สวลี ผกาพันธุ์[2] (ชื่อจริง เชอร์รี่ เศวตนันท์; 6 สิงหาคม พ.ศ. 2474 – 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561) หรือชื่อเดิมคือ เชอร์รี่ ฮอฟเมนท์ เป็นนักร้องเพลงลูกกรุง และนักแสดงชาวไทย สวลีมีผลงานบันทึกเสียงมากกว่า 2,000 เพลง เจ้าของฉายา “ราชินีลูกกรุง”และเธอยังได้รับการยกย่องเป็นปูชนียบุคคลของวงการเพลงลูกกรุง[3] สวลีถือเป็นนักแสดงรุ่นบุกเบิกของวงการภาพยนตร์ไทย และเป็นนักแสดงคนแรกที่รับบทเป็น "พจมาน สว่างวงศ์" จากละครเวทีเรื่อง บ้านทรายทอง[4]
ข้อมูลเบื้องต้น สวลี ผกาพันธุ์จ.ม., สารนิเทศภูมิหลัง ...
ปิด
สวลี ผกาพันธุ์ เป็นนักร้องสตรีรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานมากที่สุดถึง 3 ครั้ง (4 เพลง) และเป็นนักร้องคนแรกที่ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ. 2532[5]
สวลี ผกาพันธุ์ เกิดวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2474 ที่กรุงเทพมหานคร มีชื่อจริงแต่แรกเกิดว่า เชอร์รี่ ฮอฟแมนน์[1] เป็นลูกครึ่งที่เกิดแต่บิดาชาวเดนมาร์กชื่อยอร์ช ฮอฟแมนน์ กับมารดาชาวไทยชื่อน้อม จิตต์ธรรม มีน้องได้แก่ มาลี อินทฤทธิ์ (มาลี ผกาพันธุ์) และบังอร นวลแข[ต้องการอ้างอิง] สวลีสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม เมื่อปี พ.ศ. 2490 จากนั้นได้เรียนต่อเพิ่มเติมทางด้านชวเลข และพิมพ์ดีด เมื่อเรียนจบแล้วได้เข้าทำงานเป็นเสมียนพิมพ์ดีดอยู่ที่เทศบาลนครกรุงเทพ และบริษัทสหไทยวัฒนา
ความสนใจทางด้านการขับร้องและดนตรี เริ่มตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยม และด้วยความเป็นผู้มีน้ำเสียงดี จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในการร้องเพลงชาติทุกวัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 ขณะที่อายุได้ 17 ปี และกำลังทำงานที่บริษัทสหไทยวัฒนานั้น คุณมยุรี จันทร์เรือง ครูสอนวิชาขับร้องที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม ได้ชวนไปดูการฝึกซ้อมละครของคณะผกาวลี ซึ่งเป็นของญาติ ทำให้มีโอกาสรู้จักกับ ครูลัดดา สารตายน (ศิลปบรรเลง) ผู้ฝึกซ้อมและกำกับการแสดง
ครูมยุรีได้เล่าให้ครูลัดดาฟังว่าเชอร์รี่ร้องเพลงได้ดี สวลีจึงขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์สายฝน ให้ครูลัดดาฟัง ปรากฏว่าเป็นที่พอใจ จึงชวนมาร้องเพลงสลับฉากละครในตอนเย็นหลังเลิกงาน เพลงแรกในชีวิตมีชื่อว่าเพลง หวานรื่น ผลงานเพลงของครูประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง โดยร้องคู่กับ วลิต สนธิรัตน์ ในวันนั้น นอกจากจะเป็นวันที่เริ่มต้นชีวิตการเป็นนักร้องแล้ว ยังเป็นวันที่ครูลัดดาได้ตั้งชื่อให้ท่านใช้ในการแสดงว่า สวลี แปลว่า "น้ำผึ้ง"[6] ส่วนนามสกุล ผกาพันธุ์ นั้น สด กูรมะโรหิต เป็นผู้ตั้งให้ในเวลาต่อมา โดยมีความหมายว่า "เผ่าพันธุ์ของดอกไม้" ซึ่งนำมาจากชื่อจริงของเธอคือ "เชอร์รี่"[6] จากนั้นมาได้มีโอกาสร้องเพลงสลับฉากเพิ่มขึ้นกับเริ่มแสดงเป็นตัวประกอบ มีบทพูดเล็ก ๆ น้อย ๆ และร้องเพลงในเรื่อง
เมื่องานการขับร้องเพลงและการแสดงละครมีมากขึ้น จึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาทำงานด้านการบันเทิงอย่างเต็มตัว ต่อมาไม่นานได้รับบทนางเอกครั้งแรกใน ความพยาบาท ทำให้มีชื่อเป็นที่รู้จักทั่วไปและได้แสดงนำอีกหลายเรื่องจนคณะผกาวลีเลิกกิจการลงจึงได้ย้ายไปแสดงอยู่กับคณะอัศวินการละคร เป็นนางเอกเรื่อง มโนราห์ คู่กับ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ และเรื่องอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ บ้านทรายทอง บทประพันธ์อมตะตลอดกาลของ ก.สุรางคนางค์ (ซึ่งต่อมาเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์อีกหลายครั้ง) รับบทเป็น “พจมาน” คนแรก และได้ร้องเพลงไพเราะ หากรู้สักนิด ผลงานการประพันธ์ของ หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ เป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้ร่วมแสดงกับคณะเทพศิลป์ และคณะศิวารมย์เป็นครั้งคราว
หลังจากมีประสบการณ์ในวงการละครเวทีมาระยะหนึ่ง สวลีและ อดีศักดิ์ เศวตนันทน์ สามี ตั้งคณะละคร นันทน์ศิลป เปิดการแสดงที่ศาลาเฉลิมนคร [7]และต่อมาในชื่อ คณะชื่นชุมนุมศิลปิน ประสบความสำเร็จเป็นอันดีจนถึงปลายยุคละครเวที ส.อาสนจินดา ได้ชักชวนสมัครพรรคพวกที่เคยร่วมงานละครเวทีกันมาก่อนมาแสดงภาพยนตร์ที่เตรียมสร้างโดยมีสวลีเป็นนางเอกอยู่ระยะหนึ่งกับมีโอกาสทำหน้าที่พากย์หนังด้วย ระยะนี้เริ่มร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียง ผลงานล้วนประสบความสำเร็จอย่างสูง เช่น ลมหวน โรครัก ,หน้าชื่นอกตรม ,รักมีกรรม ฯลฯ
เมื่อมีการก่อตั้งไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม สถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2498 คณะชื่นชุมนุมศิลปิน ได้เข้ามาจัดรายการโทรทัศน์เป็นคณะแรก ด้วยการจัดรายการเพลง ซึ่งมี ครูสมาน กาญจนผลิน เป็นผู้ควบคุมวง และนักร้องที่มีชื่อเสียง เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร, นริศ อารีย์, พูลศรี เจริญพงษ์, อดิเรก จันทร์เรือง ฯลฯ และละครโทรทัศน์หลายเรื่อง ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ยิ่งไปกว่านั้นทั้งยังเป็นผู้พากย์หนังทีวีชุด แลสซี่ สุนัขแสนรู้ อีกด้วย ส่วนงานบันทึกเสียงยังมีประจำทั้งเพลงเดี่ยวและเพลงคู่ นักร้องที่เคยร่วมงานด้วยซึ่งค่อนข้างหาฟังยากในปัจจุบันคือ ชาญ เย็นแข ในบทเพลง สายน้ำผึ้ง , ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ และ สมยศ ทัศนพันธ์
ด้วยประสบการณ์หลายด้านในวงการบันเทิงที่ประสบความสำเร็จถึงจนเป็นหนึ่งในทำเนียบแห่งศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่งของประเทศไทย[8]
บท พจมาน พินิตนันทน์ คนแรกในนวนิยาย บ้านทรายทอง คู่กับ ฉลอง สิมะเสถียร ทั้งฉบับละครเวทีโดย คณะอัศวินการละคร ที่ ศาลาเฉลิมไทย (2494) และฉบับละครโทรทัศน์โดย คณะชื่นชุมนุมศิลปิน ทางไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม (2501) และเป็นคนแรกที่ขับร้องเพลงเอกนำเรื่อง คือเพลง”หากรู้สักนิด” และ “บ้านทรายทอง” อีกด้วย[9]
สวลี ผกาพันธุ์ มีผลงานเพลงมากมายกว่า 2000 เพลง นี่คือเพลงและแผ่นเสียงที่จะพอรวบรวมได้
- แผ่นเสียงโดย สวลี ผกาพันธุ์ และ ธานินทร์ อินทรเทพ ชุด ฉงน และ บาป (โดย สุรพล โทณวณิก)
- แผ่นเสียง ชุด ระฆังทอง ฟ้ามิอาจกั้น
- แผ่นเสียง ชุด มนต์รักโลมใจ
- แผ่นเสียง ชุด บำนาญรัก
- แผ่นเสียง ชุด ปล่อยฉันไป
- แผ่นเสียง ชุด โธ่เอ๋ย และ จำเลยรัก
- แผ่นเสียง ชุด สนามอารมณ์
- แผ่นเสียง ชุด ให้
- แผ่นเสียง ชุด คนใจดำ | คนใจเดียว
- แผ่นเสียง ชุด รักสลาย
- แผ่นเสียง ชุด อย่าลืมรักเราดูดดื่มเสมอ
- แผ่นเสียง ชุด หนีรัก และ อย่าทรมานอีกเลย
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด พ่อแง่-แม่งอน และ เธออยู่ไหน
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด เหมือนตายจากกัน
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด แผ่นเสียงทองคำ
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด เพื่อเธอ เพื่อเธอ และเพื่อเธอ
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด จำปาทอง
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด สุดดิน สิ้นสวรรค์
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด จอมนางบนกลางใจ และ ชายเดียวในดวงใจ (วงดนตรี พยงค์ มุกดา)
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด น้ำใจ และ ยอดสวาท
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ ดิอิมพอสซิเบิ้ล และ ซิลเวอร์แซนด์ ชุด สตริง แอนด์ สตาร์
- แผ่นเสียง ชุด ปางไหนจะให้พบ
- แผ่นเสียง ชุด ขาดกันเพียงนี้
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ ชรินทร์ นันทนาคร ชุด หยาดฝนแรก / งามชมงามชื่น
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ ชรินทร์ นันทนาคร ชุด หลงคอยแต่เงา และ หน้าต่างหัวใจ
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ ชรินทร์ นันทนาคร เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ปรีชา บุญเกียรติ ชุด สัญญาณ และ เทพบุตรของหญิง
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด ฤทธิ์กามเทพ
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด ฝนนี้ และ สุดดินสิ้นสวรรค์
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ ชรินทร์ นันทนาคร สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด รักอย่ารู้คลาย
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด จอมใจจักรพรรดิ และ เพลงรักชาวเรือ
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ จินตนา สุขสถิตย์ ชุด มณฑาทอง
- แผ่นเสียง ชุด เสียงแห่งสยาม
- แผ่นเสียง ชุด ขอใจ
- แผ่นเสียง ชุด ที่ระลึกจาก สวลี ผกาพันธุ์
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ ชรินทร์ นันทนาคร ชุด รักริมน้ำแม่ปิง และ กล่อมสยาม
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด อย่าสงสารฉันเลย
- แผ่นเสียง ชุด คุณเจ้าขา
- แผ่นเสียง ชุด อย่าคิด อย่าคิด
- แผ่นเสียง ชุด บ้านนา และ ลาทีมิใช่ลาจาก
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ จินตนา สุขสถิตย์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด คุณของแม่โพสพ
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ จินตนา สุขสถิตย์ และ สุพัตรา คฤหเดช ชุด โธ่! เธอที่รัก
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด คดีพิศวาท และ จูบประทับใจ
- แผ่นเสียง ชุด โทรจิตพิศวาท และ ห้วงน้ำตา
- แผ่นเสียง ชุด ได้โปรดเถิดที่รัก
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด ม่านประเพณี
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพโชว์ ชุด เพชรตัดเพชร
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ ธานี ศรีอุทัย ชุด วิวาห์ลูกทุ่ง และ เชลยสวาท
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ นริศ อารีย์ และ ชาญเย็นแข ชุด จำปาทองเทศ และ รักเดียว
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ พูลศรี เจริญพงษ์ และ ชรินทร์ งามเมือง ชุด ลมปาก และ คอยน้อง
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด อนุญาตรัก และ ฉันรักลูกทุ่ง
- แผ่นเสียง ชุด ปัญหาชีวิต
- แผ่นเสียง ชุด โธ่ ไม่น่าเลย
- แผ่นเสียง ชุด โธ่เอ๋ย รักซึมใจ
- แผ่นเสียง ชุด ชู้ลา และ ทิ้งน้องร้องไห้
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ มีศักดิ์ นาคราช ชุด แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร และ เห็นกันที่ฮ่องกง
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ พราวตา ดาราเรือง ธานินทร์ อินทรเทพ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด ผู้ร้อง ตราบาป
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ ลินจง บุนนากรินทร์ จรรยา สดแจ่มศรี และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ชุด ที่รักอย่าร้องไห้
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ ธานินทร์ อินทรเทพ ชุด คาวหัวใจ และ บ้านของเรา
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ชุด คนหลอกลวง และ รักแท้
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ สุเทพ วงศ์กำแหง และ ชาญ เย็นแข ชุด ลาทีความรัก และ รักในยามยาก
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ ธานินทร์ อินทรเทพ ชุด ขนมจากปากน้ำ | เสรีรัก | รักซื่อ | ก็เพราะรัก
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สเกน สุทธิวงศ์ ชุด รักคู่โลก | สายธารสายใจ
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด ฤทธิ์กามเทพ | กามเทพลวง
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ สมยศ ทัศนพันธ์ และ ชรินทร์ งามเมือง ชุด นาทีทอง | คืนนี้
- แผ่นเสียง ชุด สนามอารมณ์
- แผ่นเสียง โดย สวลี มนตรี อรอุมา สุเทพ ชุด รักตลอดทาง
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ ลพ บุรีรัตน์ และ จินตนา สุขสถิตย์ ชุด จ้ำจี้มะเขือเปราะ | เพลินไพร
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ อาทิตย์ หิรัญวัฒน์ ชุด ผู้ผิดหวัง
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด ม่านประเพณี | เสียใจที่รักเธอ | เมฆฟ้าพาฝัน
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ ชรินทร์ นันทนาคร ชุด เรือนแพ | เงาไม้
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ สันติ ลุนเพ่ ชุด ถามคนไทย | ปริศนาไทย
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ ธานินทร์ อินทรเทพ ชุด รำวงลูกเสือชาวบ้าน
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ และ รุ่งฤดี แผ่งพ่องใน ชัด ขวัญใจนักเรียน และ สตรีที่โลกลืม
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ สุเทพ วงศ์กำแหง และ ชรัมภ์ เทพชัย ชุด ตามองตา | รักสาวอีสาน
- แผ่นเสียง โดย สวลี ผกาพันธุ์ สมยศ ทัศนพันธ์ ชาญ เย็นแข ชุด แม่นางสรง | เชยยอดชู้
- ฯลฯ
รายชื่อบางส่วน ซึ่งถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม.
- กฤษดาอภินิหาร (2493) - นำแสดงโดย จมื่นมานิตย์นเรศ, อบ บุญติด, อารีย์ โทนะวนิก, สวลี ผกาพันธุ์, พรรณี เกษแก้ว, ชูศรี ผกาวลี กำกับโดย ลัดดา สารตายน ฉายครั้งแรกวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ที่โรงหนังเฉลิมนคร
- พระเจ้ากรุงธนบุรี (2495) - นำแสดงโดย ถนอม อัครเศรณี, สวลี ผกาพันธุ์, หม่อมหลวงรุจิรา อิศรางกูร, ปทุม ประทีปเสน,ไสว ประพันธ์ สร้างโดย บันเทิงไทย กำกับโดย เชื้อ อินทรทูต ฉายปี พ.ศ. 2495 ที่โรงหนังศาลาเฉลิมกรุง
- คำสั่งคำสาป (2497) - นำแสดงโดย สวลี ผกาพันธุ์, อารี โทณวนิก, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, อุโฆษ จันทร์เรือง, วสันต์ สุนทรปักษิณ ฉายปี พ.ศ. 2497 (ต่อจากเรื่อง แผลเก่า ที่โรงหนังเฉลิมบุรี ) โฆษณาว่าเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่อัดเสียงลงฟิล์ม
- น้ำตาชาย (2497) - นำแสดงโดย สวลี ผกาพันธุ์, สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์, สมควร กระจ่างศาสตร์ ,ทักษิณ แจ่มผล สร้างโดย บาร์โบสภาพยนตร์ กำกับโดย วิเชียร ฉวีวงศ์ ฉายต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2497 ที่โรงหนังควีนส์
- ศรีราชา (2497) - นำแสดงโดย ส.อาสนจินดา, สมควร กระจ่างศาสตร์, สวลี ผกาพันธุ์, ทักษิณ แจ่มผล, จำรูญ หนวดจิ๋ม, สมพล กงสุวรรณ สร้างโดย วชิราภาพยนตร์
- เริงริษยา (2498) - นำแสดงโดย สวลี ผกาพันธุ์ และ โชติ สโมสร สร้างโดย รัตนภาพยนตร์ ฉายวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2498 ที่โรงหนังเอ็มไพร์
- แม่พระ (2498) - นำแสดงโดย สวลี ผกาพันธุ์, ฉลอง สิมะเสถียร, สาหัส บุญหลง, ฑัต เอกฑัต สร้างโดย ทิดเขียวภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดย พันคำ ฉายเดือนเมษายน พ.ศ. 2498 ที่โรงหนังควีนส์
- ล้มบาง (2498) - นำแสดงโดย ทักษิณ แจ่มผล, ฑัต เอกฑัต, สวลี ผกาพันธุ์, มาลิน เลขะวัฒนพิจารณ์ สร้างโดย บาร์โบสภาพยนตร์ กำกับโดย ส.อาสนจินดา ฉายวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2498 ที่โรงหนังควีนส์
- ผารีซอ (2498) - นำแสดงโดย สวลี ผกาพันธุ์, ฤทธิ์ อินทนันท์, มนูญ ชูเกษ, วิรัติ ภู่จีนาพันธ์, ล้อต๊อก, ด.ช.สำรวย นิลประภา สร้างโดย หนังสือพิมพ์ปิยะมิตร โดย วิรัตน์ คูห์สุวรรณ อำนวยการสร้าง กำกับการแสดงโดย คุณาวุฒิ ฉายวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ที่โรงหนังศรีราชวงศ์
- เสือน้อย (2498) - นำแสดงโดย ทักษิณ แจ่มผล, ส.อาสนจินดา, พันคำ, สวลี ผกาพันธุ์, ล้อต๊อก ,จำรูญ ,สาหัส บุญหลง สร้างโดย บาร์โบสภาพยนตร์ กำกับโดย ส.อาสนจินดา (ฉายต่อจากเรื่อง โบตั๋น ปี พ.ศ. 2498) ที่โรงหนังคาเธ่ย์
- เพลิงโลกันต์ (2498) - นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์, สวลี ผกาพันธุ์, แน่งน้อย, มาลิน, ไสล, มนูญ, สุรชาติ สร้างโดย เอราวัณภาพยนตร์ กำกับโดย เสนีย์ บุษปะเกศ ฉายปี พ.ศ. 2498
- ไฟชีวิต (2499) - นำแสดงโดย สวลี ผกาพันธุ์ ,สุรชัย ลูกสุรินทร์ ,สมศรี เทียมกำแหง ,จรูญ ,ชูศรี สร้างโดย เกรียงศักดิ์ หาญวานิช กำกับโดย ลัดดา สารตายน ฉายปี พ.ศ. 2499 ที่โรงหนังนิวโอเดียน
- ไกรทอง (2501) - นำแสดงโดย อดุลย์ ดุลยรัตน์, ชนะ ศรีอุบล, สวลี ผกาพันธุ์, ประภาพรรณ นาคทอง, วงทอง ผลานุสนธิ์, แขไข สุริยา, อบ, ดอกดิน, สมศรี อธึก, ทองแถม สร้างโดย ภาพยนตร์สวัสดิการตำรวจ ฉายวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ที่โรงหนังเอ็มไพร์
- สวรรค์หาย (2501) - นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์, อาคม มกรานนท์, อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา, สวลี ผกาพันธุ์, แขไข, สาหัส, ฑัต, จรูญ สร้างโดย บริการสากลภาพยนตร์ โดย สกุล เกตุพันธ์ อำนวยการสร้าง กำกับโดย รังสี ทัศนพยัคฆ์ ฉายวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2501 ที่โรงหนังศาลาเฉลิมกรุง-เฉลิมบุรี
- ขบวนเสรีจีน (2502) - นำแสดงโดย มิสคูมี่, สุเทพ วงศ์กำแหง, ประจวบ ฤกษ์ยามดี, สวลี ผกาพันธุ์, ชาลี อินทรวิจิตร, ศรินทิพย์, จรูญ สร้างโดย คันจราภาพยนตร์ โดย เทวะมิตร์ อำนวยการสร้าง กำกับโดย ลัดดา สารตายน ฉายวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2502 ที่โรงหนังคาเธ่ย์
ฯลฯ
สวลี ผกาพันธุ์ เสียชีวิตจากการสำลักยาจนขาดอากาศหายใจ ที่บ้านพักของตนเองเมื่อเวลา 20.00 น. ของคืนวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 สิริรวมอายุ 86 ปี 8 เดือน 24 วัน[10] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561 ณ วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร
ศุกรหัศน์ (เฉลิม เศวตนันทน์)กับเรื่องของศิลปิน ,ok nation.net