Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ คืออาณาจักรลาวล้านช้างที่ตั้งอยู่ทางต้นใต้ของประเทศลาวในปัจจุบัน ดำรงอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2256 ถึง พ.ศ. 2489 เป็นเวลา 236 ปี อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ตกเป็นประเทศราชของไทยจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาครอบครองบริเวณประเทศลาวทั้งหมด จำปาศักดิ์ถูกยุบรวมเข้ากับอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง กลายมาเป็นราชอาณาจักรลาว เมื่อปี พ.ศ. 2489
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2256–พ.ศ. 2489 | |||||||||
ธงชาติ | |||||||||
สถานะ | ราชอาณาจักร (2256 - 2319) ประเทศราชของสยาม (2319 - 2447) อาณานิคมของฝรั่งเศส (2447 - 2496) | ||||||||
เมืองหลวง | จำปาศักดิ์ | ||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษาลาว | ||||||||
การปกครอง | สมบูรณาญาสิทธิราชย์ | ||||||||
กษัตริย์และเจ้าผู้ครองนคร | |||||||||
• พ.ศ. 2256 - 2280 | พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร | ||||||||
• พ.ศ. 2443 - 2489 | เจ้ายุติธรรมธร (หยุย ณ จำปาศักดิ์) | ||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||
• สถาปนา | พ.ศ. 2256 | ||||||||
• กลายเป็นประเทศราชของสยาม | พ.ศ. 2319 | ||||||||
• เปลี่ยนแปลงเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส | พ.ศ. 2447 | ||||||||
พ.ศ. 2484 | |||||||||
• ยกเลิกพระอิสริยยศกษัตริย์เพื่อรวมอาณาจักรกับหลวงพระบางและเวียงจันทน์ก่อนได้รับเอกราช | พ.ศ. 2489 | ||||||||
| |||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ลาว ไทย กัมพูชา |
เมื่อพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งนครเวียงจันทน์เสด็จสวรรคต ไม่มีพระราชบุตรสืบราชสมบัติ พระยาเมืองจันผู้เป็นเสนาบดีได้ชิงเอาราชสมบัติ และจะเอานางสุมังคลา พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ซึ่งเป็นแม่หม้ายและมีลูกในครรภ์ขึ้นเป็นเมีย แต่นางไม่ยอมจึงหนีไปขอความช่วยเหลือจากพระครูยอดแก้วโพนสะเม็ก พระครูจึงพาญาติโยมของตนประมาณ 3,000 คนและนางสุมังคลาหนีออกจากเวียงจันทน์ไปซ่อนอยู่ที่ ภูซ่อง่อ ห่อคำ เมืองบริคัณฑนิคม แล้วจึงให้กำเนิดบุตรชื่อว่า เจ้าหน่อกษัตริย์ ต่อมาภายหลังได้อพยพไปอยู้ที่บ้านงิ้วพันลำโสมสนุก
ต่อมานางแพงเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ จึงได้อาราธนาพระครูยอดแก้วมาปกครองบ้านเมืองแทน แต่ไม่นานต่อมาพระครูก็ให้คนไปเชิญเอาเจ้าหน่อกษัตริย์ มาทำพิธีอภิเษกเป็นกษัตริย์ครองนครจำปาศักดิ์ในปี พ.ศ. 2257 ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร พระองค์จึงได้ประกาศอาณาเขตแยกออกจากเวียงจันทน์ นับตั้งแต่เมืองหลวงโพนสิม เมืองพิน เมืองนอง เมืองนครพนม เมืองท่งศรีภูมิ เมืองยโสธร เมืองเชียงแตง เมืองสาละวัน เมืองศรีนครเขต เมืองคำทอง เมืองตะโปน เมืองอัตตะปือ เมืองโขงเจียม เมืองดอนมดแดง เมืองศรีจำปัง เมืองรัตนบุรี เป็นต้น
เมื่อสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทร เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2281 เจ้าไชยกุมารพระราชโอรสจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ แลแต่งตั้งให้เจ้าธัมมเทโว พระราชอนุชาให้เป็นเจ้าอุปราช ต่อมากองทัพไทยได้ยกมาตีเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2321 ได้ยกกองทัพผ่านมาทางเมืองจำปาศักดิ์ และตีเอาเมืองจำปาศักดิ์ได้โดยง่าย เพราะสมเด็จพระเจ้าไชยกุมารยอมออกมาอ่อนน้อมโดยไม่มีการต้อสู้ นครจำปาศักดิ์ที่แยกตัวออกจากเวียงจันทน์และรักษาเอกราชได้เพียง 64 ปี ก็สูญเสียเอกราชให้แก่ฝ่ายไทย เช่นเดียวกับเวียงจันทน์และหลวงพระบาง
ปีพ.ศ. 2308 นครจำปาศักดิ์สูญเสียเมืองหน้าด่านสำคัญอย่าง เมืองท่งศรีภูมิ ปัจจุบันคือ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ให้แก่อาณาจักรอยุธยา ในรัชสมัย สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ซึ่งเมืองท่งเป็นเมืองของพระญาติวงศ์สำคัญของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ พระองค์แรก อย่างเจ้าแก้วมงคล ผู้สืบเชื้อสายแห่งราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ ผู้เป็นปฐมราชวงศ์เจ้าจารย์แก้ว บรรพชนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งของเจ้าเมืองทั่วภาคอีสาน ได้ครองเมืองท่งศรีภูมิตั้งแต่ปีพ.ศ. 2256 เป็นเมืองเจ้าประเทศราชขึ้นกับอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ต่อมาในปีพ.ศ. 2308 พระนัดดาของเจ้าแก้วมงคล พระนามว่า เจ้าเซียง ได้พยายามแย่งชิงเอาเมืองท่งจากเจ้าอาว์ นามว่า เจ้าสุทนต์มณี (เจ้าเมืองท่งศรีภูมิท่านที่3 และเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดท่านแรก) จึงได้นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แห่งอาณาจักรอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาจึงโปรดเกล้าส่งกำลังพลไปช่วยเจ้าเซียง จนสามารถยึดเมืองท่งศรีภูมิจากเจ้าอาว์ได้เป็นผลสำเร็จ จึงส่งผลให้เมืองท่งศรีภูมิถูกตัดขาดจากอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ไปขึ้นกับอาณาจักรอยุธยามานับตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งต่อมาเป็นปัจจัยสำคัญต่อความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรกรุงธนบุรีและอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์และเมืองขึ้นของนครจำปาศักดิ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรธนบุรีในเวลาต่อมา เนื่องด้วยความขัดแย้งที่มีมาอย่างช้านาน ร่วม 10 กว่าปี [1]
ในปี พ.ศ. 2319 สาเหตุเนื่องจากพระยานางรอง เกิดขัดใจกับ เจ้าเมืองนครราชสีมา จึงคิดกบฏต่อไทย ไปขอขึ้นกับ เมืองนครจำปาศักดิ์ โดยได้ร่วมมือกับเจ้าโอ (เจ้าเมืองอัตปือ), เจ้าอิน (อุปฮาดเมืองอัตปือ) และเจ้าอุปราชธรรมเทโวหรือเจ้าอุปฮาดเมืองนครจำปาศักดิ์ (พระบิดาเจ้าโอและเจ้าอิน) และเนื่องด้วยทางเมืองจำปาศักดิ์ เคยสูญเสียเมืองหน้าด่านที่สำคัญอย่างเมืองท่งศรีภูมิให้แก่อยุธยา ไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และมีความไม่พอใจเป็นทุนเดิมที่ทางอาณาจักรอยุธยาหรือสยามมีการแทรกแซงอำนาจแย่งเมืองท่งให้ไปขึ้นกับอาณาจักรของตน ทำให้อำนาจของอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์มีความอ่อนแอลงไปอย่างมาก เพื่อต้องการฟื้นฟูอำนาจที่เสียไปและต้องการเมืองขึ้นใหม่เพื่อทดแทนเมืองหน้าด่านที่เคยเป็นป้อมปราการสำคัญที่ใช้ยันกับอาณาจักรอยุธยาและล้านช้างเวียงจันทน์ เมื่อครั้งในอดีต ทางเมืองนครจำปาสักจึงให้การยอมรับและให้การสนับสนุนช่วยเหลือพระยานางรองอย่างเต็มที่ เมื่อข่าวทราบไปถึงสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระเจ้าตากสินจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาจักรีไปปราบ จับเจ้าเมืองนางรองประหารชีวิต และไปตีเมืองจำปาศักดิ์, เมืองโขง และเมืองอัตตะปือ ยึดได้ทั้ง 3 เมือง แล้ว ประหารชีวิต เจ้าโอ, เจ้าอิน และเจ้าอุปฮาดเมืองจำปาศักดิ์ ทำให้เมืองจำปาศักดิ์ เมืองอัตตะปือ และ ดินแดนตอนใต้ของประเทศลาวตกลงมาเป็นของไทย อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์จึงขาดจากความเป็นรัฐเอกราชกลายมาเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรธนบุรีในปีเดียวกัน หลังจากจบศึก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาจักรี เป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพิลึกมหึมาทุกนัคราระเดชนเรศวรราชสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งสมุหนายก นับเป็นการพระราชทานยศสูงที่สุดเท่าที่เคยมี[2]
หลังอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ตกเป็นประเทศราชของไทยแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2334 ได้เกิดกบฏขึ้นในนครจำปาศักดิ์ทำให้เจ้าไชยกุมารต้องเสด็จหนีแล้วไปสวรรคตในป่า แต่ท้าวฝ่ายหน้า ผู้กำกับดูแลไพร่พลแห่งบ้านสิงห์ท่า (จังหวัดยโสธร) กับพระปทุมสุรราช (คำผง) นายกองคุมเลกเมืองจำปาศักดิ์ แห่งบ้านห้วยแจระแม (จังหวัดอุบลราชธานี) ได้ยกกองกำลังไปปราบกบฏและตีเอาเมืองจำปาศักดิ์คืนมาได้ ทำให้ท้าวฝ่ายหน้าได้รับแต่งตั้งจากไทยให้เป็นพระประเทศราชครองนครจำปาศักดิ์มีนามว่า พระวิไชยราชขัตติยวงศา
เมื่อพระวิไชยราชขัตติยวงศาถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2350 ฝ่ายไทยจึงได้แต่งตั้งเจ้านู พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าไชยกุมาร ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน แต่ก็ถึงแก่พิราลัย หลังรับสุพรรณบัตรเจ้าเมืองได้เพียง 3 วัน ฝ่ายไทยจึงได้แต่งตั้งให้เจ้าหมาน้อย โอรสของเจ้าอุปราชสุริโย เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ต่อมาเกิดกบฏอ้ายสาเกียดโง้งขึ้นในเมือง ทำให้เจ้าหมาน้อยถูกส่งตัวลงไปยังกรุงเทพฯ และได้ถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2370 เจ้าราชบุตรโย้ โอรสของเจ้าอนุวงศ์ ที่มีความชอบจากการปราบกบฏอ้ายสา จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้น เจ้าราชบุตรโย้จึงถูกเจ้าฮุยจับตัวส่งให้แก่ทางกรุงเทพฯ เจ้าฮุยจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ใน พ.ศ. 2371
เมื่อเจ้าฮุยถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2384 เจ้านาคผู้เป็นอุปราชจึงได้ครองเมืองสืบแทน จนถึงแก่พิราลัยด้วยอหิวาตกโรคใน พ.ศ. 2396 ทางฝ่ายไทยจึงได้แต่งตั้งเจ้าคำใหญ่ ผู้เป็นโอรสของเจ้าฮุย ขึ้นเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ มีนามว่า เจ้ายุติธรรมธร (คำใหญ่) จนถึง พ.ศ. 2402 ก็ถึงแก่กรรม เจ้าคำสุกผู้เป็นอนุชาจึงได้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์สืบแทน มีพระนามว่า เจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) พระองค์ได้ส่งบุตรชายทั้ง 3 ไปยังกรุงเทพฯจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ทั้งสามคนได้แก่ เจ้าราชดนัย (หยุย) เจ้าศักดิ์ประสิทธิ์ (เจ้าเบง) และเจ้าศักดิ์ประเสริฐ (เจ้าอุย)
เมื่อเกิดกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส ฝ่ายไทยได้ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2446 เมื่อเจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) ถึงแก่พิราลัย เจ้าราชดนัย (หยุย) ก็ได้รับแต่งตั้งจากฝรั่งเศสให้เป็นผู้ว่าการนครจำปาศักดิ์ ดังนั้นอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์จึงมีฐานะเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
ผู้ปกครองอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ก่อนปี พ.ศ. 2322 อันเป็นปีที่เสียเอกราชแก่อาณาจักรสยามนั้น มีสถานะเป็นพระมหากษัตริย์ของอาณาจักรเอกราช นับตั้งแต่ พ.ศ. 2322 เป็นต้นไปถือว่าเป็นเจ้าผู้ครองนคร ยกเว้นผู้ครองนครองค์ที่ 3 ที่เป็นแค่ชั้นขุนนางสยาม ที่มีบรรดาศักดิ์ คือ พระประเทศราช มิได้เป็นกษัตริย์หรือเจ้าครองนครแต่อย่างใด เนื่องจากสถานะของอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์เป็นประเทศราชของอาณาจักรสยาม ในบางสมัยปรากฏว่าเมื่อเจ้าผู้ครองนครถึงแก่พิราลัย เจ้าอุปราชจะเป็นผู้รักษาราชการไปก่อนจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งลงมาจากกรุงเทพมหานคร
ลำดับ | รายพระนาม | พุทธศักราช | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
1 | สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร | 2256 - 2280 | พระราชนัดดาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งเวียงจันทน์ |
2 | สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร | 2280 - 2334 | พระราชโอรสของพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ เสียเอกราชให้ไทย พ.ศ. 2319 |
3 | พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (ท้าวฝ่ายหน้า) | 2334 - 2354 | ขุนนางสยาม ตำแหน่งบรรดาศักดิ์ คือ พระประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ พระโอรสพระวรราชปิตา (พระตา) เจ้าผู้ครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) อันสืบเชื้อสายมาแต่เจ้าอุปราชนอง แห่งนครเวียงจันทน์ และมีศักดิ์เป็นพระอนุชาพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช |
4 | เจ้านู | 2354 | นัดดาพระเจ้าองค์หลวงฯ ถึงแก่พิราลัยหลังรับสุพรรณบัตรเจ้าเมืองได้ 3 วัน |
5 | เจ้าหมาน้อย | 2356 - 2360 | นัดดาพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ |
6 | เจ้าราชบุตร (โย้) | 2362 - 2370 | พระราชโอรสของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ร่วมกับเจ้าอนุวงศ์ประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2369-70 |
7 | เจ้าฮุย | 2371 - 2383 | นัดดาพระเจ้าองค์หลวงฯ พระโอรสของเจ้าโอ เจ้าเมืองอัตปือ |
8 | เจ้านาค | 2384 - 2393 | เชษฐาของเจ้าฮุย พระโอรสของเจ้าโอ เจ้าเมืองอัตปือ |
9 | เจ้าบัว | 2396 - 2398 | หนังสือ ลำดับกษัตริย์ลาว ระบุว่า ยุคนี้ว่างเจ้าผู้ครองนคร 5 ปี (2394-98) |
10 | เจ้ายุติธรรมสุนทร (คำใหญ่) | 2399 - 2401 | โอรสเจ้าฮุย, หลังถึงแก่พิราลัย เจ้าอุปราช (จู) รักษาราชการแทน |
11 | เจ้ายุติธรรมธร (คำสุก ณ จำปาศักดิ์) | 2405 - 2443 | โอรสเจ้าฮุย อนุชาเจ้ายุติธรรมสุนทร (คำใหญ่) |
12 | เจ้ายุติธรรมธร (หยุย ณ จำปาศักดิ์) | 2443 - 2489 | โอรสเจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) หลัง พ.ศ. 2446 ฝรั่งเศสลดฐานะเป็นผู้ว่าราชการนครจำปาศักดิ์ ต่อมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ ภายใต้การปกครองของไทย พ.ศ. 2484 - 2489 |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.