ประเทศสเปน
ราชอาณาจักรในยุโรปตะวันตกเฉียงใต้ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชอาณาจักรในยุโรปตะวันตกเฉียงใต้ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สเปน (อังกฤษ: Spain; สเปน: España, [esˈpaɲa] ( ฟังเสียง)) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรสเปน (อังกฤษ: Kingdom of Spain; สเปน: Reino de España)[lower-alpha 1][lower-alpha 2] เป็นประเทศทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ตั้งอยู่บนคาบสมุทรไอบีเรีย มีพรมแดนติดกับฝรั่งเศสทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวเทือกเขาพิรินี[13] ทางทิศเหนือติดกับอันดอร์รา และอ่าวบิสเคย์ ทางทิศใต้ติดกับยิบรอลตาร์ และทางทิศตะวันตกติดกับโปรตุเกสและมหาสมุทรแอตแลนติก อาณาเขตของสเปนยังรวมถึงกานาเรียสในมหาสมุทรแอตแลนติก หมู่เกาะแบลีแอริกในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมทั้งนครปกครองตนเองได้แก่ เซวตา และ เมลียา และดินแดนโพ้นทะเลบริเวณปลาซัสเดโซเบรานิอา ด้วยพื้นที่ 505,990 ตารางกิโลเมตร[14] สเปนจึงเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปใต้ ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในยุโรปตะวันตกและสหภาพยุโรป และเป็นอันดับ 4 ในทวีปยุโรป และด้วยประชากร 47 ล้านคน สเปนจึงเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 6 ของยุโรป และเป็นอันดับ 4 ในสหภาพยุโรป[15] เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดคือกรุงมาดริด และมีเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ บาร์เซโลนา, บาเลนเซีย, เซบิยา, ซาราโกซา, มาลากา, มูร์เซีย, ปัลมาเดมาจอร์กา และบิลเบาโอ มีภาษาราชการคือภาษาสเปน ซึ่งเป็นภาษาแม่ที่มีผู้ใช้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีผู้ใช้มากที่สุดในบรรดากลุ่มภาษาโรมานซ์ โดยมีผู้ใช้มากกว่า 600 ล้านคน[16][17][18]
ราชอาณาจักรสเปน Reino de España (สเปน) | |
---|---|
ที่ตั้งของ ประเทศสเปน (เขียวเข้ม) – ในยุโรป (เขียว & เทาเข้ม) | |
เมืองหลวง และเมืองใหญ่สุด | มาดริด 40°26′N 3°42′W |
ภาษาทางการ | สเปน[lower-alpha 3] |
สัญชาติ (ค.ศ. 2020) | |
ศาสนา (ค.ศ. 2021)[5] |
|
เดมะนิม | ชาวสเปน |
การปกครอง | รัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ |
สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน | |
เปโดร ซันเชซ | |
• ประธานสภาผู้แทนราษฎร | มาริตเช็ลย์ บาเต็ต |
• ประธานวุฒิสภา | อันเดร์ ฆิล |
• ประธานศาลสูงสุด | การ์โลส เลสเมส |
สภานิติบัญญัติ | รัฐสภา |
• สภาสูง | วุฒิสภา |
• สภาล่าง | สภาผู้แทนราษฎร |
ก่อตั้ง | |
20 มกราคม ค.ศ. 1479 | |
9 มิถุนายน ค.ศ. 1715 | |
• รัฐธรรมนูญฉบับแรก | 19 มีนาคม ค.ศ. 1812 |
1 เมษายน ค.ศ. 1939 - ค.ศ. 1978 | |
• ประชาธิปไตย | 29 ธันวาคม ค.ศ. 1978 |
1 มกราคม ค.ศ. 1986 | |
พื้นที่ | |
• รวม | 505,990[6] ตารางกิโลเมตร (195,360 ตารางไมล์) (อันดับที่ 51) |
0.89 (ใน ค.ศ. 2015)[7] | |
ประชากร | |
• สำมะโนประชากร 2020 | 47,450,795[8][9][lower-alpha 5] (อันดับที่ 30) |
94 ต่อตารางกิโลเมตร (243.5 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 120) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | ค.ศ. 2021 (ประมาณ) |
• รวม | 1.942 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[10] (อันดับที่ 15) |
• ต่อหัว | 41,736 ดอลลาร์สหรัฐ[10] (อันดับที่ 32) |
จีดีพี (ราคาตลาด) | ค.ศ. 2021 (ประมาณ) |
• รวม | 1.450 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[10] (อันดับที่ 13) |
• ต่อหัว | 31,178 ดอลลาร์สหรัฐ[10] (อันดับที่ 26) |
จีนี (ค.ศ. 2019) | 33.0[11] ปานกลาง · อันดับที่ 103 |
เอชดีไอ (ค.ศ. 2019) | 0.904[12] สูงมาก · อันดับที่ 25 |
สกุลเงิน | ยูโร[lower-alpha 6] (€) (EUR) |
เขตเวลา | UTC±0 ถึง +1 (เวลายุโรปตะวันตกและเวลายุโรปกลาง) |
UTC+1 ถึง +2 (เวลาออมแสงยุโรปตะวันตกและเวลาออมแสงยุโรปกลาง) | |
หมายเหตุ: พื้นที่สเปนส่วนใหญ่ใช้เวลายุโรปกลาง ยกเว้นแคว้นกานาเรียสที่ใช้เวลายุโรปตะวันตก | |
รูปแบบวันที่ | วว/ดด/ปปปป (ค.ศ.) |
ขับรถด้าน | ขวา |
รหัสโทรศัพท์ | +34 |
รหัส ISO 3166 | ES |
โดเมนบนสุด | .es[lower-alpha 7] |
ปรากฎหลักฐานว่าชนเผ่าต่าง ๆ เช่น เคลต์ ไอบีเรียน โรมัน วิซิกอท และ มัวร์ เข้ามาตั้งรกรากในบริเวณคาบสมุทรไอบีเรียตั้งแต่สมัยโบราณ[19] ต่อมา ชาวเมดิเตอร์เรเนียน เช่น ฟินิเชีย และ กรีก ได้เข้ามาตั้งรกรากและทำการค้าบริเวณริมชายฝั่ง และชาวฟินิเซียตะวันตกได้ยึดครองบริเวณนี้ในช่วงเวลาสั้น ๆ และตั้งแต่ 218 ปีก่อนคริสต์ศักราช การล่าอาณานิคมของชาวโรมันในฮิสเปเนียได้เริ่มต้นขึ้น พวกเขาครอบครองดินแดนของสเปนในระยะเวลาอันรวดเร็ว และขับไล่ชาวฟินิเซียออกจากอาณาเขตในช่วง 206 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวโรมันได้ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่ารวมถึงภาษา ศาสนา กฎหมาย และการเมืองการปกครองเอาไว้ ฮิสเปเนียยังเป็นแหล่งกำเนิดของจักรพรรดิโรมัน เช่น จักรพรรดิตรายานุส และ ฮาดริอานุส[20] ฮิสปาเนียยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของโรมันจนกระทั่งการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในศตวรรษที่ 5 ในช่วงเวลานี้ บริเวณคาบสมุทรถูกปกครองโดยกลุ่มชาติพันธุ์โบราณต่าง ๆ เช่น แวนดัล, วิซิกอท และ อลันส์ ในขณะที่ส่วนหนึ่งของชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตกเป็นของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ก่อนที่ราชอาณาจักรวิซิกอทจะขึ้นมาเรืองอำนาจในบริเวณนี้ ในยุคกลาง อาณาจักรวิซิกอทถูกรัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์รุกราน ส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การปกครองของชาวมุสลิมเป็นเวลากว่า 700 ปี ในช่วงเวลานั้น อัลอันดะลุสได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 โดยมีกอร์โดบาเป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดในยุโรป และอาณาจักรของชาวคริสเตียนยังได้ถือกำเนิดขึ้น เช่น เลออน, กัสติยา, อารากอน, นาวาร์ และโปรตุเกส ชาวมัวร์ยังคงหลงเหลืออยู่ในคาบสมุทรไอบีเรียจนกระทั่งใน ค.ศ. 1492 ซึ่งเป็นปีที่ราชอาณาจักรกัสติยาและอารากอนสามารถขับไล่ชาวมัวร์ออกไปได้สำเร็จหลังจากเกิดการพิชิตดินแดนคืนที่ยาวนานถึง 770 ปี[21] การรวมราชวงศ์ระหว่างราชบัลลังก์กัสติยาและราชบัลลังก์อารากอนถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสเปนในฐานะประเทศ
ในยุคแห่งการสำรวจระหว่างศตวรรษที่ 15 ถึง 17 จักรวรรดิสเปนได้กลายเป็นหนึ่งในจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โดยแผ่ขยายข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการค้าด้วยโลหะมีค่า การปฏิรูปราชวงศ์บูร์บงในศตวรรษที่ 18 รวมอำนาจการปกครองไว้บนแผ่นดินใหญ่ของสเปน[22] ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม เช่น ศิลปะ วรรณกรรม อาหาร สถาปัตยกรรม และดนตรี เรียกว่ายุคทองของสเปนซึ่งขยายอิทธิพลไปทั่วโลก และส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในยุโรปตะวันตกและทวีปอเมริกามาถึงปัจจุบัน ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้สเปนกลายเป็นประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในยุโรป และขึ้นชื่อในด้านการล่าอาณานิคม แม้สเปนจะได้รับชัยชนะในสงครามคาบสมุทรในศตวรรษที่ 19 ทว่าความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายเสรีนิยมและสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรม นำไปสู่ความเป็นอิสระของประเทศอาณานิคมส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกา ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สเปนมีการปกครองด้วยระบอบเผด็จการภายใต้การนำของฟรังโก ความขัดแย้งยังคงยืดเยื้อจนนำไปสู่สงครามกลางเมือง ก่อนที่ระบอบฟรังโกจะสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1975 ระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจของประเทศได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง ปัจจุบันสเปนกลายเป็นรัฐโลกวิสัยซึ่งปกครองโดยพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและรัฐสภา ที่มาจากการเลือกตั้งนับตั้งแต่มีการผ่านรัฐธรรมนูญเมื่อ ค.ศ. 1978 สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 ทรงเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบันและมีฐานะเป็นประมุขแห่งรัฐ
สเปนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และมีรายได้ต่อหัวของประชากรสูง[23] โดยยึดระบบเศรษฐกิจทุนนิยม มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 15 ของโลกทั้งในด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ สเปนเป็นประเทศที่มีอัตราการคาดหมายคงชีพสูง และยังมีระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพติดอันดับโลก โดยขึ้นชื่อในด้านการปลูกถ่าย และการบริจาคอวัยวะ[24] สเปนเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ, สหภาพยุโรป, ยูโรโซน, สภายุโรป, องค์การรัฐไอบีโร-อเมริกา, สหภาพเพื่อเมดิเตอร์เรเนียน, องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ, องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา, องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป, เขตเชงเกน และ องค์การการค้าโลก สเปนมีแหล่งมรดกโลก 50 แห่งซึ่งมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 2 ของโลกใน ค.ศ. 2024 และเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมโดยนักเรียนแลกเปลี่ยนในโครงการโครงการเอรัสมุสมากที่สุดในยุโรป
ประเทศสเปนมีเนื้อที่ 505,955 ตารางกิโลเมตร (194,884 ตารางไมล์)[25] มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 51 ของโลก (รองจากประเทศไทย) มีขนาดพอ ๆ กับประเทศเติร์กเมนิสถาน และค่อนข้างจะใหญ่กว่ารัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ โดยนอกจากจะมีพื้นที่บนคาบสมุทรไอบีเรียแล้ว อาณาเขตของประเทศยังรวมไปถึงหมู่เกาะแบลีแอริกในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กานาเรียสในมหาสมุทรแอตแลนติก เมืองเซวตา และเมืองเมลียา ในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ (สเปนจึงมีอาณาเขตติดต่อกับโมร็อกโกด้วย) และเกาะเล็ก ๆ เป็นจำนวนมากที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ทางด้านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของช่องแคบยิบรอลตาร์ ที่เรียกว่า ปลาซัสเดโซเบรานิอา (Plazas de soberanía) เช่น เกาะชาฟารีนัส เกาะอัลโบรัง โขดหินเบเลซเดลาโกเมรา โขดหินอาลูเซมัส และเกาะเปเรฆิล ทางทิศเหนือในแนวเทือกเขาพิรินี เมืองเล็ก ๆ ที่เป็นดินแดนส่วนแยก (exclave) ชื่อ ยิบิอา (Llívia) ในแคว้นกาตาลุญญา มีดินแดนประเทศฝรั่งเศสล้อมรอบอยู่
ประเทศสเปน (แผ่นดินใหญ่) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรปบนคาบสมุทรไอบีเรีย
ทั้งหมด: 1,917.8 กิโลเมตร
ประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อ: อันดอร์รา 63.7 กิโลเมตร, ฝรั่งเศส 623 กิโลเมตร, ยิบรอลตาร์ 1.2 กิโลเมตร, โปรตุเกส 1,214 กิโลเมตร, โมร็อกโก (เซวตา) 6.3 กิโลเมตร, โมร็อกโก (เมลียา) 9.6 กิโลเมตร
4,964 กิโลเมตร
เขตนอกน่านน้ำอาณาเขต: 24 ไมล์ทะเล (44 กิโลเมตร)
เขตเศรษฐกิจจำเพาะ: 200 ไมล์ทะเล (370 กิโลเมตร) (เฉพาะในมหาสมุทรแอตแลนติก)
ทะเลอาณาเขต: 12 ไมล์ทะเล (22 กิโลเมตร)
จุดต่ำสุด:
มหาสมุทรแอตแลนติก 0 เมตร
จุดสูงสุด: ยอดเขาเตย์เด (Pico del Teide) ในแคว้นกานาเรียส สูง 3,718 เมตร หมายเหตุ ภูเขาที่สูงที่สุดในภาคพื้นทวีปของสเปนคือ มูลาเซน (Mulhacén) ในจังหวัดกรานาดา แคว้นอันดาลูซิอา สูง 3,481 เมตร
แผ่นดินใหญ่ของประเทศสเปนมีลักษณะเด่นคือ เป็นที่ราบสูงและแนวภูเขา เช่น เทือกเขาพิรินี ซิเอร์ราเนบาดา โดยมีแม่น้ำสายหลักหลายสายที่ไหลจากบริเวณที่สูงเหล่านี้ ได้แก่ แม่น้ำเทกัส (Tagus) แม่น้ำเอโบร (Ebro) แม่น้ำโดรู (Duero) แม่น้ำกัวเดียนา (Guadiana) และแม่น้ำกัวดัลกิบีร์ (Guadalquivir)
ส่วนที่ราบตะกอนน้ำพาพบได้ทั่วไปตามชายฝั่งทะเล โดยที่มีใหญ่ที่สุดได้แก่ ที่ราบตะกอนน้ำพาของแม่น้ำกวาดัลกีวีร์ในแคว้นอันดาลูซิอา ส่วนในภาคตะวันออกจะมีที่ราบชนิดนี้บริเวณแม่น้ำขนาดกลาง เช่น แม่น้ำเซกูรา (Segura) แม่น้ำฆูการ์ (Júcar) แม่น้ำตูเรีย (Turia) เป็นต้น
เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศสเปนเอง ที่ส่วนเหนือนั้นอยู่ในทิศทางของกระแสลมกรด รวมทั้งสภาพพื้นที่และภูเขา จึงทำให้ภูมิอากาศของประเทศนี้มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก โดยแบ่งหยาบ ๆ ได้ตามบริเวณต่าง ๆ ต่อไปนี้ ภูมิอากาศ ตั้งอยู่ในเขตอบอุ่น แต่เนื่องจากลักษณะของภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูงๆ ต่ำๆ อากาศของภูมิภาคต่างๆ จึงมีลักษณะแตกต่างกันไปตามสภาพของภูมิประเทศ เช่น ภาคเหนือ มีสภาพอากาศของริมฝั่งทะเล ซึ่งโดยปกติในฤดูหนาวไม่หนาวจัด และเย็นสบายในฤดูร้อน แต่เป็นภาคที่ฝนตกฉุกและมีความชื้นสูง ส่วนภาคกลาง และภาคใต้ สภาพอากาศแห้ง ฝนตกน้อย ในฤดูร้อนอากาศร้อนจัด แต่ในฤดูหนาวไม่หนาวจัด
และสามารถแบ่งเขตภูมิอากาศได้อย่างละเอียดดังต่อไปนี้
หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์แรกสุดของมนุษย์วานรโฮมินิดส์ที่อาศัยอยู่ในยุโรปถูกค้นพบที่ถ้ำอาตาปูเอร์กา (Atapuerca) ในสเปน ซึ่งกลายเป็นกุญแจสำคัญของการศึกษาบรรพชีวินวิทยาของโลก เนื่องจากได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุประมาณ 1 ล้านปีที่นั่นด้วย[26]
มนุษย์สมัยใหม่พวกโคร-มาญงได้เริ่มเข้ามาในคาบสมุทรไอบีเรียจากทางเหนือของเทือกเขาพิรินีเมื่อ 35,000 ปีมาแล้ว สัญลักษณ์ที่โดดเด่นของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์คือ ภาพวาดที่มีชื่อเสียงในถ้ำอัลตามีราทางภาคเหนือ เขียนขึ้นเมื่อ 15,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และได้รับการยกย่องร่วมกับภาพเขียนที่ปรากฏในถ้ำลาสโก ประเทศฝรั่งเศส ในฐานะตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของจิตรกรรมถ้ำ
วัฒนธรรมเมืองแรกเริ่มสุดที่ถูกอ้างถึงในเอกสารได้แก่ เมืองกึ่งโบราณทางภาคใต้ที่มีชื่อว่า ตาร์เตสโซส (Tartessos) มีอายุประมาณก่อน1,100 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ ชาวฟีนิเชีย กรีก และคาร์เทจที่ท่องไปตามท้องทะเลได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งตามชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหลายครั้งและได้ตั้งอาณานิคมการค้าขึ้นที่นั่นอยู่เป็นเวลาหลายศตวรรษ
ประมาณ 1,100 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ พ่อค้าชาวฟีนิเชียได้มาตั้งสถานีการค้าที่เมืองกาดีร์ (ปัจจุบันคือเมืองกาดิซ) ใกล้กับตาร์เตสโซส ในศตวรรษที่ 9 ก่อนคริสต์ศักราช นิคมชาวกรีกแห่งแรก ๆ เช่น เอมโพเรียน (เอมปูเรียสในปัจจุบัน) เป็นต้น เกิดขึ้นตามชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออก ส่วนชายฝั่งทางใต้เป็นนิคมฟีนิเชีย
เมื่อถึง 600 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ ชาวคาร์เทจได้มาถึงไอบีเรียขณะที่เกิดการต่อสู้กับชาวกรีก (และชาวโรมันในเวลาต่อมา) เพื่อควบคุมบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตก อาณานิคมคาร์เทจที่สำคัญที่สุดคือ คาร์ทาโกโนวา (Carthago Nova) ซึ่งเป็นชื่อภาษาละตินของเมืองการ์ตาเฆนาในปัจจุบัน ชาวคาร์เทจได้ครอบครองชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเวลาสั้น ๆ ในช่วงสงครามพิวนิก จนกระทั่งถูกชาวโรมันพิชิตและขับไล่ออกไปในที่สุด[27]
ชนพื้นเมืองที่ชาวโรมันพบขณะที่ขยายอำนาจเข้าไปในบริเวณสเปนปัจจุบันนั้น คือพวกไอบีเรียน (Iberians) อาศัยอยู่ตั้งแต่ส่วนตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรตลอดจนถึงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพวกเคลต์ (Celts) ที่ส่วนใหญ่ตั้งหลักแหล่งอยู่ทางเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทร ส่วนทางตอนในซึ่งเป็นที่ที่ชนทั้งสองกลุ่มได้เข้ามาติดต่อกัน ได้เกิดกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมแบบผสมและเป็นลักษณะเฉพาะตัว คือ เคลติเบเรียน (Celtiberian)
ชาวโรมันเข้ามาในคาบสมุทรไอบีเรียระหว่างสงครามพิวนิกครั้งที่ 2 เมื่อ 200 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ ผนวกดินแดนนี้ให้อยู่ภายใต้อำนาจของจักรพรรดิออกุสตุส หลังจากสงครามผ่านไปสองศตวรรษ ดินแดนของพวกไอบีเรียน เคลต์ กรีก ฟีนิเชีย และคาร์เทจ ได้กลายเป็นมณฑลฮิสปาเนีย ของจักรวรรดิโรมัน
ชาวโรมันได้พัฒนาส่งเสริมเมืองที่มีอยู่ก่อนแล้วในบริเวณนี้ เช่น ลิสบอน (โอลิสซีโป) และตาร์ราโกนา (ตาร์ราโก) และได้ตั้งเมืองซาราโกซา (ไกซาร์เรากุสตา) เมรีดา (เอากุสตาเอเมรีตา) และบาเลนเซีย (วาเลนเตีย)[28] เศรษฐกิจของคาบสมุทรไอบีเรียขยายตัวขึ้นภายใต้การปกครองของโรมัน โดยฮิสปาเนียมีหน้าที่จัดส่งอาหาร น้ำมันมะกอก ไวน์ และโลหะให้กับโรม
ภาษาต่าง ๆ ของสเปนในปัจจุบันรวมทั้งศาสนาและข้อกฎหมายพื้นฐานต่างมีจุดกำเนิดในช่วงสมัยนี้ เป็นเวลาหลายศตวรรษที่การปกครองและการตั้งถิ่นฐานของโรมันอย่างไม่ขาดสายนั้นได้ทิ้งร่องรอยหยั่งลึกและทนทานไว้ในวัฒนธรรมสเปน
จักรวรรดิโรมันปกครองฮิสปาเนียอยู่ประมาณ 500 ปี เมื่อโรมันเสื่อมลง อนารยชนพวกแรกก็เริ่มเข้ารุกรานสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ชนเผ่ากอธ วิสิกอธ ซูเอบี อาลัน อัสดิง และแวนดัลได้ข้ามแนวเขาพิรินีเข้ามา ชนเผ่าเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นต้นกำเนิดชาติพันธุ์เยอรมัน เหตุการณ์นี้นำไปสู่การก่อตั้งราชอาณาจักรซูเอบีในกัลไลเคียทางตะวันตกเฉียงเหนือ และราชอาณาจักรวิซิกอทในส่วนที่เหลือ ภายหลังวิซิกอทซึ่งเป็นคริสเตียนได้ขยายอำนาจครอบคลุมคาบสมุทรไอบีเรียทั้งหมดไว้ได้และปกครองประมาณ 200 ปี อาร์ชรูปเกือกม้า (horseshoe arch) ที่มีชื่อเสียงและได้รับการดัดแปลงและปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์โดยชาวมุสลิมในสมัยหลังนั้นเป็นตัวอย่างดั้งเดิมของศิลปะวิซิกอท (Visigothic art)
ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 (ค.ศ. 711-718) กลุ่มคนที่พูดภาษาอาหรับจากแอฟริกาเหนือที่เรียกว่า มัวร์ (Moors) ได้เข้ายึดครองไอบีเรียอย่างรวดเร็วและปกครองอยู่เป็นเวลาถึง 800 ปี กลุ่มนี้เป็นชาวมุสลิม ดังนั้นสเปนมุสลิมจึงเป็นส่วนที่อยู่ทางตะวันตกไกลที่สุดของเขตอารยธรรมอิสลาม มีเพียงสามแคว้นเล็ก ๆ ทางภาคเหนือของสเปนเท่านั้นที่ยังมีเอกราชเป็นของตนเอง ได้แก่ อัสตูเรียส นาวาร์ และอารากอน[29] ซึ่งได้กลายเป็นราชอาณาจักรไปภายหลัง
อารยธรรมอิสลามนี้มีความก้าวหน้าในด้านสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง ชาวมัวร์ที่มีฐานะค่อนข้างร่ำรวยเนื่องจากควบคุมการค้าทองคำที่มาจากจักรวรรดิกานาในแอฟริกาตะวันตกได้สร้างสิ่งก่อสร้างสวยงามขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในแคว้นอันดาลูซิอาทางภาคใต้ของประเทศ เราจะพบเห็นสิ่งก่อสร้างของพวกมุสลิมที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในแคว้นนี้หลายแห่ง ส่วนภายนอกเขตเมือง ระบบการถือครองที่ดินในสมัยโรมันยังคงดำรงอยู่ไม่สลายไป เนื่องจากผู้ปกครองชาวมุสลิมไม่ได้เข้ามาข้องเกี่ยวมากนัก พืชผลและวิธีการใหม่ ๆ ทำให้เกษตรกรรมขยายพื้นที่ออกไปมากอย่างน่าทึ่ง
การค้าและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในแถบเมดิเตอร์เรเนียนเฟื่องฟูขึ้นในสมัยนี้ ชาวมุสลิมได้นำภูมิปัญญาต่าง ๆ ทั้งจากตะวันออกกลางและจากแอฟริกาเหนือเข้ามา นักปราชญ์ชาวมุสลิมและชาวยิวมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูและแผ่ขยายวัฒนธรรมยุคคลาสสิกในยุโรปตะวันตก เกิดการปะทะสังสรรค์ของวัฒนธรรมโรมันกับวัฒนธรรมยิวและมุสลิมในแนวทางที่ซับซ้อน ทำให้สเปนมีวัฒนธรรมที่มีลักษณะแตกต่างออกไป[30]
ภายใต้การปกครองของชาวมุสลิม ชาวยิวและชาวคริสต์มีเสรีภาพในการนับถือและประกอบพิธีทางศาสนา แต่ก็มีการแบ่งแยกกันอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นไป ภาคเหนือและภาคกลางของไอบีเรียก็กลับไปอยู่ในการปกครองของชาวคริสต์อีกครั้ง
หลังจากการรุกรานของชาวมัวร์ 11 ปี ช่วงเวลาอันยาวนานในการขยายตัวของอาณาจักรคริสต์ที่เรียกว่า การพิชิตดินแดนคืน (Reconquista) ก็ได้เริ่มต้นในปี ค.ศ. 722 (พ.ศ. 1265) ด้วยความพ่ายแพ้ของพวกมุสลิมในยุทธการที่โกบาดองกา (Battle of Covadonga) และการก่อตัวของอาณาจักรอัสตูเรียส ต้นปี ค.ศ. 739 (พ.ศ. 1282) กองกำลังของมุสลิมของถูกผลักดันออกไปจากกาลิเซียซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองซานเตียโกเดกอมโปสเตลา (Santiago de Compostela) หนึ่งในสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนาคริสต์ในยุคกลาง[31]
และในไม่ช้า พื้นที่ภูเขาทางตอนเหนือและรอบ ๆ เมืองบาร์เซโลนาก็ถูกกองกำลังท้องถิ่นและกองกำลังของพวกแฟรงก์เข้ายึดได้และกลายเป็นฐานที่มั่นของชาวคริสต์ในสเปน รวมทั้งการยึดเมืองโตเลโดทางภาคกลางได้ในปี ค.ศ. 1085 (พ.ศ. 1628) ทำให้ส่วนครึ่งเหนือของสเปนเป็นของชาวคริสต์ทั้งหมด
พอถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 จักรวรรดิมุสลิมภายใต้ราชวงศ์อัลโมราวิด (Almoravid) ซึ่งเคยขยายอาณาเขตไปได้ไกลถึงเมืองซาราโกซาก็เริ่มแตกแยก ที่มั่นต่าง ๆ ของชาวมัวร์ที่เคยแข็งแกร่งทางภาคใต้ก็ตกเป็นของชาวคริสต์สเปน เช่น เมืองกอร์โดบาถูกยึดได้ในปี ค.ศ. 1236 (พ.ศ. 1779) เมืองเซบิยาถูกยึดได้ในปี ค.ศ. 1248 (พ.ศ. 1791) เป็นต้น[32] จากนั้นไม่กี่ปี ดินแดนเกือบทั้งหมดในคาบสมุทรไอบีเรียก็ถูกพิชิตกลับคืนมาได้สำเร็จ ยกเว้นอยู่เพียงเมืองกรานาดาเท่านั้นที่ยังคงเป็นดินแดนแทรกของพวกมุสลิม
ในปี ค.ศ. 1478 (พ.ศ. 2021) พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 5 แห่งกัสติยาทรงสนับสนุนให้ก่อตั้งศาลศาสนาสเปน (Spanish Inquisition) และในปี ค.ศ. 1479 (พ.ศ. 2022) เมื่อพระองค์ (ซึ่งทรงราชาภิเษกสมรสและครองราชอาณาจักรกัสติยาร่วมกับสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1469) ได้ทรงขึ้นครองราชบัลลังก์ที่ราชอาณาจักรอารากอนสืบต่อจากพระราชบิดา (และทรงพระนามใหม่ว่าพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอน) อาณาจักรคริสต์ทั้งสองแห่งจึงได้รวมเข้าด้วยกัน
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1492 (พ.ศ. 2035) กัสติยาและอารากอนสามารถยึดกรานาดา ดินแดนแห่งสุดท้ายของชาวมัวร์ในไอบีเรียได้สำเร็จ โบอับดิล (Boabdil) เจ้าชายมัวร์องค์สุดท้ายแห่งกรานาดายอมแพ้ต่อพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 ในวันที่ 2 มกราคม โดยสนธิสัญญากรานาดา[33] ได้ยืนยันการผ่อนปรนทางศาสนาต่อชาวมุสลิม ในขณะที่ชาวยิวกว่า 2 แสนคนในสเปนถูกขับไล่[34] ออกไปในปีเดียวกันนั้นเอง
ในปีเดียวกัน (1492) สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 ก็ทรงสนับสนุนให้คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปทางทิศตะวันตก ซึ่งโคลัมบัสก็ได้ค้นพบโลกใหม่ (New World) ได้แก่ เกาะต่าง ๆ ในทะเลแคริบเบียนรวมทั้งดินแดนอื่น ๆ ในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ตามสนธิสัญญาตอร์เดซิยัส (Treaty of Tordesillas) ในปี ค.ศ. 1494 โลกได้ถูกแบ่งเป็นสองส่วนระหว่างโปรตุเกสและกัสติยาโดยมีแนวเหนือ-ใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นเส้นแบ่ง
เมื่อยึดครองกรานาดาได้สำเร็จ และยึดครองนาวาร์ได้ในปี ค.ศ. 1512 (พ.ศ. 2055) แล้ว คำว่า สเปน (Spain; España) ก็เริ่มถูกนำมาใช้เพื่อเรียกชื่อของราชอาณาจักรที่รวมกันใหม่นี้[35]
การรวมเป็นหนึ่งเดียวของอาณาจักรกัสติยา เลออน อารากอน และนาวาร์ได้วางรากฐานให้กับการเกิดสเปนสมัยใหม่และจักรวรรดิสเปน (Spanish Empire) สเปนกลายเป็นผู้นำอำนาจของยุโรปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 จนถึงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 17 เนื่องมาจากการปรับปรุงด้านการเมือง สังคม และการทหารในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 การขยายตัวของผลผลิตที่ได้จากเหมืองแร่เงินในทวีปอเมริกาในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก็ยิ่งเสริมตำแหน่งมหาอำนาจให้มั่นคงขึ้นอีก
ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ระหว่างรัชสมัยที่ยาวนานของกษัตริย์สเปนแห่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์คสองพระองค์ (พระเจ้าชาลส์ที่ 1 และพระเจ้าฟิลิปที่ 2) สเปนก็ได้ก้าวขึ้นมาถึงจุดสูงสุด โดยได้ส่งทหารและพ่อค้าจำนวนมากเข้าไปในทวีปอเมริกาเพื่อยึดครองดินแดนต่าง ๆ ในทวีปแห่งนั้นมาเป็นของตน มีอาณานิคมมากมายในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ตั้งแต่ชิลี อาร์เจนตินา ไปจนถึงเม็กซิโก บางรัฐของสหรัฐในปัจจุบัน (ซึ่งได้แก่ ฟลอริดา แคลิฟอร์เนีย แอริโซนา นิวเม็กซิโก เท็กซัส รวมทั้งบางส่วนของโอคลาโฮมา โคโลราโด และไวโอมิง) การพิชิตจักรวรรดิต่าง ๆ และนำของมีค่ากลับมา ทำให้สเปนกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก โดยได้ครอบครองดินแดนเหล่านั้นอยู่เป็นเวลานานกว่า 300 ปี นอกจากนี้จักรวรรดิสเปนยังมีอาณานิคมในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในมหาสมุทรแปซิฟิก และได้ครอบครองจักรวรรดิโปรตุเกส อิตาลีตอนใต้ ซิซิลี บางส่วนของเยอรมนี เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ จักรวรรดิสเปนเป็นจักรวรรดิแห่งแรกที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน (The empire on which the sun never sets)
ช่วงนี้เป็นยุคแห่งการค้นพบ (Age of Discovery) มีการสำรวจดินแดนใหม่ การเปิดเส้นทางการค้าข้ามมหาสมุทร การยึดครองดินแดน และเป็นจุดเริ่มต้นของลัทธิจักรวรรดินิยมในทวีปยุโรป พร้อม ๆ กับการนำเข้าโลหะ เครื่องเทศ พืชเกษตรใหม่ที่มีค่านั้น นักสำรวจชาวสเปนและพ่อค้าได้นำความรู้ติดตัวกลับมาด้วย ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงความคิดความเข้าใจของชาวยุโรปที่มีต่อโลกในเวลาต่อมา[36]
ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17 นี้ยังเป็นช่วงแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะและอักษรศาสตร์ในจักรวรรดิสเปน จึงเรียกว่าเป็นยุคทองของสเปน (Spanish Golden Age)
"การเสื่อมลงของสเปน" เป็นไปอย่างช้า ๆ เริ่มต้นในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยมีปัจจัยมาจากการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่ประเด็นหลักคือความตึงเครียดเกี่ยวกับกำลังทหาร เป็นเวลานานที่กองทัพสเปนสามารถป้องกันไม่ให้จักรวรรดิฮาพส์บวร์คแตกแยกกระจัดกระจายได้ แต่ในที่สุดความเข้มแข็งนี้ก็พังทลายลง เมื่อสเปนต้องเสียเนเธอร์แลนด์ไปหลังจากสิ้นสุดสงครามสามสิบปี (Thirty Years War) และเมื่อถึงปี ค.ศ. 1640 (พ.ศ. 2183) ความปราชัยของสเปนครั้งสำคัญก็คือ การเสียโปรตุเกสไป ซึ่งนั่นหมายถึงเสียบราซิลและฐานที่มั่นในแอฟริกาและอินเดียไปด้วย
เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เกิดปัญหาว่าใครควรจะขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ จึงทำให้กษัตริย์ยุโรปหลายพระองค์ทรงสู้รบกันในสงครามสืบราชสมบัติสเปน (War of the Spanish Succession) ในที่สุดสงครามนี้ก็ทำให้สเปนสูญเสียความเป็นจักรวรรดิและตำแหน่งผู้นำของยุโรปไป แม้ว่าจะยังคงมีดินแดนโพ้นทะเลอยู่ก็ตาม)[37] และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ราชวงศ์ใหม่จากฝรั่งเศส คือ ราชวงศ์บูร์บง ได้รับการสถาปนาขึ้นในสเปนโดยกษัตริย์พระองค์แรก คือ พระเจ้าฟิลิปที่ 5 ในปี ค.ศ. 1707 (พ.ศ. 2250) ทรงรวมราชอาณาจักรกัสติยาและอารากอนเข้าด้วยกันเป็นราชอาณาจักรสเปน และทรงล้มล้างสิทธิพิเศษและกฎหมายปกครองตนเอง
ในศตวรรษนี้ การขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การเพิ่มมูลค่าทางการค้าและการผลิตอาหารค่อย ๆ ได้รับการฟื้นฟูขึ้น จำนวนประชากรในแคว้นกัสติยาก็เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ กษัตริย์ราชวงศ์บูร์บงได้ใช้ระบบของฝรั่งเศสเพื่อพยายามทำให้การบริหารและเศรษฐกิจมีความทันสมัยยิ่งขึ้น เมื่อสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 18 การค้าก็เริ่มมีความมั่นคงขึ้นในที่สุด ฐานะของสเปนในสายตานานาชาติดีขึ้น กำลังทหารของสเปนที่มีประสิทธิภาพยังได้ช่วยเหลือชาวอาณานิคมอังกฤษในสงครามประกาศเอกราชอเมริกัน (American War of Independence) อีกด้วย
สงครามกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1793 (พ.ศ. 2336) ทำให้ภายในประเทศเกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างชัดเจนต่อพวกชั้นสูงที่นิยมวัฒนธรรมฝรั่งเศส สเปนทำสัญญาสันติภาพกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1795 (พ.ศ. 2338) และในปีถัดมา ภายใต้การสนับสนุนของฝรั่งเศส สเปนก็ได้ประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรกับโปรตุเกส ความหายนะทางเศรษฐกิจประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ นั้นทำให้กษัตริย์ของสเปนต้องทรงสละราชสมบัติ ซึ่งโจเซฟ โบนาปาร์ต พี่ชายของนโปเลียนก็ได้เข้ามามีอำนาจแทน
กษัตริย์ต่างชาติพระองค์ใหม่นี้ไม่ได้รับการยอมรับจากชาวสเปน ในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1808 (พ.ศ. 2351) ชาวมาดริดเริ่มก่อการจลาจลชาตินิยมต่อต้านกองทัพฝรั่งเศส ซึ่งชาวสเปนเรียกว่าเป็น "สงครามประกาศเอกราชสเปน (Guerra de la Independencia Española)" ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า สงครามคาบสมุทร (Peninsular War) นโปเลียนได้เข้ามาแทรกแซงเป็นการส่วนตัวและสามารถปราบปรามกองทัพสเปนและอังกฤษ-โปรตุเกสลงได้ แต่การสู้รบแบบกองโจรของทหารสเปน รวมทั้งกำลังจากกองทัพอังกฤษ-โปรตุเกสที่
นำโดยอาร์เทอร์ เวลเลสลีย์ ประกอบกับการที่นโปเลียนประสบความล้มเหลวในการรุกรานรัสเซีย (Invasion of Russia) ได้ขับไล่ฝรั่งเศสออกไปจากสเปนได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1814 (พ.ศ. 2357) พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 ทรงขึ้นครองราชย์
การรุกรานของฝรั่งเศสยิ่งส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของสเปน และยังทำให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงทางการเมืองอีกด้วย ช่องว่างแห่งอำนาจที่เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1808 (พ.ศ. 2351) ถึงปี ค.ศ. 1814 (พ.ศ. 2357) ได้เปิดโอกาสให้ดินแดนต่าง ๆ มีอำนาจปกครองอย่างอิสระ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1809 (พ.ศ. 2352) อาณานิคมในทวีปอเมริกาเริ่มปลดปล่อยตนเองให้หลุดพ้นจากการปกครองของสเปน และเมื่อถึงปี ค.ศ. 1825 (พ.ศ. 2368) สเปนก็เสียอาณานิคมในลาตินอเมริกาไปทั้งหมด เหลือเพียงคิวบาและปวยร์โตรีโก
และเมื่อสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 19 สเปนก็สูญเสียดินแดนที่ยังเหลืออยู่ในทะเลแคริบเบียนและเอเชีย-แปซิฟิกไป ซึ่งได้แก่ คิวบา ปวยร์โตรีโก และสแปนิชอีสต์อินดีส (เฉพาะฟิลิปปินส์และกวม) ให้กับสหรัฐ หลังจากถูกผลักดันให้สู้รบในสงครามสเปน-อเมริกัน (Spanish-American War) ค.ศ. 1898 (พ.ศ. 2441) อย่างไม่เจตนาและไม่สมัครใจ ต่อมาในปี ค.ศ. 1899 (พ.ศ. 2442) สเปนได้ขายดินแดนสแปนิชอีสต์อินดีสที่เหลือในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ หมู่เกาะมาเรียนา หมู่เกาะคาโรไลน์ และหมู่เกาะปาเลาให้กับเยอรมนี (ส่วนสแปนิชโมร็อกโก สแปนิชสะฮารา และสแปนิชกินีซึ่งเป็นอาณานิคมในทวีปแอฟริกาได้รับเอกราชในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20)
ในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประเทศสเปนก็ยังไม่อยู่ในความสงบเท่าใดนัก ชาวสเปนบางคนพยายามจะจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน (ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ) และผลักดันให้กษัตริย์ออกไปจากประเทศ อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) ความขัดแย้งระหว่างชาวสเปนกลุ่มที่นิยมประชาธิปไตยกับชาวสเปนที่นิยมเผด็จการได้ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองสเปนขึ้น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) ฝ่ายนิยมประชาธิปไตยพ่ายแพ้ และผู้นำเผด็จการที่มีชื่อว่า ฟรันซิสโก ฟรังโก ก็ได้เข้ามามีอำนาจในรัฐบาล
หลังจากจอมพลฟรังโกถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) เจ้าชายฆวน การ์โลส (Prince Juan Carlos) ผู้เป็นพระราชนัดดาของกษัตริย์สเปนที่ถูกผลักดันให้ออกจากประเทศ ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งสเปน จากการรับรองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปน ปี ค.ศ. 1978 การเข้ามาของระบอบประชาธิปไตยได้ทำให้แคว้นบางแห่ง ได้แก่ ประเทศบาสก์และนาวาร์ ได้รับอัตตาณัติ (ความเป็นอิสระ) ทางการเงินอย่างสมบูรณ์ และแคว้นหลายแห่ง ได้แก่ บาสก์ กาตาลุญญา กาลิเซีย และอันดาลูซิอาก็ได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง ซึ่งต่อมาก็ได้ขยายไปสู่แคว้นอื่น ๆ ในสเปนเช่นกัน ทำให้สเปนกลายเป็นเป็นประเทศที่มีการกระจายอำนาจทางการปกครองมากที่สุดในยุโรปตะวันตก แต่ในแคว้นประเทศบาสก์ยังคงมีลัทธิชาตินิยมหัวรุนแรงซึ่งสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้ายขององค์การเพื่อมาตุภูมิและอิสรภาพบาสก์หรือ "เอตา" (ETA) ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 1959 ให้ก่อวินาศกรรมเพื่อแยกแคว้นนี้เป็นประเทศเอกราช อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2011 กลุ่มนี้ก็ได้ประกาศวางอาวุธอย่างเป็นทางการ
ตั้งแต่รัฐธรรมนูญสเปนฉบับปัจจุบันผ่านความเห็นชอบในปี ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) ประเทศสเปนมีนายกรัฐมนตรี (Presidentes del Gobierno) มาแล้ว 5 คน ได้แก่
ทุกวันนี้ สเปนเป็นประเทศประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทำธุรกิจติดต่อค้าขายกับหลายประเทศในโลก รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป และใช้สกุลเงินยูโรในฐานะสกุลเงินประจำชาติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2542
ประเทศสเปนมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) หลังจากที่ถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการโดยจอมพลฟรังโกมา 36 ปี (พ.ศ. 2482-2521) ในปี พ.ศ. 2521 เมื่อสเปนเปลี่ยนมาปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2521 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของสเปน พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐและทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสเปน
รัฐสภาสเปนหรือกอร์เตสเฆเนราเลส (Cortes Generales) ทำหน้าที่ออกกฎหมายของรัฐ รวมทั้งให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับงบประมาณ ควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล และใช้อำนาจอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย
ตามรัฐธรรมนูญของสเปน รัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจและหน้าที่ฝ่ายบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นผู้กำหนดและดำเนินนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งการป้องกันประเทศ รัฐบาลประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี (President of the Government) รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้โดยกฎหมายในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์จะทรงปรึกษาหารือกับผู้แทนของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีสมาชิกอยู่ในรัฐสภา แล้วเสนอชื่อผู้ที่เห็นสมควรได้รับการเลือกตั้งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอรับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority) พระมหากษัตริย์จะได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้เสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องขอรับความไว้วางใจจากรัฐบาลอีก รัฐบาลมีวาระ 4 ปี หรือจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป
พรรคการเมืองที่สำคัญในสเปน ได้แก่
1. พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน (Partido Socialista Obrero Español: PSOE) เป็นพรรคสังคมนิยมที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ซ้ายจัด ปัจจุบันมีเปโดร ซันเชซ เป็นเลขาธิการพรรค พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนเป็นพรรคที่มีบทบาทสำคัญและเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลสเปนมานานถึง 14 ปีในสมัยแรก (ค.ศ. 1982-1996) โดยปัจจุบัน (การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 2008) พรรคนี้มีที่นั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรสเปน 169 ที่นั่ง
2. พรรคประชาชน (Partido Popular: PP) เป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่เคยเป็นพรรครัฐบาล หัวหน้าพรรค คือ นายมาเรียโน ราฆอย เบรย์ (Mariano Rajoy Brey) ปัจจุบันพรรคนี้เป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด โดยมี 153 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรสเปน
3. พรรคปรับร่วมและสหภาพ (Convergència i Unió: CiU) เป็นพรรคจากแคว้นกาตาลุญญา มีนายอาร์ตูร์ มัส อี กาบาร์โร (Artur Mas i Gavarró) เป็นหัวหน้าพรรค ปัจจุบันมีที่นั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร 11 ที่นั่ง
4. พรรคชาตินิยมบาสก์ (Partido Nacionalista Vasco: EAJ/PNV) เป็นพรรคการเมืองของแคว้นประเทศบาสก์ มีนายอีญีโก อูร์กูยู (Iñigo Urkullu) เป็นหัวหน้าพรรค ปัจจุบันมีที่นั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร 6 ที่นั่ง
5. พรรคฝ่ายซ้ายสาธารณรัฐนิยมแห่งกาตาลุญญา (Esquerra Republicana de Catalunya: ERC) เป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่มีแนวคิดให้แคว้นกาตาลุญญาเป็นเอกราชจากสเปน มีนายโชอัน ปูอิกเซร์โกส อี โบยชาซา (Joan Puigcercós i Boixassa) เป็นเลขาธิการพรรค ปัจจุบันมีที่นั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร 3 ที่นั่ง
6. พรรคฝ่ายซ้ายร่วม (Izquierda Unida: IU) เป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่แต่เดิมคือพรรคคอมมิวนิสต์ มีนายกัสปาร์ ยามาซาเรส ตรีโก (Gaspar Llamazares Trigo) เป็นเลขาธิการพรรค ปัจจุบันมีที่นั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร 2 ที่นั่ง
7. กลุ่มชาตินิยมกาลิเซีย (Bloque Nacionalista Galego: BNG) เป็นพันธมิตรทางการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนจากแคว้นกาลิเซีย มีนายโชเซ มานวยล์ เบย์รัส (Xosé Manuel Beiras) เป็นหัวหน้ากลุ่ม ปัจจุบันมีที่นั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร 2 ที่นั่ง
8. พรรคผสมกานาเรียส (Coalición Canaria: CC) พรรคการเมืองชาตินิยมและเสรีนิยมจากแคว้นกานาเรียส มีนายโคเซ ตอร์เรส สติงกา (José Torres Stinga) เป็นหัวหน้าพรรค ปัจจุบันมีที่นั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร 2 ที่นั่ง
9. พรรคสหภาพ ก้าวหน้า และประชาธิปไตย (Unión, Progreso y Democracia: UPyD) เป็นพรรคการเมืองรัฐธรรมนูญนิยมและต่อต้านชาตินิยมที่เพิ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2007 โดยแกนนำพรรคมาจากแคว้นประเทศบาสก์และมีนางโรซา ดีเอซ (Rosa Díez) เป็นหัวหน้าพรรค ปัจจุบันมีที่นั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร 1 ที่นั่ง
10. พรรคนาฟาร์โรอาไบย์ (Nafarroa Bai: Na-Bai) เป็นพรรคชาตินิยมบาสก์จากแคว้นนาวาร์ ปัจจุบันมีที่นั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร 1 ที่นั่ง
ประเทศสเปนแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 แคว้นปกครองตนเอง (autonomous communities; comunidades autónomas) และ 2 นครปกครองตนเอง (autonomous cities; ciudades autónomas) แต่ละแคว้นจะแบ่งย่อยออกไปอีกเป็น จังหวัด (provinces; provincias) รวมทั้งหมด 50 จังหวัด
ปัจจุบันประเทศสเปนได้ชื่อว่าเป็น "รัฐแห่งการปกครองตนเอง (State of Autonomies)" แม้ว่าโดยทางการจะถือว่าเป็นรัฐเดี่ยว แต่ในความเป็นจริงแล้วมีลักษณะเป็นรัฐรวมที่มีการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางอย่างมาก โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดโอกาสให้แคว้นต่าง ๆ มีสิทธิในการปกครองตนเองได้ในระดับที่ต่างกันตามภูมิหลังการปกครองตนเองของแต่ละแคว้น[38] เช่น ทุกแคว้นจะจัดการด้านสาธารณสุขและระบบการศึกษาของตนเอง บางแคว้น (เช่น ประเทศบาสก์และนาวาร์) มีหน้าที่จัดการด้านการเงินสาธารณะเพิ่มเติม ในแคว้นประเทศบาสก์และกาตาลุญญา หน่วยงานตำรวจของแคว้นจะมีบทบาทหน้าที่มากกว่าหน่วยงานตำรวจของส่วนกลาง เป็นต้น โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติของแต่ละแคว้นจะดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปีเช่นเดียวกับสมาชิกรัฐสภา โดยแคว้นปกครองตนเอง และนครปกครองตนเอง* (อยู่ในทวีปแอฟริกา) ของประเทศสเปน ประกอบด้วย
สถานที่ | อุณหภูมิสูงสุดที่บันทึกไว้ | อุณหภูมิต่ำสุดที่บันทึกไว้ | ||
---|---|---|---|---|
เมดิเตอร์เรเนียน | (°ซ) | (°ฟ) | (°ซ) | (°ฟ) |
มูร์เซีย | 47.2°ซ | 117.0°ฟ | −6.0°ซ | 21.2°ฟ |
มาลากา | 44.2°ซ | 111.6°ฟ | −3.8°ซ | 25.1°ฟ |
บาเลนเซีย | 42.5°ซ | 108.5°ฟ | −7.2°ซ | 19°ฟ |
อาลิกันเต | 41.4°ซ | 106.5°ฟ | −4.6°ซ | 23.7°ฟ |
ปัลมาเดมายอร์กา | 40.6°ซ | 105.1°ฟ | - | - |
บาร์เซโลนา | 39.8°ซ | 103.6°ฟ | −10.0°ซ | 14°ฟ |
ฌิโรนา | 41.7°ซ | 107°ฟ | −13.0°ซ | 8.6°ฟ |
ดินแดนภายใน | (°ซ) | (°ฟ) | (°ซ) | (°ฟ) |
เซบิยา | 47.0°ซ | 116.6°ฟ | −5.5°ซ | 22.1°ฟ |
กอร์โดบา | 46.6°ซ | 115.9°ฟ | - | - |
บาดาโฆซ | 45.0°ซ | 113°ฟ | - | - |
อัลบาเซเต | 42.6°ซ | 108.7°ฟ | −24.0°ซ | −11.2°ฟ |
ซาราโกซา | 42.6°ซ | 108.7°ฟ | - | - |
มาดริด | 42.2°ซ | 108.0°ฟ | −14.8°ซ | 5.4°ฟ |
บูร์โกส | 41.8°ซ | 107.2°ฟ | −22.0°ซ | −7.6°ฟ |
บายาโดลิด | 40.2°ซ | 104.4°ฟ | - | - |
ซาลามังกา | - | - | −20.0°ซ | −4.0°ฟ |
เตรวยล์ | - | - | −19.0°ซ | −2.2°ฟ |
ชายฝั่งแอตแลนติกเหนือ | (°ซ) | (°ฟ) | (°ซ) | (°ฟ) |
บิลบาโอ | 42.0°ซ | 107.6°ฟ | −8.6°ซ | 16.5°ฟ |
อาโกรุญญา | 37.6°ซ | 99.7°ฟ | −4.8°ซ | 23.4°ฟ |
ฆิฆอน | 36.4°ซ | 97.5°ฟ | −4.8°ซ | 23.4°ฟ |
กานาเรียส | (°ซ) | (°ฟ) | (°ซ) | (°ฟ) |
ลัสปัลมัสเดกรันกานาเรีย | 38.6°ซ | 102°ฟ | 11.4 °ซ | 48.6°ฟ |
นอกจากแคว้นปกครองตนเองดังกล่าวแล้ว สเปนยังแบ่งออกเป็น 50 จังหวัด โดยโครงสร้างนี้เป็นโครงสร้างรองถัดจากระดับแคว้นปกครองตนเองลงไป (ย้อนไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2376) ดังนั้น แคว้นปกครองตนเองจึงเกิดขึ้นจากกลุ่มของจังหวัด (เช่น แคว้นเอซเตรมาดูราประกอบด้วยจังหวัดกาเซเรสและจังหวัดบาดาโฆซ) แต่แคว้นปกครองตนเองอัสตูเรียส หมู่เกาะแบลีแอริก กันตาเบรีย ลาริโอฆา นาวาร์ ภูมิภาคมูร์เซีย และมาดริด แต่ละแคว้นดังกล่าวจะมีอยู่เพียงจังหวัดเดียว และแต่เดิมจังหวัดในแคว้นต่าง ๆ มักจะถูกแบ่งลงไปเป็น โกมาร์กัส (comarcas) เป็นเขตทางประวัติศาสตร์ที่มีรูปแบบคล้ายกับเคาน์ตีในสหรัฐอเมริกา แต่ในบางแคว้นจะไม่มี เขตการบริหารระดับล่างสุดจริง ๆ แล้วคือ เทศบาล (municipalities; municipios)
ประเทศสเปนมีดินแดนส่วนแยกตั้งอยู่ริมและนอกชายฝั่งทวีปแอฟริกาที่มีชื่อเรียกว่า ปลาซัสเดโซเบรานิอา (plazas de soberanía; places of sovereignty) ได้แก่ เซวตาและเมลียา ซึ่งเป็นนครปกครองตนเอง มีสถานะอยู่ระหว่างระดับเมืองกับระดับแคว้น ส่วนหมู่เกาะชาฟารีนัส (Islas Chafarinas) โขดหินอาลูเซมัส (Peñón de Alhucemas) และโขดหินเบเลซเดลาโกเมรา (Peñón de Vélez de la Gomera) ต่างอยู่ภายใต้การบริหารของสเปน
สเปนได้เรียกร้องให้มีการคืนยิบรอลตาร์ ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรที่ตั้งอยู่ใกล้จุดใต้สุดของคาบสมุทร ทางด้านตะวันออกของช่องแคบยิบรอลตาร์ ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ยิบรอลตาร์ถูกยึดครองระหว่างสงครามสืบราชสมบัติสเปน ในปี ค.ศ. 1704 และถูกยกให้อยู่ภายใต้การปกครองของบริเตนอย่างถาวรตามสนธิสัญญาอูเทรคท์ (Treaty of Utrecht) ค.ศ. 1713 ประชากรส่วนใหญ่ของยิบรอลตาร์ประมาณ 30,000 คนยังต้องการให้ยิบรอลตาร์เป็นของบริเตนอยู่ โดยมีการออกเสียงลงประชามติเพื่อยืนยัน[39] สหประชาชาชาติได้เรียกสหราชอาณาจักรและสเปนให้มาทำข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ในขณะที่สเปนไม่ยอมรับเขตแดนนี้และมักจะมีการตรวจสอบการผ่านแดนอย่างเข้มงวดเสมอ โดยบ่อยครั้งที่มีการปิดชายแดนเพื่อที่จะกดดันยิบรอลตาร์ ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาสินค้าและแรงงานจากสเปน
นอกจากนั้นแล้ว การกำหนดเขตชายแดนตามสนธิสัญญาอูเทรคท์ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยสเปนยืนยันว่าสหราชอาณาจักรเข้าครอบครองดินแดนส่วนคอคอดซึ่งเป็นที่ตั้งสนามบินซึ่งเดิมไม่ได้รวมอยู่ในสนธิสัญญาดังกล่าว[40]
โมร็อกโกได้อ้างสิทธิ์เหนือเมืองเซวตา เมืองเมลียา โขดหินเบเลซ โขดหินอาลูเซมัส หมู่เกาะชาฟารีนัส และเกาะเปเรฆิล ทั้งหมดตั้งอยู่ชายฝั่งทางเหนือของทวีปแอฟริกา โดยโมร็อกโกชี้แจงว่าดินแดนดังกล่าวถูกยึดเอาไปในขณะที่โมร็อกโกไม่สามารถขัดขวางได้และไม่เคยลงนามในสนธิสัญญาใด ๆ เพื่อยกให้ไป (แต่ก็ยังไม่ปรากฏประเทศโมร็อกโกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 และ 15 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดินแดนเหล่านั้นได้เข้าไปอยู่ในการครอบครองของสเปน) ส่วนสเปนก็อ้างว่าดินแดนดังกล่าวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประเทศ ไม่สามารถแยกได้ ทั้งยังเป็นของสเปนหรือเชื่อมโยงกับสเปนมาตั้งแต่ก่อนการรุกรานของพวกมุสลิมในปี ค.ศ. 711 (สเปนกลับไปปกครองบริเวณเซวตาและเกาะเปเรฆิลอีกครั้งในปี ค.ศ. 1415 และได้ปกครองดินแดนส่วนที่เหลือด้วยเช่นกัน ในเวลาไม่กี่ปีหลังจากที่สามารถพิชิตเมืองกรานาดาได้เมื่อปี ค.ศ. 1492) สเปนยังกล่าวอีกด้วยว่าการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าวของโมร็อกโกนั้นเป็นเพียงการอ้างสิทธิ์ตามเขตภูมิศาสตร์เท่านั้น ลักษณะที่คล้ายกันในเรื่องการครอบครองดินแดนข้ามทวีปอย่างเช่นการเป็นเจ้าของคาบสมุทรไซนาย (ที่อยู่ในทวีปเอเชีย) ของอียิปต์ หรือการเป็นเจ้าของเมืองอิสตันบูล (อยู่ในทวีปยุโรป) ของตุรกี จึงมักถูกสเปนนำมาใช้สนับสนุนจุดยืนของตนเอง[ต้องการอ้างอิง]
ส่วนโปรตุเกสก็ไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของสเปนเหนือเมืองโอลีเบนซา (Olivenza) ในแคว้นเอซเตรมาดูรา โดยกล่าวว่าสนธิสัญญาเวียนนา (Treaty of Vienna) ซึ่งสเปนได้ลงนามไว้เมื่อปี ค.ศ. 1815 นั้น ได้กำหนดให้สเปนคืนดินแดนดังกล่าวให้โปรตุเกสด้วย แต่สเปนก็อ้างว่าสนธิสัญญาเวียนนาได้เปิดช่องให้ข้อกำหนดในสนธิสัญญาบาดาโฆซ (Treaty of Badajoz) ที่โปรตุเกสยกเมืองดังกล่าวให้สเปน "ตลอดไป (perpetual)" ในปี ค.ศ. 1801 ยังคงอยู่[ต้องการอ้างอิง]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
สเปนเริ่มเข้ามาติดต่อกับไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และได้มีการทำสนธิสัญญาทางไมตรี การพาณิชย์ และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) ซึ่งถือเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1870) และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2426 (ค.ศ.1883) ไทยได้แต่งตั้งอัครราชทูตประจำประเทศยุโรปให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำกรุงมาดริดด้วย กระทั่งปี พ.ศ. 2504 ได้ยกระดับเป็นสถานเอกอัครราชทูต โดยได้ตั้งเอกอัครราชทูตไทยคนแรกไปประจำกรุงมาดริดเมื่อปี พ.ศ. 2506 [41] และ แต่งตั้งนายมนู อมาตยกุล ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริดเป็นคนแรก โดยเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสเปนคนปัจจุบันคือ นายเกริกพันธุ์ ฤกษ์จำนง[42]
โดยทั่วไปการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสเปนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศในปัจจุบันยังมีไม่มากนัก เนื่องมาจากผลกระทบจากภาวะทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงก่อนหน้านี้ แต่แนวโน้มการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของทั้งสองประเทศจะเป็นแรงจูงใจให้นักธุรกิจของทั้งสองประเทศหันมาค้าขายและลงทุนระหว่างกันมากขึ้น
สเปนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่มากที่สุดประเทศหนึ่งของยุโรป ในปี พ.ศ. 2548 มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 1,123,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี พ.ศ. 2549 มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 27,542 ดอลลาร์สหรัฐ ตามการจัดอันดับของธนาคารโลก[43]ในปี พ.ศ. 2547 และ 2548 สเปนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของโลก
หลังจากนายพลฟรังโกถึงแก่อสัญกรรม สเปนก็กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่มีผู้ไปท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกรองจากฝรั่งเศส โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศถึงปีละ 52 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 46 พันล้านยูโร[ต้องการอ้างอิง]
สถานที่ท่องเที่ยวในสเปน ได้แก่ มาดริด บาร์เซโลนา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุด สถานที่ที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น บีโกและโปนเตแบดราในแคว้นกาลิเซีย กอร์โดบา เซบิยา กรานาดา (สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม) มาลากา อวยลวา กาดิซ และอัลเมริอา (ชายหาด) ในแคว้นอันดาลูซิอา กาเซเรส กัวดาลูเป และเมรีดาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในแคว้นเอซเตรมาดูรา ซาลามังกา โตเลโด และเซโกเบียเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในส่วนอื่น ๆ ของประเทศ ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญซึ่งมีชายหาดสวยงามมาก ได้แก่ รีอัสไบคัส (ในจังหวัดโปนเตแบดรา) ซาโลว์ เบนิดอร์ม มายอร์กา อีบีซา (หมู่เกาะแบลีแอริก) แคว้นกานาเรียส แคว้นบาเลนเซีย แคว้นกาตาลุญญา และสเปนเขียว (ทางภาคเหนือ)
สายการบินแห่งชาติของสเปนคือไอบีเรียแอร์ไลน์ (Iberia Airlines) รถไฟความเร็วสูง เช่น อาเบเอ (AVE: Alta Velocidad Española) มีความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ ตัลโก (Talgo) และยังมีถนนคุณภาพดีมุ่งสู่เมืองสำคัญในส่วนต่าง ๆ ของประเทศ
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปสามารอ่านและเขียนได้ 92.2% ของประชากรทั้งหมด (ชาย 94% หญิง 90.5%) โดยมีมหาวิทยาลัยของรัฐที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดคือ National Autonomous University of Mexico (NAUM) ซึ่งก่อตั้งในปี 2094 (1551) และ มีนักศึกษาได้ 269,000 คน
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 ประเทศสเปนมีประชากร 44,108,530 คน ความหนาแน่นของประชากร 87.8 คนต่อตารางกิโลเมตร (220 คนต่อตารางไมล์) ซึ่งน้อยกว่าความหนาแน่นประชากรของประเทศในยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ และการกระจายตัวในแต่ละภูมิภาคก็ยังไม่เท่ากัน (ยกเว้นในจังหวัดที่อยู่รอบเมืองหลวงมาดริด) โดยบริเวณที่มีประชากรมากที่สุดจะอยู่ตามชายฝั่งทะเล
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 25 ปีหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 อัตราการเกิดของประชากรได้ลดลงอย่างกะทันหัน โดยอัตราเจริญพันธุ์ของสเปนอยู่ที่ 1.29[44] (จำนวนบุตรที่ผู้หญิงจะมีโดยเฉลี่ยตลอดอายุขัย) ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำที่สุดในโลก ส่วนอัตราการรู้หนังสือในปี พ.ศ. 2546 ชาวสเปนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นร้อยละ 97.9 ของประชากรทั้งหมด[44]
อันดับที่ | เมือง | แคว้น | จำนวนประชากร (คน)[45] |
---|---|---|---|
1 | มาดริด | มาดริด | 3,128,600 |
2 | บาร์เซโลนา | กาตาลุญญา | 1,605,602 |
3 | บาเลนเซีย | บาเลนเซีย | 805,304 |
4 | เซบิยา | อันดาลูซิอา | 704,414 |
5 | ซาราโกซา | อารากอน | 649,181 |
6 | มาลากา | อันดาลูซิอา | 560,631 |
7 | มูร์เซีย | ภูมิภาคมูร์เซีย | 416,996 |
8 | ลัสปัลมัสเดกรันกานาเรีย | กานาเรียส | 377,056 |
9 | ปัลมาเดมายอร์กา | หมู่เกาะแบลีแอริก | 375,048 |
10 | บิลบาโอ | ประเทศบาสก์ | 354,145 |
11 | กอร์โดบา | อันดาลูซิอา | 322,867 |
12 | อาลิกันเต | บาเลนเซีย | 322,431 |
13 | บายาโดลิด | กัสติยาและเลออน | 319,943 |
14 | บีโก | กาลิเซีย | 293,255 |
15 | ฆิฆอน | อัสตูเรียส | 274,472 |
16 | โลสปีตาเลตเดโยเบรกัต | กาตาลุญญา | 248,150 |
17 | อาโกรุญญา | กาลิเซีย | 243,320 |
18 | กรานาดา | อันดาลูซิอา | 237,929 |
19 | บีโตเรีย-กัสเตย์ซ | ประเทศบาสก์ | 227,568 |
20 | ซานตากรุซเดเตเนรีเฟ | กานาเรียส | 223,148 |
ผู้ย้ายเข้ามาในสเปนส่วนใหญ่มาจากลาตินอเมริกา (ร้อยละ 38.75) ยุโรปตะวันออก (ร้อยละ 16.33) มาเกร็บ (ร้อยละ 14.99) และแอฟริกากึ่งสะฮารา (ร้อยละ 4.08)[46] นอกจากนี้ ยังมีผู้มีถิ่นที่อยู่อาศัยในสเปนที่เป็นชาวยุโรปประเทศอื่น ๆ อีกบ้างบริเวณชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนและหมู่เกาะแบลีแอริก โดยมาใช้ชีวิตหลังปลดเกษียณหรือทำงานทางไกล
ข้อมูลจากรัฐบาลสเปน ในปี พ.ศ. 2548 ประเทศสเปนมีผู้มีถิ่นที่อาศัยเป็นชาวต่างชาติ 3.7 ล้านคน ประมาณ 5 แสนคนเป็นชาวโมร็อกโก อีก 5 แสนคนเป็นชาวเอกวาดอร์ กว่า 2 แสนคนเป็นชาวโรมาเนีย และประมาณ 2 แสน 7 หมื่นคนเป็นชาวโคลอมเบีย ชุมชนต่างชาติที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ชาวอังกฤษ (ร้อยละ 6.09 ของผู้มีถิ่นที่อยู่อาศัยทั้งหมด) ชาวอาร์เจนตินา (ร้อยละ 6.10) ชาวเยอรมัน (ร้อยละ 3.58) และชาวโบลิเวีย (ร้อยละ 2.63) เฉพาะในปี พ.ศ. 2548 เพียงปีเดียว มีประชากรที่ย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศถึง 7 แสนคน
สเปนมีอัตราการเข้าเมืองมากที่สุดเป็นอันดับสองของสหภาพยุโรปรองจากประเทศไซปรัส[47] ซึ่งมีเหตุผลมาจากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แนวพรมแดนที่ยังรั่วไหล การขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรมและภาคการก่อสร้างที่ต้องการแรงงานค่าจ้างต่ำเป็นจำนวนมาก
ประชากรสเปนส่วนใหญ่มีลักษณะผสมระหว่างชาติพันธุ์นอร์ดิกและชาติพันธุ์เมดิเตอร์เรเนียน ประกอบด้วยเชื้อชาติต่าง ๆ ได้แก่ ชาวสเปน มีจำนวนมากที่สุดประมาณร้อยละ 74 รองลงมาเป็นชาวกาตาลา ชาวกาลิเซีย และชาวบาสก์ตามลำดับ[ต้องการอ้างอิง]
ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ชนกลุ่มน้อยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศสเปน คือ พวกคีตาโนส (Gitanos) ซึ่งเป็น ชาวยิปซีกลุ่มหนึ่ง
ประเทศสเปนเป็นแหล่งพักพิงของประชากรสายเลือดแอฟริกาจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากประชากรในอดีตอาณานิคม (โดยเฉพาะอิเควทอเรียลกินี) แต่ผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสเปนจากหลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกากึ่งสะฮาราและแคริบเบียนก็มีจำนวนสูงกว่า และยังมีชาวสเปนเชื้อสายเอเชียจำนวนมากพอสมควร ส่วนใหญ่จะมีสายเลือดชาวจีน ชาวฟิลิปิโน ชาวตะวันออกกลาง ชาวปากีสถาน และชาวอินเดีย ส่วนชาวสเปนสายเลือดลาตินอเมริกาก็มีจำนวนมากเช่นกันและกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว[ต้องการอ้างอิง]
ประชากรยิวกลุ่มที่สำคัญถูกขับไล่หรือถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนาในปี ค.ศ. 1492 (พ.ศ. 2035) พร้อมกับการตั้งศาลศาสนาสเปน แต่หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวยิวบางส่วนก็ได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในสเปน โดยอพยพเข้ามาจากอดีตอาณานิคมสแปนิชโมร็อกโก หลบหนีการกวาดล้างจากพวกนาซี และอพยพมาจากอาร์เจนตินา ปัจจุบันนี้เมลียามีอัตราส่วนชาวยิว (และชาวมุสลิม) สูงที่สุดในประเทศ และกฎหมายของสเปนยังอนุญาตให้ชาวยิวกลุ่มเซฟาร์ดี (Sephardi Jews) สามารถอ้างสิทธิการเป็นพลเมืองของรัฐได้
กาตาลา ภาษาทางการร่วม
กาลิเซีย ภาษาทางการร่วม
บาสก์ ภาษาทางการร่วม |
อัสตูเรียส ไม่เป็นภาษาทางการ
อารากอน ไม่เป็นภาษาทางการ
|
แม้ว่ารัฐธรรมนูญของสเปนจะยืนยันอำนาจอธิปไตยของชาติก็ตาม แต่ก็ยังรับรองเชื้อชาติอื่น ๆ ที่มีมาในประวัติศาสตร์ด้วย
ทั้งภาษากาตาลา ภาษากาลิเซีย ภาษาอารัน (อุตซิตา) และภาษากัสติยาต่างสืบทอดมาจากภาษาละติน บางภาษาก็มีภาษาถิ่นของตนเอง ซึ่งภาษาถิ่นบางภาษาก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้พูดภาษาถิ่นนั้นให้เป็นอีกภาษาหนึ่งต่างหากด้วย กรณีพิเศษได้แก่ ภาษาบาเลนเซีย (Valencian) เป็นชื่อที่เรียกภาษาถิ่นภาษาหนึ่งของภาษากาตาลา ซึ่งได้รับการรับรองให้เป็นภาษาทางการร่วมในแคว้นบาเลนเซีย
นอกจากนี้ ยังมีภาษาของชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในกลุ่มภาษาโรมานซ์ คือ ภาษาอัสตูเรียส / เลออน (Asturian / Leonese) พูดกันในแคว้นอัสตูเรียสและบางส่วนของจังหวัดเลออน เมืองซาโมรา และเมืองซาลามังกา ภาษาเอซเตรมาดูรา (Extremaduran) ใช้กันในจังหวัดกาเซเรสและจังหวัดซาลามังกา (ทั้งสองภาษาดังกล่าวสืบทอดมาจากภาษาถิ่นในอดีตของภาษาอัสตูร์-เลออน) ภาษาอารากอน (Aragonese) มีผู้พูดกันในพื้นที่บางส่วนของแคว้นอารากอน; ภาษาฟาลา (Fala) ยังมีผู้พูดอยู่บ้างในหมู่บ้านสามแห่งของแคว้นเอซเตรมาดูรา และภาษาโปรตุเกส (ภาษาถิ่น) ที่ใช้กันในบางเมืองของแคว้นเอซเตรมาดูราและแคว้นกัสติยา-เลออน อย่างไรก็ตาม ภาษาเหล่านี้ก็ไม่ได้มีสถานะเป็นภาษาทางราชการอย่างที่ภาษากาตาลา ภาษากาลิเซีย และภาษาบาสก์มี[48]
ภาษาถิ่นอันดาลูซิอา (Andalusian dialect) หรือ อันดาลุซ (Andaluz) พูดในแคว้นปกครองตนเองอันดาลูซิอาและยิบรอลตาร์ โดยมีความแตกต่างจากภาษากัสติยาในเรื่องการออกเสียงหลายประการ ซึ่งบางประการได้เข้าไปมีอิทธิพลในภาษาสเปนแบบลาตินอเมริกา ข้อแตกต่างเหล่านี้เห็นได้ในเรื่องสัทวิทยา (phonology) เช่นเดียวกับการใช้ทำนองเสียง (intonation) และคำศัพท์ (vocabulary)
ในย่านท่องเที่ยวตามชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนและหมู่เกาะ นักท่องเที่ยว ผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติ และผู้ทำงานท่องเที่ยวจะพูดภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน ผู้ย้ายถิ่นชาวแอฟริกาและผู้สืบเชื้อสายชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นจะพูดภาษายุโรปที่เป็นทางการของบ้านเกิดพวกเขา (ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรตุเกส ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส หรือครีโอลท้องถิ่น)
ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีผู้นับถือมากที่สุดในประเทศ จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ (เช่น เวิลด์แฟกต์บุ๊ก 2005 ของซีไอเอ ผลการสำรวจอย่างเป็นทางการของสเปน และแหล่งอื่น ๆ) ชาวสเปนร้อยละ 81-94 นับถือศาสนาคริสต์นิกายดังกล่าว ในขณะที่ประมาณร้อยละ 6-19 นับถือศาสนาอื่นหรือไม่นับถือศาสนาใดเลย[49] อย่างไรก็ตาม ชาวสเปนจำนวนมากที่ระบุว่าตนเองเป็นชาวคาทอลิกเนื่องจากได้เข้าพิธีศีลล้างบาปเท่านั้น ไม่ได้เคร่งศาสนาเท่าใดนัก อีกการสำรวจหนึ่งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) โดยศูนย์สืบสวนทางสังคมวิทยาสเปน[50] แสดงให้เห็นว่าชาวสเปนร้อยละ 54 แทบจะไม่หรือไม่เคยไปโบสถ์เลย ในขณะที่ร้อยละ 15 ไปโบสถ์บางครั้งต่อปี ร้อยละ 10 ไปบางครั้งต่อเดือน และร้อยละ 19 ไปเป็นประจำทุกวันอาทิตย์หรือหลายครั้งต่อสัปดาห์
ชาวคริสต์โปรเตสแตนต์ก็มีเช่นกันในสเปน แต่มีจำนวนน้อยกว่า 5 หมื่นคน เช่น นิกายอีแวนเจลิคัล (Evangelism) ซึ่งนับถือกันในหมู่ชาวยิปซี นิกายมอร์มอน (Mormons) และลัทธิพยานพระยะโฮวาห์ (Jehovah's Witnesses)
คลื่นอพยพในระยะหลังได้เพิ่มจำนวนชาวมุสลิมมากขึ้น ซึ่งมีประมาณ 1 ล้านคน ชาวมุสลิมไม่ได้อาศัยอยู่ในสเปนมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ อย่างไรก็ตาม การขยายดินแดนอาณานิคมในแอฟริกาตอนเหนือและตะวันตกก็ได้ให้สถานะความเป็นพลเมืองสเปนแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในสแปนิชโมร็อกโกและสแปนิชสะฮารา ทุกวันนี้ ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในสเปน รองจากศาสนาคริสต์ (นิกายโรมันคาทอลิก) โดยชาวมุสลิมในสเปนคิดเป็นร้อยละ 3 ของประชากรทั้งหมด แต่ชาวลาตินอเมริกา ซึ่งมักจะนับถือคาทอลิกอย่างแรงกล้าและเข้ามาพร้อมกับกระแสการอพยพดังกล่าวนี้ ก็ช่วยเพิ่มจำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์ให้กับศาสนจักรเช่นกัน
ในทางปฏิบัติแล้ว ศาสนายูดายไม่ปรากฏในสเปนจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งชาวยิวได้รับอนุญาตให้กลับเข้าประเทศอีกครั้ง ปัจจุบันมีชาวยิวในสเปนประมาณ 5 หมื่นคน คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนประชากรทั้งหมด เชื่อกันว่าสเปนมีชาวยิวประมาณร้อยละ 8 ในช่วงเวลาก่อนการจัดตั้งศาลไต่สวนทางศาสนา
ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ทัพนักกีฬาสเปนคว้าเหรียญรางวัลไปทั้งหมด 19 เหรียญ (3 เหรียญทอง 11 เหรียญเงิน และ 5 เหรียญทองแดง) อยู่ในอันดับที่ 20[51] และในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) นักกีฬาบาสเกตบอลของสเปนก็ได้รับเหรียญทองในการแข่งขันเวิลด์แชมเปียนชิปของสหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ (FIBA) ที่ประเทศญี่ปุ่น
กีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศคือกีฬาฟุตบอลเช่นเดียวกับชาติอื่น ๆ ทั่วไปในยุโรป โดยมีลาลิกาเป็นลีกสำหรับฟุตบอลอาชีพของประเทศ สโมสรฟุตบอลใหญ่อย่างเรอัลมาดริด อัตเลติโกเดมาดริด และบาร์เซโลนามักเป็นผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดในการแข่งขันสืบต่อกันมา ฟุตบอลทีมชาติสเปนสามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สเปนเคยได้แชมป์ฟุตบอลยูโรใน ค.ศ. 1964 และกลับมาครองแชมป์ฟุตบอลยุโรปอีกใน ค.ศ. 2008 เอาชนะทีมชาติเยอรมนีไปได้ในรอบชิงชนะเลิศ 1-0 โดยผู้ยิงประตูคือเฟร์นันโด ตอร์เรส และใน ค.ศ. 2010 ทีมชาติสเปนก็ประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้เป็นสมัยแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้ โดยเอาชนะทีมชาติเนเธอร์แลนด์ 1-0 จากการยิงของอันเดรส อินิเอสตา ทำให้สเปนเป็นชาติที่ 8 ที่ได้แชมป์ฟุตบอลโลก ทีมชาติสเปนยังสามารถป้องกันแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (ยูโร 2012) เอาไว้ได้อีกหนึ่งสมัย โดยถล่มทีมชาติอิตาลีทีมร่วมกลุ่มไป 4-0 และยังสร้างสถิติใหม่ในรายการนี้มากมาย เช่น เป็นทีมแรกที่ถล่มคู่ต่อสู้ในนัดชิงชนะเลิศได้ขาดลอยที่สุด, เป็นทีมที่เสียประตูน้อยที่สุดตลอดการแข่งขัน (เสียไปเพียงหนึ่งประตูในนัดแรกของกลุ่มที่เสมออิตาลี 1-1) และเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์รายการใหญ่ได้ถึงสามรายการติดต่อกัน (ฟุตบอลยูโร 2008, ฟุตบอลโลก 2010 และฟุตบอลยูโร 2012)
บาสเกตบอลถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมรองจากฟุตบอลในสเปน โดยมีทีมใหญ่อย่างเรอัลมาดริดและบาร์เซโลนา ทีมบาสเกตบอลชุดใหญ่ของสเปนถือเป็นหนึ่งในทีมที่ประสบความสำเร็จสูงในการแข่งขันระดับโลก โดยคว้าตำแหน่งชนะเลิศในการแข่งชันชิงแชมป์โลก (FIBA World Cup) ได้ 2 สมัยใน ค.ศ. 2006 และ 2019 และเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 12 ครั้ง โดยสามารถคว้าเหรียญเงินได้ 3 สมัย (ค.ศ. 1984, 2008 และ 2012) รวมทั้งเหรียญทองแดงอีก 1 สมัย (ค.ศ. 2016) ทีมสเปนมีนักบาสเกตบอลระดับโลกที่ได้ร่วมเล่นอาชีพในการแข่งขันเอ็นบีเอมากมาย เช่น เปา กาซ็อล, มาร์ก กาซ็อล และริกี รูบิโอ
ในด้านกีฬาเทนนิสนั้น สเปนคว้าตำแหน่งชนะเลิศในการแข่งขันเดวิสคัพ (Davis Cup) ได้ถึง 6 สมัย (ค.ศ. 2000, 2004, 2008, 2009, 2011 และ 2019) โดยมีราฟาเอล นาดัล ผู้เล่นระดับโลกจากแคว้นแบลีแอริกอยู่ในตำแหน่งมือวางอันดับต้น ๆ ของโลกมาจนถึงปัจจุบัน
การแข่งขันจักรยานก็ถือเป็นกีฬาหลักที่ได้รับความนิยมสูงเช่นกัน มีการจัดการแข่งขันจักรยานทางไกลรอบประเทศ คือ บูเอลตาเอสปัญญา และมิเกล อินดูไรน์ จากแคว้นนาวาร์ เป็นหนึ่งในชาวสเปนเพียงห้าคนที่คว้าชัยชนะในการแข่งขันตูร์เดอฟร็องส์ที่มีชื่อเสียง
กีฬาสู้วัวกระทิงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสเปน แม้ว่าในช่วงหลังมานี้จะได้รับความสนใจลดลงบ้างและถูกองค์กรคุ้มครองสัตว์ต่าง ๆ ต่อต้าน กีฬานี้ก็ยังคงดำรงอยู่ได้อย่างดีในประเทศ การสู้วัวกระทิงมีมาตั้งแต่ยุคโบราณ (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 8) และปัจจุบันได้รับความนิยมไปทั่วโลก
กีฬาท้องถิ่นอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมได้แก่ เปโลตา (Pelota) ควบคู่กับไฮอาไล (Jai Alai) เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเข้ามาในสเปนผ่านทางชาวมัวร์ นอกจากนี้ การแข่งขันกีฬาอื่น ๆ ในระดับนานาชาติ สเปนยังประสบความสำเร็จในกีฬากรีฑาระยะกลาง (middle distance running) กอล์ฟ และแฮนด์บอลอีกด้วย
วัฒนธรรมสเปนมีรากฐานมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ อิทธิพลของชาวไอบีเรียนเดิมและชาวละตินในคาบสมุทรไอบีเรีย ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ศาสนาอิสลามของชาวมัวร์ ความตึงเครียดในระหว่างการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของแคว้นกัสติยา และชนกลุ่มน้อย นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ของชาติ รวมทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนยังมีบทบาทสำคัญในการก่อร่างวัฒนธรรมสเปนด้วย
ในขณะที่ ซิเอสตา (siesta) หรือการพักจากการทำงานตอนบ่าย 1-2 ชั่วโมงกำลังลดลงโดยทั่วไป การดำเนินชีวิตใน 1 วันของชาวสเปนก็ค่อย ๆ มีความใกล้เคียงกับระเบียบของประเทศในทวีปยุโรปทั่วไปมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ร้านค้าและพิพิธภัณฑ์หลายแห่งยังคงแบ่งเวลาทำการออกเป็นสองช่วง โดยจะพักระหว่างนั้น 2-3 ชั่วโมง การเดินเล่น (paseo) ในช่วงเย็นหรือหัวค่ำยังเป็นสิ่งที่ผู้คนในเมืองเล็กหลาย ๆ เมืองกระทำกัน (รวมทั้งเมืองใหญ่ก็เช่นกัน) ส่วนเวลารับประทานอาหารเย็นก็เรียกได้ว่าช้าที่สุดในยุโรป กล่าวคือจะเริ่มรับประทานกันเวลา 21.00 น. หรือ 22.00 น. ดังนั้นชีวิตกลางคืนจึงเริ่มขึ้นช้าตามไปด้วย มีคลับเต้นรำมากมาย (แม้แต่ในเมืองเล็กบางเมือง) ที่เปิดตอนเวลาเที่ยงคืนจนถึงรุ่งเช้า
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
อาหารสเปนประกอบด้วยอาหารหลายประเภท ซึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิอากาศ เช่น อาหารทะเลก็หาได้จากพื้นน้ำที่ล้อมรอบประเทศอยู่นั้น และเนื่องจากประเทศสเปนมีประวัติความเป็นมายาวนานรวมทั้งวัฒนธรรมที่แตกต่างกันซึ่งทยอยเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนนี้ อาหารสเปนจึงมีความหลากหลายอย่างยิ่ง แต่เครื่องปรุงและส่วนผสมต่าง ๆ เหล่านั้นก็ได้ประกอบกันขึ้นเป็นอาหารประจำชาติที่มีความเป็นเอกลักษณ์ พร้อมทั้งตำรับการประกอบอาหารและรสชาตินับพัน อิทธิพลส่วนมากในอาหารสเปนมาจากวัฒนธรรมยิวและมัวร์ ชาวมัวร์เป็นชาวมุสลิมจากแอฟริกาซึ่งเคยมีอำนาจปกครองสเปนอยู่หลายศตวรรษ และอาหารของชาวมัวร์ก็ยังคงมีรับประทานกันอยู่จนทุกวันนี้ ตัวอย่างอาหารสเปนที่มีชื่อเสียง เช่น
ชิ้นงานดนตรีของสเปนได้แก่ ดนตรีคลาสสิกตะวันตกและดนตรีคลาสสิกอันดาลูซิอา รวมทั้งอุตสาหกรรมดนตรีป็อปภายในประเทศ และดนตรีชาวบ้าน (folk music) นอกจากนี้ สเปนสมัยใหม่ยังมีผู้เล่นดนตรีแนวร็อกแอนด์โรล เฮฟวีเมทัล พังก์ร็อก และฮิปฮอปเป็นจำนวนมาก
ดนตรีชาวบ้านหรือโฟล์กมิวสิกของสเปนที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดน่าจะเป็น ฟลาเมงโก (flamenco) มีต้นกำเนิดจากในแคว้นอันดาลูซิอา รูปแบบของฟลาเมงโกได้ผลิตนักดนตรีชาวสเปนที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น นักร้องกามารอน เด ลา อิสลา (Camarón de la Isla) และนักกีตาร์การ์โลส มอนโตยา (Carlos Montoya)
นอกจากฟลาเมงโกแล้ว ดนตรีชาวบ้านของสเปนยังมีดนตรีตรีกีตีชา (trikitixa) และ แอกคอร์เดียน จากแคว้นประเทศบาสก์ ดนตรีไกย์ตา (gaita - ปี่สกอตชนิดหนึ่ง) จากแคว้นกาลิเซียและอัสตูเรียส และโคตา (jota) จากแคว้นอารากอน และแม้ว่าประเพณีท้องถิ่นบางอย่างจะสูญหายไปแล้ว แต่บางอย่างก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่และได้รับการประยุกต์ดัดแปลงให้ทันสมัยเข้ากับรูปแบบและเครื่องดนตรีใหม่ ๆ เช่น ดนตรีเคลติก (Celtic music) ของกาลิเซีย นิวฟลาเมงโก (New Flamenco) เป็นต้น
ดนตรีสมัยใหม่ที่แตกต่างออกไปจากแนวพื้นบ้านเริ่มปรากฏในสเปนประมาณปี ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) จากนั้น ดนตรีพ็อปแนวเย-เย (Ye-yé) ก็เป็นที่นิยม ตามด้วยเพลงพ็อปและร็อกนำเข้าจากสหราชอาณาจักร สหรัฐ ฝรั่งเศส และอื่น ๆ ดนตรีสเปนทุกวันนี้ประกอบด้วยวงร็อกเป็นส่วนใหญ่ เช่น เอลกันโตเดลโลโก (El Canto Del Loco) และไดเกอส์ (Dikers) ดนตรีชนิดใหม่นี้ก็กำลังติดอันดับความนิยมในหลายชาร์ตของสเปน และน่าจะเป็นเช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่ง
ประเทศสเปนมีวันหยุดสำคัญทางราชการดังต่อไปนี้
1 มกราคม = วันขึ้นปีใหม่
6 มกราคม = วันฉลองเทศกาลเสด็จมาของพระเยซูคริสต์; Epiphany Day
10 เมษายน = วันศุกร์ก่อนวันอีสเตอร์; Good Friday
13 เมษายน = วันอีสเตอร์
1 พฤษภาคม = วันแรงงาน
24 มิถุนายน = วันสมโภชนักบุญยอห์น
15 สิงหาคม = วันอัสสัมชัญ; Assumption Day
12 ตุลาคม = วันชาติสเปน
1 พฤศจิกายน = วันระลึกถึงนักบุญ; All Saints Day
6 ธันวาคม = วันรัฐธรรมนูญ
8 ธันวาคม = วันสมโภชพระแม่มารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล
25 ธันวาคม = วันคริสต์มาส
อ้างอิงโดย: สถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย[52] (Embajada de España en Tailandia)
|
|
|
|
|
|
|
|
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.