Loading AI tools
ความผิดปกติของสมองในระยะยาวทำให้ความจำ ความคิด และพฤติกรรมบกพร่อง จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาวะสมองเสื่อม หรือ โรคสมองเสื่อม[11] (อังกฤษ: Dementia มาจากภาษาละตินว่า de- "ออกไป" และ mens "จิตใจ"[12]) เป็นชื่อรวมของโรคสมองต่าง ๆ ที่เป็นในระยะยาว มักทำให้เสียความคิดและความจำอย่างรุนแรงจนมีผลต่อชีวิตประจำวัน[2] อาการสามัญอื่น ๆ รวมปัญหาทางอารมณ์ ปัญหาทางภาษา และการไร้แรงจูงใจที่จะทำอะไร ๆ[2][3] ปกติไม่มีผลต่อความรู้สึกตัว[13] เพื่อวินิจฉัยคนไข้ว่าสมองเสื่อม การทำงานของสมองต้องผิดแปลกไปหรือเสื่อมไปเกินกว่าที่คาดหวังได้เพราะความชรา[2][14] โรคนี้มีผลสำคัญต่อผู้ดูแลรักษา[2]
ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) | |
---|---|
ชื่ออื่น | Senility[1], senile dementia |
ภาพเปรียบเทียบ (ซ้าย) สมองคนชราปกติ ข้อความระบุส่วนสมองที่จะเกิดปัญหาในคนไข้ และ (ขวา) สมองคนไข้โรคอัลไซเมอร์ แสดงการฝ่อของเปลือกสมองและฮิปโปแคมปัสอย่างรุนแรงมาก แสดงโพรงสมองที่ขยายตัวอย่างมาก | |
สาขาวิชา | ประสาทวิทยา จิตเวช |
อาการ | ความคิดและความจำเสื่อม ปัญหาทางอารมณ์และทางภาษา การไร้แรงจูงใจ[2][3] |
การตั้งต้น | ค่อย ๆ เพิ่ม[2] |
ระยะดำเนินโรค | ระยะยาว[2] |
สาเหตุ | โรคอัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด ภาวะสมองเสื่อมเหตุลิวอี้บอดี้ (LBD) ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองกลีบหน้าและกลีบขมับ (FTD)[2][3] |
วิธีวินิจฉัย | การตรวจการทำงานทางประชาน (เช่น MMSE[A])[3][4] |
โรคอื่นที่คล้ายกัน | อาการเพ้อ[5] |
การป้องกัน | ได้ความรู้ตั้งแต่เนื่อง ๆ ป้องกันไม่ให้ความดันโลหิตสูง ไม่ให้เป็นโรคอ้วน ไม่สูบบุหรี่ ให้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม[6] |
การรักษา | ดูแลพยาบาล[2] |
ยา | สารยับยั้งโคลิเนสเทอเรส (ประโยชน์เล็กน้อย)[7][8] |
ความชุก | 46 ล้านคน (ปี 2015)[9] |
การเสียชีวิต | 1.9 ล้านคน (ปี 2015)[10] |
โรคสมองเสื่อมที่สามัญสุดก็คือ โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดเป็นอัตราร้อยละ 50–70[2][3] โรคสามัญอื่น ๆ รวมภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด (vascular dementia) ที่ 25%, ภาวะสมองเสื่อมเหตุลิวอี้บอดี้ (Lewy body dementia หรือ LBD) ที่ 15% และ ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองกลีบหน้าและกลีบขมับ (frontotemporal dementia หรือ FTD)[2][3] โรคที่สามัญน้อยกว่ารวมภาวะโพรงสมองคั่งน้ำโดยมีความดันปกติ (NPH) ภาวะสมองเสื่อมเหตุโรคพาร์คินสัน (PDD) ซิฟิลิส ภาวะสมองเสื่อมเหตุเอชไอวี และโรคครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบ (CJD)[15] คนไข้หนึ่ง ๆ อาจมีภาวะสมองเสื่อมหลายอย่าง[2] มีส่วนหนึ่งที่เกิดภายในครอบครัว[16] ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตรุ่น 5 (DSM-5) ภาวะสมองเสื่อมได้จัดใหม่ว่าเป็นความผิดปกติทางประสาทปริชาน (neurocognitive disorder) โดยมีระดับความรุนแรงต่าง ๆ[17] การวินิจฉัยปกติจะอาศัยประวัติคนไข้และการทดสอบการทำงานทางประชาน (cognitive testing) ประกอบกับการสร้างภาพทางสมองและการตรวจเลือดเพื่อกันเหตุอื่น ๆ ออก[4] วิธีการตรวจทางประชานที่ใช้อย่างสามัญอย่างหนึ่งก็คือ mini mental state examination (MMSE)[A][3] วิธีที่พยายามใช้ป้องกันโรครวมทั้งลดปัจจัยเสี่ยงเช่น ความดันสูง การสูบบุหรี่ เบาหวาน และโรคอ้วน[2] การตรวจคัดกรองโรคในคนทั่วไปไม่แนะนำ[20]
ไม่มีวิธีการรักษาโรค[2] สารยับยั้งโคลิเนสเทอเรส (cholinesterase inhibitors) เช่น โดเนพีซิลมักใช้รักษาและอาจมีประโยชน์ต่อโรคในระดับอ่อนจนถึงปานกลาง[7][21][22] แต่ประโยชน์โดยรวมอาจเพียงแค่เล็กน้อย[7][8] มีวิธีเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไข้และผู้ดูแลหลายอย่าง[2] การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมอาจสมควร[2] การให้ความรู้และกำลังใจแก่ผู้ดูแลเป็นเรื่องสำคัญ[2] การออกกำลังกายอาจมีประโยชน์ในการใช้ชีวิตและอาจทำให้ได้ผลลัพธ์ดีขึ้น[23] การแก้ปัญหาทางพฤติกรรมด้วยยาระงับอาการทางจิตแม้จะทำอย่างสามัญแต่ก็ไม่แนะนำ เพราะประโยชน์ที่จำกัดและผลข้างเคียง รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงตาย[24][25]
มีคนไข้ภาวะสมองเสื่อม 46 ล้านคนทั่วโลกในปี 2015[9] คนร้อยละ 10 จะเกิดโรคในช่วงชีวิต[16] โดยจะสามัญขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น[26] คนอายุระหว่าง 65–74 ปีร้อยละ 3 มีภาวะสมองเสื่อม, 75–84 ปีร้อยละ 19 และอายุมากกว่า 85 ปีเกือบครึ่ง[27] ในปี 2013 มีคนตายเพราะโรค 1.7 ล้านคนเพิ่มจาก 8 แสนคนในปี 1990[28] เพราะคนอายุยืนขึ้น ภาวะสมองเสื่อมก็เลยสามัญยิ่งขึ้น[26] แต่สำหรับคนในกลุ่มอายุโดยเฉพาะ ๆ อาจจะเกิดน้อยกว่าสมัยก่อนอย่างน้อยก็ในประเทศพัฒนาแล้วเพราะปัจจัยเสี่ยงได้ลดลง[26] มันเป็นเหตุพิการสามัญที่สุดอย่างหนึ่งในคนชรา[3] เชื่อว่า เป็นภาระทางเศรษฐกิจถึง 604,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 20 ล้านล้านบาท)[2] ผู้มีภาวะสมองเสื่อมบ่อยครั้งถูกกักตัวไว้หรือถูกให้ยาระงับประสาทเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นประเด็นทางสิทธิมนุษยชน[2] มลทินทางสังคมเป็นเรื่องสามัญ[3]
อาการภาวะสมองเสื่อมจะต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทและระยะของโรค[29] ปัญหาที่มักมีรวมความจำ ภาษา ความใส่ใจ การแก้ปัญหา และปัญหาการจินตนาการทางปริภูมิ (visual-spatial ability) ภาวะสมองเสื่อมชนิดต่าง ๆ โดยมากจะลุกลามอย่างช้า ๆ เมื่อปรากฏอาการ ความจริงสมองได้เสื่อมมานานแล้ว
อาการทางประสาท-จิตเวชที่ปรากฏมีชื่อเรียกเฉพาะว่า อาการทางพฤติกรรมและทางจิตของภาวะสมองเสื่อม (Behavioural and psychological symptoms of dementia ตัวย่อ BPSD) ซึ่งรวมปัญหาต่าง ๆ คือ[30]
อาการทางพฤติกรรมและทางจิตเช่นที่ว่าจะเกิดในภาวะสมองเสื่อมแทบทุกชนิด อาจมีอาการอื่น ๆ อีกรวมทั้ง[32][33]
เมื่อบุคคลที่สมองเสื่อมอยู่ในสถานการณ์ที่ตนรับมือไม่ได้ ก็อาจเกิดร้องไห้หรือโกรธอย่างบังคับไม่ได้ ("catastrophic reaction")[34] อาการโรคจิต (มักหลงผิดว่า คนอื่นมุ่งร้ายต่อตน) และความไม่สงบกายใจหรือความดุร้ายมักจะมาพร้อมกับภาวะสมองเสื่อม[35]
ในระยะแรกของภาวะสมองเสื่อม อาการอาจเห็นได้ยาก ต้องมองกลับไปในอดีตจึงจะเห็นอาการต้น ๆ ได้ชัด ระยะแรกสุดก็คือ ความพิการทางประชานแบบอ่อน (mild cognitive impairment หรือ MCI) ผู้ที่วินิจฉัยว่ามีอาการนี้ร้อยละ 70 จะลุกลามเป็นภาวะสมองเสื่อมต่อไป[14] เมื่อถึงระยะนี้ สมองได้เสื่อมมานานแล้ว แต่อาการเพียงเพิ่งเริ่มปรากฏ แต่ยังไม่สร้างปัญหาต่อชีวิตประจำวัน เพราะถ้าสร้างแล้ว ก็จะวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองเสื่อม ผู้มีอาการนี้จะได้คะแนนระหว่าง 27-30 เมื่อทดสอบด้วย MMSE[A] ซึ่งอยู่ในพิสัยปกติ อาจมีปัญหาความจำและปัญหาเลือกคำพูด แต่สามารถแก้ปัญหาธรรมดา ๆ และดำเนินชีวิตตามปกติได้[36]
เมื่อถึงภาวะสมองเสื่อมระยะต้น อาการจะเริ่มปรากฏต่อผู้อื่น และเริ่มเป็นปัญหาต่อชีวิตประจำวัน คะแนนของ MMSE[A] จะอยู่ระหว่าง 20-25 อาการจะขึ้นอยู่กับชนิดของภาวะสมองเสื่อม งานบ้านหรืองานอื่น ๆ ที่ซับซ้อนจะกลายเป็นเรื่องยาก คนไข้ยังสามารถดูแลตัวเอง แต่อาจลืมบางเรื่อง เช่น กินยา และอาจต้องเตือนให้ทำ[37]
อาการเบื้องต้นของภาวะสมองเสื่อมปกติรวมปัญหาความจำ แต่อาจรวมภาวะเสียการใช้คำ (anomia) ปัญหาในการวางแผนและบริหารจัดการ (คือ executive functions)[38] วิธีการประเมินความพิการที่ดีอย่างหนึ่งก็คือถามว่า ยังจัดแจงเรื่องเงินทองเองได้หรือไม่ เพราะนี่มักเป็นเรื่องแรกที่มีปัญหา อาการอื่นอาจรวมการหลงทางในที่ใหม่ ๆ การทำอะไรซ้ำ ๆ บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง[39] การไม่เข้าสังคมและปัญหาในการงาน
เมื่อประเมินภาวะ จะต้องพิจารณาว่าบุคคลทำการได้เช่นไรเมื่อ 5-10 ปีก่อน ต้องพิจารณาระดับการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น นักบัญชีที่ไม่สามารถคิดงบดุลบัญชีธนาคารน่าเป็นห่วงกว่าบุคคลที่ไม่สำเร็จการศึกษามัธยมปลายหรือไม่เคยดูแลเรื่องการเงินของตนเอง[14] ในภาวะสมองเสื่อมเหตุโรคอัลไซเมอร์ อาการเบื้องต้นที่เด่นสุดคือปัญหาความจำ ปัญหาอื่น ๆ รวมทั้งเสียการใช้คำและหลงทาง ภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ เช่น ภาวะสมองเสื่อมเหตุลิวอี้บอดี้ (LBD) และเหตุสมองกลีบหน้าและกลีบขมับ (FTD) อาการแรก ๆ สุดอาจเป็นบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง บวกปัญหาการวางแผนและบริหารจัดการ
เมื่อภาวะลุกลาม อาการต้น ๆ จะแย่ลง อัตราความเสื่อมจะต่างกันในแต่ละบุคคล คะแนน MMSE[A] ระหว่าง 6-17 ระบุว่าภาวะอยู่ในระยะกลาง ยกตัวอย่างเช่น ภาวะสมองเสื่อมเหตุโรคอัลไซเมอร์ระยะกลางจะจำอะไรใหม่ ๆ เกือบไม่ได้ คนไข้พิการอย่างรุนแรงเพราะแก้ปัญหาไม่ได้ และความเข้าใจทางสังคมก็อาจพิการด้วย ปกติจะไปนอกบ้านไม่ได้ และไม่ควรให้อยู่ตัวคนเดียว อาจสามารถทำงานบ้านง่าย ๆ ได้แต่นอกเหนือจากนั้นก็จะทำไม่ได้ และต้องให้คนช่วยดูแลทำความสะอาดตนเองมากขึ้นโดยเตือนเฉย ๆ ไม่ได้[14]
คนไข้ภาวะสมองเสื่อมระยะสุดท้ายปกติจะเงียบเฉยมากขึ้น และต้องได้ความช่วยเหลือดูแลตนเองทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ปกติต้องมีคนดูแล 24 ชม. เพื่อให้ปลอดภัย และให้ได้สิ่งที่จำเป็นพื้นฐานต่อชีวิต ถ้าไม่ดูแล อาจจะเที่ยวไปไม่มีจุดหมายหรือหกล้ม อาจไม่รู้จักอันตรายธรรมดา ๆ เช่น เตาร้อน หรือไม่รู้จักว่าควรเข้าห้องน้ำ อาจกลั้นปัสสาวะไม่ได้[36] การกินก็มักจะเปลี่ยนไป มักต้องกินอาหารบด หรืออาหารเหลวทำให้ข้น ต้องช่วยให้กิน ไม่ว่าจะเพื่อยืดชีวิต คงน้ำหนัก หรือลดโอกาสติดคอโดยทำให้กลืนง่ายขึ้น[40] ความอยากอาหารอาจลดจนไม่ต้องการกินเลย อาจไม่ต้องการลุกจากเตียง หรืออาจต้องช่วยให้ลุกจากเตียง จำคนรอบ ๆ ตัวไม่ได้ อาจมีปัญหาการนอนหรือไม่นอนเลย[14]
เหตุของภาวะสมองเสื่อมที่ฟื้นสภาพได้รวมภาวะขาดไทรอยด์ การขาดวิตามินบี12 โรคไลม์ และซิฟิลิสระบบประสาท (neurosyphilis) ผู้ที่มีปัญหาความจำทั้งหมดควรตรวจว่าขาดไทรอยด์หรือวิตามินบี12หรือไม่ คนไข้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเท่านั้นพึงตรวจโรคไลม์และซิฟิลิสระบบประสาท แต่เพราะปัจจัยเสี่ยงมักรู้ได้ยาก[41] ซิฟิลิสระบบประสาท โรคไลม์ และปัจจัยอื่น ๆ จึงอาจต้องตรวจอยู่ดีเพื่อให้ระบุเหตุให้ชัดเจนได้[14]: 31–32 การเสียการได้ยินอาจสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อม[42] ดังนั้น เครื่องช่วยให้ได้ยินก็อาจมีประโยชน์
โรคอัลไซเมอร์เป็นเหตุภาวะสมองเสื่อมในอัตราถึงร้อยละ 50-70[2][3] อาการสามัญที่สุดของโรคก็คือการเสียความจำระยะสั้นและเสียการใช้คำ อาจมีปัญหาทางรับรู้ทางตา-ปริภูมิ (เช่น เริ่มหลงทางบ่อย) การคิดหาเหตุผล การตัดสินใจ และการรู้จักว่าตนมีปัญหาความจำ
ปัญหาสามัญในเบื้องต้นอาจรวมการทำอะไรซ้ำ ๆ ปัญหาการจ่ายบิล ปัญหาทำอาหารโดยเฉพาะอาหารที่ใหม่ ๆ หรือซับซ้อน ลืมกินยา และเสียการใช้คำ ส่วนสมองที่มีปัญหามากสุดคือฮิปโปแคมปัส ส่วนอื่นที่พบว่าฝ่อรวมสมองกลีบขมับและกลีบข้าง[14] แม้รูปแบบการฝ่อเช่นนี้ชี้โรคอัลไซเมอร์ แต่เพราะการฝ่อของสมองสำหรับโรคจะต่าง ๆ กัน เพราะฉะนั้น ภาพการฝ่อสมองอย่างเดียวไม่พอเพื่อวินิจฉัยโรค ความสัมพันธ์ระหว่างอาการชา/อาการไม่รู้สึก (anesthesia) กับโรคอัลไซเมอร์ไม่ชัดเจน[43]
ภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 20 ของทั้งหมดเป็นภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด (vascular dementia) จึงจัดเป็นเหตุอันดับสอง[44] ซึ่งอาจเกิดจากโรคหรือการบาดเจ็บที่มีผลต่อหลอดเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมอง ปกติจะเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมองแบบย่อย ๆ (mini-stroke หรือ transient ischemic attack) อาการของภาวะจะขึ้นอยู่กับส่วนสมองที่เกิดขาดเลือดและกับขนาดเส้นเลือดที่เป็นปัญหา[14] การบาดเจ็บหลายครั้งอาจทำให้ภาวะสมองเสื่อมแย่ลงไปเรื่อย ๆ เทียบกับการบาดเจ็บครั้งเดียวแต่เกิดที่ส่วนสำคัญทางประชาน เช่น ฮิปโปแคมปัสหรือทาลามัส ซึ่งการทำงานทางประชานอาจเสื่อมลงอย่างฉับพลัน[44] การสร้างภาพสมองอาจแสดงหลักฐานว่าเกิดการขาดเลือดหลายครั้งหลายขนาดในตำแหน่งต่าง ๆ ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือดมักจะมีปัจจัยเสียงเกี่ยวกับโรคหลอดเลือด เช่น การสูบบุหรี่ ความดันสูง จังหวะหัวใจเต้นผิดปกติ (atrial fibrillation) ไขมันสูง เบาหวาน หรือปัญหาทางหัวใจหลอดเลือดอื่น ๆ เช่น หัวใจล้มหรือปวดหัวใจ (angina) ที่เคยเกิดมาก่อน
ภาวะสมองเสื่อมเหตุลิวอี้บอดี้ (Lewy body dimentia หรือ LBD) มีอาการหลักเป็นประสาทหลอนทางตาและอาการคล้ายโรคพาร์คินสัน ซึ่งรวมการสั่น กล้ามเนื้อแข็ง และใบหน้าไร้อารมณ์ สิ่งที่เห็นหลอนทางตาจะชัดเจน เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนหรือสัตว์ และมักเกิดเมื่อกำลังจะหลับหรือตื่น อาการเด่นอื่น ๆ รวมปัญหาทางการใส่ใจ การบริหารจัดการ การแก้ปัญหา การวางแผน (คือ executive functions) และปัญหาทางตา-ปริภูมิ (ซึ่งทำให้หลงทาง)[14] เช่นกัน ภาพสมองอย่างเดียวไม่สามารถใช้วินิจฉัย LBD แต่ก็มีอาการบางอย่างที่สามัญเป็นพิเศษ สมองกลีบท้ายทอยของคนไข้มักจะปรากฏว่า 1) มีเลือดไปเลี้ยงน้อยเกิน (hypoperfusion) เมื่อทำภาพ SPECT หรือ 2) มีเมแทบอลิซึมน้อยเกิน (hypometabolism) เมื่อทำภาพ PET ทั่วไปแล้ว การวินิจฉัย LBD จะตรงไปตรงมาและปกติไม่ต้องถ่ายภาพสมอง[14]
ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองกลีบหน้าและกลีบขมับ (frontotemporal dementia หรือ FTD) มีอาการเป็นบุคลิกภาพเปลี่ยนไปอย่างมากและปัญหาทางภาษา คนไข้จะถอนตัวจากสังคมและไม่รู้ว่าตนมีปัญหาตั้งแต่ต้น ๆ โดยเปรียบเทียบ ปัญหาความจำไม่ใช่อาการหลัก[14][45]
FTD มีประเภทย่อย 6 ประเภท ประเภทแรกมีปัญหาหลักทางบุคลิกภาพและทางพฤติกรรม ซึ่งเรียกว่า behavioral variant FTD (bv-FTD) ประเภทนี้สามัญสุด คนไข้ประเภทนี้ไม่ดูแลความสะอาดตนเอง ความคิดยืดหยุ่นไม่ได้ ไม่ค่อยยอมรับว่ามีปัญหา ไม่เข้าสังคม ความอยากอาหารมักเพิ่มอย่างมาก อาจมีพฤติกรรมทางสังคมที่ไม่สมควร เช่น อาจกล่าวเรื่องทางเพศอย่างไม่สมควร หรืออาจเปิดดูสื่อโป๊อย่างโต้ง ๆ อาการที่สามัญอย่างหนึ่งก็คือความไร้อารมณ์ (apathy) ไม่สนใจอะไร ๆ แต่ความไร้อารมณ์ก็เป็นอาการสามัญอย่างหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมหลายชนิด[14]
FTD อีกสองประเภทมีภาวะเสียการสื่อความ (aphasia) เป็นอาการหลัก ชนิดแรกเรียกว่า semantic variant primary progressive aphasia (SV-PPA) อาการหลักคือการเสียการรู้ความหมายของคำ อาจเริ่มด้วยปัญหาการเรียกสิ่งต่าง ๆ แล้วในที่สุดอาจไม่รู้ชื่อเลย ตัวอย่างเช่น รูปวาดของนก สุนัข และเครื่องบินอาจปรากฏเหมือน ๆ กันต่อคนไข้[14] ในการทดสอบคลาสสิก จะให้คนไข้ดูรูปพีระมิดโดยใต้รูปเป็นต้นปาล์มและต้นสน แล้วถามว่า ต้นไม้ชนิดใดเข้ากับพีระมิดได้ดีสุด คนไข้ SV-PPA จะตอบคำถามนี้ไม่ได้
ชนิดที่สองเรียกว่า non-fluent agrammatic variant primary progressive aphasia (NFA-PPA) โดยหลักมีปัญหาสร้างคำพูด คนไข้มีปัญหาใช้คำ แต่ปัญหาโดยมากมาจากการประสานใช้กล้ามเนื้อที่พูด ในที่สุด คนไข้ประเภทนี้จะใช้คำพยางค์เดี่ยว ๆ หรืออาจจะไม่พูดเลย
ส่วน progressive supranuclear palsy (PSP) เป็น FTD ชนิดหนึ่งที่มีคนไข้มีปัญหาเคลื่อนไหวตา เริ่มต้นด้วยปัญหาการมองขึ้นหรือมองลง (vertical gaze palsy) เพราะปัญหาการมองขึ้นบางครั้งเกิดกับคนชราโดยปกติ ปัญหาการมองลงจึงเป็นจุดต่างสำคัญของ PSP อาการสำคัญอื่น ๆ รวมการล้มไปข้างหลัง ปัญหาทรงตัว เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อแข็ง หงุดหงิด ไร้อารมณ์ ถอนตัวจากสังคม และซึมเศร้า คนไข้อาจมีอาการเหมือนคนที่สมองกลีบหน้าเสียหาย เช่น การพูดคำหรือวลีซ้ำ ๆ รีเฟล็กซ์กำมือ (เมื่อลูบที่กลางฝ่ามือ) และพฤติกรรมต้องใช้สิ่งของ (คือ ต้องใช้สิ่งที่เพียงเห็น) คนไข้ PSP มักมีปัญหาการกลืนกินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดก็จะมีปัญหาการพูดด้วย เพราะกล้ามเนื้อแข็งตัวและเคลื่อนไหวช้า PSP จึงมักวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคพาร์คินสัน เมื่อสร้างภาพในสมอง สมองส่วนกลางปกติจะฝ่อแต่จะไม่เห็นปัญหาทางสมองที่สามัญอื่น ๆ
Corticobasal degeneration (CBD) เป็น FTD รูปแบบที่มีน้อย มีอาการเป็นปัญหาทางประสาทหลายรูปแบบที่แย่ลงเรื่อย ๆ มีผลต่อสมองส่วนต่าง ๆ มากมายแต่ละส่วนในอัตราที่ต่างกัน อาการสามัญอย่างหนึ่งก็คือปัญหาการใช้แขนขาหนึ่ง ๆ อาการอย่างหนึ่งที่มีน้อยใน FTD อื่น ๆ ก็คือการมีแขนขาแปลกปลอม (alien limb) คือแขนขาที่ขยับด้วยตัวเองโดยบุคคลไม่ได้ตั้งใจทำ อาการสามัญอื่น ๆ รวมการเคลื่อนไหวแขนขาแบบกระตุก ๆ (กล้ามเนื้อกระตุกรัวหรือ myoclonus) เป็นอาการที่ต่าง ๆ กันระหว่างแขนขาทั้งสองข้าง (คือไม่สมมาตร) ปัญหาการพูดเพราะไม่สามารถประสานขยับกล้ามเนื้อปาก ความชาหรือความรู้สึกเหมือนแขนขาถูกเข็มแทง หรือการไม่ใส่ใจสิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่รู้สึกในร่างกายข้างหนึ่ง (neglect) เป็นการไม่ใส่ใจร่างกายข้างตรงข้ามกับสมองที่มีปัญหา เช่น คนไข้อาจไม่รู้สึกเจ็บที่ร่างกายข้างหนึ่ง หรืออาจวาดรูปเพียงครึ่งเดียว อนึ่ง แขนขาที่มีปัญหาอาจแข็งหรือกล้ามเนื้ออาจหดเกร็งเป็นเหตุให้เกิดการขยับแปลก ๆ ซ้ำ ๆ (dystonia)[14] เขตสมองที่เสียมากที่สุดใน CBD ก็คือ สมองกลีบหน้าส่วนหลังและสมองกลีบข้าง แม้ส่วนอื่น ๆ ก็จะเสียด้วย[14]
ท้ายสุดคือ FTD ที่สัมพันธ์กับโรคเซลล์ประสาทสั่งการ (FTD-MND) ซึ่งมีอาการของ FTD (ทางพฤติกรรม ภาษา และการเคลื่อนไหว) ร่วมกับอะไมโอโทรฟิก แลเทอรัล สเกลอโรซิส คือเซลล์ประสาทสั่งการตาย
โรคครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบปกติจะก่อภาวะสมองเสื่อมที่แย่ลงอย่างรวดเร็วภายในเพียงสัปดาห์ ๆ หรือเดือน ๆ โดยมีเหตุจากพรีออน แต่โรคอื่น ๆ ที่ปกติสมองเสื่อมอย่างช้า ๆ บางครั้งก็เสื่อมเร็วเหมือนกันรวมทั้งภาวะสมองเสื่อมเหตุโรคอัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อมเหตุลิวอี้บอดี้ ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองกลีบหน้าและกลีบขมับ (รวมทั้ง CBD และ progressive supranuclear palsy)
โรคสมอง (encephalopathy) หรืออาการเพ้อ อาจแย่ลงอย่างช้า ๆ โดยดูเหมือนกับภาวะสมองเสื่อม เหตุที่เป็นไปได้รวมทั้งการติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบเหตุไวรัส, subacute sclerosing panencephalitis, Whipple's disease), สมองอักเสบ (limbic encephalitis, Hashimoto's encephalopathy, cerebral vasculitis), เนื้องอก เช่น มะเร็งปุ่มน้ำเหลืองในระบบประสาทกลางหรือเนื้องอกเกลีย (glioma), ยาเป็นพิษ (เช่น ยากันชัก), ปัญหาทางเมแทบอลิซึม เช่น ตับไตล้มเหลว, การตกเลือดใต้เยื่อดูรา (subdural hematoma) ที่เป็นบ่อย ๆ/เรื้อรัง และการบาดเจ็บที่สมองซ้ำ ๆ (เช่น chronic traumatic encephalopathy ซึ่งมักเกิดในกีฬาที่กระทบกระทั่งกัน)
ภาวะอักเสบเรื้อรังที่อาจมีผลต่อสมองและความคิดอ่านรวม Behçet's disease, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง, โรคซาร์คอยด์, Sjögren's syndrome, ลูปัส อีริทีมาโตซัส ทั่วร่าง, ภูมิแพ้กลูเตน (ทั้งโรคซีลิแอ็กและโรคแพ้กลูเตนที่ไม่ใช่โรคซีลิแอ็ก)[46][47] ภาวะสมองเสื่อมเพราะเหตุเหล่านี้อาจลุกลามอย่างรวดเร็ว แต่ปกติก็ตอบสนองได้ดีถ้ารักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยใช้ยาคุมระบบภูมิคุ้มกัน (immunomodulator) หรือสเตอรอยด์ หรือในบางกรณี กำจัดสิ่งก่อการอักเสบ[47] งานทบทวนวรรณกรรมปี 2019 ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างโรคซีลิแอ็กกับภาวะสมองเสื่อมโดยทั่ว ๆ ไป แต่พบความสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด[48] งานทบทวนวรรณกรรมปี 2018 พบความสัมพันธ์ระหว่างโรคซีลิแอ็กและโรคแพ้กลูเตนที่ไม่ใช่โรคซีลิแอ็กกับความพิการทางประชาน โรคซีลิแอ็กยังอาจสัมพันธ์กับโรคอัลไซเมอร์, ภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด และภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองกลีบหน้าและกลีบขมับด้วย[49] ดังนั้น การกินอาหารไร้กลูเตนอย่างเคร่งครัดตั้งแต่เนื่อง ๆ อาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมที่สัมพันธ์กับความผิดปกติเกี่ยวกับกลูเตน (gluten-related disorders) ทั้งหมด[48][49]
โรคอื่น ๆ อาจมีภาวะสมองเสื่อมเป็นอาการในช่วงท้าย ๆ ยกตัวอย่างเช่น คนไข้โรคพาร์คินสันจำนวนหนึ่งเกิดภาวะสมองเสื่อม แม้อัตราการเกิดยังประเมินได้ไม่เท่ากัน[50] เมื่อเกิดกับโรคพาร์คินสัน เหตุมูลฐานอาจเป็นเพราะภาวะสมองเสื่อมเหตุลิวอี้บอดี้หรือเหตุโรคอัลไซเมอร์หรือทั้งสองอย่าง[51] ความพิการทางประชานก็เกิดด้วยโดยเป็นอาการคล้ายโรคพาร์คินสันใน progressive supranuclear palsy (PSP) และ corticobasal degeneration (CBD) และความผิดปกติทางพยาธิวิทยาอย่างเดียวกันก็อาจก่อภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองกลีบหน้าและกลีบขมับ (FTD) แม้พอร์ไฟเรียที่กำลังเป็นอาจทำให้สับสนหรือมีปัญหาทางจิตใจอื่น ๆ แต่ภาวะสมองเสื่อมก็เป็นอาการที่มีน้อยสำหรับโรคที่มีน้อยนี้ ส่วน Limbic-predominant age-related TDP-43 encephalopathy (LATE) เป็นภาวะสมองเสื่อมอย่างหนึ่งที่มีผลต่อคนอายุช่วง 80 และ 90 ปีโดยมีโปรตีน TDP-43 สะสมเป็นตะกอนในระบบลิมบิกในสมอง[52]
นอกจากโรคที่กล่าวมาแล้ว โรคทางพันธุกรรมที่อาจเป็นเหตุให้สมองเสื่อม (บวกกับอาการอื่น ๆ) รวมทั้ง[53]
ความพิการทางประชานแบบอ่อน ๆ (MCI) หมายความว่าบุคคลมีปัญหาความจำหรือการคิด แต่ไม่รุนแรงพอให้วินิจฉัยว่าเป็นภาวะสมองเสื่อม[54] คนไข้อาการนี้อัตราร้อยละ 70 จะมีอาการแย่ลงกลายเป็นภาวะสมองเสื่อมบางชนิด[14] MCI ทั่วไปแบ่งเป็น 2 หมวด หมวดแรกโดยหลักเป็นการเสียความจำ (amnestic MCI) อย่างที่สองรวมอาการอื่นทั้งหมด (non-amnestic MCI) คนไข้ที่โดยหลักมีปัญหาความจำจะเกิดโรคอัลไซเมอร์ คนไข้ที่มีอาการอื่นอาจเกิดภาวะสมองเสื่อมอื่น ๆ
การวินิจฉัย MCI มักยาก เพราะค่าตรวจการทำงานของประชานอาจปกติ การตรวจทางประสาท-จิตวิทยาที่ละเอียดยิ่งขึ้นอาจจำเป็นเพื่อวินิจฉัย เกณฑ์ที่ใช้อย่างสามัญที่สุดเรียกว่า เกณฑ์ปีเตอร์สัน (Peterson criteria) ซึ่งรวม
ความบาดเจ็บทางสมองหลายอย่างอาจทำให้พิการทางประชานอย่างฟื้นไม่ได้แต่คงที่ในระยะยาว การบาดเจ็บที่สมอง (TBI) อาจก่อความเสียหายอย่างทั่วไปที่เนื้อขาวในสมอง (เรียกว่า diffuse axonal injury หรือ DAI) หรืออาจก่อความเสียหายเฉพาะที่ (ซึ่งอาจมาจากการผ่าตัดสมอง) การขาดเลือดในสมองหรือขาดออกซิเจนอย่างชั่วคราวอาจทำให้สมองบาดเจ็บ (เป็น hypoxic-ischemic injury) โรคหลอดเลือดสมอง (ไม่ว่าจะเป็นแบบ ischemic stroke หรือการตกเลือดแบบ intracerebral, subarachnoid, subdural หรือ extradural), การติดเชื้อ (เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือสมองอักเสบ) ที่มีผลต่อสมอง, การชักที่เป็นนานเหตุโรคลมชัก และภาวะโพรงสมองคั่งน้ำปัจจุบันอาจมีผลระยะยาวต่อระบบประชาน การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินอาจก่ออาการภาวะสมองเสื่อมเหตุแอลกฮอล์ (alcohol dementia), Wernicke's encephalopathy หรือ Korsakoff's psychosis
ภาวะสมองเสื่อมที่ค่อย ๆ เริ่มแล้วแย่ลงโดยใช้เวลาหลายปีปกติจะมีเหตุจากโรคประสาทเสื่อม (neurodegenerative disease) ซึ่งก็คือโรคที่มีผลกระทบโดยหลักต่อเซลล์ประสาทในสมอง เป็นเหตุให้เซลล์เสียหายอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ฟื้นคืนไม่ได้ ส่วนโรคประเภทที่เกิดน้อยกว่าและไม่ใช่โรคประสาทเสื่อมจะมีผลทุติยภูมิต่อเซลล์สมองและอาจฟื้นสภาพถ้าแก้เหตุได้
เหตุของภาวะสมองเสื่อมขึ้นอยู่กับอายุเมื่อเริ่มเกิดอาการ ในคนชรา กรณีโดยมากมีเหตุจากโรคอัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด หรือภาวะสมองเสื่อมเหตุลิวอี้บอดี้[55][56][57] ภาวะขาดไทรอยด์บางครั้งทำให้พิการทางประชานที่เสื่อมลงออย่างช้า ๆ โดยเป็นอาการหลัก อาจฟื้นสภาพได้อย่างเต็มตัวเมื่อรักษา ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำโดยมีความดันปกติ (NPH) แม้จะมีน้อย แต่ก็จำเป็นต้องรู้จักเพราะการรักษาอาจช่วยป้องกันการลุกลามและทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น อย่างไรก็ดี การทำงานทางประชานที่กลับดีขึ้นอย่างสำคัญก็มีน้อย
ภาวะสมองเสื่อมไม่ค่อยสามัญในคนอายุต่ำกว่า 65 ปี โรคอัลไซเมอร์เป็นเหตุสามัญที่สุด โดยรูปแบบที่สืบทอดได้ทางพันธุกรรมเป็นเหตุในกรณีมากสุดของคนอายุกลุ่มนี้ ส่วนภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองกลีบหน้าและกลีบขมับ (FTD) และโรคฮันติงตัน จะเป็นเหตุโดยมากของกรณีที่เหลือ[58] ภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือดก็เกิดด้วย แต่นี่อาจมาจากโรคที่เป็นมูลฐานรวมทั้งกลุ่มอาการแอนไทฟอสโฟไลปิด (APS), CADASIL, MELAS, homocystinuria, moyamoya และ Binswanger's disease ส่วนบุคคลที่ศีรษะบาดเจ็บบ่อย ๆ เช่น นักมวยหรือนักอเมริกันฟุตบอล มีโอกาสเสี่ยงโรคสมองเหตุบาดเจ็บเป็นประจำ (chronic traumatic encephalopathy)[59] หรือเรียกอีกอย่างว่า dementia pugilistica สำหรับนักมวย
ในผู้ใหญ่อายุไม่เกิน 40 ปีที่มีสติปัญญาปกติ การเกิดภาวะสมองเสื่อมโดยไม่มีโรคทางประสาทอื่น ๆ หรือไม่มีโรคกายอื่น ๆ มีโอกาสน้อยมาก กรณีโดยมากที่ระบบประชานเสื่อมลงเรื่อย ๆ ในคนอายุกลุ่มนี้มีเหตุจากทางจิตเวช, การบริโภคแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่น ๆ หรือปัญหาทางเมแทบอลิซึม แต่ก็มีโรคทางพันธุกรรมที่เป็นเหตุให้เกิดภาวะสมองเสื่อมในคนอายุกลุ่มนี้เหมือนกันรวมทั้งโรคอัลไซเมอร์เหตุพันธุกรรม, SCA17 (สืบทางพันธุกรรมแบบเด่น), adrenoleukodystrophy (เชื่อมกับโครโมโซมเอ็กซ์), โรคเกาเชอร์แบบ 3, metachromatic leukodystrophy, Niemann-Pick disease type C, pantothenate kinase-associated neurodegeneration, Tay-Sachs disease และ Wilson's disease (สืบทอดทางพันธุกรรมแบบด้อย) โรควิลสันสำคัญเป็นพิเศษเพราะการทำงานทางประชานสามารถดีขึ้นเมื่อรักษา
ในกลุ่มอายุทุกกลุ่ม คนไข้จำนวนสำคัญผู้มีปัญหาทางความจำหรือทางประชานอื่น ๆ เป็นโรคซึมเศร้า ไม่เป็นโรคประสาทเสื่อม การขาดวิตามินและการติดเชื้ออย่างเรื้อรังก็ยังเกิดได้ด้วยในทุก ๆ กลุ่ม โดยปกติจะเป็นเหตุให้เกิดอาการอย่างอื่นก่อนสมองเสื่อม แต่บางครั้งก็เลียนตามภาวะสมองเสื่อม โรครวมทั้งการขาดวิตามินบี12 การขาดโฟเลต (การขาดไนอาซิน) และการติดเชื้ออื่น ๆ รวมทั้ง cryptococcal meningitis, เอดส์, โรคไลม์, progressive multifocal leukoencephalopathy, subacute sclerosing panencephalitis, ซิฟิลิส และ Whipple's disease
Limbic-predominant age-related TDP-43 encephalopathy (LATE) เป็นภาวะสมองเสื่อมที่คล้ายกับโรคอัลไซเมอร์ที่เสนอจัดเป็นโรคในปี 2019[60] ปกติคนชราจึงจะเป็น[60]
การเสียการได้ยินสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อม ยิ่งเสียการได้ยินมากก็จะเสี่ยงมากขึ้น[42] สมมติฐานหนึ่งก็คือเมื่อการได้ยินเสียมากขึ้นเรื่อย ๆ บริเวณประสาททางประชานจะจัดใช้ใหม่เพื่อการได้ยิน ทำให้กระบวนการทางประชานต่าง ๆ เสียหาย[42] สมมติฐานอีกอย่างก็คือการเสียการได้ยินทำให้ถูกแยกตัวออกทางสังคมซึ่งมีผลลบต่อการทำงานทางประชานต่าง ๆ[42]
ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในอัตราร้อยละ 10 มีภาวะสมองเสื่อมแบบผสม (mixed dementia) ซึ่งปกติจะเป็นลูกผสมของโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมอีกอย่างเช่นภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองกลีบหน้าและกลีบขมับ (FTD) หรือภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด[61][62]
ภาวะสมองเสื่อมทุกชนิดมีอาการคล้ายกัน ทำให้วินิจฉัยด้วยเพียงอาการเท่านั้นได้ยาก อาจต้องใช้ภาพสมองเป็นตัวช่วย ในบางกรณี เพื่อให้แน่นอนสุด การวินิจฉัยอาจต้องตัดเนื้อสมองออกตรวจ แต่มักจะไม่แนะนำวิธีนี้ (แม้จะทำได้เมื่อตรวจศพ) ในคนที่อายุมากขึ้น การตรวจคัดกรองความพิการทางประชานโดยใช้แบบตรวจและการตรวจพบภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่พบว่า ทำให้ได้ผลดีขึ้น[63] แต่การตรวจคัดกรองก็มีประโยชน์สำหรับคนอายุยิ่งกว่า 65 ปีที่มีปัญหาความจำ[14] ปกติแล้ว อาการต้องมีอย่างน้อย 6 เดือนจึงจะวินิจฉัยว่าเป็นโรค[64]
ปัญหาทางประชานระยะสั้นกว่านี้จะเรียกว่า อาการเพ้อ (delirium) ซึ่งอาจสับสนกับภาวะสมองเสื่อมเพราะมีอาการคล้ายกัน ความเพ้อจะเกิดขึ้นโดยฉับพลัน มีอาการขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นแค่ระยะเวลาสั้น ๆ (มักเป็น ช.ม. ๆ จนถึงเป็นอาทิตย์ ๆ) และโดยหลักจะสัมพันธ์กับปัญหาทางกาย เทียบกับภาวะสมองเสื่อมที่ปกติจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ (ยกเว้นในกรณีโรคหลอดเลือดสมองหรือการบาดเจ็บที่ศีรษะ) การทำงานของสมองที่เสื่อมลงอย่างช้า ๆ และเป็นในระยะยาว (ปกติเป็นเดือน ๆ หรือปี ๆ)[65]
ปัญหาทางจิตใจบางอย่างรวมทั้งความซึมเศร้าและโรคจิต อาจมีอาการคล้ายกับทั้งอาการเพ้อและภาวะสมองเสื่อม[66] ดังนั้น การตรวจว่ามีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่จำเป็นต้องตรวจโรคซึมเศร้าด้วย เช่นด้วยแบบคำถาม Neuropsychiatric Inventory หรือ Geriatric Depression Scale[14] แพทย์เคยคิดว่า คนที่ปัญหาทางความจำมีโรคซึมเศร้า ไม่ใช่ภาวะสมองเสื่อม เพราะเชื่อว่า คนที่ภาวะสมองเสื่อมปกติจะไม่รู้ปัญหาความจำของตนเอง จึงเรียกอาการนี้ว่า ภาวะสมองเสื่อมเทียม (pseudodementia) แต่งานศึกษาต่อ ๆ มาแสดงว่า คนชราจำนวนมากที่มีปัญหาความจำจริง ๆ ก็พิการทางประชานแบบอ่อน ๆ ซึ่งเป็นอาการระยะแรกสุดของภาวะสมองเสื่อม แต่โรคซึมเศร้าก็ควรจะพิจารณาเป็นอันดับแรก ๆ ว่าเป็นเหตุของอาการสำหรับคนชราที่มีปัญหาความจำ
การเปลี่ยนแปลงทางความคิด การได้ยิน และการเห็น สัมพันธ์กับความชราเป็นธรรมดา จึงเป็นปัญหาเมื่อวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมเพราะคล้ายคลึงกัน[67]
การตรวจ | ความไว (ร้อยละ) | ความจำเพาะ (ร้อยละ) | อ้างอิง |
MMSE | 71-92 | 56-96 | [68] |
3MS | 83-93.5 | 85-90 | [69] |
AMTS | 73-100 | 71-100 | [69] |
แบบตรวจสั้น ๆ หลายอย่าง (ใช้เวลา 5-15 นาที) เชื่อถือได้อย่างพอสมควรเมื่อตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อม แม้จะได้ศึกษาการตรวจหลายอย่าง[70][71][72] แต่ mini mental state examination (MMSE) ก็ได้ศึกษาและใช้มากที่สุด เป็นตัวช่วยวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมถ้าตีความผลที่ได้ร่วมกับการประเมินบุคลิกภาพ สมรรถภาพการดำเนินชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมของคนไข้[73] วิธีการตรวจทางประชานอื่น ๆ รวม abbreviated mental test score (AMTS), Modified Mini-Mental State Examination (3MS)[74] Cognitive Abilities Screening Instrument (CASI)[75], Trail-making test[76] และการให้วาดภาพนาฬิกา[77] Montreal Cognitive Assessment (MoCA) ก็เป็นแบบตรวจคัดกรองที่เชื่อถือได้ มีให้ใช้ฟรีออนไลน์ ตีพิมพ์แล้วเป็นภาษาต่าง ๆ 35 ภาษา[14] MoCA ได้แสดงแล้วว่าตรวจจับความพิการทางประชานแบบอ่อน ๆ (MCI) ได้ดีกว่า MMSE[78][79] ปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งอายุ การศึกษา และกลุ่มชาติพันธุ์อาจมีผลต่อแบบตรวจสั้น ๆ เหล่านี้[80]
วิธีอีกวิธีหนึ่งเพื่อตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อมก็คือ ให้คนใกล้ชิดตอบคำถามเกี่ยวกับความคิดอ่านและการดำเนินชีวิตของคนไข้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งให้ข้อมูลเสริมต่อยอดการตรวจถามคนไข้ แบบคำถามที่น่าจะรู้จักกันดีสุดก็คือ Informant Questionnaire on Cognitive Decline in the Elderly (IQCODE แปลว่า แบบคำถามคนใกล้ชิดเรื่องความเสื่อมทางประชานของคนชรา)[81] แต่หลักฐานก็ยังไม่พอว่า IQCODE แม่นยำในการวินิจฉัยโรคหรือพยากรณ์การเกิดโรคหรือไม่[82] แบบคำถามที่ใช้อีกอย่างก็คือ Alzheimer's Disease Caregiver Questionnaire (แปลว่า แบบคำถามคนดูแลของผู้มีโรคอัลไซเมอร์) ซึ่งแม่นยำประมาณ 90% เมื่อใช้กับผู้ดูแลคนไข้โรคอัลไซเมอร์[14] ส่วนแบบคำถาม General Practitioner Assessment of Cognition (การประเมินระบบประชานสำหรับแพทย์ทั่วไป) รวมการประเมินทั้งคนไข้และคนใกล้ชิด ซึ่งออกแบบโดยเฉพาะให้ใช้ในสถานพยาบาลปฐมภูมิ
ในบางประเทศ แพทย์ประสาทจิตวิทยาสามารถทำการวินิจฉัยหลังจากตรวจคนไข้อย่างเต็ม ๆ โดยมักใช้เวลาหลายชั่วโมง เพื่อระบุรูปแบบการเสื่อมที่สัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อมรูปแบบต่าง ๆ อาจตรวจความจำ, executive function, ความเร็วในการตอบสนอง, การใส่ใจและภาษา โดยอาจตรวจความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และทางจิตใจของคนไข้ด้วย การตรวจเช่นนี้ช่วยกันว่าเป็นโรคอื่น ๆ และช่วยระบุอัตราความเสื่อมเทียบกับเมื่อตรวจคราวก่อน ๆ
แทนที่จะแยกระยะของโรคเป็น "อ่อนหรือระยะต้น" "ปานกลางหรือระยะกลาง" และ "ระยะสุดท้าย" การใช้ตัวเลขอาจเป็นรายละเอียดที่ดีกว่า แบบคำถามที่ประเมินเป็นค่าตัวเลขรวมทั้ง Deterioration Scale for Assessment of Primary Degenerative Dementia (GDS หรือ Reisberg Scale)[83], Functional Assessment Staging Test (FAST)[84] และ Clinical Dementia Rating (CDR)
แพทย์มักจะให้ตรวจเลือดเพื่อกันเหตุที่รักษาได้อื่น ๆ โดยจะตรวจระดับวิตามินบี12, กรดโฟลิก, ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์, C-reactive protein, การตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ (FBC), อิเล็กโทรไลต์, แคลเซียม, การทำหน้าที่ของไตและการทำงานของตับ ความผิดปกติอาจชี้ว่าขาดวิตามิน ติดเชื้อ หรือปัญหาอื่น ๆ ที่มักทำให้คนชราสับสน
แพทย์มักสั่งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และเอ็มอาร์ไอ (MRI) แม้การตรวจเช่นนี้จะไม่แสดงความเปลี่ยนแปลงทางเมแทบอลิซึมที่กระจายไปทั่วในคนไข้ภาวะสมองเสื่อมผู้ไม่ปรากฏปัญหาทางประสาทที่ชัดเจน (เช่น อัมพาตหรืออัมพฤกษ์) เมื่อตรวจทางประสาท (neurological exam)[85] CT scan และ MRI อาจแสดงภาวะโพรงสมองคั่งน้ำโดยมีความดันปกติ (NPH) ซึ่งเป็นภาวะสมองเสื่อมที่อาจฟื้นสภาพได้ หรืออาจให้ข้อมูลสำคัญที่ชี้ภาวะสมองเสื่อมชนิดต่าง ๆ เช่น เนื้อตายเหตุขาดเลือด ซึ่งอาจระบุภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด
การตรวจด้วย SPECT หรือ PET ในโหมดถ่ายการทำงานของสมอง (functional neuroimaging) มีประโยชน์ในการประเมินปัญหาทางประชานที่เป็นมานานแล้ว และทำให้วินิจฉัยโรคได้ดีพอกับการตรวจร่างกาย (clinical exam) และการตรวจทางประชาน (cognitive testing)[86] และสมรรถภาพของ SPECT ในการแยกแยะภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากหลอดเลือด (เช่น multi-infarct dementia) จากที่เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ดูเหมือนจะดีกว่าการตรวจร่างกาย[87]
งานวิจัยเร็ว ๆ นี้แสดงว่า การตรวจด้วย PET โดยใช้ carbon-11 Pittsburgh Compound B (PIB-PET) เป็นตัวตามรอยกัมนตรังสี มีประโยชน์พยากรณ์โรคโดยเฉพาะในโรคอัลไซเมอร์ คืองานแสดงว่า PIB-PET แม่นยำถึง 86% ในการพยากรณ์ว่าคนไข้ที่พิการทางประชานแบบอ่อน ๆ จะเกิดโรคอัลไซเมอร์ภายในสองปีหรือไม่ งานศึกษาอีกงานหนึ่งที่ทำกับคนไข้ 66 คนแสดงว่า เมื่อทำภาพด้วย PET อาศัย PIB หรือตัวตามรอยกัมนตรังสีอีกตัวหนึ่งคือ carbon-11 dihydrotetrabenazine (DTBZ) ยังทำให้วินิจฉัยได้แม่นยำยิ่งขึ้นในคนไข้ 1/4 ที่พิการทางประชานแบบอ่อน ๆ หรือมีภาวะสมองเสื่อมแบบอ่อน[88]
ปัจจัยหลายอย่างอาจลดความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม[6] รวม ๆ กันแล้วอาจสามารถป้องกันการเกิดโรค 1/3 ได้ รวมทั้งการได้รับความรู้ตั้งแต่เนื่อง ๆ การรักษาความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคอ้วน ป้องกันการเสียการได้ยิน ป้องกันโรคซึมเศร้า ออกกำลังกาย ป้องกันโรคเบาหวาน ไม่สูบบุหรี่ และการมีสังคม[6][89] ความเสี่ยงที่ลดลงเพราะการใช้ชีวิตที่ดีก็พบด้วยแม้ในคนที่เสี่ยงทางพันธุกรรมสูง[90] แต่งานทบทวนวรรณกรรมปี 2018 ก็ได้สรุปว่า ไม่มีหลักฐานที่ดีว่ามียาที่มีผลป้องกัน รวมทั้งยารักษาความดันโลหิตสูง[91]
ในบรรดาคนชราที่สุขภาพดี การฝึกความคิดอ่านด้วยคอมพิวเตอร์ (computerized cognitive training) อาจทำให้ความจำดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่านี่ช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมหรือไม่[92][93] การออกกำลังกายมีหลักฐานน้อยว่าช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อม[94][95] ในคนที่สมองทำงานเป็นปกติ การรักษาป้องกันด้วยยามีหลักฐานน้อย[96] การรักษาป้องกันด้วยอาหารเสริมก็เช่นเดียวกัน[97]
การเริ่มทานอาหารไร้กลูเตนอย่างเคร่งครัดสำหรับผู้มีภูมิแพ้กลูเตนไม่ว่าจะเป็นโรคซีลิแอ็กหรือไม่ใช่ก่อนมีปัญหาทางประชานอาจช่วยป้องกันโรค[48]
ยกเว้นประเภทที่รักษาได้ตามที่กล่าวมาแล้ว ไม่มีวิธีรักษาภาวะสมองเสื่อมโดยทั่ว ๆ ไป สารยับยั้งโคลิเนสเทอเรส (เช่น โดเนพีซิล) มักใช้รักษาในระยะต้น ๆ แต่ประโยชน์ที่ได้ปกติก็แค่เล็กน้อย[8][98] สำหรับอาการกายใจไม่สงบหรือดุร้าย การรักษาที่ไม่ใช้ยาดูจะได้ผลดีกว่า[99] คือการปรับความคิดและพฤติกรรมเป็นวิธีรักษาที่สมควร มีหลักฐานบ้างว่า การให้ความรู้ตั้งแต่ต้น ๆ และการสนับสนุนช่วยเหลือคนไข้ รวมทั้งผู้ดูแลและสมาชิกครอบครัว ทำให้ได้ผลดีขึ้น[100] การออกกำลังกายทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้นและมีโอกาสปรับปรุงอาการ[23]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
การบำบัดทางจิตวิทยา (psychological therapies) ที่มีหลักฐานจำกัดสำหรับภาวะสมองเสื่อมรวมการบำบัดด้วยการระลึกย้อนหลัง (reminiscence therapy)[B] คือมีคุณภาพชีวิตบางประการดีขึ้น การทำงานทางประชานดีขึ้น สื่อความได้ดีขึ้น และอารมณ์ดีขึ้น โดยสามอย่างแรกพบเป็นพิเศษเมื่อดูแลอยู่ที่บ้าน[103] สำหรับผู้ดูแล การแก้ไขความคิด (cognitive reframing) มีประโยชน์บ้าง[104] มีหลักฐานไม่ชัดเจนสำหรับ validation therapy (ซึ่งออกแบบให้ใช้กับผู้พิการทางประชานหรือมีภาวะสมองเสื่อมโดยเฉพาะ)[105] และมีหลักฐานเบื้องต้นสำหรับการฝึกใช้สมอง เช่น โปรแกรมกระตุ้นการทำงานทางประชานสำหรับผู้มีภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่อ่อน ๆ จนถึงปานกลาง[106]
การบำบัดด้วยการระลึกย้อนหลังสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิต การทำงานทางประชาน การสื่อสาร และอารมณ์ในบุคคลที่มีภาวะสมองเสื่อมในสถานการณ์บางอย่าง แม้ประโยชน์เหล่านี้จะค่อนข้างเล็กน้อย[103]
ไม่พบว่ายาใด ๆ สามารถป้องกันหรือรักษาภาวะสมองเสื่อม[107] แต่อาจใช้รักษาปัญหาทางพฤติกรรมและทางประชานได้ แม้จะไม่มีผลต่อโรคที่เป็นมูลฐาน[14][108]
สารยับยั้งโคลิเนสเทอเรส เช่น โดเนพีซิล อาจมีประโยชน์สำหรับโรคอัลไซเมอร์[109], ภาวะสมองเสื่อมในโรคพาร์คินสัน, ภาวะสมองเสื่อมเหตุลิวอี้บอดี้ (LBD) และภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด[108] แต่คุณภาพของหลักฐานก็ค่อนข้างไม่ดี[110] และประโยชน์ที่ได้ก็เล็กน้อย[8] ยาต่าง ๆ ในกลุ่มเดียวกันไม่แตกต่างกัน[21] ในคนส่วนน้อย ผลข้างเคียงอาจรวมหัวใจเต้นช้าและเป็นลม[111]
การประเมินเหตุของพฤติกรรมจำเป็นก่อนจะเริ่มให้ยารักษาโรคจิตสำหรับอาการของภาวะสมองเสื่อม[112] และควรใช้ต่อเมื่อการบำบัดที่ไม่ใช้ยาไม่ได้ผล และพฤติกรรมของคนไข้เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น[113][114][115][116] พฤติกรรมดุร้ายที่เกิดขึ้นบางครั้งมีเหตุจากปัญหาที่แก้ไขได้อื่น ๆ ดังนั้น การรักษาด้วยยารักษาโรคจิตจึงไม่จำเป็น[113] เพราะคนที่สมองเสื่อมอาจดุร้าย ไม่ยอมทำตามที่แพทย์แนะนำ และอาจมีพฤติกรรมก่อกวน ดังนั้น ยารักษาโรคจิตจึงพิจารณาว่าเป็นการรักษาที่สมควร[113] แต่ยาก็เสี่ยงให้ผลไม่พึงประสงค์ รวมทั้งเพิ่มโอกาสโรคหลอดเลือดสมองและตาย[113] เพราะผลไม่พึงประสงค์เช่นนี้และประโยชน์ที่ได้เพียงเล็กน้อย จึงควรหลีกเลี่ยงยารักษาโรคจิตถ้าเป็นไปได้[117] ทั่วไปแล้ว การหยุดยารักษาโรคจิตสำหรับคนไข้ภาวะสมองเสื่อมไม่มีปัญหา แม้แต่คนที่กินยามานานแล้ว[118]
ยาระงับหน่วยรับ NMDA (N-methyl-D-aspartate receptor blockers ) เช่น เมแมนทีน (memantine) อาจมีประโยชน์ แต่หลักฐานสนับสนุนก็ยิ่งน้อยกว่าสารยับยั้งโคลิเนสเทอเรส[119] เพราะมีกลไกการทำงานต่างกัน เมแมนทีนกับสารยับยั้งโคลิเนสเทอเรสจึงอาจใช้ร่วมกันแม้ประโยชน์ก็ยังมีแค่เล็กน้อยเหมือนกัน[120][121]
แม้โรคซึมเศร้ามักจะสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อม ยา selective serotonin reuptake inhibitors (SSRI) ก็ดูเหมือนจะไม่มีผล[122][123] ยา SSRI ชนิด sertraline และ citalopram ได้แสดงว่า ลดอาการกายใจไม่สงบเมื่อเทียบกับยาหลอก[124]
ยาที่ใช้ระงับปัญหาการนอนสำหรับคนไข้ภาวะสมองเสื่อมยังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด แม้แต่ยาที่แพทย์สั่งให้อย่างสามัญ[125] สมาคมเวชศาสตร์ผู้สูงอายุอเมริกัน (AGS) แนะนำว่า ยากลุ่มเบ็นโซไดอาเซพีน เช่น ไดแอซิแพม และยานอนหลับ (hypnotic) ที่ไม่ใช่เบ็นโซไดอาเซพีนควรหลีกเลี่ยงสำหรับคนไข้ภาวะสมองเสื่อมเพราะเพิ่มความเสี่ยงพิการทางประชานและโอกาสหกล้ม[126] อนึ่ง มีหลักฐานน้อยที่สนับสนุนว่าเบ็นโซไดอาเซพีนมีประสิทธิผลในคนกลุ่มนี้[125][127] หลักฐานไม่ชัดเจนว่าเมลาโทนินหรือ ramelteon ช่วยให้คนไข้ภาวะสมองเสื่อมเหตุโรคอัลไซเมอร์หลับได้ดีขึ้นหรือไม่[125] หลักฐานจำกัดแสดงว่า trazodone ในขนาดน้อย ๆ อาจช่วยให้หลับดีขึ้น แต่ต้องศึกษาให้ละเอียดขึ้น[125] หลักฐานไม่ชัดเจนว่า โฟเลตหรือวิตามินบี12 ปรับปรุงปัญหาทางประชานหรือไม่[128] สแตตินไม่มีประโยชน์สำหรับภาวะสมองเสื่อม[129] ยาที่ใช้รักษาโรคอื่น ๆ อาจจะต้องให้ต่างกันสำหรับคนไข้ที่มีภาวะสมองเสื่อมด้วย ไม่ชัดเจนว่า ยาแก้ความดันโลหิตสูงและภาวะสมองเสื่อมสัมพันธ์กัน แต่คนไข้อาจมีปัญหาหลอดเลือดหัวใจสูงกว่าถ้าเลิกกินยา[130]
เมื่อวินิจฉัยว่า มีภาวะสมองเสื่อม เกณฑ์ Medication Appropriateness Tool for Comorbid Health Conditions in Dementia (MATCH-D) ก็ช่วยระบุว่าควรจะเปลี่ยนการรักษาโรคอื่น ๆ เช่นไร[131] เกณฑ์ได้พัฒนาขึ้นเพราะผู้มีภาวะสมองเสื่อมโดยเฉลี่ยมีโรคเรื้อรัง 5 อย่างอย่างอื่น ซึ่งมักรักษาด้วยยา
เมื่ออายุมากขึ้น บุคคลจะมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น และปัญหาที่สัมพันธ์กับความแก่ชราก็สร้างความเจ็บปวดอย่างพอสมควร ดังนั้น คนชราระหว่าง 25-50% จึงมีปัญหาความเจ็บปวดเรื้อรัง คนชราที่มีภาวะสมองเสื่อมก็เจ็บในอัตราพอ ๆ กับคนที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อม[132] ความเจ็บปวดในคนชรามักจะมองข้าม เมื่อตรวจคัดกรอง ก็จะประเมินอย่างไม่ดีพอโดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมเพราะไม่สามารแจ้งให้คนอื่นรู้ได้[132][133] นอกจากปัญหาการดูแลอย่างไม่มีมนุษยธรรม ความเจ็บปวดที่ไม่ดูแลก็สร้างปัญหาอื่น ๆ อีกด้วย ความเจ็บปวดเรื้อรังลดการเดิน ก่ออารมณ์ซึมเศร้า ก่อปัญหาการนอน ไม่อยากอาหาร และทำให้พิการทางประชานมากขึ้น[133] ความเจ็บปวดเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้คนชราหกล้ม[132][134]
แม้ความเจ็บปวดเรื้อรังในคนไข้ภาวะสมองเสื่อมจะสื่อความ วินิจฉัย และรักษาได้ยาก แต่การไม่แก้ปัญหาเช่นนี้ก็มีผลทางจิตสังคมและคุณภาพชีวิตต่อคนอ่อนแอกลุ่มนี้ แพทย์พยาบาลมักไม่มีสมรรถภาพหรือมักไม่มีเวลาสำนึกถึง ประเมินอย่างถูกต้อง และเฝ้าตรวจความเจ็บปวดในคนไข้ภาวะสมองเสื่อมอย่างเพียงพอ[132][135] สมาชิกครอบครัวและคนใกล้ชิดสามารถช่วยเหลือได้อย่างสำคัญถ้าเรียนรู้ รู้จัก และสามารถประเมินความเจ็บปวดของคนไข้ได้[132][136][137]
ผู้ที่ภาวะสมองเสื่อมอาจมีปัญหาการกิน ถ้าทำได้ วิธีที่แนะนำก็คือให้ผู้ดูแลช่วยเหลือให้กิน[113] วิธีทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถกลืนอาหารได้ก็คือใช้หลอดป้อนอาหาร แต่เพื่อความสบาย เพื่อให้กินเองได้ ลดความเสี่ยงปอดบวมเพราะสูดอาหาร และลดโอกาสตาย การให้คนช่วยในการกินอาหารก็ดีเท่า ๆ กับการใช้หลอดป้อนอาหาร[113][138] การให้หลอดป้อนอาหารสัมพันธ์กับภาวะกายใจไม่สงบ การต้องมัดคนไข้ไว้หรือให้ยา และปัญหาแผลเปื่อยกดทับที่แย่ลง การให้หลอดป้อนอาหารอาจทำให้ได้ของเหลวเกิน ท้องเสีย ปวดท้อง ภาวะแทรกซ้อนเฉพาะพื้นที่ต่าง ๆ มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง และเสี่ยงสูดอาหาร/ของเหลวเข้าไปในปอด[139][140]
หลอดป้อนอาหารไม่พบว่ามีประโยชน์ในคนไข้ภาวะสมองเสื่อมระยะปลาย ๆ[141] ความเสี่ยงการใช้หลอดป้อนอาหารก็คือกายใจไม่สงบ คนไข้ดึงออก (หรือไม่ก็ต้องมัดคนไข้ไว้หรือให้ยา) และการเกิดแผลเปื่อยกดทับ[113] หัตถการนี้สัมพันธ์โดยตรงกับอัตราการตายร้อยละ 1[142] โดยมีอัตราภาวะแทรกซ้อนสำคัญร้อยละ 3[143] อัตราที่คนไข้เบื้องปลายแห่งชีวิตผู้มีภาวะสมองเสื่อมและใช้หลอดป้อนอาหารในสหรัฐได้ลดลงจากอัตราร้อยละ 12 ในปี 2000 เหลือร้อยละ 6 ในปี 2014[144][145]
สำหรับผู้ที่แพ้กลูเตนไม่ว่าจะเป็นโรคซีลิแอ็กหรือโรคแพ้กลูเตนที่ไม่ใช่โรคซีลิแอ็ก ถ้ามีปัญหาทางประชานอย่างอ่อน ๆ การได้อาหารไร้กลูเตนอย่างเคร่งครัดอาจช่วยบรรเทาอาการ[48][49] แต่เมื่อแย่ลงไปกว่านั้นแล้ว ไม่ปรากฏว่าอาหารไร้กลูเตนมีประโยชน์[48]
สุคนธบำบัดและการนวดมีหลักฐานที่ไม่ชัดเจน[146][147] งานศึกษาหลายงานสนับสนุนประสิทธิผลและความปลอดภัยของ cannabinoid (สารที่ได้จากกัญชาเป็นต้น) เพื่อบรรเทาปัญหาทางพฤติกรรมและทางจิตใจของภาวะสมองเสื่อม[148]
กรดไขมันโอเมกา-3 จากพืชหรือปลาดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์แต่ก็ไม่มีโทษสำหรับคนไข้โรคอัลไซเมอร์อย่างอ่อนจนถึงปานกลาง ไม่ชัดเจนว่านี่ช่วยภาวะสมองเสื่อมประเภทอื่น ๆ หรือไม่[149]
เพราะภาวะสมองเสื่อมลุกลามจนถึงที่สุด การรักษาประทังอาการ (palliative care) อาจดีสำหรับคนไข้และผู้ดูแลโดยช่วยให้ทั้งสองเข้าใจว่าอะไรจะเกิด ช่วยรับมือกับการเสียสมรรถภาพทางกายและทางใจ สนับสนุนความต้องการและเป้าหมายของคนไข้รวมทั้งการให้คนอื่นตัดสินใจ และบ่งความต้องการในเรื่องการกู้ชีพและการใช้อุปกรณ์ประทังชีวิตเมื่ออวัยวะล้มเหลว[150][151] เพราะอาการอาจทรุดลงเร็ว และคนส่วนมากมักอยากให้ผู้ป่วยตัดสินใจเอง จึงควรเริ่มรักษาประทังอาการก่อนจะถึงระยะสุดท้าย ๆ[152][153] ยังต้องศึกษาวิจัยเพิ่มขึ้นเพื่อระบุการรักษาประทังอาการที่สมควร และว่ามันช่วยคนไข้ภาวะสมองเสื่อมระยะสุดท้าย ๆ เท่าไร[154]
การให้คนไข้มีส่วนร่วมในแผนการรักษาอย่างแอ๊กถีฟ (person-centered care) จะช่วยให้รักษาศักดิ์ศรีของคนไข้ไว้ได้[155]
<100
100-120
120-140
140-160
160-180 180-200 |
200-220
220-240
240-260
260-280
280-300
>300 |
จำนวนคนไข้ที่มีภาวะสมองเสื่อมทั่วโลกในปี 2010 อยู่ที่ประมาณ 35.6 ล้านคน[156] ในปี 2015 คน 46.8 ล้านคนมีโรค โดยร้อยละ 58 อยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยจนถึงปานกลาง[157] ความชุกโรคต่าง ๆ กันในภูมิภาคต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ร้อยละ 4.7 ในยุโรปกลางจนถึงร้อยละ 8.7 ในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ความชุกในเขตภูมิภาคอื่น ๆ ประเมินว่าอยู่ระหว่างร้อยละ 5.6-7.6[157] จำนวนคนไข้ที่มีภาวะสมองเสื่อมประเมินว่าจะเพิ่มเป็นทวีคูณทุก ๆ 20 ปี ในปี 2013 ภาวะสมองเสื่อมเป็นเหตุให้คนตาย 1.7 ล้านคนเทียบกับ 8 แสนคนในปี 1990[28] คนไข้ประมาณ 2/3 อยู่ในประเทศมีรายได้น้อยจนถึงปานกลาง ซึ่งงานปี 2009 พยากรณ์ว่า จะเป็นเขตเกิดโรคเพิ่มมากสุด[156]
คนไข้ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคมีจำนวนเกิน 9.9 ล้านกรณีทั่วโลก เกือบครึ่งเกิดในทวีปเอเชีย ตามด้วยยุโรป (25%) อเมริกา (18%) และแอฟริกา (8%) อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นเป็นเลขชี้กำลังตามอายุ เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในช่วงอายุทุก ๆ 6.3 ปี[157] ภาวะสมองเสื่อมมีผลต่อประชากรร้อยละ 5 ผู้มีอายุเกิน 65 ปี และร้อยละ 20-40 สำหรับผู้มีอายุเกิน 85 ปี[158] หญิงเป็นน้อยกว่าชายเล็กน้อยในกลุ่มอายุ 65 ปีและมากกว่า[158]
ภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่แค่มีผลต่อคนไข้ แต่ก็มีผลต่อผู้ดูแลและสังคมด้วย ในบรรดาคนอายุ 60 ปีและมากกว่า ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาระอันดับที่ 9 ตามรายงานภาระโรคของโลก (Global Burden of Disease ตัวย่อ GBD) ภาระเกี่ยวกับโรคในปี 2015 อยู่ที่ 818,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 28 ล้านล้านบาท) เพิ่มในอัตราร้อยละ 35.4 จากปี 2010 ซึ่งอยู่ที่ 604,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[157]
จนกระทั่งถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำว่า dementia มีความหมายทางการแพทย์ที่กว้างกว่านี้ เพราะรวมเอาความเจ็บป่วยทางจิต (mental illness) และความพิการทางจิตสังคมอื่น ๆ รวมทั้งที่ฟื้นตัวได้[159] dementia จึงได้หมายถึงการเสียสมรรถภาพในการคิดเหตุผลโดยใช้กับโรคที่ปัจจุบันเรียกว่า โรคจิต (psychosis), กับโรคกายต่าง ๆ เช่น ซิฟิลิส ที่ทำลายสมอง และกับภาวะสมองเสื่อมเนื่องกับความชรา ซึ่งเชื่อว่ามีเหตุจากหลอดเลือดแดงแข็ง
หนังสือแพทย์ได้กล่าวถึง dementia มาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ผู้ได้เครดิตว่าเป็นบุคคลแรก ๆ ที่กล่าวถึงโรคก็คือนักปราชญ์กรีกโบราณพีทาโกรัสในช่วงศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์ศักราช ผู้แบ่งช่วงชีวิตมนุษย์ออกเป็น 6 ระยะรวมทั้ง 0-6 ปี (วัยทารก) 7-21 ปี (วัยรุ่น) 22-49 ปี (ผู้ใหญ่วัยเยาว์) 50-62 (วัยกลางคน) 63-79 ปี (วัยชรา) และ 80 ปีจนถึงตาย (วัยชรามาก) ระยะสองระยะสุดท้ายเขาเรียกว่า "senium" เป็นระยะที่ร่างกายและจิตใจเสื่อม โดยวัยสุดท้ายเป็นระยะที่ "ฉากชีวิตที่จะต้องตายก็จะปิดลงหลังจากระยะเวลายาวนานที่โชคดีมากว่า มนุษย์น้อยคนจะไปถึง ที่จิตใจจะถดถอยกลายเป็นปัญญาอ่อนเหมือนกับวัยทารก"[160] ในปี 550 ก่อนคริสต์ศักราช รัฐบุรุษและกวีชาวเอเธนส์คือโซลอนได้อ้างว่า คำพูดว่ามนุษย์มีเจตจำนงอาจเป็นเรื่องไม่จริงถ้าเสียวิจารณญาณเพราะชราภาพ หนังสือแพทย์จีนได้กล่าวถึงมันโดยนัยเช่นกัน เพราะอักษรจีนที่บ่งถึงคำ "dementia" แปลตรง ๆ ได้ว่า "คนชราผู้โง่เขลา"[161]
นักปราชญ์ชาวเอเธนส์ แอริสตอเติล และเพลโต ได้กล่าวถึงความเสื่อมของจิตใจเมื่อชราโดยมองว่าเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ มีผลต่อคนชราทุกคน และป้องกันไม่ได้ เพลโตกล่าวว่า คนชราไม่เหมาะทำหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเพราะ "ใจไม่มีไหวพริบที่เคยช่วยให้ผ่านชีวิตในวัยเยาว์มาได้ เป็นคุณสมบัติต่าง ๆ ที่เรียกว่า วิจารณญาณ, จินตนาการ, การคิดหาเหตุผล และความจำ เราจะเห็นพวกมันค่อย ๆ ทื่อลงเพราะความเสื่อมและไม่สามารถทำกิจของตน ๆ"[162]
เทียบกับรัฐบุรุษชาวโรมันคือกิแกโร ผู้มีมุมมองที่เข้ากับแนวคิดแพทย์ปัจจุบันมากกว่าว่า การเสียสมรรถภาพทางจิตใจไม่ใช่เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แต่ "มีผลต่อแค่พวกคนชราที่ไม่มีความมุ่งมั่น" เขาเชื่อว่า บุคคลที่คอยใช้สติปัญญา ยินดีเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ว่า สามารถกันภาวะสมองเสื่อมได้ แต่มุมมองของกิแกโรแม้จะก้าวหน้า ก็ไม่ได้รับความสนใจในโลกตะวันตกเป็นศตวรรษ ๆ เพราะอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของวรรณกรรมทางการแพทย์ของแอริสตอเติล แพทย์โรมันเช่น เกเลนและเคลซัส ก็ได้แต่ว่าตามความเชื่อของแอริสตอเติลโดยไม่ได้เพิ่มความรู้ในเรื่องนี้ให้กับแพทยศาสตร์
แพทย์ไบแซนไทน์บางครั้งก็กล่าวถึงภาวะสมองเสื่อมด้วย มีบันทึกว่า จักรพรรดิอย่างน้อย 7 พระองค์ที่มีพระชนม์มายุเกิน 70 พรรษาทรงมีอาการเสื่อมทางประชาน ในเมืองคอนสแตนติโนเปิล มี รพ. เฉพาะทางที่รับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมหรือบ้า แต่นี่ก็ไม่ใช่สำหรับองค์จักรพรรดิ ผู้ทรงอยู่เหนือกฎหมายโดยพระราชอนามัยไม่สามารถเปิดเผยแก่สาธารณชนได้
นอกเหนือจากที่ว่าแล้ว ก็มีบันทึกน้อยมากเกี่ยวกับ dementia ในตำราแพทย์ตะวันตกต่อมาอีกเกือบ 1,700 ปี ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 พระนิกายคริสตังรอเจอร์ เบคอน แสดงความเห็นว่า ความชราเป็นการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับบาปกำเนิดของมนุษย์ แม้เขาจะพูดตามความเชื่อของแอริสตอเติลว่า ภาวะสมองเสื่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ยังก้าวหน้าอ้างต่อไปอีกว่า สมองเป็นศูนย์กลางความจำและความคิด ไม่ใช่หัวใจ
ส่วนนักกวี นักเขียนบทละคร และนักเขียนอื่น ๆ ได้พาดพิงถึงการเสียสมรรถภาพทางใจในวัยชราบ่อย ๆ เช่น บทละครของวิลเลียม เชกสเปียร์ โดยที่เด่นสุดก็คือในเรื่องแฮมเลตและคิงเลียร์
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แพทย์ตะวันตกทั่วไปได้กลายมาเชื่อว่า ภาวะสมองเสื่อมในคนชราเป็นผลของโรคหลอดเลือดแดงแข็งในสมองใหญ่ แม้ความเห็นจะเปลี่ยนไป ๆ มา ๆ ระหว่างแนวคิดว่า เกิดจากการขัดหลอดเลือดหลักที่ส่งไปเลี้ยงสมอง กับเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองแบบย่อย ๆ ภายในเส้นเลือดของเปลือกสมอง ในปี 1907 เริ่มมีการกล่าวถึงโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งสัมพันธ์กับความเปลี่ยนระดับจุลทรรศน์ในสมอง แต่ก็มองว่าเป็นโรคที่มีน้อยในวัยกลางคนเพราะบุคคลแรกที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคก็คือ หญิงวัย 50 ปี ต่อมาระหว่างปี 1913-1920 โรคจิตเภทจึงได้นิยามคล้ายกับที่ใช้ในปัจจุบัน
มุมมองนี้ได้ดำรงต่อมาในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 แต่ต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1960 ก็เริ่มถูกขัดแย้งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างโรคประสาทเสื่อม (neurodegenerative disease) กับความเสื่อมทางประชานเนื่องกับอายุได้ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1970 วงการแพทย์จึงยืนยันว่า ภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือดจริง ๆ น้อยกว่าที่เคยคิด เพราะโรคอัลไซเมอร์เป็นเหตุของความพิการทางจิตใจของคนชราโดยมาก แม้ปัจจุบันจะเชื่อว่า ภาวะสมองเสื่อมมักเป็นแบบลูกผสม
ในปี 1976 แพทย์ประสาทวิทยาได้เสนอความสัมพันธ์ระหว่าภาวะสมองเสื่อมของคนชรากับโรคอัลไซเมอร์[163] โดยแสดงว่า ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดหลังวัย 65 ปีก็เหมือนกันทางพยาธิวิทยากับโรคอัลไซเมอร์ที่เกิดในบุคคลอายุต่ำกว่า 65 ปี และดังนั้น จึงไม่ควรรักษาต่างกัน[164] หมอได้เสนอว่า โรคอัลไซเมอร์ที่เกิดหลังอายุ 65 ปีความจริงเป็นเรื่องสามัญ มีไม่น้อย และเป็นเหตุความตายอันดับที่ 4 หรือ 5 แม้จะไม่ได้รายงานว่าเป็นเหตุในใบตายก่อนปี 1976
สิ่งค้นพบที่มีประโยชน์อย่างหนึ่งก็คือว่า แม้ความชุกโรคอัลไซเมอร์จะเพิ่มขึ้นตามอายุ (จากร้อยละ 5-10 สำหรับผู้มีอายุ 75 ปีจนถึงร้อยละ 40-50 ในผู้มีอายุ 90 ปี) แต่ก็ไม่พบอายุเริ่มเปลี่ยนที่ทุกคนจะมีโรค โดยเห็นได้จากคนมีอายุเกินร้อยปีบางพวกที่ไม่พิการทางประชานอย่างสำคัญ หลักฐานแสดงว่า ภาวะสมองเสื่อมเสี่ยงเกิดมากสุดในบุคคลอายุระหว่าง 80-84 ปีโดยคนที่ผ่านจุดนี้ไปได้โดยไม่มีปัญหาอะไรก็จะมีโอกาสน้อยว่าจะเกิดภายหลัง หญิงมีอัตราการเกิดโรคสูงกว่า แม้นี่อาจอธิบายได้ว่า อายุยืนกว่า และมีโอกาสสูงกว่าที่จะถึงอายุที่โรคนี้มีโอกาสเกิด[165]
เหมือนกับโรคอื่น ๆ ที่มากับความชรา ภาวะสมองเสื่อมมีค่อนข้างน้อยก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพราะคนน้อยคนมีอายุเกิน 80 ปี ในนัยตรงกันข้าม ภาวะสมองเสื่อมเหตุซิฟิลิสได้กระจายไปอย่างกว้างขวางในโลกพัฒนาจนต่อมากำจัดได้ด้วยเพนิซิลลินหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากนั้นคนก็มีอายุเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญ และคนอายุเกิน 65 ปีก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เทียบกับคนชราที่มีอยู่ในอัตราร้อยละ 3-5 ของประชากรก่อนปี 1945 ในปี 2010 ในประเทศหลายประเทศ อัตราได้ถึงร้อยละ 10-14 ส่วนเยอรมนีและญี่ปุ่นได้ถึงอัตราเกินร้อยละ 20 ในสหรัฐ การตระหนักถึงโรคอัลไซเมอร์ได้เพิ่มขึ้นอย่างสำคัญในปี 1994 เมื่ออดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้ประกาศว่าเขาได้วินิจฉัยว่าเป็นโรค
ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ภาวะสมองเสื่อมเหตุอื่น ๆ ก็ได้แยกออกจากโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือดซึ่งสามัญที่สุด เป็นการแยกแยะอาศัยการตรวจเนื้อเยื่อสมองทางพยาธิวิทยา โดยอาการ และโดยรูปแบบเมแทบอลิซึมในสมองที่ต่างกันเมื่อทำภาพสมองด้วยรังสี เช่น ด้วย SPECT หรือ PET รูปแบบที่ต่าง ๆ กันมีพยากรณ์โรคและปัจจัยเสี่ยงทางวิทยาการระบาดที่ต่างกัน แต่สมุฏฐานของรูปแบบหลายอย่างรวมทั้ง โรคอัลไซเมอร์ ก็ยังไม่ชัดเจน[166]
ภาวะสมองเสื่อมในคนชราเคยเรียกว่า senile dementia หรือ senility และมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแก่คนชราเป็นปกติและหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คำเหล่านี้ก็ไม่ได้ใช้เป็นมาตรฐานแล้ว[167][168]
ในระหว่างปี 1913-1920 คำว่า dementia praecox ได้เริ่มใช้เพื่อแสดงว่า เป็นภาวะสมองเสื่อมแบบคนชราแต่เกิดขึ้นเมื่ออายุน้อยกว่า ในที่สุดสองคำนี้ก็กลับมารวมกันอีก จนกระทั่งถึงปี 1952 ที่แพทย์ตะวันตกเริ่มใช้ทั้งคำว่า dementia praecox (precocious dementia) และ schizophrenia (โรคจิตเภท) เหมือน ๆ กัน การใช้คำว่า precocious dementia โดยเป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจแสดงนัยว่า มีความเจ็บป่วยทางจิตใจคล้ายกับโรคจิตเภท (รวมทั้งโรคจิตหวาดระแวงและสมรรถภาพทางประชานที่เสื่อมลง) ที่ปกติจะเกิดกับคนชราทุกคน หลังจากปี 1920 การเริ่มใช้คำว่า dementia สำหรับอาการที่ปัจจุบันเรียกว่าโรคจิตเภท และคำว่า senile dementia ได้ช่วยจำกัดความหมายของคำว่าเป็น "ความเสื่อมทางจิตใจที่ถาวรฟื้นคืนไม่ได้" แล้วต่อมาจึงได้เปลี่ยนความหมายมาเป็นเหมือนที่ใช้ทุกวันนี้
มุมมองว่า dementia ต้องเป็นผลของโรคบางอย่างได้ทำให้เสนอชื่อโรคว่า "senile dementia of the Alzheimer's type" (SDAT) สำหรับบุคคลผู้มีอายุเกิน 65 และคำว่า "Alzheimer's disease" สำหรับบุคคลอายุน้อยกว่า 65 และมีอาการโรคอย่างเดียวกัน แต่ในที่สุดแล้ว ก็ตกลงกันว่า ขีดจำกัดทางอายุเป็นเรื่องตั้งขึ้นลอย ๆ และคำว่า Alzheimer's disease ก็เหมาะสำหรับทุกคนที่มีโรคทางสมองเช่นนี้ ไม่ว่าจะอายุเท่าไร
หลังปี 1952 ความเจ็บป่วยทางจิตใจรวมทั้งโรคจิตเภทได้นำออกจากหมวดหมู่ organic brain syndromes (อาการทางสมองเหตุกาย) และดังนั้น จึงได้กำจัดโรคเหล่านี้ว่าเป็นเหตุของ "dementing illnesses" คือ ภาวะสมองเสื่อมอีกด้วย ในขณะเดียวกัน เหตุดั้งเดิมของ senile dementia คือ หลอดเลือดแข็ง ได้กลับมาเป็นโรคอีกครั้งหนึ่งคือ ภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด (เนื่องกับโรคหลอดเลือดสมองแบบย่อย ๆ) ซึ่งปัจจุบันใช้คำเรียกว่า multi-infarct dementias หรือ vascular dementias
ค่าใช้จ่าย/ค่าเสียหายทางสังคมของภาวะสมองเสื่อมสูง โดยเฉพาะต่อผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกในครอบครัว[169]
ประเทศหลายประเทศพิจารณาการดูแลคนไข้ภาวะสมองเสื่อมว่าสำคัญ จึงทั้งทุ่มเททรัพยากรและให้การศึกษาแก่บุคลากรทางสาธารณสุขและบริการสังคม แก่ผู้ดูแลคนไข้ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนไร ๆ แก่ญาติ และแก่ผู้ร่วมสังคมกับคนไข้ มีหลายประเทศที่มีแผนการ/ยุทธการประจำประเทศ[170][171] แผนการเหล่านี้สำนึกว่า คนไข้สามารถอยู่กับโรคอย่างพอใช้ได้เป็นเวลาหลายปี ตราบเท่าที่ให้การสนับสนุนที่ดีและให้เข้าพบแพทย์ในเวลาอันสมควร นายกรัฐมนตรีอังกฤษเดวิด แคเมอรอน ได้เรียกภาวะสมองเสื่อมว่า เป็นวิกฤติของชาติ โดยมีผลต่อคน 8 แสนคนในสหราชอาณาจักร[172]
เหมือนกับความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ คนไข้ภาวะสมองเสื่อมอาจเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น จึงสามารถใช้กฎหมายบังคับให้ตรวจ ดูแลและรักษา โดยเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่มักจะหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลที่มีครอบครัวหรือเพื่อนที่ช่วยดูแลได้
รพ. บางแห่งในบริเตนทำการโดยเฉพาะเพื่อให้ได้การดูแลที่สมบูรณ์และมีมิตรภาพยิ่งขึ้น คือตกแต่งให้แผนกต่าง ๆ ใน รพ. สงบและไม่วุ่นวายสำหรับคนไข้ใน รพ. เปลี่ยนเคาน์เตอร์ของพยาบาลด้วยโต๊ะขนาดเล็ก ๆ หลายตัว ทำให้เหมือนกับแผนกต้อนรับคนไข้ เปิดไฟให้สว่างเพื่อให้น่าดูและช่วยให้คนไข้เห็นได้ดียิ่งขึ้น[173]
การขับรถทั้ง ๆ ที่มีภาวะสมองเสื่อมอาจทำให้บาดเจ็บหรือตายได้ หมอควรแนะนำให้ตรวจสอบว่า เมื่อไรควรจะเลิกขับรถ[174] สำนักงานอนุญาตใบขับขี่และรถยนต์ของสหราชอาณาจักร (DVLA) กล่าวว่า คนไข้ภาวะสมองเสื่อมที่มีความจำระยะสั้นไม่ดี สับสน ไม่สำนึกเข้าใจ ตัดสินใจได้ไม่ดี ไม่อนุญาตให้ขับรถ และในกรณีเช่นนี้ต้องรายงานแก่สำนักงานเพื่อให้ถอนใบอนุญาต โดยยอมอนุญาตคนไข้ในกรณีเบา ๆ ให้ขับรถต่อไปได้
ในบางประเทศ มีเครือข่ายสนับสนุนหลายเครือข่ายเพื่อช่วยคนไข้ ครอบครัว และผู้ดูแล มีองค์กรการกุศลที่มุ่งเพิ่มความสำนึกถึงโรคและมีการรณรงค์เพื่อสิทธิของคนไข้ภาวะสมองเสื่อม มีการสนับสนุนและแนวทางเพื่อประเมินคนไข้ภาวะสมองเสื่อมว่ามีสมรรถภาพทางกฎหมายในการเปลี่ยนพินัยกรรมได้หรือไม่[175]
ในปี 2015 องค์กรการกุศล Atlantic Philanthropies (ของมหาเศรษฐีชาวไอร์แลนด์-อเมริกันชัก ฟีนีย์) ได้ประกาศมอบทุน 177 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6 พันล้านบาท) เพื่อให้สามารถศึกษาทำความเข้าใจและลดภาวะสมองเสื่อมได้ โดยผู้รับคือ Global Brain Health Institute (สถาบันสุขภาพสมองโลก) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานฟรานซิสโก (สหรัฐ) และทรินิตี้คอลเล็จดับลิน (ไอร์แลนด์) เป็นสถาบันหลัก ซึ่งให้ใช้เป็นค่าใช้จ่าย ไม่ใช่เพื่อเป็นเงินทุน (non-capital) ก้อนใหญ่ที่สุดซึ่งองค์กรเคยให้ และเป็นเงินการกุศลก้อนใหญ่ที่สุดซึ่งเคยให้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไอร์แลนด์[176]
หลักฐานเชื่อมการมีสุขภาพปากที่ไม่ดีกับความเสื่อมทางประชานค่อนข้างจำกัด แต่ก็ยังสามารถใช้การแปรงฟันและเหงือกบวมเป็นตัวพยากรณ์ความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมได้[177]
ตัวเชื่อมระหว่างโรคอัลไซเมอร์กับโรคเหงือกก็คือแบคทีเรียในปาก[178] สปีชีส์ต่าง ๆ รวมทั้ง Porphyromonas gingivalis, Fusobacterium nucleatum, Prevotella intermedia และ Tannerella forsythia แบคทีเรียกลุ่ม trepomena spirochete จากปาก 6 ชนิดได้ตรวจพบในสมองของคนไข้อัลไซเมอร์[179] โดย spirochete มีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อประสาทและก่อการอักเสบโดยธรรมชาติ จุลชีพก่อการอักเสบเป็นตัวบ่งโรคอัลไซเมอร์ แบคทีเรียที่เกี่ยวกับโรคเหงือกก็ได้พบในสมองของคนไข้โรคอัลไซเมอร์แล้ว[179] คือแบคทีเรียได้เข้าไปถึงเนื้อเยื่อประสาทในสมอง เพิ่มสภาพให้ซึมได้ของตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง (BBB) และโปรโหมตให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ คนไข้ผู้มีคราบจุลินทรีย์ที่ฟันมากจึงมีโอกาสเสี่ยงความเสื่อมทางประชาน[180] อนึ่ง อนามัยปากที่ไม่ดีมีผลเสียต่อการพูดและการได้สารอาหาร ซึ่งก็ทำให้สุขภาพทั่วไปและสุขภาพทางประชานเสื่อมลงด้วย
ไวรัสเริม (HSV) พบในคนอายุ 50 ปีขึ้นในอัตราร้อยละ 70 ไวรัสสามารถคงยืนอยู่ในระบบประสาทนอกส่วนกลางและอาจกำเริบก่อโรคเพราะความเครียด, ความเจ็บป่วย หรือความอ่อนล้า[179] โปรตีนที่สัมพันธ์กับไวรัสในส่วนสัดสูงที่พบในคราบที่มีแอมีลอยด์หรือ neurofibrillary tangles (NFTs) ในสมองคนไข้เป็นตัวยืนยันว่า HSV-1 มีส่วนในกระบวนการโรคอัลไซเมอร์ NFT รู้ว่าเป็นสารส่อโรคอัลไซเมอร์ปฐมภูมิ และ HSV-1 ก็เป็นตัวผลิตองค์ประกอบหลักของ NFTs[181]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.