Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ในจิตวิทยา ความจำ (อังกฤษ: memory) เป็นกระบวนการที่ข้อมูลต่าง ๆ รับการเข้ารหัส การเก็บไว้ และการค้นคืน เนื่องจากว่า ในระยะแรกนี้ ข้อมูลจากโลกภายนอกมากระทบกับประสาทสัมผัสต่าง ๆ (มีตาเป็นต้น) ในรูปแบบของสิ่งเร้าเชิงเคมีหรือเชิงกายภาพ จึงต้องมีการเปลี่ยนข้อมูลไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็คือการเข้ารหัส เพื่อที่จะบันทึกข้อมูลไว้ในความจำได้ ระยะที่สองเป็นการเก็บข้อมูลนั้นไว้ ในสภาวะที่สามารถจะรักษาไว้ได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ส่วนระยะสุดท้ายเป็นการค้นคืนข้อมูลที่ได้เก็บเอาไว้ ซึ่งก็คือการสืบหาข้อมูลนั้นที่นำไปสู่การสำนึกรู้ ให้สังเกตว่า การค้นคืนความจำบางอย่างไม่ต้องอาศัยความพยายามภายใต้อำนาจจิตใจ
จากมุมมองเกี่ยวกับกระบวนการประมวลข้อมูล มีระยะ 3 ระยะในการสร้างและค้นคืนความจำ คือ
การสูญเสียความจำเรียกว่าเป็นความหลงลืม หรือถ้าเป็นโรคทางการแพทย์ ก็จะเรียกว่า ภาวะเสียความจำ[1] (amnesia)
Sensory memory (ความจำอาศัยความรู้สึก) เป็นข้อมูลเกี่ยวกับความรู้สึกที่เก็บไว้น้อยกว่า 1 วินาทีหลังจากเกิดการรับรู้สิ่งที่มากระทบประสาทสัมผัส ความสามารถในการเห็นวัตถุหนึ่งแล้วจำได้ว่าเหมือนกับอะไร โดยดู (หรือจำ) ใช้เวลาเพียงไม่ถึงวินาที เป็นตัวอย่างของความจำอาศัยความรู้สึก เป็นความจำนอกเหนือการควบคุมทางประชานและเป็นการตอบสนองอัตโนมัติ แม้ว่าจะมีการแสดงให้ดูเพียงระยะสั้น ๆ ผู้ร่วมการทดลองมักจะรายงานว่าเหมือนจะ "เห็น" รายละเอียดมากกว่าที่จะรายงานได้จริง ๆ (เพราะกว่าจะบอกสิ่งที่เห็นหมด ก็ลืมไปก่อนแล้ว)
นักจิตวิทยาเชิงประชานชาวอเมริกัน ศ. จอร์จ สเปอร์ลิง ได้ทำงานทดลองชุดแรก ๆ เพื่อตรวจสอบความจำประเภทนี้ในปี ค.ศ. 1963[2] โดยใชัรูปแบบ "partial report paradigm" (การทดลองแบบรายงานเป็นบางส่วน) คือ มีการแสดงตารางมีอักษร 12 ตัว จัดเป็น 3 แถว 4 คอลัมน์ให้ผู้ร่วมการทดลองดู หลังจากให้ดูเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก็จะเล่นเสียงสูง เสียงกลาง หรือเสียงต่ำเพื่อบอกผู้ร่วมการทดลองว่า ให้รายงานอักษรแถวไหน จากการทดลองอย่างนี้ ศ. สเปอร์ลิงสามารถแสดงได้ว่า สมรรถภาพของความจำอาศัยความรู้สึกสามารถจำได้ประมาณ 12 อักษร แต่ว่าจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว (ภายใน 2-3 ร้อยมิลลิวินาที) เนื่องจากเสื่อมเร็วมาก ผู้ร่วมการทดลองจะเห็นสิ่งที่แสดง แต่ไม่สามารถรายงานอักษรทั้งหมดก่อนที่ความจำจะเสื่อมไป ความจำชนิดนี้ไม่สามารถทำให้ดำรงอยู่ได้นานขึ้นโดยการท่องซ้ำ ๆ (rehearsal)
ความจำอาศัยความรู้สึกมี 3 ประเภท คือ
ความจำระยะสั้น (short-term memory) เป็นความจำที่ช่วยให้ระลึกข้อมูลได้เป็นเวลาหลายวินาทีจนถึงนาทีหนึ่งโดยไม่ต้องท่องซ้ำ ๆ ความจำนี้มีขนาดจำกัดมาก ในปี ค.ศ. 1956 เมื่อทำงานอยู่ที่เบ็ลล์แล็บ นักจิตวิทยาเชิงประชานชาวอเมริกัน ศ. จอร์จ มิลเล่อร์ทำการทดลองที่แสดงว่า ขนาดความจำระยะสั้นอยู่ที่ 7±2 ชิ้น และได้เขียนบทความตีพิมพ์ที่มีชื่อเสียงว่า "The Magical Number Seven, Plus or Minus Two (เลขขลังคือ 7, บวกหรือลบ 2)" แต่ว่า ขนาดประมาณปัจจุบันของความจำระยะสั้นน้อยกว่าที่มิลเล่อร์กล่าวไว้ โดยปกติจะอยู่ที่ 4-5 ชิ้น[4] แต่ว่า สามารถจะเพิ่มขนาดขึ้นได้ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า chunking (คือรวมข้อมูลหลายชิ้นให้เป็นชิ้นเดียวกัน เช่น เบอร์รหัส 02 หมายถึงเบอร์โทรศัพท์ในกรุงเทพฯ)[5] ยกตัวอย่างเช่น ในการระลึกถึงเบอร์โทรศัพท์ 9 เบอร์ เราสามารถแบ่งเบอร์ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก (เช่น 02) ส่วนที่สองที่มีเลขสามตัว (เช่น 456) และส่วนสุดท้ายที่มีเลข 4 ตัว (เช่น 7890) การจำเบอร์โทรศัพท์โดยวิธีเช่นนี้มีประสิทธิภาพดีกว่าพยายามจะจำเลขเดี่ยว ๆ 9 ตัว เพราะว่า เราสามารถที่จะแบ่งข้อมูลออกเป็นส่วนต่าง ๆ ที่มีความหมาย ซึ่งก็จะเห็นได้ในประเทศต่าง ๆ ที่มักจะแสดงเบอร์โทรศัพท์เป็นส่วน ๆ แต่ละส่วนมี 2-4 ตัวเลข
ความจำระยะสั้นเชื่อกันว่า อาศัยการเข้ารหัสโดยเสียง (acoustic code) โดยมากในการเก็บข้อมูล และอาศัยการเข้ารหัสโดยสิ่งที่เห็น (visual code) บ้างแต่น้อยกว่า ในปี ค.ศ. 1964 คอนแรด[6] พบว่าผู้ร่วมการทดลองมีปัญหาในการระลึกถึงกลุ่มอักษรที่มีเสียงคล้ายกัน (เช่น E, P, D) ความสับสนในการระลึกถึงอักษรที่มีเสียงคล้าย ๆ กัน ไม่ใช่เพราะมีรูปร่างคล้าย ๆ กันบอกเป็นนัยว่า อักษรต่าง ๆ มีการเข้ารหัสโดยเสียง แต่การทดลองของคอนแรดเกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสตัวเขียนหนังสือ ดังนั้น แม้ว่าความจำเกี่ยวกับภาษาเขียนอาจจะต้องอาศัยส่วนประกอบเกี่ยวกับเสียง แต่ว่า นัยทั่วไปเกี่ยวกับความจำทุก ๆ แบบไม่ควรจะทำเพราะเพียงเหตุแห่งผลการทดลองนี้เท่านั้น
การเก็บความจำอาศัยความรู้สึกและความจำระยะสั้นทั่ว ๆ ไปแล้วมีขนาดและระยะเวลาจำกัด ซึ่งก็หมายความว่า ไม่สามารถรักษาข้อมูลไว้ได้ตลอดชั่วกาลนาน โดยเปรียบเทียบแล้ว ความจำระยะยาวมีขนาดใหญ่กว่าเพื่อบรรจุข้อมูลที่อาจไม่จำกัดเวลา (เช่นรักษาไว้ได้จนตลอดชีวิต) ขนาดความจำระยะยาวมีขนาดใหญ่จนวัดไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าให้เลข 7 หลักโดยสุ่ม เราอาจจะจำได้เพียงแค่ 2-3 วินาทีก่อนที่จะลืม ซึ่งบอกเป็นนัยว่าเก็บอยู่ในความจำระยะสั้นของเรา เปรียบเทียบกับเบอร์โทรศัพท์ที่เราอาจจะจำได้เป็นเวลาหลาย ๆ ปีผ่านการท่องและการระลึกถึงซ้ำ ๆ ข้อมูลนี้จึงเรียกว่าเก็บอยู่ในความจำระยะยาว
เปรียบเทียบความจำระยะสั้นที่เข้ารหัสข้อมูลโดยเสียง ความจำระยะยาวเข้ารหัสข้อมูลโดยความหมาย (semantic) ในปี ค.ศ 1966 แบ็ดเดลีย์[7] พบว่า หลังจาก 20 นาที ผู้ร่วมการทดลองมีปัญหาในการจำกลุ่มคำที่มีความหมายคล้าย ๆ กัน (เช่นบิ๊ก ใหญ่ โต) ในระยะยาว ส่วนความจำระยะยาวอีกอย่างหนึ่งก็คือ "ความจำอาศัยเหตุการณ์" (episodic memory) "ซึ่งเป็นการพยายามเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ 'อะไร' 'เมื่อไร' และ 'ที่ไหน'"[8] เป็นความจำที่เราสามารถระลึกถึงเหตุการณ์เฉพาะต่าง ๆ เช่นงานเลี้ยงวันเกิดหรืองานแต่งงาน
ความจำระยะสั้นมีมูลฐานเป็นรูปแบบการสื่อสารในเซลล์ประสาทแบบชั่วคราว โดยอาศัยเขตต่าง ๆ ในสมองกลีบหน้า (โดยเฉพาะ dorsolateral prefrontal cortex) และในสมองกลีบข้าง เปรียบเทียบกับความจำระยะยาว ซึ่งอาศัยการเปลี่ยนแปลงที่มีเสถียรภาพและถาวรโดยการเชื่อมต่อทางเซลล์ประสาทที่กระจายไปอย่างกว้างขวางในสมอง ฮิปโปแคมปัสเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ในการทำความจำระยะสั้นให้กลายเป็นความจำระยะยาว (ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ) เป็นกระบวนการที่เรียกว่า "การทำความจำให้มั่นคง" (consolidation) แม้ว่าตัวเองจะไม่ใช่เป็นส่วนที่เก็บข้อมูลนั้นไว้เอง แต่ถ้าไม่มีส่วนนี้ของสมอง ความจำใหม่ ๆ จะไม่สามารถเก็บไว้ในความจำระยะยาว ดังที่พบในคนไข้เฮ็นรี่ โมไลสันหลังจากที่เขาผ่าตัดเอาฮิปโปแคมปัสทั้งสองซีกออก[9] และจะไม่สามารถใส่ใจอะไรได้นาน ๆ (คือมีสมาธิสั้น) นอกจากนั้นแล้ว สมองส่วนนี้อาจมีบทบาทในการเปลี่ยนการเชื่อมต่อทางประสาทในช่วงเวลา 3 เดือนหรือมากกว่านั้นหลังจากเกิดการเรียนรู้เหตุการณ์นั้น ๆ
สิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นหน้าที่หลัก ๆ ของการนอนหลับก็คือ ทำข้อมูลที่ได้เรียนรู้นั้นให้มั่นคง (consolidation) ได้ดีขึ้น เพราะว่า งานวิจัยหลายงานได้แสดงว่า ความจำที่ดีขึ้นอยู่กับการหลับนอนที่เพียงพอในช่วงระหว่างการเรียนและการทดสอบความจำ[10] นอกจากนั้นแล้ว ข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยหลายงานที่ใช้การสร้างภาพในสมอง (neuroimaging) แสดงรูปแบบการทำงานในสมองในขณะนอนหลับที่เหมือนกับช่วงการเรียนรู้งานนั้น ๆ ในวันก่อน[10] ซึ่งบอกเป็นนัยว่า ความจำใหม่ ๆ อาจเกิดการทำให้มั่นคงผ่านการเล่นซ้ำ (rehearsal)
งานวิจัยหนึ่งเสนอว่า การเก็บความจำระยะยาวในมนุษย์อาจจะมีการรักษาไว้โดยกระบวนการ DNA methylation[11] (เป็นกระบวนการชีวเคมีที่เติมกลุ่ม Methyl หนึ่งลงใน cytosine DNA nucleotides หรือ adenine DNA nucleotides) หรือผ่านตัวพรีออน[12]
แบบจำลองของความจำความจำหลายอย่างแสดงรูปแบบต่าง ๆ ที่เชื่อกันว่าเป็นกระบวนการทำงานของความจำ ต่อไปนี้เป็นแบบจำลองต่าง ๆ ที่ได้รับการเสนอโดยนักจิตวิทยาหลายท่าน แต่ก็มีข้อถกเถียงด้วยว่า มีโครงสร้างต่าง ๆ ทางประสาทของความจำเหมือนแบบเหล่านี้จริง ๆ หรือไม่
ในปี ค.ศ. 1968 ริชาร์ด แอ็ตกินสัน และริชาร์ด ชริฟฟรินได้เสนอแบบจำลอง multi-store model (แบบจำลองความจำมีหลายที่เก็บ) หรือ Atkinson-Shiffrin memory model ซึ่งต่อมาได้รับการวิจารณ์ว่าง่ายเกินไป ยกตัวอย่างเช่น ความจำระยะยาวเชื่อกันว่า ประกอบด้วยส่วนประกอบต่าง ๆ เช่นความจำอาศัยเหตุการณ์ (episodic memory) และความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) นอกจากนั้นแล้ว แบบจำลองยังเสนอว่าการฝึกซ้อม (rehearsal) เป็นกลไกเดียวที่ข้อมูลต่าง ๆ รับการบันทึกในที่เก็บความจำระยะยาว แต่กลับมีหลักฐานที่แสดงว่า เราสามารถจำสิ่งต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องฝึกซ้อม (หรือท่องจำ) แบบจำลองยังแสดงด้วยว่า ที่เก็บความจำทุกส่วนเป็นหน่วย ๆ เดียวเปรียบเทียบกับผลงานวิจัยที่ต่างไปจากนี้ ยกตัวอย่างเช่น ความจำระยะสั้นสามารถแบ่งออกเป็นหน่วยต่าง ๆ เช่นข้อมูลการเห็นและข้อมูลเสียง
งานวิจัยในปี ค.ศ. 1986 พบว่า คนไข้เรียกว่า 'KF' มีความสามารถที่ไม่เข้ากับแบบจำลองของ Atkinson-Shiffrin คือคนไข้มีสมองเสียหาย มีปัญหาหลายอย่างเกี่ยวกับความจำระยะสั้น คือ การรู้จำเสียงต่าง ๆ เช่นที่เกี่ยวกับเลข อักษร คำ และเสียงที่ควรจะระบุได้อย่างง่าย ๆ (เช่นเสียงกระดิ่งประตูและเสียงแมวร้อง) เกิดความเสียหาย แต่ที่น่าสนใจก็คือ ความจำระยะสั้นเกี่ยวกับการเห็นไม่เกิดความเสียหาย ซึ่งบอกเป็นนัยของความแยกออกเป็นสองส่วนระหว่างความจำเกี่ยวกับการเห็นและเกี่ยวกับการได้ยิน[13]
ในปี ค.ศ. 1974 แบ็ดเดลีย์และฮิตช์เสนอ "แบบจำลองความจำใช้งาน" (working memory model) ซึ่งแทนที่หลักทั่วไปของความจำระยะสั้นว่า เป็นการรักษาข้อมูลอย่างแอ๊กถีฟในที่เก็บความจำระยะสั้น ในแบบจำลองนี้ ความจำใช้งานมีที่เก็บ 3 อย่าง คือ central executive (ส่วนบริหารกลาง) phonological loop (วงจรเสียง) และ visuo-spatial sketchpad (สมุดร่างเกี่ยวกับการเห็น-พื้นที่) ในปี ค.ศ. 2000 แบ็ดเดลีย์เติมส่วน multimodal episodic buffer (ที่พักเหตุการณ์จากประสาทสัมผัสต่าง ๆ) เข้าไปเพิ่ม[14]
แบบจำลองความจำใช้งานสามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์หลายอย่างในชีวิต เช่น ทำไมจึงทำงานสองงานที่ต่าง ๆ กัน (เช่นงานหนึ่งเกี่ยวกับการพูดและอีกงานหนึ่งเกี่ยวกับการเห็น) พร้อม ๆ กัน ง่ายกว่าทำงานสองงานที่คล้าย ๆ กัน (เช่นเกี่ยวกับการเห็นเหมือนกัน) และขนาดจำกัดของความจำใช้งานดังที่กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ดี ไอเดียเกี่ยวกับ central executive ดังที่กล่าวมานี้ได้รับคำวิจารณ์ว่ายังไม่สมบูรณ์และคลุมเครือเกินไป[ต้องการอ้างอิง] ความจำใช้งานเป็นสิ่งที่เชื่อว่าจำเป็นในการทำกิจในชีวิตประจำวันที่ต้องอาศัยความคิด เป็นระบบความจำที่ต้องใช้ในกระบวนการความคิด เป็นกระบวนการที่เราใช้เพื่อการเรียนรู้หรือการคิดหาเหตุผลเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ[14]
นักวิจัยแยกแยะระหว่างความจำโดยรู้จำ (recognition memory) และความจำโดยระลึก (recall memory) งานเกี่ยวกับความจำโดยรู้จำจะให้ผู้ร่วมการทดลองบอกว่าเคยได้พบสิ่งเร้าหนึ่ง ๆ เช่นรูปภาพหรือคำศัพท์ มาก่อนหรือไม่ ส่วนงานเกี่ยวกับความจำโดยระลึกจะให้ผู้ร่วมการทดลองค้นคืนข้อมูลที่ได้เรียนรู้มาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น อาจจะให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ได้เห็นมาก่อน หรือกล่าวถึงรายการคำศัพท์ที่ได้ยินมาก่อน
"ความจำอาศัยภูมิประเทศ" (Topographic memory) เป็นความสามารถในการกำหนดตำแหน่งของตนในพื้นที่ ในการรู้จำและดำเนินไปตามเส้นทาง หรือในการรู้จำสถานที่ที่คุ้นเคย[15] การหลงทางเมื่อเดินทางไปตามลำพังเป็นตัวอย่างหนึ่งข้อความล้มเหลวของความจำอาศัยภูมิประเทศ[16]
"ความจำแบบหลอดแฟลช" (Flashbulb memories) เป็นความจำอาศัยเหตุการณ์ (episodic memory) ที่ชัดเจนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พิเศษและประกอบด้วยอารมณ์ความรู้สึกสูง[17] ตัวอย่างเช่น การจำได้ว่าตนอยู่ที่ไหนทำอะไรอยู่เมื่อได้ยินข่าวการลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี[18] หรือข่าววินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 เป็นตัวอย่างของความจำแบบหลอดแฟลช
ในปี ค.ศ. 1976 นักจิตวิทยาจอห์น รอเบิรต์ แอนเดอร์สัน[19] ได้แบ่งความจำระยะยาวออกเป็นความจำเชิงประกาศ (declarative หรือ explicit memory) และความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural หรือ implicit memory)
ความจำเชิงประกาศนั้นกำหนดด้วยการต้องระลึกถึงภายใต้อำนาจจิตใจ (เหนือสำนึก) คือมีกระบวนการประกอบด้วยความสำนึกที่ค้นคืนข้อมูลที่ต้องการที่จะค้นคืน เป็นระบบที่บางครั้งเรียกว่าความจำชัดแจ้ง (explicit memory) เพราะเป็นข้อมูลที่ต้องจำและค้นคืนอย่างเปิดเผยชัดแจ้ง (ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น)
ความจำชัดแจ้งสามารถแบ่งประเภทย่อย ๆ ออกเป็นความจำอาศัยความหมาย (semantic memory) ซึ่งเป็นความจำเกี่ยวกับความจริงต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม และความจำอาศัยเหตุการณ์ (episodic memory) ซึ่งเป็นความจำเกี่ยวกับข้อมูลที่เชื่อมกับเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมเช่นเวลาและสถานที่ ความจำอาศัยความหมายทำให้เกิดการเข้ารหัสความรู้เชิงนามธรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับโลกได้ เช่นความรู้ว่า "กรุงปารีสเป็นเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส" เปรียบเทียบกับความจำอาศัยเหตุการณ์ ซึ่งใช้ในเรื่องความจำเกี่ยวกับตนเอง เช่นความรู้สึกทางประสาทสัมผัส อารมณ์ความรู้สึก และความสัมพันธ์ที่เป็นอัตวิสัยของสิ่งนั้นกับสถานที่และเวลาโดยเฉพาะ ๆ
ส่วน "ความจำอาศัยอัตชีวประวัติ" (Autobiographical memory) เป็นความจำสำหรับเหตุการณ์เฉพาะ ๆ ในชีวิตของตน ซึ่งมองว่าเทียบเท่ากับ หรือเป็นส่วนของความจำอาศัยเหตุการณ์ ส่วน "ความจำทางตา" (Visual memory) เป็นส่วนของความจำที่เก็บลักษณะบางอย่างของความรู้สึกทางประสาทสัมผัสเกี่ยวกับประสบการณ์ทางตา ดังนั้น เราจึงสามารถเก็บไว้ในความจำข้อมูลที่เหมือนกับวัตถุ สถานที่ สัตว์ หรือบุคคลต่าง ๆ ในรูปแบบของมโนภาพ (mental image) ความจำทางตาเป็นเหตุของปรากฏการณ์ priming (คือการรับรู้ที่ไวขึ้นเมื่อเคยเห็นสิ่งนั้นมาก่อน แม้ว่าอาจจะเห็นโดยไม่มีความสำนึก) โดยมีสมมติฐานว่า มีระบบทางประสาทที่เป็นตัวแทนสิ่งที่รับรู้ (perceptual representational system) ที่เป็นมูลฐานของปรากฏการณ์นี้[ต้องการอ้างอิง]
โดยเปรียบเทียบกันแล้ว ความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) หรือความจำโดยปริยาย (implicit memory) ไม่ใช่เป็นการระลึกถึงข้อมูลภายใต้อำนาจจิตใจ แต่เป็นการระลึกถึงข้อมูลที่ได้เรียนรู้โดยปริยาย (implicit learning) คือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติแม้อาจจะจำเหตุการณ์เกี่ยวกับการเรียนนั้นไม่ได้ ความจำเชิงกระบวนวิธีเป็นความจำที่ใช้ในการเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหว (motor skill) และพิจารณาว่า เป็นส่วนของความจำโดยปริยาย ความจำนี้จะปรากฏก็ต่อเมื่อเราสามารถทำงานหนึ่ง ๆ ได้ดีขึ้นเพราะทำบ่อย ๆ แม้ว่าอาจจะไม่มีความจำชัดแจ้งเกี่ยวกับการฝึกซ้ำ ๆ กันนั้น เพราะการเข้าถึงทักษะที่ได้เรียนรู้ในประสบการณ์ครั้งก่อน ๆ เป็นไปโดยไม่ได้อยู่ใต้อำนาจจิตใจ ความจำเชิงกระบวนวิธีที่มีบทบาทในการเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหว ต้องอาศัยส่วนต่าง ๆ ในสมองรวมทั้งซีรีเบลลัมและ basal ganglia
ลักษณะหนึ่งของความจำเชิงกระบวนวิธีก็คือทักษะที่จำได้จะเปลี่ยนไปเป็นการกระทำอัตโนมัติ และดังนั้น จึงเป็นระบบความจำที่ยากที่จะอธิบายหรือกำหนด ตัวอย่างของความจำอย่างนี้รวมทั้งความสามารถในการขี่จักรยานหรือการผูกเชือกรองเท้า[20] (ที่เมื่อชำนาญแล้วสามารถทำได้โดยอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องใส่ใจในการกระทำโดยมาก)
วิธีหลักอีกอย่างหนึ่งในการแบ่งหน้าที่ต่าง ๆ ของความจำก็คือถ้าเป็นการระลึกถึงอดีต คือความจำย้อนหลัง (retrospective memory) หรือถึงอนาคต คือความจำตามแผน (prospective memory) ดังนั้น ความจำย้อนหลังเป็นประเภทที่รวมความจำอาศัยความหมาย ความจำอาศัยเหตุการณ์ และความจำอาศัยอัตชีวประวัติ เปรียบเทียบกับความจำตามแผน ซึ่งเป็นความจำเกี่ยวกับความตั้งใจที่มีเพื่ออนาคต หรือ "การจำไว้เพื่อจะให้จำได้"[21] ความจำตามแผนสามารถแบ่งออกอีกเป็นความจำตามแผนอาศัยเหตุการณ์ (event-based) หรือความจำตามแผนอาศัยกาล (time-based)
ความจำตามแผนอาศัยกาลเกิดการลั่นไกอาศัยตัวช่วยทางเวลา เช่นจะไปหาหมอ (การกระทำ) ตอน 16 นาฬิกา (ตัวช่วย) ส่วนความจำตามแผนอาศัยเหตุการณ์คือความตั้งใจที่เกิดการลั่นไกโดยตัวช่วยอื่น ๆ เช่นการจำได้ว่าต้องการจะส่งจดหมาย (การกระทำ) หลังจากที่เห็นตู้จดหมาย (ตัวช่วย) ตัวช่วยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการกระทำ (เหมือนตัวอย่างจดหมาย-ตู้จดหมาย) เพราะว่า แม้รายการที่จดไว้ โน้ตที่จดไว้ ผ้าเช็ดหน้าที่ผูกไว้ หรือเส้นด้ายที่พันไว้ที่นิ้ว ล้วนแต่เป็นตัวอย่างของตัวช่วยที่เราใช้ในการช่วยเตือนความจำ
ทารกยังไม่รู้ภาษาเพื่อที่จะรายงานความจำของตน ดังนั้น เราจึงไม่สามารถใช้ภาษาเพื่อประเมินความจำของเด็กที่ยังเล็กมาก แต่ว่า ในปีที่ผ่าน ๆ มา นักวิจัยได้พัฒนาและปรับปรุงวิธีต่าง ๆ เพื่อประเมินความจำโดยรู้จำ (recognition) และความจำโดยระลึก (recall) ของเด็กทารก
มีการใช้เทคนิค Habituation (แปลว่า การเกิดความเคยชิน ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่สิ่งมีชีวิตลดหรือระงับการตอบสนองต่อสิ่งเร้าหลังจากที่สิ่งเร้าปรากฏซ้ำ ๆ กัน[22]) และเทคนิค operant conditioning (แปลว่า การปรับพฤติกรรมโดยตัวดำเนินการ ซึ่งเป็นรูปแบบการรเรียนรู้ที่พฤติกรรมมีการเปลี่ยนไปเพราะการกระทำที่มีมาก่อนและผลของการกระทำนั้น) เพื่อประเมินความจำโดยรู้จำ และ deferred imitation (การให้เลียนแบบมีการรอ) กับ elicited imitation (การให้เลียนแบบโดยชักจูง) เพื่อประเมินความจำโดยระลึก
กระบวนการที่ใช้ประเมินความจำโดยรู้จำของทารกรวมทั้ง
ส่วนเทคนิคที่ใช้ประเมินความจำโดยระลึกของทารกรวมทั้ง
นักวิจัยใช้งานทดสอบหลายงานเพื่อประเมินความจำของเด็กที่โตกว่าและของผู้ใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น
เขตในสมองที่มีบทบาทเกี่ยวกับประสาทกายวิภาคของความจำ (neuroanatomy of memory) เช่นเขตฮิปโปแคมปัส อะมิกดะลา striatum และ mammillary bodies เชื่อกันว่ามีบทบาทในความจำเฉพาะอย่างแต่ละอย่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น เชื่อกันว่าฮิปโปแคมปัสมีบทบาทในการเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่ (spatial learning) และการเรียนรู้เชิงประกาศ (declarative learning) ในขณะที่อะมิกดะลามีบทบาทในความจำที่ประกอบกับอารมณ์ความรู้สึก (emotional memory)[36] ความเสียหายของเขตต่าง ๆ ในสมองทั้งในคนไข้และสัตว์ตัวแบบและความบกพร่องทางความจำที่ปรากฏต่อ ๆ มา เป็นข้อมูลปฐมภูมิในการศึกษาประเด็นนี้ แต่ก็ยังต้องระวังว่า ความเสียหายในเขตนั้น ๆ โดยตรงอาจจะไม่ใช่เหตุของความบกพร่องที่ปรากฏ เหตุอาจจะเป็นความเสียหายในเขตติด ๆ กัน หรือในวิถีประสาทที่วิ่งผ่านเขตนั้น นอกจากนั้นแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะบอกว่า ความจำและสิ่งที่คู่กันกับความจำคือการเรียนรู้ อาศัยเพียงแค่เขตสมองเฉพาะต่าง ๆ เหล่านั้น ทั้งการเรียนรู้และความจำเป็นผลของความเปลี่ยนแปลงที่ไซแนปส์ของเซลล์ประสาท ซึ่งเชื่อกันว่าสื่อโดยกระบวนการ long-term potentiation และ long-term depression
โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ถ้ามีอารมณ์ความรู้สึกประกอบที่ยิ่งสูงขึ้นเท่าไรในเหตุการณ์หรือประสบการณ์นั้น ๆ ก็จะเกิดความจำที่ดีขึ้นเท่านั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า memory enhancement effect (ปรากฏการณ์เพิ่มสมรรถภาพความจำ) แต่คนไข้ที่มีอะมิกดะลาเสียหาย จะไม่ปรากฏปรากฏการณ์นี้[37][38]
นักจิตวิทยาชาวแคนาดา ดร. โดนัลด์ เฮ็บบ์ เป็นผู้แยกแยะความจำระยะสั้นและความจำระยะยาว เขาวางหลักไว้ว่า ความจำทุกอย่างที่เก็บอยู่ในความจำระยะสั้นเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอ จะเกิดการทำให้มั่นคง (consolidation) กลายเป็นความจำระยะยาว แต่ว่า งานวิจัยภายหลังปฏิเสธหลักนี้ คือพบว่า การฉีดยา cortisol หรืออีพิเนฟรินช่วยการเก็บความจำเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น และการกระตุ้นอะมิกดะลาก็ทำให้เกิดผลเช่นนี้ด้วย ซึ่งแสดงว่า ความตื่นเต้นเพิ่มสมรรถภาพความจำโดยกระตุ้นฮอร์โมนที่มีผลต่ออะมิกดะลา แต่ว่า ความเครียดจัดหรือนาน (ทำให้เกิดการหลั่ง cortisol นาน) อาจขัดขวางการเก็บความจำ นอกจากนั้นแล้ว คนไข้ที่มีอะมิกดะลาเสียหายไม่สามารถจำคำศัพท์ที่ประกอบด้วยอารมณ์ความรู้สึก ได้ดีกว่าคำที่ไม่ประกอบด้วยความรู้สึก
ส่วนฮิปโปแคมปัสมีความสำคัญต่อความจำชัดแจ้ง สำคัญต่อการทำความจำให้มั่นคง (memory consolidation) อีกด้วย นอกจากนั้นแล้ว ฮิปโปแคมปัสยังรับข้อมูลมาจากส่วนต่าง ๆ ของคอร์เทกซ์และส่งข้อมูลไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมองด้วย ข้อมูลที่รับมามาจากเขตรับความรู้สึก (sensory area) ระดับทุติยภูมิหรือตติยภูมิ เป็นข้อมูลที่มีการแปลผลมาในระดับสูงแล้ว ความเสียหายที่ฮิปโปแคมปัสอาจทำให้เกิดความสูญเสียความจำและเกิดปัญหาในการเก็บความจำ[39]
นักประสาทวิทยาศาสตร์เชิงประชาน (Cognitive neuroscience) พิจารณาความจำว่าเป็นการเก็บ (retention) การปลุกฤทธิ์ (reactivation) และการสร้างใหม่ (reconstruction) ของตัวแทนทางประสาทภายใน (internal representation) ที่มีต่างหากจากประสบการณ์ การใช้คำว่า "ตัวแทนภายใน" แสดงว่า นิยามของความจำจะต้องมีสองส่วน คือ การแสดงออกของความจำทางพฤติกรรมและทางการรับรู้ และความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของระบบประสาท (Dudai 2007) ส่วนที่สองนั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "engram" หรือ "memory trace" (Semon 1904) นักประสาทวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาบางพวกเทียบความคิดเรื่อง engram เท่ากับความจำ (memory) อย่างผิดพลาด คือรวมเอาสิ่งที่คงเหลือทั้งหมดของประสบการณ์ว่าเป็นความจำ (คือถือเอาแต่ส่วนที่สองของนิยาม) ในขณะที่พวกอื่นปฏิเสธการรวมยอดอย่างนี้โดยแสดงว่า ความจำจริง ๆ แล้วจะไม่มีจนกระทั่งเปิดเผยโดยพฤติกรรมหรือความคิด (คือบอกว่าต้องมีทั้งสองส่วนของนิยามจึงจะเป็นความจำ) (Moscovitch 2007)
คำถามหนึ่งที่สำคัญยิ่งในประสาทวิทยาศาสตร์เชิงประชานก็คือ ข้อมูลและประสบการณ์ทางใจเกิดการเข้ารหัสและการสร้างตัวแทนในสมองได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์ได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเข้ารหัสผ่านงานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาพพลาสติก (plasticity) ของระบบประสาท แต่งานวิจัยเช่นนี้โดยมากมักจะโฟกั้สที่การเรียนรู้ง่าย ๆ ในวงจรประสาทง่าย ๆ แต่ยังไม่มีความชัดเจนของความเปลี่ยนแปลงในระบบประสาทเกี่ยวกับความจำที่ซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความจำเชิงประกาศที่ต้องเก็บทั้งข้อมูลความจริงและเหตุการณ์ต่าง ๆ (Byrne 2007)
การเข้ารหัสของความจำใช้งาน (working memory) รวมการทำงานของนิวรอนที่เกิดขึ้นเพราะข้อมูลทางประสาทสัมผัส ที่คงอยู่แม้หลังจากข้อมูลทางประสาทสัมผัสนั้นหมดไปแล้ว (Jensen and Lisman 2005; Fransen et al. 2002) ส่วนการเข้ารหัสของความจำอาศัยเหตุการณ์มีความเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรในโครงสร้างโมเลกุลที่ปรับเปลี่ยนการส่งสัญญาณผ่านไซแนปส์ระหว่างนิวรอน ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงโดยโครงสร้างเช่นนี้พบได้ในกระบวนการ long-term potentiation (LTP) และ spike-timing-dependent plasticity (STDP) การทำงานที่คงอยู่ได้ในความจำใช้งานสามารถเพิ่มสมรรถภาพความเปลี่ยนแปลงที่ไซแนปส์และที่เซลล์ในการเข้ารหัสความจำอาศัยเหตุการณ์ (Jensen and Lisman 2005) .
งานวิจัยในปี ค.ศ. 2005 พบสัญญาณบ่งความจำใช้งานทั้งในสมองกลีบขมับส่วนใน (medial temporal lobe ตัวย่อ MTL) ซึ่งเป็นส่วนสมองที่มีความสัมพันธ์ระดับสูงกับความจำระยะยาว และใน prefrontal cortex[40] ซึ่งบอกเป็นนัยถึงความสัมพันธ์ที่มีกำลังระหว่างความจำใช้งานและความจำระยะยาว แต่ว่า สัญญาณบ่งความจำใช้งานที่มีกำลังกว่าในสมองกลีบหน้าแสดงว่า สมองกลีบหน้ามีบทบาทที่สำคัญกว่าเกี่ยวกับความจำใช้งาน (Suzuki 2007)
ความจำระยะสั้น (Short-term memory ตัวย่อ STM) นั้นชั่วคราวและไวต่อการรบกวน ในขณะที่ความจำระยะยาว (long-term memory ตัวย่อ LTM) ที่มีการทำให้มั่นคงแล้ว จะคงทนและมีเสถียรภาพ ส่วนการเปลี่ยนความจำระยะสั้นไปเป็นความจำระยะยาวในระดับโมเลกุลเชื่อกันว่าเกิดจาก 2 กระบวนการ คือ synaptic consolidation (การทำการส่งสัญญาณผ่านไซแนปส์ให้มั่นคง) และ system consolidation (การทำความจำให้มั่นคงในทั้งระบบ) กระบวนการแรกเกิดจากกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนในสมองกลีบขมับด้านใน (MTL) ในขณะที่กระบวนการหลังเป็นการเปลี่ยนความจำที่ต้องอาศัย MTL ไปเป็นความจำที่เป็นอิสระจาก MTL ซึ่งใช้เวลาหลายเดือนจนถึงหลายปี (Ledoux 2007)
ในปีที่ผ่าน ๆ มานี้ ความเชื่อเดิม ๆ เหล่านี้ได้เริ่มมีการตรวจสอบใหม่เพราะผลจากงานวิจัยต่าง ๆ ในประเด็น reconsolidation (การทำความจำให้มั่นคงอีก) คืองานวิจัยเหล่านี้พบว่า ถ้ามีตัวรบกวนเกิดขึ้นหลังจากการค้นคืนความจำที่มีอยู่แล้ว จะมีผลต่อการค้นคืนความจำนั้น ๆ ต่อไปอีก (Sara 2000) นอกจากนั้นแล้ว งานวิจัยต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 แสดงว่า การให้ยายับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน (protein synthesis inhibitor) หรือสารประกอบอื่น ๆ อีกหลายอย่าง หลังจากการค้นคืนความจำ จะนำไปสู่ภาวะเสียความจำ (Nadel et al. 2000b; Alberini 2005; Dudai 2006) ผลงานวิจัยเหล่านี้เกี่ยวกับ reconsolidation เข้ากันกับหลักฐานทางพฤติกรรมว่า ความจำที่ค้นคืนมานั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่เหมือนกับประสบการณ์เดิมจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ และจะเกิดการปรับเปลี่ยนเมื่อมีการค้นคืน
การศึกษาด้านพันธุศาสตร์เกี่ยวกับความจำในมนุษย์ยังอยู่ในยุคเริ่มต้น ผลงานสำเร็จเริ่มต้นที่เด่นก็คือการสัมพันธ์โปรตีน Apolipoprotein E กับความผิดปกติทางความจำของคนไข้โรคอัลไซเมอร์ การสืบค้นหายีนต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับความจำที่มีความแตกต่างกันตามปกติก็ยังเป็นงานที่ดำเนินต่อไป แต่ยีนที่มีบทบาทในความแตกต่างกันของความจำอย่างหนึ่งก็คือยีน KIBRA[41] ซึ่งดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์กับความเร็วในการลืมข้อมูลหลังจากการเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ
จนกระทั่งถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 มีการสันนิษฐานโดยทั่ว ๆ ไปว่า เด็กทารกจะไม่สามารถเข้ารหัส เก็บ และค้นคืนข้อมูลความจำ[42] แต่ผลงานวิจัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันกลับบอกว่า เด็กทารกแม้ในวัย 6 เดือน ยังสามารถระลึกถึงข้อมูลต่าง ๆ 24 ช.ม. หลังจากการเรียนรู้ได้[43] นอกจากนั้นแล้ว งานวิจัยยังแสดงด้วยว่า เมื่อเจริญวัยขึ้น ก็สามารถที่จะเก็บข้อมูลนั้นได้นานขึ้นเรื่อย ๆ คือ ทารกวัย 6 เดือนสามารถระลึกถึงข้อมูลได้หลังจาก 24 ช.ม. วัย 9 เดือนสามารถระลึกถึงได้หลังจาก 5 อาทิตย์ และวัย 20 เดือนสามารถระลึกได้นานถึง 12 เดือน[44] ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยต่าง ๆ ยังแสดงด้วยว่า เมื่อเจริญวัยขึ้น เด็กทารกสามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้เร็วเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เด็กทารกวัย 14 เดือนสามารถระลึกถึงลำดับการกระทำมี 3 ขั้นตอนหลังจากมีการเรียนรู้เพียงแค่ครั้งเดียว ในขณะที่เด็กวัย 6 เดือนต้องมีการเรียนรู้ถึง 6 ครั้งจึงจะจำได้[27][43]
ควรจะสังเกตว่า แม้ว่าเด็กทารกวัย 6 เดือนจะสามารถระลึกถึงข้อมูลในช่วงระยะสั้น แต่ว่าจะมีปัญหาในการระลึกถึงข้อมูลตามลำดับ ต้องเป็นเด็กทารกเริ่มตั้งแต่วัย 9 เดือนที่จะสามารถระลึกถึงการกระทำสองขั้นตอนตามลำดับ ซึ่งก็คือ ระลึกถึงการกระทำที่ 1 ก่อน ตามมาด้วยการกระทำที่ 2[45][46] กล่าวอีกอย่างหนึ่ง เมื่อให้เลียนแบบลำดับการกระทำ 2 ขั้นตอน (เช่นเอารถเด็กเล่นวางไว้ที่ฐานรองรับ แล้วใช้ไม้ดันให้รถวิ่งไปอีกด้านหนึ่ง) เด็กทารกวัย 9 เดือนมักจะเลียนแบบการกระทำในลำดับที่ถูกต้อง (ขั้น 1 แล้วจึงขั้น 2) ทารกที่เยาว์วัยกว่านั้น (คือ 6 เดือน) สามารถระลึกถึงขั้นตอนหนึ่งในลำดับสองขั้นตอนเท่านั้น[43] มีนักวิจัยที่เสนอว่า ความแตกต่างระหว่างวัยเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นเพราะส่วน dentate gyrus ของฮิปโปแคมปัส และเพราะเหตุส่วนต่าง ๆ ด้านหน้าของเครือข่ายประสาทยังไม่เจริญเต็มที่ในทารกวัย 6 เดือน[28][47][48]
ประเด็นเรื่องกังวลอย่างหนึ่งของคนชราก็คือการสูญเสียความจำ โดยเฉพาะโดยเป็นอาการเด่นของโรคอัลไซเมอร์ แต่ว่า การสูญเสียความจำที่เนื่องกับความชราไม่เหมือนกับที่เนื่องกับโรคอัลไซเมอร์ (Budson & Price, 2005) งานวิจัยได้พบว่า สมรรถภาพในการทำงานเกี่ยวกับความจำที่ต้องอาศัยเขตสมองด้านหน้าจะเสื่อมลงเพราะความชราภาพ คือ คนชรามักจะแสดงความบกพร่องในงานต่าง ๆ เช่น
การออกกำลังกาย โดยเฉพาะแบบแอโรบิกเช่นการวิ่ง การขี่จักรยาน และการว่ายน้ำมีประโยชน์ทางประชานหลายอย่าง ผลดีที่เกิดขี้นรวมทั้ง ระดับสารสื่อประสาทที่สูงขึ้น การส่งออกซิเจนและสารอาหารที่ดีขึ้น และกระบวนการ neurogenesis (การสร้างเซลล์ประสาทใหม่) ในฮิปโปแคมปัสในระดับที่เพิ่มขึ้น ผลของการออกกำลังกายต่อความจำมีนัยสำคัญต่อการเพิ่มสมรรถภาพทางการศึกษาของเด็ก ๆ ต่อการรักษาสมรรถภาพทางความคิดในวัยชรา และต่อการป้องกันและการรักษาโรคทางประสาท
ความรู้มากมายเกี่ยวกับความจำในปัจจุบันมาจากการศึกษาโรคเกี่ยวกับความจำ (memory disorders) โดยเฉพาะภาวะเสียความจำ (amnesia) ซึ่งอาจจะเป็นผลของความเสียหายอย่างกว้างขวางต่อ (1) เขตต่าง ๆ ในสมองกลีบขมับส่วนใน (medial temporal lobe) เช่นฮิปโปแคมปัส, dentate gyrus, subiculum, อะมิกดะลา, parahippocampal cortex, entorhinal cortex และ perirhinal cortex[51] หรือ (2) เขต midline diencephalic region โดยเฉพาะส่วน dorsomedial nucleus ของทาลามัส และ mammillary bodies ของไฮโปทาลามัส[52]
มีรูปแบบของภาวะเสียความจำมากมาย เพราะฉะนั้น การศึกษารูปแบบต่าง ๆ ทำให้สามารถสังเกตข้อบกพร่องที่ปรากฏในส่วนย่อยต่าง ๆ ของระบบความจำ และจึงทำให้สามารถตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับหน้าที่ของส่วนย่อย ๆ เหล่านั้นในสมองปกติ โรคเกี่ยวกับระบบประสาทอื่น ๆ เช่นโรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสัน[53] ก็สามารถมีผลต่อความจำและประชานอีกด้วย ส่วนโรค Hyperthymesia หรือว่า hyperthymesic syndrome มีผลต่อความจำอาศัยอัตชีวประวัติ (autobiographical memory) ซึ่งโดยสำคัญก็คือ คนไข้ไม่สามารถลืมรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ปกติจะไม่เก็บไว้[54] ส่วน Korsakoff's syndrome หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Korsakoff's psychosis เป็นโรคที่มีภาวะเสียความจำและการกุเหตุความจำเสื่อม (confabulation) เป็นโรคเกี่ยวกับสมองที่มีผลลบต่อความจำ
แม้ว่าจะไม่ใช่โรค ความล้มเหลวชั่วคราวในการค้นหาคำที่จะใช้พูดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "ติดอยู่ที่ปลายลิ้น" (Tip of the tongue) แต่ว่า คนไข้โรค "Anomic aphasia" (ภาวะเสียการสื่อความโดยหาคำเรียกไม่ได้) หรือบางครั้งเรียกว่า "Nominal aphasia" ประสบกับปรากฏการณ์ติดอยู่ที่ปลายลิ้นอย่างต่อเนื่องเพราะเหตุความเสียหายต่อสมองกลีบหน้าและสมองกลีบข้าง
ในปี ค.ศ. 2007 นักวิจัยชาวเยอรมันพบว่าสามารถใช้กลิ่นต่าง ๆ ในการปลุกฤทธิ์ของความจำใหม่ ๆ ในสมอง ในขณะที่ผู้ร่วมการทดลองกำลังนอนหลับอยู่ และหลังจากนั้นผู้ร่วมการทดลองก็ปรากฏกว่าจำเรื่องนั้นได้ดีขึ้น[55] นอกจากนั้นแล้ว อารมณ์ความรู้สึกยังสามารถมีผลที่มีกำลังต่อความจำ งานวิจัยมากมายแสดงว่า ความจำอาศัยอัตชีวประวัตที่ชัดเจนที่สุดมักจะเป็นเหตุการณ์ที่ประกอบด้วยอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งมักจะมีการระลึกถึงอยู่บ่อย ๆ ประกอบด้วยความชัดเจนและรายละเอียดที่มากกว่าเหตุการณ์ธรรมดา ๆ[56]
ส่วนของสมองที่ขาดไม่ได้ในการสร้างอารมณ์ก็คืออะมิกดะลา ซึ่งเปิดโอกาสให้ฮอร์โมนความเครียดสามารถเพิ่มกำลังของการสื่อสารระหว่างนิวรอนต่าง ๆ[57] คือ สารเคมี cortisone และอะดรีนาลีนจะเกิดการปล่อยในสมองเมื่อเกิดการทำงานในอะมิกดะลาไม่ว่าจะเป็นเพราะความตื่นเต้นทั้งทางบวกหรือทางลบ วิธีที่ได้ผลที่สุดในการเริ่มการทำงานของอะมิกดะลาก็คือความกลัว เพราะความกลัวเป็นกลไกป้องกันตนเองที่มีอยู่ตามสัญชาตญาณ เป็นสิ่งที่มีกำลังจึงทำให้จำเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย แต่ว่า บางครั้งความรู้สึกอาจจะมีอย่างท่วมท้น ซึ่งทำให้ความจำแม้คลุมเครือแต่ก็ยังรู้สึกเหมือนชัด หรือว่าอาจจะทำให้คิดถึงบ่อย ๆ และมีความชัดเจนอย่างยิ่ง การค้นพบเช่นนี้ได้นำไปสู่การพัฒนายาเพื่อช่วยความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD)[58] เมื่อเราอยู่ในภาวะที่เกิดอารมณ์สูง เหตุการณ์ต่าง ๆ อาจจะทำให้เกิดความจำที่มีกำลังและทำให้คิดถึงบ่อย ๆ โดยที่ไม่ต้องการ ทำให้กลายเป็นปัญหาอย่างหนึ่งในชีวิตเป็นเวลาหลาย ๆ ปี[59]
งานทดลองที่ทำในหนูช่วยพัฒนายาที่ใช้บำบัดอาการอย่างนี้ ดร. เคอร์รี่ เร็สส์เรอร์ที่มหาวิทยาลัยเอ็มมอรี่ในรัฐจอร์เจีย ใช้เสียงและการช็อตด้วยไฟฟ้าเพื่อทดลองยารักษาวัณโรค cycloserine ที่มีมาก่อนแล้ว คือ หนูทดลองจะได้ยินเสียงแล้วเกิดการช็อต ทำให้เกิดการกลัวเสียง หลังจากนั้นก็จะให้ยากับหนูกลุ่มหนึ่ง แล้วก็จะทำการทดลองซ้ำอีก หนูที่ไม่ได้รับยาจะหยุดนิ่ง (freeze) เพราะเหตุแห่งความกลัว แต่ว่าสำหรับหนูที่ได้ยา แม้ได้ยินเสียงก็จะไม่ใส่ใจและจะทำกิจกรรมของตนต่อไป[60] ยานี้มีประสิทธิภาพในการเพิ่มหน่วยรับความรู้สึก (receptor) ที่มีบทบาทในการเชื่อมต่อกันระหว่างนิวรอน และในการปรับเปลี่ยนอะมิกดะลา ทำให้คนไข้ที่หวาดกลัวเพราะเหตุความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) มีโอกาสที่จะหายจากความกลัวอย่างนี้ได้
ส่วนในอีกงานหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเอ็มมอรี่ ดร. บาร์บารา โรธบอมได้ทำงานทดลองเกี่ยวกับการบำบัด PTSD โดยใช้ความรู้ว่า นิวรอนที่เกิดการทำงานเมื่อสร้างความจำ เป็นนิวรอนพวกเดียวกันที่ทำงานเมื่อมีการระลึกถึงความจำนั้น การใช้ยา cycloserine มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยคนไข้ให้สร้างการเชื่อมต่อใหม่ ๆ ระหว่างนิวรอน เพื่อลดการเชื่อมต่อกันระหว่างนิวรอนที่เกิดจากเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดนั้น ดร. โรธบอมใช้การสร้างความจริงเสมือนร่วมกับยาเพื่อเปลี่ยนความจำของคนไข้ คือเมื่อคนไข้ได้ระบุเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิด PTSD ได้แล้ว ก็จะมีการสร้างสถานการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ ผ่านหมวกที่สร้างความจริงเสมือน (เช่นเหตุการณ์เหมือนในรถเกราะที่คนไข้ประสบในสงครามทะเลทราย)
วิธีนี้ช่วยให้ระลึกเหตุการณ์นั้นในที่ที่ปลอดภัย และทำให้เกิดการทำงานในนิวรอนเดียวกันโดยไม่มีการตอบสนองด้วยความกลัวจากอะมิกดะลา คือ เหตุการณ์เสมือนจะกระตุ้นการทำงานในนิวรอนเดียวกันที่ทำงานในช่วงเหตุการณ์ และคนไข้ก็จะมีโอกาสที่จะสร้างการเชื่อมต่อกันทางประสาทใหม่ โดยมีสารเคมีต่าง ๆ ส่งมาจากอะมิกดะลาน้อยลง เพราะเหตุยา cycloserine ในระบบประสาทของคนไข้ จริง ๆ แล้ว วิธีนี้ไม่ได้ลบความจำเก่าออก แต่ช่วยทำให้มีกำลังน้อยลง ซึ่งช่วยคนไข้ให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปโดยไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความจำของเหตุการณ์นั้น ๆ[61][62]
การระลึกถึงความจำมีความสัมพันธ์กับอารมณ์ ถ้ามีความเจ็บปวด ความยินดี ความตื่นเต้น หรืออารมณ์ความรู้สึกที่มีกำลังอื่น ๆ ในช่วงเหตุการณ์ นิวรอนต่าง ๆ ที่ทำงานในช่วงเหตุการณ์ก็จะเกิดการเชื่อมต่อที่มีกำลังต่อกันและกัน และเมื่อระลึกถึงเหตุการณ์นี้ในอนาคต นิวรอนเหล่านี้ก็จะทำการเชื่อมต่อกันอย่างง่าย ๆ และอย่างรวดเร็ว กำลังและความยั่งยืนของความจำขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกในเหตุการณ์ที่สร้างความจำนั้นขึ้นโดยตรง[63]
ที่ศูนย์ประชานศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต นักวิจัยพบว่า ผู้ใหญ่มีปัญหาความแม่นยำของความจำเพราะการมีความรู้ และประสบการณ์มากกว่าเด็ก ๆ และมักจะใช้ความรู้ที่มีอยู่ในการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ ผลงานวิจัยนี้ปรากฏในวารสาร Psychological Science (วิทยาศาตร์จิตวิทยา) ในฉบับสิงหาคม ปี ค.ศ. 2004
สิ่งรบกวนสามารถขัดขวางการสร้างความจำและการค้นคืนความจำ มีทั้งการรบกวนแบบย้อนหลัง (retroactive interference) ซึ่งการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ ทำให้ยากขึ้นที่จะจำข้อมูลเก่า[64] และมีการรบกวนล่วงหน้า (proactive interference) ที่การเรียนรู้ที่มีมาก่อนจะขัดขวางการระลึกถึงข้อมูลใหม่ ๆ แม้ว่าจะมีข้อมูลเก่าเป็นตัวรบกวนที่ทำให้ลืม แต่ก็ควรจะตระหนักว่า มีสถานการณ์บางอย่างที่ข้อมูลเก่าช่วยในการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ ยกตัวอย่างเช่น ความรู้ภาษาละตินอาจจะช่วยในการเรียนภาษาที่สืบเนื่องกันเช่นภาษาฝรั่งเศส[65]
ความเครียดมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อการสร้างความจำและการเรียนรู้ เพื่อตอบสนองสถานการณ์ที่ตึงเครียด สมองจะปล่อยฮอร์โมนและสารสื่อประสาท (เช่น glucocorticoids และ catecholamines) ซึ่งมีผลต่อการเข้ารหัสความจำในฮิปโปแคมปัส งานวิจัยทางพฤติกรรมของหนูพบว่า การมีความเครียดเรื้อรังจะทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนอะดรีนาลีนซึ่งมีผลต่อฮิปโปแคมปัสในสมอง[66]
งานวิจัยที่ทำโดยนักจิตวิทยาประชานในปี ค.ศ. 2010 แสดงว่า การเรียนรู้ใต้ความเครียดทำให้ระลึกถึงสิ่งที่เรียนนั้นได้น้อยลงในมนุษย์[67]
คือ ในงานวิจัยนี้ ผู้ร่วมการทดลองเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยหญิงชายที่ร่วมการทดลองในกลุ่มทดลองหรือกลุ่มควบคุมซึ่งมีการเลือกโดยสุ่ม มีการให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มทดลองเอามือแช่ไว้ในน้ำเย็นเหมือนน้ำแข็ง (โดยงานทดลองที่เรียกว่า ‘Socially Evaluated Cold Pressor Test’ ตัวย่อ SECPT) เป็นเวลา 3 นาที โดยมีการเช็คและถ่ายวีดิโอไปพร้อมกัน หลังจากนั้นจึงให้คำ 32 คำกับทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมเพื่อจะจำ หลังจากนั้นอีก 24 ช.ม. ก็จะเช็คทั้งสองกลุ่มดูว่า สามารถจำคำที่ได้เรียนได้กี่คำ (free recall) และสามารถรู้จำคำที่เรียนได้กี่คำในรายการคำศัพท์อีกรายการหนึ่งที่มีทั้งคำที่เรียนและคำที่ไม่ได้เรียน (recognition) ผลการทดลองแสดงอย่างชัดเจนว่า ประสิทธิภาพความจำตกลงในกลุ่มทดลอง ผู้สามารถระลึกถึงคำที่เรียนรู้มาแล้ว 30% น้อยกว่ากลุ่มควบคุม นักวิจัยเสนอว่า ความเครียดที่ประสบในช่วงการเรียนรู้ทำใจให้ไขว้เขวในระยะกระบวนการเข้ารหัสความจำ
ถึงอย่างนั้น ประสิทธิภาพของความจำสามารถทำให้ดีขึ้นเมื่อสิ่งที่เรียนมีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ แม้ว่าจะเกิดใต้ความเครียด ในงานทดลองต่างกันใน ปี ค.ศ. 2009 นักวิจัยกลุ่มเดียวกันพบว่า เมื่อทำการทดสอบผู้ร่วมการทดลองในสถานการณ์ที่คล้ายหรือเข้ากันกับที่มีในช่วงการเรียนรู้ (เช่นในห้องเดียวกัน) ประสิทธิภาพที่เสื่อมลงของการเรียนรู้เหตุความเครียดสามารถลดลงได้[68]
คือ ในงานวิจัยนี้ มีนักศึกษามหาวิทยาลัยสุขภาพดีทั้งชายหญิง 72 คน รับการเลือกโดยสุ่มให้อยู่ในกลุ่มทดลองแบบ SECPT หรือในกลุ่มควบคุม มีการให้นักศึกษาจำสถานที่เก็บไพ่ที่มีรูป 15 คู่ เป็นเกมคอมพิวเตอร์เหมือนกับเกม "Concentration" หรือ "Memory" มีการฉีดกลิ่นวะนิลาในห้องที่ทำการทดลอง เพราะว่ากลิ่นเป็นตัวช่วยที่มีกำลังสำหรับความจำ การทดสอบความจำจะทำในวันต่อไป ในห้องเดียวกันที่มีกลิ่นวะนิลาหรือในห้องต่างกันที่ไม่มี ประสิทธิภาพของผู้ร่วมการทดลองที่เกิดความเครียดในช่วงการเรียนรู้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อรับการทดสอบในห้องที่ไม่คุ้นเคยไม่มีกลิ่นวะนิลา (incongruent context คือมีสถานการณ์ที่ไม่เข้ากัน) ส่วนประสิทธิภาพของผู้ที่รับการทดสอบในห้องเดียวกันที่มีกลิ่นวะนิลา (congruent context คือมีสถาสนการณ์ที่เข้ากัน) ไม่มีความเสียหาย ผู้ร่วมการทดลองทุกคน ไม่ว่าจะเกิดความเครียดหรือไม่เกิด ทำข้อทดสอบได้เร็วกว่าเมื่อสถานการณ์ที่มีเมื่อมีการเรียนรู้และเมื่อรับการทดสอบมีความคล้ายคลึงกัน[69]
ผลงานวิจัยของความเครียดต่อความจำอาจจะแสดงนัยการปฏิบัติในวงการศึกษา เกี่ยวกับการให้การของพยานในศาล และเกี่ยวกับจิตบำบัด (psychotherapy) คือ
แม้ว่าเราอาจจะคิดว่า ความจำเป็นเหมือนกับเครื่องอัดวีดิโอ แต่นี่ไม่ใช่ความจริง กลไกทางโมเลกุลที่เป็นฐานของการเกิดและการรักษาความจำมีภาวะที่เป็นพลวัต (คือไม่อยู่กับที่) และประกอบด้วยระยะต่าง ๆ ที่มีช่วงเวลาเป็นวินาทีจนถึงทั้งชีวิต[70] จริง ๆ แล้ว ผลงานวิจัยแสดงว่า สิ่งที่เราจำได้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้น (ใหม่) คือ เราสร้างความจำทั้งที่เมื่อมีการเข้ารหัสทั้งที่เมื่อมีการระลึกถึง ความจริงนี้ รู้ได้จากผลงานวิจัยคลาสิกในปี ค.ศ. 1974[71] ที่ให้ผู้ร่วมการทดลองดูภาพยนตร์เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่ท้องถนน และถามว่า ได้เห็นอะไร นักวิจัยพบว่า บุคคลที่ได้รับคำถามว่า "รถเหล่านั้นวิ่งเร็วแค่ไหนเมื่อวิ่งเข้าบี้กัน"[72] จะให้ความเร็วประเมินที่สูงกว่าบุคคลที่ได้รับคำถามว่า "รถเหล่านั้นวิ่งเร็วแค่ไหนเมื่อชนกัน"[73]
นอกจากนั้นแล้ว เมื่อถามอีกอาทิตย์หนึ่งว่า เห็นกระจกแตกในหนังหรือไม่ ผู้ที่รับคำถามเกี่ยวกับรถวิ่งเข้าบี้กันมีโอกาสถึง 2 เท่าที่จะรายงานว่าเห็นกระจกแตก มากกว่าผู้ที่ได้รับคำถามเกี่ยวกับรถชนกัน แต่จริง ๆ แล้ว ไม่มีกระจกแตกแสดงในภาพยนตร์ ดังนั้น คำถามจึงเป็นตัวบิดเบือนความจำของผู้ร่วมการทดลอง สิ่งที่สำคัญก็คือ คำที่ใช้ในคำถามโน้มน้าวให้ผู้ร่วมการทดลองสร้างความจำใหม่ที่ต่างจากเหตุการณ์จริง ๆ คือ ผู้ที่รับคำถามเกี่ยวกับรถวิ่งเข้าบี้กันระลึกถึงอุบัติเหตุว่าร้ายแรงกว่าที่เห็นจริง ๆ ผลงานทดลองนี้สามารถทำซ้ำได้และให้ผลเดียวกันทั่วโลก คือนักวิจัยสามารถแสดงอย่างคงเส้นคงวาว่า ถ้าได้รับข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด ก็จะทำให้เกิดการระลึกถึงความจำที่ผิดพลาด เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า misinformation effect (แปลว่า ปรากฏการณ์ข้อมูลผิด)[74]
เป็นที่น่าสนใจว่า ผลงานวิจัยแสดงว่า การให้ผู้ร่วมการทดลองจินตนาการการกระทำที่ไม่เคยได้ทำมาก่อนหรือเหตุกาณ์ที่ไม่ได้ประสบมาจริง ๆ ซ้ำ ๆ กัน อาจมีผลทำให้เกิดความจำที่ไม่ตรงกับความจริง ยกตัวอย่างเช่น ในงานวิจัยปี ค.ศ. 1998[75] มีการให้ผู้ร่วมการทดลองจินตนาการว่าได้ทำการอย่างหนึ่ง (ซึ่งก็คือ หักไม้จิ้มฟัน) ในช่วงแรกของการทดลอง และภายหลังถามว่าได้ทำอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ผลการทดลองพบว่า ผู้ร่วมการทดลองที่ได้จินตนาการซ้ำ ๆ กันว่าได้ทำสิ่งนั้นมีโอกาสที่จะคิดว่าได้ทำสิ่งนั้นจริง ๆ มากกว่าผู้ที่ไม่ได้จินตนาการ และโดยคล้าย ๆ กัน ในงานวิจัยปี ค.ศ. 1996[76] มีการให้นักศึกษามหาวิทยาลัยรายงานว่า มั่นใจแค่ไหนว่าได้ประสบเหตุการณ์หนึ่ง ๆ (เช่น ทำหน้าต่างแตกโดยใช้มือ) ในวัยเด็ก แล้วหลังจากนั้น 2 อาทิตย์ก็ให้นักศึกษาจินตนาการเหตุกาณ์ 4 อย่าง นักวิจัยพบว่า นักศึกษา 1/4 ที่ทำการจินตนาการรายงายว่า ได้ประสบเหตุการณ์เหล่านั้นจริง ๆ ในวัยเด็ก ซึ่งก็คือ เมื่อให้จินตการถึงเหตุการณ์เหล่านั้น ก็จะเกิดความมั่นใจมากขึ้นว่าได้ประสบเหตุการณ์เหล่านั้นจริง ๆ
งานวิจัยในปี ค.ศ. 2013 พบว่า สามารถเร้าความจำที่มีอยู่แล้วโดยไม่ได้ใช้วิธีธรรมชาติ (artificial) และสามารถสร้างความจำเทียมในหนู โดยใช้ optogenetics (ใช้แสงควบคุมนิวรอนซึ่งได้ทำให้ไวแสงโดยแปลงยีน) คือกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของสถาบัน RIKEN-MIT สามารถทำให้หนูสัมพันธ์สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีภัย กับประสบการณ์ที่ไม่น่ายินดีที่เกิดในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน (หนูในที่สุดมีปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีภัยเหมือนกับมีภัย) นักวิทยาศาสตร์บางท่านเชื่อว่า งานวิจัยนี้อาจมีนัยสำคัญในการศึกษาการเกิดความจำผิด ๆ ในมนุษย์ และในการบำบัดรักษาคนไข้ PTSD และโรคจิตเภท[77][78]
งานวิจัยปี ค.ศ. 2006 ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอสแอนเจลิสที่พิมพ์ในวารสาร American Journal of Geriatric Psychiatry (วารสารจิตเวชผู้สูงอายุอเมริกัน) พบว่า เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบประชานและสมองโดยเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างง่าย ๆ เช่นการฝึกหัดความจำ การทานอาหารสุขภาพ การรักษาร่างกายให้แข็งแรง และการบริหารความเครียด ในงานทดลองนี้ มีการตรวจสอบผู้ร่วมการทดลอง 17 คนโดยมีอายุเฉลี่ย 53 ปี มีประสิทธิภาพความจำเป็นปกติ มีการให้ผู้ร่วมการทดลอง 8 คนทานอาหารที่ดีต่อสมอง (brain healthy) ฝึกการผ่อนคลาย ออกกำลังกาย ฝึกจิต (ซึ่งเป็นเทคนิคฝึกสมองและความจำเกี่ยวกับภาษา) หลังจากนั้น 14 วัน ผู้ร่วมการทดลองสามารถใช้คำได้คล่องขึ้น (word fluency) เทียบกับความสามารถที่ได้วัดมาก่อน แต่ไม่มีการวัดผลติดตามในระยะยาว ดังนั้น จึงยังไม่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงชีวิตเช่นนี้มีผลระยะยาวต่อความจำหรือไม่[79]
มีหลักและเทคนิคช่วยจำที่มีความสัมพันธ์กันกลุ่มหนึ่ง (ที่เรียกว่า Art of memory ศิลปะความทรงจำ) ที่สามารถใช้เพื่อเพิ่มสมรรถภาพความทรงจำ เช่น ในปี ค.ศ. 2001 International Longevity Center (ศูนย์อายุยืนสากล) พิมพ์รายงาน[80] ที่ในหน้า 14-16 ให้คำแนะนำวิธีการรักษาสมรรถภาพทางใจให้ดีจนกระทั่งถึงวัยชรา ข้อแนะนำรวมทั้ง การใช้สมองโดยการเรียน การฝึกสมองหรือการอ่านหนังสือ การมีวิถีชีวิตที่แอ๊กถีฟเพื่อสนับสนุนการหมุนเวียนของเลือดในสมอง การเข้าสังคม การลดความเครียด การนอนเป็นเวลา การหลีกเลี่ยงภาวะเศร้าซึมหรือการมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ และการทานอาหารสุขภาพ
ในปี ค.ศ. 1972 นักวิจัยกลุ่มหนึ่งเสนอว่า วิธีการจำและระดับการประมวลผลเพื่อที่จะจำเป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพการเก็บประสบการณ์ไว้ในความจำ ไม่ใช่การฝึกซ้อม (rehearsal) ข้อมูลนั้นบ่อย ๆ คือ
การท่องจำเป็นวิธีหนึ่งในการเรียนรู้ที่ยังให้เราสามารถระลึกถึงข้อมูลได้คำต่อคำ ปรากฏการณ์เว้นระยะ (spacing effect) แสดงว่าเรามักจะจำรายการสิ่งต่าง ๆ ได้ดีกว่าถ้าท่องจำแล้วเว้นระยะ ทำซ้ำ ๆ กันเป็นช่วงระยะเวลายาว เปรียบเทียบวิธีนี้กับการพยายามจำเนื้อความเป็นจำนวนมากในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ปรากฏการณ์ที่เข้าประเด็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ Zeigarnik effect ซึ่งแสดงว่า เราจำงานที่ยังไม่เสร็จหรือที่เกิดการขัดจังหวะได้ดีกว่างานที่เสร็จแล้ว ส่วนวิธี Method of loci (การจินตนาการเส้นทางที่คุ้นเคยแล้ววางสิ่งที่ต้องการจะจำไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ที่เป็นจุดเด่น) เป็นการใช้ความจำทางพื้นที่เพื่อจะจำข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่[81]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.