ดอนัลด์ ทรัมป์
ประธานาธิบดีสหรัฐ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดอนัลด์ จอห์น ทรัมป์ (อังกฤษ: Donald John Trump, ออกเสียง: /trʌmp/; เกิด 14 มิถุนายน ค.ศ. 1946) เป็นนักการเมือง ผู้มีชื่อเสียงทางสื่อ และนักธุรกิจชาวอเมริกัน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 ตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2021[1] และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 เป็นสมัยที่สองตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 2025[2] ในฐานะสมาชิกพรรคริพับลิกัน ทรัมป์ยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเดอะทรัมป์ ออร์แกไนเซชั่น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ และเป็นผู้ก่อตั้งทรัมป์เอนเตอร์เทนเมนต์ รีสอร์ตที่มีกิจการกาสิโนและโรงแรมทั่วโลก[3]
ดอนัลด์ ทรัมป์ | |
---|---|
![]() ทรัมป์ใน ค.ศ. 2025 | |
ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 45 และ 47 | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 20 มกราคม ค.ศ. 2025 (2 เดือน 11 วัน) | |
รองประธานาธิบดี | เจดี แวนซ์ |
ก่อนหน้า | โจ ไบเดิน |
ดำรงตำแหน่ง 20 มกราคม ค.ศ. 2017 – 20 มกราคม ค.ศ. 2021 (4 ปี) | |
รองประธานาธิบดี | ไมก์ เพนซ์ |
ก่อนหน้า | บารัก โอบามา |
ถัดไป | โจ ไบเดิน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ดอนัลด์ จอห์น ทรัมป์ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1946 ควีนส์ นครนิวยอร์ก สหรัฐ |
พรรคการเมือง | ริพับลิกัน (1987–1999, 2009–2011, 2012–ปัจจุบัน) |
การเข้าร่วม พรรคการเมืองอื่น | |
คู่สมรส |
|
บุตร |
|
ความสัมพันธ์ | ตระกูลทรัมป์ |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (วท.บ.) |
อาชีพ |
|
รางวัล | รายการทั้งหมด |
ลายมือชื่อ | ![]() |
เว็บไซต์ | |
ทรัมป์เกิดและเติบโตในนครนิวยอร์ก เขาได้รับอิทธิพลจากบิดาในการเป็นนักอสังหาริมทรัพย์[4] เมื่อจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในปี 1968 ทรัมป์เข้าร่วมเดอะทรัมป์ ออร์แกไนเซชั่นซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของครอบครัว ควบคู่ไปกับการดำเนินงานทรัมป์ทาวเวอร์ในนิวยอร์ก และขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมการบิน และกาสิโน[5] ก่อนจะประสบภาวะล้มละลาย เขาก่อสร้างทรัมป์เวิลด์ทาวเวอร์ อาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่ และถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัมป์อินเตอร์แนชชันแนลโฮเตลแอนด์ทาวเวอร์ และพื้นที่อสังหาริมทรัพย์จำนวนมากในแมนแฮตตัน[6] ทรัมป์ยังเป็นเจ้าของกิจการการประกวดนางงามจักรวาล และผู้อำนวยการสร้างและดำเนินรายการเรียลลิตีโชว์ The Apprentice ระหว่างปี 2004–2015 ทรัมป์ยึดอาชีพทางธุรกิจหลายปีก่อนจะประกาศลงสมัครเลือกตั้งในปี 2015[7] ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ค.ศ. 2016 เหนือฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ด้วยวัย 70 ปี ทรัมป์จึงเป็นบุคคลอายุมากที่สุดในขณะนั้น และมีทรัพย์สินมากที่สุดที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และยังเป็นบุคคลแรกที่ไม่เคยรับราชการทหารหรือข้าราชการมาก่อน ทรัมป์กล่าวข้อความเท็จหรือชักจูงให้เข้าใจผิดบ่อยครั้งทั้งก่อนและระหว่างดำรงตำแหน่ง รวมถึงการส่งเสริมทฤษฎีสมคบคิดอย่างกว้างขวางในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเมืองสหรัฐ ข้อคิดเห็นและอุดมการณ์ส่วนใหญ่ของเขาได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นชาตินิยม อีกทั้งยังแสดงการเหยียดเชื้อชาติและอคติต่อสตรี[8][9][10]
แนวนโยบายของทรัมป์เน้นการเจราความสัมพันธ์สหรัฐ–จีนและความตกลงการค้าเสรีใหม่ เช่น นาฟตาและความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก การบังคับใช้กฎหมายการเข้าเมืองอย่างแข็งขัน รวมทั้ง "การตรวจสอบภูมิหลังเต็มที่" ของผู้อพยพเข้าเมืองชาวมุสลิม และการขยายกำแพงชายแดนสหรัฐ–เม็กซิโก ริเริ่มนโยบายแยกครอบครัวผู้อพยพ จุดยืนอื่นของเขาได้แก่การมุ่งอิสระทางพลังงานขณะที่ค้านข้อบังคับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอื่น เช่น แผนพลังงานสะอาดและความตกลงปารีส, ปฏิรูปกิจการทหารผ่านศึก, การแทนที่รัฐบัญญัติคุ้มครองผู้ป่วยและการบริบาลที่เสียได้, การยกเลิกมาตรฐานการศึกษาคอมมอนคอร์, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน, การลดความยุ่งยากของประมวลกฎหมายภาษี ลงนามในพระราชบัญญัติลดหย่อนภาษีและการจ้างงาน และแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุด ทรัมป์กำหนดภาษีนำเข้าต่อบริษัทที่จ้างงานนอกประเทศทำให้เกิดสงครามการค้ากับจีน เขาส่งเสริมแนวนโยบายต่างประเทศที่ไม่แทรกแซงเสียส่วนใหญ่ และเพิ่มรายจ่ายทางด้านกลาโหม และรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล รวมถึงการถอนกำลังทหารออกจากซีเรีย เขาพบ คิม จ็อง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือโดยปราศจากการบรรลุข้อตกลงการปลดอาวุธนิวเคลียร์ เขาถูกวิจารณ์ในกรณีตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 ล่าช้า
ภายหลังทรัมป์ปลดเจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการสำนักงา่นสอบสวนกลางในปี 2017 กระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งโรเบิร์ต มอลเลอร์เป็นที่ปรึกษาพิเศษในการสืบสวน และหาความเชื่อมโยงระหว่างการรณรงค์หาเสียงของทรัมป์และรัฐบาลรัสเซียในการแทรกแซงการเลือกตั้งปี 2016 ผลการสอบสวนระบุว่าทรัมป์ส่งเสริมการแทรกแซงการเลือกตั้งดังกล่าวจริง แต่ไม่พบหลักฐานเพียงพอเพื่อตั้งข้อหา ทรัมป์ยังร้องขอให้ยูเครนสอบสวนโจ ไบเดิน คู่แข่งทางการเมืองของเขาในเดือนกรกฎาคม 2019 เป็นเหตุให้สภาผู้แทนราษฎลงมติให้ถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งฐานละเมิดอำนาจและขัดขวางรัฐสภา แต่วุฒิสภาลงคะแนนเสียงว่าทรัมป์ไม่มีความผิดทั้งสองข้อหาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 ภายหลังการดำรงตำแหน่งสมัยแรก ทรัมป์ได้รับการจัดอันดับในฐานะหนึ่งในประธานาธิบดีที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์[11][12]
ทรัมป์พ่ายการเลือกตั้ง ค.ศ. 2020 ให้แก่ไบเดิน แต่ปฏิเสธการยอมรับผลเลือกตั้ง[13] โดยอ้างถึงการโกงเลือกตั้งในหลายพื้นที่ เขามีส่วนในการปลุกระดมเหตุจลาจล ณ รัฐสภาสหรัฐ เดือนมกราคม ค.ศ. 2021 นำไปสู่การยื่นถอดถอนจากตำแหน่งเป็นครั้งที่สอง ทรัมป์จึงกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกยื่นถอดถอนถึงสองครั้ง เขาก่อตั้งทรัมป์ มีเดีย แอนด์ เทคโนโลยี กรุ๊ป บริษัทสื่อและเทคโนโลยีในปี 2021 ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 เขาประกาศลงชิงตำแหน่งในการเลือกตั้ง ค.ศ. 2024[14] ทรัมป์เผชิญข้อพิพาททางกฎหมายตั้งแต่ช่วงดำรงตำแหน่งจนถึงการหาเสียงสมัยที่สอง ในปี 2023 เขาถูกตั้งข้อหาล่วงละเมิดทางเพศอดีตคอลัมนิสต์ชาวอเมริกัน ตามด้วยข้อหาฉ้อโกงด้วยการปลอมแปลงบันทึกทางธุรกิจในปี 2024 ส่งผลให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกตั้งข้อหาทางอาญา[15][16] ทรัมป์รอดชีวิตจากเหตุลอบสังหารในรัฐเพนซิลเวเนียในเดือนกรกฎาคม 2024[17]
ทรัมป์มีชัยเหนือกมลา แฮร์ริส ในปี 2024 และกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่สองที่ชนะการเลือกตั้งสองสมัยแบบไม่ต่อเนื่องกัน คดีอาญาซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการไต่สวนได้ถูกยกฟ้องโดยกระทรวงยุติธรรม ทรัมป์ลงนามในคำสั่งอภัยโทษแก่ผู้ก่อจลาจลปี 2021 และเนรเทศผู้อพยพเข้าประเทศ รวมทั้งถอนสหรัฐออกจากความตกลงปารีส[18][19] เขาริเริ่มแผนปรับลดขนาดรัฐบาล[20] และการยึดครองฉนวนกาซา[21] การออกคำสั่งที่ท้าทายกฎหมายก่อให้เกิดการฟ้องร้องหลายสิบคดี
ประวัติ
สรุป
มุมมอง
ครอบครัวและการศึกษา
ดอนัลด์ จอห์น ทรัมป์ เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1945 ในโรงพยาบาลจาเมกาในควีนส์ของนครนิวยอร์ก เป็นบุตรคนที่ 4 ของเฟรด ทรัมป์ และแมรี แอนน์ แมคลอยด์ ทรัมป์ เขามีเชื้อสายเยอรมันและสกอตแลนด์ ทรัมป์เติบโตมาพร้อมกับพี่น้องอย่าง แมรีแอนน์, เฟรด จูเนียร์, เอลิซาเบธ และโรเบิร์ต น้องชายคนสุดท้ายในคฤหาสน์ย่านควีนส์ของจาเมกาเอสเตทส์ บิดาของเขามอบเงินให้บุตรทุกคน ๆ ละประมาณ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือเทียบเท่ากับ 265,000 ดอลลาร์ในปี 2024 ทรัมป์จึงกลายเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุแปดปี ทั้งบิดามารดา รวมถึงบรรพุบรุษของทรัมป์เกิดในยุโรป โดยทั้งคุณปู่ คุณย่า คุณตา และคุณยายเป็นผู้อพยพมายังคาลล์ชตัดท์ เยอรมนี บิดาของทรัมป์เป็นนักอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเกิดในควีนส์[22][23] ส่วนมารดาอพยพเข้านิวยอร์กในวันเกิดของเธอจากเกาะเลวิส สกอตแลนด์ [24] ทั้งคู่พบกันในนิวยอร์กและตกลงแต่งงานกันในปี 1936 และอพยพไปยังควีนส์[24][25]
จอห์น เค ทรัมป์ ลุงของทรัมป์ เป็นอาจารย์ในสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ระหว่าง ค.ศ. 1936–1973 มีส่วนคิดค้นเรดาร์ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และคิดค้นเครื่องเอ็กซเรย์เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็ง ในปี 1943 สำนักงานสอบสวนกลางมีคำสั่งให้จอห์น ทรัมป์ ตรวจสอบกระดาษและอุปกรณ์ของนิโคลา เทสลา เมื่อครั้งที่นิโคลาเสียชีวิตในห้องของเขาที่โรงแรมนิวยอร์กเกอร์[26] เฟดริก ทรัมป์ ปู่ของทรัมป์ เปิดร้านอาหารในซีแอตเทิลและครอนไลค์ (แคนาดา)[27] ครอบครัวทรัมป์แรกเริ่มนับถือนิกายลูเทอแรน แต่พ่อแม่ของทรัมป์นับถือนิกายคริสตจักรปฏิรูป[28] ครอบครัวทรัมป์แรกเริ่มสะกดชื่อสกุลว่า Drumpf แต่ถูกเปลี่ยนเป็น Trumps ในช่วงสงครามสามสิบปี ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17[29] ทรัมป์กล่าวเขารู้สึกภูมิใจสำหรับการมีเชื้อสายจากเยอรมัน และเคยเป็นผู้นำขบวนพาเหรดออร์เคสตราปี 1999 German-American Steuben Parade นครนิวยอร์ก[30]

ทรัมป์จบการศึกษาจากโรงเรียน The Kew-Forest School ในวัย 13 เขาสมัครโรงเรียนนายร้อยนิวยอร์ก[31] ที่คอร์นวอลล์ ทรัมป์ศึกษาที่มหาวิทยาลัยฟอร์ดัมในเดอะบร็องซ์ เป็นเวลาสองปี หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม 1964 ทรัมป์ย้ายไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แห่งแรก ๆ ในสหรัฐ[32][33] ในขณะนั้น เขาทำงานในบริษัทของครอบครัวอย่าง Elizabeth Trump & Son โดยชื่อบริษัทตั้งจากชื่อย่าของทรัมป์ เขาจบการศึกษาจากฟิลาเดลเฟียในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1968 ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตด้านเศรษฐกิจ[33][34][35] ทรัมป์ไม่ได้เกณฑ์ทหารในช่วงสงครามเวียดนาม[36] เขาได้รับการผ่อนผัน 4 ครั้ง[37] ในปี 1966 เขาได้รับการตรวจสอบทางการแพทย์ซึ่งมีความสำคัญที่จะทำให้เขาสามารถบรรจุเป็นทหารเกณฑ์ปี 1968 ได้รับการตัดสินโดยคณะกรรมการท้องถิ่นซึ่งมีมติให้ผ่อนผันในเดือนตุลาคม 1968[38] ในบทสัมภาษณ์ชีวประวัติปี 2015 เขาให้เหตุผลว่าได้ใบผ่อนผันจากแพทย์เนื่องจากมีอาการปวดส้นเท้า[38].[39]
การสมรส
ดอนัลด์ ทรัมป์ สมรสกับอีวานา เซลนิชโควา นางแบบชาวเช็กเกียในปี 1977[40] ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 3 คน ได้แก่ ดอนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์, อิวานกา ทรัมป์, และ อีริก ทรัมป์ ซึ่งต่อมาทั้ง 3 คนก็ได้มรดกจากผู้เป็นพ่อด้วยตำแหน่งรองประธานบริษัททรัมป์ออร์กาไนเซชันที่ซึ่งทรัมป์เป็นประธานบริหารมาอย่างยาวนาน ทรัมป์และอีวานาหย่าขาดในปี 1990 และต่อมาในปี 1993 ทรัมป์ได้สมรสครั้งที่สองกับมาร์ลา เมเปิลส์ และมีบุตร 1 คนคือ ทิฟฟานี ซึ่งตั้งชื่อตามร้านเพชรชื่อดังอย่างทิฟฟานีแอนด์โค ก่อนที่ทั้งสองจะแยกกันอยู่ในปี 1997 และหย่าขาดในปี 1999
ทรัมป์หมั้นกับเมลาเนีย คเนาส์ นางแบบชาวสโลเวเนียในปี 2004 และเข้าพิธีสมรสในปี 2005 ก่อนที่เมลาเนียจะได้รับสัญชาติอเมริกันในปี 2006 และในเดือนมีนาคมปีเดียวกันนั้นเอง เมลาเนียได้ให้กำเนิดบุตรชายนามว่า บาร์รอน ทรัมป์[41] ซึ่งตั้งชื่อตามนามปากกาของทรัมป์ เมลาเนียได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งสหรัฐ เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2017 ภายหลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์[42]
อาชีพทางธุรกิจ
สรุป
มุมมอง
อสังหาริมทรัพย์
ทรัมป์เริ่มต้นอาชีพทางธุรกิจอย่างเต็มตัวใน ค.ศ. 1968 เขาได้รับการปลูกฝังและแรงบันดาลใจที่ดีจากผู้เป็นพ่อในการเป็นนักอสังหาริมทรัพย์ ทรัมป์เริ่มงานที่บริษัทของพ่อซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจห้องเช่าสำหรับชนชั้นกลางในชานเมืองรอบนครนิวยอร์ก[43][44] สามปีให้หลัง เขาได้รับการแต่งตั้งจากผู้เป็นพ่อให้ดำรงตำแหน่งประธานบริษัทเดอะทรัมป์ ออร์แกไนเซชั่นในวัย 25 ปี ในช่วงเวลานั้นทรัมป์มีผู้ช่วยอย่างรอย โคห์น ทำหน้าที่เปรียบเสมือนที่ปรึกษา และทนายความส่วนตัวระหว่างทศวรรษ 1970–1980[45] โคห์นมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนทรัมป์ยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐในปี 1973 เป็นเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ (เทียบเท่ากับจำนวนเงิน 686 ล้านดอลลาร์ในปี 2023) ซึ่งกล่าวหาว่าการถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของทรัมป์มีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ คดีความดังกล่าวยุติลงสิ้นเชิงภายหลังทรัมป์ยินยอมลงนามในกฎหมายการแบ่งแยกที่ดินและทรัพย์สิน โคห์นยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการช่วยเหลือทรัมป์ในกิจกรรมทางธุรกิจ รวมถึงการมีสายสัมพันธ์อันดีกับสหภาพแรงงานด้านการก่อสร้าง และเป็นผู้แนะนำให้ทรัมป์รู้จักกับโรเจอร์ สโตนส์ เพื่อรับมือกับรัฐบาลกลาง[46]

ระหว่าง ค.ศ. 1991–2009 ทรัมป์ยื่นฟ้องตามบทที่ 11 ของประมวลกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา เพื่อคุ้มครองการล้มละลายในธุรกิจ 6 แห่งอันประกอบไปด้วย โรงแรมพลาซาในแมนแฮตตัน, กาสิโนแอตแลนติกซิตีในรัฐนิวเจอร์ซีย์ และทรัมป์เอนเตอร์เทนเมนต์รีสอร์ต[48][49]
ใน ค.ศ. 1992 ทรัมป์พร้อมด้วยพี่น้องและญาติอย่าง แมรีแอนน์ เอลิซาเบธ และโรเบิร์ต รวมทั้งลูกพี่ลูกน้องของเขา จอห์น ดับเบิลยู วอลเตอร์ ซึ่งต่างถือหุ้นในสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท All County Building Supply & Maintenance Cor อย่างไรก็ดี บริษัทดังกล่าวไม่มีสำนักงานอย่างเป็นทางการ และถูกกล่าวหาจากรัฐว่าเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการจ่ายค่าตอบแทนนายหน้าที่ให้บริการจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้แก่ห้องเช่าของทรัมป์ และมีการเรียกเก็บค่าตอบแทนไปยัง Trump Management โดยมีมาร์กอัป (ส่วนต่างราคา) สูงถึง 20–50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ผู้เกี่ยวข้องยังร่วมแบ่งปันรายได้ที่เกิดจากมาร์กอัปดังกล่าว โดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถูกนำมาใช้ดำเนินการทำเรื่องขออนุมัติจากรัฐในการเพิ่มค่าเช่าห้องพักซึ่งเป็นค่าเช่าคงที่[50] ภาพนตร์เรื่อง The Apprentice (2024) เป็นภาพยนตร์ดรามาชีวประวัติซึ่งเจาะลึกอาชีพด้านอสังหาริมทรัพย์ของทรัมป์ในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 รวมถึงความสัมพันธ์ของเขาและโคห์น[51][52]
แมนแฮตตันและชิคาโก
ทรัมป์ดึงดูดความสนใจจากสาธารณชนใน ค.ศ. 1978 ด้วยการเปิดตัวกิจการแห่งแรกในแมนแฮตตัน คือการปรับปรุงโรงแรมขนาดใหญ่อย่างโรงแรมคอมโมดอร์ที่ถูกทิ้งร้าง และอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟแกรนด์เซ็นทรัล[53] การจัดหาเงินทุนได้รับการอำนวยความสะดวกโดยการลดภาษีทรัพย์สินในเมืองมูลค่ากว่า 400 ล้านดอลลาร์ที่พ่อของเขาจัดเตรียมไว้ ร่วมกับการอนุมัติสินเชื่อธนาคารเพื่อการก่อสร้างมูลค่ากว่า 70 ล้านดอลลาร์จากเครือไฮแอท โรงแรมได้รับการบูรณะและเปิดให้บริการอีกครั้งในปี 1980 ในชื่อ Hyatt Grand Central New York ในปีเดียวกันนั้น เขาได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาทรัมป์ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นตึกระฟ้าแบบผสมผสานในย่านมิดทาวน์แมนฮัตตัน[54] อาคารแห่งนี้ถูกใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ทรัมป์คอร์ปอเรชัน และเป็นที่พักอาศัยหลักของทรัมป์จนถึงปี 2019[55] ใน ค.ศ. 1988 ทรัมป์เข้าซื้อโรงแรมพลาซาด้วยเงินกู้จากกลุ่มธนาคาร 16 แห่ง[56] และได้ยื่นขอความคุ้มครองจากการล้มละลายใน ค.ศ. 1992 แผนการปรับโครงสร้างองค์กรได้รับการอนุมัติในอีกหนึ่งเดือนต่อมา โดยธนาคารจะถือกรรมสิทธิ์ในการเข้าควบคุมทรัพย์สิน[57]
ต่อมาในปี 1995 ทรัมป์ผิดนัดชำระเงินกู้จากธนาคารมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์ และผู้ให้กู้ได้ยึดโรงแรมพลาซาพร้อมทรัพย์สินอื่น ๆ ส่วนใหญ่ของเขาซึ่งถือเป็น "การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ที่น่าอับอาย" ซึ่งทำให้เขาสามารถหลีกเลี่ยงการล้มละลายส่วนบุคคลได้[58][59] ในปี 1996 ทรัมป์ได้ซื้อและปรับปรุงตึกระฟ้าสูง 71 ชั้นที่ว่างส่วนใหญ่ ณ 40 วอลล์สตรีต และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอาคารทรัมป์ ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เขาได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่ 70 เอเคอร์ในย่านลินคอล์นสแควร์ใกล้แม่น้ำฮัดสัน อย่างไรก็ดี สืบเนื่องจากปัญหาทางการเงินในช่วงเวลานี้ซึ่งเขาต้องดิ้นรนต่อสู้กับหนี้มหาศาลจากกิจการอื่น ๆ ในปี 1994 เขาจึงขายกรรมสิทธิ์ส่วนใหญ่ให้กับนักลงทุนชาวเอเชียซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนในการดำเนินโครงการที่ริเวอร์ไซด์เซาท์ให้แล้วเสร็จ[60] โครงการก่อสร้างสำคัญครั้งสุดท้ายของทรัมป์คือโรงแรมทรัมป์อินเตอร์เนชั่นแนลโฮเทลแอนด์ทาวเวอร์ ความสูง 92 ชั้นตั้งอยู่ในชิคาโก และเปิดตัวในปี 2008 อย่างไรก็ตาม ในปี 2024 ทรัมป์ถูกตรวจสอบกรณีปลอมแปลงบันทึกทางธุรกิจ และฉ้อโกงภาษีที่เกี่ยวข้องกับการรับค่าตอบแทนโดยไม่ลงบัญชีนานถึง 15 ปี[61]
กาสิโนแอตแลนติกซิตี และ ธุรกิจสายการบิน

ใน ค.ศ. 1984 ทรัมป์เปิดตัว ทรัมป์พลาซา โฮเทล แอนด์ กาสิโน ด้วยความอนุเคราะห์ทางการเงินและการจัดการจากเครือฮอลิเดย์ อินน์[62] อย่างไรก็ดี ธุรกิจดังกล่าวไม่สามารถสร้างผลกำไร และทรัมป์ตัดสินใจจ่ายเงินกว่า 70 ล้านดอลลาร์ให้แก่ฮอลิเดย์ อินน์ เพื่อถือครองกรรมสิทธิ์เด็ดขาด ในปี 1985 เขาซื้อกิจการโรงแรม Atlantic City Hilton ที่ยังไม่เปิดให้บริหาร และเปลี่ยนชื่อเป็น Trump Castle[63] กิจการกาสิโนทั้งสองแห่งยื่นฟ้องตามบทที่ 11 ของประมวลกฎหมายเพื่อคุ้มครองการล้มละลายในปี 1992[64] ทรัมป์ยื่นซื้อกิจการแห่งที่สามในแอตแลนติกซิตีใน ค.ศ. 1988 นั่นคือ ทรัมป์ ทัชมาฮาล ได้รับการสนับสนุนทางการเงินด้วยพันธบัตรมูลค่า 675 ล้านดอลลาร์ และเสร็จสิ้นด้วยมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ เปิดดำเนินการในเดือนเมษายน ค.ศ. 1990 เขายื่นฟ้องเพื่อคุ้มครองการล้มละลายอีกครั้ง ในช่วงเวลานี้ทรัมป์ยังมีธุรกิจในอุตสาหกรรมการบิน โดยเป็นเจ้าของสายการบิน Trump Shuttle เปิดดำเนินการในวันที่ 8 มิถุนายน ปี 1989[65] อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดภาระหนี้สินส่วนตัวจำนวนกว่า 900 ล้านดอลลาร์ ทรัมป์จำต้องขายสายการบินดังกล่าว พร้อมกับเรือยอทช์ส่วนตัวซึ่งใช้สำหรับกิจการกาสิโน รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ[66] ต่อมาในปี 1995 ทรัมป์ได้ก่อตั้ง Trump Hotels & Casino Resorts (THCR) ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ใน Trump Plaza[67] ทรัมป์ประสบภาวะล้มละลายในปี 2004 และ 2009 ส่งผลให้เขาถือหุ้นกิจการดังกล่าวเหลือเพียง 10% เขายังดำรงตำแหน่งประธานจนถึง ค.ศ. 2009[68]
คลับส่วนตัว
ในปี 1985 ทรัมป์ได้เข้าซื้อที่ดินในมาร์-อา-ลาโกในปาล์มบีช รัฐฟลอริดา[69] ก่อนที่ในปี 1995 เขาได้เปลี่ยนที่ดินดังกล่าวเป็นคลับส่วนตัวโดยมีค่าธรรมเนียมแรกเริ่มและค่าธรรมเนียมรายปี เขายังคงใช้สถานที่นี้เป็นที่พักอาศัยส่วนตัวต่อไป เขาได้ประกาศให้คลับแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยหลักของเขาใน ค.ศ. 2019[70] เขาเริ่มสร้างและซื้อสนามกอล์ฟในปี 1999 และเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟ 17 แห่งในปี 2016[71]
เริ่มงานการเมือง
ทรัมป์เริ่มแสดงทรรศนะด้านการเมืองครั้งแรกใน ค.ศ. 1987 โดยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ[72] เนื้อความว่าด้วยความคิดเห็นต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ และวิธีจัดการการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลาง[73] ในปีต่อมา เขาเข้าพบลี แอตวอเตอร์ ที่ปรึกษาทางการเมืองและนักยุทธศาสตร์นโยบายของพรรครีพับลิกันในขณะนั้น เพื่อร้องขอการพิจารณาให้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช โดยบุชกล่าวว่าคำขอดังกล่าวนั้น "แปลกและน่าเหลือเชื่อ"[74] และด้วยบุคลิกภาพอันโผงผาง กอปรกับการพูดจาฉะฉาน ตรงไปตรงมา ทำให้ทรัมป์เป็นที่สนใจโดยสื่อ และได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นผู้มีบทบาททางการเมืองของประเทศในอนาคต
ทรัมป์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามพรรคปฏิรูปแห่งสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2000 ก่อนจะถอนตัวในเดือนกุมภาพันธ์[75][76][77] ในปี 2011 เป็นที่คาดการณ์ในวงกว้างว่าทรัมป์จะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้แทนพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้ง ค.ศ. 2012 เพื่อแข่งกับบารัก โอบามา โดยปรากฏตัวครั้งแรกในการประชุม Conservative Political Action Conference ในเดือนกุมภาพันธ์ และกล่าวสุนทรพจน์สำหรับการเลือกตั้งขั้นต้น[78][79] อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยุติข่าวลือต่าง ๆ ด้วยการประกาศไม่ลงสมัครต่อในเดือนพฤษภาคม
การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก (ค.ศ. 2017–2021)
สรุป
มุมมอง

ทรัมป์ประกาศเจตนารมณ์ในการลงสมัครเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2015[80][81] และได้รับการประกาศให้เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรครีพับลิกันในเดือนพฤษภาคม 2016[82] ข้อความที่ใช้ในการหาเสียงของเขามักจะคลุมเครือและมีลักษณะชี้นำ[83] และคำกล่าวของเขาถูกบันทึกว่า "เป็นเท็จ" หลายครั้งซึ่งไม่เกิดขึ้นมาก่อนในการหาเสียงครั้งใด ๆ[84][85] ทรัมป์ยังใช้วาทกรรมในการโจมตีสื่ออย่างตรงไปตรงมา และกล้าวอ้างถึงอคติในการเสนอข่าวของสื่อ ในช่วงนี้ คู่แข่งจากเดโมแครตอย่างฮิลลารี คลินตันมีคะแนนนำทรัมป์ตลอดหลายเดือน ทว่าเมื่อเข้าสู่ต้นเดือนกรกฎาคม ช่องว่างในการนำกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ[86] ในกลางเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2016 ทรัมป์ประกาศให้ไมก์ เพนซ์ ผู้ว่าการรัฐอินดีแอนา เป็นผู้ชิงตำแหน่งรองฯ[87]
ในระหว่างการหาเสียง มีรายงานว่าทรัมป์รายงานมูลค่าสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์ และมีหนี้สินคงค้างอย่างน้อย 315 ล้านดอลลาร์แต่เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดในการชำระภาษี ซึ่งขัดแย้งกับแนวปฏิบัติของผู้สมัครทุกรายตั้งแต่ปี 1976 แม้เขาจะให้คำมั่นในปี 2014 และ 2015 ที่จะทำเช่นนั้นหากเขาลงสมัครรับเลือกตั้ง นางคลินตันนำประเด็นนี้เป็นข้อโจมตีเขาในการดีเบตทั้งสามครั้ง[88][89] ในขณะที่ทรัมป์แก้ต่างว่า การชำระภาษีของเขาอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ภายการต่อสู้คดีอันยาวนานในชั้นศาล การเปิดเผยการคืนภาษีและบันทึกอื่น ๆ ของเขาซึ่งมอบให้กับอัยการแมนฮัตตันเพื่อการสอบสวนทางอาญา รวมถึงการอุทธรณ์สองครั้งของทรัมป์ต่อศาลฎีกา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ศาลสูงสุดอนุญาตให้เปิดเผยบันทึกดังกล่าวแก่อัยการเพื่อให้คณะลูกขุนใหญ่ตรวจสอบ[90][91] ต่อมาในเดือนตุลาคม 2016 เนื้อความในเอกสารบางส่วนซึ่งทรัมป์ยื่นต่อรัฐบาลกลางในปี 1995 ได้รั่วไหลไปยังเดอะนิวยอร์กไทมส์ อันเป็นที่มาในการเปิดเผยข้อมูลว่า ทรัมป์ประกาศว่าธุรกิจของเขาขาดทุนกว่า 916 ล้านดอลลาร์ในปีนั้น ซึ่งอาจทำให้เขาได้รับการยกเว้นการชำระภาษีเป็นเวลาถึง 18 ปี[92]
แม้โพลแทบทุกสำนักต่างรายงานว่า ทรัมป์มีแนวโน้มสูงที่จะแพ้การเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 ภายใต้คอนเซ็ปต์ "Make America Great Again" [93] ส่งผลให้ในวัย 70 ปี ทรัมป์เป็นบุคคลอายุมากที่สุด และมีทรัพย์สินมากที่สุดที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นบุคคลแรกที่ไม่เคยรับราชการทหารหรือข้าราชการมาก่อน และเป็นบุคคลที่สี่ที่ได้รับเลือกตั้งโดยไม่ได้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งข้างมากด้วยคะแนนเสียง 63 ล้านเสียง[94] โดยเพนซ์ได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดี ทรัมป์เอาชนะได้ถึง 30 รัฐ รวมถึงรัฐสำคัญอย่างมิชิแกน, เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซินซึ่งล้วนแต่เป็นฐานเสียงของเดโมแครตนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ชัยชนะของทรัมป์จุดชนวนการประท้วงในเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ[95][96]
นโยบาย
100 วันแรก
ทรัมป์ประกาศถอนสหรัฐออกจาก TPP (ข้อตกลงการค้าในภาคพื้นแปซิฟิก) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด โดยทรัมป์ต้องการให้สหรัฐเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่จำเป็นต้องอิงกับใครในการพัฒนาเศรษฐกิจ[97] และให้คำมั่นจะสร้างงานให้ชาวอเมริกันอย่างมั่นคงอีกครั้ง เขายืนยันว่าตัวเลขประชาชนผู้ตกงานตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาในสหรัฐจะต้องลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีหลักการคือทำเพื่ออเมริกาให้กลับมาเป็นที่หนึ่งอีกครั้ง ทรัมป์และทีมงานจะปรับแก้กฎหมายและสร้างงานให้แก่อเมริกันชนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก, รถยนต์ ไปจนถึงยารักษาโรค เป็นต้น ทรัมป์ต้องการให้เกิดกระบวนการผลิตและนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้นแก่คนอเมริกัน นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้เพิ่มงบประมาณทางการทหารมากขึ้นถึง 10% จากรัฐบาลโอบามา[98] ต่อมาเมื่อ วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 2017 ฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาว ประกาศว่าทรัมป์จะบริจาคเงินเดือนทั้งหมดในช่วงไตรมาสแรกกว่า 78,333 ดอลลาร์ให้กับหน่วยงานอุทยานแห่งชาติเพื่อพัฒนาในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ในด้านการต่างประเทศในช่วง 3 เดือนแรกของการดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ออกมาเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือที่แข็งกร้าวมากขึ้น ภายหลังจากเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ รวมทั้งทำการออกคำสั่งยิงจรวดโจมตีฐานทัพอากาศในเมืองฮอมของซีเรีย เพื่อตอบโต้การใช้อาวุธเคมีโจมตีเขตพลเรือน
เศรษฐกิจและสังคม
ทรัมป์ประกาศอย่างชัดเจนก่อนการเลือกตั้งว่าเขาจะปฏิรูปนโยบายต่าง ๆ ที่บารัค โอบามาทำไว้ และบริหารประเทศภายใต้คอนเซ็ปต์ "Make America Great Again" ซึ่งเป็นนโยบายที่ โรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีคนที่ 40 เคยใช้หาเสียง[99] ตลอดระยะเวลา 4 ปี เขาให้ความสำคัญกับนโยบายด้านเศรษฐกิจมาก[100] โดยมีการปรับภาษีให้เท่าเทียมกัน และมีการลดหย่อนภาษีลงอย่างทั่วถึง โดยรวมถึงการลดค่าใช่จ่ายในการเลี้ยงบุตรและค่ารักษาพยาบาลทั่วไป ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนคนว่างงานลงให้มากที่สุด นอกจากนี้ ทรัมป์ยังให้ความใส่ใจกับนโยบายด้านการควบคุมผู้อพยพเข้าประเทศ[101][102][103] เขาต้องการผลักดันกฎหมายแรงงานให้ชาวอเมริกันมีสิทธิ์มากกว่าชาวต่างชาติในสหรัฐ ซึ่งจะเป็นการรับประกันเรื่องความปลอดภัยของชาวอเมริกัน รวมถึงการประกันรายได้การมีงานที่ดีรองรับโดยคำถึงถึงสิทธิ์ของคนอเมริกันเป็นอันดับแรก และเขาได้มีการเพิ่มมาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการก่อการร้าย โดยต้องการลดจำนวนผู้อพยพจากพรมแดนเม็กซิโกและแถบลาตินอเมริกาให้มากที่สุด[104] เขาและภรรยามีการลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในหลายรัฐ

ทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายการควบคุมอาวุธปืนโดยทั่วไป[105] แม้ว่ามุมมองของเขาจะเปลี่ยนไปบ้างหลังจากเกิดเหตุกราดยิงกันหลายครั้ง[106] ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะเสนอกฎหมายเพื่อลดความรุนแรงในการใช้ปืน แต่ต่อมาได้ถูกยกเลิกในเดือนพฤศจิกายนปี 2019 ฝ่ายบริหารของทรัมป์ได้แสดงจุดยืนต่อต้านการใช้กัญชา โดยเพิกถอนนโยบายของโอบามาในยุคที่ให้ความคุ้มครองสำหรับรัฐทีอนุญาตให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายโดยกำหนดโทษถึงประหารชีวิต ทรัมป์อนุมัติการให้มีการประหารชีวิตโดยรัฐบาลกลางครั้งแรกในรอบหลายปี ภายใต้การบริหารประเทศของทรัมป์ รัฐบาลกลางประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดรวม 13 ราย มากที่สุดในรอบ 56 ปี ในปี 2017 ทรัมป์กล่าวว่าเขาสนับสนุนการใช้วิธีการทรมานด้วยการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ตามกฎหมาย แต่ได้ถูกคัดค้านโดยเจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ใน ค.ศ. 2018 ทรัมป์ปฏิเสธการลงนามในร่างกฎหมายการจัดสรรใด ๆ จากสภาคองเกรส หากแต่จะจัดสรรเงินจำนวน 5.6 พันล้านดอลลาร์สำหรับการพัฒนากำแพงชายแดน ส่งผลให้รัฐบาลกลางปิดตัวลงบางส่วนเป็นเวลากว่า 35 วัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 ถึงมกราคม 2019 ถือเป็นการปิดตัวที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ[107] พนักงานรัฐประมาณ 800,000 รายถูกเลิกจ้างหรือต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน[108] ทรัมป์และสภาคองเกรสยุติการปิดระบบด้วยการอนุมัติเงินทุนชั่วคราวเพื่อชดเชยการจ่ายเงินล่าช้าแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ[109] การปิดระบบส่งผลให้เศรษฐกิจสูญเสียประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์[110] ตามข้อมูลของสำนักงานงบประมาณรัฐสภา ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวโทษทรัมป์ที่เป็นต้นเหตุของการปิดระบบ และคะแนนนิยมของทรัมป์ลดลงอย่างมากจากเหตุการณ์ดังกล่าว[111] รัฐบาลทรัมป์ได้รับเสียงชื่นชมในการขจัดปัญหาการว่างงาน พบว่ามีอัตราการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลายล้านราย[112]
ประกันสุขภาพและการศึกษา
เจตนารมณ์ที่ชัดเจนที่สุดของทรัมป์อีกประการหนึ่งตั้งแต่ช่วงรณรงค์หาเสียงคือการยกเลิกประกันสุขภาพโอบามา แคร์ [113] เนื่องจากเขาเล็งเห็นว่ามันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ กับประชาชนในระดับกลางและระดับล่าง[114] ทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระในการเสียภาษีฟุ่มเฟือยที่มากขึ้นอีกด้วย เขาได้มีนโยบายในการเปลี่ยนไปใช้ระบบการซื้อประกันสุขภาพในราคาที่ถูกลงและยังครอบคลุมสิทธิการรักษาเมื่อเดินทางข้ามรัฐได้อีกด้วย ในส่วนของนโยบายด้านการศึกษา ทรัมป์ต้องการสร้างความมั่นใจว่าสหรัฐมีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก เขามีการผลักดันการพัฒนาด้านการศึกษาทางสายอาชีพมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้เยาวชนได้เรียนรู้ด้วยตนเองและสามารถพึ่งพาตนเองได้[115]
การต่างประเทศ
ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ สหรัฐได้ตั้งคำถามต่อความสำคัญขององค์การระหว่างประเทศ และดำเนินนโยบายการค้าและการทหารซึ่งสอดคล้องของกับสโลแกน America First ที่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐเป็นอันดับหนึ่งซึ่งในบางครั้งได้เพิ่มความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น เขาได้ประกาศอย่างแข็งกร้าวในการกล้าที่จะเผชิญหน้ากับจีนและเกาหลีเหนือในฐานะประเทศคู่แข่งและผู้เป็นภัยคุกคามทางความมั่นคง ทรัมป์เน้นการใช้นโยบายแบบเอกาภาคีนิยม หรือ "Unilateralism" คือให้อเมริกาลุยเดี่ยว ‘Go It Alone’ ไม่จำเป็นต้องอิงกับพันธมิตรชาติใดเป็นพิเศษซึ่งตรงข้ามกับไบเดินอย่างสิ้นเชิง[116] (เดโมแครตเน้นการใช้เครื่องมือพหุภาคีระหว่างประเทศและใช้พันธมิตรเป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารงานด้านการต่างประเทศ) ยิ่งไปกว่านั้น ในสมัยการบริหารโดยโอบามา เขาจัดทำข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์กับอิหร่านในปี 2015 ซึ่งทรัมป์ได้ทำการฉีกข้อตกลงดังกล่าวทำให้เกิดวิกฤตอิหร่านขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายของการดำรงตำแหน่ง[117]

ในปี 2017 เมื่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามมากขึ้นเรื่อย ๆ ทรัมป์ได้ยกระดับคำสั่งเตือนว่าเกาหลีเหนือจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่กำลังทำ และเท่ากับเป็นการประกาศตัวเป็นศัตรูต่อสหรัฐและชาวโลก ในปลายปี 2017 ทรัมป์ประกาศว่าเขาต้องการให้เกาหลีเหนือ "เลิกใช้นิวเคลียร์โดยสมบูรณ์" และติดต่อกับคิม จอง-อึนเพื่อยุติแผนการดังกล่าว ในห้วงเวลาแห่งความตึงเครียดนี้ ทรัมป์และคิมได้แลกเปลี่ยนจดหมายกันอย่างน้อย 27 ฉบับซึ่งทั้งสองคนอธิบายถึงมิตรภาพส่วนตัวที่อบอุ่นและมีแนวโน้มทีจะดีขึ้น โดยคิมได้ยื่นข้อเสนอที่จะพบกับทรัมป์ 3 ครั้ง[118] ได้แก่: ที่สิงคโปร์ในปี 2018 ในฮานอยในปี 2019 และในเขตปลอดทหารเกาหลีภายในปี 2019 โดยทรัมป์ได้กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ได้พบกับผู้นำเกาหลีเหนือและได้เดินทางมาเกาหลีเหนือ[119] ทรัมป์ยังยกเลิกการคว่ำบาตรบางส่วนที่มีต่อเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือมิได้ยุติการพัฒนานิวเคลียร์แต่อย่างใด และการเจรจาในเดือนตุลาคม 2019 ก็ยุติลง

ในขณะที่ความสัมพันธ์กับรัสเซียไม่ตึงเครียดเท่าเกาหลีเหนือ ทรัมป์มักชื่นชมวลาดิเมียร์ ปูติน[120] แต่ก็มีการต่อต้านการกระทำบางอย่างของรัสเซีย โดยฝ่ายบริหารของทรัมป์ยกเลิกการคว่ำบาตรของสหรัฐที่บังคับใช้กับรัสเซียหลังจากการผนวกไครเมียในปี 2014 และสนับสนุนให้รัสเซียกลับเข้าสู่การเป็นสมาชิกกลุ่ม 7[121] และภายหลังจากที่เขาได้พบกับปูตินในการประชุมสุดยอดผู้นำที่เฮลซิงกิเมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 ทรัมป์ได้วิพากษ์วิจารณ์สมาชิกพรรคการเมืองทั้งทางฝั่งริพับลิกันและเดโมแครตในการปฏิเสธการแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 แทนที่จะยอมรับการพิสูจน์เหตุการณ์ดังกล่าวของหน่วยข่าวกรองสหรัฐว่ารัสเซียได้ทำการแทรกแซงการเลือกตั้งดังกล่าวจริง
รัฐบาลทรัมป์ให้การสนับสนุนการแทรกแซงของซาอุดีอาระเบียในสงครามกลางเมืองเยเมนอย่างเปิดเผย เขาลงนามในข้อตกลงมูลค่า 110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อขายอาวุธให้แก่ซาอุดีอาระเบียใน ค.ศ. 2017[122] ภายหลังเหตุโจมตีโรงงานผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียเมื่อ ค.ศ. 2019 สหรัฐ และซาอุดีอาระเบียร่วมกันประนามการกระทำดังกล่าวโดยเชื่อกันว่าอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ทรัมป์อนุมัติการส่งกองกำลังสหรัฐเพิ่มเติมกว่า 3,000 นาย ซึ่งรวมถึงฝูงบินขับไล่ไปยังซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง
ในขณะที่ความสัมพันธ์กับอิหร่านเต็มไปด้วยความตึงเครียด ทรัมป์มีคำสั่งให้สหรัฐถอนตัวจากแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม ข้อตกลงเพื่อสันติซึ่งยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ต่ออิหร่านแลกกับข้อจำกัดในโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ทรัมป์และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐใช้ส่วนหนึ่งของข้อตกลงดังกล่าวกดดันให้สหประชาชาติกลับมาพิจารณามาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านอีกครั้ง นักวิเคราะห์ทางการเมืองแสดงทรรศนะว่าการถอนตัวดังกล่าว ส่งผลให้อิหร่านอ้างความชอบธรรมในการกลับมาพัฒนาโครงการอาุวธนิวเคลียร์อีกครั้ง[123] ทรัมป์มีบัญชาให้สหรัฐปฏิบัติการในเหตุโจมตีทางอากาศที่ท่าอากาศยานนานาชาติแบกแดด นำมาซึ่งการเสียชีวิตของนายพลกอเซม โซเลย์มอนี และและอะบู มะฮ์ดี อัลมุฮันดิสซึ่งสร้างความโกรธแค้นแก่อิหร่าน หนึ่งสัปดาห์ต่อมา อิหร่านตอบโต้ด้วยการใช้ขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอากาศสหรัฐสองแห่งในอิรัก[124]
ทรัมป์กล่าวโจมตีจีนอย่างเปิดเผย โดยกล่าวว่าจีนเอาเปรียบสหรัฐทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม การเพิ่มจำนวนภาษีศุลกาการมหาศาลนำไปสู่สงครามการค้าจีน–สหรัฐ ได้รับการวิจารณ์ในวงกว้างว่าเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง[125] รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรห้ามนำเข้าสินค้าจากหัวเว่ยฐานให้การสนับสนุนอิหร่าน[126] รวมถึงเพิ่มข้อจำกัดทางการตรวจลงตราต่อนักวิชาการและนักศึกษาจีนจำนวนมาก[127] ทรัมป์ยกย่องสี จิ้นผิง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน[128] ซึ่งเป็นผลมาจากการเจรจาสงครามการค้า หลังจากชื่นชมจีนในการจัดการกับการระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรก ท่าทีของทรัมป์เปลี่ยนไป และเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การรับมือดังกล่าวตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 ทรัมป์แสดงจุดยืนต่อต้านการลงโทษจีนสำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยในภูมิภาคซินเจียง เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อการเจรจาการค้า[129] ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 ฝ่ายบริหารของทรัมป์บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร และข้อจำกัดด้านการตรวจลงตราต่อเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน เพื่อตอบสนองต่อการขยายค่ายกักกันที่ควบคุมชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์มากกว่าหนึ่งล้านคน
รัฐบาลทรัมป์สนับสนุนเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล โดยรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวง และสนับสนุนอธิปไตยของอิสราเอลเหนือที่ราบสูงกอราน นำไปสู่การประณามจากนานาชาติรวมทั้งจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ, สหภาพยุโรป และสันนิบาตอาหรับ[130] ในปี 2020 ทำเนียบขาวเป็นเจ้าภาพการลงนามข้อตกลงชื่อ Abraham Accords ระหว่างอิสราเอล, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ทรัมป์มีคำสั่งให้โจมตีด้วยขีปนาวุธในภูมิภาคอัสซาดในซีเรีย เพื่อตอบโต้การโจมตีเคมีที่คอนชัยคูน ค.ศ. 2020 และการโจมตีเคมีที่ดูมาในปีต่อมาตามลำดับ[131] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 ทรัมป์ประกาศว่า "เรามีชัยเหนือรัฐอิสลามแล้ว" ซึ่งขัดแย้งกับการประเมินของกระทรวงกลาโหม และมีคำสั่งถอนทหารออกจากซีเรีย[132] ในวันต่อมา พลเอกเจมส์ แมตทิส ประกาศลาออกเพื่อต่อต้านการกระทำดังกล่าว โดยกล่าวว่าการตัดสินใจของทรัมป์ว่าเป็นการละทิ้งพันธมิตรชาวเคิร์ดของสหรัฐที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับไอซิส (รัฐอิสลาม) ในเดือนตุลาคม 2019 หลังจากการหารือกับเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี ทหารจากกองทัพบกสหรัฐในซีเรียตอนเหนือก็ถูกถอนออกจากพื้นที่ และตุรกีได้บุกโจมตีตอนเหนือซีเรียโดยโจมตีและขับไล่ชาวเคิร์ดที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ[133] ในเดือนนั้น สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 354–60 เสียง ประณามการที่ทรัมป์ถอนทหารสหรัฐออกจากซีเรียในฐาน "ละทิ้งพันธมิตรสหรัฐ และเป็นบ่อนทำลายการต่อสู้กับ ISIS และก่อให้เกิดหายนะด้านมนุษยธรรม"
การจัดสรรบุคลากร
ฝ่ายบริหารในรัฐบาลทรัมป์มีอัตราการหมุนเวียนสูงโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงาน ณ ทำเนียบขาว ข้อมูลระบุว่ามีเจ้าหน้าที่กว่าร้อยละ 34 ลาออกหรือถูกไล่ออกเมื่อสิ้นสุดปีแรกในการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2018 ผู้ช่วยอาวุโสของฝ่ายบริหารกว่าร้อยละ 61 ลาออกจากตำแหน่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ 141 คนจากฝ่ายบริหารทั่วไปซึ่งลาออกในปีที่แล้วซึ่งตัวเลขทั้งสองรายการถือเป็นสถิติสูงสุดของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงสองปีแรก ในจำนวนนี้รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งเพียง 25 วัน และเลขาธิการสื่อมวลชนอย่างฌอน สไปเซอร์ ทรัมป์เป็นที่วิจารณ์จากการดูหมิ่นและแสดงความเห็นต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาในที่สาธารณะ โดยใช้คำพูดเสียดสีรุนแรง เช่น ไร้ความสามารถและโง่[134]
มีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวหรือผู้ช่วยประธานาธิบดีสี่รายในรัฐบาลทรัมป์ หัวหน้าคนแรกอย่าง ไรนซ์ พรีบัส ดำรงตำแหน่งเพียง 7 เดือนก่อนจะถูกแทนที่ด้วยพลเอก จอห์น เอฟ. เคลลี ซึ่งประกาศลาออกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 จากความไม่พอใจกรณีการถูกลดบทบาทและได้รับการดูหมิ่นจากทรัมป์[135] มิค มัลเวนีย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและงบประมาณ (OMB) เข้ามารับตำแหน่งต่อ และถูกแทนที่โดยมาร์ก มีโดวส์ เดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 นอกจากนี้ ทรัมป์ยังสูญเสียสมาชิกคณะรัฐมนตรีเดิมไปถึง 3 รายจากทั้งหมด 15 คนภายในปีแรกของการรับตำแหน่ง[136] ทอม ไพรซ์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขถูกบังคับให้ลาออกในเดือนกันยายน ค.ศ. 2017 จากกรณีการใช้เครื่องบินส่วนตัว และเครื่องบินของกองทัพมากเกินความจำเป็น[137]
ทรัมป์ยังมีการตอบสนองต่อการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งระดับสองในฝ่ายบริหารที่ล่าช้า โดยให้เหตุผลว่าหลายตำแหน่งไม่มีความจำเป็นต่อการบริหาร จากข้อมูลในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2017 พบว่าผู้ดำรงตำแหน่งย่อยในคณะรัฐมนตรีกว่า 100 ตำแหน่งยังไม่ได้รับการเสนอชื่อ นอกจากนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อในตำแหน่งระดับสูงเพียง 433 รายจากตำแหนงว่าง 706 ตำแหน่ง
การรับมือกับไวรัสโคโรนา
ในเดือนธันวาคม 2019 ไวรัสโคโรนาได้แพร่ระบาดขึ้นในอู่ฮั่น และแพร่กระจายทั่วโลกภายในไม่กี่สัปดาห์[138] ผู้ติดเชื้อรายแรกได้รับการยืนยันในสหรัฐเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2020[139] การระบาดได้รับการประกาศทางการว่าเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโดย Alex Azar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและการบริการมนุษย์ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2020 ในเดือนต่อมา ทรัมป์กล่าวต่อสาธารณชนว่าการระบาดในสหรัฐร้ายแรงน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่และอยู่ภายใต้การควบคุม ในขณะเดียวกันเขากลับกล่าวยอมรับสิ่งที่ตรงกันข้ามออกมาในการสนทนาส่วนตัวกับ บ็อบ วูดวาร์ด ในเดือนมีนาคม โดยทรัมป์บอกกับวูดวาร์ดว่าเขาจำเป็นต้องให้สัมภาษณ์ในเชิงบวกเพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2020 การจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ และไบออนเทคล็อตแรกได้เดินทางถึงสหรัฐ และถูกส่งไปยัง 50 รัฐทั่วประเทศ
พ้นจากตำแหน่ง

ทรัมป์ประสบกับความยากลำบากในการหาเสียงเลือกตั้งสมัยที่สอง[140] โพลทุกสำนักต่างรายงานว่าเขามีคะแนนตามหลังไบเดินมากถึง 10 จุด คะแนนความนิยมของเขายิ่งลดน้อยลงในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และความรุนแรงจากการประท้วงในประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อดีตเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญของทำเนียบขาว และคณะรัฐมนตรีต่างทยอยออกมาพูดถึงทรัมป์ในแง่ลบ และสมาชิกพรรคแทบทุกคนต่างถอดใจว่าเขาจะแพ้การเลือกตั้ง
ทรัมป์แพ้การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2020 ส่งผลให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ที่ไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้เป็นสมัยที่สอง (และคนแรกในรอบ 28 ปีต่อจากจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช)[141] โดยผลสำรวจพบว่า ทรัมป์ล้มเหลวในการรับมือโควิด-19[142] และไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในด้านสิทธิมนุษยชน และการเหยียดผิวจากกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์[143] รวมทั้งการประกาศสงครามการค้า, การตั้งกำแพงภาษีกับจีน และอีกหลายประเทศได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจลามไปทั้งโลก[144] ในขณะที่ประชาชนกว่า 74 ล้านเสียง ที่ยังคงเชื่อมั่นเขาเนื่องมาจากความมั่นใจในนโยบายทางเศรษฐกิจและการปราบปรามผู้ลักลอบเข้าเมือง รวมทั้งการแก้ปัญหาการว่างงาน รัฐจอร์เจียได้ประกาศนับคะแนนใหม่ในขณะที่ไบเดินมีคะแนนนำทรัมป์ 14,000 คะแนน ท้ายที่สุดไบเดินเอาชนะได้ในรัฐนี้ โดยในช่วงแรกของการนับคะแนนทั่วประเทศทรัมป์มีคะแนนนำไบเดิน แต่เมื่อนับบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ คะแนนของไบเดินก็ตีตื้นขึ้นมาและเอาชนะไปได้หลายรัฐ[145] ไบเดินยังถือเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับคะแนนมหาชนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ 81 ล้านเสียง[146]
ดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง (ค.ศ. 2025–ปัจจุบัน)
สรุป
มุมมอง
การหาเสียง

ทรัมป์ประกาศลงสมัครเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 พร้อมกับจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการเลือกตั้ง[147] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2023 ศาลสูงสดแห่งรัฐโคโลราโดได้ตัดสินให้ทรัมป์ถูกตัดสิทธิ์การเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคริพับลิกัน เนื่องจากการสนับสนุน และยุยงเหตุโจมตีรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 ต่อมา ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2024 ศาลสูงสุดสหรัฐรับรองคุณสมบัติให้แก่ทรัมป์อีกครั้ง โดยตัดสินว่าศาลแห่งรัฐโคโลราโดขาดอำนาจในการบังคับใช้มาตรา 3 จากการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 ซึ่งห้ามผู้ก่อความไม่สงบจากการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลกลาง[148]
ทรัมป์มีการใช้วาทกรรมที่รุนแรงมากขึ้นในการหาเสียงครั้งนี้เทียบกับครั้งที่ผ่านมา[149][150] เขาวิจารณ์ความล้มเหลวในการบริหารของไบเดิน และมุ่งเป้าโจมตีผู้สมัครจากเดโมแครตซึ่งก็คือกมลา แฮร์ริส ในฐานะรองประธานาธิบดีคนปัจจุบันซึ่งมีส่วนทำให้การบริหารประเทศล้มเหลว ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะติดอาวุธให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมและเอฟบีไอเพื่อต่อต้านฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของเขา รวมถึงสนับสนุนการใช้กำลังทหารติดตามนักการเมืองจากพรรคเดโมแครตซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองตรงข้าม ทรัมป์ใช้ถ้อยคำต่อต้านผู้อพยพเข้าเมืองที่รุนแรง และลดทอนความเป็นมนุษย์มากกว่าในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี การยอมรับและสนับสนุนลัทธิหัวรุนแรงฝ่ายขวาจัดของเขา และการใช้วาทศิลป์ที่รุนแรงมากขึ้นต่อศัตรูทางการเมืองได้รับการอธิบายโดยนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการว่าเป็นประชานิยม และเผด็จการฟาสซิสต์ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในการหาเสียงของประธานาธิบดีคนใดมาก่อน[151] ทรัมป์แสดงเจตนาในการปฏิวัตินโยบายการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลของไบเดิน โดยใช้คำพูดเปรียบเปรยถึงผู้อพยพเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการก่ออาชญากรรมในสหรัฐ

ประชาชนและผู้ติดตามจำนวนหนึ่งแสดงความกังวลต่ออายุที่มากขึ้นและปัญหาทางสุขภาพของทรัมป์ เขายังยืนกรานปฏิเสธการยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว และยังเชื่อว่ามีการโกงเลือกตั้งอย่างเปิดเผย และจะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ต่อมา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 ทรัมป์รอดชีวิตจากเหตุลอบสังหารในขณะหาเสียงในรัฐเพนซิลเวเนีย ในขณะที่ผู้ก่อเหตุได้ถูกวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่ ประธานาธิบดีไบเดินออกมาประณามการกระทำดังกล่าว และกล่าวว่าสหรัฐไม่มีพื้นที่สำหรับความรุนแรงหรือการปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างด้วยกำลังและการประทุษร้าย[152] สองวันต่อมา ในการประชุมสามัญของริพับลิกัน พรรคมีมติเสนอชื่อทรัมป์พร้อมด้วยวุฒิสภาชิกอย่าง เจดี แวนซ์ เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ทรัมป์กล่าวกับผู้ฟังในขณะหาเสียงถึงความพยายามลอบสังหารเขาเมื่อเร็ว ๆ นี้ และกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าพยายามขัดขวางความพยายามของเขา การชุมนุมครั้งนี้มีผู้มีชื่อเสียงได้รับเชิญหลายคน ซึ่งล้วนสะท้อนความรู้สึกที่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ ในขณะที่การสืบสวนเรื่องภัยคุกคามต่อทรัมป์ยังคงดำเนินต่อไป[153]
การหาเสียงครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากอีลอน มัสก์ นักธุรกิจชื่อดัง โดยมัสก์มีชื่อเป็นผู้บริจาคให้แก่แคมเปญหาเสียงของทรัมป์สูงสุดเป็นอันดับสองเมื่อสิ้นปี 2023 มัสก์สนับสนุนแนวคิดของทรัมป์ในการบอกกับประชาชนว่าแดโมแครตคือภัยต่อความมั่นคงของชาติ[154][155] ทีมงานของทรัมป์เน้นลงพื้นที่ใน 7 รัฐสำคัฐซึ่งล้วนแต่เป็นรัฐสมรภูมิหรือรัฐที่มีแนวโน้มว่าผลการเลือกตั้งอาจผันผวน อันประกอบไปด้วย แอริโซนา, วิสคอสซิน, มิชิแกน, เพนซิลเวเนีย, เนวาดา, นอร์ทแคโรไลนา และฟลอริดา แม้โพลหลายสำนักจะรายงานไปในทิศทางเดียวกันว่าทรัมป์มีคะแนนตามหลังในรัฐดังกล่าวเล็กน้อย
ได้รับชัยชนะ
ทรัมป์คว้าชัยเหนือกมลา แฮร์ริส ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการพบว่าทรัมป์เอาชนะได้ถึง 30 รัฐซึ่งรวมถึง 7 รัฐสมรภูมิสำคัญ[156] นอกจากนี้ เขายังรักษาฐานเสียงในรัฐอนุรักษ์นิยมได้ทุกรัฐในภูมิภาคตอนกลางและตอนเหนือ โดยได้รับชัยชนะขาดลอยในหลายรัฐ เช่น ไวโอมิง, ยูทาห์, โอคลาโฮมา, ลุยเซียนา และอาร์คันซอ เขายังได้รับเสียงสนับสนุนในรัฐแคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์กซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของเดโมแคตรมาเกือบหนึ่งศตวรรษด้วยคะแนนเกือบ 5 ล้าน และ 3.5 ล้านคะแนนตามลำดับ ด้วยวัย 78 ปีในวันเลือกตั้ง เขาจึงเป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทรัมป์ประกาศชัยชนะอย่างไม่เป็นทางการในช่วงดึกตามเวลาท้องถิ่น ณ เวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา โดยเจดี แวนซ์ จะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่ 50 ทั้งคู่มีกำหนดเข้าพิธีสาบานตนในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2025[157]
ทรัมป์ถือเป็นประธานาธิบดีคนที่สองที่ดำรงตำแหน่งสองสมัยแบบไม่ต่อเนื่องกัน นับตั้งแต่โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ชนะการเลือกตั้งใน ค.ศ. 1892 เขายังกลายเป็นผู้สมัครคนแรกในรอบกว่า 20 ปีจากพรรครีพับลิกันที่ชนะคะแนนมหาชน (Popular Vote) ซึ่งเขาล้มเหลวมาสองครั้งก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้ง ค.ศ. 2016 และ 2020 ในครั้งนี้เขาได้รับคะแนนมหาชนเกือบ 75 ล้านเสียง
นโยบาย
ทรัมป์ประกาศอย่างแข็งกร้าวตั้งแต่ก่อนหาเสียงว่าจะกลับมาฟื้นฟูประเทศภายใต้นโยบาย "Make America Great Again" อีกครั้ง โดยเฉพาะการปราบปราบผู้ลักลอบอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และการตั้งกำแพงภาษีเพื่อลดการถูกเอาเปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมจากชาติมหาอำนาจด้วยกัน
เศรษฐกิจและสังคม

ทรัมป์เข้ามาสานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจากฝ่ายบริหารของไบเดิน ซึ่งมีรายงานว่าอัตราการว่างงานและเงินเฟ้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญตลอด 4 ปี[158][159][160] สถาบันนโยบายเศรษฐกิจและนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า "เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในสภาวะที่ดีที่สุดยิ่งกว่าการส่งมอบงานให้แก่ประธานาธิบดีคนใด ๆ ก็ตาม นับตั้งแต่จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เข้ารับตำแหน่งต่อจากบิล คลินตันใน ค.ศ. 2001"[161][162]
ในวันแรกของการดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ออกมาตรการโดยมุ่งเป้าไปที่การอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เขามีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนส่งตัวผู้อพยพข้ามชายแดนโดยผิดกฎหมาย รวมถึงการปิดการใช้งานแอปพลิเคชัน CBP One ที่ใช้ในการกำหนดเวลาการข้ามชายแดนให้คงอยู่ในเม็กซิโกต่อ ทรัมป์ยังกลับมาสานต่อนโยบายในการส่งทหารไปยังชายแดนทางตอนใต้ของสหรัฐ และสร้างกำแพงชายแดนขึ้นมาใหม่[163][164][165] ทรัมป์ประกาศใช้มาตรการเนรเทศผู้ลักลอบอพยพจำนวนมาก โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและการบังคับใช้กฎหมายศุลกากร (ICE) รายงานว่า มีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 1,000 รายต่อวันในช่วงสัปดาห์แรกที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ยังมีเป้าหมายในการจับกุมผู้กระทำผิดกว่า 1,200 ถึง 1,500 รายต่อวันในช่วงแรก นอกจากนี้ ยังมีการเร่งถอดถอนผู้ขอลี้ภัยที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดอีกด้วย[166][167][168]
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2025 ฝ่ายบริหารของทรัมป์ดำเนินการเชิงรุกต่อนโยบาย "อุดมการณ์ทางเพศ" อย่างแข็งกร้าว โดยกำหนดว่า การระบุเพศสภาพในหนังสือเดินทางและเอกสารราชการจะมีเพียงสองเพศเท่านั้น ทรัมป์ให้คำนิยามต่อคำสั่งดังกล่าวว่าเป็น "การปกป้องสตรีจากอุดมการณ์ทางเพศอันสุดโต่ง" คำสั่งนี้ยังครอบคลุมถึงการใช้คำว่า "เพศ (Sex)" แทนคำว่า "เพศสภาพ (Gender)" ในเอกสารราชการทั้งหมด ทรัมป์ยังยุติการสนับสนุนการคุ้มครองทางเพศสภาพแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี และห้ามสตรีข้ามเพศสมัครเข้าร่วมกองทัพ หรือลงแข่งขันกีฬาทุกรายการที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลกลาง[169]
การต่างประเทศ
แม้จะยังไม่เข้าพิธีสาบานตน ทว่าในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 ทรัมป์เริ่มต้นนโยบายต่างประเทศด้วยการแต่งตั้งทูตสหรัฐประจำประเทศอิสราเอล รวมทั้งแต่งตั้งสตีฟ วิตคอฟฟ์ ในฐานะผู้แทนพิเศษประจำภูมิภาคตะวันออกกลางเพื่อกำกับดูแลนโยบายตามบัญชาของประธานาธิบดี นอกจากนี้ บีบีซียังรายงานว่า ทรัมป์แต่งตั้งพีท เฮกเซธ และมาร์โก รูบิโอ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนต่อไปตามลำดับ[170][171]
อิสราเอล – ปาเลสไตน์

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2025 รัฐบาลทรัมป์มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางเจรจาเพื่อการพักรบในสงครามอิสราเอล–ฮะมาส ร่วมกับรัฐบาลไบเดินซึ่งประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวหนึ่งวันก่อนพิธีสาบานตนของทรัมป์[172][173] ทรัมป์กลับมาสานต่อนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายด้วยการประกาศขึ้นบัญชีกลุ่มกบฏฮูตี หรือชื่อเดิมว่า อันซาร์ อัลเลาะห์ ให้กลับมามีสถานะเป็น “องค์กรก่อการร้ายต่างชาติ” อีกครั้งเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2025 ตามถ้อยแถลงของทำเนียบขาว[174][175] ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2025 ทรัมป์ประกาศว่าสหรัฐจะยึดครองฉนวนกาซา และอาจหมายถึงการเนรเทศผู้อาศัยชาวปาเลสไตน์นับล้านคนออกจากดินแดนนี้ การประกาศนี้นำไปสู่การวิจารณ์จากนานาชาติอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เนื่องจากอาจเป็นชนวนเหตุไปสู่ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง[176] ทรัมป์ยังลงนามในคำสั่งการคว่ำบาตรศาลอาญาระหว่างประเทศโดยอ้างถึงการกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ภายหลังออกหมายจับเบนจามิน เนทันยาฮู ในข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงครามในฉนวนกาซา[177]
แคนาดา – เม็กซิโก
ในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 2025 ทรัมป์กล่าวว่ารัฐบาลของเขาอาจเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตราสูงถึง 25% โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ในขณะที่แคนาดาและเม็กซิโกดังกล่าวยังมีท่าทีเรียบเฉยต่อคำขู่ดังกล่าว[178] การประกาศดังกล่าวสร้างความวิตกให้แก่ชาติมหาอำนาจว่าอาจนำไปสู่สงครามการค้า ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ทรัมป์มีคำสั่งให้เปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโก (Gulf of Mexico) เป็น Gulf of America[179] ในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 2025 ทรัมป์ออกคำสั่งเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% และปิดโอกาสในการเจรจาต่อรอง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2025[180]
ยูเครน
เป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่ช่วงหาเสียงว่า หนึ่งในโยบายเร่งด่วนด้านการต่างประเทศของทรัมป์คือการยุติความขัดแย้งในสงครามรัสเซีย–ยูเครน ซึ่งยืดเยื้อมากว่าหนึ่งทศวรรษ ภายหลังการหารือร่วมกับกลุ่มติดต่อด้านกลาโหมยูเครน เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2025 พีต เฮกเซท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระบุว่า การหวนคืนสู่เขตแดนของยูเครนช่วงก่อนปี 2014 ถือเป็นวัตถุประสงค์ที่ดู "ไม่เป็นจริง" ในข้อตกลงสันติภาพที่ทรัมป์ต้องการเจรจา พร้อมเสริมว่าความพยายามใด ๆ ที่จะยึดดินแดนคืนทั้งหมด “มีแต่จะทำให้สงครามยืดเยื้อ และก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานมากขึ้น” เฮกเซทยังกล่าวอีกว่า "ประธานาธิบดีคาดหวังว่าชาติในยุโรปจะให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และการทหารแก่ยูเครนมากขึ้น" ในขณะที่สหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงของตนเองและความท้าทายจากจีน โดยจะไม่มีการส่งกองกำลังไปยังยูเครน[181][182]
ในวันต่อมา ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ว่ามีการหารือทางโทรศัพท์ร่วมกับประธานาธิบดีปูตินเป็นการส่วนตัว และผลของการสนทนานั้น "ยาวนานและน่าพึงพอใจ" ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันให้รัสเซียยุติการโจมตี รวมทั้งหารือกำหนดการในการไปเยือนระหว่างสองประเทศ ในขณะที่ประธานาธิบดี วอลอดือมือร์ แซแลนสกึย เผยว่าตนเองหารือร่วมกับทรัมป์เช่นกัน โดยกล่าวว่า "เรา (ยูเครน) กำลังร่วมมือกับสหรัฐฯ ดำเนินการขั้นตอนต่อไปเพื่อยับยั้งการรุกรานของรัสเซีย อันเป็นหลักประกันสันติภาพที่ยั่งยืนและเชื่อถือได้" แซแลนสกึยยังมีแผนเข้าพบรองประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเจดี แวนซ์ และมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในการประชุมความมั่นคงแห่งมิวนิก แม้ทรัมป์จะแสดงจุดยืนชัดเจนในการพิทักษ์แซแลนสกึยและยูเครนให้อยู่ในกระบวนการสันติภาพ อย่างไรก็ดี ทรัมป์กล่าวว่า "เมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณ (ยูเครน) จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง" และอ้างว่าคะแนนนิยมในตัวแซแลนสกึยจากผลสำรวจไม่น่าพึงพอใจนัก[183] ทีมบริหารของทรัมป์มีกำหนดหารือร่วมกับผู้แทนรัสเซียเพื่อหาข้อยุติ ณ ซาอุดีอาระเบีย[184]
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2025 ทรัมป์และแซแลนสกึยมีกำหนดแถลงข่าวร่วมกัน ณ ทำเนียบขาว โดยผู้นำยูเครนร้องขอคำมั่นด้านความมั่นคงที่ชัดเจนจากสหรัฐ ก่อนที่การเจรจาจะยุติลงสิ้นเชิงเมื่อทั้งสองฝ่ายปะทะคารมอย่างดุเดือดต่อหน้าสื่อ ทรัมป์กล่าวว่าผู้นำยูเครนมีท่าทีแข็งกร้าวและยังไม่พร้อมสำหรับสันติภาพ และกำลังเดิมพันชีวิตผู้คนนับล้านกับสงครามโลกครั้งที่สาม[185] นอกจากนี้ เจดี แวนซ์ ยังระบุว่า แซแลนสกึยขาดความเคารพต่อสหรัฐโดยตนมองว่าการเจรจาทางการทูตเป็นวิธีที่ดีกว่า และยังแนะให้แซแลนสกึยกล่าวขอบคุณสหรัฐในความพยายามช่วยเหลือยูเครน ในขณะที่แซแลนสกึยโต้แย้งว่าไม่สามารถเชื่อถือผู้นำรัสเซียอย่างปูตินได้ และยืนกรานไม่ร่วมเจรจาใด ๆ กับรัสเซียจนกว่าจะมีหลักประกันความปลอดภัยที่ชัดเจน การเจรจายุติลงก่อนกำหนด และแซแลนสกึยเดินทางออกจากทำเนียบขาวโดยปราศจากการลงนามข้อตกลงการเข้าถึงแร่หายากซึ่งเป็นข้อแลกเปลี่ยนเพื่อขอความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐ[186][187] ทรัมป์มีคำสั่งระงับความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนในวันที่ 3 มีนาคม 2025[188]
สิ่งแวดล้อม
ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ลงนามเพื่อเริ่มต้นกระบวนการนำสหรัฐถอนตัวจากความตกลงปารีส ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือการควบคุมอุณหภูมิโลกในระยะยาวไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส การลงนามดังกล่าวนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ในวงกว้างจากประเทศสมาชิกเกือบ 200 ประเทศ[189] ทรัมป์ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำการแนะนำสมาชิกรัฐสภาในด้านด้านน้ำมัน ก๊าซ และเคมีให้แก่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) เพื่อยกเลิกกฎระเบียบด้านสภาพภูมิอากาศและการควบคุมมลพิษ เขาประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานแห่งชาติ ส่งผลให้สหรัฐสามารถระงับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมบางประการ รวมถึงการอนุมัติโครงการพลังงานได้เร็วขึ้น และยังผลักดันการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคต่าง ๆ[190][191][192]
การจัดสรรบุคลากร
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 ทรัมป์แต่งตั้งอีลอน มัสก์ และวิเวก รามสวามี เข้ารับตำแหน่งผู้ดูแลกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลซึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ โดยเป็นหน่วยงานที่ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล[193] ต่อมา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ทรัมป์เสนอชื่อโรเบิร์ต เอฟ.เคนเนดี จูเนียร์ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐ นำมาซึ่งกระแสวิจารณ์และการต่อต้านจากสมาชิกพรรคเนื่องจากจุดยืนการต่อต้านวัคซีนของนายโรเบิร์ต[194][195] นอกจากนี้ ทรัมป์ยังแต่งตั้งแคโรไลน์ เลวิตต์ ดำรงตำแหน่งโฆษกหญิงประจำทำเนียบขาว โดยเลวิตต์มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ช่วยรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ตั้งแต่การเลือกตั้งสมัยแรก และเป็นอดีตผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของพรรคริพับลิกัน และเธอจะเป็นโฆษกประจำทำเนียบขาวที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์[196]
ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2025 ทรัมป์ประกาศให้มัสก์มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่พิเศษของรัฐ[197] ในฐานะผู้ดูแลกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลซึ่งมีอำนาจในการเข้าถึงหน่วยงานจากรัฐบาลกลางหลายแห่ง รวมถึงระบบการชำระเงินมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ของกระทรวงการคลัง[198] อำนาจในการกำหนดขอบข่าย และตรวจสอบประสิทธิภาพการบริหารงานของหน่วยงานอื่น อาทิ สำนักงานฝ่ายบริหารงานบุคคลสหรัฐ, สำนักบริหารงานบริการทั่วไป และ สำนักงานบริหารธุรกิจขนาดเล็ก[199] ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2025 ทรัมป์มีคำสั่งปลดพลอากาศเอก ชาร์ลส์ คิว. บราวน์ จากตำแหน่งประธานคณะเสนาธิการร่วม และเสนอชื่อจอห์น แดเนียล เคน ดำรงตำแหน่งแทน[200]
สื่อสังคม
ทรัมป์ถือเป็นหนึ่งในบุคคลระดับโลกที่มีชื่อเสียงในด้านการใช้โซเชียลมีเดีย[201] โดยเขามีผู้ติดตามจำนวนมากนับตั้งแต่สมัครบัญชีทวิตเตอร์ใน ค.ศ. 2009 และมีจำนวนผู้ติดตามสูงถึง 90 ล้านคนทั่วโลก โดยตลอดระยะเวลา 12 ปี เขาทำการโพสต์ในทวิตเตอร์ไปถึง 57,000 ครั้ง โดยเป็นการโพสต์ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง 25,000 ครั้ง[202] เขายังชื่นชอบการติดต่อสื่อสารผ่าน เฟซบุ๊ก โดยมักใช้เป็นพื้นที่ส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โจมตีคู่แข่งทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่ก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง เช่น บารัก โอบามา และโจ ไบเดิน รวมถึง แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ผู้ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทรัมป์มาตลอดตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งในช่วงแรก[203] บัญชีเฟซบุ๊กของทรัมป์ถูกระงับในเดือนมกราคม 2021[204]
งานอื่น
สรุป
มุมมอง
ใน ค.ศ. 2004 ทรัมป์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยทรัมป์ ณ เมืองนิวยอร์ก บริษัทที่ขายด้านอสังหาริมทรัพย์ในราคาสูงถึง 35,000 ดอลลาร์[205] อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการเปลี่ยนชื่อเป็น Trump Entrepreneur Initiative ในปี 2010 เนื่องจากการใช้ชื่อ "University" โดยที่บริษัทดังกล่าวไม่มีสถานะเป็นสถานศึกษาถือว่าขัดต่อกฎหมายรัฐ นำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อบริษัทโดยรัฐนิวยอร์กในข้อหาการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อสาธารณะและเข้าข่ายฉ้อโกงผู้บริโภค รวมถึงการฟ้องร้องโดยรัฐบาลกลางในข้อหาให้ข้อมูลเท็จและสร้างความเข้าใจผิดแก่นักศึกษา ไม่นานหลังจากชนะเลือกตั้งใน ค.ศ. 2016 ทรัมป์ยอมจ่ายเงินจำนวน 25 ล้านดอลลาร์เพื่อยุติการฟ้องร้องดังกล่าว
ทรัมป์ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ ดอนัลด์ เจ. ทรัมป์ มูลนิธิเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1988[206] ตั้งแต่ ค.ศ. 1987–2006 ทรัมป์บริจาคเงินให้กับมูลนิธิของเขาจำนวน 5.4 ล้านดอลลาร์ หลังจากบริจาคเงินทั้งหมด 65,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2007 ถึง 2008 เขายุติการบริจาคเงินส่วนบุคคลใด ๆ ให้กับองค์กรการกุศลซึ่งได้รับเงินสนับสนุนหลายล้านดอลลาร์จากกองทุนอื่น ๆ ในปี 2016 หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานว่าองค์กรการกุศลดังกล่าวได้กระทำการละเมิดกฎหมายและจริยธรรมที่อาจเกิดขึ้นหลายประการ รวมถึงการถูกกล่าวหาว่าเป็นการจัดการตนเองและการหลีกเลี่ยงภาษี นอกจากนี้ ในปี 2016 อัยการสูงสุดของนิวยอร์กได้ตัดสินให้มูลนิธิดังกล่าวฝ่าฝืนกฎหมายรัฐ สำหรับการเรี่ยไรเงินบริจาคโดยไม่ผ่านการตรวจสอบภายนอกประจำปี และสั่งให้ยุติกิจกรรมระดมทุนในนิวยอร์กทันที ทีมงานของทรัมป์ประกาศยุติการเคลื่อนไหวของมูลนิธิในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2016[207] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2018 สำนักงานอัยการสูงสุดแห่งนิวยอร์กได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อมูลนิธิของทรัมป์ และบุตรทุกคนที่บรรลุนิติภาวะ โดยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน 2.8 ล้านดอลลาร์และกำหนดบทลงโทษเพิ่มเติม[208] มูลนิธิภายใต้ความดูแลของเขายุติบทบาทสิ้นเชิงในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 รวมถึงยุติการเบิกจ่ายทรัพย์สินให้แก่องค์การการกุศลอื่น ๆ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 ผู้พิพากษาแห่งรัฐนิวยอร์กมีคำสั่งให้ทรัมป์จ่ายเงินชดเชยจำนวน 2 ล้านดอลลาร์ให้กลุ่มองค์กรการกุศลที่ใช้เงินของมูลนิธิในทางที่ผิด ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นเงินทุนในการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี[209][210]
ในช่วงทศวรรษ 1980 ธนาคารมากกว่า 70 แห่งให้เงินกู้ยืมแก่ทรัมป์เป็นจำนวนเงินสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์ หลังจากการล้มละลายของบริษัทของเขาในต้นทศวรรษ 1990 ธนาคารรายใหญ่ส่วนใหญ่ ยกเว้นดอยซ์แบงก์ปฏิเสธที่จะอนุมัติการกู้ยืมแก่เขา หลังเหตุการณ์โจมตีรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ธนาคารได้ตัดสินใจที่จะไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเงินใด ๆ กับทรัมป์หรือบริษัทของเขาอีก[211] ยูเอสเอทูเดย์ รายงานว่าทรัมป์และธุรกิจของเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินคดีทางกฎหมายของรัฐและรัฐบาลกลางมากกว่า 4,000 ครั้ง[212]
ทรัมป์ยังมีส่วนร่วมในวงการมวยปล้ำ โดยในปี 2013 ดับเบิลยูดับเบิลยูอีได้บรรจุชื่อทรัมป์เข้าสู่หอเกียรติยศในหมวด Celebrity (ผู้มีชื่อเสียงที่ได้รับการจดจำและมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับสมาคม)[213] ทรัมป์ได้รับเชิญให้ปรากฏตัวในเรสเซิลเมเนียครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2007
ทรัมป์ยังเป็นที่จดจำในฐานะนักเขียนกำบัง โดยมีผลงานเขียนหนังสือ 19 เล่ม[214] เล่มแรกคือ Trump: The Art of the Deal (ค.ศ. 1987) มียอดขายอันดับหนึ่งโดยอันดับหนังสือขายดีเดอะนิวยอร์กไทมส์ แม้ทรัมป์จะได้รับเครดิตในฐานะผู้เขียนร่วม แต่เนื้อหาเกือบทั้งหมดนั้นเขียนโดยโทนี ชวาร์ตซ์ หนังสือเล่มนี้ทำให้ทรัมป์มีชื่อเสียงในฐานะ "สัญลักษณ์ของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ"[215]
ความสัมพันธ์กับสื่อ

ทรัมป์มีชื่อเสียงในด้านการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2016 เขามีความสัมพันธ์ในแง่ที่เรียกว่า "ทั้งรักทั้งเกลียด" (Love - Hate relationship) กับสื่อต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ[216] เขามักเรียกสื่อที่เขียนข่าวโจมตีเขาในแง่ลบว่าเป็นสื่อจอมลวงโลก (Fake News Media) และกล่าวว่าสื่อเหล่านี้เป็นศัตรูต่อประชาชนรวมทั้งประเทศชาติ ในฐานะประธานาธิบดีทรัมป์เปิดเผยต่อสาธารณะชนอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการเพิกถอนหนังสือรับรองของนักข่าวที่เขามองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงไม่สร้างสรรค์[217] ทีมกฎหมายของเขาทำการเพิกถอนบัตรประจำตัวของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาว 2 คน ซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการกระทำดังกล่าว บ่อยครั้งที่ทรัมป์ถูกโจมตีว่ามักใช้วาจาข่มขู่ผู้สื่อข่าว ในช่วงต้นปี 2020 ทีมแคมเปญหาเสียงของทรัมป์ฟ้องร้องหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ เดอะวอชิงตันโพสต์ และ ซีเอ็นเอ็นในข้อหาหมิ่นประมาท ก่อนที่คดีดังกล่าวจะถูกยกฟ้อง
ภาพลักษณ์ต่อสาธารณชน
สรุป
มุมมอง
จากผลสำรวจโดย "C-Span" ในปี 2021 นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มจัดอันดับให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่แย่ที่สุดเป็นอันดับสี่ในการเมืองสหรัฐ เขาได้รับคะแนนต่ำสุดในหัวข้อความเป็นผู้นำทั้งอำนาจทางศีลธรรมและทักษะการบริหาร ในขณะที่ผลสำรวจของสถาบันวิจัยวิทยาลัยเซียนาจัดอันดับให้ทรัมป์อยู่ในอันดับ 43 จากประธานาธิบดีจำนวน 45 คน รวมถึงได้รับการจัดอันดับในกลุ่มท้าย ๆ ในอีกหลายประเภท รวมถึงการจัดอันดับโดยสมาคมวิชาชีพนักรัฐศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับดังกล่าวได้รับการวิจารณ์ในด้านความเป็นกลาง ซึ่งคะแนนทั้งหมดอาจมาจากผลสำรวจจากประชาชนเพียงบางกลุ่มและไม่สามารถสะท้อนความนิยมในภาพรวมทั้งประเทศ
ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคนเดียวที่ไม่เคยได้รับคะแนนเสียงในการอนุมัติ (คะแนนความเชื่อถือในฐานะประธานาธิบดี) ถึงร้อยละ 50 ในการสำรวจความคิดเห็นของ Gallup ซึ่งมีขึ้นในปี 1938 คะแนนของเขาแสดงให้เห็นช่องว่างระหว่างพรรคริพับลิกันที่สูงเป็นประวัติการณ์กว่าร้อยละ 88 และร้อยละ 7 ในบรรดาสมาชิกพรรคเดโมแครตจนถึงเดือนกันยายน 2020[218] ภายหลังการดำรงตำแหน่งครบวาระ คะแนนนิยมของทรัมป์อยู่ระหว่าง 29 ถึง 34 เปอร์เซ็นต์ซึ่งต่ำที่สุดในบรรดาประธานาธิบดีทุกคนนับตั้งแต่เริ่มระบบการเลือกตั้งสมัยใหม่ และมีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 41 เปอร์เซ็นต์ตลอดการดำรงตำแหน่งของเขา[219]
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่บ้างในประชากรหลายล้านคน จากผลสำรวจชาวอเมริกันในหัวข้อชายที่เป็นที่นิมยมที่สุดในสหรัฐพบว่า ทรัมป์มีคะแนนเป็นอันดับสองรองจากบารัก โอบามา ในปี 2017 และ 2018 และเป็นอันดับหนึ่งร่วมกับโอบามาในปีต่อมา ก่อนจะได้รับคะแนนอันดับหนึ่งในปี 2020[220][221] นับตั้งแต่ Gallup ทำผลสำรวจในปี 1948 ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่ได้คะแนนนิยมอันดับหนึ่งในปีแรกของการดำรงตำแหน่ง[222] จากผลสำรวจในอีก 134 ประเทศยังชี้ให้เห็นอีกว่าทรัมป์เป็นที่ยอมรับเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเท่านั้น โดยจำนวน 29 ประเทศระบุว่าเขาเป็นที่ชื่นชอบมากกว่าโอบามา[223] คะแนนนิยมของเขายังลดลงอย่างมากในบรรดาประเทศพันธมิตรหลักของสหรัฐ และกลุ่มผู้นำของประเทศมหาอำนาจกลุ่ม 7 เมื่อเทียบกับประธานาธิบดีคนก่อนหน้า คะแนนนิยมของทรัมป์ตกต่ำและใกล้เคียงกับคะแนนในช่วงสองปีสุดท้ายของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในช่วงกลางปี 2020 จากผลสำรวจของสำนักวิจัยพิว พบว่าคะแนนความน่าเชื่อถือของเขาน้อยกว่าสี จิ้นผิง และ วลาดีมีร์ ปูติน[224]
ทรัมป์เป็นที่วิจารณ์ถึงการกล่าวข้อความเท็จจำนวนมาก ทั้งก่อนและระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี[225] ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองของเขาอย่างหนึ่ง[226] คำให้การที่เป็นเท็จและก่อให้เกิดการเข้าใจผิดของทรัมป์ได้รับการบันทึกไว้โดยผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายครั้ง (Fact-checking) ซึ่งรวมถึงสื่อหลักอย่างเดอะวอชิงตันโพสต์ ซึ่งรวบรวมคำกล่าวที่เป็นเท็จหรือทำให้เข้าใจผิดได้ 30,573 รายการตลอดระยะเวลาสี่ปีในตำแหน่งของเขา อัตราดังกล่าวเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยมากถึง 6 รายการต่อวันในช่วงปีแรกของการดำรงตำแหน่ง และ 39 รายการต่อวันในปีสุดท้าย แม้ในบรรดาข้อความดังกล่าวอาจไม่ส่งผลกระทบใด ๆ เช่น การกล่าวอ้างว่ามีผู้สนับสนุนออกมาต้อนรับเขามากเป็นประวัติการณ์ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง แต่อีกหลายข้อความก็นำมาซึ่งความเสียหายในวงกว้าง เช่น การให้ข้อมูลเท็จกรณีการระบาดทั่วของโควิด-19 ซึ่งเขาถูกกกล่าวหาว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง[227] ทำให้การตอบสนองล่าช้าและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
การโจมตีวิธีการลงคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าทางไปรษณีย์ในการเลือกตั้ง 2020 ส่งผลให้คะแนนนิยมของเขาต่ำลง สื่อแสดงความกังวลเพิ่มเติมว่าการใช้วาทกรรทของเขาอาจนำสู่ความขัดแย้งในวงกว้างและสร้างความเกลียดชังมากขึ้น ผู้ต้องหาจำนวนมากถูกสอบสวนหรือดำเนินคดีในข้อหากระทำความรุนแรงและปลุกปั่นอาชญากรรมในระหว่างการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ รวมถึงผู้เข้าร่วมเหตุการณ์โจมตีรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 โดยบางส่วนอ้างถึงวาทกรรมของทรัมป์ในการโต้แย้งว่าพวกเขาไม่สมควรถูกตำหนิหรือควรได้รับการลดโทษ
การแสดงความเห็นหรือวาทกรรมในหลายบริบทของทรัมป์ถูกมองเป็นการเหยียดเชื้อชาติ[228][229] การศึกษาและการสำรวจหลายรายการพบว่าทัศนคติเหยียดเชื้อชาติดังกล่าว กระตุ้นให้ทรัมป์ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลทางการเมือง และมีความสำคัญมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจในการพิจารณาความจงรักภักดีของผู้มีสิทธิเลือกตั้งของทรัมป์[230] ในขณะที่อาการกลัวอิสลามและการเหยียดเชื้อชาติเป็นตัวบ่งชี้ทัศนคติของกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์อย่างมีนัยสำคัญ[231] ในปี 1975 เขาได้ยุติคดีฟ้องร้องของกระทรวงยุติธรรม โดยกล่าวหาว่ามีการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยต่อผู้เช่าซึ่งเป็นประชากรผิวดำ นอกจากนี้ เขายังถูกกล่าวหาว่าเจตนาเหยียดเชื้อชาติโดยแสดงความเห็นว่ากลุ่มวัยรุ่นผิวดำ และวัยรุ่นชาวลาตินมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราสตรีผิวขาวในคดีนักวิ่งจ๊อกกิ้งที่เซ็นทรัลพาร์คเมื่อปี 1989 แม้ว่าพวกเขาจะพ้นผิดจากหลักฐานดีเอ็นเอในปี 2002 ก็ตาม
ชีวิตส่วนตัว
สุขภาพ
ทรัมป์ระบุว่าตนเองไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกประเภท[232] เขานอนเพียง 4–5 ชั่วโมงต่อวัน[233][234] ทรัมป์เรียกการเล่นกอล์ฟว่าเป็น "การออกกำลังกายหลัก" ของเขา แต่โดยปกติแล้วจะไม่เดินในสนามมากนัก[235] เขาถือว่าการออกกำลังกายเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานเพราะเขาเชื่อว่าร่างกาย "เปรียบเหมือนแบตเตอรี่ที่มีพลังงานจำกัด" ซึ่งอาจหมดไปจากการออกกำลังกาย ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงปี 2015 ทีมงานของทรัมป์ได้เผยแพร่จดหมายจากแฮโรลด์ บอร์นสไตน์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะแพทย์ส่วนตัวของทรัมป์ ใจความว่า "ทรัมป์เป็นบุคคลที่สุขภาพดีที่สุด เท่าที่เคยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี" [236] อย่างไรก็ดี มีการเปิดเผยในปี 2018 ว่าทรัมป์เป็นผู้กำหนดเนื้อความในจดหมายดังกล่าวเอง นอกจากนี้ บอร์นสไตน์ยังระบุว่าเจ้าหน้าที่ของทรัมป์จำนวนสามรายได้ยึดบันทึกทางการแพทย์ของเขาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017[237]
ทรัมป์โปรดปรานอาหารจานด่วนอย่างเคเอฟซี, พิซซา, แมคโดนัลด์ และชอบทานสเต็กรวมถึงไอศกรีม[238][239][240]
ศาสนา
ทรัมป์กล่าวว่าเขาเคยเป็นทั้งเพรสไบทีเรียน และโปรเตสแตนต์[241][242] แม้ว่าในปี 2020 เขาจะเริ่มระบุว่าตนเองไม่สังกัดนิกายใด[243]
ทรัพย์สิน
สรุป
มุมมอง
ทรัมป์ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีฐานะร่ำรวยมากที่สุดของสหรัฐ[4] เขาเริ่มสร้างเนื่อสร้างตัวจากธุรกิจที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากรุ่นพ่อ[244] และได้ขยายกิจการไปยังหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น กาสิโน โรงแรม ที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม[245] อีกทั้งยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัททรัมป์ออร์กาไนเซชัน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ[4] ในปี 2018 เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานชีวประวัติและข้อมูลความร่ำรวยของทรัมป์ว่าทรัมป์มีความมั่งคั่งกว่า 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่รวมอสังหาริมทรัพย์และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ทั้งนี้ ความมั่งคั่งของทรัมป์ยังคงมีความคลุมเคลือ โดยเขาเคยเคยเปิดเผยว่ามีทรัพย์สินมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์[246] ในขณะที่บลูมเบิร์กประเมินว่าเขามีทรัพย์สิน 3 พันล้านดอลลาร์ และนิตยสารฟอร์จูนประเมินว่าเขามีทรัพย์สิน 3.9 พันล้านดอลลาร์[247]
อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทรัมป์เปิดเผยว่าธุรกิจของตนได้รับความเสียหายจากการล็อกดาวน์ โดยรายได้จากโรงแรมในเครือของทรัมป์ทั้งในวอชิงตันและลาสเวกัสลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง รวมถึงธุรกิจกีฬากอล์ฟ ทำให้รายได้โดยรวมของเขาลดลงจนเหลืออยู่ที่ประมาณ 273-308 ล้านดอลลาร์ ในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินครั้งสุดท้ายในฐานะประธานาธิบดี ทรัมป์ได้ลงรายละเอียดความเสียหายที่เกิดจากโควิด-19 ในตอนที่ธุรกิจท่องเที่ยวมากมายได้รับผลกระทบ โดยสมัยที่เป็นผู้นำสหรัฐทรัมป์ได้ต่อต้านนโยบายที่จะชะลอการแพร่ระบาดผ่านการใส่หน้ากากอนามัยและยืนยันว่าสามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้อย่างปลอดภัย ข้อมูลการเงินที่ครอบคลุมตลอดทั้งปี 2020 จนถึง 20 วันแรกของปี 2021 ชี้ให้เห็นว่า รายได้จากโรงแรมทรัมป์ในวอชิงตัน ลดลงเหลือ 15.1 ล้านดอลลาร์จากเดิม 40.5 ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อนหน้า[248] ขณะที่สาขาลาสเวกัส ยอดขายที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมลดลงเหลือ 9.2 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 23.3 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ กอล์ฟรีสอร์ตที่เมืองไมแอมี ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญอีกแห่งของทรัมป์ ก็มีรายได้ลดลงเหลือ 44 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 77 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า ขณะที่สนามกอล์ฟทั้งในอังกฤษและไอร์แลนด์ก็มีรายได้ลดลงประมาณ 2 ใน 3 ของที่เคยทำได้ในปีก่อนหน้า โดยข้อมูลจากการจัดอันดับมหาเศรษฐีของบลูมเบิร์ก พบว่า ทรัพย์สินของทรัมป์ลดลงราว 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 21,525 ล้านบาท เหลือ 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 70,725 ล้านบาทหลังก้าวลงจากตำแหน่ง[4]
วัฒนธรรมร่วมสมัย
ทรัมป์เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลกที่ปรากฎตัวในสื่อล้อเลียนทางโทรทัศน์และเพลงจำนวนมาก ชื่อของเขาปรากฎในเนื้อเพลงหลายร้อยเพลงระหว่างปี 1989 ถึง 2015 แม้จะส่งผลในเชิงบวกต่อการทำธุรกิจของเขาในช่วงก่อนลงเล่นการเมือง ทว่าได้ส่งผลเชิงลบในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ[249]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.