ในจิตวิทยาหรือจิตเวชศาสตร์ การสร้างเรื่องจากความจำเสื่อม[1] หรือ การกุเหตุความจำเสื่อม[2] (อังกฤษ: confabulation มากจากคำในภาษาละตินที่แปลว่า "การเล่าเรื่อง"[3]) เป็นความปั่นป่วนของความจำที่ปรากฏโดยคำพูดหรือการกระทำที่ไม่ตรงกับประวัติ ภูมิหลัง หรือสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยที่ไม่ได้มีเจตนาที่จะหลอกลวง[4] การกุเหตุความจำเสื่อมต่างจากการโกหกเพราะไม่มีเจตนาที่จะหลอกลวง และบุคคลนั้นไม่รู้ว่า ข้อมูลของตนนั้นไม่ตรงกับความจริง[5] แม้ว่า บุคคลนั้นอาจจะแสดงเนื้อความที่ปรากฏอย่างโต้ง ๆ ว่าไม่จริง แต่ว่า เรื่องที่กุขึ้นบางครั้งอาจจะเชื่อมโยงกัน สอดคล้องกัน และไม่มีอะไรแปลก[5] บุคคลที่กุความขึ้นอาจจะมีความจำที่ไม่ถูกต้อง "เริ่มตั้งแต่เป็นความเพี้ยนไปเพียงเล็กน้อย จนถึงเป็นเรื่องกุที่แปลกประหลาด"[6] และมักจะมั่นใจถึงความจำของตน แม้ว่าจะมีหลักฐานที่ขัดแยังกัน[7] เหตุที่ปรากฏของการกุโดยมากมาจากความเสียหายในสมองหรือภาวะสมองเสื่อม เช่นที่เกิดจากโรคพิษสุรา[8] (alcoholism) จากหลอดเลือดโป่งพอง หรือจากโรคอัลไซเมอร์

รูปแบบ

การกุเหตุความจำเสื่อมโดยทั่วไปมีสองแบบคือ แบบเกิดขึ้นเอง (spontaneous) หรือแบบมีการชักนำ (provoked)

การกุเหตุความจำเสื่อมแบบเกิดขึ้นเอง (อังกฤษ: spontaneous confabulation) หรือ การกุเหตุความจำเสื่อมปฐมภูมิ (อังกฤษ: primary confabulation) ไม่ได้เกิดขึ้นตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น[9] และปรากฏเหมือนกับไม่ได้อยู่ใต้อำนาจจิตใจ[10] การกุแบบเกิดขึ้นเองค่อนข้างจะมีน้อย และอาจเป็นผลจากการทำงานร่วมกันของพยาธิในสมองกลีบหน้าและภาวะเสียความจำแบบ dissociative[11] และเกิดขึ้นบ่อยในคนไข้ภาวะสมองเสื่อม[12]

ส่วน การกุเหตุความจำเสื่อมแบบมีการชักนำ (อังกฤษ: provoked confabulation) หรือ การกุเหตุความจำเสื่อมแบบชั่วขณะ (อังกฤษ: momentary confabulation) หรือ การกุเหตุความจำเสื่อมทุติยภูมิ (อังกฤษ: secondary confabulation) เป็นเรื่องสามัญสำหรับคนไข้มีความจำเสื่อม และเกิดขึ้นบ่อย ๆ ทั้งในภาวะเสียความจำและทั้งในภาวะสมองเสื่อม[12] การกุแบบมีการชักนำจะปรากฏชัดเจนด้วยการทดสอบความจำ[9]

การจำแนกการกุเหตุความจำเสื่อมอีกอย่างหนึ่งก็คือแยกเป็นทางวจีกรรม (verbal) และทางกายกรรม (behavioral) การกุทางวจีกรรมเป็นการกล่าวคำโดยใช้ความจำที่ผิดพลาด และเกิดขึ้นบ่อยกว่า ในขณะที่การกุทางกายกรรมเกิดขึ้นเมื่อบุคคลนั้นกระทำการโดยใช้ความจำที่ผิดพลาดนั้น[10]

ลักษณะ

ความจำที่นำไปสู่การกุมักจะอยู่ในส่วนของระบบความจำเกี่ยวกับอัตชีวประวัติ (autobiographical memory) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงกระบวนการที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนที่สามารถเกิดความผิดพลาดขึ้นในช่วงเข้ารหัส (encoding) ช่วงบันทึก (storage) และช่วงระลึกถึง (recall) ความจำอย่างใดอย่างหนึ่ง ช่วงใดช่วงหนึ่งก็ได้[7] การกุเหตุความจำเสื่อมแบบนี้พบได้บ่อยในคนไข้ที่มี Korsakoff's syndrome[13][14]

อาการที่เป็นลักษณะเฉพาะ

การกุเหตุความจำเสื่อมมีลักษณะเฉพาะหลายอย่าง

  1. ทั่วไปมักเกิดทางคำพูด แต่เกิดขึ้นได้ด้วยทางการทำท่าทางที่แสดงความหมาย หรือทางการกระทำ
  2. สิ่งที่กุอาจจะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับอัตชีวประวัติและเกี่ยวกับข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับตนอื่น ๆ เช่นประวัติศาสตร์ นิทาน และที่เกี่ยวกับ semantic memory แบบอื่น ๆ
  3. เรื่องที่พูดถึงอาจจะแปลกประหลาดหรือคล้องจองกัน
  4. ประเด็นและรายละเอียดของเรื่องที่พูดอาจจะไม่เป็นความจริง
  5. เรื่องที่พูด มาจากความจำของคนไข้เกี่ยวกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ รวมทั้งความคิดในอดีตและในปัจจุบัน
  6. คนไข้ไม่มีความสำนึกถึงความผิดปกติหรือความไม่สมควรของเรื่องที่พูด และไม่มีความสนใจหรือความวิตกกังวลถ้าบอกความผิดพลาดนั้นต่อคนไข้
  7. คนไข้ไม่มีจุดประสงค์ที่ซ่อนเร้นอะไร ๆ ในการเล่าเรื่องนั้น
  8. บุคลิกของคนไข้อาจจะมีอิทธิพลต่อความพร้อมที่จะกุเรื่อง[5]

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถและอ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.