Loading AI tools
แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์สังคมวิทยา จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลัทธิมากซ์ (อังกฤษ: Marxism) หรือมักใช้ทับศัพท์ว่า มาร์กซิสม์[1] เป็นวิธีวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์สังคมวิทยาแบบฝ่ายซ้ายถึงซ้ายจัด[2][3][4] ที่ใช้การตีความพัฒนาการทางประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยม ซึ่งเป็นเป็นที่รู้จักในชื่อวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (historical materialism) เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ทางชนชั้นและความขัดแย้งทางสังคม (social conflict) และใช้มุมมองแบบวิภาษวิธีในการพิจารณาการแปลงสภาพทางสังคม (social transformation) มันถือกำเนิดจากงานเขียนของคาร์ล มาคส์ และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ นักปรัชญาชาวเยอรมันสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อเวลาผ่านไปลัทธิมากซ์พัฒนาเป็นหลายแขนงและสำนักคิด ไม่มีทฤษฎีมาร์กซิสต์ (Marxist philosophy) ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งที่สมบูรณ์ครบถ้วนและเป็นที่สิ้นสุด[5]
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ตามทฤษฎีลัทธิมากซ์ ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเกิดในสังคมทุนนิยมอันเนื่องจากความขัดกันระหว่างผลประโยชน์ทางวัตถุของชนกรรมาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ซึ่งรับค่าจ้างผลิตสินค้าและบริการ กับชนชั้นกระฎุมพี ประชากรส่วนน้อยซึ่งเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและเอาความมั่งคั่งมาจากการจัดสรรมูลค่าส่วนเกิน (กำไร) ที่ชนกรรมาชีพผลิต การต่อสู้ระหว่างชนชั้นนี้ซึ่งมักแสดงออกมาเป็นการกบฏของพลังการผลิตของสังคม (productive forces) ต่อความสัมพันธ์การผลิตของสังคม (relations of production) ส่งผลให้เกิดวิกฤติระยะสั้นเมื่อชนชั้นกระฎุมพีประสบความลำบากในการจัดการความแปลกแยกของแรงงาน (Marx's theory of alienation) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นของชนกรรมาชีพ วิกฤตนี้จะลงเอยด้วยการปฏิวัติของชนกรรมาชีพและการสถาปนาสังคมนิยม ซึ่งเป็นระบบทางสังคมและเศรษฐกิจที่ให้สังคมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่กระจายให้แต่ละคนตามการมีส่วนร่วม และการผลิตที่จัดระเบียบโดยตรงสำหรับการใช้สอย เมื่อพลังการผลิตก้าวหน้าขึ้น มาคส์ตั้งสมมติฐานว่าสังคมนิยมในท้ายที่สุดจะแปลงเป็นสังคมคอมมิวนิสต์
สำนักคิดต่าง ๆ นอกจากจะเน้นและดัดแปลงแง่มุมบางอย่างของลัทธิมากซ์คลาสสิก (classical marxism) แล้ว แนวคิดแนวมากซ์ถูกนำไปรวมและปรับใช้ในหลากหลายทฤษฎีทางสังคม (social theory) ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่แตกต่างหลากหลาย[6] พร้อมกับบทวิพากษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง (critique of political economy) ของมากซ์ ลักษณะต่าง ๆ ที่ให้นิยามลัทธิมากซ์มักถูกเรียกในชื่อวัตถุนิยมวิภาษวิธี (dialectical materialism) และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ทว่าศัพท์เหล่านี้ถูกบัญญัติขึ้นหลังมาคส์เสียชีวิตแล้ว และหลักการของมันถูกตั้งคำถามจากผู้ที่ระบุตนว่าเป็นมาร์กซิสต์บางคน
ลัทธิมากซ์ได้สร้างผลกระทบต่อวงการวิชาการทั่วโลกอย่างลุ่มลึก และส่งอิทธิพลต่อหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นมานุษยวิทยา,[7][8] โบราณคดี (Marxist archaeology), ทฤษฎีศิลปะ (Marxist aesthetics), อาชญาวิทยา (Marxist criminology), วัฒนธรรมศึกษา (cultural studies), เศรษฐศาสตร์, การศึกษา,[9] จริยศาสตร์ (Marxist ethics), ทฤษฎีภาพยนตร์ (Marxist film theory), ภูมิศาสตร์ (geography),[10] ประวัติศาสตร์นิพนธ์ (Marxist historiography), วรรณคดีวิจารณ์ (Marxist literary criticism), สื่อมวลชนศึกษา (media studies),[11][12] ปรัชญา, รัฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์การเมือง, จิตวิทยา (Freudo-Marxism), วิทยาศาสตร์ศึกษา (science studies),[13] สังคมวิทยา (Marxist sociology), การผังเมืองและการละคร
ลัทธิมากซ์พยายามอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม (social phenomena) ภายในสังคมใด ๆ ด้วยการวิเคราะห์วัตถุสภาพและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จำเป็นในการสนองความต้องการเชิงวัตถุของมนุษย์ แนวคิดนี้สันนิษฐานว่ารูปแบบของการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจ หรือวิถีการผลิต ส่งอิทธิพลต่อปรากฏการณ์ทางสังคมอื่น ๆ ทั้งมวล รวมทั้งความสัมพันธ์ทางสังคมที่กว้างกว่า สถาบันทางการเมือง ระบบกฎหมาย ระบบวัฒนธรรม สุนทรียภาพ และอุดมการณ์ ความสัมพันธ์ทางสังคมเหล่านี้และระบบเศรษฐกิจประกอบกันเป็นฐานและโครงสร้างส่วนบน เมื่อพลังการผลิต (กล่าวคือเทคโนโลยี) พัฒนายิ่งขึ้น รูปแบบการจัดระเบียบการผลิตอย่างที่ดำรงอยู่จะล้าสมัยและขัดขวางการพัฒนาก้าวหน้า คาร์ล มาคส์ เขียนไว้ว่า "ที่ขั้นของการพัฒนาขั้นหนึ่ง พลังการผลิตเชิงวัตถุของสังคมจะขัดแย้งกับความสัมพันธ์การผลิตที่ดำรงอยู่ หรือ นี่จะกล่าวแต่เพียงสิ่งเดียวกันแต่ด้วยศัพท์ทางกฎหมาย กับความสัมพันธ์ของทรัพย์สินภายในกรอบที่พวกมันได้ดำเนินการมาจนบัดนี้ จากรูปแบบต่าง ๆ ของการพัฒนาของพลังการผลิต ความสัมพันธ์เหล่านี้กลายเป็นพันธนาการของพวกมัน จากนั้นยุคสมัยของการปฏิวัติทางสังคม (social revolution) จึงเริ่มต้น"[14]
ความไร้ประสิทธิภาพดังกล่าวจะปรากฏตัวเป็นความขัดแย้งทางสังคมภายในสังคม จากนั้นจึงชิงชัยกันในระดับของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น[15] การต่อสู้อันนี้ภายในวิถีการผลิตแบบทุนนิยมปรากฏตัวเป็นการต่อสู้ระหว่างชนกลุ่มน้อยผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (ชนชั้นกระฎุมพี) กับส่วนใหญ่ของประชากรซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการ (ชนกรรมาชีพ) มาร์กซิสต์เริ่มต้นการอนุมานด้วยข้อตั้งว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (social change) เกิดขึ้นจากการต่อสู้ระหว่างชนชั้นต่าง ๆ ภายในสังคมซึ่งมีความขัดแย้งกัน แล้วสรุปว่า ในเมื่อทุนนิยมขูดรีดและกดขี่ชนกรรมาชีพ ดังนั้นทุนนิยมจะนำไปสู่การปฏิวัติของชนกรรมาชีพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทรัพย์สินส่วนบุคคลในฐานะปัจจัยการผลิตจะถูกแทนที่ด้วยการถือกรรมสิทธิ์แบบสหกรณ์ในสังคมสังคมนิยม เศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialist economics) จะไม่มีพื้นฐานการผลิตเป็นการสร้างผลกำไรของเอกชน แต่เป็นการสนองต่อความต้องการของมนุษย์ กล่าวได้ว่าคือการผลิตเพื่อการใช้สอย (production for use) ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ อธิบายไว้ว่า "วิถีการถือเอาแบบทุนนิยมที่ผลผลิตเป็นนายทาสของผู้ผลิตแล้วก็ของผู้ถือเอา จะถูกแทนที่ด้วยวิถีการถือเอาผลผลิตซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนธรรมชาติของปัจจัยการผลิตสมัยใหม่ ในมือหนึ่ง การถือเอาของสังคมโดยตรงให้เป็นปัจจัยในการบำรุงรักษาและการขยายตัวการผลิต และในอีกมือหนึ่ง การถือเอาของปัจเจกชนโดยตรงให้เป็นปัจจัยในการยังชีพและการเสวยสุข"[16]
เศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์และผู้สนับสนุนมองว่าทุนนิยมไม่มีความยั่งยืนในทางเศรษฐกิจ (economic stability) และไม่สามารถพัฒนามาตรฐานการครองชีพ (Standard of living) ของประชากรได้ เพราะต้องชดเชยอัตรากำไรที่ลดลง (Tendency of the rate of profit to fall) ด้วยการลดค่าจ้างและสวัสดิการ (Welfare) ของลูกจ้างและต้องรุกรานทางการทหารในขณะเดียวกัน และมองว่าวิถีการผลิตแบบสังคมนิยม (socialist mode of production) จะรับช่วงต่อทุนนิยมเป็นวิถีการผลิตของมนุษย์ผ่านการปฏิวัติโดยกรรมาชีพ ทฤษฎีภาวะวิกฤติแนวมากซ์เชื่อว่าสังคมนิยมไม่เพียงแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจด้วย
คำว่า Marxism (ลัทธิมากซ์) เป็นที่รู้จักจาก คาร์ล เคาท์สกี (Karl Kautsky) ซึ่งนับว่าตนเองเป็น orthodox Marxist (มาร์กซิสต์แบบเดิม) ในช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่างผู้ติดตามมาคส์แบบเดิมกับแบบลัทธิแก้[17] เอดูอาร์ท แบร์นชไตน์ คู่แข่งลัทธิแก้ของเคาท์สกีต่อมาก็นำคำนี้มาใช้[17]
เอ็งเงิลส์ไม่สนับสนุนให้ใช้คำว่า Marxism ในการเรียกมุมมองของเขาหรือของมาคส์ก็ตาม[18] เขากล่าวว่าคำนี้ถูกใช้ในทางที่ผิดเป็นคำขยาย (Grammatical modifier) เชิงวาทกรรมของพวกที่พยายามอ้างว่าตนเป็นผู้ติดตามที่แท้จริงของมาคส์ และแปะป้ายคนอื่น ๆ ด้วยคำอื่นอย่าง Lassallians (ลัทธิลาซาล)[18] ใน ค.ศ. 1882 เอ็งเงิลส์กล่าวว่ามาคส์วิจารณ์ ปอล ลาฟาร์ก (Paul Lafargue) ลูกเขยของมาคส์ที่เรียกตนว่าเป็นมาร์กซิสต์ว่า หากมุมมองของลาฟาร์กคือมาร์กซิสต์ อย่างนั้นแล้ว "สิ่งหนึ่งนั้นแน่นอนคือตัวฉันเองไม่ได้เป็นมาร์กซิสต์" (ce qu'il y a de certain c'est que moi, je ne suis pas Marxiste)[18][19]
— วลาดิมีร์ เลนิน ค.ศ. 1913[20]
สังคมมิได้ประกอบขึ้นจากปัจเจกบุคคล แต่เป็นการแสดงออกมาของผลรวมของความสัมพันธ์ระหว่างกัน ความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลเหล่านี้
ลัทธิมากซ์ใช้ระเบียบวิธีแบบวัตถุนิยม ที่มาคส์และเอ็งเงิลส์เรียกว่าการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยม และในภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์เหตุเบื้องหลังของพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากมุมมองของวิธีการส่วนรวมที่มนุษย์ใช้ยังชีพตนเอง[22] คำอธิบายของมาคส์เกี่ยวกับทฤษฎีนี้มีอยู่ในงานเขียนของเขา The German Ideology (ค.ศ. 1845)[23] และในคำนำของ A Contribution to the Critique of Political Economy (ค.ศ. 1859)[24] ลักษณะต่าง ๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสังคมทั้งหลาย (ชนชั้นทางสังคม พีระมิดการเมือง และอุดมการณ์) ถูกสันนิษฐานว่าถือกำเนิดขึ้นมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งสองคือสิ่งที่เรียกว่าฐานและโครงสร้างส่วนบน (base and superstructure) อุปลักษณ์ว่าด้วยฐานและโครงสร้างส่วนบนนี้เป็นการอธิบายถึงความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งหมดที่มนุษย์ใช้ในการผลิตและการผลิตซ้ำการดำรงอยู่ทางสังคมของตน มาคส์กล่าวว่า "ผลรวมของพลังการผลิตทั้งหมดที่เข้าถึงมือมนุษย์เป็นตัวที่กำหนดสภาพของสังคม" และคือฐานทางเศรษฐกิจของสังคม[25]
ฐานนั้นประกอบไปด้วยพลังการผลิตเชิงวัตถุ อาทิแรงงาน (means of labor) ปัจจัยการผลิต และความสัมพันธ์การผลิต กล่าวคือการจัดระเบียบทางสังคมและการเมืองที่ควบคุมการผลิตและการกระจาย โครงสร้างส่วนบนซึ่งงอกออกมาจากฐานนี้คือ "จิตสำนึกทางสังคม (social consciousness) ในรูปแบบต่าง ๆ" ทางกฎหมายและการเมือง ซึ่งได้สภาวะต่าง ๆ ทั้งโครงสร้างส่วนบนและอุดมการณ์หลัก (dominant ideology) ของสังคมมาจากฐานทางเศรษฐกิจนั้นเอง ความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาพลังการผลิตเชิงวัตถุกับความสัมพันธ์การผลิตจะกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติสังคม โดยที่การเปลี่ยนแปลงของฐานทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่การแปลงสภาพทางสังคมของโครงสร้างส่วนบน[24][26]
ความสัมพันธ์นี้เป็นแบบสะท้อน โดยเริ่มแรกฐานจะให้กำเนิดแก่โครงสร้างส่วนบน และคงตนไว้เป็นพื้นฐานของการจัดระเบียบทางสังคม (social organization) รูปแบบหนึ่ง ระเบียบสังคมที่ก่อร่างขึ้นใหม่เหล่านั้นก็ส่งผลต่อทั้งส่วนฐานและส่วนโครงสร้างส่วนบน ดังนั้นแทนที่จะสถิตย์นิ่ง ความสัมพันธ์เป็นแบบวิภาษ ซึ่งแสดงออกมาและขับเคลื่อนโดยความขัดแย้งและความย้อนแย้ง เอ็งเงิลส์อธิบายว่า "ประวัติศาสตร์ของสังคมที่ดำรงอยู่ตราบจนบัดนี้ทั้งสิ้นคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น เสรีชนกับทาส แพทริเซียนกับเพลเบียน (Plebeians) เจ้าที่ดินกับข้าที่ดิน นายสมาคมช่าง (guild) กับนายช่าง (journeyman) กล่าวคือผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ (Oppressors–oppressed distinction) เผชิญหน้ากันในความขัดแย้งระหว่างกันเป็นนิตย์ ซึ่งดำเนินไปโดยไร้ซึ่งอุปสรรค บ้างซ่อนเร้นไว้ บ้างออกมาสู้กัน การต่อสู้ซึ่งเมื่อสิ้นสุดลงแล้วจะลงเอยด้วยการปฏิวัติประกอบร่างสังคมทั้งมวลขึ้นใหม่ หรือการล่มสลายร่วมกันของชนชั้นชิงชัย"[27]
มาคส์พิจารณาว่าความขัดแย้งทางชนชั้นที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นแรงขับเคลื่อนของประวัติศาสตร์มนุษย์ ดังเช่นความขัดแย้งที่ได้ปรากฏเป็นจริงในรูปของระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition economy) ของการพัฒนาที่เด่นชัดในยุโรปตะวันตก เอ็งเงิลส์อธิบายความคิดเรื่องวิวัฒนาการของสังคมในความคิดของมาคส์ว่า สังคมมีวิวัฒนาการด้วยกัน 6 ขั้น[28] โดย 4 ขั้นแรกของพัฒนาการของความสัมพันธ์ทางการผลิตในประวัติศาสตร์ของมนุษย์คือ:
แม้ว่าวัตถุนิยมประวัติศาสตร์จะถูกเรียกว่าเป็นทฤษฎีประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยม แต่มาคส์ไม่เคยอ้างว่าเขาได้สร้างกุญแจผีไว้ไขประวัติศาสตร์ขึ้นมา และการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยมไม่ได้เป็น "ทฤษฎีเชิงประวัติศาสตร์-ปรัชญาเกี่ยวกับวิถีทั่วไปที่ผู้คนทั้งมวลถูกโชคชะตาบีบบังคับ โดยไม่สนถึงพฤติการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่พวกเขาประสบพบเจอเลย" ในจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รัสเซีย Otetchestvennye Zapiskym (ค.ศ. 1877)[29] เขาอธิบายว่าแนวคิดของเขามีพื้นฐานอยู่บนการศึกษาสภาพความเป็นจริงในยุโรปอย่างเป็นรูปธรรม[30]
อิทธิพลของจิตนิยมเยอรมันเห็นได้จากแนวคิดเรื่องความแปลกแยก ซึ่งมาคส์รับมาจาก Phenomenology of Spirit (ค.ศ. 1807) ของเฮเกิลและ The Essence of Christianity (ค.ศ. 1841) ของฟ็อยเออร์บัค[31] ใน ค.ศ. 1844 ผ่านหนังสือของเขาชื่อ "ต้นฉบับทางเศรษฐศาสตร์และปรัชญาจากปี 1844" (Economics and Philosophical Manuscript 1844)" มาคส์ระบุถึงความแปลกแยก 4 ชนิดที่เกิดขึ้นกับกรรมกรที่ทำงานอยู่ในระบบการผลิตแบบทุนนิยม อันได้แก่[32]:
มากซ์วิเคราะห์ว่าอัตรามูลค่าส่วนเกิน (หรือกำไร) คือระดับของการขูดรีดพลังแรงงานโดยทุน หรือการขูดรีดคนงานโดยนายทุน มากซ์เริ่มการวิเคราะห์โดยการสมมุติว่าไม่มีการขูดรีดอยู่เลย การซื้อขายสินค้าทำที่มูลค่าของมันที่มากซ์กล่าวว่าวัดได้ด้วยเวลาแรงงานนามธรรมอันจำเป็นทางสังคม (Socially necessary labour time) ในการผลิตมันขึ้นมา เช่นหากจำเป็นต้องใช้แรงงานนามธรรมห้าชั่วโมงในการผลิตผลไม้หนึ่งลัง และสองชั่วโมงครึ่งในการผลิตเสื้อหนึ่งตัว เราจะสามารถแลกเปลี่ยนเสื้อสองตัวได้ผลไม้หนึ่งลัง มาคส์กล่าวว่านายทุนซื้อสินค้าที่เรียกว่าพลังแรงงาน (Labour power) จากคนงานที่มูลค่าแลกเปลี่ยน (Exchange value) ของมันในรูปของค่าจ้าง ซึ่งเป็นมูลค่าที่เพียงพอให้คนงานสามารถแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น ๆ เพื่อยังชีพได้ เช่นอาหารมูลค่าเท่ากับแรงงานนามธรรมห้าชั่วโมง และเมื่อซื้อไปแล้ว นายทุนจึงเป็นเจ้าของพลังแรงงานนั้นในระหว่างเวลาทำงาน และทำให้มูลค่าใช้สอย (Use value) ของพลังแรงงานแปลกแยกออกจากตัวคนงาน[33]
นายทุนบริโภคมูลค่าใช้สอยของพลังแรงงานที่ซื้อมาด้วยการให้คนงานทำงานเป็นเวลาสิบชั่วโมงเป็นต้น มูลค่าที่คนงานผลิตทั้งหมดสิบชั่วโมงจึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่เป็นค่าจ้างห้าชั่วโมงและส่วนที่เป็นมูลค่าส่วนเกินอีกห้าชั่วโมงที่ได้มาจากการใช้มูลค่าใช้สอยของพลังแรงงานซึ่งตกเป็นของนายทุน ผลคือคนงานกลับต้องทำงานปริมาณมากกว่าที่จำเป็นสำหรับการยังชีพ และนายทุนกลับได้รับมูลค่าส่วนเกินมาโดยไม่ต้องทำอะไรนอกจากเพียงแค่การบริโภคสินค้าที่มาคส์เรียกว่าพลังแรงงาน มาคส์สรุปว่านายทุนได้รับผลผลิตของแรงงานคนอื่นโดยไม่ต้องให้อะไรตอบแทนเขา ในตัวอย่างดังที่กล่าวมาแล้วคือแรงงานที่ไม่ได้จ่ายไปปริมาณห้าชั่วโมง กล่าวคือ นายทุนขูดรีดแรงงาน ทฤษฎีมากซิสต์นี้อ้างว่าที่นายทุนได้รางวัล (หรือมูลค่าส่วนเกินในรูปของ "กำไร") ไม่ใช่เพราะเขาปล้นหรือหลอกลวงคนงาน และไม่ใช่เพราะเขายอมรับความเสี่ยง เป็นเจ้าของสินทรัพย์ อดเปรี้ยวกินหวาน ทำธุรกิจ หรือทำงานหนัก แต่เพียงแค่เพราะเขาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถบริโภคพลังแรงงานของคนงาน จึงได้รับมูลค่าของมันและมูลค่าใช้สอยในการสร้างมูลค่าส่วนเกินขึ้นมา[33]
จากการวิเคราะห์เรื่องการขูดรีดแรงงานของมาคส์ ชนชั้นนายทุนจึงต้องพัฒนาเครื่องมือและวิธีการผลิตให้ก้าวหน้าขึ้นตลอดเวลา ต้องขยายตลาดสินค้า แหล่งวัตถุดิบและกิจการไปทั่วโลก การผลิตแบบทุนนิยมนี้ได้ทำให้เกิดความปั่นป่วนและวิกฤตทางเศรษฐกิจแบบวัฏจักร นั่นคือการผลิตล้นเกินท่ามกลางโลกที่อดอยากขาดแคลน เพื่อแก้ไขวิกฤตการผลิตล้นเกินและรักษาราคาของผลผลิตให้สูงกว่าต้นทุน จึงต้องทำลายผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด พยายามขยายตลาดใหม่และใช้ตลาดเก่าให้เป็นประโยชน์ ซึ่งผลสุดท้ายก็จะนำไปสู่วิกฤตรอบด้านที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ความขัดแย้งทางชนชั้นในสังคมรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในที่สุด จากปรากฏการณ์ดังกล่าว มาคส์เห็นว่า สิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคมทุนนิยมเป็นจริงเฉพาะกับผู้ที่มีทรัพย์สิน ไม่ใช่สำหรับกรรมาชีพและคนยากจน การที่มนุษย์ถูกทำให้ยอมรับว่ามีความรวยหรือความจนนั้นมาคส์เรียกว่าจิตสำนึกหลอกลวงและจอมปลอม (False Conciousness)
จิตสำนึกหลอกลวงและจอมปลอมกำหนดพฤติกรรมในสังคมมนุษย์ให้ถูกครอบงำโดยปัจจัยในการผลิต คือ ทุน เครื่องมือ และที่ดิน ที่สำคัญคือ แรงงานเป็นตัวกำหนด และผลักดัน ซึ่งส่งผลให้เกิดชนชั้นทางสังคม มากซ์เรียกความคิดเหล่านี้ว่า "วัตถุนิยมประวัติศาสตร์" (historical materialism) โดยมีตรรกะดังนี้[34]
อ้างอิงตามวลาดีมีร์ เลนิน "เนื้อหาหลักของลัทธิมากซ์" คือ "หลักเศรษฐศาสตร์ของมาคส์"[35] มาคส์อธิบายถึงคำกล่าวอ้างของนายทุนกระฎุมพีและนักเศรษฐศาสตร์ของพวกเขาที่ "ผลประโยชน์ของทุนเป็นสิ่งเดียวกันกับผลประโยชน์ของคนทำงาน" ว่าเป็นคำโกหก[36] เขาเชื่อว่าพวกเขาทำเช่นนั้นโดยการอ้างว่า "การเติบโตของทุนในการผลิตอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้" เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับทั้งนายทุนที่ร่ำรวยและกรรมกรคนงานเพราะเป็นการสร้างการจ้างงานให้พวกเขา[37]
นอกจากการวิพากษ์วิจารณ์ มาคส์กล่าวถึงผลลัพธ์บางประการของทุนนิยมโดยกล่าวว่ามัน "ได้สร้างพลังการผลิตในระดับมหาศาลและใหญ่โตยิ่งกว่าในยุคสมัยก่อนยุคใด ๆ ทั้งสิ้น"[38] และ "ได้ยุติระเบียบแบบศักดินาและปิตาธิปไตยทั้งมวล"[39]
— ฟิเดล กัสโตร, ค.ศ. 2009[40]
มาคส์จัดแบ่งชนชั้นทางสังคมด้วยเกณฑ์สองข้อ การถือครองปัจจัยการผลิตกับการควบคุมเหนือพลังแรงงานของคนอื่น ตามเกณฑ์การแบ่งชนชั้นตามความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินดังกล่าวนี้ มาคส์ระบุกลุ่มสังคมภายในการจัดช่วงชั้นทางสังคมของวิถีการผลิตแบบทุนนิยมไว้ดังต่อไปนี้:
สำนึกทางชนชั้นหมายถึงการที่ชนชั้นทางสังคมตระหนักรู้ถึงตนเองและโลกทางสังคม และความสามารถที่จะกระทำอย่างเป็นเหตุผลเพื่อประโยชน์สูงสุดของตน สำนึกทางชนชั้นเป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่ชนชั้นทางสังคมจะสามารถปฏิวัติได้โดยสำเร็จและจากนั้นจึงสามารถจัดตั้งเผด็จการโดยชนกรรมาชีพ
มาคส์ไม่ได้ให้นิยามคำว่า อุดมการณ์[43] แต่ใช้คำนี้เพื่ออธิบายถึงการผลิตจินตภาพของความเป็นจริงทางสังคม เอ็งเงิลส์กล่าวว่า "อุดมการณ์เป็นกระบวนการซึ่งผู้ที่เรียกกันว่านักคิดได้กระทำไปโดยจิตสำนึก ถูกต้อง แต่เป็นจิตสำนึกจอมปลอม เขายังคงไม่รู้ว่าอะไรกันคือแรงจูงใจที่แท้จริงที่กระตุ้นเขา ไม่อย่างนั้นก็จะไม่เป็นกระบวนการทางอุดมการณ์เลย ฉะนั้นเขาจินตนาการถึงแรงจูงใจที่จอมปลอมหรือประหนึ่งเป็นมัน"[44]
เพราะชนชั้นปกครองควบคุมปัจจัยการผลิตของสังคม โครงสร้างส่วนบนของสังคม (กล่าวคือความคิดครอบงำของสังคม) จึงถูกกำหนดโดยผลประโยชน์สูงสุดของชนชั้นปกครอง มาคส์กล่าวใน The German Ideology ว่า "ความคิดของชนชั้นปกครองคือความคิดครอบงำในทุก ๆ ยุคสมัย กล่าวคือชนชั้นซึ่งเป็นพลังเชิงวัตถุที่ครอบงำในสังคมนั้น ในเวลาเดียวกันก็เป็นพลังทางปัญญาที่ครอบงำ"[45]
แรงจูงใจของกำไร (profit motive) จะถูกกำจัดไปด้วยการถือครองปัจจัยการผลิตโดยส่วนรวม (common ownership) และถูกแทนที่ด้วยแรงจูงใจของการสานต่อความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ ชนชั้นของผู้ผลิตกับผู้ถือเอาจะหายไปเพราะมูลค่าส่วนเกินที่กรรมกรผลิตจะกลายเป็นทรัพย์สินของสังคมโดยรวม และในเมื่อรัฐถือกำเนิดจากคณะของข้าบริพารที่ชนชั้นปกครองกลุ่มแรกจ้างวานมาเพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ทางเศรษฐกิจของพวกเขา มันจะเหือดหายไป (Withering away of the state) เมื่อเงื่อนไขที่ทำให้มันดำรงอยู่หายสาบสูญไป[46][47][48]
อ้างอิงตาม The Oxford Handbook of Karl Marx มาคส์ใช้ศัพท์หลายแบบเรียกสังคมยุคหลังทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็น "positive humanism" สังคมนิยม คอมมิวนิสม์ "realm of free individuality" สมาคมอิสระของผู้ผลิต ฯลฯ เขาใช้ศัพท์เหล่านี้สลับทดแทนกันได้โดยสิ้นเชิง แนวคิดที่กล่าวว่า "สังคมนิยม" กับ "คอมมิวนิสม์" เป็นขั้นของการพัฒนาที่ต่างกันเป็นสิ่งที่ไม่พบเห็นในงานเขียนของเขา และปรากฏอยู่ในคลังศัพท์ของลัทธิมากซ์ภายหลังเขาเสียชีวิตแล้วเท่านั้น[49]
เอ็งเงิลส์อธิบายความคิดเรื่องวิวัฒนาการของสังคมในความคิดของมาคส์ว่า สังคมมีวิวัฒนาการด้วยกัน 6 ขั้น[28] โดย 2 ขั้นถัดจากทุนนิยมคือ:
อ้างอิงตามทฤษฎีลัทธิมากซ์แบบเดิม (orthodox Marxist) การล้มล้างระบอบทุนนิยมด้วยการปฏิวัติสังคมนิยมในสังคมปัจจุบันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความหลีกเลี่ยงไม่ได้ของการปฏิวัติสังคมนิยมที่จะมาถึงเป็นหัวข้อถกเถียงระหว่างหลายสำนักคิดของลัทธิมากซ์ แต่มาร์กซิสต์ทุกคนเชื่อว่าสังคมนิยมเป็นเรื่องจำเป็น มาร์กซิสต์อ้างว่าสำหรับประชากรส่วนใหญ่สังคมสังคมนิยมเป็นสิ่งที่ดีกว่าสังคมทุนนิยม วลาดีมีร์ เลนิน เขียนไว้ก่อนการปฏิวัติรัสเซียว่า "การทำให้การผลิตกลายเป็นของสังคม (social ownership) จะนำมาสู่การแปลงปัจจัยการผลิตกลายเป็นทรัพย์สินของสังคม ... การแปลงนี้จะส่งผลโดยตรงให้เกิดผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร เวลาทำงานที่ลดลง และการแทนที่เศษเดน ซากของการผลิตที่มีขนาดเล็ก โบราณ และแตกแยกกัน ด้วยแรงงานแบบรวมหมู่ที่ดีขึ้น"[50] ความล้มเหลวของการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1905 พร้อมกับความล้มเหลวของขบวนการสังคมนิยมที่ไม่สามารถต้านทานการอุบัติของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้ นำมาสู่ความพยายามทางทฤษฎีและการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญจากเลนินและโรซา ลุคเซิมบวร์ค ในการตระหนักในทฤษฎีภาวะวิกฤติ (crisis theory) ของมาคส์ และความพยายามในการประกอบร่างของทฤษฎีจักรวรรดินิยม[51]
มาคส์ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากสามแหล่งหลัก ๆ ปรัชญาจิตนิยมเยอรมัน (German idealism) สังคมนิยมฝรั่งเศส (French Left) และเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบอังกฤษและสกอตแลนด์ (classical economics)[52][53][35] มาคส์สนใจเป็นพิเศษในความแปลกแยกจากพลังแรงงานของตนเองของชนชั้นแรงงาน[54] เขาเขียนถึงประเด็นความแปลกแยกนี้อย่างมาก[55] มาคส์เริ่มต้นด้วยแนวคิดแบบเฮเกิลเรื่องความแปลกแยกและพัฒนามันกลายเป็นแนวคิดที่เป็นวัตถุนิยมยิ่งขึ้น[54] มาคส์วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ด้วยการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ซึ่งสามารถสรุปได้ด้วยบรรทัดแรก ๆ ของแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (ค.ศ. 1848) ว่า "ประวัติศาสตร์ของสังคมที่ดำรงอยู่ตราบจนบัดนี้ทั้งสิ้นคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น"[27] มาคส์ยังอธิบายถึงการขูดรีดแรงงาน วิถีการผลิตแบบทุนนิยม และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์
มาคส์และเอ็งเงิลส์ร่วมกันพัฒนาทฤษฎีคอมมิวนิสต์ขึ้นมา ทั้งสองพบกันเป็นครั้งแรกที่สำนักงานของหนังสือพิมพ์ไรนิชเชอไซทุง (Rheinische Zeitung) ที่มาคส์ทำงานอยู่[56] และพบกันเป็นครั้งที่สองที่ปารีสใน ค.ศ. 1844 นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของทั้งสอง[57] พวกเขาร่วมกันเขียนวิพากษ์แนวคิดของบรูโน เบาเออร์ (Bruno Bauer) และกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ (young hegelians) ในงานชื่อ Die heilige Familie (The Holy Family (book))[58] ใน ค.ศ. 1845 มาคส์ถูกรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศสในขณะนั้นเนรเทศออกจากประเทศด้วยแรงกดดันจากปรัสเซีย ทั้งสองจึงลี้ภัยไปประเทศเบลเยียมโดยต้องเงื่อนไขว่าจะไม่เผยแพร่งานเขียนที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองร่วมสมัย[59] ที่นั่น ทั้งสองพร้อมกับเพื่อนสนิทอีกคน ฟีลิป ฌีโก (Philippe Gigot) ได้ก่อตั้ง Kommunistisches Korrespondenz-Komitee (Communist Correspondence Committee "คณะกรรมการสัมพันธ์คอมมิวนิสต์") เพื่อประสานสัมพันธ์คอมมิวนิสต์ในทวีปยุโรป โดยใน ค.ศ. 1846 ได้ก่อตั้งศูนย์ประสานงานในหลายประเทศและเขียนจดหมายเวียนส่งหากัน[60]
ใน ค.ศ. 1847 มาคส์และเอ็งเงิลส์เริ่มเขียนแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ โดยได้รับอิทธิพลจากฉบับร่าง Grundsätze des Kommunismus (The Principles of Communism "หลักการของลัทธิคอมมิวนิสต์") ของเอ็งเงิลส์[61][62] และตีพิมพ์ออกมาใน ค.ศ. 1848 มาคส์และเอ็งเงิลส์เดินทางกลับเยอรมันทันทีภายหลังจากการปฏิวัติเยอรมัน ค.ศ. 1848 เริ่มขึ้น และร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์น็อยเออร์ไรนิชเชอไซทุง (Neue Rheinische Zeitung) ที่เมืองโคโลญกับสมาชิกแนวหน้าของสันนิบาตคอมมิวนิสต์ (communist league) ที่อาศัยอยู่ที่นั่น[63][64] ในขณะเดียวกัน จากมาตรการใหม่เพื่อขับไล่ฝ่ายซ้ายและนักปฏิวัติออกจากประเทศของคณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโดยกษัตริย์ฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 4[65] หนังสือพิมพ์น็อยเออร์ไรนิชเชอไซทุงจึงถูกปิด และมาคส์ถูกสั่งให้ออกจากประเทศ[66][67] มาคส์กลับมาที่ปารีส ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ในเมืองขับไล่เพราะถูกมองว่าเป็นอันตรายทางการเมือง ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1849 เขาจึงลี้ภัยไปที่ลอนดอน[68][69]
หลังมาคส์เสียชีวิตไปใน ค.ศ. 1883 เอ็งเงิลส์จึงกลายเป็นผู้เรียบเรียงและผู้แปลงานเขียนของมาคส์ งานเขียนของเขา กำเนิดครอบครัว ทรัพย์สินส่วนบุคคล และรัฐ (Origins of the Family, Private Property, and the State) (ค.ศ. 1884) ซึ่งวิเคราะห์ว่าการกดขี่ผู้หญิงโดยผู้ชายนั้นเกิดขึ้นมาพร้อมกับพัฒนาการของการมีคู่สมรสคนเดียว[70] เป็นส่วนสำคัญที่มีต่อทฤษฎีสตรีสิทธินิยม (feminist theory) และสตรีสิทธินิยมแนวมากซ์ (Marxist feminism)[71] และถูกเปรียบเทียบกับการกดขี่ชนชั้นแรงงานโดยชนชั้นนายทุน[72]
ในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 ฝ่ายบอลเชวิคยึดอำนาจจากรัฐบาลชั่วคราวรัสเซีย พวกบอลเชวิคสถาปนารัฐสังคมนิยม (socialist state) แห่งแรกบนแนวคิดประชาธิปไตยแบบโซเวียตและลัทธิเลนิน รัฐที่เพิ่งก่อตั้งนี้ยุติการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งของรัสเซียและสถาปนารัฐกรรมกรปฏิวัติ (revolutionary worker's state) หลังจากการปฏิวัติเดือนตุลาคม รัฐบาลโซเวียตต่อสู้กับขบวนการขาว[73] และหลายขบวนการเอกราชในสงครามกลางเมืองรัสเซีย[74] ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ นโยบายสังคมนิยมต่าง ๆ และการพัฒนาแนวคิดสังคมนิยมแบบใหม่ ลัทธิมากซ์–เลนิน ได้เกิดขึ้นมา
ใน ค.ศ. 1919 รัฐบาลโซเวียตซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นมาได้ก่อตั้งคอมมิวนิสต์อะคาเดมี (Communist Academy) และสถาบันมาคส์-เอ็งเงิลส์-เลนิน (Marx–Engels–Lenin Institute) เพื่อศึกษาหลักการมาร์กซิสต์และเผยแพร่เอกสารวิจัยและอุดมการณ์ของทางการพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อเลนินเสียชีวิตไปใน ค.ศ. 1924 เกิดความขัดแย้งกันภายในขบวนการคอมมิวนิสต์โซเวียต ระหว่างโจเซฟ สตาลินและเลออน ทรอตสกี ในรูปแบบของกลุ่มค้านฝ่ายขวา (right opposition) และกลุ่มค้านฝ่ายซ้าย (left opposition) ตามลำดับ ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นจากการตีความทฤษฎีของมากซ์กับเลนินที่ต่างกันในบริบทขณะนั้นของสหภาพโซเวียต[75]
เมื่อสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สองและสงครามโลกครั้งที่สองโดยกว้างได้สิ้นสุดลง การปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีนเกิดขึ้นในบริบทของสงครามกลางเมืองจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1921 ขัดแย้งกับก๊กมินตั๋งในเรื่องอนาคตของประเทศ ตลอดสงครามกลางเมือง เหมา เจ๋อตง ได้พัฒนาทฤษฎีลัทธิมากซ์ที่เข้ากับบริบทของประวัติศาสตร์จีน เหมามีฐานสนับสนุนในวงกว้างจากชาวนาซึ่งแตกต่างจากการปฏิวัติรัสเซียที่มีฐานสนับสนุนหลักอยู่ในใจกลางเมืองในจักรวรรดิรัสเซีย แนวคิดสำคัญบางข้อจากเหมาเช่น ประชาธิปไตยใหม่ (new Democracy), แนวทางมวลชน (mass line) และสงครามประชาชน สาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ได้รับการสถาปนาขึ้นใน ค.ศ. 1949 รัฐสังคมนิยมแห่งใหม่นี้ตั้งบนฐานความคิดของมาคส์ เอ็งเงิลส์ เลนิน และสตาลิน[77][78]
นับแต่สตาลินเสียชีวิตจนกระทั่งช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 เกิดความขัดแย้งที่ทวีขึ้นระหว่างประเทศจีนกับสหภาพโซเวียต การล้มล้างอิทธิพลของสตาลินซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยของนีกีตา ครุชชอฟ และนโยบายเดต็องต์ถูกมองว่าเป็นลัทธิแก้ (Revisionism (Marxism)) และมาร์กซิสต์ไม่พอ การประชันหน้ากันทางอุดมการณ์นี้ได้เอ่อล้นกลายเป็นวิกฤตที่กว้างขึ้นในระดับโลกแวดล้อมประเด็นหลักว่าชาติใดที่จะเป็นผู้นำขบวนการสังคมนิยมในนานาชาติ[79]
หลังเหมาเสียชีวิตและเติ้ง เสี่ยวผิง ขึ้นสู่อำนาจ ลัทธิเหมาและลัทธิมากซ์ทางการของประเทศจีนได้รับการสังคายนาใหม่ ตัวแบบใหม่นี้เป็นลัทธิมากซ์-เลนินและลัทธิเหมาในรูปพลวัตในประเทศจีน มักถูกเรียกว่าสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน (socialism with Chinese characteristics) แนวทางใหม่นี้มีศูนย์กลางเป็นหลักการพื้นฐานสี่ประการ (Four Cardinal Principles) ของเติ้งซึ่งพยายามค้ำจุนบทบาทหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและค้ำจุนหลักการว่าประเทศจีนยังอยู่ในระบอบสังคมนิยมระยะต้น (primary stage of socialism) ที่ยังกำลังทำงานเพื่อสร้างสังคมคอมมิวนิสต์บนหลักการลัทธิมากซ์[80][81]
การปฏิวัติคิวบาเมื่อ ค.ศ. 1959 นำมาซึ่งชัยชนะของฝ่ายฟิเดล กัสโตร และขบวนการ 26 กรกฎาคม แม้ว่าจะไม่ได้ระบุเป็นการปฏิวัติสังคมนิยมอย่างชัดแจ้ง[82] ทว่าเมื่อชนะและขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว กัสโตรนำตัวแบบการพัฒนาสังคมนิยมของลัทธิเลนินมาใช้และร่วมเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต[83][84] เช เกบารา นักปฏิวัติมาร์กซิสต์ชาวอาร์เจนตินาหนึ่งในผู้นำของการปฏิวัติครั้งนั้น ต่อมาได้เดินทางไปช่วยเหลือขบวนการปฏิวัติสังคมนิยมในคองโก-กินชาซาและโบลิเวีย โดยในท้ายที่สุดถูกจับและฆ่าโดยหน่วยของ เฟลิกซ์ โรดริเกซ (Felix Rodriguez) เจ้าหน้าที่ซีไอเอชาวคิวบาตามคำสั่งของรัฐบาลโบลิเวีย แม้รัฐบาลสหรัฐมีความต้องการจับเป็นไว้สำหรับการสอบสวนเพิ่มเติม[85] หลังมรณกรรมเขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลก[86][87]
ในสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลลัทธิเหมาได้ดำเนินการปฏิวัติทางวัฒนธรรมตั้งแต่ ค.ศ. 1966 ถึง 1976 เพื่อขจัดล้างสังคมจีนให้สิ้นจากองค์ประกอบของทุนนิยมและเดินหน้าเข้าสู่สังคมนิยม เมื่อเหมา เจ๋อตง เสียชีวิต คู่แข่งของเขาเข้ายึดอำนาจการเมือง และภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง มีการแก้ไขใหม่หรือละทิ้ง (Boluan Fanzheng) นโยบายสมัยการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของเหมาหลายข้อ และการโอนกิจการของรัฐบางส่วนไปเป็นของเอกชน
ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 และช่วงต้น 1990 เกิดการล่มสลายของรัฐสังคมนิยมส่วนใหญ่ซึ่งอ้างอุดมการณ์ลัทธิมากซ์–เลนิน ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 และช่วงต้น 1980 อุดมการณ์ฝ่ายขวาใหม่ (New Right) และทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีสหรัฐโรนัลด์ เรแกน และนายกรัฐมนตรีอังกฤษมาร์กาเรต แทตเชอร์ ได้อุบัติกลายเป็นกระแสอุดมการณ์นำของการเมืองตะวันตกและนำพาให้ชาติตะวันตกมีท่าทีที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นต่อสหภาพโซเวียตและพันธมิตรลัทธิเลนิน ระหว่างนั้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1985 นักปฏิรูปมีฮาอิล กอร์บาชอฟ ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตและพยายามละทิ้งตัวแบบการพัฒนาแบบลัทธิเลนินเพื่อแทนที่ด้วยประชาธิปไตยสังคมนิยม ในท้ายที่สุด การปฏิรูปของกอร์บาชอฟพร้อม ๆ กับประชานิยมชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ (ethnic nationalism) ที่กำลังเติบโตนำมาสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในช่วงปลาย ค.ศ. 1991 กลายเป็นรัฐชาติต่าง ๆ ทั้งหมดละทิ้งตัวแบบสู่สังคมนิยมแบบลัทธิมากซ์-เลนิน และส่วนใหญ่แปรสภาพเป็นเศรษฐกิจทุนนิยม[88]
เมื่อก้าวเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 ประเทศที่เป็นระบอบลัทธิมากซ์-เลนินอย่างเป็นทางการหลงเหลืออยู่เพียงประเทศจีน คิวบา ลาว เกาหลีเหนือ และเวียดนาม[89] แต่ในประเทศเนปาลใน ค.ศ. 2008 รัฐบาลลัทธิเหมาซึ่งนำโดยประจัณฑะได้รับเลือกตั้งหลังจากที่เคยต่อสู้แบบกองโจรเป็นเวลายาวนาน[90]
ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 รัฐบาลสังคมนิยมได้รับเลือกตั้งขึ้นมาในหลายประเทศในแถบลาตินอเมริกา จนกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ "กระแสสีชมพู" ซึ่งนำโดยรัฐบาลเวเนซุเอลาของอูโก ชาเบซ กระแสนี้ประกอบด้วยการได้รับเลือกตั้งของเอโบ โมราเลส ในโบลิเวีย ราฟาเอล กอร์เรอา ในเอกวาดอร์ และดานิเอล ออร์เตกา ในนิการากัว รัฐบาลสังคมนิยมเหล่านี้หลอมรวมพันธมิตรทางการเมืองและเศรษฐกิจผ่านองค์กรระหว่างประเทศอย่างพันธมิตรโบลิบาร์เพื่อประชาชนอเมริกาของเรา (Bolivarian Alliance for the Peoples of Our America) และสร้างพันธมิตรกับประเทศคิวบาที่เป็นลัทธิมากซ์-เลนิน แม้ไม่มีใครสนับสนุนแนวทางลัทธิสตาลินโดยตรง แต่ส่วนใหญ่ยอมรับว่าได้รับอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญจากทฤษฎีลัทธิมากซ์ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาอูโก ชาเบซ ประกาศตนเป็นผู้นิยมลัทธิทรอตสกีระหว่างพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของคณะรัฐมนตรีของเขาเพียงสองวันก่อนพิธีเข้ารับตำแหน่งของเขาเองในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 2007[91] องค์กรลัทธิทรอตสกีในเวเนซุเอลาไม่ได้มองว่าชาเบซเป็นนักลัทธิทรอตสกี และบางส่วนเรียกว่าเขาเป็นพวกชาตินิยมกระฎุมพี[92] ในขณะที่อีกส่วนมองว่าเขาเป็นผู้นำปฏิวัติที่จริงใจ แต่ขาดการวิเคราะห์แนวมาร์กซิสต์จึงกระทำความผิดพลาดอย่างมีนัยสำคัญ[93]
อ้างอิงตามมาร์กซิสต์ชาวอิตาลีจันนี วัตตีโม (Gianni Vattimo) และซันตีอาโก ซาบาลา (Santiago Zabala) ในหนังสือของพวกเขา Hermeneutic Communism (ค.ศ. 2011) "ลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างอ่อนแบบใหม่นี้แตกต่างโดยสำคัญจากรูปปรากฏเดิมแบบโซเวียต (และในปัจจุบันแบบจีน) เพราะประเทศอเมริกาใต้เหล่านี้ดำเนินตามขั้นตอนเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และยังสามารถกระจายอำนาจระบบราชการของรัฐผ่านภารกิจโบลิบาร์ (Bolivarian missions) ได้สำเร็จ โดยรวมแล้ว หากชาติตะวันตกรู้สึกเหมือนว่าลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างอ่อนนี้เป็นวิญญาณหลอกหลอน มันไม่ใช่เพียงเพราะการบิดเบือนของสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ยังเพราะมันเป็นตัวแทนของอีกทางเลือกหนึ่งที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการประชาธิปไตยในแบบเดียวกับที่ชาติตะวันตกคอยประกาศยึดมั่นอยู่ตลอดเวลา แต่กลับลังเลที่จะนำมันมาใช้"[94]
สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้แถลงถึงการเพิ่มความมุ่งมั่นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อความคิดของมาคส์ ที่งานเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปีชาตกาลของมาคส์ สีกล่าว "เราต้องคว้าข้อได้เปรียบ คว้าการริเริ่ม และคว้าอนาคตไว้ เราต้องพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ใช้ลัทธิมากซ์เพื่อวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง"[95] โดยเสริมว่าลัทธิมากซ์นั้นเป็น "อาวุธทางอุดมการณ์ที่ทรงพลังที่ให้เราใช้ทำความเข้าใจโลก รู้ซึ้งในกฎหมาย ขวนขวายหาความจริง และเปลี่ยนแปลงโลก"[96] สีเน้นย้ำเพิ่มถึงความสำคัญของการประเมินและการสานต่อประเพณีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และการยอมรับอดีตของการปฏิวัติของมัน[97][98]
นักปฏิวัติ ผู้นำ และพรรคต่าง ๆ เหล่านั้นมีความเที่ยงตรงต่อชิ้นงานของคาร์ล มากซ์ เท่าใดนั้นเป็นที่ถกเถียงกันอย่างยิ่ง และมาร์กซิสต์กับนักสังคมนิยมหลาย ๆ คนปฏิเสธพวกเขา[99][100] นักสังคมนิยมโดยทั่วไปและนักเขียนสังคมนิยม เช่นดมีตรี วอลคาโกนอฟ (Dimitri Volkogonov) ยอมรับว่าการกระทำของผู้นำสังคมนิยมแบบอำนาจนิยม (authoritarian socialist) ได้ทำลาย "ความน่าดึงดูดใจขั้นมหาศาลของสังคมนิยมที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิวัติเดือนตุลาคม"[101]
ข้อวิจารณ์ลัทธิมากซ์มีมาจากหลากหลายอุดมการณ์ทางการเมืองและสาขาวิชา[102][103] ไม่ว่าจะเป็นข้อวิจารณ์ทั่วไปเกี่ยวกับการขาดความคงเส้นคงวาภายใน ข้อวิจารณ์เกี่ยวกับวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ว่าเป็นนิยัตินิยมประวัติศาสตร์ชนิดหนึ่ง ความจำเป็นที่จะต้องกดทับสิทธิของปัจเจกชน ประเด็กปัญหาในการปฏิบัติใช้ลัทธิคอมมิวนิสต์ และประเด็นทางเศรษฐกิจอาทิการบิดเบือนหรือการขาดหายไปของสัญญาณราคา (price signal) และสิ่งจูงใจที่ลดลง มากกว่านั้นยังมีการระบุถึงปัญหาเชิงญาณวิทยาและเชิงประจักษ์อยู่บ่อยครั้ง[104][105][106]
มาร์กซิสต์บางคนวิจารณ์การทำให้ลัทธิมากซ์กลายเป็นสถาบันทางวิชาการว่าเป็นสิ่งที่ตื้นเขินเกินไปและแยกตัวออกจากการกระทำทางการเมือง อเล็กซ์ คัลลินิคอส (Alex Callinicos) ทรอตสกีอิสต์และนักวิชาการกล่าวว่า: "ผู้ปฏิบัติของมันทำให้นึกถึงนาร์ซิสซัสที่ตกหลุมรักกับเงาสะท้อนของตัวเองในตำนานกรีก ... บางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องสละเวลาเพื่อพัฒนาและทำให้แนวคิดต่าง ๆ ที่เราใช้งานกระจ่างขึ้น แต่แน่นอนว่าสำหรับมาร์กซิสต์ตะวันตกนี่ได้กลายเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง ผลลัพธ์คืองานเขียนก้อนหนึ่งซึ่งไม่มีใครเข้าใจเลยนอกจากชนกลุ่มน้อยนิดของนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูง"[107]
อนึ่ง ข้อวิจารณ์ทางปัญญาบางข้อของลัทธิมากซ์ท้าทายสมมุติฐานบางประการที่แพร่หลายอยู่ในแนวคิดของมาคส์และลัทธิมากซ์ภายหลังยุคของเขาแต่ไม่ได้ปฏิเสธการเมืองแนวมาร์กซิสต์[108] ผู้สนับสนุนร่วมสมัยบางคนของลัทธิมากซ์อ้างว่าหลายแง่มุมของแนวคิดมาร์กซิสต์สามารถนำมาใช้ได้ แต่คลังข้อมูลนั้นไม่สมบูรณ์หรือล้าสมัยไปแล้วในด้านที่เกี่ยวกับบางแง่มุมของทฤษฎีทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม พวกเขาอาจรวมแนวคิดแบบลัทธิมากซ์เข้ากับแนวคิดของนักทฤษฎีคนอื่น ๆ เช่นมัคส์ เวเบอร์ กล่าวคือสำนักแฟรงก์เฟิร์ตเป็นต้น[109][110]
นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา (intellectual history) แลแช็ก กอวากอฟสกี (Leszek Kołakowski) ชี้ว่า "ทฤษฎีของมาคส์ไม่สมบูรณ์และกำกวมในหลายแห่ง และสามารถถูกนำมา 'ใช้' ได้ในหลากหลายวิถีทางที่ขัดแย้งกันโดยไม่ปรากฏว่าเป็นการละเมิดหลักการของมัน" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาถือว่า "กฎแห่งวิภาษวิธี" เป็นสิ่งที่ผิดโดยพื้นฐาน และกล่าาวว่าบางอันเป็น "ข้อความจริงที่ไม่มีเนื้อหาแบบมาร์กซิสต์ที่เจาะจง" และอันอื่น ๆ เป็น "สิทธันต์เชิงปรัชญาที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์" และบางอันก็เป็นเพียง "เรื่องไร้สาระ" เขาเชื่อว่ากฎแนวมาร์กซิสต์บางข้อสามารถตีความได้หลายแบบ แต่การตีความเหล่านี้โดยทั่วไปยังคงตกอยู่ในข้อผิดพลาดข้อใดข้อหนึ่งในสองข้อนั้น[111]
ทฤษฎีบทของโอกิชิโอะ (Okishio's theorem) แสดงให้เห็นว่าหากนายทุนใช้เทคนิคตัดลดต้นทุนและไม่ได้เพิ่มค่าจ้างที่แท้จริง (real wage) อัตรากำไรจะต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งสร้างความเคลือบแคลงในมุมมองของมาคส์ที่กล่าวว่าอัตรากำไรจะมีแนวโน้มที่จะลดลง[112]
ข้อกล่าวหาถึงความไม่คงเส้นคงว่าเป็นส่วนสำคัญในเศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์และข้อถกเถียงเกี่ยวกับมันมีมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970[113] แอนดรูว์ ไคลแมน (Andrew Kliman) อ้างว่าข้อกล่าวหาว่าทฤษฎีมาร์กซิสต์ไม่คงเส้นคงวาภายในทำให้ไม่สามารถปรับแก้ไขความไม่คงเส้นคงวาเหล่านั้นได้ เพราะหากไม่คงเส้นคงวาภายในก็จะต้องผิดไปโดยปริยาย การทำวิจัยเกี่ยวกับมันในปัจจุบันจึงถูกกดทับและปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงทรัพยากรตั้งแต่เริ่ม[114] จอห์น แคสซิดี (John Cassidy (journalist)) กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างข้อกล่าวหาถึงความไม่คงเส้นคงวากับการขาดงานศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีของมาคส์[115]
นักวิจารณ์ลัทธิมากซ์อ้างว่าการคาดการณ์ของมาคส์ผิด บางรายชี้ไปที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของเศรษฐกิจทุนนิยมที่โดยทั่วไปเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจที่อิงตลาดน้อยกว่า การที่เศรษฐกิจทุนนิยมไม่ประสบกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่แย่ลงจนนำไปสู่การล้มล้างระบอบทุนนิยม และที่การปฏิวัติคอมมิวนิสต์ไม่เกิดขึ้นในประเทศเป็นทุนนิยมขั้นสูงแต่เกิดขึ้นในภูมิภาคที่ยังไม่พัฒนาแทน[116][117] นอกจากนี้ยังวิจารณ์โดยกล่าวว่าทำให้มาตรฐานการครองชีพต่ำลงเมื่อเทียบกับประเทศทุนนิยม แต่ข้อกล่าวอ้างนี้เป็นที่พิพาท[118]
นักปรัชญาวิทยาศาสตร์ คาร์ล พอปเปอร์ (Karl Popper) ได้วิจารณ์พลังการอธิบาย (explanatory power) และความสมเหตุสมผล (Validity (logic)) ของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ไว้ในหนังสือของเขา The Poverty of Historicism และ Conjectures and Refutations[119] พอปเปอร์เชื่อว่าลัทธิมากซ์ในตอนแรกเป็นวิทยาศาสตร์ ในนัยที่มาคส์ได้ตั้งสมมติฐานทฤษฎีเชิงคาดการณ์อย่างแท้จริง แต่เมื่อการคาดการณ์นั้นไม่เป็นจริง พอปเปอร์อ้างว่าทฤษฎีนี้หลีกเลี่ยงการพิสูจน์ว่าเป็นเท็จด้วยการเพิ่มสมมุติฐานเฉพาะกิจเข้าไปที่ทำให้มันเข้ากันได้กับข้อเท็จจริง ด้วยเหตุนี้พอปเปอร์กล่าวว่าทฤษฎีซึ่งในตอนแรกเป็นวิทยาศาสตร์จริง ๆ ได้เสื่อมสภาพกลายเป็นสิทธันต์แบบวิทยาศาสตร์เทียม[120]
อนาธิปไตยมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับลัทธิมากซ์ นักอนาธิปัตย์และนักสังคมนิยมแบบอิสรนิยมที่ไม่ได้เป็นมาร์กซิสต์หลายคนปฏิเสธความจำเป็นที่จะต้องมีระยะของรัฐเปลี่ยนผ่าน โดยอ้างว่าการสถาปนาสังคมนิยมขึ้นมาจะทำได้ผ่านองค์กรที่กระจายอำนาจและไม่บีบบังคับเท่านั้น นักอนาธิปัตย์มีฮาอิล บาคูนิน วิจารณ์แนวโน้มอำนาจนิยมของมาคส์[121] "สังคมนิยมค่ายทหาร" หรือ "ลัทธิคอมมิวนิสต์ค่ายทหาร" (barracks communism) เป็นวลีที่มาคส์และเอ็งเงิลส์ใช้เรียกแนวคิดของเซอร์เกย์ เนชาเยฟ (Sergey Nechayev) สมาชิกฝ่ายของบาคูนินในสมาคมกรรมกรสากล (International Workingmen's Association)[122] และได้กลายเป็นชื่อเรียกข้อวิจารณ์แบบนี้ ซึ่งปลุกภาพจำของชีวิตของพลเมืองว่าถูกจัดเป็นกรมเป็นกองเหมือนกับชีวิตของทหารเกณฑ์ในค่ายทหาร[123]
ข้อวิจารณ์อื่น ๆ มาจากจุดยืนด้านเศรษฐศาสตร์ อาทิงานเขียนของวลาดีมีร์ คาร์โปวิช ดมีตรีฟ (Vladimir Karpovich Dmitriev) ใน ค.ศ. 1898[124] งานเขียนของลาดิสเลาส์ บอร์ทคีวิทช์ (Ladislaus Bortkiewicz) ใน ค.ศ. 1906–1907[125][126] และนักวิจารณ์คนอื่น ๆ กล่าวหาว่าทฤษฎีมูลค่า (value theory) ของมาคส์และกฎแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรไม่มีความคงเส้นคงวาภายใน กล่าวคือ นักวิจารณ์เหล่านี้กล่าวว่าข้อสรุปของมาคส์ไม่ได้เป็นไปตามข้อตั้งทางทฤษฎีของเขา เมื่อข้อผิดพลาดที่ถูกกล่าวหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไข ข้อสรุปของเขาว่าราคาและกำไรโดยรวมเท่ากับและถูกกำหนดโดยมูลค่าและมูลค่าส่วนเกินโดยรวมนั้นจะไม่เป็นจริงอีกต่อไป ผลคือทฤษฎีของเขาที่การขูดรีดกรรมกรคนงานเป็นแหล่งของกำไรเพียงแหล่งเดียวถูกตั้งข้อสงสัย[127]
นักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรีย (Austrian School) หลายรุ่นวิเคราะห์วิพากษ์ลัทธิมากซ์และสังคมนิยมในด้านระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ และผลเกี่ยวพันทางการเมือง[128][129] ก็อทฟรีท ฮาเบอร์เลอร์ (Gottfried Haberler) อ้างว่าบทวิจารณ์เศรษฐศาสตร์ของมาคส์ของเบิห์ม-บาแวร์ค (Eugen von Böhm-Bawerk) "ถี่ถ้วนและสร้างความเสียหาย" มากเสียจนแม้กระทั่งทศวรรษ 1960 แล้วก็ยังไม่มีนักวิชาการสำนักมากซ์คนใดที่สามารถหักล้างมันได้อย่างชี้ชัด[130] ลูทวิช ฟ็อน มีเซิส (Ludwig von Mises) จุดไฟการถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาการคำนวณทางเศรษฐกิจ (economic calculation problem) ขึ้นมาใหม่โดยอ้างว่าเมื่อสินค้าทุน (capital good) ขาดสัญญาณราคา ในความคิดของเขาแง่มุมอื่น ๆ ในเศรษฐกิจแบบตลาดจะไร้ซึ่งเหตุผลทั้งสิ้น ทำให้เขาประกาศว่า "กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีเหตุผลเป็นไปไม่ได้ในเครือจักรภพสังคมนิยม"[131]
ดารอน อาเจโมลู (Daron Acemoglu) และเจมส์ เอ. รอบินสัน (James A. Robinson) อ้างว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของมาคส์บกพร่องตั้งแต่พื้นฐานเพราะมันพยายามทำให้เศรษฐกิจง่ายลงกลายเป็นประมวลของกฎทั่วไปไม่กี่ข้อที่เพิกเฉยต่อผลกระทบที่สถาบันต่าง ๆ มีต่อเศรษฐกิจ[132]
ทฤษฎีของลัทธิมากซ์ ได้รับการยึดถือ แปลความ และวิพากษ์วิจารณ์ จากบรรดานักวิชาการ นักการเมือง พรรคการเมือง รัฐบาล องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประชาชนจำนวนมาก และเรียกทฤษฎีสังคมนิยมของมากซ์ว่า ลัทธิมากซ์[133]นับตั้งแต่ทฤษฎีนี้ ได้กำเนิดขึ้นตลอดมา ตราบจนถึงปัจจุบัน จนกล่าวได้ว่าเป็นทฤษฎีที่ได้รับการพูดถึงและอ้างอิงมากที่สุดทฤษฎีหนึ่ง ไม่ว่าจากฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม
นับจากที่ได้กำเนิดขึ้นในกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ได้มีคนนำลัทธิมากซ์ไปใช้เป็นจำนวนมาก คนเหล่านี้ในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1. ลัทธิมากซ์โบราณ (Orthodox Marxism หรือ Old School Marxism) ลัทธิมากซ์โบราณคือกลุ่มนักวิชาการที่ยึดถือทฤษฎีของมากซ์อย่างเคร่งครัด
2. ลัทธิมากซ์ในรัสเซีย : ลัทธิเลนิน (Leninism), ลัทธิสตาลิน (Stalinism) และลัทธิตรอตสกี (Trotskyism)
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
3. ลัทธิเหมา (Maoism)
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
4. มากซ์สายใหม่หรือนีโอมากซิสม์ (Neo-Marxism) มากซ์สายใหม่เป็นสกุลทางความคิดที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยยังยึดโยงทางความคิดเข้ากับความคิดของมากซ์ไว้ โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่าสังคมและวัฒนธรรมมักจะมีความขัดแย้งและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเสมอ ผลของการเปลี่ยนแปลงมักจะเป็นสภาวะใหม่ที่แตกต่างจากภาวะเดิม รวมถึงเชื่อว่าสังคมมนุษย์นั้นมีความไม่เท่าเทียมกัน อำนาจการชี้นำ และครอบงำสังคมยกอยู่ในมือกลุ่มคนส่วนน้อย
ในส่วนที่มากซ์สายใหม่มองต่างไปจากมากซ์โบราณ คือในเรื่องเครื่องมือหรือเงื่อนไขของการครอบงำ ดังนี้
มากซ์สายใหม่ยังแยกย่อยอีกเป็นหลายตระกูล แต่ก็มักเรียกขานแยกต่างหากกันไป อาทิ มากซ์สายใหม่ที่เน้นศึกษาวัฒนธรรมได้แก่นักปรัชญามากซ์สายใหม่ในมหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ทในเยอรมนี ก็จะเรียกขานว่านักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ท หรือนักปรัชญามากซ์สายใหม่ในมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมก็จะเรียกขานว่านักคิดสายเบอร์มิงแฮม เป็นต้น แต่อย่างไรเสียอิทธิพลความคิดของนักทฤษฎีมากซ์สายใหม่นั้นก็สามารถลากโยงไปถึงความคิดของนักการเมืองชาวอิตาลีที่ชื่อว่า อันโตนีโอ กรัมชี
5. ลัทธิมากซ์เชิงโครงสร้าง (the Structural Marxism) หลุยส์ อัลธูแซร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ได้พัฒนาความคิดของมากซ์ และมากซ์สายใหม่ของกรัมชี่ผนวกเข้ากับทฤษฎีสังคมศาสตร์ตระกูลโครงสร้างนิยม โดยมองว่ารัฐนั้นเป็นข้ารับใช้ของระบอบทุนนิยม และชนชั้นนายทุน ชนชั้นนายทุนมีอำนาจสั่งการรัฐโดยตรง อำนาจรัฐกับอำนาจของทุนจึงเป็นสิ่งเดียวกัน จากกระบวนการดังกล่าวรัฐจึงทำหน้าที่ตอบสนองต่อทุน ในการโอบอุ้มช่วยเหลือนายทุนมากกว่าตอบสนอง และโอบอุ้มสังคม รัฐกระทำการดังกล่าวผ่านนโยบายสาธารณะ, กฎหมาย และระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปตามที่นายทุนต้องการ
สำหรับอาลตูว์แซร์อุดมการณ์มีฐานะเป็นโครงสร้างส่วนบนที่มีบทบาทในการกำหนดให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างกับโครงสร้างส่วนล่าง อุดมการณ์จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับปัจเจกบุคคลสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีเอกภาพและต่อเนื่อง จนกลายเป็นเรื่องคุ้นชินเรื่องปกติธรรมดาไป
อาลตูว์แซร์มองว่าอุดมการณ์เป็นเครื่องมือในการสร้าง, สืบสาน และผลิตซ้ำให้กับสังคม อุดมการณ์จึงต้องถูกผลิตซ้ำผ่านการปลูกฝังบ่มเพาะให้กับสมาชิกในสังคม โดยการถูกฝึกฝนให้ยอมรับต่อกฎเกณฑ์ของระบบที่ดำรงอยู่ การผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางการผลิตนี้ถูกกระทำขึ้นอย่างมั่นคงโดยการใช้อำนาจรัฐผ่านกลไกหรือสถาบันซึ่งรวมกันเป็นรัฐ อุดมการณ์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐ โดยรัฐใช้อุดมการณ์เพื่อผลประโยชน์ดังกล่าวสิ่งที่อัลธูแซร์เรียกว่ากลไกของรัฐ (the state apparatus) โดย อาลตูว์แซร์แบ่งออกเป็นสองแบบ คือ
6. สำนักวัฒนธรรมศึกษาเบอร์มิงแฮม (The Birmingham School of The Cultural Studies)
นักทฤษฎีสำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยพยายามที่จะข้ามพ้นวิธีคิดแบบเศรษฐกิจกำหนดวัฒนธรรมในฐานะที่วัฒนธรรมเป็นโครงสร้างส่วนบนแบบลัทธิมากซ์โบราณมาสู่ความเข้าใจวัฒนธรรมในฐานะที่เป็น "การกระทำ" (action) ที่เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งนี้โดยเอามนุษย์เป็นแกนกลางในการศึกษา (human agency) มากกว่าจะศึกษาเพียงแค่สภาวะที่กำหนดพฤติกรรมมนุษย์ (condition) กับผลที่ตามมาจากการถูกกำหนด (outcome) หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือนักทฤษฎีสำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยพยายามเข้าใจการเกิดขึ้นของวัฒนธรรม (the making of culture) ในรายละเอียด มากกว่าศึกษาแค่ว่าอะไรเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรมแต่เพียงเท่านั้น โดยสรุป นักคิดสำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยพยายามที่จะหาส่วนผสมผสานระหว่างแนวคิดว่าวัฒนธรรมนั้นถูกกำหนดโดยพลังในระดับโครงสร้างต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ และวัฒนธรรมนั้นมีอิสระโดยตัวเอง ซึ่งการผสมผสานดังกล่าวนั้นสำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยได้รับแรงบันดาลใจจากงานของกรัมชี่[136]
งานเขียนของสำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยศึกษานั้นเน้นการศึกษาชีวิตจริงของผู้คนในแง่มุมต่าง ๆ อาทิ เรื่องการศึกษา เรื่องวัฒนธรรมวัยรุ่น เรื่องสื่อมวลชน อาทิ โฆษณา และโทรทัศน์ ดังนั้น หัวใจสำคัญของการศึกษาของสำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยนั้นจึงอยู่ที่การประกาศจุดยืนทางอุดมการณ์ของตัวเองอย่างชัดเจนในเบื้องแรกว่า ยึดถือและศรัทธาในงานของมากซ์ แต่ก็เสนอว่าที่ผ่านมานั้นยังไม่มีทฤษฎีในเรื่องของอุดมการณ์ที่เป็นที่พอใจและหนทางที่จะได้ทฤษฎีอุดมการณ์ที่น่าพอใจนั้นก็คือการผสมผสานการถกเถียงทางทฤษฎีเข้ากับการศึกษากรณีรูปธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในการทำการค้นหา "ความสัมพันธ์ที่แท้จริง (real relations)" กับ "รูปแบบที่ปรากฏออกมา (phenomenal form)" ซึ่งในหลายกรณีนั้นรูปแบบที่ปรากฏออกมานั้นก็ทำให้เราลุ่มหลงอยู่กับมัน และเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นจริงแท้
สำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยศึกษานั้นจึงเสนอว่า การศึกษาเรื่องอุดมการณ์นั้นเป็นส่วนสำคัญในการศึกษา "วัฒนธรรม" โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่าง ความคิดต่าง ๆ สถาบันต่าง ๆ และบริบททางสังคม ทฤษฎีของสำนักวัฒนธรรมร่วมสมัยศึกษามีอิทธิพลในการศึกษาเรื่องของการสื่อสารและสื่อมวลชนกับมิติทางการเมืองโดยเฉพาะในอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมา โดยเฉพาะงานเขียนของสจวร์ต ฮอลล์ นักสังคมวิทยาชาวสหราชอาณาจักรที่มีอิทธิพลอย่างสูงอยู่ในวงวิชาการในศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มหาวิทยาลัย เบอร์มิงแฮม (Center of Contemporary Cultural Studies ; CCCS) หรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า "ตระกูลนักคิดสายเบอร์มิงแฮม (the Birmingham school)" โดยฮอลล์ เสนอว่า คำว่าอุดมการณ์นั้นไม่เคยเป็นคำที่มีความเป็นกลางทางการเมือง และแม้จะมีการให้ความหมายว่า อุดมการณ์คือ "ชุดของความคิดที่มีความเป็นระบบ" แต่วิธีการอธิบายเช่นนี้ก็มีลักษณะที่เน้นการพรรณาความ มากกว่าการวิเคราะห์ ดังนั้น แม้ว่าคำว่าอุดมการณ์ทางการเมืองจะมีความเกี่ยวข้องกับคำว่า "ความคิด" แต่ในขณะเดียวกันความคิดนั้นไม่ใช่ตัวอุดมการณ์ทั้งหมด อุดมการณ์จึงมีการซ่อนแอบความหมายอยู่ด้วย และเป็นหน้าที่ของนักวัฒนธรรมร่วมสมัยศึกษาที่จะต้องค้นหาให้ได้ว่าอะไรคือรากฐานหรือธรรมชาติของการบังคับหรือเป็นที่มาของการที่บางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องของความคิดซึ่งเข้ามากำหนดส่วนที่เป็นความคิด[137]
นักคิดสายเบอร์มิงแฮมใช้รากฐานทางทฤษฎีของฮอลล์มาใช้เชิงวิพากษ์วัฒนธรรมผ่านการวิเคราะห์ การตีความ การวิจารณ์นวัตกรรมทางวัฒนธรรม โดยรวมแล้วนักคิดสายเบอร์มิงแฮมมองว่าวัฒนธรรมเป็นรากฐานของการแปรรูปทางสังคม (social reformation) โดยสังคมมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นลำดับชั้น และเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกัน ทั้งในเรื่องชนชั้น ความเป็นเพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และความเป็นชาติ นักคิดสายเบอร์มิงแฮมจึงมุ่งศึกษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจของพลังที่ครอบงำ และการต่อต้านในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รวมถึงปฏิเสธ การจัดระบบแบบลำดับชั้นสูงต่ำ (hierarchical stratification) ของวัฒนธรรม นักคิดสายเบอร์มิงแฮมจะเชื่อว่าวัฒนธรรมนั้นต่างมีความสำคัญต่อกันในระดับระนาบ (horizontal) ผู้รับสื่อเป็นผู้กระทำ (active audience) เพราะเป็นผู้สร้างความหมายต่าง ๆ และยังผลิตซ้ำวัฒนธรรมดังกล่าวด้วย นักคิดสายเบอร์มิงแฮมจะพุ่งประเด็นศึกษาว่าผู้รับสื่อตีความและแปรความหมายวัฒนธรรมที่ได้รับจากสื่ออย่างไร รวมถึงวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้รับสารตอบสนองต่อสื่อแตกต่างกันไป
ในช่วงทศวรรษที่ 1970 นักคิดสายเบอร์มิงแฮมเริ่มให้ความสนใจกับวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มวัยรุ่น เพื่อต่อต้านการครอบงำของระบบทุนนิยมในรูปแบบต่าง ๆ วัฒนธรรมวัยรุ่นจึงถูกมองในฐานะรูปแบบวัฒนธรรมใหม่ที่เป็นผลสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์, ความแตกต่างหลากหลาย, การครอบงำทางวัฒนธรรม ฯลฯ ผ่าน การแต่งกาย แฟชั่น พฤติกรรม และอุดมการณ์ทางการเมือง และที่สำคัญการเกิดขึ้นของ "วัฒนธรรมย่อย (sub culture)" ที่ต่อต้านรูปแบบวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่ครอบงำนั้นเกิดขึ้น หรือสามารถถูกเข้าใจได้อย่างไร[138]
7. สำนักคิดแฟรงก์เฟิร์ต (The Frankfürt School)
เป็นกลุ่มนักวิชาการในสถาบันวิจัยทางสังคมแห่งมหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ต (Institution of Social Research, Johann Wolfgang von Goethe-University of Frankfurt) โดยการนำของมักซ์ ฮอคไฮม์เมอร์, ธีโอดอร์ อดอร์โน, , เฮอร์เบิร์ท มาคูเซอ และวอลเตอร์ เบนญามิน ที่เริ่มมีการศึกษาเชิงวิพากษ์ (critical theory) ในประเด็นทางวัฒนธรรมอาทิ เศรษฐศาสตร์การเมืองของสื่อ, การวิเคราะห์วัฒนธรรม, การวิเคราะห์การรับสารในทางอุดมการณ์ เป็นต้น นักวิชาการกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นที่รู้จักในนามนักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ท (The Frankfürt School) ซึ่งก็คือชื่อสถาบันที่นักวิชาการกลุ่มนี้สังกัดนั่นเอง
นักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ทจะปฏิเสธทฤษฎีลัทธิมากซ์ในส่วนที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยวิพาก์ว่าให้ความสำคัญต่อส่วนนี้มากเกินไปจนละเลยมิติอื่นไปเสียหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรม นักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ทจึงให้ความสำคัญกับมิติด้านวัฒนธรรม ความคิด จิตสำนึก และอุดมการณ์ ประเด็นที่นักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ทให้ความสนใจคือการที่สื่อทำให้ "วัฒนธรรม" แปรสภาพมาเป็น "สินค้า" หรือในภาษาของนักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ททำให้ทุกอย่างกลายเป็น "วัฒนธรรมสำหรับคนหมู่มาก (mass culture) กล่าวคือมีการผลิตวัฒนธรรมเพื่อกำไร ซึ่งนักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ทเห็นว่าเป็นการทำลายคุณค่าทางวัฒนธรรม ดังนั้นสำหรับนักคิดสายแฟรงก์เฟิร์ทวัฒนธรรมจึงไม่มีวัฒนธรรมชั้นสูง (hi-culture) หรือวัฒนธรรมชั้นล่าง (lo-culture) คงมีแต่เพียงวัฒนธรรมสำหรับคนหมู่มากที่ต่างถูกผลิตมาเพื่อตอบสนองความต้องการขายวัฒนธรรมในฐานะของสินค้า ที่คุณค่านั้นได้ถูกทำลายลงไปแล้วทั้งหมดเท่านั้น[139]
8. แนวคิดหลังลัทธิมากซ์ (Post-Marxism)
แนวคิดลัทธิมากซ์ แบบหลังโครงสร้างนิยม (Poststructuralist Marxism) หรือ ลัทธิมากซ์หลังสมัยใหม่ (Postmodern Marxism) หรือเรียกสั้น ๆ ว่าหลังลัทธิมากซ์ (Post-Marxism) เป็นแนวคิดที่วางฐานอยู่บนการวิพากษ์แนวคิดลัทธิมากซ์เชิงโครงสร้างของอาลตูว์แซร์ และใช้ฐานคิดบางส่วนจากแนวคิดของมีแชล ฟูโก ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างแนวคิดหลังลัทธิมากซ์กับลัทธิมากซ์อื่น ๆ คือ แต่เดิมนั้นลัทธิมากซ์จะมองการต่อสู้ทางชนชั้นโดยวางฐานอยู่บนแนวคิดเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่แนวคิดหลังลัทธิมากซ์จะปฏิเสธมุมมองดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นมุมมองที่มีความคับแคบ แนวคิดหลังลัทธิมากซ์จะมองว่าการกดขี่ทางชนชั้นนั้นสามารถกล่าวรวมไปถึงเรื่องเพศ ชาติพันธุ์วรรณา เชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ[140] อย่างไรก็ดีก็มีการกล่าววิจารณ์ว่าแม้แนวคิดหลังมาร์ซิสม์จะพยายามกล่าวว่าตนเองนั้นหันหลังให้กับลัทธิมากซ์ก็ตาม อย่างไรก็ดีนักคิดตระกูลนี้เองก็ยังหลงใหลในแนวทางการวิเคราะห์สังคมและการเมืองแบบมากซ์อยู่อย่างมากเช่นกัน[141]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.