Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ในความคิดลัทธิมากซ์ สังคมคอมมิวนิสต์ หรือ ระบบคอมมิวนิสต์ เป็นระบบสังคมและเศรษฐกิจประเภทหนึ่งซึ่งสันนิษฐานว่าจะเกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในกำลังการผลิต โดยเป็นตัวแทนเป้าหมายขั้นสุดท้ายของอุดมการณ์การเมืองลัทธิคอมมิวนิสต์ สังคมคอมมิวนิสต์มีลักษณะคือ สังคมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตร่วมกันโดยสามารถเข้าถึงสินค้าบริโภคได้อย่างเสรี[1][2] และปราศจากชนชั้นและรัฐ[3] อันส่อความถึงการยุติการขูดรีดแรงงาน[4][5]
ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นขั้นตอนการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจจำเพาะขั้นหนึ่งซึ่งยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของความมั่งคั่งทางวัตถุ ซึ่งสันนิษฐานว่าจะเกิดขึ้นจากความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการผลิตและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในด้านความสัมพันธ์ทางสังคมของการผลิต ซึ่งจะเปิดให้กระจายสินค้าตามความต้องการของบุคคลและความสัมพันธ์ทางสังคมโดยยึดปัจเจกชนที่รวมกลุ่มกันอย่างอิสระ[4][5][6]
ทั้งนี้คำว่าสังคมคอมมิวนิสต์ไม่ควรสับสนกับมโนทัศน์รัฐคอมมิวนิสต์แบบตะวันตก ซึ่งหมายความถึงรัฐที่ปกครองโดยพรรคการเมืองที่ประกาศตนว่ารับเอาลัทธิมากซ์–เลนินรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งไปใช้[7][8]
ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์จะมีลักษณะคือ เทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้าซึ่งทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ทางวัตถุ ซึ่งจะทำให้สามารถกระจายผลผลิตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่หรือทั้งหมดได้อย่างอิสระ และทุกคนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตเหล่านี้ร่วมกัน ในแง่นี้ คอมมิวนิสต์จะแตกต่างจากสังคมนิยม ซึ่งนอกเหนือจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจแล้ว จะจำกัดการเข้าถึงสินค้าบริโภคและบริการตามสัดส่วนการมีส่วนร่วมของคนคนนั้น[9]
สำหรับข้อแตกต่างจากทุนนิยมยิ่งไปกว่านั้น ลัทธิคอมมิวนิสต์ยังมีลักษณะถือว่าทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยการผลิตร่วมกัน แทนที่จะให้เอกชนถือครอง (ดังในกรณีทุนนิยม) หรือให้องค์การสาธารณะหรือสหกรณ์เป็นเจ้าของซึ่งจำกัดการเข้าถึงของคนนอก (ในกรณีสังคมนิยม) ในแง่นี้ ลัทธิคอมมิวนิสต์จึงเกี่ยวข้องกับ "การปฏิเสธทรัพย์สิน" จนถึงขอบเขตที่ว่ามีเหตุผลทางเศรษฐกิจน้อยมากในการควบคุมทรัพย์สินการผลิตแต่ผู้เดียวในสิ่งแวดล้อมที่วัตถุมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์[10]
ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ที่พัฒนาอย่างเต็มที่สันนิษฐานว่าจะเกิดขึ้นตามหลังระบบสังคมนิยม มากซ์มองว่าสังคมนิยม ซึ่งหมายถึงสังคมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต จะเปิดช่องให้ก้าวหน้าสู่การพัฒนาคอมมิวนิสต์ที่พัฒนาอย่างเต็มที่โดยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ภายใต้ระบบสังคมนิยม เมื่อมีระดับอัตโนมัติการเพิ่มมากขึ้นเท่าใด สัดส่วนสินค้าที่กระจายอย่างเสรีก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น[11]
สังคมคอมมิวนิสต์จะปลดปล่อยปัจเจกจากการทำงานยาวนานโดยขั้นแรกทำให้การผลิตเป็นอัตโนมัติในระดับหนึ่งซึ่งให้ชั่วโมงทำงานเฉลี่ยลดลง[12] และขั้นที่สองกำจัดการขูดรีดซึ่งเป็นเนื้อในของการแบ่งแยกกรรมกรกับเจ้าของ ระบบคอมมิวนิสต์จะปลดปล่อยปัจเจกบุคคลจากอัญภาวะ (alienation) ในสำนึกว่าชีวิตของบุคคลสร้างอยู่รอบการเอาชีวิตรอด (อยู่เพื่อเอาค่าจ้างหรือเงินเดือนในสังคมทุนนิยม) ซึ่งมากซ์เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านจาก "อาณาจักรแห่งความจำเป็น" ไปสู่ "อาณาจักรแห่งอิสรภาพ" ผลคือ มากซ์พยากรณ์ว่าสังคมคอมมิวนิสต์จะประกอบด้วยประชากรที่มักจะเป็นปัญญาชน มีทั้งเวลาและทรัพยากรในการประกอบงานอดิเรกที่สร้างสรรค์และความสนใจอย่างแท้จริงของตน และมีส่วนส่งเสริมความมั่งคั่งทางสังคมสร้างสรรค์ด้วยวิธีนี้ คาร์ล มากซ์มองว่า "ความร่ำรวยแท้จริง" นั้นได้แก่ปรมาณเวลาที่คนมีอยู่เพื่อบรรลุความปรารถนาเชิงสร้างสรรค์ของตน[13][14] ความคิดเรื่องนี้ของมากซ์ถือว่าเป็นปัจเจกนิยมมูลวิวัติทีเดียว[15]
มโนทัศน์เรื่อง "อาณาจักรแห่งอิสรภาพ" นี้ขนานไปกับความคิดเรื่องการยุติการแบ่งงานกันทำของเขา ซึ่งจะไม่มีความจำเป็นในสังคมที่มีการผลิตอัตโนมัติอย่างสูงและมีบทบาทงานจำกัด ในสังคมคอมมมิวนิสต์ ความจำเป็นและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจะยุติการกำหนดความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและสังคม เมื่อความขาดแคลนถูกกำจัดไป[10] กรรมกรที่ถูกทำให้แปลกแยกจะหมดไปด้วย และบุคคลจะมีอิสระในการติดตามเป้าหมายส่วนตัว[16] นอกจากนี้ เชื่อว่าหลักการ "จากทุกคนตามที่สามารถ ให้ทุกคนตามที่ต้องการ" (from each according to his ability, to each according to his needs) จะเป็นจริงได้เพราะความขาดแคลนหมดไป[17][18]
มากซ์และเอ็งเงิลส์ยืนยันว่าสังคมคอมมิวนิสต์ไม่จำเป็นต้องมีรัฐเพราะรัฐมีอยู่ในสังคมทุนนิยมร่วมสมัย รัฐทุนนิยมมีอยู่เป็นหลักเพื่อบังคับใช้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบมีลำดับชั้น เพื่อบังคับใช้การควบคุมทรัพย์สินแต่ผู้เดียว และเพื่อวางระเบียบกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม รัฐจึงย่อมเข้าไม่ได้กับสังคมคอมมิวนิสต์[10][16]
เอ็งเงิลส์สังเกตว่าหน้าที่หลักของสถาบันสาธารณะในระบบสังคมนิยมจะเปลี่ยนจากการสร้างกฎหมายและการควบคุมประชากรมาสู่บทบาททางเทคนิคเป็นผู้บริหารกระบวนการผลิตทางเทคนิค โดยมีการลดขอบเขตการเมืองแต่เดิมเมื่อการบริหารทางวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนการวินิจฉัยสั่งการทางการเมือง[19] สังคมคอมมิวนิสต์มีลักษณะเป็นกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้มีเพียงในแง่ประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ในความหมายกว้างกว่าคือมีสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานและสังคมแบบเปิดและร่วมมือกัน[10]
มากซ์ไม่เคยระบุชัดเจนว่าเขาคิดว่าสังคมคอมมิวนิสต์จะมีความเป็นธรรมหรือไม่ แต่นักคิดคนอื่นสันนิษฐานว่าเขาคิดว่าคอมมิวนิสต์จะก้าวข้ามเรื่องความยุติธรรมและสร้างสังคมที่ปลอดความขัดแย้ง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ความยุติธรรม[20]
มากซ์ยังเขียนว่าระหว่างสังคมทุนนิยมและคอมมิวนิสต์จะมีระยะเปลี่ยนผ่านที่เรียกว่า เผด็จการของชนกรรมาชีพ[10] ในช่วงการพัฒนาทางสังคมนี้ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจะค่อย ๆ ถูกลบไปและแทนที่ด้วยสังคมนิยม ทรัพยากรธรรมชาติจะกลายเป็นสมบัติสาธารณะ ส่วนแหล่งการผลิตและที่ทำงานจะมีสังคมเป็นเจ้าของและการจัดการแบบประชาธิปไตย การผลิตจะมีการจัดระเบียบด้วยการประเมินและวางแผนแบบวิทยาศาสตร์ จึงเป็นการกำจัดสิ่งที่มากซ์เรียกกว่า "อนาธิปไตยในการผลิต" การพัฒนากำลังการผลิตดังกล่าวจะนำไปสู่การลดความสำคัญของแรงงานมนุษย์ และค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยแรงงานอัตโนมัติ
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.