Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อเล็กซานดรอสที่ 3 แห่งมาซิโดเนีย (กรีก: Αλέξανδρος, อักษรโรมัน: Aléxandros) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า อเล็กซานเดอร์มหาราช (อังกฤษ: Alexander the Great; 20/21 กรกฎาคม 356 ปีก่อน ค.ศ. – 10/11 มิถุนายน 323 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นจอมกษัตริย์กรีกโบราณแห่งราชอาณาจักรมาเกโดนีอา เป็นสมาชิกของราชวงศ์อาร์กีด ประสูติในเมืองเพลลาในปี 356 ก่อนคริสตกาลและขึ้นสืบบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาขณะมีวัยเพียง 20 ปี อเล็กซานเดอร์ใช้เวลาส่วนใหญ่ในรัชสมัยของเขาไปกับการสู้รบอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในทวีปเอเชียและแอฟริกาตอนเหนือ และก่อนมีพระชนม์ครบสามสิบปี พระองค์ก็ได้สร้างหนึ่งในจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกยุคโบราณ แผ่ไพศาลตั้งแต่กรีซไปจนถึงทางตะวันตกของอินเดีย พระองค์ไม่เคยปราชัยในศึกใดมาก่อนและได้รับการยอมรับนับถือเป็นหนึ่งในแม่ทัพผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์โลก
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
อเล็กซานเดอร์มหาราช | |||||
---|---|---|---|---|---|
บาซิเลวส์แห่งมาเกโดนีอา ชาห์เหนือชาห์แห่งเปอร์เซีย ฟาโรห์แห่งอียิปต์ เจ้าแห่งเอเชีย | |||||
รูปสลักของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช, นวาย ควาลแบร์ก กลายโตโตก, โคเปเฮเกน | |||||
กษัตริย์แห่งมาเกโดนีอา | |||||
ครองราชย์ | 336–323 ปีก่อนค.ศ. | ||||
ก่อนหน้า | พีลิปโปสที่ 2 | ||||
ถัดไป | อเล็กซานเดอร์ที่ 4 พีลิปโปสที่ 3 | ||||
พระเจ้าแผ่นดินอียิปต์ | |||||
ครองราชย์ | 332–323 ปีก่อนค.ศ. | ||||
ก่อนหน้า | ดาไรอัสที่ 3 (ราชวงศ์อะคีเมนิด) | ||||
ถัดไป | อเล็กซานเดอร์ที่ 4 พีลิปโปสที่ 3 | ||||
พระเจ้าแผ่นดินเปอร์เซีย | |||||
ครองราชย์ | 330–323 ปีก่อนค.ศ. | ||||
ก่อนหน้า | ดาไรอัสที่ 3 (ราชวงศ์อะคีเมนิด) | ||||
ถัดไป | อเล็กซานเดอร์ที่ 4 พีลิปโปสที่ 3 | ||||
พระราชสมภพ | 20 หรือ 21 กรกฎาคม 356 ก่อนปีคริสตกาล เพลลา, มาเกโดนีอา | ||||
สวรรคต | 10 หรือ 11 มิถุนายน 324 ก่อนคริสตกาล (32 พรรษา) บาบิโลน | ||||
ชายา | โรซานาแห่งแบคเทรีย สตาเธียร่าที่ 2 แห่งเปอร์เซีย ปารีซาติสแห่งเปอร์เซีย | ||||
พระราชบุตร | อเล็กซานเดอร์ที่ 4 | ||||
| |||||
กรีก |
| ||||
ราชวงศ์ | อาร์กีด | ||||
พระราชบิดา | พีลิปโปสที่ 2 แห่งมาเกโดนีอา | ||||
พระราชมารดา | โอลิมเปียสแห่งอิพิรุส | ||||
ศาสนา | กรีกเทวนิยม |
ในช่วงวัยเด็ก อเล็กซานเดอร์ได้รับการประสาทวิชาโดยแอริสตอเติลถึงอายุ 16 ปี พระเจ้าพีลิปโปสผู้บิดาทรงนำแว่นแคว้นกรีกส่วนใหญ่ให้มาอยู่ภายใต้การปกครองของมาเกโดนีอา เมื่อพีลิปโปสถูกปลงพระชนม์ในปี 336 ก่อนคริสตกาล เจ้าชายหนุ่มก็ขึ้นครองอาณาจักรอันแข็งแกร่งและบัญชากองทัพที่ชาญสมรภูมิ อเล็กซานเดอร์ได้ตำแหน่งจอมทัพแห่งกรีซและใช้อำนาจนี้ดำเนินตามแผนการพิชิตเปอร์เซียของพระบิดา ในปี 334 ก่อนคริสตกาล ทรงรุกรานจักรวรรดิเปอร์เซียของราชวงศ์อะคีเมนิด และเริ่มดำเนินปฏิบัติการต่อเนื่องซึ่งกินเวลากว่าสิบปี เมื่ออเล็กซานเดอร์พิชิตอานาโตเลีย ก็ทรงได้รับชัยชนะอย่างขาดลอยในยุทธการหลายครั้ง ทรงนำทัพข้ามซีเรีย, อียิปต์, เมโสโปเตเมีย, เปอร์เซีย และแบกเตรีย ศึกที่โด่งดังที่สุดคือยุทธการที่อิสซัสและยุทธการที่กอกามีลา ในที่สุดพระองค์สามารถโค่นล้มกษัตริย์เปอร์เซีย พระเจ้าดาไรอัสที่ 3 และพิชิตทั้งจักรวรรดิเปอร์เซียได้ ทำให้ ณ จุดนี้ อาณาเขตของพระองค์แผ่ตั้งแต่ทะเลเอเดรียติกไปจนถึงแม่น้ำบีอาส
เมื่อพิชิตเปอร์เซียได้ ความทะเยอทะยานของกษัตริย์หนุ่มอเล็กซานเดอร์ก็ไม่ได้สิ้นสุดลง พระองค์ไล่ตามความปรารถนาที่ต้องการเห็น "จุดสิ้นสุดของโลกและมหาสมุทรใหญ่ที่เบื้องปลาย" จึงยกทัพบุกอินเดียในปี 326 ก่อนคริสตกาล และได้รับชัยชนะเหนือพระเจ้ากรุงเปารพในยุทธการที่แม่น้ำเฌลัม แต่สุดท้ายพระองค์ก็จำยอมต้องยกทัพกลับตามคำขอของเหล่าทหารที่ต้องการกลับบ้านเกิดเมืองนอน การสูญเสียสหายรักอย่างเฮฟีสเทียนทำให้กษัตริย์หนุ่มจมสู่ความซึมเศร้าและสุขภาพทรุดโทรมจนล้มป่วย อเล็กซานเดอร์สวรรคตที่กรุงบาบิโลนในปี 323 ก่อนคริสตกาล แปดเดือนให้หลังเฮฟีสเทียนเสียชีวิต
ในปีถัดจากการสวรรคตของอเล็กซานเดอร์ เกิดสงครามกลางเมืองทั่วไปจนอาณาจักรของพระองค์แตกเป็นเสี่ยง ๆ ทำให้เกิดเป็นรัฐใหญ่น้อยมากมายปกครองโดยบรรดาขุนนางชาวมาเกโดนีอา แม้ความเป็นผู้พิชิตของพระองค์จะโดดเด่นอย่างยิ่ง แต่มรดกของอเล็กซานเดอร์ที่ยืนยงต่อมากลับมิใช่ราชบัลลังก์ กลายเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมที่ติดตามมาจากการพิชิตดินแดนเหล่านั้น การก่อร่างสร้างเมืองอาณานิคมกรีกและวัฒนธรรมกรีกที่เผยแพร่ไปในแดนตะวันออกทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมเฮเลนนิสติก ซึ่งยังคงสืบทอดต่อมาในจักรวรรดิไบแซนไทน์กระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15
อเล็กซานเดอร์ประสูติเมื่อวันที่ 20 (หรือ 21) กรกฎาคม ปีที่ 356 ก่อนคริสตกาล,[1][2] ที่เมืองเพลลา เมืองหลวงของราชอาณาจักรมาเกโดนีอา เป็นโอรสของพระเจ้าพีลิปโปสที่ 2 มารดาเป็นภริยาคนที่ 4 ของพีลิปโปสชื่อนางโอลิมเพียสแห่งเอพิรุสเป็นธิดาของ นีโอโทเลมุสที่ 1 แห่งเอพิรุส นครรัฐกรีกทางเหนือ[3][4][5][6] แม้พีลิปโปสจะมีชายาถึง 7-8 คน แต่นางโอลิมเพียสก็ได้เป็นชายาเอกอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง
ในฐานะที่ทรงเป็นสมาชิกราชวงศ์อาร์กีด อเล็กซานเดอร์จึงถือว่าสืบเชื้อสายมาจากเฮราคลีสผ่านทางกษัตริย์คารานุสแห่งมาเกโดนีอา4 ส่วนทางฝั่งมารดา เขาถือว่าตนสืบเชื้อสายจากนีโอโทลีมุส บุตรของอคิลลีส5 อเล็กซานเดอร์เป็นญาติห่าง ๆ ของนายพลพีร์รุสแห่งเอพิรุส ผู้ได้รับยกย่องจากฮันนิบาลว่าเป็นแม่ทัพผู้เก่งกาจที่สุด[7] หรืออันดับที่สอง (รองจากอเล็กซานเดอร์)[8] เท่าที่โลกเคยประสบพบเจอ
ตามบันทึกของพลูตาร์ค นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกโบราณ ในคืนวันก่อนวันวิวาห์ของนางโอลิมเพียสกับพีลิปโปส โอลิมเพียสฝันว่าท้องของนางถูกสายฟ้าฟาดเกิดเปลวเพลิงแผ่กระจายออกไป "ทั้งกว้างและไกล" ก่อนจะมอดดับไป หลังจากแต่งงานแล้ว พีลิปโปสเคยบอกว่า ตนฝันเห็นตัวเองกำลังปิดผนึกครรภ์ของภรรยาด้วยดวงตราที่สลักภาพของสิงโต[3] พลูตาร์คตีความความฝันเหล่านี้ออกมาหลายความหมาย เช่นโอลิมเพียสตั้งครรภ์มาก่อนแล้วก่อนแต่งงาน โดยสังเกตจากการที่ครรภ์ถูกผนึก หรือบิดาของอเล็กซานเดอร์อาจเป็นเทพซูส นักวิจารณ์ในยุคโบราณมีความคิดแตกแยกกันไปว่าโอลิมเพียสประกาศเรื่องเชื้อสายอันศักดิ์สิทธิ์ของอเล็กซานเดอร์ด้วยความทะเยอทะยาน บางคนอ้างว่านางเป็นคนบอกอเล็กซานเดอร์เอง แต่บางคนก็ว่านางไม่สนใจคำแนะนำทำนองนี้เพราะเป็นการไม่เคารพ[3]
ในวันที่อเล็กซานเดอร์เกิด พีลิปโปสกำลังเตรียมตัวเข้ายึดเมืองโพทิเดียซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งคาลกิดีกี (Chalkidiki) ในวันเดียวกันนั้น พีลิปโปสได้รับข่าวว่านายพลพาร์เมนิออนของพระองค์ได้ชัยชนะเหนือกองทัพผสมระหว่างพวกอิลลีเรียนกับพาอิเนียน และม้าของพระองค์ก็ชนะการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก ยังเล่ากันด้วยว่า วันเดียวกันนั้น วิหารแห่งอาร์เทมิสที่เมืองเอเฟซัส อันเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ ถูกไฟไหม้ทลายลง เฮเกเซียสแห่งแม็กนีเซียกล่าวว่า ที่วิหารล่มลงเป็นเพราะเทพีอาร์เทมิสเสด็จมาเฝ้ารอการประสูติของอเล็กซานเดอร์[1][5][9]
เมื่อยังเล็ก ผู้เลี้ยงดูอเล็กซานเดอร์คือนางอภิบาล ลาไนกี พี่สาวของเคลอิตุสซึ่งในอนาคตได้เป็นทั้งเพื่อนและแม่ทัพของอเล็กซานเดอร์ ครูในวัยเยาว์ของอเล็กซานเดอร์คือลีโอไนดัสผู้เข้มงวด ซึ่งเป็นญาติทางฝ่ายมารดา และไลซิมาคัส[10][11]
เมื่ออเล็กซานเดอร์อายุได้ 10 ปี พ่อค้าม้าคนหนึ่งจากเมืองเทสสะลีนำม้ามาถวายพีลิปโปสตัวหนึ่ง โดยเสนอขายเป็นเงิน 13 ทาเลนท์ ม้าตัวนี้ไม่มีใครขี่ได้ พีลิปโปสจึงสั่งให้เอาตัวออกไป ทว่าอเล็กซานเดอร์สังเกตได้ว่าม้านี้กลัวเงาของตัวมันเอง จึงขอโอกาสฝึกม้านี้ให้เชื่อง ซึ่งต่อมาเขาสามารถทำได้สำเร็จ ตามบันทึกของพลูตาร์ค พีลิปโปสชื่นชมยินดีมากเพราะนี่เป็นสิ่งแสดงถึงความกล้าหาญและความมักใหญ่ใฝ่สูง เขาจูบบุตรชายด้วยน้ำตา และว่า "ลูกข้า เจ้าจะต้องหาอาณาจักรที่ใหญ่พอสำหรับความทะเยอทะยานของเจ้า มาเกโดนีอาเล็กเกินไปสำหรับเจ้าแล้ว" แล้วพระองค์จึงซื้อม้าตัวนั้นให้แก่อเล็กซานเดอร์[12] อเล็กซานเดอร์ตั้งชื่อม้านั้นว่า บูซีฟาลัส หมายถึง "หัววัว" บูซีฟาลัสกลายเป็นสหายคู่หูติดตามอเล็กซานเดอร์ไปตลอดการเดินทางจนถึงอินเดีย เมื่อบูซีฟาลัสตาย (เนื่องจากแก่มาก ตามที่พลูตาร์คบันทึกไว้ มันมีอายุถึง 30 ปี) อเล็กซานเดอร์ได้ตั้งชื่อเมืองแห่งหนึ่งตามชื่อมัน คือเมืองบูซีฟาลา[13][14][15]
เมื่ออเล็กซานเดอร์อายุได้ 13 ปี พีลิปโปสตัดสินพระทัยว่าอเล็กซานเดอร์ควรได้รับการศึกษาขั้นสูงขึ้น จึงเริ่มเสาะหาอาจารย์ดีให้แก่บุตร เขาเปลี่ยนอาจารย์ไปหลายคน เช่น ไอโซเครตีส และ สพีอุสสิปัส ซึ่งเป็นผู้สืบทอดของเพลโตที่วิทยาลัยแห่งเอเธนส์ ซึ่งขอลาออกเองเพื่อไปรับตำแหน่ง ในที่สุดพีลิปโปสเสนองานนี้ให้แก่ อริสโตเติล พีลิปโปสยกวิหารแห่งนิมฟ์ที่มีซาให้พวกเขาใช้เป็นห้องเรียน ค่าตอบแทนในการสอนหนังสือแก่อเล็กซานเดอร์คือการสร้างเมืองเกิดของอริสโตเติล คือเมืองสตาเกราที่พีลิปโปสทำลายราบไปขึ้นใหม่ และให้ฟื้นฟูเมืองนี้โดยการซื้อตัวหรือปลดปล่อยอดีตพลเมืองของเมืองนี้ที่ถูกจับตัวไปเป็นทาส และยกโทษให้แก่พวกที่ถูกเนรเทศไปด้วย[16][17][18][19]
มีเอซา เป็นเหมือนโรงเรียนประจำสำหรับอเล็กซานเดอร์และบรรดาบุตรขุนนางหรือเชื้อพระวงศ์ของมาเกโดนีอา เช่น ทอเลมี และ แคสแซนเดอร์ นักเรียนที่เรียนพร้อมกับอเล็กซานเดอร์กลายเป็นเพื่อนของเขาและต่อมาได้เป็นแม่ทัพนายทหารประจำตัว มักถูกกล่าวถึงด้วยคำว่า "สหาย" อริสโตเติลสอนอเล็กซานเดอร์กับบรรดาสหายในเรื่องการแพทย์ ปรัชญา ศีลธรรม ศาสนา ตรรกศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ด้วยการสอนของอริสโตเติลทำให้อเล็กซานเดอร์เติบโตขึ้นมาด้วยแรงบันดาลใจอย่างสูงในงานเขียนของโฮเมอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง อีเลียด อริสโตเติลมอบงานเขียนฉบับคัดลอกของเรื่องนี้ให้เขาชุดหนึ่ง ซึ่งอเล็กซานเดอร์เอาติดตัวไปด้วยยามที่ออกรบ[20][21][22][23]
เมื่ออเล็กซานเดอร์อายุได้ 16 ปี การร่ำเรียนกับอริสโตเติลก็ยุติลง พระเจ้าพีลิปโปสยกทัพไปทำสงครามกับไบแซนเทียมและแต่งตั้งให้อเล็กซานเดอร์รักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ระหว่างที่พีลิปโปสไม่อยู่ พวกแมดีในเทรซก็แข็งเมืองต่อต้านการปกครองของมาเกโดนีอา อเล็กซานเดอร์ตอบโต้อย่างฉับพลัน บดขยี้พวกแมดีและขับไล่ออกไปจากเขตแดน แล้วผนวกเมืองนี้เข้ากับอาณาจักรกรีก ตั้งเมืองใหม่ขึ้นให้ชื่อว่า อเล็กซานโดรโพลิส[24][25][26][27]
หลังจากพีลิปโปสกลับมาจากไบแซนเทียม พระองค์มองกองกำลังเล็ก ๆ ให้แก่อเล็กซานเดอร์เพื่อไปปราบปรามกบฏทางตอนใต้ของเทรซ มีบันทึกว่าอเล็กซานเดอร์ได้ช่วยชีวิตของบิดาไว้ได้ระหว่างการรบครั้งหนึ่งกับนครรัฐกรีกชื่อเพรินทุส ในขณะเดียวกัน เมืองแอมฟิสซาได้เริ่มการทำลายสถานสักการะเทพอพอลโลใกลักับวิหารแห่งเดลฟี ซึ่งเป็นโอกาสให้พีลิปโปสยื่นมือเข้าแทรกแซงกิจการของกรีซ ขณะที่พำนักอยู่ที่เมืองเทรซ พีลิปโปสสั่งให้อเล็กซานเดอร์รวบรวมกองทัพสำหรับการรณยุทธ์กับกรีซ เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ว่านครรัฐกรีกอื่น ๆ จะยื่นมือเข้ามายุ่ง อเล็กซานเดอร์จึงแสร้งทำเสมือนว่ากำลังเตรียมการไปโจมตีอิลลีเรียแทน ในระหว่างความยุ่งเหยิงนั้น อิลลีเรียถือโอกาสมารุกรานมาเกโดนีอา แต่อเล็กซานเดอร์ก็สามารถขับไล่ผู้รุกรานไปได้[28]
ปีที่ 338 ก่อนคริสตกาล พีลิปโปสยกทัพมาร่วมกับอเล็กซานเดอร์แล้วมุ่งหน้าลงใต้ผ่านเมืองเทอร์โมไพลีซึ่งทำการต่อต้านอย่างโง่ ๆ ด้วยกองทหารชาวธีบส์ ทั้งสองบุกยึดเมืองเอลาเทียซึ่งอยู่ห่างจากเอเธนส์และธีบส์เพียงชั่วเดินทัพไม่กี่วัน ขณะเดียวกัน ชาวเอเธนส์ภายใต้การนำของดีมอสเทนีส ลงคะแนนเสียงให้เป็นพันธมิตรกับธีบส์เพื่อทำสงครามร่วมรบกับมาเกโดนีอา ทั้งเอเธนส์และพีลิปโปสพากันส่งทูตไปเพื่อเอาชนะใจธีบส์ แต่ทางเอเธนส์เป็นฝ่ายประสบความสำเร็จ[29][30][31] พีลิปโปสยกทัพไปแอมฟิสซา จับกุมทหารรับจ้างที่ดีมอสเทนีสส่งไป แล้วเมืองนั้นก็ยอมจำนน พีลิปโปสกลับมาเมืองเอลาเทียและส่งข้อเสนอสงบศึกครั้งสุดท้ายไปยังเอเธนส์และธีบส์ แต่ทั้งสองเมืองปฏิเสธ[32][33][34]
พีลิปโปสยกทัพลงใต้ แต่ถูกสกัดเอาไว้บริเวณใกล้เมืองไคโรเนียของโบโอเทีย โดยกองกำลังของเอเธนส์และธีบส์ ระหว่างการสัประยุทธ์แห่งไคโรเนีย พีลิปโปสบังคับบัญชากองทัพปีกขวา ส่วนอเล็กซานเดอร์บังคับบัญชากองทัพปีกซ้าย ร่วมกับกลุ่มนายพลซึ่งเป็นที่ไว้วางใจของพีลิปโปส ตามแหล่งข้อมูลโบราณ ทั้งสองฟากของกองทัพต้องต่อสู้อย่างหนักเป็นเวลายาวนาน พีลิปโปสจงใจสั่งให้กองทัพปีกขวาของตนถอยทัพเพื่อให้ทหารฮอพไลท์ของเอเธนส์ติดตามมา ทำลายแถวทหารของฝ่ายตรงข้าม ส่วนปีกซ้ายนั้นอเล็กซานเดอร์เป็นคนนำหน้าบุกเข้าตีแถวทหารของธีบส์แตกกระจาย โดยมีนายพลของพีลิปโปสตามมาติด ๆ เมื่อสามารถทำลายสามัคคีของกองทัพฝ่ายศัตรูได้แล้ว พีลิปโปสสั่งให้กองทหารของตนเดินหน้ากดดันเข้าตีทัพศัตรู ทัพเอเธนส์ถูกตีพ่ายไป เหลือเพียงทัพธีบส์ต่อสู้เพียงลำพัง และถูกบดขยี้ลงอย่างราบคาบ[35]
หลังจากได้ชัยชนะที่ไคโรเนีย พีลิปโปสกับอเล็กซานเดอร์เดินทัพต่อไปโดยไม่มีผู้ขัดขวางมุ่งสู่เพโลพอนนีส (Peloponnese) โดยได้รับการต้อนรับจากทุกเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อพวกเขาเดินทางไปถึงสปาร์ตา กลับถูกปฏิเสธ ทว่าพวกเขาก็เพียงจากไปเฉย ๆ[36] ที่เมืองโครินธ์ พีลิปโปสได้ริเริ่ม "พันธมิตรเฮเลนนิก" (Hellenic Alliance) (ซึ่งจำลองมาจากกองทัพพันธมิตรต่อต้านเปอร์เซียในอดีต เมื่อครั้งสงครามกรีก-เปอร์เซีย) โดยไม่นับรวมสปาร์ตา พีลิปโปสได้ชื่อเรียกว่า เฮเกมอน (Hegemon) (ซึ่งมักแปลเป็น "ผู้บัญชาการสูงสุด") ของคณะพันธมิตรนี้ นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่เรียกคณะพันธมิตรนี้ว่า สันนิบาตแห่งโครินธ์ (League of Corinth) ครั้นแล้วพีลิปโปสประกาศแผนของตนในการทำสงครามต่อต้านอาณาจักรเปอร์เซีย โดยเขาจะเป็นผู้บัญชาการเอง[37][38]
หลังจากกลับมาเมืองเพลลา พีลิปโปสตกหลุมรักกับคลีโอพัตรา ยูรีไดส์ แห่งมาเกโดนีอา และต่อมาได้แต่งงานกัน นางเป็นหลานสาวของแอตตาลัส นายพลคนหนึ่งของเขา การแต่งงานครั้งนี้ทำให้สถานะรัชทายาทของอเล็กซานเดอร์ต้องสั่นคลอน เพราะถ้าหากคลีโอพัตรา ยูรีไดส์ให้กำเนิดบุตรชายแก่พีลิปโปส เด็กนั้นจะเป็นทายาทที่มีเชื้อสายมาเกโดนีอาโดยตรง ขณะที่อเล็กซานเดอร์เป็นเพียงลูกครึ่งมาเกโดนีอา[39] ในระหว่างงานเลี้ยงฉลองพิธีวิวาห์ แอตตาลัสซึ่งเมามายได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์โดยอธิษฐานต่อเทพเจ้าขอให้การแต่งงานนี้สร้างทายาทอันถูกต้องตามกฎหมายให้แก่ราชบัลลังก์มาเกโดนีอา อเล็กซานเดอร์ตะโกนใส่แอตตาลัสว่า "อย่างนั้นข้าเป็นอะไรเล่า ลูกไม่มีพ่อหรือ?" แล้วขว้างแก้วใส่แอตตาลัส พีลิปโปสซึ่งก็เมามากเช่นกัน ชักดาบออกมาแล้วเดินไปหาอเล็กซานเดอร์ ก่อนจะหกล้มคว่ำไป อเล็กซานเดอร์จึงว่า "ดูเถอะ ชายผู้เตรียมจะยกทัพจากยุโรปสู่เอเชีย ไม่อาจแม้แต่จะเดินจากเก้าอี้ตัวหนึ่งไปถึงอีกตัวหนึ่ง"[24]
อเล็กซานเดอร์รู้สึกเสียหน้ามากจากการหย่าร้างระหว่างพระชนกพีลิปโปสกับพระชนนีโอลิมปีอัส ประกอบกับภัยที่กำลังคุกคามการสืบทอดอำนาจของพระองค์ ทำให้เกิดการโต้เถียงกับพระชนกอย่างรุนแรง อเล็กซานเดอร์หนีออกจากมาเกโดนีอา โดยพาพระชนนีโอลิมปีอัสไปฝากไว้กับน้องชายของนางที่โดโดนา เมืองหลวงของเอพิรุส,[40] อเล็กซานเดอร์เดินทางต่อไปถึงอิลลีเรีย ขอลี้ภัยอยู่กับกษัตริย์แห่งอิลลีเรียและได้รับการต้อนรับอย่างดีในฐานะแขกของชาวอิลลีเรีย ทั้งที่เมืองนี้เคยพ่ายแพ้เขาในการรบเมื่อหลายปีก่อน อเล็กซานเดอร์หวนกลับมาเกโดนีอาอีกครั้งหลังลี้ภัยอยู่เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อปรับความเข้าใจกับกษัตริย์พีลิปโปสได้ ด้วยความช่วยเหลือของสหายของครอบครัวผู้หนึ่ง คือ ดีมาราตุส ชาวโครินธ์ ซึ่งช่วยประนีประนอมให้ทั้งสองฝ่าย[24][41][42][40]
ปีถัดมา พิโซดารุส เจ้าเมืองเปอร์เซียผู้ปกครองคาเรีย ได้เสนองานวิวาห์ระหว่างบุตรสาวคนโตของตนกับพีลิปโปส อาร์ริดาอุส ซึ่งเป็นพี่น้องต่างมารดาของอเล็กซานเดอร์ โอลิมปีอัสกับเพื่อนอีกหลายคนของอเล็กซานเดอร์เห็นว่าสิ่งนี้แสดงถึงความตั้งใจของพีลิปโปสที่จะแต่งตั้งให้อาร์ริดาอุสเป็นรัชทายาท อเล็กซานเดอร์ตอบโต้โดยส่งเทสซาลุสแห่งโครินธ์ นักแสดงผู้หนึ่งไปแจ้งแก่พิโซดารุสว่าไม่ควรเสนอให้บุตรสาวของตนแต่งงานกับบุตรชายผู้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทว่าควรให้แต่งงานกับอเล็กซานเดอร์มากกว่า เมื่อพีลิปโปสทราบเรื่องนี้ก็ตำหนิดุด่าอเล็กซานเดอร์อย่างรุนแรง แล้วเนรเทศสหายของอเล็กซานเดอร์ 4 คนคือ ฮาร์พาลุส นีอาร์คุส ทอเลมี และเอริไกอุส ทั้งให้ล่ามตรวนเทสซาลุสกลับมาส่งให้ตน[39][43][44]
ปีที่ 336 ก่อนคริสตกาล ขณะที่พีลิปโปสอยู่ที่ Aegae เข้าร่วมในพิธีวิวาห์ระหว่าง คลีโอพัตรา บุตรสาวของตนและพระนางโอลิมปีอัส กับอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งเอพิรุส ซึ่งเป็นน้องชายของพระนางโอลิมปีอัส พระองค์ถูกลอบสังหารโดยนายทหารราชองครักษ์ของพระองค์เอง คือ เพาซานิอัสแห่งโอเรสติส7 ขณะที่เพาซานิอัสพยายามหลบหนี ก็สะดุดล้มและถูกสังหารโดยสหายสองคนของอเล็กซานเดอร์ คือ เพอร์ดิคคัสกับเลออนนาตุส อเล็กซานเดอร์อ้างสิทธิ์ขึ้นเป็นกษัตริย์ด้วยการสนับสนุนของกองทัพมาเกโดนีอาและขุนนางแห่งมาเกโดนีอาเมื่ออายุได้ 20 ปี[45][46][47]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เมื่อต้นเดือนตุลาคมพ.ศ. 212 หรือ เมื่อ 333 ปีก่อนคริสตกาล พระองค์ยาตราทัพสู่อาณาจักรเปอร์เซีย เพื่อท้ารบกับกษัตริย์ดาไรอุสที่ 3 แห่งเปอร์เซีย ที่เชื่อว่าเป็นผู้จ้างคนลอบสังหารพระเจ้าพีลิปโปสที่ 2 พระบิดาของพระองค์ ในศึกแห่งอิสซัส ทัพทั้งสองเผชิญหน้ากันที่กอกามีลา ในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนมากของประเทศอิรักในปัจจุบัน กองทัพของอเล็กซานเดอร์มีเพียง 20,000 คน ขณะที่กองทัพเปอร์เซียมีนับแสน แต่ด้วยความกล้าหาญของทหารมาเกโดนีอา กับการวางแผนการรบที่ชาญฉลาดของอเล็กซานเดอร์มหาราช ทำให้พระองค์ได้รับชัยชนะแม้จะสูญเสียเป็นจำนวนมาก การรบครั้งนี้นับเป็นการรบที่มีชื่อเสียงที่สุดของอเล็กซานเดอร์มหาราช เนื่องจากพระองค์ทรงควบม้าบูซาเฟลัสบุกเดี่ยวฝ่ากองป้องกันของทหารเปอร์เซียขว้างหอกใส่กษัตริย์ดาไรอุส ทำให้กษัตริย์ดาไรอุสตกพระทัย และหลบหนีขึ้นเขาไปในที่สุด ผลจากการรบครั้งนี้ทำให้อเล็กซานเดอร์มหาราชได้เข้าสู่นครแพร์ซโพลิส (Persepolis) ศูนย์กลางอาณาจักรเปอร์เซีย และได้เป็นพระราชาแห่งเอเชีย
เมื่อ พ.ศ. 216 พระองค์ได้ทะลุถึงกรุงตักกศิลา (Taxila) แคว้นคันธาระ เมืองที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษาทั้งพุทธศาสนา และพราหมณ์ พระเจ้าอัมพิราชา (Ambhiraja) แห่งตักกศิลาไม่ได้ทรงต่อต้านเพราะเห็นว่า ไม่มีกำลังอำนาจเข้มแข็งพอที่จะต้านศัตรูต่างแดนได้ จึงได้เปิดเมืองต้อนรับอเล็กซานเดอร์ ซึ่งพระองค์ก็ไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่ให้ตักกศิลาเป็นเมืองขึ้นต่อมาเกโดนีอาเท่านั้น แล้วให้ปกครองตามเดิม แล้วทรงขอให้ตักกศิลาส่งทหารมาช่วยรบปัญจาบ 5,000 คน ซึ่งพระเจ้าอัมพิราชาก็ยินยอม
การรบครั้งสุดท้ายที่มีผู้ต่อกรกับอเล็กซานเดอร์มหาราชอย่างจริงจัง คือเมื่อพระองค์ยกทัพเข้ามาทางภาคเหนือของอินเดียในปี พ.ศ. 217 โดยเข้าสู่บริเวณลุ่ม แม่น้ำสินธุ แล้วบุกตระลุยลงมาสู่เมืองนิเกีย (Nicaea) แคว้นปัญจาบ ในพระเจ้าโปรัสหรือพระเจ้าพอรุส (Porus) (หากใช้สำเนียงเอเซียจะเรียกว่าพระเจ้าเปารวะ) พระเจ้าเปารวะเป็นผู้เข้มแข็งในการรบ ซึ่งมีพระสมญาว่า "สิงห์แห่งปัญจาบ" ได้รับแจ้งข่าวกับบรรดามหาราชาแห่งอินเดียว่ามีข้าศึกชาวตะวันตกผมบรอนซ์ตาสีฟ้ายกทัพข้ามภูเขาฮินดูกูชเข้ามา ฝ่ายอินเดียระดมกำลังพลทหารราบ 40,000 ทหารม้า 4,000 รถศึกอีก 500 และกองทัพช้างมหึมาจำนวน 500 เชือกรอรับอยู่ กองทัพกรีกพร้อมทหารตักกศิลาเป็นพันธมิตร ที่มีกำลังพลจำนวน 17,000 โดยมีอเล็กซานเดอร์เป็นแม่ทัพกับกองทัพปัญจาบ ของฝ่ายอินเดียโดยมีพระเจ้าเปารวะเป็นแม่ทัพ โดยพระองค์ได้มองเห็นทัพพระเจ้าเปารวะตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามแม่น้ำวิตัสตะ อันเป็นสาขาของแม่น้ำสินธุ เมื่อถึงตอนกลางคืนทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ปะทะกันที่ฝั่งแม่น้ำ และเริ่มโจมตีอย่างฉับพลัน ทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ข้ามแม่น้ำสำเร็จโดยอาศัยธรรมชาติช่วย แต่ทหารม้าของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชไม่เคยสู้รบกับช้าง ประกอบกับเกิดความสับสนอลหม่านจึงบังเกิดความแตกตื่นอลหม่านขึ้น ช้างศึกจึงอาละวาดเหยียบทั้งทหารตนเองและทหารกรีก และ ทหารหอกยาวนับหมื่นของพระองค์ก็ได้พยายามต่อสู้อย่างเต็มความสามารถ นี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่รบมาเป็นเวลา 15 ปีที่กองทหารหอก (Phalanx) อันมีระเบียบวินัยในพระองค์บาดเจ็บจนบ้าเลือดบุกตะลุยไปทั่ว ทำร้ายไม่ว่าจะเป็นทหารจากฝ่ายใด การรบวันนั้นต้องสิ้นสุดลงด้วยการหย่าศึก เพราะบาดเจ็บล้มตายกับทั้งสองข้าง แต่ถึงอย่างไรพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็ยังทรงได้รับชัยชนะอยู่ดี เพราะพระเจ้าเปารวะถูกลูกศรขณะที่ทรงช้างจนพระองค์บาดเจ็บสาหัส และทัพอินเดียของพระเจ้าเปารวะก็แพ้อย่างยับเยิน พร้อมกับถูกนายทหารกรีกจับตัวมาเฝ้าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ในฐานะเชลยสงคราม เมื่อพระเจ้าเปารวะถูกจับมาเผชิญพระพักตร์กับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ มหาราชตรัสถามว่า
"พระองค์ต้องการจะให้เราปฏิบัติอย่างไร?" พระเจ้าเปารวะตรัสตอบอย่างองอาจว่า
"ต้องการให้ปฏิบัติเราอย่างกษัตริย์" แทนที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชจะพิโรธกลับตรัสถามต่อไปว่า
"ทรงประสงค์จะขออะไรอีก?" พระเจ้าเปารวะจึงตรัสตอบว่า
"คำว่า "กษัตริย์" นั้นครอบคลุมไปถึงสิ่งทั้งหมดที่เราต้องการขอแล้ว"
ด้วยความกล้าหาญรักษาขัตติยเกียรติของพระเจ้าเปารวะทำให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชซึ่งมีพระทัยโปรดคนกล้าหาญ ได้พระราชทานคืนบ้านเมืองให้แล้วแต่งตั้งพระเจ้าเปารวะให้เป็นพระราชาตามเดิม แต่ดำรงในฐานประเทศราช
เสร็จศึกในครั้งนั้นอเล็กซานเดอร์มหาราช ได้สดับความมั่งคั่งสมบูรณ์ของแคว้นมคธ และได้ตระเตรียมยาตราทัพมาตี แต่ทหารของพระองค์ที่ร่วมศึกกับพระองค์มาตั้งแต่เป็นพระยุพราชเป็นเวลา 15 ปีที่ไม่ได้กลับบ้านกลับเมือง พากันเบื่อหน่ายการรบ โดยให้ความเห็นว่าถ้าตีมคธได้ก็คงตีแคว้นอื่นต่อไปอีกไม่มีกำหนดสิ้นสุด ประกอบกับ ทหารบางคนลังเลและก่อกบฏไม่ยอมสู้รบอีกต่อไป[48] อเล็กซานเดอร์มหาราชจึงต้องจำพระทัยเลิกทัพกลับ ช่วงนิวัตกลับอเล็กซานเดอร์มหาราชแบ่งกองทัพออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งให้กลับทางบก ส่วนพระองค์นิวัตโดยทางชลมาร์คลงมาตามแม่น้ำสินธุอย่างผู้พิชิตพร้อมด้วยทหารฝ่ายที่เหลือ รวมเวลาที่อเล็กซานเดอร์มหาราชรบอยู่ในอินเดีย 1 ปี กับ 8 เดือน พระองค์ได้เสด็จฯไปยังกรุงบาบิโลน โดยนำทัพย้อนกลับมาทางตะวันตกผ่านดินแดนแห้งแล้ง ทางตอนใต้ของอิหร่าน ในช่วงเส้นทางนี้มีทหารล้มตายหลายพันคน เนื่องจากแสงแดดแผดร้อน แห้ง และขาดน้ำ แต่ในท้ายที่สุด พระองค์ก็พาเหล่าทหารที่เหลือเดินทางมาจนถึงบาบิโลนในเมโสโปเตเมีย ซึ่งเป็นนครเอกของโลกในเวลานั้น[49]
แม้อเล็กซานเดอร์จะมีมเหสีอยู่ 3 องค์ แต่สาเหตุที่ทำการอภิเษกสมรสนั้นก็ล้วนเกิดจากปัจจัยทางการเมืองเป็นสำคัญ ดังที่คนส่วนใหญ่ทราบกันดีว่าความสัมพันธ์ของพระองค์กับทหารที่เป็นทั้งเพื่อนสนิทที่มีนามว่า เฮฟีสเทียน นั้นลึกซึ่งเกินกว่าคำว่าเพื่อนสนิทหรือเจ้ากับข้า อริสโตเติลได้อธิบายว่าอเล็กซานเดอร์กับเฮฟีสเทียนนั้นเป็น "หนึ่งวิญญาณที่ดำรงอยู่ในสองร่าง"[50] เมื่อเฮฟีสเทียนเสียชีวิตจากอาการป่วย อเล็กซานเดอร์โทมมนัสนอนกอดศพของเฮฟีสเทียนและร้องไห้อยู่สองวันสองคืนโดยที่ไม่ได้เสวยอะไรเลย[51] ไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง[52] ทรงใช้ชีวิตที่เหลือหมกมุ่นอยู่กับกับการพิธีศพ การไว้อาลัย และการสร้างสุสานในกรุงบาบิโลนให้เฮฟีสเทียน ทุกครั้งที่อเล็กซานเดอร์ไปทอดพระเนตรการก่อสร้างก็มักจะกลับมาเสวยน้ำจันฑ์ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการตายของเฮฟีสเทียนมีผลทำให้สุขภาพของอเล็กซานเดอร์ทรุดโทรมลง[53]
แปดเดือนหลังเฮฟีสเทียนเสียชีวิต อเล็กซานเดอร์สวรรคตในพระราชวังเนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 ที่กรุงบาบิโลนในวันที่ 11 หรือ 12 มิถุนายน 324 ปีก่อนคริสตกาล สาเหตุการสวรรคตไม่เป็นที่แน่ชัด พลูทาร์กระบุว่าอเล็กซานเดอร์เริ่มมีไข้ราว 14 วันก่อนสวรรคตและอาการหนักถึงขั้นตรัสไม่ได้ พระอาการไม่ดีขึ้นจนสวรรคตในที่สุด นักประวัติศาสตร์บางคนอย่างดีโอโอรัส, แอร์เรียน เคยพูดทำนองว่าเจ็บป่วยของอเล็กซานเดอร์อาจเกิดจากการวางยาพิษในไวน์ พลูทาร์กปฏิเสธทฤษฎีนี้โดยมองว่าเป็นการคิดเอาเอง เพราะความเป็นอยู่ของทั้งจักรวรรดิล้วนขึ้นอยู่กับสุขภาพของอเล็กซานเดอร์ แต่ดีโอโอรัสและแอร์เรียนก็ออกมาแก้ต่างว่าเขาเสนอทฤษฎีพวกนี้เพื่อให้มันครอบคลุมความเป็นไปได้รอบด้านเท่านั้น ไม่ได้จริงจังอะไร
ถึงกระนั้น นักประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมาก็พยายามหาเหตุผลมาเชื่อมโยงและสนับสนุนสมมติฐานนี้ บ้างชี้ว่าแอนติปาโทรส (Antipatros) ที่พึ่งหลุดจากตำแหน่งอุปราชมาเกโดนีอาเป็นผู้บงการให้ลูกชายเป็นคนวางยา[54][55] บ้างกล่าวหาพระนางโอลิมพีอัส มารดาของอเล็กซานเดอร์ เป็นผู้บงการตัวจริง บ้างถึงขนาดว่าอริสโตเติลอาจมีส่วนร่วม[54]
หมายเหตุ 1: ในเวลาที่อเล็กซานเดอร์สวรรคต พระองค์สามารถพิชิตจักรวรรดิเปอร์เซียทั้งหมด ผนวกดินแดนเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมาเกโดนีอา หากพิจารณาตามนักเขียนยุคใหม่บางคน นั่นคือดินแดนเกือบทั้งหมดของโลกเท่าที่ชาวกรีกโบราณรู้จัก[56][57] (ภาพทางด้านขวา)
หมายเหตุ 2: ฮันนิบาล ยกย่องอเล็กซานเดอร์ว่าเป็นแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด[58] จูเลียส ซีซาร์ ร่ำไห้เมื่อเห็นอนุสาวรีย์ของอเล็กซานเดอร์ เพราะเขาประสบความสำเร็จได้เพียงน้อยนิดขณะมีอายุเท่ากัน[59] ปอมปีย์ อวดอ้างตนว่าเป็น "อเล็กซานเดอร์คนใหม่"[60] นโปเลียน โบนาปาร์ต ก็เปรียบเทียบตนเองกับอเล็กซานเดอร์[61]
หมายเหตุ 7: นับตั้งแต่ยุคสมัยนั้นก็มีข้อสงสัยมากมายอยู่ว่า เพาซานิอัสถูกว่าจ้างให้มาสังหารพระเจ้าพีลิปโปส ผู้ต้องสงสัยว่าจ้างวานได้แก่อเล็กซานเดอร์ พระนางโอลิมเพียส รวมไปถึงจักรพรรดิเปอร์เซียที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ คือ พระเจ้าดาไรอัสที่ 3 ทั้งสามคนนี้ล้วนมีแรงจูงใจที่ต้องการให้พีลิปโปสสวรรคต[62]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.