Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาชญากรรมสงครามของรัสเซีย เป็นการละเมิดกฎหมายอาญาระหว่างประเทศที่ครอบคลุมถึงอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[1] ซึ่งกองกำลังติดอาวุธทางการและกองกำลังรบกึ่งทหารของรัสเซียถูกกล่าวโทษว่าก่อขึ้นตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1991 ข้อกล่าวโทษนี้ยังหมายรวมถึงการช่วยเหลือและการสนับสนุนอาชญากรรมที่ก่อขึ้นโดยรัฐหุ่นเชิดหรือหน่วยการเมืองคล้ายรัฐที่ได้รับอาวุธและเงินทุนจากรัสเซียซึ่งรวมถึงสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์และสาธารณรัฐประชาชนดอแนตสก์ อาชญากรรมสงครามเหล่านี้ได้แก่การฆ่าคน การทรมาน การก่อการร้าย การเนรเทศหรือการบังคับให้พลัดถิ่น การลักพาตัว การข่มขืนกระทำชำเรา การฉกชิงทรัพย์ การกักขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การโจมตีทางอากาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือการโจมตีวัตถุพลเรือน และการทำลายล้างโดยขาดความยับยั้งชั่งใจ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรตส์วอตช์ได้บันทึกอาชญากรรมสงครามของรัสเซียในเชชเนีย[2][3][4] จอร์เจีย[5][6] ยูเครน[7][8][9][10] และซีเรีย[11][12][13][14] องค์การแพทย์ไร้พรมแดนยังได้บันทึกอาชญากรรมสงครามในเชชเนียด้วย[15] ใน ค.ศ. 2017 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) รายงานว่ารัสเซียใช้ระเบิดลูกปรายและอาวุธเพลิงในซีเรีย ซึ่งก่อให้เกิดอาชญากรรมสงครามจากการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมายในพื้นที่ที่มีพลเรือนอาศัยอยู่[16] โอเอชซีเอชอาร์ยังพบว่ารัสเซียกระทำความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครนใน ค.ศ. 2022[17] และ 2023[18] เมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 2022 องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) เผยแพร่รายงานที่พบว่ารัสเซียกระทำความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงครามจากการโจมตีทางอากาศใส่โรงพยาบาลในเมืองมารีอูปอล ในขณะที่การฆ่าโดยเลือกเป้าหมายและการบังคับให้สูญหายหรือการลักพาตัวพลเรือน (รวมถึงนักข่าวและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น) ที่รัสเซียก่อขึ้นอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วย[19]
เมื่อถึง ค.ศ. 2009 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ออกคำตัดสินในคดี 115 คดี (รวมถึงคำตัดสินในคดีระหว่างไบซาเยวากับรัสเซีย) โดยตัดสินว่ารัฐบาลรัสเซียมีความผิดฐานบังคับให้สูญหาย ฆ่าคน ทรมาน และไม่สอบสวนอาชญากรรมเหล่านั้นอย่างเหมาะสมในเชชเนีย[20] ใน ค.ศ. 2021 ศาลฯ ยังตัดสินให้รัสเซียมีความผิดฐานฆ่าคน ทรมาน ฉกชิงทรัพย์ และทำลายบ้านเรือนในจอร์เจีย รวมทั้งขัดขวางไม่ให้ชาวจอร์เจียพลัดถิ่นจำนวน 20,000 คนกลับไปยังดินแดนของตน[21][22][23]
บรรดาประเทศตะวันตกได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศในวงกว้างต่อเจ้าหน้าที่รัสเซียสองครั้งใน ค.ศ. 2014 และ 2022 อันเป็นผลมาจากการที่รัสเซียเข้าไปมีส่วนพัวพันกับสงครามในยูเครน[24][25] ใน ค.ศ. 2016 รัสเซียถอนการลงนามของตนออกจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) เมื่อไอซีซีเริ่มสอบสวนการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการผนวกไครเมียเข้ากับรัสเซีย[26][27] จากนั้นใน ค.ศ. 2022 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติผ่านข้อมติที่ อีเอส-11/3 ให้ระงับรัสเซียจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) อย่างเป็นทางการเนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบของรัสเซียในยูเครน เจ้าหน้าที่รัสเซียหลายคนถูกศาลท้องถิ่นตัดสินว่ามีความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงครามทั้งในเชชเนียและยูเครน ในที่สุดใน ค.ศ. 2023 ไอซีซีออกหมายจับวลาดีมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน
หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1991 เชชเนียประกาศเอกราชจากรัสเซีย รัสเซียไม่ยอมรับการประกาศเอกราชดังกล่าวและพยายามกลับเข้าไปควบคุมเชชเนียอีกครั้ง จุดประกายความตึงเครียดซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบเมื่อทหารรัสเซีย 25,000 นายข้ามเข้าสู่เชชเนียเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1994[28] สงครามสิ้นสุดลงด้วยความเป็นอิสระโดยพฤตินัยของเชชเนียและการถอนทหารของรัสเซียใน ค.ศ. 1996 อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับเชชเนียยังคงปรากฏอยู่และบานปลายต่อไปจนกระทั่งสงครามครั้งที่สองปะทุขึ้นใน ค.ศ. 1999 รัสเซียปราบปรามการก่อความไม่สงบจนกระทั่ง ค.ศ. 2009 สงครามจึงสิ้นสุดเมื่อรัสเซียสามารถควบคุมเชชเนียได้อย่างสมบูรณ์และจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นที่สนับสนุนรัสเซีย ระหว่างนี้เกิดอาชญากรรมสงครามขึ้นหลายครั้งซึ่งส่วนใหญ่กองทัพรัสเซียเป็นผู้ก่อ[29][30] นักวิชาการบางคนประเมินว่าความโหดร้ายของการโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดเล็กเช่นนั้นถือเป็นอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[31][32]
ระหว่างสงครามทั้งสองครั้ง ชาวเชเชนถูกลดทอนความเป็นมนุษย์และโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียเรียกพวกเขาว่า "พวกไอ้มืด" "พวกโจรเถื่อน" "พวกก่อการร้าย" "พวกแมลงสาบ" และ "พวกเรือด" กองทัพรัสเซียก่ออาชญากรรมสงครามจำนวนมากในเชชเนีย[33]
ตลอดช่วงสงครามเชเชนครั้งที่หนึ่ง องค์การสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ กล่าวโทษกองกำลังรัสเซียว่าเริ่มทำสงครามอันโหดร้ายโดยปราศจากการคำนึงถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้พลเรือนเชเชนได้รับบาดเจ็บโดยไม่จำเป็นนับหมื่นคน กลยุทธ์หลักในความพยายามทำสงครามของรัสเซียคือการใช้ปืนใหญ่หนักและการโจมตีทางอากาศซึ่งนำไปสู่การโจมตีพลเรือนโดยไม่เลือกเป้าหมายหลายครั้ง รายงานของฮิวแมนไรตส์วอตช์ระบุว่า การรบครั้งนี้ "เหนือกว่าการรบครั้งใด ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งในแง่ขอบข่ายและในแง่การทำลายล้าง ตามมาด้วยการโจมตีพลเรือนทั้งโดยเจาะจงและไม่เจาะจงเป้าหมายเป็นเวลาหลายเดือน"[34]
อาชญากรรมเหล่านั้นรวมถึงการใช้อาวุธต้องห้ามอย่างระเบิดลูกปรายในการโจมตีเมืองชาลี ค.ศ. 1995 ซึ่งกำหนดเป้าหมายไปที่ตลาด สถานีบริการน้ำมัน และโรงพยาบาล[35][36][37] และในการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านซามัชกีในเดือนเมษายน ค.ศ. 1995 ซึ่งมีการประเมินไว้ว่ามีพลเรือนเสียชีวิตระหว่างการโจมตีมากถึง 300 คน[38] กองกำลังรัสเซียดำเนินปฏิบัติการซาชิสต์กาหรือการตรวจค้นบ้านเรือนหลังต่อหลังทั่วทั้งหมู่บ้าน ทหารของรัฐบาลกลางโจมตีพลเรือนและที่อยู่อาศัยของพลเรือนในซามัชกีอย่างจงใจและตามอำเภอใจโดยยิงชาวบ้านและเผาบ้านเรือนด้วยเครื่องพ่นไฟ พวกเขาเปิดฉากยิงหรือขว้างระเบิดมือเข้าไปในห้องใต้ดินซึ่งมีชาวบ้าน (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คนชรา และเด็ก) ซ่อนตัวอยู่[39] กองทหารรัสเซียยังจงใจเผาศพจำนวนมากทั้งโดยการโยนศพเข้าไปในบ้านที่กำลังลุกไหม้และการจุดไฟเผาโดยตรง[40]
ระหว่างยุทธการที่เมืองกรอซนืยครั้งที่หนึ่ง การโจมตีทางอากาศและการยิงระเบิดจากปืนใหญ่ของรัสเซียได้รับการอธิบายว่าเป็นปฏิบัติการทิ้งระเบิดที่หนักหน่วงที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่การทิ้งระเบิดที่เดรสเดินในสงครามโลกครั้งที่สอง[41] ดมีตรี วอลโคโกนอฟ นักประวัติศาสตร์และนายพลชาวรัสเซีย กล่าวว่าการโจมตีกรอซนืยของกองทัพรัสเซียได้คร่าชีวิตพลเรือนไปประมาณ 35,000 คน ในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ 5,000 คน[42] พฤติการณ์นี้ส่งผลให้แหล่งข่าวจากโลกตะวันตกและจากเชชเนียบรรยายยุทธวิธีของรัสเซียว่าเป็นการใช้ระเบิดข่มขวัญโดยเจตนา[43] การสังหารนองเลือดในกรอซนืยทำให้ทั้งรัสเซียและโลกภายนอกตกตะลึง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์สงครามอย่างรุนแรง ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศจากองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) บรรยายภาพเหตุการณ์ดังกล่าวว่าไม่ต่างอะไรจาก "หายนะที่ไม่อาจจินตนาการได้" ในขณะที่มีฮาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต เรียกสงครามครั้งนี้ว่าเป็น "เหตุนองเลือดที่น่าอดสู" ส่วนเฮ็ลมูท โคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เรียกสงครามครั้งนี้ว่าเป็น "ความบ้าคลั่งล้วน ๆ"[44]
ในรายงานเดือนมีนาคม ค.ศ. 1996 คณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกล่าวโทษกองทหารรัสเซียว่ายิงสังหารพลเรือนที่จุดตรวจพลเรือนและประหารชีวิตทั้งพลเรือนและเชลยศึกเชเชนอย่างรวบรัด[30] มีสองกรณีที่เกี่ยวข้องกับการที่ทหารรัสเซียยิงสังหารเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่พยายามช่วยชีวิตพลเรือนจากการถูกประหารบนถนนสายหนึ่งในกรอซนืย เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองกำลังกระทรวงมหาดไทยรัสเซียยิงใส่ทหารกลุ่มหนึ่งที่ปฏิเสธที่จะฆ่าประชากรพลเรือน[30]
สงครามเชเชนครั้งที่สองซึ่งเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1999 นั้นมีความโหดร้ายยิ่งกว่าสงครามครั้งก่อน[45][46] นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนรายงานว่ากองทัพรัสเซียก่ออาชญากรรมต่าง ๆ ในเชชเนียอย่างเป็นระบบ ได้แก่ การทำลายเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรด้านความจำเป็นทางทหาร, การยิงและการทิ้งระเบิดใส่ถิ่นฐานที่ไม่มีระบบป้องกันภัย, การประหารชีวิตอย่างรวบรัดนอกกระบวนการยุติธรรมและการฆ่าพลเรือน, การทรมาน การปฏิบัติอย่างทารุณ และการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, การก่ออันตรายทางร่างกายอย่างร้ายแรงโดยเจตนาต่อบุคคลที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสู้รบโดยตรง, การจงใจโจมตีประชากรพลเรือนรวมทั้งยานพาหนะของพลเรือนและทางการแพทย์, การกักขังประชากรพลเรือนอย่างผิดกฎหมาย, การบังคับบุคคลให้สูญหาย, การฉกชิงทรัพย์และการทำลายทรัพย์สินของพลเรือนและสาธารณะ, การกรรโชก, การจับตัวประกันเรียกค่าไถ่ และการค้าศพ[47][48][49] นอกจากนี้ยังมีการข่มขืนกระทำชำเรา[50][51][52] โดยมีผู้เสียหายเป็นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย[53][54][55][56][57][58]
อาชญากรรมบางประการที่รัสเซียก่อขึ้นต่อประชากรพลเรือนในเชชเนีย ได้แก่ การโจมตีพลเรือนในหมู่บ้านเอลิสตันจีด้วยระเบิดลูกปรายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1999 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก;[59][60] การโจมตีเมืองกรอซนืยด้วยขีปนาวุธทิ้งตัวเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม กองทัพอากาศรัสเซียยิงขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง 10 ลูกใส่เมืองโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าและพุ่งเป้าไปที่โรงพยาบาลผดุงครรภ์ ที่ทำการไปรษณีย์ มัสยิด และตลาดที่มีผู้คนพลุกพล่าน[61][62][63] ประมาณกันว่าการโจมตีครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คนในทันที และบาดเจ็บอีกถึง 400 คน; การทิ้งระเบิดใส่ทางหลวงสายบากู–รอสตอฟเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม กองทัพอากาศรัสเซียโจมตีกระหน่ำด้วยจรวดใส่ขบวนรถผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ที่พยายามเดินทางสู่อิงกูเชเตียโดยใช้ "ทางออกที่ปลอดภัย";[64] เหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1999 เมื่อทหารรัสเซียเปิดฉากยิงใส่ขบวนรถผู้ลี้ภัยขบวนหนึ่งที่ติดธงขาว[65]
ระหว่างการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านอัลคัน-ยูร์ต ทหารรัสเซียก่อเหตุไล่ฆ่าชาวบ้านอย่างบ้าคลั่ง รวมทั้งประหารชีวิตอย่างรวบรัด ข่มขืนกระทำชำเรา ทรมาน ฉกชิงทรัพย์ เผาทำลาย และฆ่าใครก็ตามที่ขวางทางพวกเขา การสังหารเกือบทั้งหมดกระทำโดยทหารรัสเซียที่กำลังฉกชิงทรัพย์สิน[66] ความพยายามของพลเรือนที่จะหยุดยั้งความบ้าคลั่งมักต้องพบกับความตาย[67] ทางการรัสเซียไม่มีความพยายามอย่างจริงจังที่จะนำตัวผู้ก่ออาชญากรรมที่อัลคัน-ยูร์ตเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คำให้การของพยานที่น่าเชื่อถือบ่งชี้ว่าผู้นำรัสเซียในพื้นที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแต่เลือกที่จะเพิกเฉยเสีย[66] ผู้นำทหารรัสเซียมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียง "เทพนิยาย" โดยอ้างว่าศพถูกนำไปวางไว้และอ้างว่าเหตุไล่ฆ่าคนที่นั่นเป็นเรื่องที่กุขึ้นเพื่อทำลายชื่อเสียงของกองทัพรัสเซีย[68] วลาดีมีร์ ชามานอฟ นายพลของรัสเซีย ปฏิเสธความคิดที่จะให้ทหารในบังคับบัญชารับผิดชอบต่อการล่วงละเมิดในอัลคัน-ยูร์ตโดยกล่าวกับนักข่าวว่า "อย่าบังอาจแตะต้องทหารกับเจ้าหน้าที่กองทัพรัสเซีย การกระทำของพวกเขาทุกวันนี้เป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์นั่นคือการปกป้องรัสเซีย และอย่าบังอาจทำให้ทหารรัสเซียแปดเปื้อนด้วยมือสกปรก [เจตนาไม่บริสุทธิ์] ของพวกคุณ!"[66]
ในการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านโนวืยเยอัลดืยซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดระหว่างสงคราม กองกำลังรัสเซียดำเนินปฏิบัติการกวาดล้างหมู่บ้านซึ่งประกอบด้วยการฉกชิงทรัพย์ การลอบวางเพลิง การประหารชีวิตอย่างรวบรัด การฆ่า และการข่มขืนกระทำชำเราพลเรือนเชเชน[69][70][71] โดยหนึ่งวันก่อนหน้านั้น ทหารรัสเซียได้โจมตีหมู่บ้านด้วยระเบิดลูกปรายแล้วบอกให้ชาวบ้านออกจากห้องใต้ดินในวันรุ่งขึ้นเพื่อเข้ารับการตรวจเอกสารประจำตัว[72] แต่เมื่อเข้าไปในหมู่บ้าน ทหารรัสเซียกลับยิงชาวบ้านในระยะเผาขนอย่างเลือดเย็นด้วยอาวุธอัตโนมัติ เหยื่อมีตั้งแต่ทารกชายอายุ 1 ปีไปจนถึงหญิงชราอายุ 82 ปี[70] เหยื่อบางรายถูกทหารรัสเซียเรียกเอาเงินหรือเครื่องประดับซึ่งถูกใช้เป็นข้ออ้างในการประหารหากจำนวนที่ได้มาไม่เพียงพอ ทหารรัฐบาลกลางเลาะฟันทองและฉกชิงทรัพย์สินอื่น ๆ จากศพเหยื่อ การสังหารเกิดขึ้นร่วมกับการเผาศพเพื่อทำลายหลักฐานการประหารชีวิตอย่างรวบรัดและการสังหารประเภทอื่น ๆ มีการข่มขืนกระทำชำเราหลายกรณี ในกรณีหนึ่ง ทหารรัสเซียรุมโทรมหญิงหลายรายก่อนจะบีบคอพวกเธอจนเสียชีวิต[70] การปล้นสะดมขนานใหญ่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน โดยทหารรัสเซียบุกปล้นบ้านพลเรือนในเวลากลางวันแสก ๆ ความพยายามใด ๆ ที่จะทำให้ทางการรัสเซียรับผิดชอบต่อเหตุสังหารหมู่ครั้งนี้ถูกปฏิเสธอย่างขุ่นเคือง ฮิวแมนไรตส์วอตช์บรรยายลักษณะการตอบสนองของทางการรัสเซียว่า "เป็นไปตามสูตร" โฆษกคนหนึ่งของกระทรวงกลาโหมรัสเซียประกาศว่า "คำกล่าวยืนยันเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องเสริมแต่งที่ไม่มีข้อเท็จจริงหรือหลักฐานใด ๆ มาสนับสนุน ... [และ] ควรถูกมองว่าเป็นการยั่วยุโดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความเสื่อมเสียแก่ปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้ายในเชชเนียของกองกำลังรัฐบาลกลาง"[72][70] พยานผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งยังกล่าวอีกว่าเจ้าหน้าที่สืบสวนจากหน่วยความมั่นคงกลางของรัสเซียบอกเธอว่าผู้ก่อเหตุสังหารหมู่ครั้งนี้น่าจะเป็นนักรบเชเชน "ที่ปลอมตัวเป็นทหารของรัฐบาลกลาง"[73]
ระหว่างการสังหารหมู่ที่เขตสตาโรโปมึสลอฟสกีของเมืองกรอซนืยตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1999 ถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 2000 เป็นที่ปรากฏชัดว่าทหารรัสเซียได้ก่ออาชญากรรมอย่างบ้าคลั่ง โดยต้อนจับพลเรือนและประหารชีวิตพวกเขาอย่างรวบรัด[74][75] อาชญากรรมที่เกิดขึ้นยังรวมถึงการฉกชิงทรัพย์และการลอบวางเพลิงอย่างกว้างขวาง ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อรวมถึงสมาชิกทั้งเก้าของทั้งครอบครัวซูบาเยฟซึ่งมีรายงานว่าถูกยิงเสียชีวิตบนถนนด้วยปืนกลหนัก (น่าจะมาจากยานพาหนะหุ้มเกราะ)[76] ในกรณีหนึ่ง ทหารรัสเซียกราดยิงพลเรือนที่หลบซ่อนอยู่ในห้องใต้ดิน ผู้รอดชีวิตรายหนึ่งเล่าว่า หลังจากที่พลเรือนตะโกนบอกทหารว่า "อย่ายิงพวกเรา พวกเราเป็นชาวบ้าน" ทหารก็สั่งให้พวกเขาออกจากห้องใต้ดินโดยยกมือขึ้น แต่เมื่อออกมาแล้วทหารก็สั่งให้พวกเขากลับลงไปอีก จากนั้นทหารก็ปาระเบิดมือหลายลูกใส่พวกเขา ผู้ที่รอดชีวิตถูกสั่งให้ออกมาจากห้องใต้ดินอีกครั้ง จากนั้นทหารรัสเซียก็ใช้ปืนกลกราดยิงพวกเขาในระยะเผาขน[74][76][75] ผู้มีส่วนร่วมในการก่อเหตุครั้งนี้ไม่ได้รับการลงโทษใด ๆ จากทางการรัสเซีย
การล้อมและการทิ้งระเบิดใส่เมืองกรอซนืยใน ค.ศ. 1999–2000 ทำให้พลเรือนหลายหมื่นคนเสียชีวิต[77] กองทัพรัสเซียยื่นคำขาดระหว่างการปิดล้อมโดยเรียกร้องให้ชาวเชเชนออกจากเมืองไม่เช่นนั้นจะถูกโจมตีอย่างไม่ปรานี[78] มีผู้เสียชีวิตประมาณ 300 คนขณะพยายามหลบหนีในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1999 ร่างของพวกเขาถูกฝังในหลุมศพหมู่แห่งหนึ่งในเวลาต่อมา[79] วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ให้คำมั่นว่ากองทัพจะไม่หยุดทิ้งระเบิดใส่กรอซนืยจนกว่าทหารรัสเซียจะ "ปฏิบัติภารกิจของตนให้เสร็จสิ้น" ใน ค.ศ. 2003 สหประชาชาติขนานนามกรอซนืยว่าเป็นเมืองที่ถูกทำลายมากที่สุดในโลก[80] ระเบิดที่ใช้โจมตีกรอซนืยรวมถึงระเบิดที่ถูกห้ามใช้อย่างระเบิดแรงกดดันพลังความร้อนและระเบิดเชื้อเพลิงทางอากาศซึ่งจุดชนวนอากาศของพลเรือนที่ซ่อนตัวอยู่ในห้องใต้ดิน[81][82] นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้อาวุธเคมีที่ถูกห้ามใช้ตามกฎหมายเจนีวาด้วย[83]
มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศถูกทหารรัสเซียฆ่าระหว่างสงครามในเชชเนียด้วย เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1996 ผู้แทน 6 คนจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศถูกกลุ่มมือปืนสวมหน้ากากยิงสังหารขณะนอนหลับที่โรงพยาบาลสนามของคณะกรรมการฯ ในเมืองโนวืยเย-อะตากีใกล้เมืองกรอซนืย[84] ใน ค.ศ. 2010 พันตรี อะเลคเซย์ โปติออมกิน เจ้าหน้าที่กองกำลังพิเศษของรัสเซีย อ้างว่าผู้ก่อเหตุฆาตกรรมดังกล่าวคือเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงกลาง[85] รายงานฉบับหนึ่งใน ค.ศ. 2004 ระบุว่าทหารรัสเซียใช้การข่มขืนกระทำชำเราเป็นเครื่องมือในการทรมานชาวเชเชน[86] หมู่บ้าน 380 แห่งจากทั้งหมด 428 แห่งในเชชเนียถูกโจมตีด้วยระเบิดระหว่างการสู้รบ ส่งผลให้ครัวเรือนร้อยละ 70 ถูกทำลาย[87]
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเมินว่าพลเรือน 20,000–30,000 คนถูกฆ่าไปแล้วเฉพาะในสงครามเชเชนครั้งที่หนึ่งเพียงสงครามเดียว โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมายของกองกำลังรัสเซียในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น[88] และประเมินว่าพลเรือนอีก 25,000 คนเสียชีวิตในสงครามเชเชนครั้งที่สอง[89] แหล่งข้อมูลอีกแหล่งหนึ่งสันนิษฐานว่ามีพลเรือน 40,000–45,000 คนเสียชีวิตในความขัดแย้งครั้งที่สอง[90] ในขณะเดียวกัน ใน ค.ศ. 1996 อะเลคซันดร์ เลเบด เลขาธิการสภาความมั่นคงรัสเซียในขณะนั้น กล่าวว่ามีผู้เสียชีวิต 80,000 คนในสงครามครั้งแรก[91] เมื่อรวมกับกองกำลังทหารแล้ว นักประวัติศาสตร์ประเมินว่าประชากรเชเชนมากถึงหนึ่งในสิบเสียชีวิตในสงครามครั้งแรก[92] (กล่าวคือ 100,000 คนจาก 1,000,000 คน)[93] การประมาณการอย่างรัดกุมสันนิษฐานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100,000–150,000 คนระหว่างความขัดแย้งทั้งสองครั้ง[94] ในขณะที่การประมาณการโดยเจ้าหน้าที่เชเชนและชาวเชเชนสันนิษฐานว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 200,000–300,000 คนในสงครามทั้งสองครั้ง[95][96]
นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง มีหลุมศพหมู่ในเชชเนียที่ได้รับการบันทึกไว้ถึง 57 แห่ง[97]
นอกจากนี้ ฮิวแมนไรตส์วอตช์ยังได้บันทึกกรณีบังคับบุคคลให้สูญหายในเชชเนียระหว่าง ค.ศ. 1999–2005 ไว้ถึง 3,000–5,000 กรณี และจัดว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
สมาคมเพื่อผู้คนที่ถูกคุกคามซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐที่ตั้งอยู่ในเยอรมนีกล่าวโทษทางการรัสเซียว่าได้ดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรายงานว่าด้วยเชชเนียของสมาคมฯ เมื่อ ค.ศ. 2005[98]
ภายหลังการยกระดับความรุนแรงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 2008 ระหว่างจอร์เจียกับเซาท์ออสซีเชียซึ่งประกาศแยกตัวเป็นอิสระ กองกำลังรัสเซียได้บุกข้ามพรมแดนระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม และโจมตีทหารจอร์เจียเพื่อสนับสนุนเซาท์ออสซีเชีย[99][100][101] ทหารรัสเซียยังบุกข้ามพรมแดนมายังอับคาเซียซึ่งเป็นอีกภูมิภาคที่ประกาศแยกตัวจากจอร์เจียและบุกยึดครองเมืองต่าง ๆ ของจอร์เจียนอกเขตพิพาทได้จำนวนหนึ่ง สงครามสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ด้วยข้อตกลงหยุดยิงที่มีนักการทูตระหว่างประเทศเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย รัสเซียถอนทหารออกจากจอร์เจียนอกเขตพิพาทและดำเนินการรับรองเซาท์ออสซีเชียและอับคาเซียเป็นประเทศเอกราช แต่นักวิชาการบางคนอธิบายว่าแท้จริงแล้วทั้งสองภูมิภาคได้กลายเป็นดินแดนในอารักขาของรัสเซียเท่านั้น[102]
ฮิวแมนไรตส์วอตช์รายงานว่าไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่ากองทัพจอร์เจียจงใจโจมตีผู้ไม่มีหน้าที่ทำการรบในความขัดแย้งครั้งนี้[103]
เครื่องบินรบของรัสเซียทิ้งระเบิดใส่ศูนย์กลางประชากรทั้งในจอร์เจียนอกเขตพิพาทและในหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์จอร์เจียที่เซาท์ออสซีเชีย[5] กองกำลังติดอาวุธออสซีเชียมีส่วนร่วมในการปล้นทรัพย์ การลอบวางเพลิง และการลักพาตัวพลเรือนชาติพันธุ์จอร์เจียในพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้พลเรือนชาติพันธุ์จอร์เจียต้องหนีออกจากบ้านเรือนของพวกเขา[5] แต่รัสเซียก็ยังโจมตีขบวนรถพลเรือนที่พยายามหลบหนีจากพื้นที่สู้รบในเซาท์ออสซีเชียและเขตเทศบาลกอรีของจอร์เจีย[5]
การใช้ระเบิดลูกปรายของทหารรัสเซียทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต[104] แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวโทษรัสเซียว่าจงใจทิ้งระเบิดและโจมตีพื้นที่พลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานพลเรือนซึ่งถือเป็นอาชญากรรมสงคราม[6] แต่รัสเซียปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้ระเบิดลูกปราย[105] พลเรือนชาวจอร์เจีย 228 คนเสียชีวิตในความขัดแย้งครั้งนี้[101]
นอกจากนี้ กองทัพรัสเซียยังไม่ดำเนินมาตรการใด ๆ เพื่อยับยั้งการล้างชาติพันธุ์จอร์เจียในเซาท์ออสซีเชียส่วนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของตน[106][107]
หลังการปฏิวัติยูเครนใน ค.ศ. 2014 วิกตอร์ ยานูกอวึช ประธานาธิบดียูเครนที่นิยมรัสเซีย ถูกขับออกจากตำแหน่งและหลบหนีไปยังรัสเซีย และรัฐบาลยูเครนชุดใหม่แสดงจุดยืนสนับสนุนการรวมกลุ่มสหภาพยุโรป รัสเซียตอบโต้ด้วยการผนวกไครเมียซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อมติที่ 68/262[108] ส่วนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่นิยมรัสเซียก็ประกาศจัดตั้งหน่วยการเมืองคล้ายรัฐโนโวรอสซียาซึ่งไม่มีชาติใดรับรองโดยมีเจตนาแยกตัวออกจากยูเครน จุดประกายการก่อการกำเริบซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่สงครามในภูมิภาคดอนบัสทางตะวันออกของยูเครน รัสเซียปฏิเสธว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามในดอนบัส แต่หลักฐานหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่ารัสเซียคอยหนุนหลังกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่นิยมรัสเซีย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวโทษรัสเซียว่า "สุมไฟให้เกิดอาชญากรรมโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดน" และเรียกร้องให้ "ทุกฝ่ายรวมทั้งรัสเซียหยุดการละเมิดกฎแห่งสงคราม"[8]
ฮิวแมนไรตส์วอตช์ระบุว่ากลุ่มผู้ก่อการกำเริบที่นิยมรัสเซีย "ล้มเหลวในการใช้มาตรการป้องกันที่เป็นไปได้ทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงการวางกำลังในพื้นที่พลเรือน" และในกรณีหนึ่ง "พวกเขายังเคลื่อนกำลังเข้าไปใกล้พื้นที่ที่มีประชากรมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการยิงของกองกำลังรัฐบาล"[109] ฮิวแมนไรตส์วอตช์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเลิกใช้ระบบยิงจรวดกราดซึ่ง "ขึ้นชื่อเรื่องความไม่แม่นยำ"[109]
รายงานอีกฉบับหนึ่งของฮิวแมนไรตส์วอตช์กล่าวว่ากลุ่มผู้ก่อการกำเริบ "มีพฤติการณ์บ้าคลั่ง ... จับตัว ทุบตี และทรมานตัวประกัน รวมทั้งข่มขู่และทุบตีผู้นิยมยูเครนอย่างไม่ยั้งมือ"[110] รายงานฉบับเดียวกันยังกล่าวด้วยว่ากลุ่มผู้ก่อการกำเริบได้ทำลายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ข่มขู่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และยึดครองโรงพยาบาล สมาชิกคนหนึ่งของฮิวแมนไรตส์วอตช์ร่วมเป็นสักขีพยานในการขุดศพขึ้นจาก "หลุมศพหมู่" แห่งหนึ่งในเมืองสลอวิยันสก์ซึ่งได้รับการเปิดเผยหลังจากที่ผู้ก่อการกำเริบถอยออกจากเมือง[110]
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 2014 ซึ่งเป็นวันเอกราชยูเครน กลุ่มผู้ก่อการกำเริบที่มีปืนเล็กยาวติดดาบปลายปืนบังคับให้เชลยศึกยูเครนหลายสิบคนเดินขบวนไปตามถนนสายต่าง ๆ ในเมืองดอแนตสก์[111][112] เชลยศึกถูกมัดมือไพล่หลัง เนื้อตัวมีรอยฟกช้ำ ตลอดการเดินขบวนมีการเล่นเพลงชาตินิยมรัสเซียจากลำโพงขยายเสียงและมีคนในฝูงชนตะโกนเย้ยหยันเชลยศึกด้วยคำเสื่อมเสียอย่าง "ไอ้พวกฟาสซิสต์" หลังขบวนเชลยศึกมีรถทำความสะอาดถนนขับตามเพื่อ "ชำระล้าง" พื้นถนนที่พวกเขาเพิ่งเดินเหยียบไป[111] ฮิวแมนไรตส์วอตช์กล่าวว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดมาตรา 3 ร่วมของอนุสัญญาเจนีวาอย่างชัดเจน มาตราดังกล่าวห้าม "การประทุษร้ายต่อศักดิ์ศรีของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้อับอายหรือการปฏิบัติที่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ฮิวแมนไรตส์วอตช์ยังกล่าวด้วยการเดินขบวนดังกล่าว "อาจถือเป็นอาชญากรรมสงคราม" ด้วย[111]
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2014 หน่วยความมั่นคงยูเครน (แอสแบอู) เผยแพร่แผนที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนก่อขึ้นซึ่งเรียกว่า "แผนที่แห่งความตาย"[113][114][115] กรณีการละเมิดที่มีรายงานไว้ในแผนที่ดังกล่าวรวมถึงค่ายกักกันและหลุมศพหมู่ ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม แอสแบอูเปิดคดีว่าด้วย "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ที่เกิดจากกองกำลังของผู้ก่อการกำเริบ[116]
รายงานฉบับหนึ่งที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ค.ศ. 2014 ได้บันทึกกรณีการประหารชีวิตอย่างรวบรัดโดยกองกำลังนิยมรัสเซีย[117] รายงานฉบับหนึ่งของฮิวแมนไรตส์วอตช์ได้บันทึกการใช้ระเบิดลูกปรายโดยกองกำลังต่อต้านรัฐบาลยูเครน[118]
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2014 อะเลคเซย์ มอซโกวอย ผู้บัญชาการกองพลน้อยปริซรัคของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ได้จัดตั้ง "ศาลประชาชน" ขึ้นในเมืองอัลแชวสก์ซึ่งตัดสินประหารชีวิตชายคนหนึ่งที่ถูกกล่าวโทษว่าข่มขืนกระทำชำเราโดยให้ฝูงชนยกมือออกเสียง[119]
ในงานแถลงข่าวที่กรุงเคียฟเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 2015 อิวัน ชิมอนอวิช ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน ระบุว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นระหว่างความขัดแย้งครั้งนี้ส่วนใหญ่ก่อขึ้นโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดน[120]
เมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 2015 หนังสือพิมพ์ คีฟโพสต์ ได้เผยแพร่คลิปเสียงการสนทนาทางโทรศัพท์กับชายคนหนึ่งซึ่งทางหนังสือพิมพ์ระบุว่าเป็นอาร์เซน ปัฟลอฟ ผู้บัญชาการกองพันสปาร์ตาของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ชายในคลิปกล่าวว่าตนได้ฆ่าเชลยศึกยูเครนไป 15 คน และไม่สนใจว่าตนจะถูกกล่าวโทษว่าอย่างไร[121] ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานว่าพบ "หลักฐานใหม่" ของการฆ่าทหารยูเครนอย่างรวบรัด โดยจากการตรวจสอบคลิปวิดีโอและภาพถ่ายพบว่าทหารยูเครนอย่างน้อย 4 นายถูกกลุ่มติดอาวุธที่นิยมรัสเซียยิง "ในลักษณะประหารชีวิต"[122] เดนิส ครีโวเชเยฟ รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำยุโรปและเอเชียกลาง กล่าวว่า "หลักฐานใหม่ของการฆ่าอย่างรวบรัดเหล่านี้ได้ยืนยันสิ่งที่เราสงสัยมานาน"[122] แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังกล่าวถึงคลิปเสียงที่ คีฟโพสต์ นำมาเผยแพร่ว่าเป็น "คำสารภาพที่น่าขนลุก" และเน้นย้ำถึง "ความจำเป็นเร่งด่วนของการสอบสวนโดยอิสระเกี่ยวกับกรณีนี้และข้อกล่าวโทษว่ามีการละเมิดอื่น ๆ ทั้งหมด"[122] การกระทำต่าง ๆ ของรัสเซียในยูเครนได้รับการบรรยายว่าเป็นอาชญากรรมต่อสันติภาพและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (เช่น การยิงเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 17)[123]
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 2018 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรองข้อมติที่ 73/194 โดยส่วนใหญ่เห็นพ้องและระบุว่าไครเมียอยู่ภายใต้ "การยึดครองชั่วคราว"[124] ระหว่างการปราศรัยที่สหประชาชาติในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2019 แปตรอ ปอรอแชนกอ ประธานาธิบดียูเครน ระบุว่าดินแดนยูเครนร้อยละ 7 กำลังถูกยึดครองชั่วคราว[125]
สหประชาชาติบันทึกว่าเมื่อถึง ค.ศ. 2018 สงครามในดอนบัสได้คร่าชีวิตพลเรือนไปแล้วกว่า 3,000 คน[126]
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 กองกำลังรัสเซียบุกโจมตียูเครนจากทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ การกระทำดังกล่าวถูกตีความว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของอุดมการณ์เรียกร้องดินแดนของชนชาติรัสเซีย[127][128] ฮิวแมนไรตส์วอตช์และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวโทษรัสเซียว่าใช้ระเบิดลูกปรายซึ่งไม่แม่นยำต่อเป้าหมายในพื้นที่พลเรือนรวมถึงพื้นที่ใกล้กับโรงพยาบาลและโรงเรียน ซึ่งถือเป็นการโจมตีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยอาวุธที่ฆ่าและทำให้ทุพพลภาพโดยไม่เลือกเป้าหมาย[129][130] ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประณามการกระทำทางทหารของรัสเซียว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ[131] แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่าเป็นการกระทำอันรุกรานซึ่งถือเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ[9] มีการบันทึกอาชญากรรมสงครามจำนวนมากซึ่งรวมถึงการฆ่าคน การทรมาน การลักพาตัว การเนรเทศ การฉกชิงทรัพย์ การข่มขืนกระทำชำเราหญิงชาวยูเครน การก่อการร้าย การโจมตีพลเรือน การโจมตีทางอากาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือการโจมตีวัตถุพลเรือน การทำลายล้างโดยขาดความยับยั้งชั่งใจ การกักขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง และการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมต่อเชลยศึก[132]
หนึ่งในเป้าหมายของการโจมตีทางอากาศของรัสเซียคือกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรประมาณ 3 ล้านคน[133] โรงเรียนอนุบาลและสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าก็ถูกยิงใส่เช่นกัน[134] กองกำลังรัสเซียถูกกล่าวโทษว่าดำเนินการรณรงค์ขู่ขวัญชาวยูเครน[135] เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 2022 มีรายงานว่ากองกำลังรัสเซียได้ปล้นสะดมทั่วเมืองแคร์ซอน[136] ระหว่างการปิดล้อมเมืองมารีอูปอล เมืองถูกทำลายจากกระสุนปืนใหญ่และถูกตัดขาดจากไฟฟ้า อาหาร และน้ำ มีรายงานว่าเด็กหญิงอายุ 6 ปีคนหนึ่งเสียชีวิตจากภาวะขาดน้ำใต้ซากปรักหักพังของบ้านเธอเองในมารีอูปอลเมื่อวันที่ 8 มีนาคม[137] ระหว่างการโจมตีเมืองอีร์ปิญ กองกำลังรัสเซียระดมยิงใส่กลุ่มผู้ลี้ภัยที่วิ่งออกจากใต้สะพานข้ามแม่น้ำเพื่อหนีเข้ากรุงเคียฟโดยไม่เลือกหน้า ผู้ลี้ภัยกลุ่มหนึ่งที่ประกอบด้วยสามแม่ลูกและเพื่อนของครอบครัวถูกกระสุนปืนครกรัสเซียสังหารกลางทาง[138][139]
ระหว่างยุทธการที่เมืองคาร์กิว เมืองถูกทำลายจากการยิงปืนใหญ่ของรัสเซีย รวมถึงโรงเรียนประจำสอนคนตาบอดแห่งหนึ่งด้วย จากจำนวนประชากร 1.8 ล้านคน เหลือเพียง 500,000 คนเท่านั้นที่ยังคงอยู่ในเมืองเมื่อถึงวันที่ 7 มีนาคม[140] เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 การโจมตีด้วยระเบิดลูกปรายของรัสเซียได้คร่าชีวิตพลเรือน 9 คนและทำให้มีพลเรือนบาดเจ็บอีก 37 คนในคาร์กิว[141][142] เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พลเรือน 47 คนถูกสังหารในเมืองแชร์นีฮิว ส่วนใหญ่ในจำนวนนี้กำลังยืนต่อแถวหน้าร้านขายอาหารเพื่อรอซื้อขนมปัง เมื่อรัสเซียโจมตีทางอากาศด้วยระเบิดไม่นำวิถี 8 ลูกใส่พวกเขา[143] ระหว่างการโจมตีทางอากาศใส่โรงพยาบาลในเมืองมารีอูปอล มีผู้เสียชีวิต 4 คนซึ่งมีเด็กหญิง 1 คนรวมอยู่ด้วย[144] ในขณะที่การโจมตีทางอากาศใส่โรงละครซึ่งใช้เป็นที่หลบภัยในเมืองเดียวกันส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน[145] หลังจากที่กองทัพรัสเซียถอนกำลังออกจากทางหลวงสาย E-40 รอบนอกกรุงเคียฟ บีบีซีนิวส์พบศพ 13 ศพอยู่บนช่วงหนึ่งของทางหลวง มีเพียง 2 ศพเท่านั้นที่สวมเครื่องแบบทหารยูเครน มีหลักฐานบ่งชี้ว่าทหารรัสเซียได้ฆ่าพลเรือนที่พยายามหลบหนีเหล่านี้[146]
เมื่อรัสเซียถอยทัพออกจากเมืองบูชาหลังจากที่ยึดครองไว้ตลอดหนึ่งเดือน ในช่วงวันที่ 1–3 เมษายน ก็ปรากฏภาพถ่ายและวิดีโอเผยให้เห็นศพชาวเมืองที่ถูกสังหารหลายร้อยศพกระจัดกระจายตามท้องถนนหรือในหลุมศพหมู่ เหตุการณ์นี้ได้รับการรายงานในสื่อต่าง ๆ ในชื่อการสังหารหมู่ที่เมืองบูชา และกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาจากนานาชาติอย่างกว้างขวาง[147]
พลเรือนหลายพันคนถูกสังหารจากการโจมตีพื้นที่พลเรือนด้วยกระสุนปืนใหญ่และขีปนาวุธโดยไม่เลือกเป้าหมายของรัสเซีย เช่นที่นิคมบอรอเดียนกา[149] เมืองกรามาตอสก์[150] เมืองวินนึตเซีย[151] เมืองชาซิวยาร์[152] นิคมแซร์ฮียิวกา[153] เป็นต้น เจ้าหน้าที่ยูเครนคนหนึ่งกล่าวว่ารัสเซียใช้เตาเผาศพเคลื่อนที่ในการกำจัดศพในเมืองมารีอูปอลเพื่อปกปิดหลักฐานอาชญากรรมสงครามและจำนวนผู้เสียชีวิต[154] เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2022 การทิ้งระเบิดใส่โรงเรียนในนิคมบีลอฮอริวกาได้คร่าชีวิตผู้คนหลายสิบคนที่กำลังหลบภัยอยู่ในห้องใต้ดิน[155] เมืองออแดซาถูกทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน[156] เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2022 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานที่ว่ามีเด็กชาวยูเครนถูกบังคับให้ย้ายถิ่นไปยังรัสเซียที่ซึ่งพวกเขาถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวบุญธรรมอย่างรีบเร่ง สำนักงานฯ ระบุว่าพฤติการณ์เหล่านี้ "ดูจะไม่เป็นไปตามขั้นตอนการรวมญาติหรือไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก" ยูนิเซฟประกาศในทำนองเดียวกันว่า "การรับบุตรบุญธรรมไม่ควรเกิดขึ้นระหว่างหรือหลังเกิดเหตุฉุกเฉินทันที"[157]
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023[158]
รัสเซียได้ตั้งค่ายคัดกรองขึ้นเพื่อกักขังหน่วงเหนี่ยว สอบปากคำ และทรมานชาวยูเครนที่ต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลยูเครน[159] เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2022 องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งที่พบว่ารัสเซียมีความผิดฐานฆ่า ข่มขืนกระทำชำเรา ลักพาตัว และเนรเทศพลเรือนยูเครน รวมทั้งส่งเด็ก 2,000 คนจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าและสถาบันต่าง ๆ ไปยังรัสเซียทั้งที่เด็กหลายคนก็มีญาติอยู่ในยูเครน การกระทำเหล่านี้จัดว่าเป็นการโจมตีประชากรพลเรือนอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ และจัดเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ[160]
วิดีโอการตัดศีรษะเชลยศึกชาวยูเครนคนหนึ่งในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 2022[161] และวิดีโอการตอนอวัยวะเพศเชลยศึกชาวยูเครนอีกคนหนึ่งในเมืองปรือวิลเลีย[162] ถูกประชาคมระหว่างประเทศประณามอย่างกว้างขวาง นักวิชาการหลายคนประกาศว่ารัสเซียกำลังดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยูเครน[163] คำกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนจากรายงานร่วมระหว่างสถาบันเพื่อยุทธศาสตร์และนโยบายนิวไลนส์กับศูนย์สิทธิมนุษยชนรออุล วัลเลินแบร์ย ซึ่งสรุปว่ารัสเซียได้ละเมิดมาตรา 2 มาตราของอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ค.ศ. 1948[164]
เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2022 ทางการยูเครนพบหลุมศพหมู่ที่มีศพ 440 ศพในเมืองอีซุมหลังจากที่กองทัพรัสเซียถอนกำลังออกจากพื้นที่[165] เหตุการณ์นี้ได้รับการบรรยายว่าเป็นการสังหารหมู่ที่เมืองอีซุม ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 กองกำลังรัสเซียใช้ขีปนาวุธและโดรนโจมตีโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าของยูเครนอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้พลเรือนหลายล้านคนขาดระบบทำความร้อน ไฟฟ้า น้ำ หรือสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ๆ ในฤดูหนาว การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของพลเรือนเหล่านี้ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและถือเป็นอาชญากรรมสงคราม[166][167] การจ่ายไฟและน้ำประปาให้แก่บ้านเรือนชาวยูเครน 10,700,000 หลังต้องหยุดชะงัก ณ ช่วงเวลาหนึ่งในฤดูหนาว[10] เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2023 รัสเซียยิงขีปนาวุธใส่อาคารพักอาศัยสูง 9 ชั้นในเมืองดนีปรอ คร่าชีวิตพลเรือนไปกว่า 40 คน และทำให้ผู้คนมากกว่า 1,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย[168] เมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 2023 ขีปนาวุธเอส-300 ของรัสเซียโจมตีอาคารอยู่อาศัยในเมืองสลอวิยันสก์ในวันศุกร์อีสเตอร์ ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิต 15 คน[169] เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 2023 รัสเซียโจมตีสถานีรถไฟและซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองแคร์ซอนในช่วงเวลาเร่งด่วนที่สุดของวัน คร่าชีวิตพลเรือนไปกว่า 20 คน[170]
กองทัพรัสเซียยังก่อเหตุทำลายเมืองต่าง ๆ ของยูเครนและทำลายวัฒนธรรมอย่างขาดความยับยั้ง เช่น ยึดและเผาหนังสือและจดหมายเหตุของยูเครน สร้างความเสียหายแก่แหล่งมรดกของยูเครนกว่า 240 แห่ง[171] มีการบรรยายพฤติการณ์ดังกล่าวว่าเป็น "นครฆาต"[172] ร้อยละ 90 ของเมืองมารีอูปอลถูกทำลายจากการปิดล้อมของรัสเซียใน ค.ศ. 2022[173] เมืองมาริยินกาและเมืองปอปัสนาถูกทำลายโดยสิ้นเชิงในทำนองเดียวกันและถูกบรรยายว่าเป็น "แดนรกร้างหลังหายนะ" และ "เมืองร้าง"[174][175] สหประชาชาติระบุว่าการทิ้งระเบิดใส่แหล่งมรดกโลกยูเนสโกในเมืองออแดซาโดยรัสเซียอาจเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม[176] การทำลายเขื่อนกาคอว์กาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2023 ก่อให้เกิดน้ำท่วมและหายนะต่อสิ่งแวดล้อม บางคนกล่าวโทษรัสเซียว่าได้กระทำ "นิเวศฆาต"[177][178]
ผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติประจำยูเครนประณามการโจมตีด้วยระเบิดของรัสเซียหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงในเมืองกรามาตอสก์[179] และเมืองแชร์นีฮิว[180] ใน ค.ศ. 2023 ฮิวแมนไรตส์วอตช์ประณามการโจมตีเมืองลือมันด้วยระเบิดลูกปรายว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม[181]
เมื่อถึงวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2022 สหประชาชาติรายงานว่ามีผู้ลี้ภัย 4 ล้านคนหนีออกจากยูเครน โรงพยาบาล 50 แห่งในประเทศตกเป็นเป้าการโจมตี และรัสเซียใช้ระเบิดลูกปราย (ซึ่งถูกห้ามใช้) อย่างน้อยใน 24 กรณี[182] การโจมตียูเครนโดยรัสเซียส่งผลให้ผู้คน 14 ล้านคนต้องหนีออกจากบ้านเรือน โดย 7.8 ล้านคนในจำนวนนี้หนีออกนอกประเทศ[183] ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 21[184] เมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 2022 สหประชาชาติบันทึกว่ามีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 2,343 คน โดยร้อยละ 92.3 ในจำนวนนี้เป็นผลจากการกระทำของกองทัพรัสเซีย[185] เมื่อถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 ซึ่งครบรอบหนึ่งปีของการรุกรานยูเครน สหประชาชาติบันทึกว่ามีพลเรือนเสียชีวิต 8,006 คน รวมถึงเด็ก 487 คน[186] เมื่อถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 2023 จำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตที่สหประชาชาติบันทึกไว้มีมากกว่า 9,500 คน[187] ในขณะที่แหล่งข้อมูลในยูเครนรายงานว่ามีพลเรือนเสียชีวิต 16,500 คน[188] สถาบันวิจัยสันติภาพออสโลประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 81,000 คนใน ค.ศ. 2022[189]
ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2033 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประเมินว่าการเสียชีวิตของพลเรือนร้อยละ 90.5 เป็นผลมาจากอาวุธระเบิดที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และร้อยละ 84.2 เกิดขึ้นในดินแดนที่ยูเครนควบคุม[190]
ณ วันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 2023 มีการย้ายเด็กจากพื้นที่ความขัดแย้งในยูเครนไปยังดินแดนรัสเซียแล้วประมาณ 700,000 คน ตามคำกล่าวของสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งของรัสเซีย ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการบังคับให้พลัดถิ่นและการเนรเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย[191]
เมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 2015 กองทัพรัสเซียเข้าแทรกแซงโดยตรงในสงครามกลางเมืองซีเรียเพื่อหนุนหลังรัฐบาลบัชชาร อัลอะซัด ซึ่งสนับสนุนรัสเซีย ตามข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 เครื่องบินรบของรัสเซียดำเนินปฏิบัติการทิ้งระเบิดโดยมุ่งเป้าไปที่พลเรือนและเจ้าหน้าที่กู้ชีพฉุกเฉิน[192] กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้บันทึกเหตุโจมตีโรงเรียน โรงพยาบาล และบ้านเรือนของพลเรือน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังกล่าวด้วยว่า "รัสเซียกระทำความผิดในคดีอาชญากรรมสงครามที่ร้ายแรงที่สุดบางคดี" เท่าที่องค์การพบเห็นมาในรอบหลายทศวรรษ ทิรานา ฮัสซาน ผู้อำนวยการโครงการตอบโต้วิกฤตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าหลังจากทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายพลเรือนแล้ว เครื่องบินรบของรัสเซียจะ "บินวน" กลับมาโจมตีครั้งที่สองโดยพุ่งเป้าไปที่ผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมและพลเรือนที่กำลังพยายามช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บจากการถูกโจมตีครั้งแรก[192]
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 ฮิวแมนไรตส์วอตช์รายงานว่าซีเรียและรัสเซียใช้ระเบิดลูกปรายอย่างกว้างขวาง ถือเป็นการละเมิดข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2139 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 ซึ่งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติ "การใช้อาวุธแบบไม่เลือกเป้าหมายในพื้นที่ที่มีประชากร" ฮิวแมนไรตส์วอตช์กล่าวว่า "กองกำลังรัสเซียหรือซีเรียต้องรับผิดชอบต่อการโจมตีในลักษณะดังกล่าว" และกล่าวว่าระเบิดลูกปรายเหล่านั้น "ผลิตขึ้นในอดีตสหภาพโซเวียตหรือรัสเซีย" โดยที่บางส่วนในจำนวนนั้นเป็นชนิดที่ "ไม่มีการบันทึกว่าเคยใช้ในซีเรีย" มาก่อนที่รัสเซียจะเข้ามามีส่วนร่วมในสงคราม ฮิวแมนไรตส์วอตช์จึงสันนิษฐานว่า "อากาศยานรัสเซียเป็นผู้ทิ้งระเบิดเหล่านั้น หรือไม่ทางการรัสเซียก็เพิ่งจัดหาระเบิดลูกปรายเพิ่มเติมให้แก่รัฐบาลซีเรีย หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง"[12] ฮิวแมนไรตส์วอตช์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าแม้ทั้งรัสเซียและซีเรียจะไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปราย แต่การใช้อาวุธดังกล่าวขัดแย้งกับแถลงการณ์ของรัฐบาลซีเรียที่ระบุว่าพวกเขาจะงดเว้นจากการใช้อาวุธเหล่านั้น[12] การโจมตีพลเรือนแบบไม่เลือกเป้าหมายของรัสเซียโดยใช้ระเบิดลูกปรายหรือระเบิดเพลิงมักถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างยุทธการที่เมืองอะเลปโป[13][14] และการล้อมย่านฆูเฏาะฮ์ตะวันออก[193] มีการเปรียบเทียบให้เห็นความคล้ายคลึงกันหลายประการระหว่างการทำลายล้างเมืองอะเลปโปใน ค.ศ. 2016 กับการทำลายล้างเมืองกรอซนืยใน ค.ศ. 2000[81] ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนอธิบายว่าเป็นตัวบ่งชี้ถึงนโยบาย "ไม่จับเชลย"[82] ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ค.ศ. 2019 การทิ้งระเบิดอย่างหนักของรัสเซียได้ค่ราชีวิตพลเรือนไป 544 คนระหว่างการโจมตีเมืองอิดลิบ[194] เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 การทิ้งระเบิดใส่ตลาดในเมืองมะอัรเราะตุนนัวะอ์มานได้คร่าชีวิตพลเรือนไป 43 คน[195] และเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 2019 เครื่องบินรบรัสเซียยังทิ้งระเบิดใส่ค่ายผู้ลี้ภัยใกล้กับเมืองฮาสส์ ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต 20 คน[196][197]
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 2018 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งที่ยืนยันว่าผู้ก่อเหตุทิ้งระเบิดใส่ตลาดในเมืองอะตาริบคือกองทัพรัสเซีย อากาศยานปีกติดลำตัวของรัสเซียที่ใช้อาวุธไม่นำวิถี (ซึ่งรวมถึงอาวุธระเบิด) ถูกนำมาใช้โจมตีตลาดแห่งนั้น รายงานฉบับดังกล่าวสรุปว่าการใช้อาวุธหนักเช่นนั้นในพื้นที่ที่มีพลเรือนจำนวนมากอาจเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม[198][199] เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเผยแพร่รายงานว่าด้วยยุทธการที่เมืองอะเลปโป โดยยืนยันว่ารัสเซียใช้ระเบิดลูกปรายและอาวุธเพลิงและสรุปว่าการใช้อาวุธดังกล่าวในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นทางตะวันออกของอะเลปโป "ถือเป็นการใช้อาวุธแบบไม่เลือกเป้าหมายโดยธรรมชาติ ก่อให้เกิดอาชญากรรมสงครามจากการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมายในพื้นที่ที่มีพลเรือนอาศัยอยู่"[16]
องค์การสังเกตการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนซีเรียอ้างว่าการโจมตีทางอากาศและการโจมตีด้วยปืนใหญ่ของรัสเซียได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 18,000 คน ซึ่งรวมถึงพลเรือนเกือบ 8,000 คนในซีเรียเมื่อถึงวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2018[200]
ตามรายงานของบีบีซีนิวส์ กลุ่มกำลังรบกึ่งทหารวากเนอร์ของรัสเซียตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าฆ่าพลเรือน 3 คนอย่างรวบรัดเมื่อวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 2019 ในหมู่บ้านอัสบีอะฮ์ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงตริโปลี (เมืองหลวงของลิเบีย) ไปทางทิศใต้ 45 กิโลเมตร[201] นอกจากนี้ยังมีหลักฐานบ่งชี้ว่าพลเรือนประมาณ 10 คนอาจถูกสมาชิกกลุ่มวากเนอร์ฆ่าระหว่างยุทธการที่ตริโปลีในสงครามกลางเมืองลิเบียครั้งที่ 2 ด้วย[201]
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 2021 ผู้เชี่ยวชาญของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเตือนว่ากลุ่มวากเนอร์ "ก่อกวนและข่มขู่โดยใช้ความรุนแรงกับพลเรือนซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ นักข่าว เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือ และชนกลุ่มน้อยในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง" คณะมนตรีฯ เรียกร้องให้รัฐบาลสาธารณรัฐแอฟริกากลางตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดกับกลุ่มวากเนอร์[202][203]
ตัวอย่างอาชญากรรมที่เชื่อกันว่าสมาชิกกลุ่มวากเนอร์ได้ก่อขึ้นในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ได้แก่ การสังหารหมู่ที่หมู่บ้านอาอีกบาโดระหว่างวันที่ 16–17 มกราคม ค.ศ. 2022,[204] การฆ่าชายไม่มีอาวุธ 13 คนใกล้เมืองบอซ็องกออาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 และการทุบตีและการกักขังผู้ต้องสงสัยว่าเป็นกบฏในสภาพไร้มนุษยธรรมในหลุมเปิดที่ฐานทัพแห่งหนึ่งในเมืองอาลีนดาโอระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ค.ศ. 2021[205]
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2022 ฮิวแมนไรตส์วอตช์รายงานว่าทหารรับจ้างชาวรัสเซียซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสมาชิกกลุ่มวากเนอร์ได้ร่วมกับสมาชิกกองทัพมาลีก่อเหตุรุนแรงโหดร้ายต่อพลเรือนหลายร้อยคนในมาลี ตามรายงานของโครงการข้อมูลเหตุการณ์และตำแหน่งที่ตั้งการขัดกันด้วยอาวุธ (องค์การนอกภาครัฐ) มีพลเรือนมากถึง 456 คนเสียชีวิตในเหตุการณ์ 9 เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังมาลีและนักรบวากเนอร์ระหว่างเดือนมกราคมถึงกลางเดือนเมษายน ค.ศ. 2022 เหตุรุนแรงโหดร้ายครั้งใหญ่ที่สุดที่กองกำลังรัสเซียและมาลีก่อขึ้นคือการสังหารหมู่ที่เมืองมูราซึ่งคร่าชีวิตพลเรือนไปประมาณ 300 คนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2022[206][207][208]
รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธพันธะรับผิดชอบในศาลท้องถิ่นของตน แม้จะมีการสอบสวนคดีอาชญากรรมหลายพันคดี แต่ก็มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ถูกพิพากษาลงโทษในความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อชาวเชเชนระหว่างสงครามเชเชนทั้งสองครั้ง เช่น ยูรี บูดานอฟ ซึ่งถูกศาลรัสเซียตัดสินจำคุก 10 ปีใน ค.ศ. 2003 ในความผิดฐานลักพาตัวและฆ่าเอลซา คุนกาเอวา หญิงชาวเชเชน;[209] เซียร์เกย์ ลาปิน ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 11 ปีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2005 ในความผิดฐานทรมานเซลิมคัน มูร์ดาลอฟ นักศึกษาชาวเชเชนที่หลังจากนั้นหายตัวไปขณะที่ถูกตำรวจคุมขัง;[210] ร้อยโท เยฟเกนี คูเดียคอฟ และร้อยโท เซียร์เกย์ อะรัคเชเยฟ ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 17 และ 15 ปีในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2007 ในความผิดฐานฆ่าคนงานก่อสร้างชาวเชเชน 3 คนใกล้จุดตรวจพลเรือนที่เมืองกรอซนืยในเดือนมกราคม ค.ศ. 2003 เป็นต้น[211] การนำตัวผู้กระทำความผิดมารับผิดชอบน้อยครั้งเช่นนี้ทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สรุปในรายงานเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2007 ว่า "ไม่มีการรับผิดรับชอบ" และ "การขาดการดำเนินคดีอย่างมีประสิทธิผล [ของรัสเซีย] ส่งผลให้เกิดบรรยากาศของการไม่ต้องถูกลงโทษ"[212]
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 หลังจากการสอบสวนเปรียบเทียบอย่างกว้างขวาง ทีมสืบสวนร่วมของเนเธอร์แลนด์ได้ข้อสรุปว่าขีปนาวุธบุคที่ใช้ยิงเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 17 ตกในภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อ ค.ศ. 2014 นั้นมาจากกองพลน้อยขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานที่ 53 ในเมืองคูสค์ของรัสเซีย[213] ในแถลงการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2017 มีการประกาศว่าหลายประเทศจะดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยคนใดก็ตามที่ถูกระบุตัวตนจากเหตุดังกล่าวในเนเธอร์แลนด์และตามกฎหมายของเนเธอร์แลนด์[214] สนธิสัญญาในอนาคตระหว่างเนเธอร์แลนด์กับยูเครนจะทำให้เนเธอร์แลนด์สามารถพิจารณาคดีของผู้เสียชีวิตทั้ง 298 คนได้ไม่ว่าผู้เสียชีวิตคนนั้นจะมีสัญชาติใด สนธิสัญญานี้ลงนามเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 2017[215] เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2019 อัยการเนเธอร์แลนด์ตั้งข้อหาฆาตกรรมกับชาย 4 คนจากการมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุดังกล่าว ประกอบด้วยชาวรัสเซีย 3 คน คือ อีกอร์ กีร์กิน อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงกลางของรัสเซีย, เซียร์เกย์ ดูบินสกี และโอเลก ปูลาตอฟ อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยอำนวยการข่าวกรองหลักของรัสเซีย และชาวยูเครน 1 คน คือ แลออนิด คาร์แชนกอ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนดอแนตสก์[216][217][218] เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 ศาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินว่ากีร์กิน, ดูบินสกี และคาร์แชนกอมีความผิดฐานฆาตกรรมและพิพากษาลับหลังให้จำคุกตลอดชีวิต[219]
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 2003 ศาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินว่าการสังหารหมู่ชาวเชเชน 250 คนที่หมู่บ้านซามัชกีเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ[221] เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2021 ทางการยูเครนจับกุมเดนิส คูลีคอฟสกี ผู้คุมอาวุโสของศูนย์กักกันอีซอเลียตซียาในสาธารณรัฐประชาชนดอแนตสก์ ซึ่งเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่มีการทรมานนักโทษ[222]
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 2022 วุฒิสภาสหรัฐมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศว่าวลาดีมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เป็นอาชญากรสงคราม[223]
ใน ค.ศ. 2022 รัฐสภาของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และไอร์แลนด์ ประกาศว่ากำลังเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นในยูเครน[224]
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 2022 ทางการยูเครนเริ่มการพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามคดีแรกที่เกี่ยวข้องกับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ค.ศ. 2022 เมื่อวาดิม ชีชีมาริน ทหารรัสเซีย ถูกฟ้องในข้อหาฆ่าพลเรือนที่ไม่มีอาวุธในแคว้นซูมือ เขาถูกตัดสินจำคุก 15 ปี[225] เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ศาลในกรุงเคียฟพิพากษาจำคุกทหารรัสเซีย 2 นายคนละ 11 ปีครึ่ง ในความผิดฐานยิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้าน 2 แห่งในแคว้นคาร์กิว[226] เมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 2022 ร้อยโท เซียร์เกย์ ชไตเนอร์ ของรัสเซีย ถูกศาลยูเครนพิพากษาลับหลังให้จำคุก 9 ปี ในความผิดฐานฉกชิงทรัพย์และทำลายทรัพย์สินพลเรือนในหมู่บ้านลูกิยานิวกา[227] เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 2022 ศาลยูเครนพิพากษาจำคุกทหารรัสเซีย 4 นายคนละ 11 ปี ในความผิดฐานลักพาตัวและทรมานชาวนิคมบอรอวา 3 คนที่จัดตั้งหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย[228] เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 2023 ศาลยูเครนพิพากษาจำคุกนักบินรัสเซีย 12 ปี ในความผิดฐานทิ้งระเบิด 8 ลูกใส่สถานีโทรทัศน์และวิทยุคาร์กิว[229] เมื่อถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 ยูเครนได้ระบุตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากรสงครามได้มากกว่า 600 คนจากรัสเซีย ซึ่งรวมถึงเซียร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย[230]
รัฐบาลรัสเซียได้พยายามปิดกั้นหรือขัดขวางการฟ้องร้องระหว่างประเทศต่อบทบาทของตนในอาชญากรรมสงครามต้องสงสัย โดยใช้ที่นั่งของตนในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการยับยั้งมติที่เรียกร้องให้มีการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบต่อการยิงเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 17[231] และเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมในซีเรีย[232] โดยรัฐบาลรัสเซียปฏิเสธว่าไม่มีการโจมตีด้วยสารเคมีเกิดขึ้นในเมืองดูมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 2018 แต่เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการยืนยันว่าเกิดขึ้นจริงในรายงานขององค์การห้ามอาวุธเคมีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ[233]
เมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 2022 ข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ อีเอส-11/3 ได้ระงับสมาชิกภาพของรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบที่รัสเซียก่อขึ้นในยูเครน[234]
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 รัฐสภายุโรปกำหนดให้รัสเซียเป็นรัฐสนับสนุนการก่อการร้าย โดยประกาศว่าการโจมตีทางทหารอย่างกว้างขวางของรัสเซียต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน โรงพยาบาล โรงเรียน และที่พักพิงของยูเครนเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นอันตรายต่อพลเรือนยูเครนในฤดูหนาว[235] เมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 2023 รัฐสภายุโรปยังมีมติเสนอแนะให้จัดตั้งศาลระหว่างประเทศเพื่อดำเนินคดีกับวลาดีมีร์ ปูติน และอาเลียกซันดร์ ลูกาแชนกา ประธานาธิบดีเบลารุส ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม[236]
เนื่องจากทหารรัสเซียที่ก่ออาชญากรรมแทบไม่ถูกลงโทษในรัสเซีย ผู้เสียหายจากการละเมิดหลายร้อยคนจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป เมื่อถึง ค.ศ. 2009 ศาลฯ ได้ออกคำตัดสินในคดี 115 คดี (รวมถึงคำตัดสินในคดีระหว่างไบซาเยวากับรัสเซีย) ที่ระบุว่ารัสเซียมีความผิดฐานบังคับให้สูญหาย สังหารนอกกระบวนการยุติธรรม และทรมาน ทั้งยังไม่สอบสวนอาชญากรรมดังกล่าวในเชชเนียอย่างเหมาะสม[20]
เมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 2021 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปยังตัดสินแยกว่ารัสเซียมีความผิดฐานฆ่าคน ทรมาน ฉกชิงทรัพย์ และทำลายบ้านเรือนในจอร์เจีย รวมทั้งขัดขวางไม่ให้ชาวจอร์เจียพลัดถิ่น 20,000 คนกลับคืนสู่ดินแดนของพวกเขา[21][22][23]
เมื่อศาลอาญาระหว่างประเทศเริ่มสอบสวนการผนวกไครเมียเข้ากับรัสเซียว่าอาจเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ รัสเซียก็ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016[26] ถึงกระนั้น ในรายงานเบื้องต้นที่เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 2017 ศาลฯ พบว่า "สถานการณ์ภายในดินแดนไครเมียและแซวัสตอปอลอาจเทียบเท่ากับการขัดกันด้วยอาวุธระหว่างประเทศระหว่างยูเครนกับสหพันธรัฐรัสเซีย" และ "ตามข้อเท็จจริงก็เทียบเท่ากับสถานะการยึดครองที่ยังคงดำเนินอยู่"[237] นอกจากนี้ ศาลฯ ยังพบอีกว่ามีหลักฐานน่าเชื่อถือว่ามีคนอย่างน้อย 10 คนได้หายตัวไปและเชื่อว่าถูกฆ่าในไครเมียเนื่องจากคัดค้านการเปลี่ยนสถานะดินแดน[238] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2016 ศาลฯ ยังเปิดการสอบสวนเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสงครามรัสเซีย-จอร์เจียใน ค.ศ. 2008 ด้วย[239]
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 คารีม อาห์มัด คาน อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ ประกาศว่าเขาจะเริ่มการสอบสวนข้อกล่าวโทษเรื่องอาชญากรรมสงครามในยูเครน[240] เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 2023 ศาลฯ ได้ออกหมายจับวลาดีมีร์ ปูติน และมารียา ลโววา-เบโลวา กรรมาธิการสิทธิเด็กของรัสเซีย ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามด้วยการเนรเทศและการโยกย้ายพลเรือน (เด็ก) จากพื้นที่ยึดครองในยูเครนไปยังรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย[241] ฮิวแมนไรตส์วอตช์แสดงความยินดีกับการฟ้องร้องครั้งนี้โดยระบุว่าเป็น "ก้าวแรกไปสู่ความยุติธรรม"[242] แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยกย่องการตัดสินใจของศาลฯ เช่นกันโดยแนะนำว่าควรขยายคำฟ้องให้ครอบคลุมอาชญากรรมสงครามอื่น ๆ อีกหลายคดีด้วย[243]
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 2023 มีรายงานว่าโจ ไบเดิน ประธานาธิบดีสหรัฐ อนุญาตให้สหรัฐร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศในการแบ่งปันหลักฐานอาชญากรรมสงครามของรัสเซียในยูเครน[244]
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ยูเครนยื่นฟ้องรัสเซียต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) หลังการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย และเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 2022 ศาลฯ ตัดสินว่ารัสเซียต้อง "ระงับปฏิบัติการทางทหารทันที" ในยูเครน[245]
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 2022 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติลงมติเห็นชอบ 32 เสียง (ไม่เห็นด้วย 2 เสียง และงดออกเสียง 13 เสียง) ในการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระระหว่างประเทศในยูเครนซึ่งเป็นคณะกรรมการอิสระระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน 3 คน โดยมีหน้าที่สืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในบริบทของการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียใน ค.ศ. 2022[246]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.