Loading AI tools
พระมหากษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์ (ครองราชย์: ค.ศ. 872-901) จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าอัลเฟรดมหาราช[1] (อังกฤษ: Alfred the Great; อังกฤษเก่า: Ælfrēd) (ค.ศ. 849 – 26 ตุลาคม ค.ศ. 899) เป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์ในสมัยราชวงศ์เวสเซ็กซ์ เสด็จพระราชสมภพที่เวนเทจ บาร์กเชอร์ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเอเธลวูล์ฟแห่งเวสเซกซ์และออสเบอร์กา ทรงเสกสมรสกับเอลสวิธ และทรงราชย์เป็นกษัตริย์ของชนแองโกล-แซ็กซอนภายใต้ราชอาณาจักรเวสเซกซ์ระหว่างวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 871 พระเจ้าอัลเฟรดทรงมีชื่อเสียงในการป้องกันราชอาณาจักร จากการรุกรานของชาวไวกิงจากเดนมาร์ก และเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษพระองค์เดียวที่รับสมญานามว่า “มหาราช”
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
อัลเฟรดมหาราช | |
---|---|
พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าอัลเฟรดมหาราช จัดทำขึ้นเพื่อรำลึกในโอกาสวันครบรอบสหัสวรรษของการสวรรคต | |
กษัตริย์แห่งเวสเซกซ์ | |
ครองราชย์ | 23 เมษายน ค.ศ. 871 – ประมาณ ค.ศ. 886 |
ก่อนหน้า | เอเธลเร็ดที่ 1 |
ถัดไป | ตัวพระองค์เอง (ในฐานะกษัตริย์แห่งชนแองโกล-แซกซอน) |
กษัตริย์แห่งชนแองโกล-แซกซอน | |
ครองราชย์ | ราว ค.ศ. 886 – 26 ตุลาคม ค.ศ. 899 |
ก่อนหน้า | ตัวพระองค์เอง (ในฐานะกษัตริย์แห่งเวสเซกซ์) |
ถัดไป | พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโส |
พระราชสมภพ | ราว ค.ศ. 847–849 แวนเทจ, บาร์กเชอร์[a] |
สวรรคต | 26 ตุลาคม ค.ศ. 899 (50 หรือ 51 พรรษา) |
ฝังพระศพ | ราว ค.ศ. 1100 อารามไฮด์, วินเชสเตอร์, แฮมป์เชอร์, ปัจจุบันพระศพสูญหาย |
คู่อภิเษก | เอลสวิธ |
พระราชบุตร | เอเธลเฟลด, เลดี้แห่งชนเมอร์เซีย พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโส เอเธลจิวา, อธิการิณีแห่งชาฟสบรี เอลฟริธ เคานท์เตสแห่งฟลานเดอร์ส เอเธลเวียรดแห่งเวสเซ็กซ์ |
ราชวงศ์ | เวสเซกซ์ |
พระราชบิดา | เอเธล์วูลฟ์ กษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์ |
พระราชมารดา | ออสเบอร์ |
พระเจ้าอัลเฟรดทรงเป็นกษัตริย์แห่งแซกซันตะวันตกพระองค์แรก ที่ทรงแสดงพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์แห่งชาวแองโกล-แซกซัน ทรงเป็นผู้มีการศึกษาดี และทรงส่งเสริมการศึกษาและปรับปรุงทางด้านกฎหมายในราชอาณาจักรและระบบการทหาร พระราชประวัติของพระองค์ถูกกล่าวถึงในงานเขียนของแอสเซอร์ (Asser) นักปราชญ์ชาวเวลส์
พระเจ้าอัลเฟรดมหาราช เสด็จพระราชสมภพประมาณระหว่างปี ค.ศ. 847 ถึง ปี ค.ศ. 849 ที่แวนเทจ ในปัจจุบันอยู่ในเทศมลฑลบาร์กเชอร์พระเจ้าอัลเฟรดเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 5 และองค์เล็กของพระเจ้าเอเธลวูล์ฟแห่งเวสเซ็กซ์ (Æthelwulf) และออสเบอร์กาพระชายาองค์แรก[2] ในปี ค.ศ. 868 พระเจ้าอัลเฟรดทรงเสกสมรสกับ เอลสวิธ (Ealhswith) ธิดาของเอเธลเรด มูซิลล์ผู้ปกครองไกนิ (Gaini)[3]
กล่าวกันว่าเมื่อพระเจ้าอัลเฟรดพระชนมายุได้ 5 พรรษาทรงถูกส่งตัวไปกรุงโรม และจากบันทึกเหตุการณ์แองโกล-แซกซัน สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 4 ก็ประกาศยอมรับและ “เจิมว่าเป็นกษัตริย์” นักเขียนสมัยวิกตอเรียตีความเป็นสัญญาณถึงการที่จะได้สวมมงกุฏเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งเวสเซกส์ต่อมา แต่อันที่จริงแล้วการที่ทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าเช่นที่ว่าเป็นไปได้ยากเพราะในขณะนั้นพระเจ้าอัลเฟรดมีพระเชษฐาสามพระองค์ จดหมายของพระสันตะปาปาลีโอที่ 4 กล่าวว่าพระเจ้าอัลเฟรดได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “กงสุล” (consul) ซึ่งอาจจะเป็นการทำให้เข้าใจผิดไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ต่อมา[4] หรืออาจจะมีสาเหตุมาจากการที่พระเจ้าอัลเฟรดเสด็จติดตามพระราชบิดาไปแสวงบุญที่โรมต่อมาและประทับที่ราชสำนักของพระเจ้าชาร์ลพระเศียรล้าน (Charles the Bald) พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสอยู่ระยะหนึ่งราวปี ค.ศ. 854 หรือ ค.ศ. 855 เมื่อเสด็จกลับมาจากโรมในปี ค.ศ. 856 พระเจ้าเอเธลวูลฟ ถูกโค่นอำนาจโดยเอเธลบาลด์ (Æthelbald) พระโอรส เมื่อพระเจ้าเอเธลวูล์ฟสวรรคตเมื่อ ค.ศ. 858 เวสเซ็กซ์จึงปกครองโดยพระเชษฐาสามพระองค์ของพระเจ้าอัลเฟรดต่อเนื่องกันมา
แอสเซอร์กล่าวว่าเมื่อพระเจ้าอัลเฟรดยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับรางวัลเป็นหนังสีอโคลงกลอนเป็นภาษาอังกฤษจากพระมารดาและเป็นพระโอรสองค์แรกที่ทรงจำโคลงกลอนจากหนังสือเล่มนั้นได้อย่างแม่นยำ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องจริงหรืออาจจะเป็นเรื่องที่เล่าเพื่อสร้างเสริมพระบารมีในความที่มีชื่อว่าเป็นผู้รักการศึกษาเล่าเรียนก็ได้
พระนามของพระเจ้าอัลเฟรดไม่ปรากฏในหลักฐานใดๆ ในช่วงระหว่างรัชสมัยการปกครองสั้นๆ ของพระเชษฐาสองพระองค์ของพระองค์ -- เอเธลบอลด์ (Ethelbald of Wessex) และ เอเธล์เบิร์ท (Ethelbert of Wessex) แต่เมื่อ พระเจ้าเอเธลเรดที่ 1 ขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 866 พระเจ้าอัลเฟรดก็เริ่มมีบทบาททางการปกครอง ซึ่งเป็นช่วงที่แอสเซอร์ถวายตำแหน่งที่เป็นเอกลักษณ์ให้ว่า “secundarius” ซึ่งอาจจะเป็นตำแหน่งเทียบกับตำแหน่ง “tanist” ของชาวเคลต์ ซึ่งหมายถึง “ผู้สืบราชบัลลังก์” หรือผู้ที่มีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์และเป็นผู้ที่ยอมรับกันว่าจะเป็นสืบราชบัลลังก์ต่อไป และอาจจะเป็นไปได้ว่าตำแหน่งนี้ได้รับการอนุมัติจากสภาวิททัน เพื่อป้องกันความขัดแย้งว่าผู้ใดสมควรที่จะเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่พระเจ้าเอเธลเรดที่ 1 เสียชีวิตในสงคราม ประเพณีการแต่งตั้งผู้สืบราชบัลลังก์ให้เป็นเจ้าชายและแม่ทัพเป็นประเพณีที่ทำกันในบรรดาชนชั้นปกครองชาวเจอร์มานิค เช่น ชาวสวีด (Swedes) และชาวแฟรงก์ ซึ่งเกี่ยวดองอย่างใกล้ชิดกับชนชาวแองโกล-แซ็กซอน
ตามหลักฐานกล่าวว่าในปี ค.ศ. 868 พระเจ้าอัลเฟรดทรงต่อสู้ร่วมกับพระเจ้าเอเธลเรดในสงครามต่อต้านการรุกรานของชาวเดนส์ในอาณาจักร์เมอร์เซียแต่มิได้ประสบความสำเร็จ ไวกิงมิได้รุกรานเวสเซกซ์ อยู่สองปีเพราะอัลเฟรดทรงจ้างไม่ให้รุกราน แต่ในปลายปี ค.ศ. 870 ชาวเดนส์ก็เข้ามารุกรานเวสเซ็กซ์อีกครั้ง ปีต่อมาเป็นปีที่รู้จักกันว่าเป็นปีแห่งการต่อสู้ของพระองค์ ระหว่างนั้นทรงเข้าศึกเก้าครั้งแพ้บ้างชนะบ้าง ที่บาร์คเชอร์ ทรงได้รับชัยชนะในยุทธการที่เองเกิลฟิลด์ (Battle of Englefield) เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ปี ค.ศ. 870 ตามด้วยความพ่ายแพ้ที่ยุทธการที่เรดดิง (Battle of Reading) เมื่อวันที่ 5 มกราคม ปี ค.ศ. 871 สี่วันต่อมาก็ทรงได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดที่ยุทธการแอชดาวน์ (Battle of Ashdown) ที่บาร์กเชอร์ดาวน์ที่อาจจะตั้งอยู่ไม่ไกลจากคอมพ์ตันหรืออัลด์เวิร์ธ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม ก็ทรงพ่ายแพ้ที่เบสซิง และอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ยุทธการเมอร์ตัน (Battle of Merton) (อาจจะเป็นมาร์เด็นในมณฑลวิลท์เชอร์ หรือ มาร์ตินในมณฑลดอร์เซ็ท) ซึ่งเป็นสนามรบที่พระเจ้าเอเธลเรดถูกปลงพระชนม์
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 871 พระเจ้าเอเธลเรดเสด็จสวรรคต อัลเฟรดขึ้นครองราชบัลลังก์เวสเซกซ์ต่อจากพระเชษฐาผู้มีมีพระโอรสของพระองค์เองที่ยังทรงพระเยาว์สองพระองค์ โดยปราศจากการประท้วงในสิทธิการสืบราชบัลลังก์ของพระองค์เพราะทรงเป็นผู้มีความปรีชาสามารถทางการทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่บ้านเมืองต้องการในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในสภาพที่ร้อนเป็นไฟ แต่พระเจ้าอัลเฟรดก็มิได้ทรงละเลยในการปกป้องสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของพระนัดดา ขณะที่ทรงยุ่งกับพิธีทำพระศพของพระเชษฐา ชาวเดนส์ก็แอบโจมตีท้ายครัว และโจมตีต่อพระพักตร์ที่วิลต์ตันในแคว้นวิลท์เชอร์ในเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นบ้านเมืองก็มีความสงบสุขอยู่ราวห้าปีขณะที่ชาวเดนส์ยึดครองส่วนอื่นของอังกฤษ แต่ในปี ค.ศ. 876 ภายใต้กูธรัมผู้อาวุโส (Guthrum the Old) ผู้นำคนใหม่ ชาวเดนส์ก็แอบโจมตีกองทัพอังกฤษอีก และโจมตีเวเร็มในแคว้นดอร์เซ็ท ต่อมาในปี ค.ศ. 877 ในขณะที่แสร้งทำการเจรจาเดนส์ก็กลับไปโจมตีและพยายามยึดครอง เอ็กซีเตอร์ ในแคว้นเดวอน แต่พระเจ้าอัลเฟรดทรงสามารถปิดท่าขณะที่กองเรือของชนชาวเดนส์ถูกพายุกระหน่ำจนจำต้องพ่ายแพ้และถอยทัพไปยังเมอร์เซีย แต่ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 878 ชาวเดนส์ก็กลับมาจู่โจมชิพเพ็นนัมที่เป็นที่มั่นและเป็นที่ประทับของพระเจ้าอัลเฟรดระหว่างคริสต์มาสโดยไม่รู้ตัว จนต้องทรงถอยไปตั้งหลักที่เอเธลนีย์เมื่ออีสเตอร์ (พงศาวดารแองโกล-แซกซัน)
ตำนานที่เป็นที่รู้จักกันดีกล่าวว่าเมื่อพระเจ้าอัลเฟรดเสด็จหนีไปบริเวณซัมเมอร์เซตเลเวลส์ (Somerset Levels) ก็มีหญิงชาวบ้านถวายที่หลบภัยให้พระองค์และโดยไม่รู้ว่าพระองค์เป็นใครก็ใช้ให้เฝ้าขนมเค้กในเตาอบ แต่พระเจ้าอัลเฟรดทรงหมกมุ่นอยู่กับสถานะการณ์บ้านเมืองก็เลยทรงทำเค้กไหม้ เมื่อหญิงชาวบ้านทราบว่าพระองค์เป็นใครก็ขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการใหญ่แต่พระเจ้าอัลเฟรดกลับทรงกล่าวว่าพระองค์เองต่างหากที่ควรจะเป็นผู้ขอโทษ ขณะที่หลบภัยจากข้าศึกพระเจ้าอัลเฟรดทรงตั้งที่มั่นเป็นที่ต่อต้านศัตรูอยู่ที่บริเวณเกาะเลนใกล้เพเธอร์ตันเหนือ (North Petherton) โดยใช้กองทหารท้องถิ่นจากเทศซัมเมอร์เซต วิลต์เชอร์ และแฮมป์เชอร์
ตำนานการปลอมพระองค์อีกเรื่องหนึ่งคือเมื่อทรงปลอมเป็นนักดนตรีเพื่อจะเข้าไปสืบแผนการโจมตีอังกฤษในค่ายของกูธรัมผู้อาวุโส ผลจากการกระทำครั้งนี้ทำให้เกิดยุทธการที่เอดิงตัน (Battle of Edington) ใกล้เวสต์บรีในมณฑลวิลท์เชอร์ พระเจ้าอัลเฟรดทรงได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ตามคำกล่าวของแอสเซอร์ ชนชาวเดนส์ยอมรับอำนาจของพระเจ้าอัลเฟรด และกูธรัมกับผู้นำอีก 29 คนยอมรับศีลล้างบาปหลังจากลงนามในสนธิสัญญาเวดมอร์ (Treaty of Wedmore) หลังจากการลงนามอังกฤษก็ถูกแบ่งเป็นสองส่วน ด้านใต้อยู่ภายใต้การปกครองของแซ็กซอน และบริเวณทางเหนือรวมทั้งลอนดอนที่รู้จักกันในนาม “บริเวณเดนลอว์” อยู่ภายใต้การปกครองของไวกิง ในปีต่อมา ค.ศ. 879 ทั้งราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์ และ ราชอาณาจักรเมอร์เซียทางตะวันตกชอง ก็ปราศจากผู้รุกราน ถนนวัตลิง (Watling Street)
ในช่วงสองสามปีต่อมาบ้านเมืองก็มีความสงบสุขเพราะชนชาวเดนส์มัวแต่ยุ่งทำสงครามบนผืนแผ่นดินใหญ่ยุโรป แต่ในปี ค.ศ. 884 หรือ ค.ศ. 885 ชนชาวเดนส์ก็กลับมาขึ้นฝั่งที่ราชอาณาจักรเคนต์ไม่ไกลจากพลัคส์กัตเตอร์ (Plucks Gutter) เพื่อจะยุยงให้ชนเดนส์ในราชอาณาจักรอีสต์อังเกลียแข็งข้อต่อพระเจ้าอัลเฟรดแต่ก็ไม่สำเร็จ พระเจ้าอัลเฟรดจึงทรงพยายามหยุดยั้งการรุกรานที่อาจจะเกิดขึ้นโดยทรงยึดลอนดอนใน ปี ค.ศ. 885 หรือ ค.ศ. 886 กูธรัมจึงยอมลงนามร่วมกับพระเจ้าอัลเฟรดในสนธิสัญญาแห่งอัลเฟรดและกูธรัม (Treaty of Alfred and Guthrum) ซึ่งทำให้บ้านเมืองสงบสุขอยู่ระยะหนึ่งแต่ก็มาสิ้นสุดลงในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 892 หรือ ค.ศ. 893 เมื่ออำนาจในยุโรปเริ่มอ่อนแอลงชนชาวเดนส์ก็หันมารุกรานอังกฤษ ครั้งนี้มากับกองทัพเรือที่ประกอบด้วยเรือ 330 ลำ ที่แบ่งเป็นสองกองๆ ใหญ่ กองใหญ่ตั้งอยู่ที่มั่นอยู่ที่แอปเปิลดอร์ (Appledore) และกองเล็กที่มิลตัน (Milton) ภายใต้การนำของ เฮสเตน (Haesten) กองกำลังรุกรานนำครอบครัวรวมทั้งผู้หญิงและเด็กมาด้วยเพื่อมาตั้งถิ่นฐานและยึดอังกฤษเป็นอาณานิคมถ้าได้รับชัยชนะ ในปี ค.ศ. 893 หรือ ค.ศ. 894 พระเจ้าอัลเฟรดทรงตั้งที่มั่นตรงจุดที่ทรงสามารถมองเห็นกองกำลังของศัตรูทั้งสองกองได้พร้อมกัน แต่ขณะที่ทรงทำการเจรจากับเฮสเตน กองกำลังที่แอปเปิลดอร์ก็แยกตัวออกไปโจมตีทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ แต่ก็พ่ายแพ้ต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโสพระราชโอรสองค์โตของพระองค์ และมาพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่ฟาร์นแนม (Farnham) ในมณฑลเซอร์รี (Surrey) จนต้องถอยไปหลบอยู่บนเกาะในแม่น้ำโคลนแต่ในที่สุดก็ต้องยอมพ่ายแพ้ และถอยไปที่เอสเซ็กส์แต่ก็ไปแพ้อีกครั้งหนึ่งที่เบ็นฟลีท หลังจากนั้นก็ไปถอยไปรวมตัวกับเฮสเต็นที่ชูบรี (Shoebury)
ขณะที่พระเจ้าอัลเฟรดเสด็จนำทัพไปยังทอร์นีย์เพื่อไปช่วยพระราชโอรสก็ทรงได้รับข่าวว่าชนชาวเดนส์ในราชอาณาจักรนอร์ทธัมเบรียและราชอาณาจักรอีสต์อังเกลียเข้าล้อมเมือง เอ็กซีเตอร์และทางฝั่งทะเลทางด้านเหนือของแคว้นเดวอน พระเจ้าอัลเฟรดจึงหันทัพกลับไปทางตะวันตกเพื่อไปหยุดยั้งการรุกรานที่เอ็กซีเตอร์แต่ไม่มีหลักฐานบ่งถึงสถานะการณ์ทางเหนือของแคว้นเดวอน ขณะเดียวกันกองกำลังของเฮสเต็นก็เดินทัพขึ้นไปยังเทมส์แวลลี (Thames Valley) เพื่ออาจจะไปช่วยพันธมิตรทางด้านตะวันตกแต่ไปปะทะกับกองกำลังใหญ่ของกลุ่มเอิร์ลสามคนจากแคว้นเมอร์เซีย เทศมณฑลวิลต์เชอร์ และเทศมณฑลซัมเมอร์เซต จนต้องถอยไปทางเหนือและในที่สุดก็ไปพ่ายแพ้ที่บัตติงตัน (Buttington) ซึ่งบ้างก็ว่าอาจจะเป็นบัตติงตัน ทัมพ์ที่ปากแม่น้ำไวย์ (River Wye) หรือ อาจจะเป็นบัตติงตัน ใกล้เวลชพูล (Welshpool) ก็ได้ กองทัพเดนส์พยายามหนีจากแนวแต่ไม่สำเร็จ ผู้ที่หนีได้ก็หนีไปชูบรี หลังจากไปรวบรวมกำลังตั้งตัวได้ก็เดินทัพอย่างรวดเร็วข้ามแผ่นดินอังกฤษไปยึดซากกำแพงโรมันที่ เชสเตอร์ (Chester) กองทัพอังกฤษมิได้พยายามเข้าต่อสู้นอกไปจากทำลายกองเสบียง เมื่อต้นปี ค.ศ. 894 หรือ ค.ศ. 895 กองทัพเดนส์ก็ถอยทัพกลับไปมณฑลเอสเซ็กส์เพราะขาดเสบียง พอปลายปี หรือต้นปี ค.ศ. 895 หรือ ค.ศ. 896 กองกำลังของเดนส์ก็ล่องกองเรือขึ้นแม่น้ำเทมส์และแม่น้ำลีและไปตั้งที่มั่นอยู่ราว 32 กิโลเมตรเหนือตัวเมืองลอนดอน การโจมตีแนวกองทัพของเดนส์โดยตรงประสพความล้มเหลว แต่ต่อมาในปีเดียวกันพระเจ้าอัลเฟรดทรงเห็นทางที่จะบั่นทอนกำลังของชนชาวเดนส์โดยการปิดแม่น้ำ เมื่อกองทัพเดนส์เห็นว่าจะเพลี่ยงพล้ำก็ถอยไปทางตะวันตกเฉียงเหนือไปตั้งหลักระหว่างฤดูหนาวที่ บริดจ์นอร์ธ (Bridgenorth) ปีต่อมา ค.ศ. 896 หรือ ค.ศ. 897 กองทัพเดนส์ก็ถอยต่อไปยังราชอาณาจักรนอร์ธัมเบรียและบางส่วนไปยังราชอาณาจักรอีสต์อังเกลีย ผู้ที่ไม่มีถิ่นฐานในอังกฤษก็ถอยกลับไปผืนแผ่นดินใหญ่ยุโรป
หลังจากที่กำจัดกองทัพเดนส์ จากอังกฤษแล้วพระเจ้าอัลเฟรดก็ทรงหันความสนพระทัยไปในการปรับปรุงราชนาวี เพื่อต่อต้านการรุกรานในบริเวณฝั่งทะเลเวสเซ็กซ์โดยชนชาวเดนส์จากราชอาณาจักรนอร์ธัมเบรียและแคว้นอีสต์อังเกลียและการขึ้นฝั่งจากทางยุโรปที่อาจจะเกิดขึ้นอีก การปรับปรุงทางนาวีครั้งนี้มิใช่การเริ่มก่อตั้งราชนาวีอังกฤษตามที่เข้าใจกัน พระเจ้าอัลเฟรดทรงเข้าร่วมสงครามทางทะเลหลายครั้งก่อนหน้านั้น เช่นทรงเข้าร่วมต่อสู้กับพระเจ้าเอเธลวูล์ฟแห่งเวสเซ็กซ์พระราชบิดาในปี ค.ศ. 851 และก่อนหน้านั้น ในปี ค.ศ. 833 และ ในปี ค.ศ. 840 พงศาวดารแองโกล-แซ็กซอนสรรเสริญว่าพระองค์เป็นผู้ก่อตั้งเรือแบบใหม่ตามแบบที่ทรงออกแบบเองซึ่งเป็นเรือที่เร็วกว่า มั่นคงกว่า และสูงกว่าเรือแบบที่เคยใช้กันมา แต่เรือแบบใหม่ที่ว่านี้มิได้ประสบความสำเร็จเท่าใดนักนอกไปจากว่ามีข่าวว่าติดเลนหรือโคลงเคลงระหว่างพายุ แต่จะอย่างไรก็ตามทั้งราชนาวีอังกฤษและกองทัพเรือสหรัฐยกย่องให้พระเจ้าอัลเฟรดเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางพื้นฐานทางกองทัพเรือ
บันทึกเหตุการณ์แองโกล-แซกซันบันทึกว่าพระเจ้าอัลเฟรดทรงแบ่งกองทัพที่ในการต่อสู้เป็นสองกอง ที่เรียกว่าระบบ “Fyrd” เพื่อให้ “กองหนึ่งประจำอยู่ในที่ตั้งมั่นและอีกกองหนึ่งออกรบ” การจัดระบบสองกองทัพเช่นนี้เป็นการใช้กำลังคนเป็นจำนวนมาก ส่วนระบบการบริหารบ้านเมืองที่ซับซ้อนจะเห็นได้จากบันทึกที่พอน่าจะถือได้ ในปี ค.ศ. 892 ที่กล่าวถึงตำแหน่งต่างๆ เช่น “thesaurius” “cellararius” “pincerna”—เจ้ากรมคลัง นายเสบียง และผู้รับใช้ แม้ว่าในปี ค.ศ. 893 จะทรงพิโรธที่กองกำลังหนึ่งมายอมแพ้แก่กองทัพเดนส์เสียก่อนที่ทรงนำกองทัพที่สองขึ้นไปหนุนทัน แต่โดยทั่วไปแล้วระบบการปกครองและการบริหารของพระองค์ก็เป็นระบบที่มีสมรรถภาพดี
จุดอ่อนที่สุดจุดหนึ่งของระบบการป้องกันประเทศก่อนรัชสมัยของพระเจ้าอัลเฟรดก็คือเมื่อยามไม่มีศึกสงครามป้อมปราการต่างๆ ส่วนใหญ่ก็ถูกทิ้งร้างไว้โดยไม่มีทหารประจำการซึ่งทำให้ไวกิงเข้ายึดเป็นที่มั่นและตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญได้อย่างง่ายดาย พระเจ้าอัลเฟรดทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการป้องกันเวสเซ็กซ์อย่างสิ้นเชิงโดยการก่อสร้างป้อมปราการทั่วไปในราชอาณาจักร ที่เรียกกันว่า “บะระห์” หรือ “boroughs” (โบโรห์) ระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดีที่ เวเร็ม (ดอร์เซ็ท) (Wareham) , คริคเลด (Cricklade), ลิดฟอร์ด (Lydford) และวอลลิงฟอร์ด (Wallingford) พบว่าสถานที่ที่ขุดแต่ละแห่งเคยเป็นป้อมปราการหรือ “บะระห์” จากรัชสมัยของพระเจ้าอัลเฟรด หลักฐานเกี่ยวกับความรับผิดชอบในการประจำการและการดูแลป้อมโดยทหารอาชีพพบในต้นฉบับการบริหารที่บันทึกไว้ภายในเวลาเพียงยี่สิบปีหลังจากที่พระเจ้าอัลเฟรดเสด็จสวรรคตที่เรียกว่า “Burghal Hidage” หรืออาจจะบันทึกภายในสมัยของพระองค์เองด้วยซ้ำ บันทึกที่ว่านี้ทำให้เราทราบถึงพระราชนโยบายทางด้านการบริหารของพระองค์ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผังเมืองของ เวเร็ม (ดอร์เซ็ท) และวอลลิงฟอร์ด กับ วินเชสเตอร์ แล้วจะเห็นว่าเป็นผังเมืองที่วางแบบเดียวกัน (วอร์มาลด์) ซึ่งสนับสนุนความคิดที่ว่าการวางผังเมืองใหม่นอกจากจะเป็นการวางผังเมืองสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและการค้าขายแล้วก็ยังคำนึงถึงความมั่นคงและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยจากอันตรายจากภายนอกด้วย ซึ่งเป็นการดึงดูดประชากรอังกฤษให้เข้าไปตั้งหลักฐานในเมืองเหล่านี้มากขึ้นเพราะเป็นที่ๆ ปลอดภัยจากไวกิง และนอกจากนั้นก็ยังเป็นที่ทำรายได้ให้แก่แผ่นดินโดยการเก็บภาษีให้แก่พระมหากษัตริย์
นอกจากนั้นแล้วพระเจ้าอัลเฟรดยังทรงมีบทบาทสำคัญในการจัดระบบชุมชนโดยเฉพาะในบริเวณที่ถูกทำลายโดยเดนส์ และถึงแม้ว่าเราจะไม่ยอมรับบันทึกเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจใน “Burghal Hidage” เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อทรงยึดแคว้นเมอร์เซียจากไวกิง ระบบการปกครองแบบ “ไชร์” เป็นระบบที่เริ่มก่อตั้งเป็นครั้งแรก ซึ่งอาจจะเป็นที่มาของตำนานที่ว่าพระเจ้าอัลเฟรดทรงเป็นผู้ก่อตั้งระบบ “ระบบไชร์” ที่ประกอบด้วยจำนวนที่ที่ดินที่กำหนดไว้ (hundreds) และ “ระบบภาษีไทธ์” (Tithing) ความมีพระปรีชาสามารถในการบริหารและระบบยุติธรรมทำให้พระองค์ได้รับสมญานามว่า “ผู้พิทักษ์คนยาก” แต่ สภาวิททัน มิได้กล่าวถึงพระองค์เท่าใดนักแต่ที่แน่คือทรงยอมรับสิทธิของสภาแต่สภาวการณ์ในเวลานั้นจะเน้นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เป็นใหญ่ กฎหมายต่าง ๆ ของพระเจ้าอัลเฟรดเป็นกฎหมายที่ออกในปลายรัชสมัยหลังจากอันตรายจากเดนส์ลดน้อยลง นอกจากนั้นก็ยังทรงมีบทบาททางการเงินแต่ไม่มีรายละเอียดมากนัก
พระราชกรณียกิจที่สำคัญที่สุดของพระเจ้าอัลเฟรดคือกฎหมายที่เรียกว่า “Deemings” หรือ “บันทึกกฎหมาย” (Book of “Dooms”) วินสตัน เชอร์ชิลล์เชื่อว่ารากฐานของกฎหมายของพระเจ้าอัลเฟรดมาจากการผสมผสานของ กฎของโมเสส กฎของชาวเคลต์ และวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมของแองโกล-แซ็กซอน[5] ด็อคเตอร์ เอฟ เอ็น ลีแสดงความคล้ายคลึงระหว่างกฎหมายของพระเจ้าอัลเฟรดกับกฎของโมเสส [6] แต่ ทอมัส เจฟเฟอร์สัน สรุปหลังจากศึกษาประวัติของกฎหมายอังกฤษว่า “กฎหมายมีมาตั้งแต่ชาวแองโกล-แซกซันยังเป็นผู้นอกรีต, เมื่อยังไม่เคยได้ยินพระนามของพระเยซูหรือไม่รู้ว่าพระเยซูมีตัวตน” [7] วินสตัน เชอร์ชิลล์กล่าวว่ากฎหมายของพระเจ้าอัลเฟรดมาขยายความโดยชนรุ่นหลังจนกลายมาเป็นกฎหมายที่ใช้ในการบริหารระบบไชร์และ “ระบบศาลฮันเดรด” (The Hundred Courts) ซึ่งในที่สุดก็นำมาสู่ กฎบัตรแห่งเสรีภาพ (Charter of Liberties) พระราชทานโดยพระเจ้าเฮนรีที่ 1 แห่งอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1100
แอสเซอร์สรรเสริญพระเจ้าอัลเฟรดในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างเลิศเลอแต่ก็มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยสนับสนุนพระปรีชาสามารถทางด้านนี้ ตัวอย่างของความสนพระทัยในด้านนี้คือที่ทรงแปลหนังสือของโอโรเซียส (Orosius) และที่แน่คือทรงเขียนพระสาส์นติดต่อกับพระสังฆราชอีไลอัสที่ 3 พระสังฆราชออร์ธอด็อกซ์แห่งเยรูซาเลมและอาจจะทรงส่งผู้แทนไปประเทศอินเดีย นอกจากนั้นก็ยังทรงการติดต่อกับกาหลิปที่แบกแดด สถานทูตที่โรมบันทึกถึงทานที่ทรงส่งมาจากอังกฤษมาให้พระสันตะปาปาอย่างสม่ำเสมอ ประมาณปี ค.ศ. 890 วูลฟสตันแห่งไฮธาบู (Wulfstan of Haithabu) เดินทางจากไฮธาบูที่แหลมจัตแลนด์เลียบฝั่งทะเลบอลติคไปยังเมืองพานิชย์ทรูโซในปรัสเซียโดยที่พระเจ้าอัลเฟรดทรงกำชับให้ส่งรายงานการเดินทางอย่างละเอียดกลับมาถึงพระองค์
หลักฐานด้านความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าอัลเฟรดกับเจ้าชายเคลติคทางตะวันตกของอังกฤษเห็นได้ชัดกว่า เมื่อต้นรัชสมัยตามคำกล่าวของแอสเซอร์เจ้าผู้ครองบริเวณต่าง ๆ ในเวลส์ตอนใต้ และแคว้นเมอร์เซีย เข้าเป็นพันธมิตรกับพระเจ้าอัลเฟรด ต่อมาในปลายรัชสมัยเจ้าผู้ครองในเวลส์ทางตอนเหนือก็ทำเช่นเดียวกันและต่อมาเข้าร่วมรบกับอังกฤษในปี ค.ศ. 893 หรือ ปี ค.ศ. 894 นอกไปจากนั้นก็ยังทรงส่งทานไปยังสำนักสงฆ์ต่างๆ ในไอร์แลนด์และยุโรป ซึ่งอาจจะเป็นเพียงข้อเขียนของแอสเซอร์เท่านั้น แต่การมาเยือนของนักแสวงบุญไอริชสามคนในปี ค.ศ. 891 เป็นเรื่องจริง ตำนานที่ว่าพระองค์ถูกส่งไปให้นักบุญมอดเว็นนารักษาที่ไอร์แลนด์อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีความผูกพันกับเกาะนี้
หลักฐานเกี่ยวกับพระเจ้าอัลเฟรดและคริสต์ศาสนามีเพียงเล็กน้อย การรุกรานของชนชาวเดนส์ทำความเสียหายแก่อารามเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะทรงสร้างอารามสองสามแห่งและเชิญนักพรตจากยุโรปมาอังกฤษก็มิได้ทำให้อารามในอังกฤษฟื้นตัวขึ้นเท่าใดนัก นอกไปจากการทำลายคริสตจักรแลัวก็ยังมีผลกระทบกระเทือนต่อการศึกษา โดยเฉพาะทำให้อังกฤษขาดแคลนผู้รู้ภาษาละติน ซึ่งอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้พระเจ้าอัลเฟรดทรงเริ่มการแปลหนังสือ
พระเจ้าอัลเฟรดทรงก่อตั้งสถานศึกษาในราชสำนักตามรอยพระบาทของ ชาร์เลอมาญ[8] โดยทรงนำนักปราชญ์จากยุโรปมายังราชสำนักเช่นกริมบาลด์ (Grimbald) และจอห์นแห่งแซ็กส์ตัน (John the Saxon) และแอสเซอร์ (Asser) จากตอนใต้ของเวลส์
นอกไปจาก “Handboc” หรือ “Encheiridion” ที่สูญหายไปที่เป็นหนังสือที่ทรงเป็นเจ้าของแล้วงานแปลชิ้นแรกที่สุดในรัชสมัยคือ “บทสนทนาของนักบุญเกรกอรี” (Dialogues of Gregory) ซึ่งเป็นหนังสือที่นิยมกันในยุคกลาง ผู้แปลคือ เวอร์เฟิร์ธ (Werferth) บาทหลวงแห่งวูสเตอร์พระสหายสนิทของพระองค์ ส่วนพระองค์เองเพียงทรงประพันธ์คำนำ งานชิ้นต่อมาคือ “Pastoral Care” แปลโดยเฉพาะสำหรับนักบวชประจำท้องถิ่น หนังสือแปลฉบับนี้แปลตรงกับต้นฉบับอย่างใกล้ชิดแต่ที่สำคัญก็คือบทนำที่ทรงประพันธ์ที่ถือกันว่าเป็นเอกสารที่สำคัญที่สุดในรัชสมัยหรือสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของประวัติศาสตร์อังกฤษ งานอีกสองชิ้นต่อมา “ประวัติศาสตร์ทั่วไป” ของโอโรเซียส และ “ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาของชนอังกฤษ” (Historia ecclesiastica gentis Anglorum) โดยนักบุญบีด เล่มแรก “ประวัติศาสตร์ทั่วไป” พระเจ้าอัลเฟรดทรงแก้ไขต่อเติมจากต้นฉบับมากจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นงานชิ้นใหม่ แต่งานแปลจากบันทึกของบีดทรงยึดต้นฉบับอย่างใกล้เคียงและมิได้ทรงต่อเติมเนื้อหาใดๆ แต่ความเชื่อที่ว่าพระเจ้าอัลเฟรดทรงเป็นผู้แปลหนังสือของบีดจริงหรือไม่ยังเป็นที่น่าเคลือบแคลง
งานแปลของพระองค์ “ปรัชญาทั่วไป” (The Consolation of Philosophy) โดยอันนิเซียส แมนเลียส เซเวรินัส โบเธียส (Anicius Manlius Severinus Boethius) ถือกันว่าเป็นงานแปลคู่มือปรัชญาชิ้นที่นิยมกันที่สุดในยุคกลาง งานแปลฉบับนี้เป็นฉบับที่ไม่ทรงแปลตรงตามต้นฉบับทั้งหมดแต่ด็อคเตอร์ จี เช็พส์แสดงให้เห็นว่าส่วนที่แตกต่างไปจากต้นฉบับมิได้มาจากคำแปลของพระองค์ แต่มาจากความเห็นของหนังสือที่ทรงใช้ แต่อย่างไรก็ตามผลงานนี้ก็ยังแสดงถึงความมีพระปรีชาสามารถของพระองค์ หนังสือที่ตกมาถึงปัจจุบันเป็นต้นฉบับสองเล่ม ในเล่มหนึ่ง[9] เป็นงานร้อยแก้วอีกฉบับหนึ่ง[10]เป็นงานผสมระหว่างร้อยแก้วและร้อยกรอง งานชิ้นหลังได้รับความเสียหายมากในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19[11] แต่ผู้แปลส่วนที่เป็นร้อยกรองที่แท้จริงเป็นใครก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่แต่เชื่อกันว่าเป็นงานของพระเจ้าอัลเฟรด ในบทนำทรงบันทึกว่าทรงเขียนส่วนที่เป็นร้อยแก้วก่อนและใช้เป็นฐานในการเขียนส่วนที่เป็นร้อยกรอง “Lays of Boethius” ซึ่งถือว่าเป็นงานทางวรรณกรรมที่สำคัญที่สุดของพระองค์ พระเจ้าอัลเฟรดทรงใช้การเขียนหนังสือเป็นการผ่อนคลายในยามที่ทรงเครียดกับสถานะการณ์บ้านเมือง
งานชิ้นสุดท้ายของพระเจ้าอัลเฟรดมีชื่อว่า “Blostman” หรือ “Blooms” หรือ “หนังสือรวมบทประพันธ์” (Anthology) ครึ่งแรกมีพื้นฐานมาจากข้อเขียนของนักบุญออกัสตินแห่งฮิปโป ที่เหลือมาจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ และเป็นบทประพันธ์ที่บ่งบอกถึงลักษณะส่วนพระองค์ของพระองค์อย่างเด่นชัด ข้อเขียนสุดท้ายคำกล่าวที่เหมาะสมกับผู้เป็นวีรบุรุษเช่นพระองค์ “Therefore he seems to me a very foolish man, and truly wretched, who will not increase his understanding while he is in the world, and ever wish and long to reach that endless life where all shall be made clear.”
นอกจากงานที่กล่าวมาแล้วก็ยังทรงมีส่วนในการประพันธ์บันทึกเหตุการณ์แองโกล-แซกซัน และทรงประพันธ์หรือทรงมีอิทธิพลในการเขียน “รายชื่อนักบุญผู้พลีชีพแซ็กซอน” (Saxon Martyrology) ที่ยังหลงเหลือแต่เพียงเล็กน้อย บทร้อยแก้วของเพลงสดุดีห้าสิบบทเชื่อกันว่าเขียนโดยพระองค์ นอกจากนั้นพระเจ้าอัลเฟรดยังทรงปรากฏใน “นกฮูกและนกไนติงเกล” (The Owl and the Nightingale) “สุภาษิตของอัลเฟรด” (The Proverbs of Alfred) ก็เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ตกมาถึงปัจจุบันจากคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งเนื้อหาน่าจะมีต้นตอบางส่วนมาจากพระองค์
นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์นับถือว่าพระเจ้าอัลเฟรดเป็นนักบุญและเป็นวีรบุรุษใน “แองกลิคันคอมมิวเนียน” (Anglican Communion) โดยมีวันสมโภชน์ตรงกับวันที่ 26 ตุลาคม,[12]
ในปี ค.ศ. 868 พระเจ้าอัลเฟรดทรงเสกสมรสกับเอลสวิธธิดาของเอเธลเรด มูซิลล์ผู้ปกครองไกนิ (Gaini) จากเกนสเบรอในบริเวณแคว้นลิงคอล์นเชอร์ และอาจจะเป็นพระนัดดาของพระมหากษัตริย์แห่งเมอร์เซีย พระเจ้าอัลเฟรดและพระชายาทรงมีโอรสธิดาด้วยกันหกพระองค์รวมทั้งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโสผู้ครองราชบัลลังก์สืบต่อจากพระองค์, เอเธลเฟลดา (Ethelfleda) ผู้ต่อมาเป็นพระราชินีแห่งราชอาณาจักรเมอร์เซีย และ เอลฟริธ (Ælfthryth, Countess of Flanders) ผู้ต่อมาแต่งงานกับบอลด์วินที่ 2 เคานต์แห่งแฟลนเดิร์ส (Baldwin II, Count of Flanders) ออสเบอร์กาพระมารดของพระองค์เป็นบุตรีของออสลาคแห่งเกาะไวท์ ซึ่งแอสเซอร์กล่าวไว้ในหนังสือพระราชประวัติว่าแสดงให้เห็นว่าทรงสืบเชื้อสายมาจากชาวจูต (Jutes) แห่งเกาะไวท์ แต่ข้อสันนิษฐานนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะบุญราศีบีดกล่าวว่าชนจูทถูกสังหารโดยชาวแซกซันไปหมดภายใต้การนำของ แคดวัลลา (Caedwalla) แต่เชื้อสายของพระองค์สืบได้ว่ามาจากราชวงศ์เวสเซ็กซ์จากพระเจ้าวิห์เทรดแห่งเค้นท์ผู้มีพระมารดาเป็นพระขนิษฐาของอาร์วอลด์ (Arwald) ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของเกาะไวท์
พระนาม | พระราชสมภพ | สวรรคต | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
เอเธลเฟลด (Æthelflæd) | ค.ศ. 918 | เสกสมรส ค.ศ. 889, เอเธลเรด ขุนนางแห่งเมอร์เซีย เสียชีวิต ค.ศ. 910 มีโอรสธิดาด้วยกัน | |
เอ็ดเวิร์ด | ค.ศ. 870 | 17 กรกฎาคม ค.ศ. 924 | เสกสมรส (1) เอ็กวิน (2) เอลฟฟาเอด (3) ค.ศ. 919 อีดกิฟูแห่งเคนต์ (Eadgifu of Kent) |
เอเธลจิวา (Æthelgiva) | อธิการิณีอารามชาฟสบรี | ||
เอลฟริธ (Ælfthryth) | ค.ศ. 929 | เสกสมรส บอลด์วินที่ 2 เคานต์แห่งแฟลนเดิร์ส มีโอรสธิดาด้วยกัน | |
เอเธลเวียรด (Æthelwærd) | 16 ตุลาคม ค.ศ. 922 | เสกสมรสและมีโอรสธิดาด้วยกัน | |
16. อีฟา | ||||||||||||||||
8. อีลมันด์แห่งเคนต์ | ||||||||||||||||
4. เอ็กเบิรต์แห่งเวสเซ็กซ์ | ||||||||||||||||
2. พระเจ้าเอเธลวูล์ฟแห่งเวสเซกซ์ | ||||||||||||||||
5. เรดเบอร์กา | ||||||||||||||||
1. พระเจ้าอัลเฟรดมหาราช | ||||||||||||||||
6. ออสแล็ก | ||||||||||||||||
3. ออสเบอร์ | ||||||||||||||||
พระเจ้าอัลเฟรดเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม แต่จะในปีใดนักประวัติศาสตร์ไม่ทราบแน่นอน ซึ่งอาจจะไม่ใช่ ค.ศ. 901 ดังที่เขียนไว้ในบันทึกเหตุการณ์แองโกล-แซกซัน และจะด้วยสาเหตใดก็ไม่เป็นที่ทราบแน่นอนเช่นกัน แต่ตลอดพระชนม์ชีพ พระองค์ก็ประชวรด้วยพระอาการหลายอย่างซี่งอาจจะเป็นโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารก็ได้ หลังจากเสด็จสวรรคตพระบรมศพถูกนำไปเก็บไว้ชั่วคราวที่มินส์เตอร์เก่าที่วินเชสเตอร์ ต่อมาก็อัญเชิญไปที่มินสเตอร์ใหม่ซึ่งอาจจะสร้างสำหรับบรรจุพระบรมศพโดยเฉพาะ เมื่อมินส์เตอร์ใหม่ย้ายไปตั้งอยู่ที่ไฮด์ทางด้านเหนือของตัวเมืองในปี ค.ศ. 1110 พระจากวัดใหม่ก็ย้ายตามไปที่อารามไฮด์ด้วยพร้อมกับพระบรมศพ ในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ที่ฝังพระศพก็ถูกปล้นโดยเจ้าของวัดใหม่ โลงพระศพถูกหลอมเอาตะกั่ว พระศพที่เหลือก็ถูกฝังอย่างไม่มีพิธีรีตองในลานวัด แต่หลุมพระศพถูกขุดขึ้นมาอีกครั้งระหว่างการสร้างคุกใหม่ในปี ค.ศ. 1788 ทำให้กระดูกกระจัดกระจายไปหมด แต่กระดูกที่พบในบริเวณคล้ายเคียงกันในคริสต์ทศวรรษ 1860 ได้รับการประกาศว่าเป็นกระดูกของพระองค์ ในการขุดค้นทางโบราณคดีในปี ค.ศ. 1999 ในหลุมที่เชื่อว่าเป็นหลุมของพระองค์ พระชายาและพระโอรสแทบจะไม่พบซากใด ๆ ในหลุม[13]
สถาบันการศึกษาหลายแห่งในอังกฤษใช้พระนามของพระองค์เป็นชื่อสถาบัน ซึ่งได้แก่:
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.