Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สริ ยงยุทธ (2 ธันวาคม พ.ศ. 2456 - 6 เมษายน พ.ศ. 2548) เป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงในการเล่นเปียโนให้แก่วงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ หรือ วงดนตรีสุนทราภรณ์ในระยะต่อมา เป็นผู้แต่งทำนองเพลงไว้หลายเพลง เช่น รักเอาบุญ หากภาพเธอมีวิญญาณ ชั่วคืนเดียว ดาวเจ้าชู้ รักฉันตรงไหน อุบลรัตน์ เงาแห่งความหลัง วิมานทลาย
สริ ยงยุทธ | |
---|---|
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 2 ธันวาคม พ.ศ. 2456 สริ ยงยุทธ ถนนเขื่อนขันธ์ พระบรมมหาราชวัง จังหวัดพระนคร กรุงเทพพระมหานคร |
เสียชีวิต | 6 เมษายน พ.ศ. 2548 (92 ปี) โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี |
คู่สมรส | เจือ ยงยุทธ (ถึงแก่กรรม) สุปาณี พุกสมบุญ (ถึงแก่กรรม) |
บุตร | 8 คน |
อาชีพ | นักดนตรี |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2472 - 2526 |
ผลงานเด่น | เพลงรักเอาบุญ หากภาพเธอมีวิญญาณ ลาวดวงดอกไม้ เงาแห่งความหลัง ชั่วคืนเดียว และเป็นผู้จดโน้ตระนาดเอกจากฝีมือการบรรเลงของครูมนตรี ตราโมท |
สริ ยงยุทธ เกิดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ที่ถนนเขื่อนขันธ์ ในพระบรมมหาราชวัง เป็นบุตรของขุนยงวรยุทธ (หริ่ง ยงยุทธ) ทหารล้อมวังในสมัยรัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 กับ นางเลื่อน ยงยุทธ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 7 คน สริเป็นคนที่ 5 ชีวิตครอบครัวสมรสกับนางเจือ ยงยุทธ (ถึงแก่กรรม) มีบุตรธิดา 4 คน ต่อมาสมรสกับสุปาณี พุกสมบุญ นักร้องเจ้าของฉายามีดกรีดสังกะสีของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์และวงดนตรีสุนทราภรณ์มีบุตรธิดาอีก 4 คน
สริ ยงยุทธเริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วจึงเข้าไปเรียนในโรงเรียนพรานหลวง กองเครื่องสายฝรั่งหลวง กรมมหรสพ กระทรวงวัง รุ่นเดียวกับครูเอื้อ สุนทรสนานเนื่องจากมีใจรักทางการเล่นดนตรี บิดาซึ่งคาดหวังจะให้สริเป็นนายร้อยเหมือนพี่ชาย จึงตามใจบุตรชาย โดยเริ่มเข้าเรียนเมื่อพ.ศ. 2472 ระยะเริ่มต้นให้ทดลองเรียนก่อน 6 เดือน ได้รับเงินเดือน 15 บาท สำหรับเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ได้เรียน คือ ไวโอลินแต่ไม่เป็นที่พอใจนัก เพราะสริอยากเป่าแตรมากกว่า โดยสาเหตุที่ต้องมาฝึกไวโอลินนั้น เพราะในวงนักดนตรีขาด เมื่อขุนสำเนียงชั้นเชิงได้เห็นฝีมือของสริ เมื่อฝึกไปได้ 3-4 เดือน จึงได้ขึ้นไปเล่นกับวงใหญ่ ได้เงินเดือน 20 บาท ต่อมาเมื่อเล่นไวโอลินไปได้สักพักจึงได้เลื่อนไปฝึกวิโอลาแทน เพราะนักดนตรีขาดอีกเช่นเดิม ซึ่งครั้งนี้สริได้ตอบปฏิเสธขุนสำเนียงชั้นเชิงไปว่า "ผมไม่สามารถเล่นได้หรอก โน้ตก็คนละโน้ต กุญแจที่บันทึกโน้ตก็ไม่เหมือนกัน" แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ และจำใจฝึก ไม่นานสริก็สามารถเข้าไปร่วมเล่นกับวงใหญ่ได้ และได้รับคำชมจากพระเจนดุริยางค์ว่า "เด็กคนนี้มีความสามารถ และมีมานะพยายามในการเล่นวิโอลาได้เป็นอย่างดี"
สำหรับเปียโนซึ่งเป็นเครื่องดนตรีหลักที่สริเล่นมาเกือบตลอดชีวิตนักดนตรีนั้น สริหัดหลังจากเล่นวิโอลา เนื่องจากนักดนตรีเสียชีวิต โดยพระเจนดุริยางค์ได้ปรารภกับขุนสำเนียงชั้นเชิงว่า น่าจะหานักดนตรีมาเล่นเปียโนสักคน ขุนสำเนียงชั้นเชิง จึงได้ตอบไปว่า "เอาสริ มาฝึกเล่นแล้วกัน" พระเจนดุริยางค์ จึงเรียกสริมาพบ แล้วให้ฝึกเปียโน จนกระทั่งประสบผลสำเร็จเป็นที่พอใจ ต่อมา เมื่อพระเจนดุริยางค์ได้เปิดโรงเรียนสอนดนตรีสากล ที่ปากคลองตลาด สริได้เข้ามาศึกษาด้วย รวมทั้งยังได้คอยช่วยพระเจนดุริยางค์ทำตำราเรียนดนตรีเพื่อใช้ในการสอนอีกด้วย
สริ ยงยุทธ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ครูสริ" นั้น เป็นนักดนตรีที่มีฝีมือในการเล่นดนตรีเป็นอย่างมาก และหมั่นฝึกฝนอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 มีพระราชดำรัสให้พระเจนดุริยางค์คัดเลือกนักดนตรีในวงเครื่องสายฝรั่งหลวง จำนวน 2 คน ไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และ อิตาลีโดยอาศัยทุนส่วนพระองค์ และทรงมุ่งหวังว่าประเทศไทยจะมีนักดนตรีที่มีความสามารถและมาควบคุมวงเครื่องสายฝรั่งหลวงต่อไปในอนาคต ครูสริจึงได้รับคัดเลือกพร้อมกับเพื่อนนักดนตรีที่ชื่อ มานิตย์ พยัคฆนนท์ เมื่อได้รับคัดเลือกแล้ว ครูสริจึงเริ่มเรียนภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมตัวไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ซึ่งด้วยความเป็นผู้ฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เมื่อเรียนภาษาอังกฤษได้อย่างประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งครูที่สอนภาษาอังกฤษชักชวนให้สอนภาษาอังกฤษด้วยกัน แต่ครูสริตอบกลับไปว่า "ผมมาเรียนเพื่อไปเมืองนอกครับครู" ทำให้ครูเห็นความตั้งใจจริงและไม่เก็บค่าเล่าเรียนในครั้งนั้น
แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 และเกิดความผันผวนทางการเมืองอีกมาก ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษและทรงสละราชสมบัติ ทำให้ครูสริไม่ได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศดังที่ตั้งใจ และปรารภไว้ว่า "เราไม่มีบุญวาสนาที่จะได้ไปต่างประเทศ" แต่อย่างไรก็ดี ครูสริและมานิตย์ พยัคฆนนท์ยังได้รับพระราชทานฮาร์พจากต่างประเทศ มาเป็นเครื่องปลอบใจ โดยฮาร์พตัวดังกล่าวของครูสริ ปัจจุบันได้มอบให้แก่กรมศิลปากร และมีการจัดแสดงไว้ที่ห้องพระเจนดุริยางค์ หัองสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร หอสมุดแห่งชาติ
สริ ยงยุทธ เริ่มชีวิตการทำงานดนตรีหลังจากเรียนจบโรงเรียนพรานหลวง โดยร่วมเล่นดนตรีในวงเครื่องสายฝรั่งหลวง กรมมหรสพ กระทรวงวัง ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ได้มีการยุบกระทรวงวัง ทำให้วงเครื่องสายฝรั่งหลวงต้องโอนย้ายมายังกรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ โดยครูสริได้อยู่ในวงเครื่องสายฝรั่งหลวงเป็นเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2472 - พ.ศ. 2482) จากนั้น จึงย้ายเข้าไปทำงานในกรมโฆษณาการรุ่นเดียวกับครูเอื้อ สุนทรสนาน
นอกจากการทำงานดนตรีในเวลาราชการแล้ว ครูสริยังได้เล่นดนตรีนอกเวลาราชการเพื่อหารายได้พิเศษอีกด้วย โดยในราว พ.ศ. 2476 ครูสริได้ไปเล่นดนตรีที่บาร์ซีเล็คท์ บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร ใกล้กรมไปรษณีย์เก่า โดยเล่นอยู่กับสาลี่ กล่อมอาภา (กลอง) ประชุม วิเศษประภา (ไวโอลิน) หลังจากนั้น หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ (ประดิษฐ์ สุขุม) อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้ให้ครูสริ ยงยุทธไปหาที่บ้าน โดยครูสริได้เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า "หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์บอกกับขุนสำเนียงชั้นเชิงว่า ต้องการจะตั้งวงดนตรีของกรมโฆษณาการและต้องการรวบรวมนักดนตรีฝีมือดีต่าง ๆ มาเล่น รวมทั้งจำเป็นต้องมีวงดนตรีเพื่อสนองตอบต่อนโยบายรัฐ อย่างไรช่วยหานักเปียโนให้ด้วย" ขุนสำเนียงชั้นเชิงจึงได้เสนอชื่อครูสริ ยงยุทธให้กับหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ครูสริ ยงยุทธ จึงเริ่มทำงานการดนตรีกับครูเอื้อ สุนทรสนาน ตั้งแต่นั้นมา โดยมีเพื่อนร่วมวงคือ สังเวียน แก้วทิพย์ (แซ็กโซโฟน) สมบูรณ์ ดวงสวัสดิ์ (แซ็กโซโฟน) เวส สุนทรจามร (ทรัมเป็ต) จำปา เล้มสำราญ (ทรัมเป็ต) ภิญโญ สุนทรวาท ชาวสิงคโปร์ (ทรอมโบน) สริ ยงยุทธ (เปียโน) สาลี่ กล่อมอาภา (กลอง) คีติ (บิลลี่) คีตากร ชาวฟิลิปปินส์ (กีตาร์) สมบูรณ์ ศิริภาค (ดับเบิลเบส) ทองอยู่ ปิยะสกุล (ไวโอลิน) และสมพงษ์ ทิพยกลิน (ไวโอลิน) เมื่อร่วมกันเป็นวงดนตรีแล้ว ได้บรรเลงให้กับภาพยนตร์ไทยฟิล์ม และบรรเลงหารายได้พิเศษนอกเวลาราชการที่โฮเต็ลพญาไท (โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) ในปัจจุบัน
ชีวิตการทำงานในวงดนตรีกรมโฆษณาการของครูสริ ยงยุทธนั้น เริ่มต้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นวันก่อตั้งวงดนตรีกรมโฆษณาการ โดยมีวัตถุประสงค์มาจากการที่ทางราชการยกฐานะสำนักโฆษณาการ เชิงสะพานเสี้ยว ขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ มีพันตรีวิลาศ โอสถานนท์เป็นอธิบดีคนแรก สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของประเทศไทย ที่เคยอยู่ในสังกัดของกรมไปรษณีย์โทรเลขก็ได้ย้ายมาสังกัดกรมโฆษณาการ จึงจำเป็นต้องมีวงดนตรีขึ้นมาเพื่อกระจายเสียงออกทางสถานีวิทยุของรัฐ และมีการโอนย้ายนักดนตรีทั้งวงมาจากกรมศิลปากรมาอยู่ เว้นแต่ครูจำปา เล้มสำราญคนเดียว ที่รับราชการอยู๋ในวงดุริยะโยธิน (วงดุริยางค์ทหารบก) ในการจัดตั้งวงดนตรีกรมโฆษณาการในครั้งนี้ มีครูเอื้อ สุนทรสนานเป็นหัวหน้าวง และครูเวส สุนทรจามรเป็นผู้ช่วยหัวหน้าวง สังกัดแผนกวิทยุกระจายเสียง มีที่ตั้งอยู่ที่ศาลาแดง
ในระยะแรกที่อยู่ในวงดนตรีกรมโฆษณาการ ครูสริและเพื่อนร่วมวงได้บรรเลงเพลงสากลส่งกระจายเสียงทางวิทยุคลื่นสั้นไปต่างประเทศ โดยยังไม่มีเพลงร้อง ต่อมาจึงได้เริ่มรับนักร้องเข้ามา ได้แก่ มัณฑนา โมรากุล รุจี อุทัยกร ล้วน ควันธรรม สุปาณี พุกสมบุญ ชวลี ช่วงวิทย์ และ สุภาพ รัศมิทัต ทำให้เริ่มมีการประพันธ์เพลงร้องมากขึ้น โดยมีครูเอื้อ สุนทรสนาน ครูเวส สุนทรจามร และครูสริ ยงยุทธ เป็นผู้แต่งทำนองเป็นส่วนใหญ่
ผลงานสำคัญในการรับราชการที่กรมโฆษณาการ คือ การจดบันทึกโน้ตระนาดเอกตามนโยบายการประดิษฐ์เพลงสังคีตสัมพันธ์ของ พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในยุคนั้น ซึ่งได้รับพระราชเสาวนีย์จาก สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 โดยมีครูพุ่ม บาปุยะวาทย์เป็นผู้ควบคุมการประดิษฐ์เพลง สำหรับการจดบันทึกในครั้งนี้ ครูสริ ได้จดบันทึกโน้ตระนาดเอกจากการบรรเลงของครูมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของฉายา "บุญธรรมทุ้ม" (ชื่อเดิมของครูมนตรี คือ บุญธรรม) ซึ่งครูสริบอกว่า จดยากมาก เพราะครูมนตรีเล่นแล้วมีทางเยอะ เปลี่ยนบ่อย แต่ก็สามารถจดได้สำเร็จ สำหรับโน้ตชุดนี้ ปัจจุบันถูกไฟไหม้หมดไปพร้อมกับกรมประชาสัมพันธ์ ถนนราชดำเนินกลาง ในภายหลัง ดร.ปัญญา รุ่งเรือง ได้ไปค้นพบเป็นไมโครฟิล์มที่ต่างประเทศ ครูสริจึงได้เสนอให้น่าจะนำมาพัฒนา แต่ปัจจุบันยังไม่สัมฤทธิ์ผล
ครูสริ ยงยุทธ เกษียณราชการเมื่อวันที่ 20 กันยายนพ.ศ. 2517 แต่ยังช่วยเหลือราชการกรมประชาสัมพันธ์จนถึง พ.ศ. 2526 จึงได้ออกมาจากวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์อย่างเต็มตัว
ส่วนวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งเป็นวงดนตรีของครูเอื้อ สุนทรสนานที่รองรับการแสดงหลังการเกษียณอายุราชการ ครูสริ ยงยุทธก็ยังช่วยเหลืออยู่อย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ครูเอื้อยังมีชีวิตอยู่ จนเมื่อครูเอื้อ สุนทรสนานถึงแก่กรรมแล้ว ก็ยังช่วยเหลือในการแสดงต่อมาเรื่อย ๆ ในระยะหลังที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน ตั้งโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีแล้ว ครูสริ ยงยุทธ ได้เข้ามาช่วยสอนนักร้องจนถึง พ.ศ. 2524 จึงเลิกสอน แล้วไปควบคุมวงดนตรีสุนทราภรณ์ในตำแหน่งหัวหน้าวง จนกระทั่งอายุครบ 75 ปี จึงเลิกและพักจากวงการเพลง แต่ยังไปปรากฏตัวอยู่บ้างตามโอกาสต่าง ๆ เช่น คอนเสิร์ตนิมิตใหม่ ใช่เพียงฝัน 80 ปี มัณฑนา โมรากุล เมื่อ พ.ศ. 2546 และงานครบรอบ 65 ปีวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2547 จนถึงแก่กรรม ใน พ.ศ. 2548
ครูสริ ยงยุทธ เป็นนักดนตรีที่แต่งทำนองเพลงไว้หลายเพลง โดยผู้ประพันธ์คำร้องส่วนใหญ่ คือ ครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ครูสุรัฐ พุกกะเวส โดยผลงานเพลงของครูสริ ยงยุทธ พอจะประมวลได้ดังนี้
ฯลฯ
และเป็นผู้เล่นเปียโนในบทเพลงสุนทราภรณ์เกือบทุกเพลง
ครูสริ ยงยุทธ มีโรคประจำตัวคือหอบหืดและ ถุงลมโป่งพอง ซึ่งครูสริได้ไปรักษาตัวอยู่ที่บ้านของบุตรสาว (สุดสวาท ตริณตระกูล) ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีอยู่ประจำ จนทำให้สุขภาพเริ่มดีขึ้น และดูเหมือนจะหายจากโรคดังกล่าว แต่ก็ยังเข้ามาพบแพทย์ตามนัดอยู่เสมอ ในระยะหลังครูสริมีปัญหาเรื่องบาดแผลที่เกิดตามผิวหนังบ้าง แต่ไม่รุนแรง จนช่วงสายวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2548 ครูสริเริ่มมีอาการผิดปกติเมื่อหลับไปแล้วตื่นช้ากว่าปกติ เมื่อบุตรสาวเข้าไปปลุกจึงได้พาไปส่งโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อถึงโรงพยาบาล แพทย์ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจกับครูสริ ยงยุทธแล้ว จนกระทั่งวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2548 เวลา 4.10 น. ครูสริ ยงยุทธได้จากไปอย่างสงบ ด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน สิริรวมอายุได้ 92 ปี ได้รับการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแคนางเลิ้ง) เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2548
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.