Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พันตรี หม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุต เทวกุล (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2439 — 1 ตุลาคม พ.ศ. 2505) เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ประสูติแต่หม่อมใหญ่ เทวกุล ณ อยุธยา (บุตรีของเจ้าพระยาสิริรัตนมนตรี (หงส์ สุจริตกุล))
หม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุต เทวกุล | |
---|---|
หม่อมเจ้า ชั้น 4 | |
ประสูติ | 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2439 |
สิ้นชีพตักษัย | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2505 (66 ปี) |
ภรรยา | ชายา หม่อมเจ้าบันดาลสวัสดี หม่อม หม่อมมณี เทวกุล ณ อยุธยา หม่อมแบบ เทวกุล ณ อยุธยา หม่อมแวว เทวกุล ณ อยุธยา |
พระบุตร | 8 คน |
ราชสกุล | เทวกุล |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ |
พระมารดา | หม่อมใหญ่ เทวกุล ณ อยุธยา |
หม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุต มีพระนามลำลองว่า ท่านชายแถม ประสูติ ณ วังเดิมเชิงสะพานถ่าน (หรือเรียกโดยสามัญว่า วังสะพานถ่าน) กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นตลาดบำเพ็ญบุญในปัจจุบันนี้ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2439 เวลา 17.25 น. ได้รับพระราชทานพระนาม ไตรทิพเทพสุต จากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เมื่อหม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุตมีชันษาราว 7 ขวบ ทรงเล่าเรียนอักขรวิธี พร้อมกับเจ้าน้อง 3 องค์ที่วังพระบิดา โดยมีครูผู้ชายไปสอน ปรากฏว่าทรงเป็นเด็กเรียบร้อยมาแต่ต้น
ปี พ.ศ. 2447 และ พ.ศ. 2448 ทรงเข้าโรงเรียนราชกุมาร โดยเสด็จพระราชโอรสรุ่นเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลานั้นทรงเข้าไปอยู่ในราชสำนักของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ ที่นี้ มีเจ้าพี่องค์หญิงชั้นผู้ใหญ่ประจำอยู่ก่อนแล้ว และได้รับพระราชกรุณาให้มีโอกาสเฝ้าแหนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าทั้ง 2 พระองค์ และเรียนรู้ขนบธรรมเนียมวังและราชประเพณีหลายประการ อันเป็นเหตุให้เข้าเจ้าเข้านายได้อย่างเรียบร้อยดีในกาลต่อมา
วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2449 ทรงเกศากันต์ ในพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ตามราชประเพณี (คือพิธีโกนจุกของพระบรมวงศานุวงศ์) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมกับหม่อมเจ้าชายหญิงอีก 12 องค์
ปี พ.ศ. 2450 และ พ.ศ. 2451 ทรงศึกษาที่โรงเรียนราชวิทยาลัย
ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2452 และ พ.ศ. 2453 ทรงศึกษาวิชาสามัญในโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม จนสอบไล่ได้จะเลื่อนชั้นขึ้นไปศึกษาวิชาทหารในโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม แต่เหตุเพราะเป็นผู้ที่มีผลการศึกษาดีและประพฤติองค์เรียบร้อย จึงทรงได้รับเลือกให้ออกไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ ณ ประเทศรัสเซีย
ปี พ.ศ. 2454 และ พ.ศ. 2455 เมื่อเสด็จออกไปถึงประเทศรัสเซียแต่ต้นปีแรกแล้ว ได้ไปประทับที่บ้านพันเอกเฟนูลท์ ผู้ปกครองและอาจารย์ ในโรงเรียนนายร้อยทหารบกรัสเซียแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยอบรมนักเรียนไทยชุดก่อน ๆ มาแล้ว เพื่อทรงเรียนภาษารัสเซียวิชาสามัญแขนงต่าง ๆ และขนบธรรมเนียมของชาวรัสเซีย โดยมีครูไปสอนที่บ้านนั้น
ปี พ.ศ. 2456 และ พ.ศ. 2457 ทรงเข้าโรงเรียนนายร้อย Alexander II
ปีพ.ศ. 2458 ทรงศึกษาวิชาในโรงเรียนสำหรับทหารปืนใหญ่ Michel โดยทรงจบหลักสูตรอย่างย่อชุดที่ 3 เนื่องจากในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
เมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2458 หม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุตได้เสด็จกลับจากประเทศรัสเซียมายังกรุงเทพมหานคร และทรงอยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และมีพระกรุณาโปรดให้หม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุต ประทับ ณ วังปารุสกวัน เป็นเวลา 3 ปี 7 เดือน จนกระทั่งหม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุตต้องเสด็จไปราชการ ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2462 ในระหว่างพำนัก ณ วังปารุสกวันนั้น ทรงมีความสุขยิ่ง และสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก็ประทานความรู้รอบตัวต่าง ๆ แก่หม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุตเป็นอย่างดี และทรงรับเป็นพระโอรสบุญธรรมองค์หนึ่งด้วย ซึ่งหม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุตทรงสำนึกในพระเมตตากรุณาธิคุณเป็นอย่างมาก ทรงนับถือพระองค์ท่านเป็นบุพการี และทรงทำบุญถวายเป็นประจำและในวันทิวงคตทุก ๆ ปีมา
ทรงรับราชการในหน้าที่พลรบ ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2458 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2461
ทรงเริ่มเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2458 ในตำแหน่งนักเรียนทำการนายร้อยทำหน้าที่ผู้บังคับหมวด ในกองร้อยที่ 1 โดยยังมิได้รับพระราชทานสัญญาบัตรและเงินเพิ่มพิเศษเยี่ยงนายทหารซึ่งได้ศึกษาจบบริบูรณ์ในต่างประเทศ เนื่องจากทรงจบการศึกษาจากหลักสูตรอย่างย่อสำหรับทหารปืนใหญ่เท่านั้น
ทรงรับราชการจนพระปรีชาเป็นที่ประจักษ์ ทรงรับพระราชทานยศว่าที่ร้อยตรี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2460 ทรงรับพระราชทานเงินเพิ่มค่าวิชาเดือนละ 100 บาทเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 และทรงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศร้อยตรี เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2461 พร้อมกับเลื่อนเงินเดือนข้ามชั้นไปยังอัตราร้อยตรีชั้น 1 อีกด้วย
ทรงรับราชการเป็นนายทหารคนสนิทของผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2460 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 รวมทรงรับราชการในกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์นาน 2 ปี 3 เดือนครึ่ง
ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2461 โปรดเกล้าฯ ไปปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้ช่วยรบ ในกรมช่างแสงทหารบก เป็นเวลานาน 1 ปี 3 เดือน
เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2462 หม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุต ทรงเป็นกรรมการผู้หนึ่งในคณะไปราชการ ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อดูการสร้างและตรวจรับปืนใหญ่สนาม ซึ่งกองทัพบกได้สั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น โดยมี พลตรี พระยาอินทรวิชิต (รัตน อาวุธ) เป็นหัวหน้าคณะ เป็นเวลานาน 3 ปี 5 เดือน และยังได้มีโอกาสศึกษากิจการทหารในประเทศนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาอันเกี่ยวด้วยราชการของกรมช่างแสงทหารบก
ณ ประเทศญี่ปุ่น ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นร้อยโทเมื่อต้นปี พ.ศ. 2463 และทรงได้เลื่อนชั้นเงินเดือนทุกปี
ครั้นเมื่อเสด็จกลับมายังกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2465 แล้ว ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2465 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย ต่อพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเป็นบำเหน็จความชอบพิเศษ เนื่องจากตามระเบียบการพระราชทานในสมัยนั้นกำหนดไว้ว่า ตามปรกติสำหรับพระราชทานแก่นายทหารยศชั้นพันโทเท่านั้น
ทรงรับราชการต่อในกรมช่างแสงทหารบกตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2465 จนกระทั่งวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เป็นระบอบประชาธิปไตย รวมเวลานาน 9 ปี 7 เดือน
ทรงเป็นราชองครักษ์เวรในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2466
แรกทรงมีตำแหน่งสำรองราชการ แล้วเป็นตำแหน่งประจำกรม ต่อมาทรงได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกที่ 5 (การปืนเล็กปืนกล) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2472
รับพระราชทานยศร้อยเอก เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2467 และยศพันตรี เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2472 พร้อมทรงรับเงินเดือนอัตราพันตรีชั้น 1
ในที่สุดระหว่างห้วงการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ ทรงถูกปลดเป็นนายทหารกองหนุนเบี้ยหวัด เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2475 เมื่อมีชันษาเพียง 36 ปีเศษ (หลังจากทรงถูกกักบริเวณพร้อมกับเชื้อพระวงศ์ เจ้านายและนายทหารอื่น ๆ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และไม่สมัครพระทัยรับราชการทหารอีกต่อไป)
เมื่อทรงพ้นหน้าที่ราชการประจำแล้ว หม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุตทรงออกไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร (บริเวณศูนย์ราชการในปัจจุบันนี้) กับหม่อมใหญ่ผผู้เป็นมารดาเพื่อช่วยท่านประกอบอาชีพปลูกและค้ายางพารา มันสำปะหลัง กาแฟ แตงโม และอื่น ๆ เมื่อหม่อมมารดาถึงแก่อนิจกรรมแล้วก็ยังทรงประกอบกิจการดังกล่าวเพื่อประโยชน์ร่วมกันของเจ้าพี่เจ้าน้องบางองค์ จนถึงปี พ.ศ. 2488 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงแล้ว จึงเสด็จกลับมาประทับในกรุงเทพมหานคร โดยยังทรงอำนวยการกิจการดังกล่าว เพียงแต่ได้ทรงมอบหมายให้ผู้ที่ไว้วางใจได้จัดทำต่อไป
ต่อมาเมื่อต้ปี พ.ศ. 2491 ทรงงานในสำนักจัดการผลประโยชน์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งประทับ ณ พระตำหนักวังสระปทุม) เพื่อฉลองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จนกระทั่งเมื่อพระองค์ท่านเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 แล้ว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงงานในสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ (ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) โดยทรงช่วยงานหม่อมเจ้าอัจฉราฉวี เทวกุล จนกระทั่งสิ้นชีพิตักษัย รวมระยะเวลาที่ทรงทำงานในสำนักงานนี้ทั้งสิ้น 14 ปี 5 เดือนเศษ
หม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุต มีหม่อมคนแรกคือ หม่อมมณี ชาวญี่ปุ่น ขณะทรงไปราชการที่ประเทศญี่ปุ่น
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุต เสกสมรสกับหม่อมเจ้าบันดาลสวัสดี ดิศกุล ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง และต่อมาหม่อมเจ้าบันดาลสวัสดีได้สิ้นชีพิตักษัย เมื่อปี พ.ศ. 2469
ภายหลังหม่อมเจ้าบันดาลสวัสดีสิ้นชีพิตักษัย มีหม่อมอีก 2 คน คือ หม่อมแบบ และหม่อมแวว
มีโอรสธิดา 8 คน (เรียงตามลำดับอายุ) ดังนี้
มีนัดดาทั้งสิ้น 16 คน ชาย 5 คน หญิง 11 คน
สำหรับที่ประทับนั้น เมื่อแรกที่วังเทวะเวสม์ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2461 ทรงย้ายไปประทับกับพระบิดา หม่อมมารดา จนกระทั่งเสกสมรสจึงย้ายไปวังวรดิศของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ต่อมาทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินสร้างวัง ณ สี่แยกถนนพญาไทตัดกับถนนราชวิถี ขนาด 5 ไร่ 1 งาน 18 ตารางวา ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง วังดังกล่าวถูกรัฐบาลเวนคืนทำลานอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและโรงพยาบาลราชวิถีขณะประทับอยู่จังหวัดชุมพร
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงย้ายไปที่จังหวัดชุมพร และเมื่อทรงย้ายกลับกรุงเทพมหานคร จะประทับที่วังเทวะเวสม์
ต่อมาเมื่อรัฐบาลคณะราษฎร์ขอซื้อวังเทวะเวสม์จากราชสกุลเทวกุล และเวนคืนวังสี่แยกถนนราชวิถีและถนนพญาไทดังกล่าวข้างต้น จึงทรงสร้างวังที่ถนนสุขุมวิท ซอย 24 และประทับที่วังนี้มาตลอดจนสิ้นชีพิตักษัย
หม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุต ได้ทรงทำงานมาตลอดชนม์ชีพและมีพลานามัยดีมาตลอด จนกระทั่งชันษาล่วง 60 ปี จึงมีเหตุให้แพทย์ต้องทำการผ่าตัดถึง 2 คราว คือเป็นต้อกระจกที่เนตรทั้ง 2 ข้าง หลังผ่าตัดครั้งหลังเมื่อปี พ.ศ. 2504 แม้วรกายจะซูบผอมลง ก็มิได้ประชวรอย่างที่เรียกกันว่า "ล้มหมอนนอนเสื่อ" ยังได้ทรงปฏิบัติกิจการในหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ฯ ตลอดมาด้วยดี จนถึงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2505 จึงเริ่มประชวร และเข้ารักษาองค์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลศิริราชตามลำดับ แพทย์ลงความเห็นว่าประชวรด้วยโรคตับแข็ง ทรงรับการรักษาอยู่ 1 เดือนเศษ กำลังกายทรุดลงมาก และสิ้นชีพิตักษัยด้วยอาการอันสงบเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2505 เวลา 7 นาฬิกาเศษ บ่ายวันเดียวกันนั้น ณ ศาลามรุพงศ์ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ได้รับพระราชทานน้ำอาบศพและหีบทองทึบมีเครื่องประกอบเกียรติยศตามฐานันดรศักดิ์ และตั้งศพไว้ ณ ที่นั้นเพื่อประกอบการกุศล
ในงานออกเมรุ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศราชวงศ์ ประกอบศพหม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุตเพื่อเป็นเกียรติยศเพิ่มขึ้น ทั้งโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการเป็นงานหลวงทุกประการ และได้โปรดเกล้าฯ ให้ตีพิมพ์หนังสือชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวม 2 หมวด เพื่อพระราชทานเป็นของชำร่วยในงานนี้ด้วย อนึ่ง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงพระกรุณา พระราชทานพระราชานุเคราะห์แก่หม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุต นับตั้งแต่ทรงเริ่มรักษาองค์ที่โรงพยาบาลจนถึงวาระชีพิตักษัย และทั้งตลอดงานตั้งศพด้วย
ครั้นถึงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินประทับพลับพลาอิสสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร ทรงทอดผ้าสดับปกรณ์ แล้วเสด็จฯขึ้นสู่เมรุพระราชทานเพลิงศพ
พงศาวลีของหม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุต เทวกุล | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.