Loading AI tools
นักแสดงและนักพากย์หญิงชาวไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จุรี โอศิริ (2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 – 24 มกราคม พ.ศ. 2555) ชื่อเล่น จุ๊ หรือรู้จักโดยทั่วไปว่า “ป้าจุ๊” เป็นนักร้อง เป็นผู้ประกาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย นักพากย์ นักแสดงละครเวที ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง 4 ครั้ง (สาขาผู้พากย์ยอดเยี่ยม 3 รางวัล และผู้แสดงประกอบยอดเยี่ยม 1 รางวัล) ได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักพากย์และนักแสดง) ปี พ.ศ. 2541[1] และอดีตประธานกรรมการมูลนิธิสวัสดิการนักแสดงอาวุโสคนแรก
จุรี โอศิริ | |
---|---|
เกิด | 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 24 มกราคม พ.ศ. 2555 (82 ปี) อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย |
คู่สมรส | เสนอ โกมารชุน สมชาย สามิภักดิ์ |
บุตร | 2 คน |
อาชีพ | นักร้อง นักแสดง นักพากย์ |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2488 - 2555 |
ศิลปินแห่งชาติ | สาขาศิลปะการแสดง - ภาพยนตร์และละคร นักพากย์ พ.ศ. 2541 |
พระสุรัสวดี | ผู้พากย์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง โบตั๋น พ.ศ. 2500 ผู้พากย์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง นกน้อย พ.ศ. 2507 ผู้แสดงประกอบยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง วัยตกกระ พ.ศ. 2522 ผู้พากย์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ไร้เสน่หา พ.ศ. 2522 ผู้พากย์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง เทพธิดาโรงงาน พ.ศ. 2525 |
โทรทัศน์ทองคำ | ดาราสมทบยอดเยี่ยม จากละครโทรทัศน์เรื่อง สายโลหิต |
เมขลา | สาขารางวัลเกียรติคุณ พ.ศ. 2554 (หลังจากเสียชีวิต) |
ThaiFilmDb |
จุรี เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ที่กรุงเทพมหานคร บิดาชื่อเตียง โอศิริ มารดาชื่อเลมียด โอศิริ มีพี่น้อง 4 คน จุรีเป็นบุตรคนที่ 2 นายเตียงผู้เป็นบิดา เป็นคนไทยคนแรก ๆ ที่ทำกิจการผลิตแผ่นเสียงในนามของห้างฮัมบวร์คสยาม ซึ่งเป็นผู้ผลิตแผ่นเสียงตราสุนัขนั่งฟังลำโพงหีบเสียง (His Master 's Voice) ทำให้ได้ซึมซับกับบรรยากาศของเสียงเพลง ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร โดยจุรีมีความสนใจด้านการเต้นรำ เช่น บัลเล่ต์ และการร้องรำทำเพลงแบบสากลต่าง ๆ จึงได้เลือกเรียนเอกทางด้านนาฏศิลป์สากล และขับร้องเพลงสากล จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (เป็นนักเรียนนาฏศิลป์รุ่นเดียวกับนภา หวังในธรรมและจันทนา โอบายวาทย์)
หลังจบการศึกษาจุรีสมัครเป็นพนักงานต้อนรับบนรถไฟในเวลาสั้นๆก่อนเข้าทำงานวงการบันเทิงเต็มตัวในหลากหลายด้าน เริ่มจากเป็นนักร้องหน้าม่าน สลับละครของคณะผกาวลีและคณะศิวารมย์ ได้มีโอกาสแสดงเป็นนางเอกในละครเพลงเรื่อง “นเรศวรมหาราช” และเข้าเป็นนักร้องประจำวงดุริยางค์ทหารบก ต่อมาย้ายมาเป็นนักร้องสังกัดวงดนตรีกรมโฆษณาการหรือวงดนตรีสุนทราภรณ์ตามคำชักชวนของครูเอื้อ สุนทรสนาน
จุรีเคยผ่านงานแสดงมาบ้างแล้ว ในละครเวทีเรื่อง"ตะรุเตา"ของไถง สุวรรณทัตตั้งแต่ยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนนาฏศิลป ต่อมาหลังละครเวทีซบเซานักแสดงละครเวทีหันมาแสดงภาพยนตร์กันเป็นส่วนใหญ่คุณจรี อมาตยกุลจึงมีแผนจะสร้างภาพยนตร์เรื่องสุภาพบุรุษจากอเวจีโดยวางตัวส.อาสนจินดาเป็นพระเอกแต่ยังขาดตัวนางเอกจึงมีคนแนะนำให้ไปดูตัวจุรี คุณจรีเห็นว่าหน้าตาพอใช้ได้และเคยมีประสบการณ์มาก่อนจึงชักชวนให้ร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกรับบทเป็นนางเอกในเรื่อง “สุภาพบุรุษจากอเวจี” กำกับการแสดงโดยครูเนรมิต[2]
เมื่อการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องสุภาพบุรุษจากอเวจีซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอเสร็จสิ้นลง คุณจรี อมาตยกุลผู้อำนวยการสร้าง ต้องการหานักพากย์หญิงมาให้เสียงพากย์คู่กับเสน่ห์ โกมารชุนนักพากย์ฝ่ายชาย จึงลองชักชวนจุรีให้ลองมาพากย์เสียงดู จุรีตอบตกลงทั้ง ๆ ที่ตัวเธอเองยังไม่เคยพากย์เสียงเลยสักครั้ง แต่เมื่อถึงเวลาที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายจุรีได้ให้เสียงพากย์ตัวละครฝ่ายหญิงโดยใช้น้ำเสียงที่สื่ออารมณ์ของตัวละครได้ชัดเจน พร้อมกับการใส่มุก ใส่ลูกเล่น ให้ผู้ชมภาพยนตร์ได้มีอารมณ์ขันไปด้วยตลอดจนจบเรื่อง การพากย์เสร็จสิ้นลงด้วยดี
จุรีเกิดชอบทางด้านพากย์เสียง จึงรับพากย์ให้กับดาราหญิงและเด็กทั้งหญิงชายในหลากหลายบทบาททั้งนางเอก นางรอง ตัวอิจฉา และตัวประกอบมากมายนับไม่ถ้วน อาทิ อมรา อัศวนนท์ รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง วิไลวรรณ วัฒนพานิช กัณฑรีย์ นาคประภา เพชรา เชาวราษฎร์ พิศมัย วิไลศักดิ์ ภาวนา ชนะจิต ขวัญตา บัวเปลี่ยนสี เยาวเรศ นิศากร มาเรีย จาง เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ลลนา สุลาวัลย์ ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ นันทนา เงากระจ่าง ชูศรี มีสมมนต์ สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต มาลี เวชประเสริฐ ล้อต๊อกน้อย เด็กหญิงบรรจง นิลเพชร ฯลฯ
ผลงานการพากย์เสียงของจุรี มีหลายคนที่ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองและสุพรรณหงส์ทองคำ ได้แก่ สมจิต ทรัพย์สำรวย จากภาพยนตร์เรื่อง ยอดอนงค์ และ ค่าน้ำนม, ภาวนา ชนะจิต จากภาพยนตร์เรื่อง แสงสูรย์, พิศมัย วิไลศักดิ์ จากภาพยนตร์เรื่อง ดวงตาสวรรค์ ไร้เสน่หา และ เงิน เงิน เงิน, เนาวรัตน์ วัชรา จากภาพยนตร์เรื่อง เดือนร้าว, เพชรา เชาวราษฎร์ จากภาพยนตร์เรื่อง นกน้อย, เปียทิพย์ คุ้มวงศ์ จากภาพยนตร์เรื่อง ตลาดพรหมจารีย์ และ อาอี๊, บุปผารัตน์ จากภาพยนตร์เรื่อง ข้าวนอกนา, ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา จากภาพยนตร์เรื่อง ประสาท, ทาริกา ธิดาทิตย์ จากภาพยนตร์เรื่อง เหนือกว่ารัก, นิจ อลิสา จากภาพยนตร์เรื่อง เพื่อน-แพง, ล้อต๊อกน้อย จากภาพยนตร์เรื่อง ยอดอนงค์, เด็กหญิงบรรจง นิลเพ็ชร จากภาพยนตร์เรื่อง ข้าวนอกนา และ มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช จากภาพยนตร์เรื่อง ป่ากามเทพ จุรีเคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พากย์ภาพยนตร์ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการเสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น ในฝูงหงส์ สาวน้อย นกน้อย แม่นาคพระโขนง เป็นต้น
จุรีได้รับรางวัลเกียรติยศ จากทั้งการพากย์ และการแสดงภาพยนตร์ ในหลายรางวัล ได้แก่
จุรีเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ มิได้ขาด ไม่ว่าจะเป็นการแสดงละครการกุศล การขับร้องเพลงในคอนเสิร์ตการกุศล และอื่นๆ ทั้งยังเป็นศิลปินอาวุโสที่ให้ความเมตตา ชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่ดารารุ่นหลัง จึงเป็นที่เคารพรักใคร่ ของบรรดาศิลปินรุ่นน้อง และรุ่นลูกหลานทั้งหลาย ที่สำคัญก็คือ จุรีเป็นดาราผู้มีภาพพจน์ดีงาม เป็นที่ชื่นชมของแฟนๆ ภาพยนตร์ และละครทั่วประเทศ ทุกเพศทุกวัยมาเป็นเวลายาวนาน คุณสมบัติที่ดีเด่นอีกประการหนึ่งคือ เป็นผู้ที่ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง นับเป็นแบบอย่างที่ดี แก่นักแสดงอื่นๆ และประชาชนทั่วไปอีกด้วย
ด้านชีวิตครอบครัว สมรสและใช้ชีวิตคู่ครั้งแรก กับ เสนอ โกมารชุน (พี่ชายของ เสน่ห์ โกมารชุน) มีบุตรชาย 2 คนคือ นายจามร โกมารชุน (ถึงแก่กรรม) และ นพพล โกมารชุน หลังจากสามีเสียชีวิต ก็ใช้ชีวิตคู่กับสมชาย สามิภักดิ์ มาเป็นเวลา 50 กว่าปี จนกระทั่งสมชายถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2552
จุรี โอศิริ ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555 ที่บ้านพักใน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย สิริอายุ 82 ปี 2 เดือนเศษ[3] ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร[4][5]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.