Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์ เป็นสำนักความคิดเศรษฐกิจการเมืองลัทธิอื่น รากฐานของสำนักดังกล่าวสืบย้อนไปได้ถึงการวิพากษ์เศรษฐกิจการเมืองคลาสสิกในงานวิจัยของคาร์ล มาคส์และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ เศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์ประกอบด้วยทฤษฎีต่าง ๆ จำนวนมาก และในหลายกรณีใช้การวิเคราะห์แบบมาคส์เพื่อประกอบหรือส่งเสริมแนวเข้าสู่การศึกษาแนวอื่น ทั้งนี้พึงทราบว่าบุคคลไม่จำเป็นต้องเป็นนักลัทธิมาคส์ในทางการเมืองจึงจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์ สองคำนี้จึงไม่ใช่คำไวพจน์
เศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์ให้ความสนใจกับการวิเคราะห์วิกฤตในทุนนิยม บทบาทและการกระจายของผลผลิตส่วนเกินและมูลค่าส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ สภาพและจุดกำเนิดของมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผลกระทบของชนชั้นและการต่อสู้ของชนชั้นในเรื่องกระบวนการทางเศรษฐกิจและการเมือง และกระบวนการวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจ
เศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงวิชาการ มีความแตกต่างจากอุดมการณ์การเมืองลัทธิมาคส์ ตลดจนแง่มุมเชิงบรรทัดฐานของความคิดแบบลัทธิมาคส์ โดยมีมุมมองว่าแนวเข้าสู่การศึกษาดั้งเดิมของมาคส์ในการทำความเข้าใจเศรษฐศาสตร์และการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเอกเทศเชิงภูมิปัญญาจากการสนับสนุนสังคมนิยมปฏิวัติของมาคส์[1][2] นักเศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์มิได้ยึดถืองานของมาคส์และนักลัทธิมาคส์ที่มีชื่อเสียงอื่นเท่านั้น แต่ยังยกมาจากแหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่นักลัทธิมาคส์อื่นด้วย[3]
แม้ว่าสำนักมาคส์ถือว่าเป็นลัทธิอื่น แต่ความคิดที่มาจากเศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์มีส่วนช่วยให้เกิดความเข้าใจกระแสหลักของเศรษฐกิจโลก มโนทัศน์บางอย่างพัฒนาขึ้นในเศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการสะสมทุนและวงจรเศรษฐกิจ ซึ่งเหมาะสมสำหรับใช้ในระบบทุนนิยม (เช่น ความคิดเรื่องการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ของโจเซฟ ชุมเปเตอร์)
เศรษฐศาสตร์ของมาคส์มีจุดตั้งต้นมาจากนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคของเขา ได้แก่ นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกชาวบริติช อดัม สมิธ, ทอมัส โรเบิร์ต มาลธัส และ เดวิด ริคาร์โด
ใน ความมั่งคั่งของประชาชาติ (ค.ศ. 1776) สมิธให้เหตุผลว่าลักษณะสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจแบบตลาดคืออนุญาตให้ความสามารถการผลิตเติบโตได้อย่างรวดเร็ว สมิธอ้างว่าตลาดที่กำลังเติบโตกระตุ้นให้เกิด "การแบ่งงานกันทำ" มากขึ้น (เช่น ธุรกิจ และ/หรือคนงานที่ทำหน้าที่เฉพาะ) และส่งผลให้เกิดผลิตภาพมากขึ้นตามลำดับ แม้ว่าโดยทั่วไปสมิธจะกล่าวถึงแรงงานเพียงเล็กน้อย แต่เขาก็สังเกตว่าการแบ่งงานกันทำเมื่อถึงจุดหนึ่งจะเป็นผลเสียต่อผู้ที่มีงานแคบลงเรื่อย ๆ เมื่อมีการแบ่งงานกันทำมากขึ้น สมิธยังยืนยันว่าเศรษฐกิจแบบปล่อยให้ทำไปจะแก้ไขมันเองได้ตามเวลา
มาร์กซ์เห็นด้วยกับสมิธโดยอ้างว่าผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ที่สำคัญของทุนนิยมคือการเติบโตของความสามารถผลิตภาพอย่างรวดเร็ว มาคส์ยังขยายความอย่างมากในความคิดว่ากรรมกรอาจได้รับโทษเมื่อทุนนิยมมีผลิตภาพมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น มาคส์ตั้งข้อสังเกตใน ทฤษฎีมูลค่าส่วนเกิน ว่า "เราเห็นความก้าวหน้ายิ่งใหญ่ที่อดัม สมิธกระทำเกินกว่าพวกฟิซิโอแครตในการวิเคราะห์มูลค่าส่วนเกินและทุน ในทัศนะของพวกเขา มีกรรมกรรูปธรรมประเภทเดียว—กรรมกรกสิกรรม—ที่สร้างมูลค่าส่วนเกิน ... แต่สำหรับอดัม สมิธ เป็นกรรมกรสังคมทั่วไป — ไม่ว่ามูลค่าการใช้งานสำแดงออกมาแบบใด — เฉพาะปริมาณของกรรมกรที่จำเป็นซึ่งก่อให้เกิดมูลค่า มูลค่าส่วนเกิน ไม่ว่าในรูปกำไร ค่าเช่า และดอกเบี้ยแบบทุติยภูมิ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานนี้ ซึ่งเจ้าของสภาพวัตถุของแรงงานโดยแลกเปลี่ยนกับกรรมกรมีชีวิต"
มาลธัสอ้างใน เรียงความเรื่องหลักการประชากร (ค.ศ. 1798) ว่าการเติบโตของประชากรเป็นสาเหตุหลักของค่าจ้างระดับยังชีพได้สำหรับแรงงานนั้นกระตุ้นให้มาคส์พัฒนาทฤษฎีการตัดสินค่าจ้างใหม่ ในขณะที่มาลธัสนำเสนอทฤษฎีการเติบโตของประชากรในอดีต มาคส์เสนอทฤษฎีประชากรที่เกินโดยสัมพัทธ์ในทุนนิยมมีแนวโน้มผลักดันค่าจ้างให้ไปสู่ระดับยังชีพได้ มาคส์มองว่าประชากรที่เกินโดยสัมพัทธ์นี้มาจากสาเหตุทางเศรษฐกิจ มิใช่สาเหตุทางชีววิทยา (ตามทฤษฎีของมาลธัส) ทฤษฎีประชากรส่วนเกินแบบเศรรษฐศาสตร์นี้มักได้ชื่อว่าเป็นทฤษฎีกรรมกรทัพหนุน (reserve army of labour) ของมาคส์
ริคาร์โดพัฒนาทฤษฎีการกระจายภายในระบบทุนนิยม นั่นคือทฤษฎีว่าผลผลิตของสังคมมีการกระจายไปยังชนชั้นในสังคมอย่างไร ทฤษฎีนี้แบบสมบูรณ์ที่สุดมีการนำเสนอใน ว่าด้วยหลักการเศรษฐกิจการเมืองและการเก็บภาษีอากร (ค.ศ. 1817) ตั้งอยู่บนทฤษฎีมูลค่าแรงงาน ซึ่งกล่าวว่า มูลค่าของวัตถุทุกชิ้นที่ผลิตขึ้นเท่ากับแรงงานที่ใส่ลงไปในวัตถุ และสมิธเองก็นำเสนอทฤษฎีมูลค่าแรงงาน แต่มีความเข้าใจอย่างไม่สมบูรณ์ สิ่งที่มีความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งในทฤษฎีเศรษฐกิจของริคาร์โดคือกำไรเป็นการหักลบจากผลผลิตของสังคม และค่าจ้างและกำไรมีความสัมพันธ์แบบผกผัน คือ กำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากการลดค่าจ้าง มาคส์ยึดการวิเคราะห์เศรษฐกิจรูปนัยอย่างมากที่พบใน ทุน จากทฤษฎีของริคาร์โด
มาคส์ยังวิจารณ์ลักษณะสองประการของ "เศรษฐกิจกระฎุมพี" ซึ่งเขามองว่าเป็นปัจัจยหลักที่ขัดขวางการตระหนักอย่างสมบูรณ์ของอำนาจการผลิตของสังคม คือ การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และการดำเนินการเศรษฐกิจที่อ้างว่าไม่มีเหตุผล ซึ่งนำไปสู่ "การก่อความวุ่นวาย" และส่วนเกิน[4]
มาคส์ใช้ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน ซึ่งมองว่ามูลค่าของโภคภัณฑ์หนึ่ง ๆ เป็นเวลาทำงานอันจำเป็นทางสังคม (socially-necessary labour-time) ที่ลงทุนในโภคภัณฑ์นั้น ในแบบจำลองนี้ นักทุนนิยมไม่ได้จ่ายกรรมกรเต็มมูลค่าของโภคภัณฑ์ที่พวกเขาผลิต กลับตอบแทนกรรมกรสำหรับแรงงานที่จำเป็นเท่านั้น (คือ ค่าจ้างแรงงาน ซึ่งครอบคลุมเฉพาะวิถีการยังชีพที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อรักษาให้เขาทำงานต่อไปในปัจจุบัน และกลุ่มครอบครัวของเขาทำงานต่อไปในอนาคต) แรงงงานที่จำเป็นเป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวของวันทำงานเต็มวัน นักทุนนิยมเก็บส่วนที่เหลือเพื่อให้ตนเอง เรียก "แรงงานส่วนเกิน"
มาคส์ตั้งทฤษฎีว่าช่องว่างระหว่างมูลค่าที่กรรมกรผลิตกับค่าจ้างที่ได้รับเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง เรียกว่า มูลค่าส่วนเกิน ยิ่งไปกว่านั้นมาคส์ให้เหตุผลว่าตลาดมีแนวโน้มบดบังความสัมพันธ์ทางสังคมและกระบวนการผลิต ซึ่งเขาเรียกว่า การเกิดอารมณ์เพศจากโภคภัณฑ์ (commodity fetishism) บุคคลล้วนตระหนักดีถึงโภคภัณฑ์ แต่ปกติไม่คิดถึงความสัมพันธ์และแรงงานที่โภคภัณฑ์นั้นเป็นตัวแทน
การวิเคราะห์ของมาก์นำไปสู่การพิจารณาวิกฤตเศรษฐกิจ รอเบิร์ต ไฮบรอนเนอร์เขียนว่า "ความโน้มเอียงต่อวิกฤต—สิ่งที่เราจะเรียก วงจธุรกิจ—ไม่มีการรับรองว่าเป็นลักษณะติดตัวของทุนนิยมโดยนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นในเวลาของมาคส์ แม้ว่าเหตุการณ์ในอนาคตระบุชัดเจนถึงพยากรณ์เศรษฐกิจบูมและตกต่ำต่อมา"[5] ทฤษฎีวงจรเศรษฐกิจของมาคส์มีการก่อเป็นรูปร่างโดยริชาร์ด กูดวินใน "วงจรการเติบโต" (ค.ศ. 1967)[6]
ในการระงับการขัดแย้งแบบกระฎุมพีระหว่างเจ้าของปัจจัยการผลิตและ "การกระทำทางสังคม" ของการผลิตเอง มาคส์เสนอให้สังคมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เพื่อขจัด "การก่อความวุ่นวาย" ของเศรษฐกิจทุนนิยม มาคส์ยังตั้มูลบท "การจัดการอย่างมีเหตุผล" ของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเปลี่ยนกำลังตลาด "โกลาหล" ที่ขับเคลื่อนโดย "ผลรวมของความนิยมปัจเจก"[4]
มาร์กซ์ใช้วิภาษวิธีซึ่งเขารับมาจากงานของเกออร์ค วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกล วิภาษวิธีให้ความสนใจกับความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลง และพยายามเลี่ยงการมองเอกภาพว่าประกอบด้วยวัตถุแยกจากกัน แต่ละวัตถุมีคุณลักษณะไม่อยู่นิ่งเสถียรโดยสภาพ องค์ประกอบหนึ่งของวิภาษวิธีคือภาวะนามธรรม; จากมวลข้อมูลหรือระบบที่ไม่มีการแยกแยะทซึ่งเข้าใจเกี่ยวกับทั้งหมดของอินทรีย์ บุคคลคิดหรือเรียกเป็นส่วน ๆ บุคคลยังอาจใช้วิธีเดียวกันกับความสัมพันธ์และกระบวนการเปลี่ยนแปลงด้วย การสร้างภาวะนามธรรมอาจเป็นแบบกว้างหรือแคบก็ได้ อาจสนใจนัยทั่วไปหรือนัยจำเพาะ และอาจประกอบขึ้นจากมุมมองต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การซื้อขายอาจคิดในเชิงทฤษฎีจากมุมมองของผู้ซื้อหรือผู้ขาย และอาจคิดในเชิงทฤษฎีการซื้อขายอย่างใดอย่างหนึ่งหรือการขายโดยรวม อีกองค์ประกอบหนึ่งคือการนิรนัยเชิงวิภาษวิธีของหมวดหมู่ มาคส์ใช้ความคิดของเฮเกล ซึ่งเป็นแบบ (form) สำหรับเศรษฐศาสตร์ เช่น แบบโภคภัณฑ์ แบบเงิน ฯลฯ จำเป็นต้องนิรนัยอย่างเป็นระบบแทนการถูกบีบกุมในทางออกไปข้างนอกอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์กระฎุมพีทำ ทั้งนี้สอดคล้องกับบทวิพากษ์ปรัชญาอุตรวิสัยแบบคานต์ของเฮเกล[7]
มาร์กซ์มองว่าประวัติศาสตร์ได้ผ่านมาหลายขั้นตอน รายละเอียดของการแบ่งยุคไม่ตรงกันอยู่บ้างในงานต่าง ๆ ของเขา แต่หลัก ๆ เป็นดังนี้ คอมมิวนิสต์ดึกดำบรรพ์ – สังคมทาส – ระบบเจ้าขุนมูลนาย – ทุนนิยม – สังคมนิยม – คอมมิวนิสต์ (โดยทุนนิยมเป็นขั้นปัจจุบัน และคอมมิวนิสต์เป็นอนาคต) มาคส์ใช้ความพยายามส่วนใหญ่กับการอธิบายทุนนิยม นักประวัติศาสตร์วางจุดเริ่มต้นของทุนนิยมไว้ระหว่าง ค.ศ. 1450 (ซอมบาร์ต) และระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 (ฮอบสบอร์น)[8]
มาคส์นิยามโภคภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ของแรงงานมนุษย์ซึ่งผลิตสำหรับขายในตลาด และผลิตภัณฑ์หลายอย่างของแรงงานมนุษย์เป็นโภคภัณฑ์ มาคส์เริ่มต้นหนังสือ ทุน ด้วยการอภิปรายโภคภัณฑ์
มูลค่าของโภคภัณฑ์สามารถรับรู้ได้สองวิธีซึ่งมาคส์เรียกว่า มูลค่าการใช้สอย (use-value) และมูลค่า (value) มูลค่าการใช้สอยของโภคภัณฑ์คือประโยชน์สำหรับการบรรลุความมุ่งหมายในทางปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น มูลค่าการใช้สอยของอาหารคือให้สารอาหารและให้รสชาติเพลิดเพลิน มูลค่าใช้สอยของค้อน คือใช้งัดตะปู
ในทางกลับกัน มูลค่าเป็นการวัดคุณค่าของโภคภัณฑ์โดยเปรียบเทียบกับโภคภัณฑ์อื่น ความหมายนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมูลค่าแลกเปลี่ยน สัดส่วนที่โภคภัณฑ์ควรมีการแลกเปลี่ยน แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว คือมูลค่ามีระดับการคิดเชิงทฤษฎีโดยทั่วไปกว่า ส่วนมูลค่าแลกเปลี่ยนเป็นควมตระหนักหรือรูปหนึ่งของมูลค่า
มาคส์ให้เหตุผลว่าหากมูลค่าเป็นคุณสมบัติร่วมของโภคภัณฑ์ทุกชนิดแล้ว เมื่อว่ามันจะมาจากสิ่งใด อะไรเป็นตัวกำหนด จะต้องเป็นสิ่งเดียวกันสำหรับโภคภัณฑ์ทุกอย่าง สิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างเดียวในมุมมองของมาคส์คือ โภคภัณฑ์ทุกชนิดเกิดจากแรงงานมนุษย์ คือผลิตจากแรงงานมนุษย์
มาคส์สรุปว่ามูลค่าของโภคภัณฑ์เป็นเพียงปริมาณของแรงงานมนุษย์ที่จำเป็นในการผลิต ฉะนั้นมาคส์จึงรับทฤษฎีมูลค่าแรงงาน เช่นเดียวกับริคาร์โโและแม็กคัลล็อกก่อนหน้านี้ มาคส์สืบย้อนการมีอยู่ของทฤษฎีอย่างน้อยไปไกลถึงงานนิรนาม ความคิดบางตอนเกี่ยวกับดอกเบี้ยของเงินโดยรวม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Publick Funds, &c ตีพิมพ์ในกรุงลอนดอนประมาณ ค.ศ. 1739 หรือ 1740[9]
มาคส์วางข้อจำกัดบางประการต่อความสมเหตุสมผลของทฤษฎีมูลค่าของเขา เขากล่าวว่าในการทำให้ทฤษฎีเป็นจริงได้ โภคภัณฑ์จะต้องไม่ใช่สินค้าไร้ประโยชน์ และไม่ใช่ว่าปริมาณแ้จริงของแรงงานที่ใส่ลงไปในการผลิตโภคภัณฑ์ปัจเจกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นตัวตัดสินมูลค่าของมัน แต่เป็นปริมาณแรงงานที่คนงานที่มีพลังงานและความสามารถโดยเฉลี่ยทำงานด้วยความเข้มปานกลาง โดยใช้เทคนิคที่ใช้กันแพร่หลายในเวลานั้น จำเป็นต้องผลิต ถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการของกฎคือ มูลค่าของโภคภัณฑ์เท่ากับค่าเฉลี่ยของเวลาทำงานอันจำเป็นทางสังคมที่จำเป็นสำหรับการผลิต
ข้อโต้เถียงของมาคส์มีว่าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มแลกเปลี่ยนที่มูลค่า ณ ระดับความคิดเชิงทฤษฎีค่อนข้างทั่วไป นั่นคือ หากโภคภัณฑ์ A มีมูลค่า V แลกเปลี่ยนกับโภคภัณฑ์ B จะมีแนวโน้มในการถือว่าโภคภัณฑ์ B มีมูลค่า V ด้วยเช่นกัน แต่บางพฤติการณ์จะแตกต่างไปจากกฎนี้
มาคส์ถือว่าเงินโลหะ เช่น ทองคำ เป็นโภคภัณฑ์ และมูลค่าของมันคือเวลาทำงานที่จำเป็นสำหรับการผลิต (ขุดเหมือง หลอมโลหะ ฯลฯ) มาคส์ให้เหตุผลว่าทองคำและเงินใช้เป็นเงินมาแต่เดิมเพราะเป็นตัวแทนของแรงงานปริมาณสูงในรูปขนาดเล็ก ทนทานและสะดวก เงินกระดาษในแบบจำลองนี้จึงแทบไม่มีมูลค่าในตัวมันเอง แต่ให้หมุนเวียนในระบบด้วยกฤษฎีกาของรัฐ
มาคส์แสดงรายการปัจจัยพื้นฐานของการผลิตไว้ดังนี้
วัตถุแห่งแรงงานบางอย่างหาได้จากธรรมชาติโดยตรง ได้แก่ ปลาที่ยังไม่มีคนจับ ถ่านหินที่ยังไม่มีคนขุดขึ้นมา เป็นต้น วัตถุอื่นเป็นผลลัพธ์ของการผลิตขั้นก่อนหน้า เรียก วัตถุดิบ เช่น แป้งหรือด้ายไหมพรม โรงช่าง คลองและถนนถือว่าเป็นเครื่องมือแรงงาน วัตถุแรงงานและเครื่องมือแรงงานรวมกันเรียก ปัจจัยการผลิต ความสัมพันธ์ของการผลิตเป็นความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกันในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต ในทุนนิยม แรงงานสินจ้างและทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์การผลิต
โดยที่ | คือมูลค่าของผลิตภัณฑ์ | ||
คือมูลค่าของปัจจัยการผลิต | |||
คือเวลาทำงาน |
มาคส์ระบุว่าปริมาณผลิตภัณฑ์แท้จริง (คือมูลค่าใช้สอย) ซึ่งกรรมกรทั่วไปผลิตขึ้นมาในเวลาหนึ่ง ๆ นั้นเป็นผลิตภาพของกรรมกร ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายใต้ระบบทุนนิยม ทั้งนี้เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของขนาดบรรษัท การแบ่งงานกันทำ และการใช้เครื่องจักร ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทันทีคือมูลค่าของสินค้ามีแนวโน้มลดลง เพราะเวลาทำงานที่จำเป็นของการผลิตลดลง
ในช่วงเวลาหนึ่ง กรรมกรผลิตสินค้ามากขึ้น แต่สินค้าหนึ่งชิ้นมีมูลค่าลดลง มูลค่ารวมที่สร้างขึ้นต่อเวลายังมีเท่าเดิม หมายความว่า วิถีการยังชีพถูกลง ฉะนั้นมูลค่าอำนาจแรงงานหรือเวลาทำงานที่จำเป็นลดลง หากความยาววันทำงานยังเท่าเดิม จะทำให้มีเวลาทำงานส่วนเกินและอัตรามูลค่าส่วนเกินเพิ่มขึ้น
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณทุนที่จำเป็นต่อการเริ่มต้นธุรกิจ และมีแนวโน้มลงเอยให้น้ำหนักกับรายจ่ายเพื่อปัจจัยการผลิต (ทุนคงที่) มากกว่าแรงงาน (ทุนแปรผัน) มาคส์เรียกสัดส่วนระหว่างทุนคงที่ต่อทุนแปรผันว่า องค์ประกอบของทุน
เศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์มีผู้อื่นต่อเติมเริ่มตั้งแต่เวลาที่มาคส์เสียชีวิต หนังสือ ทุน เล่มสองและสามมีการแก้ไขโดยเพื่อนสนิทของเขา เอ็งเงิลส์ ตามบันทึกของมาคส์ หนังสือ ทฤษฎีมูลค่าส่วนเกิน ถูกแก้ไขโดย คาร์ล เคาท์สกี ทฤษฎีมูลค่าแบบมาคส์และทฤษฎีบทเปอร์รอน-โฟรบีเนียสว่าด้วยเวกเตอร์ลักษณะเฉพาะเชิงบวกของเมตริกซ์เชิงบวก[10] เป็นพื้นฐานของการคำนวณคณิตศาสตร์ของเศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์ ความสัมพันธ์ระหว่างการขูดรีด (แรงงานส่วนเกิน) และกำไรมีการสร้างแบบจำลองที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น[11]
วารสารภาษาอังกฤษ ได้แก่ Capital & Class, Historical Materialism, Monthly Review, Rethinking Marxism, Review of Radical Political Economics และ Studies in Political Economy
ข้อวิจารณ์เศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์คลาสสิกมาจากนักเศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์ซึ่งทบทวนทฤษฎีดั้งเดิมของมาคส์ หรือโดยสำนักคิดออสเตรีย วี. เค. ดมิทรีเอฟ เขียนในปี 1898,[12] ลาดิสเลาส์ ฟอน บอร์ทไควิกซ์ เขียนในปี 1906–07[13] และนักวิจารณ์ต่อ ๆ มาอ้างว่าทฤษฎีมูลค่าแรงงานของมาคส์และกฎแนวโน้มอัตรากำไรลดลงของมาคส์ขัดแย้งภายในกันเอง กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า นักวิจารณ์อ้างว่ามาคส์ดึงข้อสรุปที่ไม่ได้สอดคล้องกับข้อตั้งต้นทางทฤษฎีของตนเอง เมื่อมีการแก้ไขข้อผิดพลาดตามอ้างดังกล่าวแล้ว ข้อสรุปของเขาที่ว่าราคาและกำไรรวมถูกตัดสินจาก และเท่ากับมูลค่าและมูลค่าส่วนเกินรวมจะไม่เป็นความจริง ผลลัพธ์ดังกล่าวทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงทฤษฎีของเขาที่ว่าการขูดรีดแรงงานเป็นบ่อเกิดแห่งกำไรเพียงแหล่งเดียว[14]
การทำนายของมาคส์ว่าอัตรากำไรในระบบทุนนิยมมีแนวโน้มลดลงจริงหรือไม่นั้นยังเป็นหัวข้อถกเถียงกันอยู่ N. Okishio ในปี 1961 ปรับแก้ทฤษฎีบทแสดงว่าถ้านักทุนนิยมมุ่งใช้เทคนิคตัดราคา และค่าจ้างแท้จริงไม่เพิ่มขึ้นแล้ว อัตรากำไรย่อมสูงขึ้น[15]
ข้อกล่าวหาความไม่ต้องกันเองเป็นลักษณะเด่นของเศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์และการถกเถียงเกี่ยวกับทฤษฎีดังกล่าวตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970[16] ในบรรดานักวิจารณ์ที่ชี้ถึงความไม่ต้องกันภายใน ได้แก่ นักเศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์และสำนักสรัฟฟา เช่น Paul Sweezy,[17] Nobuo Okishio,[18] Ian Steedman,[19] John Roemer,[20] Gary Mongiovi,[21] และ David Laibman ซึ่งเสนอให้สาขาตั้งอยู่บนเศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์แบบที่ถูกต้องแทนบทวิจารณ์เศรษฐกิจการเมืองของมาคส์แบบดั้งเดิมในเรื่อง ทุน
ผู้สนับสนุนการตีความระบบเดี่ยวชั่วคราว (TSSI) ในทฤษฎีคุณค่าของมาคส์อ้างว่าความไม่ต้องกันที่มีผู้ยกขึ้นมานั้นแท้จริงแล้วเป็นผลมาจากการตีความผิด พวกเขาให้เหตุผลว่าเมื่อทฤษฎีของมาคส์เข้าใจว่าเป็น "ชั่วคราว" และ "ระบบเดียว" ความไม่ต้องกันภายในนั้นจะหายไป ในการสำรวจการถกเถียงปัจจุบัน ผู้สนับสนุน TSSI "หลักฐานของความไม่ต้องกันจะแก้ต่างไม่ได้อีกต่อไป คดีทั้งหมดต่อมาคส์นั้นถูกลบดเหลือเป็นประเด็นการตีความ"[22]
เศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์ส่วนใหญ่มาจากข้อความขัดแย้งในตัวที่สังเกตในประเทศที่ประกาศสวามิภักดิ์ต่อลัทธิเศรษฐกิจและการเมืองลัทธิมาคส์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 János Kornai วิเคราะห์ความขาดแคลนสินค้าในประเทศเหล่านั้นและการมีเศรษฐกิจที่สอง (ตลาดมืด) สำหรับสินค้าพื้นฐานอย่างยิ่ง และประดิษฐ์คำว่า "เศรษฐกิจขาดแคลน" Dembinsky ชี้ว่าแนวทางเข้าสู่การศึกษาที่ไม่้องกันองมาคส์ในการตัดสิน "มูลค่าแรงงาน" นำไปสู่การถดถอยของประสิทธิภาพในเศรษฐกิจเหล่านั้น
Robert Solow ประเมินในปี 1988 ว่าเศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์ไม่มีความเกี่ยวข้อง โดยวิจารณ์ New Palgrave Dictionary of Economics ว่า เลือกตัวอย่างบทความที่มีแก่นลัทธิมาคส์มากเกินไป ทำให้ "เกิดความเข้าใจผิด ๆ ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน" ในวิชาชีพเศรษฐศาสตร์ Solow ระบุว่า "ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า นักเศรษฐศาสตร์ที่พูดภาษาอังกฤษที่จริงจังที่สุดถือว่าเศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์เป็นทางตันที่ไม่มีความหมาย"[23]
George Stigler กล่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์ในประเพณีมาคส์-สรัฟฟาเป็นส่วนน้อยมากในนักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ และงานเขียนของพวกเขาแทบไม่มีผลกระทบต่องานวิชาชีพของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยหลักที่พูดภาษาอังกฤษ[24]
คำว่า Neo-Marxian, Post-Marxian และ Radical Political Economics ถูกใช้เป็นครั้งแรกเพื่ออ้างถึงประเพณีความคิดทางเศรษฐกิจที่แยกออกมาในคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980
ในเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม แนวทางเข้าสู่แบบมาคส์ใหม่เน้นย้ำถึงสภาพผูกขาดของทุนนิยมมากกว่าการแข่งขัน บุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ Michal Kalecki, Josef Steindl, Paul A. Baran และ Paul Sweezy[25][26]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.