Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล (31 ธันวาคม พ.ศ. 2479 – 1 กันยายน พ.ศ. 2565) เป็นพระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ประสูติแต่สมเชื้อ มุกสิกบุตร และเป็นพระราชวงศ์ที่เสด็จแทนพระองค์ในพระราชพิธีสำคัญอยู่บ่อยครั้ง
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล | |
---|---|
ประสูติ | 31 ธันวาคม พ.ศ. 2479 |
สิ้นชีพิตักษัย | 1 กันยายน พ.ศ. 2565 (85 ปี) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
หม่อม | หม่อมบงกชปริยา ยุคล ณ อยุธยา |
พระบุตร |
|
ราชสกุล | ยุคล |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร |
พระมารดา | สมเชื้อ มุกสิกบุตร |
หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล มีพระนามลำลองว่า ท่านชายอ้วน เป็นพระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ประสูติแต่สมเชื้อ มุกสิกบุตร (สกุลเดิม ชมเสวี) ธิดาของพระนิเวศน์วิสุทธิ์ (เอิบ ชมเสวี) มีพี่น้องต่างพระบิดา 2 คน[1] และต่างมารดาอีก 6 องค์ มีพระอนุชาร่วมพระบิดาที่สำคัญหนึ่งองค์คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล
หม่อมเจ้ามงคลเฉลิมเสกสมรสกับหม่อมบงกชปริยา ยุคล ณ อยุธยา (นามเดิม เบ็ตตี คอลค์สตีน) มีโอรส-ธิดาสามคน คือ[2]
หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล ยังเป็นหนึ่งในพระอนุวงศ์ผู้ใหญ่ที่ ครั้นถึงเทศกาลสงกรานต์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าราชสำนักผู้ใหญ่ เชิญเครื่องสรงน้ำสงกรานต์ไปพระราชทาน เป็นการแสดงพระราชกตัญญุตาธรรมตามโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์เชิญเครื่องสรงน้ำสงกรานต์ไปพระราชทาน[3]
ภายหลังทรงสำเร็จการศึกษา หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล ทรงปฏิบัติงานที่ ธนาคารกรุงเทพ ในตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้
หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล ทรงร่วมงานพระราชพิธีและเคยเสด็จแทนพระองค์หลายครั้ง เช่น พระราชพิธีสังเวยพระป้าย เนื่องในเทศกาลตรุษจีน[6][7][8][9] พระราชพิธีวิสาขบูชา[10][11] เป็นต้น
ในการบำเพ็ญพระราชกุศลพิธีกงเต๊ก ถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทำหน้าที่อัญเชิญเครื่องทองน้อย ในพิธีข้ามสะพานโอฆสงสาร โดยพระสงฆ์จีนสวดพระพุทธมนต์ นำเสด็จดวงพระวิญญาณลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พร้อมเชิญเครื่องทองน้อย และธงพุ่มดวงพระวิญญาณลงมาประดิษฐาน ณ มณฑลพิธี พระสงฆ์จีนสวดพระพุทธมนต์ นำดวงพระวิญญาณ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินข้ามสะพานโอฆสงสาร 3 รอบ โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตามเครื่องทองน้อยที่อัญเชิญโดยหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล และธงพุ่มดวงพระวิญญาณ อัญเชิญโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล พร้อมกันนั้นได้ทรงโปรยเหรียญลงในขันสาครที่หัวสะพานและท้ายสะพาน เมื่อครบ 3 รอบ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยเพื่อบูชาเทพรักษาสะพานที่ท้ายสะพาน ทรงรับกระดาษเงิน กระดาษทอง แล้วพระราชทานแก่เจ้าพนักงานนำไปเผา พระสงฆ์จีนสวดพระพุทธมนต์นำดวงพระวิญญาณ เสด็จพระราชดำเนินข้ามสะพานโอฆสงสาร เที่ยวกลับ 3 รอบจนครบ จึงเชิญดวงพระวิญญาณเสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล เป็นหนึ่งในผู้ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำอภิเษกแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ โดยหม่อมเจ้ามงคลเฉลิมทรงเป็นผู้แทนประจำทิศอาคเนย์[12]
ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เวลา 16.59 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล เสด็จแทนพระองค์ ไปยังศาลาสหทัยสมาคม พระบรมมหาราชวัง ในการทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมเทียนรุ่ง เทียนเดิน และธูปที่ทรงพระราชอุทิศพระราชทาน ไปจุดบูชาพระรัตนตรัย ตามพระอารามหลวงต่าง ๆ เนื่องในวันวิสาขบูชา จำนวน 6 วัด และเนื่องในวันอัฏฐมีบูชา อีก 7 วัด[13] และในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เวลา 16.51 น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จแทนพระองค์ ไปทรงจุดเทียนรุ่งที่ทรงพระราชอุทิศบูชาพระรัตนตรัยตามพระอารามหลวงต่าง ๆ เนื่องในวันอัฏฐมีบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม[14][15]
หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล ยังได้ถวายงานสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในการเสด็จไปทรงประกอบพระกรณียกิจแทนพระองค์อยู่บ่อยครั้ง
นอกจากนี้ หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล ยังโปรดสนทนาธรรมกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่อยู่เสมอ หม่อมเจ้ามงคลเฉลิมทรงแขวนพระเครื่องติดตัวประจำหลายองค์ ส่วนใหญ่เป็นพระกริ่ง โดยได้รับประทานจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล เคยประทานสัมภาษณ์ว่า "ชีวิตตั้งแต่เกิดมา มีเหตุการณ์เฉียดตายมาตลอด ขนาดรถพลิกคว่ำหลายตลบยังไม่เป็นอะไรเลย ยิ่งสมัยเด็ก ๆ เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ที่วังลดาวัลย์ ซึ่งเป็นบ้านเก่าของปู่ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์) มีลูกระเบิดเพลิงลงหน้าบ้านหลังบ้านก็ไม่ระเบิด"[16]
ในการพระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร พ.ศ. 2556 หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระศพในตำแหน่งคณะที่ปรึกษาฝ่ายฆราวาส[17]
หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ และตติยจุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้า สืบตระกูลพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร
หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล สิ้นชีพิตักษัยด้วยพระอาการหทัยเต้นผิดจังหวะรุนแรง ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 15.17 น. สิริชันษา 85 ปี ในการนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ณ ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2565
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนชั้นเกียรติยศประกอบศพ จากโกศราชวงศ์เป็นโกศมณฑป ฉัตรเครื่องสูงทองแผ่ลวดตั้งประดับ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ และทรงรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน กำหนด 7 คืน
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ ท่านผู้หญิงพลอยไพลิน เจนเซน ไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
ธรรมเนียมพระยศของ หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล | |
---|---|
การทูล | ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | กระหม่อม/หม่อมฉัน |
การขานรับ | กระหม่อม/เพคะ |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.