Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษาอุตซิตา (อุตซิตา: occitan) หรือ เล็งกอด็อก (อุตซิตา: lenga d'òc) เป็นภาษา (หรือกลุ่มของภาษา) โรมานซ์ที่พูดกันในภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส ประเทศโมนาโก หุบเขาอุตซิตาของประเทศอิตาลี และหุบเขาอารันของประเทศสเปน (บางครั้งเรียกภูมิภาคเหล่านี้โดยรวมว่า "อุตซิตาญอ") นอกจากนี้ยังมีผู้พูดในเทศบาลกวาร์เดียปีเยมอนเตเซ (แคว้นคาลาเบรีย ประเทศอิตาลี) ซึ่งถูกล้อมด้วยดินแดนที่พูดภาษาอื่น บางคนรวมภาษากาตาลาเป็นส่วนหนึ่งของภาษาอุตซิตาเนื่องจากระยะห่างระหว่างภาษานี้กับภาษาถิ่นบางภาษาของภาษาอุตซิตา (เช่นภาษากัสกอญ) มีความใกล้เคียงกับระยะห่างระหว่างภาษาถิ่นต่าง ๆ ของภาษาอุตซิตา ภาษากาตาลาถือเป็นภาษาถิ่นหนึ่งของภาษาอุตซิตาจนกระทั่งสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 19[9] และปัจจุบันยังคงเป็นภาษาที่ใกล้ชิดกันมากที่สุด[10]
ภาษาอุตซิตา/เล็งกอด็อก | |
---|---|
occitan/lenga d'òc | |
ออกเสียง | [utsiˈta], [u(t)siˈtɔ], [ukʃiˈtɔ]/ [ˈleŋɡɔ ˈðɔ(k)] |
ประเทศที่มีการพูด | ฝรั่งเศส, สเปน, อิตาลี, โมนาโก |
ชาติพันธุ์ | ชาวอุตซิตา |
จำนวนผู้พูด | จำนวนผู้พูดทั้งหมดโดยประมาณมีตั้งแต่ 100,000–800,000 คน (2550–2555)[1][2] โดย 68,000 คนในจำนวนนี้อยู่ในอิตาลี (จากการสำรวจ พ.ศ. 2548)[3] และ 4,000 คนในจำนวนนี้อยู่ในหุบเขาอารันของสเปน (2551)[4] |
ตระกูลภาษา | |
รูปแบบก่อนหน้า | ภาษาอุตซิตาเก่า
|
ภาษาถิ่น | โอแวร์ญ
กัสกอญ (รวมภาษาถิ่นอารัน)
ล็องก์ด็อก
ลีมูแซ็ง
วีวาแร-แอลป์
นิส
ชัวดิต †
|
ระบบการเขียน | อักษรละติน (ชุดตัวอักษรอุตซิตา) |
สถานภาพทางการ | |
ภาษาทางการ | แคว้นกาตาลุญญา (สเปน) |
ภาษาชนกลุ่มน้อยที่รับรองใน | ฝรั่งเศส อิตาลี (กฎหมายหมายเลข 482 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2542)[5] โมนาโก |
ผู้วางระเบียบ | • สภาภาษาอุตซิตา[6] • ที่ประชุมใหญ่ถาวรว่าด้วยภาษาอุตซิตา[7] • สถาบันการศึกษาอารัน[8] |
รหัสภาษา | |
ISO 639-1 | oc |
ISO 639-2 | oci |
ISO 639-3 | oci – รหัสรวม รหัสเอกเทศ: sdt – Judeo-Occitan |
Linguasphere | 51-AAA-g & 51-AAA-f |
ภาษาอุตซิตาเป็นภาษาราชการของแคว้นกาตาลุญญาที่ซึ่งมีผู้พูดภาษาถิ่นย่อยของภาษากัสกอญที่รู้จักกันในชื่อภาษาอารันในหุบเขาอารัน[11] ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2553 สภานิติบัญญัติกาตาลุญญาได้พิจารณาให้ภาษาอุตซิตาถิ่นอารันเป็นภาษาถนัดสำหรับใช้ในหุบเขาดังกล่าวอย่างเป็นทางการ
ตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ ศัพท์ ลีมูแซ็ง (Lemosin), ล็องก์ด็อก (Lengadocian), กัสกอญ (Gascon) และต่อมา พรอว็องส์ (Provençal, Provençau หรือ Prouvençau) เป็นชื่อพ้องสำหรับใช้เรียกภาษาอุตซิตาทั้งมวล แต่ปัจจุบันเป็นที่เข้าใจกันว่า พรอว็องส์ คือภาษาอุตซิตาถิ่นที่พูดกันในภูมิภาคพรอว็องส์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส[12]
ภาษาอุตซิตาต่างจากภาษาโรมานซ์อื่นอย่างภาษาฝรั่งเศสหรือภาษาสเปนตรงที่ไม่มีสถานะทางการในประเทศใด ๆ และไม่มีภาษาเขียนมาตรฐานเพียงหนึ่งเดียวที่เรียกว่า "อุตซิตา" แต่มีบรรทัดฐานหลายบรรทัดฐานที่แข่งขันกันในการเขียนภาษานี้ บางบรรทัดฐานได้รับการกำหนดขึ้นเพื่อให้ใช้ได้กับภาษาถิ่นทุกภาษา ในขณะที่บางบรรทัดฐานอิงกับภาษาถิ่นเพียงภาษาใดภาษาหนึ่ง ความพยายามเหล่านี้ถูกบั่นทอนจากการใช้ภาษาอุตซิตาที่ลดลงอย่างรวดเร็วในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส และจากความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านสัทวิทยาและวงศัพท์ในบรรดาภาษาถิ่นต่าง ๆ
ความอยู่รอดในระยะยาวของภาษาอุตซิตาเป็นที่น่ากังขาอย่างยิ่ง ตามข้อมูลของ หนังสือปกแดงว่าด้วยภาษาใกล้สูญ ของยูเนสโก[13] ภาษาถิ่นหลักสี่ในหกภาษาของภาษาอุตซิตา (พรอว็องส์, โอแวร์ญ, ลีมูแซ็ง และล็องก์ด็อก) อยู่ในภาวะใกล้สูญอย่างรุนแรง (severely endangered) ในขณะที่ภาษาถิ่นหลักอีกสองภาษาที่เหลือ (กัสกอญและวีวาแร-แอลป์) อยู่ในภาวะใกล้สูญอย่างแน่นอน (definitely endangered)
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.