Loading AI tools
อดีตนายกรัฐมนตรีจีน จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลี่ เผิง (จีน: 李鹏; พินอิน: Lǐ Péng; 20 ตุลาคม ค.ศ. 1928 – 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2019) เป็นนักการเมืองชาวจีน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 ถึง 1998 และประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรนิติบัญญัติสูงสุดของจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 ถึง 2003 ตลอดทศวรรษที่ 1990 หลี่ดำรงตำแหน่งรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนที่หนึ่ง เป็นรองเพียงเจียง เจ๋อหมิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในขณะนั้น เขาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนจนกระทั่งเกษียณอายุในปี ค.ศ. 2002
หลี่ เผิง | |||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
李鹏 | |||||||||||||||||||
หลี่ในปี ค.ศ. 1996 | |||||||||||||||||||
นายกรัฐมนตรีจีน คนที่ 4 | |||||||||||||||||||
ดำรงตำแหน่ง 25 มีนาคม ค.ศ. 1988 – 17 มีนาคม ค.ศ. 1998 (9 ปี 357 วัน) รักษาการ: 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1987 – 25 มีนาคม ค.ศ. 1988 (0 ปี 122 วัน) | |||||||||||||||||||
ประธานาธิบดี | หยาง ช่างคุน เจียง เจ๋อหมิน | ||||||||||||||||||
รองหัวหน้ารัฐบาล | ครม. 1 (1988–93)
ครม. 2 (1993–98)
| ||||||||||||||||||
ผู้นำ | เติ้ง เสี่ยวผิง เจียง เจ๋อหมิน | ||||||||||||||||||
ก่อนหน้า | จ้าว จื่อหยาง | ||||||||||||||||||
ถัดไป | จู หรงจี้ | ||||||||||||||||||
ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ คนที่ 7 | |||||||||||||||||||
ดำรงตำแหน่ง 16 มีนาคม ค.ศ. 1998 – 15 มีนาคม ค.ศ. 2003 (4 ปี 364 วัน) | |||||||||||||||||||
ผู้นำ | เจียง เจ๋อหมิน (ผู้นำสูงสุด) | ||||||||||||||||||
ก่อนหน้า | เฉียว ฉือ | ||||||||||||||||||
ถัดไป | อู๋ ปังกั๋ว | ||||||||||||||||||
รองนายกรัฐมนตรีจีน | |||||||||||||||||||
ดำรงตำแหน่ง 6 มิถุนายน ค.ศ. 1983 – 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1987 (4 ปี 171 วัน) ดำรงตำแหน่งร่วมกับ ว่าน หลี่, เหยา อี้หลิน, เถียน จี้ยฺหวิน | |||||||||||||||||||
หัวหน้ารัฐบาล | จ้าว จื่อหยาง | ||||||||||||||||||
ข้อมูลส่วนบุคคล | |||||||||||||||||||
เกิด | 20 ตุลาคม ค.ศ. 1928 เขตสัมปทานฝรั่งเศสเซี่ยงไฮ้ | ||||||||||||||||||
เสียชีวิต | 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 ปี) ปักกิ่ง, สาธารณรัฐประชาชนจีน | (90||||||||||||||||||
พรรคการเมือง | พรรคคอมมิวนิสต์จีน (เข้าร่วมในปี 1945) | ||||||||||||||||||
คู่สมรส | จู หลิน (สมรส 1958)[1] | ||||||||||||||||||
บุตร | หลี เสี่ยวเผิง (บุตร) หลี เสี่ยวหลิน (บุตรี) หลี่ เสียวหย่ง (บุตร) | ||||||||||||||||||
บุพการี | หลี่ ชั่วซฺวิน (บิดา) จ้าว จฺวินเถา (มารดา)[1] | ||||||||||||||||||
ความสัมพันธ์ | หลี่ เย่ (หลานสาว)
หลิว ชื่อหราน [หลานของฟกู่มู่] (หลานเขย) ถังเหวิน [หลานของถัง เช่าอี๋] (ลูกสะใภ้) | ||||||||||||||||||
ศิษย์เก่า | สถาบันวิศวกรรมพลังงานมอสโก | ||||||||||||||||||
วิชาชีพ | นักการเมือง วิศวกรไฟฟ้าพลังน้ำ | ||||||||||||||||||
ชื่อภาษาจีน | |||||||||||||||||||
อักษรจีนตัวย่อ | 李鹏 | ||||||||||||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 李鵬 | ||||||||||||||||||
ความหมายตามตัวอักษร | หลี่ (นามสกุล 李) เผิง (นกยักษ์ในตำนานจีน) | ||||||||||||||||||
| |||||||||||||||||||
หลี่เป็นบุตรชายของหลี่ ชั่วซฺวิน นักปฏิวัติคอมมิวนิสต์รุ่นบุกเบิกผู้ถูกประหารชีวิตโดยก๊กมินตั๋ง ภายหลังการกับโจว เอินไหลในมณฑลเสฉวน หลี่ก็ได้เติบโตขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ของโจวและภรรยาของเขาคือ เติ้ง อิ่งเชา หลี่ได้ศึกษาและฝึกฝนวิชาการด้านวิศวกรรมในสหภาพโซเวียต และเข้าทำงานในบริษัทพลังงานระดับชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งหลังจากกลับมายังประเทศจีน เขาสามารถหลีกเลี่ยงความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 1950 1960 และ 1970 ได้ เพราะมีความสัมพันธ์ทางการเมืองและตำแหน่งงานในบริษัท หลังจากที่เติ้ง เสี่ยวผิงขึ้นดำรงเป็นผู้นำสูงสุดของจีนในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 หลี่ก็ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญและทรงอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ. 1987
ในฐานะนายกรัฐมนตรี หลี่เป็นตัวแทนที่โดดเด่นที่สุดของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนการใช้กำลังเพื่อยุติการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี ค.ศ. 1989 ในระหว่างการประท้วงครั้งนั้น หลี่ได้ใช้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตนประกาศกฎอัยการศึก และร่วมมือกับเติ้ง เสี่ยวผิง ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง ในการสั่งปราบปรามผู้ประท้วงจนนำไปสู่การสังหารหมู่ในท้ายที่สุด
หลี่สนับสนุนแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ซึ่งทำให้เขาไม่ลงรอยจ้าว จื่อหยาง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้ซึ่งหมดความโปรดปรานในปี ค.ศ. 1989 หลังจากที่จ้าวถูกปลดจากตำแหน่ง หลี่ได้ส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ตาม เขาเริ่มสูญเสียอิทธิพลเมื่อจู หรงจี้เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และไม่สามารถยับยั้งกระแสการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้นของจีนได้ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง เขาเป็นผู้นำโครงการก่อสร้างเขื่อนสามผา ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อให้ประเด็นถกเถียงกันอย่างมาก เขาและครอบครัวได้บริหารบริษัทผูกขาดด้านพลังงานขนาดใหญ่ของจีน ซึ่งรัฐบาลจีนได้เข้ามายุติการผูกขาดดังกล่าวลงหลังจากเขาลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลี่ถึงแก่อสัญกรรมในกรุงปักกิ่งด้วยวัย 90 ปี
หลี่เกิดในชื่อ หลี ยฺเหวี่ยนเผิง (李遠芃; Lǐ Yuǎnpéng) ที่บ้านของตระกูลในเขตสัมปทานฝรั่งเศสเซี่ยงไฮ้ ปัจจุบันคือเลขที่ 545 ถนนเหยียนอาน เขตหฺวางผู่ นครเซี่ยงไฮ้ ตระกูลของเขามีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน[2] เป็นบุตรชายของหลี่ ชั่วซฺวิน หนึ่งในนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีนรุ่นบุกเบิก[3] และเคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการทางการเมืองของกองพลที่ 20 ในระหว่างการก่อการกำเริบหนานชาง และนางจ้าว จฺวินเถา ผู้ปฏิบัติการคอมมิวนิสต์รุ่นบุกเบิกเช่นกัน[4] ในปี ค.ศ. 1931 บิดาของหลี่ซึ่งกำลังปฏิบัติงานลับอยู่ในไหหลำ ถูกจับกุมและประหารชีวิตโดยก๊กมินตั๋ง[5] เชื่อกันว่าในปี ค.ศ. 1939 หลี่ได้พบกับนางเติ้ง อิ่งเชา ภรรยาของโจว เอินไหล ผู้นำคอมมิวนิสต์ระดับสูงในเฉิงตู และนางเติ้งได้พาหลี่ไปยังฉงชิ่งเพื่อพบกับโจว แม้ว่าในขณะนั้นโจวจะอยู่ในฐานที่มั่นของคอมมิวนิสต์ที่เหยียนอาน ทั้งสองจึงไม่ได้พบกันจนกระทั่งปลายปี ค.ศ. 1940[6] ในปี ค.ศ. 1941 เมื่อหลี่อายุได้ 12 ปี โจวได้ส่งหลี่ไปยังเหยียนอาน ซึ่งหลี่ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่นั่นจนถึงปี ค.ศ. 1945[4] เมื่ออายุได้ 17 ปีในปี ค.ศ. 1945 หลี่ก็ได้เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีน[7]
ในปี ค.ศ. 1941 หลี่ได้เข้าศึกษาที่สถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเหยียนอาน (ต้นแบบของสถาบันเทคโนโลยีปักกิ่ง)[8] ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1946 หลี่ถูกส่งไปทำงานในเมืองจางเจียโข่ว ตามความทรงจำของเขา ในปี ค.ศ. 1947 เขาได้เดินทางผ่านมณฑลชานตงและเกาหลีเหนือ ก่อนจะมาลงเอยที่เมืองฮาร์บิน ซึ่งที่นั่นเขาได้เริ่มทำงานบริหารจัดการบางส่วนในโรงงานแปรรูปมันหมู ในปี ค.ศ. 1948 หลี่ถูกส่งไปศึกษาที่สถาบันวิศวกรรมพลังงานมอสโก ประเทศรัสเซีย ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าพลังน้ำ หนึ่งปีต่อมาในปี ค.ศ. 1949 โจว เอินไหลได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่[4] หลี่สำเร็จการศึกษาในปี ค.ศ. 1954 ในช่วงที่อยู่ในสหภาพโซเวียต หลี่ได้เป็นหัวหน้าสมาคมนักศึกษาจีนในสหภาพโซเวียต[7]
เมื่อหลี่เดินทางกลับมายังประเทศจีนในปี ค.ศ. 1955 ประเทศก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จของพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว หลี่เข้าร่วมงานด้านเทคนิคและบริหารจัดการในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเริ่มต้นอาชีพการทำงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม หลี่ถูกส่งไปยังปักกิ่งเพื่อดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานการไฟฟ้าเทศบาล[7] เขาดำรงตำแหน่งสำคัญในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถูเฮ่อ ในเมืองถังชาน และโรงไฟฟ้าเกาจิง ในกรุงปักกิ่ง[9] ระหว่างที่อยู่ที่เกาจิง เขาทำงานสามวันสามคืนในการการควบคุมดูแลงานก่อสร้าง ในวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1974 เขาประสบอุบัติเหตุถูกรถชนขณะขี่จักรยานกลับบ้านหลังเลิกงาน[9] ในปี ค.ศ. 1976 หลี่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการฟื้นฟูระบบไฟฟ้าในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในถังชาน ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน[9]
หลี่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองอย่างรวดเร็วหลังจากที่เติ้ง เสี่ยวผิงขึ้นสู่อำนาจ และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรี และต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมกันนั้นยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำสำนักบริหารการไฟฟ้าภาคเหนือของจีนระหว่างปี ค.ศ. 1979 ถึง 1983 และยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงชลประทานและพลังงานระหว่างปี ค.ศ. 1982 ถึง 1983[2] การเลื่อนตำแหน่งทางการเมืองอย่างรวดเร็วของหลี่ส่วนใหญ่เกิดจากการสนับสนุนของเฉิน ยฺหวิน ผู้อาวุโสของพรรค[2]
หลี่เข้าร่วมคณะกรรมาธิการกลางในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคครั้งที่ 12 ในปี ค.ศ. 1982 ในปี ค.ศ. 1983 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานขนาดเล็กด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้คณะรัฐมนตรี[10] ในปี ค.ศ. 1985 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งรัฐ และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะกรมการเมืองและสำนักเลขาธิการพรรค ในปี ค.ศ. 1987 หลังการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคครั้งที่ 13 หลี่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของพรรค
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1987 หลังจากที่นายกรัฐมนตรีจ้าว จื่อหยาง ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลี่ก็ได้ดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี เขาได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมปีถัดมา ในช่วงเวลาที่ถูกเลื่อนตำแหน่ง หลี่ดูเหมือนจะเป็นตัวเลือกที่คาดไม่ถึงสำหรับนายกรัฐมนตรี เพราะเขาดูเหมือนไม่มีความกระตือรือร้นเหมือนกับเติ้งในการแนะนำการปฏิรูปตลาด[3] การที่หลี่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นผลมาจากการที่หู เย่าปังต้องพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค เนื่องจากพรรคได้กล่าวโทษเขาว่าเป็นต้นเหตุการประท้วงของนักศึกษาในปี ค.ศ. 1987
ตลอดทศวรรษที่ 1980 ประเทศจีนต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาสังคมอย่างรุนแรง อาทิ ปัญหาเงินเฟ้อ การย้ายถิ่นฐานเข้าเมือง และปัญหาความแออัดในโรงเรียน แม้จะเผชิญกับความท้าทายอย่างรุนแรงเหล่านี้ หลี่ได้เปลี่ยนจุดสนใจของตนจากภารกิจประจำวันด้านพลังงาน การสื่อสาร และการจัดสรรวัตถุดิบ มาให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในข้อถกเถียงภายในพรรคที่กำลังดำเนินอยู่เกี่ยวกับความก้าวหน้าของการปฏิรูปตลาด ในทางการเมือง หลี่คัดค้านการปฏิรูปเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ริเริ่มโดยจ้าว จื่อหยาง ตลอดระยะเวลาที่จ้าวดำรงตำแหน่ง ในปี ค.ศ. 1988 เขาได้ลดบทบาทของคณะกรรมการปฏิรูประบบ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้คณะรัฐมนตรีที่จัดตั้งขึ้นโดยจ้าว จื่อหยาง[11] ขณะที่นักศึกษาและปัญญาชนเรียกร้องการปฏิรูปที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ผู้อาวุโสของพรรคบางส่วนกลับมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นว่าความไม่มั่นคงที่เกิดจากการปฏิรูปครั้งใหญ่ใด ๆ อาจเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งหลี่ได้ทุ่มเทชีวิตการทำงานเพื่อเสริมสร้างมาโดยตลอด
ภายหลังจากที่จ้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ข้อเสนอของเขาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1988 ที่มุ่งขยายขอบเขตของระบบเศรษฐกิจเสรี ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอย่างกว้างขวาง (ซึ่งบางฝ่ายสันนิษฐานว่าเป็นการปลุกปั่นทางการเมือง) โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ ความกังวลของประชาชนต่อผลกระทบเชิงลบจากการปฏิรูปตลาดได้เปิดโอกาสให้กลุ่มอนุรักษ์นิยม (รวมถึงหลี่) เรียกร้องให้มีการรวมอำนาจควบคุมทางเศรษฐกิจกลับสู่ศูนย์กลางมากขึ้น และมีการจำกัดอิทธิพลจากตะวันตกอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคัดค้านการขยายขอบเขตของแนวทางการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของจ้าว เหตุการณ์นี้ได้ทำให้เกิดการถกเถียงทางการเมือง ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่งงฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1988–89
การประท้วงและการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 เกิดขึ้นจากการไว้อาลัยครั้งใหญ่ต่อการถึงแก่อสัญกรรมของหู เย่าปัง อดีตเลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเขาถูกปลดจากตำแหน่งเพราะสนับสนุนการเปิดเสรีทางการเมือง[12] ในวันก่อนพิธีศพของหู มีประชาชนจำนวนกว่า 100,000 คนมาชุมนุมกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน นักศึกษาปักกิ่งเป็นผู้ริเริ่มการประท้วงเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดเสรีอย่างต่อเนื่อง และการประท้วงเหล่านี้ก็ได้พัฒนาไปสู่ขบวนการเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองในวงกว้าง[13] จากจัตุรัสเทียนอันเหมิน ผู้ประท้วงได้ขยายการชุมนุมออกไปสู่ท้องถนนโดยรอบในเวลาต่อมา การประท้วงโดยสงบยังเกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วประเทศจีน รวมถึงเซี่ยงไฮ้และอู่ฮั่น แต่เกิดการจลาจลในซีอานและฉางชา[14]
การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่พอใจต่อความมั่งคั่งของบุตรหลานของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ และความรู้สึกว่าบุตรหลานเหล่านี้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยอาศัยอิทธิพลของบิดามารดา หลี่ซึ่งครอบครัวมักตกเป็นเป้าของข้อกล่าวหาทุจริตภายในอุตสาหกรรมพลังงานของจีนถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าว[15]
บทบรรณาธิการที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป่าในวันที่ 26 เมษายน ซึ่งลงนามในนามของเติ้ง เสี่ยวผิง ได้ประณามการประท้วงว่าเป็น "ความวุ่นวายที่ถูกวางแผนและจัดฉากขึ้นโดยมีเจตนาต่อต้านพรรคและสังคมนิยม" บทความดังกล่าวได้ก่อให้เกิดสถานการณ์การประท้วงที่รุนแรงขึ้น โดยกระตุ้นให้ผู้นำการประท้วงเกิดความไม่พอใจจนนำไปสู่การยกระดับข้อเรียกร้องให้มีความเข้มข้นมากขึ้น จ้าว จื่อหยางได้บันทึกไว้ในอัตชีวประวัติของตนในภายหลังว่า "แม้ว่าเติ้งจะแสดงความเห็นทำนองเดียวกันในการสนทนาส่วนตัวกับหลี่ เผิงก่อนจะมีการเขียนบทบรรณาธิการ แต่หลี่ได้นำความเห็นดังกล่าวไปเผยแพร่แก่สมาชิกพรรคและตีพิมพ์เป็นบทบรรณาธิการโดยที่เติ้งไม่ทราบและไม่ได้ให้ความยินยอม"[16]
หลี่ปฏิเสธที่จะเจรจาต่อรองกับผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินอย่างเด็ดขาดด้วยเหตุผลทางหลักการ และกลายเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่รัฐที่ผู้ประท้วงคัดค้านมากที่สุด[2] อู๋เอ่อร์ไคซี หนึ่งในแกนนำการประท้วง ได้กล่าวตำหนิหลี่อย่างเปิดเผยทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติขณะอดอาหารประท้วง โดยกล่าวว่าเขาเพิกเฉยต่อความต้องการของประชาชน ผู้สังเกตการณ์บางรายกล่าวว่าถ้อยแถลงของอู๋ได้ดูหมิ่นหลี่โดยตรง ทำให้เขามีความมุ่งมั่นที่จะยุติการประท้วงโดยใช้ความรุนแรง[17][ต้องการอ้างอิง]
ในบรรดาสมาชิกอาวุโสคนอื่น ๆ ของรัฐบาลกลาง หลี่กลายเป็นผู้ที่สนับสนุนความรุนแรงมากที่สุด และเป็นที่รู้จักกันในนาม "นักฆ่าแห่งปักกิ่ง" จากบทบาทของเขาในการปราบปราม[18][19] หลังจากได้รับการสนับสนุนจากคณะทำงานส่วนใหญ่รวมถึงเติ้ง เสี่ยวผิง หลี่ก็ได้ประกาศกฎอัยการศึกอย่างเป็นทางการในกรุงปักกิ่ง ในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1989 และให้คำมั่นสัญญาว่า "จะใช้มาตรการที่เด็ดขาดและแน่วแน่เพื่อยุติความวุ่นวาย"[20] การประท้วงถูกปราบปรามโดยกองทัพในวันที่ 3–4 มิถุนายน การประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในช่วงตั้งแต่หลายร้อยไปจนถึงหลายพันคน ต่อมาหลี่ได้อธิบายถึงการปราบปรามดังกล่าวว่าเป็นชัยชนะทางประวัติศาสตร์ของลัทธิคอมมิวนิสต์[3] และได้เขียนว่าตนมีความกังวลว่าการประท้วงเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศจีนอย่างร้ายแรงเทียบเท่ากับการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[17] กฎอัยการศึกถูกยกเลิกโดยหลี่ในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1990[21]
แม้ว่าการปราบปรามที่เทียนอันเหมินจะเป็น "ภัยพิบัติทางด้านการประชาสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำหรับจีน" แต่ก็เป็นการยืนยันให้เห็นว่าหลี่จะยังคงดำรงตำแหน่งและประสบความสำเร็จในอาชีพการงานต่อไปอีกยาวนาน แม้เขาจะเป็นเป้าหมายหลักของผู้ประท้วง ทว่าอำนาจของเขายังคงอยู่ได้เพราะคณะผู้นำเชื่อว่าการจำกัดบทบาทของหลี่ก็เหมือนกับการยอมรับว่าตนกระทำผิดพลาดในการปราบปรามการประท้วง การที่ผู้นำจีนรักษาตำแหน่งของหลี่ไว้ในระดับสูงสุดของพรรคนั้นเป็นการสื่อสารไปยังประชาคมโลกว่า ประเทศยังคงรักษาความมั่นคงและความเป็นหนึ่งเดียว[3] เนื่องจากบทบาทของหลี่ในการปราบปราม ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นบุคคลที่ไม่เป็นที่ยอมรับในทางการเมืองในเมืองหลวงส่วนใหญ่ของประเทศตะวันตก และคณะผู้แทนจากประเทศตะวันตกที่เดินทางไปจีนมักต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าการพบปะกับหลี่จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของตนหรือไม่[22]
ทันทีหลังจากเหตุการณ์ประท้วงที่เทียนอันเหมิน หลี่ก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินโครงการรัดเข็มขัดแห่งชาติ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อชะลออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงการรวบอำนาจบริหารเศรษฐกิจกลับสู่ส่วนกลางอีกครั้ง หลี่ได้ดำเนินการเพิ่มอัตราภาษีในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมส่งออก พร้อมทั้งเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานในอุตสาหกรรมที่ขาดประสิทธิภาพซึ่งเป็นของรัฐบาล หลี่ได้กำหนดนโยบายการเงินที่เข้มงวด โดยการควบคุมราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการ สนับสนุนให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และตัดการให้สินเชื่อของรัฐบาลต่อภาคเอกชนและสหกรณ์เพื่อพยายามลดอัตราเงินเฟ้อ[23] หลังการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 5 ของคณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 13 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1989 หลี่ได้ตั้งคณะกรรมการการผลิตแห่งคณะรัฐมนตรีขึ้นเพื่อประสานงานการดำเนินงานตามแผนต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น[24]
ในเดือนมกราคม ค.ศ.1992 ช่วงเดียวกับที่เติ้ง เสี่ยวผิงกำลังเยือนภาคใต้ของจีน หลี่ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีของสภาเศรษฐกิจโลก ณ เมืองดาโฟส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในที่ประชุม หลี่ได้กล่าวต่อผู้เข้าร่วมประชุมว่า "เราจะต้องเร่งรัดการปฏิรูปและเปิดประเทศให้มากขึ้น" พร้อมทั้งกระตุ้นให้พวกเขาเข้ามาลงทุนในจีน[25] ในปีเดียวกัน หลี่ได้เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ณ เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล[26]: 51–52 การประชุมดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงบทบาทของจีนให้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในนโยบายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ[27]: 8 ในท้ประชุม หลี่ได้กล่าวว่า "การแสวงหาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ควรทำให้เกิดการละเลยการพัฒนาเศรษฐกิจ และความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศไม่ควรละเมิดอธิปไตยของชาติ"[26]: 52
หลี่ประสบอาการหัวใจวายในปี ค.ศ. 1993 และเริ่มสูญเสียอิทธิพลภายในพรรคให้กับจู หรงจี้ รองนายกรัฐมนตรีลำดับสูงสุด ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน ในปีนั้น เมื่อหลี่ได้รายงานผลการดำเนินงานประจำปีต่อคณะกรมการเมือง เขาถูกบังคับให้ปรับเปลี่ยนแผนงานกว่า 70 ครั้งเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของเติ้ง[2] เมื่อตระหนักได้ว่าการต่อต้านการปฏิรูปตลาดจะได้รับการตอบรับที่ไม่ดีจากเติ้งและผู้อาวุโสของพรรคคนอื่น ๆ หลี่จึงออกมาสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้งอย่างเปิดเผย หลี่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี ค.ศ. 1993 แม้จะมีเสียงคัดค้านจำนวนมากสนับสนุนจู ในที่สุดจูก็ได้เช้ามาสืบทอดตำแหน่งต่อจากหลี่หลังจากที่วาระการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของหลี่สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1998[3]
ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลี่ได้เริ่มโครงการทางวิศวกรรมขนาดใหญ่มากจำนวนสองโครงการ ได้แก่ การเริ่มต้นก่อสร้างเขื่อนสามผาในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1994 และการเตรียมความการสำหรับโครงการยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเฉินโจว ทั้งสองโครงการเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างมากทั้งภายในและนอกประเทศจีน โครงการเฉินโจวถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นพิเศษถึงต้นทุนที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ (หลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) นักเศรษฐศาสตร์และนักมนุษยธรรมหลายคนเสนอว่าทุนจำนวนมหาศาลเหล่านั้นอาจนำไปลงทุนเพื่อช่วยเหลือประชากรจีนให้สามารถรับมือกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และเพื่อพัฒนาการศึกษา บริการด้านสุขภาพ และระบบกฎหมายของจีนได้ดีกว่า[28]
หลี่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปี ค.ศ. 1998 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้สำหรับการดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลาสองวาระ หลังจากที่วาระที่สองของเขาสิ้นสุดลง เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ[29] การสนับสนุนหลี่ให้ดำรงตำแหน่งที่มีลักษณะเป็นพิธีการส่วนใหญ่ได้รับความเห็นชอบในระดับต่ำ โดยเขาได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 90 ในการสมัยประชุมแรกของสภาประชาชนแห่งชาติชุดที่ 9 ซึ่งเขาเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียว[29] เขาอุทิศเวลาส่วนใหญ่ในการติดตามเฝ้าดูโครงการที่เขามองว่าเป็นผลงานชิ้นเอกในชีวิตของเขานั่นก็คือเขื่อนสามผา ความสนใจของหลี่ที่มีต่อเขื่อนสะท้อนถึงอาชีพวิศวกรชลศาสตร์ในช่วงต้นของชีวิตการทำงาน และตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งทางการ หลี่ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารอุตสาหกรรมพลังงานที่กว้างขวางและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในเวลานี้ หลี่ถือว่าตนเองเป็นผู้สร้างและผู้ปฏิรูป
วันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 2000 หลี่ได้เดินทางไปยังนครนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติ[22] ที่โรงแรมวอลดอร์ฟ-แอสโตเรีย นักสืบเอกชนที่มีใบอนุญาตได้ส่งหมายเรียกทางกฎหมายแก่เขาในข้อกล่าวหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน[22] ผู้สื่อข่าวและช่างภาพจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ได้ร่วมเดินทางไปกับผู้ส่งหมายเรียก และได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้[22] หลี่รู้สึกโกรธเป็นอย่างมาก เพราะมองว่ารัฐบาลสหรัฐมีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าว เนื่องจากหมายเรียกได้ถูกส่งผ่านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชาวอเมริกันที่ประจำตัวอยู่[22]
หลังจากเกษียณอายุในปี ค.ศ. 2003 หลี่ยังคงมีอิทธิพลบางส่วนในคณะกรรมาธิการสามัญกรมการเมือง หลัว ก้าน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้รับผิดชอบด้านการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคงแห่งชาติระหว่างปี ค.ศ. 2002 ถึง 2007 นั้นถือเป็นบุคคลที่หลี่อุปถัมภ์[30] หลังการเกษียณอายุของหลัวในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคครั้งที่ 17 อิทธิพลของหลี่ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งตัวเขาเองและสมาชิกในครอบครัวกลายเป็นเป้าหมายของการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตอยู่เสมอ นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของหลี่ในสายตาประชาชนอาจกล่าวได้ว่าผูกพันอย่างแยกไม่ออกกับเหตุการณ์ปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี ค.ศ. 1989 มากกว่าผู้นำคนอื่น ๆ และด้วยเหตุนี้เขาจึงยังคงเป็นบุคคลประชาชนชาวจีนจำนวนมากเกลียดชังมาจนถึงศตวรรษที่ 21[15] โดยทั่วไปแล้วเขาไม่เป็นที่นิยมในประเทศจีน ซึ่งเขา (เคย) ถูกมองด้วยความดูถูกและสงสัยมานาน
ตลอดทศวรรษที่ 1990 หลี่ได้ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ในการขยายและบริหารบริษัทการไฟฟ้าแห่งประเทศจีน (State Power Corporation of China) ซึ่งเป็นบริษัทผูกขาดด้านพลังงานของประเทศ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีญาติของหลี่ทำงานอยู่ หลี่จึงถูกกล่าวหาว่าได้เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมพลังงานของจีนให้กลายเป็น "อาณาจักรส่วนตัวของตระกูล"[31][32] ในช่วงรุ่งเรืองที่สุด บริษัทพลังงานของหลี่ครอบครองสินทรัพย์ในการผลิตพลังงานทั้งหมดในประเทศจีนถึงร้อยละ 72 และได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 60 ของโลกโดยนิตยสารฟอร์ชูน หลังจากที่หลี่ออกจากรัฐบาล การผูกขาดด้านพลังงานของหลี่ก็ถูกแยกออกเป็นบริษัทขนาดเล็กจำนวนห้าแห่งโดยรัฐบาลจีน[33]
ในปี ค.ศ. 2010 ผลงานอัตชีวประวัติของหลี่ เรื่อง The Critical Moment – Li Peng Diaries ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นิวเซนจูรี หนังสือนี้ได้กล่าวถึงกิจกรรมของหลี่ในช่วงการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวาระครบรอบ 21 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว[34] หนังสือดังกล่าวถูกนักวิจารณ์ระบุว่ามีจุดมุ่งหมายหลักในการลดทอนความผิดของหลี่ในช่วงที่เลวร้ายที่สุดของการปราบปราม และบางส่วนยังกล่าวอีกว่าเขาพยายามโยนความผิดให้เติ้ง[17] เขาปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งสุดท้ายในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคครั้งที่ 19 ในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2017 ก่อนจะถึงแก่อสัญกรรม[35]
หลี่ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 ด้วยวัย 90 ปี ขณะกำลังรับการรักษาพยาบาลอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง[36][37][38] พิธีศพของเขาจัดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 โดยมีผู้เข้าร่วมพิธี ได้แก่ สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี และเจียง เจ๋อหมิน อดีตเลขาธิการพรรค
หลี่สมรสกับนางจู หลิน (朱琳) อดีตรองผู้จัดการบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของจีน[2] มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน ได้แก่[39] หลี เสี่ยวเผิง บุตรชายคนโต หลี เสี่ยวหลิน บุตรี และนางหลี่ เสียวหย่ง บุตรชายคนเล็ก หลี่ เสียวหย่ง สมรสกับนางเย่ เสี่ยวเหยียน บุตรีของเย่ เจิ้งหมิง บุตรชายคนรองของเย่ ถิง ทหารผ่านศึกคอมมิวนิสต์
ครอบครัวของหลี่ได้รับประโยชน์จากตำแหน่งอันสูงส่งของหลี่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 หลี เสี่ยวเผิง และ หลี เสี่ยวหลิน บุตรทั้งสองของหลี่ได้สืบทอดและดำเนินกิจการบริษัทเอกชนขนาดใหญ่สองแห่งของจีน ซึ่งผูกขาดไฟฟ้าเกือบทั้งหมดของประเทศ สื่อมวลชนของรัฐบาลจีนได้ตั้งคำถามต่อสาธารณชนว่าการรักษา "ชนชั้นทุนนิยมผูกขาดของรัฐรุ่นใหม่" ที่ครอบครัวของหลี่เป็นตัวแทนไว้นั้นสอดคล้องกับผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศหรือไม่[40] หลี เสี่ยวเผิงเข้าสู่วงการการเมืองในมณฑลชานซี [41] และดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการมณฑลซานซีในปี ค.ศ. 2012[42] ต่อมาในปี ค.ศ. 2016 เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางหลี เสี่ยวหลิน เคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทพัฒนาพลังงานระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (China Power International Development) ก่อนจะถูกโอนไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับรองในบริษัทพลังงานแห่งอื่นในปี ค.ศ. 2016
เครื่องอิสริยาภรณ์ | ประเทศ | วันที่ | อ้างอิง | |
---|---|---|---|---|
เครื่องอิสริยาภรณ์แห่งสาธารณรัฐ | ตูนิเซีย | 21 มีนาคม ค.ศ. 1984 | [43] | |
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อุยซาม อาลาวี | โมร็อกโก | 4 ตุลาคม ค.ศ. 1995 | [44] | |
เครื่องอิสริยาภรณ์พระอาทิตย์แห่งเปรู | เปรู | 9 ตุลาคม ค.ศ. 1995 | [45] | |
เครื่องอิสริยาภรณ์ผู้ปลดปล่อย | เวเนซุเอลา | 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1996 | [46] | |
เครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณ | แคเมอรูน | 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1997 | [47] | |
เครื่องอิสริยาภรณ์แห่งปากีสถาน | ปากีสถาน | 10 เมษายน ค.ศ. 1999 | [48] | |
เครื่องอิสริยาภรณ์ดารายูโกสลาฟ | ยูโกสลาเวีย | 12 มิถุนายน ค.ศ. 2000 | [49][50] | |
เหรียญแห่งพุชกิน | รัสเซีย | 31 ตุลาคม ค.ศ. 2007 | [51] |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.