Remove ads
ทีมฟุตบอลตัวแทนของเวียดนาม จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟุตบอลทีมชาติเวียดนาม (เวียดนาม: Đội tuyển bóng đá quốc gia Việt Nam) เป็นทีมฟุตบอลตัวแทนจากประเทศเวียดนาม ภายใต้สหพันธ์ฟุตบอลเวียดนาม มีฉายาที่นิยมเรียกกันว่า "นักรบดาวทอง"
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ฉายา | Những Chiến Binh Sao Vàng (นักรบดาวทอง, นักรบงเหวียน)[1][2][3] | ||
---|---|---|---|
สมาคม | สหพันธ์ฟุตบอลเวียดนาม (VFF) | ||
สมาพันธ์ย่อย | AFF (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) | ||
สมาพันธ์ | AFC (เอเชีย) | ||
หัวหน้าผู้ฝึกสอน | คิม ซัง-ซิค | ||
กัปตัน | โด๋ ซวี หมั่ญ | ||
ติดทีมชาติสูงสุด | เล กง วิญ (83) | ||
ทำประตูสูงสุด | เล กง วิญ (51) | ||
สนามเหย้า | สนามกีฬาหมีดิ่ญ | ||
รหัสฟีฟ่า | VIE | ||
| |||
อันดับฟีฟ่า | |||
อันดับปัจจุบัน | 116 1 (20 มิถุนายน 2024)[4] | ||
อันดับสูงสุด | 84 (กันยายน ค.ศ. 1998[5]) | ||
อันดับต่ำสุด | 172 (ธันวาคม ค.ศ. 2006) | ||
เกมระดับนานาชาติครั้งแรก | |||
ในฐานะเวียดนามเหนือ จีน 5–3 เวียดนามเหนือ (มะนิลา, ประเทศฟิลิปปินส์; 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1991) | |||
ชนะสูงสุด | |||
เวียดนาม 11–0 กวม (นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม; 23 มกราคม ค.ศ. 2000) | |||
แพ้สูงสุด | |||
ซิมบับเว 6–0 เวียดนาม (กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย; 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997) โอมาน 6–0 เวียดนาม (อินช็อน ประเทศเกาหลีใต้; 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2003) เกาหลีใต้ 6–0 เวียดนาม (ซูวอน ประเทศเกาหลีใต้; 17 ตุลาคม ค.ศ. 2023) | |||
เอเชียนคัพ | |||
เข้าร่วม | 5 (ครั้งแรกใน 1956) | ||
ผลงานดีที่สุด | ในฐานะ เวียดนามใต้:
| ||
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน | |||
เข้าร่วม | 14 (ครั้งแรกใน 1996) | ||
ผลงานดีที่สุด | ชนะเลิศ (2008, 2018) |
เวียดนามมีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลมายาวนาน เริ่มต้นจากฝรั่งเศสประเทศเจ้าอาณานิคมที่เริ่มนำกีฬาฟุตบอลเข้ามาเผยแพร่ในศตวรรษที่ 19 แต่ด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบจากสงครามเวียดนามในช่วงศตวรรษที่ 20 ทำให้พัฒนาการของทีมฟุตบอลเวียดนามหยุดชะงักไป[8][9] ภายหลังการแบ่งประเทศเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ใน ค.ศ. 1954 มีการสร้างทีมชาติขึ้นสองทีม ได้แก่ ทีมชาติเวียดนามเหนือ ซึ่งไม่ค่อยมีผลงานในทางฟุตบอลเท่าใดนัก เพราะแข่งขันเฉพาะกับทีมจากชาติคอมมิวนิสต์อื่น (ค.ศ. 1956 - 1966) และทีมชาติเวียดนามใต้ ซึ่งได้ร่วมแข่งขันในระดับทวีป ทั้งนี้ ทีมฟุตบอลทั้งสองอยู่ภายใต้การบริหารโดยสมาคมที่แยกจากกัน และใน ค.ศ. 1976 ทีมชาติเวียดนามอย่างในปัจจุบันได้ถูกก่อตั้งขึ้นภายหลังจากที่สองประเทศได้รวมกัน อยู่ภายใต้การบริหารของสหพันธ์เดียวกันมานับแต่นั้น[10]
ในช่วงแรกของการรวมประเทศ เวียดนามประสบปัญหาในการพัฒนาทีมเป็นเวลาหลายปีเนื่องจากการฟื้นฟูประเทศภายหลังสงคราม และไม่ประสบความสำเร็จในรายการใด อีกทั้งยังไม่ได้ส่งทีมชุดใหญ่ลงแข่งขันในรายการใหญ่ ทว่านับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เวียดนามได้ยกระดับตนเองกลับไปเป็นทีมชั้นนำในภูมิภาค และกีฬาฟุตบอลก็มีส่วนสำคัญในสังคมเวียดนาม โดยถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมอำนาจอ่อนที่ช่วยลบภาพลักษณ์ในแง่ลบของประเทศจากเหตุการณ์สงครามเวียดนาม สิ่งเหล่านี้ทำให้เวียดนามมีความเป็นชาตินิยมสูง และกลุ่มผู้สนับสนุนทีมชาติเวียดนามได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มกองเชียร์ที่มีความคลั่งไคล้ฟุตบอลมากที่สุด ประกอบด้วยประชาชนทุกเพศทุกวัยซึ่งให้การสนับสนุนทั้งทีมเยาวชนและทีมชาติชุดใหญ่[11]
เวียดนามเป็นหนึ่งในชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน โดยชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียนสองสมัยในปี ค.ศ. 2008 และ 2018 และในการแข่งขันระดับทวีป พวกเขาคว้าอันดับสี่ในรายการเอเชียนคัพสองครั้งในนามเวียดนามใต้ใน ค.ศ. 1956 และ 1960 ซึ่งในสมัยนั้นมีการแข่งขันกันเพียง 4 ทีม และภายหลังการรวมทีม เวียดนามผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายได้อีกสองครั้งใน ค.ศ. 2007 และ 2019 เวียดนามมีทีมคู่ปรับคือชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยทีมชาติไทยถือเป็นคู่ปรับที่สำคัญที่สุด
กีฬาฟุตบอลในประเทศเวียดนามมีจุดเริ่มต้นเมื่อประมาณ ค.ศ. 1896 ในสมัยของดินแดนโคชินไชนา ดินแดนทางใต้ของเวียดนามซึ่งตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ในยุคนั้น กีฬาฟุตบอลจะเล่นกันเฉพาะในกลุ่มข้าราชการ พ่อค้า และทหารชาวฝรั่งเศสเท่านั้น ในเวลาต่อมา ชาวฝรั่งเศสเริ่มสนับสนุนให้ชาวเวียดนามในท้องถิ่นออกกำลังกายและรู้จักกับกีฬาฟุตบอลเป็นครั้งแรก รวมทั้งสนับสนุนกีฬาชนิดอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจในสถานการณ์การเมืองที่วุ่นวาย ส่งผลให้กีฬาฟุตบอลได้แพร่หลายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะทางตอนเหนือและตอนกลางของเวียดนาม[12][13]
ในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1908 หนังสือพิมพ์หลุกติ๋ญเตินวัน ได้นำเสนอข่าวการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาวเวียดนามท้องถิ่นสองทีมเป็นครั้งแรก ในเวลาต่อมาได้มีการตีพิมพ์คู่มือแนะนำการเล่นฟุตบอลขึ้นเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1925 โดยแพทย์ชาวเวียดนามชื่อ ฝั่ม วัน เตี๊ยก เพื่อกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนตื่นตัวและสนใจกีฬาฟุตบอลมากขึ้น[14] สามปีต่อมา รัฐบาลได้ก่อตั้งสมาคมกีฬาในนาม Annamite Sports Bureau และได้ส่งทีมฟุตบอลไปแข่งขันที่ประเทศสิงคโปร์ ต่อมา สโมสรฟุตบอลท้องถิ่นหลายสโมสรได้ก่อตั้งขึ้นในเวียดนามทั้งทางตอนเหนือและทางใต้ แต่ได้หยุดชะงักไปจากภาวะสงคราม กระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สโมสรฟุตบอลในภูมิภาคได้เริ่มมีการจัดระเบียบมากขึ้น[15] การแข่งชันนานาชาติครั้งแรกของเวียดนามจัดขึ้นที่ไซ่ง่อน (นครโฮจิมินห์) เวียดนามแพ้เกาหลีใต้ด้วยผลประตู 2–4
ทีมฟุตบอลของเวียดนามได้ถูกแบ่งเป็นสองทีมภายหลังประเทศเวียดนามถูกแยกเป็นสองประเทศคือเวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ ทีมชาติเวียดนามใต้ได้ร่วมแข่งขันรายการใหญ่อย่างเอเชียนคัพซึ่งจัดแข่งขันในสองครั้งแรกใน ค.ศ. 1956 และ 1960 จบการแข่งขันด้วยอันดับ 4 ทั้งสองครั้ง และคว้าเหรียญทองแรกในซีเกมส์ ค.ศ. 1959 ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย รวมทั้งมีส่วนร่วมในฟุตบอลโลก 1974 รอบคัดเลือก โดยเอาชนะไทย 1–0 ก่อนจะแพ้สองนัดในรอบแบ่งกลุ่มต่อญี่ปุ่น (0–4) และฮ่องกง (0–1) และลงแข่งขันนัดสุดท้ายในนามเวียดนามใต้ใน ค.ศ. 1975 แพ้มาเลเซีย 0–3 ในขณะที่ทีมชาติเวียดนามเหนือมีผลงานน้อยกว่ามาก พวกเขาไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรระดับภูมิภาคหรือระดับทวีปใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือ สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ มีเพียงการแข่งขันกับทีมอื่นในชาติคอมมิวนิสต์ด้วยกันในระหว่าง ค.ศ. 1956–66 ลงเล่นนัดแรกแพ้จีน 3–5 มีผู้ฝึกสอนคนแรกคือ เจือง เติ๊น บื๋ว และร่วมแข่งขันในการแข่งขันกีฬาของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาใหม่ ที่อินโดนีเซีย (ค.ศ. 1962) และกัมพูชา (ค.ศ. 1966) ทั้งสองทีมได้ยุติบทบาทลงสิ้นเชิงเมื่อเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รวมกันกลายเป็น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม หลังสิ้นสุดสงครามเวียดนาม ก่อนที่ทีมชาติจะรวมตัวกันและได้รับการรับรองสถานะจากฟีฟ่าใน ค.ศ. 1976 และอยู่ภายใต้การบริหารขององค์กรเดียวกัน
ในช่วงทศวรรษ 1980 ถือเป็นยุคตกต่ำของวงการกีฬาเวียดนาม การพัฒนากีฬาฟุตบอลในประเทศในช่วงเวลานั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากประเทศอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากสงคราม สงครามเวียดนามส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ นอกจากนี้ ผลกระทบจากสงครามกัมพูชา–เวียดนาม และ สงครามจีน–เวียดนาม รวมถึงการคว่ำบาตรจากนานาชาติทำให้วงการฟุตบอลของเวียดนามถึงจุดตกต่ำถึงขีดสุด และกลายเป็นทีมที่อ่อนแอที่สุดทีมหนึ่งในโลก ด้วยเหตุนี้ ทีมชาติเวียดนามจึงยังไม่เป็นที่รู้จักในบรรดาชาติอื่น ๆ แม้จะมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน
รัฐบาลเวียดนามพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยก่อตั้งฟุตบอลลีกของเวียดนามขึ้นใน ค.ศ. 1980 (วี.ลีก ดิวิชัน 1 ในปัจจุบัน) และหลังจาก ค.ศ. 1989 ที่นโยบายโด๋ยเม้ยมีผลในการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วได้มีการก่อตั้งสหพันธ์ฟุตบอลขึ้นใหม่อีกครั้ง วงการกีฬาของเวียดนามได้เริ่มฟื้นตัวและมีชื่อเสียงระดับนานาชาติอีกครั้ง ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1989 ได้มีการประชุมที่กรุงฮานอยและมีการประกาศจัดตั้งสหพันธ์ฟุตบอลเวียดนามขึ้นอย่างเป็นทางการ และกำกับดูแลทีมชาติเวียดนามมาถึงทุกวันนี้ จิ่ญ หง็อก จื๋อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกีฬาได้รับเลือกให้เป็นประธานคนแรกของสหพันธ์[16] ใน ค.ศ. 1991 ทีมฟุตบอลเวียดนามได้ลงแข่งขันนัดแรกหลังการรวมประเทศโดยเสมอกับฟิลิปปินส์[17] และมีส่วนร่วมในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ค.ศ. 1994 และ 1998 แต่ไม่ประสบความสำเร็จโดยชนะได้เพียงนัดเดียวเท่านั้น
ใน ค.ศ. 1996 ทีมชาติเวียดนามได้ลงแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน เป็นครั้งแรกโดยคว้าอันดับสาม ก่อนจะเป็นเจ้าภาพใน ค.ศ. 1998 แพ้สิงคโปร์ในรอบชิงชนะเลิศ 0–1 และตั้งแต่ ค.ศ. 2000–07 เวียดนามยังคงมุ่งมั่นเพื่อคว้าถ้วยรางวัลระดับภูมิภาคนี้ให้ได้ แต่ก็ทำได้ดีที่สุดเพียงรอบรองชนะเลิศ และยังตกรอบแบ่งกลุ่มในบางปี และยังมีการปลุกกระแสความสนใจในกีฬาฟุตบอลอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเชิญสโมสรฟุตบอลยูเวนตุส ผู้ชนะการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกมาแข่งเกมกระชับมิตรที่ฮานอยใน ค.ศ. 1996 ซึ่งเวียดนามแพ้ไป 1–2 เวียดนามยังเป็นเจ้าภาพรายการ ดันฮิลล์ คัพ ใน ค.ศ. 1999 รายการพิเศษเพื่อเป็นเกมกระชับมิตรให้แก่ทีมชาติชุดใหญ่และทีมชาติรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ทีมชาติบางทีมได้ส่งผู้เล่นชุดใหญ่ร่วมแข่งขัน และเวียดนามสามารถสร้างความประหลาดใจด้วยการชนะรัสเซีย 1–0 และเสมออิหร่าน 2–2 ซึ่งทั้งสองชาติถือเป็นทีมชั้นนำเนื่องจากมีส่วนร่วมในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1996 และ ฟุตบอลโลก 1998 ก่อนที่เวียดนามจะแพ้จีนในรอบรองชนะเลิศ 1–4
ชาวเวียดนามเริ่มมีความหวังในการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยพวกเขาทำผลงานดีขึ้นในการแข่งขันรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2002 โดยชนะ 3 นัด เสมอ 1 นัด ก่อนที่พวกเขาจะแพ้ซาอุดีอาระเบียในเมืองอัดดัมมาม และไม่ประสบความสำเร็จในเอเชียนคัพ 2004 รอบคัดเลือกแพ้เกาหลีใต้และโอมาน แต่สามารถเอาชนะเกาหลีใต้ซึ่งคว้าอันดับ 4 ฟุตบอลโลกได้ 1–0 ที่มัสกัต ถือเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ทีมฟุตบอลเวียดนามรวมตัวกัน[18]
เวียดนามเป็นเจ้าภาพร่วมในการแข่งขันเอเชียนคัพ 2007 และพวกเขาลงแข่งขันในฐานะทีมที่มีอันดับต่ำที่สุดเป็นอันดับสองรองจากมาเลเซีย แต่ในรอบแบ่งกลุ่มพวกเขาสร้างความประหลาดใจโดยการเอาชนะทีมดังจากตะวันออกกลางอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2–0 ตามด้วยการเสมอกาตาร์ 1–1 และแพ้ญี่ปุ่นในนัดสุดท้าย 1–4 เวียดนามถือเป็นชาติเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นเจ้าภาพเพียงชาติเดียวในปีนั้นที่ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย และเป็นการผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศรายการนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการรวมประเทศ ท่ามกลางการออกมาเฉลิมฉลองของแฟนบอลเวียดนามตามท้องถนนในเมืองใหญ่ทั่วประเทศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก่อนที่พวกเขาจะแพ้อิรัก 0–2 ซึ่งอิรักเป็นแชมป์ในปีนั้น นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จของวงการฟุตบอลเวียดนามนับตั้งแต่รวมประเทศ
เวียดนามชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2008 เป็นครั้งแรก พวกเขาอยู่ร่วมกลุ่มบีกับทีมไทย, มาเลเซีย และลาว แม้จะแพ้ไทยในนัดเปิดสนาม 0–2 พวกเขาเอาชนะมาเลเซีย (3–2) และลาว (4–0) ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศพบกับสิงคโปร์ โดยเสมอกันในนัดแรก 0–0 ที่เวียดนาม ก่อนจะบุกไปชนะได้ 1–0 และเวียดนามเอาชนะไทยในรอบชิงชนะเลิศด้วยผลประตูรวม 3–2 โดยบุกไปชนะได้ถึงราชมังคลากีฬาสถาน 2–1 และเสมอ 1–1 ที่เวียดนาม[19] นี่ถือเป็นความสำเร็จถ้วยแรกของเวียดนามหลังรวมประเทศ และพวกเขาต้องรออีก 10 ปีในการกลับมาชนะรายการนี้อีกครั้ง
เวียดนามเกือบจะประสบความสำเร็จในเอเชียนคัพ 2011 รอบคัดเลือก โดยสามารถทำผลงานได้ดีในการพบกับซีเรีย, เลบานอน และจีน แต่ก็จบเพียงอันดับสาม และชนะได้หนึ่งนัดที่พบกับเลบานอนด้วยผลประตู 3–1[20] และบุกไปแพ้จีนที่หางโจว 1–6 แต่ยังบุกไปเสมอซีเรียและเลบานอนได้
หลังจากคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียนได้ ผลงานของเวียดนามก็ตกลงไป พวกเขามีส่วนร่วมในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกปี 2010 และ 2014 รวมถึงเอเชียนคัพ 2015 รอบคัดเลือก แต่ก็ตกรอบแบ่งกลุ่ม รวมถึงแพ้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 0–6 ในฟุตบอลโลก 2010 รอบคัดเลือก และแพ้กาตาร์ในรอบคัดเลือกปี 2014 และมีผลงานที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายปีจากการตกรอบคัดเลือกเอเชียนคัพ 2015 โดยจบอันดับสุดท้ายของกลุ่มตามหลังฮ่องกง, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ อุซเบกิสถาน
ในการแข่งขันระดับภูมิภาค เวียดนามก็ไม่สามารถกลับไปประสบความสำเร็จได้ พวกเขาแพ้มาเลเซียในรอบรองชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2010 และยังตกรอบแรกในการแข่งขันปี 2012 ด้วยผลงานเสมอ 1 นัด (พบกับพม่า) และแพ้ 2 นัด (พบไทยและฟิลิปปินส์)
เวียดนามเข้าสู่ยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงโดยการแต่งตั้ง โทชิยะ มิอุระ อดีตนักฟุตบอลชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ฝึกสอนระหว่าง ค.ศ. 2014 ถึง 2016 โดยมีการเปลี่ยนรูปแบบการฝึกซ้อมใหม่ การพัฒนาผู้เล่นเยาวชนขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ จนสามารถทำผลงานยอดเยี่ยมในฟุตบอลเอเชียนเกมส์ 2014 ด้วยการเอาชนะทีมดังอย่างอิหร่าน 4–1[21] และมิอุระยังคงยึดแนวทางการสร้างทีมด้วยผู้เล่นอายุน้อย และลงแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2014 ในฐานะเจ้าภาพร่วม แต่แพ้มาเลเซียในรอบรองชนะเลิศแม้จะบุกไปชนะที่มาเลเซียมาก่อน 2–1 แต่พวกเขากลับมาแพ้ในบ้านในนัดที่สอง 2–4[22] ตำรวจเวียดนามทำการสืบสวนและตรวจสอบการแข่งขันครั้งนี้ แต่ไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ถึงการทุจริตและการติดสินบนตามที่มีการกล่าวอ้างจาก Sportradar บริษัทรับพนันอย่างถูกกฎหมายในสวิตเซอร์แลนด์[23][24]
มิอุระนำเวียดนามลงแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย – รอบที่ 2 แต่จบเพียงอันดับสาม ด้วยผลงานชนะสองนัด (ชนะจีนไทเป 2–1 และ 4–1) , เสมอ 1 นัด (พบอิรัก) และแพ้สามนัด (รวมถึงแพ้ไทยทั้งนัดเหย้าและเยือน) มิอุระถูกยกเลิกสัญญาภายหลังล้มเหลวในการพาทีมผ่านเข้าสู่โอลิมปิกฤดูร้อน 2016[25] เหงียน หืว ทั้ง เข้ามาคุมทีมต่อ และพาทีมเข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2016 แพ้อินโดนีเซียในการต่อเวลาพิเศษในนัดที่สอง รวมผลประตูสองนัด 3–4[26] และจบอันดับสามในเอเชียนคัพ 2019 รอบคัดเลือก ตามด้วยการตกรอบแรกในซีเกมส์ 2017 อย่างเหนือความคาดหมาย แม้จะชนะได้ 3 จาก 5 นัด เหงียน หืว ทั้ง ลาออก และทีมชุดนั้นได้รับเสียงวิจารณ์จากแฟนบอลอย่างมาก มาย ดึ๊ก จุง เข้ามารักษาการต่อและพาทีมชนะกัมพูชาในเอเชียนคัพรอบคัดเลือกด้วยผลประตูรวมสองนัด 7–1[27]
เวียดนามเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อ พัก ฮัง-ซอ ชาวเกาหลีใต้เข้ามาเป็นผู้ฝึกสอน ในช่วงแรก พักไม่เป็นที่ยอมรับในบรรดากลุ่มผู้สนับสนุนของเวียดนาม และถูกตั้งข้อสงสัยในความสามารถ[28] พักลงคุมทีมนัดแรกในเอเชียนคัพรอบคัดเลือกพาทีมเสมออัฟกานิสถาน 0–0 ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2017 ส่งผลให้เวียดนามผ่านเข้าสู่เอเชียนคัพรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 2007 แต่พักก็ไม่ยังไม่เป็นที่ยอมรับเนื่องจากผลงานยังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไร แต่เขาก็ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเมื่อพาทีมเวียดนามรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี คว้ารองแชมป์ฟุตบอลเอเชียเยาวชนอายุไม่เกิน 23 ปี 2018[29] และทำผลงานโดดเด่นใน เอเชียนเกมส์ 2018 ปิดท้ายด้วยการพาทีมชุดใหญ่เสมอจอร์แดนในนัดสุดท้ายรอบคัดเลือกเอเชียนคัพ 1–1[30] พักเข้ามายกระดับทีมชาติเวียดนามด้วยรูปแบบการเล่นที่เปลี่ยนไปจากฟุตบอลเกมรุกกลายเป็นฟุตบอลเกมรับแล้วสวนกลับที่เน้นผลการแข่งขันเป็นหลัก เสียประตูยาก อีกทั้งยังมีระบบความฟิตที่ดีขึ้น ทำให้เวียดนามมีผลงานที่ดีขึ้นอย่างมาก
ด้วยผู้เล่นอายุน้อยที่ทำผลงานโดดเด่น เวียดนามคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2018 ได้เป็นสมัยที่สอง ด้วยผลงานชนะ 3 นัด และ เสมอ 1 นัดในรอบแบ่งกลุ่ม ตามด้วยการชนะฟิลิปปินส์ในรอบรองชนะเลิศด้วยผลประตูรวมสองนัด 4–2 และเอาชนะมาเลเซียในรอบชิงชนะเลิศด้วยผลประตูรวม 3–2[31] เวียดนามยังคงยึดผู้เล่นอายุต่ำกว่า 23 ปีเป็นแกนหลักในการแข่งขันเอเชียนคัพ 2019 แม้จะต้องแข่งขันกับผู้เล่นทีมชุดใหญ่จากชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ในเอเชีย โดยพวกเขาลงแข่งในฐานะทีมที่มีอายุเฉลี่ยของผู้เล่นน้อยที่สุดในรายการ เวียดนามอยู่ในกลุ่มดีร่วมกับอิรัก อิหร่าน และเยเมน และผ่านเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายได้ในฐานะทีมอันดับสี่ที่มีผลงานดีที่สุดแม้พวกเขาจะแพ้สองนัดต่อ อิรัก (2–3) และ อิหร่าน (0–2) พวกเขาเอาชนะจอร์แดนในการดวลจุดโทษได้ในรอบต่อมา ผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศเป็นครั้งที่สอง แม้พวกเขาจะแพ้ญี่ปุ่นในรอบก่อนรองชนะเลิศ 0–1 แต่ก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากถึงความสำเร็จในครั้งนี้
ในฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย – รอบที่ 2 เวียดนามอยู่ในกลุ่มจีร่วมกับไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยชนะได้ถึง 5 จาก 8 นัด และไม่แพ้คู่แข่งจากอาเซียนอีกสามทีมแม้แต่นัดเดียว แม้การระบาดทั่วของไวรัสโคโรนาจะทำให้พวกเขาต้องเล่นเกมในบ้านบางนัดที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวียดนามผ่านเข้าสู่รอบที่ 3 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และยังได้สิทธิ์แข่งขันเอเชียนคัพ 2023 ที่ประเทศจีน ในฐานะหนึ่งในห้าทีมอันดับสองของกลุ่มที่มีผลงานดีที่สุด ถือเป็นทีมที่สองในอาเซียนต่อจากไทยที่เคยได้สิทธิ์ดังกล่าว[32] อย่างไรก็ตาม ในรอบที่ 3 เวียดนามไม่สามารถเอาชนะทีมมหาอำนาจในเอเชียที่อยู่ร่วมกลุ่มอย่าง ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และซาอุดีอาระเบียได้ รวมทั้งทีมที่มีอันดับโลกดีกว่าพวกเขาอย่างจีน และ โอมาน โดยแพ้รวดใน 6 นัดแรก แม้จะเล่นได้ยอดเยี่ยมโดยแพ้ญี่ปุ่น, ซาอุดีอาระเบีย และออสเตรเลียไปเพียง 0–1 ทั้งสามนัด[33][34][35] รวมทั้งบุกไปแพ้จีนอย่างสนุก 2–3[36]
เวียดนามลงแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2020 อยู่ในกลุ่มบีร่วมกับอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, กัมพูชา และ ลาว ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศและแพ้ทีมไทยด้วยผลประตูรวมสองนัด 0–2[37] แม้เวียดนามจะตกรอบการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2022 หลังจากบุกไปแพ้ออสเตรเลียที่เมลเบิร์น 0–4[38] แต่ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ซึ่งตรงกับวันตรุษญวน เวียดนามสร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมแรกของภูมิภาคอาเซียนที่ชนะในรอบคัดเลือกรอบสุดท้ายของฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย โดยเอาชนะจีน 3–1[39] และยังถือเป็นทีมแรกจากอาเซียนในรอบ 65 ปีที่เอาชนะจีนในการแข่งขันทางการได้ นับตั้งแต่อินโดนีเซียชนะจีนในฟุตบอลโลก 1958 รอบคัดเลือก 2–0 และเวียดนามยังสามารถบุกไปยันเสมอญี่ปุ่นถึงไซตามะด้วยผลประตู 1–1 ในการแข่งขันนัดสุดท้าย ต่อมา ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2022 พัก ฮัง-ซอ ได้ประกาศว่าเขาจะยุติบทบาทผู้ฝึกสอนหลังจบการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2022[40] โดยในการแข่งขันรอบสุดท้าย เวียดนามผ่านเข้ารอบในฐานะอันดับหนึ่งของกลุ่ม จากผลงานชนะลาว, มาเลเซีย, เมียนมาร์ และเสมอสิงคโปร์ ตามด้วยการเอาชนะอินโดนีเซียในรอบรองชนะเลิศ ก่อนจะเข้าไปแพ้ทีมชาติไทยในรอบชิงชนะเลิศด้วยผลประตูรวมสองนัด 2–3[41]
ฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์ ผู้ฝึกสอนชาวฝรั่งเศสได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 ด้วยสัญญาจนถึง ค.ศ. 2026 โดยทรุสซิเยร์มีผลงานการพาทีมชาติแอฟริกาใต้และญี่ปุ่นลงแข่งขันฟุตบอลโลก 1998 และ 2002 ถือเป็นผู้จัดการทีมชาติเวียดนามคนแรกที่เคยคุมทีมชาติในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย[42] นอกจากนี้ ทรุสซิเยร์ยังรับหน้าที่ผู้สอนทีมชาติเวียดนามรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ควบคู่ไปด้วย
ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก เวียดนามลงแข่งในรอบคัดเลือก โซนเอเชีย – รอบที่ 2 โดยอยู่ร่วมกลุ่มกับอิรัก, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ทรุสซิเยร์ประกาศก่อนการแข่งว่า เขาจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นเวียดนามที่อาศัยอยู่ในต่างแดนเข้ามาติดทีมชุดใหญ่มากขึ้น เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีม[43] ฟิลิป เหงียน ถือเป็ผู้เล่นคนแรกจากต่างแดนที่ได้ลงเล่นในยุคของทรุสซิเยร์ โดยเขาเกิดที่เชโกสโลวาเกีย[44] ทรุสซิเยร์ประเดิมการคุมทีมด้วยการนำเวียดนามลงแข่งกระชับมิตรสองนัดในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2023 และสามารถเอาชนะฮ่องกงและซีเรียได้[45] ในช่วงการแข่งขันกระชับมิตรจำนวนหกนัดระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 17 ตุลาคม ค.ศ. 2023 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก เวียดนามมีผลงานชนะสามนัดและแพ้สามนัด รวมถึงการแพ้เกาหลีใต้ถึง 0–6 ซึ่งเป็นหนึ่งในความพ่ายแพ้ที่ขาดลอยที่สุดในประวัติศาสตร์ทีมชาติเวียดนาม รวมทั้งแพ้จีนและอุซเบกิสถาน[46] ต่อมา ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2023 เวียดนามเริ่มต้นการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกรอบที่ 2 ด้วยการบุกไปชนะฟิลิปปินส์ด้วยผลประตู 2–0[47] แต่พวกเขาเปิดบ้านแพ้อิรักด้วยผลประตู 0–1 ในนัดต่อมาโดยเสียประตูในนาทีสุดท้ายของครึ่งหลัง[48] ในการแข่งขันสองนัดแรกนั้น ทรุสซิเยร์เปิดโอกาสให้ผู้เล่นอายุน้อยหลายราย เช่น ฟาน ตวน ไท, หวอ มินญ์ จุง และ เหงียน ไทย เซิน[49]
เวียดนามได้สิทธิ์ลงแข่งขันเอเชียนคัพ 2023 โดยอยู่ร่วมกลุ่มกับอิรัก ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย[50] ก่อนการแข่งขันจะเริ่ม เวียดนามถูกตั้งคำถามในด้านความพร้อมของทีม โดยพวกเขาปราศจากผู้เล่นตัวหลัก เช่น ดั่ง วัน เลิม, ดว่าน วัน เหิ่ว และ เกว๊ หง็อก หาย ซึ่งบาดเจ็บ ส่งผลให้ทรุสซิเยร์ต้องใช่ผู้เล่นหน้าใหม่หลายรายประเดิมการแข่งขันในครั้งนี้ โดยหลายคนมีอายุน้อยกว่า 25 ปี เวียดนามตกรอบหลังจากแพ้สองนัดแรกต่อญี่ปุ่นด้วยผลประตู 2–4 และแพ้อินโดนีเซีย 0–1 ปิดท้ายด้วยการแพ้อิรัก 2–3 ถือเป็นครั้งแรกที่พวกเขาตกรอบการแข่งขันรายการนี้โดยไม่มีคะแนน[51] คิม ซัง-ซิก ผู้ฝึกสอนชาวเกาหลีใต้เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 เวียดนามในยุคการคุมทีมของทรุสซิเยร์ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยชนะการแข่งขันได้เพียง 4 จาก 14 นัดซึ่งรวมถึงการแพ้ติดต่อกัน 7 นัดรวมทุกรายการ เวียดนามไม่ผ่านรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก เนื่องด้วยในการแข่งขันนัดต่อมาพวกเขาแพ้อินโดนีเซียทั้งนัดเหย้าและเยือน และแม้จะเปิดบ้านชนะฟิลิปปินส์ 3–2 แต่พวกเขาตกรอบโดยแพ้อิรักในนัดสุดท้าย 1–3 แต่ยังได้สิทธิแข่งขันเอเชียนคัพ 2027 รอบคัดเลือก
เวียดนามลงแข่งขันแอลพีแบงก์ คัพ 2024 ทัวร์นาเมนต์จัดขึ้นโดยสหพันธ์ฟุตบอลเวียดนาม ในนัดแรกพวกเขาแพ้รัสเซีย 0–3 ตามด้วยการแพ้ไทย 1–2 ต่อมา เวียดนามลงแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2024 กลุ่มบี อยู่กลุ่มร่วมกับอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, พม่า และลาว เวียดนามผ่านเข้ารอบในฐานะอันดับ 1 ของกลุ่มจากผลงานชนะ 3 และแพ้ 1 เข้าไปพบสิงคโปร์ในรอบรองชนะเลิศ
สนามเหย้าของทีมชาติเวียดนาม | |||
---|---|---|---|
สนาม | ความจุ | ที่ตั้ง | |
สนามกีฬาหมีดิ่ญ | 40,192 | กรุงฮานอย | |
สนามกีฬาห่างเด๋ย | 22,500 | กรุงฮานอย | |
สนามกีฬาลัชถาด | 28,000 | ไฮฟอง | |
สนามกีฬาท้งเญิ้ต | 14,000 | นครโฮจิมินห์ | |
สนามกีฬาโกด่าว | 18,250 | ถูเสิ่วหมต |
เวียดนามลงเล่นที่ สนามกีฬาหมีดิ่ญ เป็นหลัก แม้จะมีการใช้สนามอีกหลายแห่งในการแข่งขันบางรายการเช่น สนามกีฬาห่างเด๋ย, สนามกีฬาลัชถาด, สนามกีฬาท้งเญิ้ต
ทีมชาติไทยถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่สุดของเวียดนามในภูมิภาคอาเซียน[52] การพบกันของทั้งคู่ได้รับการเปรียบเทียบเป็น "เอล กลาซิโก" ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมักได้รับความสนใจจากแฟนฟุตบอลทั้งสองทีมทุกครั้งที่พบกัน ทีมชาติเวียดนามในฐานะเวียดนามใต้พบกับทีมชาติไทยครั้งแรกในเกมกระชับมิตร ค.ศ. 1956 ที่นครโฮจิมินห์ และการพบกันในการแข่งขันทางการครั้งแรกของทั้งคู่คือกีฬาซีเกมส์ 1959 ซึ่งเวียดนามใต้คว้าชัยชนะได้ทั้งสองนัดในรอบแบ่งกลุ่มและรอบชิงชนะเลิศ คว้าเหรียญทองไปครอง แม้เวียดนามจะมีสถิติที่ดีกว่าทีมไทยในทุกรายการ (ชนะ 23 ครั้ง, เสมอ 11 ครั้ง และแพ้ 19 ครั้ง) ทว่านับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ไทยมีผลงานที่เหนือกว่าชัดเจน หากนับตั้งแต่ ค.ศ. 1991 จนถึงการพบล่าสุดในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2020 เวียดนามชนะไทยได้เพียง 3 ครั้ง, เสมอ 8 ครั้ง และแพ้ไปถึง 15 ครั้ง
ชัยชนะที่เวียดนามมีเหนือทีมชาติไทยที่สำคัญที่สุดคือฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2008 รอบชิงชนะเลิศ เวียดนามคว้าแชมป์โดยชนะไทยด้วยผลประตูรวมสองนัด 3–2 คว้าแชมป์เป็นสมัยแรก[53]
อินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งทีมในภูมิภาคอาเซียนที่พบกับเวียดนามหลายครั้ง โดยพบกันรวม 38 ครั้ง เวียดนามมีสถิติที่เป็นรอง โดยชนะ 12 ครั้ง เสมอ 10 ครั้ง และแพ้ 16 และนับตั้งแต่ ค.ศ. 1991 เป็นต้นมา เวียดนามไม่สามารถชนะอินโดนีเซียในการแข่งขันทางการได้อีกเลย ทำได้เพียงเสมอและแพ้เท่านั้น และเวียดนามเอาชนะได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้นจากการพบกันใน 14 ครั้งหลังสุด ก่อนที่จะยุติสถิติเลวร้ายได้โดยเอาชนะได้ 3–1 ในฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย – รอบที่ 2
ในอดีตกระทั่งถึง ค.ศ. 2012 ที่สิงคโปร์เป็นมหาอำนาจในสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน พวกเขาเป็นคู่แข่งสำคัญของเวียดนามเช่นกัน ทั้งคู่พบกัน 39 ครั้ง เวียดนามมีสถิติเหนือกว่าโดยชนะไป 21 ครั้ง เสมอ 13 ครั้ง และแพ้เพียง 5 ครั้ง แต่เวียดนามมีผลงานที่ย่ำแย่ในการพบสิงคโปร์ในช่วง ค.ศ. 1993 ถึง 1998 โดยเฉพาะความพ่ายแพ้ในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 1998 แม้เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพแต่พวกเขาแพ้สิงคโปร์ 0–1 (ในขณะนั้นรอบชิงชนะเลิศแข่งขันกันเพียงหนึ่งนัด) อย่างไรก็ตาม เวียดนามก็กลับมารักษาสถิติในการไม่แพ้สิงคโปร์มาตั้งแต่ ค.ศ. 1998 จนถึงปัจจุบัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงเวลานี้ เวียดนามไม่สามารถชนะสิงคโปร์ด้วยผลต่างประตูมากกว่าหนึ่งลูกได้เลย และมีถึง 6 จาก 12 นัดที่เสมอกัน แม้เวียดนามจะชนะในอีก 6 นัดที่เหลือ
ทีมชาติเวียดนามใต้มีผลงานการพบกันที่เป็นรองทีมชาติมาเลเซีย โดยชนะ 3 นัด, เสมอ 3 นัด และแพ้ 7 นัดในขณะนั้น มาเลเซียถือเป็นมหาอำนาจในวงการฟุตบอลของภูมิภาคอาเซียน แต่นับตั้งแต่มีการรวมประเทศ เวียดนามมีสถิติที่เหนือกว่ามาเลเซียมาก ชนะไป 13 ครั้ง, เสมอ 3 และแพ้เพียง 6 ครั้ง และไม่แพ้มาเลเซียมาตั้งแต่ ค.ศ. 2014
แม้ทีมชาติเวียดนามจะไม่มีชื่อเล่นอย่างเป็นทางการ ทว่ากลุ่มแฟนบอลรวมถึงสื่อได้ตั้งชื่อทีมว่า Những Chiến binh Sao vàng ซึ่งหมายถึง "นักรบดาวทอง" ซึ่งมาจากดาวที่ปรากฏบนธงชาติเวียดนาม และธงชาติยังปรากฏบนเสื้อแข่งของทีมมาทุกยุคสมัย[54] และสหพันธ์ฟุตบอลเวียดนามได้ใช้ชื่อดังกล่าวเรียกทีมตนเองมาถึงทุกวันนี้[55] นอกจากนี้ ทีมชาติเวียดนามยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "Tuyển"[56] ซึ่งหมายถึง "การคัดเลือก" โดยมาจากการเรียกโดยสื่อท้องถิ่นและประชากรท้องถิ่น โดยต้องการสื่อถึงนักฟุตบอลในทีมที่ได้รับคัดเลือกมาเพื่อเป็นตัวแทนของชาวเวียดนามทั้งชาติในการไล่ล่าความสำเร็จ และสร้างความภาคภูมิใจแก่คนในประเทศ
กลุ่มแฟนบอลหรือผู้สนับสนุนของทีมชาติเวียดนามแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก โดยกลุ่มแรกมีชื่อเรียกทางการในภาษาอังกฤษคือ Vietnam Football Supporters หรือ VFS (เวียดนาม: Hội Cổ động viên Bóng đá Việt Nam) ก่อตั้งใน ค.ศ. 2014 และอีกหลุ่มหนึ่งคือ Vietnam Golden Stars หรือ VGS (เวียดนาม: Hội Cổ động viên Sao vàng Việt Nam) ก่อตั้งใน ค.ศ. 2017 ฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีอิทธิพลต่อวิถิชีวิตคนเวียดนามมาก และชาวเวียดนามมีวัฒนธรรมการเชียร์ทีมแบบคลั่งไคล้ จริงจัง ทุกครั้งที่มีการแข่งขันเกมใหญ่หรือรายการสำคัญ จะปรากฏแฟนบอลของเวียดนามออกมารวมตัวกันบริเวณท้องถนนอย่างหนาแน่น และร่วมร้องเพลงชาติเวียดนาม หรือแม้แต่การแข่งขันในรายการเล็ก เช่น การแข่งขันของทีมรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี[57]
ปัจจุบันเวียดนามสวมชุดแข่งขันที่ผลิตโดยแกรนด์สปอร์ต เริ่มครั้งแรกตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 2015 โดยแต่เดิมมีการเซ็นสัญญากันถึง ค.ศ. 2019 แต่ได้มีการขยายต่อถึง ค.ศ. 2023 ชุดแข่งทีมเหย้าของเวียดนามมักเป็นสีแดงล้วน และมีแถบสีเหลืองซึงสื่อถึงสีธงชาติของประเทศ และชุดทีมเยือนมักเป็นสีขาว โดยเคยสวมชุดสีน้ำเงินและสีเหลืองบ้างแต่ไม่บ่อยนัก
ผู้ผลิตชุดแข่ง | ช่วงเวลา[58] |
---|---|
อาดิดาส | 1995-2005 |
หลี่หนิง | 2006-2008 |
ไนกี้ | 2009-2014 |
แกรนด์สปอร์ต | 2014-2023 |
โจกาโบล่า | 2024– |
อาดิดาส (1995 - 2004)
|
---|
ไม่มีผู้สนับสนุน (2005)
|
---|
ไนกี้(2009 - 2014)
|
---|
แกรนด์สปอร์ต (2014 - ปัจจุบัน) | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
2014-2015 เหย้า
|
2014–2015 เยือน
|
2016 เหย้า
|
2016 เยือน
|
2019 เหย้า
|
2019 เยือน
|
2020 เหย้า
|
2020 เยือน
|
2021 เหย้า
|
2021 เยือน
|
อันดับโลกของทีมชาติเวียดนาม (ตั้งแต่ทศวรรษ 1990) | |||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1993 | 1994 | 1995 | 1996 | 1997 | 1998 | 1999 | 2000 | 2001 | 2002 | 2003 | 2004 | 2005 | 2006 | 2007 | 2008 |
135 | 151 | 122 | 99 | 104 | 98 | 102 | 99 | 105 | 108 | 98 | 103 | 120 | 172 | 142 | 155 |
2009 | 2010 | 2011 | 2012 | 2013 | 2014 | 2015 | 2016 | 2017 | 2018 | 2019 | 2020 | 2021 | 2022 | 2023 | 2024 |
123 | 137 | 99 | 131 | 144 | 137 | 147 | 134 | 112 | 100 | 97 | 94 | 98 | 97 | 95 | 114 |
รายชื่อผู้เล่น 26 คนที่ถูกเรียกตัวในการแข่งขัน ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2024[61]
จำนวนนัดที่ลงเล่นให้ทีมชาติและจำนวนประตูที่ยิงได้นับถึงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2567 หลังแข่งขันกับ อินเดีย
# | ตำแหน่ง | ผู้เล่น | วันเกิด (อายุ) | ลงเล่น | ประตู | สโมสร |
---|---|---|---|---|---|---|
GK | ฟิลิป เหงียน | 14 กันยายน ค.ศ. 1992 | 9 | 0 | คองอัน ฮานอย | |
GK | Nguyễn Đình Triệu | 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1991 | 2 | 0 | ไฮฟอง | |
GK | Trần Trung Kiên | 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2003 | 0 | 0 | ฮหว่างอัญซาลาย | |
DF | โด๋ ซวี หมั่ญ | 29 กันยายน ค.ศ. 1996 | 58 | 1 | ฮานอย | |
DF | วู วาน ตัน | 14 เมษายน ค.ศ. 1996 | 52 | 5 | คองอัน ฮานอย | |
DF | บู่ย เตี๊ยน สุง | 2 ตุลาคม ค.ศ. 1995 | 50 | 1 | วิเอตเตล | |
DF | Hồ Tấn Tài | 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1997 | 26 | 4 | บีคาเม็กซ์ บินห์เยือง | |
DF | Nguyễn Thanh Bình | 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 2000 | 24 | 1 | วิเอตเตล | |
DF | Nguyễn Thành Chung | 8 กันยายน ค.ศ. 1997 | 24 | 0 | ฮานอย | |
DF | Bùi Hoàng Việt Anh | 1 มกราคม ค.ศ. 1999 | 22 | 1 | คองอัน ฮานอย | |
DF | Phạm Xuân Mạnh | 27 มีนาคม ค.ศ. 1996 | 14 | 0 | ฮานอย | |
DF | Trương Tiến Anh | 25 เมษายน ค.ศ. 1999 | 8 | 1 | วิเอตเตล | |
DF | Nguyễn Văn Vĩ | 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1998 | 1 | 0 | แท้ปซัญ นามดิ่ญ | |
MF | เหงียน กวาง หาย | 12 เมษายน ค.ศ. 1997 | 65 | 11 | คองอัน ฮานอย | |
MF | เหงียน ฮวง ดึ๊ก | 11 มกราคม ค.ศ. 1998 | 39 | 2 | Phu Dong Ninh Binh | |
MF | Khuất Văn Khang | 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 | 16 | 1 | วิเอตเตล | |
MF | Lê Phạm Thành Long | 5 มิถุนายน ค.ศ. 1996 | 7 | 0 | คองอัน ฮานอย | |
MF | Châu Ngọc Quang | 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 | 6 | 1 | ฮหว่างอัญซาลาย | |
MF | Nguyễn Hai Long | 27 สิงหาคม ค.ศ. 2000 | 3 | 0 | ฮานอย | |
MF | Doãn Ngọc Tân | 15 สิงหาคม ค.ศ. 1994 | 0 | 0 | ทัญฮว้า | |
FW | เหงียน วัน ตวน | 12 เมษายน ค.ศ. 1996 | 64 | 7 | แท้ปซัญ นามดิ่ญ | |
FW | เหงียน เตี๊ยน ลินห์ | 20 ตุลาคม ค.ศ. 1997 | 50 | 21 | บีคาเม็กซ์ บินห์เยือง | |
FW | ฟาม ตวน ไห่ | 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1998 | 31 | 7 | ฮานอย | |
FW | Đinh Thanh Bình | 19 มีนาคม ค.ศ. 1998 | 6 | 0 | Phu Dong Ninh Binh | |
FW | Bùi Vĩ Hào | 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2003 | 5 | 1 | บีคาเม็กซ์ บินห์เยือง | |
FW | Nguyễn Xuân Son | 30 มีนาคม ค.ศ. 1997 | 0 | 0 | แท้ปซัญ นามดิ่ญ |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.