย รณชัย ไชยศรี ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2551 สมเลิศ เกษมสุขปราการ หัวใจล้มเหลวขณะชุมนุม ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2551 สมชาย ศรีประจันต์ ถูกตำรวจยิงด้วยอาวุธปืนเสียชีวิตที่เขตมีนบุรี
ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 นาย เศรษฐา เจียมกิจวัฒนา เสียชีวิตเนื่องจากถูกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ฆ่าที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศศิธร เชยโสภณ ประสบอุบัติเหตุตกจากรถปิกอัพขณะชุมนุมเสียชีวิตในวันที่ 6 ธันวาคม 2551 ที่โรงพยาบาลมิชชั่น
ทุพพลภาพเนื่องจากเหตุการณ์นี้และเสียชีวิต ในภายหลัง นาง รุ่งทิวา ธาตุนิยม เสียชีวิต 5 กันยายน 2559 นาย เสถียร ทับมะลิผล เสียชีวิต วันที่ 14 กรกฎาคม 2555
ประเสริฐ แก้วกระโทก ถูกกลุ่ม นปช. ทำร้ายร่างกายที่ ถนนวิภาวดีซอย 3[131]เสียชีวิตใน พ.ศ. 2557
โดยใน พ.ศ. 2564 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสรุปจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 13 ราย[132]
กลุ่มนปช. เสียชีวิต 2 รายได้แก่ ณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง ส่วน นาย ประสิทธิ์ จันทร์เต็มดวง เสียชีวิต 18 กุมภาพันธ์ 2558[133]
จากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ บริเวณถนนราชดำเนินนั้น รัฐบาลมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเจรจาเพื่อให้กลุ่มพันธมิตรฯ ย้ายสถานที่ชุมนุมไปอยู่ในที่ที่ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งการชุมนุมเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้แต่การชุมนุมที่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นนั้นไม่ควรกระทำและการชุมนุมนั้นส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ต่างประเทศระงับการลงทุนเพราะไม่สามารถเชื่อมั่นในการลงทุนได้[134] นอกจากนี้ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าหากการประท้วงดังกล่าวประสบความสำเร็จในการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ก็จะสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ ทำลายโอกาสของงานและเงินที่ควรจะได้จากการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติ[135] รวมทั้ง กลุ่ม ส.ส. และอดีต ส.ส. พรรคพลังประชาชน ยังได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยุติการชุมนุมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสายตานานาชาติและเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของประเทศ[136]
ต่อมา นายจักรภพ เพ็ญแข ที่โดนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการหมิ่นเบื้องสูงอยู่ในขณะนั้นได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ซึ่งนายจักรภพหวังว่าการลาออกในครั้งนี้จะทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยุติการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันรัฐบาล [137] อย่างไรก็ตาม กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ประกาศยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่รัฐบาลนายสมัครแทน นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จึงประกาศจะสลายการชุมนุมด้วยกำลังตำรวจและทหารผ่านทางรายการพิเศษทางช่อง 9 และ NBT แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
หลังจากเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปช. กับกลุ่มพันธมิตรฯ ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมจากกลุ่ม นปช. เสียชีวิต 1 คน ได้แก่ นาย ณรงศักดิ์ กรอบไธสง เสียชีวิตภายหลังได้แก่ นาย ประสิทธิ์ จันทร์เต็มดวง[138]เสียชีวิตในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558[139]รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในเขตกรุงเทพมหานคร จนกระทั่ง วันที่ 14 กันยายน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้ร่วมกันแถลงยกเลิกประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมกันนี้นายสมชายยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เพื่อยุติความรุนแรงและความขัดแย้ง [140]
วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2551 พนักงานเดินรถไฟการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยสหภาพท่าเรือ สหภาพการบินไทย สหภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สหภาพการประปาและสหภาพขสมก. นัดหยุดงานเพื่อกดดันให้รัฐบาลลาออก ขณะเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรฯ จังหวัดภูเก็ต สงขลา และกระบี่ ร่วมกันปิดสนามบินภูเก็ต หาดใหญ่ และกระบี่ งดเที่ยวบินขึ้น-ลง ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ มีผลให้ผู้ที่กำลังเดินทางขึ้นเครื่องบินต้องกลับไปยังที่พักเพื่อรอดูสถานการณ์ [141]
วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551 กลุ่ม 40 ส.ว.ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ชุมนุมกันอย่างสันติ จากนั้นเรียกร้องให้เลื่อนการประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม หลังจากรัฐบาลสั่งให้สลายการชุมนุม และได้ประท้วงด้วยการไม่เข้าร่วมประชุมรัฐสภา เนื่องจากไม่ต้องการเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการแถลงนโยบายของรัฐบาล ขณะที่ประชาชนถูกทำร้ายอยู่หน้ารัฐสภา รวมถึงการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในปัญหาความรุนแรงดังกล่าว และเรียกร้องทุกภาคส่วนทั้งในและนอกประเทศร่วมกันกดดันรัฐบาลไทย ให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน รวมทั้งยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลโดยทันที ตลอดจนเรียกร้องให้สอบสวน และดำเนินการทางกฎหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย ฉะนั้น ในฐานะที่ OHCHR เป็นหน่วยงานสำคัญขององค์การสหประชาชาติที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเป็นสำนักเลขาธิการของคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กลุ่ม 40 ส.ว.จึงขอเรียกร้องให้ OHCHR ใช้ความพยายามในการกระทำอย่างเหมาะสมเพื่อหยุดยั้งและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย[142]
วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551 สภาทนายความได้ออกแถลงการณ์สภาทนายความ เรื่องอำนาจพนักงานสอบสวนที่ขัดรัฐธรรมนูญและขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่า ด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จากกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีที่กล่าวหาแกนนำ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นกบฏและข้ออื่น ๆ เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่เหลื่อมล้ำและไม่ชอบธรรมกับประชาชนที่สุจริต ซึ่งเรื่องนี้สภาทนายความไม่คัดค้านให้ความเห็นแย้งมาโดยตลอดว่ากระบวนการ ใช้อำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่พนักงานสอบสวนมักอ้างเสมอว่าจะขออำนาจศาลให้คุมตัวผู้ต้องหา เป็นกรณีที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมและขัดกับหลักกฎหมายโดยชัดแจ้ง สภาทนายความจึงขอแถลงการณ์มาเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโปรดพิจารณาไตร่ตรอง และดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้สมจริงตามหลักนิติธรรมและมาตรฐานสากลทั่วโลก 7 ข้อ[143]
ในคืนวันที่ 19 มิถุนายน กลุ่มต่อต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติได้เคลื่อนขบวนจากสนามหลวงมาหยุดอยู่ที่บริเวณสี่แยก จ.ป.ร. และเผชิญหน้ากับตอนท้ายขบวนของพันธมิตรฯ โดยยังไม่มีเหตุปะทะกัน ด้านตำรวจได้จับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง[144][145]
จากนั้น วันจันทร์ที่ 1 กันยายน กลุ่มนปช.จำนานหลายพันคนบุกผ่านแยกจปร.และหน้าสถานีตำรวจนางเลิ้งเข้าปะทะกับการ์ดของฝ่ายพันธมิตร โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ห้ามปราม โดยอ้างว่าต้องการจะยึดทำเนียบคืน จึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกันทหารจากกองทัพภาคที่ 1 ได้เสริมกำลังด้วยโล่ และกระบองมากั้นระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย
วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ที่สนามหลวงก็มีการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งก็เป็นไปอย่างสงบเช่นเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้ แกนนำ นปช.ได้ปราศรัยถึงการทำหน้าที่ของตำรวจในการสลายการชุมนุมว่าถูกต้องแล้ว ขณะเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ที่จะบุกยึดทำเนียบรัฐบาลคืนมา[146]
วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เรียกร้องให้เกิดการเจรจาตกลงกันทุกฝ่าย[147]
วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ดร.ดิสธร วัชโรทัย ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวที่ ศูนย์การประชุมในชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท ต.สะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร ใจความว่า ถ้ารักในหลวงให้อยู่ชุมพร ไม่ต้องไปที่อื่น รักในหลวงให้อยู่บ้าน รักในหลวงให้กลับบ้าน คุณไปแสดงพลังตรงนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย รังแต่จะทำให้เกิดความแตกแยก ผมกล้าพูดตรงนี้เพราะผมเป็นตัวจริงเสียงจริงนะครับ รับพระราชกระแสมาเองว่า พวกเราต้องขยาย ทำอย่างไรให้เขาทราบว่า เรามีหน้าที่และทำหน้าที่อะไร ผมไม่ได้เข้าข้างใคร ผมไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก ผมรู้อย่างเดียวว่า ผมอยู่พรรคในหลวง และพรรคนี้ใหญ่โตมาก[148] การแสดงออกดังกล่าวถูกตีความอย่างกว้างขวางว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่พอพระทัยการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 เนื่องจาก ขณะนั้น ดร.ดิสธร วัชโรทัย ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ราชการบริหารส่วนกลาง[149]
รัฐบาลของประเทศ จีน, ฝรั่งเศส, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่น ต่างได้เตือนพลเมืองของประเทศให้หลีกเลี่ยงที่จะเดินทางมายังประเทศไทย และหลีกเลี่ยงผู้ชุมนุมที่สนามบิน[150]
สหภาพยุโรป ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกไปจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองอย่างสงบ และกล่าวว่าผลกระทบจากการชุมนุมประท้วง ทำให้มีผู้โดยสารตกค้างถึงกว่า 100,000 คน กำลังทำให้ภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศไทยเสียหายอย่างมาก[151][152]
กอร์ดอน ดูกิด โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "การปิดสนามบินไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องในการประท้วง และพันธมิตรฯ ควรเดินออกจากสนามบินอย่างสงบ"[153][154]
การปิดถนนกีดขวางการจราจรบริเวณถนนราชดำเนินนอก เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้นส่งผลให้การจราจรติดขัดทุกเส้นทางโดยรอบ[155] และยังได้รับความเดือดร้อนจากการที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ย้ายมาชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลซึ่งได้ปิดถนนพระราม 5 แยกวัดเบญจมบพิตร ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกนางเลิ้งถึงแยกพาณิชยการ ที่เป็นทางสาธารณะและได้ตั้งเวทีปราศรัยบริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์
อีกทั้งการปราศรัยผ่านเครื่องกระจายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้รบกวนโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียงจนต้องยื่นฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ โดยกลุ่มอาจารย์ คณะกรรมการนักเรียน และผู้ปกครองโรงเรียนราชวินิตมัธยม ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ต่อพลตรีจำลอง ศรีเมือง กับพวกรวม 6 คน กรณีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ปิดถนนพระราม 5 บริเวณแยกเบญจมบพิตร ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกนางเลิ้งจนถึงแยกพาณิชยการ โดยนักเรียนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จากการทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการทำละเมิด จึงขอให้ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยย้ายสถานที่ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีการนัดพร้อมคู่ความในวันที่ 18 กันยายน เวลา 13.00 น.[156][157] นายพิภพ ธงไชย แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า จะชดใช้ค่าเสียหายให้กับโรงเรียนราชวินิตมัธยม และจะยอมรับคำตัดสินของศาลแพ่ง[158]
เนื่องจากพันธมิตรชุมนุมแล้วนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ทุกสถานศึกษาต้องหยุดอย่างน้อย 2 วัน (2-3 กันยายน) บางโรงเรียนถึง 1 สัปดาห์
ขณะที่ทำเนียบรัฐบาลข้าราชการประจำทำเนียบถูกโจรกรรมทรัพย์สิน เอกสารทางราชการเสียหายและทรัพย์สินภายในทำเนียบรัฐบาลได้รับความเสียหายถูกทำลายและมีสิ่งปฏิกูลในห้องทำงานของข้าราชการบางคนอีกด้วย[159]
เมื่อการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยก็เริ่มได้รับผลกระทบ โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยร่วงลงมามากกว่า 2 เปอร์เซ็นต์[160] ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น รศ.ดร. มนตรี โสคติยานุรักษ์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเงินการคลัง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้ง กระทบต่อบรรยากาศการใช้จ่ายของภาคประชาชนด้วย โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถสะท้อนถึงสถานการณ์การเมืองและความมั่นคงของประเทศ โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงหากเหตุการณ์ยังยืดเยื้อต่อไป คือ ด้านการท่องเที่ยว เพราะในไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพารายได้จากส่วนนี้ค่อนข้างมาก โดยรายได้ส่วนนี้คิดเป็นร้อยละ 8 ของจีดีพี หากสถานการณ์การชุมนุมยังยืดเยื้อ ก็อาจมีผลทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศ [161]
นอกจากนี้ นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและรักษาการณ์กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งแต่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม ทำให้ต้องสูญเสียรายได้ไปกว่า 350 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมความเสียหายของผู้ประกอบการการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้อีกประมาณกว่า 25,000 ล้านบาทและยังไม่รวมความเสียหายของสายการบินต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง[2]
ส่วนปฏิกิริยาของตลาดหุ้นไทยนั้น พบว่า ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลง -56.7% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงมากกว่าตลาดสหรัฐประมาณ 20% ซึ่งมีเหตุผลหลายประการตั้งแต่การขายสุทธิของกองทุนต่างชาติ จนถึงการถูกบังคับขายโดยโบรกเกอร์เพื่อรักษามูลค่าหลักประกันของลูกค้าไว้จะได้ไม่ต้องเรียกหลักประกันเพิ่ม และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ[162]
สำหรับระดับความน่าเชื่อถือของประเทศนั้น นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเร่งชี้แจงให้นักลงทุนและชาวต่างชาติเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะสื่อทั่วโลกได้มีการนำเสนอเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้ทางกลุ่มผู้ชุมนุมและตำรวจอย่าใช้ความรุนแรงในการชุมนุม เพื่อไม่ให้เหตุการณ์บานปลายมากกว่านี้[163]
อย่างไรก็ตาม ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาการชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะสั้น โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แต่หากการชุมนุมยิ่งยืดเยื้อก็อาจจะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้น[164]
ในขณะที่ Standard & Poor’s (S&P) และ Fitch ได้ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลงจากปัญหาทางการเมืองในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ โดยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 S&P ได้ประกาศทบทวนแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลงสู่ 'เชิงลบ' จากเดิม 'มีเสถียรภาพ' อย่างไรก็ตาม S&P ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ และสำหรับตราสารหนี้สกุลเงินในประเทศไว้ที่ระดับเดิม คือ 'BBB+/A-2' และ 'A/A-1' ตามลำดับ โดย S&P มองว่า การยึดครองสนามบินนานาชาติทั้ง 2 แห่งโดยกลุ่มพันธมิตรฯ เพิ่มความเสี่ยงต่ออันดับความน่าเชื่อถือและเศรษฐกิจของประเทศไทย[165]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.