Loading AI tools
นักเทนนิสชาวสเปน จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราฟาเอล นาดัล ปาเรรา (สเปน: Rafael Nadal Parera, ออกเสียง: [rafaˈel naˈðal paˈɾeɾa];[2] เกิด: 3 มิถุนายน ค.ศ. 1986) เป็นอดีตนักเทนนิสอาชีพชายชาวสเปน เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยว 22 สมัย และเคยครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกรวม 209 สัปดาห์ และครองตำแหน่งอันดับ 1 เมื่อจบฤดูกาล 5 ครั้ง เขาได้รับการขนานนามว่าเป็นราชาแห่งคอร์ตดิน[3] และประสบความสำเร็จในการแข่งขันคอร์ตดินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยคว้าแชมป์แกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน 14 สมัย[4] ซึ่งเป็นสถิติการคว้าแชมป์รายการใดรายการหนึ่งที่มากที่สุดในวงการเทนนิส และแชมป์เอทีพี มาสเตอร์ 1000 คอร์ตดิน 26 รายการ และยังทำสถิติชนะบนคอร์ตดินติดต่อกัน 81 นัด[5] นาดัลได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักเทนนิสที่ยิ่งใหญ่ที่สุด รวมทั้งหนึ่งในนักกีฬาชาวสเปนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล[6][7] เขาชนะเลิศการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวโดยสมาคมนักเทนนิสอาชีพ (เอทีพี) 92 รายการ ซึ่งรวมถึงแชมป์เอทีพี มาสเตอร์ 36 รายการ และเหรียญทองโอลิมปิก
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ภาพถ่ายเมื่อปี 2024 | |
ชื่อเต็ม | ราฟาเอล นาดัล ปาเรรา |
---|---|
ประเทศ (กีฬา) | สเปน |
ถิ่นพำนัก | มานากอ หมู่เกาะแบลีแอริก ประเทศสเปน |
วันเกิด | มานากอ หมู่เกาะแบลีแอริก ประเทศสเปน | 3 มิถุนายน ค.ศ. 1986
ส่วนสูง | 1.85 m (6 ft 1 in) |
เทิร์นโปร | ค.ศ. 2001 |
การเล่น | มือซ้าย (แบ็กแฮนด์สองมือ) |
ผู้ฝึกสอน | โตนี นาดัล (2005–2017) การ์โลส โมยา (2016–2024) |
เงินรางวัล | 134,946,100 ดอลลาร์สหรัฐ |
เว็บไซต์ทางการ | rafaelnadal.com |
เดี่ยว | |
สถิติอาชีพ | 1,080–228 (82.6%) |
รายการอาชีพที่ชนะ | 92 |
อันดับสูงสุด | No. 1 (18 สิงหาคม 2008) |
ผลแกรนด์สแลมเดี่ยว | |
ออสเตรเลียนโอเพน | ชนะเลิศ (2009, 2022) |
เฟรนช์โอเพน | ชนะเลิศ (2005, 2006, 2007, 2008, 2010, 2011, 2012, 2013, 2014, 2017, 2018, 2019, 2020, 2022) |
วิมเบิลดัน | ชนะเลิศ (2008, 2010) |
ยูเอสโอเพน | ชนะเลิศ (2010, 2013, 2017, 2019) |
การแข่งขันอื่น ๆ | |
Tour Finals | รองชนะเลิศ (2010, 2013) |
Olympic Games | เหรียญทอง (2008) |
คู่ | |
สถิติอาชีพ | 142–77 |
รายการอาชีพที่ชนะ | 11 |
อันดับสูงสุด | No. 26 (8 สิงหาคม 2005) |
อันดับปัจจุบัน | No. 506 (15 พฤศจิกายน 2021)[1] |
ผลแกรนด์สแลมคู่ | |
ออสเตรเลียนโอเพน | 3R (2004, 2005) |
วิมเบิลดัน | 2R (2005) |
ยูเอสโอเพน | SF (2004) |
การแข่งขันแบบทีม | |
Davis Cup | ชนะเลิศ (2004, 2008, 2009, 2011, 2019) |
สถิติเหรียญโอลิมปิก | ||
---|---|---|
ตัวแทนของ สเปน | ||
เทนนิสประเภทชาย | ||
2008 กรุงปักกิ่ง | ประเภทเดี่ยว | |
2016 กรุงรีโอเดจาเนโร | ประเภทคู่ |
นาดัลเริ่มสร้างชื่อด้วยการเป็นหนึ่งในผู้เล่นดาวรุ่งที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ เขาขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 2 ของโลกในวัยเพียง 19 ปี และคว้าแชมป์ได้ถึง 16 รายการก่อนอายุครบ 20 ปีซึ่งรวมถึงแชมป์แกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพนสมัยแรก ก่อนจะขึ้นสู่อันดับ 1 ของโลกครั้งแรกใน ค.ศ. 2008 หลังคว้าแชมป์วิมเบิลดันสมัยแรก[8] โดยเอาชนะโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ คู่แข่งคนสำคัญในรอบชิงชนะเลิศ และยังคว้าเหรียญทองโอลิมปิกประเภทชายเดี่ยวในปีนั้น เขาคว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยแรกจากการชนะเฟเดอเรอร์ใน ค.ศ. 2009 ต่อมา ใน ค.ศ. 2010 นาดัลคว้าแชมป์แกรนด์สแลม 3 รายการ และคว้าแชมป์แกรนด์สแลมครบทุกรายการในอาชีพ (Career Grand Slam)[9] ภายหลังคว้าแชมป์ยูเอสโอเพน และด้วยวัย 24 ปี เขาถือเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดในยุคโอเพน[a] ที่ได้แชมป์แกรนด์สแลมครบทั้ง 4 รายการ[10] และเป็นผู้เล่นชายคนแรกที่ได้แชมป์แกรนด์สแลมในพื้นคอร์ตทั้ง 3 ประเภทในปีเดียวกัน[b] อีกทั้งยังเป็นผู้เล่นคนที่สองในยุคโอเพนต่อจาก อานเดร แอกัสซี ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมครบทุกรายการ และเหรียญทองโอลิมปิกประเภทชายเดี่ยว (Career Golden Slam)[11]
ในทศวรรษต่อมา เป็นช่วงเวลาที่เขาขับเคี่ยวแย่งความสำเร็จกับเฟเดอเรอร์ และ นอวาก จอกอวิช เขายังคงครองความยิ่งใหญ่ในคอร์ตดิน โดยคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนเพิ่มอีก 8 สมัย และแชมป์ยูเอสโอเพนอีก 3 สมัย รวมทั้งเข้าชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพนอีก 4 ครั้ง และยังทำสถิติคว้าแชมป์แกรนด์สแลมต่อเนื่อง 10 ปีติดต่อกันตั้งแต่ ค.ศ. 2005–2014 และคว้าเหรียญทองโอลิมปิกประเภทชายคู่ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2016 ต่อมาใน ค.ศ. 2022 เขาคว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยที่สอง ทำสถิติคว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 21 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในขณะนั้นแซงหน้าเฟเดอเรอร์และจอกอวิช และเป็นผู้เล่นชายคนที่ 4 ในประวัติศาสตร์เทนนิสที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมในแต่ละรายการได้อย่างน้อยสองสมัย (Double Career Grand Slam) ตามด้วยการคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนสมัยที่ 14 ซึ่งเป็นแชมป์แกรนด์สแลมที่ 22
อย่างไรก็ตาม จากรูปแบบการเล่นที่ดุดันกอปรกับการลงเล่นบนคอร์ตดินบ่อยครั้ง ซึ่งต้องใช้พละกำลังมากกว่าคอร์ตอื่น ส่งผลให้นาดัลประสบปัญหาการบาดเจ็บบ่อยครั้งตั้งแต่เล่นอาชีพ เขาบาดเจ็บสะโพกใน ค.ศ. 2023[12] และไม่สามารถกลับคืนสู่ฟอร์มการเล่นในระดับเดิมได้ ก่อนจะประกาศเลิกเล่นอาชีพใน ค.ศ. 2024 โดยลงเล่นเดวิสคัพในเดือนพฤศจิกายนเป็นรายการสุดท้าย[13]
นาดัลเป็นคนที่ถนัดขวาแต่ถูกฝึกให้ตีเทนนิสด้วยมือซ้าย[14] เขาได้รับการฝึกสอนโดย โตนี นาดัล คุณลุงของเขาเกือบตลอดอาชีพ นาดัลมีจุดเด่นคือการตีโฟร์แฮนด์ท็อปสปินอันหนักหน่วงซึ่งเป็นประโยชน์ในการเล่นบนคอร์ตดิน และยังขึ้นชื่อในการเบรกเกมเสริ์ฟของคู่แข่ง และความนิ่งในการเล่นคะแนนสำคัญ และยังเป็นผู้เล่นที่เชี่ยวชาญการเล่นลูกหยอดมากที่สุดคนหนึ่ง นาดัลได้รับรางวัลลอริอุสเวิลด์สปอตส์อะวอดส์ สาขานักกีฬาชายยอดเยี่ยมแห่งปี 2 สมัย, รางวัลนักเทนนิสยอดเยี่ยมของเอทีพี 5 สมัย และรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมจากการโหวตโดยเพื่อนนักเทนนิส 5 สมัย เขายังได้รับการจัดอันดับโดยไทม์ 100 ให้เป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลกปีใน 2022 ในการแข่งขันนานาชาติ นาดัลคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ทั้งในประเภทชายเดี่ยว (2008) และชายคู่ (2016) และแชมป์เดวิส คัพ[c] ร่วมกับทีมชาติสเปนอีก 5 สมัย เขาก่อตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส[15] และเปิดสถาบันสอนเทนนิสในมายอร์กา
นาดัลเกิดที่เมืองมาจอร์กา ประเทศสเปน เป็นบุตรของนายเซบาสเตียน เจ้าของบริษัทประกันภัย และนางอนา มาเรีย ปาเรรา เขามีน้องสาวคือ มาเรีย อิสซาเบล[16] ลุงของเขา มิกูเอล แองเจิล นาดัล เป็นนักฟุตบอลทีมชาติสเปนต้องการให้นาดัลเป็นนักฟุตบอล ในขณะที่ลุงอีกคน โตนี นาดัล เป็นนักเทนนิสอาชีพ และได้แนะนำให้นาดัลเล่นเทนนิสตั้งแต่อายุ 3 ขวบและทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนของเขา แท้จริงแล้วนาดัลเป็นคนที่ถนัดขวา โดยเขาใช้ชีวิตประจำวันด้วยมือขวา[17] แต่ถูกฝึกให้ตีเทนนิสด้วยมือซ้ายตั้งแต่เด็ก เนื่องจากลุงโตนีต้องการสร้างอาวุธที่แตกต่างให้กับเขาเพื่อเป็นข้อได้เปรียบ[18]
จากการที่มีคุณลุงสองคนเป็นผู้มีความสามารถทางฟุตบอลและเทนนิส ส่งผลให้นาดัลมีความรักในกีฬาทั้งสองและได้ฝึกฝนกีฬาทั้งสองไปพร้อมกัน[19] โดยเหตุการณ์ที่ทำให้ลุงโตนีได้มองเห็นถึงพรสวรรค์ของนาดัลคือเมื่อตอนเขาอายุ 8 ขวบ เขาคว้าแชมป์เยาวชนรุ่นอายุต่ำกว่า 12 ปี ได้พร้อม ๆ ไปกับการเป็นนักฟุตบอลระดับจูเนียร์ ลุงโตนีจึงเข้มงวดในการซ้อมให้กับเขามากขึ้น เมื่ออายุ 12 ปี นาดัลสามารถชนะเลิศเทนนิสหลายรายการ และยังคงเล่นเทนนิสและฟุตบอลไปพร้อมกัน[20] พ่อของเขาไม่ต้องการให้การเรียนของเขาได้รับผลกระทบจากการเล่นกีฬามากจนเกินไป จึงให้เขาเลือกเล่นระหว่างเทนนิสและฟุตบอล ซึ่งท้ายทื่สุดนาดัลก็ได้เลือกเล่นเทนนิส และในปี 2002 นาดัลก็ได้ก้าวขึ้นสู่ 50 อันดับแรกของโลกในวัยเพียง 16 ปี
เขามีทีมฟุตบอลที่เชียร์คือเรอัลมาดริด[21] รวมทั้งสนับสนุนทีมชาติสเปน มีนักฟุตบอลที่ชื่นชอบคือโรนัลโด นาดัลเปิดเผยว่าตัวเขาไม่เชื่อในพระเจ้า และให้ความสำคัญกับการประสบความสำเร็จด้วยพรสวรรค์และความมุ่งมั่นของมนุษย์มากกว่าการแสวงหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ[22][23]
นาดัลเปิดเผยถึงอาหารที่เขาชื่นชอบในรายการของ มาร์คัส ซามูเอลสัน ในปี 2016 ว่า "ซีฟู้ด คือสิ่งที่ต้องมีบนโต๊ะอาหารเสมอ" ไม่ว่าจะเป็น สเต็กปลาแซลมอน หรือ พาสต้ากับกุ้งและเห็ด ซึ่งพาสต้านั้นเป็นสิ่งที่เจ้าตัวชอบเนื่องจากให้พลังงานสูง และเขายังชอบทานข้าวผัดสเปน[24] นาดัลยอมรับว่าเขามี "Guilty Pleasure" ซึ่งเป็นเมนูที่ไม่ดีต่อสุขภาพแต่เขาชอบทานได้แก่ ช็อกโกแลต และ เค้ก[25]
นาดัลสมรสกับฟรานซิสก้า “ซิสก้า” เปเรโญ ในปี 2019[26] เขายังมีธุรกิจส่วนตัวโดยเปิดสถาบันฝึกสอนเทนนิส "Rafa Nadal Academy by Movistar" ตั้งแต่ปี 2016 ที่มาร์จอกา ประเทศสเปน โดยเน้นสอนเยาวชนอายุ 12–18 ปี และมีโปรแกรมสำหรับผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน และยังเปิดสอนที่สหราชอาณาจักร,ไอร์แลนด์, คูเวต รวมถึงเม็กซิโก[27] นาดัลมีงานอดิเรกคือการเล่นไพ่โป๊กเกอร์[28][29]
นาดัลเริ่มเล่นอาชีพเมื่ออายุ 15 ปีและเข้าร่วมการแข่งขันเยาวชนในรุ่น ITF [30] ต่อมา เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2002 นาดัลในวัยเพียง 15 ปี ก็คว้าแชมป์ได้เป็นรายการแรก และถือเป็นผู้เล่นคนที่ 9 ในยุคโอเพนที่ได้แชมป์การแข่งขันทางการก่อนอายุ 16 ปี[31] ต่อมาในช่วงกลางปี นาดัลในวัย 16 ปี ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศวิมเบิลดันในรุ่นจูเนียร์ได้เป็นครั้งแรก เขายังมีส่วนช่วยทีมชาติสเปนเอาชนะสหรัฐอเมริกาในรอบชิงชนะเลิศของจูเนียร์ เดวิส คัพ[32] ถือได้ว่าเขาเป็นนักเทนนิสรุ่นเยาว์ที่เป็นที่จับตามองมากที่สุดในขณะนั้น
ในปี 2004 นาดัลสร้างสถิติเป็นสมาชิกทีม เดวิส คัพ ที่อายุน้อยที่สุดและสามารถพาทีมคว้าแชมป์ได้ โดยทีมชาติสเปนสามารถเอาชนะสหรัฐอเมริกาไปได้ ซึ่งนาดัลมีอายุ 18 ปี 6 เดือนในขณะนั้น นาดัลจบฤดูกาลโดยการขึ้นสู่อันดับที่ 51 ของโลก
ในปี 2005 นาดัลก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับโลกอย่างเป็นทางการ เขาชนะเลิศแกรนด์สแลมได้เป็นครั้งแรกในรายการเฟรนช์โอเพน เอาชนะมาเรียโน ปูเอร์ต้า และถือเป็นผู้เล่นคนที่สองที่คว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนได้เป็นรายการแกรนด์สแลมแรกในอาชีพ ต่อจาก แมทส์ วิแลนเดอร์ ในปี 1982[33] นาดัลจบฤดูกาลด้วยการขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับ 2 ของโลกครั้งแรก และได้รับรางวัลผู้เล่นที่มีพัฒนาการยอดเยี่ยมประจำปี[34]
นาดัลป้องกันแชมป์เฟรนช์โอเพนเอาไว้ได้ทั้งในปี 2006 และ 2007 รวมทั้งเข้าชิงชนะเลิศวิมเบิลดันได้สองปีติดต่อกัน แต่ก็แพ้ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ผู้ซึ่งกลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญในอาชีพของเขาไปทั้งสองครั้ง
ปี 2008 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ของนาดัล เขาคว้าแชมป์ได้ 8 รายการในปีนี้ รวมทั้งแชมป์แกรนด์สแลม 2 รายการ (เฟรนช์โอเพน และ วิมเบิลดัน) เอาชนะเฟเดอเดอร์ในรอบชิงชนะเลิศทั้งสองรายการ[35] หลังจากแพ้เฟเดอเรอร์ในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดันสองปีติดต่อกัน[36] โดยนาดัลถือเป็นชาวสเปนคนที่สองที่คว้าแชมป์วิลเบิลดันได้ ต่อจาก คอนชิต้า มาร์ติเนซ ในประเภทหญิงเดี่ยว และเป็นผู้เล่นคนที่ 3 ที่คว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนและวิมเบิลดันได้ในปีเดียวกัน นาดัลยังผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมได้อีกสองรายการได้แก่ ออสเตรเลียนโอเพน และยูเอสโอเพน และคว้าแชมป์ เดวิสคัพได้เป็นสมัยที่สอง โดยสเปนเอาชนะอาร์เจนตินาในรอบชิงชนะเลิศ[37] และนาดัลยังคว้าแชมป์รายการมาสเตอร์ได้สามรายการที่ แคนาดา, ฮัมบวร์ค และมงเต-การ์โล
นาดัลคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันชายเดี่ยวในโอลิมปิก 2008 เอาชนะ เฟอร์นานโด กอนซาเลสในรอบชิงชนะเลิศสามเซตรวด และเขาแย่งตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกจากเฟเดอเรอร์ได้เป็นครั้งแรกในวันที่ 18 สิงหาคม ภายหลังจากที่เป็นมืออันดับ 2 นานถึง 160 สัปดาห์ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2005[38]
แม้นาดัลจะตกรอบ 8 คนสุดท้ายในการแข่งขันรายการเอทีพี 250 ที่โดฮา แต่นาดัลได้แชมป์ออสเตรเลียนโอเพนครั้งแรก เอาชนะเฟเดอเรอร์ในรอบชิงชนะเลิศ 3–2 เซต โดยถือเป็นนักเทนนิสชาวสเปนคนแรกที่คว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้[39] ตามด้วยการคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 สามรายการที่อินเดียน เวลส์ เอาชนะมาร์รี และเอาชนะจอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศที่ มงเต-การ์โล และ โรม ก่อนจะแพ้เฟเดอเรอร์ในรอบชิงชนะเลิศที่มาดริด
อย่าไรก็ตาม ในปีนี้นาดัลไม่ประสบความสำเร็จในแกรนด์สแลมอีก 3 รายการ โดยตกรอบเฟรนช์โอเพนในรอบที่ 4 ซึ่งเป็นการหยุดสถิติการคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพน 4 ปีติดต่อกัน และตกรอบรองชนะเลิศยูเอสโอเพน และไม่ได้ลงแข่งขันวิมเบิลดันเนื่องจากเจ็บเข่า[40] นาดัลจบฤดูกาลด้วยการการพาทีมสเปนป้องกันแชมป์ เดวิสคัพ โดยเอาชนะเช็กเกีย[41] แต่เขาเสียตำแหน่งมือวางอันดับ 1 กลับไปให้เฟเดอร์เรอร์หลังจากตกรอบแรกเอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล ที่กรุงลอนดอน
นาดัลเริ่มต้นด้วยรองแชมป์ที่โดฮา ก่อนจะแพ้ แอนดี มาร์รี นักเทนนิสชื่อดังชาวสกอตในรอบ 8 คนสุดท้ายออสเตรเลียนโอเพน โดยเขาได้ขอยอมแพ้ในเซตที่ 3 เนื่องจากอาการเจ็บเข่ากำเริบ[42]
นาดัลเข้าถึงรอบรองชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 2 รายการ ที่ อินเดียนเวลส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย และ ไมแอมี ตามด้วยการคว้าแชมป์มาสเตอร์คอร์ตดิน 3 รายการถัดมา ที่ มงเต-การ์โล, กรุงมาดริด และกรุงโรม ก่อนจะกลับไปทวงแชมป์เฟรนช์โอเพนได้สำเร็จ ซึ่งเป็นแชมป์สมัยที่ 5 เอาชนะ โรบิน โซเดอร์ลิงสามเซต รวมทั้งคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้อีกสองรายการทั้งวิมเบิลดันและยูเอสโอเพน เอาชนะโทมัส เบอร์ดิช และจอกอวิชตามลำดับ[43] ทำให้นาดัลคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ถึง 3 รายการในปีนี้ และหลังจากได้แชมป์ยูเอสโอเพน นาดัลถือเป็นนักเทนนิสชายคนที่ 7 ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ครบทั้ง 4 รายการ (Career Grand Slam)[44] รวมทั้งทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนแรกที่ได้แชมป์แกรนด์สแลมในพื้นคอร์ตทั้ง 3 ประเภท (ฮาร์ดคอร์ต, คอร์ตดิน และคอร์ตหญ้า) ในปีเดียวกัน และยังถือเป็นผู้เล่นชายคนที่สองในยุคโอเพน ต่อจาก อานเดร แอกัสซี ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมประเภทชายเดี่ยวครบทั้ง 4 รายการและคว้าเหรียญทองโอลิมปิกชายเดี่ยวได้ หรือที่เรียกว่าการทำ Career Golden Slam นาดัลจบฤดูกาลด้วยการได้แชมป์ที่โตเกียว และเข้าชิงชนะเลิศ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอลเป็นครั้งแรก แต่แพ้เฟเดอเรอร์ 1–2 เซต แต่ยังจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งมือวางอันดับ 1 เป็นครั้งที่สอง[45]
ในปี 2011 นาดัลไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เนื่องด้วยเป็นปีที่ นอวาก จอกอวิช ยอดผู้เล่นชาวเซอร์เบียก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นที่แย่งความสำเร็จจากนาดัลและเฟเดอเรอร์อย่างเต็มตัว โดยนาดัลต้องแพ้ให้กับจอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศถึง 6 รายการ รวมถึงในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมวิมเบิลดันและยูเอสโอเพน[46] แต่นาดัลยังป้องกันแชมป์เฟรนช์โอเพนได้ โดยชนะเฟเดอเรอร์อีกครั้ง คว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 6[47] และนาดัลยังพาทีมชาติสเปนได้แชมป์เดวิสคัพอีกครั้ง โดยเอาชนะอาร์เจนตินาในรอบชิงชนะเลิศ และยังได้แชมป์รายการคอร์ตดินอีกสองรายการที่มาสเตอร์ 1000 มงเต-การ์โล และรายการเอทีพี 500 ที่บาร์เซโลนา แต่เขาตกรอบแรก เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล และจบฤดูกาลด้วยการเสียตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ให้กับจอกอวิช
นาดัลถูกจอกอวิชย้ำแค้นอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 2–3 เซต ซึ่งนัดนี้ถือเป็นการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์เนื่องจากใช้เวลาการแข่งขันนานถึง 5 ชั่วโมง 53 นาที ถือเป็นรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมทุกรายการที่นานที่สุด[48] แต่นาดัลก็แก้มือเอาชนะจอกอวิชได้ในรอบชิงชนะมาสเตอร์ 1000 ที่มงเต-การ์โล และในรอบชิงชนะเลิศเฟรนช์โอเพน ป้องกันแชมป์ไว้ได้สำเร็จ และถือเป็นแชมป์สมัยที่ 7 และเขายังได้แชมป์รายการคอร์ตดินที่มงเต-การ์โล, บาร์เซโลนา และโรม
อย่างไรก็ตาม หลังการแข่งขันวิมเบิลดันซึ่งนาดัลตกรอบที่ 2 เขาต้องประสบปัญหาเจ็บหัวเข่าอีกครั้ง และต้องรักษาตัวนานถึง 6 เดือนส่งผลให้เขาพลาดลงแข่งขันรายการสำคัญช่วงปลายปี[49] และอันดับโลกของเขาตกไปอยู่อันดับ 4
นาดัลพลาดลงแข่งออสเตรเลียนโอเพนเนื่องจากยังอยู่ในช่วงพักฟื้น[50] และกลับมาลงแข่งขันอีกครั้งที่ชิลีในเดือนกุมภาพันธ์ แม้จะไม่สามารถคว้าแชมป์ได้ แต่หลังจากนั้นเขาคว้าแชมป์ได้ 3 รายการติดต่อกัน ที่บราซิล, เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา และทำสถิติคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ได้มากที่สุดในขณะนั้น 22 รายการ ก่อนจะเข้าสู่ฤดูกาลคอร์ตดินซึ่งนาดัลกลับมาทวงความยิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยคว้าแชมป์ที่บาร์เซโลนา ตามด้วยแชมป์มาสเตอร์ 1000 สองรายการที่โรมและมาดริด
นาดัลกลับมาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้สองรายการในเฟรนช์โอเพนและยูเอสโอเพนซึ่งเป็นการคว้าแชมป์สมัยที่ 8[51] และ 2 ตามลำดับ[52] แต่เขาทำผลงานได้น่าผิดหวังในวิมเบิลดันโดยตกรอบแรก แต่ก็ได้แชมป์มาสเตอร์ 1000 อีกสองรายการที่แคนาดา และซินซินแนติ และนาดัลเข้าชิงชนะเลิศเอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล เป็นครั้งที่สองแต่แพ้จอกอวิช 2 เซตรวด แต่เขาจบฤดูกาลโดยการกลับมาครองตำแหน่งอันดับ 1 อีกครั้ง และคว้าแชมป์ได้ถึง 10 รายการในปีนี้
นาดัลเริ่มต้นฤดูกาลด้วยแชมป์ที่โดฮา ต่อมา ในออสเตรเลียนโอเพน นาดัลเอาชนะเฟเดอเรอร์ได้ในรอบรองชนะเลิศ และผ่านเข้าไปพบกับ สตาน วาวริงกา จากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งนาดัลเอาชนะมาได้ทั้ง 12 ครั้งก่อนหน้านี้ แต่ในรอบชิงชนะเลิศนาดัลได้รับบาดเจ็บบริเวณหลังและตัดสินใจฝืนลงแข่งขัน[53] และแพ้ไป 1–3 เซต นาดัลกลับมาลงแข่งขันที่กรุงรีโอเดจาเนโร และคว้าแชมป์ได้ แต่เขาไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันมาสเตอร์ 1000 สองรายการถัดมาที่อินเดียนเวลส์ และไมแอมี โดยแพ้ อเล็กซานเดร ดอลโกโปลอฟ และจอกอวิช ตามลำดับ
เข้าสู่การแข่งขันคอร์ตดิน นาดัลเริ่มต้นด้วยการตกรอบที่ มงเต-การ์โล และบาร์เซโลนา ก่อนจะคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ที่กรุงมาดริด และเอาชนะจอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศเฟรนช์โอเพนได้อีกครั้ง 3–1 เซต ซึ่งเป็นแชมป์สมัยที่ 9 ในอาชีพ และสมัยที่ 5 ติดต่อกัน และทำสถิติคว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 14 เท่ากับ พีต แซมพราส แต่เขาทำได้เพียงเข้าถึงรอบที่ 4 ในวิมเบิลดันโดยแพ้ นิค เคียร์อีออส[54] และนาดัลได้ถอนตัวจากยูเอสโอเพนเนื่องจากเจ็บข้อมือ ก่อนจะกลับมาแข่งขันที่ปักกิ่ง และตกรอบ 8 คนสุดท้าย ตามด้วยการตกรอบแรกรายการมาสเตอร์ที่เซี่ยงไฮ้ และตกรอบ 8 คนสุดท้ายที่สวิตเซอร์แลนด์ เขาจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 3 ของโลก
นาดัลตกรอบแรกที่กรุงโดฮา ถัดมาในแกรนด์สแลมออสเตรเลียนโอเพน นาดัลตกรอบ 8 คนสุดท้ายโดยแพ้ โทมัส เบอร์ดิช ซึ่งเป็นการหยุดสถิติเอาชนะเบอร์ดิชได้ 17 ครั้งติดต่อกันก่อนหน้านี้[55] ในเดือนกุมภาพันธ์เขาตกรอบที่รีโอเดจาเนโร ก่อนจะคว้าแชมป์คอร์ตดินได้ที่อาร์เจนตินา แต่ต้องตกรอบมาสเตอร์ 1000 สามรายการถัดมา ที่อินเดียนเวลส์, ไมแอมี และ มงเต-การ์โล ก่อนจะเข้าไปชิงชนะเลิศที่กรุงมาดริดและแพ้ แอนดี มาร์รี และอันดับโลกของเขาได้หลุดจาก 5 อันดับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ตามด้วยการตกรอบ 8 คนสุดท้ายมาสเตอร์ 1000 ที่กรุงโรม
นาดัลแพ้จอกอวิชในรอบ 8 คนสุดท้ายเฟรนช์โอเพนสามเซตรวดซึ่งเป็นการหยุดสถิติชนะรวดติดต่อกัน 39 นัดในเฟรนช์โอเพนนับตั้งแต่ปี 2009 และเขาไม่สามารถคว้าแชมป์แกรนด์สแลมอีกสองรายการทั้งในวิมเบิลดันและยูเอสโอเพน[56] ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่นาดัลจบฤดูกาลโดยไม่ได้แชมป์แกรนด์สแลมเลย และเป็นการหยุดสถิติคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้อย่างน้อยหนึ่งรายการติดต่อกันตั้งแต่ปี 2005 ตามด้วยการตกรอบรองชนะเลิศเอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล
นาดัลคว้าแชมป์ที่อาบูดาบี โดยเอาชนะ มิรอช ราวนิช[57] ก่อนจะแพ้จอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศที่โดฮา ต่อมา นาดัลตกรอบแรกออสเตรเลียนโอเพนเป็นครั้งแรกแพ้ เฟร์นันโด เบร์ดัสโก เพื่อนร่วมชาติ 2–3 เซต ถือเป็นครั้งแรกที่เขาตกรอบแรกในรายการนี้[58] ต่อมา เขาคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ที่ มงเต-การ์โล รวมทั้งแชมป์รายการเอทีพี เวิลด์ ทัวร์ 500 รายการที่ 17 ที่บาร์เซโลนา และถือเป็นแชมป์ที่บาร์เซโลนาสมัยที่ 9 แต่เขาตกรอบรองชนะเลิศมาสเตอร์ที่มาดริดโดยแพ้มาร์รี[59] ตามด้วยการตกรอบก่อนรองชนะเลิศที่โรม โดยแพ้จอกอวิช[60]
ในแกรนด์สแลมเฟรน์โอเพน นาดัลทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนที่ 8 ที่คว้าชัยชนะในรายการแกรนด์สแลมได้ครบ 200 นัด[61] อย่างไรก็ตาม นาดัลต้องถอนตัวในรอบที่ 4 เนื่องจากเจ็บข้อมือ ต่อมา เขาได้ออกมาแถลงว่าอาการบาดเจ็บยังไม่หายดี และต้องถอนตัวจากวิมเบิลดัน[62] แต่นาดัลก็มีช่วงเวลาที่ดีในการแข่งขันโอลิมปิกที่บราซิล โดยเขาคว้าชัยชนะนัดที่ 800 ในอาชีพได้ หลังจากเอาชนะ โธมัซ เบลลุชชี ในรอบ 8 คนสุดท้าย และนาดัลคว้าเหรียญทองในประเภทคู่ร่วมกับ มาร์ค โลเปซ ได้ โดยชนะคู่ของโรมาเนียในรอบชิงชนะเลิศ ทำให้นาดัลเป็นผู้เล่นชายคนที่สองในยุคโอเพนที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ทั้งในประเภทเดี่ยวและคู่ ต่อจาก นิโคลัส มาสซู ผู้เล่นชิลี[63] แม้ว่าเขาจะไม่ประสบความสำเร็จในการลงแข่งขันประเภทเดี่ยวในปีนี้ โดยแพ้นิชิโคริจากญี่ปุ่นในรอบชิงเหรียญทองแดง
นาดัลลงแข่งขันยูเอสโอเพนก่อนจะตกรอบที่ 4 และนี่ถือเป็นปีแรกนับตั้งแต่ปี 2004 ที่นาดัลไม่สามารถผ่านเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ (รอบ 8 คนสุดท้าย) ในรายการแกรนด์สแลมได้เลย และเขาตกรอบรายการมาสเตอร์ 1000 ที่เซี่ยงไฮ้ ก่อนจะประกาศปิดฤดูกาลเพื่อพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บข้อมือ
นาดัลเริ่มต้นปีด้วยการลงแข่งขันรายการที่บริสเบนเป็นครั้งแรก แต่ก็ตกรอบ 8 คนสุดท้าย ต่อมา ในการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพน นาดัลกลับมาเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยพบกับเฟเดอเรอร์ซึ่งเขาแพ้ไป 2–3 เซต[64] และนี่ถือเป็นการแพ้เฟเดอเรอร์ในแกรนด์สแลมครั้งแรกในรอบ 10 ปี (นับตั้งแต่รอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน 2007) ตามด้วยการแพ้รอบชิงชนะเลิศที่เม็กซิโก
นาดัลโดนย้ำแค้นต่อเนื่องด้วยการแพ้เฟเดอเรอร์อีกสองรายการในมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียนเวลส์ และ ไมแอมี แต่เขากลับมาคว้าแชมป์มาสเตอร์ได้สองรายการที่ มงเต-การ์โล ซึ่งถือเป็นแชมป์สมัยที่ 10 ตามด้วยแชมป์ที่กรุงมาดริด ถือเป็นแชมป์มาสเตอร์รายการที่ 30 เท่ากับจอกอวิชในขณะนั้น แต่นาดัลคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนได้เป็นสมัยที่ 10 โดยเอาชนะ สตาน วาวรีงกาในรอบชิงชนะเลิศสามเซตรวด[65] ถือเป็นการยุติช่วงเวลา 3 ปี ที่ไม่สามารถคว้าแชมป์แกนด์สแลมได้ และทำสถิติเป็นผู้เล่นคนแรกในยุคโอเพนที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการใดรายการหนึ่งได้ครบ 10 สมัย และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 15 แซงหน้า พีต แซมพราส ก่อนจะตกรอบที่ 4 ในวิมเบิลดันโดยแพ้ให้กับ จิลล์ มุลเลอร์ ต่อมาในวันที่ 21 สิงหาคม นาดัลกลับขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกได้อีกครั้ง[66] และคว้าแชมป์ยูเอสโอเพนได้เป็นสมัยที่ 3 โดยเอาชนะเควิน แอนเดอร์สันในรอบชิงชนะเลิศสามเซตรวด และเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่นาดัลคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้สองรายการภายในปีเดียว
ถัดมาในเดือนกันยายน เขาลงแข่งขันรายการ เลเวอร์ คัพ ซึ่งจัดการแข่งขันขึ้นเป็นปีแรก โดยเป็นการพบกันระหว่างทีมรวมดารายุโรปและทีมรวมดาราโลก และทีมยุโรปคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยแรกด้วยผลคะแนน 15–9 โดยนาดัลยังได้ลงแข่งในประเภทคู่ร่วมกับเฟเดอเรอร์ในวันที่สองของการแข่งขันอีกด้วย เขาปิดฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 1 เป็นครั้งที่ 4 แม้จะต้องถอนตัวจาก เอทีพี ไฟนอลเนื่องจากปัญหาสภาพร่างกาย
นาดัลเริ่มต้นฤดูกาลด้วยการลงแข่งขันรายการพิเศษที่เมลเบิร์น และแพ้ในรอบชิงชนะเลิศต่อ โทมาช แบร์ดิค ขอยอมแพ้ในการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนรอบ 8 คนสุดท้ายที่พบกับ มาริน ซิลิช เนื่องจากบาดเจ็บสะโพก[67]
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ เขาเสียตำแหน่งมือวางอันดับ 1 กลับไปให้เฟเดอเรอร์ และเขาถอนตัวจากการแข่งขันที่เม็กซิโก รวมถึงมาสเตอร์สองรายการที่อินเดียนเวลส์ และไมแอมี แต่กลับขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับ 1 อีกครั้งในเดือนเมษายน และช่วยทีมชาติสเปนเอาชนะเยอรมนีในเดวิสคัพ รอบ 8 ทีมสุดท้าย นาดัลคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ได้ที่ มงเต-การ์โล เป็นสมัยที่ 11 เอาชนะ เคอิ นิชิโคริในรอบชิงชนะเลิศ และไม่เสียเซตตลอดการแข่งขัน และยังเป็นการคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 สมัยที่ 31 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในขณะนั้น ตามด้วยการแชมป์ที่บาร์เซโลนาเป็นสมัยที่ 11 เอาชนะ สเตฟาโนส ซิทซีปัส และทำสถิติเป็นผู้เล่นคนแรกในยุคโอเพนที่คว้าชัยชนะบนฮาร์ดคอร์ตและคอร์ตดินได้อย่างน้อย 400 นัดในทั้งสองพื้นคอร์ต[68] ก่อนจะตกรอบ 8 คนสุดท้ายในรายการมาสเตอร์ 1000 ที่กรุงมาดริดโดยแพ้ทีม หยุดสถิติชนะรวด 21 ติดต่อกันบนคอร์ตดิน แต่เขาแก้ตัวได้โดยการคว้าแชมป์ที่กรุงโรมเป็นสมัยที่ 8 ทำสถิติคว้าแชมป์มาสเตอร์สมัยที่ 32 มากที่สุดในยุคโอเพน
นาดัลคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนได้เป็นสมัยที่ 11 และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 17 โดยเอาชนะ ด็อมมินิค ทีม สามเซตรวด[69] และเขาถือเป็นผู้เล่นคนที่สี่ในยุคโอเพน ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้อย่างน้อยสามรายการหลังจากอายุครบ 30 ปี ก่อนจะตกรอบรองชนะเลิศวิมเบิลดันโดยแพ้จอกอวิช 2–3 เซต ใช้เวลาแข่งขันไปกว่า 5 ชั่วโมง ถือเป็นนัดที่แข่งขันกันยาวนานที่สุดเป็นอันดับสองในรายการนี้ และนี่ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2009 ที่นาดัลแพ้ในรอบรองชนะเลิศรายการแกรนด์สแลม นับตั้งแต่ในยูเอสโอเพน 2009 ต่อมา นาดัลคว้าชมป์มาสเตอร์ 1000 ที่โทรอนโตได้ ถือเป็นแชมป์มาสเตอร์สมัยที่ 33 และเป็นแชมป์มาสเตอร์ 1000 บนฮาร์ดคอร์ตรายการแรกของเขานับตั้งแต่ปี 2013 แต่นาดัลต้องขอยอมแพ้ในการแข่งขันยูเอสโอเพนรอบรองชนะเลิศในนัดที่พบกับ ฆวน มาร์ติน เดล ปอร์โต เนื่องจากเจ็บเข่า และไม่ได้ลงแข่งในรายการที่เหลือ ส่งผลให้เขาเสียตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ให้แก่จอกอวิช[70]
นาดัลถอนจัวจากการแข่งขันที่บริสเบนเนื่องจากบาดเจ็บ และลงแข่งขันรายการแรกที่ออสเตรเลียนโอเพนในฐานะมือวางอันดับสอง ก่อนจะเข้าชิงชนะเลิศได้โดยไม่เสียเซตตลอดการแข่งขัน แต่เขาก็แพ้จอกอวิชขาดลอยสามเซตรวด ถือเป็นครั้งแรกที่นาดัลแพ้คู่แข่งสามเซตรวดในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม[71] ต่อมา นาดัลลงแข่งขันที่เม็กซิโกแต่ตกรอบที่สอง โดยแพ้ นิค คีรีออส และถอนตัวจากการแข่งขันมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียนเวลส์และไมแอมีเนื่องจากบาดเจ็บสะโพก
เข้าสู่การแข่งขันคอร์ตดิน นาดัลเริ่มต้นด้วยการตกรอบรองชนะเลิศที่มงเต-การ์โล แพ้ ฟาบิโอ ฟอญืนี ตามด้วยการตกรอบรองชนะเลิศที่บาร์เซโลนา แพ้ทีม และตกรอบรองชนะเลิศที่มาดริด ก่อนจะเอาชนะจอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศมาสเตอร์ที่โรม[72] และคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนสมัยที่ 12 ด้วยการเอาชนะ ด็อมมินิค ทีม ไปได้อีกครั้ง 3–1 เซต ทำสถิติเป็นนักเทนนิสที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการใดรายการหนึ่งได้มากที่สุดตลอดกาล ทำลายสถิติของ มาร์กาเร็ต คอร์ต นักเทนนิสหญิงชาวออสเตรเลียที่ได้แชมป์ออสเตรเลียนโอเพน 11 สมัย[73] ก่อนจะตกรอบรองชนะเลิศวิมเบิลดันโดยแพ้เฟเดอเรอร์ 1–3 เซต ซึ่งถือเป็นการกลับมาพบกันครั้งแรกของทั้งคู่ในรายการนี้ นับตั้งแต่รอบชิงชนะเลิศเมื่อปี 2008 แต่ยังป้องกันแชมป์รายการมาสเตอร์ที่แคนาดาได้ โดยเอาชนะ ดานีอิล เมดเวเดฟ และในรายการนี้เขายังได้สร้างสถิติใหม่ในการเป็นผู้เล่นที่ชนะในการแข่งขันมาสเตอร์ 1000 มากที่สุดตลอดกาล แซงหน้าเฟเดอเรอร์[74]
นาดัลคว้าแชมป์แกรนด์สแลมที่ 19 ได้ในยูเอสโอเพน เอาชนะ ดานีอิล เมดเวเดฟ 3–2 เซต และถือเป็นแชมป์สมัยที่ 4 ก่อนจะถอนตัวในรายการมาสเตอร์ที่ปารีส ต่อมา นาดัลพาทีมยุโรปป้องกันแชมป์ เลเวอร์ คัพ ได้เป็นสมัยที่ 3 โดยเอาชนะทีมรวมดาราโลกไปได้ด้วยผลคะแนน 13–11 เขาปิดท้ายฤดูกาลด้วยการตกรอบแรก เอทีพี ไฟนอล แต่ยังพาทีมสเปนคว้าแชมป์เดวิส คัพ สมัยที่ 6 และเป็นสมัยที่ 5 ของนาดัล โดยเอาชนะแคนาดาในรอบชิงชนะเลิศ และนาดัลยังได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำการแข่งขัน[75][76] เขาจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 1 ของโลกเป็นครั้งที่ 5
ในปีนี้นาดัลร่วมแข่งขันในนามทีมชาติสเปนในรายการเอทีพี คัพ (ATP Cup) ซึ่งจัดแข่งขันขึ้นเป็นครั้งแรก[77] โดยสเปนผ่านเข้าชิงชนะเลิศก่อนจะแพ้เซอร์เบียซึ่งนำโดยจอกอวิช ก่อนจะตกรอบ 8 คนสุดท้ายออสเตรเลียนโอเพนโดยแพ้ โดมินิค ธีม 1–3 เซต[78] แต่นาดัลคว้าแชมป์เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ 500 ที่เม็กซิโกได้เป็นสมัยที่ 3 เอาชนะ เทย์เลอร์ ฟริตซ์ ในรอบชิงชนะเลิศ[79] ตามด้วยการตกรอบก่อนรองชนะเลิศรายการที่โรม โดยแพ้ เดียโก ชวาร์ตซ์มัน[80]
นาดัลคว้าแชมป์แกรนด์สแลมสมัยที่ 20 เท่ากับเฟเดอเรอร์ได้สำเร็จ หลังจากคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนเป็นสมัยที่ 13 โดยเอาชนะจอกอวิชสามเซตรวด นอกจากนี้ นาดัลยังเป็นผู้เล่นคนแรกที่คว้าชัยชนะในเฟรนช์โอเพนได้ครบ 100 นัด และถือเป็นครั้งที่ 4 ที่เขาชนะการแข่งขันแกรนด์สแลมโดยไม่เสียเซตตลอดทั้งรายการ โดยทั้งหมดเกิดขึ้นในการแข่งขันเฟรนช์โอเพน (ค.ศ. 2008, 2010 และ 2017)
ต่อมาในการแข่งขันมาสเตอร์ที่ปารีส นาดัลทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนที่ 4 ที่คว้าชัยชนะจากการแข่งขันในประเภทชายเดี่ยวได้ครบ 1,000 นัด แต่เขาตกรอบรองชนะเลิศโดยแพ้ อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ[81]
ในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 นาดัลทำสถิติใหม่ในการเป็นผู้เล่นที่ทำอันดับอยู่ในอันดับ 1–10 ของโลกติดต่อกันยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์จำนวน 790 สัปดาห์ แซงหน้าสถิติของ จิมมี คอนเนอส์ [82]นาดัลเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ เอทีพี ไฟนอล เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ฤดูกาล 2015 แต่เขาก็แพ้เมดเวเดฟ[83] และจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 2 ของโลกเป็นครั้งที่ 7 ในอาชีพ และถือเป็นผู้เล่นที่จบฤดูกาลด้วยการเป็นอันดับ 2 มากที่สุดในบรรดากลุ่ม Big 3 (รวมเฟเดอเรอร์ และ จอกอวิช)[84]
นาดัลเริ่มต้นด้วยการตกรอบ 8 คนสุดท้ายออสเตรเลียนโอเพนโดยแพ้ สเตฟาโนส ซิตซีปัส ในการแข่งขัน 5 เซตทั้งที่ออกนำไปก่อน 2–0 เซต ก่อนที่จะตกรอบในรายการมาสเตอร์ มงเต-การ์โล โดยแพ้ อันเดรย์ รูเบลฟ[85] และคว้าแชมป์ที่บาร์เซโลนาได้เป็นสมัยที่ 12 ซึ่งเป็นรายการที่เขาคว้าแชมป์ได้มากที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ในอาชีพรองจากแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน โดยเอาชนะซิทซีปัสในรอบชิงชนะเลิศ ด้วยการเอาตัวรอดจากแต้ม Championship point ได้[86] ต่อมาเขาตกรอบ 8 คนสุดท้ายมาสเตอร์ 1000 ที่มาดริด ก่อนจะคว้าแชมป์ที่กรุงโรมได้เป็นสมัยที่ 10 เอาชนะจอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศ และเป็นการคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 รายการที่ 36 เป็นสถิติร่วมกับจอกอวิชในขณะนั้น[87]
นาดัลลงแข่งขันเฟรนช์โอเพนในฐานะแชมป์เก่า 4 สมัยซ้อน โดยในปีนี้ฝ่ายจัดการแข่งขันได้เปิดตัวรูปปั้นเหล็กความสูง 3 เมตรของนาดัลบริเวณหน้าสนามแข่งขันซึ่งออกแบบโดย ฌอร์ดี ดิเอซ เฟร์นันเดซ ประติมากรชาวสเปน เพื่อเป็นการยกย่องนาดัลในฐานะที่เป็นผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จในรายการนี้มากที่สุด นาดัลผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศพบกับจอกอวิชเป็นครั้งที่ 9 ในรายการนี้ และแพ้ไป 1–3 เซต[88] ซึ่งนี่ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งที่ 3 ของเขาเท่านั้นในเฟรนช์โอเพน และจอกอวิชยังถือเป็นผู้เล่นคนเดียวที่เอาชนะนาดัลได้ 2 ครั้งในรายการนี้
ต่อมา นาดัลประกาศถอนตัวจากแกรนด์สแลมวิมเบิลดัน และโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 เนื่องจากต้องการพักร่างกาย[89] และกลับมาลงแข่งอีกครั้งในรายการเอทีพี เวิลด์ ทัวร์ 500 ซิตีโอเพน กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เดือนสิงหาคม[90] แต่ตกรอบที่ 3 ต่อมา นาดัลได้ถอนตัวจากมาสเตอร์ 1000 ทั้งสองรายการที่โทรอนโต[91] และ ซินซินแนติ[92] เนื่องจากเจ็บข้อเท้า และในวันที่ 20 สิงหาคม นาดาลประกาศถอนตัวในทุกรายการที่เหลือในปีนี้ เนื่องจากต้องรักษาอาการเจ็บข้อเท้า[93]
นาดัลลงแข่งขันรายการพิเศษที่อาบูดาบี แพ้แอนดี มาร์รี ในรอบรองชนะเลิศสองเซตรวด[94] และแพ้ เดนิส เชโปวาลอฟ ในนัดชิงอันดับสาม 1–2 เซต[95] เขาต้องถอนตัวจากแข่งขัน เอทีพี คัพ ให้กับทีมชาติสเปนในเดือนมกราคม 2022 เนื่องจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา[96][97] แต่เขาหายทันเพื่อเดินทางไปแข่งออสเตรเลียนโอเพนในช่วงกลางเดือนมกราคม โดยเขาเดินทางถึงออสเตรเลียตั้งแต่ต้นเดือนเพื่อลงแข่งขันรายการ เอทีพี 250 Melbourne Summer Set[98] และคว้าแชมป์ได้โดยเอาชนะ มักซีม เครซซี ในรอบชิงชนะเลิศ[99] นาดัลสร้างประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ เมื่อเขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมออสเตรเลียนโอเพนได้เป็นสมัยที่สอง โดยเอาชนะ ดานีอิล เมดเดเดฟ ในรอบชิงชนะเลิศทั้งที่แพ้ไปก่อนในสองเซตแรก ส่งผลให้เขาเป็นนักเทนนิสชายที่ได้แชมป์แกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยวมากที่สุดตลอดกาลจำนวน 21 รายการ แซงหน้าเฟเดอรเรอร์และจอกอวิช และยังถือเป็นผู้เล่นชายคนที่สองในยุคโอเพนต่อจากจอกอวิช ที่ได้แชมป์แกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยวอย่างน้อยสองสมัยในแต่ละรายการ (Double Career Grand Slam)[100] โดยถือเป็นแชมป์ประเภทชายเดี่ยวรายการที่ 90
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ เขาคว้าแชมป์แชมป์เอทีพี 500 ที่อากาปุลโก ประเทศเม็กซิโก โดยเอาชนะ แคเมอรอน นอร์รี รักษาสถิติไม่แพ้ติดต่อกัน 15 นัดในปีนี้ และยังเอาชนะเมดเวเดฟได้ในรอบรองชนะเลิศ[101][102] ก่อนที่จะผ่านเข้าชิงชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียนเวลส์ แต่แพ้ เทย์เลอร์ ฟริตซ์ จากสหรัฐสองเซตรวด และเขาถอนตัวจากการแข่งขันมาสเตอร์ทั้งสองรายการที่ไมแอมี และมงเต-การ์โล ในเดือนเมษายนเนื่องจากบาดเจ็บซี่โครง[103] แต่เขาสามารถกลับมาลงแข่งขันมาสเตอร์คอร์ตดินที่กรุงมาดริดในเดือนพฤษภาคม ก่อนจะแพ้ การ์โลส อัลการาซ ดาวรุ่งเพื่อนร่วมชาติไป 1–2 เซตในรอบก่อนรองชนะเลิศ ตามด้วยการลงแข่งขันมาสเตอร์ที่กรุงโรมในฐานะแชมป์เก่า แต่แพ้ เดนิส เชโปวาลอฟ ในรอบที่สาม 1–2 เซต โดยนาดัลมีอาการบาดเจ็บในระหว่างแข่งขัน[104]
เข้าสู่การแข่งขันเฟรนช์โอเพน นาดัลสร้างสถิติใหม่ได้อีกครั้งหลังจากเอาชนะ จอร์แดน ทอมป์สัน ในรอบแรกซึ่งถือเป็นชัยชนะนัดที่ 106 ในรายการนี้ โดยเป็นสถิติการคว้าชัยชนะที่มากที่สุดที่นักเทนนิสทุกคนเคยทำได้ในการแข่งขันแกรนด์สแลมรายการใดรายการหนึ่ง แซงหน้าสถิติ 105 นัดในวิมเบิลดันของเฟเดอเรอร์[105] ต่อมา นาดัลคว้าชัยชนะในรายการแกรนด์สแลมครบ 300 นัดในอาชีพหลังจากเอาชนะ โกร็องแต็ง มูแต ในรอบต่อมา[106] และเขายังแก้มือโดยการเอาชนะจอกอวิชในรอบ 8 คนสุดท้าย 3–1 เซต หลังจากที่แพ้จอกอวิชในรอบรองชนะเลิศเมื่อปีที่แล้ว ตามด้วยการชนะผ่าน อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ ในรอบรองชนะเลิศหลังจากซเฟเร็ฟได้รับบาดเจ็บในช่วงปลายเซตที่สอง และนาดัลยังสร้างประวัติศาสตร์ต่อเนื่อง โดยคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนสมัยที่ 14 และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมที่ 22 โดยเอาชนะ กาสเปอร์ รืด และยังสร้างสถิติใหม่ในการเป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุดที่คว้าแชมป์รายการนี้ในวัย 36 ปี 2 วัน และขึ้นสู่อันดับ 4 ของโลกในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2022[107]
นาดัลลงแข่งขันวิมเบิลดัน[108] แต่ก็ต้องถอนตัวในรอบรองชนะเลิศก่อนการแข่งขันซึ่งเขาต้องพบกับ นิค คิริออส เนื่องจากบาดเจ็บกล้ามเนื้อท้อง[109] โดยนาดัลมีอาการตั้งแต่รอบก่อนรองชนะเลิศที่เอาชนะ เทย์เลอร์ ฟริตซ์ แต่อันดับโลกของนาดัลก็ขยับขึ้นสู่อันดับ 3 เขากลับมาลงแข่งขันอีกครั้งในรายการมาสเตอร์ 1000 ที่ซินซินแนติเดือนสิงหาคม แต่ก็ตกรอบแรก แพ้ บอร์นา โชริช ชาวโครเอเชีย 1–2 เซต ตามด้วยการลงแข่งขันยูเอสโอเพนที่นิวยอร์ก ซึ่งเป็นแกรนด์สแลมสุดท้ายของฤดูกาล อย่างไรก็ตาม เขาก็ทำได้เพียงเข้าถึงรอบที่ 4 ก่อนจะแพ้ ฟรานเซส ติอาโฟ 1–3 เซต [110] ต่อมา เขาลงแข่งขันเลเวอร์ คัพ ร่วมกับทีมยุโรปในเดือนกันยายน โดยลงแข่งในประเภทคู่ร่วมกับเฟเดอเรอร์เพื่อร่วมอำลาเฟเดอเรอร์ภายหลังประกาศเลิกเล่นอาชีพ แต่คู่ของเขาแพ้แจ็ค ซอค และ ฟรานเซส ติอาโฟ 1–2 เซต ก่อนที่นาดัลจะถอนตัวจากการแข่งขันในช่วงที่เหลือ นาดัลขึ้นสู่มือวางอันดับ 2 ของโลกในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 2022 นาดัลกลับมาลงแข่งในมาสเตอร์ที่ปารีสเดือนพฤศจิกายน แต่แพ้ ทอมมี พอล ในรอบแรก 1–2 เซต[111] ปิดท้ายด้วยการลงแข่งรายการสุดท้ายของปีในเอทีพีไฟนอล แต่ก็ตกรอบแบ่งกลุ่มด้วยผลงานชนะ 1 และแพ้ 2 นัด[112]
นาดัลเดินทางไปป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนในฐานะมือวางอันดับ 1 แต่เขาตกรอบที่สอง แพ้แมคเคนซี แมคโดนัลด์ โดยนาดัลมีอาการบาดเจ็บสะโพก และเขาต้องพักจากการแข่งขันประมาณ 6-8 สัปดาห์[113] เขาถอนตัวจากรายการมาสเตอร์ที่อินเดียนเวลส์และไมแอมี[114] และในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2023 เขาหลุดจาก 10 อันดับแรกของโลกเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 2005[115] ตามด้วยการถอนตัวรายการคอร์ตดินทุกรายการที่มงเต-การ์โล, บาร์เซโลนา, มาดริด, โรม และแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน[116][117] และจากการถอนตัวจากเฟรนช์โอเพนในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้เขาจะหลุดจากมือวาง 100 อันดับแรกของโลกเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2003 โดยนาดัลกล่าวว่าตนยังไม่มีกำหนดกลับมาลงสนาม และในปี 2024 อาจจะเป็นปีสุดท้ายในการเล่นอาชีพ[118][119] ในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 2023 นาดัลเข้ารับการผ่าตัดสะโพก และประกาศว่าเขาจะต้องพักฟื้นอีกประมาณ 5 เดือน ส่งผลให้เขาจะพลาดการลงแข่งขันทุกรายการที่เหลือในปีนี้[120][121] เขาตกไปอยู่อันดับที่ 136 ของโลกในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 2023 และจากการจัดอันดับในเดือนกันยายน ค.ศ. 2023 อันดับโลกของนาดัลหลุดจาก 200 อันดับแรกของโลก
นาดัลเริ่มต้นฤดูกาลที่บริสเบนในรายการเอทีพี 250 เขาเอาชนะด็อมมินิค ทีม สองเซตรวด 7–5, 6–1 ตามด้วยการเอาชนะเจสัน คูเบลอร์ 6–1, 6–2 แต่ต้องตกรอบแปดคนสุดท้ายด้วยการแพ้จอร์แดน ทอมป์สัน แม้จะได้ match point ถึงสามครั้ง[122] เขาถอนตัวจากการแข่งขันแกรนด์สแลมออสเตรเลียนโอเพนเนื่องจากบาดเจ็บกล้ามเนื้อ และกล่าวว่าร่างกายของเขายังไม่พร้อมสำหรับการแข่งขันแกรนด์สแลม[123] เขาลงแข่งแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพนแต่ตกรอบแรกโดยแพ้ซเฟเร็ฟ ถือเป็นครั้งแรกในอาชีพที่เขาตกรอบแรกรายการนี้[124] และนาดัลไม่ลงแข่งขันในช่วงคอร์ตหญ้ารวมถึงการถอนตัวจากรายการวิมเบิลดัน เขากลับมาลงแข่งขันในสวีดิชโอเพนที่ประเทศสวีเดนในวันที่ 15 กรกฎาคม และเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศเป็นรายการแรกในรอบสองปี แต่แพ้นูโน บอร์เคส[125] ต่อมา เขาลงแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 แต่แพ้จอกอวิชในรอบที่สอง และยังลงเล่นประเภทคู่โดยจับคู่กับอัลการัซ แต่แพ้คู่ของสหรัฐในรอบก่อนรองชนะเลิศ และเขาถอนตัวจากการแข่งขันยูเอสโอเพนในเดือนสิงหาคม และถอนตัวจากรายการเลเวอร์คัพที่เบอร์ลิน นาดัลประกาศเลิกเล่นอาชีพในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2024 โดยเขากล่าวว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว และจะลงแข่งขันเดวิสคัพร่วมกับทีมชาติสเปนในเดือนพฤศจิกายนเป็นรายการสุดท้าย
นาดัลถือว่าเป็นผู้เล่นที่มีกราวนด์สโตรกที่หนักหน่วง และยังเคลื่อนที่ได้อย่างว่องไวและมีการตีที่แม่นยำ จุดเด่นของเขาคือการตีลูกท็อปสปินด้วยความแรง[126] เขาเป็นผู้เล่นถนัดซ้ายซึ่งทำให้เขาได้เปรียบผู้เล่นหลายคน เช่น โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ เนื่องด้วยเฟเดอเรอร์นั้นตีแบ็กแฮนด์มือเดียว ทำให้นาดัลสามารถยิงลูกโฟร์แฮนด์ด้วยความแรงเพื่อจี้ไปทางแบ็กแฮนด์ของเฟเดอร์เรอร์ได้ และนาดัลยังรู้วิธีเปลี่ยนทิศทางการตีเพื่อให้คู่แข่งหลุดออกจากตำแหน่ง รูปแบบการเล่นของเขาเหมาะกับคอร์ตดินเนื่องจากจังหวะการตกของลูกท็อปสปินนั้นเอื้อต่อการเล่นบนคอร์ตดิน[127] โดยลูกจะเคลื่อนที่ช้ากว่าคอร์ตหญ้า ทำให้นาดัลมีเวลายิงลูกโฟร์แฮนด์ได้อย่างเต็มที่ และพื้นคอร์ตดินยังช่วยให้เขาตีได้แรงและแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ รายการคอร์ตดินมักแข่งขันกันบนแผ่นดินใหญ่ในทวีปยุโรป เช่น ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าประเทศอื่น ทำให้ลูกที่นาดัลตีออกไปนั้นกระดอนสูงกว่าเดิม นาดัลยังถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ขึ้นชื่อในด้านการเบรกเกมเสริ์ฟของฝ่ายตรงข้ามได้ดี โดยเขามีเปอร์เซนต์การเบรกเสริ์ฟและการทำคะแนนจากแต้มเบรกพอยต์ สูงเป็นลำดับต้น ๆ ในทัวร์[128]
นาดัลเป็นคนที่สร้างสมดุลทางอารมณ์ได้เป็นอย่างดี และเป็นนักเทนนิสที่มี "ความเข้มแข็งทางจิตใจ" (Mental Toughness[129]) สูงที่สุดคนหนึ่ง จากที่ตามหลังคู่แข่งอยู่หลายครั้งก็พลิกกลับมาชนะได้ เช่น การแข่งขันวิมเบิลดันรอบ 2007 เขาตามหลัง มิคาอิล ยูซนี อยู่ 2 เซต ก่อนจะเก็บชัยชนะได้ใน 3 เซตหลัง หรือเมื่อครั้งเอาชนะ ดานีอิล เมดเวเดฟ ได้ในเอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล 2019 หลังจากที่ตามหลังอยู่ 1–5 เกมในเซตตัดสิน
นาดัลครองสถิติโลกมากมาย โดยมีสถิติสำคัญได้แก่:
ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา นาดัลถือเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์[146] โดยพบกันในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 9 ครั้ง ซึ่งนาดัลชนะ 6 ครั้ง ทั้งคู่เคยแข่งขันกันมาแล้ว 40 ครั้ง โดยนาดัลชนะไป 24 ครั้ง และแพ้ 16 ครั้ง โดยเฟเดอร์เรอร์มีสถิติการพบกันบนฮาร์ดคอร์ต (พื้นคอนกรีต) ที่เหนือกว่า (ชนะ 11, แพ้ 9) และยังมีสถิติบนคอร์ตหญ้าที่ดีกว่าเช่นกัน (ชนะ 3, แพ้ 1) แต่นาดัลก็มีสถิติการพบกันบนคอร์ตดินที่เหนือกว่ามาก (ชนะ 14, แพ้ 2) ทั้งคู่พบกันในแกรนด์สแลม 14 ครั้ง และนาดัลอาชนะไปได้ถึง 10 ครั้ง นาดัลยังมีสถิติที่ดีกว่าในรายการออสเตรเลียนโอเพน โดยเอาชนะ 3 ครั้ง, แพ้ 1 ครั้ง และไม่เคยแพ้เฟเดอร์เรอร์ในเฟรนช์โอเพนนจากการพบกัน 6 ครั้ง ในขณะที่เฟเดอร์เรอร์ก็มีสถิติที่เหนือกว่าในการพบกันที่วิมเบิลดันโดยเอาชนะได้ 3 ครั้ง, แพ้ 1 ครั้ง และทั้งคู่ยังไม่เคยพบกันในยูเอสโอเพน
คู่แข่งที่สำคัญที่สุดอีกคนหนึ่งของนาดัล ได้แก่ นอวาก จอกอวิช โดยทั้งคู่พบกันมากถึง 60 ครั้ง ซึ่งเป็นสถิติการพบกันของนักเทนนิสสองคนที่มากที่สุดในยุคโอเพน โดยนาดัลชนะไปได้ 29 ครั้ง และแพ้ 31 ครั้ง ซึ่งจอกอวิชเป็นผู้เล่นที่ชนะนาดัลได้มากที่สุดนับตั้งแต่เล่นอาชีพมา ในขณะเดียวกันนาดัลก็เป็นผู้เล่นที่เอาชนะจอกอวิชได้มากที่สุดเช่นกัน[147] ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศทุกรายการ 28 ครั้ง นาดัลชนะไปได้ 13 ครั้ง แพ้ 15 ครั้ง อย่างไรก็ตาม นาดัลมีสถิติที่เหนือกว่าในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม จำนวน 5–4 ครั้ง (พบกัน 9 ครั้ง) ซึ่งจอกอวิชเอาชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 2 ครั้ง (ปี 2011 และ 2019), วิมเบิลดัน 1 ครั้ง (ปี 2011) และ ยูเอสโอเพน 1 ครั้ง (ปี 2011) ในขณะที่นาดัลชนะจอกอวิชได้ในรอบชิงชนะเลิศเฟรนช์โอเพนได้ 3 ครั้ง (ปี 2012, 2014 และ 2020) และ ยูเอสโอเพน 2 ครั้ง (ปี 2010 และ 2013)[148]
การแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์ของทั้งคู่คือ รอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน ปี 2012 ซึ่งใช้เวลาแข่งขันนานถึง 5 ชั่วโมง 53 นาที ถือเป็นการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมที่นานที่สุด โดยนาดัลแพ้ไป 2–3 เซต จอกอวิชยังเป็นหนึ่งในสองผู้เล่นที่ชนะนาดัลได้ในการแข่งขันเฟรนช์โอเพน และเป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะนาดัลได้สองครั้งในรายการดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีคอร์ตที่ตนเองถนัด และมักจะเอาชนะอีกฝ่ายได้บ่อยครั้งเมื่อได้ลงแข่งขันในพื้นสนามที่ตนเองถนัด โดยจอกอวิชชนะนาดัลบนฮาร์ดคอร์ต (พื้นคอนกรีต) 20 ครั้ง แพ้เพียง 7 ครั้ง ในขณะที่นาดัลก็ชนะจอกอวิชบนคอร์ตดินได้ 20 ครั้ง แพ้ไปเพียง 8 ครั้งเช่นกัน และทั้งคู่มีสถิติเท่ากันบนคอร์ตหญ้าโดยผลัดกันแพ้ชนะคนละ 2 ครั้ง การพบกันครั้งล่าสุดของทั้งคู่คือการแข่งขันรอบที่ 2 ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ที่ปารีส ซึ่งจอกอวิชเอาชนะไปอย่างขาดลอยสองเซต
นาดัลและแอนดี มาร์รี มีสถิติการพบกัน 24 ครั้ง นาดัลชนะ 17 ครั้ง แพ้ 7 ครั้ง และนาดัลมีสถิติที่เหนือกว่าในการพบกันในทุกพื้นสนาม ได้แก่ คอร์ตดิน (ชนะ 7, แพ้ 2), คอร์ตหญ้า (ชนะ 3, แพ้ 0) และฮาร์ดคอร์ต (ชนะ 7, แพ้ 5) และทั้งคู่พบกันในรายการแกรนด์สแลม 9 ครั้ง นาดัลเป็นฝ่ายชนะ 7 ครั้ง แพ้ 2 ครั้ง ซึ่งใน 7 จาก 9 ครั้งนี้เป็นการแข่งขันในรอบ 8 คนสุดท้ายและรอบรองชนะเลิศ แต่มาร์รีมีสถิติที่ดีกว่าในการพบกันในรอบชิงชนะเลิศรวมทุกรายการ (ชนะ 3, แพ้ 1)
ราฟาเอล นาดัล ทำเงินรางวัลจากการแข่งขันรวมทั้งสิ้น 125 ล้านเหรียญสหรัฐ[149] เขามีสปอนเซอร์หลายราย เช่น Nike (ชุดแข่งและรองเท้าเทนนิส), Telefonica (บริษัทโทรคมนาคม), Babolat (ไม้เทนนิส), Kia Motors (รถยนต์), Richard Mille (นาฬิกา), Mapfre (บริษัทประกันภัย), Santander (ธนาคารและบริการด้านการเงิน) และ Cantabria Labs (ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว) เป็นต้น ขณะที่นิตยสารฟอร์บส์ซึ่งจัดอันดับนักกีฬาที่มีรายได้มากที่สุดในโลกประจำปี 2020 ระบุว่าเขาอยู่อันดับที่ 27 ด้วยรายได้มูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,245 ล้านบาท) ในปีนี้ แบ่งเป็นรายได้จากการเป็นพรีเซนเตอร์/แอมบาสเดอร์ 26 ล้านเหรียญสหรัฐ และรายได้จากการแข่งขัน 14 ล้านเหรียญ โดยนาดัลมีทรัพย์สินรวม 220 ล้านเหรียญสหรัฐ[150]
นาดัลเปิดมูลนิธิ "Rafa Nadal Foundation"[151] ในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส โดยมีคติที่ว่า “I am always working for the same goal: to improve as a player and as a person”, นอกจากนี้เขายังร่วมก่อตั้งมูลนิธิการกุศลกับ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ และนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา นาดัลได้ร่วมตั้งกองทุนร่วมกับ จอกอวิช และเฟเดอเรอร์ ในโครงการช่วยเหลือนักเทนนิสที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิดเนื่องจากการแข่งขันเทนนิสฤดูกาลที่ผ่านมาถูกหยุดพัก โดยจอกอวิช ซึ่งเป็นประธานสภานักเทนนิสเอทีพี ต้องการช่วยเหลือผู้เล่นที่มีอันดับโลกในกลุ่มอันดับ 200-1,000 และได้หารือกับ เฟเดอเรอร์ และ นาดัลเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป[152]
ราฟาเอล นาดัล ปรากฏตัวในมิวสิกวิดีโอเพลง "Gypsy"[153] ของชากีรา และเป็นส่วนหนึ่งในอัลบั้ม She Wolf ในปี 2010 ชากีราอธิบายถึงสาเหตุที่เธอเลือกนาดัลสำหรับมิวสิกวิดีโอนี้ โดยได้อ้างในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ละตินอเมริกา เฮรัลด์ ทริบูนว่า "ฉันคิดว่าบางทีฉันอาจต้องการใครสักคนที่ฉันสามารถระบุตัวตนได้ และราฟาเอล นาดัลก็เป็นคนที่มุ่งมั่นในอาชีพการงานของเขาอย่างเต็มที่ตั้งแต่ยังเด็ก ฉันมองเห็นเช่นนั้นตั้งแต่เขาอายุ 17 ปี”
เข้าชิงชนะเลิศ 30 รายการ (ชนะเลิศ 22, รองชนะเลิศ 8)
ชนะเลิศ
ปี | รายการ | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
2005 | เฟรนช์โอเพน (1) | มาเรียโน ปูเอร์ตา | 6–7(6–8), 6–3, 6–1, 7–5 |
2006 | เฟรนช์โอเพน (2) | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 1–6, 6–1, 6–4, 7–6(7–4) |
2007 | เฟรนช์โอเพน (3) | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–3, 4–6, 6–3, 6–4 |
2008 | เฟรนช์โอเพน (4) | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–1, 6–3, 6–0 |
2008 | วิมเบิลดัน (1) | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–4, 6–4, 6–7(5–7), 6–7(8–10), 9–7 |
2009 | ออสเตรเลียนโอเพน (1) | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 7–5, 3–6, 7–6(7–3), 3–6, 6–2 |
2010 | เฟรนช์โอเพน (5) | โรบิน โซเดอร์ลิง | 6–4, 6–2, 6–4 |
2010 | วิมเบิลดัน (2) | โทมัส เบอร์ดิช | 6–3, 7–5, 6–4 |
2010 | ยูเอสโอเพน (1) | นอวาก จอกอวิช | 6–4, 5–7, 6–4, 6–2 |
2011 | เฟรนช์โอเพน (6) | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 7–5, 7–6(7–3), 5–7, 6–1 |
2012 | เฟรนช์โอเพน (7) | นอวาก จอกอวิช | 6–4, 6–3, 2–6, 7–6 |
2013 | เฟรนช์โอเพน (8) | ดาวิต เฟร์เรร์ | 6–3, 6–2, 6–3 |
2013 | ยูเอสโอเพน (2) | นอวาก จอกอวิช | 6–2, 3–6, 6–4, 6–1 |
2014 | เฟรนช์โอเพน (9) | นอวาก จอกอวิช | 3–6, 7–5, 6–2, 6–4 |
2017 | เฟรนช์โอเพน (10) | สตานิสลาส วาวรินกา | 6–2, 6–3, 6–1 |
2017 | ยูเอสโอเพน (3) | เควิน แอนเดอร์สัน | 6–3, 6–3, 6–4 |
2018 | เฟรนช์โอเพน (11) | ด็อมมินิค ทีม | 6–4, 6–3, 6–2 |
2019 | เฟรนช์โอเพน (12) | ด็อมมินิค ทีม | 6–3, 5–7, 6–1, 6–1 |
2019 | ยูเอสโอเพน (4) | ดานีอิล เมดเวเดฟ | 7–5, 6–3, 5–7, 4–6, 6–4 |
2020 | เฟรนช์โอเพน (13) | นอวาก จอกอวิช | 6–0, 6–2, 7–5 |
2022 | ออสเตรเลียนโอเพน (2) | ดานีอิล เมดเวเดฟ | 2–6, 6–7(5–7), 6–4, 6–4, 7–5 |
2022 | เฟรนช์โอเพน (14) | กาสเปอร์ รืด | 6–3, 6–3, 6–0 |
รองชนะเลิศ
ปี | รายการ | คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ | ผลการแข่งขัน |
2006 | วิมเบิลดัน | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 0–6, 6–7(5–7), 7–6(7–2), 3–6 |
2007 | วิมเบิลดัน | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–7(7–9), 6–4, 6–7(3–7) , 6–2, 2–6 |
2011 | วิมเบิลดัน | นอวาก จอกอวิช | 4–6, 1–6, 6–1, 3–6 |
2011 | ยูเอสโอเพน | นอวาก จอกอวิช | 2–6, 4–6, 7–6(7–3),1–6 |
2012 | ออสเตรเลียนโอเพน | นอวาก จอกอวิช | 7–5, 4–6, 2–6, 7–6(7–5), 5–7 |
2014 | ออสเตรเลียนโอเพน | สตานิสลาส วาวรินกา | 3–6, 2–6, 6–3, 3–6 |
2017 | ออสเตรเลียนโอเพน | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 4–6, 6–3, 1–6, 6–3, 3–6 |
2019 | ออสเตรเลียนโอเพน | นอวาก จอกอวิช | 3–6, 2–6, 3–6 |
เหรียญทอง 2 สมัย (ประเภทเดี่ยว 1 สมัย, ประเภทคู่ 1 สมัย)
ปี | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
2008 | กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ณ กรุงปักกิ่ง (ประเภทชายเดี่ยว) | คอนกรีต | เฟอร์นานโด กอนซาเลซ | 6–3, 7–6(7–2), 6–3 |
2016 | กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ณ กรุงริ โอ เดอจาเนโร (ประเภทคู่) | คอนกรีต | ฟลอริน เมอร์เกีย โฮเรีย เทเคา |
6–2, 3–6, 6–4 |
ประเภทชายเดี่ยว: เข้าชิงชนะเลิศ 2 สมัย (รองชนะเลิศ 2 สมัย)
ปี | สถานที่ | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
2010 | ลอนดอน | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 3–6, 6–3, 1–6 |
2013 | ลอนดอน | นอวาก จอกอวิช | 3–6, 4–6 |
เข้าชิงชนะเลิศ 53 รายการ (ชนะเลิศ 36, รองชนะเลิศ 17)
ชนะเลิศ
ปี | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
2005 | มงเต-การ์โล (1) | ดิน | กิลเยร์โม โคเรีย | 6–3, 6–1, 0–6, 7–5 |
2005 | โรม (1) | ดิน | กิลเยร์โม โคเรีย | 6–4, 3–6, 6–3, 4–6, 7–6(8–6) |
2005 | แคนาดา (1) | คอนกรีต | อานเดร แอกัสซี | 6–3, 4–6, 6–2 |
2005 | มาดริด (1) | คอนกรีต (ในร่ม) | อีวาน ลูบิซิช | 3–6, 2–6, 6–3, 6–4, 7–6(7–3) |
2006 | มงเต-การ์โล (2) | ดิน | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–2, 6–7(2–7), 6–3, 7–6(7–5) |
2006 | โรม (2) | ดิน | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–7(0–7), 7–6(7–5), 6–4, 2–6, 7–6(7–5) |
2007 | อินเดียนเวลส์ (1) | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 6–2, 7–5 |
2007 | มงเต-การ์โล (3) | ดิน | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–4, 6–4 |
2007 | โรม (3) | ดิน | เฟอร์นานโด กอนซาเลซ | 6–2, 6–2 |
2008 | มงเต-การ์โล (4) | ดิน | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 7–5, 7–5 |
2008 | ฮัมบวร์ค | ดิน | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 7–5, 6–7(3–7), 6–3 |
2008 | แคนาดา (2) | คอนกรีต | นิโคลัส คีเฟอร์ | 6–3, 6–2 |
2009 | อินเดียนเวลส์ (2) | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 6–1, 6–2 |
2009 | มงเต-การ์โล (5) | ดิน | นอวาก จอกอวิช | 6–3, 2–6, 6–1 |
2009 | โรม (4) | ดิน | นอวาก จอกอวิช | 7–6(7–2), 6–2 |
2010 | มงเต-การ์โล (6) | ดิน | เฟอร์นันโด เบร์ดาสโก | 6–0, 6–1 |
2010 | โรม (5) | ดิน | ดาวิต เฟร์เรร์ | 7–5, 6–2 |
2010 | มาดริด (2) | ดิน | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–4, 7–6 |
2011 | มงเต-การ์โล(7) | ดิน | ดาวิต เฟร์เรร์ | 6–4, 7–5 |
2012 | มงเต-การ์โล(8) | ดิน | นอวาก จอกอวิช | 6–3, 6–1 |
2012 | โรม (6) | ดิน | นอวาก จอกอวิช | 7–5, 6–3 |
2013 | อินเดียนเวลส์ (3) | คอนกรีต | ฮวน มาติน เดล ปอโตร | 4–6, 6–3, 6-4 |
2013 | มาดริด (3) | ดิน | สตาน วาวรีงกา | 6–2, 6–4 |
2013 | โรม (7) | ดิน | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–1, 6–3 |
2013 | แคนาดา (3) | คอนกรีต | มิลอส ราโอนิส | 6–2, 6–2 |
2013 | ซินซินเนติ (1) | คอนกรีต | จอห์น อิสเนอร์ | 7–6(10–8), 7–6(7–3) |
2014 | มาดริด (4) | ดิน | เคอิ นิชิโคริ | 2–6, 6–4, 3–0 (คู่แข่งขอยอมแพ้) |
2016 | มงเต-การ์โล (9) | ดิน | เกล มงฟิสก์ | 7–5, 5–7, 6–0 |
2017 | มงเต-การ์โล(10) | ดิน | อัลเบิร์ต รามอส-วีโนลาส | 6–1, 6–3 |
2017 | มาดริด (5) | ดิน | ด็อมมินิค ทีม | 7–6(10–8), 6–4 |
2018 | มงเต-การ์โล (11) | ดิน | เคอิ นิชิโคริ | 6–3, 6–2 |
2018 | โรม (8) | ดิน | อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ | 6–1, 1–6, 6–3 |
2018 | แคนาดา (4) | คอนกรีต | สเตฟาโนส ซิตซีปัส | 6–2, 7–6(7–4) |
2019 | โรม (9) | ดิน | นอวาก จอกอวิช | 6–0, 4–6, 6–1 |
2019 | แคนาดา (5) | คอนกรีต | ดานีอิล เมดเวเดฟ | 6–3, 6–0 |
2021 | โรม (10) | ดิน | นอวาก จอกอวิช | 7–5, 1–6, 6–3 |
รองชนะเลิศ
ปี | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
2005 | ไมแอมี | คอนกรีต | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–2, 7–6(7–4), 6–7(5–7), 3–6, 1–6 |
2007 | ฮัมบวร์ค | ดิน | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–2, 2–6, 0–6 |
2007 | ปารีส | คอนกรีต (ในร่ม) | ดาวิด นาบัลเดียน | 4–6, 0–6 |
2008 | ไมแอมี | คอนกรีต | นิโคไล ดาวิเดนโก | 4–6, 2–6 |
2009 | มาดริด | ดิน | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 4–6, 4–6 |
2009 | เซี่ยงไฮ้ | คอนกรีต | นิโคไล ดาวิเดนโก | 6–7(3–7), 3–6 |
2011 | อินเดียนเวลส์ | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 6–4, 3–6, 2–6 |
2011 | ไมแอมี | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 6–4, 3–6, 6–7(4–7) |
2011 | มาดริด | ดิน | นอวาก จอกอวิช | 5–7, 4–6 |
2011 | โรม | ดิน | นอวาก จอกอวิช | 4–6, 4–6 |
2013 | มงเต-การ์โล | ดิน | นอวาก จอกอวิช | 2–6, 6–7(1–7) |
2014 | ไมแอมี | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 3–6, 3–6 |
2014 | โรม | ดิน | นอวาก จอกอวิช | 6–4, 3–6, 3–6 |
2015 | มาดริด | ดิน | แอนดี มาร์รี | 3–6, 2–6 |
2017 | ไมแอมี | คอนกรีต | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 3–6, 4–6 |
2017 | เซี่ยงไฮ้ | คอนกรีต | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 4–6, 3–6 |
2022 | อินเดียนเวลส์ | คอนกรีต | เทย์เลอร์ ฟริตซ์ | 3–6, 6–7(5–7) |
ชนะเลิศ 5 สมัย
ปี | สมาชิกในทีม (ทีมสเปน) | รอบ/ชาติคู่แข่ง |
2004 เดวิส คัพ | ราฟาเอล นาดัล คาร์ลอส โมยา ทอมมี โรเบรโด ฮวน คาร์ลอส เฟร์เรโร เฟลิเซียโน โลเปซ อัลแบร์โต มาร์ติน | รอบแรก:
2-3 |
2008 เดวิส คัพ | ราฟาเอล นาดัล ดาวิต เฟร์เรร์ เฟลิเซียโน โลเปซ เฟอร์นันโด เบร์ดาสโก ทอมมี โรเบรโด นิโคลัส อัลมาโกร | รอบแรก:
0-5 |
2009 เดวิส คัพ | ราฟาเอล นาดัล เฟอร์นันโด เบร์ดาสโก ดาวิต เฟร์เรร์ เฟลิเซียโน โลเปซ ทอมมี โรเบรโด ฮวน คาร์ลอส เฟร์เรโร | รอบแรก: |
2011 เดวิส คัพ | ราฟาเอล นาดัล ดาวิต เฟร์เรร์ เฟลิเซียโน โลเปซ เฟอร์นันโด เบร์ดาสโก มาร์เซล กราโนเย่ร์ส | รอบแรก:
เบลเยียม 1–4 สเปน |
2019 เดวิส คัพ | ราฟาเอล นาดัล โรแบร์โต เบาติสตา อากุต เฟลิเซียโน โลเปซ ปาโบล การ์เรโญ่ บุสตา มาร์เซล กราโนเย่ร์ส | รอบแบ่งกลุ่ม:
สเปน 2–1 รัสเซีย รอบแบ่งกลุ่ม: โครเอเชีย 0–3 สเปน |
ปี | รายการ แกรนด์สแลม | รายการ ATP | รวม | เงินรางวัล ($) | อันดับของ เงินรางวัล |
---|---|---|---|---|---|
2001 | 0 | 0 | 0 | $857 | |
2002 | 0 | 0 | 0 | $23,975 | 345 |
2003 | 0 | 0 | 0 | $243,238 | 87 |
2004 | 0 | 1 | 1 | $447,758 | 50 |
2005 | 1 | 10 | 11 | $3,874,751 | 2 |
2006 | 1 | 4 | 5 | $3,746,360 | 2 |
2007 | 1 | 5 | 6 | $5,646,935 | 2 |
2008 | 2 | 6 | 8 | $6,773,776 | 1 |
2009 | 1 | 4 | 5 | $6,466,515 | 2 |
2010 | 3 | 4 | 7 | $10,171,999 | 1 |
2011 | 1 | 2 | 3 | $7,668,217 | 2 |
2012 | 1 | 3 | 4 | $4,997,450 | 4 |
2013 | 2 | 8 | 10 | $14,570,937 เก็บถาวร 2014-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน | 1 |
2014 | 1 | 3 | 4 | $6,746,475 เก็บถาวร 2014-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน | 3 |
2015 | 0 | 3 | 3 | $4,508,891 เก็บถาวร 2014-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน | 5 |
2016 | 0 | 2 | 2 | $2,836,500 เก็บถาวร 2014-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน | 9[154] |
2017 | 2 | 4 | 6 | $15,864,000 | 1 |
2018 | 1 | 4 | 5 | $8,663,347 | 2 |
2019 | 2 | 2 | 4 | $16,349,586 | 1 |
2020 | 1 | 1 | 2 | $3,881,202 | 3 |
2021 | 0 | 2 | 2 | $1,478,830 | 7 |
2022 | 2 | 2 | 4 | $6,376,536 | 1 |
Career* | 22 | 70 | 92 | $131,338,131 | 3 |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.