Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เพ็ญศรี พุ่มชูศรี (16 มิถุนายน พ.ศ. 2472—14 พฤษภาคม พ.ศ. 2550) หรือชื่อเดิม ผ่องศรี พุ่มชูศรี รู้จักกันในชื่อเล่น ป้าโจ๊ว เป็นนักร้อง และครูสอนขับร้องเพลงไทยสากล เป็นนักร้องประจำวงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือสุนทราภรณ์ ได้รับการคัดเลือกให้ขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมาตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการบันทึกแผ่นเสียง ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2534
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
เพ็ญศรี พุ่มชูศรี | |
---|---|
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 16 มิถุนายน พ.ศ. 2472 ผ่องศรี พุ่มชูศรี |
เสียชีวิต | 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 (77 ปี 331 วัน) จังหวัดสมุทรปราการ |
คู่สมรส | สุวัฒน์ วรดิลก |
ปีที่แสดง | 2484-2550 |
ศิลปินแห่งชาติ | พ.ศ. 2534 - สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) |
พระสุรัสวดี | พากย์เสียงยอดเยี่ยม 2506 - จำเลยรัก 2507 - นกน้อย |
เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2472 ที่จังหวัดพิษณุโลกเป็นบุตรีของนายผิว พุ่มชูศรี และนางทรัพย์ นิลสุวรรณ (บางตำราว่า มารดาชื่อ นางจันทร์ พุ่มชูศรี) มีน้องสาวร่วมบิดามารดา 1 คน ชื่อ นางพรรณี (พุ่มชูศรี) พลรัตน์
เพ็ญศรีมีชื่อเล่นว่า "แอ๊ด" แต่ต่อมาเมื่อมาอยู่กรมโฆษณาการแล้ว ได้เปลี่ยนชื่อเล่นเป็น "โจ๊ว" ตามคำว่า "ฮุดโจ๊ว" ซึ่งแปลว่า พระจีน เนื่องจากเพ็ญศรีชอบใส่ชุดคอกระเบื้องสีเหลืองร้องเพลง ด้วยรูปร่างอ้วนกลม เมื่อ มัณฑนา โมรากุลเห็นจึงเรียกว่า "ฮุดโจ๊ว" แล้วกลายเป็น "โจ๊ว" ในที่สุด
เพ็ญศรีเริ่มเข้าประกวดร้องเพลงตามงานวัด ตั้งแต่อายุ 8 ปี โดยใช้นามว่า "ผ่องศรี พุ่มชูศรี" เพลงที่ใช้ร้องไม่ทราบชื่อ แต่มีเนื่อท่อนหนึ่งว่า ...เรือน้อยที่ปล่อยลอยไว้... เพ็ญศรีเริ่มต้นฝึกหัดร้องเพลงกับครูศิวะ วรนาฏ (ชิน เนียวกุล) เมื่อปี พ.ศ. 2484 และได้บันทึกแผ่นเสียงเพลง ศิลธรรมทั้งห้า ขณะอายุ 12 ปี โดยเปลี่ยนชื่อเป็น "เด็กหญิงเพ็ญศรี พุ่มชูศรี" และใช้ชื่อนี้ในการขับร้องเพลงเรื่อยมา
เมื่อปี พ.ศ. 2487 ตอนนั้นเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เพ็ญศรีพายเรือสวนกับครูเอื้อ สุนทรสนานซึ่งรู้จักกันอยู่แล้ว ครูเอื้อจึงชักชวนให้มาเป็นนักร้องที่วงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือวงดนตรีสุนทราภรณ์ เพ็ญศรีสนใจจึงเข้ามาเป็นนักร้องประจำวงดนตรีกรมโฆษณาการซึ่งมี ครูเอื้อ สุนทรสนานเป็นหัวหน้าวง และได้รับการฝึกร้องเพลงจากครูเวส สุนทรจามรจนชำนาญจึงได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงเป็นจำนวนมากเรื่อยมา
ในปี พ.ศ. 2490 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพ็ญศรีขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพลง "สายฝน" ซึ่งเพิ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ก่อนหน้านั้นไม่นาน โดยเป็นการร้องสดในรายการบรรเลงดนตรีรายการหนึ่ง หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2491 จึงได้ขับร้องเพลงนี้บันทึกแผ่นเสียง
เพ็ญศรีลาออกจากราชการกรมโฆษณาการและวงดนตรีสุนทราภรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2495 เพื่อเข้าร่วมงานกับละครคณะชุมนุมศิลปิน ซึ่งเป็นคณะละครเวทีของรพีพร หรือชื่อจริงคือคุณสุวัฒน์ วรดิลก รับหน้าที่ทั้งร้องเพลงประกอบและร่วมแสดง ในเวลาต่อมาได้เกิดความรักกับคุณสุวัฒน์ และสมรสกัน ในช่วงนี้แม้ว่าจะลาออกจากราชการไปแล้ว แต่ก็ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานของทางราชการอยู่เสมอ ได้รับเชิญให้ไปขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพื่อบันทึกแผ่นเสียงอีกหลายครั้ง
เพ็ญศรีได้จัดตั้งโรงเรียนสอนการร้องเพลงเล็ก ๆ ขึ้น ชื่อว่า "ศกุนตลา" เปิดสอนให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจการขับร้อง ทำให้มีนักร้องใหม่ ๆ ที่มีความสามารถเกิดขึ้นมาหลายคน นอกจากงานสอนร้องเพลงแล้ว เธอยังได้รับเชิญให้ไปร้องเพลงเพื่อช่วยงานการกุศลและสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอตลอดมา อีกทั้งเคยได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมนักร้องแห่งประเทศไทยติดต่อกันถึง 3 สมัย
ในปี พ.ศ. 2506 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากเพลง "วิหคเหิรลม" และเพลง "ม่านไทรย้อย" ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง "ง้อรัก"
และเมื่อปี พ.ศ. 2534 ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง)
เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เพ็ญศรีได้บันทึกเสียงไว้ ได้แก่ สายฝน ดวงใจกับความรัก เทวาพาคู่ฝัน มหาจุฬาลงกรณ์ ความฝันอันสูงสุด และอาทิตย์อับแสง เป็นต้น
บทเพลงอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียง
หงส์เหิร, ศรกามเทพ, ธนูรัก, ฉะอ้อนรัก, ยาใจยาจก, ศกุนตลา, คนจะรักกัน, วิหคเหิรลม, ความรักเจ้าขา, คนึงครวญ, ฝากรัก, โอ้ยอดรัก, พิษสวาท, ลูกไม้ยั่วผู้ชาย, ยิ้มคือความสุข, หนามชีวิต, รำพันสวาท, ดวงใจ, บางปะกง, โพระดก, ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น, คำรำพัน, คำอธิษฐานของดวงดาว, คะนึงครวญ, เล่นกับไฟ, รอยร้าวที่ดวงใจ, ฝนสั่งฟ้า, หงษ์ทอง, ฝากอาลัย, แสงเดือนเตือนรัก, สัญญาที่เธอลืม, หาดสงขลา, เดือนหงายใจเศร้า, เดือนดวงเด่น, รำพึงถึงคู่, ม่านไทรย้อย, อ้อมอกสรวง, ไฟรัก, เริงระลม, สายหยุด, ดอกโศก เป็นต้น
ใต้ร่มมลุลี (คู่วินัย), มนต์รักนวลจันทร์ (คู่สุเทพ), นกเขาคูรัก (คู่ชรินทร์), พ่อแง่แม่งอน (คู่ชรินทร์), พรพรหม (คู่เอื้อ), วอนเฉลย (คู่วินัย), เมืองฟ้าเมืองดิน (คู่เอื้อ), ง้อรัก (คู่ชรินทร์), สัญญารัก (คู่ชรินทร์), คู่ชีวัน (คู่สุเทพ), รักคนที่รักเรา (คู่ชรินทร์, ริมธารรัก (คู่สุเทพ), เขมรละออองค์ (คู่วินัย) เป็นต้น
เลือกคู่ (คู่ชวลี), เย็นเย็น (คู่มัณฑนา), สาวริมธาร (คู่ชวลี,มัณฑนา), สอนรัก (คู่สวลี ผกาพันธุ์), นิมิตสวรรค์ (นำหมู่) เป็นต้น
เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ถึง พ.ศ. 2550 แต่สามารถร้องเพลงได้เป็นปกติ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 สำหรับศพของเพ็ญศรี พุ่มชูศรี และคุณสุวัฒน์ วรดิลก สามี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2550 ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.